collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: Re: คัมภีร์ทางสายกลาง ปฐมบท (จง -- อยง ) เที่ยงตรง -- สัจธรรม  (อ่าน 32422 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ใครเอ่ยถึงความว่าง แน่นอนเขาย่อมพูดไม่ถูกว่าความว่างคืออะไร ได้แต่คาดและเดาเอาตามสภาพที่นัยน์ตาเห็นเท่านั้น ห้องที่ไม่มีอะไรวางอยู่เลยเราเรียกว่า "ห้องว่าง" จิตใจที่ไม่มีอะไรแผ้วพานหรืออารมณ์ใดครอบงำเลยเรียกว่า "ใจว่าง" เหมือนกัน แต่ความว่างทั้งสองอย่างต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะห้องว่าง ไม่ก่อเกิดสรรพสิ่งและไม่อาจควบคุมสรรพสิ่งได้เลย เป็นความว่างที่ยังปรากฏรูปลักษณ์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดสัมผัสได้ด้วย นัยน์ตา  และอายตนะของมนุษย์ เป็น "ความว่าง" อันกำหนดหมายให้เป็นไปเพราะในห้องที่ "ว่าง" นั้นเองยังเต็มไปด้วย จุลชีวัน  สิ่งมีชีวิต ฝุ่นผง ที่นัยน์ตาไม่อาจเห็นได้  ความว่างเช่นนี้จึงไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอดกาล และไม่มีอานุภาพใดเลย
       เพราะฉะนั้นบรรดานักศึกษาธรรมที่กำหนด "ความว่าง" ขึ้นมาในจิตใจของตนเองจึงไม่ต่างอะไร "ห้องว่าง" ที่ยังเต็มไปด้วยสรรพสิ่งอันไม่อาจสัมผัสได้ด้วยอายตนะหกเพราะเหตุนี้จึงตกอยู่ในความหลง "ความว่าง" ที่ตนเองกำหนดหมายขึ้นไว้ว่าเป็นความว่างอันแท้จริง  "ใจว่าง" จึงมีความหมายอยู่สองนัย "ว่าง" โดยการกำหนดหมายเอาเอง  "ว่าง" ตามธรรมชาติเดิมของธรรมญาณ
     ความว่างโดยการกำหนดหมายจึงตกอยู่ในกฏของอนิจจัง เพราะหาความเที่ยงแท้ มิได้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยแห่งจิตที่สร้างมาจึงมีความสิ้นสุดและหายไปได้  แต่ความว่างตามธรรมชาติแท้แห่งธรรมญาณ เป็นคุณลักษณ์อันแท้จริงที่มีมาแต่เดิมและไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้ว่างหรือกำหนดเลย ความว่างเช่นนี้จึงยากที่จะหาศัพท์บัญญัติหรือภาษาใด ๆ มาอธิบายให้เข้าใจได้ เพราะไม่อาจเปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพลักษณ์ได้เลย
                                          ธรรมญาณ  ของมนุษย์จึงไม่มีสิ่งใดมาปรุงแต่ง
                                          ธรรมญาณ  จึงไม่อาจอธิบายด้วยภาษาคน
                                         เพราะธรรมญาณ  เป็นธรรมที่แท้จริง
     ความว่าง  เช่นนี้จึงมีอานุภาพควบคุมและก่อให้เกิดสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีจำกัด ถ้ามองออกไปจนนอกโลกก็จะเห็นความเป็นจริงได้ว่า ความว่างอันแท้จริงที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลสามารถเคลื่อนไหวไปตามสภาพของตนเอง แต่แท้จริงเป็นพลังงานแห่งความว่างที่ำทำให้สรรพสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไหวในทางที่ถูกต้อง
    หากมองย้อนกลับมาสู่กายมนุษย์ ธรรมญาณ อันแท้จริงที่สถิตอยู่ภายในเป็นผู้ควบคุม  กาย  นี้ให้เดินไปตามแนวทางของตนเองการกิน การนอน การยืน การนั่ง ทุกอิริยาบถของกายนี้ล้วนอยู่ในความควบคุมของ "ความว่าง" อันเป็นธรรมญาณแท้ แต่เพราะ อิริยาบถ  ที่กายนี้ปฏิบัติจนเคยชินเพราะฉะนั้นจึงมิได้สังเกตุว่าเป็นเพราะ "ความว่าง" ควบคุม
    เวลาที่เกิดอาการคันขึ้นตามร่างกายส่วนไหนก็ตาม มือที่เอื้อมไปเกาไม่ต้องรอรับคำสั่งจากใคร เราจึงดูเหมือนว่า เป็นไปตามธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้วเป็นไปตามที่ "ธรรมญาณ" เคยสั่งเอาไว้หรือสั่งทุกครั้งจนแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อาจรับรู้ถึงการสั่งนั้นได้เลยแต่เมื่อใดที่กายกระทำผิดไปจากการควบคุมนั้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันทีอย่างเช่น ฟันกัดลิ้นตัวเอง เป็นต้น
    พระพุทธองค์จึงตรัสว่า  "ธรรมที่แท้จริงจึงปราศจากการปรุงแต่ง ธรรมที่แท้จริงจึงไม่อาจอธิบายได้ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่รับรู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น"  การเข้าถึงความว่างอันแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่อาจเข้าได้ด้วยการนั่งสมาธิเป็นแน่นอน หากการเข้าถึง "ความว่าง" ตามนัยยะอันแท้จริงด้วยวิธีการสมาธิ บรรดาฤาษีทั้งปวงที่ฝึกฝนการนั่งสมาธิย่อมเข้าถึงพ้นไปจากการปรุงแต่ง พ้นเวียนว่ายตายเกิดหมดสิ้นแล้ว แต่พระพุทธองค์ทรงเป็นประจักษ์พยานได้ดีที่สุด เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติสมาธิจนถึงที่สุดแล้วจึงตรัสว่า "มิใช่หนทางแห่งการบรรลุถึงธรรมญาณแห่งตน" พระองค์จึงทรงเลิกวิธีการเช่นนั้นเสีย และใช้ปัญญาพิจารณาจนค้นพบ "ความว่าง" อันแท้จริง 
    พระองค์จึงรู้ว่า "ความว่าง" เช่นนี้ปราศจากการปรุงแต่ง และไม่เวียนว่ายไปในสามโลกอีกแล้ว ดังนั้นจึงเปร่งพระวาจาว่า "พรหมจรรย์ เราสิ้นสุดแล้ว" เมื่ออานุภาพของ "ความว่าง" ปรากฏชัดจึงควบคุมสรรพสิ่งทั้งภายในและภายนอกหมดสิ้น การกระทำทุกประการจึงเป็นไปตามสัจธรรมอันยิ่งใหญ่แลเห็นได้ว่าตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ทรงเมตตาต่อเวไนยสัตว์หาขอบเขตมิได้ พระองค์ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนเลย แต่การกระทำทุกอย่างเป็นไปตามหลักสัจธรรมอันแท้จริง แต่ผลที่ปรากฏขึ้นในภายหลังจึงยิ่งใหญ่ไพศาลนัก
     พระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ จึงยังให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยพร้อมพ้นไปจากวัฏสงสาร ความว่างอันแท้จริงของพระพุทธองค์จึงทรงควบคุมทั้งพระองค์เองและสรรพสัตว์ทั้งปวงซึ่งตามสายตาของปุถุชนจึงเห็นว่าพระองค์มิได้ควบคุมสิ่งใดเลย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ปุถุชนมักคิดว่าความโลภหรือความอยากก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวง แท้ที่จริงไม่ว่า ""ความโลภ"" หรือ ""อยาก"" โดยตัวของมันเองไม่อาจก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้เลยนอกจากอารมณ์ซึ่งเป็นผลมาจากการมีปฏิกริยาระหว่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ ธรรมญาณ เท่านั้นเอง  ""ความโลภ"" จึงเป็นความหนักที่ไม่อาจก่อสรรพสิ่งใด ๆ ได้นอกจากการรับผลดี - ชั่ว ของตนแต่เพียงอย่างเดียว  ความดี และ ความชั่ว  ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ยังทำให้ความโง่เข้าครอบงำได้โดยง่าย เพราะเรามักคิดออกไปจากตัวของเราถ้าสิ่งใดชอบนับเป็น ""ความดี"" สิ่งใดไม่ชอบนับเป็น ""ความชั่ว""
       เมื่อเกิด ดี - ชั่ว ขึ้นมาแล้ว จิตจึงไม่อาจเข้าสู่หนทางของทางสายกลางได้ นั่นหมายความว่า ไม่อาจสรรค์สร้างสิ่งใดขึ้นมาได้เลย เหมือนแก้วที่เต็มน้ำย่อมไม่อาจเติมน้ำลงไปได้อีก
      นักประดิษฐ์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานยืนยันให้เรารู้ว่าเวลาที่เขาคิดประดิษฐ์สิ่งใดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ภาวะของ"จิต" ย่อมต้องว่างปราศจากอารมณ์ทั้งปวง และขณะนั้นสภาวะแห่งจิต อยู่ในหนทางสายกลางอย่างแท้จริง 
      ท่านเหลาจื้อจึงกล่าวสัจธรรมว่า ""เต๋าอยู่นิ่งมักเกิดสรรพสิ่ง แต่พอเต๋าขยับ สรรพสิ่งจึงก่อเกิด แลสิ่งที่เิกิดมิใช่เต๋า"" เต๋า นั่นคือ ธรรมทางสายกลางอันหมายถึง ธรรมญาณ  เมื่อ ธรรมญาณ ขยับตัวจึงกลายเป็น ""จิต"" และคิดสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายจนประมาณมิได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่ตัวธรรมะแท้แต่เป็นผลของธรรมะนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงดำรงรูปลักษณ์และต้องเสื่อมไปตามกฏแห่งความไม่เที่ยงแท้ แต่ธรรมะทางสายกลาง ปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวงจึงพ้นไปจากกฏแห่งอนิจจัง  แต่ทำไมทุกคนจึงเป็นนักประดิษฐ์มิได้แม้มีธรรมญาณเหมือนกันหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาวะแห่งจิตของคนที่ไม่อาจสร้างสรรค์สิ่งใดได้ด้วย "จิต"  พ้นไปจากความเป็น ""ธรรมะทางสายกลาง"" สภาวะเช่นนี้ย่อมคิดอะไรไม่ออกและสร้างอะไรมิได้เพราะเต็มไปด้วยอาสวะกิเลสทั้งปวงเกาะอยู่หนาแน่น แม้ตัวของตนเองยังไม่อาจวิเคราะห์ หรือรู้จักด้วยซ้ำไป  แต่ผู้ที่ได้หนทางสายกลางเขาสามารถมองย้อนดูตัวเองปรับปรุงแก้ไขเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ตนเองได้
      บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมแลเห็นเป็นรูปลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ดอกบัว สวรรค์ นรก ล้วนมิใช่สิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเลย แต่เป็นเพราะสัญญาความจำได้หมายรู้ที่นอนเนื่องอยู่ทั้งนั้น พอมองเห็นจึงสำคัญผิดคิดว่าเป็นสิ่งที่""จิต""ไปพบเห็นเข้าแลเห็นเป็นจริงเป็นจัง อาจารย์ผู้สอนในเรื่องสมาธิจึงชักจูงใจศิษย์ด้วยการชี้แนะโน้มน้าวให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ  สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้จึงเป็น "ของปลอม" แลเห็น ""กงจักรเป็นดอกบัว"" โดยแท้
      เกจิอาจารย์ทั้งหลายจึงพยายามสร้างสรรค์นิพพานขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้ศิษย์หลงเชื่อและนับถือว่า อาจารย์ไปถึงนิพพานแล้วกลายเป็นพระผู้สำเร็จนิพพานไปโน่น แลอวดอ้างว่าเป็น  นิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เสียด้วย  บรรดาผู้ด้อยปัญญาทั้งปวงจึงหลงติดยึดอาจารย์ประเภทนี้มากมายและพร้อมที่จะถวายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเป็นการบูชาพระอรหันต์  อรหันต์ศิษย์ตั้งจึงเกิดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝน
     พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธวจนะอันเป็นสัจธรรมว่า ""ใครอยากไปนิพพานจักไม่ถึงนิพพาน""ตราบใดที่ความอยากยังคงครอบงำอยู่ สภาวะแห่งจิตย่อมพ้นไปจากทางสายกลาง เพราะสภาวะแห่งจิตไปติดยึด ดี ชั่ว ตามอาการแห่งการปรุงแต่งนั่นเอง ความจริงนิพพานอยู่ในตัวของเราเอง มิต้องกระเสือกกระสนวิ่งวนไปแสวงหาจากภายนอกเลย ผู้ดิ้นรนแสวงหาจากภายนอกตัวเอง เขาจึงไม่พบหนทางสายกลางและปราศจากภาวะนิพพาน เพราะ ""ทางสายกลาง"" เป็นนิพพานอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
     การก่อให้เกิดสรรพสิ่งนั้นจึงแบ่งออกเป็นสองทาง ถ้าเป็นไปตามอำนาจแห่ง ""อารมณ์"" สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็น ""ของปลอม" ถ้าเป็นไปตามอำนาจแห่ง ""ความว่าง"" สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็น ""ของจริง""
     ทั้งของปลอม กับ ของจริง  ล้วนตกอยู่ในกฏแห่ง ""ไตรลักษณ์""  คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับลง เหมือนกันหมด  แต่ธรรมญาณอันเป็นทางสายกลางอันแท้จริง มิได้ตกอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ ด้วยเหตุที่ไม่มีรูปลักณ์ใด ปราศจากอาการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอานุภาพ ใด ๆ มาทำลายล้างได้เลย
     เมื่อตัวเองไม่ถูกทำลายย่อมก่อเกิดสรรพสิ่งได้โดยประมาณมิได้เพราะต้นกำเนิดไม่มีอะไร จึงก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้มากมายมิใช่หรือ   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         ในโลกของปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสถึงกระทำทุกประการเพื่อประโยชน์แห่งตน และไม่เชื่อว่ายังจะมีผู้ที่กระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ใครกระทำเช่นนั้นก็จักถูกปุถุชนประนามว่า "โง่" ส่วนการกระทำแม้ใช้เล่ห์เพทุบาย และตนเองได้ประโยชน์มักได้รับคำยกย่องว่า เป็นผู้ที่ ""ฉลาด"" เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงเป็นหนทางที่สวนทางกับทางโลกอย่างแท้จริง
       ผู้ปฏิบัติธรรมจึงถูกต่อว่าและมองเห็นเป็น ""มนุษย์ประหลาด"" ในสายตาของชาวโลก เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงอดทนต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปวงได้ แต่เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจถึง ""อุเบกขาญาณ"" ความอดทนนั้นก็สูญสิ้นไป สามารถอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยความสุขแห่งธรรมะที่แท้จริง
      พระศาสดาขงจื๊อ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางสายกลางว่า ""เหอ เหย เจ่อ   เทียน เซี่ย จือ ต๋า เต้า เหย่   แปลความว่า อุเบกขาคือการวางเฉยอันเป็นหนทางหลักในการก้าวไปของสรรพสิ่ง""  ความหมายนี้อธิบายได้ว่า  อุเบกขามิได้เป็นการวางเฉยโดยมิได้ปฏิบัติสิ่งใดเลย หากความหมายเป็นไปตามนัยที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า เป็นการวางเฉยแล้ว อุเบกขา ก็ไม่มีประโยชน์แก่สรรพสิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะจิตของตนเอง
     การวางเฉยมีความหมายถึงการวางเฉยของ ""จิต"" ที่ปราศจากความ โลภ โกรธ หลง ดี และ ชั่ว หรือ บาป - บุญ สภาวะจิตเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งยากเย็นสำหรับจิตที่เวียนว่ายและสะสมเอากิเลสทั้งปวงไว้แม้กระทั่งตนเองก็ไม่รู้สึกว่าภายในจิตมีาิ่งที่เป็นอาสวะกิเลสมากมาย การสะสมเช่นนี้มิได้มีแต่เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่อดีตชาติได้สร้างเอาไว้ก็กลายเป็น วิบากกรรม ของจิต ที่กลายเป็นความเคยชิน  คนที่ปากจัก ด่าเก่งเขามิได้เก่งแต่เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่อดีตชาติก็ปากจัดด่าเก่งเหมือนกัน ความโลภก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ทั้งปวงที่สะสมเอาไว้ได้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของตนเองจนยากที่จะขุดรากถอนโคนได้ เพราะฉะนั้น การวางเฉยที่ไม่ยอมให้กิเลสเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลในจิตของตนจึงเป็นเรื่องยากนักหนาเพราะมันจะผุดขึ้นมาทันทีที่มีสิ่งมากระทบอันเป็นเหยื่ออันโอชะดังชาดกเรื่องนี้
     สมัยหนึ่งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล บิดาได้ส่งไปเล่าเรียนศิลปวิทยา ที่เมืองตักกสิลา เสร็จแล้วก็จัดแจงแต่งงาน เมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็ครอบครองสมบัติมหาศาลแลเห็นชีวิตไม่เที่ยงจึงเกิดเบื่อหน่ายละทิ้งทางโลกออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอยู่ในป่าหิมพานต์ ฉันผักผลไม้เป็นอาหารบำเพ็ญจนได้บรรลุฌาน หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศได้ วันหนึ่งจึงเหาะมาเมืองพาราณสีบ้านเดิมเพื่อโปรดสัตว์ ฤาษีสำรวมกาย วาจา จนเป็นที่เลื่อมใสของพระราชาจึงนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในพระราชอุทยานของพระองค์เพื่อสอนธรรม และพระเจ้าพาราณสีปรนนิบัติฤาษีด้วยความเคารพเลื่อมใส อยู่มาวันหนึ่งเกิดจลาจลชายแดนพระเจ้าพาราณสีต้องเสด็จไปปราบจึงบอกกับมเหสีผู้เลอโฉมให้ปรนนิบัติฤาษีเช่นเดียวกับที่พระองค์ปรนนิบัติพระมเหสีรับสนองพระบัญชา ตามปกติฤาษีเคยมารับบาตรในพระราชวังตอนเช้า เมื่อพระราชาไม่อยู่ก็มาไม่เกินเที่ยงวัน วันหนึ่งฤาษีมารับบาตรสายมาก พระมเหสีประทับนั่งคอยไม่ทันระวังพระองค์ ฝ่ายฤาษีเห็นว่าสายมากแล้วจึงเหาะเข้ามาในพระราชวัง ครั้นถึงประตูใหญ่ใกล้หน้าต่างจึงลงมายืนอยู่ พระมเหสีจึงลุกขึ้นโดยไม่ทันระวังพระองค์สะไบพระภูษาจึงหลุดลุ่ยลงมากองที่พื้น พระนางตกพระทัยจึงรีบคว้าขึ้นมาคลุมกาย แต่ก็ช้าไปกว่าสายตาฤาษีที่แลเห็นสวดทรงอันเปลือยเปล่า กิเลสตัณหาที่สะกดเอาไว้จึงพลุ่งพล่านขึ้นจนระงับไม่อยู่ยังผลให้อำนาจฌานเสื่อมไป  จิตใจที่เคยสงบเย็นก็ร้อนแรงด้วยกามราคะ อยากเสพสมกับสตรี ไม่สามารถนั่งลงฉันภัตตาหารได้ จึงเดินกลับบรรณศาลา ฉันไม่ลงได้แต่นอนซมด้วยพิษของราคะ
      เมื่อพระเจ้าพาราณสีเสด็จกลับจากราชการจึงเข้ามาเยี่ยมฤาษีก็ต้องแปลกพระทัยเพราะศาลาสกปรกรกรุงรัง ครั้นเข้าไปในห้องก็เห็นฤาษีนอนซมอยู่จึงถามว่า ""พระคุณเจ้าป่วยเป็นโรคใดหรือ"" ""ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาถูกยิงด้วยศรพิษ" ใครยิงหรือ""  ""อาตมาถูกยิงด้วยศรอาบยาพิษคือกามราคะ""  ฤาษีได้เล่าความจริงให้พระราชาทรงทราบ พอได้สติจึงขอเวลาเข้าฌานข่มตัณหาราคะจนเป็นสมาธิแล้วจึงเหาะขึ้นกลางอากาศแล้วทูลพระเจ้าพาราณสีว่า ""อาตมาขอถวายพระพรทูลลากลับไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามเดิมเพราะเป็นที่เหมาะแก่นักบวช อาตมาเกือบเสียคนก็เพราะมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่เลย""
      ชาดกเรื่องนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า จิต  ที่แมัได้ฌานแต่ไม่เป็น อุเบกขาฌาน ย่อมเสื่อมจากฌานได้และไม่อาจพ้นไปจากการเวียนว่ายในสามภพสามภูมิและไม่อาจปฏิบัติกิจใด ๆ ได้เลย 
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
 
        ผู้คนที่นับถือพระพรหมเวลาผ่านไปแถวโรงแรมไฮแอท เอราวัณ ก็จะยกมือไหว้ พระพรหมหน้าโรงแรมกันเป็นแถว แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า เหตุใดพระพรหมจึงมี 4 หน้า  คนเหล่านั้นไหว้เพราะเห็นว่าพระพรหมทรงความศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลโชควาสนาแก้ทุกข์ให้แก่คนที่นับถือได้และมีกิจกรรมรำละครแก้บนอยู่เป็นประจำ
         ความหมายแห่ง 4 หน้าของพระพรหมเป็นดังนี้
                                                               หน้าหนึ่งให้เมตตา
                                                               หน้าหนึ่งให้กรุณา
                                                               หน้าหนึ่งให้มุทิตา
                                                               หน้าหนึ่งให้อุเบกขา 
       พระพรหมเป็นผู้ให้โดยแท้และถ้าพิจารณาให้เห็นความละเอียดแล้วก็จักรู้ว่าการให้ของพระพรหมมิได้ต้องการสิ่งใดตอบแทนเลย              ความเมตตา   ด้วยสงสารว่าคนทั้งปวงมีความทุกข์ จึงใคร่แบ่งความทุกข์ของคนเหล่านั้น
                  ความกรุณา    พระองค์ทรงต้องการให้คนเหล่านั้นมีความสุขเหมือนอย่างที่พระองค์มีอยู่
                  มุทิตา          ยินดีที่คนเหล่านั้นมีความสุขสมปรารถนา
                 อุเบกขา        พระองค์ทรงวางเฉยต่อการให้ทั้งปวงโดยไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทนเลยแม้แต่น้อย
       ความหมายแห่งพระพรหม จึงเป็นแต่เพียงผู้สร้างสถานเดียวและปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริงด้วยเหตุดังนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "" บิดา มารดา เป็นพระพรหมของลูก "" คนทั้งหลายมักติดยึดในรูปแบบเพราะฉะนั้นจึงเห็นพระแต่ในรูปลักษณ์ของนักบวชที่ครองผ้ากาสาวพัตร์เท่านั้น การติดยึดเช่นนี้เรียกว่าติดอยู่แต่เปลือกนอกแต่ไม่เห็นถึงแก่นแท้ของความเป็นพระที่แท้จริงอยู่ที่การปฏิบัติของ ""จิต""
      เพราะฉะนั้นคนจึงพากันไปกราบไหว้บูชา แต่พระในรูปแบบซึ่งล้วนเป็นสมมุติสงฆ์ทั้งสิ้น แต่พระอรหันต์แท้จริงของตนเองผู้คนกลับมองไม่เห็นจึงไม่กราบไหว้บูชา และปฏิบัติต่อพระพรหมของตนเองเยี่ยงเดียวกับคนทั้งหลาย มิได้นอบน้อมและบูชาท่านเสมือนหนึ่งเป็นพระแท้ ๆ  พระพุทธองค์ตรัสถึง คุณบิดา มารดาเยี่ยงเดียวกับพระพรหมย่อมมีเหตุและผลที่ตรงต่อสัจธรรมเป็นแน่แท้ แต่ปุถุชนไม่เห็นความเป็นจริง เช่นนี้จึงปฏิบัติสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตนเองเคารพกราบไหว้บูชา  เราพากันนำเอาอาหารเลิศรสไปคุกเข่าถวายกราบกรานด้วยความเคารพต่อสมมุติสงฆ์ แม้ท่านไม่เคยป้อนข้าวเราเลยสักคำเดียว
     ส่านพระพรหมของเราป้อนข้าวและน้ำนับไม่ถ้วน แต่กลับไม่เคยนำอาหารเลิศรสไปน้อมถวายกราบกรานด้วยความเคารพเลย หลวงพ่อด่าว่าเรา 20 คำ เราต่างพากันพนมมือรับคำว่า ""ขอรับกระผม"" ไม่เถียงเลยสักคำเดียว แต่ถ้าเป็นพระพรหมที่บ้านด่าว่าเราเพียงคำเดียวเท่านั้น เราก็จะเถียงตอบถึง 20 คำ
    สมมุติสงฆ์ที่ร่ำรวยด้วยเงินตรา ไปขอยืม ท่านจะคิดดอกเบี้ย หากไม่ใช้คืนก็จะฟ้องร้องต่อศาล เราก็ยังพากันแลกธนบัตรใหม่ๆใส่ซองสองมือถวายและกราบด้วยความนอบน้อม  แต่พระพรหมที่บ้านให้เงินแก่เรานับไม่ถ้วนและไม่เคยเรียกร้องเอาคืนเลยแม้สักบาทเดียว แต่เรากลับไม่เคยแลกเงินใหม่ใส่ซองไปคุกเข่าถวายและกราบด้วยความเคารพ
    เกจิอาจารย์ผู้โด่งดัง ถ้าเราประสงค์จะเป็นลูกศิษย์อันสนิทยังต้องร่ำรวยหรือมียศฐาบรรดาศักดิ์จึงเข้าใกล้ชิดได้ ถ้ายากจนแล้วก็เข้าไม่ถึง แต่เราก็พากันหาหนทางที่จะเข้าไปกราบกรานท่านด้วยความเคารพ 
    แต่พระพรหมที่บ้าน ไม่ว่าเราจะสูงต่ำดำขาว ขี้ริ้ว พิการ หรือยากดีมีจนท่านก็โอบกอดเราได้ด้วยความรัก แต่เราก็ไม่เคยคิดที่จะไปหาและกราบกรานท่าน  แต่มัวไปไหว้พระนอกบ้าน ปล่อยให้พระในบ้านอยู่ด้วยความทุกข์ยากลำบาก ไม่กราบไหว้ดูแล มิได้มีประโยชน์อะไรเลยกับการไหว้พระนอกบ้าน
     การปฏิบัติของบิดา มารดาที่มีต่อบุตรนั้นเป็นภาวะจิตของพระพรหมโดยแท้ และเป็นหนทางแห่งทางสายกลางที่ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทนแม้ตนเองเหนื่อยยากลำบากก็ไม่เคยปริปากบ่น ต่างก้มหน้าเลี้ยงดูบุตรด้วยเมตตา กรุณา  อันแท้จริง  ครั้นเห็นลูกเติบใหญ่มีความสุข บิดามารดาก็มีความยินดี อันเป็น""มุทิตา""ที่มิได้หวังว่าบุตรจะนำสิ่งใดมาตอบแทน เพราะความเป็น ""อุเบกขา"" ที่แท้จริง บิดามารดาจึงเป็นหนทางที่ทำให้บุตรนั้นก้าวเดินไปจนเติบกล้าและสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้
     พระพรหมที่บ้านจึงศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก แต่น่าเสียใจที่เราพากันลืมกราบไหว้บูชาท่านให้ศักดิ์สิทธิ์นั่นแล


ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        การเรียนรู้ธรรมชาติเป็นการ ""ศึกษาธรรมะ"" เพราะธรรมะเป็นธรรมชาติ มิใช่คำสอนของพระสาสดาทั้งปวง แต่ปุถุชนไม่รู้ความจริงเช่นนี้จึงยึดเอาคำสอนของพระศาสดาว่าเป็น ""ธรรมะ"" และแบ่งแยกเป็น ""ธรรมะจีน แขก ฝรั่ง ไทย อินเดีย"" ธรรมชาติไม่มีการแบ่งแยกฉันใด ธรรมะ ก้ไม่มีการแบ่งแยกฉันนั้นแต่ปุถุชนแบ่งแยกและยึดถือจึงก่อกรณีทะเลาะวิวาทกัน แม้อยู่ในศาสนาเดียวกันและนับถือพระศาสดาองค์เดียวกัน และที่น่าสังเวชใจเป็นที่สุดศาสนิกเดียวกันฆ่าฟันกันโดยปราศจากความเมตตาต่อกัน คนเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่ปฏิบัติสวนทางคำสอนของพระสาสดาและมิได้ปฏิบัติธรรม เพราะไม่เข้าใจธรรมะอย่างแท้จริง
      สมัยบรรพกาล พระอริยะเจ้าทุกพระองค์ทรงศึกษาธรรมะจากธรรมชาติเพราะในครั้งกระโน้นมิได้มีตำราบัญญัติคำสอนของพระอริยะองค์ใดไว้เลย แต่ผู้บำเพ็ญในยุคนั้นต่างก็สำเร็จธรรมะเพราะเข้าถึง สัจธรรมแห่งธรรมชาติได้
      สมัยปัจจุบันมีคำสอนจารึกเอาไว้เป็นพระคัมภีร์มากมายและศึกษากันอย่างง่ายดาย แทนที่จะมีผู้บรรลุสู่สัจธรรมของธรรมชาติแต่กลับกลายเป็นผู้ที่มีปัญหามากมาย โต้เถียงกันไม่รู้จบ และพ้นไปจากวิถีแห่งการบำเพ็ญธรรม กลายมาเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญแห่งพระคัมภีร์เท่านั้น แต่จิตใจกลับมิได้อยู่ในกระแสแห่งธรรมชาติอันแท้จริงเลย แต่ปุถุชนกลับยึดถือว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหลงกราบไหว้บูชาเป็นครูบาร์อาจารย์มากมาย จนคนที่ถูกกราบไหว้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองคือ ""นักธรรม""  แท้ที่จริงเป็นแต่เพียงผู้มีความรู้ทางคำสอนของพระศาสดาเท่านั้นและเป็นความรู้ท่วมหัวเฉกเช่นเดียวกับความรู้ทางโลก """ความรู้นั้นจึงมิได้ช่วยให้จิตใจอยู่ในหนทางสายกลางเลย""  คนเหล่านั้นจึงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว อารมณ์ร้อยแปดพันประการสลัดไม่หลุด เพราะยึดถือแต่รูปลักษณ์ตัวตนแต่ไม่รู้สภาวะ ""จิต""ของตนเอง
     การก่อเกิดสรรพสิ่งขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเป็นไปตามสภาพแห่ง ""ความสมดุลย์"" คือ ความพอดีทั้งสิ้น ปลูกต้นไม้ขึ้นมาต้นหนึ่ง ย่อมต้องมีน้ำ อากาศ ปุ๋ย พอดีต้นไม้จึงเติบโตขึ้นมาได้ หากมีน้ำมากเกินไป หรืออากาศขาดแคลนความชื้น ปุ๋ย คืออาหารไม่เพียงพอ ต้นไม้นั้นย่อมไม่เจริญงอกงามขึ้นมาได้
     ร่างกายมนุษย์ก้เช่นเดียวกัน อาศัย น้ำ อากาศ อาหาร หล่อเลี้ยงร่างกาย หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เพียงพอย่อมไม่เจริญเติบโตแต่ถ้าทุกอย่างพอดีร่างกายนั้นก็เจริญขึ้น  ภายในร่างกายของมนุษย์มีอวัยวะสำคัญ 5 ประการ คือหัวใจ ปอด ตับ ไต และม้าม  อวัยวะทั้ง 5 อย่างนี้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ร่างกายนั้นก็เจริญเติบโต แข็งแรงขึ้นมาได้ แต่ถ้าสูญเสียหรือขาดความสมดุลย์ในอย่างใดอย่างหนึ่งร่างกายนั้นย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน
     สภาวะโลกนี้มีคุณสมบัติ ""อิน หยาง"" คือ บวก ลบ หรือ กลางวัน กลางคืน โลกนี้ยังมีความพอดีจึงสามารถเคลื่อนไปตามเส้นทางของตัวเองได้ แต่ถ้าขาดความพอดีเมื่อไหร่ ภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นต่อโลกนี้เสมือนหนึ่งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแก่คน ร่างกายของมนุษย์ก็มีสภาวะ ""อิน หยาง"" เช่นเดียวกัน ความเจริญเติบโตของร่งกายล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการทำงานของ อิน หยางที่สมดุลย์กันเท่านั้น แม้ภายในจิตใจของคนก็เช่นเดียวกันมีสภาวะแห่ง อิน หยาง อารมณ์เบิกบาน เบาสบาย นั่น หมายถึงสภาวะ""หยาง"" มีกำลังมากกว่า""อิน""
    อารมณ์เสียหงุดหงิดโกรธเกรี้ยวแสดงว่าสภาวะแห่ง ""อิน"" ครอบงำจิต
    อารมณ์วางเฉย ย่อมหมายถึงภาวะแห่ง ""อิน หยาง"" ได้สมดุลย์กัน   อารมณ์วางเฉยเช่นนี้มิใช่ ""อุเบกขา"" เพราะมิได้ทำการงานก่อให้เกิดสรรพสิ่งใด ๆ เลย  และการวางเฉยของสภาวะจิตเช่นนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น ""หนทางสายกลาง"" เช่นกัน เพราะยังไม่อยู่ในสภาวะแห่งธรรมชาติแท้จริง แต่เป็นการกำหนด อันไม่เป็นจริงตามธรรมชาติเพราะเหตุนี้จึงไม่อาจก่อกำเนิดสิ่งใดขึ้นมาได้ เพราะมัวแต่ระมัดระวัง อาการวางเฉยของจิตแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น
    การทำงานทั้งปวงก็เช่นกัน หากมีความพอดี การงานย่อมประสบความสำเร็จ การปฏิบัติทางจิตก็เช่นกันหากอยู่ในสภาวะแห่งความพอดีย่อมพ้นไปจากความเห็นแก่ตัวได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ล้วนเป็นความพอดีที่ธรรมชาติมิได้เรียกร้องตอบแทนใด ๆ เลย และความไม่เห็นแก่ตัวจึงกลายเป็นหนทางให้สรรพสิ่งได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้
     ความเห็นแก่ตัวไม่อาจเป็นหนทางให้เกิดความเจริญ เพราะสภาวะความเห็นแก่ตัวจึงเป็นการทำลาย แม้กระทั่งตัวเอง ความสมดุลย์ทางธรรมชาติคือ ""ความพอดี"" จึงก่อเกิดสรรพสิ่งและนี่คือความหมายอันแท้จริงของคำว่า ""อุเบกขา""ซึ่งสามารถสร้างความเจริญเพราะเป็นหนทางอันแท้จริงของธรรมชาตินั่นแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      พระพุทธองค์ตรัสถึงไตรลักษณ์คือ "" สรรพสิ่งล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง"" อาการเช่นนี้เกิดขึ้นแก่สรรพสิ่งที่ปรากฏรูปลักษณ์ทั้งสิ้น และรูปลักษณ์นั้นมิได้หมายความเพียงแต่สิ่งที่ตาเนื้อมองเห็นเท่านั้นแม้แต่สิ่งที่จิตนิมิตหมายขึ้นมาเป็นภาพแห่งความนึกคิดก็หนีไม่พ้นกฏข้อนี้ไปได้เช่นกัน
   ""เหตุใดสิ่งที่เป็นรูปธรรมจึงเสื่อม""   ปุจฉา
  ""เพราะรูปธรรมทั้งปวงประกอบไปด้วยสภาวะดี-ชั่ว""  วิสัชนา
 ""ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย""
""กลางวันเสื่อม เพราะมีกลางคืนเข้ามาทำหน้าที่ยังไง""
      การอธิบายถึงความเสื่อมของรูปลักษณ์ทั้งปวงตามหลักแห่งสัจธรรมแล้วก็หมายถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วน ""เกิด แก่ เจ็บ ตาย""ด้วยกันทั้งนั้น การเจริญเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในอุทรของมารดามิได้หมายความว่า เขาเจริญเติบโต แต่หมายความว่า เขากำลังแก่ลงไปทุกวัน
     เมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม สาว เหมือนกับว่าเขาเจริญเต็มที่ แท้ที่จริงแล้วเขากำลังก้าวไปสู่ ""ความเสื่อม"" อันแท้จริง อาการของหนุ่ม สาว แก่ ล้วนเป็นเรื่องที่บัญญัต์เรียกคุณลักษณ์เท่านั้น ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร สรรพสิ่งก็คงเดินไปตามหนทางแห่งความเสื่อมสูญด้วยกันทั้งสิ้น เพราะความหลักแห่งสัจธรรม ""ดี - ชั่ว"" ทำหน้าที่ลบล้างซึ่งกันและกันเสมอ ภาวะแห่งการขาดความพอดีย่อมก่อให้เกิดพลังในการทำลายกันและกัน จิตใจของมนุษย์ก็เช่นเดียวกันเมื่อเกิดความคิดขึ้นมาย่อมเป็นไปตามดี ชั่ว อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้จิตแล่นไปตามความเคยชินที่ตนเองปฏิบัติมา
     ""ความคิดดีจึงไม่เคยอยู่ยั่งยืน
     ""ความคิดชั่วก็มิได้ยั่งยืนเช่นกัน
     เมื่อความคิดดีเกิดขึ้นและมีความคิดชั่วตามมา ความคิดดีก็เลือนหายไป เช่นเดียวกับความคิดชั่วเกิดขึ้น ถ้ามีความคิดดี ความชั่วนั้นก็หมดไป แต่ทำไมคนจึงกระทำความชั่ว เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่คิดนั้นดีแลเป็นความพอใจ ซึ่งเป็นกิเลสสั่งสมเอาไว้ เขาจึงยึดถือความชั่ว คนทำดีก้เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องของการสั่งสมมายาวนาน แต่ทั้งหมดก็สูญสิ้นไปตามหลักของการทำลายล้างของสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น
     ผู้ที่ไม่สามารถรักษาควมดีเอาไว้ได้ ก็หมายความว่าเขาปราศจากปณิธานความตั้งใจนั่นเอง เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของปุถุชนถึงเวียนว่ายอยู่ในสามภพภูมิไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเวียนจนหลงหนทางสายกลางอันแท้จริงของตนเองแล้ว เขาจึงถือไปกำเนิดเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ นั่นหมายถึง ""จิต"" เสื่อมจากธรรมชาติเดิมของตนเอง  แต่สภาวะแห่งธรรมญาณเป็นธรรมชาติเดิมแท้ที่ไม่เสื่อมสลายและไม่มีอะไรมาปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงได้เลย
     คุณสมบัติเช่นนี้จึงเป็น ""กลาง""อันแท้จริงที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งได้มากมาย แต่สรรพสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมามิใช่สภาวะเดิมของความเป็น ""กลาง"" เพราะเป็นเพียงผลิตผลเท่านั้น นอกเหนือจาก ""ธรรมญาณ"" ล้วนเป็นเรื่องของเปลือกและกระพี้ที่พร้อมจะเสื่อมสลายไปได้เสมอเพราะรูปลักษณ์ที่มีอยู่ซึ่งตามหลักของธรรมะกล่าวว่า เป็นเพียง ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
                                       ดิน เสื่อมได้
                                       น้ำ ก็เสื่อมสลายได้
                                       ลม แปรเปลี่ยนตลอด
                                       ไฟ เกิด-ดับ ได้
     เมื่อธาตุอันประกอบขึ้นเป็นรูปลักษณ์ยังไม่เที่ยงเช่นนี้แล้ว ส่วนที่ประกอบจากสิ่งเหล่านี้จักยั่งยืนได้ฉันใด แม้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เซลที่เล็กที่สุดของร่างกาย แม้นเป็นนิวเครียส์อันประกอบไปด้วย นิวตรอนและโปรตรอน ต่างก็ทำปฏิกิริยาแปรเปลี่ยนไปได้เช่นกันและสูญไปจากกายมนูษย์ได้อาการเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะขาดดุลยภาพด้วยเหตุปัจจัยที่มนุษย์หลงผิดกระทำขึ้นแก่ตนเอง ในร่างกายถ้าน้ำมากไปย่อมเจ็บป่วย ไฟมากไปย่อมเป็นไข้  โรคภัยไข้เจ็ยล้วนเกิดจากการขาดความสมดุลย์ของธาตุในตัวตนทั้งสิ้น แม้การประกอบการงานทั้งปวงก็ยังคงตกอยู่ในกฏนี้เช่นดียวกัน ถ้าทุกอย่างที่กระทำไปไม่มีความสมดุลย์ สิ่งนั้นไม่อาจยั่งยืนยาวนาน มีแต่เสื่ิมสลายไปด้วยอาการอย่างรวดเร็ว
     การรักษา""ดุลยภาพ""ของจิตใจจึงเป็นเพียงหนทางที่ทำให้อยู่ได้ในโลกนี้อย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ในที่สุดก็เสื่อมสลายเพราะไม่อาจรักษาดุลยภาพนั้นได้ตลอดกาล
     แต่ ""ธรรมญาณ"" อันเป็นสภาวะแห่งทางสายกลางอันแท้จริงและไม่ต้องการสิ่้งใดมาปรุงแต่ง จึงเป็นผู้ที่สามารถให้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและไม่เสื่อมสลายไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะกาลใด ๆ และสภาพอย่างไร เพราะธรรมญาณไม่มี อิน หยาง เป้นองค์ประกอบนั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        การดำเนินวิถีชีวิตของคนในโลกนี้มีอยู่สองแบบ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกระแสของจิตใจที่ปรุงแต่งจักวุ่นวายไม่รู้จบเพราะจิตที่วิ่งพล่านออกไปรับสัมผัสทั้งปวงและหลงไหลในสิ่งที่ตนเองได้รับ บุคคลประเภทนี้เรียกว่า "ปุถุชน"  ผู้หนาแน่นไปด้วยความทุกข์อย่างแท้จริง  ส่วนบุคคลประเภทที่ทวนกระแสของโลก สวนทางกับการหมุนของโลกย่อมมีทั้งความคิดและการปฏิบัติที่ผิดต่อปุถุชนบุคคลประเภทนี้จึงเรียกว่า "" ผู้บำเพ็ญธรรม ""
                            "" เหตุไฉน ปุถุชน จึงวุ่นวายนัก "" ถาม
                           "" เพราะความคิดฟุ้งออกไปเป็นหมื่นวิถีและติคยึดกับมันนั่นแหละ "" ตอบ
       เมื่อจิตของปุถุชนวิ่งออกไปสู่ภายนอกและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมทั้งปวงย่อมได้รับทั้งความดีและความชั่ว ความพอใจและความไม่พอใจ และที่ทำความยากลำบากให้มากมายเพราะสะสมสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในจิตของตนเองจนกลายเป็นตะกอนนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน การสั่งสมสิ่งดีและชั่วเอาไว้มิได้ทำความสุขให้แก่ผู้สะสมมีแต่คอยสร้างความทุกข์ให้เสมอไป เพราะสิ่งดีสิ่งชั่วกลายเป็นมาตรฐานสำหรับตนเองที่จะคอยวัดสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาและตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือ ชั่ว ในแต่ละวันผู้คนประสบสองสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลาจิตคิดดี - ชั่ว  วาจาสรรเสริญเยินยอและนินทาว่าร้าย การกระทำที่ถูกใจและไม่พอใจ
      กาย วาจา ใจ  ของใครก็ตามที่แล่นเข้าสู่จิตใจของคนเรา กลายเป็นสิ่งดีหรือชั่วนั้น ลัวนเป็นเรื่องที่คนเราเอามาเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่ตนเองได้ตั้งขึ้นเอาไว้ทั้งสิ้น
     เวลาที่พ่อแม่ดุด่าหรือบ่นว่า ลูกชายทนฟังไม่ได้ด้วยเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ในคำพูดอย่างเดียวกัน ถ้ามาจากปากคนที่ตนเองรักก็กลายเป็นคำพูดที่หวังดีหรือไพเราะน่าฟัง
     แม่คนหนึ่งเฝ้ามาเยี่ยมลูกซึ่งเป็นนักศึกษาและทำความสะอาดห้องพักซักผ้ารีดผ้าให้ลูกสาวด้วยความรัก บ่นว่าลูกเพียงคำเดียวเท่านั้น ลูกโกรธและไม่ยอมพูดด้วยนานเป็นเดือน
    แต่กับแฟนหนุ่มที่ตนเองหลงรักใช้ถ้อยคำหยาบด่าว่ารุนแรงก็มิได้มีความโกรธตอบ กลับเดินตามงอนง้อตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เพราะในใจของลูกสาวมีแต่มาตรฐานความดีของคนรักเอาไว้ แต่กับแม่กลับเป็นมาตรฐานของความชั่ว
    เมื่อใดที่มาตรฐานของตนเองถูกทำลายลงไป ความทุกข์นั้นก็เข้ามาครอบงำซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยว่า มาตรฐานที่ตั้งไว้ในใจของเรานั้นแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา หาแน่นอนมิได้เลย
    มาตรฐานวัดในใจเปลี่ยนเช่นนี้สิ่งที่มากระทบจากภายนอกก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน เพราะความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งเป็นสัจธรรม จิตใจของผู้คนจึงปั่นป่วนตลอดเวลา ไม่ว่ามาตรฐานวัดของตนเองเปลี่ยนหรือสิ่งที่มากระทบเปลี่ยนเพราะผลแห่งการเปรียบเทียบไม่เป็นไปตามที่ตนเองปรารถนา ความทุกข์จึงเกิดขึ้น  แต่ถ้าตรงกับที่ตนเองตั้งเอาไว้ ความสุขก็เกิด แต่ทั้งความทุกข์และความสุขเช่นนี้จึงไม่คงทนเพราะเปลี่ยนแปลงไปตามกฏแห่งความไม่เที่ยงของจิตใจของตนเอง
    ภายในใจของตนเองมีความเป็นหนึ่ง แต่เมื่อนำสิ่งภายนอกเข้ามาเปรียบเทียบจึงกลายเป็นสอง ภายในยึดถือแต่มาตรฐานความดีเมื่อพบความผิดปกติจากที่เคยวางเอาไว้จึงกลายเป็น ""ความชั่ว""
    ท่อนไม้ท่อนหนึ่ง ไม่อาจบอกได้ว่า สั้นหรือยาว จนกว่าจะนำมาเปรียบเทียบกันจึงรู้ว่าท่อนไหนยาวหรือสั้น แต่บางคนสามารถบอกได้ว่า ยาว หรือ สั้น ก็มีความหมายว่า ภายในใจของเขามีมาตรฐาน ยาว หรือ สั้น เอาไว้เปรียบเทียบ ความทุกข์ และ ความสุขของคนก็เฉกเช่นเดียวกัน
    พระอริยเจ้าจึงกล่าวเอาไว้ว่า "" หมื่นวิถีให้กลับสู่ความเป็น ""หนึ่ง""  ( วั่น ฝ่า กุย อี )
ท่านเมิ่งจื้อ ปราขญ์ที่สองรองจากท่านขงจื๊อ กล่าวเอาไว้ว่า "" การบำเพ็ญธรรม คือการนำเอาจิตใจที่กระเจิดกระเจิงกลับสู่ความเป็น "" หนึ่ง ""  ความหมายก็คือ สิ่งใดมากระทบจงอย่านำไปเปรียบเทียบกับอะไรทั้งสิ้น แต่ให้กลายสภาพเป็น "" หนึ่ง "" เสมอไป ความทุกข์จักไม่เกิดขึ้นเลย แต่เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนให้ทุกอย่างเป็น "" หนึ่ง "" ได้ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
     ความเป็น ""หนึ่ง "" จึงเป็นบันไดแห่งการบำเพ็ญที่ทำให้ตนเองพ้นไปจากความวุ่นวายปั่นป่วนของสัมผัสทั้งปวงเท่านั้นแต่มิใช่ทางสายกลางแต่ประการใด  ทางสายกลางอันแท้จริง ปราศจากความเป็น ""หนึ่ง "" จึงเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์โดยแท้จริง เพราะไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับอะไรเลย รับได้ทุกอย่างและปล่อยวางได้ทุกอย่างไป ความสุขจากทางสายกลาง จึงไม่อาจนำอะไรมาเปรียบเทียบจึงเรียกว่า "" วิมุติสุข ""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                               "" คนใจแคบย่อมเป็นคนเห็นแก่ตัว ""
                              "" ส่วนคนใจกว้างย่อมไม่เห็นแก่ตัว ""
       ถ้วยคำทั้งสองประโยคนี้ ถ้าพิจารณาอย่างธรรมดาก็ล้วนเห็นพฤติกรรมของผู้คนที่แสดงต่อคนด้วยกันชัดเจนนัก แต่เรามักเพ่งเล็งไปว่า คนใจแคบนั้นเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมเผื่อแผ่่สิ่งใดให้แก่ผู้อื่นเลย เป็นคนที่ชอบกอบโกยให้แก่ตนเองสถานเดียว ถ้าพิจารณาเพียงเท่านี้ผู้คนทั่วโลกนี้ล้วนแต่ใจแคบทั้งสิ้นเพราะต่างมีความโลภต้องการทุกอย่างเป็นของตนเอง
     แต่แท้ที่จริงแล้ว "" ใจแคบ "" เป็นอาการของ "" จิตใจ "" ที่มิได้เจริญใน "" อุเบกขา "" ต่างหาก  คนที่ใจคับแคบถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับภาชนะอย่างหนึ่งที่คับแคบบรรจุสิ่งของได้น้อย ไม่ว่าสิ่งที่บรรจุลงไปจะเป็นสิ่งดีหรือเลวก็ตาม การพิจารณาความใจแคบก็เฉกเช่นเดียวกันแต่ที่ประหลาดแตกต่างไปจากภาชนะก็คือ คนใจแคบ รับเอาแต่สื่งที่ตนเองพอใจเท่านั้นและรับได้มากโดยไม่มีขีดจำกัดแต่สิ่งใดที่ตนเองไม่พอใจล้วนรับมิได้เลย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนิดเดียว นอกจากรับมิได้แล้วยังมีปฏิกิริยาโต้ตอบเสียด้วย คนใจแคบจึงติดอยู่ในบ่วงคำสรรเสริญเยินยอ และปฏิเสธกับคำนินทาว่าร้าย คนเหล่านี้จึงชอบที่จะแก้ข้อกล่าวหาและตอบโต้อย่างรุนแรงเสมอเพียงเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นไปจากคำนินทา คนใจแคบจึงก่อเรื่องร้าย ๆได้มากมายและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเสมอ แท้ที่จริงคนใจแคบติดอยู่กับคำนินทาว่าร้ายเพราะไม่ยอมปล่อยวางแต่เก็บเอามากังวลสร้างความทุกข์ ความเคียดแค้นพยาบาทอาฆาตให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง คนใจแคบหน้าตาจึงหม่นหมองและอมทุกข์เสมอ คนใจแคบจึงไม่รู้จักการให้อภัยผู้อื่น คนใจแคบจึงรักแต่ตนเอง คนใจแคบจึงไม่อาจปฏิบัติธรรมใด ๆ ได้ คนใจแคบจึงไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายในสามภพสามภูมิ คนใจแคบจึงเสมือนหนึ่งผู้ตกนรกตลอดกาล
     ส่วนคน "" ใจกว้าง "" มิได้หมายถึงแต่เพียงว่าให้สิ่งของทุกอย่างแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ความหมายที่แท้จริงอยู่ที่ว่าจิตใจที่น้อมรับทุกสิ่งได้โดยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ยอมรับได้ทั้งเสียงด่าและสรรเสริญโดยไม่ติดยึดอยู่กับสองสิ่งนี้ ผู้ที่ปฏิบัติได้เช่นนี้จักได้ชื่อว่าเป็นคนใจกว้าง
    "" ใครจะทำได้เล่า "" ปุจจา
   ""  แน่นอนผู้ที่เข้าถึงความเป็นจริงของสัจธรรม "" วิสัชนา
  "" สัจธรรมเป็นไฉน ""
  "" สัจธรรมปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวงและมีชีวิตจริงที่ไม่เกิดไม่ดับจึงจัดเป็นสัจธรรม ""
    คำอธิบายเช่นนี้ต้องขยายความออกไปอีกหลายประโยค เพราะคนเราเข้าไม่ถึงสัจธรรมจึงติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ตัวตนเอาไว้ไม่ให้ใครมาดูถูกเหยียบย่ำทำลาย ปุถุชนเช่นนี้จึงยึด ""ตัวกู""เป็นสำคัญ เมื่อได้รับคำด่าว่าจึงพยายามป้องกันด้วยการตอบโต้แก้ตัวครั้นได้รับคำสรรเสริญจึงหน้าบานดีใจเพราะเป็นการเสริมอัตตาตัวตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไป
    แต่คนใจกว้างย่อมปราศจาก ""ตัวกู"" จึงรับได้ทั้งเสียงด่าและสรรเสริญโดยไม่ข้องแวะเกี่ยวพันเพราะไม่มี  ตัวกู  ต้องรักษาเอาไว้ กายเนื้อเป็นตัวปลอมที่รอวันแตกดับไม่ยั้งยืนเพราะฉะนั้นใครจะด่าก็ด่าไป ใครจะสรรเสริญก็สรรเสริญไป จิต มิได้กระทบหรือรับเอาไว้เป็นอารมณ์ ประการสำคัญผู้เข้าถึงสัจธรรม ย่อมรับรู้ว่าอันธรรมญาณของคนทั้งหลายย่อมมีแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกันและเสมอเหมือนกัน การยอมรับนับถือว่า คนทั้งปวงเสมอเราย่อมทำให้จิตใจเห็นคนเหล่านั้นล้วนเป็นพี่น้องมาจากแหล่งเดียวกันควรช่วยเหลือและเมตตาต่อกัน อาการแบ่งเขาแบ่งเราย่อมไม่เกิด การเปรียบเทียบย่อมไม่มี ความดีและชั่วย่อมเป็นสิ่งเท่าเทียมกันและน่าสงสารเห็นใจเหมือนกัน
คนใจกว้างจึงหน้าตาเบิกบานสดชื่น              คนใจกว้างจึงอภัยให้คนทั้งปวงได้โดยง่ายเพราะมองไม่เห็นเป็นภัย
คนใจกว้างจึงรักทุกคนได้                         คนใจกว้างจึงเดินสู่หนทางแห่งการปฏิบัติทางสายกลางได้
คนใจกว้างจึงมีโอกาสพ้นไปจากการเวียนว่าย  คนใจกว้างจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่บนสวรรค์ตลอดกาล
       เพราะเหตุนี้คนใจกว้างจึงเจริญในอุเบกขาญาณได้เสมอ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        "" ในโลกนี้หาความเที่ยงธรรมได้หรือไม่ ""
       ถ้าคำตอบนี้ปุถุชนได้ยิน คำตอบที่ได้ก็คือ "" ไม่มี "" แต่ในคำถามเดียวกันหากไปถามผู้ปฏิบัติบำเพ็ญสัจธรรมย่อมได้รับคำตอบว่า ""ความเที่ยงธรรมมีอยู่แล้วในโลกนี้"" เหตุไฉนผู้ไม่บำเพ็ญจึงเชื่อว่า ไม่มีความเที่ยงธรรมอยู่ในโลกนี้เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยปฏิบัติ ""จิต"" ของตนให้อยู่ในสัจธรรมอันเป็นทางสายกลาง แต่มันหวั่นไหวไปตามแรงอายตนะหกที่ส่งอารมณ์เข้ามายั่วยุให้จิตใจหวั่นไหวคล้อยตาม และกระแสนั้นมักเป็นไปเพราะประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ความเห็นแก่ตัวที่ตัดไม่ขาดนั่นเอง จึงทำให้พฤติกรรมทุกอย่างของปุถุชนได้สร้างความไม่เที่ยงธรรมแม้ปากนั้นกล่าวอ้างความเที่ยงธรมก็ตามที เหตุสำคัญจึงอยู่ที่จิตของเขาไม่เที่ยงธรรมต่อทางสายกลาง อันเป็นสัจธรรมจากฟ้าเบื้องบน สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวของมนุษย์ที่ขาดความเที่ยงธรรมต่อสัจธรรมที่เสื่อมโทรมและกลายเป็นพิษทำร้ายมนุษย์เหล่านั้นไปในที่สุด
       มนุษย์เห็นแก่ตัวทิ้งสิ่งสกปรกลงไปในแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะสารพิษจากโรงงาน  และ อากาศเป็นพิษอันเกิดจากรถยนต์สิ่งเหล่านี้กลับมาทำลายมนุษย์ ความเสื่อมจึงเกิดขึ้นในโลกนี้จนยากแก่การที่จะปฏิรูปหรือแก้ไข  พระศาสดาขงจื๊อ จึงกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ "" ทางสายกลาง "" ว่า  จื้อ จง เหอ   เทียนตี้ เว่ย เยียน   วั่น อู้ อวี้ เยียน  แปลความว่า ""ผู้บำเพ็ญตั้งตนอยู่ในทางสายกลางและิอุุเบกขาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของฟ้าดินและจักเกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไป "" ความหมายอันชัดเจนนั้นย่อมหมายถึง สภาวะจิตของผู้คนทั้งหลายตรงต่อสัจธรรม แล้วย่อมไม่ทำลายสรรพสิ่ง เพราะจักมองเห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งปวงและปล่อยให้เดินไปบนหนทางแห่งธรรมชาติ
       สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราล้วนมีวงจรของชีวิตของตนเองอยู่แล้วแต่ที่สูญเสียทุกอย่างเพราะมนุษย์ทำลายวงจรชีวิตของสรรพสิ่งผลร้ายจึงติดตามมา ชาวนาจับงูมาเป็นอาหาร หนูจึงไม่มีผู้กำจัด จึงกัดกินข้าวของชาวนาเสียหายและในที่สุดแมลงต่าง ๆ ก็ทำลายพืชผล ชาวนาต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืช ยากำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ล้วนมีพิษต่อร่างกายมนุษย์เพราะฉะนั้นจึงถูกทำลายเจ็บป่วยล้มตายลงไปอย่างประมาณมิได้  กฏเกณฑ์ของฟ้าดิน มีความเที่ยงธรรมและสรรพสิ่งเดินไปบนความเที่ยงธรรมย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองปราศจากทุกข์  แต่เพราะมนุษย์มีสติปัญญาอันไม่ถูกต้องตรงตามความเที่ยงธรรมของฟ้าดินจึงไปทำลายวงจรเหล่านั้น ภัยพิบัติจึงเกิดแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น กล่าวได้อีกแง่มุมหนึ่งมนุษย์ทำลายตนเองโดยแท้ เพราะขาดความเที่ยงธรรมนั่นเอง
      กฏของฟ้าดินหรือธรรมชาติคงความเที่ยงธรรมปราศจากความลำเอียงเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งที่อยู่ใต้กฏเกณฑ์นี้ย่อมมีแต่ความสุขและเจริญงอกงาม ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์อันเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ล้วนเป็นเรื่องทำลายความเที่ยงธรรมของธรรมชาติ มนุษย์สามารถคิดปั่นไฟฟ้าจนสร้างแสงสว่างขึ้นมากมายและหลอดไฟฟ้าที่สว่างไสวนั้นได้ทำลายมนุษย์อย่างไม่รู้ตัว เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องสูญเสียความสามารถในการมองเห็นด้วยนัยน์ตาของตนเอง แว่นตาจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์สำคัญของการมองเห็น แสงสว่างจากไฟฟ้า ได้ทำลายดวงตาของมนุษย์ให้ด้อยศักยภาพในการมองเห็น
      เดี๋ยวนี้เด็กนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์มากกว่าหน้าหนังสือ เพราะฉะนั้น เด็กจึงทำลายดวงตาของตนเองจนต้องสวมแว่นตาตั้งแต่วัยเด็ก สมัยก่อนยังไม่มีความเจริญทางด้านคอมพิวเตอร์ การคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร ล้วนใช้ความสามารถของตนเอง แต่บัดนี้เครื่องคิดเลขเพียงใช้นิ้วเดียวกดปุ่มก็สามารถได้คำตอบทันที ไม่ว่าจะเป็น บวก ลบ คูณ หาร เด็กสมัยนี้จึงคิดเลขไม่เป็น
      เมื่อมนุษย์สร้างวิทยาการต่าง ๆ ขึ้นมามากมายล้วนเป็นการขัดแย้งต่อธรรมชาติของฟ้าดิน ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นเครื่องทำลายมนุษย์ไปโดยไม่รุ็ตัว เมื่อมนุษย์ถอยห่างจากสัจธรรมของฟ้าดิน มนุษย์จึงตกต่ำลงไปสู่หนทางแห่งความมืดมิดและสู่อบายภูมิชัดเจนยิ่งขึ้นโดยมิรู้ตัว  อวิชชา ความไม่รู้จึงครอบงำมนุษย์มากจนไม่รู้ว่า ภัยพิบัติที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นไว้นั้นกำลังคืบคลานเข้ามาทำลายตัวเอง มนุษย์หลงผิดคิดว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นความรู้แจ้ง แต่แท้จริงแล้วเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนกิเลสให้มนุษย์หลงใหลจนพ้นไปจากหนทางของ ""ทางสายกลาง"" อันแท้จริง
     เพราะฉะนั้นนอกจากมนุษย์ไม่สามารถทำให้สรรพสิ่งเจริญงอกงามตามกฏของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการทำลายล้างตนเองให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ด้วย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
 
       พทุธศาสนิกชนที่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แล้วมีความเห็นขัดแย้งกันมีอยู่ตั้งแต่บรรพกาลมาจนถึงปัจจุบันกาลปัญหาถาวรที่แบ่งความเชื่อ ออกเป็นสองอย่างและเถียงกันไม่จบคือ ฝ่านเถรวาทหรือหินยาน มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าปรินิพพานแล้วไม่เหลืออะไรอีกเลยเหมือนกับสูญไปจากจักรวาลนี้   ฝ่ายอาจาริยวาทหรือมหายาน มีความเชื่อว่าพระพุทธองค์มิได้ดับสูญไปเพียงแต่เป็นธรรมกายมีที่สถิตอยู่ในแดนพุทธภูมิหรือแดนนิพพาน
      ความเชื่อสองอย่างนี้ได้ทำให้เกิดความแตกต่างกันในพิธีการปฏิบัติเพื่อไปสู่ความสำเร็จในการบำเพ็ญธรรม ฝ่ายเถรวาทหินยาน เชื่อว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วจึงช่วยเหลือผู้อื่น
     ฝ่ายอาจาริวาทมหายาน เชื่อว่า ช่วยผู้อื่นให้บรรลุสู่พุทธภูมิก่อนที่ตนเองจักบรรลุ  ความเชื่อที่แตกต่างกันนี้มิได้กระทบกระเทือนต่อสัจธรรม เพราะไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร สัจธรรมยังคงเป็นอยู่อย่างนั้นเองหาเปลี่ยนแปลงไม่ เพียงแต่ความคิดแลความเชื่อของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเพราะความเสื่อมจึงเกิดขึ้นต่อมนุษย์เพราะมิได้ปฏิบัติให้อยู่ในแนวหรือกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน สัจธรรมนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ฝ่ายเถรวาท เอาความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มาเป็นข้ออ้างว่า เป็นลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกันกับศาสนาพุทธ เพราะพราหมณ์เชื่อมั่น พรหมมัน อันหมายถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไม่ได้เชื่ออย่างนั้น เพราะเหตุนี้ในพุทธศาสนาจึงไม่มี พรหมมัน หรือ ปรมาตมัน  แต่เหมาเอาว่า ความเชื่อของพราหมณ์ เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็นผิดไปโน่นเลย อาการยึดเอาความเชื่อของตนเองเป็นใหญ่ โดยคิดว่า ความเชื่อของผู้อื่นผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากสัจธรรมของฟ้าดินโดยแท้จริง  หลักของศาสนาพราหมณ์ มีพระพรหม  เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
          หลักของพระพุทธศาสนา มีธรรมชาติ    เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
แต่พิธีการปฏิบัติหรือการบำเพ็ญ แม้แต่ในศาสนาพราหมณ์ ก็ไม่ผิดเพี้ยนเฉกเช่นเดียวกับพุทธศาสนาก็ปฏิบัตผิดอยู่มากมาย พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อหลักของกรรม คือการกระทำของตนเองเป็นสำคัญ แต่ศาสนาพราหมณ์กลับเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ความเชื่อในครั้งนั้นของศาสนาพราหมณ์จึงมิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่หลักสัจธรรมของพราหมณ์ยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่การปฏิบัติที่ล่วงเลยมานานย่อมผิดแผกไปจากกฏเกณฑ์ของฟ้าดินและมิใช่หนทางอันแท้จริงของการพ้นไปจากทุกข์
      พระพุทธองค์จึงทรงค้นหาด้วยพระองค์เองและทรงทราบว่า หนทางสายกลางนั้นเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง แล้วใช้ศักยภาพของตนเองบำเพ็นเพื่อไปสู่หนทางนั้น มิใช่อิทธิฤทธิ์ภายนอกแต่ประการใด เมื่อคำสอนของพระพุทธองค์ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันสมัย ย่อมแปรเปลี่ยนไปเพราะความเชื่อและความคิดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นการปฏิบัติที่มิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่สัจธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงค้นพบยังคงดำรงอยู่มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
    ตัวอย่างชัดเจนในการตีความหมายแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า "" สรรพสิ่งอันเป็นสังขารทั้งหลายย่อมไม่เที่ยง ความทุกข์ทั้งปวงก็ไม่เที่ยงแท้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ไร้รูปลักษณ์ทั้งปวง """
    ผู้ศึกษาธรรมตีความว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยงจึงรวมไปถึง ธรรมญาณของตนเองก็ไม่เที่ยงด้วยแลคิดว่า ธรรมะ ไม่เที่ยง เพียงแต่ตรัสว่า ธรรมะปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ เท่านั้น มิได้ว่าความหมายไม่เที่ยง ถ้าเชื่อว่าแม้ธรรมยาณก็ไม่เที่ยงแล้ว คำสอนต่อจากนี้ไปจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปมิได้ เช่น การเวียนว่าย ตาย เกิด  และถ้าธรรมญาณ เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็ย ตาย ได้แล้วไซร์ ย่อมไม่มีความจำเป็นในการค้นหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์เลย เพราะในที่สุดก็ดับสูญไป
    แต่เพราะ ""ธรรมญาณ"" อันเป็นตัวจริงของเรา ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่มีใครทำลายได้ ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้จึงสามารถไปเกิดตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสั่งสมเอาไว้ แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า ""ใครเชื่อว่า ตายแล้วเกิด  ก็ผิด  ใครเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดก็ผิด "" การอธิบายนี้ก็ได้แต่อาศัยว่า มีเหตุปัจจัยเกิดจึงเกิด มีเหตุปัจจัยไม่เกิดก็ไม่เกิด แต่อะไรเล่า เกิดและไม่เกิด คำอธิบายนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าธรรมญาณไม่เกิดไม่ดับ จึงมีเหตุผลในการอธิบายคำตรัสของพระพุทธองค์
    เพราะฉะนั้น การดับสูญของพระพุทธองค์จึงหมายถึง ดับจากเหตุปัจจัยทั้งปวงในโลกนี้ แต่ ""ธรรมญาณ""ตัวจริงของพระพุทธองค์ทรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อันเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้เหนือจากโลกนี้ต่างหาก 

Tags: