collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 71985 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง) ๔

                                             บทที่ ๑๐

                                กำชับให้แพร่หลาย   ฟู่จู่หลิวทง

        โศลกต่อไปว่า..

จากนิรมาณ             อันสรรค์สร้าง             ญาณหมดจด
ญาณใสสด              งองามอยู่                 คู่นิรมาณ
ญาณนำกาย             นิรมานใน                 สัมมมาฐาน
สัมโภคานั้น              สมบูรณ์ใส                ไม่ประมาณ

ราคะญาณ               จำเดิมนั้น                  ญาณหมดจด
ราคะปลด                 หมดราคี                  ศรีญาณใส
จิตญาณตน               พ้นห้าอยาก              ออกหากไป
เห็นญาณใส              ในฉับพลัน                อันแท้จริง
        พิจารณา
        ห้าอยาก หรือ กิเลสห้า ในที่นี้หมายถึง ความอยากใคร่ในรูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัส  อันเป็นราคำราคีที่เกาะจับจิตญาณ ยั่วย้อมธรรมารมณ์ให้รู้เห็นผิดตามมา

ณ ชาตินี้                  ที่ได้ธรรม               ทางฉับพลัน
รู้จิตญาณ                 พลันเห็นองค์           โลกนาถ
แต่หากใคร่               ได้พุทธะ                 โดยคิดคาด
ที่ใดอาจ                  คาดจริงได้              ไม่รู้เลย
        พิจารณา
        "องค์โลกนาถ"  หมายถึง พระพุทะเจ้าเป็นที่พึ่งของโลก องค์โลกนาถในตัวตน เป็นพระุพุทะเจ้าเป็นที่พึ่งของโลกแห่งชีวิตจิตใจ กายสังขารของตน

หากเห็นได้              ใจจริงนั้น                อันวิเศษ
จะเป็นเหตุ               สำเร็จถึง                ซึ่งพุทธะ
ไม่เห็นญาณ             ดั้นด้นถาม               ตามพุทธา
เกิดเจตนา               ว้าวุ่นวน                 คนโง่งม

ณ บัดนี้                  วิถีธรรม                "ฉับพลัน" ให้
สืบต่อไป                เวไนยฯเห็น            บำเพ็ญ "เจ้า"
ภายหน้าพบ             ผู้หาธรรม              ช่วยนำเขา
แม้ไม่เข้า                ลำเนานี้                เสียทีนัก
        พิจารณา
"หนทางนี้              จิตวิถี"                 ท่านชี้ให้
จะเดินไป               หรือไม่เล่า             ตัว "เจ้า" เอง
                       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง) ๔

                                             บทที่ ๑๐

                                กำชับให้แพร่หลาย   ฟู่จู่หลิวทง

        พระธรรมาจารย์กล่าวโศลกจบลงแล้วโปรดว่า "พวกท่านจงอยู่ดีเถิด ภายหลังเมื่ออาตมาดับขันธ์แล้ว จงอย่าแสดงอาการอาลัยอาวรณ์โศกเสร้าเยี่ยงชาวโลก สะอื้นไห้้จนน้ำตาหลั่งไหลดั่งสายฝน อย่าเอิกเกริกบอกกล่าว มิพึงให้เขามากราบไหว้ปลอบในไถ่ถาม มิพึงต้องสวมใส่เครื่องไหว้ทุกข์ หาก (ไม่เชื่อฟัง) ทำเช่นนี้ มิใช่ศิษย์ของอาตมา  อีกทั้งยังมิใช่วิถีสัทธรรม   แต่จงเข้าถึงรู้เห็นเป็นจริงต่อจิตของตน เข้าถึงรู้เห็นเป็นจริงในญาณ "ตัวแท้"  แห่งตน ซึ่งปราศจากเคลื่อนไหว ปราศจากสงบนิ่ง
ปราศจากเกิดมี           ปราศจากดับสูญ
ปราศจากการไป         ปราศจากการมา
ปราศจากใช่ไม่ใช่       ถูกต้องไม่ถูกต้อง
ปราศจากคงอยู่          ปราศจากย้อนคืนไป
        เกรงว่าจิตของพวกท่านจะหลง ไม่อาจเข้าใจความหมายที่อาตมาอรรถาไว้ วันนี้ จึงขอย้ำแก่ท่าน ให้ท่านเห็นจิตญาณตน  หลังจากที่อาตมาดับขันธ์แล้ว ปฏิบัติบำเพ็ญตามนี้ เช่นเดียวกับที่อาตมายังมีชีวิตอยู่  หากฝ่าฝืนผิดต่อคำสอนของอาตมา แม้อาตมาจะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็หามีประโยชน์อันใดไม่   จากนั้น โปรดเป็นโศลกอีกว่า

อยู่เงียบงำ             บำเพ็ญดี             ไม่มีจิต
มีชีวิต                   อิสระ                  ละบาปได้
สงบพัก                 หักห่างจาก          สิ่งวุ่นวาย
จิตกว้างใหญ่          ไม่ยึดหมาย          สิ่งใดเลย
        พิจารณา
        โศลกทั้งหมดแฝงความหมายว่า 
บำเพ็ญสงบเงียบงำ ไม่ยึดหมายกุศลธรรม  ไม่ยึดหมาย แม้จิตใจในตัวตน  ร่างกายเป็นสิ่งมีชีวิต มีอิสระ ไม่ใช่ท่อนไม้ เคลื่อนไหวได้ อีกทั้งไม่ทำผิดบาปจิตสงบพักนิ่ง ออกหากจากสิ่งรู้เห็นที่มากระทบให้เกิดการปรุงแต่ง จิตกว้างใหญ่ไพศาล สง่าผ่าเผยเป็นไท ไม่ยึดหมาย ไม่ถูกเกาะเกี่ยวด้วยสิ่งใด
        พระธรรมาจารย์กล่าวโศลกอำลาทิ้งท้ายจบลง  นั่งขัดสมาธิสงบนิ่งอยู่จนถึงยามสาม พลันเอ่ยแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า " อาตมาไปละ"  พระธรรมาจารย์ละกายสังขารไป  ณ  อึดใจนั้น   ทันใด  กลิ่นหอมหวนชวนสักการะกระจายไปทั่วห้อง แสงสีขาวราวรุ้งคร่อมจากฟากฟ้ามาสู้ดิน พฤกษาใบไม้ในไพรสณฑ์เปลี่ยนเป็นสีขาว ราตรีนั้น  จัตุบาท นก กา  พากันส่งเสียงร้องระงมไพร
        พิจารณา
        พระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์ ยังคงเก็บรักษาในสถาพประทับนั่งอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีผู้ใดกล้าแตะต้องเคลื่อนย้าย นั่นคือ ตั้งแต่ยามสามของคืนวันสามค่ำเดือนแปด จนถึงเดือนสิบเอ็ด (ไม่แปรสภาพเน่าเปื่อย) 
        จนถึงเดือนสิบเอ็ดแล้ว การต่อรองถกเถียงยื้อแย่งกัน ระหว่างขุนนางเมืองกว่างโจว  เสาโจว  กับซินโจว  ก้ยังไม่อาจยุติลงได้  ศิษย์ทั้งหลายก้เช่นกัน ต่างถือศิษย์จะอันเชิญพระสรีระร่างไปประดิษฐาน  (กว่างโจว กล่าวถือสิทธิ์ว่า พระบรรพจารย์ทรงบรรพชาที่นั่น   เสาโจว กล่าวถือสิทธิ์ว่า พระธรรมาจารย์ทรงแสดงธรรม จำเริญธรรมที่นั่น   ซินโจว ถือสิทธิ์ว่า พระธรรมาจารย์ถืออุบัติมาที่นั่น )  เมื่อดึงดันกันและตัดสินกันไม่ได้ จึงพร้อมใจใช้วิธีถวายธูปอธิษฐาน  " หากควันธูปลอยไปทางทิศใด หมายถึงชี้ทางที่พระธรรมาจารย์ประสงค์จะไป "  ขณะนั้นเอง ควันธูปลอยเป็นเส้นตรงมุ่งสู่ทิศทางเฉาซี  สิบสามค่ำเดือนสิบเอ็ด ได้อันเชิญเคลื่อนย้ายฐาฯประทับนั่ง (มีหลังคาฝากั้นมิดชิด)  พร้อมด้วยบาตรกับจีวร ที่สืบทอดจากพงศาธรรมาจารย์ กลับคืนไปยังวัดป่ารัตนรามเป่าหลินซื่อ ที่อำเภอเฉาซี     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง) ๔

                                             บทที่ ๑๐

                                กำชับให้แพร่หลาย   ฟู่จู่หลิวทง

                                            ความเดิม

        คริสตศักราช 502 ก่อนที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจะอุบัติมาหนึ่งร้อยยี่สิบหกปี  พระคุณเจ้าไภษัชย์ปัญญปิฏก  พระมหาเถระเจ้าจากอินเดีย ได้ดปรดจาริกอำเภอเฉาซี  เมื่อมาถึงริมแม่น้ำเฉาซี ท่านได้ก้มลงดื่มน้ำในแม่น้ำ และแล้วก็ต้องอุทานด้วยความประหลาดใจว่า   "เหตุไฉน น้ำในแม่น้ำเฉาซี จึงได้หอมหวานดุจเดียวกับน้ำในป่าพุทธคยาที่อินเดีย  อีกทั้งทิวทัศน์ในปริมณฑลนี้ ก็ช่างสวยสงบร่มรื่น งดงามนัก"  จนต้องเปล่งวาจาว่า  "ช่างเหมือนป่าพุทธคยาเสียนี่กระไร ดั่งไม้กลับไปยังบ้านเมือง (อินเดีย)  แท้เทียว"  ท่านยังได้กล่าวแก่ชาวบ้านแถบนั้นว่า "จงสร้างวัดไว้ที่นี่สักวัดหนึ่งเถิด อีกหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปี ภายหน้า  จะมีพระสัทธรรมรัตน์รูปหนึ่งมาแสดงพุทธธรรมที่นี่..... และเมื่อนั้น  ผู้ที่สดับธรรมจากท่าน จะมากมายดั่งต้นไม้ในป่าเขานี้ทีเดียว"  วัดที่สร้างขึ้นนั้น  ท่านได้ตั้งชื่อให้ว่า  " วัดป่ารัตนาราม        เป่าหลินซื่อ" 
        ปีถัดมา วันแรมยี่สิบห้าค่ำเดือนเจ็ด อันเชิญพระสรีระร่างออกจากห้องฐานที่ประทับนั่ง  สงฆ์ฟังเปี้ยน       ศิษย์ของพระธรรมาจารย์ ใช้ดินหอมพอกเนื้อกายอริยะของพระธรรมาจารย์ไว้ เพื่อรักษาพระมังสาไว้ให้คงสภาพเดิม  (บัดนี้  เกือบหนึ่งพันสามร้อยปีผ่านมายังคงสภาพเดิม และยังคงประดิษฐานอยู่ในสถูปมหาเจดีย์ในวัดป่ารัตนาราม)  ศิษย์ทั้งหลาย  นึกถึงคำพยากรณ์ของพระธรรมาจารย์ที่ว่า จะมีผู้มาตัดเอาพระเศียรไป จึงเอาแผ่นเหล็กบาง ๆ พันด้วยผ้าอาบยางนิ่ม ๆ แต่แข็งแรงมาก หุ้มพระศอของพระธรรมาจารย์ไว้  แล้วจึงอันเชิญเข้าประดิษฐานในสถูปต่อไป  และทันใดนั้น ก็ปรากฏแสงสว่างขาวเป็นลำยาวพยวพุ่งจากภายในสถูปขึ้นสู่ท้องฟ้า  แสงนั้นคงอยู่เป็นเวลานานติดต่อกันสามวัน จึงค่อยจางหายไป  ผู้ว่าราชการเมืองเฉาโจว ผู้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์กับชาวเมือง กราบทูลรายงานถึงราชสำนัก มหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้สร้างศิลาจารึกอริยประวัติของพระธรรมาจารย์ แสดงไว้เบื้องหน้ามหาเจดีย์นั้น 
        พระธรรมาจารย์อุบัติมาในปี ค.ศ. 638  ละสังขารปีค.ศ. 713  รวมเจริฐพระธรรมายุได้เจ็ดสิบหกปี   
ได้รับสืบทอดบาตรกับจีวร  ลำดับที่หกแห่งพงศาธรรมาจารย์ยุคหลัง  ลำดับตามพงศาธรรมแห่งชมพูทวีปยุคต้น  สืบต่อมาเป็นองค์ที่สามสิบสาม  เมื่อพระธรรมายุได้ยี่สิบสี่ปี 
ได้ปลงพระเกศาบรรพชา เมื่อพระธรรมายุได้สามสิบเก้าปี  อรรถาพระธรรมนำพาเวไนยฯได้สามสิบเจ็ดปี 
ธรรมทายาทหลักคาน ผู้สืบทอดธยานะปฏิสัมภิทา อันรอบรู้แตกฉาน รวมสี่สิบสามรูป
ศิษย์ผู้รู้แจ้งต่อวิถีธรรม ล่วงพ้นโลกีย์วิสัย มีมากมายมิอาจคณานับ
บาตรกับจีวรอันเป็นสัญญลักษณ์ ของพงศาธรรมาจารย์ที่สมเด็จพระโพธิธรรม โปรดมอบหมายถ่ายทอดสืบต่อมาทุกสมัย
จีวรผ้าโมรี บาตรแก้วผลึก พร้อมด้วยพระธรรมสาทิสลักษณ์จากฝีมือปั้นของสงฆ์ฟังเปี้ยน รวมทั้งเครื่องอัฏฐบริขารของพระธรรมาจารย์ ล้วนประดิษฐานและเก็บรักษาไว้ที่อาณาจักรธรรมวัดป่ารัตนารามตลอดไป โดยมีผู้เฝ้ามหาเจดีย์ พิทักษ์รักษาไว้ใกล้ชิด
        ส่วน  "ธรรมรัตนบัลลังก์สูตร" นั้น ให้เผยแผ่แพร่หลายต่อไป เพื่อให้วิถีธรรมสายธยานะปรากฏเป็นเครื่องจรรโลงพระรัตนตรัยให้เฟื่องฟูสถาวร เป็นกุศลประโยชน์ยิ่งแก่ปวงชนสืบไป

                                                                   ~ จบบทที่ ๑๐ ~  ;)  ~ จบเล่มที่ 4 ~

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง) ๔

                                             บทที่ ๑๐

                                กำชับให้แพร่หลาย   ฟู่จู่หลิวทง

                                          บทผนวก

        สิบปีผ่านไป  ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติอันใดเกิดขึ้นแก่พระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์  จนถึงวันสามค่ำเดือนแปด  ปีไดเอวี๋ยนที่สิบ  กลางดึกคืนนั้น พลันได้ยินเสียงลากโซ่ในสถูปเจดีย์ พระสงฆ์ที่วัดต่างตกใจตื่นขึ้น ได้เห็นชายคนหนึ่งวิ่งออกมาจากเจดีย์ ทุกคนพากันไปตรวจดูพระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์ ปรากฏมีรอยถูกบั่นที่พระศอ จึงรีบแจ้งความต่อผู้ว่าการอำเภอเมือง  ข้าหลวง "หลิ่วอู๋เถี่ยน"  กับนายอำเภอ "หยางขั่น"  ออกคำสั่งแก้เจ้าพนักงาน จะต้องให้คดีถึงที่สิ้นสุดให้ได้ ภายในวันที่กำหนด   ถึงวันห้าค่ำ (สองวันต่อมา)  ก็จับคนร้ายได้ ส่งตัวไปสอบสวนที่เมืองเสาโจว  ปรากฏว่าคนร้ายชื่อนาย "จางจิ้งหมั่น"  เป็นชาวเมือวหยู่โจว อำเภอเหลียง  ได้รับเงินค่าจ้างจากพระเถระจินต้าเปย  ชาวซินหลัว (เกาหลี)  ที่วัดไคเอวี๋ยน  เมืองหงโจว  เป็นจำนวนสองหมื่นตำลึง  ได้มาตัดพระเศียรของพระธรรมาจารย์ เพื่อนำกลับไปสักการะบูชาที่บ้านเมืองทางทะเลตะวันออก   ข้าหลวงหลิ่นสอบสวนคนร้ายเสร็จสิ้น  แต่ยังมิได้ลงอาญาทันที แต่กลับเดินทางมาที่เฉาซีด้วยตนเอง เพื่อถามความเห็นจากสงฆ์ลิ่งเทา  ศิษย์ของพระธรรมาจารย์ที่ดูแลสถูปนี้ว่า จะให้จัดการชำระโทษสถานใด
        พิจารณา
        กรณีนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ของราชการบ้านเมืองทีเดียว ทั้งนี้  ด้วยมหาบารมีคุณของพระธรรมาจารย์ ทำให้ข้าราชการบ้านเมือง เคารพยำเกรงคดีที่เกี่ยวกับบุคคลของศาสนาถึงเพีบงนี้   พระอาจารย์ลิ่งเทาให้ความเห็นว่า "หากเป็นไปตามกฏหมายบ้านเมือง โทษก็จะต้องถึงประหาร  แต่หากเป็นไปตามคำสอนของพระศาสนา ก็จะต้องให้ความเมตตากรุณา เห็นความเสมอภาคของทุกชีวิต ทั้งญาติสนิทหรืออมิตรหมู่มาร  อีกทั้งความอุกอาจนี้ มีเจตนาเพื่อนำพระเศียรไปสักการะบูชา โทษนี้จึงน่าจะอภัยให้ได้"  ข้าหลวงหลิ่วได้ฟัง พลันสะท้อนเสียงสรรเสริญว่า "ประตูแห่งพุทธะโอบอ้อมใหญ่แท้"  ในที่สุดก็ให้อภัยโทษแก่คนร้ายไป
        ครั้นมาถึง รัชสมัยของพระเจ้าถังเซี่ยนจงฮ่องเต่ ปีที่หนึ่ง ฮ่องเต่ส่งข้าหลวงมาอันเชิญบาตรกับจีวรพงศาธรรมเข้าไปสักการะในพระมหาราชวัง  จนถึงสมัยพระเจ้าถังไต้จงฮ่องเต้ เปิดศักราชอย่งไท่ปีที่หนึ่ง ห้าค่ำเดือนห้า พระเจ้าถังไต้จง ทรงพระสุบิน (ฝัน) จึงรับสั่งเรียกหยางเฉียน ผู้ว่าการเมืองเฉาโจวเข้าเฝ้าว่า "เราได้นิมิตว่า พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงขออันเชิญบาตรกับจีวรพงศาธรรมกลับคืนไปที่เฉาซี  บีดนี้ เราได้มอบหมายให้จอมทัพมิ่งเมือง "หลิวจงจิ่ง" ทำหน้าที่ทูลเกล้าบาตรกับจีวรพงศาธรรม นิวัติกลับเฉาซี  ส่วนท่าน (ข้าหลวงหยางเฉียน) จงเป็นผู้จัดการประดิษฐานบาตรกับจีวรไว้ที่วัดป่ารัตนารามด้วยศาสนาพิธีหลวง อย่าให้บกพร่อง อีกทั้งขอให้เหล่าสงฆ์กับพุทธบริษัททุกคน ช่วยกันดูแลรักษา อย่าให้ตกหล่นสูญหายเป็นอันขาด"  ภายหลังต่อมา ยังมีผู้พยายามจะขโมยอยู่ร่ำไป แต่คนร้ายหนีไปไม่ไกลนักก็ถูกจับได้ เป็นเช่นนี้ถึงสี่ครั้ง
        มาถึงรัชสมัยพระเจ้าถังเซี่ยนฮ่องเต้ ซึ่งทรงปลาบปลื้ม เคารพศรัทธาพระธรรมาจารย์ ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ เมื่อได้ขึ้นครองราชย์จึงเถลิงราชด้วยการถวายพระกิตติคุณนามแด่พระธรรมาจารย์ว่า "มหาคันฉายสมาธยานจารย์                ต้าเจี้ยนฉันซือ" แปลว่า พระอาจารย์สายฌานธยานะ พระผู้ใสสว่างดั่งกระจกบานใหญ่ของเหล่าเวไนยฯ  ถวายนามแด่พระมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานพระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์ว่า  "รัตนะเจดีย์รัศมีศักดิ์สิทธิ์ส่องสันติธรรม               เอวี๋ยนเหอหลิงเจ้าเป่าถ่า" 
        มาถึงรัชสมัยซ่งไท่จู่มหาปิตุลาเถลิงราชปีที่หนึ่ง ขบถเดนตายของคนแซ่หลิว ก่อกวนเผาผลาญบ้านเมือง วัดและเจดีย์ของพระธรรมาจารย์ถูกทำลายไปด้วย แต่พระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์ ได้รับการปกป้องรักษาจากสงฆ์ผู้พิทักษ์เป็นอย่างดี ไม่มีส่วนเสียหายใด ๆ เลย
        กาลเวลาล่วงเลยมา  จนถึงรัชสมัยพระเจ้าซ่งไท่จงฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์  พระเจ้าซ่งไท่จงทรงใฝ่ธรรมวิถีธยานะ จึงโปรดรับสั่งให้ซ่อมมหาเจดีย์ที่เสียหายนั้นขึ้นใหม่  เพิ่มเป็นมหาเจดีย์เจ็ดชั้น  ถวายพระสักการะนามว่า  "บรมราชสันติสุขสูญตา มหาคันฉายสมาธยานะจารย์เจดีย์"  ต้าเจี้ยนเจินคงฉันซือไท่ผิงชิงกั๋วจือถ่า..
        กาลเวลาล่วงเลยมาอีก  จนถึงรัชสมัยพระเจ้าซ่งเหยินจงฮ่องเต้  ศักราชเทียนเซิ่งปีที่สิบ   พระเจ้าซ่งเหยินจง จึงได้กราบอันเชิญพระสรีระร่างของพระธรรมาจารย์ พร้อมด้วยบาตรกับจีวรพงศาธรรมาจารย์ด้วยพระราชพิธีออันศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง เข้าประดิษฐานในพระราชวังชั้นใน (ระยะหนึ่ง)  เพื่อถวายสักการะบูชาเป็นประจำอย่างใกล้ชิดด้วยความเคารพยิ่ง   อีกทั้งถวายพระราชสักการะนามเพิ่มขึ้นว่า ...
        " มหาคันฉายสูญตา  สมันตะปาริสุทธิ์สมบูรณ์ สมาธยานะจารย์ "   ต้าเจี้ยนเจิงคงผู่เจวี๋ยเอวี๋ยนหมิงฉันซือ

ทั้งความสูญและความมี
ล้วนเป็นสภาวะอันไม่มีอยู่

  ความรู้สึกที่ว่ามี - ไม่มี
เป็นความยินดีของบุคคล
เป็นจิตที่ยึดหมายในสภาวะ
   และปรากฏการณ์นั้น

สรรพสิ่งล้วนเกิดด้วยเหตุปัจจัย
    อันได้เสริมส่ง อิงอาศัย
    โยงใยสัมพันธ์เนื่องกัน

               สุดท้าย...
     ไม่มีทั้งความสูญและความมี     
แม้ผู้ยึดหมายในสภาวะปรากฏการณ์นั้น
         ก็หามีอยู่  คงอยู่ไม่

            ศุ  ภ  นิ  มิต

Tags: