collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ : เริ่มเรื่อง  (อ่าน 67703 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                              ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

 "ข้าราช ฯ ขุนนางถูกประหารไม่ผิด จะรู้ความโฉดเขลาเมาอำนาจขององค์ประมุข ดังนั้น ข้าราช ฯ ขุนนางอื่นๆ พึงหาทางไปจากเสีย
ชาวบ้านถูกทารุณเข่นฆ่าโดยไม่ผิด จะรู้การปกครองที่ล้มเหลวเสียหาย ผู้คนทั้งหลายพึงหาทางโยกย้ายไปจากบ้านเมืองนี้"

         ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า

"หากประมุขปกครองด้วยกรุณา ทุกคนในบ้านเมืองไม่มีที่จะไม่ปฏิบัติกรุณาธรรม  หากประมุขปกครองโดยมโนธรรม ทุกคนในบ้านเมืองไม่มีที่จะไม่ดำเนินมโนธรรม"(จวินเหยินม่อปู้เหยิน จวินอี้ม่อปู๋อี้)  กล่าวอีกว่า "ประเพณีที่มิใช่จริยธรรม ความถูกต้องที่มิใช่หลักมโนธรรม ผู้ใหญ่ คนใจงาม จะไม่ทำตาม" กล่าวอีกว่า "ทุกคนในโลกล้วนมีหน้าที่รับใช้ด้วยมโนธรรม คนที่รู้หลักทำนองคลองธรรม มีหน้าที่รับใช้ ชี้นำผู้ไม่รู้ทำนองคลองธรรม   คนที่มีปัญญาความสามารถ มีหน้าที่รับใช้ชี้นำคนโง่เขลาเบาปัญญา  ทุกคนต่างหวังได้พ่อ ได้พี่  มีปัญญาความสามารถ ไว้อบรมชี้นำทุกเวลา ในทางตรงกันข้าม ผู้รู้ทำนองคลองธรรมละทิ้งผู้ไม่รู้ คนที่ปราดเปรื่องเรืองปัญญา ละทิ้งคนโง่เขลาเบาปัญญา ดังนี้ คนดีมีปัญญา กับคนโง่เขลเบาปัญญา ย่อมไปได้ไม่ไกลกัน ประชากรขาดการสอนสั่ง บ้านเมืองนั้นย่อมด้อยควาเจริญ  ชาวบ้านขาดการสอนสั่ง จารีตขนบธรรมเนียมย่อมเสียหาย ลูกหลานของผู้รู้ ผู้เรืองปัญญา ก็ยากจะดีได้ จึงว่า "ไปได้ไม่ไกลกัน"  กล่าวอีกว่า "คนพึงมีใจต่อต้าน ภายหลังจึงอาจสร้างคุณความดีได้ (คล้อยตามความผิดไม่อาจสร้างความดี)" กล่าวอีกว่า "เอาแต่ตำหนิติเตียนว่าร้ายใครเขา วันใดเขาย้อนสนองให้ จะรู้ผลภัยที่ตามมา"  กล่าวอีกว่า "บรมครูจ้งหนี (ขงจื่อ)  ไม่ทำสิ่งสุดโต่ง สอนให้โดยไม่บังคับขับเคี่ยว"  กล่าวอีกว่า "ตำแหน่ง สถานภาพใหญ่ พูดอะไรมิใช่สัตย์จริงทุกสิ่งไป ทำการใดก็มิใช่แน่ชัดเด็ดขาดบรรลุผลทุกอย่างไป จงเดินตามทำนองคลองธรรม"  กล่าวอีกว่า " ผู้ใหญ่คือผู้สูงด้วยคุณธรรม คือผู้ดำรงจิตบริสุทธิ์อยู่ได้"  กล่าวอีกว่า " ปฏิการะบิดามารดา ยังมิใช่ทำการใหญ่ จัดงานศพแก่ท่านนั่นคือทำการใหญ่ เป็นความกตัญญูที่ผู้คนรับรู้ ไม่อาจเสแสร้งตบตาได้" 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

         ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวอีกว่า

        "สิ่งที่กัลยาณชนศึกษาค้นคว้า ล้วนอาศัยหลักเหตุของธรรมชาติ เพื่อให้ตนรู้แจ้งต่อหลักธรรม เมื่อรู้แจ้งต่อหลักธรรมแล้ว จิตจะสงบมั่นคง เมื่อจิตสงบมั่นคง คุณสมบัติของความเป็นคนย่อมลุ่มลึก  คิด พูด ทำการใดในทุกขณะทุกสถาน ก็จะสอดคล้องต่อหลักธรรม ฉะนั้น จุดมั่งหมายในการศึกษาค้นคว้าของกัลยาณชน ก็เพื่อให้ตนรู้แจ้งต่อหลักเหตุและผลจนถึงที่สุดแห่งธรรมชาติ"  กล่าวอีกว่า  ""กัลยาณชนพึงเป็นผู้รอบรู้ อีกทั้งรู้จักซักถาม รู้จักตรึกคิด เมื่อรู้ชัดแล้วจึงอาจปฏิบัติจริง อาจถ่ายทอดให้ถูกต้องได้ ขยายความได้  ย่อความได้"  กล่าวอีกว่า  "เอาความดีไปสยบเขา ไม่มีที่จะสยบได้ เอาความดีไปบำรุงเลี้ยงใจเขา จึงจะกล่อมกลายให้เขาอ่อนน้อมลงได้  เมื่อใจอ่อนน้อม บ้านเมืองย่อมสงบ ปกครองได้ดี ประชาราษฏร์ไม่อาจน้อมใจ จะเป็นอ๋องเต็มภาคภูมิได้ไม่เคยมี"  กล่าวอีกว่า  "วาจาไม่สัตย์จริงเป็นสิ่งอัปมงคล ปิดบังปรัชญา ปิดบังสัจวาจาของปราชญ์เมธี มีผลของความอัปมงคลสู่ผู้นั้น 

           โบราณจึงกล่าวว่า  บ้านเมืองมีสามอัปมงคลคือ
1.  มีปราชญ์เมธีอยู่  แต่มิรู้ว่ามีอยู่
2.  มีปราชญ์เมธีอยู่  แต่มิรู้จักใช้ให้เกิดคุณ
3.  มีปราชญ์เมธีอยู่  แต่มิได้ยกย่องไว้วางใจ

(โหย่วเสียนเอ๋อปู้จือ      จือเสียนเอ๋อปู้ย่ง    ย่งเอ๋อปู๋เยิ่นฉีเฉวียน     ซันปู้เสียงเอี่ย)

        สวีจื่อ  ศิษย์ของปราชญ์เมิ่งจื่อ เรียนถามครูปราชญ์ว่า  "ครั้งกระนั้น  ท่านบรมครูมักจะอุทานชื่นชมน้ำบ่อย ๆ ว่า "น้ำหนอ น้ำหนอ" น้ำมีจุดเด่นให้ยึดหมายได้หรือ"   ครูปราชญ์ว่า

        "น้ำมีตาน้ำต้นกำเนิด  ล้นหลากไม่ขาดสาย ต่อเนื่องทั้งกลางวันกลางคืน เต็มแอ่งแล้วจึงเดินหน้าต่อไป เป็นกระแสลงสู่สี่คาบสมุทรใหญ่   ผู้รู้กำเนิดตนก็เป็นเช่นน้ำ มีพลังแรงส่งในตนด้วยตน  เป็นคน ไม่คำนึงถึงต้นกำเนิด (ธาตุธรรม) จะเหมือนฝนชุกเดือนเจ็ดเดือนแปด น้ำขังไปทั่วไร่นาแอ่งคู แต่พอ
เหือดแห้ง ก็ได้แต่รอฝนจากฟ้า
        ฉะนั้น  ชื่อเสียงจอมปลอมปรุงแต่ง ปราศจากตาน้ำต้น กำเนิดที่ล้นหลากคุณาประโยชน์ไม่ขาดสาย จึงเป็นเรื่องน่าละอายยิ่ง"   ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กัลยาณกษัตริย์อวี่ รังเกียจสุราที่ว่าเลิศรส เพราะจะทำให้หลงจิตติดเผลอ แต่ชอบที่จะฟังสิ่งดีมีประโยชน์  กษัตริย์ทัง ทำการด้วยหลักธรรมทางสายกลาง ใช้คนดีโดยไม่จำกัดคุณสมบัติเฉพาะ  อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง  ห่วงใยดูแลประชาราษฏร์ไม่พลาดห่าง หวังให้ธรรมะทางสายกลางซึมซับประชาราษฏร์ แต่รู้สึกเหมือนยังไม่ถึงเป้าหมาย  อริยกษัตริย์โจวอู่ฮ่วง ไม่กล้าละเลยงานอีนพึงทำ ณ บัดนี้กับที่จะต้องทำต่อไป  ความคิดดำริของปู่เจ้าโจวกง ผู้สำเร็จราชการ กอปรด้วยคุณธรรมงดงามของกัลยาณกษัตริย์ กับอริยกษัตริย์เซี่ย  ซัง  โจว  ทั้งสามสมัยรวมกันดำเนินงานที่สี่มหากษัตริย์  อวี่  ทัง  เหวิน  อู่  ทรงให้ความสำคัญ สิ่งใดที่ไม่เหมาะกับสถาณการณ์ขณะนั้น ท่านจะแแหงนหน้ามองฟ้า ครุ่นคิดพิจารณาอยู่นาน ตรึกตรองทั้งกลางวันกลางคืน หากโชคดี หากคิดได้เหมาะสม ก็จะนั่งรอจนเวลาฟ้าสางแล้วรีบมีคำสั่งดำเนินการ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

       "ราชวงศ์โจว ภายหลังเมื่อกษัตริย์โจวผิงอ๋วง โยกย้ายเมืองไปทางทิศตะวันออกแล้ว การปกครองด้วยธรรมที่ดำเนินเรื่อยมามอดดับลง กลอนกวีที่แซ่ซ้องโลกสุขสงบก็เงีบยหาย จากนั้น  ท่านบรมครูขงจื่อจึงเรียบเรียงจารึกเรื่องราวบุคคลที่มีคุณ-โทษ  จงรัก-คดโกง  ดีงาม-เลวร้าย  แห่งประวัติกาลนั้นลงในหนังสือชุนชิว  กุก่อง-กวาดเก็บ  หนังสือพงศาวดารเมืองจิ้น  ชื่อว่าเซิ่ง   พงศาวดารเมืองฉู่  ชื่อว่าเถาอู้    พงศาวดารเมืองหลู่  ชื่อว่าชุนชิว   เป็นหนังสือพงศาวดารบ้านเมืองเช่นเดียวกัน  พงศาวดารเมือง จารึกที่เมืองฉีหวนกง  กับจิ้นเหวินกง ชิงแผ่นดิน  ข้อความในหนังสือชุนชิว  ได้จากบันทึกวิจารณ์คุณ-โทษ  ของขุนนางฝ่ายข้อมูลประวัติ

        บรมครูขงจื่อว่า

        "ความหมายหลักของข้อมูลประวัติ เราได้บันทึกส่วนที่สำคัญไว้ในชุนชิวแล้ว"   

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "กัลยาณชนผู้มีคุณธรรม สืบส่งบารมีศรีสง่าแก่อนุชน อย่างน้อยก็จะดำรงต่อไปห้าสมัยจึงจะขาดสิ้นเช่นกัน  ท่านบรมครูขงจื่อ สืบส่งปรัชญางามสง่า บารมีเลิศล้ำแห่งคุณธรรม จนมาถึงข้าพเจ้านี้เพิ่งสี่สมัย  (ขงจื่อ  เจิงจื่อ  จื่อซือ  เมิ่งจื่อ)   ฉะนั้น แม้ข้าพเจ้าจะเป็นศิษย์ ที่มิได้รับโปรดอบรมจากบรมครูโดยตรง แต่ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ได้รับการสืบส่งบารมีศรีสง่าแห่งปรัชญษคุณธรรมจากท่านบรมครูแล้ว"

         ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

 " รับทรัพย์สิ่งของ ๆ เขา ตามหลักดูอย่างการรับไว้ได้ พิจารณาอีกด้านหนึ่ง น่าจะไม่รับก็ได้ รับไว้ จะเสียหายแก่ "สุจริตธรรม" 
 ให้ทรัพย์สิ่งของแก่เขา ตามหลักดูอย่างกับให้ได้ เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะไม่ให้ก็ได้ ให้ไป จะเสียหายแก่ "ทานจรรยา"   
ยอมตายเพื่อศักดิ์ศรี ตามหลักดูอย่างกับสมควรตาย แต่จะไม่ตายก็ได้ ตาย  กลับจะเสียหายต่อ "คุณธรรมแห่งความกล้า"   ฉะนั้น  ทุกอย่างจึงพึงพิจารณาทั้งสองด้านให้รอบคอบถี่ถ้วน"   รัชสมัยเซี่ย  นักฉมังธนูนามว่า เฝิงเหมิง มาศึกษาการยิงธนูจากประมุขอี้ เจ้าเมืองโหย่วฉยง ศึกษาจนประมุขหมดภูมิ ในใจ เฝิงเหมิง แอบคิดว่า นักฉมังธนูที่เหนือกว่าข้า ในโลกนี้มีแต่ประมุขอี้เท่านั้น  จึงลอบสังหารอี้เสีย เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "นี่เป็นความผิดของอี้ด้วย ที่รับศิษย์ไว้ไม่พิจารณา"   ท่านกงหมิงอี๋๋ ปราชญ์ก่อนเก่า ชาวเมืองหลู่ เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า "อี้ น่าจะผิด"   ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จะไม่ผิดได้อย่างไร เพียงแต่มีส่วนความผิดตั้งแต่เริ่มแรก มิใช่ไม่ผิด"   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        ครั้งหนึ่งเมือเจิ้ง  มอบหมายให้ จื่อจั๋วหยูจื่อ  นำทัพไปตีเมืองเอว้ย แต่กลับถูกตีพ่าย เมืองเอว้ยให้ขุนนางอวี่กงจือซือไล่กวดสังหาร   จื่อจั๋วหยูจื่อ ประหวั่นสะท้านว่า "โรคเก่าของเรากำเริบ ไม่อาจง้างศรยิงธนูสกัดศัตรู ครั้งนี้ เราคงไม่รอดแน่" จึงถามสารถีว่า "คนที่ไล่กวดเรามาคือผู้ใด" ตอบว่า "คืออวี่กงจือซือ" พอได้ยิน จื่อจั๋วหยูจื่อกลับอุทานว่า "โอ ถ้าอย่างนั้นเรารอดแล้ว"  สารถีถามว่า "ไฉนจึงว่ารอดได้ เขาฉมังธนูที่สุดในเมืองเอว้ยทีเดียว" ตอบว่า "ที่ว่ารอดได้นั้น มีเหตุผลอยู่"  อวี่กงจื่อซือ เรียนการยิงธนูจากอิ่นกงจือทา ส่วนอิ่นกงจื่อทานั้น เรียนวิชายิงธนูไปจากเรา  ศิษย์ของเราเป็นคนเที่ยงธรรม ความประพฤติดี  ฉะนั้น  คนที่เขาคบหาน่าจะเป็นผู้ประพฤติดีเช่นกัน  ไม่นาน อวี่กงจือซือ ก็ไล่กวดมาทัน พอเห็นฝ่ายตรงข้ามเฉยอยู่ไม่จับอาวุธ จึงถามว่า"ทำไมท่านไม่ยกคันธนู"   จื่อจั๋วหยูจื่อตอบว่า " วันนี้โลกเก่าของเรากำเริบ ไม่อาจจับคันธนูได้"   อวี่กงจือซือว่า "ข้าพเจ้าผู้น้อยเรียนการยิงธนูจากอิ่นกงจื่อทา เรียนมาจากท่าน ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้น้อยมิอาจทำใจใช้วิชาจากท่านกลับมาทำร้ายท่านได้ แต่วันนี้ เป็นโองการบัญชาจากประมุข ข้าพเจ้าผู้น้อยมิกล้าผิดต่องานหลวงด้วยความสัมพันธ์สวนตัว  ว่าแล้ว  อวี่กงจือซือ ก็ชักลูกธนูจากกระบอก ฟาดลงกับล้อรถให้หัวธนูหักเสีย แล้วยิงมาสี่ดอก จากนั้น
หันกลับ  (เรื่องนี้  เป็นข้อเปรียบเทียบที่ศิษย์ทรยศสังหารอาจารย์ กับศิษย์กตัญญูรู้คุณที่ตอบแทนคุณอาจารย์) 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "ไซซี หญิงงามเลื่องชื่อระบือไกล หากมีกลิ่นกายไม่สะอาด ผู้คนเข้าใกล้ก็จะต้องปิดจมูก ตรงกันข้าม แม้ผู้มีหน้าตาไม่งดงาม หากถือศีลกินเจ กายใจสะอาดบริสุทธิ์  ผู้นั้นยังจะทำหน้าที่ถวายบูชาสักการะพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบนได้"   ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ชาวโลกค้นคว้าหลักจิตญาณของสรรพชีวิต ด้วยการประเมินเหตุผลตามที่รู้เห็นมา ปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้เห็นได้ ล้วนมีรากฐานมาจากธรรมชาติ เหตุที่เราเบื่อหน่ายผู้อวดรู้อวดเก่ง เพราะพวกเขาไม่ใช้คุณประโยชน์จากธรรมชาติตามสภาพความเป็นจริง แต่จะใช้ทฟษฏีขุดเจาะ  ผู้มีปัญญาโดยแท้นั้น จะใช้ธรรมชาติเองปรับแปรธรรมชาติ เช่น กษัตริย์อวี่ จัดชลประทานใช้กำลังน้ำ ขุดลอกคลองระบายลงทะเล เช่นนี้จึงจะเป็นปัญญาที่ไม่น่าเบื่อหนาย" 

        กษัตริย์อวี่จัดชลประทาน ล้วนอาศัยพลังน้ำอันเป็นคุณสมบัติของน้ำเอง จึงประหยัดและเป็นธรรมชาติ  ผู้มีปัญญาโดยแท้ หากรู้จักอาศัยคุณสมบัติของธรรมชาติการทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยง่ายและประหยัดเช่นกัน อีกทั้งปัญญาก็จะไร้ขอบเขต  ฟ้าอวกาศสูงกว้าง ดวงดาวต่าง ๆ ไกลโพ้น แต่หากรู้จักค้นหาเหตุผล ธรรมชาติที่มา แม้วันเวลานับพันปี ก็อาจนั่งอยู่กับที่คำนวนการได้ (จิตญาณปัญญาของมนุษย์ เป็นที่สุดของความลึกล้ำธรรมชาติ) 

        กงหังจื่อ  ขุนนางเมืองฉี จัดงานศพบุตรชายของหวังฮวน มหามนตรีฝ่ายขวา แทนองค์ประมุขไปร่วมงานไว้อาลัย พอหวังฮวนย่างเข้าประตูมา หลายคนเข้ารับหน้าทักทายสนทนา บ้างนั่งประกบข้างพูดคุย มีแต่ปราชญ์เมิ่งจื่อที่มิได้เสวนา มหามนตรีรู้สึกไม่ชอบใจ กล่าวแก่ใคร ๆ ว่า "ทุกคนต่างเข้ามาพูดจา มีแต่เมิ่งจื่อที่ไม่คุยด้วย เท่ากับดูแคลนเราหวังฮวน"  ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวให้ว่า "จริยระเบียบในพระราชฐาน (ของขุนนาง) ไม่อนุญาตให้ลุกจากที่นั่งไปคุยกัน ไม่ให้ข้ามลำดับขั้นไปคารวะกัน ข้าพเจ้ารักษาระเบียบแห่งราชฐาน ท่านเข้าใจว่าข้าพเจ้าดูแคลน ไม่แปกไปหน่อยหรือ"  (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อต้องการตักเตือนมหามนตรีที่ชอบคนสอพลอประจ๋อประแจ๋ อีกทั้งตำหนิผู้มีนิสัยเช่นนี้ด้วย)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                              ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "สิ่งที่กัลยาณชนต่างจากใคร ๆ นั้น อยู่ที่รักษาน้ำใจดีงามตลอดเวลา กัลยาณชนจะมีกรุณาธรรม จริยางดงามประจำใจทุกขณะ ผู้มีจิตใจดังนี้ ด้วยกรุณา  ด้วยจริยา  ก็จะรู้รักใคร ๆ ให้เกียรติ  ผู้รู้รักใคร ๆ  ใคร ๆ ยิ่งรู้รักเขาเนานาน รู้ให้เกียรติเคารพ  ใคร ๆ ใคร ๆ ยิ่งให้เกียรติเคารพเขาเนานาน

(จวินจื่ออี่เหยินฉุนซิน   อี่หลี่ฉุนซิน
เหยินเจ่อไอ้เหยิน   ดหย่วหลี่เจ่อจิ้งเหยิน
ไอ้เหยินเจ่อ   เหยินเหิงไอ้จือ
จิ้งเหยินเจ่อ   เหยินเหิงจิ้งจือ)

        สมมุติมีคนหนึ่งอยู่ที่นี่ แสดงความหยาบคายร้ายกาจต่อเรา คนที่เป็นกัลยาณชนจะต้องย้อนมองส่องตนทันทีว่า "เราคงเสียจริยา  ขาดความกรุณาต่อเขาก่อนเป็นแน่ มิฉะนั้นเขาจะประพฤติต่อเราถึงขนาดนี้ได้อย่างไร" 

        เมื่อย้อนมองตนว่า กรุณาธรรมมิได้ขาดพร่อง ต้องย้อนมองอีกว่า จริยาขาดพร่องต่อเขาหรือไม่  เขายังคงหยาบร้ายต่อเรา กัลยาณชนก็จะต้องพิจารณาตนอีกขั้นหนึ่งว่า เราไม่จริงใจต่อเขาหรือ  พิจารณาละเอียด เห็นว่าไม่ขาดพร่องความจริงใจ แต่ไฉนเขาจึงยังหยาบร้ายต่อเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ กัลยาณชนก็ได้แต่สะท้อนใจว่า  เป็นเพราะเราขาดสติ  ขาดสติ  ขาดเหตุผล  จะแตกต่างจากเดรัจฉานอย่างไรได้ เช่นนี้เราจะตำหนิเขาได้หรือ

        ฉะนั้น  ชั่วชีวิตของกัลยาณชนจึงเหนื่อยใจ ระวังตัวกลัวพลาดผิด จึงไม่มีวันเกิดอุบัติเหตุจากการระวังตัว ที่กัลยาณชนเหนื่อยใจกังวลนั้น มีเหตุอันควรหรือ  เมื่อสำนึกว่าอริยกษัตริย์ซุ่น คือคน  เราเองก็คน  แต่พระองค์เป็นแบบอย่างแก่คนทั้งโลกเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ได้ แต่ไฉนเราจึงไม่อาจสำแดงแบบอย่างของคุณความดีเยี่ยงพระองค์ได้ เหนื่อยใจกังวลนี้ จึงเป็นกุศลเตือนตน เมื่อล่วงพ้นจนสมบูรณ์ได้ เหนื่อยใจกังวลก็พ้นไป  ดังนั้น  กัลยาณชนจึงปราศจากเภทภัย ไม่ผิดต่อจริยธรรม แต่พลันประสบภัย กัลยาณชนก็จะไม่ทุกข์ร้อน ด้วยรู้แท้ว่า ภัยนั้นมิใช่ตนเป็นต้นเหตุ

        กษัตริย์อวี่กับโฮ่วจี้ในยุคถังอวี๋  ที่โลกสงบสุขจากโจรสงคราม แต่เพื่อการชลประทาน สอนชาวบ้านทำการเกษตร ทุ่มเทกายใจไม่ว่างเว้น จนแม้แปดปีเดินผ่านหน้าบ้านตนสามครั้ง ยังรีบเร่งเลยไป

        บรมครูชื่นชมท่านมาก  เอี๋ยนหุย ศิษย์บรมครู สมัยชุนชิวยุคจลาจล ท่านพักอยู่ในตรอกซอย อาหารคือข้าวหนึ่งกระบอกกับน้ำหนึ่งจอก ทุกคนทุกข์ร้อนกับปวงภัย แต่ปราชญ์เอี๋ยนหุย ท่านสงบสบายอารมณ์ สุขุมตามปกติ   บรมครูก็ชื่นชมศิษย์เอกนี้มาก  ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  เซี่ยอวี่  โฮ่วจี้เอี๋ยนหุย  รักษาหลักธรรมเดียวกัน   อวี่เห็นว่า ถ้าผู้คนต้องทนทุกข์จมน้ำ ก็คือตัวท่านเองที่ทำให้เจาต้องทนทุกข์จมน้ำ  จี้เห็นว่า ถ้าผู้คนต้องทนทุกข์อดอยาก ก็คือ ตัวท่านเองที่ทำให้เขาต้องทนทุกข์อดอยาก  ความห่วงใยต่อประชาราษฏร์ที่ท่านมี รีบเร่งจริงจังดังนี้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                              ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        อวี่  จี้  หุย  ทั้งสามท่านนี้ หากแม้สับเปลี่ยนหน้าที่สภาพการณ์ต่อกัน หลักการของท่านยังคงจริงจัง ไม่พลิกผันตามภาวะแวดล้อม มีตัวอย่างแตกต่างให้พิจารณา  สมมุติคนในบ้านเกิดต่อสู้แย่งชิง เพื่อจะห้ามปรามเขา เรารีบร้อนผมเป็นกระเซิง ใช้สายคาดหมวกรวบผูกผมอย่างลวก ๆ ออกจากห้องมาห้ามปราม นี่ไม่เป็นไร แต่หากเพื่อนบ้านในตำบลต่อสู้แย่งชิง เราก็รีบร้อนผมเป็นกระเซิงออกจากบ้านไปห้ามปรามเช่นนี้ จะลุกลี้ลุกลนเกินควร ซึ่งถ้าจะปิดประตูไม่รู้เห็น ก็ยังทำได้ 

        ศิษย์กงตูจื่อ  เรียนถามครูปราชญ์ว่า  "ควงจัง ชาวเมืองฉีคนนี้ ทุกคนตราหน้าว่าอกตัญญู ครูท่านกลับไปมาหาสู่ อีกทั้งสุภาพต่อเขา บังอาจเรียนถามว่าเพราะเหตุใด" 
       
        ครูปราชญ์ตอบว่า 

"ชาวโลกกล่าวว่า  อกตัญญูมีห้าสถานคือ  เกียจคร้านไม่ทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่  อกตัญญูหนึ่ง   
ชอบการพนัน  นั่งเล่นหมากรุกหมดเวลา  กินเหล้าเมายา ไม่ใส่ใจเลี้ยงดูพ่อแม่  อกตัญญูสอง
ใฝ่ใจโลภอยากแต่สิ่งของเงินทอง  ดูแลแต่ลูกเมีย ไม่ใส่ใจเลี้ยงดูพ่อแม่  อกตัญญูสาม
หูตาระเริงกาม  ปล่อยใจไปกับกิเลสตัณหาราคะ  ทำให้พ่อแม่อัปยศอดสู  อกตัญญูสี่
ชอบเป็นนักเลงตีรันฟันแทง  ทำให้พ่อแม่ประหวั่นพรั่นใจ  อกตัญญูห้า

        ควงจัง  คนที่ท่านว่า มีความอกตัญญูใดในห้าสถานนี้หรือ

(ปู๋เซี่ยวเจ่ออู่   ตั้วฉีซื่อจือ   ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
ป๋ออี้เฮ่าอิ่นจิ่ว   ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
เฮ่าฮว่อไฉ   ซือซีจื่อ   ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
จ้งเอ่อมู่จืออวี้   อี่เอว๋ยฟู่หมู่ลู่   ซื่อปู๋เซี่ยวเจ่อ
เฮ่าอย่งโต้วเหิ่น   อี่เอว๋ยฟู่หมู่   อู่ปู๋เซี่ยวเจ่อ)

        ถ้าเช่นนั้น  ควงจัง ก็ถูกปรักปรำว่าอกตัญญู  แท้จริงแล้ว เขาขอให้พ่อกลับตัวเป็นสัมมาชน จึงเกิดหมางใจกัน  ควงจังไม่รู้ว่า การตักเตือนตำหนินั้นทำได้แต่ระหว่างเพื่อน  ส่วนกับพ่อของตน จะตักเตือนตำหนิไม่ได้เลย  จะกินใจกันมาก  เจตนาของควงจัง มีหรือจะไม่โอบอ้อมความเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูกไว้ แต่เป็นเพราะทำให้พ่อโกรธ ถูกขับไล่  ไม่อาจอยู่รับใช้ใกล้ชิด อีกทั้งยังถูกพรากจากลูกเมียชั่วชีวิต (โบราณ  ลูกชายไป ลูกสะใภ้ต้องอยู่)  ไม่ได้ปรนนิบัติรับใช้จากลูกเมีย ควงจังลงโทษความคิดของตัวเองที่ตักเตือนบิดา แต่หากไม่ตักเตือน เขาคิดว่า โทษบาปของเขาก็จะยิ่งหนักหนา  ควงจังเท่านั้น ที่ยอมเสียทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างนี้ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 
 
                                              4

                                     บทหลีโหลว ตอนท้าย

        ครั้งที่ปราชญ์เจิงจื่ออยู่ที่อู่เฉิง  เมืองหลู่  มีชาวเมืองเอว้ยมาปล้นสดมภ์ มีคนมาบอกเจิงจื่อว่า "พวกโจรเข้าปล้นไฉนไม่หลบไป" ก่อนที่ปราชญ์เจิงจื่อจะหลบไป ได้สั่งผู้ดูแลบ้านว่า "อย่าให้ใครเข้าพักในห้องอรรถาปรัชญา เกรงจะทำลายไม้ประดับกับเครื่องเรือน"  เมื่อพวกโจรถอยออกไป เจิงจื่อสั่งคนมาบอกผู้ดูแลบ้านว่า "รีบซ่อมบ้านโดยไวเราใกล้จะกลับมา"  เมื่อพวกโจรถอยตัวไปสิ้น เจิงจื่อกลับมา คนรอบข้างแอบวิจารณ์ว่า "ขุนนางเมืองอู่เฉิงเรานี้ ศรัทธาเคารพท่านปราชญ์ยิ่งนัก ไม่คิดว่าพอพวกโจรเข้ามา ท่านก็หลบไปก่อนใคร อย่างนี้ เกรงว่าชางบ้านจะขัดเคืองใจ พอพวกโจรถอยไป ท่านค่อยกลับมา ทำอย่างนี้เห็นทีไม่เหมาะนัก"

        เสิ่นอิ๋วสิง  ศิษย์ของท่านปราชญเจิ่งจื่อ กล่าวแก่เขาเหล่านั้นว่า "เหตุผลนั้นไม่ใช่พวกท่านจะเข้าใจได้"  แต่ก่อน  ขณะที่ท่านบรมครูพักอยู่ที่บ้านสกุลเสิ่นอิ๋วซื่อ พอดีเกิดเหตุพวกตัดไม้ป่าก่อความวุ่นวายเผาผลาญ ขณะนั้น  ศิษย์ผู้ติดตามบรมครูท่านมีเจ็ดสิบคน บรมครูนำพาทุกคนหลบภัย มิได้ร่วมขบวนการปราบจลาจล  อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ปราชญ์จื่อซือ เป็นขุนนางรับราชการอยู่เมืองเอว้ย มีชาวเมืองฉีมาปล้นสดมภ์ มีคนเตือนปราชญ์จื่อซือว่า
"พวกโจรเข้าปล้น  ไฉนไม่หลบไป"  ปราชญ์จื่อซือตอบว่า  "หากเราหลบไป ใครจะร่วมอยู่รักษาเมืองเอว้ยกับเจ้าเมืองเล่า"  ปราชญ์เมิ่งจื่อวิจารณ์เรื่องนี้ว่า "เจิงจื่อ  จื่อซือ  ล้วนรักษาทำนองคลองธรรม แต่เจิงจื่อทำหน้าที่ครูอาจารย์ของบ้านเมือง  จื่อซือ เป็นข้าราชบริพารเมืองเอว้ย  ข้าราช ฯ มีภาระรับผิดชอบต่อการรักษาบ้านเมืองด้วยชีวิต หากสับเปลี่ยนภาระหน้าที่ระหว่าง เจิงจื่อ กับจื่อซือ  เชื่อว่าการปฏิบัติก็เป็นเช่นเดียวกันนี้" 

        ฉู่จื่อ  ชาวเมืองฉี  กล่าวแก่ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ฉีอ๋วงของเรา เคยส่งคนไปแอบดูท่านบรมครูขงจื่อ ดูซิว่าท่านจะแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่อย่างไร"  ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อหัวเราะแล้วตอบว่า "ตัวตนเป็นคน  จะแตกต่างกันอย่างไร แม้อริยกษัตริย์เหยากับซุ่น ก็เป็นคนเช่นเดียวกัน" (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ  ต้องการให้ฉู่จื่อเข้าถึงความแตกต่างของจิตสำนึก จึงตอบดังนี้) 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า

        "ชาวเมืองฉีคนหนึ่ง มีภรรยากับอนุภรรยาอยู่ร่วมชายคา สามีจะออกนอกบ้านกินเหล้ายาอาหารเพียบแปล้ เมาแอ๋กลับมาทุกวัน" ภรรยาถามเขาว่าไปดื่มกินกับคนอะไร เขาตอบว่า "ล้วนร่ำรวยสูงศักดิ์"  ภรยาจึงบอกกับอนุภรรยาว่า "สามีเราเมื่อออกไป ก็จะดื่มกินเต็มคราบกลับมา ฉันถามเขาว่า "ดื่มกินกับใคร"  เขาว่า "คนร่ำรวยสูงศักดิ์" แต่ฉันไม่เคยเห็นคนร่ำรวยสูงศักดิ์มาเยี่ยมบ้านเราสักคน ฉันจะแอบตามไปดูซิว่าเขาไปที่ใด"

        วันรุ่งขึ้น  ภรรยาตื่นแต่เช้าแอบตามหลังสามีไป ตลอดทางทั้งเมือง ไม่เห็นมีใครทักทายเสวนากับสามีสักคน สุดท้าย  ตามไปจนถึงสุสานสถานนอกเมือง ที่นั่นกำลังมีคนเซ่นไหว้สุสาน  ภรรยาเห็นสามีร้องขอเหล้ายาอาหารที่เหลือจากการเซ่นไหว้ยังกินไม่พอก็ชะเง้อขวาซ้ายไปขอเขากินอีก นี่คือการหาเหล้ายาอาหารทุกวันของเขา  ภรรยากลับบ้านบอกเล่าให้อนุภรรยาฟัง  อนุภรรยาพูดอย่างช้ำใจว่า "สามีคือคนที่เราฝากชีวิตไว้  ไฉนจึงเป็นเช่นนี้"  ภรรยากับอนุภรรยาร้องไห้ตัดพ้ออยู่ด้วยกันกลางห้อง สามียังไม่รู้ความ ทำกระหยิ่มยิ้มย่องเข้าบ้านมา อีกทั้งทำเชิดหน้าท่าเขื่อง  ในสายตาของกัลยาณชน คนที่วอนขอความสงสาร วอนขอเขาให้ทาน และยังใฝ่ใจคนร่ำรวยสูงศักดิ์เช่นนี้ จะมีหรือไม่ที่เมื่อภรรยาของเขารู้เห็นความเป็นจริงแล้ว จะไม่ฟูมฟายอัปยศอดสูใจยิ่งนัก

                         ~ จบบทหลีโหลว  ตอนท้าย ~   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ศิษย์วั่นจัง ชาวเมืองฉี  เรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  "ก่อนกาล  อริยกษัตริย์ซุ่น คราดไถอยู่ในนา พลันแหงนหน้ากู่ก้อง ร้องไห้โฮต่อฟ้า อะไรทำให้พระองค์โทมนัสขนาดนั้น   ครูปราชญ์ตอบว่า  "ด้วยรักเทิดทูนบิดามารดา แต่มิอาจใกล้ชิด มิได้รับถนอมรัก เกิดความคับแค้นใจในชีวิต จึงได้ระบายต่อฟ้า" ศิษย์วั่นจังว่า  "ถ้าบิดามารดาถนอมรัก  ก็จะดีใจไม่อาจลืมเลือน แต่หากบิดามารดาเกลียดชัง แม้แต่ทุกข์ยากลำบากเพราะท่าน ก็จะแค้นเคืองมิได้ หรือว่าพระองค์จะแค้นเคืองกระนั้นหรือ"  ครูปราชญ์ว่า  "ครั้งนั้น ฉังสี  ถาม กงหมิงเกา ครูปราชญ์ของเขา ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านปราชญ์เจิงจื่อว่า ซุ่นลงไปทำนาเป็นเรื่องที่ครูท่านเคยชี้แจงให้ฟัง  แต่ส่วนที่พระองค์ร้องไห้โฮต่อฟ้า เรื่องนี้ศิษย์ยังไม่เข้าใจเลย"  กงหมิงเกาสรุปว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องที่ศิษย์จะเข้าใจได้"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กงหมิงเกาคงจะคาดเดาความรู้สึกของซุ่น จากความเป็นลูกกตัญญูของตน อันที่จริงควรจะไม่ใช่ว่า ไม่ได้รับถนอมรักจากบิดามารดา แล้วแสดงออกดังกล่าว แต่ควรจะสุขุมไม่กลัดกลุ้ม  หากเป็นครูเองก็จะหาทางออกด้วยการคาดไถเต็มกำลัง ทำหนาที่ของลูกให้ถึงที่สุดเท่านั้น
บิดามารดาไม่ถนอมรัก แต่ซุ่นมีอะไรที่ผิดต่อบิดามารดาหรือ ก็ไม่ 

        ภายหลังอริยกษัตริย์เหยารู้คุณธรรมของซุ่น จึงส่งราชบุตรทั้งเก้า พระธิดาทั้งสอง ขุนนางนับร้อย  วัว แพะ ข้าวเปลือก  เต็มยุ้งฉาง ไปปฏิการะซุ่นที่อยู่กลางนา ผู้คนมากมายได้ยินกิติศัพท์ ก็พากันมานอบน้อม  อริยกษัตริย์เหยา ยังเตรียมการจะยกแผ่นดินของบ้านเมืองทั้งหมดให้แก่ซุ่น  แต่เนื่องจากซุ่นไม่อาจเป็นที่ปิติยินดีของบิดามารดาได้ จึงยังคงเศร้าเสียใจเหมือนคนยากจน ไร้บ้านอาศัย

        การเป็นคนที่คนทั่วหน้าพากันชื่นชม เป็นสิ่งอันพึงปรารถนายิ่งของทุกคน แต่ยังมิอาจคลายทุกข์เศร้าในใจของซุ่นได้ หญิงงามเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างยินดี ได้พระธิดาทั้งสองของอริยกษัตริย์มาครอง ก็ยังมิอาจคลายทุกข์เศร้า  ความร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นสิ่งอันพึงปรารถนายิ่งของใคร ๆ บัดนี้  ซุ่นได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์อันสูงส่ง  ความทุกข์เศร้าจากความเป็นลูกกตัญญูยังคงมีอยู่  ความชื่นชม  พระธิดา  สถานภาพ  ความร่ำรวยสูงศักดิ์ ไม่อาจจะช่วยได้  มีแต่การทำให้บิดามารดาเกิดความพอใจเท่านั้น ที่จะคลายทุกข์เศร้าได้

        คนเรามักจะคิดถึงพ่อแม่ขณะเยาว์วัย เติบใหญ่ก็จะพอใจอิสตรี จะคิดคำนึงถึงหญิงงาม  เมื่อได้ภรรยา  ใจก็ฝักใฝ่ในภรรยา เมื่อเป็นขุนนาง ก็คิดถึงองค์ประมุข  แต่หากไม่เป็นที่พอพระทัย ใจก็จะรุ่มร้อนดังไฟลน  มีแต่ลูกกตัญญูเป็นที่ยิ่งเท่านั้น ที่จะดำรงความคิดถึงแต่ดั้งเดิมไว้ไม่เปลี่ยนไปจากพ่อแม่ตราบชั่วชีวิต อายุห้าสิบปีแล้วยังคงคิดถึงพ่อแม่ทุกขณะเวลา เราได้เห็นแล้วจากอริยกษัตริย์ซุ่น"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์อีกว่า ในคัมภีร์ซือจิงจารึกไว้  "ตกแต่งภรรยาจะต้องทำอย่างไร จะต้องเรียนให้บิดามารดาทราบ"  เรียนถามครูปราชญ์ว่า "จะต้องปฏิบัติดังนี้แน่หรือ ถ้าเช่นนั้น ในเมื่อผู้รักษาจริยธรรมไม่มีใครเกินซุ่นแล้ว แต่ซุ่นตกแต่งภรรยา กลับไม่เรียนให้บิดามารดาทราบ เพราะ
เหตุใด"  ครูปราชญ์ชี้แจงว่า "บิดามารดาของซุ่น โง่ดื้อถือทิฐิมาก  หากบอกก็จะไม่ได้แต่ง เท่ากับทำลายคุณสัมพันธ์ของชีวิต ยิ่งจะทำให้บิดามารดา
กล่าวโทษโกรธว่าขาดทายาท ฉะนั้น ซุ่นจึงไม่บอก"  ศิษย์วั่นจังว่า "เหตุนี้เคยได้ยินครูชี้แจงแล้ว แต่ในส่วนของกษัตริย์เหยา จะแต่งพระธิดาให้แก่ซุ่น
ไม่บอกพ่อแม่ของซุ่นนั้นด้วยเหตุใด"  ครูปราชญ์ว่า  "กษัตริย์เหยาก็รู้ความเป็นจริงว่า ถ้าบอกจะไม่ได้แต่ง"  ศิษย์วั่นจังว่า "ก่อนหน้านั้น บิดามารดาเรียก
ให้ซุ่นไปซ่อมยุ้งข้าว พอซุ่นขึ้นสูงถึงหลังคาก็ชักบันไดออก กู่โส่วผู้เป็นบิดาจุดไฟเผายุ้งข้าว จะให้ซุ่นตายทั้งเป็น เคราะห์ดีที่ซุ่นใช้หมวกปีกกว้างเป็นร่ม
ชูชีพร่อนตัวลงมา ต่อมา ใช้ซุ่นลงไปขุดดินก้นบ่อน้ำ ซุ่นรู้ทันแอบขุดทางหนี ข้างบนถมดินลงมามิดบ่อ นึกว่าซุ่นตายแน่ แต่แท้จริงรอดออกมาได้  เซี่ยง
น้องชาย เป็นลูกจากแม่เลี้ยง บอกพ่อแม่ว่า แผนสังหารนี้ ข้ามีความชอบเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้สมบัติของซุ่น วัว แพะ ให้พ่อแม่ ยุ้งข้าวให้พ่อแม่ อาวุธทุก       
อย่างเป็นของข้า เกาทัณฑ์สลักลายเป็นของข้า พี่สะใภ้คือภรรยาทั้งสองของซุ่นใ้มาจัดที่นอนปรนนิบัติข้า  เซี่ยงแบ่งสมบัติแล้ว ก็เข้าวังของซุ่นไป เห็นซุ่นนั่งดีดพิณอยู่บนเตียงตั่ง เซี่ยงเสแสร้งทักว่า "ข้าอึดอัดใจคิดถึงพี่ท่าน"  แต่สีหน้าอาการแสดงความละอาย  ซุ่นจึงพูดว่า "ข้าราชบริพารชาวบ้านขาดคนดูแล น้องชายปกครองด้วยเถิด"  ในขณะนั้น ซุ่นจะรู้ไหมว่า น้องชายได้ทำการสังหารตน  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีหรือไม่รู้ แต่ซุ่นรักน้อง เห็นน้องทุกข์จะต้องทุกข์ด้วย เห็นน้องยินดีจะยินดีด้วย"  วั่นจังว่า "ถ้าเช่นนั้น ซุ่นเสแสร้งยินดีหรือไม่"  "ไม่"  ครูอธิบายให้ศิษย์ฟัง แต่ก่อนมีคนเอาปลาเป็น ๆ มาให้จื่อฉั่น ขุนนางเมืองเจิ้ง  จื่อฉั่นให้คนดูแลสระน้ำนำปลาไปเลี้ยงไว้ แต่คนดูแลนั้น เอาปลาไปฆ่ากิน กลับมารายงานจื่อฉั่นว่า "ทีแรกปล่อยปลาลงสระ ดูมันอ่อนแรง พักหนึ่งจึงมีชีวิตชีวา จากนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว  จื่อฉั่นยินดีว่า "มันอยู่สบายแล้ว อยู่สบายแล้ว" คนดูแลสระบอกแก่ใคร ๆ ว่า ใครว่าท่านจื่อฉั่นเป็นคนเฉลียวฉลาด ข้าเอาปลามาทำอาหารกินเสียแล้ว ท่านยังพูดเรื่อยไปว่าปลาเหล่านั้นอยู่สบายแล้ว" 
     
         เรื่องนี้  จะเห็นว่า  ต่อกัลยาณชนเราใช้เรื่องราวที่สมเหตุสมผลไปหลอกให้เชื่อได้ (เพราะกัลยาณชนจะคิดซื่อ คิดตรง ไม่ระแวงสงสัยใคร)  แต่อย่าใช้เรื่องไม่สมเหตุสมผลไปปิดบังอำพลาง  เซี่ยงลูกของแม่เลี้ยง ใช้คำพูดเหมือนเคารพรักพี่ชาย ซุ่นใจซื่อไม่ถือสา แม้เพิ่งผ่านการถูกฆ่ามาเมื่อสักครู่ก็ลืมสิ้น มีแต่ความยินดีที่น้องเคารพรัก  ฉะนั้น  จึงบอกได้ว่า ซุ่นไม่ได้เสแสร้ง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :  ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                             ๕

                                   บทวั่นจัง  ตอนต้น

        ศิษย์วั่นจังเรียนถามอีกว่า "เซี่ยง  ลูกของแม่เลี้ยงที่จะฆ่าซุ่นอยู่ทุกขณะจิต ภายหลังเมื่อกษัตริย์เหยา สละราชบัลลังก์ให้ซุ่นขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ซุ่นไม่ลงอาญาฆ่าผู้ปองร้าย ได้แต่เนรเทศไปเสีย นั่นด้วยเหตุอันใด"  ครูปราชญ์ว่า "แท้จริงคือแต่งตั้งให้เซี่ยง (น้องต่างมารดา)  ไปกินเมืองเสพสุข ผู้คนกลับเข้าใจไปว่าเนรเทศ"  ศิษย์วั่นจังว่า "กษัตริย์ซุ่นเนรเทศขุนนางก้งกงไปเมืองอิว  สังหารหัวหน้าเผ่าซันเหมียวที่ซันเอว๋ย  สังหารกุ่นที่อวี่ซัน  เปิดเผยความชั่วร้ายชัดเจนเป็นที่ขอบพระคุณยินดีของทุกคน เพราะนี่คือการลงโทษทรชน  แต่เซี่ยงน้องชายนั้น เป็นคนใจดำอำมหิตที่สุดในโลก ซุ่นกลับส่งไปกินเมืองเสพสุขที่โหย่วปี้ ชาวเมืองโหย่วปี้มีโทษผิดอะไรหรือ ที่จะต้องรองรับทารุณกรรมจากเซี่ยงผู้อำมหิต  ผู้ทรงธรรมเขาปฏิบัติกันอย่างนี้หรือ ทรชนที่เป็นคนอื่นจัดการสังหาร แต่ทรชนน้องของตน กลับให้กินเมืองเสพสุข"  ครูปราชญ์ว่า "ผู้มีกรุณาธรรมจะไม่เก็บความแค้นในอดีตที่เคยมีต่อพี่น้องกัน มีแต่รักสนิท ในเมื่อให้ความรักสนิท ก็จึงให้ความรุ่งเรืองร่ำรวย แต่งตั้งให้กินเมืองโหย่วปี้ ก็เพื่อให้รุ่งเรืองร่ำรวย เมื่อตนเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่หากพี่น้องยังเป็นสามัญชนอยู่ จะนับว่ามีใจรักสนิทต่อพี่น้องได้หรือ" บังอาจเรียนถามอีกว่า "เหตุใดบางคนจึงว่าเซี่ยงถูกเนรเทศ"  ตอบว่า "เหตุที่เซี่ยงแม้จะได้ตำแหน่งกินเมือง แต่ก็ไม่อาจทำคุณประโยชน์ใดแก่บ้านเมืองได้ กษัตริย์ซุ่นจึงสั่งผู้ปกครองบ้านเมืองอีกชุดหนึ่งไปบริหาร ยกภาษี คืนเครื่องบรรณาการให้ จึงมีส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่าเนรเทศ  เซี่ยงสมบูรณ์พูนสุขอย่างนี้แล้ว ยังจะขูดรีดประชาชนไปทำไม  อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ซุ่นอยากให้เซี่ยงมาพบบ่อย ๆ จึงส่งขุนนางไปช่วย หนังสือเก่าจารึกว่า "ไม่ต้องรอวันกำหนดที่เจ้าเมืองเข้าเฝ้า อ้างงานราชการก็อนุญาตเซี่ยงแห่งเมืองโหย่วปี้ เข้าเฝ้าได้ทุกเวลา" ดังนี้"

        ศิษย์เสียนชิวเหมิง เรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า  คำโบราณกล่าวไว้ ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม เจ้าฟ้ามหากษัตริย์จะปฏิบัติด้วยขุนนางธรรมดามิได้ บิดามารดาก็ไม่ให้ปฏิบัติด้วยบุตร  ครั้งนั้น อริยกษัตริย์ซุ่นประทับนั่งบนบัลลังก์ด้านใต้ เหยาองค์อดีตกษัตริย์ นำเหล่าเจ้าเมืองเข้าเฝ้ามาทางด้านเหนือ  กู่โส่ว บิดาผู้หยาบช้าของกษัตริย์ซุ่น ก็ถือวิสาสะเข้ามาทางด้านเหนือด้วย ทำให้กษัตริย์ซุ่นอึดอัดเล็กน้อย  บรมครูวิจารณืเรื่องนี้ว่า "คุณสัมพันธ์หกหัวลง (ผิดทำนองคลองธรรม) เกิดอาการอึดอัด เป็นลางบอกเหตุร้าย ไม่ทราบว่าเรื่องนี้มีจริงหรือไม่"

        ครูปราชญ์ว่า

        "มิได้  นี่ไม่ใช่วาจาของกัลยาณชน เป็นคำพูดของชาวบ้านทางตะวันออกเมืองฉี เนื่องจากอดีตกษัตริย๋เหยาทรงพระชนมายุมาก จึงยกแผ่นดินให้ซุ่นช่วยจัดการดูแล  ในคัมภีร์ซูจิง บทเหยาเตี่ยน จารึกว่า "ซุ่นสำเร็จราชการแทนกษัตริย์เหยายี่สิบแปดปี กษัตริย์เหยาจึงถึงกาลสวรรคต เวลานั้น ประชาราษฏร์เหมือนสูญเสียบิดามารดา คร่ำครวญอาลัยไว้ทุกข์เต็มที่ถึงสามปี ในระหว่างนั้น ไม่มีการบันเทิงใด ๆ ทั้งสิ้น"  บรมครูก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "บนฟ้าไม่มีอาทิตย์สองดวง ประชาราษฏร์ไม่มีกษัตริย์สองพระองค์ (ในเวลาเดียวกัน)  ซุ่นขึ้นครองราชย์ ต่อมากษัตริย์เหยาสวรรคต ซุ่นนำเจ้าเมืองทั้งหมดไว้ทุกข์แก่กษัตริย์เหยาสามปี เช่นนี้ มิใช่มีกษัตริย์สองพระองค์ดอกหรือ

        ศิษย์เสียนชิวเหมิงกล่าวว่า "ซุ่นไม่กล้าเห็นอดีตกษัตริย์เหยาในฐานะข้าราชบริพาร เรื่องนี้  ครูท่านเคยชี้ให้เห็นแล้ว"  แต่คัมภีร์ซือจิงว่า "ใต้หล้าฟ้านี้ไม่มีสักแห่งที่ไม่ใช่แผ่นดินของกษัตริย์ ทั่วทั้งสี่คาบสมุทร ไม่มีใครบนแผ่นดินที่มิใช่ข้าราชพารของกษัตริย์  บัดนี้ ซุ่นได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแล้ว" ครูท่านว่า "บิดาของซุ่น หากไม่นับเป็นข้าราชพารของแผ่นดินแล้ว จะนับเป็นอะไร"  ตอบว่า "นั่นคือหลักใหญ่โดยรวมของคัมภีร์ แต่กรณีนี้ไม่ใช่  จารึกนั้นคือคำตัดพ้อของบริพาร เหนื่อยยากเพื่องานเมืองแต่ไม่อาจเลี้ยงดูพ่อแม่ของตน คับแค้นใจจึงว่า ทำทุกอย่างล้วนงานของบ้านเมือง เหตุใดเพียงแค่ข้ามีความสามารถ ก้เรียกใช้จนสาหัสถึงกับไม่มีโอกาสปฏิการะพ่อแม่  ฉะนั้น การตีความในคัมภีร์ซือจิง อย่าเอาเฉพาะความหมายของอักษร ทำให้เข้าใจถ้อยคำภาษอารมณ์ผิดไป อีกทั้งอย่าตีความเจตนาของผู้เขียนผิดไป พึงเอาความหมายในบทกวี ประสานความตั้งใจของผู้เขียน จึงจะเข้าถึงเจตนาจริงของผู้เขียน หากไม่คลี่คลายความหมายที่แฝงอยู่ในถ้อยคำภาษา เอาแต่อธิบายอักษร ก็จะเหมือนประโยคในบทอวิ๋นฮั่น ที่ว่า "ราชวงศ์โจวปราศจากประชาชนที่หลงเหลือ" (โจวอู๋อี๋หมิน)  นี่เป็นเพียงอารมณ์สะท้อนใจของผู้เขียน ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

Tags: