collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 72020 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        พระธรรมาจารย์จึงโปรดแก่สิงชังว่า

ดาบเที่ยงธรรมสุจริตไม่ผิดบาป             ดาบผิดบาปมิใช่ดาบอันเที่ยงธรรม
อาตมาเป็นหนี้ท่านแค่ทองคำ              มิเป็นหนี้ท่านกระทำให้วางวาย

        สิงชังผู้กล้าผงะหงายด้วยความตกใจ ล้มฟาดกับพื้นสิ้นสติไป พักใหญ่ เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้น เขาวิงวอนสำนึกผิด ต่อพระธรรมาจารย์ ถวายปณิธานของอุปสมบททันที

พิจารณา  :   เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นธัมมานุสติให้ระลึกถึงพระธรรม การละเว้นกรรมชั่วกระทำความดี กฏแห่งกรรมยากนักจะหลีกเลี่ยงลบล้าง แม้พระธรรมาจารย์ผู้ประกอบกรรมดีมาชั่วชีวิต ยังมีหนี้กรรมที่ต้องชดใช้ ดังคำกล่าวที่ว่า

เป็นหนี้ชีวิตต้องชดใช้ด้วยชีวิต             เป็นหนี้เงืนทองต้องชดใช้ด้วยเงินทอง
เป็นหนี้อย่างไรต้องชดใช้อย่างนั้น         ไม่เป็นหนี้ย่อมไม่มีการชดใช้

        พระธรรมาจารย์จึงมอบทองคำให้แล้วโปรดว่า "ท่านจงกลับไปก่อน ด้วยเกรงว่าเหล่าศิษย์ของอาตมาจะกลับทำร้ายท่าน วันหน้าท่านจึงค่อยปลอมตัวกลับมาใหม่ อาตมาจะรับท่านไว้"

พิจารณา  :  พระธรรมาจารย์จัดการเรื่องราวได้อย่างปราณีตสุขุม กลมกลืนงดงาม แม้จะสูงส่งด้วยสถานภาพของพงศาธรรมาจารย์แห่งยุค แต่เมื่อพระองค์หยั่งรู้ว่าเคยเป็นหนี้เงินทองเขามาก่อน ก็ยินดีจ่ายหนี้คืนเขาไป ไม่เป็นหนี้เวไนยฯ ไม่เอาเปรียบเวไนยฯ ไม่กดขี่ ไม่คุมแค้น อีกทั้งยังแผ่เมตตา ยังให้โอกาสอีกต่อไป

        สิงชังผู้กล้ารับพระบัญชา แฝงกายหนีออกจากวัดในคืนนั้น ภายหลัง สิงชังได้ออกบวชที่สำนักสงฆ์อีกแห่งหนึ่ง รักษาศีลบริสุทธิ์ทุกข้ออย่างเคร่งครัดพร้อมมูล  วันหนึ่ง สงฆ์สิงชังคิดถึงคำพูดของพระธรรมาจารย์ จึงเดินทางจากที่ไกลมากราบนมัสการ  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "อาตมาคิดถึงท่่านนานมา ไฉนท่านจึงมาล่าช้านัก" สิงชังกราบเรียนว่า "ครั้งนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเถระเจ้ายกโทษให้ บัดนี้แม้จะออกบวชบำเพ็ญเพียรเคี่ยวกรำ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจตอบแทนพระกรุณาคุณท่านได้ มีทางเดียวก็คือ ถ่ายทอดเผยแผ่พุทธธรรมนำพาเหล่าเวไนยฯ เช่นนี้หรือมิใช่ ศิษย์มักจะอ่านพระคัมภีร์ "มหาปรินิรวาณสูตร" อญุ่เป็นประจำ ไม่ทราบความหมายของคำว่า "นิจจัง" กับ "อนิจจัง" ขอพระเถระเจ้าได้โปรดอธิบาย  พระธรรมาจารยฺโปรดว่า "อนิจจังความไม่เที่ยง คือ พุทธญาณ นิจจังความเที่ยง คือ จิตใจที่แบ่งแยกธรรมทั้งปวงด้วยบาปบุญดีร้าย

พิจารณา  :  คำตอบของพระธรรมาจารย์ ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังชะงักงันได้เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งสงฆ์สิงชังก็เป้นเช่นนั้น จึงย้อนแก่พระธรรมาจารย์ว่า

        "ที่พระเถระเจ้ากล่าวมานั้น ขัดต่อในหลักธรรมพระคัมภีร์ยิ่งนัก" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "อาตมาถ่ายทอดวิถีประทับจิตแห่งพุทธะ ไฉนเลยจะกล้าขัดต่อหลักธรรมในพุทธธรรมคัมภีร์" สงฆ์สิงชังว่า "ในพุทธธรรมคัมภีร์กล่าวไว้ว่า "พุทธญาณเป็นนิจจังเที่ยงแท้ พระเถระเจ้ากลับบอกว่าพุทธญาณเป็นอนิจจังความไม่เที่ยงแท้ จิตใจที่แบ่งแยกธรรมทั้งปวงด้วบาป บุญ ดี ร้าย ล้วนเป็นอนิจจังความไม่เที่ยงแท้ แต่พระเถระเจ้ากลับกล่าวว่าเป็นนิจจังความเที่ยงแท้ นี่คือขัดแย้งกันทำให้ศิษยืผู้ใคร่ศึกษาเพิ่มความกังขายิ่งขึ้น"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "คัมภีร์มหาปรินิวาณสูตรนั้น แต่ก่อนอาตมาได้ฟังจากแม่ชีอู๋จิ้นจั้ง อ่านท่องมารอบหนึ่ง ก็ได้อรรถาธิบายให้ฟัง (ไปแล้ว) ไม่มีหนึ่งอักษรใด ไม่มีหนึ่งความหมายใด (ที่อรรถาธิบายได้) ไม่ถูกต้องสอดคล้องต่อหลักธรรมในพระคัมภีร์ จนถึงวันนี้ ที่กล่าวแก่ท่านก็ยังคงเช่นกัน มิได้ผันเป็นสองความหมาย

พิจารณา  :  "...จนถึงวันนี้ที่กล่าวแก่ท่าน..." มิใช่ว่างเว้นจนถึงวันนี้ แต่ยังได้กล่าวต่อมาจากวัดธรรมญาณ กล่าวแก่อภิธรรมาจารย์ "อิ้นจงฝ่าซือ" และกล่าวแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายในโอกาสอันควรเสมอ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        สงฆ์สิงชังกราบเรียน (ยอมรับ) ว่า "ศิษย์ผู้ศึกษาปัญญาตื้นทึบ ขอพระเถระเจ้าได้โปรดอดทนอรรถาธิบายความนัยอันแยบยลนั้นด้วยเถิด" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ท่านรู้หรือไม่ พุทธญาณหากเป็นนิจจังความเที่ยงแท้...(หากเราทุกคนล้วนเป็นพุทธะอันคงอยู่เที่ยงแท้อย่างนั้นแล้ว โลกย่อมจะปราศจากเวไนยสัตว์) ยิ่งจะพูดได้อย่างไรต่อธรรมทั้งปวงว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล จนถึงสิ้นกัปกัลป์ก็หามีใครบังคับโพธิจิตไม่ ฉะนั้น อาตมาจึงกล่าวว่า " พุทธญาณเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ นั่นก็ตรงต่อสัจธรรมความเที่ยงแท้ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดไว้"

พิจารณา  :  สำหรับผู้อยู่กับภาวะหลง "พุทธญาณเป็นอนิจจัง" พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "พุทธญาณเป็นิจจัง" สำหรับธาตุแท้แห่งจิตญาณ ฉะนั้นจึงถูกต้องทั้งสองประการ สงฆ์สิงชังอ่านพระคัมภีร์ แล้วยึดหมายกลายเป็นความ " หลง " ว่าพุทธญาณเป็นนิจจังความเที่ยงแท้ พระธรรมาจารย์ต้องการจะทำลายความหลงนั้นของสิงชัง จึงกล่าวว่า "พุทธญาณเป็นอนิจจัง" พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เป็นนิจจังเที่ยงแท้" เพื่อทำลายความยึดหมายของเวไนยฯที่มีต่อทางโลก พระธรรมาจารย์กล่าวว่า "เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้" เพื่อทำลายความยึดหมายของสิงชังที่มีต่อทางธรรม การศึกษาพุทธวจนะ พระธรรมคัมภีร์ จึงต้องพิจารณาความเป็นมา ความประสงค์ที่แฝงอยู่ แท้จริงแล้ว พุทธญาณมิใช่ทั้งนิจจัง และมิใช่ทั้งอนิจจังยึดหมายอยู่ก็คือเวไนยฯ ก็คืออนิจจัง  วางยึดหมายลง บรรลุพุทธภาวะ ฉับพลัน อนิจจังก็กลับกลายเป็นเที่ยงแท้ สุดท้าย พระธรรมาจารย์จึงได้ยืนยันว่า "ที่กล่าวมานั้น ตรงต่อสัจธรรมความเที่ยงแท้ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้"

        โปรดต่อไปอีกว่า "ธรรมทั้งปวงหากเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ (แสดงว่ายังมีการเกิดดับ) " สรรพชีวิตล้วนมีจิตญาณในตน ต่างต้องได้รับสภาพการเกิดตาย แต่จิตญาณตถตาเที่ยงแท้ไม่เกิดดับ ดูพร่องด้วยเหตุผล ฉะนั้น ที่อาตมากล่าวว่าเป็นนิจจังเที่ยงแท้นั้น คือ ตรงต่อความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป้นอนิจจังไม่เที่ยงแท้นั่นเอง  องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุอันเนื่องด้วยปุถุชนกับมิจฉาชนยึดหมายในความเที่ยงแท้ผิด ๆ ส่วนหมู่ชนในยานระดับที่สอง มักจะเอาความเที่ยงประมาณความไม่เที่ยง ก่อเกิดความคิดเห็นสับสน กลับไปกลับมาแปดประการ...( ไม่เที่ยงประมาณความเที่ยง   ความทุกข์ประมาณความสุข
ปราศจากตัวตนประมาณตัวตน   ไม่หมดจดประมาณความหมดจด   เที่ยงประมาณความไม่เที่ยง   ความสุขประมาณความทุกข์   มีตัวตนประมาณปราศจากตัวตนหมดจดประมาณความไม่หมดจด ) ดังนั้น ในคัมภีร์ " มหาปรินิรวาณสูตร " ในบทแจงสอนจึงได้ทำลายความเห็นผิดแห่งชนเหล่านั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในท่ามกลางจิตญาณมีภาวะตถตาแท้  มีภาวะสุขแท้   มีภาวะตัวตนแท้   มีภาวะหมดจดแท้  วันนี้ท่านอ่านพระคัมภีร์ตามตัวอักษร แต่หันหลังให้กับความหมายอันแท้จริงนั้น ยึดมั่นต่อการดับสูญขาดสิ้นว่าเป็นความไม่เที่ยง อีกทั้งปักใจต่อสิ่งตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงว่าเป็นความเที่ยง และกลับเข้าใจพุทธวจนะในมหาปรินิรวาณสูตรอันปราณีตแยบยลในตอนท้ายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ผิดไป เช่นนี้ แม้จะอ่านพระสูตรนี้ต่อไปอีกพันครั้ง ยังจะมีประโยชน์อันใดหรือ  สงฆ์สิงชังตื่นใจรู้แจ้งครั้งใหญ่ฉับพลัน ถวายโศลกว่า

ด้วยใจอัน             ยึดมั่นใน        "ไม่เที่ยง"นั้น
พุทธองค์ท่าน        ว่านิพพาน       มีญาณ "เที่ยง"
แม้ไม่รู้                กุศโลบาย        ใจเอนเอียง
หลงผิดเพี้ยง         งมกรวดสระ      ว่าเพชรนา
ศิษย์วันนี้             มิทันชั่ง           สร้างคุณใด
พุทธญาณได้       สำแดงเห็น       เป็นตรงหน้า     
หากมิใช่            อาจารย์ท่าน      นั้นกรุณา
ศิษย์ศึกษา         จะมิได้             อะไรเลย

พิจารณา  :  โศลกสองบาทข้างท้ายมีความหมายอีกแง่หนึ่งว่า

ศิษย์วันนี้             มิทันได้             หมายสิ่งใด
รู้แจ้งได้              มิใช่ท่าน            อาจารย์ให้
พุทธญาณตน       ผลสมบูรณ์          พูนพร้อมใน
ซึ่งมิใช่               บรรลุได้             ด้วยกายตน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

       พระธรรมาจารย์โปรดว่า "วันนี้ ท่านรู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ควรได้ฉายาธรรมว่า จื้อเช่อ มุ่งมั่นรู้แจ้ง" สงฆ์จื้อเช่อกราบขอบพระคุณแล้วถอยกลับออกมา  เด็กชายคนหนึ่ง นามเสินฮุ่ย เป็นบุตรชายของคนแซ่สกุลเกาแห่งอำเภอเซียงหยัง มณฑลหูเป่ย อายุสิบสามปี มาจากอาณาจักรธรรมของมหาเถระเสินซิ่วที่วัดธารหยก เมืองจิงหนัน เพื่อกราบนมัสการพระธรรมาจารย์  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ผู้คงแก่เรียนลำบากเดินทางไกลมา ยังจำโฉมหน้าเดิม (จิตเดิมแท้) อยู่ ก็จะรู้เป็นผู้ใหญ่ในชีวิตตน...ท่านลองว่าไป

พิจารณา  :  คำทักทายเพื่อหยั่งปัญญาเช่นนี้ เป็นทีู่้กันในหมู่ผู้บำเพ็ญสมัยนั้น คงจำได้ว่า สรรพนามที่พระธรรมาจารย์เรียกขานผู้ใด กล่าวถึงผู้ใด ล้วนให้ความเสมอภาค ยกย่องเช่นนี้เสมอมา นี่คือการแสดงออกของพุทธภาวะ ด้วยเหตุที่ " พุทธะคือความเสมอภาค "

        สามเณรเสินฮุ่ยตอบว่า "เอาจิตที่ไม่ยึดหมายเป็นรากฐาน เอาภาวะจิตที่ส่องเห็นใจจริงอันไม่ยึดหมายเป็นผู้เป็นใหญ่ของชีวิต"

พิจารณา  :  คำตอบของเสินฮุ่ย เป็นคำขวัญที่พูดกันเป็นสูตรในหมู่ผู้บำเพ็ญฌานธยานะ  เสินฮุ่ยไม่ได้พูดผิด แต่พระธรรมาจารย์มิได้ชื่นชมคำตอบนี้ กลับอบรมสั่งสอนยกใหญ่ เพราะเสินฮุ่ยจำเอามาพูด โดยยังมิได้เข้าถึงภาวะจิตเดิมแท้ของตนเองจริง ๆ เลย 

        พระธรรมาจารย์ว่า "สามเณรนี้พูดเรื่อยเจื้อยไม่ชั่งใจ" กล่าวจบก็ยกไม้เท้าตีสามเณรไปสามที  เสินฮุ่ยย้อนถามพระธรรมาจารย์ว่า "พระเถระเจ้านั่งฌานได้เห็นหรือไม่ได้เห็นล่ะ"  พระธรรมาจารย์ย้อนถามบ้างว่า "ที่อาตมาตีท่าน เจ็บหรือไม่เจ็บล่ะ"  ตอบว่า "ทั้งเจ็บและไม่เจ็บ" พระธรรมาจารย์ก็ตอบไปบ้างว่า "ทั้งเห็นและไม่เห็น"  เสินฮุ่ยถามอีกว่า "อย่างไรคือทั้งเห็นและไม่เห็น"พระธรรมาจารย์โปรดว่า "สิ่งที่เห็นของอาตมา คือมักเห็นความผิดแห่งจิตตน ไม่เห็นความถูกผิดดีร้ายในผู้อื่น คือทั้งเห็นและไม่เห็น"

พิจารณา  :  พระธรรมาจารย์หยั่งรู้นิสัยใจคอของสามเณรเสินฮุ่ยได้ จึงใช้คำพูดโต้ตอบอันชอบด้วยอุบายให้เป็นข้อคิดแก่เด็กชายอายุสิบสามที่มีความกล้าเกินตัวนี้

        "แล้วที่ท่านตอบว่าทั้งเจ็บและไม่เจ็บล่ะ เป็นเช่นไร หากท่านไม่เจ็บก็เป็นเช่นท่อนไม้ เป็นเช่นก้อนหิิน  หากว่าเจ็บ ก็จะเป็นเช่นปุถุชน ก็จะบังเกิดความเคืองแค้น  ที่ท่านถามก่อนหน้านี้ว่า "เห็นหรือไม่เห็น" นั้น เป็นการรับรู้สิ่งภายนอกสองฝั่งทาง  แต่ เจ็บและไม่เจ็บ" เป็นสภาวะรับรู้การเกิดดับภายใน ท่านยังมิได้เห็นจิตญาณตน กล้ามาหลอกล่อล้อเล่นเช่นนี้เชียวหรือ" เสินฮุ่ยสำนึกผิด กราบขอให้พระธรรมาจารย์ได้โปรดยกโทษ  พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า "หากจิตของท่านหลงอยู่มิอาจรู้เห็น จงถามทาง (วิถีจิต) จากผู้เจริญ  หากจิตของท่านสำนึกรู้ ก็จะเห็นจิตญาณตนได้เอง เมื่อเห็นจิตญาณตนแล้ว จงปฏิบัติตามวิถีธรรมต่อไป ท่านเองหลงอยู่ไม่เห็นจิตตน แต่กลับถามอาตมาว่า "เห็นหรือไม่เห็น" อาตมารู้เห็นก็รู้เห็นกับตนเอง จะรู้เห็นแทนท่านที่หลงอยู่ได้อย่างไร  แต่หากท่านรู้เห็นในตนเอง ก็ไม่อาจรู้เห็นแทนความหลงของอาตมาได้ เช่นนี้แล้ว ไฉนไม่รู้เองเห็นเองเสียล่ะ จะถามอาตมาทำไมว่า "เห็นหรือไม่เห็น"

พิจารณา  : 
ฉันกินคือฉันอิ่ม             ฉันอิ่มด้วยฉันกิน
รับรสหมดทั้งสิ้น            ด้วยลิ้นของฉันเอง
ฉันถึงซึ่งมุ่งเดิน             ท่านเพลินด้วยเดินเคว้ง
ไม่ถึงเมืองเชวง             นอนเขลงตะเลงตุง
เพียงเท่านี้ ผู้บำเพ็ญก็รู้แล้วว่า จะต้องทำอย่างไรกับตนเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   3

                    บทที่ 7  :  ใต้ฉับพลัน  เหนือนานเนื่อง  ( หนัน ตุ้น เป่ย เจี้ยน )

        สามเณรเสินฮุ่ย กราบอีกร้อยกว่ากราบ ขอให้พระธรรมาจารย์โปรดยกโทษให้ จากนั้นก็อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระธรรมาจารย์ไม่ห่างเลย  วันหนึ่ง พระธรรมาจารย์โปรดแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า "อาตมามีอะไรสิ่งหนึ่ง ไม่มีหัวไม่มีหาง ปราศจากนาม ปราศจากฉายา ไม่มีด้านหลัง ไม่มีด้านหน้า ทุกท่านรู้จักไหม"  สามเณรเสินฮุ่ยทะยานตนออกมาตอบทันทีว่า "คือต้นกำเนิดของเหล่าพุทธะ พุทธญาณของเสินฮุ่ย"

พิจารณา  :  คำตอบของเสินฮุ่ย หากพิจารณาตัดสินคำพูดกับอักษร คำตอบนี้ถูกต้อง แต่หากพิจารณาจาก "ตัวแท้ของรูป"...ถูกตัดขาดจากการแสดงออกด้วยคำพูดด้วยอักษรโดยสิ้นเชิง เพราะ "ตัวแท้ของนามรูป" มิอาจกล่าวอ้างด้วยนามรูป พระธรรมาจารย์จึงบอกว่า ปราศจากนาม ปราศจากฉายา "ตัวแท้ของรูป" เป็นต้นกำเนิดของเหล่าพุทธะ แต่ "ตัวแท้ของรูป" อันเป็นพุทธญาณ หากไม่มีนามเรียกขานแล้ว "ต้นกำเนิดของพุทธญาณ" จะแสดงให้ณุ้ด้วยอาการใด จึงกล่าวว่า เสินฮุ่ยตอบถูกกับตอบไม่ถูก แต่พระธรรมาจารย์ต้องการจะลบคมของเสินฮุ่ยจึงแสร้งปรามให้

        พระธรรมาจารย์ดุให้ว่า "บอกท่านแล้วว่า ปราศจากนาม ปราศฉายา ท่านก็เรียกเสียว่า "ต้นกำเนิด"  "พุทธญาณ"  ภายหน้า  แม้ว่าท่านจะเอากระท่อมหลัง
คามุงหญ้ามาคุ้มหัวไว้ ก็จะเป็นได้แค่ศิษย์ผู้ใฝ่รู้ใฝ่หาความเข้าใจของสายฌานคนหนึ่งเท่านั้นเอง

พิจารณา  :  คำดุว่าของพระธรรมาจารย์ ฟังเผิน ๆ เหมือนอย่างปรามาส แต่แท้จริงแล้วคือกระตุ้นให้กำลังใจ "เอากระท่อมหลังคามุงหญ้าคุ้มหัว" ท่านหมายถึงมีอาณาจักรธรรมที่รับผิดชอบ  "ผู้ใฝ่รู้ใฝ่ความเข้าใจ" หมายถึง เป็นนักธรรมผู้ใหญ่ที่แตกฉานในสายฌานต่อไป

        ภายหลังต่อมา (หลังจากสิ้นพระธรรมาจารย์แล้ว) เสินฮุ่ยเข้าเมืองหลวง แพร่ธรรมนิกายฉับพลันจากเฉาซีเป็นการใหญ่ ประพันธ์หนังสือ " บทจารึกแสดงพงศาธรรม " ออกเผยแพร่ เป็นที่นิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง

พิจารณา  :  ศึกษาพุทธธรรม คือศึกษาวิถีจิต เป็นความปราณีตภายในจิตสำนึก เพื่อกำราบความอยาบ สยบความสับสนวุ่นวายส่ายคลอนของจิตใจ ไม่ใช่เพื่อประดับหรือแสดงความรู้ความสามารถของตน เพื่อการ "ถก" หรือการ "ถม" ให้อีกฝ่ายต้องล้มหงายไม่เกิดได้ หากทำเช่นนั้นได้สำเร็จ ถามว่าใครหรือที่เป็นผุ้แพ้

        พระธรรมาจารย์เห็นศิษย์ในสายธรมต่าง ๆ พากันมาขอถามปัญหาพิศดารในพุทธธรรมกันมากมายเหลือเกิน ล้วนด้วยเจตนาไม่งดงามในธรรม เขาเหล่านั้นชุมนุมกันอยู่เบื้องล่างบัลลังก์อาสน์ ท่านจึงโปรดแก่เขาเหล่านั้นด้วยความสงสารว่า "ผู้ศึกษาธรรม ความคิดทุกอย่างทั้้งคิดดีคิดชั่ว ล้วนพึงขจัดเสียให้สิ้น ( ความคิดทั้งปวงล้วนเป็นอุปสรรคต่อความว่าง ) เมื่อขจัดสิ้นแล้วทั้งคิดดีคิดชั่ว ภาวะนั้นปราศจากนามเรียกขานได้อีก จึงสมมุติให้เรียกว่า " จิตญาณ "  จิตญาณอันปราศจากความเป็นสอง (ไม่คิดดีไม่คิดชั่ว) เรียกว่า "ญาณแท้ตถตา"  การก่อตั้งศาสนจักรทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งสิ้นบนพื้นฐานของ "ญาณแท้" นั้น เพียงแค่เอ่ยปากก็ควรรู้เห็น "ตน" ณ บัดใจ... ทุกคนในที่นั้น ได้ฟังคำของพระธรรมาจารย์แล้ว ต่างก้มกราบด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง อีกทั้งต่างถวายตัวขอเป็นศิษย์
 
                  ญาณคันฉ่องใหญ่             กลมใสโสภิต             คือจิตแท้นั่น   
                     ไม่กั้นแบ่งชั้น           คือปัญญาจิต             ไม่ผิดเจ็บป่วย
        ไ              ม่ยึดสิ่งมี             วิเศษพินิจ                 คือจิตอำนวย
                 ส่งเสริมเติมช่วย            ด้วยจิตรู้การ              ดุจคันฉ่องกลม

                                   - จบบทที่ 7 -  เล่มที่ 3
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11/08/2011, 04:44 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ๔

                                   คำนำ

        โลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน "คน" ต่างพยายามก้าวเดินเพื่อให้ทันกับการพัฒนาของสรรพสิ่ง สรรพภาษา  สรรพประโยชน์กันเต็มที่ "ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร" เล่มนี้ ชื่อที่แปลกันไว้ส่วนใหญ่ก็คือ "สูตรของท่านเว่ยหล่าง"  ซึ่งจะเป็นผลงานแปลของท่านผู้รู้ท่านใดก็ตาม ก็มักจะออกมาในทำนองเดียวกัน  โลกปัจจุบัน ผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนภาษาจีนกลางมีมากขึ้น ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเป็นภาษทางราชการ มิใช่ภาษาท้องถิ่น จึงได้รับความนิยมมาก คำว่า "เว่ยหล่าง" เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นภาษาท้องถิ่น ที่เป็นหลักของชาวมณฑลกวางตุ้ง สรรพนามต่าง ๆ ในพระสูตรเล่มเดิม ๆ ที่แปลกันมา เห็นได้ว่าออกเสียงเป็นกวางตุ้งแทบทั้งนั้น บัดนี้ ชาวกวางตุ้งเองที่พัฒนาการทางภาษา ต่างก็สะท้อนความคิดว่า น่าจะเปลี่ยนเป็นแมนดารินอันเป็นสากล  ผู้แปลตัดสินใจไม่ได้อยู่หลายปีที่จะแปลพระสูตรนี้ขึ้นใหม่ แต่สุดท้ายเมื่อเป็นคำร้องขอจากผู้ปฏิบัติบำเพ็ญในวิถีอนุตตรธรรมมากขึ้น จึงต้องเสาะหาต้นฉบับเดิมแท้อักษรจีนโดยตรงของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงที่เก็บรักษาไว้ ณ ถิ่นกำเนิดของพระองค์ท่านในประเทศจีนให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการผิดพลาดจากการแปลภาเป็นภาษาอังกฤษ หรือแจกแจงผู้เติมจากภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษอีกเช่นเคย 
 
        จึงเรียนชี้แจงมา และหวังว่าท่านผู้ตั้งใจใฝ่ธรรมจะได้รับประโยชน์สมความปรารถนา 

                                               ขอบพระคุณ

                                                 ศุภนิมิต   

๑ .  พระมหากัสสปะ        ๒.  พระอานนท์        ๓.  พระศาณกวาสะ        ๔.  พระอุปปคุปตะ        ๕.  พระธฤฏกะ        ๖.  พระมิจฉกะ       
๗.  พระวสุมิตร              ๘.  พระพุทธนันธิ      ๙.  พระพุทธมิตร          ๑๐. พระปารัศวิกะ         ๑๑. พระปุณยยะศะ    ๑๒. พระอัศวโฆษ
๑๓. พระกปิมละ            ๑๔. พระนาคารชุน      ๑๕. พระกาณเทพ         ๑๖. พระราหุลตา          ๑๗. พระสังฆนันทิ     ๑๘. พระคยาศตะ
๑๙. พระกุมารตะ           ๒๐. พระชยัต            ๒๑. พระวสุพันธุ            ๒๒. พระมโนรหิตะ        ๒๓. พระหกเลน        ๒๔. พระอารยะสิงหะ
๒๕. พระวสิอสิตะ          ๒๖. พระปุณยมิตร      ๒๗. พระปรัชญาตาระ      ๒๘. สมเด็จพระโพธิธรรม       ๒๙. พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเข่อ
๓๐. พระธรรมาจารย์เซิงชั่น        ๓๑. พระธรรมาจารย์เต้าซิ่น          ๓๒. พระธรรมาจารย์หงเหยิน     ๓๓. พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง     

                                                              สารบัญ
บทที่ ๘.  ราชวงศ์ถังกราบนิมนต์  (ถังเฉาเจิงเจ้า)
บทที่ ๙.  วิถีธรรมแสดงความตรงข้าม (ฝ่าเหมินตุ้ยซื่อ)
บทที่ ๑๐. กำชับให้แพร่หลาย  (ฟู่จู่หลิวทง)   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ๔   

                                          บทที่ ๘

                                   ราชวงศ์ถังกราบนิมนต์
 
                                      (ถัง เฉา เจิง เจ้า)

        รัชสมัยเสินหลง ปีที่สอง (ในสมัยพระเจ้าจงจงแห่งราชวงศ์ถัง) สิบห้าค่ำเดือนอ้าย (ค.ศ. 706) จักรพรรดิณีพระพันปีหลวงอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) พร้อมด้วยพระเจ้าจงจงได้ส่งพระราชสาส์นนิมนต์มาว่า "น้อมนมัสการพระคุณเจ้า เนื่องด้วยพระอาจารย์เสินซิ่วกับพระอาจารย์ฮุ่นอัน ได้รับนิมนต์มารับการอุปัฏฐากอยู่ในพระราชวัง เพื่อทุกครั้งเมื่อยามว่างจากบริหารราชการบ้านเมือง ข้าพเจ้าจะได้ศึกษายานหนึ่งในพุทธธรรม" พระอาจารย์ทั้งสอง (ให้เีกียรติ) บ่ายเบี่ยงว่า "ทางใต้มีสมาธยานะจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้รับมอบหมายจีวรพงศาธรรม ได้รับถ่ายทอดประทับตราใจแห่งพุทธะจากมหาเถระเจ้าหงเหยิ่นไว้เป็นการมิดชิด ซึ่งข้าพเจ้า (จักรพรรดิกับจักรพรรดิณี) จะนิมนต์ (ท่านฮุ่ยเหนิง) เข้าวังมาเพื่อเรียนถามได้ บัดนี้ จึงได้ส่งขันที นามว่า เซวียเจี่ยน  เร่งด่วนทูนเชิญราชสาส์นมานิมนต์ หวังว่าพระอาจารย์จะโปรดเมตตากรุณา รีบมุ่งสู่มหานคร"  
        พิจารณา  :  
        สมเด็จพระนางเจ้าจักรพรรดิณี พระพันปีหลวงอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) ที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้เป็นบุคคลสำคัญชั้นยอดนั้น ในทัศนะของการปกครองบ้านเมือง พระองค์ถูกมองถูกวิจารณ์ ทั้งแง่ดีแง่ร้าย แต่ในทัศนะของทางธรรม พระองค์เป็นอุปถัมภกที่สำคัญยิ่งของศาสนาพุทธในประเทศจีน คัมภีร์พระสูตรพุทธศาสตร์สำคัญ ๆ มากมาย ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนเผยแผ่ไปสู่พุทธศาสนิกชนจีนในสมัยนั้น อีกทั้งเผยแผ่ไปสู่พุทธศาสนิกชนจีนทั่วโลกเรื่อยมาจนถึงยุค
ปัจจุบัน เช่น "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นศรัทธาปรารถนาจากพระนางเจ้าจักรพรรดิณี พระพันปีหลวงอู่เจ๋อเทียน
        พระธรรมาจารย์ (ได้รับพระราชศาส์นนิมนต์แล้ว) ได้ถวายศาส์นตอบปฏิเสธไปว่า เนื่องด้วยอาพาธและปรารถนาจะละสังขารในป่าเขา (จึงมิได้เข้าวัง)
        พิจารณา  :
        มหาเถระเจ้าเสินซิ่วนั้น คนที่อยู่นอกประตูพุทธะจะมองเห็นว่าท่านน่าจะเป็นคู่อริกับพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ทั้งสององค์เหมือนยืนประจัญหน้ากันคนละทัศนธรรม ฝ่ายหนึ่งถ่ายทอดวิถี "ฉับพลัน"   ฝ่ายหนึ่งถ่ายทอดวิถี "นานเนื่อง" แต่ผู้เจริญธรรมอย่างแท้จริงเสมอด้วยท่านทั้งสองนั้น หาได้ข้องใจต่อกันทั้งสองไม่ การนี้ ท่านเสินซิ่วยังได้เขียนจดหมายด้วยตัวของท่านเองไปถึงท่านฮุ่ยเหนิง นิมนต์ให้เข้าวัง เพื่อความเจริญธรรมแห่งเจ้าเหนือหัว อันจะเป็นปัจจัยใหญ่ส่งผลให้พุทธศาสนาเฟื่องฟูไปทั่วแผ่นดินจีน โดยท่านเสินซิ่วถ่อมตนว่า ปัญญาบารมีของท่านเองยังห่างไกลนัก  ท่านฮุ่ยเหนิงก็ได้ตอบจดหมายปฏิเสธไปด้วยความขอบคุณและเกรงใจว่า หนึ่ง บุคลิกลักษณะและหน้าตาของท่าน (ฮุ่ยเหนิง) ไม่ชวนให้เกิดศรัทธา เป็นจุดบอดเบื้องต้นแก่ผู้เลื่อมใส   สอง  พระธรรมาจารย์สมัยที่ห้าโปรดบัญชาชี้ชัดว่าฮุ่ยเหนิงจะต้องไปเจริญธรรมทางใต้  เหตุผลสองประการนี้ ทำให้ต้องอ้างแก่ทางพระราชวังว่า "อาพาทไม่อาจมาได้"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 7/09/2011, 07:55 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ๔   

                                           บทที่  ๘

                                   ราชวงศ์ถังกราบนิมนต์
 
                                      (ถัง เฉา เจิง เจ้า)

        ขันทีเซวียเจี่ยน (ผู้อันเชิญพระราชสาส์น) กราบเรียนพระธรรมาจารย์ว่า "ธยานะจารย์ในเมืองหลวงต่างกล่าวว่า "จะเข้าถึงวิถีธรรมแห่งธรรมญาณตถตาได้จำเป็นจะต้องนั่งฌานฝึกสมาธิ" "ผู้หลุดพ้นได้ โดยมิได้ปฏิบัติฌานสมาธินั้นหามีไม่" คำกล่าวนี้ มิทราบว่าหลักธรรมของพระมหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิง กล่าวเช่นไร" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ธรรมะเข้าถึงรู้แจ้งได้ด้วยจิต จะเป็นได้ด้วยการนั่งกระนั้นหรือ"  ในพระคัมภีร์ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร จินกังจิง จารึกว่า "หากผู้ใดกล่าวว่า ภาวะตถตา เกิดด้วยการนั่ง การนอน เพื่อเข้าถึงภาวะตถตา ผู้นั้นดำเนินมิจฉาวิถี" เหตุอันใดหรือ ก้ด้วยเหตุว่า ตถตาแห่งตถาคตนั้นปราศจากที่อันได้มา ปราศจากที่อันได้ไป ปราศจากการเกิดดับ เป็นภาวะตถตาฌานอันบริสุทธิ์ ด้วยธรรมทั้งปวงอยู่ในภาวะว่าง ภาวะว่าง เป็นภาวะอันได้ "นั่ง" อย่างบริสุทธิ์ของตถตา เมื่อถึงที่สุดแห่งความปราศจากโดยสิ้น ดั่งนี้แล้ว ยังจะติดอยู่กับลักษณะอาการนั่งหรือไม่นั่งอีกกระนั้นหรือ
        พิจารณา  
        เหตุใดจึงกล่าวว่า "ตถตา" ตัวแท้ของจิตญาณ หรือ ภาวะความเป็นอย่างนั้นเอง ของจิตญาณ ปราศจากที่มา ปราศจากที่ไป  ก้ด้วยเหตุที่ ตถตา เป็นภาวะที่มิอาจหยั่งรู้ "การไปมาแล้วอย่างนั้น" ได้ แต่เป็นสิ่งที่ประจุอยู่เต็มในความวว่างแห่งมหาจักรวาล ดุจอากาศธาตุ มิอาจประมาณ มิอาจประมาณได้ นั่นคือความเป็น "ฉันสภาวะใหญ่" ต้าหว่อ  ตัวอย่าง "ฉันสภาวะใหญ่" ของชาวโลกทั่วไปเช่น ภาวะจิตของคนที่ทำหน้าที่กู้ภัยใหญ่หลวงสุดฤทธิ์สุดใจสุดกำลังขณะนั้น "ฉันสภาวะใหญ่"  ของชาวโลกทั่วไป เช่น ภาวะจิตของคนที่อยู่กลางเวหา  กลางทะเลเวิ้งว้าง โดยปราศจากจิตยึดหมายต่อภาวะใด ๆ เฉพาะหน้าขณะนั้น "ฉันสภาวะเล็ก" ของชาวโลกเช่น ภาวะจิตของคนที่ทุบประตูจะเข้าห้องน้ำด่วน เพราะห้องน้ำไม่ว่างขณะนั้น  "ฉันสภาวะเล็ก" ของชาวโลก เช่น ภาวะจิตของคนที่อยู่ในห้องแคบขังตัวเองอยู่กับความทุกข์ขณะนั้น แต่ฉันสภาวะใหญ่ในความเป็นตถตานั้น เป็นภาวะว่างจากตนเองเกินกว่ากล่าวอ้างได้ จึงได้แต่อุทานว่า "มิอาจประมาณ มิอาจประมาณได้"  ขันทีข้าราชสำนักผู้อันเชิญพระราชสาส์นนิมนต์มา กราบเรียนพระธรรมาจารย์ว่า "เมื่อศิษย์กลับถึงพระนคร พระมหาจักรพรรดิทั้งสองพระองค์จะต้องถามว่า พระธรรมาจารย์ได้โปรดธรรมประการใด จึงขอพระธรรมาจารย์ได้โปรดเมตตากรุณา ชี้แนะหลักสำคัญอันเป็นหัวใจแห่งพุทธะ เพื่อศิษย์จะได้ถวายสู่พระราชฐานทั้งสอง อีกทั้งถ่ายทอดแก่ผู้ศึกษาพระธรรมทั้งหลายในพระนคร อุปมาดั่ง "หนึ่งโคมไฟกระจายจุดมิหยุดยั้ง ผู้มืดบอดล้วนได้ใสสว่าง ใสสว่าง  ใสสว่างต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด"  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ธรรมะปราศจากความสว่าง มืด  สว่าง มืด เป็นความหมายของการเกิด ดับ ปรับเปลี่ยน สว่างใสไม่สิ้นสุด ก็คือมีที่สิ้นสุด  มืด สว่าง เป็นเพียงชื่อเรียกขานประจัน อันเป็นความตรงกันข้ามเท่านั้น" ฉะนั้น ในคัมภีร์ "วิมลเกียรตินิเทศสูตร" จึงได้จารึกไว้ว่า "ธรรมะปราศจากสิ่งอันเปรียบเทียบกัน ปราศจากการประจันตรงข้าม"
        พิจารณา
        ปราศจากสิ่งอันเปรียบเทียบ  เช่นทางโลกว่า นั่นดีกว่า นั่นแย่กว่า  ปราศจากสิ่งอันตอบโต้ตรงข้าม เช่นทางโลกว่า รัก-ชัง  ให้-รับ  ในคัมภีร์คุณธรรมเต้าเต๋อจิงของท่านอริยปราชญ์เหลาจื่อ จึงกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า "ธรรมะอันอาจกล่าวขานได้ มิใช่ธรรมะอันเป็นธรรมะ เต้าเข่อเต้า เฟยฉังเต้า" และประโยคที่ว่า"คำพูดวาจาทำให้ธรรมะขาดความเป็นธรรมะไป" เอี๋ยนอวี่เต้าต่วน  พุทธธรรมว่า ปัญญาบริสุทธิ์พ้นหากรูปลักษณ์อักษร  พ้นหากจากรูปลักษณ์วาจา  พ้นหากจากรูปลักษณ์ปัจจัย (คิดคำนึง) พระพุทธองค์ทรงประกาศสัจธรรมอยู่สี่สิบเก้าปี กล่อมเกลานำพาเวไนยฯ ตามเหตุปัจจัยของแต่ละคนด้วยวิธีอันชอบด้วยอุบาย สัจคัมภีร์มิได้อยู่บนกระดาษ กล่าวอ้างด้วยวาจาได้ก็มิใช่ "ตัวแท้" ของธรรมะ เพื่อมิให้เวไนยฯเข้าใจผิด เอาวิธีอันชอบด้วยอุบายที่ให้ไปตามจริตของแต่ละคนยึดเป็นเป้าหมายไว้ ฉะนั้น ในคัมภี์วัชรญาณสูตรจึงจารึกไว้ว่า "หากผู้ใดกล่าวว่า ตถาคตได้แสดงธรรม เขาผู้นั้นกล่าวโทษพุทธะ" พระพุทธองค์ยังตรัสอีกว่า "ตถาคตมิได้แสดงธรรมประการใดเลย เพราะธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่แล้วในมหาจักรวาลหมื่นโลกธาตุ"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 7/09/2011, 07:56 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ๔

                                         บทที่  ๘

                                  ราชวงศ์ถังกราบนิมนต์
 
                                      (ถัง เฉา เจิง เจ้า)

        เซวียเจี่ยนกล่าวว่า "สว่างใสเปรียบได้ดั่งปัญญา ความมืดประดุจดั่งกิเลส" ผู้บำเพ็ญธรรมแม้หากมิเอาแสงแห่งปัญญาส่องทำลายกิเลสให้สิ้นไป ความเกิดตายจากบูรพกาลมา จะอาศัยสิ่งใดเล่าเป็นตัวพาให้พ้นหาก" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "กิเลสก็คือโพธิ ทั้งสองนี้มิแตกต่างกัน"
        พิจารณา
        ดังที่เคยแจงไว้แต่ต้นแล้วว่า "ขณะหลงเรียกว่ากิเลส รู้แจ้งพลันเรียกว่าโพธิ" แท้จริงกิเลสกับโพธิอยู่ในจิตใจเดียวกัน อุปมาน้ำกับระลอกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน หากกล่าวว่ากิเลสกับโพธิแตกต่างกันไป จะเท่ากับไม่เข้าใจพุทธธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า ขณะเกิด "ระลอก" โพธิก็อยู่ในระลอก (ระลอกอยู่ในน้ำ) ขณะเป็น"โพธิ" ระลอกอยู่ในโพธิ (น้ำอยู่ในระลอก) 
        หากจะต้องเอาปัญญาส่องทำลายกิเลส ดังนี้ก็จะเท่ากับเป็นผุ้บำเพ็ญในระดับสาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน ซึ่งก็จะเป็นรถเทียมแพะเทียมกวาง (ที่ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" ได้เปรียบเทียบไว้)
        พิจารณา
        ด้วยเหตุที่เข้ายังไม่ถึง "ฉัน" สภาวะใหญ่ จึงไม่อาจบรรทุกได้มาก จึงเป็นรถเทียมแพะเทียมแกะเท่านั้น ขอทบทวนในบทที่สองสักเล็กน้อยว่า "พึงใช้มหาปัญญา (ปัญญาบริสุทธิ์) ทำลายกิเลสตัณหาขันธ์ห้าเสีย หากบำเพ็ญเช่นนี้ ย่อมบรรลุพุทธวิถีแน่แท้ ย่อมแปรเปลี่ยนสามพิษร้าย (โลภ โกรธ หลง) ให้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา" แต่ในที่นี้ พระธรรมาจารย์ปฏิเสธความคิดของเซวียเจี่ยนที่จะ "เอาปัญญาส่องทำลายกิเลส"  กรณีนี้เป็นการสอนที่ชอบด้วยกลอุบายอีกเช่นกัน เพราะผุ้พึงเจริญธรรมในครั้งก่อนนั้น คือ ข้าหลวงเอว๋ย ผู้ซึ่งห่างไกลโอกาสเจริญธรรม แต่สำหรับเซวียเจี่ยนข้าราชสำนัก ผู้แสดงธรรมด้วยตรงหน้าขณะนั้น อยู่กับบรรยายกาศในพระราชฐานที่พุทธธรรมเฟื่องฟูยิ่งนัก  หากบ่มเพาะอยู่กับภาวะเปรียบเทียบเช่นนี้ต่อไป ด้วยความคิดว่า "จะต้องเอาปัญญาส่องทำลายกิเลส" นานวันเข้า ก็จะยึดหมายอยู่กับวิธีการตอบโต้ เปรียบเทียบ ใช้สิ่งตรงข้ามทดแทนเรื่อยไป ทำให้ยากต่อการที่จะเข้าถึงสัจธรรมบริสุทธิ์ใสได้
        ผู้มีปัญญาระดับสูงกุศลมูลใหญ่ ล้วนมิใช่ความคิดเห็นเช่นนี้ เซวียเจี่ยนจึงกราบเรียนถามอีกว่า "อย่างไรเล่าจึงจะเป็นความเข้าใจสมบูรณ์ฉับพลันของมหายาน" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ปัญญากับอวิชชา" ปุถุชนจะแยกเห็นเป็นสอง ผู้ทรงปัญญาจะเข้าถึงรู้แจ้ง จิตญาณนั้นปราศจากความเป็นสอง จิตญาณที่ปราศจากความเป็นสอง จึงเป็น "จิตญาณตัวแท้"  จิตญาณตัวแท้ แม้อยู่กับปุถุชนคนโง่ จิตญาณนั้นมิได้ลดส่วนลง อยู่กับอริยเมธาก็มิใช่ว่าจะมีส่วนมากขึ้น อยู่กับกิเลส (เหมือนคนดีในสภาพแวดล้อมคนเลว) ก็มิได้วุ่นวายสับสน อยู่ในฌานสมาธิก็มิได้ดับสูญ 
        พิจารณา
        จากธรรมสาระท่อนนี้ จึงทำให้เราเข้าใจภาวะของสี่อริยะกับหกสามัญเป็นอย่างไร  สี่อริยะ คือ พระพุทะเจ้า   พระโพธิสัตว์   พระปัจเจกพุทะเจ้า   พระสาวกยานพุทธเจ้า   หกสามัญ คือ ผู้ยึดธรรมยึดรูป   ยึดเสียง กลิ่น รส สัมผัส  เป็นอารมณ์ เมื่อเป็นอารมณ์จึงมีเกิดดับ แม้อริยะจะอยู่ในสภาวะใด ไปสวรรค์ ไปนรก นั่ง นอน เดิน ยืน จิตญาณเป็นอยู่ในฌาน ส่วนสามัญชนนั้นตรงกันข้ามอริยะโดยสิ้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ๔

                                         บทที่  ๘

                                  ราชวงศ์ถังกราบนิมนต์
 
                                      (ถัง เฉา เจิง เจ้า)

        จิตญาณตัวแท้นั้น ไม่ขาดสาย ไม่เนื่องนำ  ไม่มา ไม่ไป  ไม่อยู่ระหว่างกลางหรืออยู่ภายในภายนอก ไม่เกิดไม่ดับ  สภาพแห่งญาณเป็นอยู่อย่างนั้นเอง ภาวะแห่งญาณคงอยู่อย่างนั้นโดยไม่แปรผัน อันเป็นภาวะที่เรียกได้ว่าเป็น "ธรรมะ" 
        พิจารณา
       พระธรรมาจารย์โปรดไว้ว่า "หนึ่งแท้จริง ทุกสิ่งล้วนแท้จริง ทุกสภาพสรรพสิ่งจะเป็นอยู่อย่างนั้นเอง จิตญาณอันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง ก็คือสิ่งอัน "จริงแท้" ดังโศลกว่า :   เมื่อ "หนึ่ง" จริง     สรรพสิ่ง     ล้วนจริงแท้
ล้วนนิ่งแน่                          แท้เที่ยง    ณ ตถตา
จิตญาณตน             ไม่พ้น "เป็น"     เช่นนั้น "หนา"   
จึงชื่อว่า                 ตถตา              แท้เที่ยงจริง

อี้เจินอี๋เซี่ยเจิน                 อวั้นจิ้งจื้อหยูหยู
หยูหยูจือซิน                   จี๋ซื่อเจินซึ

        เซวี่ยเจี่ยนกราบเรียนถามอีกว่า "ที่พระอาจารย์โปรดว่า "ไม่เกิดไม่ดับ" นั้น ความหมายนิยามนั้น ต่างกับความหมายนิยามแห่งสายธรรมอื่นอย่างไร" พระธรรมาจารย์ตอบว่า "สายธรรมอื่นกล่าวถึงไม่เกิดไม่ดับนั้นคือเอาความดับระงับความเกิด เอาความเกิดแสดงให้เห็นถึงความดับ เช่นนี้เป็นความดับที่ยังมิดับ เป็นความเกิดแต่กลับกล่าวว่าไม่เกิด"  "ที่อาตมากล่าวว่าไม่เกิดไม่ดับนั้น คือแท้จริงมิได้มีการเกิดนั้นเลยแต่เดิมที บัดนี้ก็มิได้มีการดับ ฉะนั้น คำกล่าวนี้จึงต่างจากสายธรรมอื่น
        พิจารณา
        ได้รับวิถีธรรมแล้ว จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด การพ้นเวียนว่ายตายเกิดของชีพกาย สำหรับผุ้ได้รับวิถีธรรม เป็นการพ้นเกิด-ตาย ใน "ช่วงแบ่ง" หนึ่งเท่านั้น  ช่วงแบ่งเป็นระดับหนึ่ง เป็นขั้นตอนหนึ่ง  ระยะหนึ่ง  ของการเกิด-ตายสำหรับกายชีพนั้นเท่านั้น อย่าสำคัญผิดคิดว่าจบสิ้น หากมุ่งหมายให้จบสิ้น จะต้องยกระดับปรับเปลี่ยน จิตที่ยึดหมายต่อไปจนกว่าจิตจะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสิ้น อย่างที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นให้ได้ จึงจะเป็นการหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์ 
        หากท่านต้องการจะรู้หัวใจของพุทธธรรม เพียงอย่าได้ประเมินหมาย หรือคำนึงการต่อความ ดี-ชั่ว  บาป-บุญ ทั้งปวงก็จะเข้าถึงได้เอง จะเข้าถึงแก่นใสบริสุทธิ์สงบสันติเป็นธรรมชาติ คุณประโยชน์วิเศษที่จะก่อเกิด จะมากมายดุจเม็ดทรายในคงคามหานทีนั่นทีเดียว
        พิจารณา
        บำเพ็ญวิถีอนุตตรธรรมคือบำเพ็ญเช่นนี้  ธรรมประกาศิตในพิธี อาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรมกล่าวแทนอมตะพุทธะจี้กงอย่างชัดเจนว่า "ปราศจากเกิด-ตาย ฝึกในแสงญาณทุกเวลา"  อู๋โหย่วเซิงเหอสื่อ     จงยื่อเลี่ยนเสินกวง  ปราศจากเกิดตายมิใช่เพียงกายชีพ แต่เป็นจิตญาณอันสมบูรณ์ ฝึกฝนแสงญาณคือ ให้เข้าสู่สูญญตา ภาวะว่างเปล่า
        ขันทีเซวียเจี่ยน ข้าราชสำนักได้สดับคำสอนนี้แล้วเกิดการรู้แจ้งฉับพลันครั้งใหญ่ในบัดนั้น  จากนั้น ขันทีเซวียเจี่ยนก็กราบลาพระธรรมาจารย์เดินทางกลับเข้ามหานคร กราบทู,ถวายพระธรรมวจนะอันได้สดับจากพระธรรมาจารย์ แต่องค์จักรพรรดิจงจงและจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (เพื่อเป้นแนวทางในการปฏิบัติบำเพ็ญต่อไป)
        พิจารณา
        การนี้หากเซวียเจี่ยน เป็นผู้ทำหน้าที่นำพระราชสาส์นมานิมนต์พระธรรมาจารย์เข้าวัง แม้หากจะจำเป็นต้องเก็บพุทธธรรมคำสอนจากพระธรรมาจารย์ไปฝากพระแม่เจ้าอู่เจ๋อเทียน โดยที่ตนเองไม่มีพื้นฐานจิตใจใฝ่ธรรม การนำไปฝากก็จะได้แต่ข้อความที่จดจำไป แต่เซวียเจี่ยนเกิดการรู้แจ้งเมื่อได้ฟัง ฉะนั้น แน่นอนผู้ฟังเองได้รับมหากุศล การกลับไปถ่ายทอดบอกกล่าวก็จะเปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ และจะมิใช่สิ้นสุดอยู่เพียงการถ่ายทอดบอกกล่าวเพียงครั้งเดียวอีกทั้งมิได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะบุคคลเท่านั้น  การสดับสัจธรรมโดยเข้าถึงพุทธวจนะจึงเป็นสิ่งล้ำเลิศประเสริฐสุดเกินประมาณ จึงเป็นขอบเขตอันอาจแผ่ไพศาลเกินประมาณต่อไป 
        สามค่ำเดือนเก้าปีเดียวกันนั้น มีพระราชสาส์นสรรเสริญบารมีธรรมส่งมาถึงพระธรรมาจารย์อีกว่า "พระอาจารย์ท่านมีเหตุจำเป็นจากการอาพาธและชราภาพ (ปฏิเสธที่จะเข้าวังรับการอุปัฏฐาก ปรารถนาจะบรรลุธรรมท่ามกลางป่าเขา) ท่านบำเพ็ญธรรมเพื่อข้าพเจ้า (ก็เท่ากับ) เป็นเนื้อนาบุญของบ้านเมืองโดยแท้แล้ว" พระอาจารย์ขัดด้วยความอาพาธ เช่นเดียวกับพระมหาเถระเจ้าวิมลเกียรติในกาลก่อน ที่ต้องเก็บตัวอยู่ ณ เมืองไพศาลี  เผยแพร่พุทธธรรมมหายานถ่ายทอดวิถีจิตแห่งเหล่าพุทะะ ประกาศเอกะธรรมความเป็นหนึ่งเดียวแห่งสัจธรรม  เซวียเจี่ยน ได้ถ่ายทอดความรู้ชอบ เห็นชอบ ของพระตถตาเจ้าแก่ข้าพเจ้าตามที่พระอาจารย์ได้โปรดสั่งสอนมา ขัาพเจ้าคงได้สร้างสมบุญบารมีมา ได้ปลูกฝังรากฐานแห่งกุศลมูลไว้ ในชาตินี้จึงเกิดมาทันพระคุณเจ้า เข้าถึงวิถีฉับพลันแห่งมหายาน จึงสำนึกในบารมีคุณพระอาจารย์เป็นล้นพ้นเหนือเศียรเกล้าฯ
        พิจารณา
        วันนี้เราโชคดี ที่ได้เกิดมาในธรรมกาลที่พระวิสุทธิอาจารย์ปรกโปรด ชะรอยจะเป็นบุญบารมีเก่าที่ได้สร้างสมมา  ได้ปลูกฝังรากฐานแห่งกุศลมูลไว้เช่นกัน
เราจึงต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเบื้องบน พระคุณพระบรรพจารย์ ขอเทิดพระคุณไว้เศียรเกล้า ตลอดไปชั่วกาลนานเช่นกัน
        (และพร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าจักรพรรดิจงจงพร้อมด้วยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน) ขอถวายกาสาวพัสตร์ผ้าโมรี (ผ้าสีแสดแดง จีวรสงฆ์ของเกาหลี) อีกทั้งบาตรแก้วผลึก ให้ผู้ตรวจการเมืองเสาโจว (ศิษย์รุ่นแรกของพระธรรมาจารย์) นำมากราบพระคุณเจ้า  อีกทั้งมอบหมายให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม (ที่จำพรรษาปัจจุบัน ขยายการก่อสร้างทั่วปริมณฑล) พร้อมกับขอถวายชื่อแก่ถิ่นฐานบ้านกำเนิดของพระคุณเจ้า ซึ่งเดิมชื่อว่าซินโจว  ให้เป็นพระอารามหลวงทั้งหมดโดยรอบว่า "พระอารามหลวงคุณาปฏิการาม" กั๋วเอินซื่อ
                                                     
                                   - จบบทที่ ๘ -    

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง) ๔

                                          บทที่ ๙

                         วิถีธรรมแสดงความแสดงความตรงข้าม

                                  (ฝา  เหมิน  ตุ้ย  ซื่อ)

        วันหนึ่ง  พระธรรมาจารย์เรียกศิษย์ฝ่าไห่ จื้อเฉิง  ฝ่าต๋า  เสินฮุ่ย  จื้อฉัง  จื่อทง  จื่อเช่อ  จื่อเต้า  ฝ่าเจิน  ฝ่าหยู เป็นต้น  เข้าพบโดยเฉพาะแล้วโปรดว่า"ท่านทั้งหลายแตกต่างจากศิษย์อื่นๆ (ศิษย์ที่ไม่ได้เรียกให้เข้าพบ) ภายหลังที่อาตมาดับขันธ์นิพพานแล้ว จงออกต่างแพร่ธรรม จงจ่างแยกย้ายไปเป็นผู้นำธยานะในแต่ละปริมณฑลทิศ"
        พิจารณา
     ศิษย์ผู้รู้แจ้งเห็นจริงต่อภาวะจิตใจใสสว่าง หรือจิตพุทธะแห่งตนนั้น มีอยู่สี่สิบสามรูป ซึ่งอยู่ในสถานภาพเหมาะสมกับความเป็นครูอาจารย์แห่งมนุษย์และเทวดาได้ การบรรยายธรรมในอาณาจักรธรรม นอกจากญาติธรรมหญิงชายร่วมสดับสัทธรรมพร้อมกันแล้ว ในอีกมิติหนึ่ง ปรากฏเทวดากับเหล่าวิญญาณก็มาร่วมฟังธรรมด้วย
        บัดนี้ อาตมาจะสอนให้ท่านประกาศสัทธรรมวิถีฉับพลัน มิให้ผิดเพี้ยนไปจากพงศาธรรมาจารย์ได้โปรดอบรมมา" เบื้องต้นจะต้องยกเอา "วถีธรรมสามกอง" มาชี้นำตามด้วยการใช้สามสิบหก "คู่ธรรมคำตรงข้าม" การ (แสดงธรรม) นำเข้าหรือออกหากให้พ้นจากคำสุดโต่งตรงข้าม แต่การพูดธรรมทั้งปวงมิให้ออกห่างจากจิตญาณตน เช่น ทันทีที่มีผู้ถามหลักพุทธธรรมต่อท่าน จะต้องใช้คำพูดสองความหมาย (พึงชี้แนะ นำทางให้เขารู้จักคิดพิจารณา ไม่ใช่ให้เขาเป็นผู้รับคำตอบสำเร็จรูปอย่างเดียว หากมิได้ใช้ปัญญา จะมิอาจรู้แจ้งฉับพลัน) ล้วนจะต้องใช้ "คู่ธรรมคำตรงข้าม" ให้เขาได้เห็นเหตุเนื่องนำแห่งรูปธรรมนั้น (เช่น มากับไป  มีกับไม่มี...) สุดท้ายเมื่อถึงที่สุดก็ให้เพิกถอนเสียจาก "คู่ธรรมคำตรงข้าม" นั้นให้หมด (ได้ผลแล้วหยุดเหตุ) เมื่อถึงแก่นแท้แห่งผลแล้ว มิพึงยกเหตุที่มาที่ไปอีก  วิถีธรรมสามกองคือ  กองขันธ์   กองอายตนะ   และกองธาตุ   กองข้นธ์มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ   กองอายตนะ มีอายตนะภายใน ได้แก่รูป รสกลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์  มีอายตนะภายนอก ได้แก่นัยน์ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
      สิบแปดกองธาตู  ได้แก่ อายตนะภายในหก   อายตนะภายนอกหก   มโนวิญญาณหก  รวมเป็นสิบแปดกองธาตุ  ภายในจิตญาณแฝงไว้ด้วยธรรมทั้งปวง(ธรรมทั้งปวงเกิดจากจิตญาณ) จึงเรียกว่า ขุมคลังมโนวิญญาณ (อาลยะวิญญาณ) หากเิกิดความคิดคำนึงก็คือ เกิดการปรับแปรเคลื่อนไหวมโนวิญญาณ มโนวิญญาณทั้งหก (การรับรู้จากหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ) สนองรับกับอายตนะภายในหก (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
        พิจารณา
     กลไกของการปรุงแต่งปรับแปรเหมือนฟันเฟือง ของเครื่องจักรกล ฟันเฟืองกลุ่มแรกขยับเคลื่อนตัว กลุ่มที่สองสนองรับขยับตาม ฟันเฟืองกลุ่มที่สามทำงานด้วยต่อเนื่องกันไป อายตนะจึงได้ชื่ออีกว่า "เครื่องต่อ" รวม (กระบวนการ) ทั้งหมดสิบแปดธาตุธรรม ล้วนเริมขึ้นจากจิตญาณ (อันมีตัวมโนวิญญาณสำแดงการ) หากจิตญาณเป็นอกุศล สิบแปดธาตุธรรมก็สำแดงอกุศลกรรม (กลไกสามกลุ่มสิบแปดฟันเฟืองเนื่องกัน จะสำแดงอาการ "รวน" ตามกันไป ) หากจิตญาณเที่ยงตรง สิบแปดธาตุธรรมก็สำแดงกุศลกรรม (กลไกปกติ)  จิตญาณแฝงความชั่วร้าย เมื่อสำแดงการใช้ ก็เป็นการใช้ด้วยลักษณะอาการหรือพฤติกรรมของปุถุชน หากจิตญาณแฝงความดีงาม ก็จะสำแดงการใช้ด้วยลักษณะอาการ หรือพฤติกรรมปราณีตสูงส่ง คือพุทธะ การใช้ดังนี้เกิดได้อย่างไร เกิดมีได้จากภายในจิตญาณ
        พิจารณา
     ผู้ได้รับวิถีธรรมแล้ว พึงพิจารณา ลัญจกรที่ได้รับมา มิใช่เพียงสื่อถึงเบื้องบนคุ้มครองรักษา แต่เป็นปริศนาธรรมให้เห็นชัด ๆ ว่าให้ "เหอถง สมานจิตญาณกับพฤติกรรม

Tags: