collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ : เริ่มเรื่อง  (อ่าน 67673 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ที่สุดของความเป็นลูกกตัญญู ไม่มีที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าให้พ่อแม่สูงส่ง  ให้พ่อแม่สูงส่ง ไม่มีที่เกินกว่าลี้ยงดูท่านด้วยเงินตอบแทนคุณความดีจากแผ่นดินเป็นบิดาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ สูงส่งที่สุดแล้ว ได้รับเลี้ยงดูจากแผ่นดิน เป็นที่สุดของการเลี้ยงดู   คัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "ตั้งใจกตัญญูตลอไป ตั้งใจกตัญญูเป็นหลักการณ์" ดังนี้   คัมภีร์ซูจิง ก็จารึกว่า "ซุ่นกตัญญูยิ่ง แต่พอเห็นบิดาจะหวั่นกลัว  ฝ่ายกู่โส่ว ผู้บิดาเชื่อมั่นกตัญญูของซุ่น จึงไม่ขัดฝืนซุ่นอีกต่อไป" นี่แสดงถึงหลักการที่ว่า "บางกรณี บางสถานภาพ บิดาจะแสดงต่อบุตรเยี่ยงบุตรมิได้"

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า  "กษัตริย์เหยา ยกแผ่นดินให้ซุ่น ใช่หรือ"  ครูปราชญ์ตอบ "มิใช่ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์เหยามิอาจยกแผ่นดินแก่ใคร" ศิษย์วั่น-
จั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ซุ่นครองแผ่นดิน ใครเป็นผู้ยกให้"  ตอบว่า "ฟ้าโปรดประทานให้" ศิษย์ว่า "ในเมื่อฟ้าประทาน ได้โปรดกำชับตักเตือนถี่ถ้วนหรือไม่" ตอบว่า "หาใช่ไม่ ฟ้ามิอาจพูดจา แต่เราจะรู้ได้จากพฤติกรรมกับการดำเนินงานของซุ่น"  ศิษย์วั่นจังว่า "จากพฤติกรรมการดำเนินงาน แสดงให้เห็นว่า ฟ้าโปรดประทานนั้นอย่างไร"  ครูปราชญ์ว่า "เจ้าแผ่นดินคัดสรรบุคคลสำคัญทำงานแทนฟ้า งานของฟ้าคือปกปักรักษาไพร่ฟ้า แต่ไม่อาจให้ฟ้าจะต้องมอบแผ่นดินให้เขา  เหล่าเจ้าเมืองคัดสรรบุคคลสำคัญทำงานแทนฟ้า แต่ไม่อาจให้เจ้าแผ่นดินจะต้องยกฐานะเจ้าเมืองแก่เขา  เหล่าขุนนางคัดสรรบุคคลสำคัญให้แก่เจ้าเมือง แต่มิอาจให้เจ้าเมืองจะต้องยกตำแหน่งขุนนางแก่เขา  ครั้งกระนั้น กษัตริย์เหยาถวายตัวซุ่นแด่ฟ้าเบื้องบน "ฟ้า" รับไว้  "ฟ้า" ให้ซุ่นสำแดงคุณ  ดำเนินงานให้ประจักษ์แก่สายตาประชาชน ประชาชนน้อมรับบุคคลที่ฟ้ามอบให้  จึงกล่าวว่า  "ฟ้า" ไม่พูดจา แต่โปรดประทานแผ่นดินแก่ซุ่นจากพฤติกรรม การดำเนินงานที่ปรากฏให้เห็นเป็นสำคัญ

        ศิษย์วั่นจัง ว่า  "เรียนถามครูปราชญ์ "ถวายแด่ฟ้า และฟ้ารับไว้" ฟ้ามอบมา ประชาชนน้อมรับคืออยางไร"   ครูปราชญ์ตอบว่า  "เมื่อซุ่นไปทำหน้าที่สักการะเทพยดา ฯ เทพยดาอารักษ์ล้วนมาชื่นชม (บรรยายกาศมงคลราบรื่น) นี่แสดงว่า "ฟ้า" รับไว้ ให้ซุ่นดำเนินการปกครองบ้านเมือง  บ้านเมืองประชาราษฏร์ปลอดภัยได้สุขสงบ นบนอบยินดี นี่แสดงว่าประชาราษฏร์น้อมรับ  จึงเห็นได้ว่าแผ่นดินใต้หล้าฟ้านี้ ฟ้าโปรกประทาน ประชาราษฏร์เห็นพ้อง จึงกล่าวว่า "เจ้าฟ้ามหากษัตริย์มิอาจยกแผ่นดินแก่ใคร"  ซุ่นช่วยกษัตริย์เหยาปกครองแผ่นดินทั่วหล้าเป็นเวลายี่สิบแปดปี นี่เป็นเจตนา "ฟ้า" หาใช่กำลังความสามารถของคนไม่

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        สามปีหลังจากสิ้นกษัตริย์เหยา จัดงานพระศพแล้ว ซุ่นหลบไปอยู่ทางใต้  เมืองหนันเหอ เพื่อจะสละละเลี่ยงฐานะกษัตริย์ให้แก่ราชบุตรของเหยา แต่เหล่าเจ้าเมืองไม่ไปเข้าเฝ้าราชบุตร กลับพากันไปที่ซุ่น คนที่จะกราบทูลร้องเรียนก็ไม่ไปที่ราชบุตร แต่กลับมาที่ซุ่น ผู้แซ่ว้องบารมีคุณก็ไม่แซ่ซ้องราชบุตร แต่กลับแซ่ซ้องซุ่น  จึงกล่าวว่า  "นี่คือเจตนาของฟ้า"  ซุ่น  เมื่อถึงเวลานี้ จำต้องกลับเข้าแผ่นดินขึ้นครองราชย์  แต่หากสิ้นกษัตริย์เหยา แล้วซุ่นเข้าสู่ราชฐานของเหยาทันที ทำให้ราชบุตรหมดสถานภาพต้องออกไปจากวัง อย่างนี้จะต้องเรียกว่า "ช่วงชิง" ไม่ใช่ฟ้าโปรดประทาน  ในหนังสือซั่งซู บทไท่ซื่อ จารึกว่า "การสอดส่องจากฟ้า พิจารณาตัดสินจากประชามติ การรับฟังคัดสรรไว้ ก็กำหนดเอาตามที่ประชารับฟังคัดสรรไว้"  (เทียนซื่อจื้อหว่อหมินซื่อ  เทียนทิงจื้อหว่อหมินทิง) ที่กล่าวนั้นเป็นดังนี้ 

        ศิษย์วั่นจั่งเรียนถามครูปราชญ์  "มีคนกล่าวว่า เมื่อถึงสมัยอวี่ คุณธรรมของกษัตริย์เสื่อมถอย ไม่มอบหมายบัลลังก์แก่ปรีชาชน แต่สืบสายให้บุตรตนเป็นความจริงหรือไม่"   ครูปราชญ์ว่า  "ไม่เป็นความจริง ฟ้าใคร่มอบหมายแก่เมธี ก็มอบหมายแก่เมธี ใคร่มอบหมายแก่ราชบุตรของอวี่ ก็มอบให้  แต่ก่อนซุ่นถวายตัวอวี่แด่ฟ้า  อวี่ช่วยซุ่น จัดระเบียบบริหารแผ่นดิน สิบเจ็ดปี จนสิ้นซุ่นจัดงานพระศพ ไว้ทุกข์ครบสามปี  อวี่สละฐานะกษัตริย์แก่ราชบุตรของซุ่น ด้วยการหลบเลี่ยงไปที่เมืองหยาง หารู้ไม่ว่า ประชาราษฏร์ล้วนปรารถนาสวามิภักดิ์ต่ออวี่  อันเป็นเช่นเดียวกับที่เมื่อสิ้นกษัตริย์เหยา ชาวเมืองพากันมุ่งหาซุ่น ไม่เข้าหาราชบุตร

        กษัตริย์อวี่ถวายตัวอี้ ขุนนางผู้ช่วยงานชลประทานแด่ฟ้า   อี้ช่วยกษัตริย์อวี่ บริหารการปกครองแผ่นดินจีนอยู่เจ็ดปี จนสิ้นกษัตริย์อวี่  เมื่อครบกำหนดไว้ทุกข์สามปี  อี้ก็หลบเลี่ยงไปอยู่หลังเขาจีซัน แต่เหล่าเจ้าเมืองกับผู้ถวายเรื่องราวร้องเรียน ไม่ไปที่อี้ แต่กลับพากันไปที่ฉี่ ราชบุตรของอวี่ ทุกคนต่างพูดว่า "นี่เป็นราชบุตรของกษัตริย์แห่งเรา" ผู้แซ่ซ้องสดุดีก็มิได้แซ่ซ้องสดุดีอี้  แต่แซ่ซ้องสดุดีราชบุตรฉี่ เขาพร้อมกันกล่าวว่า "นี่เป็นราชบุตรของกษัตริย์แห่งเรา"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ตันจู ราชบุตรของอริยกษัตริย์เหยา ไม่ปรีชาสง่าสม  ซังจวิน ราชบุตรของอริยกษัตริย์ซุ่น ก็มิได้ปรีชาสง่าสม อีกทั้งเมื่อซุ่นช่วยงานแผ่นดินในกษัตริย์เหยา เรื่อยมาจนถึงอวี่ สืบต่อช่วยงานแผ่นดินกษัตริย์ซุ่นเป็นเวลานานปี สร้างคุณไว้แก่ประชาราษฏร์เกินกว่าคณานับ
 
      รุ่นหลังคือฉี่ ราชบุตรของกษัตริย์อวี่ มีปัญญา ความสามารถ อีกทั้งยังน้อมรับการกล่อมเกลาคุณธรรมจากกษัตริย์อวี่บิดาด้วยความสำรวมไม่ผิดเพี้ยน  ส่วนอี้ ที่เป็นขุนนางช่วยชลประทานกษัตริย์อวี่นั้น ช่วงเวลาสร้างผลงานไม่มากสร้างคุณแก่ประชาราษฏร์ยังไม่นาน อีกทั้งระยะเวลาระหว่างกษัตริย์ซุ่น กษัตริย์อวี่ จนถึงอี้ ขวบปีที่บริหารแผ่นดินนั้นต่างไกลกัน  ฉะนั้น ราชบุตรทั้งสามจะปรีชาสง่าสมเพียงใดหรือไม่ล้วนเป็นเจตนาฟ้า ไม่ใช่คนจะทำให้เป็นไปได้  อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยดุศฏีและธรรมชาติ ล้วนเป็นเจตนาฟ้า

        สามัญชนจะได้ครองแผ่นดินพึงมีคุณธรรมเช่นซุ่นกับอวี่ เป็นที่ตั้ง ยังจะต้องมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรมเชิดชูให้ จึงจะได้ ท่านบรมครูขงจื่อ แม้จะเลิศล้ำคุณธรรมเช่นซุ่นกับอวี่ แต่ไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรมเชิดชูให้ จึงไม่อาจครองแผ่นดิน  สำหรับการสืบต่อแก่รัชทายาทนั้น เมื่อถึงเวลาที่ฟ้าจะให้เขาล่มสลาย ชะตากรรมก็จะเหมือนทรราชเจี๋ย  โจ้ว  ที่ไร้ธรรม 

        ฉะนั้น ถึงแม้อี้ อีอิ่น จนถึงปู่เจ้าโจวกง ทั้งสามพระองค์นี้ แม้คุณธรรมบารมีจะสูงยิ่ง แต่ที่ไม่ได้รับสืบสายรัชทายาท ก็เพราะกษัตริย์ที่ท่านสนองพระบาทอยู่ ต่างมีรัชทายาทที่ปรีชาสง่าสมได้เอง  เดิมที อีอิ่น ช่วยงานกษัตริย์ทัง ปกครองแผ่นดินโดยธรรม พอสิ้นกษัตริย์ทัง ยุพราชไท่ติง สิ้นเสียก่อนจะครองบัลลังก์ ราชบุตรรองลงมาคือ ไอว้ปิ่ง พระชันษาสองปี อีกองค์หนึ่งจ้งเหยิน ก็เพิ่งจะสี่ปี  ยุพราชไท่ติง มีราชบุตรซึ่งเป็นรุ่นหลาน มีพระชันษาสูงกว่าจึงแต่งตั้งให้ครองบัลลังก์ของปู่  ไท่เจี่ย หลานปู่ไม่รู้รับผิดชอบ มักทำการเสียหายต่อระเบียบแบบแผนเดิม  อีอิ่น ช่วยกษัตริย์ทัง ประคองรักษาแผ่นดินเรื่อยมา เมื่อเห็นไม่ได้การจึงจัดส่งไท่เจี่ยไปเสพสุขที่เมืองถงอี้  สามปีผ่านไป ไท่เจี่ยสำนึก "ตำหหนิตน บำเพ็ญตน" สร้างกรุณาธรรมสำแดงมโนธรรมที่เมืองถงอี้  ตั้งตนอยู่ในโอวาทของอีอิ่น ผู้เป็นเสมือนปู่และบิดาจนเป็นที่ประจักษ์ชัด สุดท้าย อีอิ่น จึงได้เชิญไท่เจี่ย กลับมาครองแผ่นดินที่เมืองป้อ

     นี่คือสาเหตุที่อีอิ่นมหาสัตบุรุษไม่ได้ครองแผ่นดินในยุคนั้น  ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าปู่โจวกงอริยบุคคล มิได้ครองแผ่นดินนั้นคือ ฟ้าได้ให้กำเนิดโจวเฉิงอ๋วงที่ปรีชาสง่าสมมาเป็นรัชทายาทของอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง  เช่นเดียวกับที่อี้ประกบฉี่ ผู้สูงส่งสมควร และอีอิ่นประกบไท่เจี่ยราชบุตร

       บรมครูขงจื่อกล่าวว่า

        "อริยกษัตรย์เหยากับซุ่น มอบหมายแผ่นดินแก่ผู้ปรีชาสง่าสม ต่อมาราชวงศ์เซี่ย  ซัง  โจว  สามสมัย มอบหมายแผ่นดินแก่รัชทายาทบุตรหลาน เมื่อเป็นไปตามครรลองฟ้า ก็คือหลักหนึ่งเดียวกัน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อ "มีผู้กล่าวว่า อีอิ่นอาศัยฝีมือชำแหละเนื้อปรุงอาหารชั้นดี ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ทัง รับการอุ้มชู มีเรื่องอย่างนี้หรือไม่"ครูปราชญ์ตอบว่า "ไม่ใช่เช่นนั้น"  เดิมที อีอิ่นทำไร่นาอยู่ชนบทเมืองโหย่วเซิน ชอบศึกษาหลักธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น  เรื่องไม่ถูกต้องไม่สมเหตุผล แม้จะบำเหน็จรางวัลด้วยสินทรัพย์ทั้งโลก ท่านก็ยืนกรานอยู่เช่นนั้น ต่อให้จูงรถม้าหนึ่งพันคันมาให้ ท่านก็ไม่เหลียวมอง ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลมโนธรรม หญ้าหนึ่งต้นยังไม่ยอมให้ใคร ไม่ยอมรับจากใคร  เวลานั้น  กษัตริย์ทัง ส่งคนนำเครื่องบรรณาการไปเชื้อเชิญให้มาร่วมงาน อีอิ่นแสดงสีหน้าไม่อยากได้ กล่าวว่า "จำเป็นด้วยหรือ ที่เราจะรับบรรณาการจากกษัตริย์ทัง เพื่อการถูกเรียกใช้" หากเราออกไปเป็นขุนนาง ไหนเลยจะเหมือนอยู่ไร่นาเป็นอิสระดื่มด่ำอยู่กับหลักธรรม ที่กษัตริย์เหยา - ซุ่นกล่าวไว้ได้ทุกวัน

        จนเมื่อกษัตริย์ทัง ส่งคนไปเชิญเป็นครั้งที่สาม แม้อีอิ่นจะยังคงดื่มด่ำอยู่กับความทรงธรรมของกษัตริย์เหยา - ซุ่น แต่ท่าทีนั้นเปลี่ยนไป โดยได้คิดว่า ต่อการอยู่ไร่นาซึ้งซาบหลักธรรม มิสู้ออกไปทำให้กษัตริย์องค์ปัจจุบันมีความเป็นเหยา - ซุ่น  มิสู้ทำให้ชาวประชาผาสุกเยี่ยงสมัยเหยา - ซุ่น อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง 

        ฟ้าเบื้องบนก่อเกิดปวงชน ให้ผู้รู้เห็นหลักธรรมก่อนไปปลุกคนข้างหลังให้รู้เห็นตามกัน ให้ผู้ตื่นใจก่อนเบิกทางแก่คนข้างหลังให้ตื่นใจตามกัน (เซียนจือ  เจวี๋ยโฮ่วจือ  เซียนเจวี๋ย  เจวี๋ยโฮ่วเจวี๋ย)   เราคือชนอันได้รับญาณจากฟ้าให้ตื่นใจก่อนแล้ว เราอยากจะนำเอาหลักธรรมที่เข้าใจ ไปปลุกใจปวงชนแล้วหากมิใช่เรา ยังจะมีใครไปปลุกเขา (จะละเลี่ยงเกี่ยงให้ใครทำ) 

        อีอิ่น ครุ่นคิดพิจารณา อันประชาราษฏร์ทั้งหญิงชาย ผู้มิได้รับคุฯปรกแผ่จากเหยา - ซุ่น ขณะนั้น จะเหมือนพาตัวไปหมกโคลนในท่อน้ำ คิดดังนี้แล้วจึงปวารณาตัวจะแบกรับภาระหนักในการกอบกู้ เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว จึงสิเคราะห์การปกครองโดยธรรมแห่งเหยา - ซุ่น แด่กษัตริย์ทัง เห็นว่าจะต้องปราบทรราชเจี๋ย เพื่อฉุดช่วยมวลประชา  ครูปราชญ์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจัง  "ครูไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า "ตนคดยังอาจนำพาคนคดให้ตรงได้"  ยิ่งกว่านั้น ตนหยามตนแล้ว ยังจะอุ้มชูคนทั่วหล้าให้เที่ยงตรงได้"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        อริยบุคคลดำเนินตนต่างกัน บ้างเข้าหาองค์ประมุข บ้างออกจาก บ้างไปจาก บ้างยังอยู่ แม้ขัดแย้ง เหตุผลล้วนจะรักษากายใจให้พ้นมลทินทั้งสิ้นเท่านั้น  ครูได้ยินแต่ว่า อีอิ่นใช้หลักธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ไปวอนขอให้กษัตริย์ทัง ดำเนินการปกครองโดยธรรม แต่ไม่เคยได้ยินว่า อีอิ่นอาศัยฝีมือชำแหละเนื้อ ปรุงอาหารเอาใจให้กษัตริย์ทังอุ้มชูใช้งาน  ในคัมภีร์ซูจิง บทอีซวิ่น จารึกว่า "เจตนาฟ้าจะให้ทรราชเจี๋ยล่มสลายนั้น เริ่มไล่รุกจากพื้นที่มู่กง" อีอิ่นกล่าวว่า "มันเริ่มตั้งแต่เราเข้ารับงานจากกษัตริย์ทังที่เมืองป้อ" 

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์ 

       "มีคนกล่าวว่า ท่านบรมครูขงจื่อเมื่อครั้งจาริกเมืองเอว้ย ได้พำนักอยู่กับหมอหลวงรักษาโรคผิวหนัง เมื่อจาริกเมืองฉีนั้น พำนักที่บ้านขันทีจี๋หวน เป็นความจริงหรือไม่" ครูปราชญ์ตอบ  "ไม่จริง"  คำพูดนั้นเป็นความเท็จจากผู้ชอบสร้างเรื่องเล่าลือ เมื่อครั้งที่บรมครูจาริกสู่เมืองเอว้ย ท่านพำนักอยู่ในจวนมหามนตรีเอี๋ยนโฉวอิ๋ว ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม  ช่วงนั้น  เมืองเอว้ยมีขุนนางคนสนิทชื่อหมีจื่อ ภรรยาของเขาเป็นพี่น้องแท้ ๆ กับภรรยาของจื่อลู่  ศิษย์เอกคนหนึ่งของบรมครู  หมีจื่อเคยกล่าวแก่จื่อลู่คู่เขยว่า ถ้าแม้บรมครูได้มาพำนักที่บ้านซึ่งข้าพเจ้าเป็นเจ้าบ้าน ตำแหน่งมนตรีแห่งเมืองเอว้ย ข้าพเจ้าย่อมจะได้มาโดยง่าย"  ศิษย์จื่อลู่ กราบเรียนข้อความนี้ต่อบรมครู บรมครูว่า "ตำแหน่งฐานะฟ้าลิขิตแน่นอนอยู่"  ครูปราชญ์สรุปแก่ศิษย์วั่นจังว่า "บรมครูท่านทำการทุกอย่างด้วยจริยะ  กาละ  เทศะ  แม้จะถอนตัว อำลาก็สมควรแก่หลักธรรม ท่านจึงกล่าวว่า "จะได้ตำแหน่งฐานะ ฟ้าลิขิตแน่นอนอยู่"

        หากท่านบรมครูพำนักอยู่กับหมอหลวงรักษาโรคผิวหนัง และบ้านหัวหน้าขันทีเจ้าบ้านที่เป็นจัณฑชนคนหยาบ ซึ่งเจ้าบ้านทั้งสองนี้ ไม่ใช่ผู้ที่จะยอมรับหลักธรรมฟ้าชะตาลิขิตได้ ระยะหนึ่งที่ท่านบรมครูไม่ยินดีอยู่ในบ้านเมืองหลู่ และเอว้ย  จึงจากไปอยู่เสียที่เมืองซ่ง ไม่คิดว่าขุนนางซือหม่าหวนถุยจะกีดกัน เตรียมดักสังหารกลางทาง  ท่านบรมครูไหวทัน จึงสวมใส่เยี่ยงชาวบ้านสามัญชนออกจากเมืองซ่ง ไปยังเมืองเฉิน ขณะนั้น แม้อยู่ระหว่างอันตราย ท่านยังพิจารณาที่พำนักอันสมควร คือจวนขุนนางเจินจื่อ  เวลานั้น เจินจื่อยังเป็นขุนนางเมืองเฉิน ภายหลังเป็นปลัดเมืองซ่ง  ครูเคยได้ยินมาว่า "แม้ใครู่้รู้ความดีร้ายในตัวขุนนางผู้ใด ให้พิจาารณาจากแขกผู้มาพำนักกับเขาผู้นั้น  จะสอดส่องดูขุนนางต่างเมืองที่มาว่าดีร้าย ก็จะรู้ได้จากเจ้าบ้านเคหสถานที่เขามาพำนัก คนประเภทเดียวกัน จะเนื่องนำใฝ่หากัน ถ้าหากท่านบรมครูพำนักกับหมอหลวงและหัวหน้าขันทีนั้นตามคำเล่าลือ ท่านบรมครูจะเป็นบรมครูจอมปราชญ์ได้หรือ"

        ศิษย์วั่นจัง เรียนถามครูปราชญ์

        "มีคนกล่าวว่า ป๋อหลี่ซีขุนนางเมืองอวี๋ ขายตัวเองไปเลี้ยงสัตว์บ้านที่เมืองฉิน ได้รับค่าตอบแทนเป็นหนังแพะห้าตัว ไปรับจ้างเลี้ยงวัวเพื่อถือโอกาสใกล้ชิดพระเจ้าฉินมู่กง อุ้มชูเข้ารับราชการ เรื่องนี้จริงหรือ" ครูปราชญ์ตอบว่า "ไม่จริง เป็นความเท็จที่พวกชอบเล่าลือกุกัน  ท่านป๋อหลี่ซีเป็นชาวเมืองอวี๋ด้วยเหตุที่เดิมทีชาวเมืองจิ้นได้นำหยกงามของเขตฉุยจี๋ กับรถม้าอย่างดีของอำเภอชวี เป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้าเมืองอวี๋ เพื่อขอทางผ่านไปตีเมืองกว๋อครั้งนั้น มหามนตรีกงจือฉี ทัดทานเจ้าเมืองอวี๋ มิให้อนุญาตแต่ไม่ฟัง ส่วนขุนนางป๋อหลี่ซี นั้นวางเฉยไม่ทัดทาน เพราะรู้ดีว่าทัดทานไม่เป็นผล มิอาจแก้ไขได้ จึงไปสู่เมืองฉิน ขณะนั้น อายุเจ็ดสิบปีแล้ว

        ผู้มองเห็นความถูกต้องชัดเจนเช่นนี้ มีหรือจะยอมทำตัวอัปยศไปเลี้ยงวัวเพื่อให้พระเจ้าฉินมู่กงสนใจเรียกใช้ ถ้าเช่นนั้นจะนับว่ามีปัญญาหรือ แต่เมื่อรู้ว่าทัดทานเจ้าเมืองอวี๋ จะไม่มีผล จึงเฉยไว้ ไม่ใช่มีปัญญาดอกหรือ รู้การข้างหน้าว่าเมืองอวี๋ จะต้องล่มสลาย จึงลาออกเสียก่อน เช่นนี้จะว่าไม่มีปัญญาไม่ได้  เมื่อเมืองฉินเห็นความสามารถของป๋อหลี่ซี ป๋อหลี่ซีก็เห็นว่า พระเจ้าฉินมู่กง เป็นประมุขที่เติมเต็มได้ ปราดเปรื่องได้ จึงสุดใจเทิดหนุน เช่นนี้จะว่าป๋อหลี่ซีด้อยปัญญาได้หรือ เมื่อเทิดหนุนแล้ว เกียรติคุณของประมุขลือเลื่อง สืบต่อถึงรุ่นหลัง ดังนี้ หากมิใช่ปรีชาญาณ จะทำได้หรือ  ที่เล่าลือว่าขายตัวตกต่ำเพื่อเสนอตัวนั้น (ไม่เซินฉิวหยง)  ซึ่งแม้แต่ชาวบ้านผู้รักดี ก็ยังไม่กระทำ นับประสาอะไรกับเมธี มีหรือจะประพฤติดังกล่าว

                              ~ จบบทวั่นจัง ตอนต้น ~

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        ครูปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า

         "นิสัยใจคอของราชบุตรป๋ออี๋ นันย์ตาไม่มองดูสิ่งไม่เที่ยงตรง หูไม่ฟังคำไม่เที่ยงตรง ไม่ใช่ประมุขอันพึงสนองบัญชา จะไม่สนอง ไม่ใช่ชาวประชาอันพึงใช้สอยได้ จะไม่เรียกใ้"  ขณะบ้านเมืองมีระเบียบจะเป็นผู้ร่วมปกครอง บ้านเมืองยุ่งเหยิงจะถอยห่างออกไป ถิ่นที่ก่อเกิดอาชญากรรม สถานที่ชุมนุมความชั่วร้าย และขณะเมื่อการปกครองเสียหาย ราชบุตรป๋ออี๋จะไม่หยุดยั้ง ขณะนั่งลงพูดคุยกับชาวบ้าน หากผู้นั้นเสียกิริยา ราชบุตรป๋ออี๋จะเดินหนี จะหงุด
หงิด ประหนึ่งสวมเครื่องฐานันดรเต็มยศแล้วนั่งจมโคลน ช่วงเวลานั้น ทรราชโจ้วไร้ธรรม ราชบุตรป๋ออี๋จึงแฝงองค์อยู่แถบชายทะเลเป่ยไห่ รอคอยวันสงบอยู่เงียบ ๆ  ฉะนั้นคนที่ได้ยินกิติศัพท์ความสูงส่งเรียบง่ายของราชบุตรป๋ออี๋ ซึ่งแม้แต่คนโง่ก็ยังอยากเอาอย่างสุจริตธรรม คนขลาดยังอยากตั้งความมุ่งมั่น
อย่างราชบุตรป๋ออี๋ "

        มหามนตรีอีอิ่น ในกษัตริย์ทัง กล่าว (แย้งความคิดของราชบุตรป๋ออี๋) ว่า "ประมุของค์ใดหรือที่มิพึงสนองบัญชา ประชาใดหรือที่มิพึงใช้สอย โลกสุขสงบ แน่นอนจะต้องออกมารับราชการ การปกครองวุ่นวายเสียหาย ก็จะต้องออกมารับราชการ"  ยังพูดเสมอว่า "ฟ้าเบื้องบนก่อเกิดปวงชน"  ให้ผู้รู้เห็นหลักธรรมก่อน ไปปลุกคนข้างหลังให้รู้เห็นตามกัน ให้ผู้ตื่นก่อน เบิกทางแก่คนข้างหลังให้ตื่นใจตามกัน เราคือชนอันได้รับญาณจากฟ้าให้ตื่นใจก่อนแล้ว เราอยากจะนำเอาหลักธรรมที่เข้าใจไปปลุกใจปวงชนแล้ว" ตามความคิดของอีอิ่น ปวงชนทั่วหน้า ไม่ว่าหนึ่งชายหรือหนึ่งหญิง ในขณะนั้นที่ไม่ได้รับคุนอันปรกแผ่จากอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ก็จะเหมือนพาพระองค์เองไปหมกท่อน้ำ (มิได้สร้างสรรค์)  คิดดังนี้แล้ว อีอิ่นจึงอยากจะแบกรับงานใหญ่ อุ้มชูงานบ้านเมือง   นิสัยใจคอของหลิ่วเซี่ยฮุ่ย ขุนนางมหาบัณฑิต ชาวเมืองหลู่ สมัยชุนชิว ต่างจากราชบุตรป๋ออี๋  หลิ่วเซี่ยฮุ่ยไม่รู้สึกอดสูใจที่รับราชการกับประมุขมลทินไม่เกี่ยงตำแหน่งราชการชั้นผู้น้อย  เมื่อรับราชการแล้วไม่ซ่อนเร้นความปรีชาสามารถ ทำทุกอย่างด้วยหลักเหตุผล ถูกเขาดูหมิ่น ถูกเขาละทิ้ง ก้ไม่ขัดเคืองทอดถอน เจออุปสรรคยากเข็ญ ก็ไม่ทุกข์กังวล อีกทั้งอยู่กับชาวบ้านที่ไม่รู้การอันควร ก้ไม่อาจตัดใจเดินหนี หลักความคิดของหลิ่วเซี่ยฮุ่ย คือ ใครจะพูดว่าอะไรก็ว่าของเขาไป เรามีหลักการของเรา  เขาจะเปลีอยท่อนบน เปลือยทั้งตัวนั่งอยู่ข้าง ๆ มันจะเป็นผลแปดเปื้อนจิตญาณของเราได้หรือ  คนที่ได้ฟังบุคลิกภาพของหลิ่วเซี่ยฮุ่ยดังนี้แล้ว แม้แต่คนใจแคบชอบรังเกียรติเดียดฉันท์ ก็กลับกลายเป็นใจกว้าง คนเอาเปรียบกลับกลายเป็นโอบอ้อมอารี

        สำหรับท่านบรมครูนั้น ก็จะต่างกันเล็กน้อย ครั้งนั้น เมื่อท่านจะไปจากเมืองฉี แม้จะซาวข้าว ตั้งหม้อยังไม่ทันหุงให้สุก จะออกเดินทาง รินน้ำทิ้ง ไปหุงเอาข้างหน้า อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจะไปจากเมืองหลู่ แม้ศิษย์จื่อลู่จะเร่งเร้า แต่บรมครูกลับตามสบาย กล่าวว่า "ช้า ๆ ก็ได้" เพราะการจากครั้งนี้คือ จากพรากมาตุภูมิ มีเหตุอันควรจะอาลัย  การบางอย่างควรรีบร้อน บางอย่างควรผ่อนช้า บางสถานการณ์ควรแฝงตน  บางสถานการณืพึงทะยานออกมารับราชการ นี่คือหลักการตามควรของท่านบรมครู

        ครูปราชย์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจังอีกว่า 

        "ราชบุตรป๋ออี๋ เป็นอริยชนผู้รักษาตน ไว้ตัวสูงส่งมิให้แปดเปื้อนแม้แต่น้อย  อีอิ่น กษัตริย์ผู้สำเร็จราชการ เป็นอริยชนผู้มุ่งมั้นรักษาภาระหน้าที่เที่ยงตรงสูงส่งทุกขณะจิต   ขุนนางมหาบัณฑิตหลิ่วเซี่ยฮุ่ย เป็นอริยชนผู้สมานฉันท์ต่อชนทุกชั้น ทุกสถานการณ์  ท่านบรมครูขงจื่อ เป็นอริยเจ้าผู้ดำเนินมัชฌิมาปฏิปทาสำแดงคุณธรรมตามเหตุอันควรทุกกรณี" 

เซิ่งจือชิงเจ่อ   เซิ่งจือเยิ่นเจ่อ
เซิ่งจือเหอเจ่อ  เซิ่งจือสือเจ่อ         

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

         ท่านบรมครูได้รับการเทิดทูนสรรเสริญว่า "มหาสมิทธิ"  (จี๋ต้าเฉิง)  (มหาสมิทธิ คือ สำเร็จ  สัมฤทธิ์  สมบูรณ์การพรั่งพร้อม)  ความเป็นมหาสมิทธิ อธิบายให้เห็นจิงเช่นการบรรเลงเพลงที่เริ่มจากเสียง "ระฆังทองกังวานใสเปิดใจนำทาง" และจบลงด้วยการ "เคาะคันหยกเสียงนุ่มทุ้ม ลุ่มลึก จับใจ" (จินจงอวี้ชิ่ง) ระฆังทองเปิดทางปัญญา  จัดระเบียบ  นำเสียงอื่น ๆ ให้ตามกันมา เสียงคันหยกนุ่มทุ้มจับใจพาให้ "เข้าถึง" ความลุ่มลึกแห่งอริยะ เป็นสัญญาณให้เสียงอื่น ๆ ค่อย ๆ นิราศล้างจางหาย เสียงเปิดปัญญา  เปรียบเช่นความคิดจิตใจปราดเปรื่อง ส่วนการ "เข้าถึง" คือพลังเนื่องหนุนอันสุขุม  เปรียบเช่นการยิงธนู จากหนึ่งร้อยก้าวขึ้นไปให้เข้าเป้า "เข้าเป้า" คือพลังของผู้ยิง  "ถูกกลางเป้า" ไม่ใช่พลังของผู้ยิง แต่เป็นความปราดเปรื่อง  ฉะนั้นท่านบรมครูจึงมีทั้งพลังและความปราดเปรื่อง มีปัญญาแห่งอริยะ  สำเร็จ  สัมฤทธิ์  สมบูรณ์การณ์พรั่งพร้อม ต่างจากอริยะอื่น ๆ ที่สำเร็จสัมฤทธิ์ในอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้ บรมครูจึงเป็นจอมปราชญ์  เป็นสมหาสมิทธิ  (ต้าเฉิงจื้อเซิ่ง) 

        เป่ยกงฉี  ชาวเมืองเอว้ย เรียนถรมปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "ราชวงศ์โจว จัดลำดับขุนนางกับระบบแบ่งปันที่นาอย่างไร"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "รายละเอียดครั้งกระโน้นไม่อาจรู้ได้ ด้วยเหตุที่เจ้าเมืองต่าง ๆ ไม่ยินดีต่อบางอย่างในระบบแบบแผน ที่ไม่อำนวยคุณแก่ตน  จึงทำลายบันทึกทะเบียนส่วนใหญ่เสีย แต่ข้าฯ ยังเคยได้ยินมาบ้าง"

        ลำดับที่หนึ่ง  กษัตริย์  ฮ่องเต้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน   ลำดับที่สอง  มหามนตรี   ลำดับที่สาม เจ้าเมือง  ที่สี่ เจ้าผู้ครองแคว้น  ที่ห้า ผู้ครองเขตแดน  รวมห้าระดับ  อีกระบบอหนึ่งคือ  หนึ่ง ประมุขเจ้าผู้ครองนคร  สอง มหาอำมาตย์  สาม ขุนนาง  สี่  ห้า  หก  ข้าราชฯ เอก โท ตรี  รวมเป็นหกระดับ

        ระบอบเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  ปกครองแผ่นดินโดยรอบหนึ่งพันลี้   มหามนตรี เจ้าเมือง หนึ่งร้อยลี้  เจ้าผู้ครองแคว้น เจ็ดสิบลี้  ผู้ครองเขตแดน ห้าสิบลี้รวมสี่ระดับ   เมืองเล็กที่แผ่นดินไม่เต็มห้าสิบลี้  จะเข้าเฝ้าเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินโดยตรงไม่ได้ ให้ขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองที่ชิดใกล้ เรียกว่า "อิงเมือง"  มนตรีของเจ้าฟ้าฯ  ได้รับส่วนแบ่งที่ทางเทียบเท่าเจ้าเมือง  ขุนนางได้เทียบเท่าผู้ครองแคว้น  ข้าราชสำนักเอกได้เทียบเท่าผู้ครองเขตแดน

        มหามนตรีเจ้าเมืองใหญ่ ครอบครองพื้นที่โดยรอบหนึ่งร้อยลี้ บำเหน็จสินทรัพย์สำหรับประมุขมากกว่ามหามนตรีสิบเท่า  มหามนตรีมากกว่าขุนนางสิบเท่า ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอก หนึ่งเท่า  ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า  ข้าราชฯตรี ได้เท่ากับข้าราชฯเวรยาม บำเหน็จนี้เพียงพอสำหรับทดแทนรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น  ที่ดินรองลงมาของเจ้าผู้ครองแคว้นเจ็ดสิบลี้โดยรอบ ประมุขของเขาจะได้รับบำเหน็จสินทรัพย์มากกว่ามหามนตรีสิบเท่า  มหามนตรีมากกว่าขุนนางสามเท่า  ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอกหนึ่งเท่า  ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า  ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า  ข้าราชฯตรีได้เท่ากับข้าราชฯเวรยามชาวบ้าน ซึ่งเพียงพอแก่การทดแทนรายได้จากไร่นาเท่านั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        บ้านเมืองเล็กครอบครองพื้นที่โดยรอบห้าสิบลี้ บำเหน็จสินทรัพย์สำหรับเจ้าเมือง มากกว่ามหามนตรีของเมืองนั้นสิบเท่า  มหามนตรีมากกว่าขุนนางสองเท่า  ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอกหนึ่งเท่า  ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า  ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า    ข้าราชฯตรีได้บำเหน็จสินทรัพย์เท่ากับประชาชนทั่วไปที่รับใช้งานบ้านเมือง  บำเหน็จสินทรัพย์นี้ เพียงพอสำหรับทดแทนรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น  รายได้จากนาโดยเฉลี่ย ชายคนหนึ่งต่อที่นาหนึ่งร้อยหมู่  หากปุ๋ยอุดม  ชาวนาชั้นดีจะเลี้ยงคนได้เก้าคน  รองลงมาแปดคน  ระดับกลางได้เจ็ดคน  รองลงมาอีกได้หกคน  ต่ำสุดได้ห้าคน  ชาวบ้านรับจ้างหน่วยงานหลวง เช่นเป็นเวรยามก็จะได้ค่าจ้างเท่ากับระดับห้า
 
        ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์  "หลักการคบเพื่อน"  ครูปราชญ์ว่า

        "อย่าถือตนว่าอายุมาก  อย่าถือตนว่าสถานภาพสูง  อย่าถือเอาความมีอำนาจของพี่น้องไปคบหา พึงรู้ว่า คบหาเพื่อน คือคบหาคุณธรรมความประพฤติดีของเขา จะถือดีไม่ได้   เมิ่งเซี่ยนจื่อ ขุนนางศรีของเมืองหลู่ ครอบครองรถศึกถึงหนึ่งร้อยคัน  เขามีเพื่อนแท้ห้าคน คือ เอวี้ยเจิ้งฉิว  มู่จ้ง  อีกสามคนครูลืมชื่อเสียแล้ว   เซี่ยนจื่อคบหากับเพื่อนทั้งห้า ล้วนเห็นด้วยกับคุณธรรมความประพฤติดี เพื่อนทั้งห้าคนก็ไม่ได้มองดูความร่ำรวยสูงศักดิ์ของเซี่ยนจื่อเป็นสำคัญ หากมองดูที่ความร่ำรวยสูงศักดิ์ เมิ่งเซี่ยนจื่อก็คงจะไม่คบหาคนเหล่านั้นเป็นแน่  ไม่เพียงผู้ครองครองรถศึกร้อยคันที่คบหาเพื่อนสนิท  ประมุขเมืองเล็กก็มีเพื่อนแท้ เช่น ประมุขเมืองเฟ่ย  ประมุขเฟ่ยฮุ่ยกงกล่าวว่า  "สำหรับปราชญ์จื่อซือ เราปฏิบัติต่อเพื่อนด้วยเทิดทูนเคารพ  ปฏิบัติต่อเอี๋ยนปัน ด้วยให้เกียรติยกย่อง  สำหรับหวังซุ่นกับฉังสีนั้น เป็นเพื่อนแท้ที่ดูแลรับใช้เรา"

        ไม่เพียงประมุขเมืองเล็ก ประมุขเมืองใหญ่ก็มีการคบหาเพื่อนแท้ เช่น พระเจ้าจิ้นผิงกง มีเพื่อนแท้ที่เทิดทูนเคารพคือ ไฮ่ถัง  เมธีผู้ถือสันโดษยุคชุนชิว  เมื่อพระเจ้าจิ้นผิงกงไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อนผู้นี้ จะยืนรออยู่หน้าบ้านจนกว่าเมธรไฮ่ถังจะเรียกเชิญจึงจะเข้าไป เชิญให้นั่งจึงจะประทับนั่ง  เชิญให้เสวยจึงจะเสวย  ซึ่งอาหารแม้จะเป็นผักหญ้าพื้นบ้านธรรมดา ก็ไม่เคยเสวยได้ไม่อิ่ม  ไม่อิ่มจะแสดงว่าไม่เคารพ แต่น่าเสียดายที่ความเป็นเพื่อนแท้คงตัวอยู่ที่เทิดทูนเคารพ มิได้ให้ร่วมบัลลังก์ มิได้มอบหน้าที่สำคัญในการปกครองบ้านเมืองให้ มิได้เชิดชูฐานันดรหรือบรรดาศักดิ์ให้ ซึ่งแม้เพื่อนจะถือสันโดษมิได้เรียกร้องก็ตาม ดังนี้  เท่ากับแสดงความเป็นเพื่อนแท้ที่เทิดทูนเคารพเยี่ยงสามัญชนเท่านั้น มิใช่ในฐานะองค์ประมุข

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        ครั้งกระโน้น เมื่อซุ่นยังทำนาอยู่ที่ลี่ซัน  ก้ได้รับเป็นราชบุตรเขยของอริยกษัตริย์เหยาแล้ว ฉะนั้น  เมื่อซุ่นไปเข้าเฝ้ากษัตริย์เหยา พระองค์ก็จะรั้งราชบุตรเขยให้พักอยู่ก่อนที่วังรอง บางครั้งพระองค์ก็ได้รับเลี้ยงจากซุ่น  ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เป็นผู้รับเชิญ นี่ก็คือ เจ้าฟ้าคบหาสมาคนกับสามัญชน  ผู้อยู่เบื้องล่างนบนอบเบื้องสูง เรียกว่าเทิดทูนคนบุญผู้สูงศักดิ์  ผู้อยู่เบื้องสูงเคารพรักผู้อยู่เบื้องล่าง เรียกว่า เคารพเมธาชนคนดี แท้จริงเทิดทูนกับเคารพ ความหมายเป็นเช่นเดียวกัน"     

        ศิษย์วั่นจัง  ขออนุญาตเรียนถามครูปราชญ์ว่า

        "การตอบรับกับมอบให้ไปมาแก่กัน เป็นความนึกคิดอย่างไร"  ตอบ  "เป็นการแสดงความน้อมใจให้แก่กัน" วั่นจังว่า "หากเขามอบของกำนัลมา คืนไปไม่รับไว้ เช่นนี้ถูกเรียกว่า ไม่น้อมใจไม่เคารพ มีเหตุผลอย่างไร"  ครูปราชญ์ว่า "ผู้ใหญ่ให้ของกำนัล ถ้าเรารับไว้โดยค้างใจว่าถูกต้อง สมควรที่จะรับหรือไม่ เท่ากับไม่น้อมใจไม่เคารพ ฉะนั้น อย่าคืนไปจะดีกว่า" ศิษย์วั่นจังว่า "เรียนถาม หากคืนกลับไปโดยไม่พูดไม่ได้หรือ เพราะศิษย์คาดว่าของกำนัลนี้เขาอาจได้จากผู้อื่นมาโดยไม่ชอบธรรม" ครูปราชญ์ว่า "ขอเพียงคบหากับเขาด้วยมโนธรรมสำนึกดี การรับของกำนัล ขอให้ถูกต้องต่อจริยธรรม" ซึ่งท่านบรมครูก็ยอมรับ ศิษย์วั่นจังว่า "สมมุติ ขณะนี้  ที่นอกเมืองมีผู้ดักชิงทรัพย์ แต่เขากับศิษย์คบหากันด้วยมโนธรรม เขามอบของกำนัลแก่ศิษย์ ก็ถูกต้องด้วยจริยธรรม เช่นนี้จะรับของที่เขาชิงมาได้หรือ" ครูปราชญ์ตอบ "ไม่ได้  ในคัมภีร์ซูจิง บทคังเก้า ก็จารึกว่า "ปล้นฆ่าคนที่มาจากทางไกล ช่างโฉดช่วยไม่กลัวตาย ไม่มีใครที่ไม่ชิงชัง" คนเช่นนี้มิพึงรอรับการกล่อมเกลา ก็สมควรตายแล้ว การลงโทษสถานนี้มีในสมัยซัง สืบต่อจากสมัยเซี่ย และสืบต่อมาถึงสมัยโจว ไม่มีอะไรโต้แย้งได้ ยุคนี้ยิ่งจะเข้มงวด ฉะนั้น จะรับของกำนัลจากคนพรรค์นี้ได้อย่างไร"  ศิษย์วั่นจังว่า "เจ้าเมืองสมัยนี้เรียกเก็บภาษี เอาประโยชน์จากประชาชนหนักหนา ไม่ต่างจากจี้ปล้น  ถ้าคนพวกนี้ใช้จริยพิธีดีงามสื่อสัมพันธ์กัลยาณชนก็รับกำนัลด้วยจริยะดีงามนั้น   ขอเรียนถาม การนี้จะอธิบายว่ากระไร"  ครูปราชญ์กล่าว "ศิษย์เข้าใจว่า หากมีอริยเจ้าสักท่านออกมาปกครองโลก ก็จะสังหารเจ้าเมืองผู้กระทำผิดได้ทั้งหมดกระนั้นหรือ หรือจะห้ามปรามกำราบเสียก่อน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจึงจะสังหาร   พวกที่แก้ตังว่า "เขาเอามาให้" ... รับของโจรก็ถือว่าเป็นโจรแล้ว แต่หากวิเคราะห์ชัดเจน ปล้น และรับเอาของปล้นนั้น การกระทำย่อมต่างกัน ฉะนั้น จะเปรียบเหล่าเจ้าเมืองเป็นโจรไม่ได้  ครั้งกระโน้น ท่านบรมครูเป็นขุนนางเมืองหลู่ ทุกครั้งที่ชาวเมืองหลู่จัดพิธีเซ่นไหว้ ผู้คนชิงกันล่าสัตว์ ดูใครจะได้มากกว่ากัน ท่านบรมครูก็เคยเข้าร่วมด้วย แข่งขันชิงกันล่า เฉพาะหน้าเฉพาะครั้งยังพอเป็นได้ ไม่ต่างรับของกำนัลจากเจ้าเมือง  แต่เจตนาที่รับ ที่ล่า คือหาโอกาสปรับแปรเขา"

        ศิษย์วั่นจัง  แย้งอีกว่า

        "แต่ท่านบรมครูเป็นขุนนาง มิใช่จุดประสงค์เพื่อแพร่ธรรมหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ก็ใช่น่ะสิ"  ถามว่า "จุดประสงค์เพื่อแพร่ธรรม ไฉนยังจะร่วมแข่งขันชิงล่าตามอย่างชาวบ้าน"  ครูปราชญ์ว่า "บรมครูได้จัดทำสมุดบันทึกกำหนดพิธี อาหาร ภาชนะ  เครื่องเซ่นไหว้ไว้ก่อนหน้าแล้ว ระบุว่าไม่ใช้เนื้อสัตว์ ไม่ใช้อาหารที่หามาโดยยากทั่วปริมณฑลโดยรอบมาเซ่นไหว้"  นี่ก็คือ อุบายของการที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยเคยชินในการแข่งขันชิงล่า (ให้ผู้ชิงล่าปรามาสรังเกียจบรมครูแล้วย้อนดูตน)  ศิษย์วั่นจังว่า "เมื่อปรับแปรเขาไม่ได้ ไฉนไม่ละจากเมืองหลู่เล่า"  ครูปราชญ์ว่า "บรมครูคิดจะใช้วิธีค่อย ๆ กล่อมเกลา หากปรับแปรได้จึงค่อยดำเนินการแพร่ธรรม ปรับแปรไม่ได้จริง ๆ ก็จะละจาก"  ดังนี้  ท่านบรมครูไม่ว่าไปโปรด ณ บ้านเมืองใด จึงมิได้เนิ่นนานเกินกว่าสามปี  ท่านบรมครูเป็นขุนนางด้วยหลักมโนธรรม  บางครั้งเห็นโอกาสดำเนินธรรมได้ จึงไปเป็นขุนนาง บางครั้งเป็นเพราะองค์ประมุขมีจริยธรรมในการต้อนรับจึงไปเป็นขุนนาง  บางครั้งเป็นเพราะองค์ประมุขมีจิตใจศรัทธา อุ้มชูรักษาเมธี จึงไปเป็นขุนนาง  ในครั้ง จี้หวนจื่อ ก็คือ เห็นว่าดำเนินงานธรรมได้ จึงไปเป็นขุนนาง ในครั้งพระเจ้าเอว้ยหลิงกงนั้น ยินดีเป็นขุนนางให้ เพราะจริยอัธยาศัยของพระองค์   ในครั้งพระเจ้าเอว้ยเซี่ยวกง ก็คือเห็นความศรัทธาจริงใจในการอุ้มชูรักษาเมธาจารย์ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "เป้าหมายของการเข้ารับราชการเป็นขุนนาง มิใช่หวังเงินบำเหน็จบำนาญ เนื่องจากยากจน แต่บางครั้งก็เพราะขัดสน อยากได้เงินทองมาปฏิการะบิดามารดา  ตกแต่งภรรยาก็เพื่อให้มีทายาทสืบสกุล มิใช่เพื่อให้ช่วยการปฏิการะ แตบางครั้งก็ยังต้องอาศัยภรรยาให้ช่วยด้วย เป็นขุนนางเนื่องจากยากจน ควรละตำแหน่งสูง รับงานตำแหน่งต่ำ รับบำเหน็จน้อย แต่จะละตำแหน่งสูง สละบำเหน็จมาก หน้าที่ใดจึงจะเหมาะสมเล่า  มีแต่หน้าที่รักษาประตูเมือง ตรวจเวรยาม ตีเกราะเคาะระฆังบอกเวลาเท่านั้นที่เหมาะสม  ท่านบรมครูก็เคยรับราชการระดับต่ำ เป็นผู้จัดการดูแลคลังเก็บพัสดุสิ่งของ เนื่องจากขัดสน  ท่านบรมครูเล่าเองว่า ตำแหน่งหน้าที่นี้ รับผิดชอบเพียงดูแลสิ่งของเข้าออกมิให้ผิดพลาดเท่านั้น  ท่านบรมครูยังเคยรับราชการเป็นขุนนางเล็ก ๆ ดูแลสวนสัตว์ราชอุทยาน  ท่านว่า เพียงแค่ดูแลให้วัว ให้แพะอ้วนพีเท่านั้น  ขุนนางเล็ก ๆ วิพากษ์วิจารณ์ราชการงานของขุนนางใหญ่ คือก้าวก่าย  คนที่ทำหน้าที่ขุนนางใหญ่ ไม่อาจดำเนินงานแพร่ธรรมในราชสำนักได้ น่าละอายนัก  (ขุนนางใหญ่ จะต้องทำหน้าที่สำแดงธรรม นำพาขุนนางทั้งหลายให้มีธรรม) 

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า  "คนมีธรรม แม้เป็นขุนนาง ก็ไม่ยอมพักพิงชายคาเจ้าเมืองด้วยเหตุใด"  ครูปราชญ์ตอบว่า "เพราะมิได้ให้คุณ มิกล้ารับคุณ (อู๋กงปู้กั่นโซ่วลู่)  ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่เขา จะเอาประโยชน์จากเขาไม่ได้ หากเป็นเจ้าเมืองที่เสียเมือง ระหกระเหินไปพักพิงกินอยู่กับเจ้าเมืองอื่น อย่างนี้ไม่ผิดจริยระเบียบโบราณ แต่คนมีธรรมอาศัยเจ้าเมืองโดยเปล่าประโยชน์ ก็จะผิดจริยะ"  ศิษย์วั่นจังว่า "ถ้าเช่นนั้น ข้าวเปลือกที่เจ้าเมืองมอบให้จะรับได้หรือไม่"  ครูปราชญ์ว่า "รับได้"  ศิษย์เรียนถาม "รับได้ด้วยหลักเหตุผลใด"  ตอบว่า "ประมุขบ้านเมืองถือหลักธรรม พึงสงเคราะห์ผู้มาจากแดนไกล"ศิษย์เรียนถามอีกว่า "สงเคราะห์  รับได้   "บำเหน็จ รับไม่ได้"  ด้วยเหตุผลใด  ตอบ "มิได้ให้คุณ มิกล้ารับพระคุณ" วั่นจังว่า "บังอาจเรียนถาม ที่ว่ามิกล้านั้น ด้วยเหตุอันใด"  ครูปราชญ์ว่า "เช่นเฝ้าประตูเมือง  ยืนยามค่ำคืน  ตีเกราะเคาะระฆังบอกเวรยาม เรียกว่าผู้มีหน้าที่ประจำ ก็จะรับบำเหน็จสินจ้างจากหลวงได้โดยดุษณี แต่ขุนนางที่มิได้มีตำแหน่งการงานเจาะจง เป็นประจำ จะรับบำเหน็จรางวัลจากองค์ประมุข เกรงว่าจะไม่เป็นที่ยินดีแก่ใคร ๆ

        ศิษย์วั่นจังว่า  "องค์ประมุขโปรดพระราชทานข้าวเปลือกสงเคราะห์ รับไว้ได้  ไม่ทราบว่า จะสงเคราะห์ติดต่อเรื่อยไปหรือไม่"  ครูปราชญ์ตอบว่า "แต่ก่อน  พระเจ้าหลู่โหมวกง แสดงท่าทีต่อท่านปราชญ์ จื่อซือ (ข่งจี๋)  นั้น  จะถามทุกข์สุขเสมอ ส่งเนื้อต้มสุกเป็นของฝาก ท่านปราชญ์จื่อซือหายินดีไม่ครั้งสุดท้ายที่ส่งมา ท่านปราชญ์จื่อซือ กวักมือเรียกขุนนางผู้นำส่ง ออกมานอกประตูใหญ่ ตัวท่านเองหันหน้าไปทางทิศเหนือก้มกราบ โค้งสองคำนับ ขอบคุณแล้วปฏิเสธที่จะรับของกำนัล กล่าวว่า "วันนี้ เรารู้ชัดแล้ว องค์ประมุขเมืองหลู่ใช้วิธีขุนสุนัข เลี้ยงม้า  มาปฏิบัติต่อเราจื่อซือ  นับจากนั้น ขุนนางผู้นำส่งก็ไม่มาอีกเลย  ยินดีในปราชญ์ แต่มิได้เชิดชูในงาน ก็จะมิได้อุปถัมภ์กันยั่งยืน  ดังนี้หรือจะเรียกว่า รักปราชญ์  เทิดทูนปราชญ์" 

Tags: