collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 71975 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        ท่านสิงซือได้รับการถ่ายทอกวิถีจิตอันรู้แจ้งฉับพลันจากพระธรรมาจารย์แล้ว จึงกลับไปยังภูเขาชิงเอวี๋ยน เมืองจ๋โจว เผยแพร่พระธรรมคำสอน  ภายหลังเมื่อมรณภาพ ฮ่องเต้้ถวายราชสักการะนามตามไปว่า " พระอภิธยานะอุปการะจารย์ " พระมหาเถระเจ้าสายฌานอีกรูปหนึ่ง ธรรมฉายา ไฮว๋ยั่ง แซ่ตู้  เป็นชาวเมืองจินโจวเบื้องต้น ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระคุณเจ้าหลวง มหาเถระฮุ่ยอัน แห่งซงซันบรรพต  พระมหาเถระเจ้าฮุ่ยอัน โปรดส่งมอบให้มากราบนมัสการถวายตัวที่เฉาซี เมื่อท่านไฮว๋ยั่งมาถึง กราบพระธรรมาจารย์แล้ว พระธรรมาจารย์โปรดถามว่า "มาจากที่ใด" ตอบว่า "มาจากซงซันบรรพต" โปรดว่า "สิ่งใด ให้ท่านมา" ตอบว่า "กล่าวขานว่า สิ่งหนึ่งใด ดังนี้ จะไม่ถูกต้อง"

พิจารณา  :  คำถามขอพระธรรมาจารย์ หากเผิน ๆ เช่นคนทางโลก จะรู้สึกเหมือนเหยียดหยัน แต่แท้จริงพระะรรมาจารย์หยั่งรู้ญาณปัญญาของผู้มาฝากตัว จึงทำการทดสอบด้วยวาจา ซึ่งก็รับทราบได้ ณ บัดนั้นว่า ท่านโฮว๋ยั่งมิใช่ธรรมดา ผู้รู้แจ้งในอนุตตรภาวะอันสูงส่งแยบยลวิเศยิ่ง จะมิอาจกล่าวอ้างได้ในภาวะนั้น เพราะผู้รู้ได้ขาดแล้วซึ่งการยึดหมายในรูปของวาจา รูปแห่งอักษร รูปแห่งการคิดคำนึง จึงไม่อาจเปรียบเทียบอย่างไรเป็น "สิ่งหนึ่งใด" ได้ พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ยังจะบำเพ็ญบรรลุผลได้หรือไม่" 

พิจารณา  :   ในเมื่อรู้แจ้งถึงระดับนี้แล้ว ละจากการยึดหมายได้ทั้งหมดเช่นนี้แล้ว ยังจะ (ทำการ) บำเพ็ญให้บรรลุผลได้อีกหรือไม่ ทำการบำเพ็ญคือ ยังมีส่วนรู้หมาย  บรรลุผลก้ยังมีส่วนที่รู้หมาย
        ท่านไฮว๋ยั่งตอบว่า "บำเพ็ญบรรลุผลมิอาจกล่าวว่าไม่มี แต่จะแปดเปื้อนมิได้"

พิจารณา  :  ท่านไฮว๋ยั่งรับว่า ยังมีความรู้หมายต่อการบรรลุผลของการบำเพ็ญ บรรลุผลเหมือนมิได้บรรลุ  ซึ่งแท้จริงคือ "บำเพ็ญอยู่ทุกขณะ บรรลุผลอยู่ทุกขณะ"   พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ความมิแปดเปื้อนดังนี้เอง ที่เหล่าพุทธะประคองรักษา ท่านไฮว๋ยั่งเข้าถึงความเป็นเช่นนี้เอง  สิ่งที่อาตมาเข้าถึง ก็เป็นเช่นนี้เอง"ท่านปัญญาตาระ ณ พุทธเกษร (พระธรรมาจารย์สมัยที่ยี่สิบเจ็ดแห่งชมพูทวีป) ได้พยากรณ์ไว้ว่า "ท่าน (ไฮว๋ยั่ง) จะมีม้าอาชาไนยใต้เบื้องบาท เหยียบย่ำทำลายคนใต้ฟ้านี้ " คำพยากรณ์นี้ ท่านจงเก็บไว้ในใจ มิพึงเร่งกล่าวไป"

พิจารณา  :  พระธรรมาจารย์ผู้หยั่งรู้ด้วยญาณอันแก่กล้า ได้กล่าวแก่ท่านไฮว๋ยั่งว่า "จะมีม้าอาชาไนยใต้เบื้องบาท" ก็คือจะได้ศิษย์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า รากฐานบุญสูงยิ่ง "เหยียบย่ำทำลายคนใต้ฟ้านี้" ก็คือปรกโปรดสาธุชนคนหลงมากมายให้ฆ่าทำลายกิเลสตัณหา ฆ่าจิตยึดมั่นถือมั่น ภายหลังพระมหาเถระเจ้าไฮว๋ยั่ง ได้ศิษย์ท่านหนึ่ง ธรรมฉายาว่า "หม่าเต้าอี"  หม่า คือ มัา  แปลว่า "ม้าตัวนี้จะเผ่นผงาดประกาศธรรมไปควบไวไม่ระย่อ ในยุคสมัยดังกล่าว พระพุทธศาสนาเรืองรุ่งเจริญไกล ตรงตามคำพยากรณ์ของท่านปัญญาตาระ พระธรรมาจารย์สมัยที่ยี่สิบเจ็ด ที่สื่อถึงพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        ย้อนกลับมาสู่เวลาขณะนี้ที่ท่านไฮว๋ยั่งมากราบพระธรรมจารย์  เมื่อพระธรรมาจารย์โปรดจบลง ท่านไฮว๋ยั่งประสานปัญญาญาณกับพระธรรมาจารย์ทันที จึงตั้งจิตปรารถนาปวารณาตัวรับใช้ปรนนิบัติวัฏฐากพระธรรมาจารย์อยู่เคียงข้างตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลายายนานถึงสิบห้าปี ระหว่างนี้ ปัญญาญาณของท่านยิ่งสูงส่งลึกล้ำ ภายหลัง ได้จาริกสู่ภูเขาหนันเอวี้ย เผยแผ่พุทธธรรมสายฌานที่รู้แจ้งฉับพลันเป็นการใหญ่  พระมหาเถระเจ้าสายฌาน ธรรมฉายา อย่งเจีย มณฑลเจ้อเจียง ศึกษาพระธรรมคัมภีร์มาแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะศึกษาลึกซึ้งต่อธรรมปฏิบัติ "สมาธิปัญญา" ในนิกายเทียนไถ ด้วยเหตุที่ได้อ่านคัมภีร์วิมลเกียรตินิเทศสูตร จึงบังเกิดภาวะจิตใสใจสว่าง และเป็นด้วยเหตุบังเอิญ ครั้งหนึ่ง ที่ศิษย์พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ซึ่งมีธรรมฉายาว่า เสวียนเช่อ ได้ไปเยี่ยมเยียนนมัสการ ทั้งสองสนทนาธรรมกันอย่างปลื้มปิติยินดี การสนทนากล่าวถึงนั้น ล้วนสอดคล้องต่อธรรมะ วิถีจิตที่พระบรรพจารย์ทั้งหลายได้ถ่ายทอดมา  เสวี๋ยนเช่อ จึงเอ่ยถามมหาเถระเสวี๋ยนเจวี๋ยว่า "ท่านผู้เจริญ ได้รับวิถีธรรมจากพระอาจารย์ท่านใดมา"  ตอบว่า  "อาตมาได้สดับธรรมจากพระอาจารย์หลายท่าน ศึกษาทั้งพระสูตร ทั้งปุจฉาวิสัชนาธรรมมากมาย ภายหลังได้รู้แจ้งวิถีจิตแห่งพุทธะจากการอ่านพระคัมภีร์ "วิมลเกียรตินิเทศสูตร" แต่ยังมิได้รับการยืนยันจากพระอาจารย์ใดในความเข้าใจนั้นว่า ถูกต้องหรือไม่ประการใด"

พิจารณา  :  มีคำกล่าวว่า "ปราศจากพระวิสุทธิอาจารย์ชี้ชัดยืนยันไซร์ ไม่กล้ากล่าวอ้างว่ารู้ทางแห่งจิต" มหาเถระเสวี๋ยนเจวี๋ย แม้จะเข้าถึงภาวะจิตใสใจสว่างแล้วก็ตาม ยังมิกล้าแน่ใจว่า ที่รู้แจ้งในถูกต้องแน่แท้  สงฆ์เสวียนเช่อกล่าวว่า "ในยุค พระภิสมครรชิตพระพุทธเจ้า พระองค์แรกนั้น ภาวะแห่งการรู้แจ้งเองเช่นนี้ยังพอมีได้ แต่หลังจากยุคพระภิสมครรชิต พระพุทธเจ้าแล้ว การรู้แจ้งเองโดยปราศจากอาจารย์นั้น ล้วนเป็นภาวะธรรมชาติที่อยู่ภายนอกวิถีแห่งพุทธะ"  ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยนได้ฟังจึงกล่าวแก่ท่านเสวียนเช่อว่า "ถ้าเช่นนั้น ขอท่านผู้เจริญได้โปรดยืนยันแก่อาตมาด้วย"  ท่านเสวียนเช่อว่า "วาจาอาตมา ยังน้ำหนักเบา ที่เมืองเฉาซีมีมหาเถระเจ้าลิ่วจู่ พุทธชนโดยรอบสี่ทิศพากันมาชุมนุมคับคั่งเพื่อขอรับวิถีธรรม หากท่านประสงค์จะไป อาตมาจะนำพาไปด้วยคน"  ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยจึงพร้อมกับท่านเสวี๋ยนเช่อมากราบนมัสการพระธรรมาจารย์  ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยเดินเวียนพระธรรมาจารย์สามรอบ (อันเป็นการแสดงความเคารพแล้ว) ยืนตั้งไม้เท้าอยู่เบื้องหน้า (มิได้น้อมกายลง)  พระธรรมาจารย์จึงเอ่ยขึ้นว่า "อันสมณะ นั้น พึงประกอบด้วยศีลสิกขบท งดงามสูงสง่าถึงสามพันประการ จริยะประณีตอีกแปดหมื่นประการ  ท่านผู้เจริญมาจากแห่งใดหรือ จึงบังเกิดอาการถือตัวถึงเพียงนี้" 

พิจารณา  :  ศีลสิกขาบทสามพันประการ กับ จริยะประณีตแปดหมื่นประการ มิใช่ข้อกำหนดจำนวนเลขตายตัว แต่หมายถึงความรอบครอบเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยสงฆ์ อันไม่ต่างจากศีลบริสุทธิ์ประณีตของมหาโพธิสัตว์

        ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยตอบว่า "การเกิดตายเป็นเรื่องใหญ่ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้เร่งรุดจู่โจม"  (ไหนเลยจะมีเวลาหรือมัวเสียเวลาอยู่กับจริยะประณีตอีกทั้งจะกราบอาจารย์โดยมิรู้แท้ไม่ได้)  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ก็เหตุไฉนจึงไม่เลือกทางเข้าถึงชีวิตนิรันดร์ด้วยตน เพื่อสิ้นสุดความไม่เที่ยงแท้เร่งรุดจู่โจมนั้นเล่า" ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยตอบว่า "ตน (พุทธญาณ) คือชีวิตนิรันดร์ รู้สิ้น ฤาถวิลอนิจจังเร่งรุด" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "เป็นเช่นนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง" (ถูกต้อง ! ภาวะนั้นเป็นเช่นนี้เอง)
พิจารณา  :  ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยสัมผัสรับรู้ได้ ณ บัดนั้นว่า พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงคือ พระวิสุทธิอาจารย์แห่งยุคโดยแท้ เป้นพระอาจารย์ผู้สมควรได้รับการน้อมกายลงถวายความเคารพโดยแท้ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยจึงน้อมกายก้มกราบด้วยความเคารพครู่หนึ่ง จึงนมัสการลา  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "กลับเร็วไปไหม"  ตอบว่า "โดยแท้นั้น "ตน" หาได้เคลื่อนไหวไม่ เช่นนี้แล้วจะมีความ "เร็ว" ได้อย่างไร"

พิจารณา  :  "ตน" ที่มหาเถระทั้งสองรูปแสดงปริศนาธรรมต่อกันหมายถึง "ตน" อันเป็นชีวิตจิตญาณที่มั่นคงอยู่ในพุทธภาวะที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง  "ตน" ปราศจากการกำหนดหมายในการเคลื่อนไหว จึงปราศจากการรับรู้ด้วยความ "เร็ว" ในการเคลื่อนไหวของกายสังขาร  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ถ้าเช่นนั้นใครเล่าที่รับรู้ว่า หาได้เคลื่อนไหวไม่" ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยตอบว่า "ท่านผู้เจริญเองนั่นแหละที่เกิดจิตแยกแยะว่าเป็นใคร"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ท่านได้ความ เข้้าใจ ต่อชีวิตนิรันดร์ (นิพพาน) ยิ่งนัก" ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยตอบว่า "ภาวะของนิพพาน (ชีวิตนิรันดร์) ยังจะมีความเข้าใจอีกหรือ" พระธรรมาจารย์ถกนำอีกว่า "ก็การปราศจาก ความเข้าใจนั้น ใครเล่าเป็นผู้แยกแยะ"  ท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยตอบว่า "แยกแยะโดยมิใช่มโนกรรมความคิดของจิตที่แยกแยะ แต่มันจะเป็นเช่นนั้นเองโดยภาวะของจิตญาณที่สิ้นแล้วจากการแยกแยะ

พิจารณา  :  เมื่อเกิดความ "เข้าใจ" กับ "ปราศจากความเข้าใจ" ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีผู้รับรองความ "เข้าใจ" และมีผู้รองรับ "ปราศจากความเข้าใจ" นั้น ในที่นี้ท่านหมายถึงการแยกแยะของข้อธรรมทั้งปวงโดย "ไม่บังเิกิดความคิดแยกแยะ" เท่ากับปราศจากผู้รองรับทุกกรณี  (เฟินเปี๋ยอี๋เซี่ยฝ่า  ปู้ฉี่เฟินเปี๋ยเสี่ยง) "ธรรมวากัจฉา" หรือการถกถามภาวะธรรมต่อกันระหว่างพระอริยเจ้านั้น มิพึงใช้ภาษาถ้อยคำเยิ่นเย้อมากมายใด ๆ เลย เพียงสองประโยคสามประโยค ก็ไปถึงนิพพานแล้วเช่นนั้น  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "สาธุ จงค้างอยู่สักคืนหนึ่งเถิด" การค้างอยู่หนึ่งคืนของท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยในครั้งนั้น กลายมาเป็นคำขวัญของหมู่สงฆ์และผู้เจริญธรรมทั้งหลายในประวัติศาสตร์ยุคนั้นและยุคต่อมาว่า "ค้างหนึ่งคืน ตื่นรู้ใจ อี๋ซู่เจวี๋ย"  ต่อมาท่านเสวี๋ยนเจวี๋ยยังได้ประพันโศลกชื่อ "เพลงประจักษ์ธรรม  เจิ้งเต้าเกอ" แพร่หลายไปทั่วโลก

พิจารณา  :   " เพลงประจักษ์ธรรม เจิ้งเต้าเกอ "  แม้จะเป็นรูปโศลก อีกทั้งความยาวไม่กี่สิบประโยค แต่สาธยายหลักพุทธธรรมมหายานไว้เป็นอย่างดี เป็นที่นิยมของทุกนิกาย ความหมายล้วนกล่าวถึงภาวะของการรู้แจ้งเห็นจริงต่อจิตเดิมแท้้ 

        พระอาจารย์จื้อหวง ผู้บำเพ็ญฌานสมาธิ เคยกราบถวายตัวศึกษากับพระธรรมาจารย์สมัยที่ห้า และสำคัญตนว่าได้รับวิถีธรรมทางตรง เข้าถึงฌานสมาธิระดับสูงแล้ว จึงเก็บตัวอยู่ในกุฏิ นั่งเจริญภาวนาอยู่เป็นนิจนับแต่นั้นมา เป็นเวลานานถึงยี่สิบปี  สงฆ์เสวี๋ยนเช่อ ศิษย์ของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง จาริกขึ้นไปทางเหนือของแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห)  ได้ยินกิตติศัพท์ของพระอาจารย์จื้อหวง จึงไปกราบนมัสการเยี่ยมเยียน และเรียนถามว่า "พระอาจารย์ท่านทำอะไรอยู่ที่นี่หรือ" พระอาจารย์จื้อหวงตอบว่า "เข้าฌาน"  สงฆ์เสวียนเช่อถามต่อไปว่า "ท่านว่าเข้าฌานนั้น เป็นฌานที่มีความรู้สึกนึกคิด หรือ ปราศจากความรู้สึกนึกคิด  หากปราศจากความรู้สึกนึกคิด พวกต้นไม่ใบหญ้า กระเบื้องหิน ก็เข้าฌานได้เช่นกัน หากมีความรู้สึกนึกคิด  พวกที่มีจิตใจความรู้สึกทั้งหลาย ก็ควรที่จะได้ฌานด้วยเช่นกัน"  พระอาจารย์จื้อหวงว่า "ขณะที่อาตมาเข้าฌานนั้น ไม่เห็นมีด้วยในความรู้สึกนึกคิดของความมี หรือ ไม่มี"  สงฆ์เสวี๋ยนเช่อกล่าวต่อไปว่า "ไม่เห็นมีด้วยในความรู้สึกนึกคิดของความมีหรือไม่มี ก็คือ "ฌานคงที่ตลอดเวลา" ถ้าเช่นนั้น ไฉนจึงมีการเข้าฌาน  ออกฌาน  หากยังมีการเข้าออกอยู่ ก็จะมิใช่ฌานระดับสูง"พระอาจารย์จื้อหวงอึ้งไปไม่ตอบ เป็นนานจึงว่า "ท่านเป็นศิษย์ของใคร" สงฆ์เสวี๋ยนเช่อตอบว่า " พระอาจารย์ของอาตมาคือ พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่่ แห่งเมืองเฉาซี "   พระอาจารย์จื้อหวงถามว่า " พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่เอาอะไรเป็นฌานสมาธิ (กำหนดการทำฌานสมาธิอย่างไร) สงฆ์เสวี๋ยนเช่อตอบว่า "พระอาจารย์ของอาตมากล่าวว่า "(ภาวะ) กายธรรมอันปราศจากรูปลักษณ์นั้น (เป็นภาวะ) กลมสมบูรณ์สงบนิ่งวิเศษแท้ "องค์" กายธรรมอันเป็นหลัก กับ "ศักยภาพ" อันเป็นคุณสมบัติของกายธรรมสงบคงที่  ขันธ์ห้านั้น อันที่จริงคือสิ่งว่าง  อายตนะหกก็มิใช่สิ่งมีจริงแท้  จึงไม่เข้าไม่ออก ไม่คงอยู่ในสมาธิ และไม่วุ่นวายกระเจิงไป ภาวะแห่งฌานปราศจากการยึดหมาย พ้นจากการยึดหมายในความสงบแห่งฌานได้ ภาวะแห่งฌานก็จะปราศจากการเกิด (ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เข้าออก) พ้นจากการคิดคำนึงต่อการเกิดของฌาน (ไม่ยึดหมายให้ได้ฌาน) จิตใจก็จะเวิ้งว้างดุจอากาศกว้าง อีกทั้งปราศจากขอบเขตจำกัดแห่งอวกาศว่างนั้น"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        เมื่อพระอาจารย์จื้อหวงได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเดินทางตรงมาเพื่อคารวะพระธรรมาจารย์  พระธรรมาจารย์ถามว่า "ท่านผู้เจริญมาด้วยเหตุอันได" พระอาจารย์จื้อหวงเล่าความเป็นมาที่มีบุญสัมพันธ์กับสงฆ์เสวียนเช่อโดยตลอดนั้น  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "เป็นเช่นที่สงฆ์เสวียนเช่อกล่าวแก่ท่านแล้วโดยแท้ ขอเพียงให้ใจของท่านประดุจห้วงอวกาศอันเวิ้งว่างปราศจากทิฐิยึดหมายอยู่ในความว่างนั้น การใช้ความว่างนั้นก็จะปราศจากอุปสรรคขัดข้อง จะเคลื่อนไหวทำการใดหรือจะสงบนิ่ง ก็ปราศจากใจวุ่นวายปรุงแต่ง ลืมสิ้นต่อภาวะผูกโยงทั้งทางโลก ทางอริยะ ลืมสิ้นทั้งสิ่งที่ให้ได้และได้ให้ จิตญาณกับรูปลักษณ์สงบคงที่ เช่นนี้ ไม่มีขณะใดที่ขาดจากสมาธิได้" ฟังดังนั้นแล้ว พระอาจารย์จื้อหวงพลันเกิดความรู้แจ้งถึงที่สุด สิ่งที่ได้รับ (ฌานสมาธิอันยึดหมายไว้) เมื่อยี่สิบปีก่อน พลันอันตรธานสูญสิ้น ไม่ตกค้างแต่อย่างใดเลย  ราตรีนั้นเอง ชาวบ้านผู้คนทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ต่างได้ยินเสียงดังจากเบื้องฟ้าเป็นข้อความว่า "พระอาจารย์จื้อหวงได้รับวิถ๊ธรมวันนี้" ภายหลัง  พระอาจารย์จื้อหวงกราบลาพระธรรมาจารย์ กลับคืนไปยังตอนเหนือลุ่มแม่น้ำหวงเหอถิ่นฐานตน แพร่ธรรมกล่อมเกลาสาธุชนไปทั่วทุกทิศ  สงฆ์รูปหนึ่งกราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ว่า "จุดหมายแห่งธรรมของหวงเหมย (พระธรรมาจารย์สมัยที่ห้า) ผู้ใดได้รับ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า "ผู้เข้าถึงพุทธธรรมเป็นผู้ได้รับ" 

พิจารณา  :   หวงเหมยเป็นชื่อตำบลบ้านเกิดของพระธรรมาจารย์สมัยที่ห้า

        สงฆ์รูปนั้นถามอีกว่า "พระมหาเถระเจ้า ท่านได้รับแล้วหรือมิได้" พระธรรมาจารย์ตอบว่า "อาตมามิได้รับ"  สงฆ์ถามอีกว่า "ไฉนพระมหาเถระเจ้า ท่านจึงมิได้รับ"  พระธรรมาจารย์ตอบว่า "อาตมาเข้าไม่ถึงพุทธธรรม"

พิจารณา  :  พระธรรมาจารย์ตอบว่า มิได้รับ กับ เข้าไม่ถึง  พุทธธรรม  เป็นคำตอบจากภาวะจิตของผู้ได้รับและเข้าถึงจริง แสดงถึงความสำรวมระวัง ไม่ยึดหมาย ไม่อวดอ้าง

        วันหนึ่ง  พระธรรมาจารย์ใคร่จะซักจีวรที่ได้รับสืบทอดจากพงศาธรรมาจารย์มา แต่หาลำธารสวยน้ำใสไม่ได้ จึงดำเนินไปทางหลังวัดไกลออกไปอีกห้าลี้กว่า  เห็นหมู่ไม้ไพรพฤกษ์เจริญร่มเย็น เห็นบรรยากาศมงคลวนอยู่โดยรอบเหนือบริเวณนั้น ท่านเขย่าลูกกระพรวนบนหัวคทาแล้วปักลงตรงนั้น น้ำพุ่งขึ้นจากแผ่นดินตรงนั้นทันที พูนเพิ่มเป็นสระใหญ่อย่างรวดเร็ว (ภายหลังได้ชื่อว่า ลำธารซักล้าง จั๋วสี่เฉวียน ) พระธรรมาจารย์ก้มลงซักจีวร ณ โขดหิน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        ขณะนั้น อยู่ ๆ มีสงฆ์รูปหนึ่ง ปุปปับมากราบพระธรรมาจารย์ กราบเรียนว่า "ศิษย์มีฉายาว่า ฟังเปี้ยน เป็นชาวเมืองซื่อชวน (ซีสู่ หรือ เสฉวน) ฟังเปี้ยนเดินทางมาไกล ด้วยปรารถนาจะขอชมบาตรกับจีวรที่พระธรรมาจารย์ได้รับมอบหมายสืบต่อมา" พระธรรมาจารย์โปรดออกนำแสดง แล้วถามว่า "ท่านทำงานการใดหรือ" (สันทัดธรรมปฏิบัติอย่างไร) ฟังเปี้ยนตอบว่า "สันทัดการปั้น" พระธรมาจารย์แสดงอาการจริงจังโปรดว่า "(ถ้าเช่นนั้น) ท่านลองปั้นดู" ฟังเปี้ยนมิรู้จะทำประการใด วางท่าไม่ถูก  ไม่กี่วันต่อมา ปั้นเป็นพระธรรมสาทิสลักษณ์พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเสร็จเรียบร้อย องค์สูงเจ็ดนิ้ว สัดส่วนงดงามปราณีตมาก เมื่อถวายแด่พระธรรมาจารย์ พระธรรมาจารย์ยิ้มแล้วโปรดว่า "ท่านเข้าใจแต่การปั้นชีวิตชีวารูปลักษณ์ (ปั้นรูปให้มีชีวิตชีวา) ไม่เข้าใจการปั้นชีวิตชีวาของพุทธะ (ไม่เข้าใจการปั้นพุทธยานตน)"พระธรรมาจาย์เอื้อมพระหัตถ์ไปลูบศรีษะของฟังเปี้ยน (เป็นการให้พร) แล้วโปรดว่า "เธอจงเป็นเนื้อนาบุญของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายเรื่อยไปตลอดกาลนานเถิด"  พระธรรมาจารย์มอบจีวรหนึ่งผืนเป็นค่าตอบแทน ฟังเปี้ยนแบ่งจีวรออกเป็นสามชิ้น  ชิ้นหนึ่งห่มเป็นกาสาวพัสตร์แด่พระธรรมสาทิสลักษณ์รูปปั้นนั้น ชิ้นหนึ่งเก็บรักษาไว้เป็นของตน  อีกชิ้นหนึ่งห่อด้วยใบลานแล้วฝังดิน  ขณะฝังได้อธิษฐานว่า ภายหน้าเมื่อได้ผ้าชิ้นนี้ (ถูกขุดขึ้นมา) นั่นคือ เมื่อข้าพเจ้าเกิดใหม่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ เพื่อทำการสร้างโบสถ์วิหารขึ้นใหม่  สงฆ์รูปหนึ่ง หยิบยกโศลกของอาจารย์เซ็น ฉายาอั้วหลุนขึ้นมาท่องบ่นว่า...

" อั้วหลุน" ฝีมือดีมีความสามารถ               อาจตัดขาดความคิดจิตนับร้อย   
 ต่อสภาพการใด ๆ ใจไม่พลอย               โพธิค่อยเติบใหญ่ทุกคืนวัน

        พระธรมาจารย์ได้ฟังโศลกที่ศิษย์นำมาท่อง จึงดปรดว่า "โศลกนี้ยังไม่กระจ่างต่อจิตเดิมแท้ หากปฏิบัติตามไป จะเพิ่มการผูกมัดให้แน่นเข้า"  จึงได้โปรดแสดงโศลกให้หนึ่งบทว่า.....

"ฮุ่ยเหนิง"  นี้ไม่มีความสามารถ             ไม่ตัดขาดความคิดจิตร้อยนั้น
สภาพใดใจเกิดไม่ยึดมั่น                      โพธินั้นวันคืนใดได้เติบโต

พิจารณา  : 

อันที่จริงทุกสิ่งอย่างล้วนว่างเปล่า             มิต้องเอาฝีมือใดไปตัดหนา
จิตเกิดดับกับสภาพลับหายนา                 โพธิหามีต้นไม้ใดเติบโต

                                                - จบบทที่ ๖ - 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        วาระนั้น พระธรรมาจารย์เจริญธรรมอยู่ ณ วัดป่ารัตนารามเป่าหลิน อำเภอเฉาซี  ส่วนมหาเถระเจ้าเสินซิ่วนั้นเจริญธรรมอยู่ ณ วัดธารหยก อำเภอจิงหนัน ณ เวลานั้น ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงธรรมกล่อมเกลาสาธุชนกันเป็นที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู สาธุชนต่างขนานนามแก่อาณาจักรธรรมทั้งสองว่า " ใต้เหนิง  เหนือซิ่ว " (หนันเหนิงเป่ยซิ่ว) (ทางใต้ท่านฮุ่ยเหนิง  ทางเหนือท่านเสินซิ่ว)  ดังนั้น จึงเกิดการแบ่งแยกในหมู่ชนเป็นสองนิกาย คือ เหนือกับใต้ ฉับพลันกับนานเนื่อง" ซึ่งผู้ศึกษาเอง ก็ยังไม่เข้าใจในจุดหมายหลักในการปฏิขัติบำเพ็ญของทั้งสองนิกายนี้

พิจารณา  :  "ฉับพลัน" คือการเข้าถึงสัจธรรม ให้รู้ความเป็นจิตเดิมแท้แห่งตนทันที เป็นวิธีนิรนัย  ไม่ต้องใช้หลักธรรมคำสอนมากมายมาหล่อหลอมตะล่อมใจให้คล้อยตาม  "นานเนื่อง" คือค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิธีอุปนัย ต้องใช้กุศโลบาย ใช้เวลานานต่อเนื่อง ศึกษาปฏิบัติบำเพ็ญเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะบรรลุ  ทั้งสองนิกาย แท้จริงแล้วมิได้พิเศษกว่ากันโดยเหตุแห่งวิธีนิรนัยหรืออุปนัย มิได้เป็นกฏเกณฑ์ตายตัวว่า จะต้องใช้เวลามากน้อยกว่ากันในการเข้าถึงทั้งภาวะ "ฉับพลัน"  หรือภาวะ "นานเนื่อง"  แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอันได้สร้างสมมาแต่ก่อนกาล วิถี "ฉับพลัน" อุปมาผลไม้แก่จัดได้ที่ เมื่อปลิดลงมาก็พร้อมที่จะกินได้  วิถี "นานเนื่อง"  นั้น  อุปมาเหมือนผลไม้ที่ยังต้องรอเวลา เมื่อแก่จัดแล้วจึงค่อยปลิดลงมาซึ่งก็หอมหวานปานกัน ฉับพลันกับนานเนื่องจึงเท่ากับมองดูผลไม้นั้นคนละขั้นตอน ผลไม้ทั้งสองล้วนเกิดบนต้น จากเริ่มเป็นดอก เป็นผลอ่อน ผ่านเย็นร้อนลมฝนจนกว่าจะได้ที่  ผู้บำเพ็ญ "ฉับพลัน"  ท่านสร้างสม  "ภาวะได้ที่" มาแล้วตั้งแต่ชาติไหน ๆ  ซึ่งมิใช่ข้ามขั้นตอนจากผลอ่อนแล้วแก่จัดได้ที่ทันที ซึ่งอาจสรุปได้ว่า "ฉับพลัน"  ได้ผ่าน  "นานเนื่อง"  มาก่อนแล้วเช่นกันนั่นเอง

         พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงโปรดแก่สาธุชนว่า "ธรรมะนั้น โดยแท้ล้วนเป็นต้นตระกูลหนึ่งเดียวกัน คนต่างหากที่มีความเป็นเหนือใต้ (คนต่างเผ่าพันธุ์) แต่พุทธธรรมนั้นเผ่าพันธุ์เดียวกัน" ทิฐิ  รู้เห็น  มีช้ามีเร็ว  เหตุใดจึงได้ชื่อว่า " ฉับพลันกับนานเนื่อง "  พุทธธรรมไม่มีความเป็นฉับพลันและนานเนื่อง แต่คนต่างหากที่มีความเฉียบแหลมกับทู่ทือ (พื้นฐานที่บำพ็ญต่างกัน ทำให้ปัญญาเฉียบแหลมกับทู่ทื่อต่างกัน) จึงได้ชื่อว่า ฉับพลัน  กับ  นานเนื่อง

พิจารณา  :  อริยะกับสามัญชน  ต้นตระกูลหนึ่งเดียวกัน ล้วนมาจากศูนย์พลังงานใหญ่แห่งมหาจักรวาลหนึ่งเดียวกัน เมื่อมาสถิต ณ ตัวตน  เริ่มต้นเป็นจิตญาณครองสังขารนั้น หากรักษาความบริสุทธิ์ใสไว้ได้ ไม่เกลือกกลั้วมัวหมอง ปัญญาอันเพียบพร้อมอยู่อย่างนั้นเอง ในจิตญาณได้รับการประคองรักษา ด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญเป็นอย่างดี จิตญาณนี้คือ อริยะ  แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม จิตญาณนั้นย่อมเป็นสามัญชน   จึงสรุปโดยประมาณว่า

จิตญาณคือธรรม             กำเนิดเดียวกัน
อริยะสามัญ                  ปัญญาแตกต่าง
ปล่อยใจปล่อยตัว           เกลือกกลั้วไม่วาง
จึงยิ่งทิ้งห่าง                 ทางกลับต้นเดิม

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

       ( แม้พระธรรมาจารย์จะโปรดชี้แจงให้เห็นสัจธรรม ความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมะที่ถูกหลงผิด แยกนิกาย ฝ่ายพวก เป็น "ฉับพลันกับนานเนื่อง" แล้วก็ตาม...)แต่ทว่าบรรดาศิษย์ของท่านเสินซิ่ว มักจะเหยียดหยันพระอาจารย์ฝ่ายใต้ว่า "ไม่รู้จักหนังสือแม้สักตัวเดียว จะมีปัญญาความสามารถอะไรเหนือกว่าได้"

พิจารณา  :  คนที่ชอบดูแคลนพระธรรมาจารย์เช่นนี้ นอกจากจะมีบาปมหันต์แล้ว ยังไมมีโอกาสใกล้ชิดพระอริยเจ้า ไม่อาจเข้าสู้ประตูพุทธะได้อย่างแท้จริง เิกิดความเสียหายแก่ตนมิอาจประมาณ

        เมื่อท่านเสินซิ่ว ได้ยินศิษย์กล่าวถึงท่านฮุ่ยเหนิงเช่นนี้ก็ปรามให้ว่า "ท่านฮุ่ยเหนิงเป็นผู้มีปัญญา โดยปราศจากอาจารย์สอนสั่ง รู้แจ้งลึกซึ้งต่อพุทธธรรมแห่งมหายาน อาตมามิอาจเสมอด้วยท่านได้ อีกทั้งพระธรรมาจารย์สมัยที่ห้าของอาตมาเอง ก็ได้มอบหมายถ่ายทอดวิถีธรรม กับ จีวรพงศาธรรมาจารย์ให้โดยตรงสิ่งนี้จะไร้การอันควรไปได้อย่างไร เสียดายที่อาตมาไม่สามารถเดินทางไกลไปใกล้ชิดท่าน (ฮุ่ยเหนิง) ได้ ได้แต่อยู่รับพระคุณอุปัฏฐากจากบ้านเมือง (อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์) เสียเปล่า พวกท่านทั้งหลายมิควรยั้งอยู่ที่นี่ จงไปศึกษาให้สิ้นข้อกังขาที่เฉาซีได้"

พิจารณา  :  ช่วงเวลานั้น สถานภาพของท่านเสินซิ่ว กับ ท่านฮุ่ยเหนิงนับว่าเสมอกัน แต่ท่านเสินซิ่วกล่าวแก่ศิษย์อย่างจริงใจ เปิดกว้าง ด้วยปฏิปทาอันน่าเคารพยิ่งเช่นนี้ ทำให้เห็นความเป็น " ผู้ใหญ่ " ที่ให้โอกาส ทำให้เห็นความเป็นผู้น้อยที่เคารพพระอาจารย์ เทิดทูนธรรมะเป็นที่สุดของท่าน 

        จากนั้น มหาเถระเจ้าเสินซิ่ว ได้โปรดบัญชาศิษย์ ธรรมฉายาจื้อเฉิงว่า "ท่านฉลาดเฉลียวมีปัญญามาก ไปฟังธรรมแทนอาตมาได้ที่เฉาซี หากได้สดับสัทธรรม พึงจดจำไว้ให้ดี กลับมาถ่ายทอดให้อาตมา" สงฆ์จี้เฉิงรับบัญชา เดินทางมาถึงเฉาซี เข้ากราบนมัสการพร้อมกับใคร ๆ โดยมิได้กราบรายงานว่า"ตนเอง" มาแต่ใด  ขณะนั้นเอง พระธรรมาจารย์ได้กล่าวแก่ทุกคนในที่นั้นว่า " วันนี้มีคนมาจาบจ้วงล้วงธรรม แฝงตัวอยู่ในการประชุมที่นี่ "

พิจารณา  :  พระธรรมาจารย์มีญาณวิเศษ ไม่ดูไม่ฟังแต่รู้เห็น ไม่เขียนไม่อ่านแต่ปัญญาญาณกระจ่างแจ้ง ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่พระธรรมาจารย์ใช้ญาณวิเศษ ต่อหน้าคนทั้งหลายด้วยความจำเป็นเฉพาะการ ซึ่งท่านไม่พึงปรารถนาจะแสดง ตลอดเวลาที่ถ่ายทอดวิถีธรรม (วิถีจิต) ให้รู้จิตฉับพลัน  ผันจิตให้พบพุทธภาวะในตน ล้วนเพื่อนำเข้าทางตรงอันอาจบรรลุธรรม แต่หากหลงใหลในอภิญญา เพลิดเพลินอยู่กับญาณวิเศษ นานวันไป นอกจากจะฟุ้งซ่านยึดหมายแล้ว ยังจะกลับคืนมาบำเพ็ญวิถีจิตทางตรงได้ยาก

        ทันที ที่พระธรรมาจารย์กล่าวจบ สงฆ์จื้อเฉิงรีบออกมาแสดงตัว ตรงเข้าก้มกราบพระธรรมาจารย์ เล่าความเป็นมาทั้งหมด พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ท่านมาจากธารหยก (วัดอวี้เฉวียนที่ท่านเสินซิ่วเจริญธรรมอยู่) ที่มานี้ น่าจะเป็นผู้สอดแนม" สงฆ์จื้อเฉิงตอบว่า "หามิได้"   พระธรรมาจารย์ว่า "ไฉนจึงว่าหามิได้" สงฆ์จื้อเฉิงตอบว่า "ขณะยังมิได้แสดงตัวกราบเรียนความเป็นมานั้น ใช่อยู่ เมื่อแสดงตัวกราบเรียนแล้วจึงว่า หามิได้"

พิจารณา  :  สงฆ์จื้อเฉิงมีไหวพริบปฏิภานเฉียบแหลม สมกับที่ท่านเสินซิ่วได้มอบหมายหน้าที่ให้โดยแท้

        พระธรรมาจารย์ถามว่า "อาจารย์ของท่าน แสดงธรรมนำพาสาธุชนอย่างไรหรือ" กราบเรียนว่า "ท่านชี้นำอบรมสาธุชนให้กำหนดจิตอยู่กับที่ ให้เพ่งดูความสงบ นั่งทำสมาธิตลอดเวลา มิให้เอนกายลงนอน" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "กำหนดจิตเพ่งดูความสงบ มิใช่วิถีแห่งฌาน แต่เป็นอาการป่วยของฌาน (ฝึกทรมาน) การนั่งอยู่ตลอดเวลาบังคับสังขาร จะมีประโยชน์อันใดต่อหลักธรรม" จงฟังโศลกจากอาตมา...
       
        เกิดมานั่งไม่เอนกาย             ตายไปเอนกายไม่นั่ง                       
กระดูกเน่าเหม็นเป็นร่าง                 บุญสร้างฤายึดร่างปฏิบัติ

พิจารณา  :  ความสำคัญของการเจริญธรรมนำเนื่องด้วยจิตญาณ มิใช่ด้วยอาการของร่างกายว่าจะต้องนั่งทำความเพียรฝืนสังขาร มิใช่จะต้องให้อดทนจนถึงที่สุดแล้วจึงจะเข้าถึงจิตญาณบรรลุธรรม  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงความเพียรด้วยกายสังขารมาก่อนอย่างหนักหนาสาหัส สุดท้ายพระองค์ก็ทรงทราบว่า มันไม่ใช่  จิตญาณเป็นหลัก กายสังขารเป็นองค์ประกอบ ทุกอย่างสงบราบรื่นไม่ฝืนขัด ในคัมภีร์สัจจคาถาเมตเตยยะ ประโยคหนึ่งที่ว่า "ใคร่บรรลุพุทธะพึงหมั่นกราบกราน" (เอี้ยนเสี่ยงเฉิงฝอฉินหลี่ไป้) กราบไป จิตญาณขอขมากรรมต่อความผิดความถูก (ความถูกที่อาจผิด) อาการเคลื่อนไหวกายสังขารขณะกราบ เป็นไปโดยดุษณีด้วยจิตสำนึก ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบ ช่วยให้จิตเข้าสู่ภาวะรู้ผิด รู้ชอบ รู้ผิด รู้ชอบ คือจิตได้หมั่นกราบกรานแล้ว     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        สงฆ์จื้อเฉิงกราบพระธรรมาจารย์เป็นคำรบที่สองแล้วกราบเรียนถามว่า "ศิษย์ศึกษาธรรมอยู่กับมหาเถระเจ้าสินซิ่วมาเก้าปีแล้ว มิได้เข้าถึงภาวะรู้แจ้ง บัดนี้ได้สดับคำกล่าวจากมหาเถระท่านเท่านั้น พลันสมานเข้าถึงจิตเดิมแท้ ศิษย์สำนึกรู้ว่าเรื่องเกิดตายเป็นเรื่องใหญ่ ขอมหาเถระท่านได้โปรดสั่งสอนชี้แนะอีกด้วยเถิด"

พิจารณา  :   สงฆ์จื้อเฉิงศึกษาธรรมอยู่กับท่านเสินซิ่วมาเก้าปี แม้จะยังมิรู้แจ้ง แต่เก้าปีที่่านมาก็ได้สร้างรากฐานของการบำเพ็ญมาพอสมควร ฉะนั้น พอสดับธรรมจากพระธรรมาจารย์เพียงเล็กน้อยก็เข้าถึงจิตเดิมแท้โดยฉับพลัน  หาไม่แล้วคงยังอีกห่างไกลนัก

        พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า "อาตมาได้ยินว่า อาจารย์ของท่านสั่งสอนชี้แนะผู้มาศึกษาธรรมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่แจ้งว่าอาจารย์ของท่านแสดงธรรมลักษณ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา ว่าอย่างไร พูดให้อาตมาฟังทีหรือ" สงฆ์จื้อเฉิงกราบเรียนว่า "พระอาจารย์เสินซิ่วท่านสอนว่า "ไม่ทำบาปทั้งปวง เรียกว่ารักษาศีล เทิดทูนปฏิบัติความดีทุกประการเรียกว่าเจริญปัญญา  ขำระดำริจิตใจให้ผ่องแผ้ว เรียกว่า ตั้งอยู่ในสมาธิ"  พระธรรมาจารย์เสินซิ่วโปรดไว้ดังนี้ มิทราบว่าพระเถระท่านโปรดธรรมต่อคนทั้งหลายอย่างไร"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "หากอาตมากล่าวว่า มีธรรมะโปรดแก่ผู้คน ก็คือหลอกลวงท่าน อาตมามีแต่ช่วยแก้ปมให้ตามเหตุปัจจัยอันสมควร โดยอาศัยชื่อแห่งสมาธิเท่านั้น (สมาธิมิอาจสอนได้) ที่อาจารย์ของท่านแสดงธรรมแห่งศีล สมาธ ปัญญานั้นวิเศษแท้ แต่ศีล สมาธิ ปัญญาในความเห็นของอาตมายังแตกต่างไปอีก"

พิจารณา  :   โปรดสังเกตุ และ พิจารณา คำถามคำตอบพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงผู้ทรงไว้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันล้ำเลิศบริสุทธิ์งดงาม ชัดเจนแต่มิได้ระคายเคือง
         สงฆ์จื้อเฉิง (แย้ง ) ว่า "ศีล สมาธ ปัญญาแห่งอาจารย์ของท่านใช้เป็นเครื่องรองรับชาวมหายาน ส่วนศีล สมาธิ ปัญญาแห่งอาตมานั้น ใช้เป็นเครื่องรองรับชาวมหายานสูงยิ่ง (พุทธยาน) ความเข้าใจกับการรู้แจ้งต่างกัน การเห็นจิตเดิมแท้มีช้ามีเร็ว ท่านจงฟังอาตมาดูทีหรือว่าจะแตกต่างจากอาจารย์ของท่านหรือไม่ ธรรมะที่อาตมาแสดงให้ไม่พ้นจากจิตญาณตน แสดงธรรมพ้นจากภาวะหลักแห่งธรรม เรียกว่า แสดง "ธรรมลักษณะ" (พูดเปลือกนอก) จิตญาณจะยึดหมายไปเป็นความหลง พึงรู้ว่าข้อธรรมทั้งปวง ล้วนเกิดแต่จิตญาณเป็นหลักเนื่องนำ เช่นนี้ จึงจะเป็นหลักธรรมของศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแท้จริง

พิจารณา  :  ศีล สมาะิ ปัญญา ที่ท่านเสินซิ่วแสดงธรรม เป็นข้อห้ามกำหนดจากภายนอก แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พระธรรมาจารย์แสดงเป็นภาวะอันเกิดจากจิตเดิมแท้ จึงกล่าวว่าเป็น ศีล สมาธิ ปัญญาแห่งจิตภายใน

จงฟังโศลกจากอาตมา  :
พื้นฐานจิต        นิจศีลไซร์        ไม่ก่อผิด
พื้นฐาฯจิต        นิจปัญญา         หาหลงไม่
พื้นฐานนั้น       มั่นสมาธิ           ไม่วุ่นวาย
ไม่ลดหาย       ไม่เพิ่มมาก        จากเิดิมที
อันจิตญาณ      นั้นวัชระ            ประภัสสร
ไม่ตัดทอน      ก่อนหลังว่า        มาแต่ไหน
เป็นอริยะ        สามัญชน          คนชั้นใด
กายมาไป       ในตถตา           สมาธิเดิม

พิจารณา  :  พื้นฐานจิต หมายถึง  จิตญาณอันเป็นภาวะแท้ของชีวิต  กายมาไป หมายถึง กายตนจริงที่เป็นจิตญาณอิสระ เป็นตถตาภาวะที่เป็นอยู่อย่างนั้นเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันแท้จริง   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )
                   
        สงฆ์จื้อเฉิงสดับโศลกจบลง ขอบพระคุณด้วยจิตสำนึกที่ได้ผอดพลาดไป จึงถวายโศลกขอบพระคุณบทหนึ่งว่า

รูปกายนี้             มีขันธ์ห้า             มายาเห็น
ในเมื่อเป็น          เช่นมายา            หาใดแน่
มุ่งหมายใน         ตถตา                ว่าจริงแท้
หากยังแปร         แวะเวียนไป         ไม่ใสจริง

        พระธรรมาจารย์เห็นด้วยกับคติธรรมในโศลกนี้

พิจารณา  :  ธรรมะบริสุทธิ์ใส แต่หากมีความมุ่งหมาย แม้แต่มุ่งหมายในความเป็น " เช่นนั้นเอง " ของจิตญาณ ของธรรมะ ของตถตา ธรรมะบริสุทธิ์ใส ก็แปดเปื้อนไปไม่เอี่ยมอ่องหมดจดเสียแล้ว ด้วยเหตุจากความมุ่งหมายยึดมั่นนั้น

        พระธรรมาจารย์โปรดแก่สงฆ์จื้อเฉิงอีกว่า "ศีล สมาธิ ปัญญาตามคำสอนของอาตมา เหมาะสำหรับตักเตือนผู้มีรากฐานปัญญาระดับใหญ่ (สูง)  หากรู้แจ้งจิตญาณตน อีกทั้งไม่ตั้งญาณทัสสนะ ความรู้เห็นต่อความเป็นโพธิ และความถึงซึ่งนิพพาน อีกทั้งไม่ตั้งญาณทัสสนะความรู้เห็นต่อกานหลุดพ้น เข้าถึงความว่างเปล่าอันปราศจากหนึ่งธรรมใดที่ได้รับ ดังนี้จึงอาจก่อเกิดธรรมทั้งปวงได้ในจิตญาณ"

พิจารณา  :  "ความไม่มีทำให้เกิดมี"  "ความมี" จะด้วยการรู้เห็น การยึดหมายในความมี ล้วนทำให้ไม่อาจมีอย่างแท้จริงได้" มีโพธิก็ด้วยมีลุ่มหลง มีนิพพานก็ด้วยมีเวียนว่าย มีหลุดพ้นก็ด้วยมีผูกมัด ปราศจากผูกมัด จะปรารถนาจากการหลุดพ้นทำไม หากเข้าถึงจิตญาณตนอันบริสุทธิ์หมดจดได้ ก็ไม่จำเป็นอีกเลยที่จะตั้งญาณทัสสนะความรู้เห็นต่อโพธิ ต่อนิพพาน ต่อการหลุดพ้น เมื่อภาวะจิตหมดจด จนมิได้ยึดหมายในหนึ่งธรรมใด ธรรมทั้งปวงย่อมเกิดขึ้นได้เองท่ามกลางความหมดจดนั้น ในภาวะอิสระไร้ขอบเขต

        พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า "หากเข้าใจความหมายนี้ ก็จะได้ชื่อว่า "กายแห่งพุทธะ" (พุทธะกายตน) ได้ชื่อว่าภาวะโพธิ นิพพาน ได้ชื่อว่าหลุดพ้นจากญาณทัสสนะรู้เห็น"

พิจารณา  :  หากเข้าใจความหมายนี้..หมายถึง หากเข้าใจความหมายในภาวะตถตา ที่ "เป็นอยู่อย่างนั้นเอง" นั้น โดยไม่ต้องเอามโนสัยยาความคิด ความจำ ความรู้ใด ๆ ไปเกาะเกี่ยวด้วย... ภาวะนั้นเองที่เรียกได้ว่าโพธิ นิพพาน" นิพพานในที่นี้หมายถึงจิตญาณบริสุทธิ์หมดจด ดับสิ้นจากความข้องทุกประการ

        โปรดต่อไปว่า ผู้เห็นจิตญาณตน จะกำหนด (นามรูป โพธิ นิพพาน) หรือไม่กำหนด ก็เป็นได้อยู่เอง มีอิสระจะมาจะไป (จะอยู่จะละสังขาร จะเกิดใหม่ตายไป) ล้วนปราศจากอุปสรรคขัดข้อง (ผู้เห็นจิตญาณตน) จะทำการใด ๆ ล้วนเป็นไปได้อย่างราบรื่นเหมาะสม จะสนทนาธรรม ตอบคำ ชี้นำ ได้ฉับพลันถูกต้อง (ผู้เห็นจิตญาณตน) จะสำแดงนิรมานกายไปทั่ว (อยู่กับชนหมู่ใด ก็สำแดงคุณสมบัติโปรดธรรมตามจริตของชนหมู่นั้น ๆ ) โดยไม่พ้นจากจิตญาณตน ดังนี้  คือการเข้าสู่ภาวะรู้ เห็น เป็น อยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์อิสระ ท่องเที่ยวไปในสมาธิ ชื่อว่า " เห็นจิตญาณตน "

พิจารณา  :  อมตะพุทธะจี้กง พระอาจารย์ของเราชาวอนุตตรธรรม โปรดประทับใช้ร่างพรหมจารีแสดงธรรมแก่ศิษย์นับไม่ถ้วนครั้ง พระองค์ไปมาอิสระ สำแดงนิรมาณกายหลายรูปแบบ เมื่อนั้น เมื่อนี้ ที่นี่ ที่นั่น ท่องเที่ยวไปในสมาธิ เป็นประจักษ์หลักฐานชัดเจนตามคำกล่าวข้างต้น พระองค์จึงได้พระนามว่า " อมตะพุทธะ" พุทธะที่ไม่มีวันตายจากพุทธชน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        สงฆืจี้อเฉิงกราบเรียนถามอีกว่า "เช่นไรจึงเป็นความหมายว่าไม่กำหนด" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ในเมื่อจิตญาณ (ทรงศีลเป็นนิจ) ไม่ก่อผิด (ทรงปัญญ) หาหลงไม่ (มั่นสมาธิ) ไม่วุ่นวาย ทุกขณะจิตกระจ่างใสด้วยปัญญา ออกหากจากธรรมลักษณะเป็นนิจ  เป็นอิสระอยู่อย่างนั้นเอง จะเป็นเช่นไรก็ได้เช่นนั้น (ดังนี้แล้ว)ยังจะมีข้อธรรมใดให้กำหนดอีก จิตญาณตนรู้แจ้งด้วยตน รู้แจ้งฉับพลัน บำเพ็ญฉับพลัน ปราศจากลำดับขั้นตอน เช่นนี้จึงมิต้องกำหนด ด้วยข้อธรรมทั้งปวง

พิจารณา  :  จิตภาวะดังกล่าวข้างต้น เป็นเช่นโศลกของท่านฮุ่ยเหนิงที่ว่า "โพธิอันที่จริงนั้นไร้ตน..." ส่วนจิตภาวะของคนทั่วไป เป็นเช่นโศลลกของท่านเสินซิ่วที่ว่า"หมั่นเช็ดถูทุกขณะ" ฉะนั้น ก่อนจะรู้แจ้งเห็นจริงในจิตญาณตน ข้อกำหนดแห่งธรรมทั้งปวงยังคงมี่ความจำเป็นให้อิงอาศัย

        โปรดว่า "ธรรมทั้งปวง ล้วนอยู่ในภาวะนิพพานอันสงบ ประหนึ่งดับสูญ ดังนี้แล้วยังจะมีลำดับขั้นตอนใดอีก

พิจารณา  :  " ข้อธรรมทั้งปวงล้วนเกิดแต่จิต "  (อวั้นฝ่าอิ๋วซินเซิง) เมื่อจิตญาณอยู่ในภาวะนิพพานอันสงบประหนึ่งดับสูญ ธรรมแห่งจิตญาณนั้น ย่อมอยู่ในภาวะนิพพานอันสงบประหนึ่งดับสูญเช่นกัน จึงปราศจากลำดับขั้นตอน

        สงฆ์จื้อเฉิงกราบด้วยความเคารพ ถวายตัวเป็นศิษย์ปรนนิบัติรับใช้ไม่ว่างเว้นนับแต่นั้น สงฆ์จื้อเฉิงเป็นชาวเมืองจี๋โจวไท่เหอ (ปัจจุบันคืออำเภอไท่เหอ มณฑลเจียงซี)  สงฆ์จื้อเช่อ ชาวมณฑลเจียงซี แซ่สกุลจาง สามัญนามว่าสิงชัง เป็นผู้กล้าหาญทะยานตน ต่อสู้ช่วยคนมาตั้งแต่เยาว์วัย ตั้งแต่เกิดการแบ่งแยกเหนือใต้ (ฉับพลันกับนานเนื่อง)  พระอาจารย์เจ้าคณะสงฆ์ องค์ประมุขของทั้งสองฝ่าย แม้จะมิได้แบ่งแยกกัน แต่ศิษย์ทั้งสองฝ่ายนั้นกลับยกตนข่มท่าน เกลียดชังอิจฉากัน ครั้งนั้น สานุศิษย์ฝ่ายเหนือยกย่องพระอาจารย์เสินซิ่วของตนขึ้นเป็นพระธรรมาจารย์สมัยที่หกกันเอง อีกทั้งไม่อยากให้ชาวโลกรู้ความจริงว่า พระธรรมาจารย์สมัยที่ห้า ได้โปรดแต่งตั้งมอบหมายจีวรพงศาธรรมาจารย์ให้แก่ท่านฮุ่ยเหนิงแล้ว ศิษย์ฝ่ายเหนือจึงสั่งให้สิงชังผู้กล้ามาฆ่าพระธรรมาจารย์ เพื่อกำจัดพระธรรมาจารย์องค์จริงเสีย  พระธรรมาจารย์มีญาณวิเศษรู้วาระจิตผู้อื่นได้ จึงทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น พระอาจารย์จึงเตรียมทองสิบตำลึงวางไว้ที่ข้างอาสนะ ในยามค่ำคืนนั้นเอง สิงชังผู้กล้าก็แฝงกายเข้ามาในห้องของพระธรรมาจารย์เพื่อจะฆ่าฟัน พระธรรมาจารย์ ยื่นคอรอรับคมดาบ สิงชังเงื้อดาบฟันลงที่ต้นคอพระธรรมาจารย์ถึงสามครั้ง แต่มิอาจทำลายพระธรรมาจารย์ได้เลยแม้แต่น้อย

Tags: