collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 71976 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        เด็กชายนำฮุ่ยเหนิงไปนมัสสการโศลกที่หน้าธรรมศาลา  ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า ""เราไม่รู้จักหนังสือ อาวุโสได้โปรดอ่านให้ฟังด้วย"" ในเวลานั้นในที่นั้นมีเลขาธิการเมืองเจียงโจว แซ่จาง นาม ยื่ออย้ง  อยู่ด้วยอาสาท่องให้ฟังเสียงดัง ฮุ่ยเหนิงฟังจบ รำพึงว่า""เราก็มีโศลกบทหนึ่ง หวังให้ท่านเลขาช่วยเขียนให้"" เลขาว่า "คนป่าคนเยิง เจ้าจะเขียนโศลกกับเขาด้วยหรือ เรื่องนี้มันประหลาด ไม่น่าเป็นไปได้เลย" (คำพูดและน้ำเสียงขอเลขา ก็ปรามาสเหยียดหยามเช่นกัน) ฮุ่ยเหนิงกล่าวแก่เลขาว่า ""จะเรียนรู้อนุตตรโพธิญาณ จะดูแคลนผู้เริ่มเรียนมิได้ คนระดับล่าง ๆ มีสติปัญญาระดับสูง ๆ  คนระดับสูง ๆ อาจมีปัญญาดำริหรือไม่ หากดูแคลนเขา จะเป็นบาปมหันต์""
        ความหมาย...พิจารณา...
       ความคิดจิตใจที่ดูแคลนผู้อื่น เป็นผลเสียหายยิ่งต่อตนเอง บดบังจิตญาณตนหลงหายไปจากพุทธญาณ ดูแคลนผู้อื่นเป็นมโนวิญญาณ เป็นจิตคิดแบ่งแยก เป็นใจโอหัง  จึงเป็นเมล็ดพันธุ์ของการเวียนว่าย
       เลขาได้ฟังดังนั้น ก็สำนึกได้ในความผิดตนทันที
       ความหมาย...พิจารณา...
       นี่คือคุณสมบัติของผู้บำเพ็ญ  ตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า ""ไม่กลัวความคิดเกิด กลัวแต่รู้ตัวช้า"" เราศึกษาพระสูตรพระคัมภีร์ จะต้องย้อนคิดถึงจิตตนว่า พุทธะอริยะเจ้าท่านถ่ายทอดธรรมะสาระอะไรไว้แก่เรา ทุกเรื่องราวความเป็นมาล้วนมีค่าต่อการปฏิบัติบำเพ็ญ เช่นนั้จึงจะเรียกว่าศึกษาพระสูตร พระคัมภีร์อย่างแท้จริง
      เลขากล่าวว่า "ท่านท่องโศลกมา ข้าพเจ้าจะเขียนให้ หากท่านเข้าถึงวิถีธรรม จะต้องช่วยข้าพเจ้าเป็นคนแรก อย่าลืมคำนี้""
     ความหมาย...พิจารณา...
     เลขาจะเป็นผู้ช่วยเขียนโศลกให้แก่ท่านฮุ่ยเหนิง แต่มีข้อเรียกร้องตอบแทนว่า หากเข้าถึงวิถีธรรม จะต้องโปรดเลขาเป็นคนแรกเรื่องนี้ในพระสูตรมิได้จารึกไว้ จึงไม่ทราบว่าในประวัติของการถ่ายทอดวิถีธรรม ท่านฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) ได้โปรดเลขาหรือไม่ แต่ที่เลขาได้เป็นผู้เขียนโศลกบทสำคัญบทแรกของท่านลิ่วจู่นั้น ได้แสดงให้เห็นเหตุปัจจัยแห่งบุญสัมพันธ์อันได้หยั่งรากลงแล้วแน่นอน
     ฮุ่ยเหนิงกล่าวโศลกว่า      ""โพธิเดิมทีไม่มีต้น        กระจกใสก็มิใช่บาน
                                        แต่เดิมทีหามีสิ่งใดไม่   ฝุ่นธุลีจะจับลงที่ตรงไหน""
     ความหมาย...พิจารณา...
     จิตญาณตน แท้จริงก็มิได้ตายตัวอยู่ ณ จุดนั้น  ก็ด้วยจิตญาณเป็นพลังงาน เป็นธรรมธาตุอิสระไร้รูปในธรรมจักรวาล พระวิสุทธิอาจารย์เบิกจุดญาณทวารให้ นั่นคือ ในขณะที่ชีวิตร่างกายยังดำรงประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการปฏิบัติบำเพ็ญ เพื่อการหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทั้งหลาย  จึงมิได้ยึดหมายเหนียวแน่นอยู่  ณ  จุดนั้น อันจะเป็นการยึดหมายในนามรูป เช่นนี้แล้ว จิตญาณตนก็จะหลุดพ้นได้ยาก
     โศลกของท่านฮุ่ยเหนิง ได้สนองรับสนองตอบโสลกของท่านเสินซิ่วอย่างแยบคลาย ไม่เพียงเติมเต็มให้แก่โศลกของท่านเสินซิ่วในส่วนขาดพร่อง อีกทั้งยังเสริมสร้างความสำคัญแก่บันไดขั้นแรกสำหรับการเจริญธรรมตามโศลกของท่านเสินซิ่วอีกด้วย
     โศลกของท่านฮุ่ยเหนิง จึงมิได้เป็นการลบล้างโศลกของท่านเสินซิ่วแต่อย่างใด ตามความเข้าใจของคนบางคน  จิตญาณตนอิสระไร้รูป เมื่อไร้รูป ก็ไม่น่าจะเป็นที่จับเกาะของฝุ่นธุลีได้ เพราะมิใช่บานกระจก  แต่จิตญาณอิสระกลับต้องตกเป็นทาสของฝุ่นธุลีรับทุกข์รับภัยไม่จบสิ้นทุกชาติมา"จากการจับเกาะของฝุ่นธุลี"  หรืออีกนัยหนึ่งคือ จากการ "ยินดีให้ฝุ่นธุลีจับเกาะ"เสียมากกว่า

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         โศลกท่านฮุ่ยเหนิง  ::    "" โพธิเดิมทีไม่มีต้น        กระจกใสก็มิใช่บาน
                                           แต่เดิมทีหามีสิ่งใดไม่   ฝุ่นธุลีจะจับลงที่ตรงไหน ""  ( ไร้รูปลักษณ์ )
       
  ( หมายเหตุ  :  เลขาธิการเมืองเจียงโจว  แซ่จาง  นามยื่ออย้ง   ได้เป็นผู้เขียนโศลกบทสำคัญบทแรกของท่านลิ่วจู่ )

      พอเลขาเขียนโศลกบนฝาผนังเสร็จ ศิษย์ทั้งหลายของพระธรรมาจารย์ต่างตื่นเต้นประหลาดใจ ต่างอุทานว่าไม่น่าเชื่อ ต่างวิเคราะห์วิจารณ์กันว่า  ""มหัศจรรย์แท้ จะตัดสินคุณสมบัติของคนจากรูปลักษณ์หน้าตาไม่ได้เชียว ชั่วระยะเวลาไม่นาน เขาได้บรรลุความเป็นพระโพธิสัตว์เดินดินไปแล้ว""
      พระธรรมาจารย์  เห็นทุกคนต่างตื่นเต้นแปลกใจแกรงจะมีผู้ให้ร้าย จึงใช้รองเท้าลบโศลกของฮุ่ยเหนิงแล้วกล่าวว่า ""ก็ยังไม่เห็นจิตญาณ"" ทุกคนจึงหยุดอุทานประหลาดใจ
      วันรุ่งขึ้น พระธรรมาจารย์แอบเข้าไปในโรงตำข้าว เห็นฮุ่ยเหนิงคาดก้อนหินใหญ่ไว้กับเอว กำลังตำข้าวอยู่ จึงกล่าวด้วยว่า ""ผู้แสวงธรรม ลืมกายสังขารเพื่อธรรม พึงเป็นเช่นนี้หนอ ""
      ความหมาย...พิจารณา...
      ท่านฮุ่ยเหนิงร่างเล็ก  ซึ่งอาจเป็นเหตุจากที่เกิดมาในถิ่นทุรกันดารและมีฐานะยากจนข้นแค้น  อีกทั้งต้องทำงานหนักเกินตัวตลอดมาก็เป็นได้  การเหยียบกระเดื่องตำข้าว จะต้องมีน้ำหนักตัวเพียงพอ มิฉะนั้น จะไม่อาจเหยียบคันกระเดื่องให้ขึ้นลงตำข้าวได้ท่านฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย แก้ปัณหาให้ได้ ทำให้สำเร็จจนได้ จึงใช้ก้อนหินใหญ่คาดไว้กับเอวเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว  แน่นอน  เมื่อทำเช่นนี้  สายคาดเอวเชื่อมจากคันกระเดื่องมีน้ำหนักมาก ย่อมกดรัดมาก  นานวัน นานวัน ไหล่ทั้งสองข้างนั้นของท่านฮุ่ยเหนิงเนื้อแตกเฟะ แต่ท่านมิได้ใส่ใจ  เพราะความคิดจิตใจของท่าน มิได้ยึดหมายอยู่กับกายสังขาร
      ที่พระธรรมาจารย์กล่าวว่า ผู้แสวงธรรม ลืมกายสังขารเพื่อธรรม  มีความหมายของการชื่นชม เชื่อมั่นต่อฮุ่ยเหนิง  และประโยคสุดท้ายที่ว่า พึงเป็นเช่นนี้หนอ มีความหมายของการฝากฝัง หวังว่าฮุ่ยเหนิงจะจริงจังรับหมอบหมายงานใหญ่ของเบื้องบนได้ตลอดไป ด้วยคุณสมบัติดังนี้ ซึ่งฮุ่ยเหนิงก็น้อมรับไว้ด้วยความเข้าใจ
      พระธรรมาจารย์จึงถามต่อไปอีกว่า ""ข้าวได้ที่แล้วหรือยัง"" (เผิน ๆ เป็นคำสั่ง หมายความว่า ข้าวตำเสร็จแล้วหรือยัง) ฮุ่ยเหนิงตอบว่า ""ข้าวได้ที่นานแล้ว ขาดแต่ร่อนตะแกรงเท่านั้น"" พระธรรมาจารย์มิตอบว่ากระไร ใช้ไม้เท้าเคาะที่ครกตำข้าวนั้นสามทีแล้วเดินจากไป  ฮุ่ยเหนิงเข้าใจเจตนาปริศนาของพระธรรมาจารย์   คืนนั้น ยามสาม  จึงเข้าไปกราบพระธรรมาจารย์ยังในห้อง
      ความหมาย...พิจารณา...
      ปุถุชนนั้น  ในแต่ละวันจะพูดคุยสื่อความกันด้วยคำพูดหลากหลาย เสียเวลาไปมากมายแต่ได้สาระไม่สมบูรณ์ ซ้ำบางคนยังพูดกันไม่รู้เรื่อง นั่นเพราะเหตุใด ? เพราะเหตุที่เป็นปุถุชน
      แต่สำหรับผู้เข้าถึงจิตญาณตน คำพูดเพียงสามคำ ห้าคำ  ก็เข้าถึงความหมายลึกซึ้งกว้างไกลได้ บางท่านวิเศษแยบยล จนแม้มิต้องเอ่ยขานก็เข้าใจกัน นั่นคือจิตญาณสื่อถึงจิตญาณกัน จึงมีคำกล่าวว่า ""ขณะนี้ คำพูดภาษาหาต้องการใช้ไม่...  ฉื่อเค่อเอี๋ยนอวี่เหอชวีอย้ง"" จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ท่านฮุ่ยเหนิงจะเข้าใจในทันที เมื่อพระธรรมาจารย์เคาะที่ครกกระเดื่องสามที
      คนดีมักมีผู้อิจฉา  เป็นเรื่องปกติ ที่ ผิดปกติ  ผู้บำเพ็ญจะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยน โดยเริ่มจากจิตใจของตน จนถึงช่วยกันปรับเปลี่ยนจิตใจของใคร ๆ ให้กลายเป็นคำขวัญว่า "" คนดีมักมีผู้ติดตาม "" จะดีกว่า
      พระธรรมาจารย์เกรงว่า ศิษย์ฮุ่ยเหนิงจะถูกอิจฉาทำร้าย จึงสื่อความด้วยวาจาปริศนา  ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันระหว่างพระธรรมาจารย์กับฮุ่ยเหนิง แต่ผู้อื่นที่ได้ยินในที่นั้นกลับเข้าใจว่า พระธรรมาจารย์กวดขันเร่งรัดให้ฮุ่ยเหนิงรีบตำข้าว

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       คืนนั้น !!!  พระธรรมาจารย์เอาจีวรล้อมบังฮุ่ยเหนิงไว้มิให้ใครเห็น (เบิกจุดญาณทวาร  ถ่ายทอดวิถีจิตฉับพลัน) นี่คือร่อนตะแกรงคัดสรรค์เมล็ดพันธุ์  พร้อมกับแสดงธรรมจากคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร จนถึงประโยคที่ว่า ""พึงบังเกิดจิตอันมิได้ยึดหมาย"" ฮุ่ยเหนิงแจ้งใจในบัดดลว่า ""ธรรมทั้งปวงมิพ้นจากจิตญาณตน""
       ความหมาย...พิจารณา...
      การกราบขอรับวิถีธรรม  อาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรมประกอบพิธีอาราธนาแทนอมะพุทธะจี้กง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พุทธะโพธิสัตว์ทั่วทุกสากล ทรงโปรดปกป้องรักษาตำหนักธรรม
      ขณะนั้น  มองดูผู้คนมากมายอยู่ในพิธี อย่างกับเป็นที่เปิดเผยทั่วไปได้ แต่หารู้ไม่ เบื้องหลังล้วนผ่านการเลือกสรรจำกัดเฉพาะผู้สมควรได้รับ ไม่อนุญาตให้ส่งแปลกปลอมอื่นใดเข้าใกล้ หรือมิให้ใครเห็น เช่นเดียวกับในขณะอยู่ภายใต้จีวรล้อมบัง
      ในคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร จารึกว่า ""อันว่าพุทธธรรมนั้น หาใช่พุทธธรรมไม่"" ที่พระธรรมาจารย์กล่าวแก่ฮุ่ยเหนิงในขณะถ่ายทอดวิถีธรรมนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญมิใช่อยู่ที่ข้อความตามตัวอักษรที่ได้มาจากวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เพียงแต่อาศัยข้อความตามอักษรนั้น ยืนยันให้เห็น ""วัชรญาณปัญญา"" แห่งตน ประจักษ์ชัดในความมีอยู่เป็นอยู่จริงนั้น  เรามักจะพูดถึง ""ธรรมะแท้จริง (เต้าเจิน)  หลักธรรมแท้จริง (หลี่เจิน)  อนุตตรพระโองการแท้จริง  (เทียนมิ่งเจิน) จริงอย่างไร  อย่างไรจึงเรียกว่าจริง
      หากเราได้ศึกษาประวัติการรับวิถีธรรมของพระพุทธะอริยเจ้า หรือผู้บรรลุธรรมวิเศษทั้งหลายในอดีตกาลมา จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นวิถีธรรมที่เป็น""วิถีจิต"" เข้าถึงวิถีจิตจึงเข้าถึงโพธิญาณตน โพธิยาณก็คือภาวะของพุทธะ ภาวะของพุทธะ ก็คือภาวะของการบรรลุธรรม ได้ภาวะนั้นจริง จึงจะเรียกได้ว่า ธรรมะแท้จริง  หลักธรรมแท้จริง  ล้วนสอนให้ย้อนมองส่องตน ค้นหาโพธิญาณตน
      ข้อธรรมต่าง ๆ ที่ศึกษา ล้วนเปรียบเสมือนแรงลม หรืออากาศธาตุที่เคลื่อนไหว  พัดพาก้อนเมฆที่น้อยใหญ่ ให้พ้นไปจากการเป็นอุปสรรคบดบังที่มิให้สุริยา (โพธิญาณ) ได้ฉายแสงทอง จึงเรียกได้ว่าเป็น หลักธรรมแท้จริง
      อนุตตรพระโองการจริง  การถ่ายทอดการมอบหมาย การสืบสายพาศาธรรม ล้วนเป็นแนวตรงหนึ่งเดียวชัดเจนเรื่อยมา ผู้ขัดขวางเหยียดหยาม ล่วงละเมิด บิดเบียน อุปโลกน์แหวกแนว ไม่เป็นไปตามความถูกต้องยุติธรรม แม้จะพยายามจัดลำดับตนเข้าไว้ในประวัติการพงศาธรรมอย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้
      ในที่นี้  ใคร่ขอพิจารณาจากท่านลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิงเป็นตัวอย่าง ในสยตาของคนทางโลก คนป่าคนเยิง ผิวคล้ำ ร่างเล็กแกร็น ไม่รู้จักหนังสือ ไม่มีธรรมวุติ...มีแต่คนดูถูกเหยียดหยาม ทำงานหยาบเป็นกิจวัตร ไร้ผู้สนับสนุน  กับ เสินซิ่วพระเถระผู้ใหญ่ ลักษณะสวยสง่า ผิวผ่องงดงามสดใส อรรถาธรรมล้ำเลิศ มีผู้กราบไหว้สรรเสริญไปทั่วบ้านทั่วเมือง
      ระหว่างสองรูปนี้  ในสายตาของคนทางโลก รูปใดน่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมาจารย์มากกว่ากัน  หลังจากได้รับถ่ายทอดวิถีจิตจากพระธรรมาจารย์ ฮุ่ยเหนิงแจ้งใจในบัดดลว่า ""ธรรมทั้งปวงมิพ้นจากจิตญาณตน""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      พลันบังเกิดปิติ  จึงอุทานกราบเรียนพระธรรมาจารย์ว่า โดยแท้จริงจิตญาณตนแต่เดิมทีหมดจดสดใสได้ถึงเพียงนี้เชียวหนอโดยแท้จริง จิตญาณตนแต่เดิมทีไม่มีการแตกดับได้เช่นนี้เองหนอ โดยแท้จริงจิตญาณตนแต่เดิมทีสมบูรณ์พร้อมอยู่ในตัวดังนี้ได้เชียวหนอ  โดยแท้จริง จิตญาณตนแต่เดิมทีหาได้หวั่นไหวส่ายคลอนไม่เช่นนี้หนอ โดยแท้จริง จิตญาณตนแต่เดิมทีก่อเกิดหมื่นข้อธรรม ธรรมทั้งปวง ได้ถึงเพียงนี้เชียวหนอ
     ความหมาย...พิจารณา...
     ทั้งห้าประโยค นอกจากจะแสดงความไม่น่าเป็นไปได้ แล้ว ยังกล่าวได้ว่าเป็นการกราบถวายราบงานภาวะจิตหลังจากได้รับถ่ายทอดวิถีธรรมแล้วของฮุ่ยเหนิงต่อพระธรรมาจารย์ คำสำคัญในแต่ละประโยค ที่น่าจะเอามาพิจารณากันอีกทีคือคำว่าโยแท้จริง แต่เดิมที ที่ได้รับวิถีธรรมกันก็คือได้รับรู้ภาวะโดยแท้จริงแต่เดิมทีที่มีอยู่ที่ปฏิบัติบำเพ็ญจริง ก็เพื่อฟื้นฟูภาวะโดแท้จริงแต่เดิมทีที่มีอยู่ที่บรรลุธรรมกัน ก็คือกลับคืนสู่ภาวะโดยแท้จริงแต่เดิมทีที่มีอยู่ จึงสรุปเป็นสูตรง่าย ๆ ว่ารับรู้ ฟื้นฟู กลับสู่โดยแท้จริงแต่เดิมที เช่นนี้แล้วยังจะต้องแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ให้วกวนหลงทางต่อไปอีกทำไม
     พระธรรมาจารย์ได้ฟัง พลันรู้ว่าฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่)รู้แจ้งจิตญาณตนโดยตลอดแล้ว  ณ  บัดนี้ได้ชื่อว่่าสามี ""มหาบุรุษ"" ได้ชื่อว่าครูอาจารย์ชองเทวดาและมนุษย์ ได้ชื่อว่าพุทธะ  พระธรรมาจารย์ได้ถ่ายทอดวิถีธรรมให้ในยามสาม ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลย จึงมอบหมายถ่ายทอดวิถีจิตฉับพลัน (จักษุครรภนิพพาน อนุตตรสัมมาสัมโพธิมรรค) พร้อมด้วยบาตรกับจีวรพงศาธรรม แล้วกล่าวว่า ""ท่านจงดำรงฐานะพระธรรมาจารย์สมัยที่หก (ลิ่วจู่) จงรักษาจิตดำริไว้ให้ดี ปรกโปรดฉุดช่วยสัตว์โลกผู้มีลสปราณ ผู้มีเยื่อใยสัมพันธ์แพร่หลายต่อไปภายหน้า อย่าได้ขาดสาย
     ความหมาย...พิจารณา...
     ที่พระธรรมาจารย์กล่าวว่า ณ  บัดนี้ท่านได้ชื่อว่าสามี  หมายถึงมหาบุรุษผู้มีความเพียรชอบ มีความแกร่งกล้ามิถดถอย  ได้ชื่อว่าครูอาจารย์ของเทวดาและมนุษย์ หมายถึง ผู้ประพฤติการอันเกื้อกูล เอื้อคุณ อบรมสั่งสอน  ปลุกจิต นำศิษย์เข้าสู่วิถีจิตเพื่อการหลุดพ้น ได้ชื่อว่าพุทธะ ในที่นี้ มิได้หมายถึงพุทธะในระดับอมิตาภะ พระพุทธเจ้า หรือสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นที่สุดแห่งพุทธะ แต่หมายถึง พุทธะผู้เข้าถึงจิตญาณตนโดยแท้จริงแต่เดิมที
    ในพงศาธรรมาจารย์แห่งยุค โปรดมอบหมายถ่ายทอดตำแหน่งพระธรรมาจารย์แก่ผู้สืบสายต่อไป ย่อมจะต้องกำชับความสำคัญในการดำรงฐานะนั้น พระองค์โปรดกำชับลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) ว่า จงรักษาจิตดำริไว้ให้ดี หมายถึง การรักษาพุทธภาวะแห่งตนไว้ให้มั่นคง
    วันนี้เรากราบรับวิถีธรรมกัน ก็ได้รับโปรดกำชับจากอมตะพุทธะพระอาจารย์ เช่นกันว่า ""เจ้าได้รับหนึ่งจุดเบิกบัดนี้ ปลอดโปร่ง ณ เบื้องบน ปราศจากการเกิดตาย (จิตญาณปราศจากการเกิดตาย จงหล่อหลอมแสงญาณ ไว้ทุกขณะจิต...หนี่จินเต๋ออี้จื่อ  เพียวเพียวไจ้เทียนถัง  อู๋โหย่วเซิงเหอสื่อ   จงยื่อเลี่ยนเสินกวง)   ธรรมะประกาศิตจากอมตะพุทธะพระอาจารย์ ได้ยืนยันให้รู้ชัดว่า จุดนี้คือความปลอดโปร่งของจิตบริสุทธิ์อันสูงส่งจากเบื้องบนแต่เดิมที
     พึงทำความเพียรเพื่อกลับคืนเบื้องบน แต่เดิมทีเช่นนี้ จิตญาณจึงจะ"ปราศจากการเกิดตาย"อีกต่อไป ในขณะมีชีวิต ให้หล่อหลอมประคองรักษาแสงญาณของจิตพุทธะไว้ทุกขณะเวลา มิให้มืดมัวผิดเพี้ยน...ประโยคต่อไปที่พระธรรมาจารย์โปรดกำชับแก่ลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) ที่ว่า "จงปรกโปรดฉุดช่วยสัตว์โลกผู้มีลมปราณเยื่อใยสัมพันธ์" นั้น หมายความว่า ให้แพร่ธรรมนำพาสาธุชนผู้มีกุศลเจตนา อันมิได้ขาดจากรากมูลแห่งพุทธะ ผู้ขาดจากรากมูลของพุทธะ คือผู้มีบาปล้นพ้นตัว  ผู้ทำลายศาสนา  ทำร้ายผู้บำเพ็ญ ฯ และที่พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่กล่าวไว้ในภายหลังว่า "ผู้ไม่ร่วมรู้ ไม่ร่วมบำเพ็ญ...มิให้มอบหมายถ่ายทอด เพราะจะเสียหายแก่บรรพจารย์เรา ซึ่งไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง"
     ...ยังเกรงคนโง่เขลาไม่เข้าใจ ใส่ไคล้วิถีธรรมนี้ ร้อยกัปพันชาติที่เกิดตาย เขาจะขาดไปจากเผ่าพันธ์จิตญาณแห่งพุทธะ นั่นก็คืิอขาดจากรากมูลแห่งพุทธะ  ฉะนั้น  พระธรรมาจารย์จึงกำชับลิ่วจู่ว่า "จงปรกโปรดฉุดช่วยสัตว์โลก ผู้มีลมปราณเยื่อใยสัมพันธ์"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พระธรรมาจารย์ยังโปรดเป็นโศลกแก่ลิ่วจู่อีก ณ บัดนั้นว่า จงฟังโศลกจากอาตมา  :::::

                                  ปรกโปรดสู่ ผู้มี                เยื่อใย
                                  เนื้อนาให้   เป็นเหตุ          เกิดผล
                                  ปราศจากชีพ คือปราศจาก   พันธุ์เพาะ
                                  ปราศจาก เนื้อนา  บุญไซร์   ไม่อาจ  เกิดมี

       ความหมาย...พิจารณา...
       ประโยคสุดท้ายสองบาทของโศลก แฝงความหมายไว้สองประการ  ประการที่หนึ่ง  "ปราศจากชีพ" หมายถึง ปราศจากรากมูลแห่งพุทธะ  คนระดับจิตนี้ แม้มีเหตุปัจจัยให้ได้รับวิถีธรรม แต่ก็ยากที่จะเจริญธรรมได้
       ประการที่สอง  หมายถึงจงปรกโปรดฉุดช่วย เพิ่มพาบุญปัจจัยแก่เขาเหล่านั้น มิให้ยึดหมายเฉพาะคุณสมบัติและหรือนามรูปนั้น ๆ ...ปราศจากเนื้อนาบุญไซร์...จิตญาณที่เกิดปัญญาบริสุทธิ์ ปราศจากอาสวะ เป็นเนื้อนาบุญของผู้นั้น
      ในเชิงปฏิเสธ ผู้ปราศจากเนื้อนาบุญด้วยปัญญาบริสุทธิ์ ไม่อาจปลูกกุศลมูลให้งอกงามได้ จึงไม่อาจมีการเกิด ไม่อาจเจริญธรรมได้ต่อไป
      ในเชิงรับ   หากปราศจากเยื่อใยสัมพันธ์ในการปรกโปรด ไม่พยายามฉุดช่วยปรับสภาพเนื้อนาแห้งแล้ง ยากจะเสาะหาเนื้อนาอุดมได้ เมื่อปราศจากเนื้อนาบุญ ก็ไม่อาจเกิดมีเผ่าพันธ์แห่งพุทธะ จึงดูเหมือนเป็นสองทางเลือกในการปรกโปรด
       พระธรรมาจารย์โปรดอีกต่อไปว่า "ในครั้งกระนั้น เมื่อสมเด็จพระโพธิธรรมเพิ่งจาริกมาสู่ดินแดนแห่งนี้ ผู้คนยังไม่ศรัทธาเชื่อถือ จึงต้องมอบหมายจีวรพงศาธรรมาจารย์นี้ไว้เป็นหลักฐานสัญญา สืบต่อกันมาทุกสมัย"
      ส่วนสัทธรรมวิถีแห่งจิตนั้นถ่ายทอดด้วยจิตสู่จิต ล้วนให้ประจักษ์รู้แจ้งได้ด้วยตนเองทั้งสิ้น "ตั้งแต่โบราณกาลมา พระพุทธะสู่พระพุทธะ ทุกพระองค์ ล้วนถ่ายทอดแต่ "ตัวจริง ตัวแท้แห่งจิต" แต่ละพระอาจารย์ มอบหมายกำชับลับเฉพาะตัวแท้ของจิตนั้น"
      ความหมาย...พิจารณา...
      ...ถ่ายทอดแต่ตัวจริงตัวแท้... ก็คือ ถ่ายทอดให้เข้าถึงจิตญาณตนตัวแท้จริงแต่เดิมทีที่มีอยู่ เช่นเดียวกับที่พระวิสุทธิอาจารย์โปรดถ่ายทอดวิถีธรรมแก่เราในยุคนี้ ...กำชับลับเฉพาะจิตนั้น...มอบให้โดยตรงคือผู้สมควรได้รับตามเหตุปัจจัยแห่งบุญ เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยุคกาลนี้ แม้เบื้องบนจะปรกโปรดกว้างใหญ่ แต่เหตุใดจิตของคนมากมาย จึงรับไม่ได้ ไม่ได้รับ หรือยังรับไม่ได้ ยังไม่ได้รับ เพราะการจุดเบิกจากพระวิสุทธิอาจารย์ เป็นพิธรถ่ายทอด ""จิตสู่จิต"" ""จิตประทับรู้ในจิต"" ""กำซาบซึ้งถึงโพธิจิตพุทธญาณ ตัวจริง ตัวแท้ของจิต"" เป็นการเบิกทางให้จิตรู้แจ้งเข้าใจในจิตตนโดยฉับพลัน  ภาวะนี้ ไม่มีใครเกิดเป็นแทนใครได้ ไม่อาจฝากให้ช่วยรับ เหมือนฝากไปทำบุญ หรือฝากให้ไปดูแล้วกลับมาบอกเล่าให้ฟังได้
      พระธรรมาจารย์กล่าวกำชับต่อไปอีกว่า ""บาตรกับจีวรเป็นสาเหตุของการแย่งชิงกัน จึงให้หยุดการถ่ายทอดมอบหมายลงตรงท่านเป็นองค์สุดท้าย หากมอบหมายสืบต่อบาตรกับจีวรนี้ ชีวิตจะเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย อันตรายนัก ท่านจะต้องรีบไป เกรงจะมีผู้ทำร้ายท่าน !!!
      ความหมาย...พิจารณา...
      เป็นคำนิยมเคยชินอย่างหนึ่งของคนที่ยึดหมายเอาวัตถุเป็นสัญลักษณ์สัญญาที่แสดงถึงความสำคัญ หลายคนจึงยึดติดว่า ผู้ได้ตราประทับ (วัตถุ) ได้สิ่งของประจำตัวอริยบุคคล เท่ากับเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เป็นใหญ่ในการดำเนินการ มีสถานภาพได้รับความศักดิ์สิทธิ์ปรกแผ่แก่ตน ค่านิยมความเคยชินนี้ ทำให้พระธรรมาจารย์ พระธรรมจาริณีของเรา ต้องพลอยได้รับความลำบากไปด้วยเช่นกัน จวบจนบัดนี้ พระอริยะร่างของพระองค์ บรรจุฝังอยู่ที่ใด จะรู้กันอยู่เฉพาะนักธรรมสำคัญเพียงไม่กี่ท่าน ซึ่งแทนที่จะเปิดเผยอย่างสง่างามให้ได้กราบไหว้โดยทั่วกัน กลับต้องกลายเป็น พระอริยเจ้าที่ถูกแอบแฝงไว้  บางพระองค์ นับร้อยพันปีผ่านไป ยังต้องเก็บเป็นความลับมิกล้าเปิดเผย ด้วยเกรงว่าจะถูกโจรกรรมแย่งชิง
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        โศลกพระธรรมาจารย์หงเหยิ่นสมัยที่ห้า  :::  ปรกโปรดสู่  ผู้มี               เยื่อใย
                                                             เนื้อนาให้   เป็นเหตุ          เกิดผล 
                                                             ปราศจากชีพ คือปราศจาก   พันธ์เพาะ
                                                             ปราศจาก  เนื้อนา บุญไซร์   ไม่อาจ เกิดมี
                                                             โหย่ว ฉิง ไหล เซื่ย จ่ง       อิน ตี้ กว่อ หวน เซิง
                                                              อู๋ ฉิง จี้ อู๋ จ่ง                  อู๋ ซิ่ง อี้ อู๋ เซิง
  (หมายเหตุ !!!  บาตรกับจีวร หยุดการมอบหมายลงตรงท่านพระธรรมาจารย์สมัยที่หกลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) ในเวลายามสาม )

       ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิง กราบเรียนถามว่า ""ศิษย์ควรไปที่ใด"" พระธรรมาจารย์โปรดว่า ""พบ ไฮว๋ ให้หยุด (ไฮว๋ เป็นชื่ออำเภอ ปัจจุบันคือ อำเภอไฮว๋จี๋ มณฑลกว่างซี  พบ ฮุ่ย (ฮุ่ย คือ อำเภอซื่อฮุ่ย มณฑลกว่างตง  ภายหลังแผนที่ประเทศปรับเปลี่ยนใหม่ ทั้งสองอำเภอรวมอยู่ในมณฑลกว่างตง ) ให้ซ่อนตัว""
       ลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) ได้รับมอบบาตรกับจีวรในเวลายามสามแล้ว กราบเรียนพระธรรมาจารย์ว่า ""ศิษย์เป็นชาวใต้ส่วนกลาง นานมาไม่เคยรู้จักเส้นทางป่าเขานี้ มิรู้ที่จะออกไปสู่ริมแม่น้ำเพื่อข้ามฝั่งได้อย่างไร"" พระธรรมาจารย์โปรดว่า ""มิพึงกังวลห่วงใย เราจะส่งท่านออกไปด้วยตนเอง""
      พระธรรมาจารย์โปรดส่งศิษย์ฮุ่ยเหนิงจนมาถึงแม่น้ำจิ่วเจียง ข้างศาลาที่พักคนเดินทางมีเรือลำหนึ่ง  พระธรรมาจารย์ให้ศิษย์ฮุ่ยเหนิงขึ้นเรือ (ลงเรือ) พระธรรมาจารย์จับคันแจว ลงมือแจวข้ามฝั่งด้วยพระองค์เอง ศิษย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า ""ขอพระเถระเจ้าโปรดนั่งศิษย์ควรเป็นผู้แจว"" พระธรรมาจารย์โปรดว่า ""ควรเป็นเราส่งท่านข้ามฝั่ง""
      ความหมาย...พิจารณา...
      พระธรรมาจารย์ให้ศิษย์ฮุ่ยเหนิงขึ้นเรือ แฝงความหมายอวยชัยว่า ศิษย์จะต้องข้ามจากห้วงโอฆะไปสู่ฟากฝั่งอันเกษมให้ได้ต่อแต่นี้ไป ศิษย์จะต้องเป็นต้นหนธรรมนาวา ขนถ่ายเวไนยไม่ประมาณ (ฝากฝังมอบหมาย) ""ควรเป็นเราส่งท่านข้ามฟาก"" มีคำกล่าวว่า "แม้ไม่มีครูอาจารย์ มิกล้ากล่าวอ้างว่าล่วงรู้โพธิญาณ ไม่มีผู้นำทางมิกล้าบุ่มบ่ามข้ามป่าเขา โดยความเป็นครูอาจารย์ ล้วนมีหน้าที่ทุ่มเทนำทาง พระธรรมาจารย์จึงลงมือแจวเรือข้ามฝั่งเอง
      ผู้ทรงธรรมย่อมอยู่ในธรรมทุกสภาวะ จะคิด พูด ทำ  ล้วนเป็นธรรมไปทุกสิ่ง มีคำกล่าวว่า "ศึกษาพระธรรมคัมภีร์ ให้ถึงที่ซึมรู้สู่แก่นแท้" เข้าสู่ความหมายแก่นแท้ของคัมภีร์ก็คือ เข้าที่ซึมรู้สู่แก่นแท้จิตญาณตน รอบตัวทุกอย่างล้วนเป็นพระธรรมคัมภีร์ หากจิตปราณีต รู้การพิจารณาให้ดี ทุกขณะ ก็จะได้ศึกษาพระธรรมคัมภีร์ทุกกรณีตลอดเวลา
      ลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) กราบเรียนว่า ""ขณะหลง อาจารย์ฉุดนำ รู้แจ้งพลัน ฉุดนำตนเอง""  ""ฉุดนำ"" คำเดียวกัน ใช้ในความหมายต่างกัน ฮุ่ยเหนิงเกิดที่ชายแดน สำเนียงพูดไม่ชัดเจน ยังได้รับกรุณาคุณจากพระเถระเจ้า ถ่ายทอดสัทธรรม  บัดนี้ศิษย์รู้แจ้งแล้ว จึงสมควรฉุดนำจิตญาณตนด้วยตนเอง
    ความหมาย...พิจารณา...
    ""ฉุดนำ ฉุดพา หรือ ฉุดช่วย"" ที่ใช้กันอยู่ในอาณาจักรธรรมนั้น ให้ความหมายทั้งฉุดเวไนยให้ขึ้นจากทะเลทุกข์ ฉุดเวไนย์ให้ดำเนินธรรม ""นำพา"" หรือช่วยส่งเสริมให้เขาเจริญธรรม อักษรจีนใช้คำว่า ""ตู้"" แปลว่าพายเรือ หรือส่งให้ข้ามฝั่ง
      พระธรรมาจารย์โปรดว่า ""เป็นเช่นนี้ เป็นเช่นนี้"" วันข้างหน้าสัทธรรมวิถีฉับพลัน อาศัยท่านถ่ายทอดแพร่หลายเต็มที่ ท่าจากไปแล้วสามปี เราจึงจะละสังขาร ท่านจงเดินทางให้ดี พยายามมุ่งสู่ทิศใต้ มิควรด่วนเทศนาแสดงธรรม ด้วเหตุว่าวาระนี้พุทธรรมมิใช่ง่ายที่จะริเริ่มจำเริญกาล"" พระธรรมาจารย์กล่าวจบก็ให้รู้สึกเจ็บแปลบที่หัวใจ แต่พระองค์มิได้แสดงอาการแต่อย่างใด
      ความหมาย...พิจารณา...
      ""ท่านจากไปแล้วสามปี เรา "จึงจะละ" กายสังขาร..."" พระอริยเจ้าเห็นความตายเหมือนมิได้เห็น รู้วันตายเหมือนรู้วันทั่วไป และอาจกำหนดรู้ว่าจะอยู่จะไป ""สามปีเราจึงจะละกายสังขาร"" เป็นกำหนดหมายที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นมาก ศิษย์กำลังจะดั้นด้นเดินทางไปสู่หนทางข้างหน้าที่มีผู้ปองร้ายติดตาม แต่สามปีนี้ยังมีพระธรรมาจารย์คุ้มอยู่ หากพระองค์กล่าวว่าสามปีเราจะละกายสังขารก็คือกำหนดด้วยจิตปรารถนาจะอยู่เพื่อศิษย์อีกสักระยะหนึ่ง
      เมตตากรุณาธรรมอันลึกซึ้งของพระอริยเจ้า ใครเลยจะเข้าถึงได้ถี่ถ้วน ""มิควรด่วนเทศนาแสดงธรรม"" ลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) เป็นชาวป่า ยังมิเคยเข้าสู่โลกภายนอกอันซับซ้อนสับสน แม้จะรู้แจ้งในจิตตน แต่ประสบการณ์ต่อคนทางโลกก็จำเป็น อีกทั้งคนนับร้อยที่ตามล่าบาตรกับจีวร ก็เป็นปัญหาสำคัญที่พระธรรมาจารย์รู้ล่วงหน้าทุกอย่าง จึงต้องเป็นไปให้เหมาะแก่วาระบุญ
      การนำพาส่งเสริมญาติธรรมใหม่ก็เช่นกัน หากเร่งด่วน ดึงดัน เขารับไม่ได้ ละไปจากทางธรรมเราจะกลับมีผิดบาปที่ดึงให้เขาขาดจากปัญญาญาณ 
   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

     เมื่อลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) กราบลาพระธรรมาจารย์แล้ว ก็ออกเดินทางด้วยเท้ามุ่งไปทางใต้ ประมาณสองเดือนก็มาถึงเทือกเขา""ต้าอวี่หลิ่ง""  พระธรรมาจารย์หงเหยิ่น กลับสู่""วัดบูรพาฌานตงฉันซื่อ"" แล้วหลายวันแต่ก็มิได้ออกบัลลังก์ธรรมศาลา ศิษย์ทั้งหลายพากันแปลกใจ จึงส่งตัวแทนเข้ากราบเรียนถามว่า ""พระเถระเจ้าท่านสบายดีอยู่ หรือวิตกด้วยเรื่องอันใด"" พระธรมาจารย์โปรดว่า ""มิได้อาพาธแต่อย่างใด แต่จีวรธรรมได้ไปทางใต้แล้ว"" ศิษย์รีบถาม "ผู้ใดได้รับมอบ" โปรดว่า ""ผู้มีความสามารถ""ศิษย์ทั้งหมดจึงได้รู้
      ความหมาย...พิจารณา...
      พระธรรมาจารย์มิได้ปิดบังลวงหลอก แต่กล่าวด้วยปริศนาธรรมว่า ผู้ที่ได้รับบาตรกับจีวร คือ""ผู้มีความสามารถ"" ลิ่วจู่ ฮุ่ยเหนิง""เหนิง"" แปลว่าสามารถ  ที่มาของนามว่า""ฮุ่ยเหนิง"" คือ ในวันที่สองหลังจากที่ฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) อุบัติมา  วันนั้น อยู่ ๆ ก็มีพระสงฆ์สองรูปมาแสดงความยินดีสาธุการต่อบิดามารดาของฮุ่ยเหนิง แล้วกล่าวว่า ""บุตรชายคนนี้ของท่านมีฐานะแห่งความเป็นพุทธะอาตมาจึงใคร่ของตั้งชื่อให้ว่า ""ฮุ่ยเหนิง  หมายถึง ผู้มีปัญญา ความสามารถ มีปัญญาธรรมล้ำเลิศ จนอาจประสิทธิ์ประสาทธรรมคุณอันสูงยิ่งแก่สาธุชน อีกทั้งเกินกว่าจะประมาณได้ จะเป็นผู้จรรโลงพุทธศาสนาด้วยปัญญาธรรม""" กล่าวจบ พระสงฆ์ทั้งสองรูปก็หายไปจากที่นั่นอย่างน่าอัศจรรย์
      เมื่อสงฆ์ทั้งหลายได้รู้ว่า ""บาตรกับจีวร"" อันเป็นวัตถุสัญญา เป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งพระธรรมาจารย์"" ถูกท่านฮุ่ยเหนิงรับไป ซึ่งขณะนี้กำลังเดินทางไปทางทิศใต้เท่านั้นเอง โดยมิต้องนัดหมาย..."""ความโลภอยากเป็นสิ่งซึ่งมิพึงต้องนัดหมายแกัน""   
     สงฆ์หลายร้อยรูปพากันออกติดตาม เพื่อจะแย่งชิงบาตรกับจีวร ไว้เป็นของตนหรือกลับคืนมา  ในจำนวนนั้นมีสงฆ์รูปหนึ่ง สามัญนามว่า ""เฉินฮุ่ยหมิง"" เคยเป็นนายพันทหารมาก่อน นิสัยจิตใจ การกระทำบุ่มบ่าม ห่ามและหยาบ แม้จะตั้งใจฝึกฌานเพื่อให้เข้าถึงจิตญาณตน แต่ก็ยังบำเพ็ญไปได้ไม่ถึงไหน จึงหวังเต็มที่จะติดตามลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิงไป เพื่อขอวิถีธรรม อาศัยความสามารถจากการเคยเป็นทหารและสังขารแกร่งกล้าจึงตามมาทันลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิงก่อนใคร ๆ
     ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิงวางบาตรกับจีวรไว้บนก้อนหินใหญ่กล่าวว่า ""บาตรกับจีวรเป็นสัญลักษณ์สูงส่ง เป็นสิ่งซึ่งใช้กำลังแย่งชิงได้หรือ"ลิ่วจู่แฝงกายอยู่ในพงหญ้า เฉินฮุ่ยหมิงตามมาถึง เห็นบาตรกับจีวรบนก้อนหิน ก็ตรงเข้าไปหยิบยก แต่บาตรกับจีวรมิได้ขยับเขยื้อนเลยจึงร้องเรียกว่า ""ท่านผู้จาริก ท่านผู้จาริก ข้าพเจ้ามาเพื่อแสวงธรรม มิได้มาเพื่อบาตรกับจีวร"" ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิง จึงออกจากที่ซ่อน ขึ้นนั่งสมาธิบัลลังก์บนก้อนหินใหญ่
     ความหมาย...พิจารณา...
     ...เป็นสัญลักษณ์สูงส่ง เป็นสิ่งซึ่งใช้กำลังแย่งชิงได้หรือ มีความหมายสองประการ  สัญลักษณ์สูงส่ง พึงบำเพ็ญเพียรกอปรด้วยบารมี จึงสมควรรับไว้ หาใช่ ใช้กำลังแย่งชิงกันเช่นนี้  ความหมายอีกประการหนึ่งคือ สัญลักษณ์สูงส่ง แม้แย่งชิงไปได้ ถึงอย่างไรก็เป็นเพียงวัตถุ จะเกิดประโยชน์อันใดที่ใช้กำลังแย่งชิงไป
      เฉินฮุ่ยหมิง กราบแล้วกล่าวว่า ""ขอท่านผู้จาริกได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย"" พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่จึงได้โปรดว่า""ในเมื่อท่านมาเพื่อแสวงธรรม ก็จงระงับอารมณ์ความเกี่ยวพันทุกอย่าง อย่าได้เกิดความคิดใดเลย เราจะกล่าวแก่ท่าน...""
     ความหมาย...พิจารณา...
     ในอาณาจักรธรรม ขณะถ่ายทอดวิถีธรรม พิธีกรเอกกล่าวว่า ""...ทำใจให้เป็นสมาธิ (สงบ) มองดูพุทธประทีป..."""นั่นก็คือความหมายในภาวะเดียวกันกับที่ท่านลิ่วจู่ โปรดแก่ฮุ่ยหมิงเป็นเบื้องต้นว่า ระงับความเกี่ยวพันทุกอย่าง อย่าได้เกิดความคิดใดเลย  ในคัมภีร์วัชรญาณสูตร จินกังจิง จารึกความตอนหนึ่งที่พระสุภูติ กราบทูลถามต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า""กุลบุตร กุลธิดาบังเกิดจิตอนุตตรสัมมาสัมโพธิ พึงกำหนดจิตลง ณ ฐานใด พึงสงบจิตนั้นประการใด...""" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบว่า""ณ บัดนั้น ท่านจงสดับ"" หมายถึง จงระงับอารมณ์เกี่ยวพันทุกอย่าง อย่าได้เกิดความคิดใดเลย เช่นนี้จึงเข้าถึงการสดับสัทธรรมได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       เวลานั้น สงฆ์ฮุ่ยหมิงต้องใช้เวลานานโขกว่าจะสงบลงได้ พักใหญ่ ลิ่วจู่จึงแสดงธรรมแก่สงฆ์ฮุ่ยหมิงว่า ""ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว(ไม่มีความคิดใด ๆ เลย) ขณะนั้นเอง นั่นก็คือโฉมหน้าแท้จริง(คือภาวะจิตหมดจดแต่เดิมที) ของเถระฮุ่ยหมิงท่านเองแล้ว สงฆ์ฮุ่ยหมิงรู้แจ้งจิตญาณตนทันที เมื่อฟังจบลง  สงฆ์ฮุ่ยหมิงเรียนถามอีกว่า ""ตั้งแต่ก่อนมา นอกเหนือจากพระรหัสวาจา ความลับเฉพาะดังกล่าวแล้ว ยังมีความลับยิ่งกว่านี้อีกหรือไม่""
      ความหมาย...พิจารณา...
     ความลับที่ถ่ายทอดเฉพาะบุคคล ซึ่งพระอริยเจ้าเก็บรักษาไว้ แท้จริงแล้วก็มิใช่ความลับ แต่เนื่องจาก ""คน"" หลงติดอยู่ในอารมณ์ความคิดรูปแบบใหม่ ไม่รู้จักคาวมคิดจิตใจที่ใสบริสุทธิ์ของตนแต่เดิมที จึงกลับเห็นรูปแบบเดิมทีเป็นความลับ
     ไตรรัตน์ในวิถีอนุตตรธรรมที่ว่าเป็นความลับเฉพาะแท้จริงแล้วก็มิใช่ความลับ แต่ที่มิให้แพร่งพรายก็เพราะคนหลงไม่อาจเข้าถึงภาวะนั้นได้ ทุกอย่างจึงเป็นความลับสำหรับเขา  พระพุทธะพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ต่างเข้าถึงความลับนั้นได้เอง โดยมิพึงแสวงหาจากที่ใด จึงมิใช่ความลับสำหรับพระองค์
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงโปรดว่า ""ที่กล่าวแก่ท่านแล้วนั้นมิใช่ความลับสำหรับท่านต่อไป หากย้อนมองส่องตนได้ความลับที่ยิ่งกว่านั้น ก็อยู่ที่ตัวของท่านเอง   สงฆ์ฮุ่ยหมิงกล่าวว่า ""ฮุ่ยหมิง แม้จะอยู่ที่หวงเหมย (สถานที่และพระธรรมาจารย์เดียวกัน) แต่แท้จริงมิได้รู้ตื่นพิจารณาโฉมหน้าแห่งตนเลย  จากบัดนี้ท่านผู้จาริกก็คืออาจารย์ของฮุ่ยหมิง""
     พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่กล่าวว่า ""เมื่อท่านเป็นเช่นนี้ คิดได้ดังนี้ เราต่างก็เป็นศิษย์พระธรรมาจารย์หวงเหมย (หงเหยิ่น)ด้วยกันจงประคองรักษา""ตน จิตญาณตน"" ให้ดีเถิด""" ฮุ่ยหมิงกราบเรียนถามอีกว่า ""หลังจากนี้ศิษย์ควรจะมุ่งสู่ที่ใด"" พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ตอบว่า ""เมื่อพบเอวี๋ยน (คือเมืองเอวี๋ยนโจว ในมณฑลเจียงซี) ให้หยุด  พบเหมิง (มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าเหมิงซัน ลิ่วจู่ให้ฮุ่ยหมิงไปอยู่บำเพ็ญที่นั่น) ให้พำนัก""
      ลิ่วจู่เป็นชาวป่าเมืองใต้ ล่วงรู้ด้วยญาณวิเศษของท่านเองว่า สถานที่ใดอย่างไร เช่นเดียวกับที่พระธรรมาจารย์หงเหยิ่นชี้แนะลิ่วจู่ก่อนจะจากมา  ฮุ่ยหมิง กราบลาพระธรรมาจารย์ลิ่วจู่กลับทางเดิมไปถึงชายเขา บอกกล่าวแก่ผู้ไม่ประสงค์ดีนับร้อยที่ตามรอยท่านลิ่วจู่มา เมื่อได้พบเขาเหล่านั้นก็บอกกล่าวว่า ""เราปีนป่ายขึ้นไปหา แม้แต่เขาสูงก็ไม่พบร่องรอยของท่านฮุ่ยเหนิงทางแถบนี้ เราจงพากันไปค้นหาทางทิศอื่นเถิด""ทั้งหมดเชื่อว่าเป็นความจริง
     ความหมาย...พิจารณา...
     ด้วยความเคารพในพระคุณล้นพ้นจากพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงที่ได้โปรดธรรม  ภายหลัง ฮุ่ยหมิงได้เปลี่ยนชื่อเป็น""เต้าหมิง""
มิกล้าใช้ ""ฮุ่ย""ซึ่งตรงกับพระธรรมาจารย์
     ภายหลังฮุ่ยเหนิงหลบลี้มาถึงตำบลเฉาซี ยังถูกคนร้ายไล่ตามค้นหาติดตามมาจนได้พบเวลาผ่านไปเก้าเดือนกว่า ผู้มุ่งหมายบาตรกับจีวร ยังคงไม่ละความพยายาม ลิ่วจู่จึงต้องหลบซ่อนหลี้ภัยอยู่กับกลุ่มนายพรานที่ ""อำเภอซี่ฮุ่ญ"" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นเวลานานถึงสิบห้าปี  (สิบห้าปีที่ใช้ชีวิตร่วมอยู่กับเหล่านายพราน) ลิ่วจู่จะแสดงธรรมกับเขาเหล่านั้นตามควรแก่โอกาสเสมอ
     นายพรานมักจะให้ลิ่วจู่ทำหน้าที่เฝ้าสัตว์ที่จับมาซึ่งได้กักขังไว้ ลิ่วจู่จะแอบปล่อยสัตว์ทุกตัวที่แข็งแรง ซึ่งจะมีชีวิตรอดต่อไปได้อยู่เสมอ โดยที่เหล่านายพรานไม่ได้เอะใจเลย เพื่อมิให้เป็นที่รำคาญใจแก่เหล่านายพราน ลิ่วจู่จะฉันอาหารพืชผักที่อาศัยต้มลวกในหม้อน้ำแกงเนื้อสัตว์ของนายพราน แต่มิได้แตะต้องชิ้นเนื้อใด ๆ เลย บางครั้งถูกถามก็จะตอบว่า""ฉันกินแต่ผักข้างเนื้อ
      ความหมาย...พิจารณา...
      ""ฉันพืชผัก ต้ม ลวก ในหม้อน้ำแกงของนายพราน อย่างนี้อยู่ทุกมื้อ ทุกวัน นานถึงสิบห้าปี  เป็นภาวะอึดอัดกระอักกระอ่วนอย่างยิ่ง แต่เพื่อรักษาชีวิตร่างกายที่แบกรับภาระศักดิ์ศิทธิ์ ในฐานะพาศาธรรมาจารย์สมัยที่หกแห่งยุค มิให้ชีพจรพงศาธรรมต้องขาดช่วงไป จึงต้องจำใจลี้ภัยอยู่ในสภาพนั้นเรื่ิอยมา
       อาจมีชาวเราผู้บำเพ็ญเห็นว่า ถ้าเช่นนั้น เรากินเจก็น่าจะกินพืชผักในหม้อน้ำแกงเนื้อได้ด้วย โดยไม่แตะต้องชิ้นเนื้อได้ไหม??? จงมองดูเจตนาเป็นที่ตั้ง มองดูภาวะ ""จำใจ""ของท่านลิ่วจู่  กับภาวะ ""ตามใจ ย่ามใจ""ของตนเอง เพื่อสรุปคำตอบที่ถูกต้องได้     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       วันหนึ่ง ลิ่วจู่ใคร่ครวญดูว่า บัดนี้สมควรแก่วาระที่จะแพร่ธรรมได้แล้ว จะหลบลี้ต่อไปอีกไม่ได้  จึงละจากกลุ่มนายพรานเดินทางตรงไปที่""วัดธรรมญาณ ฝ่าซิ่งซื่อ ในเมืองกว่างโจว (รัสมัยเซ่าชิง ราชวงศ์ซ่ง ปีที่สิบเอ็ด เปลี่ยนชื่อวัดเป็น""รังสีกตัญญุตารามกวงเซี่ยวซื่อ"") พอดีเป็นเวลาที่เจ้าประคุณพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจงฝ่าซือ มาโปรดอรรถาพระคัมภีร์ "มหาปริวาณสูตร เนี่ยผันจิง""
      ขณะนั้น ธงทิวประดับต้อนรับพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง ต้องลมโบกสบัดอยู่รอบวัด สงฆ์รูปหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า "ลมไหว"  สงฆ์อีกรูปหนึ่งขัดขึ้นว่า "ธงไหว" ต่างแสดงเหตุผลกันไปไม่จบสิ้น ท่านลิ้วจู่จึงเดินเข้าไปหากล่าวแก่สงฆ์ทั้งสองรูปว่ามิใช่""ลมไหว""มิใช่""ธงไหว""แต่ท่านเอง ""ใจไหว"" ผู้ได้ฟังตื่นใจกับสัจธรรมคำนี้
      ความหมาย...พิจารณา...
      ผู้เห็นว่าลมไหว คือติดอยู่ในนามรูปของลม หากไม่เคยรู้จักลม ไม่เคยเห็นนามรูปของลม อันเป็นภาวะจิตภายนอกเดิมแท้ ก็จะไม่กล่าวว่าลมไหว  ผู้ที่เห็นว่าธงไหว ก็เช่นกัน ติดอยู่ในนามรูปของธงอันเป็นวัตถุ เป็นภาวะจิตภายนอกเดิมแท้
     แม้ธงและลมจะเป็นนามรูปแต่หากใจไม่ปรุงแต่งกำหนดหมายไปตามนามรูปนั้น ใจก็จะว่างจากลมไหว หรือธงไหว ท่านลิ่วจู่จึงกล่าวว่า ""ท่านเองใจไหว""
     ยุคโลกาภิวัตน์สับสนวุ่นวายในปัจจุบัน มีเสียงบ่นกันมากมายว่าใคร่หาความสงบได้จากที่ใด ก็คงจะหาได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไกล ณ ที่ใจของท่านนั่นเอง    ::: ใจหยุด  ทุกอย่างหยุด     ::: ใจไหว      ทุกอย่างไหว
                                          :::  ใจสงบ  ทุกอย่างสงบ     :::  ใจวุ่นวาย   ทุกอย่างวุ่นวาย
     พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง  รับทราบดังนั้นแล้ว จึงเชิญลิ่วจู่ขึ้นนั่งบนอาสนะระดับสูง เรียนถามข้อธรรมลึกซึ้งจากท่านลิ่วจู่  ได้เห็นท่านลิ่วจู่ อรรถาธิบายด้วยคำพูดธรรมดา ๆ  สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ชัดเจนถ้วนถี่ ตรงต่อหลักสัจธรรมทุกถ้อยคำ โดยมิต้องมีสำนวนโวหารพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง  ทราบได้ทันทีว่าท่านผู้นี้มิใช่บุคคลธรรมดา จึงเอ่ยถามว่า ""ท่านผู้จาริกจะต้องมิใช่คนธรรมดาอย่างแน่นอน ...ได้ยินมาช้านานแล้วว่า จีวรพงศาธรรมแห่งหวงเหมยโปรดสู่ทางใต้ คงจะเป็นท่านผู้จาริกกระมัง"" ท่านลิ่วจู่ตอบสั้น ๆ อย่างถ่อมตนว่า ""มิกล้า""
      ความหมาย...พิจารณา...
      ถ่อมองค์ว่า ""มิกล้า"" ซึ่งเป็นการแสดงสถานภาพของพงศาธรรมาจารย์สมัยที่หกแห่งยุคแล้วอย่างชักเจน  ในที่นี้  ใคร่ขอให้ผู้บำเพ็ญโปรดพิจารณายกย่องผู้อื่นของพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจงด้วยว่า ปราศจากอัตตา ปราศจากทิฐิวิสัยได้อย่างสูงส่งเพียงไร
      เมื่อชัดเจนเช่นนี้แล้ว พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง จึงนำศิษย์น้อมกราบพระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ทันที อีกทั้งขอให้พระธรรมาจารย์เปิดเผยบาตรกับจีวรพงศาธรรมให้สาธุชนได้กราบนมัสการกัน
      ความหมาย...พิจารณา...
      พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง ก็มิใช่บุคคลธรรมดาท่านเป็นศิษย์พงศาธรรมาจารย์สมัยที่ห้า มหาเถระหวงเหมย (หงเหยิ่น)เช่นกันหลังจากที่พระธรรมาจารย์ดับขันธ์กลับคืนไปแล้ว  ก็จาริกมาที่วัดธรรมญาณที่กว่างโจว...ย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ที่ผ่านมา  หลังจากที่พระธรรมาจารย์หวงเหมย (หงเหยิ่น) ส่งศิษย์ฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) ข้ามฟากแล้ว ต่อมาภายหลังพระธรรมาจารย์หงเหยิ่นได้เจริญธรรมวิเศษ จาริกโปรดสัตว์เรื่อยไป จนถึงอำเภอเจิ้งฝู่ฝัง และได้ดับขันธ์ละกายสังขารไปอย่างเงียบ ๆ ในถ้ำหินบนภูเขาฝังซัน
     ก่อนละสังขารบรรลุธรรม ชาวบ้านแถบนั้นต่างแลเห็นแสงสีรุ้งพวยพุ่งออกจากถ้ำ สว่างเหนือถ้ำนับพันหมื่นสายอยู่หลายวัน เป็นที่อัศจรรย์นัก  สิบห้าค่ำเดือนห้า ตรงตามกำหนดที่กล่าวแก่ลิ่วจู่ ฮุ่ยเหนิงไว้ว่า""อีกสามปีเราจึงจะละกายสังขาร""
     ปัจจุบัน พระเจดีย์ที่บรรจุพระสรีระร่างของพระองค์เป็นปูชนียสถานสำคัญที่สานุชนยังมากราบนมัสการกันไม่ขาดสาย ณ อำเภอหวงเหมย ที่พระองค์อุบัติมา
     กลับมากล่าวถึงพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง เผยแผ่พุทธธรรมอยู่ในเมืองกว่างโจวอยู่สิบสองปี  เป็นที่เคารพเลื่อมใสของสาธุชนทุกวงการ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย นับเป็นพระมหาเถระเจ้าสำคัญยิ่งในสมัยนั้น
     เรื่องราวการมอบหมายบาตรกับจีวรแก่ลิ่วจู่ ท่านก็ได้ฟังมาจากคนรุ่นก่อนซึ่งมีความคิดเห็นต่างกัน ...บ้างคิดว่าลิ่วจู่ได้รับมอบ...บ้างก็คิดว่าลิ่วจู่ลักโขมยไป  ฝ่ายหลังจึงออกติดตามเพื่อจะช่วงชิงเอากลับคืน
     พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง อยู่ในฝ่ายคิดเห็นว่า ""ได้รับมอบ""" จึงมีความเคารพนบนอบ อีกทั้งขอความกระจ่างในข้อธรรมจากลิ่วจู่   พระอภิธรรมาจารย์กราบเรียนถามอีกว่า ""พระธรรมาจารย์หวงเหมยได้โปรดกำชับมอบหมายชี้แนะแนวทางไว้อย่างไรลิ่วจู่ตอบว่า ""ชี้แนะแนวทางหามิได้ ได้แต่พิจารณาการรู้แจ้งจิตญาณตน ไม่พิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้น""
      ความหมาย...พิจารณา...
      ที่ว่า ไม่พิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้น  นั้นด้วยเหตุจะทำให้ตกไปสู่ธรรมปฏิบัติยึดหมายในมโนวิญญาณ ยากจะเข้าสู่สภาวะรู้แจ้งจิตญาณตน ซึ่งสำหรับผู้ที่ได้รับวิถีจิตโดยตรงแล้ว น่าจะเพียรพยายามในทางตรงที่ได้รับรู้นั้น  นี่คือความหมายประการหนึ่ง  ประการที่สอง คือวิถีจิตที่พระธรรมาจารย์หงเหยิ่นถ่ายทอด หนึ่งจุดเบิกนั้นคือจุดกำหนดสูญตา ความว่าง นำจิตเข้าสู่ภาวะว่าง  ณ  จุดนั้น  ก็จะรู้แจ้งจิตญาณตน รู้ได้เช่นนี้แล้ว ยังจะวกกลับไปพิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้นอีกทำไม
 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
           
         หมายเหตุ !!!   พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิงได้ถ่ายทอดวิถีธรรมโปรดแสดงธรรมแก่ศิษย์ สงฆ์ฮุ่ยหมิง (เฉินฮุ่ยหมิง  บวชอยู่ที่หวงเหมยสถานที่และพระธรรมาจารย์เดียวกันทั้งสองต่างก็เป็นศิษย์พระธรรมาจารย์หวงเหมย (หงเหยิ่น) ภายหลัง ฮุ่ยหมิงได้เปลี่ยนชื่อเป็น"เต้าหมิง" มิกล้าใช้ ""ฮุ่ย"" ตรงกับพระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิง) ""ไม่คิดดี  ไม่คิดชั่ว  ไม่มีความคิดใด ๆ เลย""

         พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง (ท่านเป็นศิษย์ของพระธรรมาจารย์หงเหยิ่น (พระมหาเถระเจ้าหวงเหมย ) สมัยที่ห้า ท่านดับขันธ์ละกายสังขารไปเงียบ ๆในถ้ำหินบนภูเขา"ฝังซัน"อำเภอเจิ้งฝู่ฝัง สิบห้าค่ำเดือนห้า ปัจจุบัน พระเจดีย์ที่บรรจุพระสรีระร่างของพระองค์เป็นปูชนียสถานสำคัญ  ณ  อำเภอหวงเหมย)  เช่นกัน ท่านลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิง

         พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจงยังกังขา จึงกราบเรียนถามซ้ำว่า ""เหตุใดจึงไม่พิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้น"" ตอบว่า""เหตุด้วยธรรมะปฏิบัติอันแยกเป็นสองกรณี มิใช่พุทธธรรม  พุทธธรรมเป็นเอกะหนึ่งเดียวไม่เป็นสอง""
        ความหมาย...พิจารณา...
  .....ไม่พิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้น ด้วยเป็นสองกรณี  เหตุใด ! จึงต้องหลุดพ้น?? เพราะเหตุที่มีสิ่งผูกมัด เพื่อแก้ปมผูกมัด จึงต้องเอาหลุดพ้นเป็นข้อกำหนด  เหตุใด ! จึงต้องเอาฌานสมาธิเป็นธรรมปฏิบัติ ??  เพราะเหตุที่มิอาจเข้าถึงภาวะรู้แจ้งจิตตนฉับพลัน มิอาจดับลงโดยตรงทันที จึงต้องเอาฌานสมาธิเป็นข้อกำหนด  เช่นนี้  พระธรรมาจารย์หงเหยิ่น จึงมิได้โปรดกำชับหมอบหมายชี้แนะแนวทางให้พิจารณาฌานสมาธิเพื่อการหลุดพ้น แต่โปรดให้พิจารณารู้แจ้งจิตญาณตนเป็นสำคัญ เคยมีคนถามว่า""วิถีอนุตตรธรรมคือพุทธศาสนาหรือมิใช่"" วิถีอนุตตรธรรมมิใช่พุทธศาสนาโดยตรง แต่เผยแผ่หลักพุทธธรรมอันเป็นสัจจะ เป็นทางรู้แจ้งจิตเดิมตนเข้าถึงภาวะหลุดพ้นได้ เผยแผ่วิถีจิต สืบต่อเรื่อยมาจากพระบรรพจารย์ครั้งก่อนเก่า  ในพิธี มีธรรมประกาศิตจากเบื้องบนว่า"" หนึ่งจุดศูนย์กลางรู้ได้ในจิตตน อี้จื่อจงเอียงฮุ่ย""" นั่นคือ การพิจารณารู้แจ้งจิตตนเป็นหลักสัจธรรมที่ให้เข้าถึงจิตพลัน
   """ปรกโปรดกาลสุดท้าย จากโบราณกาลมา มิเคยเอ่ยให้  """  "" ณ ที่นี่ วิสุทธิอาจารย์จะขานไข "" ให้รู้แจ้งจริง  """คนโง่หลง ได้รู้หนทางกลับบ้านเดิม """ ให้ก้าวสู่วิถีจิตมิพึงวกวน ให้แจ่มแจ้งสัจธรรม กำหนดกาลนี้จึงเรียกว่า ""ธรรมกาลยุคขาว"" ""ขาวใสด้วยใจรู้แจ้ง""  เข้าถึงภาวะเอกะธรรม
        พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง จึงเรียนถามอีกว่า ""เช่นไรจึงเป็นเอกะพุทธรรม"" 
        ความหมาย...พิจารณา...
        สิบห้าปีก่อน เมื่อลิ่วจู่เดินทางมาถึงเฉาซี พบแม่ชีอู๋จิ้นจั้ง  แปลว่าคลังมหาสมบัติมิอาจประมาณ (พุทธญาณขุมคลังปัญญา) สวดท่องพระคัมภีร์ ""มหาปรินิรวาณสูตร"" โดยไม่เข้าใจความหมาย ลิ่วจู่จึงอรรถาธิบายให้ฟัง
        เมื่อพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง มีคำถามมา จึงตอบว่า ""ที่อภิธรรมาจารย์เทศนาคัมภีร์มหาปรินิรวาณสูตร ไปเมื่อสักครู่นั่นแหละเป็นความหมายให้แจ้งใจในพุทธญาณตน คือพุทธธรรมอันไม่เป็นสอง
       ความหมาย...พิจารณา...
       แจ้งใจในพุทธญาณตน คือแจ้งใจในพุทธธรรม  จึงเข้าถึงเอกะธรรม  เราได้รับวิถีธรรม พระวิสุทธิอาจารย์ถ่ายทอดหนึ่งจุดศูนย์กลางรู้ได้ในจิตตน ณ บัดใจ ให้เข้าถึงพุทธธรรม
       เช่นในคัมภีร์มหาปรินิรวาณสูตร  พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ""ผู้ล่วงผิดต่อศีลข้อห้ามสี่ กระทำอนันตริยกรรมห้า และไม่ศรัทธาเลื่อมใสต่อพุทธรรมเหล่านี้ จะต้องขาดจากกุศลมูลแห่งพุทธญาณหรือไม่"""
       ความหมาย...พิจารณา...
       ศีลสี่ คือ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมย ล่วงผิดในกาม มุสาเพ้อเจ้อ   อนันตริยกรรมห้า คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้สงฆ์แตกแยก ทำให้พระพุทธองค์ห้อโลหิต  ซึ่งเจตนาร้ายทำลายพุทธสาทิสลักษณ์ หรือพระพุทธรูปบูชา ก็จัดอยู่ในข้อนี้

         

Tags: