collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 72016 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า  ท่านผู้เจริญ ต่างท่องตามพร้อมกัน ณ บัดนี้ว่า "ข้าพเจ้าศิษย์ทั้งหลาย ความรำลึกตรึกคิดแต่ก่อน ปัจจุบัน วันข้างหน้า ทุกขณะจิต จะมิแปดเปื้อนด้วยโง่หลง โทษบาปจากกรรมชั่วทั้งหมดอันเกิดแต่ความโง่หลงที่ผ่านมาเป็นต้น ขอขมากรรมสำนึกทั่วถ้วน ขอจงลบล้างมลายสิ้น ณ บัดใจ ไม่มีเกิดขึ้นอีกตลอดไป"
       ความหมาย...พิจารณา...
       ลบล้างมลายสิ้นตลอดไป ณ บัดใจ ไม่มีเกิดขึ้นอีกตลอดไป  เป็นข้อความหลักชัดเจนยิ่งของการขอขมากรรมสำนึก อดีต ปัจจุบัน มลายสิ้น ไม่มีเกิดขึ้นอีกต่อไป จึงเป็น "ขอขมากรรมสำนึกญาณสัจธรรม" ลบล้างโทษบาปสามชาติได้จริง ...ข้าพเจ้าศิษย์ทั้งหลาย ความรำลึกตรึกคิดแต่ก่อน ปัจจุบัน วันข้างหน้า ทุกขณะจิต จะไม่แปดเปื้อนด้วยระเริงหลง โทษบาปที่เกิดแต่ความระเริงหลงเป็นต้นที่ผ่านมา ขอขมากรรมสำนึกทั้งหมด ขอจงลบล้างมลายสิ้น ณ บัดใจ ไม่มีเกิดขึ้นอีกต่อไป  ...ข้าพเจ้าศิษย์ทั้งหลาย ความรำลึกตรึกคิดแต่ก่อน ปัจจุบัน วันข้างหน้า ทุกขณะจิต จะมิแปดเปื้อนด้วยอิจฉาริษยา โทษบาปที่เกิดแต่ความอิจฉาริษยาเป็นต้นที่ผ่านมาขอขมากรรมสำนึกทั้งหมด ขอจงลบล้างมลายสิ้น ณ บัดใจ ไม่มีเกิดขึ้นอีกตลอดไป
     ท่านผู้เจริญ ดังกล่าวมาคือ "นิรรูปขมากรรมสำนึก" อย่างไรเรียกว่า ขมากรรม อย่างไรเรียกว่า สำนึก  ขมากรรมคือ เสียใจ ขออภัยในความผิดบาปที่ผ่านมา กรรมชั่วแต่ก่อนทั้งโง่หลง ยโส โอ้อวด หลอกลวง อิจฉาริษยาระเริงหลง ผิดบาป เหล่านี้เป็นต้น ขอขมากรรมหมดสิ้นไม่มีเกิดขึ้นอีกตลอดไป เช่นนี้ได้ชื่อว่า "ขอขมากรรม"
    สำนึก คือ สำนึกเกรงความผิดที่จะเกิดขึ้นใหม่จากนี้เป็นต้นไป โทษผิดบาปทั้งปวงจากความอกตัญญู โง่หลง ยโส โอ้อวด หลอกลวง อิจฉา ริษยา ระเริงหลง เหล่านี้เป็นต้น บัดนี้ได้สำนึกรู้แจ้ง จะต้องกำจัดเด็ดขาดทั้งหมดโดยสิ้นตลอดไป ยิ่งกว่านั้นจะไม่กระทำอีกเลย ได้ชื่อว่า "สำนึก"จึงได้ชื่อว่า "ขมากรรมสำนึก"
     ความหมาย...พิจารณา...
     ขอขมากรรม กับ สำนึก จึงเป็นเรื่องคู่กัน เท่ากับ "ผิดแล้วจะไม่ผิดอีกเลย" ไม่ผิดอีกเลย เป็นอานุภาพของ "ขอขมากรรม" ผิดซ้ำซากต่อไปจะมีประโยชน์อันใดที่จะขอขมากรรม

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ปุถุชนโง่หลง รู้จักแต่จะขอขมากรรมต่อโทษผิดบาปที่ผ่านมา มิรู้สำนึกเสียใจเกรงความผิดใหม่ในภายหลัง ด้วยเหตุมิรู้สำนึกเกรงความผิดใหม่ โทษผิดบาปที่ทำไว้ไม่ลบล้าง โทษผิดบาปภายหลังยังเกิดใหม่อีก เมื่อที่ทำไว้ไม่ลบล้าง ภายหลังยังเกิดใหม่อีก เช่นนี้จะเรียกว่า "ขอขมากรรมสำนึก"ได้อย่างไร
      ความหมาย...พิจารณา...
     พ่อแม่ลงโทษลูกที่ทำผิด ลูกร้องไห้สัญญาว่า "จะไม่ทำอีกแล้ว" พ่อแม่ใจอ่อน หยุดลงโทษ แต่หากลูกสัญญาแล้วยังทำผิดซ้ำย้ำผิด ครั้งนี้แม้ลูกจะสัญญาว่า "ไม่ทำอีกแล้ว" คำสัญญากลับจะทำให้พ่อแม่เดือดดาลหนักขึ้น
    เมื่อคนร้ายถูกตำรวจจับได้ข้อหาโจรกรรม ครั้งที่สอง ที่สาม เขาถูกซ้อมหนัก โทษฐานท้าทายไม่หลาบจำ ครั้งที่สี่คนร้ายถูกซ้อมปางตาย เขาร้องว่า"เข็ดแล้ว ! ผมจะไม่โจรกรรมท้องที่นี้อีกแล้ว" คนร้ายเข็ดจากที่นี่ ย้ายไปโจรกรรมเขตท้องที่สถานีตำรวจแห่งอื่น นี่คือสันดานอันยากที่จะ"ขอขมากรรสำนึก"ได้ พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า "ท่านผู้เจริญ ในเมื่อได้ขอขมากรรมสำนึกแล้ว ก็จะให้ท่านผู้เจริญ "ตั้งมหาปณิธานสี่ (ปฏิญาณ) ต่างจะต้องตั้งใจฟังให้ดี จิตญาณเวไนยฯ แห่งตนมิอาจประมาณขอบข่าย ปณิธาน ปรารถนาจะฉุดนำ กิเลสในจิตญาณตนมิอาจประมาณ ปณิธานปรารถนาจะตัดขาด วิถีธรรมในจิตญาณตนมิจบสิ้น ปณิธานปรารถนาจะเรียนรู้อนุตตรพุทธธรรมจิตญาณตน ปณิธานปรารถนาจะบรรลุ
    ความหมาย...พิจารณา...
    การตั้งปณิธานปรารถนาสำคัญมากสำหรับผู้ปรารถนาจะบรรลุธรรมจริง มีปณิธานปรารถนาจึงจะมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายได้รับความสำเร็จลุล่วง จิตญาณตนก็คือจิตญาณทุกตัวตน ซึ่งรวมอยู่ในเหล่าเวไนยฯ จึงกล่าวว่า "เวไนยฯคือเรา เราคือเวไนยฯ" วิถีธรรมจิตญาณตนมิจบสิ้น ปณิธานปรารถนาจะเรียนรู้หมายถึงปัญญาที่ก่อเกิดความเข้าใจในธรรมยิ่งขึ้นไปไม่รู้จบนั้น เราพร้อมจะเข้าถึงให้เป็นจริง "อนุตตรพุทธธรรมแห่งจิตญาณตน ปณิธานปรารถนาจะบรรลุนั่นคือ ถึงที่สุดแห่งปัญญารู้แจ้งภาวะอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรม เราพร้อมจะบรรลุจุดสุดยอดแห่งภาวะธรรมนั้น ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจะต้องฉุดนำตน ฉุดนำท่าน ฉุดนำมวลเวไนยฯ จะต้องบรรลุไปด้วยกัน จึงจะสมบูรณ์
    ท่านผู้เจริญ ทุกท่านมิใช่กล่าวเช่นนี้หรือว่า "เวไนยฯมิอาจประมาณ ปณิธานปรารถนาจะฉุดนำ" กล่าวเช่นนี้คือ มิใช่อาตมาฮุ่ยเหนิงฉุดนำ ทุกคนต่างจะต้องฉุดนำจิตญาณตน มิใช่ให้ใครมาฉุดนำ
    ความหมาย...พิจารณา...
    ปณิธานปรารถนาจะฉุดช่วยเวไนยฯ ผลตอบสนองก็คือฉุดช่วยตนเอง เช่น สละทรัพย์สงเคราะห์ ผลตอบสนองคือ ช่วยให้เวไนยฯเจ้าตัวโลภในตนหายไป สละเวลาแรงกายบรรยายธรรม ผลตอบสนองคือช่วยให้เวไนยฯเจ้าตัวโง่หลงในตนหายไป เหล่านี้เป็นต้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ท่านผู้เจริญ เวไนยฯในใจ คือ ที่กล่วว่า "ใจที่หลงผิด ใจที่ผกผันฟุ้งซ่านหลอกลวง ใจที่เป็นอกุศลเจตนา ใจที่อิจฉาริษยา ใจอำมหิตคิดร้าย จิตใจเหล่านี้ ล้วนเป็นจิตใจของเวไนยฯ ต่างจำเป็นจะต้องฉุดนำตนด้วยจิตญาณแห่งตนเอง จึงจะเรียกว่าฉุดนำอย่างแท้จริง
     ความหมาย...พิจารณา...
     ในบทต้นกล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่พระอาจารย์จะพายเรือส่งฮุ่ยเหนิงข้ามฟาก ฮุ่ยเหนิงขณะนั้นกล่าวแก่พระอาจารย์ว่า "ขณะหลงอยู่ อาจารย์ฉุดนำ รู้แจ้งพลัน ฉุดนำตนเอง ( หมีสือซือตู้  อู้เหลี่ยวจื้อตู้ ) ตรงกับธรรมประกาศิต ขณะถ่ายทอดวิถีธรรมประโยคที่ว่า "เรา ณ บัดนี้จะชี้วิถีหนึ่งแก่เจ้า" ( อวี๋จินจื๋อหนี่อี้เถียวลู่ ) การได้รับการชี้นำ ฉุดนำ ล้วนเป็นปัจจัยเพิ่มพูน นั่นคือ มีส่วนช่วยให้ แต่ส่วนที่เป็นจริงจะต้องเกิดจากตนเอง จึงมีธรรมประกาศิตประโยคต่อไปว่า"หากเจ้ามิอาจจบถ้วนปณิธาน ยากแก่การกลับบ้านเดิม" ( หนี่ยั่วเอวี้ยนปู้เหนิงเหลี่ยว  หนันป่าเซียงหวน ) ในคัมภีร์วัชรญาณสูตรบทที่สาม กล่าวถึง"จิตญาณตนฉุดนำตน" มีข้อความตอนหนึ่งว่า "แม้เกิดจากครรภ์ เกิดจากไข่ เกิดจากที่อับชื้น เกิดจากแปรสภาพ เกิดโดยมีรูปไร้รูป มีความคิด ไม่มีความคิด หรือมิใช่ทั้งมีและไม่มีความคิด "เรา" ล้วนจะให้เข้าสู่นิพพาน นิรวาณจากกองทุกข์ทั้งปวง
     ที่พระตถาคตเจ้าตรัสเช่นนี้ หมายความว่า พระตถาคตเจ้าจะทรงดลบันดาลให้ชีวิตทุกเหล่าดังกล่าวพ้นทุกข์ทั้งปวงกระนั้นหรือ หามิได้ ที่พระองค์ตรัสว่า "เรา" หมายถึงเราตัวจริงจิตญาณตนของทุกคนที่มีภาวะของชีวิตทุกเหล่าดังกล่าวแฝงเร้นอยู่ในใจ เรามีภาวะจิตเหมือนงู เหมือนแมลงเจาะไชเหมือนเสือดุร้าย เหมือนอะไรหลายอย่าง...เราต้องขจัดใจเหล่านั้นออกไปให้หมดสิ้น นำจิตตนกลับคืนสู่ภาวะนิพพานโดยพร้อมกันเถิด
    ที่พระตถาคตเจ้าทรงตรัสนั้นเป็นปัจจัยเพิ่มพูนแก่เหล่าเวไนยฯ ด้วยการชี้ทางฉุดนำ ยุคนี้เบื้องบนประทานโอกาสพิเศษยิ่ง ให้ผู้ได้รับวิถีอนุตตรธรรมได้ทำหน้าที่ฉุดนำเหล่าเวไนยฯ ให้ได้โอกาสเจริญพรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่ตน ให้ได้โอกาสเจริญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี (ปลอดโปร่งใจ) เจริญปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เจริญเมตตา อุเบกขาบารมี ให้ได้ทำหน้าที่ฉุดนำเหล่าเวไนยฯที่แอบแฝงอยู่ในจิตตน ฉุดนำเวไนยฯภายนอกจะต้องด้วยจิตปรารถนาให้เขาได้ขึ้นสู่ฝั่งธรรมอันเกษม มิใช่วางตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เป็นผู้ครอบครองเวไนยฯได้อีกหนึ่งชีวิต หากคิดเช่นนี้ การได้ฉุดนำคนให้ได้รับวิถีธรรม จะมิเป็นการเพิ่มมวยเวไนยฯในจิตตนให้มากยิ่งขึ้นอีกหนึ่งชีวิตหรือ จึงมิให้ยึดหมายเหนียวแน่น แต่จงเป็นผู้ส่งเสริมดูแล เป็นผู้ให้ ""ปัจจัยเพิ่มพูน"" แก่เขาเหล่านั้น เช่นนี้จึงจะเรียกได้ว่า ""ฉุดนำเหล่าเวไนยฯ"" อย่างแท้จริง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า อย่างไรได้ชื่อว่า "จิตญาณตนฉุดนำตนเอง" นั่นคือจงใช้ความเห็นชอบคือสุคติดำริ ฉุดนำเหล่าเวไนยฯในใจตนที่เป็นผู้มีความเห็นผิดเป็นผู้มากด้วยกิเลสโง่หลง เมื่อมีความเห็นชอบแล้วจงนำเอาปัญญาจากจิตญาณบริสุทธิ์พิชิตเหล่าเวไนยฯที่โง่หลงผกผันฟุ้งซ่านในจิตตนเสียจึงเรียกว่า "จิตญาณตน ต่างฉุดนำตนเอง"
       ความหมาย...พิจารณา...
       พิชิตเหล่าเวไนยฯที่โง่หลง ผกผัน ฟุ้งซ่านในจิตตนได้หมดสิ้นแล้ว การฉุดช่วยเหล่าเวไนยฯภายนอกคือคนอื่น ๆ ก็จะเป็นได้โดยง่าย ด้วยรู้อุบาย รู้วิธี มีประสบการณ์จากตนเองมาก่อน แต่แม้จะกล่าวว่าฉุดช่วยเหล่าเวไนยฯภายนอก แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเพิ่มพูนปัจจัย ให้เขามีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น เวไนยฯที่โง่หลงดื้อรั้น ทั้งของตนและของท่านมิใช่จะฉุดช่วยได้โดยง่ายเลย มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าคงไม่จำแนกไว้หรอกว่า...
                                                              1.ไม่มีเหตุปัจจัยแห่งบุญมาก่อนไม่ฉุดช่วย
                                                              2.ไม่มีจิตศรัทธาความเชื่อไม่ฉุดช่วย
                                                              3.ไม่มีปณิธานเจริญธรรมไม่ฉุดช่วย
       แต่ที่ว่าไม่ฉุดช่วยนั้น แท้จริงคือฉุดช่วยจนถึงที่สุดแล้ว เมื่อสุดวิสัย สุดกำลัง ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น แต่ขออย่าให้ต้องกัดฟันบอกแก่ตนเองว่า"จิตญาณตนฉุดนำตนเองยังไม่ได้เลย จะไปฉุดนำใครได้" ขณะพิธีถ่ายทอดวิถีธรรม มีธรรมประกาศิตอีกประโยคหนึ่งที่ว่า"นัยน์ตามองดูพุทธประทีป สงบใจรอจุดเบิกทวารวิเศษ ( เอี่ยนคั่นฝอเติง  จิ้งไต้เตี่ยนเสวียน)" 
       มองดูพุทธประทีป คือ มองดูจิตญาณสว่างแห่งตน เพื่อเตรียมการประหานกำจัดสิ่งแปลกปลอมในจิตบริสุทธิ์เดิมของตน ณ บัดนี้ 
      สงบใจรอจุดเบิกทวารวิเศษ คือ จงมีสมาธิตั้งใจแน่วแน่ ให้เข้าถึงจิตญาณตนในทวารวิเศษ  นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการฉุดนำตนเอง
      พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า  มิจฉามา สัมมาฉุดนำ   ลุ่มหลงมา สำนึกรู้ฉุดนำ   โง่เขลามา ปัญญาฉุดนำ   ชั่วร้ายมา ดีงามฉุดนำ   ฉุดนำดั่งนี้ได้ชื่อว่าฉุดนำแท้จริงอีกที่ว่า  กิเลสมิอาจประมาณ ปณิธานจะตัดขาด หมายถึงให้ใช้ปัญญาบริสุทธิ์ในจิตญาณตนขจัดความคิดฟุ้งซ่านขุ่นมัวเสียนั่นเอง อีกที่ว่าวิถีธรรมมิจบสิ้น ปณิธานปรารถนาจะเรียนรู้ จำต้องส่องเห็นจิตญาณตน ดำเนินสัมมาวิถีธรรมจึงได้ชื่อว่าเรียนรู้จริง
      ความหมาย...พิจารณา...
      ในอาณาจักรธรรม ท่านเฉียนเหยินได้โปรดส่งเสริม"สามมากสี่ดี" (ซันตัวซื่อห่าว) หนึ่งในสี่ดีคือ ศึกษา เรียนรู้ธรรมเรียนรู้ได้ดี (เสวียเต้าเสวียเต๋าห่าว)
ส่องเห็นจิตญาณตน ดำเนินสัมมาวิถี จึงจะเรียกว่าเรียนรู้ได้ดี  เราได้เรียน ได้รู้ข้อธรรมมากมาย แต่สิ่งที่ได้เรียนมายังคงเป็นสิ่งที่เรียน สิ่งที่ได้รู้มายังคงเป็นสิ่งที่เรียน สิ่งที่ได้รู้มายังคงเป็นสิ่งที่รู้ อยู่เท่านั้น เช่นขณะนี้ ที่เรากำลังศึกษาพระสูตรเล่มนี้ ความรู้สึกยังคงเป็นเพียงพระสูตรที่ศึกษา  หากเมื่อใดที่ส่องเห็นจิตญาณตน จะรู้สึกทันทีว่า พระสูตรเล่มนี้มิใช่เป็นเพียงพระสูตร แต่เป็นภาวะจิตของเรา เป็นพุทธธรรมจากใจของเรา จะอ่านพระสูตรคัมภีร์กี่เล่มก็เป็นเช่นนี้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปอีกว่า "อนุตตรพุทธธรรม ปณิธานปรารถนาจะบรรลุ" หากน้อมจิตลงได้เสมอ ดำเนินธรรมจริงแท้เที่ยงตรง พ้นจากลุ่มหลงอีกทั้งไม่ยึดหมายในความรู้ตื่น เกิดปัญญาอยู่เสมอ จริงเท็จกำจัดพ้นจากใจจะเห็นได้ในพุทธญาณตน ณ บัดนั้น พุทธธรรมสำเร็จได้ รำลึกปฏิบัติบำเพ็ญเป็นประจำ เป็นแรงธรรมปณิธาน
       ความหมาย...พิจารณา...
      เริ่มตั้งปณิธานดำเนินธรรมใหม่ ๆ อุปมาเช่นคนเดินไปบนทางเท้าคลุมเคลือที่ไม่คุ้นเคย จึงชิดขวาไว้เพราะทางซ้ายเป็นขวากหนามเดินจนคุ้นทางเดินตรงกลางดีกว่า เดินตรงกลางเห็นชัดไปไกล ไม่ชิดขวา ไม่ชิดซ้าย แม้มิได้ยึดหมายทางสายกลางก็เดินไปได้ ดั่งคำที่ว่า "ใจว่าง ทางตรง"
     ท่านผู้เจริญ บัดนี้ได้ตั้งมหาปณิธานสี่กันแล้ว ยิ่งจะเพิ่มการถ่ายทอด "ศีลไตรสรณะนิรรูป" แก่ท่านผู้เจริญต่อไป
     ความหมาย...พิจารณา...
     ไตรสรณะ ก็คือไตรรัตน์อันเป็นที่พึ่งที่กำหนดหมายการบำเพ็ญ ที่พึ่งในการบำเพ็ญของพุทธศาสนิกชนคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ที่พึ่งในการบำเพ็ญจิตญาณของชาวธรรมคือ ความเป็นผู้รู้ตื่น ความเป็นผู้เที่ยงธรรมตรงกลาง ความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด (เจวี๋ย เจิ้ง จิ้ง) แม้จะดูอย่างกับต่างกันแต่แท้จริงเป็นจุดร่วมเดียวกัน ชาวพุทธพึ่งพาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เพื่อการเจริญธรรมบรรลุพุทธะ
     ชาวธรรมพึ่งพาความรู้ตื่น เที่ยงธรรม หมดจด เพื่อบรรลุพุทธะ ซึ่งไม่ต่างกับการพึ่งพาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อการเจริญธรรมและอาจบรรลุพุทธะเช่นกัน จะต่างกันที่ชาวพุทธจะค่อยเป็นค่อยไป ส่วนชาวธรรมให้รู้ตื่นฉับพลัน
      ท่านผู้เจริญ เอาความ "รู้ตื่น" เป็นสรณะจะเป็น ""ผู้สูงส่งอันพร้อมด้วยวาสนาปัญญา"" เอาความ "เที่ยงธรรม" เป็นสรณะจะเป็น ""ผู้สูงส่งอันออกหากจากอยากใคร่ ""  เอาความ "บริสุทธิ์หมดจด" เป็นสรณะจะเป็น ""ผู้สูงส่งท่ามกลางมวลเวไนยฯ""  จากวันนี้ไปจงเคารพความรู้ตื่นเป็นครู ไม่พึ่งพามิจฉาศาสตร์ อาถรรพ์มารวิถีเป็นสำคัญ จงใช้ไตรรัตน์จิตญาณตน ประจักษ์จริงด้วยตนเองอยู่เสมอ
     ความหมาย...พิจารณา...
     ผู้เข้าใจไตรรัตน์รูปลักษณ์ คือเข้าใจขั้นพื้นฐานบำเพ็ญนานไปจะเข้าใจไตรรัตน์จิตญาณอันสูงส่งแห่งตน
     พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า  ขอเตือนท่านผู้เจริญ...จงพึ่งพาไตรรัตน์จิตญาณตน  พระพุทธคือรู้ตื่น  พระธรรมคือเที่ยงตรง  พระสงฆ์คือหมดจด
     ความหมาย...พิจารณา...
     ปรารถนารู้ตื่นพึงออกหากจากรูป พ้นรูปทั้งปวง ได้ชื่อว่าเหล่าพุทธะ (หลีอี๋เซี่ยเซี่ยง  เจ๋อหมิงจูฝอ) ในขณะกราบรับวิถีธรรม อาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรมใช้ธูปจุดนำจิตสว่างจากพุทธประทีปองค์กลาง กลับลงมาตรงกลางกระถางธูปสัญลักษณ์โลกธุลี ย้อนกลับขึ้นไปสู่พุทธประทีปองค์กลางข้างบน อันเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสว่าง เป็นสัญลักษณ์ของอนุตตรภาวะ พร้อมกับกล่าวธรรมประกาศิตว่า ""นี่คือหนทางสว่าง จบสิ้นกลับคืนบ้านเดิม (เจ้อซื่อเจินหมิงลู่ เหลี่ยวเจี๋ยหวนกู้เซียง ) ""ไม่มีเกิดกับตาย"" (อู๋โหย่วเซิงเหอสื่อ) ปราศจากการเกิดดับของกิเลสวิสัย (ไม่เกิดอีกจึงไม่ต้องดับ) "หล่อหลอมแสงญาณศักดิ์สิทธิ์ทั้งวัน" (จงยื่อเลี่ยนเสินกวง) หมายถึง หล่อหลอมให้จิตญาณตนบรรลุความเป็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทุกขณะ ขอเพียงแต่มิใช่บัวใต้น้ำลึกจนเกินไป ในขณะนั้นไม่ว่าชนชาติ ศาสนาใด ทันทีที่เห็นพระพุทธะ ได้รับรู้พระธรรม ได้ใกล้ชิดพระสงฆ์ (ผู้ปฏิบัติดี) ความสงบสุข จะเกิดขึ้นในใจทันทีเรายิ่งจะได้รับความรู้สึกสุขสงบ หากจิตญาณตนจะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ในตนอย่างพร้อมมูล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปอีกว่า เอาจิตตนพึ่งพารู้ตื่นเป็นสรณะความหลงผิดมิจฉาอบายไม่เกิด ความอยากมีน้อย รู้ความพอเพียงออกห่างจากรูป รส กลิ่น เสียง ลาภสักการะ ก็คือผู้สูงส่งพร้อมด้วยวาสนาปัญญา  เอาจิตตนพึ่งพาเที่ยงธรรมเป็นสรณะทุกขณะจิตไม่เห็นผิด ด้วยจิตที่ไม่เห็นผิดนี้ จึงไม่ยึดหมายในเขา-เรา ไมายโส ไม่โลภอยาก จึงได้ชื่อว่าผู้สูงส่งอันได้พ้นจากความใคร่  เอาจิตตนพึ่งพาหมดจดเป็นสรณะจิตญาณตนล้วนไม่แปดเปื้อนสภาวะอารมณ์ตัณหาอยากใคร่ทั้งปวง จึงได้ชื่อว่าผู้สูงส่งท่ามกลางมวลเวไนย์  หากบำเพ็ญเช่นนี้คือจิตตนพึ่งพาไตรรัตน์จิตตนปุถุชนไม่เข้าใจ จากกลางวันถึงกลางคืนกล่าวติคปากว่า"รับศีลไตรสรณะ" หากถามว่าพุทธะสรณะนั้น พุทธะอยู่หนใด หากไม่เห็นพุทธะจะพึ่งพาอะไร พูดไปจึงเพ้อเจ้อ
     ท่านผู้เจริญ ต่างจงพิจารณาอย่าตั้งใจผิดไปในคัมภีร์กล่าวไว้ชัดเจนว่า ""พุทธะสรณะตน""  มิได้กล่าวว่า พุทธะสรณะเขาอื่น ไม่พึ่งพาพุทธะในตนไม่มีอื่นใดให้พึ่งพา ในเมื่อรู้ตื่นตนบัดนี้ ต่างจงพึ่งพาไตรรัตน์จิตตน ภายในปรับอารมณ์  ภายนอกเคารพใคร ๆ คือการพึ่งพาตนนั่นเอง
    ความหมาย...พิจารณา...
    ภายในปรับอารมณ์ ปรับอารมณ์ตนได้คือเริ่มกำหนดความเป็นพุทธะในตน รู้ความเป็นพุทธะในตนจนปราศจากข้อกังขาจะเห็นความเป็นพุทธะในใคร ๆ ยิ่งเคารพตนเองมากเท่าใด ก็ยิ่งจะเคารพใคร ๆ มากเท่านั้น เพราะทุกพุทธะเท่าเทียมกัน
   ท่านผู้เจริญ เมื่อพึ่งพาไตรรัตน์จิตตนถึงที่สุดแล้วต่างจงมุ่งมั่นตั้งใจ อาตมาจะกล่าว ""หนึ่งร่างสามกายพุทธญาณตน"" ให้พวกท่านเห็นสามกายเป็นเช่นนี้สำนึกรู้ในจิตญาณตน ทั้งหมดพูดตามอาตมา
 ""โดยรูปกายแห่งตน พึ่งพากายธรรมอันบริสุทธิ์แห่งพุทธะเป็นสรณะ
 ""โดยรูปกายแห่งตน พึ่งพานิรมาณกายร้อยพันล้านแห่งพุทธะเป็นสรณะ
 ""โดยรูปกายแห่งตน พึ่งพาสัมโภคกายบริบูรณ์แห้งพุทธะเป็นสรณะ
    ท่านผู้เจริญ "กายรูปคือเคหา" มิอาจกล่าวว่าพึ่งพาได้ แต่ที่หมายถึงคือ กายทั้งสามอันเป็นพุทธภาวะในจิตญาณตน ซึ่งชาวโลกล้วนมี
    ความหมาย...พิจารณา...
    กายรูปคือเคหา ร่างกายเหมือนบ้านที่ให้จิตญาณอาศัยอยู่ชั่วระยะ เพราะประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จึงมิใช่สรณะที่พึ่งพาได้ ชาวโลกล้วนมี สาธุชนกราบไหว้บูชาพระ แต่ไม่กราบไหว้ตนเองอีกทั้งยังดูถูกตนเองด้วยไม่เชื่อนักว่าล้วนมีธาตุปห่งพุทธะ เราอาจบรรลุคืนสู่พุทธภาวะได้ในชาตินี้ เมื่อไม่เชื่อจึงไม่เคารพอุ้มชูพุทธะแห่งตน อีกทั้งปล่อยให้ตกต่ำเสียหาย คนเช่นนี้ยากจะฟื้นฟูพุทธะแท้ในตนได้เพราะไม่มั่นใจ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      หลงด้วยใจตน ไม่เห็นจิตญาณภายใน เสาะหาตถตาสามองค์ภายนอก ไม่เห็นสามพุทธาที่มีในกายตน ท่านทั้งหลายจงฟังว่า ให้ท่านทั้งหลายได้เห็นจิตญาณตนอันมีสามพุทธา ร่วมอยู่ในกายตน สามพุทธานี้เกิดในจิตญาณตน มิใช่ได้จากภายนอก เหตุใดจึงได้ชื่อว่า "กายธรรมบริสุทธิ์หมดจด" ก็ด้วยจิตญาณของชาวโลกบริสุทธิ์ หมดจดแต่เดิมที ธรรมทั้งปวงเกิดจากจิตญาณตน ดำริคิดชั่วทั้งปวงจึงเกิดการกระทำชั่ว  ดำริคิดความดีทั้งปวงจึงเกิดการกระทำดี
     ดังนั้นจึงกล่าวว่า ธรรมทั้งปวงอยู่ในจิตญาณตนดุจฟ้าใสอยู่อย่างนั้น ตะวันเดือนสว่างอยู่เช่นนั้น ถูกเมฆลอยมาบดบัง บนสว่างล่างมืด พอถูกลมพัดพาเมฆฝนกระจาย บนล่างสว่างด้วยกัน ปรากฏการณ์ทุกอย่างล้วนให้ได้เห็น
    จิตของชาวโลกมักเคว้งคว้างเลื่อยลอย เหมือนเมฆบนท้องฟ้าปกคลุม  ท่านผู้เจริญ จิตปัญญาดุจตะวัน ญาณปัญญาดุจจันทรา จิตปัญญาญาณสว่างอยู่เป็นนิจ แต่หากยึดหมายภายนอก ถูกเมฆแห่งความคิดผกผันฟุ้งซ่านครอบคลุม จิตญาณตนมิอาจกระจ่างใส  หากได้พบผู้เจริญธรรม ให้ได้สดับสัทธรรม กำจัดความหลงผกผันฟุ้งซ่านในตนเอง จะสว่างปลอดโปร่งทั้งนอกใน หมื่นธรรมล้วนปรากฏได้ในจิตญาณตน
   ความหมาย...พิจารณา...
   ผู้เจริญธรรมในวิถีอนุตตรธรรมยุคนี้ พระวิสุทธิอาจารย์แห่งยุค คือ อมตะพุทธจี้กง กับ พระโพธิสัตว์จันทรปัญญา จากการปกโปรดของทั้งสองพระองค์ ประทานปัจจัยเพิ่มพูน สาธุชนมากมายได้สำนึกรู้ตื่น เจริญธรรม "หมื่นธรรมปรากฏได้ในจิตญาณตน" โดยแท้จริง หมื่นธรรมหรือธรรมทั้งปวงมิพ้นจากจิตญาณตน ท่านที่อรรถาธรรมได้เช่นพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ซึ่งมิต้องการคัมภีร์ มิต้องศึกษาเรียนรู้ท่องจำมา พอขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ข้อธรรมก็พรั่งพรูมิขาดสายเป็นสัจธรรมทุกถ้อยคำโดยมิต้องตระเตรียมเรียบเรียง ท่านผู้เข้าถึงภาวะนี้ ท่านเรียกว่า"พุทธกายธรรมบริสุทธิ์หมดจด"
    ท่านผู้เจริญ ใจตนพึ่งพาจิตญาณตนเป็นสรณะจึงเท่ากับพึ่งพาพุทธะแท้ ผู้ถือจิตญาณตนเป็นสรณะนั้น จะกำจัดอกุศลในจิตญาณตน กำจัดอิจฉาริษยา ใจที่ยโสโอหัง ใจตนยึดมั่นในตน ใจหลอกลวงฟุ้งซ่านผกผัน ใจดูแคลนคน ใจจองหองเฉยเมย ใจเห็นผิด ใจผยองลำพองตน กับการกระทำไม่งามทุกยามทุกอย่าง มีคำกล่าวว่า "ทันทีที่เกิดอัตตา โทษผิดบาปตามมาไม่ห่าง" ความไม่ดีงามที่กล่าวมาล้วนเริ่มจากมีอัตตาเป็นเหตุ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ตนเห็นความผิดตนเสมอ ไม่พูดความดีร้ายของใครเขา คือเอาจิตญาณตนเป็นสรณะ พึงถ่อมใจลงเสมอ เคารพนอบน้อมทั่วไป คือเห็นจิตญาณตนปรุโปร่งราบรื่น ไม่มีอุปสรรคสิ่งกีดกั้นเรียกว่า "เอาจิตญาณตนเป็นสรณะ"
      ความหมาย...พิจารณา...
      ไม่เคารพใด ๆ เท่ากับไม่เคารพตนเอง ทำร้ายใด ๆ ก็เท่ากับทำร้ายตนเอง จะต่างกันเพียงแต่ผลที่ตอบสนองสะท้อนกลับ จะมาช้าหรือเร็ว มาหนักมาเบา หรือมาในรูปแบบใด
      อย่างไรเรียกว่า "นิรมาณกายร้อยพันล้าน" หากไม่ตริตรึกนึกคิด ก่อเกิดหมื่นธรรมารมณ์ จิตญาณแท้จริงว่างจากหมื่นธรรม เมื่อเกิดหนึ่งความคิดดำริได้ชื่อว่า "แปรเปลี่ยนนิรมาณ" เมื่อคิดดำริเรื่องร้ายจิตญาณแปเป็นนรก  เมื่อคิดดำริเรื่องดีจิตญาณแปรเป็นสวรรค์   เมื่อเกิดอำมหิตพิษร้ายจิตญาณแปรเป็นมังกรงูเมื่อเกิดเมตตากรุณาจิตญาณแปรเป็นพระโพธิสัตว์  เมื่อเกิดปัญญาจิตญาณแปรเป็นชาวฟ้า  เมื่อเกิดความโง่หลงจิตญาณแปรเป็นผู้อยู่เบื้องล่าง
     จิตญาณแปรเปลี่ยนมากมาย คนหลงไม่อาจรู้ตัวตื่นใจ ทุกขณะจิตคิดชั่ว มักเดินลงอบายภูมิ พอกลับใจคิดดี ปัญญาก็เกิด ดั่งนี้ได้ชื่อว่า" จิตญาณตนแปรกายเป็นพุทธะ" (จื้อซิ่งฮว่าเซินฝอ)  พุทธะนิรมาณกายอันได้จากจิตญาณตน
    อย่างไรเรียกว่า "สัมโภคกายกลมสมบูรณ์" ตัวอย่างเช่น หนึ่งโคมไฟขจัดความมืดพันปีได้ หนึ่งปัญญาดับความโง่เขลาหมื่นพันปีได้
    ความหมาย...พิจารณา...
    นั่นคือ มหาปัญญาแห่งจิตญาณตนสำแดงพุทธานุภาพเหมือนโคมไฟสำแดงแสงสว่าง แผ่รัศมีไปโดยรอบ ปัญญาแห่งจิตญาณแผ่รัศมีไปกว้างไกลไร้ขอบเขต พระพุทธชินราช มีพระลักษณะรัศมีแปล่งประกายออกโดยรอบ แสดงให้เห็นพระปัญญาบารมีแห่งจิตญาณ เมื่อบรรลุโพธิญาณแล้ว จิตญาณเปล่งรัศมีของมหาปัญญาบริสุทธิ์ไปทั่วสิบทิศ ในท่อนนี้ พระธรรมาจารย์บอกให้เรารู้ว่า เวไนย์สมบูรณ์อยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ บรรลุพุทธะคือ การสำแดงมหาปัญญาอันบริสุทธิ์สมบูรณ์ให้ปรากฏออกมาได้ ฉะนั้น แม้ความมืดจะครอบคลุมอยู่พันปี ความโง่หลงจะมาบดบังนานนับหมื่นปี แต่ทันทีที่โคมไฟสว่างขึ้น ทันทีที่ปัญญาปรากฏความมืด ความโง่หลง ก็พลันปลาสนาการไป

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        อย่ามุ่งคิดคำนึงถึงข้างหน้า อดีตที่ผ่านอันล่วงเลย มิอาจคว้าไว้ หมั่นรำลึก(พิจารณา) ตามไป ให้ทุกขณะจิต (ความรำลึกคิด) กลมใส เห็นในจิตญาณตน ดี ชั่ว แม้จะต่างกัน แต่จิตญาณไม่เป็นสอง จิตญาณไม่เป็นสองได้ชื่อว่าจิตญาณตัวแท้ ในความเป็นจิตญาณตัวแท้นั้น มิแปดเปื้อนด้วย ดี ชั่ว เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า "พุทธะสัมโภคกายกลมสมบูรณ์" จิตญาณตนเกิดหนึ่งความคิดชั่ว จะลบล้างบุญปัจจัยที่สั่งสมมาหมื่นกัปให้หมดไป  จิตญาณตนเกิดหนึ่งความคิดดี ความชั่วมากมีเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาหมดสิ้นได้ จนถึงก้าวขึ้นฟากฝั่งสัมมาสัมโพธิ
       ทุกขณะจิตส่องเห็นตน ไม่ผิดจากรำลึกนี้ (รำลึกบริสุทธิ์แห่งจิตญาณ มิใช่มโนวิญญาณ) ได้ชื่อว่า "พุทธะสัมโภคกายกลมสมบูรณ์" ท่านผู้เจริญ จากกายธรรมดำริคิด มาเป็น พุทธะนิรมาณกาย จากทุกขณะจิต จิตญาณตนส่องเห็นตน มาเป็น พุทธะสัมโภคกาย
      บุญบารมีแห่งจิตญาณอันได้จากรู้แจ้งด้วยตน รู้บำเพ็ญด้วยตน เป็นสรณะอันจริงแท้แห่งตน เนื้อหนังคือรูปกาย รูปกายคือเคหา มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นสรณะที่พึ่งพาได้ หากรู้แจ้งสามกายในจิตญาณตน คือรู้จักพุทธะจิตญาณตน  อาตมามี ""สรรเสริญนิรรูป"" หนึ่งบท หากสวดท่องทำตามได้ จบคำก็ทำให้ท่านลบล้างความหลงผิดที่สั่งสมเนิ่นนาน อันตรธานได้ในบัดดล

       บทสรรเสริญนิรรูป...สรรเสริญว่า...

คนหลงบำเพ็ญ        หวังเป็นวาสนา       หาใช่เพียรธรรม
ได้แต่พูดพร่ำ         บำเพ็ญวาสนา         ว่าเป็นเพียรธรรม
แจกทานอุปฐาก      มากมีวาสนา           คิดว่าเหลือล้ำ         
แต่ใจสิทำ       ความโลภโกรธหลง         คงไว้เหมือนเดิม
บำเพ็ญเพื่อเอา         วาสนามาลบ         กลบโทษบาปไป     
ชาติหน้าแม้นได้        วาสนามาส่ง          ยังคงบาปหนา
พึงกำจ้ดเหตุ            บาปร้ายให้ผล        ด้วยใจตนนา
ต่างขอขมา              ด้วยตนจิตญาณ      อันสำนึกจริง
พลันสำนึกแจ้ง          แห่งมหายาน         จิตญาณขอขมา
กำจัดมิจฉา              มรรคาตรงธรรม       ไม่ซ้ำผิดบาป
ศึกษาพระธรรม          ย้ำที่จิตตน            ยินยลรู้รับ
บรรลุเนื่องนับ            เช่นกับพุทธา         วงศาเดียวกัน
อาจารย์ของอาตมา     ถ่ายทอดฉับพลัน     หนึ่งธรรมนี้ว่า
ปรกโปรดปรารถนา      ร่วมญาณกายา        เห็นจิตญาณตน
หากใคร่ภายหน้า        พบกายาธรรม         สำเร็จมรรคผล
จงออกหากพ้น          รูปธรรมชำระ           กระจ่างกลางใจ
จงเพียรฝึกฝน           เห็นตนจิตญาณ        อย่านานเนิ่นช้า
ความคิดข้างหน้า        พลันหยุดไม่มา        ชีวานี้สิ้น
หากสำนึกใส             มหายานได้            ภายในจิตจริง
ศรัทธาถวิล               นบนอบประนม        ก้มขอต่อใจ   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

           ความหมาย...พิจารณา...บทสรรเสริญนิรรูป
       ย้อนอ่านบทข้างหน้าที่กล่าวว่า กุศลวาสนา กับ บุญบารมี  ต่างกัน  กุศลวาสนา ส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารบริวารยศศักดิ์ฐานะ แต่ยังมีอาสวะกิเลส เรียกว่า อาสวะวาสนา เป็นวาสนาในกองกิเลส วุ่นวาย จึงเห็นเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย ตกต่ำเสียหาย วาสนาฐานะ ยังพาให้ก่อเกิดโทษผิดบาปเพิ่มขึ้นกว่าอดีตชาติเสมอ ทั้งคิดผิด พูดผิด ทำผิด ด้วยจริตกำเริบเสิบสานจากยศศักดิ์ฐานะนั้น หากไม่รู้แจ้งจิต ไม่ชำระจิตให้บริสุทธิ์ดังว่าโทษผิดบาปมิอาจลบล้างได้ ยังคงติดตามไปทุกชาติภพ
      สัจธรรมบอกเราว่า "จะเอาวาสนาลาภยศอุดช่องบาปนั้น ยากนัก ทำดีได้ดีตอบ ทำชั่วได้ชั่วสนอง" หนีไม่พ้นแน่นอน เพียงแต่จะมาช้า มาเร็วในรูปแบบไหนเท่านั้น ทางเดียวที่ทำได้คือ "ชำระใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ใจมิใช่บานกระจกใส" กระจกแม้จะใส หากเป็นฐาน เป็นบาน ฝุ่นธุลีย่อมจับเกาะได้ใหม่
     ชำระใจจึงหมายถึง ชำระหมดสิ้น แม้แต่ความเป็น "ใจ" ก็ไม่มี เมื่อใจไม่มี ฝุ่นธุลีใหม่ย่อมไม่มีที่จะจับเกาะได้ ภาวะจิตเป็นสูญตาว่างเปล่า แม้มิได้กำหนดหมายว่า จะลบล้างโทษผิดบาป โทษผิดบาปก็ว่างเปล่าไปโดยปริยาย เพราะขาดสิ้นแล้วด้วยเหตุปัจจัยที่ให้ก่อเกิด
    จุดนี้โปรดอย่าได้เข้าใจผิดว่า "ฉันผิดมากมาย แสร้งทำลืมไป ไม่จำไม่ผิด" ในคัมภีร์บุษปบัณทิต หรือ อวตสกสูตร ฮว๋าเอี๋ยนจิง จารึกประโยคว่า
แม้นหากร้อยพันกัป     บาปเวรไม่สิ้นไป
บรรจบพบปัจจัย          ผลภัยยังต้องรับ
     จึงต้องสิ้นจากเหตุปัจจัยโดยเด็ดขาด เราชาวธรรมน้ำตาพรากทุกครั้งที่อมตะพุทธะจี้กงพระอาจารย์ของเราประทับทิพย์ญาณมา เราสำนึก เราขอตั้งต้นใหม่ แต่พอเวลาผ่านไป ไม่มีอะไรจริงจังเหมือนอย่างเดิม มิใช่เสแสร้งน้ำตาพราก แต่ด้วยเหตุไม่เห็นจิตญาณตน ไม่เข้าซึ้งถึงแก่นแท้ หรือกล่าวว่าเมล็ดพันธุ์ป่ายังมิได้ถอนรากถอนโคนจึงแตกกิ่งใบใหม่ เป็นพันธุ์ป่าที่มิได้พัฒนาคุณภาพพันธุ์ต่อไปอีก
     พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ จำเป็นจะต้องท่องจำนำไปปฏิบัติบำเพ็ญตามนี้ จบคำทันทีเห็นจิตญาณ แม้อยู่ห่างจากอาตมาพันลี้ ดุจดั่งอยู่ข้างอาตมา แต่หากจบคำนี้มิรู้แจ้งได้ จะมีประโยชน์อันใดที่อยู่ห่างไกลกันพันลี้ อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงที่นี่ ถนอมรักษาไว้ให้จงดี กลับไปบำเพ็ญ
    สาธุชนทั้งหมดสดับธรรมดังนี้ ไม่มีผู้ใดไม่รู้แจ้ง ต่างปิติยินดีเทิดทูนปฏิบัติตาม
    ความหมาย...พิจารณา...
   รู้สำนึก รู้ตื่น รู้แจ้ง รู้เห็นจิตญาณตน รู้เห็นจิตญาณเดิมแท้ ล้วนเป็นภาวะรู้ที่อยู่เหนือสามัญชน แต่ภาวะรู้นั้น ยังมีตื้นลึกต่างกัน แล้วแต่ความปราณีตของจิตใจในแต่ละคน การจะรู้เห็น เป็นเรื่องเฉพาะตน ใครก็ช่วยไม่ได้ มีแต่เสริมส่งเพิ่มพูนเหตุปัจจัยแก่กัน ผู้ร่วมบำเพ็ญ พึงช่วยเพิ่มพูนปัจจัยแก่กัน อย่าตัดทอน กีดกัน กลั่นแกล้งซึ่งกัน เพราะนั่นคือ โทษในนรกอเวจี ไม่ช่วย ซ้ำยังทำลาย (ด้วยความคิด วาจา กระทำทางอ้อม ทางตรง ฯ) โทษมหันต์เพราะเป็นการตัดสายปัญญาญาณในการบรรลุธรรมของเขา เบื้องบนไม่มีคนประเภทนี้ คนประเภทนี้จึงไปสู่เบื้องบนไม่ได้ จำไว้ว่า "ภาวะจิตขณะนี้ คือที่หมายสำหรับเราที่จะต้องไป จะไปสู่สภาพใดให้มีจิตในสภาวะนั้น"
                                                                             --จบบทที่ ๕ -- เล่ม ๒

Tags: