collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์กรรม ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า : คำนำ  (อ่าน 144287 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               คัมภีร์กรรม  ท่านเหลาจื่อ  ศาสดาแห่งเต๋า  
    
                     ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน พระสูตรสั่งสมบุญวาสนาสลายเคราะห์ภัย

                                                     คำนำ
                                           พระมหาธรรมาจารย์จิ้งคง

        พุทธศาสนาก็คือพระศากยมุนีพุทธเจ้าที่ทรงปรารถนาต่อเหล่าเวไนยสัตว์ให้ประชาคมมีการศึกษาให้ถึงความดีที่เต็มสมบูรณ์ ทรงแสดงธรรมทั้งหลายเท่าเทียมกันเป็นจิตเดิม เป็นคุณธรรมแท้ สอนมนุษย์โดยเอาลักษณะแท้จริงของชีวิตมนุษย์ในโลก ให้มาบำเพ็ญร่วมกัน ให้ใจประจักษ์แจ้งร่วมกัน ใจแผ่ไพศาลดุจอวกาศจนสามารถบรรลุจักรวาลที่มีปริมาณโลกธาตุดุจเมล็ดทรายในคงคานที มีความสะอาดหมดจดแท้จริงได้สัมมาตรัสรู้ มีใจเมตตามองทะลุจนปล่อยวางลงได้ มีความอิสระสบาย เข้าสู่โลกด้วยเหตุปัจจัย ฝึกเรียนจบเป็นครูบาของมนุษย์ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างของโลก  ดังนั้น  พระศากยมุนีพุทธเจ้า ผู้เป็นโลกนาถเป็นพระผู้ทรงสั่งสอนประชาคมโลก  ผู้การุณย์อันเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันหลากหลาย  จึงขอให้มนุษย์ควรรู้จักควรศึกษาไว้

                                                          พระภิกษุ จิ้งคง
                                                 วันที่  ๓๑  ตุลาคท  ค.ศ. ๑๙๙๙  

                                                   บทบรรยาย...ธรรมาจารย์จิ้งคง
                                                       บทแปล...ธรรมบัญชา 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18/03/2011, 11:58 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                          คำนำมหาธรรมาจารย์อิ่งกวง  (ปี ค.ศ. ๑๙๒๘)

        ธรรมเรื่องกรรม อริยเจ้าผู้พ้นออกจากโลกใช้เป็นเตาเอนกอนันต์ฝึกฝนต้มกลั่นจนได้มหาโอสถศักดิ์สิทธิ์ หากในระยะเริ่มต้นไม่ศึกษาเรื่องกรรมให้ถึงที่สุดแล้ว แม้จะเป็นผู้ปราดเปรื่องชาญฉลาดรอบรู้ศาสตร์ทุกศาสนาก็ตาม หากยังมีความผิดเรื่องกรรมแล้วก็จะร่วงหล่นตกลงไม่มีเหตุได้ขึ้นพ้น  อย่าได้ว่าหลักธรรมคัมภีร์กรรมนี้ง่ายตื้นเขินแล้วมองข้ามตถาคตผู้สำเร็จตรัสรู้ หรือสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในไตรวัฏ ล้วนไม่พ้นไปจากกรรมทั้งสิ้น ด้วยปุถุชนจิตใจยังคับแคบอยู่ ก็เข้าไม่ถึงพระสูตรมหากรรม จึงควรเริ่มต้นด้วยหลักธรรมที่ง่ายเพื่อเอาชนะได้โดยง่ายก่อน อย่างคัมภีร์กรรม (ไท่ซั่งกั่นอิ้งเพียน) หรือ คัมภีร์ดวงชะตา (เหงินเซียงอินเซ่าเหวิน) อ่านให้ขึ้นใจแล้วพิจารณาให้ละเอียดนำไปปฏิบัติ แล้วทุก ๆคนก็จะเป็นพลเมืองดี ทุกคนก็จะสามารถสิ้นสุดการเกิดการตายได้
        คำนำในคาถาสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าก็เขียนไว้ว่า "บทนำถือปฏิบัติต้องมีความศรัทธามีปณิธาน สวดพุทธะเพื่อปฏิบัติให้ตรงความดีทั้งหลายพึงบำเพ็ญด้วยความเคร่งครัด"
        คำชี้แนะแก่ผู้ถือปฏิบัติที่บันทึกไว้ในคัมภีร์กรรมก็ดี คัมภีร์ดวงชะตาก็ดี คัมภีร์ตรัสรู้ก็ดี  และคัมภีร์สุขาวดีก็ดีต่างก็ให้แก้ความชั่วไปสู่ความดี เพื่อรับมงคล หลบอุบาทว์ พ้นปุถุสู่อริยะ เป็นวิถีกฏเกณฑ์แนวทางสิ้นสุดการเกิดพ้นการตาย หลุดพ้นไตรภูมิหกวิถีได้ในปัจจุบันชาติ ตรงเข้าภายในเก้าปทุมเจ็ดรัตนะ หวังให้ผู้บำเพ็ญเพิ่มความสนใจเถิด
                                                   พระภิกษุ อิ่งกวง
                                            สังฆบดีองค์ที่ ๑๓ นิกายสุขาวดี

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                    คัมภีร์กรรม ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า  : 

                          คำนำโบราณ กั่นอิ้งเพียนของพระเจ้าเหวินเชียง

        พระเจ้าเหวินเชียงกล่าวว่า ข้าในชาติที่หนึ่งร้อยสิบเจ็ด ได้เป็นมหาบุรุษ ไม่เคยกดขี่ประชาราษฏร์ สงเคราะห์คนในยามคับขัน ฉุดช่วยคนให้พ้นทุกข์ อภัยความผิดของคน สงสารผู้กำพร้า ใจเป็นเช่นนี้มาตลอด จะฟังโองการฟ้า ดังนั้นจึงสามารถพิสูจน์ตำแหน่งสัจจะนี้ได้ยาวนาน ข้าขอเตือนชาวโลก แต่ละวันที่สวดไท่ชั่งกั่นอิ้งเพียนหนึ่งจบ ให้น้อมนำไปปฏิบัติหรือคัดลอกหนึ่งจบ ไว้อ่านเช้าเย็น แล้วปฏิบัติตามนี้ ถ้าปฏิบัติได้ ๒ ปี โทษภัยต่าง ๆ ก็สลายดับสิ้น ถ้าปฏิบัติได้ ๔ ปี  บุญบารมีมีพร้อม  ถ้าปฏิบัติได้ ๗ ปี บุตรหลานมีปัญญากระจ่าง สามารถสอบได้  ถ้าปฏิบัติได้ ๑๐ ปี อายุจะยืนยาว ถ้าปฏิบัติได้ ๑๕ ปี จะสมปรารถนา  ถ้าปฏิบัติได้ ๒๐ ปี บุตรหลานได้เป็นองคมนตรี ถ้าปฏิบัติได้ ๓๐ ปี จารึกชื่อเปลี่ยนภพภูมิ ถ้าปฏิบัติได้ ๕๐ ปี เทพเซียนร่วมแสดงความยินดี ชื่อเรียงในทำเนียบอริยเจ้า ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ ทำบ้างหยุดบ้าง วันนี้ทำพรุ่งนี้เลิก การงานจะยุ่งยาก นาใจมืดบอด ถึงแม้จะสวดมนต์ แต่ใจไม่เข้าใจ เหมือนลบหลู่ฟ้่าโทษอภัยไม่ได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                    คัมภีร์กรรม ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า  :

                          คำนำโบราณ กั่นอิ้งเพียนของพระเจ้าเหวินเชียง

                                   คัมภีร์กรรม (กั่นอิ้งเพียน) แปล

        ไท่ซั่งกล่าวว่า ภัยพิบัติบุญวาสนาไร้ทวาร สุดแต่คนกวักหา บุญบาปตอบสนอง เหมือนเงาตามตัว ด้วยฟ้าดินมีเทพเจ้าปกครอง อิงการกระทำของมนุษย์หนักเบา เพื่อลงโทษตัดขัย (อายุ) ตัดขัยให้ยากจน ประสบทุกข์ลำบากบ่อย ผู้คนก็รังเกียจ ต้องโทษวิบัติตามา  มงคลโชคลาภหลบหาย ดาวร้ายภัยตาม ขัยสิ้นก็ตาย ยังมีเทพเจ้าดาวเหนือสามองค์ อยู่เหนือศรีษะมนุษย์ บันทึกชั่วบาป คอยตัดอายุขัย ยังมีเทพอีกสามตนอยู่ในตัวคน เมื่อถึงวันเกชิง (แกชิงทุก ๆ ๖๐ วัน จะมีวันแกชิง ๑ วัน) ขึ้นทูลพระเจ้าเบื้องบน รายงานความชั่วบาปของมนุษย์ ในวันสิ้นเดือน เทพแห่งเตาไฟก็เช่นกัน ผู้มีความผิดมหันต์ตัดขัยหนึ่งรอบ (หนึ่งรอบ =สิบสองปี) ลหุตัดขัยร้อยวัน ความผิดมากน้อยมีมากถึงร้อย อยากมีอายุยืนต้องหลีกเลี่ยงเอย
        เป็นธรรมให้เดินหน้า ไม่ใช่ธรรมให้ถอย ไม่ดำเนินทางชั่ว ไม่แอบรังแกข่มเหง สั่งสมบุญกุศล ใจเมตตาต่อสัตว์ จงรักภัคดีกตัญญู ให้รักญาติมิตร ให้ตนตรงอบรมผู้อื่น สงสารผู้หม้ายกำพร้ายากไร้ เคารพอาวุโสห่วงใยผู้เยาว์ ไม่ทำลายหนอนหญ้าต้นไม้ ต้องสงสารผู้เคราะห็ร้าย ยินดีกับผู้ทำดี ช่วยเหลือผู้คับขัน ฉุดช่วยผู้อยู่ในอันตราย เห็นเขาได้ดีเหมือนตนได้ดี เห็นเขาสูญเสียเหมือนตนสูญเสีย ไม่โพนทะนาความชั่วเขา ไม่โอ้อวดความดีตน  หยุดยั้งเรื่องชั่วเผยแพร่เรื่องดี ให้มากรับน้อย  รับอัปยศไม่แค้น รับความรักดุจความหวาดกลัว ทำคุณไม่หวังตอบแทน ให้เขาไม่นึกเสียใจ
        ที่ว่าเป็นคนดี คนให้ความเคารพ ธรรมแห่งฟ้าคุ้มครอง บุญวาสนาตามมา ชั่วร้ายถอยห่าง เทพศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง งานที่ทำก็สำเร็จ เป็นเทพเซียนปรารถนาได้ อยากเป็นเทพเซียนฟ้า ต้องทำความดีหนึ่งพันสามร้อยกุศล อยากเป็นเทพเซียนดิน ต้องทำความดีสามร้อยกุศล
        หากทำสิ่งไม่ถูกต้อง กระทำละเมิดธรรม ถือชั่วว่าสามารถ ทนทำชั่วร้ายได้ แอบทำร้ายคนดี ข่มเหงราชาพ่อแม่ลับหลัง หยิ่งยโสครูบา ละทิ้งหน้าที่ หลอกคนไม่รู้ ลวงเพื่อนร่วมเรียน ใส่ร้ายล่อลวง โจมตีวงศ์ตระกูล อันธพาลไม่การุณย์ ป่าเถื่อนตามอารมณ์ ถูกผิดไม่ถูกต้อง เข้าหาชั่วหันหลังดี กดขี่เอาชอบเท็จนายพอใจ รับคุณทำไม่รู้ ถูกลบหลู่แค้นไม่เลิก ดูแคลนประชาชน ลบล้างการปกครอง รางวัลคนชั่ว ลงทัณฑ์ผู้บริสุทธิ์ ฆ่าคนชิงทรัพย์ ใช้เล่ห์แย่งตำเหน่ง เข่นฆ่าผู้ยอมแพ้ ขับคนดีไล่ปราชญ์  รังแกกำพร้า ข่มเหงหม้าย ละกฏรับสินบน เอาถูกเป็นผิด เอาผิดเป็นถูก โทษเบาเอาเป็นหนัก เห็นประหารทำโทสะ รู้ผิดไม่แก้รู้ดีไม่ทำ โยนผิดให้ผู้อื่น ปิดบังวิชา  เย้ยหยันใส่ร้ายอริยปราชญ์ ทำร้ายคุณธรรม ยิงนกล่าสัตว์ คุ้ยหนอนทำนกตกใจ อุดรูทำลายรัง ทำร้ายสัตว์ท้องทุบไข่แตก

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                    คัมภีร์กรรม ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า  :

                          คำนำโบราณ กั่นอิ้งเพียนของพระเจ้าเหวินเชียง

                                   คัมภีร์กรรม (กั่นอิ้งเพียน) แปล

        อยากให้เขามีความผิด ทำลายความสำเร็จของเขา ให้เขาอันตรายตนสุข กำจัดเขาเพิ่มประโยชน์ตน เอาชั่วไปแลกดี ดีตนทำลายส่วนรวม ขโมยผลงานเขา ปิดบังความดีเขา เปิดเผยเรื่องส่วนตัว  ผลาญทรัพย์สินค้าเขา  ทำให้พี่น้องเขาแตกแยก  แย่งของรักของผู้อื่น ส่งเสริมเขาทำชั่ว พอใจอวดอำนาจ ทำอัปยศเพื่อชัยชนะ ทำลายไร่นาเขา ทำลายการแต่งงานเขา โกงจนรวยหยิ่งยโส  หลบเลี่ยงไม่ละอาย  เหมาเอาคุณลบล้างความผิด โยนเคราะห็ร้ายผิด ซื้อยศจอมปลอม หน้าเนื้อใจเสือ  ขัดขวางความดีเขา ปิดความชั่วตน ใช้อิทธิพลข่มขู่ ทำลายฆ่าป่าเถื่อน ตัดผ้าไร้เหตุ  ฆ่าสัตว์ไร้เหตุ ทิ้งขว้างธัญพืช เคี่ยวเข็ญประชาชน ทำลายครอบครัวเขาเพื่อชิงทรัพย์สิน ปล่อยน้ำวางเพลิงเพื่อทำลายประชาชน ทำลายแผนให้เขาล้มเหลว ทำลายเครื่องมือไม่ให้เขาใช้  เห็นเขาได้ดีหวังเขาฉิบหายเห็นเขาร่ำรวยอยากให้เขาล้มละลาย เห็นเขารูปงามคิดข่มขืน เป็นหนี้เขาหวังให้เขาตาย ไม่ได้ดั่งใจชั่วก็เกิดแค้นสาปแช่ง เห็นเขาล้มเหลวก็ว่าเขาทำชั่ว เห็นเขาไม่สมประกอบก็หัวเราะใส่  เห็นเขาสามารถควรยกย่องกลับทับถมใช้มนต์ดำฝังรูป  ใช้ยาฆ่าต้นไม้ โกรธแค้นครูอาจารย์ ขัดต่อพ่อแม่พี่น้อง
        ใช้แรงขู่เข็ญเอา บังคับแย่งชิง ปล้นจนร่ำรวย ใช้เล่ห์หาก้าวหน้า รางวัลโทษไม่เสมอกัน สบายจนเกินเลย ทารุณผู้ใต้บังคับ  ข่มขู่เขาให้หวาดกลัว โทษฟ้าโทษคน ด่าลมด่าฝน ยุแหย่ให้สู้คดี เที่ยวเข้าร่วมแก้ง ฟังเมียฝืนคำสอนพ่อแม่ ได้ใหม่ลืมเก่า ปากอย่างใจอย่าง  โลภทรัพย์ปกปิดข่มเหงหน่วยบน วาจาใส่ร้าย สร้างข่าวทำลายเขา ใส่ร้ายเขายกตนว่าตรง ด่าว่าพระเจ้าว่าตนดี ทิ้งธรรมทำชั่ว หันหลังญาติคบคนนอก กล้าชี้ฟ้าดินเป็นพยาน (ทั้งที่ชั่ว) ดึงพระเจ้าตรวจสอบให้แล้วเสียดาย ยืมทรัพย์สิ่งของไม่คืน ไม่เจียมตนหานอกลู่ ใช้จนหมดอำนาจ เสพกามเกินเลย หน้าขาวใจดำ ของกินสกปรกให้เขา  ใช้ทางมารหลอกประชาชน มาตรวัดสั้น โกงตาชั่งลิตรตวงเล็ก ปลอมปนสินค้า รีดนาทาเ้ร้น บังคับคนชั่วให้ดี  โป้ปดคนโง่  โลภละโมบไม่เบื่อ  แช่งชักว่าตนถูก  ติดสุราลวนลาม  สายเลือดทะเลาะกัน  ชายไม่ดีหญิงไม่น้อมตาม  สามีภรรยาไม่กลมเกลียว  ภรรยาไม่นับถือสามี  คุยข่มอวดดี  อิจฉาตาร้อน  สามีไม่ดีต่อบุตรภรรยา  ไร้มารยาทต่อพ่อปู่แม่ย่า  ดูถูกบรรพชน
        ขัดขืนคำสั่งผู้ใหญ่ ทำสิ่งไร้ประโยชน์ คับแคบนอกใจ สบถสาปแช่งผู้อื่น  ลำเอียงชังลำเอียงรัก โดดข้ามบ่อน้ำเตาไฟ ข้ามของกิน ข้ามตัวคน สูญเสียแท้งลูก ประพฤติมิชอบ สิ้นเดือนร้องรำ เช้าตรู่วันพระด่าทอ  ถ่มถุยหนักเบาทิศเหนือ คร่ำครวญร้องไห้หน้าเตา จุดธูปจากเตาไฟ ฟืนสกปรกหุงหา เปลือยกายกลางคืน ประหารวันตรุษสารท  ถ่มน้ำลายดาวตก ชี้สามแสง (คือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว) จ้องอาทิตย์จันทร์นานไป ล่าสัตว์เผาป่า ฤดูใบไม้ผลิ ด่าทอทางทิศเหนือ ตีงูฆ่าเต่าไร้เหตุ
        อันบาปต่าง ๆ นี้ เทพเจ้าตามดูหนักเบา หักขัยตามรอบ ขัยสิ้นก็ตาย บาปเหลือจากตาย ตกทอดบุตรหลาน พวกอันธพาลเอาเงินเขา ผลชั่วตกถึงลูกเมียคนในบ้านรับไป จนกว่าถึงตาย หากยังไม่ตาย ก็มีภัยน้ำไฟขโมย ของหายเจ็บป่วยคดีความตอบสนอง จนเท่าค่าที่โกงมา แล้วโทษฆ่าคนก็ถูกอาวุธฆ่าตอบ เงินทองได้ไม่ถูกต้อง ดุจน้ำรั่วแก้หิวเหล้่าแก้กระหาย ไม่เพียงไม่อิ่ม ความตายก็มาถึง หากใจเริ่มใฝ่ดี ดีแม้ยังไม่ทำ เทพดีก็ตามมา หากเริ่มใฝ่ชั่ว ชั่วแม้ยังไม่ทำ เทพชั่วก็ตามมา ผู้เคยทำชั่ว ภายหลังสำนึกผิด ชั่วทั้งหลายไม่ทำ ความดีทั้งปวงถือปฏิบัติ นานๆ ไปย่อมได้มงคลโชคลาภ ดั่งที่ว่าเปลี่ยนภัยพิบัติเป็นบุญวาสนา
        ดังนั้น ผู้มงคล วาจาดี มองดี ทำดี วันหนึ่งมีสามดี สามปีฟ้าย่อมส่งบุญวาสนา ผู้อุบาทว์ วาจาชั่ว มองชั่ว  ทำชั่ว วันหนึ่งมีสามชั่ว สามปีฟ้าย่อมส่งภัยพิบัติ ยังจะไม่พยายามปฏิบัติหรือ !
                                                                               
                                                                            จบ           

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        คัมภีร์กรรม "กั่นอิ้งเพียน" เป็นคัมภีร์ของศาสนาเต๋า ถือเป็นปิฏกในหมวดวินัยปิฏก ที่ท่านศาสนาเหลาจื่อบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ไม่เพียงแต่ศาสนิกชนเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ควรยึดถือนำไปปฏิบัติ คัมภีร์กรมเป็นบทธรมง่าย ๆ ธรรมดาและอยู่ในกรอบกฏแห่งกรรม คัมภีร์เล่มนี้ไม่ยาวเหมือนคัมภีร์เต๋า "เต้าเต๋อจิง" และเป็นบทสวดประจำของชาวเต๋า ผู้น้อยได้อ่านคัมภีร์นี้มานานพอสมควร จนกระทั่งมาเมื่อนเดือนกรกฏาคม ๒๕๔๖  เมื่อพระธรรมาจารย์จิ้งคงไต้ซือจากไต้หวัน ได้มาผูกบุญสัมพันธ์กับชาวไทย ท่านเมตตาบรรยายธรรมเป็นครั้งแรกที่โรงแรม เจดับริว  มาริออทถ.สุขุมวิท เพลินจิต  เป็นโอกาสที่ผู้น้อยได้ฟังธรรมจากท่าน ต่อมาก็ได้รับหนังสือธรรมหลายเล่มที่ท่านเขียนขึ้นบ้าง เรียบเรียงแปลเป็นภาษาปัจจุบันบ้าง หนึ่งในจำนวนนั้นมีอยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งมีความหนากว่า ๕๐๐ หน้า ซึือของหนังสือคือ " วิถีการสร้างสมบุญและสลายภัย"  ผู้น้อยอ่านแล้วรู้สึกชอบมาก ท่านไต้ซือได้อธิบายบทคัมภีร์ทีละคำ พร้อมยกตัวอย่างนิทานที่เข้ากับความหมายของคำ เพื่อใช้เป็นหลักประจักษ์ให้ผู้อ่านยอมรับ ท่านไต้ซือเป็นพระภิกษุชาวพุทธแท้ ๆ  ไม่แต่เพียงแค่ท่านองค์เดียวที่ยอมรับคัมภีร์นี้  แม้แต่ท่านธรรมาจารย์อิ่นกวง ซึ่งเป็นธรรมาจารย์รุ่นก่อน ๆ  และมีพระภิกษุอีกหลายรูปต่างชื่นชอบในคัมภีร์นี้ ท่านอิ่นกวงไต้ซือกล่าวว่า "หนังสือเล่มนี้วิจารณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่เพียงแค่สำเร็จเซียน แม้แต่พระโพธิสัตว์ที่ปฏิบัติได้ ก็จักหลุดพ้นสู่อริยะ พ้นการเกิดดับ สำเร็จสมบูรณ์แห่งวิถีพุทธ" ท่านอิ่นกวงไต้ซือจึงพยายามเผยแผ่หนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง ท่านจิ้งคงไต้ซือก็ยิ่งตักเตือนลูกศิษย์ของท่าน ให้เอาหนังสือเล่มนี้เป็นระเบียบวินัยที่ต้องท่องสวด ถึงกับตั้งชื่อใหม่ดังได้กล่าวมาแล้ว
        สมาคมผู้ค้นคว้าธรรมแห่งเหลี่ยวฝาน  ซึ่งกล่าวว่า เมื่อก่อนได้ปรับปรุงหนังสือ "โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน" และตอนนี้ก็มาปรับปรุงเรียบเรียงคัมภีร์เล่มนี้จนสำเร็จเป็นรูปเล่มน่าอ่านมาก ภายใต้การแนะนำของท่านจิ้งคงไต้ซือโดยถือหลักธรรมที่ว่า "สรรพธรรมล้วนว่าง เหตุต้นผลกรรมไม่ว่าง"   ผู้น้อยเห็นว่า ปัจจุบันวิทยาการยิ่งก้าวหน้า จิตใจคนยิ่งหลงใหล วัตถุยิ่งทันสมัย คุณธรรมยิ่งตกต่ำ จิตญาณยิ่งสกปรก ความสงบยิ่งเสื่อมลง  ที่สุดแล้วจะฉุดช่วยจิตใจชาวโลกได้อย่างไร ทำอย่างไร จึงจะสามารถลดโทษบาปให้น้อยลง  ทำอย่างไรจึงจะมีบุญวาสนาเพิ่มขึ้น  ทำอย่างไรจึงจะสามารถสลายภัยพิบัติลงได้ ตลอดจนประเทศชาติมีความสงบ ประชาชนมีความสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีภัยสงคราม ไม่มีภัยยาเสพติด ไม่มีอิทธิพล ใต้หล้ามีสันติภาพ คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่คนยุคปัจจุบันต่างเป็นห่วงเป็นใย
        อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้คนจะทุกข์ห่วงใยกันแค่ไหน ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน การแก้ไขก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น   ผลการแสวงหาบุญวาสนาของชาวโลก กลับกลายเป็นการแสวงหาภัยพิบัติ ถ้นจะสรุปถึงสาเหตุ ก็เพราะคนปัจจุบันหลงใหลอยู่กับวิทธยาการ แต่กับระดับความรู้จักบาปบุญคุณโทษ และผลตอบสนองของกรรมกลับไม่ชัดเจน  กลับถลำลึกเข้าใจผิด ๆ ยิ่งขึ้น คิดว่าการเรียนเก่งมีความรู้สูง ก็จะสามารถเอาเปรียบผู้รู้น้อยเหมือนนักธุรกิจปัจจุบันที่ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  มือใหญ่ยาวก็คว้าได้มากกว่า สร้างกลยุทธ์เอาเปรียบประชาชน คงลืมกฏธรรมชาติของเต๋าไปแล้วกระมัง
        คัมภีร์กรรม มีสาระที่ลุ่มลึกกว้างใหญ่ เป็นหลักธรรมที่พูดถึงความดีความชั่ว ภัยพิบัติและมงคล ถ้าวิภาควิจารย์ก็จะเห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวลือลั่นสะเทือนฟ้าดินกันเลยทีเดียว  เพราะทำให้เข้าใจถึงรากเหง้าของกรรมอย่างดีที่สุด อ่านแล้วจะเข้าใจเหตุผลต้นกรรม รู้จักว่า การเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ กลับกลายเป็นผู้ได้รับมหาภัยในที่สุด เมื่อทุกคนเข้าใจในความดีแล้วก็จะขยันหมั่นเพียรประกอบความดี เป็นการสั่งสมบุญวาสนาและสลายภัยพิบัติได้ หนังสือนี้จึงมีประโยชน์ต่อคนมาก และมีอิทธิพลกว้างไกลมาก  ในสมัยราชวงศ์ชิง ท่านยกย่องหนังสือนี้ว่า""ราชบัณฑิตต้องอ่าน"" ยังกล่าวอีกว่า "ไม่เพียงต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าจะเป็นจอหงวนหรือมหาอำมาตย์ จะไม่อ่านหนังสือนี้ไม่ได้"" การกล่าวเช่นนี้ ท่านก็จะเข้าใจได้กระจ่างชัดเลยทีเดียว ถึงคุณค่าคัมภีร์กรรมเป็นอย่างดีผู้น้อยเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ล้วนกล่าวถึงการกระทำของมนุษย์และผลตอบสนองอันเกิดจากเหตุที่มนุษย์ก่อขึ้นเอง ผู้น้อยจึงขอเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า "คัมภีร์กรรม" เพื่อง่ายต่อการกล่าวถึงและได้ความหมายตรงทีเดียว
        คัมภีร์กรรม เป็นหลักฐานที่พื้นฐานของมนุษย์ควรน้อมนำไปปฏิบัติ เป็นหลักธรรมป้องกันปัญหา เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เหมือนตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ความเสียหายก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อวิบากกรรมที่จะเป็นต้นเหตุถูกป้องกันได้แล้ว ภันพิบัติอันเป็นผลตอบสนองทางวิบากกรรมไม่เกิดขึ้น ชีวิตมนุษย์ก็ไม่เกิดทุกข์  นอกจากสังสารทุกข์ซึ่งเป็นทุกข์ทางกายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกข์ทางใจตัดได้แล้ว ความสุขแห่งวิถีโลกคงไม่ไปไหนเสีย ยิ่งถ้าได้สั่งสมบุญกุศลด้วยแล้ว บุญวาสนาก็ตามสนองแน่นอน ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญ  ถ้ามีความอดทนอ่านให้หมด หยุดความคิดตนไว้ ทำใจให้สงบ แล้วทำความเข้าใจในหลักธรรม แล้วน้อมนำไปปฏิบัติ ก็จะเป็นผู้ที่มีบุญวาสนามาก  ถ้าหากสามารถวิริยะก้าวหน้าขึ้นไปอีก ก็จะเข้าถึงหลักธรรมของการสำเร็จเป็นปราชญ์ เป็นอริยะ เป็นพุทธะ  หนังสือเล่มนี้ื่ท่านธรรมาจารย์จิ้งคง และคณะต่างยกย่องว่าเป็นราชาแห่งหนังสือ โดยเฉพาะบทอธิบายที่แจ่มแจ้ง ละเอียดทะลุโปร่งใสและสุจริตจริงใจอย่างยิ่ง ดังนั้น  ผู้มีบุญสัมพันธ์ได้อ่านควรกลับใจทันทีจะมัวสงสัยอะไรอยู่อีก จึงหวังให้พวกท่านอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ

                                                    ด้วยความเคารพ
                                                       ธรรมบัญชา
                                                     ตุลาคม ๒๕๔๖ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                  คัมภีร์กรรม  ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า

                                         บทที่หนึ่ง

                                         ความหมาย

 คัมภีร์  :  ไท่ซั่งกล่าวว่า ภัยพิบัติบุญวาสนาไร้ทวาร สุดแต่คนกวักหา
อธิบาย :   ไท่ซั่งกล่าวว่า ภัยพิบัติบุญวาสนาไร้ทวาร สุดแต่คนกวักหา

        ไท่ซั่ง คือ ไท่ซั่งเหล่าจวิน เป็นพระนามที่ได้รับสถาปนาท่านศาสดาเหลาจื่อ ท่านมีพระนามเดิมว่า เอ๋อ แซ่หลี่ฉายาว่า ป๋อหยาง  เป็นอริยบุคคลในสมัยราชวงศ์โจว ภายหลังสำเร็จมรรคผลแล้ว ได้รับการสถาปนาเป็นศาสดาแห่งศาสนาเต๋า เป็นพระเจ้าศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน  คัมภีร์กรรมเล่มนี้เป็นคำสอนของพระองค์ที่ใช้สั่งสอนให้คนทำดีละชั่ว  สอนผู้คนว่า เอาความดีความชั่วเป็นเหตุ  ก็จะได้รับผลกรรมคือ ภัยพิบัติและบุญวาสนาจากฟ้า เพราะฉะนั้นเมื่อมีกรรมก็ย่อมมีการตอบสนอง ตามกรรมตอบสนอง เป็นหลักธรรมฟ้า ที่ให้กลับคืนมาอย่างแจ่มแจ้ง ช่วยฟื้นฟูจิตใจชาวโลกให้รู้จักเกรงกลัว ใหรู้ว่าก่อกรรมชั่วย่อมได้รับภัยพิบัติ การเจ็บป่วย การนับทอนอายุขัย และความทุกข์เป็นการตอบสนอง เหตุนี้ ถ้าจิตใจรู้สึกเกรงกลัวก็จะไม่กล้าไปกระทำความชั่ว ให้รู้ว่าการทำความดีย่อมได้รับบุญวาสนาอายุยืน และความสุขเป็นการตอบสนอง ดังนั้น ถ้าใจปรารถนาอย่างไรก็จะไปกระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของคัมภีร์กรรม
        ภัยพิบัติบุญวาสนาไร้ทวาร สุดแต่คนกวักหา  บาปบุญตอบสนองเหมือนเงาตามตัว  สี่ประโยคนี้คือสาระสำคัญของคัมภีร์นี้ และเป็นจุดมุ่งหมายที่ท่านไท่ซั่งแสดงคำสอน พูดถึงใจของปราชญ์อริยะแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้แสวงหาบุญวาสนาหรือหลบหลีกภัยพิบัติแล้วค่อยไปทำดีละชั่ว  พูดถึงหลักการสร้างสรรค์แปรเปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมความดีหรือความชั่ว  ถ้าสั่งสมความดีบุญบารมีก้จะคุ้มครองลูกหลาน ถ้าสั่งสมความชั่วภัยพิบัติก้จะตกถึงลูกเช่นกัน ในคัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "บ้านที่สั่งสมความดี ย่อมมีงานฉลอง บ้านที่ไม่ทำความดี ย่อมมีภัย" หลักการนี้ไม่มีการผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย
        กวักหา คือ สิ่งที่ตนเองกวักหามาเอง ดังคำที่ว่า ทำเองรับเอง เราต้องรู้ว่่าฟ้าดินไม่มีลำเอียงหรือเห็นแก่ตัว มงคลหรือเคราะห์เป็นสิ่งที่ใจคนกวักหามาเอง ตอนที่คนยังไม่เกิดความคิด ใจนั้นใจยังบริสุทธิ์ประดุจอวกาศ ความดีความชั่วมีอยู่ที่ไหนกัน พอใจนี้เคลื่อนไหวเริ่มคิด ถ้าสิ่งที่คิดเป็นเรื่องดีก็คือความดี  ถ้าสิ่งที่คิดเป็นเรื่องชั่วก็คือความชั่ว  เห็นไหมเพียงแค่เริ่มต้นของความคิดเกิดขึ้นเท่านั้น แล้วก็ไปทำสิ่งที่คิดต่อมาภายหลัง ผ่านวันผ่านเดือนค่อย ๆ สะสม ก็มีความแบ่งแยก ระหว่างคนดีคนชั่ว  เพราะฉะนั้น  คน ๆ หนึ่งที่ได้รับบุญหรือภัยก็ล้วนเกิดจากความคิดแรกเริ่มทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น แรกเริ่มท่านไท่ซั่งก็กล่าวว่า "ภัยพิบัติบุญวาสนาไร้ทวาร สุดแต่คนกวักหา" จึงเป็นการปลุกให้รู้สึกตัวตื่น และตักเตือนให้สนใจการเคลื่อนไหวความคิดเริ่มแรก แต่ความแตกต่างทางความคิดเท่านั้น ผลตอบสนองก็แตกต่างกันราวฟ้ากับดินเลยทีเดียว

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                 คัมภีร์กรรม  ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า

                                         บทที่หนึ่ง

                                         ความหมาย
                                                         
        นิทาน ๑  :  ในสมัยราชวงศ์ซ้ง ธรรมาจารย์เซ็น หลินหยวน  ได้กล่าวกับนายอี้ชวนว่า "ภัยสามารถเกิดบุญ บุญก็สามารถเกิดภัยได้  สาเหตุของภัยสามารถเกิดบุญคือ เมื่อคนตกอยู่ในอันตรายหรือภัยพิบัติในขณะนั้น ถ้าเขาจริงใจคิดแสวงหาความสงบสุข ทั้งยังสามารถเข้าถึงหลักธรรมของความสงบสุขได้ โดยเฉพาะจิตใจเขายังมีความเกรงกลัวอยู่ และเฝ้าระมัดระวังการกระทำของตนอย่างนอบน้อมแล้ว บุญก็ย่อมเกิดขึ้นได้ สาเหตุที่บุญสามารถเกิดภัยได้คือ ขณะที่คนมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุข ก็จะไม่คิดถึงเรื่องภัยพิบัติ แถมยังเหลิงระเริงปล่อยตัวคิดแต่จะเสพสุขสุรุ่ยสุร่ายแต่อย่างเดียว พฤติกรรมก็หยิ่งทะนงและเกียจคร้าน งานต่าง ๆ ก็จะดูแคลน ท่าทางยโส  แถมยังรังแกผู้อื่นเป็นนิจ  "นี่แหละบุญก็สามารถเกิดภัยได้"

        นิทาน ๒ :  ในสมัยราชวงศ์ซ้ง  ปราชญ์จางจื่อ (จาง เหลียง) กล่าวว่า  "เริ่มต้นใจให้ตรง  ให้เอาใจของตนเป็นอาจารย์ผู้เคร่งครัด สิ่งที่กระทำก็จะรู้จักระมัดระวังเตือนตนได้ ฝึกฝนเช่นนี้สัก ๑ - ๒ ปี ก็เพียงต้องจริงใจขยันรักษาให้มั่น เช่นนี้แล้วใจก็จะตรงได้เอง"

        นิทาน ๓  :  สมัยก่อนที่วัดเจิ้นคง  พระภอกษุเฒ่ากล่าวว่า "ความคิดฟุ้งซ่านของปุถุชนไม่แน่นอน บางครั้งก็หวนคิดถึงอดีตย้อนหลังหลายสิบปี  มีทั้งเกียรติยศ อัปยศ  บุญคุณ  โกรธแค้น  ซึ่งเต็มไปด้วยความอิ่มใจ  เศร้าโศก  พบกัน  ตายจาก  และอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้คือความฟุ้งซ่านในอดีต บางครั้งปัจจุบันมีงานต้องไปทำ ในใจก็กลัวนั่นกลัวนี่ ตัดสินใจไม่ได้ นี่คือความคิดฟุ้งซ่านในปัจจุบัน บางครั้งก็คาดหวังถึงเกียรติยศ ความร่ำรวยในภายภาคหน้า ลูกหลานมีความเจริญ  และบางสิ่งก็มองไม่เห็นความสำเร็จ บางสิ่งก็มองเห็นความสำเร็จ นี่คือความคิดฟุ้งซ่านในอนาคต" ความคิดฟุ้งซ่านทั้ง ๓ นี้ บางทีก็เกิดขึ้นแล้ว บางทีก็ดับไปแล้ว เราเรียกมันว่าใจฟุ้งซ่าน  ถ้าเราสามารถส่องเห็นใจฟุ้งซ่านแล้วติดตามความฟุ้งซ่านนั้นไป ตอนที่มันเกิดขึ้น ก็ให้มันตัดเสีย นี่เรียกว่าใจรู้ (รู้ทัน) เพราะฉะนั้นจึงพูดว่า "ไม่กลัวความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น แต่กลัวรู้สายไป"  หากใจนี้สะอาดใสดุจอากาศ กิเลสก็ไม่มีให้เกาะอยู่ใช่ไหม ?

        นิทาน ๔  :  สมัยราชวงศ์ซ้ง  นายเซียวคังจิ้ง เขาใช้ขวด ถั่วดำ ถั่วขาว มาใช้ฝึกใจ หากใจเกิดคิดในทางที่ดีก็หย่อนเมล็ดถั่วขาวลงไปในขวดใบหนึ่ง  ถ้าเกิดความคิดในทางชั่วก็หย่อนเมล็ดถั่วดำลงในขวดอีกใบหนึ่ง ตอนเริ่มต้นใหม่ ๆ ขวดที่ใส่ถั่วดำมีมากมาย ต่อ ๆ ไป ก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง พอฝึกไปนาน ๆ ความคิดทั้งสองก็ลืมหมดคือเข้าสู่ "ไม่คิดดีไม่คิดชั่ว"  ใจอยู่ในสภาวะไม่มีความคิด (จิตว่าง) สุดท้าย ทั้งขวดและถั่ว ก็โยนทิ้ง
       


ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                 
                  คัมภีร์กรรม  ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า

                                         บทที่หนึ่ง

                                         ความหมาย

        นิทาน ๕  :  ในสมัยราชวงศ์ซ้ง  นายเหว่ยต๋งต๋า เป็นข้าราชการในสำนักราชบัณฑิต มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาถูกยมทูตจับตัวไปยังยมโลก ยมบาลผู้ตัดสินความ สั่งให้ท้าวสุวรรณตรวจสอบบัญชีบาปบุญ เมื่อบัญชีบันทึกบาปบุญถูกส่งมาที่ห้องพิจารณาคดี บัญชีที่บันทึกความผิดมีมากมาย ส่วนบัญชีบันทึกความดีมีความหนาเท่ากับความหนาของตะเกียบเท่านั้น ยมบาลจึงส่งให้นำขึ้นชั่ง ปรากฏว่าบัญชีความผิดซึ่งมีมากมายกลับเบากว่าบัญชีบันทึกความดี  นายเหว่ยต๋งต๋าจึงถามขึ้นว่า "อายุฉันยังไม่ถึง ๔๐ ปี ทำไมจึงทำผิดมากมายเช่นนี้" ยมบาลตอบว่า "เพียงแค่เกิดความคิดชั่วเกิดขึ้นก็บาปแล้วไม่ต้องรอไปกระทำหรอก"  สมมุติเห็นหญิงสาว เกิดใจลามกก็มีความผิดแล้ว แล้วนายเหว่ยต๋งต๋า ก็ถามต่อว่า แล้วบัญชีบันทึกความดีนั้นคืออะไร  ยมบาลตอบว่า "มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฮ่องเต้คิดจะสร้างสะพานหินบน  ๓ ภูเขา เจ้าก็ทูลฮ่องเต้ว่าอย่าไปสร้างเลย เพราะราษฏรจะได้รับความเหนื่อยยากทั้งแรงกายและเงินทอง นี่คือสิ่งที่เจ้าได้กราบทูล" แต่เหว่ยต๋งต๋าตอบว่า "ฉันเพียงได้กราบทูล แต่ฮ่องเต้ไม่ทรงฟัง และก็ได้ลงมือสร้าง การกราบทูลห้ามก็ไม่มีผลประการใด แล้วผลความดีทำไมจึงมีน้ำหนักมากนัก" ยมบาลตอบว่า "ถึงแม้ฮ่องเต้จะไม่ฟังคำของเธอ แต่ความคิดของเธอนั้นจริงใจ จุดมุ่งหมายไม่อยากให้ประชาราษฏรต้องเหน็ดเหนื่อย ถ้าหากฮ่องเต้ฟังคำของเธอแล้ว ความดีของเธอก็จะยิ่งใหญ่กว่านี้มาก ถ้าเธอยอมเอาใจนี้มากล่อมเกลาผู้คนก็ไม่ใช่จะยากเย็ยอะไร ! น่าเสียดายที่ความคิดชั่วของเธอมีมากมาย เพราะฉะนั้น ปริมาณความดีจึงถูกลดไปกึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น เธอจึงไม่มีโอกาสไปถึงตำแหน่งมหาอำมาตย์"  ก็เป็นจริงดังว่า นายเหว่ยต๋งต๋ารับราชการไปถึงตำแหน่งบรรณาลักษณ์ด้านประวัติศาสตร์เท่านั้นไปไม่ถึงตำแหน่งมหาอำมาตย์

        สรุป  :  ความคิดแค่เกิดขึ้นจากความคิดยังไม่ได้กระทำก็ยังถูกบั่นทอนบุญวาสนาแล้ว เช่นเดียวกัน ความคิดดี แม้ไม่ถูกนำไปกระทำ ก็ให้มีพลังมีอานุภาพมาก  ดังตัวอย่างในนิทาน ถ้าหากความคิดดี ความคิดชั่วถูกนำไปกระทำแล้ว พลังความดี ความชั่ว จะมีมากขนาดไหน จะเห็นว่า แค่เคลื่อนไหวทางความคิดเท่านั้น นี่คือ ทวารแห่งภัยพิบัติและบุญวาสนา

        คติพจน์  :  "ทำความดีเหมือนหญ้าในฤดูใบไม้ผลิ คือ ไม่เห็นต้นหญ้าสูงรก แต่มีหญ้าเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำความชั่วเหมือนหินลับมีด คือ ไม่เห็นหินมันสึกกร่อน แต่นับว่าก็สึกกร่อนไป"  เพราะฉะนั้น บุญก็ดี  บาปก็ดี  มันเพิ่มลดโดยเราไม่รู้สึกตัว ผู้ไม่มีปัญญา  ไม่อาจจะเข้าใจได้ง่ายนัก
        ท่านเว่ยหล่าง (ฮุ่ยเหนิง) สังฆปรินายกในสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวไว้ว่า "เนื้อนาบุญ ไม่พ้นตารางนิ้ว"  ในพุทธธรรมก็ว่า "บาปบุญ  มงคลเคราะห์  สุดแต่ใจสร้าง"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                  คัมภีร์กรรม  ไท่ซั่ง กั่นอิ้งเพียน ของเหลาจื่อ ศาสดาแห่งเต๋า

                                             บทที่หนึ่ง

                                            ความหมาย

                     คัมภีร์ :  บุญบาปตอบสนอง  เหมือนเงาตามตัว     

        อธิบาย  :  การตอบสนองของบาปบุญ  ก็เหมือนเงาที่ติดตามตัว คนเดินไปถึงไหนเงาก็ตามไปที่นั่น มันไม่แยกจากกันเลยตลอดกาล  ความดีความชั่วก็คือการพูดถึงใจของคน การตอบสนองก็คือหลักธรรมฟ้า ถ้าร่างกายของคนตรงเงาก็ตรง ถ้าร่างกายเอียงเงาก็เอียงไป เป็นเช่นนี้อย่างไม่ผิดเพื้อน หากสร้างเหตุความดีไว้ ก็ย่อมได้รับผลของความสุข หากได้สร้างเหตุความชั่วก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นผล เหตุผลเหล่านี้  อริยเจ้าได้พูดไว้ละเอียดมาก น่าเสียดายคนที่มีความรู้ คือมีการศึกษา ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อเหตุผลเหล่านี้ ส่วนคนโง่ที่ไม่มีปัญญาก็ไม่เชื่อเพราะมองไม่เห็น ดังนั้นจึงละดีทำชั่ว เพราะว่าพวกเขาเห็นคนที่มักทำความดี มักมีชะตาชีวิตที่ผกผัน กับคนที่เรื่องชั่ว ๆ ไม่เพียงมีอายุยืนยาวแถมร่ำรวยอีกต่างหาก เพราะปัจจุบันการรับกรรมสนองมีต่าง ๆ กัน ซึ่งความดีความชั่วกลับไม่เห็นการตอบสนอง ดังนั้น เหตุต้นผลกรรมจึงดูไม่มีเหตุผลเพียงพอต่อความเชื่อถือ  ทั้งนี้  เพราะคนโง่ผู้ไร้ปัญญา พวกเขาไม่รู้ว่า มนุษย์โลกไม่มีใครยืนหลายร้อยปี และสวรรคฺก็ไม่ได้คิดบัญชีในทันที  และคนในโลกนี้ดีบริสุทธิ์หรือชั่วบริสุทธิ์ก็มีน้อยมาก ดังนั้น โอกาสทำความดีความชั่วก็มีมากมาย เพราะว่าความคิดนี้ก็มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ผลตอบสนองก็ควรสลับไปสลับมา บางทีก็ตอบสนองบนตัวเขาเอง บางทีก็ตอบสนองกับลูกหลานเขา บางทีก็ตอบสนองในปุจจุบันชาติ บางทีก็ตอบสนองในชาติหน้า บางครั้งก็ตอบสนองก็มากบ้างน้อยบ้างเร็วบ้างช้าบ้าง ถึงแม้ในนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงแยกย้ายแต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีการผิดเพี้ยน ดังที่พูดกันว่า "ความดีความชั่วถึงที่สุด แล้วมีตอบสนองเพียงแต่เร็วหรือช้าเท่านั้น" "ไม่มีหรอกที่จะไม่ตอบ เวลายังมาไม่ถึง" เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมองเฉพาะหน้า ควรจะติคตามให้ถึงที่สุด เพราะว่าการตอบสนองของความดีความชั่ว เป็นเหมือนเงาตามตัวแน่นอน  ถ้าว่าตามพุทธธรรม กฏแห่งกรรมต้องพูดถึง 3 ชาติ ชนิดแรกคือปัจจุบัน ก็คือจะได้รับผลตอบสนองในชั่วชีวิตนี้  ชนิดที่สองคือ ชาติหน้า คือได้ผลตอบสนองในชาติถัดไป  ชนิดที่สามคือชาติถัด ๆ ไปคือได้ผลตอบสนองในชาติอื่น ๆ ถัดไป  อาจเป็นสิบชาติร้อยชาติพันชาติก็ได้  เพราะฉะนั้น ถ้าปัจจุบันทำดีกลับได้รับภัยพิบัติ อันนี้เกิดจากกรรมชั่วที่เขาทำเมื่อชาติที่แล้ว มาถึงปัจจุบันก็ประจวบเหมาะกรรมตอบสนองพอดี  ผู้ที่ปัจจุบันทำชั่วกลับมีบุญวาสนา  อันนี้เกิดจากกรรมดีที่เขาทำไว้เมื่อชาติที่แล้ว มาถึงปัจจุบันก็ประจวบเหมาะกับกรรมดีตอบสนอง  เพราะฉะนั้น ในบุญมีเคราะห์  ในเคราะห็มีบุญ ก็เพราะว่าคนเราไม่มีใครดีบริสุทธิ์หรือชั่วบริสุทธิ์ บางคนเริ่มต้นก็มีบุญวาสนา สุดท้ายกลับมีภัยพิบัติ นี้เพราะใจอันดีงามของเขาถดถอยไป บางคนเริ่มต้นมีแต่ภัยเคราะห์ ต่อมาภายหลังกลับมีบุญวาสนา ทั้งนี้เพราะใจชั่วของเขาสำนึกผิด ถ้าหากผลตอบสนองไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือการตอบสนองโดยตรง ถ้าหากภัยพิบัติกับบุญวาสนาช่วยกันปรากฏให้เห็น ก็แสดงว่าผลตอบสนองคลุมเครือ และบังเอิญกับพอดี ยิ่งบางคนไม่เข้าใจกุศลลับ กับ อกุศลลับด้วยแล้ว มันไม่ใช่หูหรือตาของคนที่สามารถมองเห็นฟังถึงผลกรรมตอบสนองได้  จะต้องรู้ว่ากฏหมายในโลกยังมีรอยรั่วและไม่รัดกุม แต่การตอบสนองของธรรมแห่งฟ้าไม่มีการรั่วไหลหรือมีช่องโหว่ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า "สร้างความดีความชั่ว ตอบสนองเหมือนเงาตามตัว จงอย่าพูดว่าทำชั่วไม่ตอบสนอง รอให้ชั่วมันเอ่อล้น จงอย่าพูดว่าทำดีไม่ได้รับ รอผลดีสมบูรณ์ก่อน" ในพุทธธรรมก็ว่า "ถึงแม้จะเป็นร้อยพันกัป กรรมที่ทำไม่สลายเหตุสัมพันธ์ได้เวลา จงรับผลตอบสนอง" เหล่านี้ก็น่าจะรู้ว่า เราได้รับสุขทุกข์ในสามภพภูมิ วนเวียนอยู่ในวิถีหก ข้างบนก็คือภพภูมิสามที่ดี ข้างล่างคือภพภูมิบาปทั้งสาม ล้วนสุดแต่ใจคนจะกวักหามา ควรรู้เอาไว้ว่าตาข่ายฟ้าหลุดรอดยาก แม้คิดจะหลบหนีก็เหมือนเดินอยู่กลางทุ่งโล่ง เมื่อเกิดฝนตกหนัก มองไปทุกทิศล้วนแต่เปียกปอน ที่แท้ก็ไม่มีที่จะหลบฝนได้ แต่ชาวโลกไม่บรรลุรู้ จึงหมดทางสำเร็จถึงภาพลักษณ์ที่แท้จริงของการตอบสนอง หากผลตอบสนองยังอยู่ไกล แน่นอนเราก็จะมองไม่เห็น ผลตอบสนองที่มองเห็นได้ ก็ทึกทักเหมาเอาว่า มันเป็นไปตามสภาวะปกติที่ราบรื่นบ้าง ขรุขระบ้าง จึงไม่เพิ่มความสำคัญ  ยามปกติก็ดูแคลนกันแบบนี้ จึงไม่เอามาวินิจฉัย บางครั้งประสพกับมหาโชค หรือมหาภัยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะเชื่อถือได้ แต่กลับเอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องน่าเชื่อถือมายอมรับ แบบนี้เป็นเรื่องตัวเองหลอกตัวเอง สงสัยตัวเอง ถึงแม้คนที่ผ่านชีวิตมายาวนาน บังเอิญบรรลุรู้หลักธรรมบ้าง แต่เพราะคนก็แก่ชราแล้ว นิสัยก็ยึดติดแน่นแล้ว ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยิ่งคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงเลือดลมดี ก็ยิ่งยากที่จะเชื่อถือ นี่แหละที่ทำให้ในโลกนี้จึงมีคนหลงลืมตนเองจำนวนมาก จึงเดินไปสู่ทางสามแพร่ง เป็นเรื่องที่น่าเวทนานัก

Tags: