collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 71978 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
         สงฆ์ฝ่าต๋า  ได้รับโปรดเปิดทางปัญญาจากพระธรรมาจารย์  โลดเต้นยินดีสุดที่ประที่มาณ จึงถวายการสรรเสริญด้วยโศลกว่า

สวดท่องตาม        สามพันเล่ม        พระสูตรอ่าน
"เฉาซี" ท่าน        ขานตอบนำ        คำเดียวสิ้น
มิรู้หลัก                พ้นจากโลก        อันเคยชิน
ฤาหยุดลิ้น           สิ้นโอหัง             สั่งสมนาน

พิจารณา
        สงฆ์ฝ่าต๋ากล่าววาจาโอหังครั้งแรกที่กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์  เมื่อได้ฟังท่านที่มาจาก "เฉาซี" อรรถาธรรมเพียงคำเดียวเท่านั้น  ก็สิ้นทิฐิยึดหมายในฉับพลัน  ถ้าหากไม่เข้าใจพุทธวิสัยว่า เหตุใดอย่างไรจึงพ้นโลกฝ่าต๋าคงจะเริงโลดต่อไปอีกหลายกัปกัลป์

รถเทียมแพะ        เทียมกวางวัว        ล้วนอุปมา
เปรียบปราณว่า    เจริญธรรม            สามขั้นต่าง
ใครเลยรู้             คูหาเรือน              เป็นที่ตั้ง
ใจกลางนั่ง          องค์อร่าม              ธรรมราชา

พิจารณา
        รถเทียมแพะคือสาวกยาน  เทียมกวางคือปักเจกพุทธยาน  เทียมวััวคือโพธิสัตว์ยาน  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นยานระดับไหน  ทุกยานล้วนร่วมอยู่บนหนทางพุทธะยานหนึ่งเดียวกันทั้งสิ้น  ประโยคหลังที่ว่า "...ใครเลยรู้..."  "ใคร" มิใช่หมายถึงผู้อื่น  แต่หมายถึงตนเองทุกตัวตน  แม้เราจะอยู่ในบ้านเรือน แต่หากรู้แจ้งพุทธยานตน สามัญชนก็คือพุทธะ  เป็นผู้ใหญ่ คือผู้เข้าใจถ่องแท้ ผู้อยู่ท่ามกลางความลุ่มลึกแยบยลแห่งพุทธธรรมอร่ามเรืองอันสูงส่ง

พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ต่อไปนี้ท่านจึงชื่อได้แล้วว่า พระสงฆ์ผู้สวดท่องคัมภีร์"  สงฆ์ฝ่าต๋าเข้าใจความนัยอันแยบยลของการสวดท่องพระคัมภีร์นับแต่นั้น และยังคงสวดท่องต่อไปมิได้ขาด  สงฆ์จื้อทง (ปัญญาปรุดปร่ง) เป็นชาวเมืองโซ่ว อำเภออันเฟิง เริ่มจากอ่าน "ลังกาวตารสูตร" มาพันกว่ารอบ แต่ยังไม่เข้าใจคำว่า "สามกายสี่ญาน" กราบขอพระธรรมาจารย์โปรดอธิบายความหมาย พระธรรมาจารย์โปรดอะิบายความหมาย "สามกายสี่ญาณ" ว่า "ธรรมกาย" บริสุทธิ์หมดจด คือจิตญาณของท่านเอง (อันมีอยู่ เป็นอยู่โดยแท้แต่เดิมที) "สัมโภคกาย" สมบูรณ์พร้อม คือปัญญาญาณของท่านเอง ร้อยพันล้าน "นิรมาณกาย" คือการกระทำของท่านเองหากพ้นจากจิตญาณตน อย่าได้กล่าวอ้างถึงสามกาย จะได้ชื่อว่า "มีกายแต่ไร้ญาณปัญญา"   แต่หากรู้แจ้งในสามกาย ว่ามิใช่ (ต่างกาย) ต่างมีจิตญาณ จะได้ชือว่า "จตุญาณโพธิ"

พิจารณา
       จิตญาณ คือ ตัวรู้  ตัวปัญญา  พ้นหากจากจิตญาณ จะเป็นผู้ไม่รู้ เท่ากับ  "มีกายแต่ไร้ญาณปัญญา" เมื่อเป็นผู้ไม่รู้ ก็จะมิอาจเข้าถึงกายธรรม  สัมโภคกายและนิรมาณกายแห่งตนได้  "รู้แจ้งในสามกาย ว่ามิใช่ (ต่างกาย) ต่างมีจิตญาณ" คือผู้เข้าถึงจิตญาณตน คือเข้าถึงจตุญาณโพธิ คือภาวะเบิกบานทั้งสี่ของญาณ อันเป็นญาณปัญญาหนึ่งเดียวกัน

จงฟังโศลกของอาตมา
จิตญาณตน       สมบูรณ์พร้อม        ด้วยสามกาย
แผ่ขยาย           ใจสมบูรณ์             พูนญาณสี่
มิห่างจาก          เหตุปัจจัย             ใต้ธรรมนี้
พ้นวิถี               คนทั่วไป               ได้พุทธภูมิ
        บัดนี้  อาตมาจะกล่าวแก่ท่านว่า จงเชื่อมั่นศรัทธา จะมิหลงตลอดไป อย่าเอาเยี่ยงอย่างผู้โลดเล่นใฝ่หาเอ่ยวาจาว่าโพธิกันทั้งวัน
พิจารณา
จงเชื่อมั่นในพุทธวจนะ พระพุทธองค์มิกล่าวเท็จเป็นแน่แท้ ผู้ใดรับวิถีธรรม จงเชื่อมั่นในพุทธวจนะ  อมตะพุทธจี้งกง มิกล่าวเท็จเป็นแน่แท้  ธรรมประกาศิตในพิธีที่พระองค์กล่าวว่า "ทุกคนล้วนได้กลับคืนหนทางบ้านเดิม (เบื้องบน)คุ้มครองเจ้าพ้นภัยไปหมื่นแปดร้อยปี (พ้นภัย พ้นหากจากเวียนว่าย (เก้อเก้อเจียเต๋อหวนเซียงเต้า  เป่าหนี่อู๋เอี้ยงอวั้นปาเหนียน) ในพระคัมภีร์ "เมตเตยยะสัมภวะสูตร" กล่าวไว้ว่า แม้หากได้สดับพระนาม "พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์มหาสัตว์" จากนั้นทันทีได้เกิดโสมนัสปิติเคารพยิ่ง เขาผู้นั้นขณะสิ้นอายุขัย จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตดินแดนแห่งพระองค์โดยมิต้องสงสัย ณ ฉับพลันทันใดในชั่วลัดนิ้วมือเดียว ด้วยจิตญาณอันโสมนัสปิตินั้น  วันที่เข้าพิธีถ่ายทอดวิถีธรรม ทุกคนล้วนได้สดับพระนามพระองค์ แต่มีคนแย้งว่า "วิถีธรรมอันบรรลุได้โดยตรงในชาตินี้ จากการเอ่ยพระนามอมิตาภะพุทธเจ้า จากการโสมนัสปิติเคารพยิ่งต่อพระศรีอริยเมตไตรย เป็นเรื่องเหลือเชื่อ  วิถีอนุตตรธรรมหรือวิถีจิตที่เบื้องบนปรกโปรดในยุคนี้ ยิ่งเหลือเชื่อไปใหญ่ แต่เหตุไฉนจึงเป็นไปได้จริง ๆ  มีสาธุชนมาขอกราบรับวิถีธรรมและร่วมเข้ารับการอบรมยังสถานธรรมที่อยู่ ณ เชิงเขาที่เป็นสวนดอกไม้ สวนพฤกษชาติ ต่างอุทานด้วยความตื่นตาตื่นใจว่า "ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีสถานที่วิเศษสวยงามอย่างนี้ที่นี่ ! "  อาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรมจึงแสดงธรรมว่า "ไม่เคยคิดเพราะท่านไม่เคยมาไม่เคยรู้จัก วิถีธรรมที่ท่านได้รับและสงสัยก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงที่ท่านไม่เคยมาสัมผัส ไม่เคยมารู้จัก จึงแปลกใจ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3 

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        สงฆ์จี้ทงกราบเรียนถามต่อว่า "ความหมายของสี่ญาณ ศิษย์จะทราบได้หรือไม่"   สี่ญาน หรือ จตุญาณ คือ
1. ญาณปัญญาใสดุจกระจกกลมบานใหญ่                   (ต้าเอวี๋ยนจิ้งจื้อ)
2. ญาณอัยส่องเห็นความเสมอภาคปราศจากเครื่องกั้น  (ผิงเติ่งซิ่งจื้อ)
3. ญาณอันอาจพิจารณาเห็นสิ่งทั้งปวงได้อย่างวิเศษ    (เมี่ยวกวนฉาจื้อ)
4. ญาณอันมีความสมบูรณ์พร้อมต่อการกระทำ              (เฉิงสั่วจั้วจื้อ)

        พระธรรมาจารย์โปรดตอบว่า "เมื่อเข้าถึง รู้เป็น สามกายในตนแล้ว ก็จะกระจ่างใจในสี่ญาณได้เอง ไฉนยังจะต้องถามอีก
พิจารณา
ทบทวนสามกาย
1. กายธรรม หรือธรรมกาย คือธาตุธรรมในกาย ซึ่งเป็นอยู่อย่างนั้นเองโดยธาตุแท้เดิมที
2. สัมโภคกาย  คือภาวะกายธรรมอันสมบูรณ์อยู่กับจิตเดิมแท้ของตน อันเรียกว่าปรีชาญาณ ปัญญาญาณ
3. นิรมานกาย  คือภาวะกายธรรมอันเปลี่ยนแปรกระทำการนับหมื่นแสนไปตามเหตุปัจจัย
        กายทั้งสามเป็นคุณสมบัติ เป็นภาวะที่ร่วมอยู่ในจิตเดิมแท้   ญาณทั้งสี่ก็เป็นคุณสมบัติ เป็นภาวะที่อยู่ร่วมในจิตเดิมแท้ด้วยเช่นกัน  พระธรรมาจารย์จึงได้โปรดว่า  "รู้สามกายก็จะกระจ่างต่อสี่ญาณได้เอง"  แม้ออกหากจากสามกาย อย่าได้ถามถึงสี่ญาณ หากเป็นเช่นนั้นไซร์ จะชื่อว่ามีญาณ แต่หามีกายไม่ และแม้มีญาณ ก็ยังนับเป็นผู้ไร้ญาณอยู่นั่นเอง

พิจารณา

         สามกายกับสี่ญาณ ไม่มีตัวตนให้ยึดหมาย เป็นภาวะ  เป็นคุณสมบัติของจิตเดิมแท้ที่ประกอบประสานเสริมส่งกันอยู่ภายใน ช่วยให้จิตเดิมแท้เข้าถึงพุทธภาวะในตนได้   โปรดด้วยโศลกอีกว่า 

ญาณคันฉ่องใหญ่   กลมใสโสภิต   คือจิตแท้นั่น
ไม่กั้นแบ่งชั้น       คือปัญญาจิต    ไม่ผิดเจ็บป่วย
ไม่ยึดสิ่งมี    วิเศษพินิจ       คือจิตอำนวย
ส่งเสริมเติมช่วย    ด้วยจิตรู้กาล     ดุจคันฉ่องกลม
ห้าแปดหกเจ็ด   เหตุผลหมุนเวียน   เปลี่ยนแลแปรไป
ชื่ออันขานไว้     มิได้เป็นสิ่ง       ตามจริงแน่แท้
แม้หากไม่ยึด        หมายต่อเยื่อใย      ในขณะแปร
อลวนยังแน่      สงบนิ่งใน   นาค (นา-คะ)   สมาธิ
 
พิจารณา

 "ห้า"  คือ  ลำดับต้นของหมวดวิญญาณทั้งหก ได้แก่  จักษุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  ฆานะวิญญาณ  ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
(การรับรู้อารมณ์จากนัยน์ตา หู จมูก ลิ้น กาย
 "แปด"  คือ อาลยวิญญาณ (อารมณ์ความอาลัย)
 "หก"    คือ มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางความคิด
 "เจ็ด"   คือ มนัสวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจิตใจในส่วนลึก  (ขยายความ)
          ญาณทั้งห้า  แปด  หก  เจ็ด  จะแปรรูปเป็นปัญญา   "ปัญญา" เป็นความรู้ต่อสิ่งทั้งปวง  เป็นเครื่องรู้ต่อสิ่งทั้งปวง   เป็นเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง และ ปัญญาย่อมส่องสะท้อนเห็นสิ่งทั้งปวง   การแปรรูปของญาณ เป็นการแปรรูปโดยกล่าวหมาย  ดังประโยคทั้งสองของโศลกที่กล่าวว่า "ชื่ออันขานไว้มิได้เป็นสิ่งตามจริงแน่แท้"  การแปรรูปของญาณคือ การแปรเปรื้องโลกียารมณ์ ให้หมดจดเป็นอิสระ  ในขณะแปรเปลี้ยง แม้จะต้องเผชิญสภาวะแวดล้อมอลวน แต่จิตเดิมแท้จะยังคงแน่นิ่ง สงบอยู่ใน"นาคสมาธิ"นาค (นา-คะ)สมาธิหมายถึง  มหาสมาธิ สมาธิแน่วแน่เช่น พญานาคราชที่ดำดิ่งนิ่งลึกอยู่ในพิภพใต้บาดาล แท้จริงแล้ว ธาตุแท้ของพุทธญาณ หรือจิตเดิมแท้ไม่มีการแปรรูป เพียงแต่เมื่อยังเป็นสามัญชน ภาวะ "รู้" ของจิตเดิมแท้ เรียกว่า "วิญญาณ"  เมื่อรู้แจ้งแล้ว ภาวะรู้ของจิตเดิมแท้เรียกว่า "ปัญญา"  คำว่า แปรรูป  จึงเป็นเพียงเปรียบหมายให้เข้าใจในภาวะนั้นเท่านั้น มิใช่รูปเกิดการแปรไป  เพราะสามกายมิใช่รูป  สี่ญาณก็มิใช่รูป  ไม่มีรูป จึงไม่มีที่จะแปรรูปได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                   คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        สงฆ์จื้อทงรู้แจ้งฉับพลันต่อจิตญาณปัญญา จึงถวายโศลกความว่า

สามกายเดิมแท้            แน่ในกายฉัน
สี่ญาณแท้นั้น              ใจอันกระจ่าง
กายญาณร่วมตน          พ้นสิ่งกีดขวาง
ภาวะทุกอย่าง              ตอบรับปรับแปร
มั่นหมายบำเพ็ญ           เป็นจิตเคลื่อนไหว
ยึดถือมั่นไว้                  มิใช่ตถตา
หลักวิเศษเหตุ              เฉกเช่นท่านว่า
จนชั่วชีวาจะไม่ขอผิด    ไม่ติดเปื้อนนาม

พิจารณา   
        โศลกท่อนที่หนึ่งหมายถึง  สามกายสี่ญาณเป็นสิ่งที่มีพร้อมอยู่แล้ว อันนี้เป็นอยู่อย่างนั้นเอง  จงรู้ไว้ แต่ไม่ต้องมั่นหมายจงใจค้นหาความมีอยู่ หากค้นหาก๋จะเคลื่อนจิต ผิดทางบำเพ็ญจริง  แต่หากรู้อยู่ในความมีนั้นแล้วถือมั่นไว้ ก็จะมิใช่ความเป็นอยู่อย่างนั้นเองโดยธรรมชาติอีกเช่นกัน   ฉะนั้นจึงพึงละจากความ  "รู้มี"  "รู้เป็น"  เสีย  เมื่อพระธรรมาจารย์ได้โปรดแจกแจงให้เข้าใจแล้ว ศิษย์ก็จะไม่บำเพ็ญผิด ไม่ติดนามรูปกายสามญาณสี่อีกต่อไป

        สงฆ์จื้อฉัง เป็นชาวเมืองซิ่นโจว  อำเภอกุ้ยซี มณฑลเจียงซี  ออกบวชตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเป้าหมายรู้แจ้งจิตญาณ  วันหนึ่งได้เข้ามากราบพระธรมาจารย์ (มหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิง)  พระธรรมาจารย์ถามว่า  "ท่านมาแต่ใด ใคร่ถามสิ่งใด "  สงฆ์จื้อฉังกราบเรียนถามว่า "พระเถระเจ้าต้าทง" บนบรรพตยอดขาว ที่เมืองหงโจวเมื่อไม่นานมานี้ ได้รับโปรดให้ความหมายแห่งกานเห็นจิต บรรลุพุทธะ แต่ยังกังขาอยู่มิรู้แจ้ง ใคร่กราบวอนมหาเถระเจ้าได้โปรดเมตตากรุณาชี้แจง"

พิจารณา
        มหาเถระเจ้าเสินซิ่ว  ผู้เป็นศิษย์พี่มหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิง มีธรรมฉายาว่า "ต้าทง"  แต่จากการตรวจสอบพระประวัติแล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านเคยจาริกสู่ "บรรพตยอดขาวที่เมืองหงโจว"  ฉะนั้น  ที่สงฆ์จื้อฉังกล่าวถึงนั้น จึงน่าจะเป็นมหาเถระรูปอื่นที่มีฉายาธรรมพ้องกันกับมห่เถระเจ้าเสินซิ่ว

        พระธรรมาจารย์โปรดว่า  "ท่าน (ต้าทง)  กล่าวคำอันใดหรือ ท่าน (สงฆ์จื้อฉัง)  ลองยกตัวอย่างมาให้ดู"  สงฆ์จื้อฉังกราบเรียนว่า  "จื้อฉังไปอยู่ที่น่นประมาณสามเดือน  ยังไม่ได้รับการอบรมชี้นำ คืนวันหนึ่งจึงเข้าไปในห้องของพระอาจารย์ต้าทงตามลำพัง กราบเรียนถามท่านว่า "อย่างไรจึงจะป็นจิตแท้ญาณแท้ของจื้อฉังศิษย์เอง"  พระอาจารย์ต้าทงโปรดว่า " ท่านเห็นห้วงเวหาหรือไม่"ศิษย์ตอบว่า "เห็น"  ท่านโปรดว่า "ท่านเห็นห้วงเวหา  มีรูปร่างหน้าตาหรือไม่"  ศิษย์ตอบว่า  "ห้วงเวหาปราศจากรุปลักษณ์จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรได้"  ท่านโปรดว่า  "จิตญาณของศิษย์ ดุจดั่งห้วงเวหา ย้อนมองจิตญาณตน ปราศจากสิ่งหนึ่งใดให้เห็นได้ นั่นคือ "เห็นชอบ" แล้ว  ปราศจากหนึ่งสิ่งใดให้รู้ได้  ชื่อว่า "รู้ทัน"  แล้ว  ปราศจากเขียวเหลือง ยาวสั้น  เห็นแต่ต้นกำเนิดเดิมอันหมดจด เห็นแจ้งในความสว่างกลมใส  เรียกได้ว่า "เห็นจิตญาณบรรลุพุทธะ"  อีกได้ชื่อว่า  ""โลกสุขาวดี"  อีกได้ชื่อว่า "ความรู้ชอบ  เห็นชอบ  แห่งพุทธะ"  ศิษย์จื้อฉังผู้ศึกษา แม้สดับคำสอนนี้ แต่มิอาจแก้ข้อข้องใจได้  จึงกราบขอมหาเถระเจ้าได้โปรดวิสัชนา"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า  "ที่อาจารย์ท่านนั้นกล่าวมา  ยังตกค้างด้วยทิฐิของการรู้เห็น จึงทำให้ท่าน (จื้อฉัง) ไม่สิ้นกังขาอาตมาจะแสดงด้วยโศลกบทหนึ่งแก่ท่านบัดนี้ว่า

"ไม่เห็น"  หนึ่งธรรมใด   ใจยังค้างความ  "ไม่เห็น"
ประหนึ่งเมฆใหญ่เป็น      เช่นกางกั้นสุริยา
"ไม่รู้"     หนึ่งธรรมใด     ใจยึดหมายว่างเวหา
ดุจดั่งท้องนภา               เกิดสายฟ้าไม่แจ้งจริง

ทิฐิรู้เห็น            เช่นสายฟ้า             พ้นซึ่งผิดได้
ปัญญาแสงใส    ในตนเรืองโรจน์       จะปรากฏมิวาย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                   คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        สงฆ์จื้อฉังฟังโศลกจบพลัน จิตโล่งโปร่งใส  จึงสาธยายด้วยโศลกว่า

หาเหตุเจตน์จับ            รับเอาทิฐิ             มิบังเกิดคุณ
เอานามรูปหนุน            ดั่งวุ่นสรรหา         มรรคาโพธิ
ตริตรึกนึกแจ้ง              เป็นแรงปรารถนา  อารมณ์ดำริ
ขอพ้นทิฐิ                    อดีตที่เคย           เลยล่วงหลงทาง

ธาตุแท้จิตญาณ           แจ้งอยู่อย่างนั้น    อันเป็นเดิมที
ไหลตามโลกีย์             จึงมีทางไป          อบายหลายขุม
แม้มิเข้าสู่                    ประตูบรรพจารย์   ท่านโปรดธรรมอุ้ม
ยังคงหลงคลุม             สองขุมไม่รู้           สู่ทางใดดี   

พิจารณา
        สองขุม คือ ขุมของ  "รู้ - เห็น"  อันเป็นทิฐิคลาดเคลื่อนดื้อดึง

        วันหนึ่ง สงฆ์จื้อฉังกราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ธรรมะ อันเป็น  "ไตรยาน"  อีกตรัสว่า "ยานระดับสูงสุด"  ศิษย์ยังไม่อาจเข้าใจ ขอได้โปรดสอนสั่ง"

พิจารณา
        ไตรยาน คือ  ยานสามระดับ อีกมีสาวกยาน  ปัจเจกพุทธยาน  และโพธิสัตว์ยาน

        พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ท่านจงมองดูจิตของตนเอง อย่าได้ยึดหมายธรรมลักษณะทั้งหลายภายนอก  ธรรมะไม่มีสี่ยาน  ใจคนนั่นเองที่มีระดับต่างกัน" 

พิจารณา
        ครั้งกระนั้น  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดง "อาคมคาถา"  ที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นยานระดับล่าง  แต่...พระผู้มีพระภาคเจ้า มิได้ทรงหมายว่าเป็นธรรมะของยานระดับล่าง ยังคงแสดงเพื่อการบรรลุพุทธะแก่สานุชน เพียงแต่ให้เหมาะแก่กุศลมูลของผู้สดับฟัง เพื่อให้ได้กุศลประโยชน์ยิ่งสำหรับชนหมู่นั้นเป็นสำคัญ  จึงกล่าวได้ว่า  ความแตกต่่างระหว่างสามยานสี่ยานนั้น มิได้เป็นที่ตัวธรรมะ แต่แตกต่างกันที่ความเหมาะสม  ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ปฏิบัติธรรมในระดับนั้น ๆ  เพราะ "ยาน" หมายถึง  ตัวที่ทำให้เคลื่อนไป นำไป " ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติเป็นเช่นไร ก็จะได้ชื่อว่าใช้  "ตัวที่ทำให้เคลื่อนไป นำไป" ระดับนั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        เพราะ "ยาน" หมายถึง ตัวที่ทำให้เคลื่อนไป นำไป ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติเป็นเช่นไร ก็จะได้ชื่อว่าใช้้ "ตัวที่ทำให้เคลื่อนไป นำไป" ระดับนั้น สาวกผู้สวดท่องตามไป เรียกว่าสาวกยาน เป็นยานระดับเล็กหรือระดับล่าง  เข้าใจรู้แจ้งต่อหลักธรรมเรียกว่า ยานระดับกลาง  ปฏิบัติบำเพ็ญตามหลักธรรมเรียกว่า ยานระดับสูง รู้แจ้งแทงตลอดต่อหมื่นข้อธรรม หรือต่อภาวะธรรมทั้งปวง แต่มิแปดเปื้อนด้วยภาวะใด และด้วยสรรพสิ่งใดเลย พ้นจากธรรมลักษณะทั้งปวง ปราศจากรู้หมาย เห็น ได้ต่อธรรมทั้งปวง เรียกได้ว่า ยานระดับสูงสุด   ยาน มีความหมายของการปฏิบัติบำเพ็ญให้เป็นไป มิใช่สักแต่ว่ากล่าวอ้างถกเถียง ท่านพึงบำเพ็ญให้เข้าถึงเป็นกันเอง มิพึงต้องถามอาตมาเลย  ในทุกขณะเวลา จิตญาณตนเป็นตถตา อิสรสงบ เป็นอยู่อย่างนั้นเอง จื้อฉังกราบขอบพระคุณ อีกทั้งทำหน้าที่อุปัฏฐากปรนนิบัติดูแลรับใช้พระธรรมาจารย์นับแต่นั้น จนกระทั่ง พระธรรมาจารย์มรณะละสังขาร จึงได้กราบลาจากไป  สงฆ์จื้อเต้า เป็นชาวทะเลใต้ มณฑลกว่างโจว กราบเรียนถามว่า"ศิษย์ผู้ศึกษาอยู่ ตั้งแต่ออกบวชเป็นต้นมา ได้อ่านพระคัมภีร์ "มหาปรินิรวาณสูตร" มาสิบกว่าปี ยังมิอาจกระจ่างได้ในหลักธรรม หวังวอนมหาเถระเจ้าได้โปรดสอนสั่ง"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ส่วนใดเล่าที่ท่านยังไม่เข้าใจ" กราบเรียนข้อกังขาที่ว่า "ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสังขตธรรมอันเกิดดับ เมื่อจบสิ้นการเกิดดับนั้นแล้ว ย่อมถึงความเกษมแห่งการดับโดยสิ้นนั้น" ศิษย์ยังกังขาอยู่ในจุดนี้  พระธรรมาจารย์โปรดย้อนถามว่า "เหตุใดจึงเกิดข้อกังขานี้"กราบเรียนว่า "ก็ด้วยเวไนยฯ ล้วนมีสองกาย คือ กายรูป กับ กายธรรม กายรูปเป็นอนิจจังอันไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ   กายธรรม มีความเที่ยงอันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง โดยไม่รู้ ไม่รับรู้ได้ ในพระสูตรจารึกว่า "เมื่อจบสิ้นการเกิดดับนั้นแล้ว ย่อมถึงความเกษมแห่งการดับโดยสิ้นนั้น" มิทราบว่า กายใดหรือที่ถึงความเกษมนั้น"(ความคิดเห็นของจื้อเต้ากล่าวต่อไปว่า) หากจะหมายว่า กายรูปถึงความเกษม กายรูปเมื่อดับสลาย ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟที่ประกอบกันเป็นรูปกายย่อมกระจายจากกันไป การแยกธาตุกระจายไป เป็นความทุกข์โดยสิ้น เมื่อเป็นความทุกข์ จึงมิอาจกล่าวได้ว่า "ถึงความเกษม"  แต่หากกล่าวว่ากายธรรมถึงความเกษม กายธรรมดำรงอยู่อย่างนั้นเองโดยไม่รู้ ไม่รับรู้ เช่นนี้แล้ว กายใดหรือที่ "ถึงความเกษม" นั้น  ยิ่งกว่านั้น สภาวะธรรม (ในกายรูป กายธรรม ) เป็นสิ่งอันเกิดดับ โดยมีขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นตัวสำแดงการเกิดดับ เท่ากับ " ตัว " ของสภาวะธรรมสำแดงอาการได้ห้าประการ และมีความเกิดดับเป็นธรรมดาเสมอ เมื่อเกิด อาการเกิดจากตัวของสภาวะธรรม  เมื่อดับ ความดับกลับคืนสู่ "ตัว" ของสภาวะธรรม (สงฆ์จื้อเต้า ยังคงกล่าวความคิดเห็นของตนเองต่อไป ซึ่งดูอย่างกับมีเหตุผลถูกต้องว่า) หากจิตยังคงคล้อยตาม ปล่อยให้มีการเกิดขึ้นใหม่อีก การถือกำเนิดใหม่ของชีวิตเลือดเนื้อก็จะไม่สิ้นสลายหรือดับสูญ แต่หากมิได้คล้อยตาม ไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นใหม่อีก  จิตก็จะกลับคืนไปสู่นิพพานชั่วกาลนาน ซึ่งเป็นภาวะอันปราศจากชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับสรรพสิ่ง แต่หากเป็นไปตามนั้น (ตามมหาปรินิวราณสูตร) ข้อธรรมทั้งปวงล้วนถูกควบคุมจำกัดอยู่ในภาวะนิพพาน (ดับสูญโดยสิ้น) มิอาจกำเนิดขึ้นใหม่ได้ ดังนี้แล้ว ยังจะมีความเกษมได้อย่างไร

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

พิจารณา  :   สงฆ์จื้อเต้า กล่าวโดยความนัยที่ว่า "เมื่อมีความเกษม ก็จะต้องมี "ตัว" ที่รองรับความเกษมนั้น" มิฉะนั้น จะเท่ากับกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ในเมื่อกายรูปก็แยกธาตุกระจายออกไป กายธรรมก็เข้าสู่ภาวะนิพพานอันไม่รู้ ไม่รับรู้ จึงน่าจะมีสภาวะที่เป็นอยู่เองของกายรูปหรือกายธรรม เป็น "ตัว" ที่รับหรือเข้าถึงความเกษมได้ พระธรรมาจารย์โปรดชี้แจงและแก้ไขให้ว่า "ท่านเป็นบุตรแห่งศากยพุทธเจ้า ไฉนจึงกลับศึกษาธรรมะนอกลู่นอกรอย ขาดสิ้นจากสัมมาทิฐิ ดำริผิด เป็นมิจฉาทิฐิ อีกทั้งวิจารณ์มหายาน ธรรมะระดับสูงสุดเช่นนี้ ตามที่ท่านได้กล่าวมาคือ นอกจากกายรูปแล้ว ยังมีกายธรรมอยู่ต่างหาก จะต้องพ้นจากกายรูปอันเกิดดับ เพื่อเข้าสู่กายธรรมอันดับสูญ แต่ยังได้ยกเอาการ "ถึงความเกษมแห่งนิพพาน" ว่า จะต้องมี "ตัว" รองรับความเกษมนั้น ดั่งนี้คือ ยังคงยึดหมายใคร่อยู่กับการเกิดตาย ยังคงห่วงหาความสุขเกษมเช่นชาวโลก ณ บัดนี้ ท่านจงพึงรู้เถิดว่า พระพุทธะนั้น เพื่อคนหลงทั้งหลาย ที่ยึดหมายว่า รูปกายที่มีขันธ์ห้าชุมนุมกันอยู่นั้น เป็นรูปกายของตน อีกทั้งยังแบ่งกั้นข้อธรรมทั้งหลายว่า เป็น "โลกียรูป" ภายนอก บุคคลเหล่านี้จึงรักการมีชีวิต เกลียดความตาย ทุกขณะจิต ความคิดจะแปรไหลเรื่อยไป ไม่รู้ว่าภาพมายาเป็นความฝัน ต้องรับทุกข์จากวัฏจักรเวียนว่ายที่ไม่น่าเลยนั้น เขายังกลับเอาความ "เกษม" แห่งนิพพาน ฝันคิดผิดทางว่า เป็น "ทุกขรูป" ที่ถูกจำกัดกรอบ จิตที่หลงผิดจึงแล่นไหลใฝ่หาความสุขเกษมที่ตนพอใจเรื่อยไปไม่จบสิ้น ก็ด้วยพระพุทธะเวทนาสงสารเหล่าเวไนยฯ ดังนั้น จึงได้โปรดชี้ชัดให้เห็นถึงความเกษมอันแท้จริงแห่งนิพพาน ณ บัดดลนั้น  ทันทีที่เข้าถึงภาวะนิพพาน จะปราศจากรูปกายของการดับ อีกทั้งปราศจากการดับของการเกิด - ดับ นั่นคือ การปรากฏขึ้นของภาวะดับสูญสงบนิ่งตรงหน้า ในขณะที่การดับสูญสงบนิ่งปรากฏขึ้นตรงหน้า การปรากฏนั้นก็ปราศจากส่วนมาตรอันวัดได้ว่าเช่นไร เพียงใด จึงเรียกได้ว่า "ความเกษมอันเป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่เปลี่ยนแปร"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

พิจารณา  :   ในขณะถ่ายทอดวิถีจิต ธรรมประกาศิตประโยคหนึ่งที่ว่า "ปราศจากการเกิด - ตาย  อู๋โหย่วเซิงเหอสื่อ" อันหมายถึง จิตที่มิได้ยึดหมายในการเกิดดับของเจ้า" นั่นคือจิตพร้อมที่จะเข้าสู่ภาวะนิพพานได้ แม้ขณะดำดงกายสังขาร รับธรรมะ คือ รับรู้สิ่งนี้ในที่สุด  ความสุขอันเกษมนี้ ปราศจากบุคคลผู้รับ อีกทั้งไม่ปราศจากบุคคลผู้รับ ยิ่งกว่านั้นท่านยังกล่าวอีกว่า "นิพพานเป็นกรอบจำกัดให้ดับสูญโดยไม่มีการเดิออีกตลอดไป เช่นนี้คือ การใส่ไคล้ทำลายพุทธธรรม"  จงฟังโศลกอาตมา.....
อนุตตร             มหาปริ             นิรวาณ
คงนิรันดร์          กลมนิ่งใส          ได้สาดส่อง
ปุถุชน             กล่าวว่า "ตาย"      ไม่ถูกต้อง    ( นอกธรมมอง ภาวะนิพพาน เป็นการ "ขาด" สิ้น )

พิจารณา  :   ความเป็นนิพพานที่พระตถาคตเจ้า เหล่าพุทธะได้เข้าถึงแล้วนั้น ล้วนแต่มีภาวะอันอุปมาได้ว่า "กลม" นั่นคือสมบูรณ์พร้อมทุกประการ มีภาวะอันอุปมาได้ว่า "ใส" นั่นคือ สว่างด้วยมหาปัญญายิ่ง มีภาวะอันอุปมาได้ว่า "คง" นั่นคือ เป็นนิรันดร์อันไม่สิ้นได้  มีภาวะอันอุปมาได้ว่า "นิ่ง" นั่นคือ เป็นที่สุดแห่งความสงบ  มีภาวะอันอุปมาได้ว่า "ส่อง" นั่นคือ มหาบารมีปรกแผ่แก่สัพโลก

โศลกต่อไปว่า.....
ผู้ใฝ่ใน             สาวกปัจเจก             พุทธยานนั้น
สายตาท่าน       เห็นนิพพาน              การแน่นิ่ง
เห็นดั่งว่า          มโนติด                   คิดเอนอิง
มิจฉาสิ่ง          หกสิบสอง                ของทิฐิ

พิจารณา   :   ผู้ใฝ่หานิพพานในระดับสาวกยานและปัจเจกพุทธยานนั้น ในสายตาของท่านยังเห็นผิดว่า มหาปรินิพพานก็คือภาวะแน่นิ่งขาดสูญ จึงมิพึงสร้างกุศลเพื่อให้เข้าถึงพระมหาปรินิพพานในระดับนี้ สายตาความคิดเช่นนี้ มีมโนวิญญาณเป็นตัวคิด เป็นตัวทำให้ก่อเกิดมิจฉาทิฐิถึงหกสิบสองประการ นั่นก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตั้ง จากตัวตั้งทั้งห้า ก่อเกิดทิฐิยึดหมายในความเที่ยง ยึดหมายว่าไม่เที่ยง  ยึดหมายทั้งเที่ยงทั้งไม่เที่ยง  ยึดหมายมิใช่ทั้งเที่ยง   และมิใช่ไม่เที่ยง  มีขอบเขต และไม่มีขอบเขต  มิใช่ทั้งมีขอบเขต  และมิใช่ไม่มีขอบเขต  มีไปมา  ไม่มีไปมา  ทั้งไม่มีไปมา และมิใช่มีไปมา รวมสิบสองทิฐิ  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ต่างก่อเกิดสิบสอง ทิฐิดังนี้ รวมกันเป็นหกสิบสองทิฐิ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

โศลกต่อไปว่า..
ตั้งชื่อสมมุติไป             เพื่อใช้เรียกขาน            เพื่อเป็นฐานนำ
ไหนเลยเป็นความ         จริงแท้แน่ใน                ความหมายนั้น ๆ     
คนมีใจกว้าง                ต่างจากทั่วไป              ไม่เข้าใจตาม
ปรุโปร่งรู้ความ              นิพพานภาวะ                สัจจะแท้จริง

พิจารณา  :  หกสิบสองทิฐิที่แปรรูปกระจายออกจากขันธ์ห้า ล้วนเป็นชื่อสมมุติ ต่อภาวะจิตอันเกิดอับเรื่อยไปนั้น เมื่อหลงเกิดขึ้น เหมือนว่ามีอยู่ ทันใด แจ้งใจ ดับไปไม่มีอยู่ ชื่อเหล่านี้จึงเป็นเพียงฐานนำ ให้เรียกขานรู้ว่ากระบวนการแปรรูปของจิตเป็นไปได้ดังนี้

โศลกต่อไปว่า..
เพื่อรับรู้ว่า            ขันธ์ห้าแห่งธรรม             ดำเนินเป็นไป
อีกทั้งภายใน         ใจกายตนนั้น                 ขันธ์ห้าพาวุ่น
นอกกายยังมี         รูปลักษณ์มากมาย           ในโลกค้ำจุน
ปรากฏเกื้อหนุน      พูนเพิ่มศัพท์เสียง            สำเนียงรูปลักษณ์

โศลกต่อไปว่า..
สรรพสิ่งเสมอกัน            อันเป็นมายา            พาเห็นเช่นฝัน
หากมิถือมั่น                 สามัญหรืออริยะ         จะไม่ยึดหมาย
ไม่ยึดนิพพาน               ไม่เทียบเปรียบกัน      นั่นขอบเขตใด
ทุกอย่างหาไม่              ปราศสิ้นจินตนา          ว่ามีไม่มี

พิจารณา  :  อริยะ สามัญชน  สรรพสิ่งบรรดาที่เกื้อหนุนการก่อเกิดมาทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ล้วนเสมอกัน หากไม่ยึดหมาย ไม่เปรียบเทียบ ไม่ปรุงแต่ง สรรพสิ่งจะเป็นเช่นภาพมายา ดั่งว่าความฝัน ผ่านมาผ่านไป ไม่ตกค้างให้เกิดการปรุงแต่ง ซ้ำซ้อน ไม่เกิดความสับสนวุ่นวายมากมายยิ่งขึ้นเรื่อยไปไม่จบสิ้น  จึงกล่าวว่า เพียงให้ตอบรับ ร่วมกับอินทรีย์ ที่ใช้การนั้น แต่ไม่ยึดมั่น ไม่คิดติดพัน วิญญาณยึดหมาย รู้การจำแนก แจกแจงธรรมถ้วน ล้วยจิตเดิมไซรื ก็จะมิใช่ มโนวิญญาณ การปรุงเปรียบไป

พิจารณา  :  โดยสรีระของมนุษย์ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มีประสาทสัมผัสรับรู้โลดเล่นสื่อถึงอวัยวะทั่วตัว โดยมโนวิญญาณ มีจิตรับรู้ปรุงแต่งเป็นวิสัย แต่หากเข้าถึงจิตเดิมแท้แห่งตนได้ การโลดแล่นปรุงแต่งก็จะหยุดอยู่ที่.. "ตอบรับร่วมกับอินทรีย์ที่ใช้การนั้น" ตามประโยชน์อันสมควรเป็น ณ ตรงนั้นเท่านั้น   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

โศลกต่อไปว่า..
แม้ไฟประลัย            เผาไหม้สมุทร             สุดท้องทะเล
ภูผาล้มเซ               หันเหกระแทก             ลมแทรกกระหน่ำ
ตถตาเปรม              เกษมวิมุตติ                หยุดอยู่โดยธรรม 
มหาปริ                  นิพพานคงความ           อันเป็นเช่นนี้

พิจารณา  :   ที่กล่าวกันผิด ๆ ว่านิพพานคือความขาดสิ้นนิ่งแน่นั้น น่าจะหมายถึงกรณีนี้คือ ไม่ว่าดินฟ้ามหาสมุทรถึงความที่สุดของความเดือดร้อนรุนแรง แต่ทุกอย่างไม่อาจกระทบกระทั่งภาวะมหาปรินิพพานได้ เพราะมหาปรินิพพานนั้น ลุ่มลึกเกินกว่าที่ความรุนแรงจะสะเทือนถึง ปี ค.ศ.1999 ทั้งทางโลกและทางธรรมต่างมีผู้คาดการณ์ด้วยความประหวั่นพรั่นใจว่าจะเป็นปีของการล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์อันเกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ สถานการณ์ เหตุการณ์ และรูปการณ์ในปีนั้น ทำให้แน่ใจว่า มีส่วนเป็นไปได้มากน้อยทีเดียว การเตรียมการหลบภัยของคนทางโลกไร้ผลโดยสิ้นโลกาวินาศอาจเกิดขึ้นเป็นจริง เพราะอานุภาพของการทำลายของระเบิดนิวเคลียร์เกินกว่าจะประมาณได้ แต่ชาวธรรมผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจริง ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "นิพพาน คือหลุมหลบภัยที่ไม่พลาดแน่นอน"

โศลกต่อไปว่า..
วันนี้อาตมา            ฝืนว่านิพพาน            อันยากพรรณนา
เพื่อเปลี่ยนมิจฉา     ท่านมาหลงผิด           ให้คิดเสียใหม่
ท่านจงอย่าพล่าม    อธิบายความ              ตามผิดเรื่อยไป
ที่ท่านรู้ได้            เพียงในส่วนนิด           กระจิริดเดียว

พิจารณา  :   มีคำกล่าวว่า "อรหันต์ย่อมรู้ได้ในอรหันต์"  "ผู้อยู่ในภาวะนั้น จึงจะรู้ภาวะนั้น"  "ผู้ดื่มน้ำนั้น จึงรู้รส รู้ความอุ่นเย็นของน้ำนั้น"  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงซึ่งได้ชื่อว่าธรรมราชา เป็นครูผู้ฝึกสอนเทวดาและมนุษย์ได้ แม้จะเข้าใจภาวะนิพพานได้มากกว่าใคร ยังต้องกล่าวโศลกว่า "...ฝืนว่านิพพาน อันยากพรรณา..." จึงเห็นได้อีกว่า ศิษย์จื้อเต้าผู้รู้น้อย สรุปความเข้าใจของตนเองต่อภาวะนิพพานอย่างอาจหาญเชื่อมั่น เกินกว่าภาวะธรรมที่รู้เป็นอย่างแท้จริงในตน แต่พระธรรมาจารย์ผู้รู้เป็นยิ่งกว่ากลับอ่อนน้อมถ่อมตน ฝืนว่า จำใจว่า เหมือนผู้รู้น้อยโดยแท้   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                      คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 6  :  กราบนิมนต์บุญวาระ

        สงฆ์จื้อเต้าได้สดับความจากโศลกจบลง พลันรู้แจ้งปลาบปลื้มปิติในธรรมเกินประมาณ ก้มกราบพระธรรมาจารย์ด้วยความขอบคุณพระคุณยิ่งแล้วกลับออกไปพระมหาเถระเจ้าสายฌานรูปหนึ่ง ธรมฉายา สิงซือ แซ่หลิว เป็นชาวเมืองจี๋โจวอันเฉิง ได้ทราบว่าธรรมาสน์เทสน์ที่เฉาซีเฟื่องฟูมาก ฉุดนำกล่อมเกลาสาธุชนเป็นที่เจริญธรรมยิ่งมากมาย จึงมุ่งมานมัสการพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ณ บัดนั้น ได้กราบเรียนถามว่า "พึงกระทำการปฏิบัติบำเพ็ญเช่นไร จึงจะไม่ตกไปสู่การปฏิบัติบำเพ็ญอันเป็นระดับขั้น" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ท่านเคยปฏิบัติบำเพ็ญเช่นไรมาก่อนหรือ" ตอบว่า "ปราศจากยึดหมาย แม้อริยสัจก็ปล่อยวางลง" พระธรรมาจารย์โปรดว่า"ถ้าเช่นนั้น ท่านตกอยุ่ในระดับขั้นใดเล่า"

พิจารณา  :  ที่พระธรรมาจารย์ย้อนถามว่า "ท่านตกอยุ่ในระดับขั้นใดเล่า" ก็เพราะท่านสิงซือถามว่า "เช่นไรจึงจะไม่ตกไปสู่ความเป็นระดับขั้น" ระดับขั้นที่กล่าวนั้นหมายถึง การปฏิบัติบำเพ็ญค่อยเป็นไปให้เข้าถึงความเป็นอริยบุคคล ที่เรียกว่ามรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง  ที่ท่านสิงซือปรารถนานั้นคือ การรู้แจ้งฉับพลัน โดยมิต้องใช้เวลานานค่อย ๆปกิบัติบำเพ็ญไปเรียกว่า "รู้แจ้งบัดใจไปถึงพุทธภูมิ" (อู๋อู้จี้จื้อฝอตี้) สิงซือจึงตอบว่า "แม้อริยสัจยังไม่ยึดหมาย ยังจะมีระดับขั้นอันใดได้เล่า"  พิจารณา  :  อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐยิ่งที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ นั่นคือ เข้าถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
1.  ทุกข์   สภาพทุกข์ที่สุดทนได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ จำทน จำพราก ผิดหวัง และขันธ์ห้า
2.  สมุทัย  เหตุให้เกิดทุกข์ได้แก่ ตัณหาสาม คือ กามตัณหา สิ่งสนองความอยากทางประสาท รู้สึก  ภวตัณหา ความทยานอยากในภพ อยากเป็นอยากคงอยู่วิภวตัณหา ความอยากที่จะพรากพ้นไปจากความเป็นอยู่อันไม่ปราณียินดี จนถึงอยากดับสูญ
3.  นิโรธ  ภาวะตัณหาดับสิ้นไป กำจัดอวิชชาความไม่รุ้ได้ ไม่ถูกย้อม ไม่ติดข้องอีกต่อไป
4.  มรรค  หนทางอันรู้แจ้ง เข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา ทางสายกลางอย่างแท้จริง

        ที่ท่านสิงซือกล่าวว่า "แม้อริยสัจยังไม่ยึดหมาย" แสดงให้เห็นว่า พ้นจากภาวะเปรียบเทียบต่อความเป็นไปในการกำหนดหมาย กำหนดรู้ กำหนดเป็น เช่นนี้แล้ว  พระธรรมาจารย์ให้ความสำคัญต่อภาวะจิตเช่นนี้ของท่านสิงซือยิ่งนัก จึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะสงฆ์  วันหนึ่ง พระธรรมาจารย์โปรดแก่ท่านสิงซือว่า"ท่านควรเผยแผ่กล่อมเกลาไปยังทิศหนึ่งมิให้ขาดสาย"
พิจารณา  :  ศาสนาต่าง ๆ แพร่หลายกระจายไปสู่ศาสนิกชนทุกหนแห่งทั่วโลกได้ ก็ด้วยอาวุโส (ธรรมภันเต) ผู้เป็นใหญ่ในศาสนานั้น ๆ มิได้กำจัดการปรกโปรดไว้เฉพาะส่วน เนื่องจากรู้ดีว่า ผู้มีบุญสัมพันธ์รออยู่มากมายในทุกมุมโลก จึงต้องดั้นด้นจาริกแพร่ธรรมไปโดยไม่ย่อท้อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 8/08/2011, 18:27 โดย jariya1204 »

Tags: