collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ : เริ่มเรื่อง  (อ่าน 67641 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "สิ่งซึ่งคนทำเองโดยมิเดยเรียนรู้ เรียกว่า "จิตภาพ"  สิ่งซึ่งคนมิคิดพิจารณา ก้เข้าใจในหลักการนั้นได้ เรียกว่า "จิตภาวะ"  ทารกน้อยไม่มีที่ไม่รักพ่อแม่ เติบใหญ่ก็ไม่มีที่ไม่รู้เคารพพี่ชาย  รักสนิทพ่อแม่ ก็คือกรุณาธรรม  เคารพพี่ชาย ก็คือมโนธรรม  ความรักสนิทและเคารพมิใช่อื่นไกล ธาตุธรรมในจิตเดิมแท้ (จิตญาณ) ของชาวโลกนั่นเอง

เหยินจือสั่วปู้เสวียเอ๋อเหนิงเจ่อ  ฉีเหลียงเหนิงเอี่ย
สั่วปู๋ลวี่เอ๋อจือเจ่อ    ฉีเหลียงจือเอี่ย
ชินชิน  เหยินเอี่ย    จิ้งจั่ง  อี้เอี่ย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ครั้งกระนั้น อริยกษัตริยฺซุ่น อยู่กับป่าเขาลำเนาไพร เป็นเพื่อนกับกวางป่า  หมูป่า  แต่น้อยนักที่มีส่วนเหมือนชาวป่า เมื่อได้ยินกุศลวาจา หรือได้เห็นกุศลกรรมอันให้คุณแก่ชาวโลกได้ ความใส่ใจที่จะดำเนินการนั้น จะเหมือนเขื่อนทะลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้เลย"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "อย่าฝืนใจทำผิดต่อมโนธรรมสำนึก อย่าโลภอยากกับสิ่งอันไม่ควรได้ เท่านี้ ก็เป็นหลักธรรมในการเป็นคนได้แล้ว"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ผู้มีคุณธรรม อีกทั้งกอปรด้วยปัญญา ศิลปะ ความปรีชาสามารถนั้น มักจะมาจากชีวิตที่ต้องระวังภัย ขุนนางที่ไม่ได้รับโปรดฯ สามัญชนที่ถูกดูแคลน  จะหวั่นเกรงภัยจากผู้คน  จึงรอบคอบระวังตัว  เขาเหล่านั้นจึงมักเป็นผู้กอปรด้วยคุณสมบัติดังกล่าว

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คนที่คิดแต่จะยกยอปอปั้นองค์ประมุข  จะมุ่งเน้นอาการยิ้มแย้มเออออ ส่วนขุนนางศรีที่คิดถึงความมั่นคงของบ้านเมือง จะเบิกบานอยู่กับความสงบสุขของบ้านเมือง  อีกพวกหนึ่งคือเมธีชนที่ไม่มียศศักดิ์ คิดแต่หลักธรรม จะพิจารณาเที่ยงแท้เสียก่อนว่า ถ้าเข้ารับตำแหน่งสำคัญ เขาจะดำเนินธรรมนำประชาได้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น จึงไปกล่อมเกลาชาวโลกให้เที่ยงธรรมร่วมกัน"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "กัลยาณชนมีสามสุข  ซึ่งแม้ได้รับมอบครอบครองแผ่นดิน ก็จะไม่ยึดหมายมั่นไว้ 

        สามสุข  นั้นคือ
1.   พ่อแม่ชราวัย  พี่น้องสามัคคีไม่มีโพยภัย
2.   แหงนหน้ามิต้องได้อายต่อฟ้า ก้มหน้าพิจารณาตน  มิต้องได้อายต่อใคร ๆ
3.   ได้ปรีชาชนคนดีมารับการอบรมอุ้มชู

สามประการนี้มีพร้อมไซร์ แม้ได้รับมอบให้ครอบครองแผ่นดิน  กัลยาณชนก็หายึดหมายในลาภยศนั้นไม่"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "กัลยาณชนก็ปรารถนาแผ่นดินกว้างใหญ่ ประชาราษฏร์มากมายเช่นกัน แต่ก็ยังมิใช่สุขจริง  ก่อตั้งใจกลางบ้านเมืองใต้หล้า ประชาร่มเย็นยั่งยืนได้ แม้จะทำให้กัลยาณชนเกิดปิติสุข แต่ภายในจิตวิสัยของกัลยาณชน ก็มิใช่อิ่มตัวอยู่กับจุดนี้  ปิติสุขนั้น แม้จะเกิดจากการได้ปรกแผ่คุณธรรมไปทั่วหล้า จิตวิสัยจากฟ้าก้หาได้อิ่มตัวจากการนี้ไม่  อีกทั้งก็มิใช่จะลดน้อยลงเมื่ออยู่กับภาวะคับแค้น  ด้วยจิตวิสัยของกัลยาณชนนั้น เป็นภาวะปิติสุขของกรุณามโนธรรม  จริยะ  ปัญญา  ประจุเต็มเป็นพื้นฐานเดิมที  ดังจะเห็นได้จากสีหน้าราศีที่สดใสอิ่มเอิบ  บุคลิกภาพ  อากัปกิริยาที่แม้มองดูจากด้านหลัง ก็ยังสุขุมงามสง่า  มิพึงต้องฟังวาจา ก็รู้ได้ว่า จิตวิสัยนั้นสูงส่งงดงามยิ่งนัก"   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        ปาชญ์เมิ่งจื่อว่า 

         "ครั้งกระนั้น  ราชบุตรป๋ออี๋ หลีกลี้ทรราชโจ้วอ๋วง ไปแฝงองค์อยู่ที่ชายทะเลเหนือเป่ยไห่  พอได้ยินข่าวว่า เหวินอ๋วงฟื้นฟูปารกปครองโดยธรรม ซาบซึ้งว่า
         " ไฉนเราจึงไม่ไปสวามิภักดิ์ต่อท่าน ได้ยินว่าท่านนั้นอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง" 
       
        สำหรับปู่เจ้าเจียงไท่กง หลีกลี้ทรราชาโจ้วอ๋วงไปแฝงองค์อยู่ที่ชายทะเลตะวันออกตงไห่ พอได้ยินว่า เหวินอ๋วงฟื้นฟูการปกครองโดยธรรม ก็ซาบซึ้งว่า  "ไฉนเราจึงไม่ไปสวามิภักดิ์ต่อท่าน ได้ยินว่า ท่านนั้นอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง"  จะเห็นได้ว่าในโลกนี้ ขอเพียงให้มีองค์ประมุขอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยเท่านั้น กัลยาณชนผู้มีธรรมก็จะเห็นองค์ประมุขเป็นผู้ที่ตนพึงเข้าสวามิภักดิ์รับใช้"

        การอุ้มชูเคารพผูสูงวัยคือ ให้ที่อยู่อาศัยในเนื้อที่  "ห้าหมู่"  ให้ได้ปลูกต้นหม่อนรายรอบรั้วบ้าน ให้ผู้หญิงเลี้ยงตัวไหม ผู้สูงวัยจะได้สวมใส่ไหมต่วน
ทุกบ้านเลี้ยงแม่ไก้ไว้ห้าตัว  แม่หมูสองตัว ให้มันเจริญพันธุ์  ผู้สูงวัยก็จะไม่ขาดอาหาร อีกทั้งได้รับไร่นาทำกินอีกหนึ่งร้อยหมู่ สำหรับชายฉกรรจ์แต่ละคน ครอบครัวที่มีสมาชิกแปดคนอยู่ร่วมกัน ก็จะมีกินอุดมสมบูรณ์

         ที่กล่าวว่า  เหวินอ๋วง (ซีป๋อ) อุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดีนัก นั้นก็คือ จัดระบบที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  สอนให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ขุนสัตว์บ้านเป็นงานประกอบ สอนลูกเมียให้รู้กตัญญู  อุ้มชูเคารพผู้สูงวัย  เพราะหากวัยห้าสิบปีขึ้นไป มิได้สวมใส่ไหมต่วนจะไม่อบอุ่น  วัยเจ็ดสิบปีขึ้นไป มิได้กินอาหารไม่เพียงพอ กายไม่อุ่นท้องไม่อิ่ม เรียกว่า หนาวจัดหิวหนัก  เหวินอ๋วงปกครอง ไม่มีผู้สูงวัยที่ต้องหนาวจัด หิวหนัก  ทุกคนจึงต่างชื่นชมพระองค์ว่า อริยราชฯผู้อุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง อีกทั้งปกครองโดยธรรม

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "สอนประชาขยันทำนา  ลดภาษี  ช่วยให้พอกินพอใช้  สอนให้กินเป็นมื้อเป็นคราว  ใช้จ่ายตามสมควร เงินทองจะมีใช้ไม่หมด ชีวิตความเป็นอยู่ ไม่อาจขาดน้ำขาดไฟ แต่หากค่ำมืดจะต้องไปเคาะประตูเพื่อนบ้านขอน้ำขอไฟ ซึ่งไม่มีที่จะไม่ให้ เพราะเหตุใด เพราะเขามีพร้อมอยู่  หากอริยบุคคลปกครองแผ่นดิน ก็จะทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารมีพร้อม เช่น น้ำ - ไฟ  เมื่อมีพร้อมไว้ ผู้คนจะไม่มีกรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันหรือ" 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ท่านบรมครูขึ้นสู่ยอดเขาตงซัน นอกเมืองหลู่ มองดูปริมณฑลของเมืองหลู่ช่างเล็กนัก  เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาไท่ซัน (ยิ่งสูงกว่า)  มองดูรอบด้านรู้สึกว่า   ใต้หล้าฟ้านี้ก็เล็กนิดเดียว  ฉะนั้น คนที่คุ้นกับมหาสมุทรใหญ่ ยากจะพูดคุยกับเขาถึงคลื่นในแม่น้ำ  ผู้ศึกษาอยู่กับอริยะ ก็ยากจะพูดคุยกับเขาด้วยเรื่องอักษรศาสตร์  มองหาจาน้ำ ให้ดูระลอกเกลียวจุดบรรจบ  ดูแสงตะวันเดือน รู้เห็นได้จากที่สาดส่องลงบนวัตถุรับแสงได้  สายน้ำ หากยังมิได้เติมเต็มแอ่งคูตามทางผ่าน ก็จะไม่ไหลต่อไป  กัลยาณชน จะมุ่งมั่นศึกษาธรรม หากไม่ค้นคว้าคำสอนของอริยะมากมาย จะเข้าไม่ถึงอริยภาวะ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คนที่ตื่นเมือไก่ขัน ขยันทำความดี นับเป็นเช่นอริยะกษัตริย์ซุ่น  ไก่ขันก่อนรุ่ง ผู้มุ่งหาผลประโยชน์จะเหมือนเต้าจื๋อ ชาวเมืองฉู่  ใคร่รู้ว่าซุ่ฯ กับ เต้าจื๋อ  ต่างกันอย่างไร พิจารณาที่ผู้หนึ่งสรรสร้างความดี ผู้หนึ่งใฝ่หาประโยชน์ตน"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "หยางจื่อทำทุกอย่างล้วนเพื่อประโยชน์ตน จะไม่ยอมถอนขนแม้เส้นเดียวเพื่อใคร  ปราชญ์ม่อจื่อ  ยึดถือความเสมอภาค รักทั่วไป ไม่แบ่งเขาเรา หากเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้ แม้ศรีษะจะถูกถูไถจนล้านโกร๋น ส้นเท้าจะเดินจนแตก ก็ยินดีที่จะทำ  ส่วนจื่อม่อเมธีเมืองหลู่ ยึดหมายครึ่งทางระหว่างหยางจื่อ กับ ม่อจื่อ ซึ่งดูอย่างกับทางสายกลาง แต่มิใช่ เพราะเป็นครึ่งทางสายตัวที่มิใช่หลักธรรมทางสายกลาง เท่ากับยึดหมายทิฐิตน เท่ากับเป็นโจรผู้ร้ายในทางสายกลาง"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คนอดอยาก อาหารอะไรก็อร่อยได้  คนคอแห้งกระหายดื่มอะไรก็ชุ่มคอ (จีเจ่อกันสือ เข่อเจ่อกันอิ่น)  นี่ มิใช่ได้รสชาติ แต่เนื่องจากหิวกระหาย  การถูกคุมคามจากความหิวกระหาย  มิใช่เพียงเกิดแก่กาย ยังเกิดแก่ใจ   คน หากไม่คุกคามใจตนให้หิวกระหาย แม้สภาพฐานะจะต่ำต้อยกว่าใคร ก็หาได้ทุกข์ร้อนไม่"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "เมธีหลิ่วเซี่ยฮุ่ย รักษาศรีสง่า แม้ใครจะเอาตำแหน่งสามมหามนตรี  (ไท่ซือ  ไท่ฟู่  ไท่เป่า)  สวมใส่ให้ ก็ไม่เปลี่ยนใจต่อสุจริตธรรม" (ปู็อี่ซันกงอี้ฉีเจี้ย)

         ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ผู้สร้างสรรค์ เปรียบดุ่งขุดบ่อ ขุดลึกเก้าวายังไม่ถึงตาน้ำ เกิดใจล้าเลิกละ  จะเหมือนทิ้งบ่อไปไม่ขุดต่อ"

        ปราชญืเมิ่งจื่อว่า   "อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เกิดจากจิตวิสัยธาตูแท้แต่เดิมทีที่มีมาจากฟ้า  อริยกษัตริย์ซังทัง กับ อู๋อ๋วง ฝึกฝนบำเพ็ญตนเพื่อปกครองแผ่นดินโดยธรรม   ส่วนเจ้าเมืองห้ามหาอำนาจ สวมหน้ากากปกครองโดยธรรม (ฉีหวนกง  ซ่งเซียงกง  จิ้นเหวินกง  ฉินมู่กงฉู่จวงอ๋วง)   แต่หากสวมหน้ากากได้ยาวนาน ไม่กลับหันหลังเป็นผู้ร้าย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจอมปลอม"   

        ศิษย์กงซุนโฉ่ว  เรียนถามครูปราชญ์ว่า

        "ท่านอิอิ่น เคยกล่าวไว้ "เราทนดูไม่ได้กับคนที่ทำผิดหลักธรรม"  ดังนี้ ท่านจึงย้ายกษัตริย์ไท่เจี่ย ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาไปอยู่เสียที่เมืองถงอี้ ครั้งนั้น ประชาราษฏร์ต่างดีใจยิ่งนัก (ที่ย้ายไปเสียได้)  ภายหลัง ไท่เจี่ยได้เก็บตัวศึกษาหลักธรรมแห่งอริยปราชญ์ กลับกลายเป็นเมธีมีคุณธรรม  อิอิ่นกลับไปเชิญไท่เจี่ยมาครองบัลลังก์อย่างเดิม ประชาราษฏร์ต่างก็ดีใจยิ่งนักอีก  ดังนี้ ทำได้หรือไม่ ถ้าขุนนางศรีจะจัดการส่งองค์ประมุขที่ขาดคุณสมบัติไปอยู่เสียที่อื่นบ้าง" (ไปขัดเกลา)

        ครูปราชญ์ว่า    "ถ้าขุนนางศรีผู้นั้น มีจิตใจเที่ยงธรรมดุจเดียวกันกับอีอิ่น ก็เท่ากับโค่นบัลลังก์"

       ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามอีกว่า   "ในคัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "กัลยาณชน แม้จะอยู่สุขสบายมิได้คราดปลูก แต่ "มิได้กินเปล่าหนอ" ประโยคนี้หมายถึงอย่างไร" 

        ครูปราชญ์ว่า   "สมมุติกัลยาณชนอยู่กับบ้านเมืองนี้ องค์ประมุขมอบหมายเรียกใช้งาน ผู้นั้นก็จะมั่นคงอุดมสมบูรณ์  มีศักดิ์ศรี  ลุกหลานได้รับการอบรมดี ทุกคนมีความกตัญญู รู้รักสามัคคี จงรักภักดี มีสัตยธรรม นี่คือคุณ  ที่กัลยาณชนผู้นั้นให้แก่บ้านเมือง (สร้างอนุชนให้ปราดเปรื่องเฟื่องธรรม)  จึงว่า "มิได้กินเปล่าหนอ"  คุณความดีนี้ ยังจะมีอะไรยิ่งใหญ่กว่าอีกหรือ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        ราชบุตรของเจ้าเมืองฉี เรียนถามครูปราชญ์ว่า   "สุภาพชนควรประพฤติตนอย่างไร"

        ครูปราชญ์ว่า    "หลักสำคัญ  จะต้องมีความมุ่งมั่นสูงส่งในตน"   "ประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร"   ตอบว่า
"ใจมีกรุณาธรรม ความคิดมีจิตสำนึกเท่านั้น
หากย่ามใจฆ่าคนบริสุทธิ์ไป  นี่คือผิดกรุณาธรรม 
หยิบฉวยสิ่งอันมิใช่ของตน    นี่คือผิดจิตสำนึก
ปกติจะต้องมีใจอย่างไรหรือ  ก็คือมีใจเมตตากรุณา
จะประพฤติอย่างไรหรือ    ก็คือถูกต้องต่อทำนองคลองธรรม   ดังนี้ สิ่งอันพึงประพฤติปฏิบัติของผู้มีคุณธรรมก็ครบถ้วนแล้ว"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ผู้คนชื่นชมเฉินจ้งจื่อ ว่า ถ้าไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว แม้จะยกเมืองฉีทั้งหมดให้ เขาก็ไม่ยอมรับ  ทุกคนเชื่อว่าเป็นความจริง แต่เมื่อได้พิจารณาพฤติกรรมแล้วได้พบว่า ความดีที่เห็นนั้น เล็กน้อยกับการเสียสละน้ำแกงผักกับข้าวหนึ่งกระบอก  ความผิดของคน ไม่มีอะไรยิ่งกว่าไม่รู้ที่ต่ำสูง  ไม่รู้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่  ประมุขกับข้าราชฯ  ได้เห็นความดีเพียงเล็กน้อยของเขา จะรวมเหมาว่า เลิศเลอทั้งหมดได้อย่างไร" 

        ศิษย์เถาอิง  เรียนถามครูปราชญ์ว่า

        "ซุ่นเป็นกษัตริย์  ส่วนเกาเอี๋ยวเป็นผู้พิพากษา สมมุติว่า กู่โส่ว บิดาของซุ่นฆ่าคน จะตัดสินอย่างไร" 
ครูปราชญ์ว่า   "จับกุมตามกฏหมายก้เท่านั้น"
เถาอิงถามว่า   "ซุ่นจะไม่ยับยั้งหรือ"
ครูปราชญ์ว่า   "ซุ่นจะยับยั้งได้อย่างไร  เกาเอี๋ยวรับอำนาจหน้าที่อยู่"
ศิษย์เถาอิงว่า   "ซุ่นจะทำอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า   "ถ้ามีเหตุดังนี้  ซุ่นจะละทิ้งลาภยศสรรเสริญเหมือนสลัดรองเท้าฟางทิ้งไป  แบกกู่โส่วหลบหนี แฝงกายใช้ชีวิตแถบชายทะเล ดูแลรับใช้บิดา มีความสุขกันตามประสาพ่อลูก โดยลืมลาภยศสรรเสริญเสียสิ้น"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางจากอำเภอฟั่นไปยังเมืองฉี  มองเห็นราชบุตรเจ้าเมืองฉีแต่ไกล ถอนใจว่า  "สถานภาพ เปลี่ยนแปลงสีหน้าท่าทีของคนได้ วัตถุเพื่อเสพสุข เปลี่ยนบุคลิกภาพของคนได้  มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็น "คน"  ของคนนั้นสำคัญทีเดียว"   ราชบุตร  เดิมทีมิใช่เป็นเช่นลูกของคนทั่วไปดอกหรือ บ้านอยู่อาศัย  รถม้าพาหนะ  เสื้อผ้าสวมใส่ ไม่ต่างจากผู้คนทั่วไป แต่บัดนี้สีหน้าท่าทีมีอำนาจน่าเกรงขาม  ก็คือสถานภาพนั่นเองที่เปลี่ยนแปลงเขาจากคนทั่วไป  อีกทั้งที่อยู่ของเขา ยังตั้งอยู่บนเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลของผู้มีสถานภาพสูงยิ่งกว่าใครในโลก  ครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองหลู่จะเสด็จเมืองซ่ง เมื่อมาถึงประตุเมืองเตี๋ยเจ๋อ ก็บัญชาเสียงดังให้เปิดประตู  ผู้รักษาการได้ยินกล่าวว่า "นี่มิใช่องค์ประมุขของเรา แต่ทำไมเสียงร้องเรียกจึงเหมือนกัน"  เหตุนี้มิใช่อื่นไกล ก็ด้วยสถานภาพของท่านเป็นใหญ่เช่นเดียวกัน   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        ปราชญืเมิ่งจื่อว่า   "เจ้าเมืองปฏิบัติตอเมธี หากเอื้อเฟื้อแต่อาหาร ไม่ถนอมรัก จะเหมือนเลี้ยงหมู แต่หากได้แต่ถนอมรัก ไม่ให้เกียรติ ก็จะเหมือนนกเลี้ยงหรือสัตว์สวยงาม  จิตใจที่ให้เกียรติ จะต้องมีอยู่ตั้งแต่ก่อนมอบสิ่งกำนัล แแต่หากให้เกียรติเฉพาะหน้า ไม่มีจริงใจ เมธากัลยาณชนนั้น จะไม่รออยู่จนถึงเวลาเสแสร้งให้เกียรติหรอก" 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คนที่ปรากฏบุคลิกภาพของคุณธรรมอยู่เสมอนั้น  คือผู้ที่ฟ้าประทานจิตวิสัยจากฟ้ามาแต่เดิมที แต่ทว่า จะมีแต่อริยชนเท่านั้น ที่
ปฏิบัติตามจิตวิสัยจากฟ้าได้อย่างแท้จริง"

สิงเซ่อ เทียนซิ่งเอี่ย เอว๋ยเซิ่งเหยิน หยันโฮ่วเขออี่เจี้ยนสิง

        พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง  ใคร่จะเปลี่ยนแบบแผน ให้ลดเวลาการไว้ทุกข์ลง  ขุนนางกงซุนโฉ่ว  ศิษย์ครูปราชญ์มาเรียนถามว่า   "ลอเวลาการไว้ทุกข์ให้เหลือหนึ่งปี น่าจะดีกว่าเลิกไว้ทุกข์เป็นแน่"

        ครูปราชญ์ว่า   "ท่านว่าไว้ทุกข์สามปี  ลดลงเหลือหนึ่งปี ก็จะเหมือนจับแขนผู้สูงวัยบิดไปข้างหลังอย่างนั้น ให้ผู้สูงวัยสิ้นโอกาสที่จะกราบทูลทัดทาน(หมดสถานภาพความภาคภูมิใจ)  ท่านจงไปทัดทานอ๋อง อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ให้ค่อย ๆ หารือกัน ซึ่งการนี้ ก็ยังจะต้องใช้หลักคุณธรรม - กตัญญู  และสมานสามัคคีพีน้องเป็นข้อคิดพิจารณา"

        ช่วงนั้น  บังเอิญมารดาของราชบุตรองค์หนึ่งถึงแก่กรรม เนื่องจากมีฐานะเป็นแค่นางใน  ราชบุตรไม่อาจไว้ทุกข์ได้อย่างเต็มที่ได้ จึงส่งพระอาจารย์ไปทูลขอพระบิดา ให้ได้ไว้ทุกข์สักสามเดือนถึงห้าเดือน  กงซุนโฉ่ว กลับมาเรียนถามครุปราชญ์อีกว่า "ให้ไว้ทุกข์ได้สามสี่เดือนนี้ จะพิจารณาในแง่ใด"

        ครูปราชญ์ว่า   "ราชบุตรอยากไว้ทุกข์เต็มสามปี  แต่ประเพณีไม่อนุญาต สถานการดังนี้ ไว้ทุกข์หนึ่งวันยังดีกว่าไม่ไว้ทุกข์เสียเลย  ครั้งก่อนที่ครูว่าก็คือ น่าจะมีใครไปทัดทาน อย่าให้องค์ประมุขลดเวลาการไว้ทุกข์ลง"

       ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "เป้าหมายบุคคลที่กัลยาณชนใคร่จะอบรมสั่งสอนนั้น มีห้าประเภทคือ

-  ประเภทปัญญาชนคนรอบรู้ หวังความสำเร็จได้ประหนึ่งฝนชโลมให้ แม้น้ำเพียงหยดเดียว ก็สมบูรณ์งามได้
-  ประเภทจิตใจซื่อตรง  พอได้รับการส่งเสริม เขาจะค่อย ๆ เพิ่มพูนคุณธรรม
-  ประเภทเชาวน์ปัญญาปราดเปรื่อง รอบรู้เรื่องทางโลก
-  ประเภทอ่อนน้อมถ่อมใจใฝ่ถาม จึงให้การชี้นำ
-  ประเภทคนดีที่ขวนขวายเก็บตกความรู้เอง 
     คนห้าประเภทนี้ กัลยาณชนยินดีจะอบรมสั่งสอน       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนต้น

        กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์ว่า   "วิถีธรรมที่กัลยาณชนดำเนินนั้น  สูงส่งงดงามยิ่งนัก แต่การจะเรียนรู้นั้น ยากเสียยิ่งกว่าปืนบันไดฟ้า  จะรู้สึกว่าไปไม่ถึงสักที ไฉนไม่ลดระดับลงบ้าง ให้ผู้ศึกษาธรรมตามทันได้ง่าย ก้จะหมั่นเพียรเจาะลึกศึกษาได้ทุกวัน"

        ครูปราชญ์ว่า   "ครูผู้สอนช่าง จะไม่เป็นเพราะผู้ฝึกงานที่โง่เขลาแล้วเปลียนแนวตีเส้นหมึกเสียใหม่"  โฮ่วอี้สอนศิษย์ จะไม่เป็นเพราะศิษย์โง่เขลาแล้ว ลดระดับแรงง้างคันธนู  กัลยาณชนสอนธรรม ก็เหมือนการสอนยิงธนู ง้างคันธนู ง้างสุดแรงจนเหมือนคันธนูจะดีดผึงออกไป  กัลยาณชนสองคน จึงกำหนดความพอดีไม่ยากไม่ง่าย คนที่เรียนได้ก็เรียนกับท่านแล้วกัน

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   

"เมื่อโลกมีธรรม (วาระประกาศธรรม)  จะพลีชีพเพื่อธรรม (ประกาศแพร่ธรรมเต็มที่) 
เมื่อโลกปราศจากธรรม (กลียุคหยุดแพร่ธรรม) พลีชีพเพื่อธรรม (รักษ์ธรรมจนตาย)
 มิเคยได้ยินว่า ผิดต่อธรรมโดยตามใจคนหนอ (ละธรรมคล้อยตามโลกียชน)

เทียนเซี่ยโหย่วเต้า  อี่เต้าซวิ่นเซิน
เทียนเซี่ยนอู๋เเต้า    อี่เซินซวิ่นเต้า
เอว้ยเอวิ๋นอี่เต้าซวิ่นฮูเหยินเจ่อเอี่ย

        ศิษย์กงตูจื่อ เรียนถามครูปราชญ์ว่า   "เถิงเกิง  อนุชาเจ้าเมืองเถิง เป็นศิษย์ท่านบรมครู บางครั้งเรียนถามอะไร ท่านบรมครูไม่ตอบ เป็นเพราะเหตุใดหรือ"

        ครูปราชญ์ว่า

        "ถือดีมีศักดิ์ศรี  ถือดีมีความรู้   ถือดีในความเป็นใหญ่  ถือดีในเกียรติภูมิที่มีต่อบ้านเมือง  หรือถือดีในความสัมพันธ์พิเศษ  ทั้งห้าประการนี้ เมื่อถาม ท่านบรมครูมักจะไม่ตอบ   เถิงเกิง มีความถือดีแล้วสองประการในห้าประการนี้"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ต่อเรื่องที่หยุดยั้งกลางคันมิได้ เขากลับหยุดยั้ง ดังนี้ ก็จะไม่มีเรื่องใดที่เขาจะไม่หยุดยั้งกลางคัน  ต่อคนที่พึงหนุนนำค้ำชูเต็มที่เขากลับเฉยเมยเลยละเช่นนี้  ก็จะไม่มีใครที่ไม่ถูกเขาเฉยเมยเลยละ แต่คนที่ตะลุยเกินไป ทำการใดก็จะถดถอยไว"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า    "ต่อมวลสัตว์  สรรพชีวิต กัลยาณชนจะถนอมรัก แต่ยังขาดกรุณาสงสารต่อมวลประชา แม้ใจจะกรุณาสงสาร แต่ยังขาดใส่ใจใกล้ชิดดั่งญาตฺสนิท ควรจะต้องใส่ใจต่อมวลประชาดุจเดียวกับญาติสนิท  จากความกรุณาใส่ใจในมวลประชา จากนั้นไปสู่สรรพชีวิต"

ซินซินเอ๋อเหยินหมิน   เหยินหมินเอ๋อไอ้อู้ 

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   
"คนฉลาดหลักแหลม ไม่มีอะไรที่ไม่รู้ แต่มักจะเร่งรัดเอาเรื่องเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ 
ผู้รู้รักใคร ๆ ไม่มีอะไรที่ไม่ถนอมรัก แต่มักจะเร่งรัดชิดใกล้เมธีคนดีเป็นสำคัญ 
อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ใจรักกว้างใหญ่แต่ยังไม่อาจปรกรักไปทั่วหล้า ก็เห็นด้วยเมธีคนดีเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ
ไม่อาจไว้ทุกข์สามปี ก็คือเร่งรัดเวลาเฉพาะหน้านี้เป็นสำคัญ 
หยิบอาหารผลีผลามใส่ปาก เร่งรัดจนมูมมาม กลับถามผู้อื่นว่า เนื้อแห้งเคี้ยวขาดไหม
 เหล่านี้คือ ไม่รู้ความสำคัญอันควรพิจารณาเร่งรัดหรือไม่"

                             ~ จบบทจิ้นซิน  ตอนต้น ~

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ขาดกรุณาธรรมหนอ พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง"   ผู้มีกรุณาธรรมจะเอาความรักที่มีต่อผู้เป็นที่รักของเขาปรกแผ่ไปสู่ผู้ที่เขาไม่รัก  แต่คนที่ขาดกรุณาธรรม กลับจะเอาใจที่ไม่รักไปสู่ผู้ที่ตนรัก" 

ศิษย์กงซุนโฉ่วจึงเรียนถามว่า  "นั่นอย่างไร"

        ครูปราชญ์ว่า   " เพื่อการแย่งชิงแผ่นดิน เหลียงฮุ่ยอ๋วงยอมทำลายเลือดเนื้อประชาชน  ส่งไปสู้รบยับเยินแล้ว ยังจะสู้ต่อไป แต่เกรงว่าจะถูกถล่มทำลายอีก จึงเกณฑ์ลูกหลานของตนไปสู้ตาย อย่างนี้เรียกว่า เอาใจที่ไม่รักไปสู่ผู้เป็นที่รัก"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ในบันทึกของหนังสือชุนชิว ไม่มีการศึกใดที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม มีบางกรณีเท่านั้นที่ดีกว่า" (ชุนชิวอู๋อี้จั้น)  อักษรเจิง   ความหมายที่ถูกต้องคือ "เจ้าแผ่นดินยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองภายใต้การปกครอง ส่วนเจ้าเมืองน้อยใหญ่ที่บาดหมางค้างใจ จะปราบปรามกันเองมิได้"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า 

 "เชื่อการบันทึกทั้งหมดในหนังสือ สู้ไม่มีหนังสือจะดีกว่า" 
(จิ้นซิ่นซู  ปู็หยูอู๋ซู) 
ในหนังสือโจวซู บทอู่เฉิง เพียงสองสามหน้าครูก็เห็นชัดในข้อขัดแย้งของเหตุผลที่แสดงไว้ 
ผู้มีกรุณาธรรม ย่อมปราศจากศัตรูคู่อริในโลก
(เหยินเหยินอู๋ตี๋อวี๋เทียนเซี่ย)
        กษัตริย์ทรงธรรมอย่างอู่อ๋วง ไปปราบปรามทรราชโจ้วอ๋วงจะเป็นไปได้หรือที่เลือดนองแผ่นดินจนท่วมสากกระเดื่องตำข้าว... (ข้อความบันทึก)

        ...เช่นมีคนกล่าวว่า   "ข้าเชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เชี่ยวชาญประจัญบาน"  นี่คือคนบาปหนา หาใช่ความภาคภูมิไม่  ขอเพียงองค์ประมุขชอบปกครองโดยธรรม โลกนี้ก็จะไม่มีอริราชศัตรูต่อกัน  ครั้งนั้น  กษัตริย์ซังทัง เคลื่อนทัพไปปราบปรามทางใต้ ชาวตี๋ทางเหนือต่างโอดครวญเรียกร้อง พอไปปราบทางตะวันออก ชาวอี๋ทางตะวันตกก็โอดร้อง ทุกคนต่างว่า "ทำไมทิ้งเราไว้ทีหลัง"  ครั้งที่โจวอู่อ๋วงปราบทรราชอินโจ้วอ๋วง มีรถศึกหุ้มหนังสัตว์เพียงสามร้อยคัน มีทหารกล้าเพียงสามพันคน  กษัตริย์อู่อ๋วงกล่าวแก่ประชาชนว่า "พวกท่านไม่ต้องกลัว เราอู่อ๋วงมาเพื่อสร้างความสงบสุข ไม่ใช่มาบีฑาประชาชน"เมื่อได้ฟังดังนั้น ทุกคนคุกเข่าฮวบลงเหมือนกำแพงทรุดโขกศรีษะกับพื้น  อักษรเจิง จึงหมายถึงอุ้มชูให้ "ตรง" ด้วย เนื่องจากทุกคนถูกประมุขโหดรังแกมามากแล้ว ต่างรอกษัตริย์เที่ยงธรรมเข้ามาอุ้มชูบ้านเมืองให้เที่ยง "ตรง"  ฉะนั้น ยังจะต้องสู้รบจนนองเลือดด้วยหรือ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ช่างไม้กับช่างสร้างรถ ได้แต่ถ่ายทอดวิธีคำนวณวัดฉากมุม แต่ไม่อาจถ่ายทอดฝีมือแยบยลให้ได้"

จื่อเจี้ยงหลุนอวี๋  เหนิงอวี้เหยินกุยจวี่  ปู้เหนิงสื่อเหยินเฉี่ยว

        เมื่อครั้งอริยกษัตริย์ซุ่น ยังเป็นสามัญชนต้องประทังชีวิตด้วยธัญพืชและผักหญ้าหยาบ ๆ  ดูอย่างกับทั้งชีวิตจะต้องคับแค้นแสนเข็ญ แต่พอเมื่อได้รับ
สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็แต่งองค์ทรงเครื่องงดงาม ได้ดีดขิมห้าสาย ยังได้พระธิดาทั้งสองของกษัตริย์เหยาเป็นชายามารับใช้ ซึ่งดูอย่างกับทั้งชีวิต
ชะตากำหนดไว้ให้ได้เสวยสุข

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "จากวันนั้นจนตลอดไป ข้าพเจ้ารู้ว่า สังหารสายเลือดเขานั้นความแค้นหนักหนา ฆ่าพ่อเขา เขาก็จะฆ่าพ่อเรา  ฆ่าพี่ชายเขา เขาก็จะฆ่าพี่ชายเรา อาฆาตเข่นฆ่ากันอย่างนี้ แม้มิได้ลงมือฆ่าพ่อ ฆ่าพี่ของตนเสียเอง แต่เมื่อเราฆ่าเขา เขาจึงมาฆ่าเรา เท่ากับแลกเปลี่ยนกันฆ่า"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ที่โบราณสร้างด่านนั้น ก็เพื่อป้องกันคนโฉดชั่ว แต่สมัยนี้สร้างด่าน ก็เพื่อเรียกเก็บภาษีผ่านด่าน คือการขูดรีดประชาชน

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ตนเองไม่อาจทำตัวให้เที่ยงธรรม ไม่อาจใช้ความเที่ยงธรรมต่อภรรยาได้ การเรียกใช้ใคร ๆ หากไม่เที่ยงธรรม ก็ไม่อาจเรียกใช้ภรรยาให้ทำตามได้"

เซินปู้สิงเต้า   ปู้สิงอวี๋ชีจื่อ 
สื่อเหยินปู้อี่เต้า   ปู้เหนิงสิงอวี๋ชีจื่อ

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คนที่รอบคอบต่อข้าวของเงินทองมาก ปีอดอยาก เขาจะไม่อดตาย  คนที่สั่งสมคุณธรรมรอบราย  กลียุคชั่วร้าย ไม่ระคายศักดิ์ศรีความดีของเขา"

โจวอวี๋ลี่เจ่อ  ซยงเหนียนปู้เหนิงชา
โจวอวี๋เต๋อเจ่อ   เสียซื่อปู้เหนิงล่วน

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า    "ผู้ใฝ่เกียรติคุณ จะยกบ้านเมืองที่มีหนึ่งพันรถม้าศึกแก่ผู้อื่นได้ ผู้ไม่อาจมองข้ามผลประโยชน์เงินทอง แม้สละข้าวชามแกงถ้วยหน้าก็เปลี่ยนสี

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "หากองค์ประมุขไม่เชื่อถือวางใจเมธีผู้มีกรุณาธรรม ในบ้านเมืองจะเหมือนปราศจากบุคลากร  หากขาดจริยธรรม ระเบียบวินัยระหว่างกันจะยุ่งเหยิง หากขาดการปกครองบ้านเมือง ไม่มีภาษีได้ใช้จ่าย บ้านเมืองจะขัดสน"

ปู๋ซิ่นเหยินเสียน  เจ๋อกว๋อคงซวี
อู๋หลี่อี้  เจ๋อซั่งเซี่ยล่วน
อู๋เจิ้งซื่อ  เจ๋อไฉย่งปู้จู๋

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ผู้ขาดกรุณาธรรมได้ครองแผ่นดินนั้น มีได้ แต่ขาดกรุณาธรรม จะได้หัวใจยินดีจากคนในแผ่นดินนั้น ยังไม่เคยมี"

ปู้เหยินเอ๋อเต๋อกั๋วเจ่อ  โหย่วจืออี่
ปู้เหยินเอ๋อเต๋อเทียนเซียเจ่อ  เอว้ยจือโหย่วเอีย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ประชาล้ำค่าด้วยเป็นฐานของบ้านเมือง บ้านเมืองรองลงมา ประมุขรองอีกกว่า  จำต้องได้หัวใจชาวประชา จึงจะครองหล้าครองแผ่นดินได้  ได้รับความชื่นชมจากเจ้าแผ่นดิน จึงจะได้เป็นเจ้าเมือง  ได้รับความชื่นชมจากเจ้าเมือง จึงจะได้เป็นขุนนาง  แต่หากเจ้าเมืองไร้ธรรม ผิดต่อเจ้าที่ ผิดต่อเจ้าธรณีประจำเมือง ก็จะต้องเพิกถอน แแต่งตั้งเจ้าเมืองคนดีเสียใหม่  ถ้าสัตว์เลี้ยงอ้วนพี ธัญญาหารหมดจดสมบูรณ์ ก็จะทำพิธีเซ่นไหว้ได้ตามกำหนด แต่หากยังเกิดอุทกภัย อัคคีภัย ก็จะต้องปรับเปลี่ยนศาลบูชาเจ้าที่ เจ้าธรณีประจำเมืองต่อไป

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "อริยะ  ก็คือครูบาอาจารย์ผู้ชี้แนะ ผู้นำทางชาวโลกได้ยาวนานนับร้อยปี (ชั่วชีวิต) อย่างท่านป๋ออี๋  กับหลิ่วเซี่ยฮุ่ย  เมื่อได้ฟังคำสอนจากท่านป๋ออี๋ คนซึ่งเดิมทีดื้อด้าน โลภหยาบ เริงอารมณ์ กลับกลายเป็สุจริตชน คนที่เดิมทีอ่อนแอ ขาดความมุ่งมั่นกำลังใจ ก็กลายเป็นเข้มแข็งมุ่งใจใฝ่ดีส่วนคนที่ได้ฟังคำสอนจากท่านหลิ่วเซี่ยฮุ่ย เคยใจแคบขูดรีดเอาเปรียบ กลับกลายเป็นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนเห็นแก่ได้ ตระหนี่ถี่เหนียว ก็กลายเป็นใจกว้างปล่อยวาง  คุณธรรมความดีของทั้งสองท่าน ระบือนานนับร้อยปีในสมัยนั้น ร้อยปีให้หลัง ใครที่ได้ยินคำสอนสืบมา ก็ไม่มีที่จะไม่ซาบซึ้ง ทะยานใจใฝ่ดี ดังนั้น ไม่ใช่อริยะ หรือจะเป็นชนใด ผู้ได้รับการอบรมกล่อมเกลาใกล้ชิดท่านในครั้งนั้นเล่าจะยิ่งกว่าเพียงไหน"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "กรุณา คือหลักธรรมที่จิตวิสัยของคนพึงรักษาไว้  จิตวิสัย กับ กรุณาธรรม  ร่วมอยู่ด้วยกันเรียกว่า "ธรรมะ"  (จิตวิสัยมีกรุณาธรรมเป็นธาตุแท้เดิมที)

เหยินเี๋อี๋ยเจ่อ  เหยินเอี่ย  เหอเอ๋อเอี๋ยนจือ  เต้าเอี่ย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "เมื่อบรมครูเดินทางกลับเมืองหลู่ ท่านกล่าวว่า "เราจะเดินทางช้า ๆ "เพราะคืนสู่มาตุภูมิ เมื่อไปเมืองฉี ท่านเร่งฝ่าฝนเดินทาง กล่าวว่า "เพราะไปยังบ้านเมืองอื่นเขา"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "บรมครูต้องประสบวิบากกรรม ถูกกักบริเวณอยู่ระหว่างเมืองเฉิน กับ เมืองไช่  เนื่องจากไม่มีสัมพันธภาพกับสองเมืองนี้ และกับเหล่าขุนนางเมืองนี้มาก่อน จึงไม่เคยไปมาหาสู่กัน" 

        ม่อจี คนเมืองเหนือ  กล่าวแก่ครูปราชญ์ว่า "ข้าพเจ้าม่อจี เป็นขี้ปากชาวบ้านนัก"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ไม่เห็นเป็นไร ผู้เจริญมักไม่เป็นที่เข้าใจของใคร ๆ อยู่แล้ว ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ครุ่นคิดทุกข์กังวลอึดอัดไม่คลาย  กลัดกลุ้มสุมใจจากคนไร้สาระ" ท่านบรมครูเคยประสบเหตุเช่นนี้  ในคัมภีร์ซือจิง จารึกอีกว่า "แม้ไม่อาจกำจัดความอึดอัดขัดเคืองได้ แต่จะไม่ทำลายความงามสง่าแห่งตน ให้ตกต่ำไปตามคำกล่าวของเขาเหล่านั้น"  อริยกษัตริย์เหวินอ๋วง ก้เคยประสบเหตุเช่นนี้เหมือนกัน

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ครั้งก่อนเก่า เมธีชนใช้หลักเหตุผลที่ท่านเข้าใจเองแล้วไปทำให้ใครๆ เข้าใจตามไปอีกด้วย คนยุคนี้ ตนเองยังมืดต่อหลักธรรม แต่จะให้ใคร ๆ เข้าใจหลักธรรม" กล่าวแก่ศิษย์เกาจื่อว่า  "ทางเล็ก ๆ บนภูเขา ป่าราบริมลำธาร เหยียบย่ำเดินผ่านนานวัน ก็จะเป็นทางเดิน แต่หากทิ้งระยะ ไม่มีผู้เหยียบย่ำเดินผ่าน หญ้าจะงอกงามไม่เป็นเส้นทางอีก  บัดนี้ จิตใจที่ไม่หมั่นศึกษาของท่าน หญ้าใกล้จะรกปกคลุมเสียแล้ว"

        ศิษย์เกาจื่อว่า   "เสียงดนตรีของกษัตริย์อวี่ ดีกว่าเสียงดนตรีของกษัตริญ์เหวินอ๋วง" 
ครูปราชญ์ถามว่า   "อะไรทำให้คิดอย่างนั้น" (โบราณกาลไกล)
เกาจื่อว่า   "เห็นเส้นสายเครื่องดนตรีของอวี่ อย่างกับถูกแมลงทำลายใกล้จะขาด แสดงว่าเครื่องดนตรีดี จึงได้ใช้กันมาก"
ครูปราชญ์ว่า   "สันนิษฐานเช่นนี้ได้อย่างไร หน้าประตูเมืองม่อเฉิง รอยล้อรถลึกมาก จะเป็นด้วยรถหนึ่งคัน แรงม้าสองตัวบดทับผ่านไป หรือรอยล้อรถลึกเพราะรถผ่านไปมามาก  เครื่องดนตรีของกษัตริย์อวี่สึกหรอมาก อาจเป็นเพราะผ่านกาลเวลานานกว่า... อย่าสันนิษฐานผิด

         เมืองฉีเกิดภัยแล้งอดอยากอีก เฉินเจินกล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ใคร่ขอให้ท่านไปขอข้าวจากอ๋อง ไปแบ่งจากเมืองถังมาสงเคราะห์ แต่คิดว่า ท่านคงทำไม่ได้อีกแล้วใช่ไหม"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "  การนี้  เหมือนขอให้ข้าพเจ้าไปรับบทแม่นางเฝิงฟู่  ซึ่งเมื่อก่อน นางเป็นยอดฝีมือใช้กำปั้นทุบหัวเสือ  ภายหลังเกิดจิตสำนึกตัดใจจะไม่ฆ่าเสียอีก  วันหนึ่งนางลงชนบท มีคนกลุ่มใหญ่ไล่กวดเสือ  เสือไปนอนพิงเชิงเขาตั้งท่าอยู่ พวกตามล่าไม่กล้าเข้าไปใกล้อีก เมื่อได้เห็นนางเฝิงฟู่มาแต่ไกล จึงพร้อมใจวิ่งมาต้อนรับ พร้อมกับให้นางจัดการกับเสือตัวนั้น  นางเฝิงฟู่พับแขนเสื้อทั้งสองข้าง กระโดดลงจากรถทันที ทุกคนดีใจมาก  แต่ คนที่มีการศึกษาในที่นั้นแอบยิ้มอยู่ในที ที่เห็นนางวางมือแล้ว ลงมืออีก" (เต้นไปตามแรงกระตุ้น)

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ปากลิ้มรส  นัยน์ตาชอบดู  หูชอบฟัง  จมูกชอบดมสิ่งอันพึงใจ  มือเท้าปล่อยสบายไม่ต้องลำบาก เป็นสัญชาตญาณของคน แต่จะเสพสุขที่ตนพึงใจได้หรือไม่ แล้วแต่ชะตากรรม  กัลยาณชน จึงเอาแต่ครองสภาพชีวิตไว้ ไม่กล้าเรียกร้อง  แต่สำหรับความรักความกรุณาระหว่างพ่อ - ลูก  คุณธรรมระหว่างขุนนาง - ประมุข  จริยระหว่างผู้ให้ - ผู้รับ  การใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกในเมธาชน  การดำเนินธรรมเพื่อปรกนำชาวโลกของอริยะ  ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชะตาชีวิตของแต่ละคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจใคร่ทำกับไม่ใคร่ทำของบุคคลด้วย  ฉะนั้น  ต่อกรุณาธรรม  มโนธรรม  จริยธรรม  ปัญญาธรรม  กัลยาณชนจึงไม่กล้ายกไปที่ชะตาชีวิต แต่จะรับผิดชอบต่อการใคร่ทำกับไม่ใคร่ทำของบุคคล"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                                               ๗ 

                                    บทจิ้นซิน   ตอนท้าย

        เฮ่าเซิงปู๋ไฮ่ ชาวเมืองฉี เรียนถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "เอวี้ยเจิ้งจื่อ เป็นคนเช่นไร"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "เป็นคนดีงาม อีกทั้งสัตย์จิง"
เฮ่าเซิงปู๋ไฮ่ ถามอีกว่า   "อย่างไรเรียกว่าดีงาม   อย่างไรเรียกว่าสัตย์จริง"
       
        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ใคร ๆ ต่างพอใจต่อพฤติกรรมของเขา เรียกว่า ดีงาม
ความดีงามของพฤติกรรมล้วนเกิดจากจิตใจ ไม่เสแสร้งเรียกว่า  สัตย์จริง
พฤติกรรมดีงามสัตย์จริงเต็มเปี่ยม เรียกว่า  งามพร้อม
เปล่งรัศมีงามพร้อม หน้าตามีราศี และยิ่งเพิ่มพูนต่อไปคือภาวะ ยิ่งใหญ่  จากภาวะยิ่งใหญ่ไปสู่ภาวะ  อริยะ  ไม่อาจประมาณความลุ่มลึกของความยิ่งใหญ่ได้  เรียกว่า ภาวะวิเศษ  นิสัยความประพฤติของเอวี้ยเจิ้งจื่อ อยู่ในระหว่างกลางของดีงามกับสัตย์จริง  อยู่ใต้ระดับ งามพร้อม  ยิ่งใหญ่  อริยะ  กับ วิเศษ"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "ผู้ปฏิเสธทฤษฏีของม่อตี๋ (ม่อจื่อ) ก็จะหันไปหาทฤษฏีของหยางจู (หยางจื่อ)  ปฏิเสธทฤษฏี  "เพื่อตน"  ของหยางจู ก็จะหันมาหาทฤษฏีของปราชญ์ (ขงจื่อ)  ในเมื่อน้อมใจมาเรียนรู้ ประตูปราชญ์ก็เปิดรับ  บัดนี้  คนที่ถกเถียงทฤษฏีของหยางจื่อ  ม่อจื่อ ว่าใดคดใดตรง เหมือนคนไล่ตามหมู ซึ่งก็ต้อนหมูกลับเข้าเล้าได้แล้ว ยังเกรงแต่ว่ามันจะหนีออกไปอีก  จึงผูกตีนของมันไว้

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "สมัยโบราณเรียกเก็บภาษี คือ เก็บด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ อีกอย่างหนึ่งคือ เก็บด้วยแรงงาน  องค์ประมุขผู้ทรงธรรม จะเรียกเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งต่อครั้ง  อีกสองอย่างนั้นผ่อนผัน  หากเรียกเก็บสองอย่างในครั้งเดียวกัน ประชาชนจะอดตาย  เรียกเก็บสามอย่างในครั้งเดียวกัน พ่อลูกก็จะต้องพลัดพรากจากกัน"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "สิ่งล้ำค่าของเจ้าเมืองมีสามประการคือ  ที่ดิน  ประชาชน  การปกครอง  แต่หากมัวหลงใหลในแก้วแหวนเงินทองหยกมณี ภัยพิบัติจะถึงตัว"

        เผินเฉิงกวา  เป็นขุนนางเมืองฉี ปราชญืเมิ่งจื่อคาดการณ์ว่าเขาจะต้องตาย ไม่นาน เขาถูกฆ่าตายจริง ๆ  ศิษย์ทั้งหลายเรียนถามว่า "ครูปราชญ์ท่านทราบได้อย่างไรว่า เขาจะถูกฆ่า"  ตอบว่า "การวางตัวของเขา ชอบสู่รู้อวดฉลาด แต่ไม่ได้เรียนรู้หลักธรรมความเป็นกัลยาณชนมาก่อนในอันที่จะต้องอุ้มชูผู้อื่น จากจุดนี้ก็มากพอแล้วที่จะทำร้ายตนเอง (แหลมคมนัก  ขาดหักง่าย) 

        เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางไปเมืองเถิง  เจ้าเมืองเถิงเชิญท่านพักอยู่ที่วังรับรอง เจ้าพนักงานที่ดูแลวัง มีรองเท้าคู่หนึ่งที่ทำใกล้จะเสร็จวางอยู่บนขอบหน้าต่าง แต่เขาหาไม่พบอยู่เป็นนาน มีคนเรียนถามปราชญืเมิ่งจื่อว่า   "อาจเป็นด้วยผู้ติดตามของท่าน เอาไปซ่อนหรือไม่"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านเห็นว่าผู้ติดตามของเรา มาที่นี่เพื่อขโมยรองเท้าอย่างนั้นหรือ"  คนผู้นั้นตอบว่า "คิดว่ามิใช่เช่นนั้น... ...แต่ ระเบียบการที่ครูปราชญ์ท่านรับศิษย์ ไม่รื้อฟื้นความผิดเก่า ไม่ปฏิเสธใคร เมื่อตั้งใจมาก็รับไว้ศึกษา" (จึงอาจมีศิษย์นิสัยเสียที่ยังไม่ปรับเปลี่ยน) 

       ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คน  ล้วนมีสิ่งต้องอดกลั้น ถึงที่สุดของความอดกลั้นได้ ก็คือใช้กรุณาธรรม
คน  ล้วนมีความหน่ายไม่อยากทำ ถึงที่สุดของความหน่าย (ภาษาสมัยคือ "เซ็ง")  ก็คือใช้มโนธรรมเช่น ยอมทนเพื่อคนอื่น
คน  แม้เติมเต็มแก่ตนด้วยใจที่ไม่มุ่งร้ายใคร ๆ ใจกรุณาจะเอื้อคุณไม่สิ้น
คน  แม้เติมเต็มจิตสำนึกไม่แอบแฝง ไม่จาบจ้วงลักขโมย มโนธรรมก็จะเอื้นคุณไม่สิ้น
คน  แม้เติมเต็มกรุณา - มโนธรรมแก่ตนไม่ขาด ไปถึงไหนก็จะไม่ทำผิดต่อมโนธรรม
ผู้รู้  หากพูดเมื่อไม่สมควรพูด คือผู้แอบแฝง  จาบจ้วง  ลักขโมญด้วยคำพูด  ถึงเวลาควรพูดแต่ไม่พูด ก็คือผู้แอบแฝง จาบจ้วง ลักขโมยด้วยคำพูดเช่นกัน"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "คำพูดเรียบง่าย ความนัยลุ่มลึก เป็นการพูดที่ดีที่สุด  มัธยัสถ์เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกว้างไกล เป็นการดูแลรักษาทางธรรมที่ดีที่สุด การพูดของกัลยาณชน ไม่ก้มสายตาหลบต่ำจนเห็นสายคาดเอวตน  อุ้มชูรักษาบ้านเมือง เริ่มจากสำรามอุ้มชูกายใจตน  คนทั่วไปชอบที่จะละทิ้งที่ดินของตน  ไม่เพาะปลูก  แต่กลับไปกำจัดหญ้าในนาของเขาอื่น ไม่สำรวจความผิดตน กลับนินทาชี้ว่าใคร ๆ เรียกร้องจากผู้อื่นหนัก เรียกร้องความรับผิดชอบจากตนเองเบา"

        ปราชญืเมิ่งจื่อว่า   "คุณธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น  เป็นด้วยจิตวิสัยจากฟ้า  ส่วนกษัตริย์ซังทัง กับ โจวอู่อ๋วง  เป็นด้วยการสำรวมบำเพ็ญจนฟื้นฟูคุณธรรมจิตวิสัยจากฟ้า  บุคลิกภาพ  กิริยาอาการทุกอย่างมีจริยระเบียบ  ก็เป็นผู้มีคุณธรรมบารมีแล้ว  อาดูรร่ำไห้แก่ผู้ตายด้วยใจจริง ก็เป็นจริยะ มิใช่ร้องไห้ให้คนที่อยู่ดู  รักษาคุณงามเรื่อยไป มิใช่เพื่อบำเหน็จรางวัล   พูดจาสัตย์จริง ก็มิใช่เพื่อแสดงว่าประพฤติดี  กัลยาณชน  ทำทุกอย่างตามจริยระเบียบไม่แอบแฝง ถวายชีวิตตามแต่ฟ้าจะลิขิต"

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า   "จะกล่อมใจผู้ยิ่งใหญ่ ให้เตรียมใจรับปรามาสไว้  ไม่ขยาดความยิ่งใหญ่โอฬาร อัครสถานสูงล้ำของเขา  (บอกตนเองว่า) วันใดเรามีอย่างนี้ได้ เราจะไม่หรูหราฟุ่มเฟือยเยี่ยงเขา   เห็นเขาเรียงรายอาหารชั้นเลิศเต็มโต๊ะใหญ่  เลี้ยงนางสนมกำนัลนับร้อย  (บอกตนเองว่า) วันใดเรามีได้ก็จะไม่สุรุ่ยสุร่ายเยี่ยงนี้  เห็นเขาควบม้าล่าสัตว์ทุกวัน รถม้าพันคันเป็นขบวนบริวาร ชีวิตเปล่าประโยชน์ วันใดเรามีอย่างนี้ได้ ก็จะไม่ทำ เรื่องที่เขาเสพสุขสนุกสนาน เราไม่ทำ  ที่จะทำก็คือ จริยระเบียบของบรรพอริยะ  เราเคารพต่อคุณธรรมวิสัยในตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่ขยาดต่อความยิ่งใหญ่ใด ๆ

Tags: