collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง ภาคสมบูรณ์ : คำนำ  (อ่าน 44024 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      สาธุชนผู้เคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะมักมีความเข้าใจผิดยึดถือเอาบุคคล วัตถุเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็น "พระพุทธะ" การนอบน้อมยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะมิอาจแก้ไขความทุกข์ของตนได้เลยเพียงแต่ทำให้จิตใจของตนเองมีความสุขเท่านั้น แต่เป็นความหลงผิดอย่างแท้จริง พระพุทธองค์ทรงเน้นให้สาวกทั้งปวงยึดถือธรรมะเป็นสรณะ แต่เพราะผู้ที่มีปัญญาอันตกต่ำกลับดื้อดึงมิฟังคำของพระพุทธองค์ ความฟั่นเฝือของพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นมากมายเพราะคนไม่ยอมแสวงหาธรรม แต่กลับแสวงหาวัตถุ และความโลภเข้าครอบงำจึงนำเอา พระพุทธรูป ที่เป็นเครื่องหมายของพระพุทธองค์ออกวางเร่ขายตามริมถนน บรรดาศิษย์ของพระพุทธองค์ก็นั่งปลุกพระเครื่องกันจนหัวสั่นหัวคลอนล้วนแต่นำเอามาแลกเงินตราทั้งนั้น
     หลักธรรมอันแท้จริงที่ช่วยชีวิตมิให้ตกต่ำอยู่ตรงไหนหารู้ไม่ เพราะฉะนั้นศาสนิกชนจึงไม่มีความศรัทธาจริงใจ ยิ่งเห็นพฤติกรรมภิกษุบางรูปยิ่งเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา จึงตรงตามที่พระพุทธอนุชา พระอานนท์ ได้เคยทูลถามพระพุทธองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้านิมิตเห็นสิงโตใหญ่มีหนอนชอนไชออกมาแล้วล้มลงไปต่อหน่าต่อตา มีความหมายเป็นเช่นไร"  "พระอานนท์ กาลต่อไปเบื้องหน้าศาสนาของตถาคตจักถึงแก่กานเสื่อมสูญเพราะสาวกเป็นเหตุ ช่วยกันทำลายและละเลยปฏิบัติหลักสัจธรรม" พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์
     ความโลภเข้าครอบงำบรรดาพุทธศาสนิกชน บรบัษสี่ต่างจึงร่วมมือกันทำลายพระพุทธศาสนาด้วยตนเองอย่างหน้าเศร้าใจเป็นที่สุด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวสัจธรรมอันชี้ให้เห็นความเป็นสัจจะที่ตรงแท้ เช่นเดียวกับพระพุทธวจนะว่า "เราขอปฏิญาณที่จะเข้าให้ถึงพุทธภาวะอันสูงสุดนั้น อาตมาปรารถนาที่จะชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นชัดว่า เมื่อเราสามารถน้อมจิตของเราไปตามทางแห่งธรรมะอันแท้ และถูกต้องตรงในทุกโอกาสและเมื่อปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเราไม่ขาดสาย จนกระทั่ง เราสามารถตีตัวออกห่างเสียได้ทั้งจากความรู้แจ้งและความไม่รู้ ไม่ข้องแวะด้วยกับทั้งความจริงและความเท็จ เมื่อนั้นแหละ เราอาจจะถือว่าตัวเราได้รู้แจ่มชัดแล้วในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ หรืออีกนัยหนึ่งได้ลุถึงแล้ว ซึ่งพุทธภาวะ
    ภาวะพุทธะอันสูงสุดตามที่พระธรรมาจารย์กล่าวนั้นย่อมไม่อาจเอาบัญญัติใดในโลกนี้มาเปรียบเทียบได้ แต่ภาวะเช่นนั้นน่าจะได้รับรสสัมผัสได้ด้วยตนเองมากกว่าการบอกเล่า เพราะเป็นภาวะแห่ง นิรรูปคือปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ
   ความเป็นพระพุทธะจึงมิได้ติดอยู่กับรูป แต่เพราะความไม่เข้าใจของศาสนิก จึงเพ่งแต่รูปลักษณ์แห่งการเป็นพระพุทธะเท่านั้น เมื่อเกิดรูปขึ้นมาจึงมีการเสื่อมสูญเป็นอนิจจะลักษณ์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย   พระพุทธศาสนา จึงมิใช่ธรรมะ แต่เป็นเพียงเครื่องมือของ "ธรรมะ" เท่านั้น แต่บัดนี้สาวกทั้งปวงก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือเผยแผ่ "ธรรมะ" กลับใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาลาภผลให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
   "พระภิกษุผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองจัดเป็นพระหรือไม่"  "ถ้าเช่นนั้นมหาโจรแต่งชุดเหลืองก็เป็นพระได้แนะซิ" "พระอยู่ที่ไหน" ""พระมิได้อยู่ที่การแต่งเครื่องแบบใด ๆ แต่อยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติตรงต่อหลักวินัยของพระพุทธองค์"  ถ้าไม่พิจารณาให้ชัดเจนถึง ภาวะความเป็นพระ ว่าอยู่ที่ "รูป " หรือ "นาม" การเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นพระพุทธะย่อมไม่อาจทำความเข้าใจกันได้  พระพุทธองค์ตรัสถึงความเป็น บิดา มารดา ว่าคือพระอรหันต์ของลูก พิจารณาจากความเอื้ออาทร ความรัก หวงแหน เป็นห่วง ที่พ่อแม่มีต่อลูกนั้นกระทำไปด้วยความเมตตาสูงสุดโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ความรักและความเมตตาของพ่อแม่ ไม่อาจหารูปธรรมใด ๆ มาวัดหรือกำหนดได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นภาวะแห่งธรรมะอันแท้จริง
     ถ้าสาธุชนทั้งปวงนำความหมายแห่งความเป็นพระอรหันต์ของพ่แม่ไปปฏิบัติแทนการไปกราบไหว้เกจิอาจารย์ทั้งปวง สภาวะแห่งจิตใจของผู้คนย่อมจะงดงามเจริญยิ่งขึ้น เพราะความเมตตาของพ่อแม่ ย่อมเป็นพลานุภาพอันยิ่งใหญ่หาขอบเขตมิได้  พ่อ แม่ ไม่เคยตั้งเงื่อนไขว่า ลูกต้องเป็นคนดี ถึงจะมีความรักและเมตตาให้ แม้ลูกชั่ว แม่ก็ยังคงรักปักใจ ภาวะเช่นนี้แหละจึงเทียบเคียงได้กับ พุทธภาวะ
     เมื่อสภาพจิตใจของใครก็ตามที่กว้างใหญ่ไพศาลเยี่ยงเดียวกับฟ้าดิน เขาย่อมรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างและสามารถจำแนกแยกแยะความถูกผิดได้ชัดเจน ถ้าจิตใจติดอยู่แต่ความดี ก็ยังรังเกียจความชั่ว ถ้าติดอยู่กับความชั่วก็รังเกียจความดีใครสามารถพ้นไปจากสองสภาวะนี้ได้เข้าย่อมได้ถึงพุทธะภาวะอันแท้จริง
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ผู้มีปัญญาอันด้อยและโง่เขลาล้วนพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก "ธรรมญาณ" ว่าเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ การแสวงหาหนทางจากภายนอก จึงเป็นความทุกข์ซึ่งหลายครั้งแฝงอยู่ในรูปของความสุข จึงทำให้คนเหล่านั้นไม่รู้ว่ากำลัง "อุ้มทุกข์" เข้าเต็มเปา ครั้งหนึ่งมีหญิงวัยกลางคนขณะเข้าพิธีเปิด "ประตูศักดิ์สิทธิ์" ของตนเองนั้นพลันก็หลั่งน้ำตาออกมาด้วยความปลื้มปรีติ และประกาศศรัทธาอันยิ่งใหญ่ว่า "ฉันจะกินเจตลอดชีวิต" ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญต่างอนุโมทนาด้วยความยินดีในกุศลจิตของเธอ ยิ่งกว่านั้นทุกครั้งที่พุทธสถานเปิดการบรรยายหลักสัจธรรม เธอผู้นี้ก็เข้าร่วมโดยไม่ยอมขาดเลยสักครั้งเดียว แต่พอระยะเวลาผ่านพ้นไปได้เพียงสามเดือนเท่านั้น การมาที่พุทธสถานของเธอก็เปลี่ยนไป กลายเป็นทอดระยะเวลามาเดือนละสองครั้งและเดือนละหนึ่งครั้ง และทุกครั้งที่มาเข้าร่วมฟังธรรมที่พุทธสถานมีอาการผิดปกติไปจากผู้ร่วมฟังอื่น ๆ ตรงที่ดวงตาของเธอจับอยู่ที่พระแท่นของพระพุทธรูปเท่านั้น เธอมิได้มองดูผู้บรรยายเลย "ยังกินเจอยู่หรือเปล่า" ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งถามเธอ "โฮ้ย  เลิกกินนานแล้ว"  "อ้าว แล้วทำไมไม่มาสถานธรรมเหมือนเมื่อก่อนล่ะ" "ก็ มันไม่เหมือนวันแรกเลย วันนั้นขณะที่กำลังกราบพระฉันได้เห็นพระโพธิสัตว์กวนอิม และพระพุทธจี้กงเสด็จลงมา สวยจริง ๆ แต่จากวันนั้นมากี่ครั้งก็ไม่เห็นอีกเลยแล้วจะมาทำไมกัน" คำตอบของเธอผู้นี้ชัดเจนถึงศรัทธาที่เกิดขึ้นนั้นยึดเอาไว้แต่ภายนอก เมื่อสิ่งที่เห็นมิได้เห็น สิ่งที่เคยได้กลับมิได้ ศรัทธานั้นก็ล้มลงไปได้อย่างง่ายดาย พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้อธิบายให้เห็นสัจธรรมของสรณะเอาไว้ว่า "เราควรจะสำเหนียกอยู่ในใจให้ได้เสมอไปว่าเรากำลังไต่ไปอยู่เรื่อย ๆ ตามทางแห่งมรรคปฏิปทาเพราะว่าการทำในใจเช่นนั้นย่อมเพิ่มกำลังให้ปฏิญาณของเรา บัดนี้เนื่องจากเราได้ตั้งปฏิญาณรวบยอด 4 ประการเหล่านี้แล้ว อาตมาจะได้แสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึง สรณะ มีองค์สามประการอันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม สืบไป"
     การถอนสิ่งเลวร้ายอันเป็นกิเลสในใจของเรานั้นหากไม่กระทำที่ใจไปกระทำนอกใจตนเองก็ไม่อาจถอนรากถอนโคนของความชั่วได้เลยเพราะความชั่วมันถือกำเนิดเกิดขึ้นที่ใจของเรามิใช่หรือ บรรดาคนโง่เขลาทั้งปวงจึงเที่ยววิ่งหาสิ่งศักดิสิทธิ์นอกตัว แม้ไปพบขอนไม้ ก้อนหิน บ่อน้ำ สัตว์เดรัจฉานที่แปลกประหลาดก็ยึดถือเอาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่พึ่งของตนเอง คนเหล่านี้จึงไม่อาจถอนรากถอนโคนความชั่วร้ายในใจของเขาได้เลย
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ชี้แจงให้เห็นเป็นสัจธรรมว่า "เราถือเอา "การรู้แจ้ง" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา เพราะนั่นแหละเป็นสุดยอดทั้งของบุญและปัญญา เราถือเอา" ความถูกต้องทางธรรมแท้" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเราเพราะว่านั่นแหละ คือหนทางที่ดีที่สุดของการรื้อถอนตัณหา เราถือเอา "ความ
บริสุทธิ์" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเราเพราะว่านั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริฐที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์
     ความหมายของวจนะนี้น่าจะอธิบายได้ว่าการรู้แจ้งหรือการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เมื่อกลางวันเพ็ญเดือนหก พระองค์รู้แจ้งแทงตลอดภายใน "ธรรมญาณ"ของพระองค์ มิได้รู้แจ้งจากถภายนอกเลยเพราะฉะนั้นการเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์จึงมิได้อยู่ที่การกราบไหว้พระพุทธรูปแล้วพร่ำรำพันขอ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แต่จงใช้ปัญญาตนเองพิจารณาให้เห็นสัจธรรมภายในตนเองได้ ใคร่ที่รู้แจ้งในความดีและชั่วของตนเองจึงเกิดประโยชน์ด้วยการถอนมันทิ้งไปเสียด้วยปัญญาของตนเอง
    การรู้ความดีและความชั่วของคนอื่นมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย นอกจากก่อให้เกิดทุกข์สถานเดียว เมื่อถอนอาการติดยึดในความดีและชั่วออกจาก "ธรรมญาณ"ของตนเองได้แล้วย่อมเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง สภาวะเช่นนี้แหละจึงเป็นปัญญาอันยิ่งใหญ่และสามารถรู้แจ้งในสรรพสิ่งได้
    ส่วน "ความถูกต้องทางธรรมแท้" ก็มิได้มาจากคำอธิบายของผู้ใด ธรรมะอันแท้จริงอยู่ภายใน "ธรรมญาณ" ของเราเอง นอกจากนี้ไม่มีธรรมะอื่นใดที่จะช่วยเราได้เลย เมื่อรู้ธรรมะในตัวเองย่อมรื้อถอนตัณหาได้ แต่ยังไม่หมดจด เมื่อใดที่เป็นธรรมในตัวเอง เมื่อนั้นตัณหาทั้งปวงก็หมดสิ้น
  " ความบริสุทธิ์" ที่ทำให้มีโอกาสเกิดตายเป็นมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ สภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วย ศีลห้า  ใครกระทำได้ดั่งนี้จึงจัดได้ว่า มีสรณะหรือที่พึ่งของตนเองอันแท้จริงและเขาไม่จำเป็นต้องอ้อนวอนขอร้องจากใคร แม้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงก็ไม่จำเป็นต้องมาเหนื่อยยากด้วย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
 
       การนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เป็นพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนยังมีความเข้าใจผิดและปฏิบัติไม่ตรงตามพุทธประสงค์เพราะศาสนิกเหล่านี้ติดอยู่ในรูปปั้น เครื่องแบบมากกว่าหัวใจแห่งคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ศาสนิกเหล่านี้จึงผันตัวเองเข้าไปสู่ยุคมืดบอดทางปัญญาเหมือนเมื่อสมัยพันสี่ร้อยกว่าปีก่อน  บรรดาชนชาวตะวันออกกลางต่างเคารพบูชารูปปั้นของเทพเจ้าต่าง ๆ และน่าสังเวชใจแม้สัตว์เดรัจฉานก้ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมนุษย์พากันกราบกรานอ้อนวอนขอความสุขสวัสดีพ้นไปจากบาปเวรทั้งปวง
     พระเยซูคริสต์ ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ และ พระนบี มูหะหมัด ศาสดาแห่งศาสนาอิสลามทรงทำลายรูปปั้นเคารพ ณ เมืองเมกกะเสียหมดสิ้นและบัญญัติห้ามการบูชารูปปั้นทั้งปวง และกลายมาเป็นบัญญัติห้ามการเคารพบูชารูปปั้น จนถึงทุกวันนี้  แม้ในพระพุทธศาสนาเองพระบรมศาสดาก็มิได้ส่งเสริมหรือบัญญัติให้ศาสนิกเคารพบูชารูปปั้นเลยโดยเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ใกล้เสด็จดับขันธ์ ปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามว่าจักมอบให้ผู้ใดเป็นศาสดาปกครองดูแลคณะสงฆ์ต่อไป พระพุทธองค์ตรัสว่า "จงนับถือพระธรรมเป็นศาสดา" ความหมายอันชัดเจนของพุทธวจนะนี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงสัจธรรม ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมย่อมเห็นตถาคต ธรรมะในตัวเองจึงเป็นศาสดาที่แท้จริง
    ส่วนพระพุทธรูปเป็นเครื่องหมายรำลึกถึงปฏิปทา พระมหาเมตตา ของพระพุทธองค์เท่านั้น มิได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือชี้ทางแห่งการพ้นทุกข์ให้แก่ใครได้เลย พระธรรมคำสอนทั้งปวงที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้วก้ไม่อาจนำพาใครให้พ้นทุกข์ไปได้หากผู้นั้นมิได้ปฏิบัติให้ถึงธรรมะแท้ในตัวเอง
    พระสงฆ์ ก็คือการบำเพ็ญปฏิบัติให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ทั้งปวงด้วยตัวเอง พุทธประสงค์ที่แท้จริงจึงอยู่ที่ธรรมะของตนเองมิได้อยู่ที่รูปปั้นเคารพใด ๆ ทั้งสิ้น แต่สาธุชนทั้งปวงมิได้เข้าใจถึงความข้อนี้เราจึงพากันหลงใหลอยู่แต่รูปลักษณ์ภายนอก และในที่สุดก็เสื่อมทรามทางศรัทธาจึงเกิดขึ้น เพราะเมื่อมีรูปลักษณ์ปรากฏขึ้นแล้ว รูปนั้นย่องตกอยู่ในกฏของความไม่เที่ยง อาจารย์ที่ยังเป็นคนอยู่นั้นย่อมล้มลงกลางทางได้ พระพุทธรูปย่อมแตกพังลงไปได้ แต่สัจธรรมในตัวเองไม่มีวันเสื่อมสูญ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ต่อไปนี้จงถือเอาท่านที่ตรัสรู้แล้วเป็นครูของเราในทุกกรณี เราไม่ควรรับเอาพญามารหรือมิจฉาทิฎฐิบุคคลอื่นใดว่าเป็นผู้นำของเรา ข้อนี้เราอาจน้อมนำเข้ามาสู่ใจเราได้ โดยน้อมรำลึกถึงอยู่เนืองนิจ ใน "รัตนทั้งสาม"  ซึ่งมีอยู่ใน "ธรรมญาณ" ของเราซึ่งอาตมาขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายถือเอาเป็นที่พึ่ง รัตนะเหล่านั้นคือ
       พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นตัวแทนของ ความรู้แจ้ง
       พระธรรม     ซึ่งเป็นตัวแทนของ ความถูกต้องตามธรรมแท้
       พระสงฆ์      ซึ่งเป็นตัวแทนของ ความบริสุทธิ์
      ความหมายแห่งพระวจนะนี้ย่อมเล็งเอา ความรู้แจ้ง ของตนเองเป็นนัยสำคัญอันหมายถึง รู้แจ้งในความทุกข์และสุขภายใน ธรรมญาณของตนเองเท่านั้น แม้พระธรรมก็ยังหมายการสำรวจวาจาของตนเองให้ถูกต้องตรงตามสัจธรรมอันรู้แจ้งจากธรรมญาณของตนเอง หรือพระสงฆ์คือการปฏิบัติด้วยตนเองให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์  จิต กาย วาจา ของเราเองจึงควรกระทำภายในของตัวเรามากกว่าที่จะไปค้นหากระทำภายนอก
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงให้คำอธิบายเอาไว้ดังนี้ "การน้อมใจของเราให้ถือเอาความรู้แจ้งเป็นที่พึ่งได้ จนถึงกับความรู้สึกที่ชั่วร้ายและผิดธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตัณหาห่างจากไป ความตึงเครียดไม่ปรากฏ ราคะและโลภะไม่เร่งรัดอีกต่อไป นั่นแหละคือยอดสุดทั้งบุญและปัญญา การน้อมใจของเราให้ถือเอาความถูกต้องตามธรรมแท้เป็นที่พึ่งได้ จนถึงกับเราเป็นอิสระอยู่เสมอจากความเห็นผิดนั่นแหละคือหนทางอันประเสริฐที่จะถอนเสียได้ถึงตัณหา
    การน้อมใจของเราให้ถือเอาความบริสุทธิ์เป็นที่พึ่งได้จนถึงกับว่าสถานการณือันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ ก็ไม่ทำให้เปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์อันน่าขยะแขยง ด้วยความทะเยอทะยานและตัณหานั่นแหละคือคุณชาติอันประเสริฐสุดของการได้เิกิดมาเป็นคน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ขยายความให้ชัดเจนอีกว่า "การปฏิบัติใน สรณะอันมีองค์สาม ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วย่อมหมายถึงการกระทำที่พึ่งในตัวของตัวเอง พวกเขาเขลาพากันถือสรณะอันมีองค์สามทั้งกลางวันและกลางคืนแต่เขาหาเข้าใจสิ่งนีไม่ ถ้าเขากล่าวว่าเขาถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้า เขาทราบหรือว่าพระพุทะเจ้าอยู่ที่ไหนถ้าเขาไม่สามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้และเขาจะถือพระองค์เป็นที่พึ่งได้อย่างไร การที่ยืนยันเช่นนี้มิกลายเป็นเท็จไปหรือ
     ท่านทั้งหลายแต่ละคนควรพิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงในแง่นี้ให้แจ้งชัดเพื่อตัวท่านเองและอย่าปล่อยให้กำลังกายและกำลังความคิดของท่านถูกใช้ไปผิดทาง ในวัชรสูตรได้กล่าวเอาไว้ชัดแล้วว่า เราควรจะถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเราเอง ไม่ได้กล่าวสอนเอาเลยว่าให้ถือพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นอกจากนี้เป็นที่พึ่ง ยิ่งกว่านั้นถ้าหากว่าเราไม่ถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเองแล้วก้ไม่มีที่อื่นใดอีกที่จะถือเอาเป็นที่พึ่งที่ต้านทานแก่เราได้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ยืนหยัดตรงตามพระพุมธวจนะว่า "เมื่อพิจารณาเห็นความจริงในข้อนี้กระจ่างแล้วเราทั้งหลายในแต่ละคนจงถือเอาที่พึ่งใน "รัตนทั้งสาม"ภายในตัวเราเองเถิดในภายในเราต้องบังคับใจเราเองภายนอกเรานอบน้อมต่อผู้อื่นนี่แหละคือวิถีทางแห่งการถือที่พึ่งภายในตัวเราเอง
    พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธภาษิตว่า "ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน" ใครที่คิดพึ่งสิ่งอื่นนอกจากรัตนภายในแล้วย่อมถือว่าเป็นผุ้ไร้ที่พึ่งอย่างแท้จริง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ตามปกติของมนุษย์คนหนึ่งมีอยู่สามกาย ซึ่งตามความเชื่อถือที่ยึดถือกันมาก็แบ่งเป็นดังนี้  กายหยาบที่เห็นเป็นเนื้อหนังมังสา  กายละเอียดมิอาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะเป็นกายทิพย์  และกายธรรม หรือ ที่เรียกกันว่า ธรรมกาย ตาทั้งสองประเภทนั้นย่อมมองไม่เห็นเป็นแน่นอน แต่เพราะความเข้าใจผิดและหลงผิด ผู้ปฏิบัติบางคนบางกลุ่มจึงไปกำหนดมั่นหมายรูปลักษณ์ของ "ธรรมกาย" ว่าสว่างใสเช่นเดียวกับพระพุทธรูปแก้ว  พอนั่งสมาธิจิตนิ่งมองเห็นเป็นพระพุทธรูปแก้วใสสว่างไสวจึงปลื้มปรีติและเหมาเอาว่าตนเองถึงซึ่ง "ธรรมกาย" พอดีพอร้ายเข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมสำเร็จเป็นอรหันต์ไปเลยก็มี
      ความหมายแห่ง "ตรีกาย" ที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงท่านกล่าวเอาไว้ในพระสูตรของท่านนั้นน่าสนใจว่า "อาตมาจะได้กล่าวแก่ท่านทั้งหลายถึงเรื่อง "ตรีกายของพระพุทธเจ้าแห่งธรรมญาณสืบไป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะสามารถเห็นกายทั้งสามนี้แล้วจะเห็นแจ้งในธรรมญาณอย่างชัดเจนด้วย" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวนำให้สาธุชนได้ท่องตามมีความว่า "ด้วยกายเนื้อของเรานี้ เราขอถือที่พึ่งในธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ด้วยกายเนื้อของเรานี้ เราขอที่พึ่งในสัมโภคกายอันสมบูรณ์ของพระพุทธเจ้า ด้วยกายเนื้อของเรานี้ เราขอถือที่พึ่งในนิรมานกายอันมากมายตั้งหมื่นแสนของพระพุทธเจ้า"
     ผู้ที่ศึกษาพระสูตรของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้ให้ความหมายของกายทั้งสามนี้ว่า ธรรมกายคือกายแก่น  สัมโภคกายคืือกายแสดงออก  นิรมานกายคือกายเปลี่ยนรูปต่าง ๆ  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอธิบายเกี่ยวกับกายทั้งสามนี้ว่า "กายเนื้อของเรานี้อาจเปรียบได้กับโรงพักแรมชั่วคราว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถยึดเอาเป็นที่พึ่งได้ แต่ภายใน ธรรมญาณของเราเราอาจหาพบกายทั้งสามนี้และเป็นของสามัญสำหรับทุกคน แต่เนื่องมาจากใจของคนสามัญทำกิจอยู่ด้วยความรู้ผิดเขาจึงไม่รู้ถึงธรรมชาติแท้ในภายในกายของเขา ผลจึงทำให้เขาไม่รู้จักตรีกายภายในตัวของเขาเองแต่กลับเชื่ออย่างผิด ๆ ว่าจรีกายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาจากภายนอก ท่านจงตั้งใจฟังเถิด อาตมาจะแสดงให้ท่านเห็นว่าในตัวท่านเองท่านจะหาพบตรีกายเป็นปรากฏการณ์อันแสดงออกของธรรมญาณอันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาพบได้จากภายนอก
    ความหมายแห่งคำว่า "ภายนอก" และ "ภายใน" ของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงนั้นมิได้มีความหมายแต่เพียงสิ่งที่อยู่นอกตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ภายในมีความหมายว่า เป็นภายในธรรมญาณ ส่วนที่เกิดขึ้นนอกจากธรรมญาณแล้วย่อมถือเป็นภายนอกทั้งสิ้น อย่างเช่น เรานั่งสมาธิจนเห็นดวงแก้วลอยอยู่กึ่งกลางกายของเราก็ย่อมถือว่าเป็น "ของภายนอก" ทั้งสิ้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอธิบายว่า "ในที่นี้อะไรเล่าได้ชื่อว่า ธรรมกายอันบริสุทธิ์ ธรรมญาณ ของเราเป็นของบริสุทธิ์จริงแท้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงอาการแสดงออกของ จิต  กรรมดีกรรมชั่วเป็นเพียงผลของความคิดดีและคิดชั่วตามลำดับ ฉะนั้นภายใน ธรรมญาณ ทุกสิ่งย่อมบริสุทธิ์จริงแท้เหมือนกับสีของท้องฟ้ากับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเมื่อเมฆผ่านมาบังความแจ่มนั้นนั้นดูประหนึ่งว่าถูกทำให้มัวไป แต่เมื่อเมฆผ่านไปแล้ว ความแจ่มกลับปรากฏอีกและสิ่งต่าง ๆ ก็ได้รับแสงที่ส่องมาเต็มที่อย่างเดิม
   ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตชั่วของเราเปรียบเหมือนกับเมฆ ความรู้แจ้งแทงตลอดและปัญญาของเราเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตามลำดับ เมื่อเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก ธรรมญาณของเราก็ถูกบดบังไว้ด้วยความรู้สึกที่ติดรสของอารมณ์ซึ่งย่อมจะปิดกั้นความรู้แจ้งแทงตลอดและปัญญาของเราไว้ มิให้ส่องแสงออกมาภายนอกได้ แต่เผอิญเป็นโชคดีแก่เราที่ได้พบกับครูผู้รอบรู้และอารี ที่ได้นำธรรมะอันถูกต้องตามธรรมะให้เราทราบ เราจึงสามารถกำจัดอวิชชาและความรู้ผิดเสียได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา จนถึงกับเราเป็นผู้รู้แจ้งสว่างไสวทั้งภายในและภายนอก และธรรมชาติแท้ของสิ่งทั้งปวง ปรากฏตัวมันอยู่เองในธรรมญาณของเรา นี่แหละคือสิ่งที่บังเกิดขึ้นกับบุคคลผู้ได้เผชิญหน้ากับธรรมญาณ และนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
    ความหมายอันแท้จริงของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้แสดงมาทั้งหมดนั้นมิได้บอกให้เรารู้เลยว่า ธรรมกาย นั้นจักต้องมีรูปลักษณ์อย่างไรเพราะธรรมกายอันแท้จริงย่อมปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง ตราบใดที่เป็นรูปไม่ว่าจะเป็น นามรูป หรือ วัตถุรูป ล้วนมิใช่ ธรรมกาย อันแท้จริง เพราะเมื่อเกิดรูปใด ๆ ขึ้นมาภายใน ธรรมญาณของเขาย่อมปราศจาก ธรรมะ เพราะกลายไปยึดถือในสิ่งที่ดีงามตามอารมณ์ของตนเองที่สร้างขึ้นมา ผู้ที่ติดอยู่ในรูปลักษณ์จึงมิอาจพบ ธรรมะ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วการมองเห็นตัวเองเปลี่ยนไปในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่พ้นไปจากการเวียนดี - เวียนชั่ว นั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ความเป็นพระพุทธะกับปุถุชนเปรียบได้ดั่งฝ่ามือ ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างหน้ามือกับหลังมือ แต่ยังคงเป็นฝ่ามือเดียวกัน เพราะฉะนั้นมหาโจรกับโจรจึงอาจเป็นพระพุทธะได้ดังเรื่องราวของ องคุลีมาล เป็นต้น ประวัติพระิอรหันต์องค์นี้น่าเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นความเป็นจริงได้ว่า "พุทธภาวะ" มีเหมือนกันหมดทุกคนไม่ว่าผู้นั้นกำลังประพฤติปฏิบัติตนเช่นไร เขาใช้ฝ่ามือด้านไหนออกมาปฏิบัติ
      เมื่อครั้งที่อหิงสกะ บุตรของปุโรหิตถูกอาจารย์ทิศาปาโมกข์หลอกลวงให้ฆ่าผู้คนด้วยหวังให้ถูกคนอื่นฆ่าเสียนั้น ความเป็นพระพุทธะกำลังถูกความโลภเข้าครอบงำและกลายเป็นโทสะจริตไปโดยไม่รู้ตัว  แต่ครั้นพระพุทธองค์ทรงเตือนสติด้วยพุทธภาษิตว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด" องคุลีมาลเกิดความฉงนใจจึงถามกลับไปว่า "ท่านยังเดินอยู่ไฉนจึงบอกว่าหยุด" "ในมือเราปราศจากศาสตราวุธมิได้เบียดเบียนชีวิตของผู้ใดแต่ท่านสิยังคงกำศาสตราวุธเบียดเบียนชีวิต เราจึงได้ชื่อว่าหยุด แต่ท่านสิยังไม่หยุด"
    พระพุทธะแห่งตนจึงมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง เพราะจิตสำนึกรู้ว่าตนเองกำลังปฏิบัติกิจเช่นไร มีความคิดอย่างไร ในขณะจิตที่รู้แจ้งในความดี ความชั่วแห่งธรรมญาณของตนแล้ว ในขณะนั้นก็จัดว่าเป็นผู้รู้แจ้งแท้จริงคนหนึ่งเยี่ยงเดียวกับพระพุทธะทั้งปวง ส่วนผู้ที่สู่รู้เรื่องราวของคนอื่นมากมาย ยกเว้นเรื่องเดียวที่ตนเองไม่รู้คือพุทธะในตนเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มี "ความรู้ท่วมหัว" หาเิกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ตนมิได้เลย และเป็นที่พึ่งของตนเองไม่ได้ในทุกสถาน  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อรรถาธิบายให้รู้ถึงที่พึ่งอันแท้จริงว่า "การถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นก็คือการถือที่พึ่งในธรรมธรรมญาณของเราเอง ผู้ที่ถือที่พึ่งเช่นนี้ย่อมจะพรากสิ่งต่อไปนี้ออกไปจากธรรมญาณของตนคือ จิตชั่วต่ำ จิตริษยา จิตสอพลอ คด ๆ งอ ๆ ความยึดถือตัว ความคดโกงมดเท็จ ความดูถูกดูแคลน ความโอหัง ความเห็นผิดความเย่อหยิ่งจองหองและความต่ำทราม อื่น ๆ อันจะมิเกิดขึ้นในจิตไม่ว่าในเวลาใด ๆ
    การถือที่พึ่งในตัวเราเองนั้น คือการระวังระไวอยู่ตลอดเวลาในการที่จะไม่ทำชั่วทำผิด และงดจากการวิพากษืวิจารณ์ความดีหรือความผิดของบุคคลอื่นความหมายที่พระธรรมาจารย์กล่าวไว้แม้ล่วงเลยมานานนับเป็นพันปีก็มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพราะบัดนี้ผู้คนแม้ปากจะพร่ำบ่นพระพุทธมนต์หรือศึกษาพระสูตรต่าง ๆ  แต่หันกลับไปหาที่พึ่งอย่างอื่นที่นอกตัวเอง คนที่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากตนเองย่อมมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับผู้ที่มีที่พึ่งเป็นธรรมญาณของตน ตัวอย่างเช่น ผู้ที่นับถือพระเครื่องหรือเครื่องลางของคลัง พระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ คนเหล่านี้จะยโสโอหัง มีความคิดดูถูกดูแคลนผู้อื่นและเขาสามารถคดโกงหลอกลวงมดเท็จผู้คนได้ โดยมิได้คำนึงถึงผิดบาปใด ๆ เลย ในวงการพระเครื่องดูเหมือนมีเรื่องราวอื้อฉาวเหล่านี้อยู่ครบถ้วนและบริบูรณ์จนไม่ต้องจารนัยอิทธิปาฏิหาริย์ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องหลอกลวงให้ผู้คนหลงทางไปจากการพึ่งพาพระพุทธะในตนเองเสียสิ้น แม้ผู้ที่อ้างตนเองเป็นพระพุทธบุตรของพระพุทธองค์ก็ยังอุตสา่ห์นั่งปลุกเสกและโฆษณาขายกันอย่างมโหฬาร วงเงินเดินสะพัดเป็นหมื่น ๆ ล้านบาทยิ่งทำให้ผู้คนมัวเมาและหลงทางเข้าสู่อบายภูมิมากมาย มีคำกล่าวล้อเลียนพระเครื่องในวงการนี้ว่า "ถ้าพระราคาถูกย่อมคุ้มครองคนแขวน แต่ถ้าพระราคาแพงคนแขวนต้องคุ้มครองพระ" ผู้ที่แขวนพระเครื่องราคาแพงๆ  มักจะถูกยิงดับชีพและคนยิงก็ปล้นเอาพระในคอไปขายต่อ แต่คนที่ยังหลงงมงายว่าพระเครื่องเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนผู้ที่ยึดถือพระพุทธะของตนเองเป็นที่พึ่งพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอในทุกโอกาส มีอัธยาศัยสุภาพต่อคนทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ได้เห็นธรรมญาณของเขาอย่างทั่วถึงแล้ว ทั่วถึงจริง ๆ จนถึงกับทางข้างหน้าของเขาจะปราศจากอุปสรรคทุกประการนี่แหละคือวิถีทางที่จะทำที่พึ่งในตนเอง"
     คนเหล่านี้ล้วนแต่ยอมรับว่าคนอื่นก็มี พุทธะ เช่นเดียวกับตนจึงปราศจากความอวดดีเย่อหยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่โจรกลับใจแล้วเห็นธรรมกาย เขาก็ย่อมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อชนทั้งปวง เหมือนเมื่อครั้งองคุลีมาล ถูกชาวบ้านไล่ทุบตีนั่นแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         ผู้ปฏิบัติธรรมที่เพ่งเล็งอยากเห็นกายทิพย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ล้วนแต่คิดผิดเพราะเห็นกายทิพย์แล้วมิได้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมแต่ถ้าหลงใหลไปกับกายทิพย์อาจพ้นไปจากเส้นทางบำเพ็ญได้ หรือบำเพ็ญผิดหนทางได้ง่าย เพราะกายทิพย์ก็ยังคงอยู่ในลักษณะแห่งอนิจจังคือ ไม่คงที่แน่นอนเช่นกัน หากยึดติดย่อมไม่เห็น "ธรรมญาณ" แห่งตน  บางคนปฏิบัติธรรมเห็นกายทิพย์ของตนเองเกิดอาการหลงใหลได้ปลื้มและคิดว่าตนเองนั้นสำเร็จมรรคผลแล้วมีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ทั้งปวงและตั้งตนเป็นอาจารย์ ชี้หนทางหลงให้แก่ผู้หลงทั้งปวงสืบไป กลายเป็นอวิชชาไปโดยไม่รู้ตัว
        พระธรรมาจารย์ฮู่ยเหนิงกล่าวถึงสัมโภคกายว่า "อะไรเล่า ชื่อว่าสัมโภคกายอันสมบูรณ์ ในที่นี้ขอให้เรานึกถึงตะเกียงเป็นภาพเปรียบ แม้แต่แสงตะเกียงเพียงดวงเดียวก็ยังสามารถทำลายความมืด ที่มืดมานับเป็นพัน ๆ ปีได้ ฉะนั้นประกายแห่งปัญญาย่อมสามารถทำลายอวิชชาที่มืดมาแล้วเป็นยุค ๆ ได้เช่นกันเราไม่ต้องวิตกกังวลถึงอดีต เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงพ้นมาแล้ว และไม่สามารถเอาคืนกลับมาได้" ความหมายแห่งอวิชชา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นความไม่รู้นั้นหากพิจารณาแต่เพียงว่าอะไรเกิดขึ้นจากจิตของเราก็ยังไม่รู้ นั่นเป็นเพียงอวิชชาในชาตินี้ ความไม่รู้ โลภ โกรธ หลง ในตัวเองจัดเป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง "รู้ว่าคนอื่นโลภ โกรธ หลง เป็นอวิชชาหรือไม่" "ย่อมเป็นอวิชชาเช่นกัน เพราะรู้เช่นนี้มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ในการตัด ความโลภ โกรธ หลง ของตนเองเลย" ความไม่รู้ในการเวียนว่าย เกิดในภพภูมิต่าง ๆ เป็นอวิชชา และเป็นเหตุแห่งการเกิดไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง เพราะการไม่วิตกกังวลถึงอดีตทั้งในชาติก่อนและชาตินี้จึงเป็นการละวางอาการติดยึดที่ดีที่สุด เพราะถึงระลึกชาติได้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีตชาติของตนได้เลย
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "สิ่งที่ต้องการความสนใจจากเราคืออนาคต ฉะนั้นจงให้ความคิดของเราเป็นสิ่งที่กระจ่างและกลมกล่อมอยู่ทุกขณะจิตเถิด และให้เห็นอย่างเผชิญหน้าอยู่กับธรรมญาณทุกเมื่อเถิด ความดีกับความชั่วเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามต่อกันและกันอยู่ก็จริง แต่ว่าตัวเนื้อแท้ส่วนลึกของมันนั้น ไม่สามารถจะแยกออกเป็นสองฝ่ายธรรมชาติชั้นที่เราไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายนี่เอง คือตัวธรรมชาติแท้ ซึ่งไม่สามารถถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยความชั่ว หรือวิปริตเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจของความดีนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าสัมโภคกายของพระพุทะเจ้า
     ธรรมญาณ เปรียบเสมือนหนึ่งน้ำนิ่ง ความดี และ ความชั่ว ที่ผลิตออกมาจาก ธรรมญาณ เป็นเสมือนหนึ่งอาการเคลื่อนไหวของน้ำ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าดี หรือ ชั่ว ล้วนออกมาจากรากเหง้าเดียวกัน อาการสั่นไหวของน้ำย่อมไม่เป็นไปชั่วนิรันดร์ฉันใด ความดี และ ความชั่วที่ออกมาจาก ธรรมญาณ ก็มิได้คงที่ฉันนั้น มันแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วแต่เหตุปัจจัยใดมาปรุงแต่ง
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงสัมโภคกายว่า "ความคิดชั่วร้ายเพียงดวงเดียวจาก ธรรมญาณ ของเราอาจทำลายความดีที่เราสร้างสม อบรมมานานนับเป็นสมัย ๆ  ให้เสื่อมเสียไปหมดได้ทำนองเดียวกัน กับความคิดอันดีงามจากธรรมญาณนั่นอีกเหมือนกันอาจชำระชะล้างบาปอกุศลของเรา ซึ่งแม้จะมากมายเหมือนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ได้ดุจกัน การเห็นประจักษ์ชัดต่อ ธรรมญาณของเราเองทุกขณะจิตปราศจากการแทรกแซงจนกระทั่งลุถึงตรัสรู้ขั้นสูงสุด ถึงกับอยู่ในภาวะแห่งความเต็มเปี่ยมด้วยความรู้อันถูกต้อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั่นแหละคือ "สัมโภคกาย"
    กายทิพย์ของพระพุทะเจ้าที่เรียกกันว่า สัมโภคกาย นั่นมีความหมายสูงกว่ากายทิพย์ธรรมดาที่ละเอียดจนตาเนื้อมิอาจมองเห็นได้ แต่สัมโภคกายของพระพุทธเจ้ามิอาจเห็นได้ด้วยตาทิพย์ แต่เป็นสภาวะแห่ง ธรรมญาณ อันแท้จริงที่คงลักษณะเดิมเอาไว้ โดยมีปัญญาเต็มเปี่ยมที่พร้อมตัดผัสสะทุกประการที่ผ่านเข้ามาในอายตนะทั้งหก อาการของธรรมญาณที่เตรียมพร้อมบริบูรณ์ โดยมิต้องกำหนดหมายเช่นนี้เอง จึงเป็น สัมโภคกาย
     โลกีย์ชนเห็นสตรีงามเดินผ่านหน้าไป ย่อมเกิดจิตลามกและฟุ้งซ่าน  สมณะผู้บำเพ็ญเห็นหญิงงาม พยายามเพ่งมองให้เห็นเป็นโครงกระดูกเดินผ่านไป ต้องอาศัยญาณปัญญาพิจารณาเจาะผ่านผิวหนังลงไปหาโครงกระดูก บางทีก็สำเร็จบางทีก็เสร็จอิสตรี
     ส่วนพระพุทธเจ้าเห็นหญิงงามเดินผ่านมาจิตใจสงบนิ่งมิได้เห็นเป็นอิสตรีงามหรือโครงกระดูก ภาวะแห่งธรรมญาณ เช่นนี้แหละที่ไม่อาจเอาตาทิพย์ที่ไหนไปหยั่งถึงสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าได้เลย
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ตรีกาย อันหมายถึง กายทั้งสามของพระพุทธเจ้านั้น ธรรมกายและสัมโภคกาย ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยนัยตาเนื้อ แต่นิรมานกายเป็นกายเนื้อที่มองเห็นได้ แต่ที่ทำความเข้าใจกันยากก็อยู่ที่ว่า เหตุไฉนจึงมีมากมายนับด้วยหมื่นแสน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้คำอธิบายว่า "อะไรเล่าได้ชื่อว่า นิรมานกายอันมากมายนับด้วยหมื่นแสน เมื่อใดที่ทำตัวเรา ให้เข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายของความรู้จักแบ่งแยกว่าอะไรเป็นฝ่ายไหน และรู้จักระบุออกไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรต้องการได้แม้แต่เพียงนิดเดียวเท่านั้น เมื่อครั้นความเปลี่ยนแปลงรูปร่างก็จะเกิดขึ้นถ้าผิดไปจากนี้ สิ่งทุกสิ่งก็ยังคงว่างเปล่าเหมือนกับอวกาศ ดังเช่นที่มันเป็นอยู่ในตัวมันเองมาแต่เดิม โดยการโอนอิงจิตของเราลงไปบนความชั่วนรกก็เกิดขึ้น โดยการโอนอิงจิตของเราลงไปบนการกระทำความดี สวรรค์ก็ปรากฏ
     การกำเนิด รูปธรรม และ นามธรรม แท้ที่จริงล้วนก่อขึ้นมาจากธรรมญาณ ที่ไหวตัวด้วยเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งทั้งสิ้น นรก และ สวรรค์ ล้วนถือกำเนิดจากการสร้างของมนุษย์ทั้งมวลด้วยความคิดดีหรือชั่ว ดังคำกล่าวที่ว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ เป็นปฐมเหตุแห่งการสร้างนรกจริงและสวรรค์จริง ถ้าตัดเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งธรรมญาณได้ สวรรค์ และ นรก ก็ปราศนาการหาปรากฏไม่  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "มังกรและงูร้าย คือการแปลงร่างมาเกิดของเวรภัยอันมีพิษ เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ก็คือ ตัวตนของความเมตตากรุณา จับกลุ่มกันมาเกิด ซึกบนคือ ปัญญาซึ่งจับตัวกันเป็นผนึกส่องแสงจ้าอยู่ ในขณะที่โลกซีกล่างเป็นเพียงอีกรูปหนึ่งของสิ่งที่ก่อรูปมาจากอวิชชาและความมัวเมาการเปลี่ยนรูปแปลงร่างของธรรมญาณช่างมีมากมายเสียจริง ๆ "
    พระวจนะตอนนี้น่าพิจารณาถึงเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้การเวียนว่ายของธรรมญาณ ที่ได้สร้างกรงขังให้แก่ตนเองแต่ละภพแต่ละชาติแตกต่างกันไปตามแต่สภาวะแห่งจิตที่สร้างเหตุแห่งกรรมเอาไว้ "ชาตินี้กินหมู ฆ่าหมู แน่นอนชาติต่อไปย่อมได้กรงขังเป็นหมู" มนุษย์ไม่รู้จัก ธรรมญาณ ของตนเองเพราะฉะนั้นการเวียนว่ายจึงสร้างกรงขัง ธรรมญาณ ด้วยรูปลักษณ์แตกต่างกันจนประมาณมิได้ แต่เมื่อ ธรรมญาณ ตกลงมาสู่โลกนี้ย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ดี และ ชั่ว มืด และ สว่าง มีปัญญาและมืดมัว เพราะฉะนั้นผู้ที่คงสภาวะแห่งความเมตตา กรุณา เอาไว้ได้ในทุกกาลเวลาย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันการหมุนเวียนแห่งวัฏจักรย่อมทำให้เกิดความแปรเปลี่ยนไม่รู้จักจบสิ้น พระโพธิสัตว์จึงมีรูปลักษณ์มากมายจนประมาณมิได้เช่นกันไม่ว่ามนุษย์ หรือ สัตว์ถ้าคงความเมตตากรุณาเอาไว้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "พวกที่ตกอยู่ภายใต้ความหลงก็ไม่มีวันตื่นและไม่มีวันเข้าใจ เขาจึงน้อมใจลงสู่ความชั่วเสมอและประพฤติความชั่วนั้นเป็นปรกติวิสัย แต่ถ้าเขาน้อมจิตเลี้ยวจากความชั่วมายังความดีงาม แม้เพียงสักขณะจิตเดียวเท่านั้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้นทันที นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า นิรมานกายของพระพุทธเจ้าแห่ง ธรรมญาณ" นิรมานกาย นี้ย่อมหมายถึงการแปรเปลี่ยนแห่งธรรมญาณแต่มุ่งตรงไปสู่สัจธรรมอันพ้นไปจากวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิตแห่งพระพุทธะนั่นเอง
   พระธรรมาจารย์สรุปเอาไว้อย่างแจ้งชัดว่า "ธรรมกาย คือสิ่งซึ่งมีความเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเองอย่างแท้จริง  สัมโภคกายคือการเห็นอยู่อย่างเผชิญหน้ากับธรรมญาณของตนอยู่ในทุกขณะจิต นิรมานกายคือการเอนอิงจิตของเราลงไปที่สัมโภคกายจนเกิดปัญญาสว่างไสว" เพราะฉะนั้น ตรีกาย ของท่านฮุ่ยเหนิงจึงรวบสรุปอยู่ที่ ธรรมญาณ ของตนเองทั้งสิ้น มิได้อยู่ที่นอกตัวเราเลย ซึ่งเป็นการยอมรับว่า มนุษย์ทุกรูปสามารถบำเพ็ญปฏิบัติให้บรรลุซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณและเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคนไป แต่มนุษย์ขาดความเชื่อมั่นและไม่ศรัทธาต่อตนเองว่า มีทุกอย่างเยี่ยงเดียวกับพระพุทธองค์ ผิดกันแต่เพียง ปณิธานความตั้งใจเท่านั้น
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงยืนยันความข้อนี้เอาไว้ว่า "การปฏิบัติให้ลุถึงการตรัสรู้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และการปฏิบัติความดีงาม ตามที่มีอยู่ในธรรมญาณของตนเองนั่นแหละคือสิ่งที่ดีเลิศของการ ถือที่พึ่ง" กายเนื้อของเราประกอบไปด้วยเนื้อหนังมันจึงมีประโยชน์ไม่มากไปกว่าเป็นที่อาศัยพักแรมชั่วคราว ดังนั้นมันจึงเป็นที่พึ่งมิได้ แต่เราจงพยายามให้เห็นแจ้งในตรีกายแห่งธรรมญาณของเราเถิดและเรารู้จักพระพุทธเจ้าแห่งธรรมญาณของเราเอง การพึ่งพาแต่ภายนอกธรรมญาณของตนเองจึงกลายเป็นคนโง่หลงงมงาย เพราะแม้แต่กายของเรายังพึ่งไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นนอกตัวเราจึงมิใช่ที่พึ่งอันเกษมความหมายอันแท้จริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ "ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน" จึงมีความเป็นไปเช่นนี้แล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      มีคนเป็นจำนวนมากสำคัญผิดคิดว่า เป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำบุญตักบาตรถือศีล ฟังธรรม ก็จัดว่าเป็นคนดี คนดีที่ชอบทำบุญไม่เคยคิดด้วยซ้ำไปว่า ขณะที่กำลังทำบุญอยู่นั้นได้สร้างบาปให้แก่ตัวเองด้วย ตัวอย่างเช่น ยกเงินหนึ่งร้อยบาทขึ้นจบด้วยการพึมพัมขอบุญกุศลมากมายว่า "เจ้าประคู้ณ ขอให้ได้วิมานแก้วในชาติหน้า" เงินทำบุญเพียงหนึ่งร้อยบาทแต่ขอตอบแทนตั้งหลายหมื่นเท่าเช่นนี้นับว่าลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมากเกินเหตุ "อย่างนี้จัดว่าโลภมากไหม" "ความโลภย่อมเป็นบาปมิใช่หรือ" และที่น่าสงสารนักเราสั่งสอนให้โลภกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะฉะนั้นคนดีจึงติดบ่วงบาปจนต้องเวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุดในวัฏสงสาร  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "อาตมา มีโศลก อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม อยู่บทหนึ่งซึ่งการท่องและการปฏิบัติตามโศลกบทนี้ จักสามารถถอนอวิชชาให้สูญไปและชำระล้างบาป อันได้สะสมอบรมมานานนับด้วยกัลป์ ฯ ได้โดยสิ้นเชิง"
    ทำบุญแล้วคิดว่าเป็นผลได้ของตนเอง จึงจัดเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเพราะไม่รู้ว่า การทำบุญเช่นนี้เป็นการสั่งสมบาปเวรภัยให้แก่ตนเองโดยแท้ คนที่ชอบสร้างบุญเพราะความโลภ ความหลงเพราะไม่รู้ว่าการเวียนเกิดไปรับบุญของตนเองนั้นอาจมิใช่กายมนึษย์ไปรับบุญก็ได้...เศรษฐีคนหนึ่งบริจาคเงินสร้างเสากลางศาลาฟังธรรมโดยตกแต่งเสาต้นนั้นวิจิตรพิศดารนัก ครั้งใดที่นั่งทำบุญฟังธรรมก็จะเฝ้าแจอยู่ข้างเสาของตน แม้ใครล่วงล้ำเข้ามาใกล้เสาก็จะตะเพิดไล่ออกไป "นี่เธอไม่ได้บริจาคเสาต้นนี้นะ จงถอยออกไปไกล ๆ " ครั้นถึงเวลาสิ้นบุญเศรษฐีก็ตายไป ชนทั้งหลายก็ยังอยากนั่งใกล้เสาของเศรษฐี จึงพากันมาห้อมล้อม นั่งอยู่ใกล้เสานี้ทุกครั้งที่มาทำบุญ มิช้ามินานมีหมาตัวหนึ่งวิ่งขึ้นมาบนศาลาเห่าและกัดทุกคนที่นั่งข้างเสา และมันก็นั่งเฝ้าเสานี้จนไม่มีใครกล้าเข้าไปนั่งข้างเสานี้อีกเลย "ใครเล่ามาเฝ้าบุญของตนเอง ถ้ามิใช่เศรษฐีคนนั้น"
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวถึงคนพวกนี้ว่า "พวกที่จมอยู่ในความโง่เขลา ย่อมมัวแต่สะสมบุญอันแปดเปื้อนไปด้วยการลูบคลำของตัณหาและทิฏฐิ  จึงไม่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา พวกนี้ตกอยู่ในความรู้สึกว่า การสะสมบุญกับการไต่ไปตามมรรคปฏิปทานั้น เป็นของสิ่งเดียวและอย่างเดียวกัน แม้ว่าบุญของคนพวกนี้อันเกิดจากการให้ทานและบูชาจะมีมากมายหาประมาณมิได้ เขาก็ไม่เห็นแจ้งว่า วิถีทางมาอันฌแียบขาดของบาปนั้นเนื่องอยู่กับมูลธาตุอันมีพิษร้ายสามประการ คือ โลภ โกรธ หลง อันมีอยู่ในใจของตนเอง เขาคิดว่าเขาจะเปลื้องบาปของเขาได้ด้วยการสะสมบุญ เขาหารู้ไม่ว่า ความสุขที่จะได้รับในชาติข้างหน้านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเปลื้องบาปนั้นเลย" ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงก็คือ บาปก็คือบาป บุญก็คือบุญ  เอามาหักล้างลบหนี้มิได้เลย เพราะเกิดความเข้าใจผิด ผู้สร้างบุญจึงคิดว่า ทำบุญมาก ๆ ก็สามารถลบล้างความชั่วบาปของตนได้ คนชั่วบาปจึงระดมทำบุญเป็นการใหญ่ บวชล้างบาป สังฆทานสะเดาะเคราะห์ ทำบุญต่ออายุ พิธีกรรมเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับบาปเวรที่ตนเองสะสมเอาไว้เลย พิธีกรรมทั้งปวงทำด้วยกาย แต่บาปเวรกรรมอยู่ที่ใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนละเรื่องเดียวกันจริง ๆ
   พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปอีกว่า "ทำไมจึงไม่เปลื้องบาปภายในใจของตนเอง เพราะนั่นเป็นการชำระบาปภายในใธรรมญาณอย่างแท้จริง คนบาปที่ได้มีความเห็นแจ้งขึ้นในทันทีทันใด ว่าอะไรนำมาซึ่งการสำนึกบาปอย่างแท้จริง ตามวิถีของมหายาน และได้เลิกละเด็ดขาดจากการทำบาป ทำแต่ความดีนี่แหละคือ ผู้หมดบาป  ผู้ที่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา ซึ่งกำหนดในธรรมญาณอยู่เนืองนิจนั้น ควรถูกจัดเข้าในชั้นระดับเดียวกันกับพุทธบุคคลอันมีประเภทต่าง ๆ   พระสังฆปรินายกของเราที่แล้ว ๆ มาไม่ค่อยสอนระบอบธรรมอย่างอื่นเลย นอกจากระบบ "ฉับพลัน" นี้เท่านั้น
   ขอให้ผู้ปฏิบัติตามระบบนี้ทุกคน จงเห็นอย่างเผชิญหน้าต่อธรรมญาณของตน และอยู่กับพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ในทันที  การละบาปจึงละกันที่ "จิต" ของตน มากกว่าการละด้วยพิธีกรรมทั้งปวงที่ไร้สาระ ถ้ายังคงแวะอยู่ก็หนีไม่พ้น "คนดีที่มีบาป" นั่นแล
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากโลกีย์วิสัยมักหลงทางเสียตั้งแต่แรก ที่เกิดความซาบซึ้งรูปและเสียงของอาจารย์ผู้บอกหนทาง สีกาผู้อมทุกข์รายหนึ่งบากหน้าเข้าวัดเพื่อฟังธรรมจากพระอาจารย์เพื่อหวังพ้นไปจากทุกข์ที่รุมเร้าอยู้ด้วยเรื่องของครอบครัว "ทุกอย่างต้องปล่อยวางนะโยม"เสียงของพระอาจารย์แสนสงบเยือกเย็น สีกา ซาบซ่านด้วยมธุรสวาจาจิตใจปลอดโปร่งสบายนัก ครั้นกลับไปถึงบ้าน เสียงที่ไม่อยากฟัง อาการครึ้งเครียดโกรธเกรี้ยวกลับหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเก่า เพราะ "เสียงจากวัด" ตัดกับเสียงที่บ้านเหมือนสีขาวตัดกับสีดำความทุกข์จึงทับเท่าทวีคูณ จิตใจของสีกาจึงถวิลหา วัด มากกว่า บ้าน อาการเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับวัยรุ่นที่คลั่งไคล้นักร้อง ดิ้น และกรีดร้องด้วยความมันสะใจ สีกาที่ติด เสียง และ รูป ของพระจึงมิได้เห็นธรรมะอันแท้จริง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ถ้าท่านแสวงหาธรรมกาย ก็จงมองให้สูงเหนือขึ้นไปจากภาวะธรรมทั้งปวง แล้วธรรมญาณของท่านก็จักบริสุทธิ์ จงตั้งตัวมั่นในความมุ่งหมายที่เห็นธรรมญาณอย่างเผชิญหน้าอย่าถอยหลัง เพราะความตายอาจมาถึงโดยปัจจุบันและทำให้ชีวิตในโลกนี้ของท่านให้สิ้นสุดลงโดยทันที
     ผู้ที่เข้าใจคำสอนตามหลักแห่งมหายานและอยู่ในฐานะที่จะมองเห็นธรรมญานแท้เช่นนี้ ควรจะกระพุ่มมือทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างนอบน้อมแล้วแสวงหาธรรมกายด้วยความกระตือรือร้นเถิด ความหมายแห่งโแลกนี้มีจุดหมายอยู่ที่การปล่อยวางทั้งความดีและความชั่วอันเป็นภาวะธรรมดาของทุกอย่างในโกลนี้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งของที่มองเห็นได้หรือเป็นอารมณ์ที่มองไม่เห็นก็ตามตราบใดที่จิตยังมุ่งอยู่แต่ "สุข" หรือ "ทุกข์" จิตนั้นย่อมข้องเกี่ยวร้อยรัดแต่ "ทุกข์" หรือ "สุข" เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมญาณ ของตนเองได้
     เมื่อธรรมญาณถูกย้อมด้วย ดี หรือ ชั่ว เสียแล้วก็อย่าหมายว่าจะเห็นหน้าตาตัวจริงของตนเองได้เลย ผู้ปฏิบัติธรรมเช่นนี้จึงเห็นแต่หน้า "พระอาจารย์" และได้ยินเสียงที่ตนเองปรารถนาและอาการหนักหนาสาหัสถึงขนาดฝันถึงยิ่งตอกย้ำให้อาการยึดมั่นถือมั่นว่าพระอาจารย์เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงต้องตั้งสติพิจารณาให้เห็นสัจธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมกายภายในจิตของตนเอง ผู้มีสติเต็มเปี่ยมจึงเป็นผู้ที่นอบน้อมถ่อมใจ ส่วนผู้ไร้สติย่อมปล่อยให้อาการจิตคลั่ง สำแดงออกมาด้วยความโกรธเกรี้ยวด่าทอประนามผู้อื่น ยกตนข่มท่าน ดูแคลนผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตนเอง อาการที่สำแดงออกมาทั้งทางวาจาและกริยาล้วนเป็นเรื่องของอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว บุคคลเหล่านี้จึงได้ชื่อว่าเป็นปุถุชน มิใช่ผู้ปฏิบัติหาหนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากอารมณ์ของโลก
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง กล่าวเสริมว่า "ท่านทั้งหลายควรสาธยายโศลกนี้และปฏิบัติตาม ถ้าท่านมองเห็นธรรมญาฯของท่านภายหลังจากที่สาธยายแล้ว ท่านก็จะเห็นได้เองว่า ท่านได้อยู่เฉพาะหน้าของอาตามตลอดไป แม้ว่าจะอยู่ห่างไปตั้งพัน ๆ ไมล์ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ แม้เราจะอยู่จ่อหน้ากันอย่างนี้โดยที่แท้เราก็อยู่ห่างกันตั้งพันๆ ไมล์นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีประโยชน์อันใในการที่ท่านทรมานเดินทางมาถึงที่นี่ จากที่อันไกลแสนไกล คำกล่าวของท่านฮุ่ยเหนิงได้ชี้ย้ำให้เห็นสัจธรรมเช่นเดียวที่พระพุทธองค์เคยตรัสเป็นพุทธภาษิตเอาไว้ว่า "ผู้ใดดวงตาเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นตถาคต ผู้ใดดวงตาไม่เห็นธรรม แม้เกาะจีวรของตถาคตอยู่ ผู้นั้นได้ชื่อว่าไม่เห็นตถาคต"
    อาการของสีกาผู้คลั่ง พระอาจารย์ย่อมเห็นแต่ความดีงามของพระอาจารย์สถานเดียว แม้ความดีงามล้วนปรุงแต่งจัดฉาก จัดหน้า จัดรอยยิ้ม สีกา ก็เห็นแต่เพียงหน้ากากที่สวมใส่เอาไว้เท่านั้น และหากพระอาจารย์นั้นมีผู้นิยมคลั้งไคล้มาก หน้ากากที่สวมไว้ยิ่งหนาแน่นอยู่ในใจของปุถุชนเหล่านั้นจนยากที่จะขูดออกไปได้ คนเหล่านี้จึงมิได้เห็นหน้าตาอันแท้จริงของพระอาจารย์ แม้นั่งเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน ส่วนคนที่ตนเองรังเกียจก็ไม่ยอมเห็นความดีที่แฝงอยู่ในตัวของคนนั้น ดังโคลงโลกนิติ์ที่ว่า "รักกันอยู่ขอบฟ้า          เขาเขียว
                                       เสมออยู่หอแห่งเดียว   ร่วมห้อง
                                       ชังกันบ่แลเหลียว        ตาต่อกันนา
                                       เหมือนขอบฟ้ามาป้อง   ป่าไม้มาบัง
          เพราะฉะนั้น ไม่ว่า รัก หรือ ชัง แม้อยู่ต่อหน้าก็ย่อมไม่เห็นหน้าอันแท้จริง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       สาธุชนผู้แสวงหาหนทางหลุดพ้นไปจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง แต่ที่ไม่อาจพบธรรมญาณของตนได้ เพราะมีกำแพงขวางกั้น บางคนติดพระพุทธรูป บางคนติดพระธรรมคำสอน บางคนติดพระสงฆ์ และมีคนเป็นจำนวนมากติดอยู่กับคัมภีร์ โดยยึดถือว่า สิ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์คือ สัจธรรม ที่ถูกต้องยิ่งตนเองคล่องแคล่วในคัมภีร์ทั้งปวงยิ่งกลายเป็น ติดปัญญา ของตนเองโดยที่ผู้บำเพ็ญเหล่านี้ลืมนึกถึง กาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ ณ หมู่บ้าน กาลามะ หนึ่งในสิบข้อนั้นคือ "อย่ายึดถือเพราะเห็นเป็นตำรา"
      เมื่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกลับมาถึงตำบลเฉาโหวแห่งเมืองเซ่าโจวจากหวงเหมย แม้จะเป็นสถานที่เดิม ที่ท่านได้รับถ่ายทอดวิธีจิตจากพระธรรมาจารย์หงเหยิ่น ท่านก็ยังเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่มีใครรู้จัก ผู้ที่ต้อนรับเลี้ยงดูท่านอย่างดีกลับเป็นนักศึกษาแห่งลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีนามว่า "หลิวจื้อเลี่ย" นักศึกษาผู้นี้มีน้าสาวชื่อว่า "อู๋จิ้นฉัง" บวชเป็นภิกษุณีอยู่ในพระพุทธศาสนา และชอบสาธยายมนต์มหาปรินิรวาณสูตรอยู่เป็นนิจ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ยินการสาธยายมนต์นี้เพีัยงเล็กน้อยก็สามารถจับเอาใจความแห่งพระสูตรนี้มาอธิบายให้นักบวชผู้นี้อย่างลึกซึ้ง
      ภิกษุณิ อู๋จิ้นฉัง จึงได้หยิบคัมภีร์ขึ้นมาถาม ความหมายของข้อความตอนหนึ่ง แต่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกลับตอบว่า ""อาตมาไม่รู้จักหนังสือ แต่ถ้าท่านประสงค์จะทราบใจความแห่งพระคัมภีร์นี้ จงถามเถิด"" ""เอ๊ะ เมื่อท่านไม่รู้จักแม้แต่ถ้อยคำเหล่านี้แล้ว ท่านจะสามารถทราบถึงความหมายแห่งตัวสูตรได้อย่างไรเล่า"" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบภิกษุณีอู๋จิ้นฉังว่า "ความลึกซึ้งแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับภาษาที่เขียนด้วยหนังสือ" ความหมายแห่งคำตอบนี้เป็นการทำลายกำแพงแห่งความเข้าใจของภิกษุณีอู๋จิ้นฉัง ที่ติดยึดอยู่กับคัมภีร์ ลงไปได้ ประกายปัญญาของภิกษุณีรูปนี้จึงสว่างไสวและรู้ได้ด้วยพระธรรมาจารย์มิใช่พระภิกษุอย่างธรรมดาสามัญ ท่านจึงได้บอกเล่าแก่ชนทั้งหลายว่า พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเป็นพระอริยบุคคล สมควรที่จะขอร้องให้ท่านพักอยู่ที่นี่เพื่อถวายอาหารและที่พักอาศัย คำตอบของพระธรรมาจารย์ฮู่ยเหนิง ถ้านำเอาคำกล่าวของท่านเหลาจื้อที่กล่าวถึงคำว่า "เต๋า" มาอธิบายเทียบเคียงแล้วก็จะเห็นเป็นความจริงที่สอดคล้องกันว่า "เต๋า" นั้นไร้รูปไร้นาม ไม่อาจนำเอาถ้อยคำมาอธิบายได้จบสิ้น เพราะฉะนั้น จึงขนานนามเอาไว้ด้วยความจำเป็นว่า "เต๋า" ไปพลางก่อน ความลึกซึ้งแห่ง ธรรมะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาษาของมนุษย์เพราะภาษายังมีขีดจำกัดของการอธิบายความหมาย เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงกล่าวว่า "อย่าเชื่อถือเพราะเห็นเป็นตำรา"
     นอกจากนี้หากนำเอาความรู้สึก "รัก  โกรธ  ดีใจ เสียใจ" ของเรามาพิจารณาก็เห็นความเป็นจริง อาการเหล่านี้มิอาจหาภาษามาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความรู้สึกอันแท้จริง นอกจากตัวเราเองเท่านั้นที่เข้าใจและรู้ซึ้งอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นความหมายอันลึกซึ้งและกว้างขวางแห่งพระธรรมจึงกว้างใหญ่ไพศาลจนภาษาของคนยังมีขีดจำกัดไม่อาจอธิบายความหมายนั้นได้อย่างครบถ้วน ผู้ที่ติดยึดอยู่ในคัมภีร์ทั้งปวง จึงมีกำแพงมาขวางกั้นหนทางที่จะไปพบธรรมญาณของตนเอง ซึ่งกว้างใหญ่จนไม่อาจใช้ภาษามาให้คำจำกัดความได้ การเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของพระสูตร จึงไม่เกี่ยวข้องกับภาษาอะไรเลย
     ต่อมามีขุนนางอู่ ซึ่งเป็นเชื้อสายแห่งราชวงศ์เอว้ย ผู้หนึ่ง มีนามว่า เฉาสูเหลียง ได้มาเฝ้าพระธรรมาจารย์พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เกิดศรัทธาปลาทะจึงได้ช่วยบูรณะวัดป่าหลิน อันเป็นวักเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งร้างไปเพราะภัยสงครามสมัยปลายราชวงศ์สุย และได้ขอร้องให้พระธรรมาจารย์อาศัยอยู่ประจำ ไม่นานักก็กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมาก  แต่ท่านก็ยังมีศรัตรูผู้หมายปองร้าย เพราะคนเหล่านี้ล้วนติดยึดอญุ่กับรูปลักษณ์อัตตาตัวตนของตน จึงหมายล้างผลาญท่าน ด้วยหมายที่จะช่วงชิงตำแหน่งพระธรรมาจารย์โดยคิดอย่างไร้ปัญญาว่า เมื่อสิ้นท่านฮุ่ยเหนิงแล้ว ตำแหน่งนี้จะตกอยู่ในกำมือของพวกตน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอญุ่ที่วัดเป่าหลินได้เก้าเดือนก็ต้องไปหลบซ่อนอยู่ยังภูเขาใกล้ ๆ  แต่คนร้ายก็ใช้ไฟเผาป่า แต่ท่านหนีรอดไปหลบอยู่ที่ชะง่อนผา ซึ่งต่อมาได้นามว่า "ภูเขาแห่งความปลอดภัย" มีรอยคุกเข่าและลายเนื้อผ้าปรากฏอยู่บนแผ่นหินจนบัดนี้

Tags: