collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ : เริ่มเรื่อง  (อ่าน 67684 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        วั่นจังเรียนถามว่า  "องค์ประมุขจะอุปถัมภ์ค้ำชูกัลยาณชน พึงทำเช่นไร"  ครูปราชญ์ว่า "ครั้งแรกใช้พระบัญชา ให้นำของกำนัลไปให้ ผู้รับจะต้องโค้งคารวะสองครั้ง กราบรับไว้อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่กองยุ้งฉางก็จัดส่งข้าว เจ้าหน้าที่โรงครัวก็จัดส่งอาหารต่อเนื่องอย่างไม่เป็นทางการ"  แต่ปราชญ์จื่อซือรู้ว่าทุกครั้งที่ส่งอาหารมาให้นั้น เป็นพระบัญชาทุกครั้ง ทำให้ต้องโค้งคารวะก้มกราบรับไว้ ยุ่งยากลำบากใจนัก  อีกทั้งมิใช่ท่าทีขององค์ประมุขอันพึงแสดงต่อกัลยาณชน เพื่อการอุปถัมภ์ค้ำชู  ก่อนกาล  อริยกษัตริย์เหยาแสดงต่อซู่นนั้นคือ ส่งราชบุตรทั้งเก้าของพระองค์ไปดูแลรับใช้ซุ่น ตกแต่งพระธิดาทั้งสองให้ซุ่น อีกทั้งจัดเตรียมขุนนางนับร้อยไว้ให้ซุ่นเรียกใช้ จัดวัว  แพะเต็มคอก เลี้ยงสัตว์  จัดข้าวเปลือกเต็มยุ้งฉางไปมอบแก่ซุ่นถึงกลางนา ภายหลัง ยังได้เชิดชูมอบหมายให้งาน ให้ตำแหน่งมุขมนตรี เช่นนี้ จึงจะเรียกว่า จริยะที่องค์ประมุขเชิดชูเมธี

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามอีกว่า  "ผู้คนไม่กล้าเข้าพบเจ้าเมืองด้วยตนเอง เพราะเหตุไร" ครูปราชญ์ตอบว่า "ผู้คนในเมืองหลวง เรียกว่าพสกนิกรชาวเมืองผู้คนชนบทเรียกว่่าพสกนิกรชาวบ้านป่า  ทั้งสองประเภทนี้ ล้วนเป็นสามัญชน  สามัญชนที่ยังไม่เคยเรียนรู้จริยพิธีในการแนะนำตนเองต่อผู้ใหญ่ ก็จะไม่กล้าเข้าพบเจ้าเมือง นี่เป็นจริยะโบราณ"  ศิษย์วั่นจังว่า "เจ้าเมืองเรียกใช้แรงงานชาวบ้าน ชาวบ้านพากันไป แต่เรียกให้เข้าหากลับไม่ไป เพราะเหตุใด"  ครูปราชญ์ว่า "เรียกใช้แรงงาน ชาวบ้านเห็นเป็นหน้าที่ แต่เรียกให้เข้าหา เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ อีกทั้งไม่มีเหตุอันควร"  ศิษย์วั่นจังว่า "คนที่ไม่ยอมเข้าหาเป็นเพราะว่า เขามีความรู้กว้างขวางอีกทั้งเป็นเมธี"  ครูปราชญ์ว่า "ในเมื่อเป็นเพราะมีความรู้กว้างขวาง ถ้าเช่นนั้น  แต่โบราณมา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังไม่กล้าเรียกครูบาอาจารย์ให้เข้าหา จึงนับประสาอะไรกับเจ้าเมือง จะเรียกให้เข้าหาได้ และถ้าหากเป็นเมธี ครูก็ไม่เคยได้ยินว่า เจ้านายจะเรียกให้เมธีเข้าหาได้"

        แต่ก่อน พระเจ้าหลู่โหมวกง  ไปขอพบท่านปราชญ์จื่อซือเสมอ เพื่อปรึกษาความว่า "องค์ประมุขบ้านเมืองที่มีรถม้าศึกถึงหนึ่งพันคัน คบหาเป็นเพื่อนกับสามัญชน ปราชญ์จื่อซือท่านเห็นเป็นการสมควรหรือไม่"  ท่านปราชญ์ไม่พอใจคำถามนี้ตอบว่า "โบราณแบ่งแยกการปฏิการะ หาได้แบ่งแยกมิตรภาพไม่"  ครูเองเข้าใจว่า ที่ท่านปราชญ์จือซือไม่พอใจนั้น น่าจะหมายถึงว่า "ถ้าพูดกันถึงสถานภาพ ท่านเป็นองค์ประมุข เราเป็นข้าแผ่นดิน มีหรือจะบังอาจเป็นเพื่อน  แต่หากพูดกันถึงคุณธรรม ท่านประมุขจะต้องปฏิการะเรา จะเป็นเพื่อนกับเราได้หรือ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                          ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        แม้มีรถศึกถึงหนึ่งพันคัน หวังเป็นเพื่อนด้วยยังมิได้ ยังจะเรียกให้เข้าหาได้หรือ แต่ก่อน พระเจ้าฉีจิ่งกงจะประพาสล่าสัตว์ ส่งธงประดับขนนกห้าสีไปเรียกหาตัวผู้คุมป่าวนอุทยาน ผู้คุมไม่มา เพราะการเรียกหาผิดจริยะ ฉีจิ่งกงจะประหารเขา ท่านบรมครูได้ทราบเรื่องนี้ ชื่่นชมว่า คนที่รักษาระเบียบเที่ยงตรงจะไม่ลืมว่า แม้ต้องสิ้นไร้ตายอยู่ในหลุมคู ก็จะไม่เอนเอียง ผู้หาญกล้ารักษาบ้านเมืองจะไม่ลืมว่า แม้เสียหัวไม่กลัวตาย  ท่านบรมครูชื่นชมเขาในจุดใดหรือ ก็คือจุดที่ไม่ถูกต้องต่อจริยระเบียบ เรียกหาก็จะไม่รับ 

        ศิษย์วั่นจังว่า  "บังอาจเรียนถาม ถ้าเช่นนั้น เรียกหาผู้คุมป่าวนอุทยาน ควรใช้อะไร"   

        ครูปราชญ์ว่า

          "ใช้หมวกหนังสัตว์เป็นสัญลักษณ์เรียกหา  จริยระเบียบเรียกหาชาวบ้าน ใช้ธงแดงไม่มีลวดลาย  เรียกหาข้าราชฯใช้ธงลวดลายมังกรสองตัว  เรียกหาขุนนาง จึงใช้ธงประดับขนนกห้าสี  ใช้จริยระเบียบขุนนาง ไปเรียกหาผู้คุมป่าวนอุทยาน ถึงตายเขาก็ไม่กล้ามา   ใช้จริยระเบียบเรียกหาข้าราชฯ  ไปเรียกหาชาวบ้าน เขาจะกล้ามาหรือ ยิ่งกว่านั้น ยังจะเรียกหาเมธีอย่างผิดจริยา  เขาจะยอมมาได้อย่างไร"
     
          ใคร่พบเมธี  แต่ไม่ทำตามหลักให้ถูกต้อง จะเหมือนปิดประตูไว้ เรียกให้เขาเข้ามา  หลักธรรมความถูกต้อง เหมือนหนทางใหญ่ จริยะเหมือนประตูทางตรง กัลยาณชนย่อมจะเดินทางใหญ่ เข้าประตูทางตรง  ในคัมภีร์ซือจิง มีข้อความบัญญัติการปกครองของราชวงศ์โจวว่า "ความยุติธรรมเหมือนหน้าหินลับมีด (สึกไปเห็นได้ชัด)  ความเที่ยงตรงเหมือนธนูยิงผ่าน (แน่วแน่)  เป็นสิ่งที่กัลยาณชนพึงปฏิบัติจริง ชาวบ้านควรเห็นเป็นแบบอย่าง"

        ศิษย์วั่นจังว่า  "ครั้งกระนั้น ท่านบรมครูได้รับบัญชาจากองค์ประมุขเรียกหา  บรมครูไม่รอ ให้เตรียมรถม้าพร้อมสรรพ ก็รีบขับไป เช่นนี้ บรมครูท่านก็ผิดเสียแล้ว หรือมิใช่"  ครูปราชญ์ว่า "ครั้งกระนั้น ท่านบรมครูเป็นขุนนางประจำ มีภาระกิจของขุนนางอยู่กับตัว องค์ประมุขทรงเรียกหาด้วยกิจของขุนนางประจำ"   ครูปราชญ์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจังว่า  "ผู้เจริญคุณความดีที่สุดในตำบล ก็จะคบหากับคนดีทั้งหมดของตำบลได้  ผู้เจิญความดีที่สุดของบ้านเมือง ก็จะคบหากับคนดีทั้งหมดทั่วหล้าได้  คบหากับคนดีทั้งหมดทั่วหล้ายังไม่พอ ยังอาจพิจารณาค้นหาคนดีในยุคก่อน แซ่ซ้องกลอนเพลงสรรเสริญท่าน อ่านบทประพันธ์ของท่าน แต่ยังไม่รู้ชัดว่าท่านเป็นคนเช่นไร จึงพิจารณาค้นหาเรื่องราวของท่านว่า ถูกต้องตามที่กล่าวไว้หรือไม่ ดังนี้ จึงเหมือนคบหาเป็นเพื่อนกับคนยุคก่อนด้วย

        พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ถามปราชญ์เมิ่งจื่อเรื่องหน้าที่ของขุนนางมนตรี  ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า  "ที่ประมุขท่านถามนั้น คือขุนนางมนตรีจำพวกไหน" เซีวยนอ๋วงว่า  "ขุนนางมนตรีก็มีจำพวกต่างกันด้วยหรือ"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีต่างกัน  มีขุนนางมนตรีสูงศักดิ์สกุลเดียวกัน  มีต่างสกุลกัน"  ขอทราบ "สูงศักดิ์สกุลเดียวกัน"  ตอบว่า "องค์ประมุขมีความผิดพลาดใหญ่หลวง จะต้องทัดทานเต็มกำลัง หากทัดทานครั้งแล้วครั้งเล่ายังไม่ยอมรับฟัง ก็ควรปรับเปลี่ยนประมุข สถาปนาเมธีในราชนิกูลขึ้นแทนที่"  พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ได้ยินดังนี้ สีพระพักตร์เปลี่ยนไปทันที  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อ๋องท่านอย่าได้ถือโกรธเมื่อถามมา ข้าพเจ้ามิกล้าไม่ถวายความตามจริง"  เซวียนอ๋วง ค่อยคลายความขึ้งเครียดลง จากนั้น จึงขอทราบหน้าที่ขันนางมนตรีต่างสกุลต่อไป ปราชญ์
เมื่งจื่อตอบว่า  "เมื่อองค์ประมุขมีความผืดพลาดจะต้องทัดทาน ทัดทานย้ำสามยังไม่รับฟัง ขุนนางมนตรีผู้นั้นจะต้องพาตัวจากไป"

                                   ~ จบบท วั่นจัง ตอนท้าย ~

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        เก้าจื่อ  แซ่เก้า  นามปู๋ไฮ่  เป็นคนสมัยขุนศึกจั้นกั๋ว เคยศึกษาปรัชญากับปราชญ์เมิ่งจื่อ ภายหลังแยกความคิดจากปราชญ์ เป็นทฤษฏีว่าด้วย "จิตอันไม่คงที่"   เก้าจื่อว่า "จิตวิสัยของคนเหมือนกิ่งหลิวที่อ่อนไหว หลักมโนธรรมที่คนพึงรักษา จึงเหมือนใช้ไม้อ่อนมาดัดให้เป็นรูปเป็นภาชนะ  หลักของกรุณามโนธรรมที่คนสำแดงการ จึงเหมือนเอากิ่งหลิวมาดัดเป็นเครื่องใช้

        ครูปราชญ์เมิ่งจื่อย้อนถามศิษย์เก้าจื่อว่า

        "ถ้าเช่นนั้น ท่านจะคล้อยตามจิตวิสัยอันโอนอ่อนดุจกิ่งหลิว เพื่อทำเป็นภาชนะได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องดัด  ถากกิ่งหลิวนั้นเสียก่อน จึงจะใช้ทำภาชนะได้ หากจะต้องตัด ถากกิ่งหลิวเสียก่อน ก็จะต้องตัดถากจิตวิสัยเสียก่อน จึงจะสำแดงกรุณามโนธรรมได้ นำพาชาวโลกให้ทำร้ายกรุณามโนธรรม ก็คือทฤษฏีขัดกันเองของท่านนี้แหละ (จิตวิสัยเดิมที มิใช่เป็นเช่นกิ่งหลิว) 

        เก้าจื่อ กล่าวอีกว่า  "จิตวิสัยของคนเหมือนวังวนน้ำเชี่ยว พอฝั่งน้ำตะวันออกเกิดแหว่งเว้า น้ำก็ไหลเข้ามหา ฝั่งน้ำตะวันตกเกิดแหว่งเว้า น้ำก็ไหลเข้าหา"  ครูปราชญ์ชี้นำศิษย์เก้าจื่อว่า "แท้จริงวิสัยของน้ำ ไม่แยกความเป็นตะวันออกตะวันตก แต่มิได้แยกขึ้นลงด้วยหรือ  จิตวิสัยของคนดีงามแต่เดิมที เหมือนวิสัยของน้ำจะต้องไหลลง  จิตวิสัยของคนแต่เดิมที ไม่มีใครไม่ดีงาม วิสัยของน้ำ ไม่มีที่จะไม่ไหลลง (เหยินอู๋โหย่วปู๋ซั่น  สุ่ยอู๋โหย่วปู๋เซี่ย)

        เอาละ  เราจะมาพูดถึงน้ำ ถ้าเรากระแทกกระทั้น น้ำจะกระเพื่อมกระเซ็น เราทำให้น้ำกระเซ็นข้ามหัวได้ ยิ่งใช้แรงกดดันมาก น้ำอาจไหลย้อนขึ้นจนถึงเขาสูง เช่นนี้ เป็นวิสัยของน้ำเองหรือ  นี่คือ  ถูกอำนาจจากภาวะแวดล้อมทำให้เป็นไป  "คน" ทำความชั่วร้าย ก็เป็นเพราะถูกอำนาจจากภาวะแวดล้อม กดดันให้เป็นไป

        เก้าจื่อว่า "ทุกชีวิตที่รู้สึกได้ เคลื่อนตัวได้ เรียกว่า มีจิตวิสัย"  ครูปราชญ์ว่า "ทุกชีวิตที่รู้สึกได้ เคลื่อนตัวได้ เรียกว่ามีจิตวิสัย เช่น เรียกสิ่งที่มีสีขาวว่าสีขาวกระนั้นหรือ"  ศิษย์เก้าจื่อว่า "ใช่"  ครูปราชญ์ว่า "ขนสัตว์สีขาว ขาวเหมือนหิมะสีขาว หรือเหมือนหยกขาว กระนั้นหรือ"  ศิษย์เก้าจื่อว่า "ใช่"  ครูปราชญ์ว่า "ตามที่ท่านว่ามา ถ้าเช่นนั้น จิตวิสัยของสุนัข ก็เป็นอย่างเดียวกับวัวควายด้วยน่ะสิ จิตวิสัยของวัวควายก็เป็นอย่างเดียวกับคนด้วย อย่างนั้นหรือ"  เก้าจื่อว่า "คนชอบการกิน ชอบกามราคะเป็นอารมณ์ในจิตวิสัย ความรักความกรุณาเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดจากภายใน มิได้เกิดจากภายนอก ส่วนหลักธรรมที่จำแนกเรื่องราวนั้น เกิดจากภายนอก มิใช่ภายใน"  ครูปราชญ์ว่า "ท่านเอาหลักอะไรมาสรุปว่า ความรัก ความกรุณาเกิดจากอารมณ์ภายใน ส่วนหลักธรรมนั้นเกิดจากภายนอก"  เก้าจื่อว่า "อย่างเช่น เราเห็นผู้สูงวัย จึงได้เคารพในความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เกิดจากภายในใจที่เคารพอยู่ก่อน เหมือนกับที่เห็นของสิ่งหนึ่งเป็นสีขาว เราจึงบอกได้ว่าเป็นสีขาว เพราะความเป็นสีขาวเห็นได้จากภายนอก จึงกล่าวว่า หลักธรรมเกิดขึ้นจากภายนอก"

        ครูปราชญ์ว่า

        "หากจำแนกสีจากม้าขาวกับคนขาวไม่มีความแตกต่าง แต่ไม่รู้ว่า ความเคารพที่มีต่อม้าขาวสูงอายุกับคนขาวสูงอายุ ความเคารพนั้นจะแตกต่างกันหรือไม่"  อีกทั้งจะถามว่า "ผู้สูงวัยพึงได้รับความเคารพโดยหลักธรรมอยู่แล้ว หรือว่าคนที่เคารพผู้สูงวัยมีหลักธรรมเคารพผู้สูงวัยอยู่ก่อนแล้ว

        เก้าจื่อว่า "สมมุติเช่น เรารักน้องชายในสายเลือด แต่น้องชายคนเมืองฉินเราไม่รัก ทำให้เห็นได้ว่า ความรักนี้เกิดจากภายใน จึงกล่าวว่า อารมณ์ความรักความกรุณาเกิดมาจากภายใน  สมมุติอีกว่า จะเคารพญาติผู้ใหญ่ของคนเมืองฉิน หรือเคารพญาติผู้ใหญ่ของตนเองมากกว่า นี่เป็นเพราะเขาสูงวัย ทำให้เกิดอารมณ์เคารพ ยินดี  ฉะนั้น จึงกล่าวว่า หลักธรรมก่อนำจากภายนอก"

        ครูปราชญ์ว่า

        "สมมุติเช่น ชอบกินเนื้อย่างจากเครื่องปรุงคนเมืองฉิน  กลับชอบกินเนื้อย่างจากเครื่องปรุงเราเองไม่ต่างกัน ถ้าอย่างนั้น ความชอบกิน กับความเคารพผู้ใหญ่ ก็เป็นเหตุผลเดียวกัน  ตามที่ท่านว่ามา ความชอบกินเกิดจากภายนอก ไม่ใช่เกิดจากใจภายในดอกหรือ หากเกิดจากภายนอก ที่ท่านว่า ความอยากกิน อยากเสพกาม เป็นอารมณ์ของจิตวิสัย ถ้าเช่นนั้น ทฤษฏีนี้ก็ขัดกันเองเสียแล้ว 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        เมิ่งจี้จื่อ  น้องชายคนที่สี่ในสกุลเมิ่ง ถามกงตูจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์ว่า "หลักธรรมเดียวกับสรรพสิ่ง เกิดขึ้นจากจิตภายในหรือ" 
กงตูจื่อว่า "การแสดงความเคารพนั้น เกิดขึ้นจากจิตภายในของข้าพเจ้า ฉะนั้น จึงกล่าวว่า เกิดจากจิตภายใน"
จี้จื่อว่า     "สมมุติว่า มีคนบ้านอกคนหนึ่ง อายุมากกว่าพี่ชายใหญ่ของท่านหนึ่งปี ท่านจะยกย่องคนไหน"
กงตูจื่อว่า  "ยกย่องพี่ชายใหญ่"
จี้จื่อว่า    "ถ้าหากร่วมดื่มกัน ท่านจะรินเหล้าเชื้อเชิญคนไหนก่อน"
กงตูจื่อว่า  "ควรรินแก่คนบ้านนอกนั้นก่อน"
จี้จื่อว่า     "ในใจยกย่องพี่ชายใหญ่ของตน แต่คนบ้านนอกนั้นอาวุโสกว่า ดังนั้น หลักธรรมเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่าง จึงเกิดจากเหตุภายนอก มิใช่เกิดจากจิตภายใน

        ศิษย์กงตูจื่อ จนปัญญาจะโต้แย้ง จึงไปเรียนถามครูปราชญ์  ครูปราชญ์ว่า "ท่านกลับไปถามเขาซิว่า ปกติเขาเคารพน้องชายของพ่อหรือน้องชายของเขาเอง ซึ่งเขาจะตอบว่า "เคารพน้องชายของพ่อ" ท่านก็จงถามเขาอีกว่า "สมมุติว่าน้องชายตาย เวลาเซ่นไหว้จะเชื้อเชิญใครดื่มกินก่อน" เขาก็จะตอบว่า "เชื้อเชิญน้องชายก่อน" จงถามต่อไปว่า "ไฉนก่อนหน้านี้จึงกล่าวว่าเคารพน้องชายของพ่อก่อน" เขาก็จะตอบว่า "เพราะน้องชายอยู่ในฐานะรับการเซ่นไหว้" จงถามต่อไปว่า "รินเหล้าเชื้อเชิญคนบ้านนอกนั้นก่อน ก็เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งผู้รับเชิญ  ปกติเคารพพี่ชายใหญ่ โดยมารยาทเฉพาะหน้า จึงเคารพคนบ้านนอก"
        จี้จื่อไม่ลดละ กล่าวแก่กงตูจื่ออีกว่า "ควรเคารพน้องของพ่อก่อนก็เคารพ ควรเคารพน้องของตนก่อนก็เคารพ หลักการของเรื่องเหล่านี้ เกิดจากเหตุภายนอกโดยแท้ มิใช่เกิดจากจิตภายใน"
        กงตูจื่อว่า "สมมุติว่าหน้าหนาว ทุกคนชอบดื่มน้ำแกงร้อน ๆ  ส่วนหน้าร้อนชอบดื่นน้ำเย็น ๆ  ความรู้สึกต่อการดื่มกินเช่นนี้ ก็เกิดจากเหตุภายนอกด้วยหรือ (มโนธรรม คือความสำนึกรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตภายใน มิใช่เกิดจากเหตุภายนอกอย่างที่จี้จื่อว่า)

        ศิษย์กงตูจื่อเรียนถามครูปราชญ์  "เเก้าจื่อเคยกล่าวว่า "จิตวิสัยของคนไม่มีดี ไม่มีชั่ว" มีคนกล่าวอีกว่า "จิตวิสัยของคนสำแดงดีได้ สำแดงชั่วได้"ฉะนั้น  ขณะที่อริยกษัตริย์เหวินอ๋วง กับ อู่อ๋วง ครองราชย์  ประชาชนจึงชอบก่อการรุนแรงวุ่นวาย" ยังมีผู้กล่าวอีกว่า "บางคนจิตวิสัยดี บางคนจิตวิสัยชั่ว จึงยังมีข้าแผ่นดินใจทรามอย่างเซี่ยง กับ กูโส่ว น้องชายและบิดาที่แล้งน้ำใจของอริยกษัตริย์ซุ่น
        ทรราชโจ้วอ๋วง  ผู้เป็นหลานได้รับมอบบัลลังก์ ยังมีปี่กัน ผู้เป็นอาแสนดี และ เอว๋ยจื่อฉี่เป็นข้าราชฯ ซื่อสัตย์รับใช้  ที่ครูปราชญ์ท่านว่า "คนมีจิตวิสัยดีงามแต่เดิมที เท่ากับกล่าวว่า ทฤษฏีของท่านอื่น ๆ ไม่ถูกต้องกระนั้นหรือ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        ครูปราชญ์ว่า  "อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นด้วยจิตวิสัยราบเรียบ (เป็นธรรมชาติ  ไม่ขัดฝืนปรุงแต่ง) เรียกได้ว่า "ดี" อย่างที่ครูว่า จิตวิสัยคนดีงามแต่เดิมที นั่นเอง  หากทำไม่ดี ก็ไม่ใช่ธาตุแท้ชั่วของจิตวิสัย เป็นแต่ถูกชักนำลวงล่อจากกิเลส เปรียบเช่นจิตเวทนารักสงสาร ภาวะนี้ ทุกคนต่างมี
จิตรู้สึกละอายและชิงชัง            ทุกคนก็ต่างมี
จิตเคารพยกย่อง                     ทุกคนก็ต่างมี
จิตที่รู้ผิดชอบชั่วดี                   ทุกคนก็ต่างมีอยู่
จิตเวทนารักสงสาร                  ก็คือคุณธรรมความกรุณา   
จิตรู้ละอายและชิงชัยความชั่ว     ก็คือหลักมโนธรรมสำนึก
จิตรู้เคารพยกย่องผู้อื่น               คือจริยธรรม
จิตรู้ผิดชอบชั่วดี                     ก็คือปัญญา 

        จิตใจที่เมตตากรุณา รักษามโนธรรมสำนึก รู้มารยาท จำแนกผิดชอบชั่วดีได้ คุณธรรมดีงามสี่ประการนี้ มิได้ถูกหล่อหลอมจากภายนอกเลย มันมีอยู่ในตนแต่เดิมที เพียงแต่ไม่ได้พิจารณาค้นหาเท่านั้น  จึงกล่าวว่า ถ้าตั้งใจไปพิจารณาค้นหา ก็จะได้รับความเป็นจริง แต่ถ้าละทิ้งใจที่พิจารณาค้นหา ก็จะสูญเสียวิสัยคุณธรรม ยิ่งนานวันความชั่วดีของการกระทำ จะต่างกันมาก มากจนเปรียบเทียบกันไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่ไม่อาจสำแดงคุณสมบัติของจิตวิสัยที่มีอยู่อย่างเต็มที่นั่นเอง  ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ฟ้าเบื้องบนก่อกำเนิดชาวโลกมากมาย ไม่เพียงสร้างรูปกาย ยังใช้หลักธรรมประจำใจ ชาวโลกจึงมีสัญชาต
ญาณรักคุณธรรมความดีงาม  ท่านบรมครูชื่นชมกวีธรรมบทนี้ว่า "ผู้เขียนกวีบทนี้ เป็นผู้เข้าถึงธรรม"  จึงได้กล่าวว่า เมื่อกำเนิดสรรพสิ่ง ก็ให้มีหลักของ
สรรพสิ่งอันพึงรักษา ด้วยเหตุที่เบื้องบนโปรดมอบหลักธรรมไว้ในจิตวิสัย ชาวโลกจึงมีจิตวิสัยของคุณงามความดี     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        ครูปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า  "ปีที่เก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานส่วนใหญ่จะเกียจคร้าน"  ปีที่ข้าวยากหมากแพง ลูกหลานส่วนใหญ่จะวุ่นวายเสียหาย นี่ไม่ใช่จิตวิสัยที่ได้นั้นแตกต่างกัน ที่เขาทำผิดคิดชั่ว เนื่องด้วยแรงกดดันจากความอดอยากเหน็บหนาว จะเปรียบเช่นข้าวสาลี เมื่อหว่านเมล็ดพันะุ์แล้วไถกลบบนผืนดินเช่นกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ความเจริญงอกงามน่าจะเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อถึงฤดูร้อน ข้าวน่าจะสุกทั่วกัน แต่หากผลเก็บเกี่ยวต่างกัน นั่นเป็นเพราะเนื้อดินต่างกัน น้ำฝน น้ำค้างที่ได้รับ การบำรุงเลี้ยงเอาใจใส่ต่างกัน  ฉะนั้น  สรรพสิ่งประเภทเดียวกัน ย่อมต่างกันไปไม่มาก ไฉนจึงจำเพาะแยกจิตวิสัยคนว่า ต่างกันโดยสิ้นเล่า  จิตวิสัยของอริยะก็เป็นเช่นเรา

        ท่านหลงจื่อ ปราชญ์ก่อนเก่าเคยกล่าวว่า "แม้ไม่รู้ขนาดเท้าที่เล็กใหญ่กว่ากัน ประมาณการทำรองเท้าฟาง ฉันรู้ว่าเขาคงไม่ทำขนาดใหญ่เท่าบุ้งกี๋ใส่ดินเป็นแน่"  เหตุที่ขนาดของรองเท้าฟางเล็กใหญ่ต่างกันไม่มาก ก็เพราะลักษณะและขนาดเท้าของคนในโลกต่างกันไม่มากนั่นเอง  ไม่เพียงเท้าของคนเล็กใหญ่ต่างกันไม่มาก ลิ้นที่จำแนกรสก็เช่นกัน  อี๋ - อย๋า  นักปรุงรสชั้นเลิศสมัยชุนชิว เป็นคนแรกที่ได้รับรสมาตรฐาน ที่เราชอบกินกัน แต่ว่าหากการจำแนกรสของทุกคน มีคุณสมบัติต่างกันไปหมด อย่างนั้น  คนก็จะเหมือนกับสัตว์ที่ต่างประเภทกับพวกเราน่ะสิ  ถ้าเช่นนั้น  รสชาติที่คนในโลกพึงใจ จึงตรงต่อรสชาติที่ อี๋ - อย๋า ปรุง พูดถึงรสชาติ ในเมื่อคนในโลกล้วนหวังจะได้ลิ้มรสอาหาร ที่อี๋ - อย๋าปรุง จึงเท่ากับรสชาติชวนกินของคนในโลกเป็นเช่นเดียวกัน
 พิจารณาการชวนฟัง   ทุกคนในโลกล้วนพึงใจต่อเสียงดนตรีจากฝีมือผู้สันทัด นี่คือการชอบฟังเสียงที่เป็นอย่างเดียวกันของชาวโลก
พิจารณาการชอบมองบ้าง  เมืองเจิ้ง มีชายนามว่าจื่อตู ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่า เขามีลักษณะหน้าตางามเลิศเลอ ผู้ไม่รู้เห็น คือผู้ปราศจากนัยน์ตา  ฉะนั้น จึงกล่าวว่าการจำแนกแยกรู้รสชาติของปากลิ้นเป็นเช่นเดียวกัน หูก็ชอบรับฟังเสียงไพเราะเสนาะโสตเช่นเดียวกัน  นันย์ตารับรู้รูป  สีสันน่าอภิรมย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน  พูดถึงใจคน จะไม่มีที่เหมือนกันหรือ ที่เหมือนกันคืออะไร คือหลักธรรมความถูกต้องของมโนธรรมสำนึกอันเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ องค์อริยะรู้ตื่นก่อน จึงรู้หลักธรรมความเหมือนกันในใจของคนเรา  ฉะนั้น  หลักธรรมจึงสมานใจคนได้โดยดุษณี ไม่ต่างจากปวงสัตว์ที่พึงใจประเภท รสชาตือาหารนั้น ๆ ตามธรรมชาติ

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " พฤกษาป่าหนิวซัน ตะวันออกเฉียงใต้เมืองฉี อันที่จริงเดิมทีหนาทึบ แต่ด้วยเหตุติดเขตชายแดนเมืองใหญ่ บ้านเมืองนั้นรุกล้ำบั่นทอนอยู่ประจำ ป่าจะงดงามอยู่ได้หรือ ทุกคือวัน แม้มันจะผผลิใบแตกตาออกรับน้ำค้างพร่างพรหม แต่ทันทีที่ถูกวัวแพะแทะเล็มกุดไป เมื่อเขาใช้เป็นที่ปศุสัตว์ ป่านี้จึงมีแต่ต้นไม้ในโกร๋น ผู้ไม่รู้เห็นเข้า ต่างคิดว่าป่านี้กันดาร สภาพเช่นนี้ จะกล่าวได้ไหมว่า ป่านี้ไม่มีวิสัยของไพรพฤกษ์เจริญพันธุ์"
        สิ่งอันดำรงไว้ในตัวคน จะไม่มีสักสิ่งหนึ่งที่เป็นกรุณามโนธรรมเชียวหรือ  คนที่ละทิ้งน้ำใจงาม ไม่ต่างจากตัดไม้ทลายป่า บั่นทอนพฤกษ์ไพรในตนทุกวัน แล้วยังจะเหลือความร่มรื่นสวยงามได้ไฉน  น้ำใจงามของคน ยังอาจงอกเงยได้อีก เช่นเดียวกับพฤกษาในป่าหนิวซัน ประหนึ่งยอดอ่อนที่ผลิแพลมทุกขณะเวลาคืนวัน กับพลังบรรยายกาศสงบเย็นใสในช่วงก่อนรุ่งช่วยเสริมสร้าง  แต่สำหรับคน การงอกเงยนั้น หากขาดจิตสมานราบเรียบ ต้องล่วงผ่านคืนวันด้วยตัณหา ชีวิตชีวาที่ผลิแพลม พลังสงบใสใกล้รุ่งก็ไม่อาจคงอยู่ได้  เมื่อไม่อาจรับคุณจากพลังสงบใสใกล้รุ่งไว้กับตน น้ำใจงามก็จะเหือดแห้ง ไม่ต่างอะไรกับสัตว์อื่น ๆ  เมื่อใคร ๆ สัมผัสสัญชาตญาณคล้ายสัตว์ของเขา ก็จะเข้าใจว่า เขาไม่มีจิตใจเยี่ยงคน เช่นนี้ จะว่าเขาไม่มีจิตวิสัยคนได้หรือ จิตวิสัยถูกทำลายไปต่างหาก  จึงกล่าวว่า ถ้าได้บำรุงเลี้ยง ไม่มีสิ่งอันไม่เจริญ แต่หากขาดการบำรุงเลี้ยง ก็จะไม่มีสิ่งอันไม่สิ้นสูญ  ท่านบรมครูเคยกล่าวว่า "ประคองรักษาจิตวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมาไว้ได้ ก็จะดำรงอยู่ได้ ละทิ้งวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมา ก็จะสิ้นสูญ"  "การดำรงอยู่หรือละทิ้งจิตวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมาไม่คงที่ ก็จะไม่รู้เป้าหมายดีร้ายในชีวิตนั้น" นั่นคืออารมณ์

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "อย่าโทษว่าฉีอ๋วง เจ้าเมืองฉี ไม่ฉลาดเลย" แม้ในโลกจะมีชีวิตที่ก่อเกิดเติบโตได้ง่าย แต่ถ้าให้ความอบอุ่นหนึ่งวัน แล้วต้องรับความหนาวเย็นสิบวัน (อี๋ฟู่สือหัน)  ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตนั้นจะก่อเกิดเติบโต เวลาที่ข้าฯไปพบกับฉีอ๋วง นั้นน้อยนัก อีกทั้งได้เห็นฉีอ๋วงออกจากพระราชฐาน แ็จะได้เห็นพวกแช่เย็นฉีอ๋วงตามติด ข้าฯให้ความอบอุ่นแก่ฉีอ๋วงเล็กน้อย เพื่อจิตวิสัยฟ้าจะได้งอกเงย  แต่ถูกพวกแช่เย็นเข้าครอบงำ ดังนี้ จิตวิสัยจากฟ้าของฉีอ๋วงจะงอกเงยได้อย่างไร จะใช้ศิลปะการเดินหมากรุกมาสมมุติ มันเป็นกลเม็ดเล็กน้อย แต่หากไม่ตั้งใจแน่วแน่ก็จะไม่ได้กลเม็ดนั้น  อี้ซิว เป็นนักเดินหมากเก่งที่สุดของบ้านเมือง สมมุติว่าเชิญอี้ซิวมาสอนคนสองคนเดินหมาก คนหนึ่งตั้งใจแน่วแน่ จำคำสอนของอี้ซิวได้หมด ส่วนอีกคนหนึ่งฟัง แต่ในใจคิดว่า นกใหญ่กำลังจะบินมาตรงหัว เตรียมธนูจะยิงนก ดังนั้น แม้จะร่วมเรียนพร้อมกันกับอีกคนหนึ่งที่ตั้งใจ แต่ก็เทียบเขาไม่ได้เลย นี่เป็นเพราะปัญญาความสามารถของเขา ด้อยกว่าหรือหามิได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่ตั้งใจศึกษา

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "คนชอบรสชาติเนื้อปลา รสชาติของอุ้งตีนหมียิ่งชอบ แต่หากไม่อาจได้ทั้งสองอย่าง ก็มักจะตัดใจเลือกเอาอุ้งตีนหมีไว้" (องี๋อวี่สยงจั่ง  เอ้อเจ่อปู้เข่อเต๋อเจียน)  ชีวิต  เป็นสิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้ มโนธรรมก็ยิ่งจะรักษาอย่างมั่นคง หากทั้งสองสิ่งไม่อาจมีพร้อม ก็จะต้องตัดใจสละชีวิตเพื่อรักษามโนธรรมไว้   ชีวิต  เราจะต้องรักษา แต่ยังมีสิ่งสำคัญกว่าชีวิตที่จะต้องรักษา ฉะนั้น จึงอย่าได้หวังเพียงอยากมีชีวิตอยู่ จึงกลัวตาย พึงรู้ว่ามีสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตาย เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงมีผู้สละชีพเพื่อชาติ สละชีพเพื่อคนนับหมื่นแสน หรือเพื่อดำรงความยุติธรรม   หากความมุ่งมาดของคน ไม่มีที่ยิ่งกว่าชีวิต แต่วิธีการต่ำทรามเพื่อรักษาชีวิตไว้ เหตุใดเขาจึงไม่ทำ หากความหวั่งเกรงของคน ไม่มีที่น่ากลัวกว่าความตาย แต่วิธีการสกปรกเพื่อหลีกเลี่ยงความตายได้ เหตุใดเขาจึงไม่ทำ  ถ้าทำก็จะพ้นภัย แต่เขาไม่ยอมทำ จึงกล่าวได้ว่า ความมุ่งมาดของคน มีสิ่งอันเหนือกว่าชีวิต ความหวั่นเกรงของคน มีสิ่งอันเหนือกว่าความตาย ความเป็นเช่นนี้ ไม่เฉพาะจริยมโนธรรมความละอายต่อบาปในคุณธรรมสำนึกของเมธีเท่านั้นที่เห็นได้ แท้จริงแล้ว ภาวะนี้ทุกคนต่างมี เพียงแต่คนทั่วไป จะหลงอยู่กับลาภสักการะจนลืมตัว  คงเหลือแต่ผู้มีคุณธรรมสำนึกเท่านั้นที่มิได้สูญเสียไป

        เปรีบยเช่นข้าวหนึ่งกระบอก น้ำแกงผักหนึ่งถ้วย ได้กินจะประทังชีวิต ไม่ได้กินก็จะอดตาย  หากผู้สงเคราะห์ใช้วาจาหยาบคาย ก่อนที่จะให้ แม้ผู้บำเพ็ญขันติธรรม ก็จะไไม่รับเอา หรือหากเขาใช้เท้าเขี่ย สบประมาทก่อนให้ แม้ขอทานก็เมินหน้าไม่ปรารถนาอาหารนั้น  แต่หากเปลี่ยนจากอาหารเป็นเงินรางวัลจำนวนมาก (หมื่นจง)  คนก็จะรีบรับไว้โดยไม่คำนึงถึงจริยมโนธรรม แท้จริงแล้วเงินหมื่นจงนี้ จะเพิ่มพูนคุณประโยชน์แก่เราได้สักเท่าไร คำโบราณว่า  "คฤหาสน์ห้องหับนับพัน  ที่หลับนอนนั้นไม่เกินแปดฟุต"  "หมื่นจงเงินบำเหน็จรางวัล  อาหารต่อวันไม่เกินสองเซิง (ประมาณหนึ่งลิตร)
( ต้าเซี่ยเซียนเจียน   เยี่ยเหมียนปู๋กั้วปาฉื่อ
เฟิ่งลู่วั่นจง    ยื่อสือปู๋กั้วเหลี่ยงเซิง )

        หรือเพื่อได้อยู่บ้านหลังงาม มีภรรยาน้อยใหญ่ไว้ปรนนิบัติ คนยากจนทั้งหมดที่รู้จัก ล้วนได้รับการสงเคราะห์จากฉันด้วยหรือไร
 ที่ผ่านมา   ยอมอดตาย  แต่จะไม่ให้ใครดูหมิ่น  บัดนี้ เพื่อจะได้บ้านหลังงาม  จึงยอม 
ที่ผ่านมา   ยอมอดตายไม่ยอมให้ใครหยามหน้า  บัดนี้  เพื่อจะได้ภรรยาน้อยใหญ่ไว้ปรนนิบัติ  จึงยอม
ที่ผ่านมา   ยอมอดตาย  ไม่ยอมให้เขาดูหมิ่น     บัดนี้ เพื่อคนยากจนที่ตนรู้จักจะได้รับการสงเคราะห์โดยตน  ก็ยอมทำ
        อย่างนี้ถือเป็นเหตุจำเป็นหรือ  อย่างนี้เรียกว่า หมดสิ้นความละอาย  หมดสิ้นใจสะอาดแต่เดิมที

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "กรุณาก็คือ ภาวะจิตเดิมของคน หลักมโนธรรมคือ ทางตรงของคน  ละทิ้งทางใหญ่ไม่เดิน ละทิ้งจิตเดิมตนที่ดีงาม ไม่รู้จักหาคืนมา ศึกษาหลักธรรมความรู้ ไม่มีจุดหมายอื่นใดก็คือ ค้นหาจิตเดิมตนที่ดีงามกลับคืนมาเท่านั้นเอง"

เมิ่งจื่อเอวีย  เหยิน  เหยินซินเอี่ย  อี้  เหยินลู่เอี่ย
เซ่อฉีลู่เอ๋อฝูอิ๋ว  ฟั่งฉีซินเอ๋อปู้จือฉิว  ไอไจ
เหยินโหย่วจีเฉวี่ยนฟั่ง   เจ๋อจือฉิวจือ  โหย่วฟั่งซินเอ๋อปู้จือฉิว
เสวียเอวิ้นจือเต้าอู๋ทา   ฉิวฉีฟั่งซินเอ๋ออี่อี่

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ขณะนี้ใครคนหนึ่ง นิ้วนางงอแล้วไม่ยืดได้ มิใช่ด้วยการเจ็บป่วยเสียหาย แต่หากมีใครทำให้มัยยืดตรงได้ ต่อให้อยู่ไกลถึงเมืองฉินเมืองฉู่ ก็เพื่อนิ้วที่ต่างกับเขาเท่านั้น นิ้วต่างกับเขารู้จักชัง ใจไม่เที่ยงธรรมอย่างเขาไม่รู้จักชัง อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนไม่รู้จักแยกแยะความสำคัญกว่ากัน

เมิ่งจื่อเอวีย   จินโหย่วอู๋หมิงจือจื่อ  ชวีเอ๋อปู๋ซิ่น  เฟยจี๋ท่งไฮ่ซื่อเอี่ย
หยูโหย่วเหนิงซิ่นจือเจ่อ  เจ๋อปู้เอวี๋ยนฉิน  ฉู่จือลู่  เอว๋ยจื่อจือปู๋ยั่วเหยินเอี่ย
จื่อปู๋ยั่วเหยิน  เจ๋อจืออู้จือ  ซินปู๋ยั่วเหยิน  เจ๋อปู้จืออู้  ฉื่อจือเอว้ยปู้จือเล่ยเอี่ย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ต้นถงใหญ่เท่าโอบ  ต้นจื่อเล็กเท่ากำมือ  หากคนต้องการให้มันเติบโต ยังรู้จักบำรุงเลี้ยง แต่ต่อใจกายของตนเอง กลับไม่รู้จักจะบำรุงเลี้ยงอย่างไร การบำรุงรักษากายใจ มิสู้การบำรุงรักษา ต้นถง - จื่อ  กระนั้นหรือ ช่างไม่รู้จักพิจารณาเสียเลย"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ทุกคน  ต่อร่างกายของตน พึงถนอมรักทุกส่วน เมื่อถนอมรักทุกส่วน ก็จะต้องใส่ใจบำรุงเลี้ยงทุกหมด ไม่มีส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะละเลยไม่ใส่ใจ จะตรวจสอบว่ารักษาไว้ได้ดีเพียงไร มีแต่ตนเท่านั้น จะพิจารณาตน เรียกร้องได้จากตน"  อวัยวะของร่างกาย มีส่วนสูงส่งกับต่ำต้อย มีสำคัญน้อยสำคัญมาก อย่าเอาแต่บำรุงรักษาส่วนสำคัญน้อยจนเสียหายแก่ส่วนสำคัญใหญ่ อย่าบำรุงรักษาส่วนต่ำต้อยจนเสียหายแก่ส่วนสูงส่ง  เช่น  คนที่เอาแต่บำรุงเนื้อกายให้อ้วนพี เป็นคนระดับต่ำ  บำรุงเลี้ยงจิตมุ่งมั่นดั่งอริยเมธี แปรโลกโลกีย์ให้ดีงาม เป็นคนระดับสูง  สมมุติว่า ผู้ดูแลป่าไม้ตัดโค่นต้นถง ต้นเจี่ย  ซึ่งจะเป็นไม้ใหญ่ ให้คุณค่าประหนึ่งไม้สักเสียสิ้น ใส่ใจบำรุงเลี้ยงแต่ต้นไม้เนื้ออ่อนหญ้าอันไร้ค่า อย่างนี้เรียกว่า ผู้ดูแลป่าระดับต่ำ  หรือเช่น  เพื่อรักษาหนึ่งนิ้วมือ แต่กลับทำให้หลังไหล่เสีย หายขัดยอกไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า ไม่รู้การอันควร  แต่หากคนที่ใส่ใจบำรุงเลี้ยงร่างกาย โดยมิได้ละเลยจิตมุ่งมั่นเป็นสำคัญ ชีวิตสังขาร ชีวิตขวัญวิญญาณดีด้วยกันไป ก็จะเรียกได้ว่า ใส่ใจบำรุงเลี้ยงทั้งหมดโดยทั่วถึง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๖

                                     บทเก้าจื่อ  ตอนต้น

        ศิษย์กงตู่เรียนถามครูปราชญ์ว่า  "คนด้วยกัน บ้างระดับต่ำ บ้างระดับสูง แตกต่างกันอย่างไร"  ครูปราชญ์ว่า  "ทำการใด ๆ ด้วยจิตวิสัยดีงาม นับเป็นคนระดับสูง  ทำตามอายตนะอารมณ์พอใจ  ได้แก่คนระดับต่ำ"  ศิษย์กงตู่จื่อว่า "คนด้วยกัน บ้างทำตามจิตวิสัยดีงาม บ้างทำตามอารมณ์พอใจ เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้"  ครูปราชญ์ว่า  "เหตุด้วยอายตนะหูตาฯ เป็นเพียงเครื่องรับรู้ มิอาจใคร่ครวญพิจารณา จึงถูกหลอกล่อ  หูตาฯ เป็นเพียงอวัยวะ  ถูกรูป  รส  กลิ่น  เสียงสัมผัส  หลอกล่อ จึงคล้อยตาม จิตวิสัยเป็นภาวะวิเศษ ใคร่ครวญพิจารณาได้ จึงเข้าใจต่อหลักธรรมความถูกต้อง ใคร่ครวญพิจารณาไม่ได้ ก็จะเข้าไม่ถึงหลักธรรมความถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ฟ้าเบื้องบนให้มีในชีวิต   หากก่อเกิดความสำคัญสิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นเบื้องต้น หูตาฯ อายตนะ ก็อาจจะไม่ล่วงล้ำจิตวิสัยยิ่งใหญ่สำคัญได้ คนระดับสูงที่เป็นได้ ก้ด้วยก่อเกิดความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นเบื้องต้นได้ เท่านั้นเอง" 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "เกียรติศักดิ์ของคนมีสองอย่าง คือ เกียรติศักดิ์ฟ้า  และ เกียรติศักดิ์คน
มีกรุณามโนธรรม รักษาความจงรักสัตย์จริง ยินดีสงเคราะห์ให้ไม่หน่าย ได้รับทิพยฐานะจากเบื้องบน เรียกว่า เกียรติศักดิ์ฟ้า 
เป็นขุนนางเป็นผู้ใหญ่ทางโลก เรียกว่า เกียรติศักดิ์คน 

        คนแต่ก่อน เพื่อการบำเพ็ญเกียรติศักดิ์ฟ้า  เอาคุณธรรมนำชีวิต จนถึงที่สุด ยังได้เกียรติศักดิ์คนด้วย  คนสมัยนี้  แสดงความเป็นผู้มีคุณธรรม เพื่อนำให้ผู้คนสนใจยกย่อง เมื่อได้เกียรติศักดิ์คนแล้ว ก็ละทิ้งการบำเพ็ญเกียรติศักดิ์ฟ้าเสียสิ้น  เหลวไหลยิ่งนัก ทำตนดังนี้ จะไม่ได้ไม่มีทั้งเกียรติศักดิ์ฟ้าและเกียรติศักดิ์คน

เหยินอี้จงซิ่น  เล่อซั่นปู๋เจวี้ยน  ฉื่อเทียนเจวี๋ยเอี๋ย  กงชิงต้าฟู
ฉื่อเหยินเเจวี๋ยเอี่ย  กู่จือเหยิน  ซิวฉีเทียนเจวี๋ย  เอ๋อเหยินเจวี๋ยฉงจือ
จินจือเหยินซิวฉีเทียนเจวี๋ย  อี่เอี้ยวเหยินเจวี๋ย  จี้เต๋อเหยินเจวี๋ย
เอ๋อชี่ฉีเทียนเจวี๋ย  เจ๋อฮว่อจือเซิ่นเจ่อเอี่ย  จงอี๋ปี้อ๋วงเอ๋ออี่อี่

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ความสูงศักดิ์  ทุกคนต่างมุ่งหวัง"  แท้จริงทุกคนล้วนสร้างความสูงส่งแก่ตนเองได้ เพียงแต่ขาดการพิจารณาขวนขวาย ความสูงส่งที่รับการแต่งตั้ง หาได้ยั่งยืนจริงแท้ไม่ เช่น "เจ้าเมิ่งแห่งเมืองจิ้น" มนตรีผู้มีอำนาจ เขาแต่งตั้งยศศักดิ์สูงส่ง อีกทั้งถอดถอยยศศักดิ์สูงส่งจากใครผู้นั้นให้สิ้นเนื้อประดาตัวได้ทันที  ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า  "คิดใคร่เมามายใช้สุรา  ปรารถนาภาคภูมิใช้คุณธรรม"  (จี้จุ้ยอี๋จิ่ว  จี้เป่าอี่เต๋อ)  เต็มภาคภูมิ คือ เต็มด้วยกรุณามโนธรรม   เพื่อความเต็มภาคภูมิด้วยกรุณามโนธรรม ก็จะไม่โลภอยากอาหารเลิศหรูของชาวโลก  อยากเลื่องชื่อลือเกียรติไว้ในโลก ก็จะไม่ยินดีต่อแพรพรรณบรรณาการ 
        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "กรุณาธรรม  เอาชนความขาดกรุณาธรรมได้ เหมือนน้ำชนะไฟ  (เหยินจือเซิ่งปู้เหยิน  อิ๋วสุ่ยเซิ่งหั่ว)  แต่กรุณาธรรมของคนสมัยนี้ เหมือนเอาน้ำถ้วยเดียวไปดับไฟฟืนกองใหญ่ แล้วกล่าวว่า "น้ำไม่อาจเอาชนะไฟ" เช่นนี้ จะยิ่งเสียกว่าคนที่ขาดกรุณาธรรม การกระทำดังนี้ มีแต่จะหายนะ"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ธัญพืชทั้งห้า  เป็นยอดแห่งพืชผล แต่หากไม่อาจตกรวง ก็สู้ข้าวฟ่างอย่างเลวที่เกิดในแถบกันดารไม่ได้ ดำเนินกรุณาธรรมก้อยู่ที่ตกรวงตกผลเป็นสำคัญ"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "โฮ่วอี้  ผู้ฉมังธนูครั้งโบราณ สอนใครให้ยิงธนู จะต้องตั้งใจแน่วแน่ ง้างคันธนูสุดเหนี่ยว ผู้เรียนรู้ก็จะต้องตั้งใจแน่วแน่ ง้างคันธนูให้สุดเหนี่ยวเต็มกำลังเช่นเดียวกัน  ช่างไม้สอนผู้เรียนรู้ให้เคร่งครัดต่อวงเวียน เครื่องวัดฉากมุม  ผู้เรียนรู้ก็จะต้องเคร่งครัดต่อการใช้เครื่องมือวัดสัดส่วนนั้น ๆ "

                             ~ จบบทเก้าจื่อ  ตอนต้น ~

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                      ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                        ๖ 

                            บทเก้าจื่อ   ตอนท้าย

       คนเมืองเยิ่น  ถามอูหลูจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

         "จริยปฏิบัติกับบริโภคดื่มกิน อย่างใดสำคัญกว่ากัน"  อูหลูจื่อว่า "จริยปฏิบัติสำคัญกว่า"  คนเมืองเยิ่นถามอีกว่า "อิสตรีกับจริยปฏิบัติ อย่างใดสำคัญกว่ากัน"  ตอบอีกว่า "จริยปฏิบัติสำคัญกว่า"  ถามอีกว่า "สมมุติไปดื่มกินด้วยจริยปฏิบัติ จะไม่ได้กิน จะไม่อดตาย แต่ถ้าไปดื่มกินอย่างไม่มีจริยปฏิบัติ ก็จะได้กินอย่างนี้ ยังจะต้องทำตามจริยะอีกหรือ"  สมมุติว่า ถ้าไปพาตัวเจ้าสาวเอง ก็จะไม่ได้ภรรยา (ตามประเพณีเดิม) ไม่ไปพาเอง ก้จะได้ภรรยา อย่างนี้จะต้องไปพาด้วยตัวเองหรือไม่"      ศิษย์อูหลุ่ืจื่อตอบไม่ได้  วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางไปเมืองโจว เรียนถามต่อครูปราชญ์

         ครูปราชญ์ตอบว่า

        ตอบคำถามเหล่านี้ มีอะไรยากหรือ ถ้าไม่จับต้น ชนแต่ปลาย ก็จะเหมือนไม้สั้น ๆ ท่อนหนึ่งวางอยู่เหนือหอบนยอดเขา ท่อนไม้สั้นกลับดูว่าอยู่เหนือหอ  "ทองหหนักกว่าขนนก"  คำพังเพยนี้ จะบอกได้หรือว่า ต่างหูห่วงทองน้อยนิด จะเทียบกับขนนกทั้งคันรถ ถ้าจะเอาคนที่เห็นแก่กินมาเทียบจริยปฏิบัติจะไม่เพียงเรื่องกินเท่านั้นสำคัญกว่า   ถ้าจะเอาคนฝักใฝ่ในอิสตรี ไม่แยแสจริยปฏิบัติมาเปรียบเทียบกัน จะไม่เพียงเรื่องอิสตรีเท่านั้นที่เขาเห็นสำคัญ...ท่านจงไปตอบแก่เขา  "สมมุติบิดแขนพี่ชายของเขาสองข้างจับไพล่หลัง แย่งอาหารมาก็จะได้กิน ไม่ทำเช่นนี้ก็จะไม่ได้กิน เขาจะบิดแขนพี่ชายไพล่หลังหรือไม่" 

        เฉาเจียว เรียนถาม  (ประโยคที่ปราชญ์เมิ่งจื่อเคยกล่าวไว้)  ว่า "มีหรือที่คนล้วนเป็นออริยกษัตริย์เหยา - ซุ่นได้ทั้งนั้น" (เหยินเจียเข่อเอว๋ยเหยาซุ่น)  ครูปราชญ์ตอบ "มี"  "ได้ยินว่าอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง องค์สูงสิบฟุต  กษัตริย์ซังทังสูงเก้าฟุต  ขณะนี้ ข้าพเจ้าเฉาเจียวสูงเก้าฟุตสี่นิ้ว รู้จักแต่กินอยู่ไป ทำอย่างไรจุงจะเหมือนเหยา - ซุ่นได้"  ครูปราชญ์ตอบว่า "หาใช่อยู่ที่ร่างกาย  ปฏิบัติเยี่ยงพระองค์ก็จะเหมือนพระองค์"   สมมุติใครคนหนึ่งอยู่ตรงนี้ แรงจะอุ้มลูกไก่ตัวหนึ่งก็ยังไม่มี อย่างนี้นับว่าอ่อนกำลังจริง ๆ  อีกคนหนึ่ง ยกน้ำหนักได้สามพันชั่ง อย่างนี้นับว่ามีกำลังมาก  คนที่ยกน้ำหนักได้เท่ากับอูฮั่ว ชายผู้ทรงพลังสมัยก่อน เช่นคนที่ยกได้สามพันชั่ง ตรงนี้นับได้ว่า เป็นผู้ทรงพลังเหมือนอูฮั่วเท่านั้น  ส่วนหลักธรรมความเป็นคน จะเอาความแพ้ชนะเหล่านี้เป็นเกณฑ์ให้เศร้าหมองได้อย่างไร มันอยู่ที่ว่า ยินดีปฏิบัติตามหรือไม่ต่างหาก

Tags: