collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง ภาคสมบูรณ์ : คำนำ  (อ่าน 44002 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                                  ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  โดย อนัตตา พิมพ์ครั้งที่ 1 : ธันวาคม 2538
               คำนำ

         ผู้ที่รักความก้าวหน้าในการศึกษา และปฏิบัติธรรม สมควรศึกษาเกี่ยวกับพระสูตรของพระอริยะเจ้า เพราะพระสูตรนั้นมักกล่าวถึง "ธรรมญาณ" อันแท้จริงซึ่งเป็นสัจธรรม ท่านเว่ยหล่าง หรือ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง เป็นผู้ที่ไม่รู้จักหนังสือสักตัวเดียว แต่ตรัสพระสูตรออกมาล้วนเป็นเรื่องที่ตรงต่อ "ธรรมญาณ" และเป็นสัจธรรมทั้งสิ้น
        การศึกษาพระสูตรของเว่ยหล่าง จึงสมควรที่จะปล่อยวางสิ่งติดยึดอันเป็นความเคยชินในการศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะมิเช่นนั้นไม่อาจทำความเข้าใจความหมายอันล้ำลึกแห่งพระสูตรนี้ได้เลย ผู้เขียนมิได้มีสติปัญญาอันลึกซึ้งหรือรู้แจ้งแห่ง สัจธรรม แต่เป็นเพราะความเมตตาของท่านอาจารย์ ศุภนิมิต ที่ได้นำพาให้ได้รับวิถีอนุตตรธรรม จึงเกิดสติปัญญาพอที่จะซาบซึ้งของตนเองแลกเปลี่ยนกับท่านผู้รู้ทั้งปวง แม้จะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็คิดว่า ท่านผู้รู้ย่อมมีเมตตาที่จะชี้แนะเพื่อให้ ผู้เขียนมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น
       หากมีส่วนผิดพลาดในการอธิบายความหมายแห่งพระสูตรนี้ ผู้เขียนขอกราบประทานอภัยต่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงพระผู้รู้แจ้ง และฉุดช่วยเวไนยทั้งปวงให้รู้ตาม
                                                                 
                                                                          อนัตตา     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

           พระโพธิธรรม ซึ่งได้รับการถ่ายทอดญาณทวารเป็นพระธรรมาจารย์องค์ที่ 28 ของอินเดีย เดินทางไปประเทศจีนในสมัยของ เหลียงอู่ตี้ฮ่องเต้ และเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนี่งของจีน
           พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้รับการถ่ายทอดญาณทวาร เมื่ออายุ 24 ปี  อปสมบทเมื่ออายุ 39 ปี  โปรดสาธุชนอยู่ 37 ปี  และดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุ 76 พรรษา เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หกของจีน ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรที่สุด กายสังขารยังไม่เน่าเปื่อยอยู่ในท่านั่งสมาธิ จนบัดนี้ นับเป็นเวลาพันปีเศษ  โดยเก็บรักษาไว้ที่เจดีย์ ณ เมืองเฉาซี
                                                        ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง ภาคสมบูรณ์   : :  กัมมัฏฐาน -- มายา
     
         การนั่งสมถกัมมัฏฐาณ ซึ่งหลายสำนักได้อบรมสั่งสอน ล้วนมุ่งหมายความศักดิ์สิทธิ์แห่งจิต  มองเห็นกายทิพย์ ถอดจิต มีอภิญญา ปาฏิหาริย์  ความต้องการเช่นนี้นับเป็นความหลง เพราะพ้นไปจากวิถีแห่งธรรมญาณของตนเอง และไม่อาจหลุดพ้นไปจากทะเลแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
      ฤาษีตนหนึ่งนั่งเข้าฌาณสมาบัติระลึกชาติได้ 200 ชาติ หลังจากนั้นก็มองไม่เห็นอะไรอีก จึงคิดว่าตนมาเวียนว่ายเพียง 200 ชาติเท่านั้น ครั้นเสวยความสุขในฌาณเป็นรูปพรหมจนหมดสิ้นบุญกุศลแล้วก็ต้องเวียนกลับลงมาชดใช้หนี้สินเวรกรรมที่ตนเองระลึกไปไม่ถึงอีกหลายร้อยชาติ เพราะฉะนั้น ความพากเพียรนั่งเข้าฌาณ จึงกลายเป็นเรื่องไร้สาระ และสูญเปล่าโดยแท้ เพราะชีวิตธรรมญาณยังคงลอยละล่องอยู่ในทะเลทุกข์
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้แสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ในระบบการเจริญกรรมมัฏฐาณของเรานั้นเรามิได้กำหนดลงไปที่จิต หรือ กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ หรือว่าเราไปจับเอาตัวความหยุดนิ่งปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการก็หามิได้ สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้นไม่ควรทำ  เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้วและเมื่อเรามองเห็นชัดว่า มันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน
    ความหมายแห่งวจนะ ตอนนี้ น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการที่ไม่กำหนดลงไปที่จิต เพราะจิตปัจจุบันย่อมมีลักษณะตรงกันข้ามกับ "ธรรมญาณ" ธรรมญาณปราศจากความหยุดนิ่ง หรือ เคลื่อนไหว หรือ บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ แต่ จิต เป็นสิ่งที่มีแม้จะเป็นความดีก็ย่อมมัวหมองจากสภาวะแห่งธรรมญาณ เพราะจิตไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนตลอดกาล จึงป่วยการที่จะกำหนดลงไปที่จิต ใครกระทำการเช่นนี้จึงถือว่ากระทำในสิ่งที่ไร้สาระและไม่เกิดผลแต่ประการใดเลยต่อสติปัญญาของเรา
     พระธรรมาจารย์ฮู่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว และตลอดเวลาที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้น มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา นอกจากความบริสุทธิ์อย่างเดียว เพราะว่าเป็นด้วยอกุศลวิตกนี่แหละที่ทำให้ตถตาต้องเศร้าหมองไป ถ้าเราเพ่งจิตของเรากำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ เราก็มีแต่สร้างอวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่งเท่านั้นคือ อวิชชาแห่งความบริสุทธิ์  ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง บ่งชี้ชัดว่า แต่เดิมมาธรรมญาณของเราบริสุทธิ์อยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปกำหนดให้บริสุทธิ์ แต่กำหนดมาเมื่อใดก็เป็นการสร้างอวิชชาแห่งความบริสุทธิ์ซึ่งหมายถึงเป็นรูปลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์เช่นมองเห็นจิตตัวเองใสดั่งแก้ว ลูกแก้วที่สร้างขึ้นนั้นจึงเป็นความไม่รู้ว่าแท้ที่จริงเป็น มายาแห่งจิตที่กำหนดขึ้นเอง
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า เพราะเหตุที่อวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน
ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นคนบางคนอุตริถึงกับประดิษฐ์รูปร่างของความบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้วก็กุลีกุจออยู่กับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้ คนเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธิ์เสียเอง แล้วธรรมญาณของเขาก็ถูกให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น
     ผู้นั่งสมาธิหรือกัมมัฏฐานชอบสร้างรูปลักษณ์แห่งความสำเร็จ ว่าถ้าเห็นดอกมณฑา ดอกบัว พระพุทธรูป  นั่นเป็นผลสำเร็จแห่งการบำเพ็ญ เป็นการพบหนทางอันแท้จริง กลับเป็นผู้คลั้งไคล้หลงใหล ดอกบัว พระพุทธรูป แสงสีต่าง ๆ  ความจริงแล้วถ้าเฉลียวสักนิดคิดถึงพระพุทธวจนะ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ถ่ายทอดธรรมะแด่พระมหากัสสปะว่า "ธรรมะอันละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง
    ท่านเหลาจื๊อซึ่งเป็นผู้รจนา "เต้าเต๋อจิง" ก็ยังให้คำจำกัดความของธรรมะเอาไว้ว่า "ธรรมะอยู่เหนือรูปบัญญัติและนามบัญญัติ จึงไม่อาจให้นามได้พอเป็นนามก็มิใช่ธรรมะ" ปุถุชนจึงเริงร่า เมื่อพบรูปลักษณ์ที่ต้องใจและแปลกประหลาดเพราะไม่เหมือนอย่างที่เคยพบ จึงสร้างอุปทานยึดเอาไว้เป็นของตนเองอย่างเหนียวแน่นชั่่วกัลป์แล้วกัลป์เล่า รูปมายาทั้งปวงที่จิตได้สร้างขึ้นมากลายมาเป็นศรัตรูตัวร้ายชักจูงให้คนโง่งมงายไปพ้นจากวิถีแห่งทางสายกลางอันแท้จริง ผู้โง่เขลาเหล่านั้นจึงขาดสติปัญญาไม่อาจแบ่งแยก ความงมงาย  กับ ความหลุดพ้น ออกไปได้เลย นิพพานมายาจึงเกิดขึ้นมากมาย จนกลายมาเป็นอรหันต์มายาในที่สุด   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        การมองเห็นสรรพสิ่งด้วยตาเนื้อหรือ มังสจักษุ  ทำให้ ธรรมญาณ ถูกหลอกลวง มิได้เห็นตามสภาพแห่งความเป็นจริงแท้ตามธรรมชาติ เมื่อหลงยึดมั่นถือมั่นกิเลสจึงบดบังธรรมญาณเสียสิ้น จึงก่อกรรมทำบาปอันเป็นผลต้องเวียนว่ายไม่สิ้นสุด วิถีชีวิตของปุถุชนจึงถูกกิเลสนำพาให้เป็นไปตามกระแสไหลเลื่อนของโลก เมื่อความดีมากระทบชีวิตก็หลงระเริง  ครั้นความเลวมากระทบชีวิตก็ทุกข์ระทมหม่นไหม้  ความจริงแล้ว ทั้งความดี และ ควมเลว ย่อมตกอยู่ในการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่เพราะดวงตาของปุถุชนมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงจึงหลงยึดว่าไม่มีการแปรเปลี่ยนชีวิตจึงสั่นไหวเมื่อพานพบสิ่งมากระทบ
       พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "พวกที่ฝึกตัวอยู่ในความแน่วไม่หวั่นไหว" นั้นแม้จะได้เผชิญต่อคนทุกชนิด เขาก็ยังไม่รู้เห็นความผิดของผู้อื่นอยู่เสมอ เขาไม่มีอะไรวิปริตผิดแปลกไปจากเดิม เมื่อประสบบุญหรือบาป ความดีหรือความชั่วของผู้อื่นเพราะลักษณะเช่นนี้เป็น "ความแน่วไม่หวั่นไหว" ของธรรมญาณ"ความหมายแห่งพระวจนะย่อมชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มิได้ฝึกความไม่หวั่นไหว เมื่อประสบบุญก็ไหวเอนไปตามบุญ ครั้นพบบาปก็ไหลไปตามกระแสบาป ปุถุชนจึงไม่มีปัญญาแยกแยะถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้บุญและบาปเปลี่ยนแปลงไปมาเสมอ เพราะเหตุนี้พอนั่งนิ่ง ๆ เห็นดอกบัวหรือมณฑาสวรรค์จึงเกิดอาการปลื้มปิติจนระงับความดีใจไม่ไหว กลายเป็นคนสติเลอะเลือนไปก็มี ครั้นเห็นนรกก็เกิดอาการวิตกจริตในที่สุดโรคประสาทก็ครอบงำหวาดระแวงทุกสิ่งอย่างจนกลายเป็นคนเสียสติ  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง อธิบายว่า "คนที่มีจิตยังมืดนั้น อาจสงบเฉพาะทางร่างกายภายนอก แต่พอเผลอริมฝีปากเท่านั้น เขาก็ติชมวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยเรื่องบุญบาป ความสามารถ ความอ่อนแอ ความดี  หรือความชั่วของคนเหล่านั้นๆ นี่แหละเขาแฉออกไปจากทางสัมมาแห่งปฏิบัติอย่างนี้เอง"  คนในโลกนี้จึงชอบวิจารณ์คนอื่นแลเห็นแต่ความผิดบาปของผู้อื่นแต่ตนเองกลับมองไม่เห็น มีคนบุญคนหนึ่งชื่อยายสิน ทุกเช้าทำบุญตักบาตรด้วยความปลื้มปิติ ครั้นเสร็จภาระกิจทำบุญแล้วก็ไปนั่งที่ร้านขายกาแฟเพื่อสั่งมาดื่มกิน ระหว่างการดื่มกาแฟของโปรด ปากของแกก็พร่ำด่าว่าคนโน้นคนนี้มิได้หยุดยั้ง ล้วนแต่เป็นความเลวทั้งนั้น ยายสินจึงได้ฉายาว่า "ยายสินปากมาก" แกด่าทุกคนยกเว้นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่แกลืมด่าคือ "ตัวแกเอง" ปุถุชนประเภทเช่นนี้แม้ทำบุญมากเท่าไรก็ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในนรกไม่สร่างซา เพราะความหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกจึงได้สร้างเวรกรรมด้วยวจีกรรม เหตุปัจจัยที่ทำให้ดวงจิตมืดบอด เพราะสั่งสมอารมณ์โทสะจริตเอาไว้แน่นหนา จึงขาดปัญญาพิจารณาให้เห็นเหตุผลของสัจธรรม
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงยังกล่าวถึงผู้ที่ระดมการเพ่งไปที่จิตของตนว่า "อีกฝ่ายหนึ่งคือกรณีที่จดจ่อง่วนอยู่ที่จิตของตนเอง หรือที่ความบริสุทธิ์ก็ย่อมกลายเป็นสิ่งสะดุดกีดขวางในหนทางด้วยเหมือนกัน" ผู้ที่มองเห็นแต่ความผิดบาปของผู้อื่น ถือว่าขัดขวางหนทางปฏิบัติอันถูกต้องของตนเอง แต่ในทางตรงกันข้ามคนที่พินิจแต่ความดีงามบริสุทธิ์ผุดผ่องของตนเองก็จัดอยู่ในประเภทที่ขัดขวางการบำเพ็ญอันถูกต้องเช่นกัน  บุคคลทั้งสองประเภทนี้มีภาวะไม่แตกต่างกันเลย แม้ดูภายนอกแตกต่างกัน คนที่เห็นคนอื่นผิดบาปและสำแดงวาจาวิพากษ์ออกมา ย่อมไม่รู้จัก"ธรรมญาณ" ของตนและประการสำคัญไม่รู้ถึงความผิดบาปของตนเอง จึงมิได้แก้ไขแต่ประการใด ส่วนคนที่เห็นแต่ความดีงามของตนเองก็อยู่ในสภาพเดียวกันคือไม่เห็นความผิดบาป เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้แก้ไข  ปุถุชนทั้งสองประเภท จึงพ้นไปจากวิถีการปฏิบัติบำเพ็ญอย่างแท้จริง ถ้าเปรียบเทียบกันไปก็เหมือนกับ คนหนึ่งตกลงไปในนรกแล้วยังไม่รู้จักนรก ส่วนอีกคนหนึ่งสร้างสวรรค์จอมปลอมเพื่อหลอกตนเองว่าขึ้นจากนรก เมื่อสวรรค์ปลอมเสียแล้วตนเองจึงมิได้ขึ้นจากนรก
     ดวงตาแห่งปุถุชนจึงมีกิเลสตั้งแต่หนาสุดไปจนถึงละเอียดสุดปิดบังธรรมญาณ ของตนเอาไว้ ส่วนการสร้างกิเลสปิดบังล้วนแต่สร้างขึ้นด้วยตนเองและเกิดจากความไม่รู้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่รู้จัก ""ธรรมญาณ"" แห่งตนแม้จะเรียนรู้วิชาทางโลก และทางธรรมสูงเพียงใดก็ตามก็ตกอยู่ในขอบข่ายของอวิชชา คือ ความไม่รู้ทั้งสิ้น ดวงตาแห่งปุถุชนจึงไม่อาจฉุดรั้ง ""ธรรมญาณ"" ให้พ้นไปจากวิถีแห่งการเวียนว่ายได้เลย
   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      พอ ธรรมญาณ เคลื่อนไหวก็ผลิต จิต ออกมามากมายนับไม่ถ้วนจนได้รับการกล่าวขานว่ามีอยู่  84,000 ดวง แต่ละดวงจิตรับรู้และยึดติดและตกอยู่ในของกฏอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง เกิด - ดับ ตลอดเวลา ขอให้สังเกตุตัวเองตื่นเช้าขึ้นมาจนถึงเย็นย่ำ เข้านอน มีเรื่องราวให้คิดมากน้อยเพียงใด และทุกเรื่องราวที่คิดเคยอยู่ตัวคงที่ไม่เหือดหายไปหรือไม่ ถ้าต้องคิดเรื่องใหม่ย่อมลืมเรื่องเก่า เรื่องใหม่มาเรื่องเก่าย่อมหายไป  ถ้าติดตรึงอยู่แต่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ปล่อยวางหรือคิดหลายเรื่องราวในคราเดียวกันความผิดปกติจักเกิดขึ้นและไม่ช้านานต้องเข้าไปบำบัดในโรงพยาบาลโรคจิต เพราะจิตวิปริตไปเสียแล้ว เพราะเหตุนี้คนนั่งสมาธิผิดจึงเป็นโรคบ้า
     ในสมัยหนึ่งพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง จึงแสดงธรรมเพื่อชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่าด้วยเรื่องของการนั่งกัมมัฏฐานว่า "อย่างไรเรียกว่า การนั่งเพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา ในนิกายของเรานี้ ""การนั่ง" หมายถึงการได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาดและมีจิตสงบได้ในทุก ๆ กรณีที่มีสิ่งแวดล้อมเข้ามาจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดีหรือเป็นอย่างไรมา กัมมัฏฐานภาวนา จึงหมายถึงการเห็นแจ้งชัดในภายในต่อความแน่วแน่ไม่หวั่นไหวของ ธรรมญาณ เพราะฉะนั้นการนั่งที่ไม่เป็นอิสระเด็ดขาดก็คือการสร้างภาพมายาหลอกหลอนตนเอง และเข้าไปติดยึดในภาพ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ นรก ดอกบัว หรือ พระพุทธรูป  คนเหล่านี้จึงสำคัญตนผิดหลงติดยึดเอารูปนิมิตนั้นมาเทิดทูนบูชาหรือขจัดรูปอับลักษณ์ที่ตนไม่ต้องการ บรรดาผู้ที่ยึดติดในสิ่งที่ไร้สาระเช่นนี้ความคิดของเขาจึงมีอาการวิปริตไปด้วย แม้พูดเรื่องเมตตาก็สร้างความสับสนให้แก่ผู้ฟัง "การปล่อยสัตว์และการกินสัตว์เป็นเรื่องเดียวกัน" ""กินสัตว์บาปหรือไม่"" ไม่บาป ก็เหมือนปล่อยสัตว์นั่นแหละ ความคิดความเห็นของคนประเภทนี้มิได้ตั้งอยู่กับหลักสัจธรรมแต่ไปตามกระแสของชาวโลก เพราะฉะนั้นนั่งกัมมัฏฐานไปนานแสนกัลป์ เขาจึงมิอาจพ้นไปจากวัฏสงสารได้เลย
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึง ฌานสมาธิว่า "อะไรเรียกว่า ฌาน และ สมาธิ  ฌานหมายถึงการหลุดจากความพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกประการสมาธิหมายถึงการได้รับศานติในภายใน ถ้าเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก จิตภายในก็จะปั่นป่วน เมื่อเราหลุดพ้นจากการพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่างแล้ว จิตก็จะตั้งอยู่ในศานติ
    ธรรมญาณ ของเราเป็นของบริสุทธิ์อยู่แล้วอย่างแท้จริิิง แล้วเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงปั่นป่วนนั้น ก็เพราะเรายอมตัวให้อารมณ์ภายนอกซึ่งแวดล้อมเราอยู่ลากเอาตัวเราไปผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้ ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนทั้งหมดนั่นแหละชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ
    ความหมายของการหลุดพ้นจากอารมณ์ภายนอกทุกประการนั้น หมายถึงพ้นไปจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง หรือแม้แต่จิตที่เกิดจากธรรมญาณด้วย เมื่อไม่มีอารมณ์ใดมาแผ้วพาลนานเท่าใดความสงบสันติภายในย่อมเป็นต่อเนื่องกันไป แลจึงเป็นสภาวะแห่ง สมาธิ  หญิงสาวคนหนึ่งเธอต้องการยกฐานะของตนเองให้คนทั่วไปเห็นถึงความสูงส่งด้วยอาภรณ์อันมีค่าคือ เพชร แต่เพราะเธอไม่มีปัญญาหาเพชรมาใส่แต่โชคดีมีเพื่อนเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง เธอจึงออกปากขอยืมสร้อยเพชรของเพื่อนเพื่อใส่ไปในงานราตรีสโมสร ท่ามกลางสายตาของแขกเหรื่อ เธอชูคอกรีดกรายด้วยความลำพองใจ ยิ้มแย้ม ส่งเสียงหัวเราะสดใส แต่พอกลับมาถึงบ้าน สร้อยเพชรหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปที่ไหนและอย่างไร ครั้งนี้ความทุกข์เข้ามาครอบงำ หน้าตาเศร้าหมองแทบอยากจะฆ่าตัวตายเพราะ สร้อยเพชร ราคาแพงเส้นนี้เธอต้องขายบ้านเพื่อซื้อเพชรนำไปคืนเพื่อน พอเพื่อนได้รับสร้อยเพชรคืน ก็บอกด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า "เก็บเอาไว้ใช้เถอะ เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ใส่เพชรปลอมทั้งนั้น"
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า การเป็นอิสระไม่พัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่าง ชื่อว่าฌาน  การลุถึงศานติภายในชื่อว่าสมาธิ  เมื่อใดที่เราอยู่ในฐานะที่จะเล่นฌานและดำรงจิตภายในให้ตั้งอยู่ในสมาธิเมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่าเราได้ลุถึง ฌาน และ สมาธิ
    ข้อความในโพธิสัตว์ศีลสูตรมีอยู่ว่า ธรรมญาณ ของเราเป็นของบริสุทธิ์อย่างแท้จริง  เพราะฉะนั้นการเข้าฌานสมาบัติ จึงไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในรูปลักษณ์ใด ๆ  เพราะการลุถึงฌานสมาธิ มิได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกเลย ทำได้ดั่งนี้จึงจัดว่าเป็น ฌานสมาบัติอันแท้จริง นอกจากนี้แล้วล้วนเป็นฌานสมาธิ ที่ไร้สาระเพราะยังตกอยู่ในวังวนแห่งการเวียว่ายไม่สิ้นสุด เพราะมันเริ่มต้นวนเวียนอยู่ในจิตนั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาเชื่อว่า บาปมิอาจล้างให้หมดได้ด้วยการนำบุญมาหักล้างกัน บาปและบุญจึงเป็นสองส่วนที่ไม่อาจนำมาหักกลบบัญชีได้เลย แต่คนที่สร้างบาปเวรกรรมก่อทุจริตมิจฉาชีพล้วนเป็นคนที่ชอบสร้างบุญด้วยหวังว่าจะไปหักล้างบาปเวรกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้ ยิ่งทำชั่วหนักหนาสาหัสยิ่งสร้างบุญใหญ่ พิธีกรรมแห่งการล้างบาปก็ปรากฏขึ้นมากมายจนกลายเป็นเรื่องรกรุงรังในวัดวาอารามและกลายเป็นความเชื่อชนิดฝังรากลึกที่ยากแก่การถอนและก้าวหน้าไปเลยเถิดหลักของพระพุทธศาสนา กลายเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ ทำให้คนหลงงมงายหลุดพ้นไปจากหนทางของพระพุทธะ
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้แสดงพระธรรมว่าด้วยการสำนึกบาปโดยเริ่มต้นว่า "การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้นเราควรตั้งต้นที่ธรรมญาณของเราตลอดเวลาเราต้องชำระจิตของเราติดต่อกันทุกขณะจิต ไต่ไปตามมรรคปฏิปทาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเองให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งในธรรมกายของเรา ให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งต่อองค์พระพุทธเจ้าในใจของเรารื้อขนตัวเองด้วยต่างคนต่างสมาทานศีล แล้วการมาสู่ที่นี่ของท่านทั้งหลายก็จะมิเป็นการมาเปล่า เนื่องจากท่านทั้งหลายมาจากที่ไกลด้วยกัน ทุกคนข้อที่เราได้มาพบกันที่นี่ย่อมแสดงว่าเป็นการได้มีบุญสัมพันธ์อันประเสริฐ ฉะนั้นพวกเราทั้งหมดจึงนั่งลงตามท่านั่งของชาวอินเดีย อาตมาจะได้แสดงวิธีการ สำนึกบาป อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรมแก่ท่านทั้งหลาย
     การตั้งต้นที่ธรรมญาณ ก็หมายความว่าไม่ติดยึดอยู่ในรูปลักษณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น รูปธรรม หรือ นามธรรม ใด ๆ เลย เพราะหากติดอยู่ในลักษณะใด ๆแล้วการชำระจิตของตนเองก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ล้างจิตจากชั่วก็ไปติดที่ความดี ดังนั้นการคุมจิตของตนเองมิให้อยู่ส่วนข้างดีหรือร้ายจึงเป็นการดำรงจิตอยู่ในทางสายกลางโดยแท้จริง  การปฏิบัติจิตให้อยู่ในทางสายกลางจึงไม่อาจเกี่ยวข้องกับพระอาจรย์รูปใด ๆ ที่จะช่วยให้เราเป็นทางสายกลางได้ หากเรามิได้ใช้ปัญญาของตนเองปฏิบัติ  เมื่อกระทำได้ดังนี้แล้ว "ธรรมกาย" ย่อมประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง
    "ธรรมกาย มีรูปเหมือนพระพุทธรูป ใช่ไหม" ปุจฉา
    "ถ้ายังเห็นเป็นพระพุทธรูปก็มิใช่ "ธรรมกาย" วิสัชนา
ถ้ายังงั้นก็เป็นรูปแก้วใสสว่างมีแสงเจิดจ้างั้นซิ ? จะเป็นธรรมกายได้อย่างไร มันก็คือลูกแก้วธรรมดาๆ ที่จิตสร้างขึ้นมาหลอกหลอนกันมิใช่หรือ ! ถ้ายังงั้นมันเป็นอย่างไรเล่า ? กายของธรรมปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ตราบใดที่ยังเป็นรูปลักษณ์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด ๆล้วนมิใช่ธรรมกาย  เพราะฉะนั้น การชำระจิตของตนเองมิให้พัวพันต่อสภาวะทั้งปวงจึงเป็นการหันกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิมที่เรียกว่า ธรรมญาณ ซึ่งเป็นธรรมชาติแท้ของญาณ แต่ที่นั่งกันติดในพระพุทธรูปหรือแม้แต่ดวงแก้ว แล้วบัญญัติกันเอาเองว่าเป็น ธรรมกาย  จึงเป็นเรื่องไร้สาระ เมื่อติดอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระอันมิใช่สัจธรรมเสียแล้ว จึงเป็นการเสียเวลาเปล่าที่มาเกิดกายในโลกนี้  เพราะแม้แต่ตัวเองก้ไม่อาจช่วยให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จะกล่าวไปใยที่จะช่วยชี้แนะผู้อื่น สาธุชนมักเกิดความเข้าใจผิดเสมอว่าการเห็นแจ้งประจักษ์พระพุทธเจ้าในใจของเรานั้น ต้องเห็นเป็นรูปกายของพระพุทธองค์ซึ่งมีนามว่าพระสิทธ้ตถะ  การเห็นเช่นนั้นมิใช่เป็นการเห็นพระพุทธเจ้าในตัวของเราเองเพราะพระพุทธะในตัวของเราย่อมหมายถึง ปัญญา ผู้รู้แจ้งในความชั่วผิดบาปของตนเองอย่างกระจ่างชัด แต่เพราะเราหมายเอารูปลักษณ์เป็นธรรมะ จึงออกห่างหนทางแห่งพุทธะ
     ความเป็น "พระพุทธะ" มิได้อยู่ที่  "กาย" แต่อยู่ที่ ""จิต""  การแสดงอย่าง พุทธะ กับ โจร แตกต่างด้วยวัตรปฏิบัติที่สำแดงออกมาจากจิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ถ้า จิต อยู่ที่รูปลักษณ์ มหาโจรจึงสามารถสวมใส่ชุดนักบวชแล้วแสดงตนเป็น "พระ" บางสำนักจึงปฏิเสธรูปปั้นพระพุทธรูปและไม่กราบไหว้ซึ่งนับเป็นความเห็นผิดอีกรูปแบบหนึ่ง นักบวชสำนักนี้จึงจัดว่า "ติดพระพุทธรูป" เพราะทำให้แสดงความเคารพมิได้
     ถ้าหากปราศจากรูปลักษณ์ในจิตเสียแล้ว มีพระพุทธรูปหรือไม่มี ล้วนกราบไหว้ได้ทั้งนั้น เพราะต่างไหว้พระพุทธเจ้าในใจของตนเอง  พระพุทธเจ้าในใจของตนเองนั่นแหละที่ทำให้รู้แจ้งว่า การเวียนว่ายในวัฏสงสารนั้นได้ก่อให้เกิด บาปเวรกรรมจนประมาณมิได้และจำเป็นต้องชดใช้ แต่ไม่อาจล้างบาปด้วยวิธีอื่นใดได้   หลวงตาอยู่บวชเป็นพระตั้งแต่หนุ่ม และปฏิญาณว่าบวชไปตลอดชีวิต เพราะเชื่นมั่นในคำทำนายว่าต้องตายโหง และพยายามศึกษาวิชาไสยศาสตร์อยู่อย่างคงกระพัน วันหนึ่งหลวงตาอยู่ ได้รับนิมนต์ไปทำวัตรสวดมนต์เย็นในงานโกนจุก  เจ้าภาพยิงปืนฉลองเอาฤกษ์เอาชัยการโกนจุกลูกชาย ขณะที่หลวงตาอยู่กับพระ 9 รูป กำลังเจริญพระพุทธมนต์ กระสุนปืนนัดหนึ่งทะลุฝาบ้าน เจาะเข้าศรีษะของหลวงตาอยู่ แม่นอย่างกับจับวาง ที่เป็นดังนี้เพราะศรีษะของหลวงตาอยู่เอียงมาแต่กำเนิด และรับวิธีกระสุนได้พอดิบพอดี 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        กลิ่นหอมที่เป็นรูปลักษณ์มีทั้งดี - เลวที่ทำให้ผู้คนติดยึดได้เช่นบางคนติดอยู่กับความหอม แต่บางคนติดอยู่กับความเหม็น แต่ความหอมและเหม็นที่ปราศจากรูปลักษณ์คือ ความดี และ ความชั่ว ที่สิ่งกลิ่นหอมและเหม็นทวนลมได้และไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา บางกลิ่นเหม็นกันยาวนานข้ามศตวรรษ บางกลิ่นหอมหวนยาวนานเป็นพัน ๆปี  เพราะฉะนั้น การสำนึกบาปที่ไม่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ทั้งปวง จึงเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ปราศจากรูปลักษณ์เช่นเดียว โดยพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
     "คันธสาระข้อต้นคือ ศีล ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเราปราศจากรอยด่างของทุจริต ความชั่ว ความริษยา ความตระหนี่ ความโกรธ การใช้กำลังข่มขู่และการผูกเวร
     "คันธสาระข้อที่สอง คือ สมาธิ  ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเราไม่มีอาการหวั่นไหวในทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาแวดล้อมเรา ไม่ว่ามาดีหรือมาร้าย
     "คันธสาระข้อที่สาม คือ ปัญญา ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเราเป็นอิสระจากเครื่องหุ้มห่อรึงรัด หมายถึงการที่เราส่องปัญญาของเราอยู่เนืองนิจลงที่ธรรมญาณของเรา หมายถึงความที่เราเป็นผู้พ้นเด็ดขาดจากการทำชั่วทุกประเภท หมายถึงความที่แม้เราทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงกระนั้นเราก็ไม่ปล่อยให้ใจของเราเกี่ยวเกาะอยู่ที่ผลของความดีนั้น ๆ  และหมายถึงว่าเรายอมเคารพนับถือผู้ที่สูงกว่าเรา อ่อนน้อมผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา เห็นอกเห็นใจคนที่หมดวาสนาและคนยากจน
     "คันธสาระข้อที่สี่ คือ ความหลุดพ้น  ซึ่งหมายถึงความที่ใจของเราขึ้นถึงขั้นเป็นอิสระเด็ดขาดไม่เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งใด ไม่ผูกพันตัวเองอยู่กับความดีและความชั่ว
     "คันธสาระข้อที่ห้า คือ ความรู้ อันเราได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น เมื่อจิตของเราไม่เกาะเกี่ยวกับความดีความชั่วแล้ว เรายังจะต้องระวังไม่ปล่อยให้จิตนั้นอิงอยู่กับความว่างเปล่าหรือตกอยู่ในกับความเฉื่อยยิ่งกว่านั้นเรายังจะต้องเพิ่มพูนการศึกษา และขยายความรู้ของเราให้กว้างออกไปจนกระทั่งเราสามารถรู้จักจิตของเราเอง สามารถเข้าใจโดยทั่วถึงในหลักแห่งพุทธธรรม ทำตนเป็นฉันญาติมิตรกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้องด้วย บำบัดความรู้สึกว่า "ตัวตน" และความรู้สึกว่ามีเป็นเสียให้หมดสิ้นและเห็นแจ้งชัดว่า จำเดิมแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงเวลาที่เราบรรลุโพธินั้น "ธรรมชาติที่แท้จริง" หรือ "ธรรมญาณ"ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
     แต่ที่เราเห็นจิตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นเพราะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ถูกครอบงำด้วยความคิดดีและคิดชั่วซึ่งชักจูงให้เราหลงตะเลิดไปได้ทั้งความดีและความชั่ว จึงพ้นไปจากสูญตังหรือความว่างโดยเด็ดขาดนั่นเอง
    ความดีงามทั้งห้าประการที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้ปฏิบัตินั้น คือ สมาธิ ปัญญา ความหลุดพ้น และความรู้  การประพฤตศีล ซึ่งควรทำให้ผู้ประพฤติมีความสงบสำรวม แต่ในทุกวันนี้กลายเป็น "ศีลพานิช" มีรูปแบบของการถือศีลเช่น นุ่งขาวห่มขาวกลายเป็นผู้ทรงศีล แต่ที่แท้จริงเป็นการเอาศีลมาขาย เพื่อให้ชนทั้งปวงหลงยึดติดอยู่แต่รูปแบบ
     ครั้งหนึ่งในเทศกาลกินเจเดือนเก้า ผู้ถือศีลนุ่งขาวห่มขาวเดินทางไปนั่งในศาลเจ้าสวดมนต์เสร็จแล้วก็กินเจด้วยความเคร่งเครียด และเคร่งครัดนัก โดยบริเวณที่ตนเองสวดมนต์นั้น ผู้ที่มิได้กินเจจะย่างกรายเข้าไปไม่ได้เลย คนเหล่านี้ยึดอยู่แต่ว่ากินเจต้องนุ่งขาวห่มขาวและมีนักปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งเดินเข้าไปในบริเวณที่ผู้ถือศีลเหล่านั้นกำลังสวดมนต์อยู่ เผอิญผู้ที่ปฏิบัิติธรรมมิได้นุ่งขาวห่มขาว ท่านเดินเข้าไปเพื่อเอาหนังสือธรรมะไปแจกจ่ายแก่ผู้ถือศีล "เข้ามาไม่ได้นะคุณไม่ได้กินเจ"เสียงคนถือศีลหันมาทำตาเขียว "ขอโทษนะ ดิฉันกินเจตลอดชีวิตค่ะ" ผู้ปฏิยัติธรรมตอบ
    ผู้ถือศีลเหล่านั้นรู้สึกถึงความอับอายบ้างหรือไม่ หารู้ไม่ แต่ครั้งนั้นก็หน้าแตกกันถ้วนหน้า เพราะคนเหล่านั้นมองเห็นศีลเป็นเครื่องแต่งกายที่สามารถถอดได้สวมใส่ได้ เพราะฉะนั้นจึงถูกหลอกขายศีลกันจนกลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งพอถึงเทศกาลก็สามารถแสวงหาผลกำไรจากคนหลงเหล่านี้ได้มากมาย ส่วนการค้าขายเกี่ยวกับสมาธิก็แพร่หลาย เพราะเป็นรูปแบบที่แข่งขันกันจนต้องมีการโฆษณากันเหมือนกับการขายสินค้าของทางโลกไม่ผิดเพี้ยนเลย เพราะสามารถตั้งเป้าหมายของรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำและเอาหลักการขายของทางโลกเข้าไปจับเพื่อเป็นการแสวงหารายได้เข้าสำนัก ลำพังการขายกลดและชุดขาวก็รวยไม่รู้เรื่อง
    การบำเพ็ญปัญญา แทนที่จะเสริมส่งให้เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนแต่กลายเป็นผู้ที่มีปัญญาเหนือสติ เพราะมองเห็นผู้อื่นเป็นผู้ปฏิบัติผิดเพี้ยนตนเองมีเพียงความถูกต้องแต่เพียงส่วนเดียวและที่ร้ายหนักไปกว่านั้นกลายเป็นความเชื่อว่าตายแล้วสูญไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย คนที่มีปัญญาล้นสติ ย่อมคิดผิดและเห็นผิดกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ไม่ยากเลย  และเป็นเพราะสมัยปัจจุบันเจริญด้วยเทคโนโลยี ศีล สมาธิ ปัญญา จึงกลายเป็นสินค้า โดยที่ผู้ปฏิบัติมิได้พิจารณาถึงคำสอนของพระอริยเจ้าที่ต้องการให้อบรมแต่เฉพาะที่"จิต" มิได้ติดอยู่ในรูปแบบใดเลย แต่เพราะเครื่องมือเหล่านี้สามารถโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างกว้างขวางแพร่หลายทำให้อัตตา ตัวตนของศีล สมาธิ ปัญญาขยายออกไปจนเกินขอบเขตแห่งการควบคุมจนกลายเป็นความเหม็นแพร่กระจายอยู่ในสังคม ซึ่งแท้ที่จริง ควมหอมทั้งห้าประการนี้ไม่จำเป็นต้องเอาเครื่องมืออะไรมาขยายผลเลย ถ้าหากแสวงหาจากภายในมากกว่าภายนอก
    ความหอมจริงแท้จึงออกมาจากภายในแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      แต่โบราณกาลมาจนถึงทุกวันนี้ชนชาวฮินดูมีความเชื่ออันมั่นคงว่าแม่น้ำคงคามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถชำระล้างบาปเวรกรรมทั้งปวง เพราะมีต้นกำเนิดมาจากพระเศียรของพระศิวะผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์  ปัญหานี้มีผู้นำไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าเป็นจริงเช่นนี้หรือ พระพุทธเจ้าทรงมีพระวจนะตอบด้วยการตั้งปุจฉาว่า "หากแม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์จริง ผู้ที่ได้รับการชำระล้างยาปเคราะห์ทั้งปวงก็คือ เต่า หอย ปู ปลา ซึ่งแช่อยู่ในแม่น้ำคงคาชั่วนาตาปีกระนั้นหรือ" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอรรถาธิบายเอาไว้อย่างแยบยลว่า บาปเวร ภัยทั้งปวงเกิดแต่จิต เพราะฉะนั้นจึงไม่มีน้ำศักดิ์สิทธิ์อันใดที่จักชำระล้างบาปเวรของตนเองได้ เว้นแต่การละบาปด้วยตนเองโดยการขจัดอกุศลกรรมทั้งสิบประการ
     แต่พุทธศาสนิกชนมิได้ฟังพระวจนะต่างปฏิบัติสวนทางคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการใช้น้ำมนต์พ่น บังสกุลเป็น บังสกุนตาย ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มิได้เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และที่น่าสังเวชใจมากไปกว่านั้น การสะเดาะเคราะห์ของตนเองกลับนำเอาเคราะห์ภัยไปให้แก่ หมู ไก่ เป็ด ปู ปลา นับไม่ถ้วนโดยการปวงสรวงทำบุญสะเดาะเคราะห์ สัตว์เหล่านี้ต้องล้มตายไป เพราะความเชื่ออันไร้สาระของคนที่อ้างว่าเป็นพุทธศาสนิกชนนับถือสักการะพระพุทธเจ้าด้วยกายใจ
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการล้างบาปกรรมว่า "เรื่องบาปสำนึก อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม ซึ่งเป็นวิธีที่จะไถ่ถอนเสียได้ซึ่งปวงบาป อันเราทั้งหลายได้กระทำกันในชาติปัจจุบัน ชาติอดีต และอนาคต และจะชำระ มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ของเราให้หมดจด" ความหมายของพระธรรมาจารย์ที่กล่าวไว้ดังนี้ เพราะบาปเวรทั้งปวงอันไร้รูปลักษณ์ย่อมเกิดแต่จิตและนอนเนื่องอยู่ในธรรมญาณ ที่เวียนว่ายไปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตชาติ ซึ่งมีต้นกำเนิดจาก อายตนะหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
มโนกรรม  อันเกิดจากจิตก่อเวรกรรมถึงสามประการคือ โลภ โกรธ หลง 
วจีกรรม   เกิดจากปากก่อบาปกรรมถึงสี่ประการ คือ โกหก คำหยาบ เพ้อเจ้อ และนินทาพูดเรื่องไม่ดีของผู้อื่น
กายกรรม กระทำบาปถึงสามประการ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และล่วงประเวณี
    ทั้งหมดนี้เป็นอกุศลกรรมสิบประการอันก่อกำเนิดเป็นกรรมเก่าที่เราได้สร้างเอาไว้ด้วยความไม่รู้แล้รู้ แต่เพราะเข้าใจผิดมิได้ใช้ปัญญาแยกแยะให้เห็นถึงความถูกผิดอย่างชัดเจนจึงกระทำลงไปเช่น เวลาสร้างบุญซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ด้วยอิฐแผ่นเดียว แต่กลับอธิฐานขอปราสาทราชวังในอนาคตชาติ การลงทุนแต่น้อยต้องการผลกำไรมากมายเช่นนี้เป็นความโลภอย่างหยาบที่ปุถุชนคิดไม่ถึง การที่ไม่รู้จักต้นรากกำเนิดเดิมของ "ธรรมญาณ" จัดเป็นความหลงที่พาให้ตนเองต้องเวียนว่ายไปในอนันตชาติ จัดเป็นความหลงที่แท้จริง หรือแม้แต่กายกรรม เช่นการฆ่าสัตว์ กลับตีความว่าตนเองไม่ได้ฆ่า ผู้อื่นฆ่าจึงกินได้ ไม่เป็นบาปเวร  ไม่ลักทรัพย์ เก็บทรัพย์ได้กลางทางถือว่าไม่เป็นบาป  ไม่ล่วงประเวณีชู้สาว แต่ชอบดูการประกวดขาอ่อน ไม่เป็นผิดบาปอันใด
    สิ่งที่จิตเคลื่อนไหวไม่ว่า ดีหรือชั่ว ของปุถุชนย่อมเป็นผิดบาป ของพระอริยเจ้าทั้งปวง เพราะยังเกี่ยวพันร้อยรัดให้ "ธรรมญาณ" เวียนว่ายไม่สิ้นสุด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง จึงให้สาธุชนทั้งปวงท่องตามด้วยเสียงอันดังว่า "ขอให้เราทั้งหลาย บรรดาสาวกที่ไม่ได้ระบุนามเหล่านี้ จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาลจากรอยด่างของความไม่รู้และรู้ผิด เราได้สำนึกแล้วในบาปและกรรมชั่วทั้งหลายของเรา อันเราได้ประกอบแล้วเพราะอำนาจแห่งความรู้ผิด หรือความไม่รู้ ขอให้บาปทั้งปวงนั้น จงเป็นสิ่งไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย"
    ถ้อยคำสำนึกผิดเช่นนี้เป็นการยอมรับความผิดบาปที่ตนเองได้ก่อขึ้นด้วยความไม่รู้หรือรู้ผิด ถ้าเราไม่ยอมรับผิดเสียแต่ครั้งนี้ การติดยึดอยู่กับความผิดนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะเหตุนี้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงให้ทุกคนท่องข้อความเช่นนี้ซึ่งตรงต่อคำสอนของท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อที่กล่าวว่า "ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ไม่เคยมีความผิด แต่คนที่สำนึกผิดบาปของตนเองย่อมจะเป็นกัลยาณชนต่อไปในอนาคต""
   พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงขอให้สาธุชนท่องข้อความต่อไปว่า ""ขอให้เราทั้งหลาย จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล จากรอยด่างขอความเย่อหยิ่งและความอวดดี เราสำนึำกได้แล้วในจริตอันเย่อหยิ่งและโอ่อวด อันเราทั้งหลายได้ประพฤติมาแล้วในอดีต ขอให้บาปทั้งมวลนั้นจงเป็นสิ่งไถ่ถอนหมดสิ่นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย ขอให้เราทั้งหลาย จงเป็นผู้อิสระตลอดกาล จากรอยด่างของความริษยาและความเคียดแค้น เราสำนึกได้แล้วในบาปและกรรมชั้วทั้งหลายของเรา อันเราได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยใจอันเต็มไปด้วยความริษยาและความเคียดแค้น ขอให้บาปทั้งมวลนั้น จงเป็นสิ่งไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       "คุณพ่อคะ อิฉันรู้สึกบาปมากเมื่อเช้านี้ได้ใช้คำหยาบดุหลานชาย ช่วยบอกพระผู้เป็นเจ้าด้วยว่า อิฉันไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ " หญิงชราคุกเข่าอยู่หน้าม่าน เพื่อสารภาพบาปต่อพระบาทหลวง ในขณะที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้ฟังถ้อยคำสารภาพนี้ถึงแก่หัวเราะออกมาแล้วถามยายว่า "อะไรกันยาย แค่นี้ก็บาปด้วยหรือ"พระบาทหลวงจึงออกมาจากหลังม่านแล้วบอกเด็กหนุ่มรายนั้นว่า "เจ้าจงเดินไปที่สนามหญ้าเก็บก้อนหินเล็ก ๆ มากำมือหนึ่ง ส่วนคุณยายเก็บก้อนหินมาหนึ่งก้อน" เมื่อทั้งสองปฏิบัติตามคำของบาทหลวงแล้ว ท่านบาทหลวงก็บอกกับหญิงชรากับเด็กหนุ่มว่า "เมื่อเก็บก้อนหินมาจากที่ไหนจงเอาไปไว้ที่เดิม"และก็แน่นอนว่าคุณยายย่อมสามารถเอาก้อนหินคืนไปไว้ที่เดิมได้ ส่วนเด็กหนุ่มย่อมกระทำมิได้
     การดูแคลนความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ย่อมลืมเลือนไปและก่อให้เกิดความผิดใหญ่หลวงจนยากแก่การแก้ไขภายหลัง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง สอนให้สาธุชนสำนึกบาปกรรมที่ตนเองก่อเอาไว้ อันเป็นรอยด่างของ "ธรรมญาณ" ว่าเราเรียกว่า "ชั่นหุ่ย" อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม อะไรเล่าเป็นความหมายของ "ชั่น" และ "หุ่ย" ในที่นี้ ""ชั่น"" หมายถึงความสำนึกบาปอันเป็นอดีต การสำนึำถึงตัวบาปและกรรมชั่วทั้งปวงในอดีตอันเราได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยอำนาจความรู้ผิด ความไม่รู้ ความเย่อหยิ่ง ความอวดดี ความเคียดแค้น หรือความริษยาและอื่น ๆ ได้ ฯลฯ จนถึงกับทำความสิ้นสุดให้แก่บาปเหล่านี้ได้ เรียกว่า ""ชั่น"" การแสดงออกด้วยอำนาจของอารมณ์เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความเกลียดชังและความคับแค้นใจให้แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น จึงเป็นบาปเวรที่ต้องจองล้างกันไปไม่สิ้นสุด จึงกลายมาเป็นการเวียนว่ายชดใช้บาปเวรกันเรื่อยไป
    พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงก่าวต่อไปถึงบาปในอนาคตว่า ส่วน ""หุ่ย""นั้นเล็งถึงการสำนึกบาปส่วนที่จะเกิดขึ้นด้วยการกระทำในอนาคตของเรา เมื่อเห็นแจ้งชัดถึงธรรมชาติอันเราอาจล่วงละเมิดได้ในอนาคต เราย่อมตั้งปฏิญาณว่าแต่นี้ต่อไป เราขอทำความสิ้นสุดแก่กรรมชั่วทุกประเภท อันเกิดขึ้นมาจากความรู้ผิด ความไม่รู้ความเย่อหยิ่ง ความอวดดี ความเคียดแค้น ความริษยา และเราจะไม่ก่อบาปขึ้นอีกต่อไปจึงเรียกว่า ""หุ่ย""
    เนื่องจากความไม่รู้และรู้ผิดเป็นเหตุ คนทั้งหลายย่อมไม่เห็นชัดแจ้งว่าในการทำความสำนึกบาปนั้น เขาไม่ควรจะเป็นเพียงแต่รู้สึกเสียใจเพราะบาปกรรมที่ทำมาแล้วอย่างเดียว เนื่องจากเขาไม่ใส่ใจสำรวมถึงการกระทำในอนาคตนั่นเอง เขาประกอบบาปขึ้นใหม่ก่อนที่จะไถ่ถอนบาปให้สิ้นไปเราจะเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า ""การสำนึกบาป"" ได้อย่างไรกันเล่า ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงนั้น ได้ไถ่ถอนความชั่วทั้งในอดีตและอนาคตได้ ความเป็นธรรมญาณแท้ก็จักปรากฏขึ้นเอง เพราะแท้ที่จริงแต่เดิมมา ธรรมญาณ นี้มิได้มีบาปเวรติดตัวมาเลย แต่เป็นเพราะเวียนว่ายไปสามภพจึงสร้างสมเอาไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นและกลายมาเป็นเครื่องมือหลอกลวงซึ่งกันและกัน ความเข้าใจผิดที่ว่าตนเองเป็นคนดี ไม่เบียดเบียน ทำร้ายใครก็ใช้ได้แล้วแต่ความโลภ ความดกรธ ที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกของตนเองหาไม่พบก็เป็นบาปที่ไม่มีการสำนึก เพราะฉะนั้น คนดีไม่น้อยที่ อวดดี รวมตลอดไปถึงคนชั่วเป็นจำนวนมากที่ชอบ อวดดี  เมื่อเราเกิดกายขึ้นในโลกนี้ล้วนมีความผิดติดตัวมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกายสังขารที่พ่อแม่ให้มาและเราไม่รุ้จักตอบแทนก็ถือว่าเป็นความผิด สรรพสิ่งที่ได้อาศัยเลี้ยงกายนี้เช่น น้ำ อากาศ ซึ่งเบื้องบนประทานให้เราใช้อย่างไม่สำนึกก้เป็นผิดเป็นบาปแล้วเหมือนกัน
    ถ้าหากเราเอาคัมภีร์ไบเบิลอธิบายถึงความผิดบาปของมนุษย์แล้วก็เริ่มต้นได้ตั้งแต่ชายหญิงคู่แรกของโลกซึ่งมีนามว่า อาดัม กับ อีฟ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์เฝ้าสวนแอปเปิ้ล แต่ถูกซาตานยุยงสร้างความผิดบาปด้วยการขโมยแอปเปิ้ลกินกันสองคน เมื่อ อาดัม กัดแอปเปิ้ลคำแรก รู้สึกสำนึกผิดจึงสะอึก เนื้อแอปเปิ้ลจึงติดคอกลายมาเป็นลูกกระเดือกของผู้ชาย ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้ว่า ADAM" S APPLE  พระผู้เป็นเจ้าจึงให้เป็นอิสระมีความผิดบาปของตนเอง และตกนรกได้ด้วย
    พระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นบุตรมนุษย์ลงมาเพื่อไถ่บาปให้แก่ลูกแกะหลงทางทั้งหลายเพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า พระมหาไถ่ แต่ความหมายของการไถ่บาปของพระเยซูได้มาตีความกันอย่างผิด ๆ เพราะเหตุนี้จึงกลายมาเป็นการเข้าใจผิดว่า การสารภาพบาปต่อบาทหลวงและพระผู้เป็นเจ้าแล้ว บาปทั้งปวงก็หมดไปโดยที่ตนเองไม่ต้องชำระล้างอะไรอีกแล้ว 
    ความจริงที่พระเยซู ไถ่บาปให้แก่ชนทั้งปวงเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ต่างมีบาปติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น พระองค์ได้แสดงให้ปรากฏถึงการไถ่บาปของพระองค์และชนทั้งปวงเป็นมนุษย์ผู้มีบาปเฉกเช่นเดียวกัน ต่างต้องไถ่บาปด้วยตนเองด้วยความสำนึกในบาปเวรนั้น ๆ แต่จะมีใครสักกี่คนที่ยอมว่า """ข้า ฯ คือคนบาป"""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       บัดนี้มหกรรมปล่อยสัตว์ดูเหมือนแพร่หลายออกไปมากมาย เพราะสาธุชนคนใจบุญซึ่งสงสารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัวควายได้รับผลแห่งความสงสารมากมาย แต่แล้วสัตว์อื่นไม่มีโอกาส แม้ปล่อยสัตว์ใหญ่ด้วยการบริจาคเงินและอนุโมทนาในบุญกุศลของตนเองแล้วเดินออกมาจากลานปล่อยสัตว์ ก็สั่งลูกชิ้น ไก่ย่าง หมูย่างกินกันอย่างเอร็จอร่อย
      คนใจบุญเหล่านี้ปล่อยสัตว์เพียงภายนอกเท่านั้น แลเป็นบุญกิริยที่ต้องไปเสวยผลของตนเอง และยังคงเวียนว่ายในสามภพสามภูมิไม่สิ้นสุด ส่วนการปลดปล่อยสัตว์ในความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง มิได้เป็นเพียงบูญกิริยาเท่านั้นแต่ท่านกล่าวว่า "เมื่อได้มีการสำนึกบาปชำระตัวแล้ว เราควรจะตั้งไว้ซึ่ง ปฏิญาณดัง 4 ประการต่อไปนี้....
       เราขอปฏิญาณที่จะปลดปล่อยสัตว์ที่มีวิญญาณ อันมีปริมาณไม่จำกัดในใจของเรา
       เราขอปฏิญาณที่จะถอนเสียซึ่งกิเลสอันมีปริมาณคณนาไม่ได้ในใจของเราเอง
       เราขอปฏิญาณที่จะศึกษาระบอบธรรมอันนับไม่ถ้วนแห่งธรรมญาณของเรา
       เราขอปฏิญาณที่ขะเข้าให้ถึงพุทธภาวะอันสูงสุดแห่งธรรมญาณของเรา
     ตามกระแสแห่งเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งธรรมญาณของเราไปเวียนอาศัยร่างของสัตว์ในภพต่าง ๆ นั้น ย่อมก่อให้เกิด นิสัย วาสนา สันดาน ติดพันกันมาชาติแล้วชาติเล่าจนนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานจนยากที่จะถอนออกไปได้ ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ ณ วัดเชตว้น มีชาย 5 คน เป็นเพื่อนกันเข้ามาฟังธรรม แต่ทั้ง 5 คนกลับมีอาการกริยาไม่เหมือนกันคือ นั่งหลับ นั่งเอานิ้วไชดินเล่น นั่งเขย่าต้นไม้ นั่งแหงนดูอากาศ มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่นั่งฟังด้วยความเคารพ  พระอานาท์จึงทูลถาม พระพุทธองค์ได้ตรัสชี้แจงว่า....
       ชายคนที่นั่งหลับเคยเกิดเป็นงูเหลือม ซึ่งปกติชอบเอาหัวพาดขนดหลับ
       ชายคนที่ชอบไชดินเล่นเคยเกิดเป็นไส้เดือนซึ่งมีนิสัยไชดินเป็นขุย
       ชายคนที่เขย่าต้นไม้เคยเกิดเป็นลิง เพราะนิสับลิงชอบเขย่าต้นไม้
       ชายคนที่นั่งแหงนดูอากาศเคนเกิดเป็นหมอดูดาว ซึงตามปกติชอบคำนวนดูทิศทางของดวงดาวต่าง ๆ
       ส่วนชายที่นั่งฟังธรรมด้วยความเคารพ เคยเกิดเป็นพราหมณ์ มีความรู้จบไตรเพท
     ชายทั้ง 4 คนยกเว้นคนที่เกิดเป็นพราหมณ์ แม้อยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าย่อมไม่เห็นพระพุทธเจ้า กระแสธรรมไม่อาจเข้าถึงจิตใจของเขาได้เลย เพราะแต่ละชาติเขาหมกมุ่นอยู่แต่ราคะ ตัณหา มัวเมา มีแต่พราหมณ์เท่านั้นที่หยั่งรู้ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และสำเร็จมิต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก เราพฉะนั้นการพิจารณาปลดปล่อยสัตว์มีวิญาญาณที่สิงสถิตอยู่ในจิตของเราย่อมต้องอาศัยปัญญาของตนเองพิจารณาค้นหามันให้เจอ "หายังไงดีล่ะ" "ดูนิสัยของตัวเอง ถ้าชอบกินแล้วก็นอน ย่อมเคยเป็นหมูมาแน่นอน"
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "บัดนี้เราทั้งหมดได้ประกาสออกไปแล้วว่า เราปฏิญาณอันที่จะปลดปล่อยสัตว์มีวิญญาณ อันมีประมาณไม่จำกัด แต่นั่นหมายความว่าอย่างไรเล่า มันมิได้หมายความว่า อาตมาฮุ่ยเหนิงกำลังจะปลดปล่อยสัตว์นั้น และอะไรเล่าคือสัตว์มีวิญญาณเหล่านั้นอันมีอยู่ในใจของเราสัตว์เหล่านั้นคือ ใจที่หลงผิด ใจที่เป็นมายา ใจชั่วร้าย และใจอื่น ๆ ทำนองนั้น เหล่านี้ทั้งหมดเรียกว่าสัตว์มีวิญญาณ
     สัตว์เหล่านี้แต่ละตัว จำจะต้องปลดปล่อยตัวมันเองโดยอาศัยอำนาจแห่งธรรมญาณของมัน แล้วการปลดปล่อยนั้นก็จะเป็นการปลดปล่อยอันเลิศแท้ แต่บรรดาชนทั้งหลายมิได้ปลดปล่อยสัตว์เพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักสัตว์ในใจของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ปุถุชนจึงถูกสัตว์ร้ายในตัวเอง ขบกัดทำลายอยู่ทุกวัน
    ความไม่รู้จึงเป็นเหตุยึดเอาสัตว์มีวิญญาณทำร้านตนเองจนยาวนานข้ามภพข้ามชาติไม่สิ้นสุด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้ถึงวิธีแห่งการปลดปล่อยว่า "ในเรื่องนี้การปลดปล่อยตัวเองโดยอาศัยธรรมญาณนั่นหมายความว่าอย่างไรเล่า มันหมายถึงการหลุดรอดของสัตว์ที่โง่เขลา ที่หลงผิด ที่หลงทรมาน อันมีอยู่ในใจเราออกไปได้อาศัยสัมมาทิฏฐิโดยได้อาศัยสัมมาทิฏฐิและปัญญา สิ่งกางกั้นต่าง ๆ ที่สัตว์ผู้ไร้ความรู้และรู้ผิดเหล่านั้นแต่ละตัวจะอยู่ในฐานะที่จะปลดปล่อยตัวเองออกไปได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัว
     ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงบอกวิธีแห่งการปลดปล่อยว่า ผู้ผิดจงปลดปล่อยตัวเองด้วยอาศัยความถูก ผู้รู้ผิดจึงปลดปล่อยตัวเองด้วยอาสํยความรู้แจ้ง ผู้ไม่รู้ต้องอาศัยปัญญา และผู้ที่เต็มไปด้วยโทษต้องอาศัยคุณ จึงเป็นการปลดปล่อยอันเลิศแท้ ถ้าไม่ปลดปล่อยสัตว์มีวิญญาณนี้มันก็ฆ่าตัวเองไปชาติแล้วชาติเล่า 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ท่ามกลางการเวียนว่ายของชีวิตในทะเลทุกข์ สาธุชนต่างต้องการความสุขสมบูรณ์ทางโถคทรัพย์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่ทำไมชีวิตจึงมิได้เป็นไปตามที่ตนเองปรารถนา บางคนร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองแต่ไร้ความสุข บางคนยากจนคับแค้นแต่กลับมาความสุข ชีวิตที่ผันแปรแปลกประหลาดเช่นนี้บางคนก็หันไปโทษฟ้าโทษดินโทษพรหมลิขิตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าดลบันดาลให้เป็นไปเพื่อลงโทษ แต่เขาเหล่านั้นกลับลืมโทษตนเองว่าเป็นผู้กำหนดความโชคดีหรือโชคร้ายให้แก่ตนเองอย่างแท้จริง พรหมลิขิตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีมหิทธานุภาพที่จักเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตให้แก่ใครได้เลย มีแต่ตนเองเท่านั้นจักเปลี่ยนแปลงแก้ไข
     บรรดากิเลสชั่วร้ายที่ตนเองสั่งสมเอาไว้จนกลายเป็นขันธสันดานนอนเนื่องอยู่นั้นได้กำหนดโชคร้ายอันเป็นผลให้แก่ตนเอง บรรดาบุญสุนทรทานทั้งปวงล้วนกำหนดโชคดีให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือบาป ล้วนได้สั่งสมกันข้ามภพข้ามชาติและแบกติดตัวมาด้วยตนเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงอธิบายว่า "สำหรับข้อปฏิญาณที่จะเพิกถอนเสียซึ่งกิเลสอันชั่วร้ายภายในใจ อันมีประมาณคณนาไม่ได้นั้นย่อมเล็งถึงการปลดออกเสียซึ่งกลุ่มของความคิดอันเชื่อถือไม่ได้ และเป็นมายาหลอกลวงโดยนำเอาปัญญาแห่งธรรมญาณเข้ามาใส่แทนที่" กิเลสชั่วร้ายที่ตนเองสร้างขึ้นมาด้วยความหลงผิด ดังนั้นจึงไปสร้างความคิดที่ไร้สาระกลายเป็นมายาหลอกลวงตนเองให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรและยึดถือเอาเป็นความจริงแท้ของชีวิต
     เจ้าพ่อรายหนึ่งมีรายได้จากบ่อนการพนันและสิ่งผิดกฏหมายชั่วร้ายเป็นกิจการอันเบียดเบียนชีวิตมนุษย์ทารุณร้ายกาจ บุคคลประเภทนี้ปิดบังอาชีพที่แท้จริงและสร้างอาชีพพลวงอันสุจริตเพื่อพรางตาคนทั้งปวง เขาเกรงว่าไม่มีใครเชื่อในอาชีพสุจริตเพราะฉะนั้นจึงลงทุนสร้างบุญกุศลอย่างมโหฬารและแสดงน้ำจิตน้ำใจให้คนทั้งปวงเห็นว่าเขาเป็นคนดีและเขาเชื่อว่าบุญกุศลที่ได้กระทำไปนี้จักหักล้างกับอาชีพบาปของเขาได้ ความคิดเช่นนี้ไร้สาระเชื่อถือไม่ได้เพราะมันเป็นมายาที่หลอกลวงคนอื่นและตัวเองอย่างชัดเจนที่สุด เพราะผลแห่งการกระทำเช่นนี้ ย่อมติดตัวไปชาติแล้วชาติเล่าและจบชีวิตลงด้วยภัยพิบัติ แม้แต่ความคิดแห่งการสร้างบุญสร้างกุศลโดยตนเองประกอบสัมมาอาชีพและสร้างบุญโดยหวังว่าจักไปถึงพระนิพพานด้วยการท่องบ่นแต่คำว่า "นิพพานัง ปรมังสุขัง" ความคิดเช่นนี้ก็เป็นมายาหลอกลวงตนเอง และเป็นกิเลสอย่างหนึ่งพึงเพิกถอนเสีย
    ความหมายอันที่พระธรรมาจารย์ปรารถนาให้บังเกิดขึ้นในจิตของสาธุชน คือการล้มเลิกที่จะคิดถึงทั้งในส่วนดีและส่วนร้ายในจิตของตนเอง ถ้าปลดความคิดชนิดเช่นนี้ออกไปได้แล้ว ภาวะแห่งธรรมญาณอันปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งปวงจักปรากฏขึ้นแลเป็นปัญญาอันประเสริฐ ปัญญาแห่งธรรมญาณนั้นบริสุทธิ์เพราะว่างปราศจากดี และชั่ว ปัญญาชนิดเช่นนี้จึงวินิจฉัยและกำหนดพฤติกรรมที่ถูกต้องตรงต่อสัจธรรม
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า เราขอปฏิญาณที่จะศึกษาระบบธรรมอันนับไม่ถ้วนนั้น ควรวางหลักลงไปว่าการศึกษาที่แท้จริงจะยังไม่ได้จนกว่าเราจะได้เผชิญหน้ากับธรรมญาณของเราเสียก่อน และจนกว่าเราจะมีความเป็นไปของเรากลมเกลียวกันได้กับธรรมะอันถูกต้องในทุกโอกาสเสียก่อน" ความหมายแห่งพระวจนะนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาธรรมะอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นมีอยู่สองแบบ ประเภทท่องจำตามตำราและคำสอนของอาจารย์ทั้งปวง ผู้ปฏิบัติเช่นนี้จึงมีผลแต่เพียงว่า ไม่ยึดตำราของอาจารย์ ก็ยึดตัวอาจารย์เป็นที่พึ่ง จึงกลายเป็นความหลงวนเวียนออกนอกขอบข่ายของธรรมะอันแท้จริงและหลายครั้งเห็นอาจารย์เป็นผู้วิเศษจนหลงติดอาจารย์ไม่ว่าจะพาลงนรกหรือภพภูมิอันน่าเกลียดน่าชังเพียงใดก็ติดตามไปโดยไม่ลดละ
    ผู้ศึกษาธรรมะเช่นนี้จึงติดตามกันมาข้ามภพข้ามชาติ ส่วนการศึกษาธรรมะอันถูกต้องนั้นคือการศึกษาธรรมอันแท้จริงในธรรมญาณของตนเอง เมื่อใดที่เข้าสู่จุดแห่งความว่างสูงสุดอันเป็นภาวะเดียวที่กลมกลืนกับสัจธรรมแล้ว ผู้นั้นย่อมศึกษาธรรมได้อย่างถูกถ้วน เป็นอิสระแก่ตนเองและทั้งหมดนี้จึงสรุปลงได้ว่า ชะตาชีวิตของใคร คนนั้นแหละเป็นผู้กำหนดเองอย่างแท้จริง

Tags: