collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย  (อ่าน 57815 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
คำนำแห่งพระจี้กงพุทธเจ้า

        ด้วยอนุตตรปัญญาแยบยลแห่งพระพุทธะที่ส่องพินิจเวไนยสัตว์ทั้งหลายในใต้โลกหล้า ก็จะสามารถทราบถึงความตื้นลึกและความแตกต่างแห่งพื้นฐานของแต่ละปัจจเจกเวไนย์ได้ ฉะนั้น พระพุทธะจึงทรงใช้อุปายโกศลมาตรัสสอนอุปายวิธี อันเป็น 84,000 พระธรรมขันธ์ที่จะมาเยียวยารักษา  84,000 กิเลส  จึงทราบได้ว่า พระธรรมเทศนาที่พระตถาคตตรัสจะเป็นการตรัสที่สนองต่อเหตุปัจจัยนั้น ๆ ซึ่งถึงว่าเป็นการเจียดยารักษาที่ตรงต่ออาการของโลก โดยไม่มีการตรัสสอนพระธรรมที่ตัวตายแต่อย่างใดเลย แต่โดยแท้จริงแล้ว ธรรมะแต่เดิมมิอาจกล่าวก็ไม่อาจแสดงธรรมะให้ปรากฏได้ และหากการกล่าวนี้ไม่แจ่มชัดธรรมะก็มิอาจแแจ่มแจ้งได้ด้วยเช่นกัน

       การที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาวัชรสูตรฉบับนี้นั้น จะเป็นการเทศนาในวิถีแห่งจิตแห่งพระตถาคต โดยมีเจตนาที่จะขจัดความสงสัยให้เกิดความมั่นใจเป็นหลัก ห่างลักษณะเป็นแก่น  ไร้ดำรงเป็นฐาน  แต่ความแยบยลแห่งความว่างแท้นี้จะมิใช่แฝงอยู่ในวาจารูปลักษณ์แต่อย่างใดเลย นั่นก็ด้วยเหตุอันจำเป็นจึงได้นำกล่าวเป็นวาจาให้รู้จักเกิดขึ้น ฉะนั้น ความหมายแห่งพระสูตรจึงมีความลึกซึ้งแยบยลจนเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจได้แล้ว แต่หากยังมีบุคคลที่ได้แต่บริกรรมพระสูตรโดยไม่เข้าในถึงความหมาย ได้แต่อ่านในพระสูตรโดยไม่ถ่องแท้ในพุทธคำสอน ซึ่งแม้พระสูตรจะถูกอ่านท่องจนขาดวิ่นไปแล้วก็ตาม แต่มันก็ยังคงมิได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นกับเขาอยู่ดี และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งมิต้องกล่าวไปถึงเรื่อง "ใจประทับใจ แจ้งในธรรมญาณสำเร็จเป็นพระพุทธะ" ได้เลย

        นับแต่บรรพกาลมา หนังสือที่ได้อธิบายความหมายของวัชรสูตรก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่าพันเล่ม แต่ก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า หนังสือเหล่านั้นล้วนแต่ใช้คำศัพท์แสงที่ยากจะเข้าใจมาเขียน จนได้ส่งผลให้สาธุชนชายหญิงโดยทั่วไปที่ไม่มีความรู้มากมายต่อศัพท์แสงเหล่านั้นไม่อาจเข้าใจในความหมายของพระสูตรเช่นเดิม ฉะนั้น หลายคนจึงไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไรดี และเมื่อได้เป็นเช่นนี้แล้ว จะมิใช่เป็นการทำให้วิถีแห่งจิตอันแยบยลแห่งพระตถาคตมิอาจเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่เวไนยนิกรหรอกหรือ ? ด้วยเหตุผลประการเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงมีประสงค์จะใช้คำอธิบายที่อ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุดมาถ่ายทอดวัชรสูตรฉบับนี้เพื่อที่จะให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแก่ผู้ที่อ่อนความรู้ในด้านคำศัพท์อักษรได้อ่านเข้าใจและเกิดความแจ่มแจ้งได้  แต่ก็ยังไม่ทันที่จะได้ลงมือเขียน ศิษย์ทั้งสองที่มีสกุลว่า กัว และ จาง  ก็ได้นำวัชรสูตรฉบับอธิบายมาให้ดูสามเล่ม (ฉบับสือซื่อ  ฉบับทงสูจี๋อี้  ฉบับซุนซื่อ) เพื่อให้ข้าพเจ้าดูว่าเล่มไหนจะมีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งหากเห็นว่าเล่มไหนมีความเหมาะสมและสมควรแก่การแล้ว ก็จะขออนุญาตทำการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป และเมื่อข้าพเจ้าได้เปิดอ่านดูแล้ว ก็รู้สึกว่าทั้งสามเล่มนี้จะใช้คำศัพท์ที่อ่านเข้าใจง่าย ซึ่งแม้จะมีอยู่บางจุดที่ยังไม่สมบูรณ์อยู่บ้างก็ตาม แต่คำอธิบายที่ได้นำใช้ในหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้จะไม่มีปัญหาของการอ่านเข้าใจยากแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะฉบับทงสูจี๋อี้จะมีความกระชับและเรียบง่าย ซึ่งก็มีความต้องใจของข้าพเจ้ามากที่สุด ฉะนั้น  ข้าพเจ้าจึงได้ยึดเอาเล่มนี้เป็นหลัก และนำฉบับของสือซื่อและซุนซื่อเป็นส่วนประกอบ โดยได้นำจุดเด่นของแต่ละเล่มมารวบรวม อีกทั้งยังได้บวกทั้งความคิดเห็นของข้าพเจ้าเอง ซึ่งก็ถือได้ว่าสำเร็จปณิธานของข้าพเจ้าที่ได้ตั้งไว้แต่เริ่มต้น และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ได้รับหนังสือเล่มนี้ในอนาคตกาลจะสามารถรู้ลึกได้คำตื้น แจ้งไกลด้วยจากใกล้ เนื่องด้วยคำกล่าวฉบับนี้และส่งผลให้รู้ซึ้งซึ่งความหมายของบทอรรถา เนื่องด้วยความหมายในบทอรรถาและส่งผลให้รู้แจ้งซึ่งพุทธะคำสอน และเมื่อยามที่ได้รู้แจ้งซึ่งพุทธะคำสอนแล้ว ก็จะบังเกิดศรัทธาเชื่อมั่นเป็นจริง กระทั่งบังเกิดปณิธานอันแรงกล้า พร้อมทั้งเจริญปฏิบัติอย่างพากเพียร  ด้วยอำนาจแห่งพระสูตรนี้ ก็จะทำให้ละหลงคลายเขลา แจ้งธรรมมุ่งบำเพ็ญ แจ่มแจ้งในธรรมญาณ พิศเห็นนิจจังแท้ สำรวมใจบำเพ็ญกาย กลมใสดั่งตถตา พ้นจากทะเลทุกข์และก้าวสู่ทิพยสถาน  ละมายาสู่สัจจา ให้พ้วงร่วมบรรลุสู่ความแยบยลแห่งอนุตตร แลทั้งร่วมเสวยเกียรติภูมิแห่งอนันตแดนกันสืบไป สิ่งเหล่านี้ ก็คือความหวังที่ข้าพเจ้าได้คาดหวังแล

                                                    จารึก
                                  วันที่ 9 เดือน 3 (จันทรปฏิทิน) ปีหมินกั๋วที่ 72 (1938)
                                  สงฆ์วิปราศแห่งหนันผิน   ณ พุทธสถานของจางซื่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:24 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
คำนิยมของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแห่งเฉาซี

        อันวัชรสูตรนั้น ได้ถือเอาไร้ลักษณะเป็นแก่น  ไร้ดำรงเป็นฐาน   แยบยลมีเป็นศักยะ  ฉะนั้น  ในสมัยที่พระโพธิธรรมตั๊กม๊อได้เดินทางจารึกจากชมพูทวีปมาเผยแผ่เจตนาแห่งพระสูตรฉบับนี้ ก็เพื่อต้องการให้ชาวโลกได้แจ้งในแก่นและเห็นจริงในธรรมญาณ เพียงแต่ชาวโลกไม่อาจเห็นในธรรมญาณตน ดังนั้นจึงได้บัญญัติธรรมให้เป็นแนวทางในการเห็นแจ้งในธรรมญาณนี้ขึ้น ครั้นชาวโลกได้เห็นแจ้งในองค์เดิมแห่งตถตาแท้แล้ว ยามนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยธรรมบัญญัตินี้อีกต่อไป

        พระสูตรเล่มนี้ได้มีผู้สวดบริกรรมอย่างมากมาย อีกทั้งผู้ที่ประกาศสรรเสริญก็มีจำนวนมากอย่างนับไม่ถ้วน ส่วนผู้ที่ได้ทำการอรรถานั้นก็มีมากจนถึง 800 สำนักเศษ แต่เหตุผลที่แต่ละสำนักได้นำแสดงก็จะมีความแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละฝ่าย และถึงแม้จะมีความเข้าใจที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ธรรมนี้ก็มิอาจผิดแผกจนเป็นสองได้ สำหรับจุดนี้ หากผู้ใดได้มีพื้นฐานที่แน่นหนามาแต่อดีต ยามเมื่อได้ฟังก็จะสามารถรู้แจ้งในบัดดล แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีรากปัญญามาแต่ก่อน แม้จะสวดบริกรรมอย่างมากสักเพียงใด ก็ยังคงไม่สามารถเข้าใจในพุทธเจตนาได้อยู่ดี ฉะนั้น จึงได้ทำการอธิบายในอริยความเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการขจัดความสงสัยของผู้ศึกษา และหากได้เข้าใจในแก่นแท้ของพระสูตรนี้จนสิ้นความสงสัยแล้ว เวลานั้น ก็มิจำเป็นต้องพึ่งคำกล่าวอธิบายอีกต่อไป

        สำหรับกุศลธรรมทั้งปวงที่พระตถาคตทรงแสดงมาแต่ต้น ก็เป็นเพราะต้องการขจัดอกุศลจิตของเวไนยสัตว์เท่านั้น ซึ่งพระสูตรก็คือวจนะแห่งพระอริยเจ้า อันเป็นวจนะที่จะนำพาผู้สดับให้ดับจิตลุ่มหลงและพาให้พ้นจากสามัญบถไปสู่อริบถ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระสูตรฉบับนี้ได้มีพร้อมอยู่แล้วในธรรมของเวไนยสัตว์ เพียงแต่เวไนยสัตว์ไม่ได้เห็นถึงความคงอยู่เท่านั้นเอง อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นการสวดบริกรรมพระสูตร แต่หากรู้แจ้งในจิตเดิมหละก็ ในยามนั้นก็จะได้รู้ว่า แก่นของพระสูตรฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทอักษรแต่อย่างใดเลย ซึ่งหากยิ่งสามารถแจ่มแจ้งในธรรมญาณของตนด้วยแล้ว ในยามนั้นก็จะมีความเชื่อมั่นได้ว่า  โดยแท้แล้วพระพุทธทั้งปวงล้วนได้ถือกำเนิดขึ้นจากพระสูตรนี้ทั้งสิ้น เกรงแต่เพียงผู้คนจะไปค้นหากันแต่พระพุทธะและพระสูตรจากภายนอก โดยที่ไม่รู้จักเปิดใจศรัทธาและถือพระสูตรแห่งภายใน ด้วยเหตุผลประการนี้จึงได้ทำงานบัญญัติวิชานี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นแนวทางในการให้ผู้ศึกษาได้ถือพระสูตรแห่งใจภายในและได้เห็นแจ้งด้วยตนเอง จนในที่สุดได้ค้นพบพระพุทธะอันบริสุทธิ์แห่งตน กระทั่งเป็นสิ่งที่มิอาจคิดจินตนาการได้ด้วยปริมาณใด ๆ อีกต่อไปนั่นเอง

        หากผู้ศึกษาในรุ่นหลังที่ได้ถือพระสูตรนี้แล้วยังเกิดความสงสัย ก็ขอให้อ่านบทอรรถาเล่มนี้ ยามนั้นก็จะสามารถคลายความสงสัยโดยมิต้องใช้เคล็ดใช้วิชาใด ๆ อีก ซึ่งจะขอตั้งความหวังกับผู้ศึกษาเช่นนี้ว่า เปรียบดั่งทองที่ฝังอยู่ในแร่ ที่สามารถใช้ไฟแห่งปัญญามาหล่อหลอมจนเกิดความสุขสกาวแห่งเนื้อทองคำบริสุทธิ์ขึ้นนั่นเอง

        อาจารย์แห่งเรา พระศากยมุณีพุทธเจ้าได้ตรัสพระสูตรฉบับนี้ ณ มณฑลอารามแห่งเมืองสาวัตถี ด้วยเหตุจากการที่สุภูติได้ทูลถามในการครั้งนั้น ซึ่งพระองค์ก็ตรัสแสดงด้วยพระเมตตาจนเป็นที่กระจ่าง และเมื่อสุภูติได้สดับจนบังเกิดความรู้แจ้งแล้ว ก็ได้กราบขอให้พระพุทธองค์ทรงประทานนามให้แก่พระสูตรนี้ขึ้น เพื่อใช้สำหรับเป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติแก่ชนรุ่นหลังต่อไป ฉะนั้น ในพระสูตรจึงกล่าวไว้ว่า "พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อสุภูติว่า พระสูตรนี้มีนามว่า วัชรปรัชญาปารมิตาสูตราศัยชื่อนามนี้ เธอพึงรับไปปฏิบัติ"

        เหตุที่พระตถาคตได้นำเอาวัชรมาเป็นนามแห่งพระสูตรนี้นั้น ก็เป็นเพราะญาณแห่งมนุษย์เราไร้ความแข็งแกร่ง กล่าวคือ แม้ปากได้ท่องพระสูตรแต่ก็ไม่มีอันได้บังเกิดความสกาวแห่งใจขึ้นมาเลย แต่หากได้ท่องสาธยายพระสูตรจากภายนอก อีกทั้งยังได้ปฏิบัติที่ภายในด้วยแล้ว ยามนั้นความสว่างแห่งจิตใจก็จะปรากฏ อนึ่ง ถ้าหากภายในไร้ความแข็งแกร่ง สมาธิปัญญาก็จะสูญมลาย แต่เมื่อยามใดที่ปากได้ท่องใจได้ปฏิบัติแล้ว ยามนั้นสมาธิปัญญาก็จะพรั่งพร้อม และเช่นนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นที่สุดได้จริงแล

        แร่วัชรอยู่บนหุบเขาโดยที่หุบเขาไม่รู้ว่าเป็นสมบัติฉันใด สมบัติก็ไม่รู้จักหุบเขานี้ด้วยฉันนั้น เพราะคนเรามีญาณจิตที่จะสามารถขุดสมบัตินี้ขึ้นมาใช้โดยไม่มีนายช่างคอยสกัดทำลายหุบเขา และนำแร่นี้ไปหล่อหลอมจนได้วัชรสมบัติอันบริสุทธิ์ ตลอดจนสามารถนำวัชรนี้ไปใช้เพื่อป้องกันความยากได้ตามใจประสงค์ เราจึงทราบได้ว่า วัชรและหุบเขาเป็นฉันใด พุทธญาณที่เป็นสมบัติภายในร่างกายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง 4 ก็เป็นฉันนั้น โดยร่างกายให้อุปมาเป็นโลกธาตุ อาตมะบุคคละให้อุปมาเป็นหุบเขา กิเลสคือแร่ วัชรคือพุทธญาณ ปัญญาคือนายช่าง  ความวิริยะอันเฉียบขาดคือการสกัด โดยในกายที่เป็นโลกธาตุนี้ได้มีเขาอาตมะบุคคละ และในเขาอาตมะบุคคละเช่นนี้ก็ได้มีแร่แห่งกิเลส ภายในแร่ชนิดนี้ได้มีพุทธญาณสมบัติ ในสมบัติแห่งพุทธญาณนี้ก็ได้มีนายช่างปัญญาโดยได้ใช้นายช่างปัญญานี้มาสกัดทำลายเขาอาตมะบุคคละ และเมื่อได้เห็นแร่กิเลสแล้วก็ใช้ไฟแห่งรู้แจ้งมาเผาหลอม จนกระทั่งได้เห็นพุทธวัชรญาณที่ยังคงจรัสอำไพปรากฏอยู่ ด้วยเหตุฉะนี้ พระพุทธองค์จึงทรงนำเอาวัชรนี้มาเป็นนามและอุปมานั่นเองแล สำหรับผู้ที่ได้แต่เข้าใจโดยไม่นำไปปฏิบัติ ก็เปรียบดั่งการมีแต่นามโดยไร้แก่นสาร แต่สำหรับผู้ที่ได้มีทั้งความเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้นั้น จึงจะถือได้ว่ามีพร้อมทั้งนามและแก่นสารเคียงคู่กัน ซึ่งหากไม่บำเพ็ญก็คือปุถุชน และเมื่อยามที่ได้บำเพ็ญก็จะเทียบเท่าพระอริยะผู้ทรงปัญญา ฉะนั้น จึงได้นามว่าวัชรนั่นเองแล.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:18 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
เพื่อให้สะดวกแก่การอธิบาย จึงขอนำวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรคำนี้มาแยกอธิบายเป็น 4 ตอนด้วยกันคือ

   1. วัชร  :  คำว่าวัชรนี้ ในหนังสือหลายเล่มได้อธิบายว่าเป็นเหล็กเหนือเหล็กที่มีความแกร่งคมและสามารถตัดทุกสิ่งได้ แต่โดยความจริงแล้ว ที่ประเทศอินเดียและดินอดนเขตชายน้ำหลายแห่งก็ได้มีหินวัชรนี้อยู่จริง ซึ่งถือว่าเป็นอัญมณีอันมีค่าที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง  โดยวัชรจะเป็นแร่ชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะโปร่งแสงและมีโครงสร้างรูปปิรามิดทรงแปดเหลี่ยม เมื่อยามที่แร่ชนิดนี้ได้ต้องกับแสงแดดหรือแสงไฟ ก็จะสามารถเปร่งประกายสีทองอันสดใส คุณสมบัติของแร่ชนิดนี้จะมีความคมแกร่งมาก ซึ่งสามารถนำมาตัดกระจกแกะสลักหิน หรือใช้สำหรับทะลวงชั้นหินได้ดิน อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องขัดอัญมณีทุกชนิดได้ ฉะนั้นจึงถือได้ว่า แร่วัชรมีความคมแกร่งที่สุดในบรรดาแร่หินทั้งปวง ด้วยเหตุผลดังนี้จึงได้ตั้งชื่อให้แก่แร่ชนิดนี้ว่าวัชรนั่นเอง อันว่าความแกร่งของวัชรก็คือ แม้จะหมุนเวียนอยู่ใน 6 วิถีอันเป็นเวลานานถึงร้อยกัปพันกัลป์ก็ตาม แต่ธรรมชาตติแห่งความรู้แจ้งนี้ก็ไม่มีวันบุบสลาย อันว่าความคมของวัชรนี้ก็คือ มีความสามารถที่จะส่องเห็นซึ่งความว่างแห่งสรรพธรรมและทลายสิ้นซึ่งเครื่องกั้นแห่งอวิชชา โดยไม่อาจมีแห่งใดที่จะรอดพ้นจากการฉายส่องนี้ได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อันความแกร่งแห่งวัชรนี้ อุปมาได้ดั่งองค์แห่งปรัชญา อันความคมแห่งวัชรนี้ อุปมาได้ดั่งศักยะแห่งปรัชญานั่นเอง

     2 . ปรัชญา
 :  คำ ๆ นี้ได้ถอดมาจากบาษาสันสกฤต ซึ่งหนังสือหลายเล่มจะแปลเป็นคำว่าปัญญา แต่หากลำพังจะใช้แค่คำว่าปัญญาอย่างเดียวแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสับสนกับความหมายของปัญญาที่หลายคนได้ใช้กันอย่างสามัญทั่วไป ฉะนั้น จึงได้เติมคำว่าแยบยลลงไปด้วย ซึ่งเช่นนี้ก็จะสามารถป้องกันการเข้าใจผิดด้วยเหตุนี้ไปได้ จุดนี้จะขอยกตัวอย่างสมมุติให้เห็นด้วยคำว่าหลักกล่าวคือ หากเราจะทำการแจกแจงคำว่า หลัก ออกดูแล้วก็จะสามารถแบ่งออกเป็นหลักระดับหยาบ  ระดับละเอียด  ระดับจุล ระดับลึกซึ้งและระดับแยบยลได้ อันหลักอย่างหยาบนั้นเป็นเรื่องทีุ่คุยกันได้ง่าย ส่วนหลักละเอียดนั้นต้องใช้เวลาในการอธิบาย ด้านหลักจุลนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่พูดกันให้เข้าใจได้ยาก ด้านหลักลึกซึ้งแม้จะยากแต่ก็ยังพอคุยกันได้ แต่หากต้องถึงระดับแยบยลแล้วจุดนี้ก็มิอาจกล่าวอะไรได้อีก ด้วยเหตุฉะนี้ จึงขอนำคำว่าแยบยลผนวกเข้ากับคำว่าปัญญาด้วย เช่นนี้ก็จะทำให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นแล

    3 . ปารมิต  :  คำ ๆ นี้เป็นคำที่ถอดเสียงมาจากภาษาสันสกฤต เมื่อแปลจากภาษาจีนแล้วจะมีความหมายว่าไปสู่ฝั่งโน้น และสำหรับสาเหตุที่ต้องกล่าวว่าไปสู่ฝั่งโน้นนั้น ก็เป็นเพราะเวไนยสัตว์มักจะถูกคำว่า "อัตตา" มามอมเมาจนทำให้ต้องจมปลักอยู่ในทะเลทุกข์กังวลแห่งการเกิดตายและไปสู่ดินแดนอันสงบสุขสันต์ที่ไม่เกิดไม่ดับแล้ว เช่นนี้ก็คือการข้ามสู่ฝั่งโน้นก็จะมีความแตกต่างระหว่างความฉับพลันและคงามเชื่อช้าเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อยามที่ได้สดับมหาธรรมแล้วสามารถรู้แจ้งว่าขันธ์ 5 เดิมนั้นว่างเปล่า อายตนะมิได้มีจริง ซึ่งเป็นการรู้แจ้งโดยพลันทั้งกายและใจต่อมหาธรม สิ่งนี้คือความฉับพลัน ส่วนความเชื่อช้านั้นจะเนื่องด้วยความศรัทธาและนำไปสู่ความเข้าใจ จากความเข้าใจนำไปสู่การปฏิบัติ จากการนำปฏิบัตินำไปสู่การบรรลุ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญก้าวหน้าอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และสุดท้ายก็ลุสู่การรู้แจ้ง ได้เช่นเดียวกัน โดยจุดนี้ แม้ความฉับพลันและเชื่องช้าจะมีความแตกต่าง แต่ฝั่งโน้นที่ได้ไปสู่จะมิได้มีความผิดเพี้ยนกันเลยแล

     4 . สูตร
 :  คำว่าสูตรนี้สามารถอธิบายว่าหนทาง ซึ่งก็คือหนทางสายหนึ่งของการบำเพ็ญธรรมนั่นเองแล

สรุปความแล้วก็คือ สำหรับจุดประสงค์ของการบำเพ็ญธรรมนั้นก็เพื่อฉุดช่วยตนและฉุดช่วยคน และสำหรับญาณแท้แห่งเรานั้น แต่เดิมก็เป็นความว่างเปล่าที่ปราศจากมลทิน เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างนิรันดร์ด้วยแม้นกาลนทีจะล่วงเลยไปเป็นกัปเป็นกัลป์ แต่ก็น่าเสียดายที่ได้ถูกความทะยานอยากกลบบัง จนกระทั่งได้จมปลักอยู่ในทะเลทุกข์แห่งการเกิดตายจนมิอาจหลุดพ้นออกมาได้ แต่พระพุทธองค์แห่งเราผู้เมตตาก็ได้ตรัสสอนพระสูตรฉบับนี้ขึ้นด้วยมีเจตนาที่จะตัดความกลัดกลุ้มแห่งเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากทะเลทุกข์จนได้ก้าวสู่ฝั่งโน้น (ฝั่งนิรวัณ) อันเป็นดินแดนของที่สุดแห่งการหลุดพ้น แต่การที่จะให้ถึงระดับนี้ได้นั้น หากมิใช่ได้บำเพ็ญจนมีปัญญาแยบยลแล้ว การหลุดพ้นก็มิอาจที่จะเป็นจริงขึ้นมาได้เลย และการที่จะให้ได้มาซึ่งปัญญาแยบยลนั้น หากมิใช่มีความคมแกร่งและรัศมีอันประกายดุจวัชรแล้ว ปัญญาแยบยลก็มิอาจที่จะเป็นจริงได้ด้วยดุจกัน และหากได้ปราศจากมลทินแห่งโลกีย์และไปตัดสิ้นซึ่งความเพ้อฝันทั้งหลายแล้ว เช่นนี้ก็จะสามารถตัดมิจฉามารให้สิ้นพันธ์ไปจากตน สังหารภูติผีให้มวดม้วยไปไกลสุดตา ทั้งมีความวิริยะที่กล้าแกร่ง แจ่มแจ้งในธรรมญาณตน จนกระทั่งได้ก้าวสู่ฝั่งโน้น (ฝั่งนิรวัณ) และร่วมเสวยสุขกับปวงพระพุทธะโพธิสัตว์เป็นที่สุดแล
    
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:19 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
        วัชรสูตรฉบับนี้ แต่เดิมได้รวมอยู่ในผูกที่ 577 ของมหาปรัญาสูตร  ซึ่งนักปราชน์ในอดีตต่างวิจารณ์พระสูตรเล่มนี้ว่ามีค่าดั่งคัมภีร์หลุนหยวี่ของสำนักขงจื่อ ซึ่งแม้ตัวอักษรจะมีจำกัด แต่ก็มีนัยอันมหัศจรรย์ที่มิอาจกล่าวให้สิ้นได้ด้วยอักษรเหล่านั้นเลย   พระตถาคตทรงเทศนามหาปรัชญาสูตรเป็นจำนวนทั้งสิ้น 600 ผูก โดยได้แบ่งวาระการเทศนาเป็นจำนวน 16 ครั้งใน 4 สถานที่  และวัชรสูตรฉบับนี้พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาไว้เมื่อครั้งประชุมธรรมครั้งที่ 9 ที่ได้จัดขึ้น ณ เชตวันมหาวิหาร  อันเป็นวิหารธรรมที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองสาวัตถีที่อยู่ทางภาคกลางในประเทศอินเดียนั่นเอง
                 ประชุมธรรม 16 วาระใน 4 สถานที่  มีรายละเอียดดังนี้
ประชุมธรรม  ณ คิชกูฏบรรพตแห่งเมืองราชคฤห์                        6 ครั้ง
ประชุมธรรม  ณ พระเชตวันมหาวิหารแห่งเมืองสาวัตถี                 3  ครั้ง
ประชุมธรรม  ณ ปรนิมตวสวัสดีแห่งสวรรค์ชั้นที่ 6                       1 ครั้ง
ประชุมธรรม  ณ พระเชตวันมหาวิหารแห่งเมืองสาวัตถี                 4 ครั้ง
ประชุมธรรม  ณ คิชกูฏบรรพตแห่งเมืองราชคฤห์                        1 ครั้ง
ประชุมธรรม  ณ เวฬุวันแห่งเมืองราชคฤห์                                1 ครั้ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:19 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ประวัติของท่านพระกุมารชีพ  (ผู้ถ่ายทอดพระสูตรเป็นภาษาจีน)

       พระกุมารชีพเป็นชาวอินเดีย บิดาของท่านมีนามว่า กุมารยณะ  มารดาของท่านเป็นพระขนิษฐาแห่งกษัตริย์แคว้นกุฉา  มีพระนามว่า ชีพะ (แคว้นกุฉาก็คือ คู่เชอของมณฑลซินเกียงในปัจจุบัน)  พระกุมารชีพได้กำเนิดที่แคว้นกุฉา  นามของท่านได้รวมเอาชื่อของบิดาและมารดารวมเข้าด้วยกัน  คือคำว่ากุมารและชีพ  ในสมัยที่ท่านกุมารชีพอายุได้ 7 ขวบ  กุมารชีพก็ออกติดตามมารดาเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว  โดยท่านได้ไปศึกษาพระธรรมหิมยานกับท่านผันโถวต๋าตัว ที่แคว้นโกเผนแห่งดินแดนทางตอนเหนือของอินเดีย  จากนั้นได้ไปศึกษาพระธรรมมหายานที่แคว้นกาษคารกับท่านซีลี่เหยียสั่วหมอ  ครั้นได้สำเร็จในวิชาก็ได้เดินทางกลับมายังแคว้นกุฉาและศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่นั่นกับท่านเปยหมอหลัวอี้อีก และนับจากนั้นก็ออกประกาศมหายานธรรมที่แคว้นกุฉาเรื่อยมา

        ครั้นถึงสมัยราชฉินสมัยที่หนึ่ง  พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามว่าฝูเจียน (ค.ศ. 338 - 385) ได้มีพระราชโองการให้นายพลทหารม้าที่มีนามว่าหลวี่กวงออกไปปราบแคว้นกุฉา  ซึ่งในเวลานั้น นายพลหลวี่กวงได้รับชัยชนะทั้งยังได้นิมนต์เชิญท่านพระกุมารชีพมาด้วย  จากนั้นจึงได้ลี้พลกลับไปที่เมืองเหลียงโจว แต่ก็ได้ทราบข่าวมาว่ากษัตริย์ฝูเจียนทรงพ่ายแพ้แก่ข้าศึก  แม่ทัพหลวี่กวงจึงได้ครองกำลังพลและตั้งตัวเป็นเอกราชที่เหลียงโจวเสียเอง  ในกาลครั้งนั้น พระมหากษัตริย์เหยาซิง  ผู้ซึ่งเป็นราชโอรสของเหยาฉางแห่งราชวงศ์ฉินสมัยที่สองก็ทรงกรีฑาทัพออกปราบแม่ทัพหลวี่กวงจนแพ้พ่าย  ทั้งยังได้นิมนต์เชิญพระกุมารชีพกลับสู่ฉางอัน  พร้อมทั้งทรงประทานการต้อนรับราชพิธีระดับสูง และนิมนต์ให้ท่านอยู่แปลพระคัมภีร์ที่สวนปัจฉิมไสว (ซีหมิงเอวี๋ยน) และสวนหรรษา (เซียวเหยาเอวี๋ยน) ซึ่งพระกุมารชีพก็ได้แปลพระไตรปิฏกจนสำเร็จลุล่วง รวมทั้งสิ้น 74 หมวด 380 ผูกเศษ

        พระกุมารชีพได้มรณะที่มหาวิหารฉางอัน เมื่อสมัยปีศักราชหงสื่อที่ 15 เดือน 8 แห่งราชวงศ์ฉินสมัยที่สอง รวมสิริอายุได้ 74 ปี  พระกุมารชีพมีฉายานามว่า  ซันจั้ง (ซำจั๋ง)  คำว่าซันจั้งนี้มีความหมายว่าพระไตรปิฏกที่ประกอบด้วย  พระสุตตันตปิฏก  พระวินัยปิฏกและพระอภิธรรมปิฏกนั่นเอง  เนื่องด้วยท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญรอบรู้ในพระไตรปิฏก  ดังนั้นท่านจึงมีฉายานามว่า  พระธรรมาจารย์ซันจั้ง (ซำจั๋ง) ในกาลครั้งนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:20 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ความเป็นมาของการแบ่งหมวดหมู่พระสูตร

        สำหรับวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรฉบับนี้จะมีด้วยกันทั้งสิ้น 32 บรรพ ซึ่งได้ถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่โดยราชบุตรเจาหมิง แห่งราชวงศ์เหลียง แต่สำหรับต้นฉบับดั้งเดิมของวัชรสูตรนี้จะไม่มีการแบ่งเป็นหมวดหมู่เหมือนอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน  32 บรรพแห่งวัชรสูตรฉบับนี้จะสามารถแบ่งทำการแบ่งให้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ได้ 3 ส่วน คือ ส่วนของบทนำ  ส่วนของบทสาระ   และส่วนของบทเผยแพร่

        ในส่วนของบทนำนี้ จะครอบคลุมเฉพาะบรรพที่ 1  ซึ่งเป็นบรรพที่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ความเป็นมาของการประชุมธรรมนั่นเอง แต่ทั้งนี้ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็นบทนำสามัญและบทนำริเริ่มสองประเภท โดยในส่วนของบทนำสามัญนี้จะเริ่มตั้งแต่ดั่งที่เราได้สดับกระทั่งถึง 1250 รูป  ซึ่งในส่วนนี้จะยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่เหมือน ๆ กับพระสูตรเล่มอื่น ๆ อยู่ แต่ในส่วนของบทนำริเริ่มนี้จะเริ่มตั้งแต่ ในเวลานั้นเป็นเวลาฉันภัตตาหารของพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทั่งถึงจัดแต่งอาสนะแล้วประทับนั่ง สำหรับจุดนี้ จะเป็นเอกลักษณ์ของพระสูตรที่ไม่มีเหมือนกับพระสูตรเล่มอื่น ๆ เลย

        ส่วนของบทสาระนั้น จะครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่บรรพที่ 2 จนถึงบรรพที่ 31 ซึ่งในส่วนนี้ทั้งหมดจะเป็นส่วนที่ทำการอรรถาถึงแก่นสาระของพระสูตรทั้งเล่ม
        ในส่วนของบทเผยแพร่นี้ จะมีเฉพาะแต่บรรพที่ 32 ซึ่งมีนัยแห่งการประกาศเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในอนาคตกาลนั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:20 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ความเป็นมาของการประชุมธรรม

        สำหรับความเป็นมาของการประชุมธรรมนั้น จะเริ่มตั้งแต่เวลาที่พระอานนท์ได้ทำการจดจำพระสูตรเล่มนี้นั่นเอง  พระอานนท์ก็คือหนึ่งในสิบอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำว่า อานนท์ นี้ จะมีความหมายว่า  ไร้มลทิน  ความเพลิดเพลิน  ความยินดี  พระอานนท์จะเป็นศิษย์สาวกที่คอยถวายอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ  และในช่วงปัจฉิมวัยแห่งพระพุทธเจ้า อันเป็นสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ เมืองกุสุนารา  ในเวลานั้นเป็นกาลที่พระพุทธองค์ใกล้สู่ปรินิพพาน  ซึ่งเมื่อพระอานนท์ได้ทราบดังนี้ ก็เกิดอาการเศร้าโศกสะอื้นไห้อย่างมิอาจระงับ ในขณะนั้นได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า สุภัททะ มาถึงเมื่อได้เห็นพระอานนท์มีความทุกข์ระทมจนถึงเพียงนี้ จึงได้ให้คำเตือนแก่พระอานนท์ว่า "เมื่อสมัยที่พระอาจารย์ยังทรงอยุ่ พวกเรายังสามารถถามปัญหาให้เป็นที่คลายความข้องใจได้ แต่หากพระอาจารย์ได้จากพวกเราไปแล้ว เวลานั้นเราจะไปถามใครที่ไหนได้อีก การร้องไห้ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นหรอก มิสู้อาศัยตอนนี้ที่พระอาจารย์ยังทรงอยู่ มีคำถามอยู่ 4 ข้อที่เธอสามารถกราบทูลพระอาจารย์ได้

ข้อที่หนึ่ง  เมื่อพระอาจารย์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว  เราควรถือใครเป็นครู
ข้อที่สอง  เมื่อพระอาจารย์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว  เราควรถือสิ่งใดเป็นสรณะ
ข้อที่สาม  เมื่อพระอาจารย์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว  เราควรถือสิ่งใดเป็นธรรม
ข้อที่สี่     สำหรับคำเริ่มต้นของพระสูตรนี้  ควรใช้คำพูดใดดี

        สำหรับคำถามข้อที่หนึ่ง  พระตถาคตทรงตอบว่า  พวกเธอพึงถือศีลวินัยเป็นครู
        สำหรับคำถามข้อที่สอง  พระตถาคตทรงตอบว่า  ควรถือสติปัฏฐาน 4 เป็นสรณะ  

(สติปัฏฐาน 4 มีรายละเอียดดังนี้ คือ
1. กายานุปัสสนา  ประกอบด้วย ชาติพันธุ์คืออศุภา ถิ่นอาศัยคืออศุภา ยามอยู่คืออศุภา  ยามตายคืออศุภา  ที่สุดคืออศุภา  
2. เวทนานุปัสสา หมายถึงการเสพทั้งปวงในโลกนี้ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  
3. จิตตานุปัสสนา จิตที่อนิจจังแห่งมนุษย์เราจะมิใช่จิตเดิมแท้แห่งเรานั่นก็เพราะมีความฟุ้งซ่านสับสนนั่นเอง  ฉะนั้น  จิตมโนธรรมแท้จึงมิอาจปรากฏได้  
4. ธัมมานุปัสสนา ความทุกข์ยากทั้งปวงแห่งมนุษย์ล้วนได้เกิดขึ้นเพราะถูกคำว่าอัตตานี้มามอมรัดทั้งสิ้น ซึ่งโดยความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่มีตัวตนแล)

        สำหรับข้อที่สาม  พระตถาคตทรงตอบว่า  จงเมินเฉย ที่แท้แล้วเมื่อสมัยที่พระอานนท์ได้ถามว่าควรถือสิ่งใดเป็นธรรมนั้นก็เป็นเพราะศิษยานุศิษย์ที่อยู่ในมณฑลพิธีแห่งการประชุมธรรมนั้นต่างก็มีระดับพื้นฐานและความมั่นใจที่ไม่สม่ำเสมอ และหากได้เกิดมีศิษย์ที่เจริญออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว ควรจะทำการอบรมสั่งสอนเขาอย่างไร  ด้วยเหตุนี้ พระตถาคตจึงตรัสว่า จงเมินเฉย  ซึ่งคำว่า จงเมินเฉย นี้ จะมีความหมายว่า ไม่สนใจ  ไม่ร่วมมือ นั่นเอง

        สำหรับข้อที่สี่ พระตถาคตทรงตอบว่า ดั่งที่เราได้สดับ สำหรับคำ ๆ นี้ ที่แท้ก็คือคำรับรองที่ใช้พิสูจน์ว่า พระสูตรนี้ไม่มีความผิดพลาดอย่างแน่นอน ซึ่งคำ ๆ นี้จะปราฏกในทุก ๆ พระสูตร เพื่อเป็นสิ่งประกันให้เกิดความมั่นใจแก่เวไนยสัตว์ในอนาคตกาลนั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:22 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 9/03/2011, 17:09 »
 1.ความเป็นมาของการประชุมธรรม

        ดั่งที่เราได้สดับ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถีที่เชตวนารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1.250 รูป  เวลานั้นเป็นเวลาฉันภัตตาหารพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ทรงบาตร  และเสด็จสู่มหานครสาวัตถีบิณฑบาต อยู่ในเมืองนี้ บิณฑบาตโดยบำดับจนครบจำนวน ครั้นแล้วเสด็จกลับมายังเชตวนาราม ฉันภัตกิจเสร็จ เก็บบาตรจีวรชำระพระบาท จัดแต่งอาสนะแล้วประทับนั่ง

 2. สุภะ  ประกาศอัญเชิญ

        ขณะนั้น  อาวุโสสุภูติที่อยู่ท่ามกลางประชุมสงฆ์ ได้ลุกจากอาสนะเฉวียงจีวรเปลือยแขนไหล่ขวา คุกเข่าขวาลงพื้น ประคองอัญขลีพลางกราบทูลถามพระองค์ว่า "หาได้ยากนักหนา ข้าแต่ผู้มีพระภาคเจ้า ! ตถาคตทรงคุ้มครองห่วงใยอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ ทรงอบรมสั่งสอนอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อกุลบุตร กุลธิดาบังเกิดอนุตรสัมมาสัมโพธิจิตแล้ว ควรดำรงให้คงอยู่อย่างไร ? และควรสงบจิตนี้อย่างไร ? " พระพุทธองค์ตรัสว่า "เจริญพร เจริญพร สุภูติ ! ดังที่เธอกล่าว ตถาคตทรงคุ้มครองห่วงใยอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ และอบรมสั่งสอนอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ เธอจงตั้งใจฟัง เราจักแสดงแก่เธอ"  "กุลบุตร กุลธิดา เมื่อบังเกิดสัมมาสัมโพธิจิตแล้ว ควรดำรงจิตของตนให้คงอยู่เช่นนั้น ควรสงบจิตของตนเช่นนั้น " สาธุ  พระสุคต ! ขัาพระองค์มีความปลาบปลื้มยินดีเฝ้าคอยสดับอยู่"

 3. มหายาน  ศาสตร์แท้

        พระพุทธองค์ตรัสแก่สุภูติว่า "เหล่าเวไนยสัตว์ มหาสัตว์ ควรสยบใจเช่นนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดจากอัณฑชะก็ดี  เกิดจากชลาพุชะก็ดี  เกิดจากสังเสทชะก็ดี  เกิดจากอุปปติกะก็ดี  หรือจักมีรูปก็ดี  ไม่มีรูปก็ดี  มีสัญญาหรือไ้ร้ (สิ้น) สัญญาก็ดี  หรือจักมิมีสัญญาหรือมิไร้ (สิ้น) สัญญาก็ดี  เราล้วนชักนำเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานและขจัดฉุดฃ่วย ด้วยการขจัดฉุดช่วยสรรพสัตว์ที่จำนวนมิอาจประมาณนับได้นี้ ความจริงแล้วหาได้มีสรรพสัตว์ใด ๆ ได้รับการขจัดฉุดช่วยเลย เพราะเหตุใด ? สุภูติ ! หากพระโพธิสัตว์มีอาตมะลักษณะ  บุคคละลักษณะ  สัตวะลักษณะ  ชีวะลักษณะแล้ว  ก็จะมิใช่พระโพธิสัตว์ ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/05/2011, 23:23 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

 4. สังขาร (ดำเนิน) แยบยล  ไร้ดำรง

        "อนึ่ง  สุภูติ !  ในธรรมนั้น  พระโพธิสัตว์ควรบริจากทานโดยไร้ดำรงกล่าวคือ จักบริจาคทานโดยไร้ดำรงในรูป  ไร้ดำรงในเสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  และธรรมารมณ์  สุภูติ !  พระโพธิสัตว์ควรบริจาคทานเช่นนี้  โดยไร้ดำรงในลักษณะ  เพราะเหตุใด ?  หากพระโพธิสัตว์ไร้ดำรงในลักษณะบริจาคทาน  บุญวาสนาที่ได้รับก้จักมิอาจคิดคำนวนได้เลย  สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  ทิศบูรพาอันว่างเปล่าสามารถคะเนได้หรือไม่ ?"  "ไม่แล   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! "  "สุภูติ !  ทิศทักษิณ  ปัจฉิม  อุดร  ตลอดจนความว่างเปล่าในบนล่างสารทิศสามารถคะเนได้หรือไม่ ?"  "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !"    "สุภูติ ! พระโพธิสัตว์ไร้ดำรงในลักษณะบริจาคทาน  บุญวาสนาที่ได้ย่อมไม่อาจคะเนได้ดุจกัน  สุภูติ !  พระโพธิสัตว์พึงดำรงตามคำสอนเช่นนี้แล"

 5. ดั่งแท้  เห็นจริง

        "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  สามารถอาศัยกายลักษณะเห็นตถาคตได้หรือไม่ ?   "ไม่แล  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ไม่สามารถอาศัยกายลักษณะเห็นตถาคตได้  เพราะเหตุใด ? กายลักษณะที่พระตถาคตได้ตรัส  มิใช่กายลักษณะ"  พระสุคตตรัสแก่สุภูติว่า  "ลักษณะที่มีอยู่ทั้งหลายล้วนเป็นมายา  หากเห็นเหล่าลักษณะมิใช่ลักษณะ  ก็จะเห็นตถาคต"

 6. ศรัทธาเที่ยงตรง  ยากจะมี

        สุภูติทูลถามพระพุทธองค์ว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ยังจักจะมีเหล่าเวไนยสัตว์ที่ได้สดับพระธรรมบรรยายฉะนี้  แล้วบังเกิดศรัทธาอันเที่ยงแท้หรือไม่ ?"  พระพุทธองค์ตรัสตอบสุภูติว่า  "อย่าได้กล่าวเช่นนั้น  หลังจากตถาคตดับขันธ์ปรินิพพาน  หลัง 500 ปี  มีผู้ถือศีลบำเพ็ญบุญที่อาศัยพระธรรมนี้  จนสามารถเกิดใจศรัทธา  และถือสิ่งนี้เป็นจริง  ควรรู้ว่าคน ๆ นี้ ไม่เพียงแต่ปลูกฝังกุศลมูลเฉพาะ 1 พุทธะ  2 พุทธะ, 3,4,5  พระพุทธะเท่านั้น  หากแต่เขาได้ปลูกฝังกุศลมูลต่อพระำพุทธะอันมิอาจประมาณได้เลย  และเมื่อเขาได้สดับพระธรรมดังกล่าว กระทั่งเกิดศรัทธาบริสุทธิ์  สุภูติ !  ตถาคตนั้นรู้หมด  เห็นหมด  คือ  เหล่าเวไนยสัตว์ที่ยึดธรรมฉันนี้  จักได้รับบุญวาสนาอันไร้ขอบเขต  เพราะเหตุใด ?  เป็นเพราะเหล่าเวไนยสัตว์ฉันนี้จะไม่กลับไปมี  อาตมะลักษณะ  บุคคละลักษณะ  สัตวะลักษณะ  ชีวะลักษณะ  ไร้ธรรมลักษณะ  อีกทั้งไร้อธรรมลักษณะ  เพราะเหตุใด ? เพราะเหล่าเวไนยสัตว์ฉันนี้  หากใจเกิดติดในลัดษณะ  ก็คือติดยึดใน  อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  หากติดในธรรมลักษณะ  ก็คือ  ติดยึดใน  อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  เพราะเหตุใด  หากติดในอธรรมลักษณะ ก็คือ ติดยึดในอาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  ฉะนั้นจึงไม่ควรติคยึดในธรรม  ไม่ควรติดยึดในอธรรม  ด้วยความหมายเช่นนี้  ตถาคตมักกล่าวเป็นเสมอว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พึงรู้ว่าธรรมที่เราแดสง  อุปมาดั่งแพ  แม้แต่ธรรมยังต้องละ  นับประสาอะไรกับอธรรมเล่า"   

 7. ไร้รับ  ไร้วาจา

        "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  ตถาคตได้อนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา ?  ตถาคตได้แสดงธรรมฤา ?" สุภูติตอบว่า  "ตามความเข้าใจในความหมายที่พระองค์ตรัสของข้าพระองค์นั้นคือ ไม่มีธรรมที่แน่นอน  ที่ชื่อว่าอนุตตรสัมมาสัมโพธิ  และไม่มีธรรมที่แน่นอนที่ตถาคตได้แสดง  เพราะเหตุใด ?  ธรรมที่ตถาคตได้แสดงเทศนา  ล้วนมิอาจยึด  มิควรกล่าว  ไม่ใช่ธรรม  ไม่ใช่อธรรม  ทั้งนี้เพราะเหตุใด ?  เมธีอริยะทั้งหลาย  ล้วนเนื่องด้วยอสังขตธรรมและเกิดความแตกต่าง"   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

 8. อาศัยธรรม  ก่อเกิด

        "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  ถ้าหากบุคคลนำสัปตรัตนะปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุ  เพื่อใช้บริจาคทาน  บุญวาสนาที่ได้รับของบุคคลนี้นับว่ามากมายหรือไม่ ? " สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ? บุญวาสนานี้ แท้จริงไร้แก่นแท้ของบุญวาสนา ดังนั้นตถาคตตรัสว่า บุญวาสนามากมาย"  "แต่หากได้มีบุคคลสนองรับตามในพระสูตรนี้ ที่สุดแม้เพียงโศลกแค่ 4 บาท  และประกาศสาธยายกับคนอื่น  บุญนี้ยังมากมายเหนือกว่าบุญชนิดแรก  เพราะเหตุใด ?  สุภูติ !  พระพุทธะทั้งปวง  อีกทั้งเหล่าพระพุทธอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมทั้งหลาย ล้วนเกิดจากพระสูตรนี้  สุภูติ !  สิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรมนั้น  แท้จริงมิใช่พุทธธรรม"

 9. ไร้แม้หนึ่งลักษณะ
 
        "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ? พระโสดาบันจะสามารถมนสิการว่า ตนได้บรรลุโสดาปัตติผลได้ฤา ?"  สุภูติทูลตอบว่า  "ไม่แล   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ? พระโสดาบันนามว่าเข้าสู่กระแส แต่ไม่ได้มีการเข้า การไม่เข้าสู่ รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัส  ธรรมารมณ์  จึงได้ชื่อว่าพระโสดาบัน"  "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  พระสกทาคามีจะสามารถมนสิการว่า  ตนได้บรรลุสกทาคามิผลได้ฤา ?" สุภูติตอบว่า  "ไม่แล  ขัาแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?  พระสกทาคสมีมีนามว่าไปมาหนึ่งครั้ง แต่โดยความจริงไม่มีการไปมาหนึ่งครั้ง  จึงได้ชื่อว่าพระสกทาคามี"  "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ? พระอนาคามีจะสามารถมนสิการว่า  ตนได้บรรลุอนาคามิผลได้ฤา ?"  สุภูติทูลตอบว่า  "ไม่แล  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ? พระอนาคามีนามว่าไม่มา  แต่โดยความจริงไม่มีการไม่มา จึงได้ชื่อว่าพระอนาคามี"   "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ? พระอรหันต์จะสามารถมนสิการว่า ตนได้บรรลุอรหัตตมรรคได้ฤา ?"   สุภูติตอบว่า  "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?  โดยความจริงแล้วไม่มีธรรมที่เรียกว่าพระอรหันต์  ขัาแต่พระสุคต !  หากพระอรหันต์ได้มนสิการว่า ตนได้บรรลุอรหัตตมรรค  ก็คือติดใน  อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  ชีวะลักษณะ  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสว่า ข้าพระองค์ได้บรรลุอารัณยิกในสมาธิ  เป็นที่หนึ่งในกลุ่มคน  เป็นพระอรหันต์องค์แรกที่ได้พ้นจากกิเลส ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา !  ข้าพระองค์ไม่นมสิการเช่นนี้ว่า  ข้าพระองค์ก็คือพระอรหันต์ผู้พ้นจากกิเลส  ข้าแต่พระสุคต !  หากข้าพระองค์ได้มนสิการเช่นนี้ว่า  ข้าพระองค์ได้บรรลุอรหัตตมรรค  พระองค์ก็จะไม่ตรัสว่า  สุภูติคือผู้ยินดีในอารัณยิกปฏิปทา  แต่เนื่องด้วยความจริงแล้วสุภูติไร้ซึ่งปฏิปทาจึงได้ชื่อว่า สุภูติคือผู้ยินดีในอารัณยิกปฏิปทา"   

Tags: