collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย  (อ่าน 57817 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
               
                              บรรพที่  ๑๐ :  อลังการ  วิสุทธิเกษตร

อธิบายบท   :

        ในบรรพที่แล้วได้กล่าวถึงประเด็นของ ผลทั้ง 4 ว่ามิอาจได้  แต่สำหรับบรรพนี้ จะเป็นการกล่าวถึงประเด็นของ  อริยมรรค  ว่ามีความมิอาจได้เช่นเดียวกัน เพราะหากว่ามีสิ่งที่จะได้ สิ่งเหล่านั้นก็ล้วนถือว่าเป็นการยึดอยู่ในลักษณะทั้งสิ้น แต่ก็อาจจะมีปุถุชนเกิดความสงสัยว่า  "ในเมื่อผลทั้ง 4 มิอาจได้ แล้วไฉนต้องมีการบัญญัตินามเป็นอักษรของผลทั้ง 4 นี้ด้วยหล่ะ ? และหากอริยมรรคมิอาจได้ แล้วไฉนยังต้องมีการได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ (คือการสงบจิตดำรงใจ ณ หลักแห่งการไร้เกิดไร้ดับนั่นเอง)ด้วยหล่ะ ?" 
        ความระแวงสงสัยของเวไนยสัตว์เหล่านี้  ล้วนเป็นอาการป่วยของเวไนยสัตว์ที่ได้เกิดขึ้นเพราะยึดในลักษณะทั้งสิ้น  เราพึงทราบว่า สำหรับนามที่ได้บัญญัติขึ้นเป็นอักษรแห่งเมธีอริยะนั้น ล้วนเป็นนามสมมุติที่ได้จากการปรุงแต่งขึ้น ด้วยเป็นเจตนาที่จะอาศัยสังขตธรรมให้ปรากฏ เพราะสำหรับตัวปรัชญาเองแล้ว จะมีจุดมุ่งหมายที่จะทลายความยึดมั่นในทุก ๆ ที่ให้หมดไป เกรงแต่เพียงเวไนยสัตว์จะกลับไปยึดติดในสังขตธรรมที่ได้สร้างขึ้นมาเสียเอง  ซึ่งหากเวไนยสัตว์สามารถเข้าใจเช่นนี้ได้แล้ว ก็จะทราบได้ว่า วิสุทธิเกษตรที่อลังการ มันมิใช่ความอลังการที่เป็นแบบลักษณะอย่างที่เวไนยสัตว์เข้าใจและเห็นกัน (ยกตัวอย่างเช่น ความสง่าโอฬารของวัดที่ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตาอย่างที่เวไนยสัตว์เข้าใจ)  หากแต่เป็นสัจจะเกษตรแท้ืที่ไร้รูปลักษณ์ ซึ่งก็คือธรรมกาย อันไม่มีรูปพรรณที่จะจับต้อง ทั้งไม่มีรูปลักษณ์ที่จักจับมอง ซึ่งก็คือความสง่าอลังการของธรรมญาณนั่งเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
               
                              บรรพที่  ๑๐ :  อลังการ  วิสุทธิเกษตร

เนื้อหา   : 

        พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่สุภูติว่า  "ในความหมายนี้เป็นเช่นไร !  ตถาคตประทับอยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้า เมื่อครั้งอดีต มีธรรมที่ได้อันใดฤา ?"   "ไม่แล  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ตถาคตประทับอยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้า ความจริงไร้ธรรมที่ได้"  "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่าไร ?  พระโพธิสัตว์ได้ตบแต่งอลังการพุทธเกษตรหรือไม่ ?"  "ไม่แล  ข้าแต่พระสุคต !    เพราะเหตุใด ?  อันว่าตบแต่งอลังการพุทธเกษตร คือมิใช่อลังการ เป็นเพียงนามว่าอลังการ"   "เพราะฉะนั้นแล  สุภูติ !  ปวงพระโพธิสัตว์  มหาสัตว์  พึงยังจิตให้บริสุทธิ์สะอาดเช่นนี้ ไม่ควรดำรงรูปบังเกิดจิต  ไม่ควรดำรงเสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสธรรมารมณ์บังเกิดจิต   แต่ควรที่จะไร้สิ่งดำรง และบังเกิดจิตต่างหาก  สุภูติ !  อุปมาว่ามีบุคคล กายดุจเจ้าขุนเขาแห่งพระสุเมรุ   ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  กายนี้ถือว่ามโหฬารหรือไม่ ?"   สุภูติทูลตอบว่า  "ช่างมโหฬารยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?   พระพุทธองค์ตรัสว่ามิใช่กาย  เป็นเพียงนามว่ากายมโหฬาร"             

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                   วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
               
                              บรรพที่  ๑๐ :  อลังการ  วิสุทธิเกษตร

ความสังเขป   : 

        สำหรับเหตุปัจจัยของบรรพนี้ ก็เนื่องด้วยพระพุทธองค์ทรงเกรงว่า จิตแห่งการได้ ของเหล่าพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ละออกไปสิ้น จนเป็นเหตุให้ดำรงอยู่ในความมีธรรมและไม่สามารถบังเกิดจิตอันวิสุทธิ์ขึ้นได้  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงตั้งคำถามว่า  "ในอดีตสมัยที่พระตถาคตประทับอยู่ที่สำนักพระทีปังกร - พุทธเจ้านั้น แม้นว่าได้บรรลุในผลแห่งอนุตตรโพธิก็จริง แต่กระนั้นมิทราบว่าได้รับธรรมจากพระอาจารย์ทีปังกรพระพุทธเจ้าหรือไม่แล ?"  สำหรับคำถามในข้อนี้  ก็เป็นคำถามที่พระพุทธองค์มีพระเจตนาจะนำเรื่องในอดีตมาพิสูจน์ตัวพระตถาคตว่า สำหรับธรรมนั้น โดยแท้แล้วพระองค์มิได้รับเลย นั่นก็เป็นเพราะในสมัยนั้น มาตรว่าพระตถาคตจะได้สดับธรรมจากพระอาจารย์ทีปังกรพุทะเจ้าก็จริง แต่ก็เป็นเพียงการชี้แนะเท่านั้น ซึ่งในความจริงนั้นเป็นการรู้แจ้งด้วยตน บำเพ็ญด้วยตน โดยที่ไม่มีการได้รับในธรรมเลย  สำหรับการตั้งข้อปุจฉาของพระพุทธองค์ในข้อนี้นั้น ก็เป็นเพราะพระองค์มีพระประสงค์ชี้ให้เห็นว่า "ในธรรมนั้นไม่มีอันได้รับเลย"  ซึ่งจุดนี้ก็คือการว่างในธรรมลักษณะ ด้วยเหตุฉะนี้ พระองค์จึงทรงถามสุภูติต่อจากนั้นว่า "พระโพธิสัตว์ได้มีการตบแต่งอลังการพุทธเกษตรหรือไม่แล ?"   สำหรับปุจฉาธรรมในข้อนี้ก็เป็นคำถามที่พระองค์มีพระประสงค์ชี้ให้เห็นถึงความหมายของอลังการมิใช่อลังการ  ซึ่งก็คือการว่างในพุทธลักษณะนั่นเอง และด้วยการว่างทั้งพุทธะและธรรมฉันนี้ จึงทำให้เกิดจิตบริสุทธิ์ได้ โดยพระพุทะองค์ได้ตรัสต่อจากนั้นว่า "พึงยังจิตให้บริสุทธิ์สะอาดเช่นนี้"  ซึ่งการเกิดจิตสะอาดบริสุทธิ์เช่นนี้ ก็คือการเกิดโพธิจิตนั่นเอง แต่เราก็ควรตระหนักเป็นสำคัญว่า อันโพธิสัทธรรมนั้น แท้จริงแล้วมิอาจได้ มิอาจกล่าว  ดังนั้น  สำหรับผุ้ที่เกิดโพธิจิตจะเป็นเพียงแค่บังเกิดจิตสะอาดอันบริสุทธิ์โดยตรงเท่านั้น เพราะความจริงใจเดิมของเราก็สะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว  ฉะนั้น  จึงไม่ถือว่าเป็นการเบ่งบานโพธิจิตหรอก เป็นเพียงแค่การเกิดโดยตรงเท่านั้นเอง
        การมีจิตอันสงบบริสุทธิ์เราจะเรียกว่าเกิด ส่วนการมีจิตอายตนะภายนอกทั้ง 6 เราก็เรียกว่าเกิด  ดังนั้นพึงเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นใจจริงและใจอกุศล ก็ยังเป็นใจดวงนี้ที่เกิดขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่โพธิสัทธรรมจะมาทำการเปิดแจ้งเราได้ ยิ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูป รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัสธรรมารมณ์จะมาทำการมอมหลงเราได้เลย   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงตรงนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อันพุทธมรรคนั้น ควรที่จะไปหาจากใจเวไนยสัตว์ แต่พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยเวไนยชนว่าจะมองพุทธธรรมไกลเสียจนเกินเอื้อม ดังนั้น พระองค์จึงทรงนำกายอันมโหฬารมาทำการเปรียบเทียบให้รู้ว่า มาตรว่าเขาพระสุเมรุจะมีความไพศาลเพียงใด แต่มันก็ยังเป็นเพียงความใหญ่โตแบบรูปลักษณะอยู่นั่นเอง และหากได้เทียบกับความว่างเปล่าในทศทิศแล้ว ก็จะทราบได้ว่า ความมโหฬารของเขาพระสุเมรุนั้น แท้จริงแล้วไม่มโหฬารเลย และสำหรับมูลเหตุที่พระองค์ทรงทำการเปรียบเทียบเช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้เวไนยสัตว์ได้เห็นในพุทธธรรม โดยให้เห็นแต่เพียงหนึ่งใจเท่านั้น  อนึ่ง เมื่อยามที่เวไนยสัตว์สามารถเกิดความวิสุทธิ์จนถึงที่สุดแล้ว เวลานั้นจึงจะถือได้ว่าเขาได้เริ่มเข้าสู่โพธิสมาธิแล้วนั่นเอง   แต่ก็อาจจะมีผู้ถามว่า "ในบรรพที่ 7  พระตถาคตมีพระประสงค์จะีชี้ให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของผลและธรรมว่าควรห่างลักษณะ ซึ่งพระองค์ก็ทรงถามแล้วมิใช่หรือว่า "พระตถาคตได้รับอนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา?"  พระตถาคตได้มีการเทศธรรมฤา ?"  ในเมื่อพระองค์ทรงถามเช่นนี้แล้ว ไฉนจึงทรงถามซ้ำในบรรพนี้อีกหละว่า  "ในธรรมนั้นมีการได้รับหรือไม่ ?"  สำหรับจุดนี้เราควรที่จะตระหนักให้ดีว่า เจตนาคำถามของบรรพก่อนคือ "แม้แต่ธรรมยังควรละ แล้วอธรรมยังจะเป็นไยไปได้ "  ซึ่งเจตนานี้ ก็เป็นเจตนาที่ต้องการให้เราเข้าใจการโปรดสัตว์ให้ห่างลักษณะ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คำถามของบรรพก่อน จะเป็นการถามในเรื่องของการ ได้หรือไม่ได้ในพุทะผล แต่สำหรับคำถามของบรรพนี้ จะเป็นคำถามที่ต้องการชี้แจงในเรื่องของพุทธธรรมว่า มิใช่พุทธธรรม ทั้งนี้ก็เพราะต้องการให้เกิดความเข้าใจการดำรงจิตโดยไร้ดำรงนั่นเอง หรือก็คือ คำถามสำหรับบรรพนี้ก็จะเป็นคำถามที่ว่าด้วย ในเหตุแห่งการเป็นพระพุทธนั้น มีการได้รับธรรมนั่นเอง    โดยสรุปแล้วก็คือ ในบรรพก่อนจะเป็นการถามในเรื่องของการบรรลุโพธิด้วยตนในพุทธะผล แต่บรรพนี้จะเป็นการถามในเรื่องของการแสวงหาโพะฺในพุทธเหตุ ซึ่งถือว่าเป็นความหมายที่แตกต่างกัน โดยมิใช่การถามคำถามที่ซ้ำกันแต่อย่างใดเลย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
               
                              บรรพที่  ๑๐ :  อลังการ  วิสุทธิเกษตร

อธิบายพระสูตร   :

        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถาม  "สุภูติ  !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ?  ในอดีต  สมัยที่พระตถาคตประทับอยู่ ณ  สำนักพระทีปังกรพุทะเจ้านั้น ได้รับธรรมอันใดหรือไม่ ?"  สุภูติทูลตอบว่า "ข้าแต่พระสุคต  !  ในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ ณ สำนักพระทีปังกรพุทะเจ้านั้น เป็นการบำเพ็ญเอง  รู้แจ้งเอง  โดยในธรรมนั้น มิได้รับอันใดเลย"  พระพุทธองค์ทรงถามต่อไปว่า  "สุภูติ !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ? สำหรับพระโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างวาสนาปลูกบุญสัมพันธ์ในพุทธเกษตร มิทราบว่าพุทธเกษตรอลังการหรือไม่ ?"  สุภูติทูลตอบว่า "มิอลังการเลย สำหรับสาเหตุนั้น ก็เป็นเพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสว่าอลังการ จะมิใช่อลังการแบบรูปลักษณ์ที่เป็นการนำทองคำปูพื้น หรือเป็นการนำสัปตรัตนะมาตบแต่งเป็นขั้นชั้นต่าง ๆ เหล่านี้เลย โดยมันเป็นเพียงแค่นามอลังการเท่านั้น"  พระพุทธองค์ตรัสว่า"สภูติ !  ฉะนี้แล้ว พระโพธิสัตว์  มหาสัตว์ ควรที่จะใจเดียวไม่ฟุ้งซ่านเช่นนี้มาบังเกิดจิตอันวิสุทธิ์ คือ ไม่ควรดำรง รูป รส กล่น เสียง สัมผัสธรรมารมณ์บังเกิดจิต มิเช่นนั้น ก็จะทำให้ยึดอยู่ในอายตนะภายนอกทั้ง 6  กระทั่งมีความฟุ้งซ่านอกุศลจิตเกิดวนเวียนไม่รู้จบ หากได้เป็นเช่นนี้แล้ว ความวิสุทธิ์จะสามารถเกิดขึ้นอย่างไรได้ ?  เพราะความจริงแห่งจิตเดิมอันวิสุทธิ์นั้น จะเป็นความแยบยลที่สงบศานติ โดยแต่เดิมก็ไร้สิ่งดำรงอยู่แล้ว ซึ่งจุดนี้จะสามารถอุปมาได้ดั่งวัตถุเคลื่อนมาก็เกิดภาพ  เมื่อยามวัตถุเคลื่อนจากไปภาพก็หาย (ว่าง)  ดังนั้น  จึงควรที่จะไร้สิ่งดำรง เช่นนี้ก็จะมีความวิสุทธิ์อย่างที่สุดได้"    พระพุทธองค์ทรงถามต่อไปว่า  "สุภูติ !  อุปมาดั่งคนที่ร่างใหญ่โตเท่าเขาพระสุเมรุ เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ?  กายนี้ถือว่ามโหฬารหรือไม่แล ?" สุภูติทูลตอบว่า "ข้าแต่พระสุคต !  ช่างมโหฬารยิ่งนัก สำหรับสาเหตุนั้นก็คือแม้กายนี้จะมโหฬารปานใด แต่อย่างไรก็ยังคงมีการเกิดการดับ ซึ่งที่สุดแล้วก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอยู่ดี  ฉะนั้น   จึงไม่ควรเรียกว่ากายมโหฬาร  แต่สำหรับคำสอนที่พระผู้มีพระภาคได้เคยตรัสในเรื่องธรรมกายมิใช่ลักษณะนั้น นั่นจึงจะเป็นใจเดิมอันวิสุทธิ์ และเป็นธรรมกายที่แท้จริง ซึ่งใจเช่นนี้ที่ได้กล่าว จึงจะเป็นใจที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งความว่างเปล่าในสากล และแผ่ขยายไปทั่วทั้งธรรมธาตุโดยที่ไร้ลักษณะ ไร้ดำรง  ซึ่งในฉับพลันก็สามารถเข้าสู่ความประภัสสรที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ขุนเขาพระสุเมรุที่มีความใหญ่โตแบบจำกัดฉันนั้นจะมาเทียบเคียงกับความมโหฬารฉันนี้อย่างไรได้ ?" และเช่นนี้นี่เอง จึงจะเรียกว่ากายมโหฬารจริง "

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                 วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                            บรรพที่  ๑๑ :  อสังขตะ  บุญเหลือคณนา

อธิบายบท  :

        สำหรับการบริจาคทานทั้งปวงที่ได้กระทำโดยสังขตธรรม (สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยปรุงแต่ง) นั้น อานิสงส์บุญที่ได้รับย่อมมีวันสิ้นสุดได้ แต่ถ้าหากได้บริจาคทานโดยอสังขตธรรม (สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) แล้ว อานิสงส์บุญที่ได้รับก็จะเป็นบุญเหลือคณานับและไร้ขอบเขต  ทั้งอสังขตะและสังขตะ นี้ล้วนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม  โดยอสังขตะไม่อาจห่างจากสังขตะ  หากห่างจากสังขตะไป อสังขตะก็จะไม่ปรากฏ ซึ่งโดยความจริงแล้ว สังขตะจะอยู่ที่อสังขตะ  ส่วนอสังขตะที่แท้จริงก็คือการไม่ดำรงในสังขตะ ฉะนั้น มหาสัตว์ก็คือผู้ที่ไม่ดำรงแต่ในอสังขตะ และไม่สิ้นจากสังขตะ เช่นนี้ จึงจะสามารถแสดงบุญอันเหลือคณาแห่งอสังขตะให้ปรากฏได้  อะไรคือการไม่ดำรงในอสังขตะ ?  ก็คือยามที่พระโพธิสัตว์ได้ส่องพินิจในสังขตธรรรมทั้งปวง จะเป็นดั่งความฝันมายาฟองน้ำรูปเงา  ดั่งนิสาชลและอสนีมาบำเพ็ญในอสังขตธรม กล่าวคือ หลังจากที่พระโพธิสัตว์ได้สดับธรรมจนเกิดปัญญาแล้ว พระ
โพธิสัตว์์จะผันปัญญาสู่ความกรุณา โดยจะไม่ยอมหยุดยึดแต่ความสงบแห่งอสังขตะและบังเกิดมหากรุณาจิตเพื่อโปรดสรรพสัตว์นานา ด้วยการดำเนินใช้พร้อมทั้งปัญญาและกรุณา และอาศัยบารมี 6 ออกกล่อมเกลาเวไนยสัตว์ ด้วยมาตรว่าจะได้โปรดเหล่าเวไนยสัตว์มากมายอย่างเหลือคณานับก็จริงแต่พระโพธิสัตว์ก็ไม่มีจิตใจที่คิดว่าสามารถช่วยได้ และ ผู้ที่ได้ช่วย เหลืออยู่เลย นี่คือการไม่ดำรงในอสังขตะและเจริญในพระโพธิสัตว์มรรคนั่นเอง  อะไรคือการไม่สิ้นจากสังขตะ ?  ก็คือเมื่อยามที่พระโพธิสัตว์ได้ทำลายสิ้นแล้วซึ่งความสับสนทางโลกีย์ และแม้นจะได้เห็นเวไนยสัตว์ อันเหลือคณานับก็ตาม แต่พระโพธิสัตว์ก็จะไม่มีความคิดว่ายากจะฉุดช่วย หรือจิตใจอันแหนนเหนื่อยหน่ายล้าหลงเหลืออยู่เลย  โดยพระโพธิสัตว์ยังคลุกคลีปะปนอยู่ในโลกโลกีย์และแสดงนิรมานกายอันไพศาลมาเจริญในกิจแห่งการฉุดช่วยเวไนยสัตว์อย่างเป็นนิตย์  ซึ่งหากเวไนยสัตว์ยังฉุดช่วยไม่สิ้น แรงปณิทานก็จะไม่มีวันสุด นี่ก็คือการไม่สิ้นจากสังขตะ และเจริญในพระโพธิสัตว์มรรคนั่นเองแล
        สรุปแล้วก็คือ  อยู่ในสังขตะแต่ไม่ดำรงในสังขตะ  อยู่ในอสังขตะ แต่แท้แล้วก็มิใช่ไร้สังขตะ นั่นก็เป็นเพราะพระโพธิสัตว์สามารถเจริญอสังขตะให้เกิดอานุภาพขึ้นนั่นเอง ดังนั้นจึงกล่าวว่า หลักแห่งอสังขตะนั้น ช่างเป็นบุญอันไร้ขอบเขตจำกัดและเหนือคณานับแล     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                   วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                            บรรพที่  ๑๑ :  อสังขตะ  บุญเหลือคณนา

เนื้อหา   : 

        สุภูติ !  อุปมาดั่งจำนวนเม็ดทรายในคงคานที จำนวนเม็ดทรายเหล่านี้ ให้เปรียบเป็นแม่น้ำคงคาอีกที ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  เหล่าเม็ดทรายในคงคานทีนี้ นับว่ามากมายหรือไม่ ?"  สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !   เพียงแค่คงคานทีเหล่านี้ ก็เป็นจำนวนที่มิอาจนับได้แล้ว จึงนับประสาอะไรกับเม็ดทรายที่ได้เทียบเท่า"  "สุภูติ ! วันนี้เราขอกล่าวความจริงต่อเธอ หากมีกุลบุตร  กุลธิดา  อาศัยสัปตรัตนะปูเต็มจำนวนมหาตรสหัสโลกธาตุ อันได้มีจำนวนเทียบเท่าเม็ดทรายในคงคานทีที่เปรียบดังกล่าวเพื่อใช้บริจาคทาน  บุคคลนี้จะได้รับบุญมากมายหรือไม่ ?"  สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !" พระพุทธองค์ตรัสแก่สุภูติว่า "หากกุลบุตร  กุลธิดา  รับสนองปฏิบัติตามพระสูตรนี้ แม้ที่สุดจะเป็นเพียงคำโศลก 4 บาท และประกาศกล่าวแก่บุคคลอื่น  บุญวาสนานี้ ยังจะเหนือยิ่งกว่าบุญวาสนาอย่างแรก"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                        บรรพที่  ๑๑ :  อสังขตะ  บุญเหลือคณนา

 ความสังเขป  : 

        ในบรรพนี้ พระตถาคตทรงอยู่บนหลักแห่งมนุษยฐานเทศนาธรรม ซึ่งก็เป็นครั้งที่สองของการนำบุญและปัญญามาเปรียบประลองกัน โดยพระองค์ทรงเริ่มจากการเปรียบเทียบในเรื่องของบุญ จากนั้นค่อย ๆ นำเข้าสู่การทำลายลักษณะ และ ณ จุดนี้นี่เอง  ที่ได้เป็นจุดที่แสดงออกถึงอุตสาหะในการบ่มเพาะสั่งสอนอย่างอดทนของพระองค์ กล่าวคือ  ในบรรพทีี่ 8 ของพระสูตรก้ได้กล่าวถึงเรืองของการบริจาคทาน โดยได้การนำสัปตรัตนะทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุมาทำการอุปมา ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมากมายของการบริจาคทานแบบติดในลักษณะแล้วครั้งหนึ่ง แต่สำหรับการบริจาคทานที่ได้กล่าวถึงในบรรพนี้ จะเป็นการบริจาคทานโดยนำหนึ่งเม็ดทรายมาเปรียบให้เป็นหนึ่งโลกธาตุ และใช้สัปตรัตนะที่ปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุอันมีจำนวนเท่าเม็ดทรายในคงคานทีเหล่านี้มาบริจาคทาน ด้วยการบริจาคทานเช่นนี้ ยังจะเป็นการบริจาคทานที่มีความมหาศาลมากยิ่งกว่าการบริจาคทานในบรรพที่ 8 เป็นหมื่น ๆ เท่าเสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การบริจาคทานโดยยึดในลักษณะเช่นนี้จะได้รับบุญวาสนามากมายก็จริง แต่บุญวาสนาเช่นนี้ก็ยังจะเป็นบุญที่ติดอยู่ในลักษณะ ซึ่งก็ยังมิใช่บุญวาสนาแห่งอานุภาพของธรรมญาณอยู่ดี ในทางกลับกัน หากเขาได้ลงมือสนองปฏิบัติในพระสูตรนี้แล้ว เขาก็จะสามารถแจ่มแจ้งในอานุภาพแห่งธรรมญาณได้   ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงเรียกร้องกุลบุตร กุลธิดา ได้สนองปฏิบัติตามพระสูตรนี้เข้าไปสู่ใจจนตราบนานแสนนาน หรือกระทำโดยนำโศลก 4 บาทมากล่าวสาธยายให้ผู้อื่นได้ฟังและด้วยการที่เขาได้รู้แจ้ง และให้ผู้อื่นได้รู้แจ้ง อีกทั้งยังประโยชน์ต่อตนเองปและต่อผู้อื่นเช่นนี้นั้น จึงจะถือว่าเป็นการได้รับบุญวาสนาแห่งธรรมญาณ อันเป็นบุญวาสนาที่มากมายมหาศาลยิ่งกว่าการนำสัปตรัตนะปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุที่มีจำนวนเท่าเม็ดทรายในคงคานทีมาบริจาคทานเสียอีก จึงรู้ได้ว่า ถึงแม้บุญวาสนาที่ได้จากกการบริจาคทานโดยยึดลักษณะจะมีมากมายก็จริง แต่บุญวาสนาเช่นนี้ก็ยังคงมีความจำกัดอยู่ดี ส่วนในด้านธรรมเป็นทานถึงแม้จะมีบุญวาสนาน้อย แต่ก็กลับเป็นจำนวนที่เหลือคณานับอย่างมิอาจประมาณได้ ฝ่ายหนึ่งด้อยแต่อีกฝ่านหนึ่งเด่น แม้ไม่อธิบายก็สามารถที่จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนได้อยู่แล้ว
อนึ่ง  การสนองปฏิบัติในพระสูตรก็จำเป็นต้องมีความแจ่มแจ้งเข้าใจต่อสัจธรรมประกอบด้วย หากมิเช่นนั้น ก็จะง่ายแก่การหลงผิดและยึดติดในลักษณะเอาได้ กล่าวคือ  ในอดีตได้มีคน ๆ หนึ่ง เดิมทีก็เป็นคนที่มีความตระหนี่เป็นอย่างมาก แต่เพราะเขาต้องการได้บุญวาสนา ดังนั้นเขาจึงเกิดความมานะต่อการบริจาคทานมากยิ่งขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง อันเป็นเวลาหลังจากที่เขาได้อ่านวัชรสูตรฉบับนี้แล้ว เขาก็ได้สรุปและคิดไปเองว่า "ในพระสูตรนี้ได้กล่าวอย่างชัดแจนแล้วคือ  หากกุลบุตร  กุลธิดา ได้สนองในพระสูตรนี้ แม้จะเป็นเพียงแค่โศลก 4 บาท มาทำการกล่าวเปิดเผยแก่ผู้คนด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ก็จะเป็นบุญที่มากยิ่งกว่าจากบริจาคทาน จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้อุปมาก่อนหน้านี้อย่างมากมาย"  ดังนั้นเขาจึงคิดว่า "ที่แท้การทำบุญก็ง่ายดายเพียงนี้เอง   ก็แค่ทำการสนองในโศลก 4 บาทเท่านั้นก็เพียงพอ ฉะนั้น  ฉันไยต้องไปเหนื่อยยากกับการบริจาคทานอักทำไมหละ ?"  และนับแต่นั้นมา เขาจึงไม่ยอมที่จะบริจาคทานเลยแม้แต่แดงเดียว และนี่แหละ คือความยึดติดที่ยังไม่เข้าใจในสุจธรรมแท้และเกิดความเข้าใจที่บิดเบือนไปนั่นเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                          บรรพที่  ๑๑ :  อสังขตะ  บุญเหลือคณนา

อธิบายพระสูตร   :

        พระพุทะเจ้าตรัสถามว่า  "สุภูติ !  จำนวนเม็ดทรายอันมหาศาลในคงคานทีนี้ หากจะเปรียบเม็ดทรายแต่ละเม็ดในคงคานทีอีกทีหนึ่ง เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ?  จำนวนเม็ดทรายทั้งหมดที่ได้จากการเปรียบนั้นมีจำนวนมากหรือไม่ ?" สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก ข้าแต่พระสุคต ! จำนวนสายแม่น้ำคงคาที่ได้เปรียบจากเม็ดทรายเหล่านี้ ก็เป็นจำนวนที่มากมายเสียจนมิอาจประมาณได้แล้ว ยังนับประสาอะไรกับเม็ดทรายทั้งหมดในเหล่าแม่น้ำคงคานี้อีก"  พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปอีกว่า  "สุภูติ !  วันนี้เราขอกล่าวความจริงแก่เธอ หากได้มีกุลบุตร  กุลธิดานำสัปตรัตนะปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุที่มีเท่าจำนวนเม็ดทรายเหล่านี้มาบริจาคทาน บุญวาสนาที่ได้รับนี้มีมากหรือไม่ ?" สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !"  พระพุทธองค์ตรัสแก่สุภูติ  ว่า "หากกุลบุตร  กุลธิดาได้ทำการเผยแพร่อบรมเนื้อความในพระสูตรนี้ แม้จะเป็นเพียงแค่การสนองรับปฏิบัติในโศลก 4 บามก็ตามแต่  อันบุญวาสนาจากธรรมเป็นทานฉันนี้ที่ได้ก่อ  ยังจะมากมายมหาศาลยิ่งกว่าบุญวาสนาที่เกิดจากการบริจาคทานด้วยรัตนะก่อนนี้เสียอีก"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                บรรพที่  ๑๒ :  บูชา   ศาสตร์แท้

อธิบายบท   :

        อัน ศาสตร์  นั้นหมายถึงคำสอนแห่งพระตถาคตนั่นเอง กล่าวคือ ในช่วงเวลา 80 พรรษาที่พระตถาคตทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ทรงใช้เวลาถึง 49 พรรษาในการเทศนาธรรม โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาของการเทศนาธรรมออกเป็น 5 ยุคด้วยกันคือ

ยุคที่  1  ทรงถ่ายทอดอวตัมสกมหายานธรรม
ยุคที่  2  ทรงถ่ายทอดอริยสัจสี่แห่งหีนยานธรรม
ยุคที่  3  ทรงถ่ายทอดสุรางคมสูตร
ยุคที่  4  ทรงถ่ายทอดปรัชญาสูตร
ยุคที่  5  ทรงถ่ายทอดสัทธรรมปุณฑริกสูตร
       
แม้คำสอนของตถาคตจะมีมากมาย  แต่สำหรับศาสตร์แท้ที่ได้กล่าวถึงในที่นี้จะหมายถึงศาสตร์แท้ที่พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดในยุคปรัชญานั่นเองแล  การบูชาศาสตร์แท้นั้น หมายถึงพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ทั้งปวงล้วนสำเร็จมาจากพระสูตรนี้ทั้งสิ้น แต่การที่จะให้เวไนยสัตว์ในยุคท้ายมาสดับพระสูตรเช่นนี้ได้นั้น ก็ช่างเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญเสียยิ่งนัก ฉะนั้น  ทั้งอรรถาจารย์และผู้สดับจึงควรมีจิตใจที่เคารพบูชาต่อธรรมอันแยบยลแห่งปรัชญาอย่างที่สุด อันเป็นดังสุภาษิตที่ได้กล่าวไว้ว่า "ธรรมแยบยลอันแสนลึกซึ้ง แม้นกาลนทีล่วงร้อยพันหมื่นกัปก็ยากจะพบพาน" นั่นเอง

เนื้อหา   : 

        "อนึ่ง   สุภูติ !  ณ ที่ใดที่ได้กล่าวพระสูตรนี้ แม้จะเป็นเพียงแค่คำโศลก 4 บาท ควรรู้ว่า ณ สถานที่นี้ เหล่าเทพ  มนุษย์  อสูรทั้งหลายในโลกนี้ล้วนจะกระทำสักการะดุจพระพุทธสถูปวิหาร จึงนับประสาอะไรกับการที่มีบุคคลล้วนสามารถรับสนองปฏิบัติสวดท่อง  สุภูติ !  ควรรู้ว่าบุคคลนี้ได้ยังความสำเร็จแล้วในอนุตตรธรรมอันเป็นยอดสูงสุดที่หาได้โดยยาก หากว่าพระสูตรนี้ประดิาฐานอยู่ ณ สถานที่ใด ที่นั้นก็จะมีพระพุทธเจ้าและอัครสาวกพำนักอยู่"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                บรรพที่  ๑๒ :  บูชา   ศาสตร์แท้

ความสังเขป   :

        สำหรับบรรพนี้จะเป็นบรรพที่ต่อเนื่องจากบรรพก่อน อันได้กล่าวถึงเรื่องบุญวาสนาแห่งอานุภาพธรรมญาณว่า ยังจะมีความสูงส่งล้ำค่ายิ่งกว่าบุญวาสนาที่ได้รับจากการยึดติดอยู่ในลักษณะเสียอีก  เพียงแต่บรรพนี้จะเป็นบรรพที่มีการแจกแจงลึกซึ้งมากยิ่งกว่า ซึ่งก็คือ บุญวาสนาที่ได้จากการใช้สิ่งของมีค่าบริจาคทาน ก็ยังมิอาจเทียบได้กับบุญวาสนาที่ได้จากการสนองปฏิบัติในพระสูตรนี้ได้เลย นั่นเอง นอกจากนี้  พระพุทธองค์ก็ยังทรงสนับสนุนให้มีการเคารพบูชาต่อการสนองปฏิบัติพระสูตร หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การที่ได้เข้าใจในพระสูตรและบริจาคทานโดยไม่ยึดติดจักได้มีบุญเป็นฉันนี้ คุณค่าที่ควรแก่การเคารพบูชาก็ควรเป็นฉันนี้ดุจเดียวกัน  ดังนั้นในตอนที่หนึ่งจึงได้แสดงให้เห็นถึงความควรค่าแก่การเคารพบูชา ณ  ที่ ๆ มีการสาธยายพระสูตรฉบับนี้ เพราะ ณ สถานที่ ๆ มีการสาธยายพระสูตรนี้ ในนั้นก็จะมีพระตถาคตประทับอยู่ ซึ่งเหล่าเทพ  มนุษย์  อสูรแห่งปวงภูมิทั้งหลาย ล้วนต้องกระทำสักการะ โดยเปรียบเช่นมีพระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเช่นนั้น นอกจากนี้ ก็ยังจะมีเทพมังกรฟ้า ทั้ง 8 ฝ่าย มาเป็นธรรมอารักษ์ในที่ ๆ มีการสาธยายพระสูตรนี้อีกด้วย
        ในตอนที่สอง จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความควรค่าแก่การเคารพบูชาต่อการสนองปฏิบัติสวดท่องพระสูตรนี้ นั่นก็เป็นเพราะอนุตรโพธิธรรมทั้งหลายล้วนเกิดมาจากพระสูตรนี้ทั้งสิ้น ซึ่งหากมีคนที่ได้สนองปฏิบัติสวดท่องตามพระสูตรนี้ ก็จะบังเกิดจิตอันวิสุทธิ์ และในจิตอันวิสุทธิ์เช่นนี้ก็จะำไร้ลักษณะและไร้การดำรง ซึ่งถือว่าเป็นการสำเร็จในอนุตตรธรรมที่หาเปรียบได้โดยยากอย่างแท้จริง อนึ่ง  หากจิตใจของบุคคลฉันนี้ได้มีทัศนะว่า ณ ที่ ๆ พระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ก็คือที่ ๆ พระพุทธะสถืตอยู่แล้วละก็ ฉันนี้  ณ สถานที่ ๆ ได้สนองปฏิบัติพระสูตรนี้ ก็จะเป็นไตรรัตน์แห่งพุทธสาวก  (พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์) และนี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรกระทำการสักการะบูชานั่นเองแล

เทพมังกรฟ้าทั้ง 8 ฝ่าย  :  เทวดา  นาค  ยักษ์  คนธรรพ์  อสูร  ครุฑ  กินนร  มโหรกา

Tags: