collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: Re: คัมภีร์ทางสายกลาง ปฐมบท (จง -- อยง ) เที่ยงตรง -- สัจธรรม  (อ่าน 32459 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      เมื่อมนุษย์มีกายสังขาร ย่อมมีความจำเป็นในการหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโต เพราะกายนี้ต้องการอาหาร อากาศ และน้ำ  การเลี้ยงชีพของปุถุชนอันพ้นไปจากทางสายกลาง จึงก่อทุกข์ภัยให้แก่มนุษย์จนเหลือที่จะพรรณนา เพราะกระทำไปด้วยความไม่รู้จึงเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
     ความโลภได้เป็นตัวการยั่วยุให้รู้จักสะสมเพื่อได้เปรียบผู้อื่น  ความโกรธ  เป็นตัวการก่อให้เกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่น  ความหลงเป็นตัวการให้เกิดการปรุงแต่งทั้งรูปแบบและรสชาติของอาหาร
     การเลี้ยงชีพเช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายให้แก่มนุษย์สถานเดียว เพราะเขาโลภมากจึงไม่สนใจว่าการกระทำเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติทั้งปวงเป็นการทำลายตนเอง บางคนเหน็ดเหนื่อยจนกายเจ็บป่วย  บางคนยอมคดโกงเพราะต้องการรวยอย่างเดียว บางคนยอมผิดศีลธรรมเพราะเห็นเงินมีค่ามากกว่า ปุถุชนเหล่านี้จึงไม่เข้าใจ ""กฏแห่งกรรม"" ด้วยซ้ำไป เขาจึงก่อ ""กรรมชั่ว"" ส่งผลให้ต้องเวียนว่ายไปในทะเลทุกข์มิสิ้นสุด
     ชายขายหมูคนหนึ่งอยู่ทางปักษ์ใต้ เขาฆ่าหมูขายมานับสิบปีด้วยคำโฆษณาที่ว่า ""หมูร้านนี้ไส้สะอาดที่สุดในโลก"" วิธีฆ่าหมูนั้นพิสดารนัก ด้วยการจับหมูมัดขาแล้วแขวนด้วยไม้หลักสองต้นและใช้เชือกดึงปากหมูให้ถ่างออกจากกัน แล้วใช้น้ำร้อนที่กำลังเดือดพลุ่ง ๆ กรอกลงไปในปากหมู เพื่อล้างใส้หมูและเครื่องในให้สะอาด หมูร้องไม่ออกได้แต่ดิ้นกระแด่ว ๆ นำ้ร้อนและขี้หมูไหลออกมา เขายังคงกรอกน้ำร้อนเดือด ๆ ลงไปในปากหมู จนไส้หมูสะอาดหมดจดและหมูขาดใจตายด้วยอาการทรมาน น่าสงสารนักแต่ชายหนุ่มมิได้มีจิตสำนึกในความเมตตาแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความดีใจที่ขายหมูจนร่ำรวยเพราะวิธีการอันชาญฉลาดนี้เอง ชายขายหมูรู้ตัวอีกครั้งหนึ่งก็ตอนที่ตนเองเจ็บป่วยใกล้ตายได้แต่ร้องสั่งลูกสาวว่า ""ไปต้มน้ำร้อนเดือด ๆ มาเร็วเข้า"" เมื่อได้น้ำร้อนแล้วก็กรอกปากตัวเอง แต่กลับร้องบอกลูกสาวว่า ""ยังไม่ร้อนโว้ย เอาที่ร้อน ๆ กว่านี้"" เขากรอกปากตนเองด้วยน้ำร้อนที่เดือดพลุ่งและถึงแก่ความตาย ไส้พองด้วยอาการอย่างเดียวที่ได้ฆ่าหมูด้วยด้วยวิธีพิสดาร
     การเลี้ยงชีพชอบนั้นหมายความว่า ชอบด้วยหลักสัจธรรมของฟ้าดิน มิได้หมายถึงชอบด้วยประเพณีหรือกฏหมาย แม้การเลี้ยงชีพด้วยถูกต้องมิได้เบียดเบียนชีวิตของใคร แต่กลับไม่พอใจอาชีพของตนในขณะที่นำไปเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น เห็นว่าอาชีพของตนเองต่ำต้อย สู้อาชีพของผู้อื่นดีกว่าตนไม่ได้ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกเช่นนี้ย่อมกลายเป็นการเลี้ยงชีพแล้วเบียดเบียนตนเอง
     การเลี้ยงชีพชอบด้วยทางสายกลาง จึงถูกต้องตรงตามหลักสัจธรรม  สรรพชีวิตในโลกนี้เลี้ยงชีพโดยปราศจากความ ""โลภ โกรธ หลง"" จึงเป็นการเลี้ยงชีพชอบด้วย ทางสายกลาง อย่างแท้จริง
     ฟ้า ดิน เลี้ยงทุกชีวิตในโลกนี้ โดยปราศจากความต้องการผลตอบแทน น้ำ อากาศ และดิน  เลี้ยงทุกชีวิตโดยไม่ต้องการผลตอบแทนใด ๆ และทุกชีวิตสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้เพราะความเป็นธรรมะทางสายกลางของฟ้าดิน อย่างแท้จริง  แต่มนุษย์มิได้เลียนแบบ ฟ้า ดิน เพราะฉะนั้นจึงเกิดทุกข์ภัยเพราะการเลี้ยงชีพเป็นเหตุ ตัวอย่างจากการกินด้วยการทำลายชีวิตสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ความไม่รู้ได้สร้างความเข้าใจผิดว่าสัตว์ เป็นอาหารของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่สรีระร่างกายของมนุษย์มิได้เป็นสัตว์โลกที่ กินเนื้อสัตว์เลย เพราะเมื่อพิจารณาจาก ฟัน ลำไส้ การระบายเหงื่อ แล้วมนุษย์ผิดกับสัตว์ประเภทกินเนื่อสัตว์อย่างตรงกันข้าม
     เมื่อใช้ร่างกายผิดรูปแบบที่ธรรมชาติสร้างมาจึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมานแสนสาหัสด้วยโรคนานาชนิด แต่มนุษย์ก็ไม่รู้และตั้งหน้าตั้งตาหาทุกข์ใส่ตัวต่อไป
     การปฏิบัติผิดต่อสัจธรรม ""ทางสายกลาง"" จึงพ้นไปจากวิถีแห่งธรรม เมื่อผิดศีล ในข้อเบียดเบียนชีวิตสัตว์คนเหล่านี้จึงได้รับผลตอบแทนจากความทุกข์ที่ตนเองได้สร้างสมเอาไว้จนเป็นเหตุให้เวียนว่ายในวัฏสงสารต่อไป
    "" คนกินพืชไม่มีกิเลส โลภ โกรธ หลง กระนั้นหรือ"" ปุจฉา
    "" พืช มิใช่ตัวกำจัดกิเลส เพราะเป็นเรื่องของกาย ถ้ากำจัดกิเลสต้องกำจัดที่จิตแต่เพียงสถานเดียว "" วิสัชนา

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ผู้คนในโลกนี้แบ่งวิถีชีวิตออกเป็นสองหนทางและสับสนด้วยความเข้าใจผิดว่าสองหนทางนี้แยกจากกันเด็ดขาด ทางหนึ่งคือทางโลกีย์  ทางหนึ่งคือทางธรรมะ  เมื่อต้องการสร้างบุญกุศลจึงไปวัด คนหลงเหล่านี้จึงขาดความเพียรทางธรรม แต่มีความเพียรพยายามทางกายสังขารด้วยการเอาใจใส่และตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน คนหลงเหล่านี้จึงยอมทุ่มเททุกสิ่งอย่างรวมตลอดทั้งชีวิตเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์หรือชื่อเสียงอันจอมปลอมเท่านั้นเอง แม้ไปสู่วัดวาอารามคนหลงเหล่านี้ก็เพียรพยายามขอโชคลาภจากพระ ถ้าหลวงพ่อนั้นให้หวยแม่น มีเวทย์มนต์คาถา ผู้นับถือศรัทธาก็เพียรพยายามที่เฝ้ารอขอตัวเลข ขอน้ำมนต์ เป็นอวิชชา"และเกิดความสับสนปนเประหว่างการปฏิบัติธรรมและครองชีวิตในโลก" แม้เข้ามาปฏิบัติธรรมก็ยิ่งหลงหนทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติธรรมที่คิดว่าตนเองตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่พระนิพพานจักหวังผลสำเร็จ
      ความเพียรที่ไม่ชอบด้วยหนทางสายกลาง จึงไม่ต่างอะไรกับความเพียรของฤาษีที่นั่งเข้าฌาณสมาบัตินิ่งเงียบไปเป็นร้อยปีแม้สำเร็จขึ้นไปก็ยังอยู่ในชั้นของ รูปพรหม และอรูปพรหม ไม่อาจชำระล้างกิเลสของตนได้หมดจดเลย ฤาษีผู้นิยมนั่งเข้าฌาณจึงต้องตกอยู่ในวังวนของการเวียนว่ายตายเกิด """เพราะเหตุใด การเข้าฌาณจึงมิใช่หนทางสายกลาง""" ปุจฉา  """การบังคับจิตให้เงียบสงบเป็นเรื่องชั่วคราวและหลงในความเงียบจึงมิใช่ทางสายกลาง คนติดความเงียบจึงหลงและทำการงานอะไรมิได้เลย แม้เจอรูปลักษณ์ก็หลงในรูปนั้นด้วยขาดปัญญา คนเหล่านี้จึงตัดกิเลสไม่ขาด""" วิสัชนา
     อาการหลงทางจึงเป็นสิ่งที่น่าสงสารนักเพราะคนหลงย่อมไม่รู้ตัวเองหลง เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงแท้ต่อสัจธรรม คนเหล่านี้จึงระดมความเพียรเอาเป็นเอาตาย ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธกาล มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในสมันนี้ ความหลงจึงไม่เลือกกาลเวลา บุคคล สถานที่ จำนวนบุคคล  การถอน ""ความหลง"" จึงมิใช่เรื่องที่กระทำให้ง่าย ๆ เพราะอาการยึดมั่นของคนหลงย่อมแข็งแรงมั่นคงนัก   
     ทางสายกลาง ปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่คนหลงกลับคิดว่า ลูกแก้ว พระพุทธรูป สวรรค์  วิมาน เป็นทางสายกลางอันแท้จริง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะจิตของคนหลงสร้างสวรรค์ขึ้นเองและยึดมั่นเอาไว้เหนียวแน่นยากที่จะแกะออก แม้พระพุทธองค์ตรัสสอนแล้วว่า ทางสายกลางปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง คนหลงเหล่านี้หาเชื่อถือไม่ กลับโจมตีว่าการกล่าวอ้างเช่นนั้นผิดและเผยแพร่คำสอนของตนเองด้วยการอ้างว่าถูกต้องตรงต่อสัจธรรม 
     ""ความเพียรชอบต่อสัจธรรมเป็นไฉน"" ถาม  ""ก่อนอื่นต้องพิจารณาคำว่า ความเพียร เสียก่อน"" ตอบ  ""แล้วความเพียรหมายความว่าอย่างไรล่ะ"" """กระทำสิ่งที่ซ้ำซากจำเจได้บ่อย ๆ เรียกว่า ความเพียร"""
     ด้วยเหตุนี้ผู้กระทำความเพียรจึงต้องตั้งใจหรือมีปณิธานจึงจักมีความเพียรให้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยเหตุนี้ความเพียรที่ตรงต่อสัจธรรมนั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนหรือเป็นเครื่องเร่งเร้าให้เกิดความเพียรด้วยการระดมกำลังใจเลย สิ่งที่ฟ้าดินกระทำต่อมนุษย์ในโลกนี้ ล้วนจัดเป็นความเพียรอันตรงต่อสัจธรรม
     เมื่อฟ้าดินกระทำหน้าที่ไปตามปกติ ความสุขสมบูรณ์จึงเกิดขึ้นในโลกนี้ แต่ทำไมจึงเกิดการแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ จนสร้างความวิบัติให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตมนุษย์ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุร้อน อันเป็นมหันตภัยของมนุษย์
     วิบัติภัยที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เป็นความเพียรของธรรมชาติที่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง แต่เป็นเพราะความเพียรที่ผิดต่อสัจธรรมของมนุษย์ทั้งปวงที่ทำลายการหมุนเวียนของธรรมชาติอันเกิดจากความโลภของตนเองเป็นปฐมเหตุ
     มนุษย์ทำลายธรรมชาติก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นกลางของธรรมชาติ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นผลร้ายแรงตามมา ถ้าเปรียบไปแล้ว ตราบใดที่มนุษย์สามารถรักษาความเป็นกลางของ ""จิต"" ตนเองเอาไว้ได้ มนุษย์ก็ไม่ทำร้ายตนเอง แต่ครั้งใดที่ ""จิต"" เคลื่อนไหวพ้นไปจากความเป็นกลางไปสู่ความ โลภ  โกรธ  หลง  ผลที่ตามมาคือ การทำร้ายตนเองให้วิบัติลงไป เพราะฉะนั้นความเพียรชอบต่อทางสายกลางจึงกรำทำได้โดยไม่เบื่อหน่ายและเกิดความสงบสุขอันแท้จริงนั่นเอง
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      โจรคนหนึ่งกำลังวางแผนปล้นธนาคาร เขาคิดถึงทางหนีทีไล่เพื่อให้พ้นเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเพื่อให้การปล้นครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ โจรจึงกำหนดเวลาที่ปลอดผู้คน เส้นทางของการหนี  การหลบซ่อนตัว  การใช้เงินที่ปล้นได้ควรทำอะไรบ้าง โจรคิดกลับไปกลับมา เช่นนี้เรียกว่า  โจรมีสติ แต่เป็น  สติชั่ว  เพราะล้วนทำการเพื่อประโยชน์ของตนเองสถานเดียว ส่วนใครจะเดือดร้อนไม่สนใจ  นักการเมืองคนหนึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจการบริหารบ้านเมืองต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองและงบประมาณนั้นมีเป็นจำนวน หมื่นล้านบาทขึ้นไป นักการเมืองผู้มีอำนาจเริ่มต้นคิดว่า ""อำนาจอนุมัติอยู่ที่เรา หากไม่มีน้ำใจจากผู้รับเหมาอนุมัติไปก็ไม่ได้อะไร""เขาเริ่มต้นคิดใหม่ว่าจะทำวิธีอย่างไรจึงให้ผู้รับเหมารู้ว่าการอนุมัตินั้นสร้างความร่ำรวยให้ผู้รับเหมามากมายแค่ไหน หากอนุมัติช้าสักหน่อยเดียว ผู้รับเหมาจะต้องจ่ายดอกเบี้ยไปอีกเท่าไหร่ นักการเมืองจึงเรียกผู้ใกล้ชิดมากระซิบว่า ""ช่วยไปบอกพ่อค้าผู้รับเหมาทีเถอะว่า สมัยหน้าพรรคจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าผู้รับเหมามีน้ำใจ เราก็มีน้ำเงินให้เหมือนกัน""" และเพื่อให้ประชาชนรู้ว่านักการเมืองท่านนี้เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เคยกินตามน้ำหรือทวนน้ำเพราะฉะนั้นจึงประกาศให้สื่อมวลชนได้รับรู้ว่างานนี้มีการประมูลอย่างโปร่งใส และนักการเมืองนั้นมิได้ใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายเจ้าหน้าที่ประจำเลยแม้แต่นิดเดียว  นักการเมืองคนนี้ย่อมคิดกลับไปกลับมาว่าทำอย่างไรจึงจะได้เงินมาใช้จ่ายสำหรับตนเองและพรรคของตนเอง อาการเช่นนี้เรียกว่า นักการเมืองท่านนี้มี ""สติ""แต่ก็ยังเป็น ""สติชั่ว"" อยู่นั่นเองเพราะเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่มของตนเท่านั้น
       ""สติ"" เช่นนี้จึงไม่ต่างไปจากโจรปล้นธนาคาร เมื่อมีสติชั่ว ปัญญาจึงชั่วตามไปด้วย  ผู้มี ""สติปัญญาชั่ว"" ล้วนก่อกำเนิดมาแต่การสั่งสมความชั่วเอาไว้ในตัวเองหลายชาติ เพราะเหตุนี้อาการลักษณะแห่ง ""ความชั่ว""จึงปรากฏให้เห็นเป็นสัญญลักษณ์บนใบหน้าของคนเหล่านี้ชัดเจน
      แต่นักบุญคนหนึ่ง คิดถึงการทำบุญเพื่อยังประโยชน์เกิดขึ้นแก่ตนเองทั้งในชาตินี้แลชาติหน้า เขาคิดถึงการทำบุญที่จะเป็นผลบุญอย่างแท้จริงนั้นควรกระทำอย่างไรจึงจักได้เป็นบุญแท้
     ครั้งหนึ่งเขาพบแม่ค้าเอานกใส่กรงมาเร่ขายเพื่อให้คนทำบุญปล่อยนก นักบุญท่านนี้คิดว่าการปล่อยนกย่อมให้บุญแน่นอน แต่การสนับสนุนให้แม่ค้าจับนกมาขายอย่างนี้เป็นการได้ บาป เพราะแม่ค้าคนนี้จักต้องรับบาปเวรกรรมไปอีกนานนัก
     คนที่เป็นนักบุญถ้าจัดการซื้อนกปล่อย การกระทำเช่นนี้เรียกว่า  ไม่มีสติ  แต่ถ้าเขาไม่ซื้อเพราะเกรงว่าเป็นการสนับสนุนแม่ค้าให้ทำบาปอย่างนี้เรียกว่า ""มีสติ"" และเป็น ""สติดี""
   ""สติดี"" กับ ""สติชั่ว"" เป็นสองหนทางที่อยู่ตรงกันข้าม เหมือนคนหนึ่งอยู่ในมุมมืด  อีกคนหนึ่งอยู่ในมุมสว่าง แต่ที่เหมือนกันก็คือ ต่างยังหวังผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง
     สติเช่นนี้จึงมิใช่  สติชอบ  ตามทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะเอาไว้ แต่เป็นสติที่พ้นไปจากหนทางสายกลางอย่างแท้จริง และยังเป็นสติที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด  คนมี ""สติชั่ว"" ย่อมเวียนลงสู่นรก  คนมี ""สติดี"" ย่อมขึ้นอยู่สวรรค์ชั้นเทพเทวา  เมื่อทั้งสองฝ่ายเสวยผลบุญและบาปแล้วย่อมเวียนมาก่อสร้างเวรกรรมของตนเองต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
   ""ทำไมสร้างกรรมดีแล้วยังต้องเวียนว่ายอีกเล่า""" คนที่สร้างบุญกุศลเอาไว้เปรียบดังฝากเงินเอาไว้ในธนาคาร เงินนั้นเป็นของตนเมื่อใช้หมดแล้วย่อมต้องได้รับความทุกข์ที่ยังเกาะติดตัวเองอยู่"""
   ""สติชอบ""ตามหลักการของทางสายกลางนั้นย่อมพ้นไปจาก ""ความชั่ว"" และ ""ความดี"" เพราะเป็นสติที่ชอบด้วยหลักสัจธรรม  การกระทำทุกประการของสติที่ชอบด้วยหลักของทางสายกลางนั้น ย่อมไม่คิดถึงบุญและผลที่ตนเองจักได้รับเลย แต่เป็นสติที่จะยังให้มวลชนทั้งปวงได้รับความสุขถ้วนหน้าโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้ตนเองได้รับทุกข์ แต่เพื่อความสุขของสรรพชีวิตทั้งหลายก็ยินยอม
     การตั้งสติชอบ  เช่นนี้จึงจักเป็น สติชอบด้วยหลักของทางสายกลางและเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์และเวียนว่ายตายเกิดด้วย ""จิต"" ไม่เกาะเกี่ยวในความดี ความชั่ว อีกต่อไปนั่นแล  ""สติ""เช่นนี้แลเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      อาการของจิตที่ตั้งมั่นไม่วุ่นวายฟุ้งซ่านอย่างนี้เรียกมี ""สมาธิ"" แต่ทำไมจึงมี ""สมาธิชั่ว"" ซึ่งเรียกว่า ""มิจฉาสมาธิ"" และ""สมาธิชอบ"" ซึ่งเรียกว่า ""สัมมาสมาธิ""
   ""เหตุไฉน จึงไม่มี สมาธิดี สมาธิชั่ว และสมาธิชอบเล่า "" การที่จิตตั้งมั่นเสียแล้วย่อมไม่มีหนทางที่สามมีแต่สองหนทางเท่านั้น"" แต่เพราะไม่เข้าใจใช้ปัญญาพิจารณากันให้ถ่องแท้ว่า สมาธิ นั้นมีถึงสองหนทางเพราะฉะนั้นนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยจึงหลงไปสู่หนทางของ ""สมาธิชั่ว"" และช่วยกันเผยแพร่ว่าหนทางของสมาธิย่อมพาไปถึงนิพพานพ้นเวียนว่ายตายเกิด
    ""ผลของสมาธิไปสู่นิพพานจริงหรือไฉน"" ปุจฉา 
    ""ผลของสมาธิมิใช่หนทางไปสู่นิพพานเลย เพราะมีผลแต่เพียงทำให้จิตตั้งมั่นเท่านั้นเอง ถ้าผลเพียงเท่านี้ไปนิพพานกันได้แล้วไซร้ ฤาษีย่อมไปถึงนิพพานได้เช่นกัน""  วิสัชนา
      สรรพชีวิตในโลกนี้เผชิญต่อความทุกข์เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาหนทางที่จะพ้นไปจากทะเลทุกข์ แต่เพราะมิได้ประจักษ์แจ้งในสัจธรรมจึงตกไปเป็นเหยื่อของผู้ที่อาศัยสมาธิมาเป็นสินค้า หลอกลวงให้เกิดความหลงกันทั่วหน้าเพียงเพื่อตนเองจักได้มีทรัพย์ศฤงคารมากมาย ผู้ที่หลอกลวงให้ผู้คนหลงไปในทางที่ผิดเช่นนี้ บาปเวรกรรมนั้นหนักหนาสาหัสนัก จนยากที่ชดใช้ได้หมดเพียงกัปล์เดียว หนทางไปสู่ความเป็น สมาธิ มีอยู่หลายแบบ แต่ละแบบล้วนมุ่งหมายให้ได้ผลเพียงจิตใจสงบตั้งมั่นเท่านั้นเอง
      คำภาวนา พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ นับตัวเลข ยกมือ กำหนดลมหายใจ ล้วนมีจุดหมายหลอกให้จิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วมีหนทางใช้อยู่สองหนทาง ทางหนึ่งนั้นหวังอิทธิฤทธิ์ ระลึกชาติได้ เหาะเหินเดินอากาศ ดำดิน ไม่หนาวไม่ร้อน รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เสกของขลัง แปลงกาย หายตัว
      การใช้อานุภาพของจิตที่ตั้งมั่นไปในลักษณะเช่นนี้ มิได้มีผลแห่งการพ้นทุกข์ แต่กลับหลงไปสู่หนทางอบายภูมิ เพราะในที่สุดผู้นิยมยกย่องหลงใหล และในที่สุดตัวเองก็หลงตัว ผู้มีญาณสมาธิเช่นนี้จึงเสื่อมได้ โลกียฤทธิ์เหล่านั้นจึงเสื่อมถอยไปด้วย ฤาษีนิยมเข้าฌานสมาธิเช่นนี้
      พระพุทธองค์ทรงผ่านวิธีการเช่นนี้มาแล้วกับมหาฤาษีสองตน คือ อุทกดาบส กับ อาฬารดาบส แต่พระองค์พิจารณาว่า สมาธิเช่นนี้มิใช่หนทางแห่งการพ้นเวียนว่ายตายเกิด ไม่อาจบรรลุสู่นิพพานได้เลย พระพุทธองค์จึงทรงเลิกวิธีการนี้เสียหันมาบำเพ็ญเองพระพุทธองค์ทรงใช้ปัญญาพิจารณาและรู้ได้ด้วยว่าสมาธิแห่งฤาษีนั้นมิได้ส่งผลดี มีแต่หนทางหลงเพราะเมื่อพ้นไปจากสมาธิเช่นนี้แล้ว จิตยังคงวนเวียนอยู่กับ ทุกข์ สุข ของโลกนี้ มิได้เป็นความสงบอันแท้จริง
      แต่บรรดาผู้ปฏิบัติทั้งปวงมิได้พิจารณาถึงกรณีนี้ กลับนับถือพระพุทธองค์ แต่ใช้วิธีของฤาษีสั่งสอนให้ผู้คนนั่งสมาธิกัน บางแห่งยึดติดสมาธิยังหลงไม่พอกลับหาทางให้ยึดติดรูปปั้นทองคำ บางแห่งต้องการคนมานั่งกันเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ความหลงเหล่านี้ล้วนเป็นบาปเวรทั้งสิ้น
      อีกทางหนึ่งของความเป็นสมาธิใช้ไปในทางตัดกิเลสทั้งปวงที่เกิดขึ้นแต่จิต สมาธิเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดสัมมาปัญญาอันแท้จริงการเรียนรู้หรือรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นภายในจิตของตนเองย่อมต้องใช้ปัญญาแยกแยอะและเอาชนะด้วยตนเอง
      การบำเพ็ญของพระพุทธองค์แสวงหาสัจธรรมภายในจิตและทรงค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว ""ธรรมญาณ"" อันเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญาไพศาล ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ทำลายไม่ได้ โดยสภาวะเดิมแล้วเป็นสมาธิอยู่ในตัวเองเสร็จสรรพ ไม่ต้องกำหนดหมาย ไม่ต้องหลอกล่อ หรือกำหนดรูปแบบใด ๆ เลย เมื่อพระองค์คืนกลับสู่สภาวะเดิมของ ""ธรรมญาณ"" จึงย้อนระลึกได้ว่าการทำลายกิเลสและเอาชนะตัวเองได้จึงเป็นการชนะที่ยิ่งใหญ่
      สมาธิเช่นนี้จึงเป็นหนทางสายกลางอันแท้จริง เพราะรู้ตัวทั่วพร้อมและสามารถทำการงานได้ ยังประโยชน์ให้แก่เวไนยสัตว์ได้  แต่มิจฉาสมาธิล้วนแต่กระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น สมาธิเช่นนี้จึงยังคงมีความรักและเกลียดอยู่ไม่รู้หาย
      สภาวะแห่งจิตยังคงหมุนเวียนอยู่ในทางดีและชั่ว เพราะปรารถนาให้ได้ ให้เป็น เพื่อตนเอง 
      แต่สัมมาสมาธิ มิได้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะเป็นสมาธิแห่งธรรมญาณ จึงกระทำการทุกอย่างดั่งฟ้าดินที่ต้องการให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงพ้นไปจากทุกข์  สัมมาสมาธิ จึงไม่มีอาการเห็นแก่ตัวตน ไม่ต้องการทรัพย์ศฤงคาร ไม่ต้องการคนมานั่งเป็นหมื่นเป็นแสนไม่จำเป็นต้องปั้นรูปทองคำให้คนกราบไหว้บูชา สมาธิชอบจึงเป็นสมาธิที่ชอบด้วยหลักสัจธรรม อันปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         "" ทำไมจึงต้องไปรับธรรมะ  ผมทำทุกอย่างตามธรรมชาติอยู่แล้ว "" ผู้ไม่รู้จักธรรมะมักตอบอย่างนี้
       "" ธรรมชาติดูจากอะไร ""  ผู้ปฏิบัติธรรม ถาม
     "" ผมไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อยากินก็กิน  อยากนอนก็นอน  เท่านั้นเอง ""
   "" อย่างนี้ยังไม่ใช่ตามธรรมชาติเพราะเป็นเรื่องของกาย ทำตามความปรารถนาของกาย มิใช่ธรรมะ ""
"" อะไรเล่าคือ  ธรรมะ ""
   
    นักปฏิบัติธรรมที่ผิดเพื้ยน และหลงหนทางมักมองดูการปฏิบัติธรรมมิใช่เรื่องธรรมดา ต้องมีอะไรผิดแปลกไปจากคนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปลักษณ์
    ความจริง การปฏิบัติธรรมะอยู่ที่ ""จิต"" และเข้าถึง ""ธรรมะ"" ย่อมมองเห็น ""ธรรมญาณ"" สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาอันปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมยิ่งเพี้ยนก็ยิ่งไปกำหนดรูปลักษณ์ ที่แปลกประหลาดจนผิดธรรมดา
    สมัยพระพุทธองค์ออกบวช พระองค์มีจุดประสงค์เพื่อทำลายชนชั้นวรรณะของชาวชมพูทวีป จึงเอาเครื่องทรงกษัตริย์คืนไปและปฏิบัติเยี่ยงขอทาน เพื่อให้ทุกชนชั้นวรรณะเข้ามาปฏิบัติธรรมได้เสมอกัน
    ""ธรรมดาของกาย"" ต้อง กิน นอน แก่ เจ็บ ตาย เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
  "" ธรรมดาของจิต""  ไม่เคยหยุดนิ่ง ไหวทุกครั้งที่มีสิ่งมากระทบ เกิด -- ดับ  ตลอดกาล
 "" ธรรมดาของธรรมญาณ "" จึงเงียบ สงบ  สว่าง  ว่างเปล่า  ไม่ยึดติดสิ่งใด  และไม่เกิด -- ดับ  ทำลายมิได้
ผู้ปฏิบัติธรรมที่หลงหนทางของกายจึงแปลก แยกทำตัวให้ไม่ธรรมดา
ผู้ปฏิบัติธรรมที่หลงในหนทางของจิต จึงพยายามแสดงอิทธิฤทธิ์อิทธิเดช เพื่อให้คนทั้งปวงเลื่อมใสว่าตนเองเป็นผู้สำเร็จและศักดิ์สิทธิ์  แต่ผู้ปฏิบัติธรรมที่เข้าใจสภาวะแห่งธรรมญาณ จึงมองทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา  นักธรรมอาวุโสท่านหนึ่ง ท่านเป็นธรรมปริณายกที่ผู้ปฏิบัติธรรมยกย่องฉายาว่า ""ผู่เฒ่าน้ำใส"" ท่านปฏิบัติจนแลเห็นเป็นธรรมดา  มีนักธรรมจากทั่วโลกเข้าไปกราบพระบาทของท่านเพื่อฟังอรรถาธรรม ซึ่งท่านก็จะประทานพระวจนะอย่างธรรมดา ๆ ว่า "" การปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ที่มโนธรรมสำนึก จิตที่มีมโนธรรมสำนึกรู้จักขอบคุณทุกสิ่งอย่างนั่นแหละ คือ ธรรมะ ""
     เวลานักธรรมลากลับ ท่านธรรมปริณายกเดินออกมาส่งถึงประตูรถและโบกมืออำลาให้แก่ทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานะสูงต่ำอย่างไร ท่านปฏิบัติต่อนักธรรมเสมอเหมือนกันหมด จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา มีแต่นักธรรมผู้อ่อนด้อยในการปฏิบัติเท่านั้นจึงแลดูว่าท่านสูงส่ง ท่านอายุ 90 กว่าปี แล้วยังยกย่องให้เกียรติผู้น้อยเสมอเหมือนกัน ในความรู้สึกของเราจึงไม่ธรรมดา แต่ในความรู้สึกของท่านธรรมปริณายก เป็นเรื่องธรรมดา  เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือสรรพสิ่งที่ไม่เปลี่ยนจึงกล่าวว่าเป็นธรมดาสามัญ แต่ปุถุชนทั่วไปมิได้เป็นเช่นนั้น พบคนถูกใจก็พูดเพราะ พบคนที่ไม่ถูกใจก็พูดหยาบ คนที่ไม่ธรรมดาเช่นนี้จึงมิใช่ทางสายกลาง  ทางสายกลางจึงเป็นธรรมะที่ไม่เปลี่ยนแปลงและคงที่ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ยังคงลักษณะเดิมเอาไว้ได้ตลอดเวลา  การปฏิบัติทางสายกลางจึงมีความเที่ยงตรงและสม่ำเสมอ กับทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีการแบ่งแยก
     ผู้ประคองรักษาสภาวะจิตของตนเอาไว้ได้เช่นนี้ตลอดเวลา จึงไม่เกิดความทุกข์ เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า หนทางสายกลางเป็นหนทางแห่งการดับทุกขืที่แท้จริง
     ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจของ ""จิต"" ย่อมเคลื่อนไหวไปตามความพอใจและไม่พอใจของอารมณ์ที่สั่งสมเอาไว้ คนเหล่านี้จึงหาทุกข์ใส่ตนเองตลอดเวลา  เพราะเหตุนี้ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจธรรมญาณ จึงมองดูสรรพสิ่งเท่าเทียมกันและเป็นธรรมดา เพราะต่างมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน แต่มาแตกต่างกันด้วยวิบากรรมที่ต่างสร้างขึ้นด้วยความหลงผิดนั่นเอง
     ถ้าทุกคนมองเห็นเท่ากันไม่มีการแบ่งแยกแล้ว การแข่งขันชิงดีชิงเด่นก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร แม้สัตว์ทั้งปวงก็มีรากเหง้าแห่งธรรมญาณมาจากที่เดียวกันแต่ที่แตกต่างกันเพราะ ตัวปลอมที่ธรรมญาณไปอาศัยอยู่ตามกรรมที่ตนเองก่อเอาไว้  เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนไปร่ามงานประชุมธรรมะที่อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งมีสุนัขมากมายหลายตัวล้วนส่งเสียงเห่ารบกวนการประชุม  ตอนที่มีการเตรียมงานประชุมธรรม มีอาจารย์บรรยายธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งถูกสุนัขเหล่านั้นเห่ารบกวน ท่านจึงเดินไปดูว่าตัวไหนมีท่าทีเป็นจ่าฝูง สุนัขจ่าฝูงนั้นมองหน้าอาจารย์ อาจารย์ท่านนี้จึงจ้องหน้าสุนัขตรงจุดญาณทวารแล้วพูดว่า ""ชาตินี้เจ้าเกิดมาเป็นสุนัขถือว่ามีบาปแวรกรรม เราจะมาประชุมธรรมะที่นี่เจ้าจงอย่ารบกวน แล้วไปบอกพวกเจ้าด้วย จะเป็นการสร้างบุญกุศลในครั้งนี้ เมื่อเจ้าเกิดใหม่ธรรมะนี้ยังอยู่ก็จะมีโอกาสได้รับธรรมะนี้ ""
      หลักฐานพยานปรากฏชัดว่าธรรมญาณของสุนัขกับคนเหมือนกัน เพราะตลอดสองวันของการประชุมทุกอย่างสงบเรียบร้อยเป็นธรรมดา

   


ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ปุถุชนชอบแบ่งแยกและเปรีบยเทียบโดยเอาตัวเองเป็นหลัก เพราะเหตุนี้จิตใจของเขาจึงไม่เที่ยงตรงและตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า ""ลำเอียงเพราะรัก  ลำเอียงเพราะชัง"" ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ทราบว่า จิตญาณเดิมล้วนเสมอเหมือนกันและมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ที่แตกต่างกันเพราะรูปลักษณ์อันเป็นไปตามวิบากกรรมที่ต่างสร้างสมเอาไว้ไม่เหมือนกัน  ถ้าทุกคนมองดูสรรพสัตว์เท่าเทียมกัน ""ความเมตตา"" อันแท้จริงย่อมเกิดขึ้นและต่างไม่เบียดเบียนกันด้วยเห็นเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน
       พระศาสดาขงจื๊อกล่าวว่า ""ความเที่ยงตรงเป็นธรรมะอันเที่ยงแท้ของจักรวาล"" ความหมายแห่งพระวจนะนี้หากพิจารณาการหมุนเวียนของดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ย่อมเห็นชัดเจนว่าหากดวงดาวเหล่านี้ไม่มีความเที่ยงตรงแห่งการหมุนเวียนแล้วไซร์ย่อมจะเกิดเหตุวิบัติกระทบถึงความปกติสุขอย่างแน่นอน
      มนุษย์ก็เช่นเดียวกันหากจิตใจไม่เที่ยงตรงเยี่ยงเดียวกับจักรวาลแล้วย่อมก่อให้เกิดความทุกข์เพราะเกิดความผันแปร แต่ความเที่ยงตรงย่อมไม่เปลี่ยนแปลง
      สภาวะแห่งทางสายกลางก็เช่นเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นจึงก่อเกิดความเที่ยงตรงแห่งจักรวาลนี้ได้ จนกลายเป็นกฏเกณฑ์ธรรมดาของจักรวาล ฝนตก น้ำท่วม ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ แล้วก็ถึงฤดูใบไม้ร่วง หมุนเวียนไปจนแลดูเป็นธรรมดาถ้าหากความธรรมดาเช่นนี้เกิดผิกแผกขึ้นมาเมื่อไร ก็กล่าวได้ว่า ไม่เป็นปกติธรรมดาย่อมก่อให้เกิดภัยพิบัตินานาขึ้นมา
     ดังนั้นถ้ามนุษย์มีความเป็นธรรมดาก็สามารถเข้ากับทุกคนได้หมดเฉกเช่นเดียวกับฟ้าดิน เพราะจักปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกันแต่ถ้าเลือกที่รักมักที่ชังแล้วย่อมไม่เป็นธรรมดาและความทุกข์ย่อมติดตามมา ตังอย่างเช่นนี้มีให้เห็นทั่วไป
     บางคนปฏิบัติต่อคนรวยและมียศฐาบรรดาศักดิ์อย่างหนึ่งด้วยความนอบน้อม แต่กลับวางอำนาจข่มขู่ผู้ด้อยด้วยเงินตราและยศศํกดิ์ คนที่ปฏิบัติเช่นนี้เขาย่อมต้องปรับเปลี่ยนจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตใจย่อมไม่เที่ยงตรง จึงหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ เพราะต้องคอยถอดหน้ากากและสวมหน้ากาก
    ""คนเช่นไรเล่าจึงจักปฏิบัติได้อย่างธรรมดา"" ถาม  ""ผู้ที่เผชิญหน้ากับธรรมญาณของตนเอง เท่านั้นจึงปฏิบัติได้อย่างธรรมดา"" ตอบ  นักปฏิบัติธรรมที่มิได้ถ่ายทอดวิถีจิตย่อมยากที่จะมองย้อนส่องตนเองได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ได้รับถ่ายทอดวิถีจิตแล้วหากไม่ใส่ใจศึกษา สภาวะแห่งทางสายกลางก็ยากที่จะเกิดขึ้นหรือเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่อย่างนี้
       บรรดาผู้ปฏิบัตธรรมทีี่่กล่าวว่าตนเองอยู่ในทางสายกลางแท้ที่จริงแล้วเป็นหนทางแห่งการกำหนดหมายขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อคิดขึ้นมาได้ ก็เป้นทางสายกลางเสียทีหนึ่ง แต่พอลืมไปก็เป็นทางสายเอียง
       ความจริงผู้ปฏิบัติทางสายกลางอันแท้จริง ย่อมเผชิญหน้าแห่งธรรมญาณแห่งตนจึงพบภาวะนั้นอย่างแท้จริงและเป็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกดังเช่นพระพุทธองค์ทรงปฏิบัตได้  ถ้าทุกคนในสังคมมีความเป็นธรรมดาเท่าเทียมกันหมดก็ไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายหรือกฏเกณฑ์ใด เพราะความเป็นธรรมดาจะกลายเป็นกฏเกณฑ์ที่ควบคุมสังคมซึ่งจะมีความสุข โลกนี้ก็จะมีสันติสุข แต่เพราะความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนี้ เพราะจิตใจของคนพ้นไปจากความเป็นธรรมดา โลกจึงเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ มีอุทกภัย ข้าวยากหมากแพง สิ่งแวดล้อมเป็นมลพิษ
       จิตใจของคนที่พ้นไปจากธรรมดาแห่งทางสายกลางจึงต้องสร้างกฏหมายต่าง ๆ ขึ้นมาบังคับแต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เลย เพราะกฏเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นมีพื้นฐานมาจากความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบด้วยความโลภ โกรธ หลง
       มนุษย์จึงสร้างกฏเกณฑ์ที่ขัดแย้งกันเอง ความวุ่นวายจึงตามมา และลามปามไปจนถึงการฆ่าฟันกันไม่รู้จบ  ทางสายกลางนั้นจึงเป็นเรื่องกับจิตโดยตรง แม้พระพุทธองค์กับพระศาสดาขงจื๊อต่างมีคำสอนที่ตรงกันให้ระวังรักษาจิตของตนเองให้เที่ยงตรงต่อฟ้าดิน อันเป็นทางสายกลางที่แท้จริงตามธรรมชาติ
       พระพุทธองค์ตรัสธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ก็ทรงสอนถึงความเป็นธรรมดาแห่งจิต ที่เที่ยงตรงไม่เวียนว่ายไปสร้างชาตสร้างภพไม่จบสิ้นเพราะวิบากกรรมที่ตนเองสั่งสมเอาไว้แต่ละชาติเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธรรมญาณไปเวียนว่ายอาสัยรูปร่างต่าง ๆ กัน  ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิถีจิตย่อมรู้หนทางแห้งการบำเพ็ญมิให้จิตเคลื่อนไหวและกลับคืนสู่สภาวเดิมแห่งธรรมญาณ การไม่เคลื่อนไหวไปตามแรงแห่งอารมณ์ย่อมจบสิ้นมิต้องสร้างกรรมเวรอีกต่อไป ภาวะแห่งการไม่เคลื่อนไหวเช่นนี้จึงกลายเป็นนิพพานแห่งตัวเอง พระพุทธองค์จึงทรงมีพระพุทธวจนะว่า "ไม่ต้องไปแสวงหานิพพานที่ใด นิพพานอยู่ในตัวเรา" คนที่แสวงหานิพพานจากภายนอกหรือจากเกจิอาจารย์ใดย่อมไม่พานพบโดยเด็จขาดเพราะนิพพานคือความเที่ยงตรงแห่งจิตใจอันเหมือนกับความเที่ยงตรงแห่งจักรวาลนั่นเทียว
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พุทธศาสนิกชนมักเข้าใจกันว่า "ทางสายกลาง" มีแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้นส่วนศาสนาอื่นไม่มี นับเป็นความเข้าในที่ผิด เพราะทางสายกลางเป็นสากลมิได้แบ่งแยกหรือมีแตเฉพาะคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็หาไม่
      พระเยซูคริสต์อันเป็นศาสดาของศาสนาคริสต์สั่งสอนเวไนยทั้งปวงว่า "เมื่อถูกตบแก้มซ้าย จงเอียงแก้มขวาให้เขาตบด้วย"ควมหมายนั้ชัดแจ้งว่า พระองค์มิได้สอนให้โต้ตอบ ด้วยการกระทำชั่วเลย แต่จงยอมรับแม้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าใครมีจิตใจเช่นนี้แน่นอนย่อมเป็นจิตใจของทางสายกลางโดยแท้ แม้ในสมัยที่พระเยซูถูกทหารโรมันตรึงกางเขน ด้วยความทุกข์ทรมานแต่พระเยซูเจ้ากลับอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยแก่ผู้หลงผิดเหล่านี้และพระองค์ยินยอมไถ่บาปให้แก่ผู้ทำร้ายพระองค์ ถ้าหากพระองค์มิได้มีจิตใจเป็นทางสายกลางแล้วย่อมเสียสละเช่นนี้มิได้ พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึง ""ชีวิตนิรันดร์"" ว่าหากต้องการมีชีวิตนิรันดร์จงเชื่อและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
      พระวจนะนี้จงเทียบเคียงสมัยที่พระเยซูรับศีลจุ่ม  ณ แม่น้ำจอร์แดนจากนับุณโยฮัน พระองค์ตรัสว่า "ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปิดกว้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาอย่างรวดเร็วดังนกพิราบเข้ามาสถิตในพระองค์"
      ความหมายแห่งชีวิตนิรันดร์ คือ การไม่ตาย ไม่ดับ อันหมายถึง ""ธรรมญาณ"" พระพุทธองค์ตรัสถึงสภาวะแห่ง ""ความไม่เกิด -- ไม่ตาย""ว่า ""ความเชื่อว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ล้วนเป็นควมเชื่อที่ผิด"" พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่าเป็น ""ตถาคต"" มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะเหตุที่ธรรมญาณ ไม่มีเกิดและไม่มีตาย แม้ภาษาแตกต่างกันแต่ความหมายแห่งพระวจนะของพระศาสดาทั้งสองเหมือนกัน
      ที่ประเทศอินโดนีเซียมีบาทหลวงคาทอริกอยู่ท่านหนึ่งวึ่งเป็นผู้ที่มีควมศรัทธาแรงกล้าในคริสต์ศาสนา คืนวันหนึ่งท่านนิมิตเห็นพระเยซูเจ้า ตรัสว่า ""เจ้านั้นเคารพนับถือเราแต่เจ้าไม่รู้หนทางชีวิตนิรันดร์เพราะฉะนั้นจึงไม่พ้นไปจากการเวียนว่าย"" ในฝันนั้นพระเยซูได้พับกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นเหมือนเครื่องบินที่เด็กเล่นแล้วตัดด้วยกรรไกรสองครั้ง เมื่อนำกระดาษกลางออกมาเป็นรูปเครื่องหมายแห่งกางเขน ส่วนกระดาษที่เหลือจากการตัดนำมาต่อเป็นตัวอักษรได้ถึงสามภาษาคือ อังกฤษ จีน และไทย เรียงเป็นตัวอักษรจีนได้คำว่า ""หย่งเซิน"" แปลความว่า ""ชีวิตนิรันดร์"" บาทหลวงผู้นั้นจึงถามพระเยซูว่า ""ถ้าต้องการได้ชีวิตนิรันดร์จะทำอย่างไร""พระเยซูจึงชูแผ่นใบฏีกาที่เป็นภาษาจีน หากมีชื่ออยู่ในแผ่นนี้จักได้ชีวิจนิรันดร์  เมื่อเอาเศษกระดาษนั้นมาเรียงกัน อีกก็จะเป็นภาษาจีนอีกสองคำคือ ""สื่อหวัง แปลว่า ""ตายตกนรก""  หากนำมาเรียงเป็นภาษาอังกฤษจะได้คำว่า "" HELL"" แปลว่า"นรก""หลังจากนั้นบาทหลวงก็ออกตามหาใบฏีกาตามศาลเจ้าต่าง ๆ จนกระทั้งได้พบอาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรม และได้ดูใบฏีกาซึ่งเหมือนกับที่พระเยซูได้แสดงให้เห็นในฝัน บาทหลวงจึงรู้ว่าการแบกไม้กางเขนนั้น หากไม่รู้ประตูแห่งธรรมญาณแล้วย่อมไม่พานพบ""ชีวิตนิรันดร์"" ธรรมญาณ  จึงเป็นชีวิตนิรันดร์  ที่ไม่เกิดและไม่ดับ  แต่ผู้ที่ติดอยู่กับกายเนื้อจึงเกิดดับไม่อาจได้สัมผัสกับชีวิตนิรันดร์   พระศาสดาทั้งปวงและพระอริยะเจ้าทุกพระองค์ย่อมไม่ดับสูญไปจากธรรมจักรวาล เราจะเห็นได้ว่า  บัดนี้  สาธุชนกราบไหว้พระองค์เฉกเช่นผู้ยังมีชีวิตอยู่ และยังกล่าวพระนามของพระองค์เสมือนหนึ่งยังทรงพระชนม์ชีพ แต่สำหรับ ปู่ ย่า ตา ทวด ปีหนึ่งจึงนึกถึงครั้งหนึ่งและถ้าไม่รู้จักเลยก็ไม่ได้นึกถึง จึงเสมือนหนึ่งตายจากไปแล้วอย่างแท้จริง
       ความหมายแห่ง ""ชีวิตนิรันดร์"" จึงไม่ได้เป็นอยู่อย่างที่นึกถึงเท่านั้น พระองค์จึงทรงอยู่ในถิ่นที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆที่เราเรียกว่า ""โลกุตตรภูมิ"" หรือ ""นิพพาน""  และนำเอาสภาวะแห่ง ""ทางสายกลาง"" มาพิจารณาแล้วก็จะรู้ได้ว่าสภาวะเช่นนี้ ไม่เกิดไม่ดับเพราะมิได้สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
       ถ้าเทียบเคียงกับปุถุชนจึงรู้ได้ว่า เวลาโกรธจัด อารมณ์รุนแรงไปทางหนึ่งที่จะทำลายทุกอย่าง แต่พออารมณ์สงบ อาการโกรธหายไปนั่นหมายถึง "อารมณ์ดับ" คนที่มีอารมณ์ดีใจก็เช่นเดียวกัน เขาไม่อาจรักษาอารมณ์นี้ไว้ได้ตลอดไป ในที่สุดก็ต้องดับอารมณ์เช่นนี้เหมือนกัน แต่สภาวะแห่งความเป็นกลาง ไม่มีการเกิด จึงไม่มีการดับ
       """ชีวิตนิรันดร์"" จึงเป็น ""ทางสายกลาง"" โดยแท้
      "" ชีวิตนิรันดร์ "" เป็นเช่นใด  ""ธรรมญาณ"" ก็เป็นเช่นนั้น""" 
 
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         ความผิดพลาดของมนุษย์จนก่อให้เกิดความหายนะต่อชีวิตและทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากเหตุที่ไม่สำรวมระวัง ปลอ่ย กาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามอารมณ์ ซึ่งมักจะพาไปสู่หนทางแห่งอบายมากกว่า หนทางอริยะ
        พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้าำรวมระวัง จิต วาจา และกาย
สำรวมจิต    คือ ระวังจิตมิให้วอกแวกหรือสั่นไหวไปตามอารมณ์ทั้งปวง
สำรวมวาจา คือ  ระวังมิให้ก่อวจีกรรมอันลามก
สำรวมกาย  คือ  มิให้กระทำในสิ่งที่ผิดธรรมะ
        การสำรวมระวังนี้ต้องกระทำทุกเวลา  แต่คนส่วนใหญ่ มักระวังเวลาอยู่กับผู้คนด้วยห่วงใยชื่อเสียงของตนเอง แต่ถ้าลับตาคนแล้วก็ปราศจากความสำรวมระวังปล่อยกายปล่อยใจตามอารมณ์
       อาการสำรวมระวัง คือ ระวังให้ ""จิต"" อยู่ในทางสายกลางเสมอ   สภาวะจิตเช่นนี้จึงเป็น"มหาสติปัฏฐาน 4" อันได้แก่
1. กายานุปัสสนา   การตามพิจารณาเห็นกายว่ามิใช่ตัวตนอันแท้จริงและรู้ความเคลื่อนไหวของกายตลอดเวลา
2. เวทนานุปัสสนา  การพิจารณาเห็นอารมณ์ทุกข ์ -- สุข ที่กำลังครอบครองเราอยู่
3. จิตตานุปัสสนา   การพิจารณาเห็นจิตที่เคลื่อนไหวก่อเกิด ตัณหา ราคะ หดหู่แล การเกิด-ดับของจิต
4. ธรรมานุปัสสนา  การพิจารณาเห็นธรรมอันเป็นไปตามนิวรณ์ 5 ความพอใจ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน รำคาญ ถ้ารู้ชัดในสิ่งเหล่านี้ แล้วย่อมควบคุมได้
       ถ้าสภาวะจิตมิได้อยู่ในทางสายกลาง ก็ยากที่จะมี ""มหาสติ"" และไม่เกิดปัญญาพิจารณาตนเองตามนัยที่พระพุทธองค์ได้กล่าวไว้ ในคัมภีร์จงยง ทางสายกลาง ของท่านขงจื๊อ  ได้กล่าวเอาไว้ทำนองเดียวกัน มีความว่า...
     
        ซื่อ กู้ จวิน เจี้ย เซิ่น ฮู ฉี สั่ว ปู้ ตู่     ข่ง จวี้ ฮู ฉี สั่ว  ปู้ เหวิน  แปลความว่า ""กัลยาณชนผู้บำเพ็ญต้องตักเตือนระวังตนในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เห็นและไม่ได้ยิน  เพื่อละเว้นการก่อบาปสร้างเวร"""
   
      การตักเตือนตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะตามปกติแล้วปุถุชนไม่เคยตักเตือนตนเองมีแต่จะตักเตือนผู้อื่นเสมอเพื่อสำแดงว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น เก่งกว่า  สภาวะจิตอย่างนี้ล้วนพ้นไปจาก "ทางสายกลาง"
     แต่การตักเตือนตนเองย่อมต้องอาศัย สติปัญญา สำรวจความผิดพลาดของตนเองอย่างถี่ถ้วนและเป็นธรรม หากไม่มีสภาวะแห่งทางสายกลางอยู่แล้วย่อมไม่อาจสำรวจความผิดพลาดของตนเองได้เลย เพราะปุถุชนย่อมมองเห็นแต่ความดีงามของตนเป็นสำคัญและเห็นความชั่วของคนอื่นก่อนเสมอ ""เห็นความดีของตน"" กับ ""เห็นความชั่วของคนอื่น"" ทั้งสองกรณีนี้สภาวะจิตอยู่ตรงกันข้ามเพียงแต่เหมือนกันที่พ้นไปจากทางสายกลางและเป็นการกระทำของจิตใจที่ไร้สติ และประการสำคัญไม่มีผลแห่งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น  คนที่เห็น ""ความดีของตน"" ย่อมมีแต่ความพึงพอใจไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่นเดียวกับ ""ความชั่วของคนอื่น"" ก็ไม่มีใครยอมให้แก้ไข
      ความชั่วที่ปุถุชนกระทำได้ง่ายที่สุดก็คือ ในที่ลับตาคน เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ใครเห็น จิตใจของคนย่อมปล่อยไปตามอารมณ์ขาดความระวังสำรวมเพราะเหตุนี้จึงสร้างเวรกรรมเอาไว้มากมาย
      ท่านขงจื๊อ ตักเตือนให้ผู้บำเพ็ญระวังสำรวม ก็โดยรู้ถึงธรรมชาติของจิตมนุษย์ชอบฟุ้งซ่าน  และปฐมเหตุแห่งความชั่วทั้งปวงเริ่มต้นที่ ""จิต"" โดยเฉพาะความคิดชั่วที่เกิดขึ้นหากไม่ระงับยับยั้งเอาไว้ย่อมสานต่อไปจนถึงการกระทำด้วยวาจาและกายในที่สุด  มนุษย์ชอบปิดบังความชั่วของตนเองไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ สถาวะแห่งจิต จึงทุกข์ทรมานเพราะพ้นไปจากทางสายกลาง  แต่ถ้าหากเราคิดว่าการกระทำนั้นไม่มีใครรู้ใครเห็น ""จิต"" ย่อมตกอยู่ในสภาวะแห่งความประมาทโดยแท้
      พระพุทธองค์ตรัสว่า ""ความลับไม่มีในโลก"" ความหมายก็คือ แม้ไม่มีใครรู้เลยเราเองเป็นผู้รู้ในการกระทำตลอดเวลาและบันทึกเอาไว้เสมือนหนึ่งถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึก และพระอริยะเจ้ากล่าวเอาไว้ว่า ""เหนือศรีษะสามฟุต มีเทพเจ้าอยู่"" เพระฉะนั้นไม่ว่ากระทำการสิ่งใด เทพเจ้าย่อมรับรู้เสมอไป  อีกประการหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า กระแสจิตที่เริ่มคิดดีหรือคิดชั่วนั้นย่อมก่อให้เกิดคลื่นและแผ่รังษีออกไปเพราะฉะนั้นเราจะสังเกตุเห็นได้ว่า คนที่กำลังคิดชั่วหากเราอยู่ใกล้ก็จะรับรู้พลังนั้น
      ความคิดดีก้เช่นกันย่อมมีพลังส่งกระแสออกไป เพราะฉะนั้นผู้มีจิตสงบจึงสัมผัสได้กับความรู้สึกของผู้คนเหล่านั้น  แต่การสำรวมระวังให้""จิต"" อยู่ในทางสายกลางย่อมไม่ปรากฏ พลังดี-ชั่ว แผ่ออกมาเลยนั่นหมายถึงว่า ภาวะจิตสงบ  เพราะฉะนั้นการสำรวมระวังจิตจึงต้องกระทำทุกเวลานาที     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      มีคำพังเพยอยู้วลีหนึ่งที่เราเอามาใช้กันจนคิดว่าเป็นของไทยคือ ""อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่ในหมู่มิตรระวังวาจา"" ความจริงคำพังเพยนี้เป็นพระวจนะของศาสดาขงจื๊อแห่งศาสนาปราชญ์ ที่กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์จงยง  หรือ ทางสายกลาง ซึ่งมีถ้อยคำประโยคหนึ่งที่ว่า...
                      ม่อเจี้ยน ฮู อิ่น   ม่อเสี่ยนฮูเหวย  กู้ จวิน จื่อ เซิ่น ฉี ตู๋ เหย่   แปลความหมาย ว่า ""ในที่ลับตาคนย่อมกระทำความผิดได้ง่าย แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมจึงควรระวังจิตของตนเองในขณะที่อยู่ตามลำพง"""
   
     ขณะที่เราอยู่ตามลำพังโดยมากจิตย่อมคิดฟุ้งซ่านเพราะปราศจากการบังคับ แต่การอยู่ในหมู่คนอย่างน้อยมีเป้าหมายที่เราต้องระมัดระวังกริยาท่าทางและวาจา เพราะฉะนั้นความเป็นสมาธิของจิตย่อมเกิดขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านย่อมไม่มี  คนที่อยู่คนเดียวจึงไม่อาจบังคับจิตให้หยุดอยู่กับที่ได้ ความคิดแล่นไปไกลจนหาขอบเขตที่หยุดมิได้
     และความคิดที่แล่นออกไปโดยปราศจากกรอบบังคับย่อมไปทั้งใน "ความดี-ความชั่ว" แต่เพราะการสั่งสม "ความชั่ว" เอาไว้มาก เพราะฉะนั้นความคิดจึงโลดแล่นไปในทางชั่วมากกว่าความดี  เมื่อปราศจาก "สติ" ยั้งคิดย่อมปล่อยปละละเลยแลเห็นความผิดเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไร แต่เมื่อก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ และสั่งสมเอาไว้ในที่สุดควมชั่วนิดเดียวก็กลาบเป็นความชั่วที่ใหญ่โตขึ้นมาได้
    "จิต" ที่โลดแล่นไปตามอายตนะทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมก่อให้เกิด""พลังอารมณ์"" ในขณะจิตคิดไปในทางที่ดีย่อมเบิกบานสราญใจ แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อคิดไปในทางไม่ดีย่อมเกิดความเศร้า คับแค้น อารมณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ทางฝั่งดีหรือชั่วล้วนเป็นเรื่องของการเสวยอารมณ์และเป็นภาวะที่พ้นไปจากทางสายกลางอย่างแท้จริง
     การระวังจิตของตนเองจึงควรมีวิธีอันถูกต้อง หาไม่แล้วจะตกอยู่ในฟากของความหลงอย่างเช่น ฤาษีทั้งหลายที่นั่งเข้าฌานสมาบัติหรือเข้าสมาธิล้วนแต่กำหราบจิตของตนเองให้อยู่นิ่งเฉย ดุจก้อนศิลาจึงหาค่าแต่ประการใดมิได้เลย
     สมัยหนึ่งท่าน ซูตงพอ กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ้องเดินทางไปกับมหาสมณะ ฝ่าอิ้น  ซึ่งเป็นสหายธรรม   ท่านซูตงพอแลเห็นพระโพธิสัตว์กวนอิม ก้มพระพักตร์นับลูกประคำอยู่ จึงถามท่านฝ่าอิ้นว่า "เหตุไฉน  พระโพธิสัตว์บรรลุธรรมแล้วยังคงภาวนานับลูกประคำอยู่เล่า"  ""อ้าว  ท่านไม่รู้หรือว่าพระโพธิสัตว์ เมื่อว่างจากการโปรดเวไนยสัตว์แล้ว พระองค์ย่อมต้องระวังจิตด้วยการสำรวมเช่นกัน"ถ้อยคำเช่นนี้ย่อมเป็นประจักษ์หลักฐานให้รู้ว่า "จิต" ไม่วา่จะเป็นของปุถุชนหรือพระอริยะบุคคลย่อมฟุ้งซ่านได้เสมอ เพียงแต่ปุถุชนมิได้สำรวมผิดแผกไปจากพระอริยะ ท่านมีวิธีแห่งสำรวมจิต
     การสำรวมระวังจิต ผิด กับการกำหราบจิต ให้อยู่นิ่งของฤาษีเป็นแน่นอน  พระอริยเจ้าสำรวมจิตให้อยู่ในทางสายกลางย่อมผ่องใสเพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงมีรอยยิ้มแห่งมหาเมตตาปรากฏอยู่เนืองนิตย์  แต่เหตุไฉน  รูปปั้นของพระศรีอริยเมตตรัยจึงไม่เพียงแต่มีรอยยิ้มแต่หัวเราะและมองตรงไปเบื้องหน้า มิเป็นการไม่สำรวมจิตหรือ  ปริศนาธรรมเช่นนี้ได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า พระศรีอริยเมตตรัยทรงได้รับเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธจิตแล้ว เพราะฉะนั้น สภาวะแห่งความเป็นกลางของจิตมีอยู่ตลอดเวลา และการที่พระศรีอริยเมตตรัยมีท้องใหญ่โตมโหฬารก็เพื่อแสดงให้รู้ว่าพระองค์เก็บได้ทั้งความทุกข์และสุขของเหล่าเวไนยสัตว์ พระองค์จึงหัวเราะได้ทุกเวลาไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับความทุกข์หรือสุข
     """เหตุใดจึงมีพระนามว่า   พระศรีอริยเมตตรัย"""   
    """ปณิธานของพระองค์ทรงเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไขและเมตตาสามโลก คือ มนุษย์ สวรรค์ และนรก"""
      พระศรีอริยเมตตรัยทรงต้องการให้ทั้งสามโลกนี้กลมกลืนกันลและเป็นอย่างเดียวกันนั่นคือ แดนสุขาวดี
     ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ย่อมอยู่ในทางสายกลางโดยแท้ แต่ใครที่ได้รับได้แต่ ""ความดี"" หรือ ""ความชั่ว"" เพียงอย่างเดียวย่อมพ้นไปจากทางสายกลาง เพราะจะติดอยู่ในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง  การปฏิบัติทางสายกลางจึงต้องกลมกลืนกับคนได้ทุกประเภทสามารถรักทุกคนได้เสมอเหมือนกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะแตกต่างกันด้วย ฐานะ หรือ คุณสมบัติใด ๆ ก็ตาม  แต่ถ้าแบ่งแยกอยู่นั่นหมายถึง ""จิตใจ"" ของเราพ้นไปจากทางสายกลาง
     ทางสายกลาง จึงเป็นธรรมอันสูงสุด เป็นอนุตตรธรรม และพาให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงพ้นไปจากการเวียนว่ายอันเป็นทะเลทุกข์การระวังความคิดของตนเองจึงเป็นการกำหนดมิให้คิดฟุ้งซ่าน เพื่อมิให้""จิต"" พ้นไปจากทางสายกลางนั่นเอง

             ปริศนาธรรม

        รูปปั้นพระศรีอริยเมตตรัย  ทรงมีรอยยิ้ม หัวเราะ  มองตรงไปเบื้องหน้า   ปริศนาธรรมชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่าพระองค์
ได้   รับเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธจิตแล้ว

        รูปปั้นพระศรีอริยเมตตรัย   ทรงมีท้องใหญ่โตมโหฬาร  ปริศนาธรรมก็เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระองค์เก็บได้ทั้งความทุกข์และสุขของเวไนยสัตว์

        เหตุใดจึงได้รับพระนามว่า พระศรีอริยเมตตรัย  ปริศนาธรรมเพราะเป็นปณิธานของพระองค์ทรงเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไขและเมตตาสามโลก คือ มนุษย์ สวรรค์ และนรก  พระองค์ทรงต้องการให้ทั้งสามโลกนี้กลมกลืนกันและเป็นอย่างเดียวกันคือแดนสุขวดี

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       คำพูดติดปากของคนที่ทำผิดแม้เป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็จะบอกกับตัวเองเสมอมาว่า "ไม่เป็นไร" แต่ที่น่าแปลกประหลาดมากกว่านั้น ในการกระทำผิดเยี่ยงเดียวกัน แม้เล็กน้อยก็ไม่อาจกล่าวคำว่า ""ไม่เ็ป็นไร"" หากการกระทำนั้นเป็นของผู้อื่น เรามักจะมองเห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและต้องเอาเรื่องจนถึงที่สุด
      ปุถุชนจึงใช้คำว่า ""ไม่เป็นไร""  ผิดความหมาย เพราะเป็นคำที่สมควรจะใช้กับผู้อื่นมากกว่าใช้กับตัวเอง ด้วยเหตุนี้ความทุกข์จึงเกิดขึ้นเสมอ เพราะเราไม่ยอมอภัยให้แก่ผู้อื่น แต่รีบอภัยให้แก่ตนเอง
      พระศาสดาขงจื๊อจึงกล่าวเอาไว้ว่า ""จงอภัยให้คนอื่นเยี่ยงเดียวกับอภัยให้ตนเอง  จงลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับลงโทษผู้อื่น""   การที่เราอภัยให้ตนเองอย่างง่ายดายเพราะเล็งเห็นว่า กรรมที่กระทำไปนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงยอมอภัยให้ด้วยความง่ายดาย เพราะไม่เห็นเป็นโทษผิดบาปแต่ประการใด  เมื่ออภัยให้ตนเองบ่อย ๆ เข้าก็กลายเป็นควมเคยชินและบาปเวรกรรมที่กระทำลงไปก็มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นนิสัยและต่อไปกระทำกรรมชั่วหนักหนาก็เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเห็นผิดเช่นนี้จึงก่อกรรมชั่วได้ง่ายดายนัก แลเห็นบาปเป็นบุญไปในที่สุด
      คนที่ฆ่าสัตว์บ่อย ๆ จนเคยชินย่อมเห็นว่าไม่ผิดบาปแต่ประการใดกลับคิดว่าสัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อให้คนฆ่ากินเป็นอาหาร ในขณะเดียวกันความผิดที่ตนเองกระทำเรามักลงโทษเพียงนิดเดียวเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กแต่ในความผิดอย่างเดียวกันถ้าผู้อื่นเป็นคนกระทำเราจะลงโทษอย่างรุนแรง
      ความประพฤติเช่นนี้เป็นเรื่องของปุถุชนผู้หลงผิด และไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่คนที่ปรารถนาความสุขพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง สมควรที่จะลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับที่ลงโทษคนอื่น แต่กลับลงโทษคนอื่นเยี่ยงเดียวที่อยากลงโทษตัวเอง
     ผู้ที่มีจิตใจเยี่ยงฟ้าดินนี้ย่อมอยู่ในหนทางสายกลาง เพราะความเคร่งครัดต่อตนเองแต่ผ่อนปรนผู้อื่นนั้นเป็นอานุภาพของ"ความเมตตา"โดยแท้จริง การลงโทษตนเองย่อมเมตตาต่อตนเองมิให้กระทำผิดอีกต่อไป เมื่อเมตตาต่อตนเองเช่นนี้ ความเมตตาย่อมเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นโดยไม่ต้องสงสัย ความเมตตาที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเมตตาแท้เฉกเช่นเดียวกับความเมตตาที่แม่มีต่อบุตรของตนเอง  คำว่า ""ไม่เป็นไร"" จึงสมควรที่จะพูดกับผู้อื่นที่กระทำความผิดต่อเรา แต่ถ้าใช้กับตัวเองเมื่อไรก็จงรับรู้ว่ากำลังเดินเข้าสู่หนทางหลงผิดอย่างแท้จริงเพราะจิตใจย่อมขาดความระมัดระวังหรืออาการสำรวมโดยแท้
    ในสมัยหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสชาดกเรื่องนกกระทาเพื่อเป้นอุทธาหรณ์แก่ภิกษุหมู่หนึ่งในกรุงโกสัมพี "อดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองสมบัติในกรุงพาราณสี มีเด็กชายคนหนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์แต่กลับไม่ยินดีในสมบัติของบิดาได้ออกไปบำเพ็ญเพียรเป็นฤาษี และเพลิดเพลินอยู่แต่ในฌานสมาบัติในป่าหิมพานต์ ฤาษีเข้าไปยังหมู่บ้านชายแดน ผู้คนในหมู่บ้านเลื่อมใสศรัทธาจึงปลูกบรรณศาลาให้ฤาษีพำนักและอยู่บำรุงด้วยปัจจัยอาหารอยู่ทุกวัน  ในหมู่บ้านนั้นมีพรานนกคนหนึ่งอาศัยอยู่ เขาจับนกกระทามาตัวหนึ่งขังกรงไว้และฝึกสอนให้ร้องเพื่อเป้น "นกต่อ" ซึ่งทำให้นายพรานสามารถจับนกได้มากมายด้วยวิธีการเช่นนี้เอง แต่นกกระทากลับคิดว่า "พวกญาติของเราต้องบรรลัยไปเพราะเสียงของเรานี่เอง เราช่างมีบาปมากมายเสียเหลือประมาณ" เมื่อนกกระทาคิดได้ดังนี้จึงหุบปากไม่ยอมส่งเสียงเป็นนกต่ออีกต่อไป ทำให้นายพรานเดือดดาลนักจึงไปเอาแขนงไม้ไผ่มาตีหัวนกอย่างรุนแรงจะหยุดก็ต่อเมื่อนกกระทายอมร้อง นกกระทาต้องร้องด้วยความเจ็บปวดอาดูรนัก นกกระทาทั้งหลายจึงบินมาติดกับนายพรานได้เลี้ยงชีพต่อไป นกกระทาจึงคิดว่า "เราไม่มีเจตนาร้ายแต่เพราะเราถูกบังคับ ไม่รู้ว่าบาปเวรกรรมนี้จะตกต้องตกถึงเราหรือไม่หนอ และใครเล่าจักตอบปัญหานี้แก่เราได้" วันหนึ่งนายพรานจับนกกระทาได้เป็นจำนวนมาก ในขณะเดินทางกลับเกิดอาการหิวกระหายน้ำ นั่งพักแล้วเผลอหลับไป นกกระทาจึงห่อปีกคารวะฤาษีแล้วถามปัญหาขึ้นว่า "ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเป็น "นกต่อ"และถูกบังคับให้เป็นสื่อแห่งความตายแก่ญา๖ิพี่น้องเช่นนี้จักมีบาปกรรมเช่นไรพระคุณเจ้า"  ""ถ้าใจ ของเจ้าไม่มีเจตนาในการทำบาปแล้ว ใจย่อมไม่แปดเปื้อนต่อบาปนั้น แต่วิบากทางกายและวาจายังจะต้องชดใช้อยู่"" ชาดกนี้ชี้ให้เห็นสัจธรรมว่า เรื่องเล็กน้อยย่อมไม่สามารถบำบัดได้ด้วยคำว่า ""ไม่เป็นไร""

Tags: