collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 71977 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "" กุศลมูลมีสอง  หนึ่งเที่ยง  สองไม่เที่ยง  พุทธญาณนั้นมิใช่เที่ยงและมิใช่ไม่เที่ยง ฉะนั้นจึงมิขาด อันได้ชื่อว่า ไม่เป็นสอง ""
    ความหมาย...พิจารณา...
    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้เป็นสองกรณี ทั้งขาดและไม่ขาด ก็เพื่อมิให้ละเมิดผิดต่อศีล มิให้เป็นโอฆะเวร และมิให้ขาดศรัทธาวึ่งจะทำให้ยากแก่การบรรลุธรรม  ภายหลังก่อนกาลอันใกล้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสจารึกไว้ในสัทธรรมปุณฆลฑริกสูตรกับมหาปรินิรวาณสูตร ว่า ""เวไนยสัตว์ล้วนมีพุทธญาณ อันอาจบรรลุพุทธะได้ในที่สุด""" ประการหลังนี้ประกาศสัจธรรม ความเป็นจริงอันเที่ยงแท้  ฉะนั้น ผู้ละเมิดผิดต่อศีล บาปเวรและสรัทธา ลัวนอาจบรรลุธรรมได้ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับเวลา เหตุปัจจัยที่จะส่งผลให้ต่อไป  มีคำกล่าวว่า ""โทษบาปมากมาย คลายลงได้ด้วยสำนึก"" ตัวอย่างเช่นองคุลีมาร กลับตัวกลับใจสำนึก เลื่อมใสในพุทธธรรมทันที ก็บรรลุธรรมได้ในที่สุด ด้วยทุกคนล้วนมีพุทธญาณแต่เดิมที ผิดชอบชั่วดีย่อมรู้ได้ด้วยตน จะต่างกันที่บ้างรู้เร็วรู้ช้า รู้แท้รู้ไม่แท้  กาลเวลาที่จะอำนวยผลให้ได้ฟื้นฟูพุทธญาณจึงต่างกัน หากจะเอาการโคจรของดวงอาทิตย์กับโลก มาเป็นข้อเปรียบเทียบก็ได้ว่า โลกหมุนรอบตัวเอง จึงมีกลางวันกลางคืน ตรงข้ามกัน เปรียบเช่นกุศลมูลกับอกุศลมูล
      ดวงอาทิตย์เปรียบเช่นธรรมญาณ เป็นอยู่อย่างนั้นเอง โดยไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่แตกต่างด้วยความมืดสว่าง จึงอยู่เหนือกฏการณ์อันเป็นกลางวันกลางคืน พุทธญาณเป็นเช่นนี้ อยู่เหนือความเที่ยงและไม่เที่ยงอย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่า ไม่ขาดจากกุศลมูลแห่งพุทธะ
      หนึ่งคือ กุศล  สองคือ อกุศล พุทธญาณมิได้เป็นทั้งกุศล และอกุศล  จึงได้ชื่อว่าไม่เป็นสอง
      ความหมาย...พิจารณา...
      ด้วยพุทธญาณอยู่เหนือภาวะตอบโต้แปรเปลี่ยน การนำพาสาธุชนเข้าขอรับวิถีธรรม บางคนมาได้ง่ายบ้างมาได้ยาก เราจะระลึกว่าเขาเคยสร้างสมกุศลมูลมาอย่างไร แต่มิอาจคิดว่า เขามีภาวะพุทธญาณหรือไม่ แม้คนที่ไม่อาจมา เรายังเพียรนำพาครั้งแล้วครั้งเล่า   ปราชญ์เมิ่งจื่อประกาศทฤษฏีธรรมว่า ""ธรรมญาณมีภาวะเดิมทีที่ดีงาม เที่่ยงธรรมดั่งฟ้าดินแผ่มหาพลานุภาพไพศาล คงอยู่ในมหาจักรวาล"" ความหมายคือ เป็นเอกะหนึ่งเดียว ไม่เป็นสองเช่นกัน
      ในโลกของขันธ์ห้า ปุถุชนเห็นพุทธญาณเป็นสอง ผู้มีปัญญาจบสิ้นภาวะจิตญาณอันเป็นสองของตน เมื่อจิตญาณไม่เป็นสองก็คือพุทธญาณ
      ความหมาย...พิจารณา...
      ปุถุชนยังตกอยู่ในขันธ์ห้า เวียนวนอยู่กับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงคุ้นเคยและหมายว่า พุทธญาณมีภาวะแปรไปเป็นสองเช่นนี้
      พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจง  สดับดังนั้นแล้ว ปลื้มปิติสาธุการกล่าวว่า ""อาตมาอรรถาธรรมเปรียบได้ดังเศษกระเบื้อง ท่านสาธยายธรรมเปรียบได้ดั่งทองคำแท้""  ดังนั้นแล้ว จึงปลงพระเกศาแด่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ถวายความเคารพเป็นพระอาจารย์
     ความหมาย...พิจารณา...
     พระธรรมาจารย์ได้รับถ่ายทอดวิถีจิตจากพงศาธรรมาจารย์หงเหยิ่น บวชจิตรู้แจ้งฉับพลัน รับฐานะพงศาธรรมาจารย์สมัยที่หกสืบต่อทันทีตั้งแต่สิบห้าปีก่อน  แต่เนื่องด้วยกาลเวลานั้น ความกระทันหัน อีกทั้งต้องระหกระเหิน จึงยังมิได้บวชกายตามพิธีภายหลังพระเกศาของพงศาธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพระเจดีย์ที่วัดธรรมญาณ ฝ่าซิ่งซื่อ เป็นที่สักการำลึกมาจนถึงทุกวันนี้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
 
        ณ  บัดนั้น พงศาธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเข้าประทับนั่งยังใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เปิดปฐมกาลประกาศสัทธรรมวิถี ""บูรพาบรรพต"" ตงซัน   เกี่่ยวกับศรีมหาโพธิ์  คือในรัชสมัยเหลียงอู่ตี้ ปีต้นศักราชเทียนเจี้ยน (ค.ศ.502) สมเด็จพระคุณเจ้าไภษัชย์ปัญญาปิฏก ข้ามทะเลมาถึงที่แห่งนี้ ได็โปรดปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาจากอินเดียลงตรงนี้ อีกทั้งได้สลักศิลาจารึกไว้อีกแผ่นหนึ่ง
        แผ่นแรกสร้างโดยสมเด็จพระคุณเจ้าคุณาภัทรปิฏก ซึ่งล่องเรือจากอินเดียมาประกาศพุทธธรรมในประเทศจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง  สมเด็จพระคุณเจ้าไภษัชย์ปัญญาปิฏก ได้สลักศิลาจารึกแผ่นที่สองไว้ ณ ที่นั้น มีใจความว่า ""อีกร้อยเจ็ดสิบปีภายหน้า จะมีพระโพธิสัตว์ที่ยังดำรงกายเนื้อยู่ จาริกมาแสดงสัทธรรมแห่งมหายาน ณ ที่นี่ จะกอบกู้อุ้มชูเวไนยฯไม่ประมาณ เป็นธรรมราชาผู้ถ่ายทอดพุทธรรม เป็นธรรมราชาผู้ถ่ายทอดวิถีจิตจากพระพุทธโดยแท้"" มีคำกล่าวว่า ""พระอริยะย่อมรู้ได้ในพระอริยะ""  ฮุ่ยเหนิงที่ปุถุชนเห็นเป็นชาวป่าชาวเยิง แท้จริงคือพระภาคจาก ""พระบรรพพุทธะกษิติครรภ์"" ตี้จั้งอ๋วงกู่ฝอ
        เมื่อพงศาธรรมาจารย์ประทับนั่งยังใต้ต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว ประกาศสัทธรรมวิถี ""บูรพาบรรพต  ตงซัน"" นั้นว่า...
        ความหมาย...พิจารณา...
        เนื่องด้วยภูเขาหวงเหมย ถิ่นกำเนิดของพงศาธรรมาจารย์สมัยที่ห้า อยุ่ทางแถบตะวันออกของเมืองฉีโจว เรียกว่า ตงซันหมายถึงบูรพาบรรพต  พงศาธรรมาจารย์สมัยที่สี่ และพระองค์เองก็เจริญธรรมที่ ""ตงซัน""
       สัทธรรมวิถีจิตฉับพลัน ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากตงซัน ด้วยรำลึกพระคุณหลายประการนี้ พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่จึงได้ประกาศสัทธรรม โดยให้ชื่อว่า ""วิถีธรรมแห่งตงซัน"" บูรพาบรรพต
      พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ได้โปรดเล่าประวัติการเจริญธรรมของพระองค์ให้ทุกคนฟัง  พระธรรมาจารย์อิ้นจงเป็นบุคคลสำคัญมากสำหรับประวัติการช่วงนี้
     เมื่อพระอภิธรรมาจารย์อิ้นจงกราบถวายตัวเป็นศิษย์ของพระธรรมาจารย์ลิ่วจู่แล้ว ท่านก็ได้ยกอาณาจักรธรรมทั้งหมดที่ดำเนินงานแพร่ธรรมมานานถึงสิบสองปีให้แก่พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ปกครองทั้งหมด  ฉะนั้น  ทันทีที่ประกาศวิถีสัทธรรมที่ตงซัน พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ ก็จึงพรั่งพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา สาธุชนผู้ศรัทธา และทุกสิ่งอย่างอันพึงมี  จากจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระอภิธรรมาจารย์อิ้นจงนั้นมิใช่ธรรมดา เราชาวอนุตตรธรรมก็เช่นกัน ""บำเพ็ญเพื่อให้  แต่มิใช่เพื่อแย่งชิง""
     หากเป็นเช่นนี้ มหาเอกภาพของโลกจึงจะเกิดขึ้นได้จากอาณาจักรธรรม
  ...อาตมาฮุ่ยเหนิง  ได้รับวิถีธรรมจากตงซัน เจริญธรรมด้วยความลำบากยากยิ่งทุกสิ่งอย่าง  (ผู้แย่งชิงบาตรกับจีวรไม่ลดละทุกขณะเวลา) ชีวิตดั่งแขวนอยู่บนเส้นด้าย
     บำเพ็ญธรรมควรอยู่ที่รู้แจ้งฉับพลัน มิใช่อยู่ที่หาวิธีหาหนทางไปเคี่ยวกรำ  การเคี่ยวกรำยังอาจเป็นเหตุบั่นทอนการเจริญอีกด้วยซ้ำไป หากไม่รู้เท่าทันต่อการเคี่ยวกรรมนั้น แต่หากมีเหตุจะต้องถูกเคี่ยวกรรมอย่างไร ก็ให้น้อมรับสภาพนั้น เป็นประสบการณ์ไว้เพื่อใช้ในการเจริญธรรม
     พระธรรมาจารย์กล่าวว่า ""วันนี้ได้ประชุมธรรมที่นี่พร้อมกันกับขุนนาง ข้าราชการ สงฆ์ ชี ผู้ถือศีล และสาะุชน ชะรอยจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งบุญแต่ครั้งอดีตชาติอีกทั้งยังเคยได้ร่วมกันสักการะอุปัฏฐากเหล่าพุทธะ เคยร่วมปลูกเหตุกุศลมูลมาก่อน จึงเป็นเหตุให้ได้สดับพุทธธรรมวิถีฉับพลัน
     การจะร่วมปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ในอาณาจักรธรรมเดียวกัน มิใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นบุญสัมพันธ์วิเศษยิ่งเหนือกว่าบุญสัมพันธ์อื่นใดในทางโลก  ฉะนั้น  จะไม่ดำรงคุณค่าไว้จะได้หรือ
     ศาสนาเป็นสิ่งซึ่งอดีตอริยเจ้าถ่ายทอดให้ มิใช่ปัญญาจากฮุ่ยเหนิงเอง  ท่านผู้ยินดีสดับคำสอนจากอริยะ จึงต่างชำระใจตน ได้ฟังแล้วต่างจะขจัดข้อสงสัยได้เอง ก็จะไม่ต่างจากอดีตอริยะ
     ซือจุน พระวิสุทธิอาจารย์ของเราโปรดไว้ ""บำเพ็ญธรรมไม่มีอื่นใด ล้วนอยู่ที่สงสัยต้องถาม"" บำเพ็ญเพื่อเข้าถึงแก่นธรรมให้กระจ่างแจ้ง  ผู้เก็บเอาความคลุมเครือลังเลสงสัยไว้โดยไม่ใฝ่รู้ มิใช่วิสัยของผู้บำเพ็ญจริง 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พระธรรมาจารย์โปรดแก่สาธุชนต่อไปว่า ""ท่านผู้เจริญปัญญาแห่งโพธิญาณ ชาวโลกต่างมีอยู่เองเดิมที ด้วยเหตุที่ใจหลงไม่อาจสำนึกรู้ได้ จึงต้องอาศัยมหาบุรุษผู้เจริญธรรมชี้นำให้เห็นจิตญาณ
       ความหมาย...พิจารณา...
       ท่านผู้เจริญ หมายถึง ผู้สามารถชี้นำสาธุชนให้ละเลิกต่ออกุศลกรรม และเจริญกุศลกรรมได้  ผู้สามารถชี้นำสาธุชนให้รู้เห็นปัญญาแห่งโพธิญาณได้  ในอาณาจักรธรรมมากไปด้วยผู้ที่เป็นปากเสียงแทนฟ้าเบื้องบน ท่านเหล่านั้นก็เป็นท่านผู้เจริญในระดับหนึ่งเช่นกัน
     ...พึงรู้ว่าคนโง่คนฉลาด พุทธญาณมิแตกต่างกันแต่เดิมที ด้วยเหตุที่จิตหลงต่างกัน ดังนั้นจึงมีโง่มีฉลาด  หลงมาก -- โง่มาก  หลงนาน -- โง่นาน  หลงลึก - โง่ลึก
        บัดนี้จะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายในข้อธรรม  ""มหาปัญญาปารมิตา""  เพื่อท่านทั้งหลายต่างเกิดปัญญา  ขอจงใฝ่ใจสดับฟังอาตมาจะกล่าวแก่ท่าน
        ความหมาย...พิจารณา...
        ""ใฝ่ใจ""มิให้ใจแวะเวียนฟุ้งซ่าน   ""ตั้งใจ"" ให้มีสมาธิคงที่ไว้ มิให้เลื่อยลอย
        ท่านผู้เจริญ...ชาวโลกต่างท่องบ่น ""ปัญญาปารมิตา""กันทั้งวันแต่ไม่รู้จักปัญญาญาณแห่งตน ท่องบ่นเสียเปล่า ดั่งกินข้าวซึ่งมิอิ่มได้ กล่าวอ้างเสียเปล่า หมื่นกัปมิอาจเห็นได้ในจิตญาณ ที่สุดคือไร้ประโยชน์  ข้อความท่อนหนึ่งกล่าวไว้ว่า.""..อ่านคัมถีร์เพื่อสยบอารมณ์...ไม่เข้าใจความหมายไม่เป็นไร...นานวันไปก็อาจเห็นจิตญาณตน...""  กับข้อความที่ว่า ...ท่องบ่นเสียเปล่า...มิอาจเห็นได้ในจิตญาณตน...""  ข้อความทั้งสองมิได้ขัดกันในการปฏิบัติและข้อสรุป พึงรู้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระอริยเจ้า ล้วนให้ธรรมะที่ตรงต่อจริต ตรงต่อสภาพความเป็นจริงของผู้รับ ดั่งให้โอสถที่มีสรรพคุณและขนาดรับประทานที่เหมาะแก่โรคของผู้นั้น
       นัยเดียวกันที่ตถาคตเจ้าได้แสดงธรรมกรณีเดียวกัน แต่ด้วยคำตอบต่างกัน ในวาระในบุคคลต่างกัน เช่นที่กล่าวไว้ข้างหน้าอันว่าด้วย ""การขาดจากกุศลมูลแห่งพุทธะหรือไม่ อย่างไร??? นั้น ท่านผู้ศึกษาจงโปรดพิจารณา
       พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า  ""ท่านผู้เจริญ "" มหาปัญญาปารมิตา""  เป็นภาษาสันสกฤต คำนี้หมายถึง""มหาปัญญาบรรลุฟากฝั่ง"" ...การนี้พึงดำเนินไปด้วยจิต มิอยู่ที่ปากสวดท่อง  ปากสวดท่องแต่จิตมิได้ดำเนินตาม จะเป็นเช่นภาพมายา อากาศธาตุ จะเป็นเช่นน้ำค้าง สายฟ้า หามีแก่นแท้ไม่  ปากท่องบ่นไป จิตใจดำเนินตาม ปากกับใจจะสอดคล้องกัน  จิตญาณตนคือพุทธะ พ้นจากจิตเดิมไป อื่นใดหามีพุทธะไม่  อย่างไรได้ชื่อว่า ""มหา""  มหาคือใหญ่  ปริมาตรใจกว้างใหญ่ ดุจดั่งอวกาศ ปราศจากขอบเขตปราศจากกรอบ เหลี่ยมกลมใหญ่เล็ก ปราศจากเขียวเหลืองแดงขาว ปราศจากบนล่างยาวสั้น ปราศจากโทสะ ปราศจากยินดี ปราศจากผิด  ปราศจากดี  ปราสจากชั่ว  ปราศจากเบื้องต้นและปราศจากเบื้องปลาย...
       ความหมาย...พิจารณา...
       ปริมาตรใจกว้างใหญ่  ชาวโลกมีคำชื่นชมกันว่า คนนี้ใจกว้างดั่งแม่น้ำ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ได้ไม่อั้นทั้งหมดเท่าที่มี   พระเยซูคริสต์มีพระหฤทัยรักกว้างใหญ่ไพศาล  จนมีคำนิยามสรรเสริญว่า""พระผู้เป็นเจ้าทรงรักโลก""เป็นความรักยิ่งใหญ่ไม่อาจประมาณจำกัดโดยแท้ ปริมาตรใจในพระคัมภีร์จึงเป็นใจที่มิอาจประมาณความเวิ้งว้างของอวกาศมิอาจคำนวนวัดขอบเขต
      ซุนอู้คง (ซุนหงอคง) ในไซอิ๋ว ตีลังกาทีเดียวไปไกลถึงหนึ่งหมื่นแปดพันลี้ แต่ยังมิอาจพันไปจากใจกลางฝ่าพระหัตถ์ของพระเยซูไลพุทธเจ้าได้  ครั้งหนึ่งซุนอู้คง วิ่งไปจนถึงขอบฟ้า มองเห็นภูเขาห้านิ้ว อู่ซื่อซัน   หมายว่าจุดนี้ถึงที่สุดแล้วของโลกกว้าง จึงปัสสาวะรดไว้ตรงนั้นเพื่อเป็นหลักฐานที่ระลึก  อีกทั้งเขียนหนังสือประกาศความยิ่งใหญ่ที่ได้มาถึงที่สุดขอบฟ้าว่า "เรา"มหาอริยะเทียมฟ้า ฉีเทียนต้าเซิ่ง  ได้มาเที่ยวถึงที่นี่  กลับมาจากขอบฟ้า ซุนอู้คงกราบทูลพระยูไลพุทธเจ้าด้วยความกระหยิ่มใจว่า ""ข้าพเจ้ากลับจากขอบฟ้ามาแล้ว"" พระยูไลพุทธเจ้าแบพระหัตถ์ออก ซุนอู้คงเห็นข้อความตัวหนังสือลายมีอของตนที่เขียนไว้บนภูเขาห้านิ้ว ชัดเจนอยู่บนนิ้วพระหัตถ์ของพระยูไลพุทธเจ้า...
       ยูไล หมายถึง ตถตา พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเสด็จมาจากภาวะ "อันเป็นเช่นนั้นเอง" หมายถึงโพธิญาณอันปราศจากรูปลักษณ์ ความกว้างใหญ่แห่งโพธิญาณนั้นเพียงไร  ดุจมหาอวกาศ หมื่นโลกธาตุ
       ซุนอู้คง ยังมิอาจไปถึงความกว้างไกลปานนั้น มิเกินกว่าใจกลางฝ่าพระหัตถ์พระยูไลพุทะเจ้าได้เลย  นี่คือ !!! ยกตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างระหว่างใจกว้างดั่งแม่น้ำของคน กับปริมาตรใจไร้ขอบเขตของโพธิญาณ
       พุทธเกษตรแห่งพุทธทั้งหลาย กว้างใหญ่ดุจอวกาศ พุทธเกษตรจึงมิได้กำจัดอยู่ ณ ทิศตะวันตก ตามที่เคยเข้าใจกันมาดินแดนแห่งพุทธะ ดุจเดียวกับมหาอวกาศ  ชาวโลกมีจิตญาณเดิมอันว่างเปล่าแต่เดิมทีจึงปราศจากธรรมอันใดอันได้รับไว้ สุญตาแห่งจิตญาณตนก้เป็นเช่นนี้ เมื่อจิตเข้าสู่ภาวะสุญตาแล้ว ยังจะมีธรรมะใดกำหนดหมายอยู่ในจิตนั้น
       ท่านผู้เจริญ จงอย่ายึดหมาย เมื่อได้ยินอาตมากล่าวว่า ""ว่าง"" ก็ไปยึดหมายในความว่างกัน  ข้อหนึ่ง อย่าได้ยึดหมายในความว่าง หากทำสมาธิโดยยึดหมายความว่าง จะเข้าสู่การยึดหมายในความว่างอันมิพึงยึดหมายไว้
       พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่โปรดว่า ""ไม่ยึดหมายในความดี ความชั่ว แต่ชัดเจนรู้ได้ในความดีความชั่วนั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ท่านผู้เจริญ  ความว่างของมหาจักรวาล โอบรับสรรพสิ่งทั้งวัตถุรูปลักษณ์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ภูเขา แม่น้ำ ผืนแผ่นดิน สายน้ำลำธารคูคลองน้อยใหญ่ ต้นหญ้า ต้นไม้ ไพรพฤกษ์ คนชั่วคนดี อกุศลธรรมกุศลธรรม สวรรค์นรก มหาสมุทรทั้งหมด เขาพระสุเมรุ ล้วนอยู่ท่ามกลางของอวกาศนั้น จิตญาณว่างของชาวโลกก็เป็นเช่นนั้น
      ความหมาย...พิจารณา...
      โลก ในพระคัมภีร์ หมายถึง ชาติภพ กาลเวลา เช่น สามโลกคือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต   จิตญาณว่างของชาวโลก หมายถึงว่างจากสามโลก ว่างจากสรรพสิ่ง  "" จิตญาณว่างอยู่ท่ามกลางความมีอยู่ของสรรพสิ่ง"""
                                    ""  สรรพสิ่งมีอยู่ท่ามกลางความว่างของจิตญาณ""
                                    ""  สรรพสิ่งมีอยู่ท่ามกลางความว่างของมหาจักรวาล""
      พระเยซูเจ้ากล่าวว่า "เราคือสัจธรรม คือชีวิต คือหนทาง"" ภาษาที่นิยามต่างกัน แต่ความหมายอย่างเดียวกัน  อริยปราชญ์เหลาจื่อ จารึกไว้ในคัมภีร์วิสุทธิสูตร ชิงจิ้งจิง  ว่า "คน บริสุทธิ์ สงบ เที่ยงแท้ไซร์ ฟ้าดินสรรพสิ่งล้วนเป็นของตนคือสภาวะใหญ่ท่ามกลางมิใช่สังขาร  ฟ้าดินสรรพสิ่งล้วนเป็นของตน ซึ่งแท้จริงตนก็คือส่วนหนึ่งของฟ้าดิน สรรพสิ่งเมื่อไม่มีตนเฉพาะตน ไม่ยึดหมายเฉพาะส่วน ทุกขณะจะเป็นอิสระ เสมือนยืนอยู่บนที่สูงอันเวิ้งว้าง  พุทธญาณตนสงบบริสุทธิ์แต่เดิมที เมื่อใดที่กลับคืนไปสู่พุทธญาณแต่เดิมทีนั้น ได้มหาจักวารก็คือฉัน ฉันก็คือมหาจักรวาล ล่วงพ้นจากการถูกควบคุมกำหนดจากการเวลาที่เรียกว่า"ภาวะอมตะนิรันดร์กาล
     ท่านผู้เจริญ จิตญาณที่เรียกว่าใหญ่ คือครอบคลุมหมื่นธรรมอยู่ภายใน ฉะนั้นหากพบเห็นคนทั้งปวงในความชั่วในความดี ล้วนโดยมิได้ยึดหมาย มิได้สลัดละทิ้งด้วยเหตุแห่งดีชั่วนั้น มิถูดแปดเปื้อนด้วยความดีชั่วนั้น จิตใจก็จะว่างดุจอวกาศว่าง จึงเรียกได้ว่าใหญ่ (สันสกฤตเรียกว่า มหา)
     ท่านผู้เจริญ คนหลงพูดแต่ปาก ผู้มีปัญญาดำเนินจริงด้วยใจ ยังมีคนหลงที่ใจว่างนั่งนิ่ง ไม่เกิดความคิดใด ๆ ยกตนว่ายิ่งใหญ่ คนประเภทนี้ จะมิอาจอรรถาธรรมด้วยได้ เนื่องจากมีความเห็นผิด  ตถาคตเจ้าเข้าถึงภาวะอันหาขอบเขตมิได้ รายรอบธรรมธาตุมิอาจประมาณ หากเข้าถึงจะรู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งอย่าง หากใช้ประโยชน์จะรู้การทั้งปวง ไปมาอิสระ ปราศจากขัดข้องด้วยกายใจ นั่นคือปัญญา  มีผู้กราบเรียนถามมหาเถระเจ้า "เจ้าโจวเหอซั่ง ถามว่า อย่างไรเรียกว่า หมื่นธรรมขันธ์รวมอยู่ในหนึ่งเดียว"พระมหาเถระเจ้าตอบว่า "อาตมากลับมาจากเมืองชิงโจว ซื้อสังฆพัสตรา (เครื่องนุ่งห่มของสงฆ์) มาผืนหนึ่ง หนักเจ็ดชั่ง" คำตอบของมหาเถระช่างแยบยลแท้ "หมื่นพันธรรมขันธ์รวมอยู่ในจิตญาณหนึ่งเดียว" อุปมา หนึ่ง สังฆพัสตรา แต่เนื้อผ้าประกอบด้วยเส้นด้ายทอตรง - ขวางผ่านการตัดเย็บประกอบกันเป็นส่วนต่าง ๆ รวมอยู่เป็นหนึ่งเดียวในสังฆพัสตราผืนนั้น
     ท่านผู้เจริญ ปริมาตรใจกว้างใหญ่ รายรอบธรรมธาตุเมื่อนำออกใช้ จะกระจ่างแจ้งจริง เสร็จสิ้นทุกสิ่งได้ไม่คลุมเครือ เมื่อนำออกมาใช้ สนองรับ สนองตอบ ก็จะรู้ได้ในทุกสิ่ง ทุกสิ่งคือหนึ่ง หนึ่งคือทุกสิ่ง เป็นไป เป็นมาอิสระ กายใจมิได้สดุดอุปสรรค นั่นคือปัญญา   ท่านผู้เจริญ  ปัญญาทั้งปวงล้วนเกิดแต่จิตญาณตน มิใช่ได้มาจากภายนอก โปรดอย่าได้เข้าใจผิด ได้ชื่อว่าการสำแดงคุณของจิตญาณตน  หนึ่งจริงทุกอย่างจริง ปริมาตรใจเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เดินทางเล็ก พร่ำพูดแต่จิตว่าง แต่ใจมิได้ดำเนินจริงตามนี้ อุปมาดั่งสามัญชนตั้งตนเป็นพระราชา ถึงอย่างไรก็มิอาจเป็นจริงได้  หากปฏิบัติเช่นนี้ไซร์ มิใช่แห่งศิษย์อาตมา
     ความหมาย...พิจารณา...
     หนึ่งจริง คือเข้าถึงจิตญาณ อันเป็นหนึ่งของตนได้จริง เมื่อนั้น ก็จะรู้ในความเป็นสัจธรรมจริงของทุกสิ่งอย่าง มิฉะนั้นจะยังยึดหมายไปทั่ว โดยอาจไม่รู้ตัว "ปริมาตรใจ" ใจพระพุทธะมิอาจประมาณเป็นเรื่องใหญ่ จะเข้าถึงภาวะไร้ขอบเขตเช่นนั้นได้ จะต้องไม่เดินทางเล็ก คือทางเฉพาะตัว เหมือนอยู่ในห้องทิบแคบเล็ก หลับตาภาวนาเพื่อตน  มิอาจช่วยใครได้ ยังจะหลงตนว่าเป็นใหญ่

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ท่านผู้เจริญ  อย่างไรได้ชื่อว่ามีปัญญา อันปัญญานั้นจีนเรียกว่า ""จื้อฮุ่ย"" ในทุกสภาวะสถาน ทุกขณะจิต ใช้ความคิดแจ้งแห่งจิตอันมิโง่หลง สำแดงปัญญาเป็นปกติวิสัย ก็คือปัญญาปฏิบัติ  หนึ่งความคิดโง่หลงไป คือปัญญาขาด หนึ่งความคิดรู้แจ้งคือปัญญาเกิด  ชาวโลกโง่หลงมิเห็นปัญญา ปากพูดปัญญา ในใจโง่หลงเสมอ มักพูดเองว่า ฉันบำเพ็ญเพียรปัญญา พร่ำบ่นแต่ความว่าง  มิรู้จักความว่างแท้  ปัญญาไร้รูปลักษณ์  จิตรู้แจ้งนั่นแหละใช่ หากเข้าใจได้ดั่งนี้ จึงชื่อว่าปัญญารู้แจ้ง
      อย่างไรได้ชื่อว่า "ปารมิตา" นี่คือภาษาตะวันตก (ชมพูทวีป) จีนเรียกว่าถึงฟากฝั่ง แปลความว่าพ้นจากเกิดตาย ยึดหมายอารมณ์อินทรีย์มีเกิด - ดับ ดั่งพื้นน้ำมีระลอกคลื่น เรียกว่าฝั่งนี้ (ฝั่ง หมายถึง ความเป็นอนิจจัง) พ้นจากยึดหมายในอารมณ์อินทรีย์ไม่มีเกิดดับดั่งสายน้ำไหลราบเรียบ ได้ชื่อว่า ฟากฝั่งอันเกษม ดังนั้ยจึงเรียกว่า ""ปารมิตา""
      ความหมาย...พิจารณา...
       ปารมิตา บางท่านแปลว่า ออกหากจากอารมณ์อินทรีย์  มิให้อินทรีย์หกรบกวนได้  จิตใจเยือกเย็นราบเรียบ เรียกว่าถึงซึ่งปารมิตา   ท่านผู้เจริญ  คนหลงท่องแต่ปาก ขณะท่อง ฟุ้งซ่าน ถูกผิดคิดไป แต่หากปากท่องใจเป็นไปตาม ได้ชื่อว่าจิตแท้ตนจริง ผู้รู้แจ้งในธรรมนี้คือ รู้ปัญญาธรรม ผู้บำเพ็ญดังนี้คือ ผู้บำเพ็ญปัญญา ไม่บำเพ็ญคือ ปุถุชน หนึ่งจิตคิดบำเพ็ญ จะเสมอด้วยพุทธะ
      ท่านผู้เจริญ ปุถุชนคือ พุทธะ  กิเลสคือโพธิ ความคิดในเบื้องต้น หลงคือปุถุชน  ภายหลังคิดได้คือพุทธะ ความคิดเบื้องต้นยึดหมายในอินทรีย์ คือกิเลส  ภายหลังความคิดพ้นจากยึดหมายในอารมณ์อินทรีย์ คือโพธิ
       ความหมาย...พิจารณา...
       ปุถุชนกับพุทธะ แท้จริงเป็นเช่นกัน เหตุด้วยล้วนมีพุทธะภาวะแต่เดิมที  พระอริยเจ้าผู้รู้แจ้งจริงจึงโปรดไว้ว่า ปุถุชนผู้รู้แจ้งคือพุทธะ  พุทธะที่หลงคือปุถุชน   ปุถุชนคนหลงทั่วไปในโลก ล้วนเป็นพุทธะมาก่อนในเบื้องต้น  ความหลงในบัดนี้เป็นเพียงภาพสมมุติ ที่ปรากฏชั่วขณะ (ขณะสั้น ขณะยาว) ตามเหตุปัจจัย ในคัมภีรวัชรญาณฯสูตร  จารึกสัจธรรมว่า ""ปุถุชนนั้น...หาใช่ปุถุชนไม่เพียงได้ชื่อว่าปุถุชน"" กิเลสคือโพธิ กิเลสกับโพธิเป็นจิตใจในกายเดียวกัน อุปมาด้วยรูปกายภายนอกว่าคนจมโคลน โคลนตรมจับเกาะบดบังเนื้อแท้ ภายหลังชำระล้างหมดจด ก็กลับเห็นเป็นเนื้อแท้คนเดิม
       ท่านผู้เจริญ  มหาปัญญาปารมิตา สูงส่งสูงสุด เป็นที่หนึ่ง ไม่มาไม่ไป อันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง  พระพุทธะทั้งหลายในภายหน้าปัจจุบัน อดีตกาล ล้วนบังเกิดจากมหาปัญญาปารมิตานี้ พึงใช้มหาปัญญาทลายขันธ์ห้า ทะลายกิเลสตัณหาเสียให้สิ้น บำเพ็ญเช่นนี้ย่อมบรรลุพุทธะ เปลี่ยนอกุศลมูลเป็นกุศลมูล โลภ โกรธ หลง ให้เป็นศีล สมาธิ ปัญญา
      ความหมาย...พิจารณา...
      พุทธพจน์ว่า เหล่าพุทธะเอาธรรมะเป็นครูอาจารย์ ธรรมะคือปัญญาปารมิตา ใช้มหาปัญญาทะลายขันธ์ห้า ทะลายกิเลสตัณหาดังเช่นที่พระคัมภีร์ ""ปัญญาปารมิตาหฤทัยสูตร""จารึกว่า พาจิตเข้าสู่ความปราณีตแห่งปัญญาปารมิตา ณ บัดนั้น ส่องเห็นขันธ์ห้าล้วนว่างเปล่า ล่วงพ้นทุกข์ภัยทั้งปวง  ขันธ์ห้า กิเลส ตัณหา โลภ โกรธ หลง ล้วนเป็นอกุศลมูล  เหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงเหมือนความมืดที่ครอบครองห้องกระจกใส ทันใดที่ปัญญาเกิด เหมือนเปิดสวิทช์ไฟ ความืดพลันหายไป  แสงไฟสว่างยังอาจสาดส่องกระจาย ให้ความสว่างแก่อาณาบริเวณรอบข้างภายนอกได้
      ท่านผู้เจริญ  วิถีธรรมแห่งอาตมานี้ จากหนึ่งปัญญาไปสู่แปดหมื่นสี่พันปัญญา  ด้วยเหตุใดหรือ ก็ด้วยคนมีแปดหมื่นสี่พันตัณหา ดิ้นรนทะยานอยาก ปรารถนาแส่หาต่าง ๆ หากปราศจากตัณหา ปัญญาจะปรากฏเสมอ ไม่พ้นจากจิตญาณตน
       ความหมาย...พิจารณา...
       จากหนึ่งปัญญา จุดเริ่นต้นที่ รู้ผิดรู้หยุด จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง จะรู้ผิดรู้หยุดได้ต่อ ๆ ไป  ผู้บำเพ็ญจะใช้วิธีจดบันทึก จะพิจารณาสิ่งที่รู้ผิดรู้หยุดนั้น  ไม่นานจะเข้าถึงสัจธรรม ที่ท่านลิ่วจู่สอนไว้นี้ จะโสมนัสต่อปัญญาที่เกิดเนื่องมามิขาดสายในตน 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ผู้สำนึกรู้แจ้งในวิถีธรรมนี้ จะปราศจากตรึกคิดหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของภายหน้าที่เอาแน่ไม่ได้ ปราศจากหวนหาอดีตที่ผ่านมาปราศจากยึดหมาย ปัจจุบันที่กำลังจบลงทุกขณะ จะมิเกิดจิตระเริงฟุ้งซ่าน จะใช้จิตตถตาในตน ส่องเห็นด้วยปัญญา โดยไม่ยึดหมาย ไม่สลัดละ จะไม่ยึดหมายต่อธรรมทั้งปวง นั่นคือ การได้เห็นจิตญาณตน บรรลุวิถีแห่งพุทธะ
       ท่านผู้เจริญ  แม้หากปรารถนาเข้าถึงธรรมธาตุ สัมมาปัญญาอันลุ่มลึกประณีตกับปัญญาสมาธิ พึงทำความเพียรด้วยการเจริญปัญญา สวดท่องพระคัมภีร์วัชรปัญญาปารมิตาสูตร ก็จะเห็นจิตญาณตน พึงรู้บารมีแห่งพระคัมภีร์นี้ อันปราศจากขอบเขต มิอาจประมาณการ ในพระคัมภีร์สรรเสริญแจ่มแจ้ง มิอาจกล่าวได้ทั่วถ้วน
       ความหมาย...พิจารณา...
       บทที่สิบห้าในคัมภีร์วัชรญาณฯ ตถาคตเจ้าตรัสไว้ว่า  พระคัมภีร์นี้มิอาจคำนึงได้ มิอาจประมาณได้บุญกุศลเกินกว่าคณานับตถาคตโปรดแก่พุทธชนแห่งมหายาน โปรดแก่พุทธชนแห่งยานระดับสูงสุด หากมีผู้รักษาปฏิบัติสวดท่อง แพร่หลายต่อไป ตถาคตเรารู้ได้ในผู้นั้น เห็นได้ในผู้นั้น ล้วนอาจบรรลุกุศลผลบุญอันมิอาจประมาณ มิอาจกล่าวอ้าง ปราศจากขอบเขต  มิอาจวัดได้ในผลบุญบารมีนั้น  บุคคลเหล่านี้ คือผู้สืบอนุตตรสัมมาสัมโพธิมรรค  ในบทที่แปดก็จารึกไว้ว่า วิถีธรรมแห่งเหล่าพุทธะทั้งปวง อีกทั้งเหล่าอนุตตรสัมมาสัมพุทธะ ล้วนบังเกิดจากพระคัมภีร์นี้
      วิถีธรรมนี้เป็นญาณระดับสูงสุด กล่าวแก่บุคคลผู้มีมหาปัญญา กล่าวแก่ผู้มีกุศลมูลระดับสูง ผู้มีกุศลมูลน้อย ปัญญาน้อย เมื่อได้สดับ จะบังเกิดใจไม่เชื่อ  พระคัมภีร์ในบทที่สิบหกว่า ""สุภูติ หากกุลบุตร กุลธิดา ในชาติภายหน้า รักษาปฏิบัติสวดท่องพระคัมภีร์นี้ บุญกุศลที่จะได้รับจากการปฏิบัติสวดท่องนั้น หากตถาคตกล่าวจบ หรือมีผู้ได้สดับ ใจเขาจะวิปลาสสงสัยไม่เชื่อในมหากุศลที่ได้รับนั้น สุภูติ พึงรู้ว่าความหมายแห่งพระคัมภีร์นี้ มิอาจคิดคำนึง ผลบุญตอบสนองก็มิอาจคิดคำนึง
     ด้วยเหตุอันใด เปรียบเช่นพญานาคให้ฝนตกลงมายังชมพูทวีป บ้านเรือนในเมือง ในชนบท ล้วนลอยน้ำไป เช่นใบลูกพรุนไหลไปตามน้ำ แต่หากแม้นฝนตกลงในมหาสมุทร จะไม่เห็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
     ความหมาย...พิจารณา...
     พญานาคให้ฝนหมายถึงฝนตกหนัก น้ำหลากไหลท่วมท้น  บ้านเรือนสมัยนั้น ก่อสร้างอย่างง่าย ๆ ไม่มั่นคงแข็งแรงเช่นปัจจุบันมิใช่สร้างด้วยอิฐ หิน ปูน ทราย  แต่เป็นกิ่งไม้ใบไม้ และพอกด้วยโคลนดินให้อยู่ตัว ฉะนั้น เมื่อฝนตกหนัก จึงแตกกระจายละลายหายเหมือนใบลูกพรุนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป มหาสมุทรเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่  ปริมาตรจุน้ำได้เกินกว่าปริมาณ เหมือนปริมาตรใจของพุทธะ หรือผู้มีปัญญาสูง กุศลมูลลุ่มลึก ฝนจะตกมากสักเท่าไร ก็ไม่เห็นได้ในความมากน้อยกว่ากัน ฉะนั้น  เมื่อคนระดับนี้สดับพุทธธรรม จิตใจจึงเต็มอิ่มสมบูรณ์อยู่อย่างยิ่ง
     หากผู้มีกุศลมูลมหายาน อีกทั้งผู้มีกุศลมูลมหายานสูงสุด ได้สดับคัมภีร์วัชรญาณสูตร จิตใจก็จะเบิกบานรู้แจ้ง รู้ในจิตญาณตน ว่ามีปัญญานั้นอยู่เอง จะรู้จักใช้ปัญญาแห่งตน สอดส่องพิจารณาอยู่เสมอ ดั่งนี้จึงมิต้องอาศัยอักษรตำรา
      ความหมาย...พิจารณา...
                                   ปัญญาบริสุทธิจากจิตญาณ            มิอาจประมาณประเมินขอบข่าย
                                   ความวิเศษลุ่มลึกหลากหลาย         ยาวไกลอยู่เหนือกาลเวลา 
                                   
                                   พระเครื่องเรืองโรจน์อันศักดิ์สิทธิ์      เกิดด้วยจิตปัญญาประภัสสร
                                   ประจุพลังพุทธาอันถาวร                จากอมรชั้นฟ้ามาสู่ดิน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

    กล่าวเช่นน้ำฝน หาใช่ฟ้ามีอยู่ไม่ เริ่มจากเมฆฟ้าแปรปรวนด้วยมังกรผาดเผ่นเริงร่าย ให้มวลเวไนยฯ ต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายสรรพสิ่งสรรพสัตว์ ทั้งที่มีจิตรับรู้เยื่อใยสัมพันธ์หรือไม่อย่างไรล้วนได้รับความชุ่มชื่้น ทางน้ำร้อยสายพากันรี่ไหลลงสู่มหาสมุทร รวมไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน จิตญาณปัญญาเดิมทีของเหล่าเวไนยฯก็เป็นเช่นนี้
    ความหมาย...พิจารณา...
    เหล่าเวไนยฯทั้งปวง ล้วนมีพร้อมด้วยพุทธญาณ แต่มิอาจสมานเข้าสู่พุทธะภาวะได้ ด้วยต่างมีทิฐิยึดหมาย พลันเมื่อรู้แจ้งเห็นจริง ประจักษ์ชัดต่อพุทธญาณอันเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็จะรู้ได้ว่า เหล่าพุทธะมากมาย ดุจเม็ดทรายในคงคามหาสมุทร ล้วนเป็นองค์ธรรมอย่างเดียวกัน องค์ธรรมเล็ก องค์ธรรมใหญ่ ร่วมอยู่ในหนึ่งองค์ธรรม  อุปมาทางน้ำใหญ่น้อยร้อยพันสาย ไหลรวมอยู่ในมหาสมุทรเดียวกันนั้น
     ท่านผู้เจริญ ผู้มีกุศลมูลน้อย ได้สดับคำสอนวิถีฉับพลันนี้ ประหนึ่งต้นหญ้าต้นไม้รากเล็กไม่หยั่งลึกหากถูกฝนตกหนัก ล้วนล้มระเนนระนาดไปเอง ไม่อาจเติบโตได้ ผู้มีกุศลมูลน้อยก็เป็นเช่นนี้
     ความหมาย...พิจารณา...
     พุทธพจน์ที่ว่า "" แม้ฝนจะหลั่งหลากจากฟ้า     
                         แต่ต้นหญ้าขาดรากไม่หยั่งพื้น   
                         ประตูพุทธะไม่อาจฝืน
                         ฉุดชูขึ้น ผู้ขาดบุญสัมพันธ์ """
      พระพุทธองค์จึงโปรดไว้ว่า ""ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน""  "ตน" จิตญาณบริสุทธิ์ นำ ""ตนสังขาร"" ก่อกรรมดี ตนสังขารเคยชินกับการก่อกรรมดี หนุนจิตญาณเดิมทียิ่งทวีปัญญา  ปัญญาที่มีอยู่เดิมที มิต่างจากผู้มีมหาปัญญา (ผู้มีกุศลมูลน้อย ก็มีปัญญาอยู่เป็นเดิมที มิต่างจากผู็มีกุศลมูลมาก) แต่เหตุใดสดับธรรมแล้ว จึงมิรู้แจ้งได้ด้วยตน ด้วยเหตุแห่งความเห็นผิดเป็นอุปสรรคขวางกั้น กิเลสฝังรากลึก อุปมาเมฆผืนใหญ่บดบังสุริยาให้มืดมิดไป  มิได้รับลมพัดกระจาย แสงสุริยาจึงมิอาจปรากฏได้
      ความหมาย...พิจารณา...
      ""กิเลสหนา ตัณหาแรง ทิฐิเหนียวแน่น"" เป็นกำแพงหนาผืนใหญ่ขวางกั้นปัญญาญาณมิให้แสงปรากฏยิ่งเสียกว่าเมฆผืนใหญ่ที่บดบังดวงอาทิตย์ไว้ เมฆบังไม่นาน ผ่านพ้นไป แต่กำแพงหนาใหญ่ ทะลายยาก ความชาญฉลาดแห่งปัญญาก็มิได้มีเล็กใหญ่ แต่ที่ต่างกันไป เพราะจิตใจเวไนยฯแห่งตนลุ่มหลงต่างกัน จิตหลงยังหลงหานอกกาย บำเพ็ญไปเสาะหาพุทธะ ยังมิได้รู้แจ้งจิตญาณตน นั่นคือกุศลมูลน้อย  หากสดับคำสอนวิถีฉับพลัน พลันรู้แจ้ง ไม่ยึดหมาย ไม่เพียรไปภายนอก แต่เห็นชอบได้ในจิตตนอยู่เสมอเช่นนี้ กิเลสตัณหาก็มิอาจแปดเปื้อนได้ นั่นคือ เห็นจิตญาณตน
     ท่านผู้เจริญ ไม่ยึดหมายทั้งในนอก อิสระทั้งมาไป ขจัดใจยึดมั่น จะบรรลุผ่านเป็นอิสระ บำเพ็ญวิถีนี้ มิต่างจากคัมภีร์มหาปัญญาปารมิตา  ท่านผู้เจริญ  พระสูตรอีกทั้งอักษรทั้งปวงที่จารึกไว้ ทั้งยานใหญ่ยานเล็ก พุทธพจน์สิบสองพระสูตร ล้วนจัดวางด้วยคน ด้วยเหตุแห่งปัญญาจากจิตญาณ จึงอาจสร้างคัมภีร์ต่าง ๆ ได้ หากปราศจากชาวโลก หมื่นธรรมคัมภีร์มิอาจเกิดมี
     ความหมาย...พิจารณา...
     หมื่นธรรมคัมภีร์ล้วนเกิดมีจากพุทธะโพธิสัตว์ ลึกล้ำต่างกันไป เพื่อให้เหมาะกับจริต ความพอดีแก่ผู้พึงได้สดับรับรู้ ดังนั้นจึงรู้ว่า หมื่นธรรมคัมภีร์ เดิมทีล้วนระบือจากคน  คัมภีร์พระสูตรทั้งปวง ด้วยคนกล่าวพูดถึงจึงเกิดมี โดยอาศัยเหตุปัจจัยมนท่ามกลางอันมีคนโง่หลงกับปัญาชน โง่หลงเป็นจัณฑชน มีปัญญษเป็นกัลยาณชน คนโง่หลงขอถามปัญญาชน ปัญญาชนแสดงธรรมแก่คนโง่หลง คนโง่หลงพลันรู้ใจรู้แจ้งจิตเบิกบาน ณ บัดนั้น ก็มิต่างจากปัญญาชน คนโง่หลงคือ งมงายอยู่ในโลกีย์วิสัย ปัญญาชนคือ คนที่มิได้ยึดหมายมืดบอด ก็จะกระจ่างชัดได้เช่นเดียวกับปัญญาชน จึงเท่าเทียมกัน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ท่านผู้เจริญ  หากไม่รู้แจ้ง แม้พุทธะก็เป็นเวไนยฯ หนึ่งจิตพลันรู้แจ้ง เวไนย์ก็คือพุทธะ จึงรู้ว่า หมื่นธรรมล้วนอยู่ในใจตน ไฉนไม่ส่องเห็นตถตาจิตญาณตนฉับพลันด้วยจิตแห่งตนเล่า ในพระสูตรศีล ""พระโพธิสัตว์  ผูซ่าเจียจิง"" จารึกว่า  จิตเดิมแท้แต่เบื้องต้นแห่งเรานั้นใสสะอาด หากรู้เห็นจิตญาณตนด้วยจิตตน ล้วนบรรลุได้ในวิถีพุทธะ  ในพระสูตร ""ปาริสุทธิ์นามสูตร"" หรือพระสูตรวิมลเกียรติ (วิมลกีรติสูตร จิ้งหมิงจิง) จารึกว่า "ฉับพลันโล่งแจ้ง ได้จิตเดิมทีแห่งตนกลับคืนมา"
       ความหมาย...พิจารณา...
       ในอาณาจักรธรรม ท่านธรรมอธิการจะเตือนพวกเราอยู่เสมอว่า "แม้เธอจะแบ่งพระภาคมาจากพระโพธิสัตว์พระองค์ใด หากไม่รู้แจ้งจิตเดิมแท้แห่งตน ก็มิอาจกลับคืนเบื้องบนได้ สุดท้ายที่ว่า "ฉับพลันโล่งแจ้ง คือภาวะ ณ บัดนั้น"
       ความยึดมั่นพันผูก ภาวะจิตที่อึดอัดขัดข้อง แรงบีบเค้นที่กดดันหนักหนามาเนิ่นนาน พลันเป็นอิสระเสรี ข้อความนี้เพียงแค่คิดก็โล่งแจ้งแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "ไฉนไม่ส่องเห็นจิตแห่งตนเล่า" ความหมายของการแพร่ธรรมที่ว่า ""ตั้งตนตั้งคน บรรลุตนบรรลุท่าน  จี่ลี่ลี่เหยิน  จี่ต๋าต๋าเหยิน""  อุปมา  แสงเทียนเปล่งประกายรายรอบรัศมี 
                                                 สำแดงคุณเต็มที่ได้สาดส่อง
                                                 ด้วยเห็นตนเห็นคนด้วยจิตโล่ง
                                                 พุทธะหลงปรับเปลี่ยนด้วยเทียนเรา
       พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสูงส่งด้วยกุศลมล เพียงแค่ฟังคำจบ...ผู้รับวิถีจิตในยุคนี้ เข้าพิธีรับการเบิกจุดชี้ชัดทั้งสัมผัส ทั้งฟัง ทั้งพูดตาม อธิบายความทั้งก่อนหน้าและภายหลังชี้ชัดให้เห็นจิตญาณตน แต่น้อยคนที่เห็นได้ บางคนไม่เข้าใจ เข้าพิธีรับการเบิกจุดชี้ชัดซ้ำซ้อนหลายครั้งก็ยังเข้าไม่ถึง จะต้องใช้ความเพียรให้มากกว่าผู้มีกุศลมูลมาดีแล้วให้ยิ่งขึ้น จะละเลยมิได้
      ท่านผู้เจริญ  อาตมาได้สดับจากจากมหาเถระหงเหยิ่น จบคำพลันรู้แจ้ง เห็นจิตญาณตถาคตตนทันใด จึงแพร่นำวิถีธรรมนี้ เพื่อให้ผู้ศึกษาธรรมรู้โพธิญาณตนทันที ต่างสอดส่องจิตตน เห็นจิตญาณตนด้วยตน
     หากไม่สำนึกรู้แจ้งในตนด้วยตนได้ พึงแสวงหาผู้เจริญธรม พระวิสุทธิอาจารย์ วิสัชนาธรรมมหายาน ชี้สัมมาวิถีฉับพลันให้โดยตรง  เนื่องด้วยผู้เจริญธรรมมีเหตุปัจจัยใหญ่ อันพึงกล่อมเกลาชี้นำเพื่อการให้เห็นจิตญาณได้ ด้วยเหตุว่ากุศลธรรมทั้งปวงนั้น ท่านผู้เจริญธรรมอาจสำแดงได้
     พระพุทธะทั้งปัจจุบัน ภายหน้า และอดีตชาติ พุทธพจน์วิบสองพระสูตร ล้วนมีอยู่พร้อมมูลในจิตญาณของคน แต่มิอาจรู้แจ้งด้วยตน จะต้องขอให้ผู้เจริญธรรมชี้แนะ จึงจะเห็นได้
     ความหมาย...พิจารณา...
     ในจิตญาณของตนมีภาวะของพระพุทธะทั้งปัจจุบัน ภายหน้า และอดีตชาติ เป็นธาตุแท้อยู่ เพราะภาวะของพุทธะคือ ภาวะของพุทธญาณที่เป็นอยู่อย่างนั้นแต่เดิมที  พุทธพจน์สิบสองพระสูตร มีอยู่ครบถ้วนในมหาปัญญาบริสุทธิ์ของทุกคน ตนมีอยู่ แต่ตนเข้าไม่ถึง จึงแสดงไม่ออก ที่ว่าคัมภีร์พระสูตร ด้วยคนกล่าวพูดจึงเกิดมี คนที่กล่าวพูดคัมภีร์พระสูตร ท่านได้ความรู้มาจากที่ใด "ได้จากปัญญาบริสุทธิ์ในตน"ปัญญาบริสุทธิ์ได้มาแต่ใด ได้มาจาก ""พุทธญาณ"" พุทธญาณได้มาแต่ใด ได้มาจากมหาพลานุภาพสัจธรรมที่มีอยู่คงอยู่ในมหาจักรวาล ที่เราถวายพระนามว่า มหามารดาแห่งหมื่นโลกธาตุ พระอนุตตรพระแม่องค์ธรรม ฯลฯ  ฉะนั้น จึงกล่าวว่าพระพุทธะทั้งปัจจุับัน ภายหน้า และอดีตชาติ พุทธพจน์ พระสูตร พระอภิธรรมปิฏก ล้วนมีอยู่พร้อมมูลในจิตญาณตน ผู้รู้แจ้งในจิตญาณตน จึงล่วงรู้ความนัยของคัมภีร์ปิฏกอย่างง่ายดายเป็นธรรมดา
      หากรู้แจ้งด้วยตน ก็จะมิพึงแสวงหาจากภายนอก หากเอาแต่ยึดหมายใคร่ขอผู้เจริญชี้แนะ เพื่อหวังการหลุดพ้นก็จะเป็นไปไม่ได้  พึงรู้ว่าธรรมะอยู่กับตน ขณะหลง จำเป็นจะต้องมีอาจารย์ผู้รู้ชี้แนะ เมื่อสำนึกรู้แล้ว จะต้องฉุดนำตนเอง หลังจากสำนึกรู้ นั่นแหละ จึงจะเรียกว่าเริ่มบำเพ็ญ จุดเบิกชี้ชัดจากพระวิสุทธิอาจารย์นั่นแหละ เรียกว่า ""จุดเบิกชี้ชัดจิตสำนึกรู้"" นับแต่วินาทีนั้นจึงต้องเริ่มบำเพ็ญ ฉุดนำตนเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
 
         เหตุอันใดหรือ ด้วยภายในใจตนมีความรู้อันสำนึกเองได้ แต่หากแม้หลงผิดฟุ้งซ่าน ผกผันสับสน ความรู้จากผู้เจริญภายนอก แม้จะสั่งสอนให้ ก็มิอาจช่วยได้
        ความหมาย...พิจารณา...
        ความรู้ภายในใจตนคือปัญญา เป็นพุทธภาวะที่มีอยู่ในตนแต่เดิมที มีสติ สำนึกรู้ได้เท่านั้น ก็จะเหมือนมีครูผู้เจริญธรรมชี้นำแนวทาง จึงกล่าวว่า ใครก็สอนได้ไม่ดีเท่าตัวเราสอนตัวเราเอง  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ""ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"" หากบังเกิดปัญญาอันแท้จริง สอดส่องสว่างเห็นบัดนั้นเพียงคู่เดียว ฟุ้งซ่านพลันดับสูญ หากรู้จิตญาณตน สำนึกรู้พลันทันที ก็ถึงซึ่งพุทธภูมิ
       ปัญญาแท้จริงสอดส่องสว่างเห็น เหมือนแสงอาทิตย์เจิดจ้าหามีเมฆบังไม่ ณ บัดนั้นยังจะเหลือความมืดอะไรให้แอบแฝงได้อีก แม้แต่อกุศลวิสัยก็พลันหาย ""ญาณทวารประตูวิเศษที่สถิตจิตญาณ"" ผ่านพิธีจุดเบิกชี้ชัดจากพระวิสุทธิ์อาจารย์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากเบื้องบนที่มีต่อคนโง่หลงมือบอดเช่นชาวเราในกลียุคนี้ ยังได้รับการประคองรักษาอุ้มชูรอวันที่เราจะกระจ่างแจ้งด้วยตน ชาวเราทุกคนจึงต้องทำความเข้าใจให้เป็นได้
      ท่านผู้เจริญ  การสอดส่องสว่างเห็นของปัญญาสว่างใสทั้งภายในภายนอก รู้ได้จากจิตตนภายใน หากจิตภายในตนรู้ได้ นั่นคือ ภายในตนหลุดพ้น  หากได้หลุดพ้นนั่นก็คือ ปัญญา สมาธิ  ปัญญาสมาธิก็คือปัญญาอันมิได้ดำริคิด อย่างไรคือมิได้ดำริคิด ""ธรรมะอันรู้ - เห็น ได้ทั้งปวง จิตใจมิได้ถูกย้อมนั่นคือมิได้ดำริคิด""  เมื่อใช้ปัญญาสมาธิอันมิได้ดำริคิดนี้ ปัญญาสมาธิจะครอบคลุมปรกแผ่ทุกสภาวะ แต่มิจับเกาะกับสภาวะนั้น ๆ
      พึงหมดจดด้วยจิตตน ให้วิญญาณทั้งหกออกไปทางทวารทั้งหก ภายในจิตตนอายตนะหกมิได้คลุกเคล้าแปดเปื้อน มาไปเป็นอิสระ ปลอดโปร่งเรื่อยไปไม่ขัดข้อง นั่นคือปัญญาสมาธิ หลุดพ้นอยู่อย่างนั้นเองชื่อว่าเจริญธรรมโยปราศจากดำริคิด
      ความหมาย...พิจารณา...
      วิญญาณทั้งหก  คือ อารมณ์ที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้ม ได้สัมผัส ได้รู้สู่ใจ  ท่านว่า ""ให้อารมณ์ทั้งหกออกไปทาง ตา หู จมูก ปาก กาย ใจ ช่องทางทั้งหกลำเลียงขยะเข้าบ้าน ด้วยความเคยชินเรารับมันเข้ามาทุกขณะ"" ท่านว่า "มาทางไหน ให้มันออกไปทางนั้น" แท้จริงแล้ว "ให้มันออกไป" คือ อย่าให้มันเข้ามาใหม่ ส่วนขยะที่ตกค้างหมักหมมอยู่ กำจัดสลายให้สิ้นซากได้ในบัดใจด้วยปัญยาบริสุทธิ์ในตน แต่หากไม่คิดสิ่งใดเลย เพื่อให้ตัดความคิดทั้งหมดขาดสิ้น เช่นนี้เป็นธรรมะผูกมัด เป็นความเห็นสุดโต่ง
      ตัดความคิดทั้งหมดขาดสิ้น เป็นอสัญญีภาพ คือยึดหมายในอสัญญี ความไม่มีโดยสิ้น พุทธธรรม มิได้ยึดหมายทั้งมี ไม่มี ขั้วใดขั้วหนึ่ง  ท่านผู้เจริญ ผู้รู้แจ้งในธรรมอันมิได้ดำริคิด จะเห็นภาวะธาตุแห่งพุทธะทั้งปวง  ผู้รู้แจ้งในธรรมอันมิได้ดำริคิด จะบรรลุถึงฐานะแห่งพุทธะ  ท่านผู้เจริญ สาธุชนรุ่นหลังผู้ได้รับวิถีธรรมแห่งเรานำเอาวิถี ""รุ้รับฉับพลัน"" นี้ไปสู่ในหมู่ผู้ร่วมเห็น ร่วมบำเพ็ญ ตั้งปณิธาน รักษาปฏิบัติ ดั่งปฏิการะพระพุทธะ ฉะนี้แล้วไซร์ จวบสิ้นอายุขัยไม่ถดถอย จะเข้าสู้อริยฐานะแน่แท้  แต่ทว่า พึงถ่ายทอดความเป็นมาจากเบื้องสูง ถ่ายทอดเงียบ ๆ กำชับเป็นการจำเพาะ แต่จะปิดบังสัจวิถีนี้ไม่ได้
      ความหมาย...พิจารณา...
      วันนี้ที่เราได้รับวิถีธรรมกันก็คือได้รับสัจวิถีจากเบื้องสูงเป็นการจำเพาะคือได้รับอนุตตรพระโองการจากเบื้องบน โปรดอนุญาตให้ถ่ายทอด ได้รับจากพงศาธรรมโดยตรง พระพุทธองค์โปรดชูดอกไม้ให้เป็นสัญญลักษณ์ เป็นปริศนาธรรมแก่สงฆ์สาวกที่มาประชุมกัน พระมหากัสสปะยิ้มรับไว้ด้วยเข้าใจความหมายนั้น คำว่า "จำเพาะ" มีคำถามจากผู้เพิ่งได้รับวิถีจิตว่า "วิถีวิเศษนี้ ไฉนมิให้แพร่หลายโจ่งแจ้ง"" โปรดพิจารณา... ไฉนพระพุทธองค์ทรงชูดอกไม้ให้ปริศนาธรรม เหตุใดไม่ทรงประกาศบอกกล่าว เกณฑ์เข้ามาพิธีเบิกจุดชี้ชัดกันไปเสียเลย
     เพราะเหตุปัจจัยแห่งบุญและบุญวาระของเวไนยต่างกัน พระพุทธอริยเจ้าทรงเห็นกาลไกลลึกล้ำแยบยลมิใช่คนระดับเราที่เอาแต่จะถามว่าทำไม ทำไม โดยมิได้ศึกษาปฏิบัติบำเพ็ญจริง จะเข้าใจได้  หากไม่ร่วมรู้เห็นไม่ร่วมบำเพ็ญไป ซึ่งอยู่ในวิถีธรรมอื่นจะมอบหมายถ่ายทอดให้มิได้ จะเสียหายแก่บรรพจารย์เรา ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง  ยังเกรงคนโง่เขลาไม่เข้าใจใส่ไคล้วิถีธรรมนี้ ร้อยกัปพันชาติที่เกิดกาย เขาจะขาดไปจากเผ่าพันธุ์จิตญาณแห่งพุทธะ
    ความหมาย...พิจารณา...
    มีผู้เข้าใจผิดว่า พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ ทรงแบ่งแยกจำกัดการถ่ายทอด... หากมองดูความเป็นจริง ทุกวงการศาสนาล้วนมีผู้ศรัทธา มีผู้ต่อต้าน เหตุวุ่นวายใหญ่โตเกิดจาก ""ของข้าถูก ของเจ้าผิด"" แทบทั้งนั้น ต่างเดินทางของตนไป ไม่ก้าวก่ายกันจะดีกว่า  พระธรรมาจารย์จึงโปรดว่า "ไม่ร่วมรู้เห็น ไม่ร่วมบำเพ็ญ มิพึงถ่ายทอดให้..."" ประโยคสุดท้ายที่ว่า""เขาจะขาดไปจากเผ่าพันธุ์จิตญาณแห่งพุทธะ..."" มีผู้คิอได้อย่างไรหนอว่าเป็นคำสาปแช่ง บุคคลก่อกรรมเอง รับกรรมเอง  พระธรรมาจารย์มิให้เขาก่อกรรม ไม่อยากให้รับกรรม จึงตักเตือนไว้ให้สังวรระวัง ความคิดของผู้มีจิตบริสุทธิ์พึงเป็นเช่นนี้
    ท่านผู้เจริญธรรม อาตมามีข้อธรรม ""นิรรูปสรรเสริญ"" ต่างพึงท่องไว้  คนบวช คนบ้าน บำเพ็ญตามนี้ หากไม่บำเพ็ญด้วยตน จงจำคำอาตมาไว้ ก็มิใช่จะไร้ประโยชน์  ""นิรรูปสรรเสริญ"" เป็นโศลกว่าด้วยใจว่างปราศจากรูป เป็นธรรมทั้งปวง พันจากรูปลักษณ์ทั้งปวง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
        ๔  :  คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร : บทที่ ๑  รู้แจ้งธรรม มอบหมายจีวร  นิรรูปสรรเสริญ โศลกไร้รูปลักษณ์
                
                                              นิรรูปสรรเสริญ  (ฮู๋เซี่ยงซ่ง)
  
                พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ ฮุ่ยเหนิง  โปรดมีข้อธรรม ""นิรรูปสรรเสริญ"" เป็นโศลกไร้รูปลักษณ์

        จงฟังอาตมาสรรเสริญ ณ บัดนี้   กล่าวถึง.....
                                                      ""ปรุโปร่ง""         ใจจงเข้าถึง       ซึ่งภาวะนั้น
                                                        ดุจแสงตะวัน      อันแจ่มกระจ่าง   ท่ามกลางเวหน
                                                        ถ่ายทอดวิถี       แสงสุรีย์เห็น      เป็นญาณแห่งตน
                                                        ออกห่างจากพ้น  โลกโลกียะ        มิจฉานิกาย
        ความหมาย...พิจารณา...
        คำสอนในวิถีนี้ มุ่งให้เข้าถึงจิตปรุโปร่งฉับพลัน ดุจแสงตะวันเจิดจ้าบนท้องฟ้า ด้วยถ่ายทอดให้รู้แจ้งจิตญาณตน ความคิดจิตใจจึงมิหลงไปกับทางโลกและมิจฉานิกาย
                                                    ปราศจากฉับพลัน    อีกทั้งนานเนื่อง    ในวิถีธรรม
                                                    มีแต่ความรู้           กระจ่างหลงวน      คนเร็วหรือสาย
                                                    วิถีธรรมนี้             ชี้ให้เห็นจิต          ชีวิตเหนือกาย
                                                    คนโง่หลงไซร์        ไม่อาจเข้าถึง        ซึ่งเหนือคำนึง
        ความหมาย...พิจารณา...
        องค์ธรรมะพุทธญาณในตัวเรา เป็นอยู่อย่างนั้นเอง จึงไม่แตกต่างด้วยความฉับพลันและนานเนื่อง แต่ความหลงหรือรู้แจ้งนั้น เปลี่ยนแปรได้ทั้งเร็วไวหรือเนิ่นนาน วิถีธรรมนี้ชี้ให้เห็นจิตทันที มิใช่ทุกคนจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในระดับเดียวกัน  
                                                    
                                                  พระธรรมคำสอน     ว่าวอนมากมาย      หลายหลากนักหนา
                                                  บรรจบรวมมา         ต้นฐานธรรมา        สู่ความเป็นหนึ่ง
                                                  หากกิเลสครอง       ห้องขังมืดมิด        จิตกิเลสตรึง
                                                  หมั่นนำจิตถึง          ซึ่งปัญญาญาณ      จักรวาลตะวัน
        ความหมาย...พิจารณา...
        พุทธธรรมคำสอนทุกสัมมาศาสนา ล้วนมีจัดหมายให้สาธุชนเข้าถึงจิตญาณรู้แจ้งแห่งตน เป็นหนึ่งเดียวกัน จิตมีภาวะปัญญาบริสุทธิ์สว่าง แต่หากปล่อยให้กิเลสเข้าครอบงำ ก็จะเหมือนถูกขังในห้องมืด จึงต้องหมั่นเจริญปัญญาญาณอยู่เสมอ

                                                  ดำริมิจฉา             มาถึงจิตใจ           กิเลสวุ่นวาย
                                                  สัมมาครองไซร์      กิเลสห่างหาย       ไม่ก่อกวนนั่น
                                                  สิ้นสองภาวะ         มิจฉา - สัมมา        ไม่พาใจหวั่น
                                                  หมดจดทุกด้าน      ถึงขั้นสุดท้าย        คือได้นิพพาน
        ความหมาย...พิจารณา...
       มิจฉาดำริเกิดขึ้นเมื่อไร กิเลสตัณหาเกิดตามมาทันที มีแต่สัมมาธรรมะแห่งจิตที่จะขจัดกิเลสได้ ให้จิตว่างวางลง สุดท้ายไม่ยึดหมายทั้งดีและชั่ว  จิตหมดจดถึงที่สุดนั่นคือภาวะนิพพาน      
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29/10/2010, 19:17 โดย jariya1204 »

Tags: