collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: สิบอัครสาวก : สารบัญ  (อ่าน 29282 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก 

                         พระมหากัสสปเถระ 

                 ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ทรงธุดงค์"   

                            ชาติภูมิ 

        พระมหากัสสปเถระ  ท่านเป็นบุตรของกบิลพราหมณ์และสุมนเทวีพราหมณี สกุลกัสสปโคตร  ณ หมู่บ้านพราหมณ์นามว่า  "มหาติตถะ"  ชื่อเดิมของท่านคือ  "ปิปผลิ"  เรียกตามชื่อโคตรว่า  "กัสสปะ"   เมื่อปิปผลิมาณพอายุได้ ๒๐ ปี พ่อแม่ของท่านพิจารณาเห็นว่าเติบโตพอที่จะมีคู่ได้แล้ว จึงอ้อนวอนปิปผลิมาณพ ให้มีคู่ครอง  แต่ปิปผลิมาณพก็ปฏิเสธ พ่อแม่ของท่านก็เฝ้าพูดอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า  ในที่สุดปิปผลิมาณพทนคำขอร้องของพ่อแม่ไม่ไหว  จึงได้คิดหาวิธียื่นเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องได้สตรีที่งดงามมาก ได้จัดหาทองคำมาพันแท่งมอบให้ช่างทองหล่อเป็นสตรีขนาดเท่าคนจริงเป็นสตรีที่สวยงามมาก โดยคิดว่าคงจะหาไม่ได้แล้วนำไปให้คุณพ่อคุณแม่ดู หากหาไม่ได้จะไม่ยอมแต่งงาน

        พ่อแม่ของท่านจึงได้เรียกให้พราหมณ์ ๘ คน นำขึ้นรถแล้วไปเที่ยวหาสตรีผู้มีรูปร่างเหมือนรูปหล่อ โดยมอบเงินทองค่าใช้จ่ายให้ และพราหมณ์เดินทางไปถึงสาคลนครเมือง  เมืองนี้มีนางสาว  "ภัททกาปิลานี"  มีสิริโฉมงดงามหาที่เปรียบมิได้ นางมีอายุ  ๑๖ ปี  เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายได้ไปเจรจากับพ่อแม่ของนาง เล่าให้ฟังถึงสาเหตุการมาของพราหมณ์ทั้งหลาย และตกลงแล้ว พราหมณ์จึงได้ส่งข่าวไปยังพ่อแม่ของปิปผลิมาณพให้ทราบ  เมื่ออุบายที่คิดไว้ไม่ประสบผล ปิปผลิมาณพจึงได้เขียนจดหมายใจความว่า  "ภัททกาปิลานี ขอเธออย่าตกลงปลงใจแต่งงานกับข้าพเจ้าเลย เธอจงหาคู่ครองที่มีชาติตระกูล และทรัพย์สมบัติที่เสมอกับเธอเถิดนะ  เพราะข้าพเจ้ามีความประสงค์จะอออกบรรพชา ไม่ปรารถนาอยู่ในเพศฆราวาส อันเกลือกกลั้วด้วยกิเลสบาปทั้งปวง  เธอจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง"   จากนั้นก็ลงชื่อแล้วให้คนแอบลอบเอาไปให้ภัททกาปิลานี   ฝ่ายนางภัททกาปิลานี พอทราบว่าคุณพ่อคุณแม่จะยกตนให้แก่ปิปผลิมาณพ  จึงได้ส่งคนให้เขียนจดหมายไปแจ้งโดยมีเนื้อความใกล้เคียงกับปิปผลิมาณพ คือไม่อยากแต่งงาน และหวังจะออกบวช แล้วก็ให้คนส่งไปให้ปิปผลิมาณพ  แต่บังเอิญคนถือจดหมายทั้งสอง มาเจอกันกลางทาง ต่างนึกสงสัยจึงต่างฉีกจดหมายอ่าน แล้วก็ได้แก้ว่า  "รู้สึกยินดีมากที่เราจะได้แต่งงานกัน"  จากนั้นจึงเอาจดหมายที่เขียนใหม่ไปให้แก่บุคคลทั้งสอง

        ในที่สุด งานแต่งงานของทั้งสองก็เกิดขึ้น  แต่ทั้งสองชื่อว่าสักแต่แต่งงานกันเท่านั้น เพราะไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวกันเลยแม้แต่น้อย ปิปผลิมาณพ ได้ร้อยพวงมาลัยพวงหนึ่ง แม้นางภัททกาก็ร้อย ทั้งสองคนวางพวงดอกไม้คั่นกลางที่นอน  บริโภคอาหารเย็นแล้วคิดว่าเราจักขึ้นสู่ที่นอน มาณพขึ้นสู่ที่นอนทางขวา  นางภัททกาขึ้นสู่ที่นอนทางซ้าย แล้วกล่าวว่า  "เราจักรู้ว่าถ้าดอกไม้ของผู้ใดเหี่ยว แสดงว่าราคะจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น"  เนื่องจากทั้งคู่จุติมาจากพรหม  จึงมีใจเหนื่อยหน่ายต่อกามารมณ์  และอยู่ร่วมกันเช่นนี้จนบิดามารดาของปิปผลิมาณพสิ้นอายุไป

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
สิบอัครสาวก พระมหากัสสปเถระ : บรรพชา
« ตอบกลับ #31 เมื่อ: 23/02/2012, 14:07 »
                             สิบอัครสาวก 

                         พระมหากัสสปเถระ 

                 ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ทรงธุดงค์"   

                           บรรพชา

        จนวันหนึ่งทั้งสองต่างคิดยกสมบัติ ให้แก่กันและกันเพื่อออกบวช ดังนั้นจึงได้ทราบความคิดและความต้องการ จึงได้ต่างช่วยกันโกนผม ให้แก่กันและห่มผ้าย้อมฝาด แล้วถือบาตรเดินออกไป โดยที่ไม่มีใครจำได้ เมื่อออกเดินทางมาถึงทางสองแพ่งแล้ว จึงตัดสินใจแยกทางกัน ได้กล่าวลากันเช่นนั้น นางภัททกาปิลานีกล่าวว่า  "เราทั้งสองคน ได้เป็นมิตรที่มีความรักใคร่สนิทสนมกันมานานตลอด กาลประมาณหนึ่งแสนกัปแล้ว วันนี้ความชอบพอกันฉันมิตรจะต้องพรากจากกันทั้งรัก  ท่านเป็นชายเป็นชาติเบื้องขวา  ทางข้างขวาสมควรแก่ท่าน  ส่วนดิฉันผู้ชื่อว่ามาตุคาม เป็นชาติเบื้องซ้าย ทางข้างซ้ายจึงสมควรแก่ดิฉันค่ะ"  เมื่ออำลากันแล้ว แผ่นดินก็มีอาการสะท้านไหวด้วยไม่อาจรองรับความดีของทั้งสองได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับทราบ จึงคิดจะสงเคราะห์ บุคคลทั้งสองนั้น จึงเสด็จไปโดยไม่บอกพระเถระรูปใดรูปหนึ่งเลย และได้ทรงเสด็จประทับนั่งที่โคนต้นไทร แล้วก็เปล่งพระรัศมีไปตลอด
 
        ปิปผลิบรรพชิต แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ไกล แต่ยังไม่รู้จักคิดคะเนว่า ท่านผู้นี้แหละ จักเป็นพระศาสดาของเรา เมื่อได้พบพระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพระองค์ขอเป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์"  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  "กัสสปะ นั่งเถิด เราจะให้มรดกแก่เธอ"  ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านด้วยโอวาท ๓ ข้อ  ครั้นประทานแล้ว จึงออกจากโคนต้นพหุปุตตนิโครธ ให้พระมหากัสสปะเถระติดตาม พระศาสดาได้เสด็จไปหน่อยหนึ่ง แล้วเสด็จลงข้างทางแสดงอาการประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง พระเถระเมื่อรู้ว่าพระศาสดาจะประทับนั่ง จึงปูสังฆาฏิด้วยแผ่นผ้าเก่าที่ตนห่มกระทำให้เป็น ๔ ชั้นถวาย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            สิบอัครสาวก 

                         พระมหากัสสปเถระ 

                 ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ทรงธุดงค์"   

                     แลกสังฆาฏิกับพระศาสดา

        พระศาสดาประทับบนที่นั่งนั้น เอาพระหัตถ์ลูบคลำจีวร  จึงตรัสว่า  "กัสสปะ สังฆาฏิที่เป็นผ้าเก่าของเธอนี้อ่อนนุ่ม"  เมื่อพระเถระได้ยินดังนี้ จึงทราบว่าทรงพระประสงค์ที่จะห่ม "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มสังฆาฏิเถิด"  พระพุทธองค์ตรัสว่า  "กัสสปะ แล้วเธอจักห่มอะไร?."  พระมหากัสสปะทูลตอบว่า "ข้าแต่พระสุคต เมื่อข้าพระองค์ได้จีวรของพระองค์ก็จักห่ม"  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  "กัสสปะ เธอจะทรงผ้าบังสุกุลอันคร่ำคร่าหรือ ?. จริงอยู่ ในวันที่เราถือเอาผ้าบังสุกุลนี้ แผ่นดินได้ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน ชื่อว่าจีวรพระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยคร่ำคร่านี้  เราจักไม่สามารถจะทรงได้โดยคุณแห่งพระปริตร การที่ผู้ทรงผ้าบังสุกุลตามกำเนิด ทรงผ้านี้ตามความสามารถ  คือด้วยความสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ จึงจะควรในการทรง" เมื่อตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำการเปลี่ยนจีวรอย่างนี้ แล้วทรงห่มจีวรที่พระเถระห่ม พระเถระก็ห่มจีวร 
ของพระบรมศาสดา  ในสมัยนั้นแผ่นดินแม้ไม่มีเจตนา ก็หวั่นไหว จนถึงน้ำรองแผ่นดิน เหมือนจะกล่าวว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านได้กระทำการที่ทำได้ยาก จีวรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าห่มนั้นกับการที่เคยประทานให้แก่พระสาวกย่อมไม่มี เราไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งหลายได้"  ฝ่ายพระมหากัสสปะได้คิดว่า "บัดนี้เราได้จีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ใช้สอย (จีวรของพระพุทธองค์ คือ จีวรที่ฆฏิการพรหม ได้นำมาถวาย ๙ึ่งจีวรนั้น พระพุทธเจ้าในอดีตเคยใช้สอยแล้ว)  บัดนี้สิ่งที่เราควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้มีอยู่หรือ ดังนั้น จึงได้กระทำการบันลือสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในวันที่ ๘ ก็บรรลุอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย 

        พระศาสดาทรงสรรเสริญพระมหากัสสปัเถระ ว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกาย ไม่คะนองจิตเป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล"  พระมหากัสสปเถระ มีอายุยืนมาถึงหลังพุทธปรินิพพานแล้วในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในคราวที่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ได้อัญเชิญพระบรมศพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขึ้นประดิษฐานไว้บนพระจิตกาธาน (บ้างเรียกว่าเมรุมาศ)   พระมหากัสสปะ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้เดินทางจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสุนารา ในเวลาที่เดินทางมานั้น ได้แวะพักที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ริมทาง

        ในครั้งนั้น มีอาชีวกคนหนึ่งได้ถือดอกมณฑารพมาจากในเมืองกุสุนารา จะเดินทางไปยังเมืองปาวา และได้แจ้งให้ทราบถึงว่า พระสมณโคดม ได้ปรินิพพานมาเป็นวันที่ ๗ แล้ว  พระมหากัสสปะ ได้เห็นพระภิกษุหลายรูป ได้เศร้าโศกเสียใจ  ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มเกลือกกลิ้งไปมาเหมือนมือเท้าขาด พร่ำรำพันกันเป็นการใหญ่ พระมหากัสสปะจึงได้กล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า " ดูก่อนท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ร่ำไรเลย พระบรมศาสดาได้ตรัสบอกไว้แต่เดิมแล้วมิใช่หรือว่า "ความพรัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่ทั้งปวงย่อมมีเป็นธรรมดา ใครจะบังคับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแล้ว  เหตุปัจจัยตกแต่งแล้ว ย่อมมีความแตกหัก  ผุพังไปเป็นธรรมดา อย่าได้แตกหักผุพังไปเลย ย่อมห้ามไม่ได้" 

        ต่อจากนั้นท่านก็พาพระภิกษุเหล่านั้น ้เดินทางไปยังเมืองกุสุนารา  ครั้นพระบรมศพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว มัลลกษัตริย์ผู้เป็นหัวหน้า ตั้งพระทัยจะถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ไม่สามารถจุดไฟให้ติดได้  เมื่อพระมหากัสสปเถระ พอมาถึงเมืองกุสุนาราแล้ว ได้มุ่งตรงไปที่มกุฏพันธนเจดีย์ จนกระทั่งถึงพระจิตกาธาน ได้ห่มจีวรลดไหล่ลงข้างหนึ่ง ประคองอัญชลี ประณมมือขึ้นเดินกระทำประทักษิณ รอบพระจิตกาธานนั้น ๓ รอบ แล้วเปิดผ้าคลุมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าออก  ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าของตน และพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ได้ถวายบังคมตามอย่างพระมหากัสสปเถระเช่นกัน

         เมื่อพระมหากัสสปเถระ กับ พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็บังเกิดพระเพลิงลุกโพลงขึ้นเอง โดยไม่มีผู้จุดไฟเลย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            สิบอัครสาวก 

                         พระมหากัสสปเถระ 

                 ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ทรงธุดงค์"   

                          ปรินิิพาน 

        นอกจากพระเกียรติคุณมากมาย ที่ได้ทรงสร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดปฐมสังคยนาพระไตรปิฏก หรือเป็นผู้จดการ เรื่องการฝังพระบรมสารีริกธาตุ จนแม้ท่านจะมีอายุมากแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้ดำรงอยู่ในความประมาท ยังคงมั่งคงในการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับธุดงควัตรอยู่เป็นนิตยกาล  อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อท่านออกจากสมบัติ แล้วพิจารณาดูอายุสังขาร เรานี้ชราภาพมากแล้ว  มีอายุยืนมาถึงบัดนี้แล้ว และจะมีอายุต่อไปอีกเท่าไร ก็ได้เห็นว่า พรุ่งนี้เราจะนิพพาน จึงพิจาร
ณาต่อไปว่า  สถานที่แห่งใด  จะเป็นสถานที่เข้าสู่ปรินิพพานของเรา แล้วทราบได้ว่า เป็นที่เชิงภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต (มีภูเขาอยู่ ๓ ลูก) นั้นอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์  เมื่อนั้นจึงได้ประชุมพระภิกษุทั้งหลาย และท่านได้กล่าวสั่งสอนเป็นวาระสุดท้ายว่า  "ดูก่อนท่านทั้งหลายผู้มีอายุ ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาทจงอุตส่าห์ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ทุกเวลา ส่วนตัวของกระผม ได้ถึงการสิ้นอายุ จะนิพพานในเย็นวันนี้แล้ว" 

        เมื่อท่านเห็นภิกษุทั้งหลายแสดงความโศกาลัย จึงยกพุทโธวาทมาสอน แล้วบอกว่า  หากต้องการเห็นท่านเข้าสู่นิพพาน ให้ไปประชุมกันที่ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต ในเวลาเย็นนี้ เมื่อท่านได้บอกลา หมู่ภิกษุจึงได้ไปบอกลาพระเจ้าอชาตศัตรู และเหล่าอำมาตย์ทั้งหลาย จากนั้นจึงลากลับเวฬุวันมหาวิหาร และกระทำวัตรปฏิบัติอันสมควร  จึงนับเป็นสมณกิจที่กระทำเป็นวาระสุดท้าย โดยไม่มีโอกาสที่จะกระทำอีก  เมื่อเสร็จแล้วจึงพาหมู่พระภิกษุ ออกจากพระเวฬุวันมหาวิหาร สู่เขากุกกุฏสัมปาตบรรพต และก่อนจะเข้าพระนิพพาน ท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์  พร้อมทั้งอวยพร  และสั่งสอนให้ผู้คนปฏิบัติตามพระพุทโธวาท แล้วท่านเข้าผลสมาบัติ ไม่นานก็ออกจากผลสมาบัติ แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า  "ขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูก มารวมเป็นลูกเดียวกัน ให้มีห้องอยู่ภายในภูเขา พร้อมทั้งดอกไม้ที่บูชาอย่าเหี่ยวแห้ง"  นอกจากนั้นยังอธิษฐานให้พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ทรงกระทำการสักการะบูชา และทอดพระเนตรเป็นปัจฉิมทัศนาหลังนิพพานแล้วอีกด้วย  และ อธิษฐานของให้ซากศพของท่าน คงอยู่  จนกระทั่งถึงพระศาสนาของพระศรีอารยเมตไตรย โดยที่พระองค์พร้อมพระภิกษุทั้งหลายเต็มในสถานที่มีปริมณฑล  ๑๒  โยชน์ เสด็จมา ณ ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตนี้ จะทรงเอาพระหัตถ์ขวาช้อนซากศพของอาตมานี้ขึ้นชูไว้ และตรัสบอกกับพระภิกษุทั้งหลาย ให้รู้จักว่าเป็นผู้ยิ่งยงในทางถือธุดงค์ถึง ๑๓ ประการ ตั้งแต่วันแรกที่อุปสมบทจนถึงวันดับขันธ์เข้าสู่ พระนิพพาน ครั้นพระองค์ตรัสสรรเสริญคุณแล้ว เพลิง จะบันดาลลุกขึ้นในกายของอาตมา  เผาผลาญซากศพให้สูญสิ้นไป เหนือฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าและจะได้บรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปของเมืองนั้น

        ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อครั้นได้รับรู้ว่า พระมหากัสสปเถระจะลาสู่พระนิพพาน ก็ได้โศกาอาดูรจนถึงวิสัญญีภาพ คือสลบไปถึง ๓ ครั้ง เมื่อท่านไปถึงทรงทราบว่าพระมหากัสสปเถระทรงนิพพานอยู่ในระหว่างภูเขาทั้ง ๓ ลูกแล้ว จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐาน ความมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้นแก่มหาชน และพระเจ้าอชาตศัตรู  โดยทุกคนได้เห็นสรีระศพของท่านแล้วไม่มีใครเลยจะอดกลั้นความโศกาลัยได้

        ในครั้งนั้น พระปิปผลิเถระ  หรือ พระมหากัสสปเถระ  ผู้เป็นเลิศที่สุดในธุดงควัตร ตั้งแต่วันแรกที่อุปสมบท จนถึงวันดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ท่านมีอายุยืนประมาณ  ๑๒๐ ปี

                             "ความพรัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่ทั้งปวง
                                                      ย่อมมีเป็นธรรมดา
                                    ใครจะบังคับให้  สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
                         เหตุปัจจัยตกแต่งแล้ว  ย่อมมีความแตกหัก
                                                 ผุพังไปเป็นธรรมดานั้น 
                                            อย่าได้แตกหักผุพังไปเลย
                                                         ย่อมห้ามไม่ได้"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก

                           พระอนุรุทธเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทิพยจักษุ

                       บูรพเหตุ (มโมปณิธาน)   

        พระอนุรุทธเถระ ได้เป็นผู้เลิศด้านทิพยจักษุ  นั้นมีสาเหตุอยู่สองประการด้วยกันคือ

        ๑.  ด้วยการฝึกหัดจนชำนาญ คือ นอกจากเวลาฉันอาหารแล้ว พระอนุรุทธเถระก็จะเจริญ  "อาโลกกสิณ"   คือเล็งดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยทิพยจักษุอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน จนเกิดความชำนิชำนาญ

        ๒.  ด้วยความปรารถนาไว้ในอดีตชาติ

        เมื่อแสนกัปล่วงมานานแล้ว พระอนุรถทธเถระ ได้เกิดเป็นกุลบุตรกุมพี  ผู้เป็นใหญ่คนหนึ่งในสมัยของ พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทะเจ้า วันหนึ่งเมื่อกุมพีไปที่พระวิหารยืนฟังธรรมกฏาอยู่ภายนอกที่ประชุม  พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว จึงทรงแต่งตั้งภิกษุผู้มีทิพยจักษุรูปหนึ่ง ไว้ใน ตำแหน่งอันเลิศด้านทิพยจักษุ คือ มีตาทิพย์  ฝ่ายกุมพีเห็นแล้วคิดว่า "ภิกษุรูปนี้มีความดีมากจนพระพุทธเจ้าตั้งไว้ในตำแหน่งนี้ แม้ตัวเราก็ควรจะเป็นเช่นนี้บ้างในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล"  พอคิดเช่นนี้แล้ว จึงแหวกกลุ่มชนเข้าไปนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุหนึ่งแสนรูป  ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน  หลังจากที่กุกุมพีได้ถวายมหาทานติดต่อกันเจ็ดวัน และในวันที่เจ็ดได้ถวายผ้าอย่างดีพร้อมเครื่องเย็บและเครื่องย้อม แด่พระพุทธเจ้า และภิกษุหนึ่งแสนรูป แล้วตั้งความปรารถนา ขึ้นต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้กระทำการสักการะบูชาในคราวนี้ ไม่พึงประสงค์ทิพยสมบัติ และมนุษยสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย พระองค์ทรงตั้งพระภิกษุใดไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีืทิพยจักษุล่วงจากวันนั้นมาถึงวันนี้ได้ ๗ วันแล้ว ขอให้ข้าพระองค์ ได้เป็นยอดของพระภิกษุทั้งหลาย ผู้มีทิพยจักษุ เหมือนพระภิกษุองค์นั้น ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเถิด พระเจ้าข้า"  พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพยากรณ์ว่าเมื่อสิ้นกาลหนึ่งแสนกัปป์ ในอนาคตเธอจะได้เป็นผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ยทิพยจักษุ และจะมีชื่อว่า พระอนุรุทธะ

        กุฏุมพี ก็ได้ทำบุญทำกุศลตราบชั่วพระชนมายุของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ดับขันธ์ปรินิพพาน กุฏุมพีได้เข้าไปถามพระภิกษุสงฆ์ว่าการจะทำบุญกุศลให้เป็นทิพยจักษุนั้น จะต้องทำอย่างไร ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวแนะนำว่า  ควรจะถวายประทีปบูชาพุทธสุวรรณเจดีย์ของพระพุทธเจ้ากุฏุมพีจึงจัดต้นประทีปใหญ่หนึ่งพันต้นนำไปตั้งไว้รอบ ๆ พระสุวรรณเจดีย์และมีประทีปเล็ก ๆ คั่นกลางประทีปใหญ่เหล่านั้น  เมื่อรวมกับประทีปที่มีผู้นำมาจุด แสงประทีปนั้นแลดูโชติช่วงชัชวาลปานประหนึ่งกลางวัน นอกจากนั้นยังได้เคยถวายประทีป ในสมัยพระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระมหากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ เป็นต้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            สิบอัครสาวก

                           พระอนุรุทธเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทิพยจักษุ

                               ชาติภูมิ

        ในปัจจุบันชาติพระมหาอนุรุทธเถระ ได้้เกิดเป็นพระราชโอรสของเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เป็นผู้ที่มีบุญมาก มีปราสาท ๓ หลัง เป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารและบริวารยศ มีอาหารเกิดขึ้นในถาดทองคำเป็นประจำทุกวัน แม้ที่สุดคำว่า ไม่มี  ก็ไม่เคยได้สดับเลย เสวยสุขสมบัติประหนึ่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์  ในวันหนึ่ง ยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์คือ  ภัททิยะ  อนุรุทธะ  อานนท์  ภัคคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  ทรงเล่นกันอยู่   อนุรุทธะเล่นแพ้ต้องเสียขนมเป็นเดิมพัน จึงใช้ให้มหาดเล็กไปทูลขอขนมจากพระมารดา พระมารดาได้จัดขนมไปให้ กษัตริย์ทั้ง ๖ เสวยขนมแล้วเริื่มเล่นกันใหม่ อนุรุทธะเล่นแพ้อีก จึงใช้ให้มหาดเล็กไปขอขนมจากพระมารดา  พระมารดาจึงส่งไปอีกถึง ๓ ครั้ง  แต่พอถึงครั้งที่ ๔  มหาดเล็กบอกว่า ขนมไม่มี   อนุรุทธะ ไม่เคยได้ฟังคำว่า ไม่มี  เลยจึงเข้าใจว่าเป็นขนมที่มีชื่อแปลกชนิดหนึ่ง จึงให้มหาดเล็กไปบอกให้พระมารดาช่วยส่งขนมชื่อไม่มีมาให้แก่ตน   พระมารดาจึงทรงดำริว่า  "อนุรุทธะบุตรของเรา ไม่เคยฟฟังคำว่าไม่มี วันนี้เราจะให้บุตรของเราไม่เคยฟังคำว่าไม่มี  วันนี้เราจะให้บุตรของเรารู้จักความหมายคำนี้ด้วยอุบายประการหนึ่ง"  จากนั้นทรงจัดครอบถาดทองคำเปล่าใบหนึ่ง ด้วยถาดทองคำอีกใบหนึ่ง แล้วส่งไป

        บรรดาเทวดาผู้รักษาพระนครปรึกษากันว่า อนุรุทธะครั้งเกิดเป็นอันนภาระเป็นคนเกี่ยวหญ้า ได้เคยถวายข้าวที่เป็นส่วนของตนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า "การฟังคำว่า  ไม่มี  ขออย่ามีแก่ข้าพเจ้า การรู้จักที่เกิดแห่งโภชนาหารก็จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้าเลย"  ถ้าอนุรุทธะได้เห็นถาดเปล่านี้ ศรีษะของพวกเราจักตั้งแตกเป็น ๗ เสี่ยง เป็นแน่แท้  ว่าแล้วเทวดาทั้งหลายจึงบันดาลให้เกิดมีขนมทิพย์เต็มถาดทองคำนั้น  พอมหาดเล็กวางถาดทองคำลงแล้ว เปิดฝาออกกลิ่นขนมก็หอมตลบไปทั่วพระนคร ครั้นเมื่ออนุรุทธะบริโภค รสของขนมก็ซาบซ่านไปตลอดเส้นรับรสทั้งหมด เมื่อพระมารดารู้เข้า จึงคิดว่าบุตรของตนคงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากเป็นแน่ จำเดิมแต่วันนั้นมา เมื่ออนุรุทธะทูลว่า "กระหม่อมต้องการบริโภคขนม"  พระมารดาจะจัดครอบถาดเปล่าไปให้ และฝ่ายเทวดาก็ได้จัดขนมทิพย์ ส่งให้แก่อนุรุทธะตลอดระยะเวลาที่อนุรุทธะนั้นยังเป็นคฤหัสถ์ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            สิบอัครสาวก

                           พระอนุรุทธเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทิพยจักษุ

                              บรรพชา

        ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาประทับอยู่อยู่ที่อนุปิยนิคม ในเวลานั้นพวกศากยกุมาร ได้ออกบรรพชา เป็นจำนวนมากแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ประชุมตระกูลศากยทั้งหมด ขอให้กุมารตระกูลละหนึ่งคนออกบรรพชา ในคราวนั้นเหล่าราชกุมารทั้งหลายได้ชักชวนกันออกบวช  ได้แก่  ภัททยะ  อนุรุทธะ  ภัคคุ  กิมพิละ  เทวทัต  และอุบาลี  ผู้เป็นภูษามาลา รวม ๗ ท่านด้วยกัน บุคคลทั้งเจ็ดพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยพระอนุรุทธะ ได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ ให้พระพุทธองค์ ประทานการบรรพชาแก่พระอุบาลีก่อน เพื่อลดขัตติยมานะ ของพวกตนให้เบาบางจากขันธสันดาน คือ อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตตามนั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก

                           พระอนุรุทธเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทิพยจักษุ

                              บรรลุธรรม

        ในเบื้องแรก พระอนุรุทธเถระ ได้สำเร็จทิพยจักษุญาณก่อนและได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา ที่มีชื่อว่ามหาปุริสวิตักกสูตร อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตึกตรองแปดประการ คือ ธรรมนี้เป็นของผู้มีความปรารถนาน้อย  ผู้มีสันโดษ  ผู้สงัดแล้ว  ผู้ปรารถนาความเพียร  ผู้มีสติตั่งมั่น  ผู้มีใจตั้งมั่น  ผู้มีปัญญา  ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า  เมื่อพระอนุรุทธเถระได้ฟังจึงบำเพ็ญเพียรต่อไปและได้สำเร็จอรหันตผล เป็นพระมหาขีณาสพในคราวนั้นเอง ครั้งหนึ่ง พระอนุรุทธเถระพักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนางเทพธิดาชาลินีได้ลงมาบอกพระเถระว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า เมื่อก่อนท่านเคยอยู่ในสถานที่ใด ขอให้ท่านไปเกิดในสถานที่นั้น ชาติก่อนท่านเคยมีหมู่เทวดาล้อมรอบอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งสำเร็จความใคร่ทั้งปวง เจ้าค่ะ"  ทั้งยังกล่าวเชิญชวนให้เห็นถึงความสุขสบายบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเป็นการชักชวน พระเถระจึงตรัสสอนว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิด มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความระงับสังขารเหล่านั้นเป็นสุข นี่แนะ ชาลินี บัดนี้อาตมาไม่มีโอกาสเป็นอยู่ในหมู่เทวดาอีกแล้ว อาตมาสิ้นการเวียนเกิด ไม่มีการเกิดอีกแล้ว 

        พระออนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขารมาหลังพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ คือการเข้าฌานอยู่โดยลำดับ ๙ ประการ   พระอานนทเถระมองดูไม่เห็นมีลมหายใจ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงถามพระอนุรุทธเถระว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วหรือขอรับ"  "อานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน"  ครั้นด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากฌานแล้ว ข้ามเข้าสู่ภวังคปรินิพพานแล้วก็เกิดแผ่นดินไหวน่าสะพรึงกลัว  พระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชน ยังไม่ปราศจากราคะกิเลสก็เสียใจร้องไห้ บ่นเพ้อรำพันเสียดายพระผู้มีพระภาคเจ้า  ลำดับนั้น พระอนุรุทธเถระกล่าวเตือน ภิกษุทั้งหลายถึงความพลัดพรากจากสิ่งที่รักนั้นเป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดบังคับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นแล้วให้อย่าได้แตกสลายได้

        พระอนุรุทธเถระ และ พระอานนทเถระ ได้ผลัดกันแสดงธรรมตลอดราตรีที่เหลืออยู่จนรุ่งสว่าง แล้วพระอนุรุทธเถระจึงสั่งพระอานนทเถระไปแจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่ชาวมัลละ  และชาวกุสินารา เมื่อมัลลกษัตริย์ ผู้เป็นหัวหน้า  ทรงสละเกล้านุ่งห่มผ้าใหม่ และเตรียมยกพระสรีระศพแต่ไม่อาจยกให้เขยื้อนได้ จึงพากันกราบเรียนถามพระอนุรุทธเถระว่า "ข้าแต่พระอนุรุทธเถระ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ขอรับ?." พระอนุรุทธเถระจึงบอกตอบว่า"ดูก่อนท่านทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกท่านเป็นอย่างหนึ่ง แต่ของทวยเทพมีความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง"  "ข้าแต่พระอนุรุทธะ เทวดาทั้งหลายมีความประสงค์อย่างไร ขอรับ"  "ดูก่อน พวกท่านมีความประสงค์อันเชิญ พระสรีระศพเข้าสู่ทิศทักษิณ แล้วอันเชิญออกไปถวายพระเพลิงทางทิศทักษิณ  ส่วนเทวดาทั้งหลายประสงค์จักเคารพสักการบูชา ด้วยมวลดอกไม้และของหอมอันเป็น ทิพย์และประโคมพระสรีรศพด้วยการห้อนรำขับ ดีดสีตีเป่า แล้วจึงอันเชิญพระสรีรศพออกทางประตูทิศบูรพา จัดกี่ถวายพระเพลิงที่เจดีย์ของพวกมัลลกษัตริย์ อันมีชื่อว่า "มกุฏพันธนะเจดีย์"  พอพวกมัลลกษัตริย์ ทราบความเป็นไปนั้นจากพระอนุรุทธเถระแล้วจึงพากันปฏิบัติตามความประสงค์ของเทวดาทั้งหลาย เรื่องที่ยกมานี้เป็นเหตุผลรับรองว่า พระอนุรุทธเถระมีอายุยืนถึงหลังจากพระพุทะองค์ปรินิพพานแล้ว และท่านยังเป็นผู้มีตาทิพย์สามารถรู้เหตุการณ์ที่ผู้อื่นมิอาจล่วงรู้ได้

        "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
        มีความเกิด ความเสื่อมไป
                        เป็นธรรมดา
            ครั้งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ความระงับสังขารเหล่านั้นเป็นสุข"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                              สิบอัครสาวก 

                             พระอุบาลีเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  ทรงพระวินัย

                        บูรพเหตุ (มโนปณิธาน)

        พระอุบาลีเถระ เป็นกำลังสำคัญของพุทธศาสนา ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลิศด้านทรงจำพระวินัยปิฏก อันเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นไม้ อีกทั้งตั้งใจปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอีกด้วย  ในอดีตท่านได้เกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อว่า "สุชาต"  ผู้มีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ เรียนสำเร็จวิชาไตรเทพพร้อมคัมภีร์พิเศษอีกหลายคัมภีร์ด้วยกัน กาลต่อมา เมื่อพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงอุบัติขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดาท่ามกลางประชุมชน ซึ่งอยู่เต็มบริเวณสถานที่ประมาณ ๑ โยชน์  ในครานั้น สุนันทดาบส หรือ โคดมฤาษี (พระปุณณมันตานีบุตร) ได้เนรมิต ปะรำดอกไม้ขึ้นมุงบังประชาชนทั้งหลายในที่นั้น ขณะที่พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน รุ่งขึ้นวันที่ ๘  จึงได้ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า วันหน้าจะได้เป็นสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า มีนามว่า  "ปุณมันตานีบุตร"  ฝ่ายสุชาตพราหมณ์ ได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสทำนายสุนันทดาบส ของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ต้องการจะทำบุญบ้าง และเมื่อได้เห็นภิกษุองค์หนึ่ง ได้รับยกย่องจากพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเลิศในทางทรงไว้ ซึ่งพระวินัย จึงกระทำบุญแล้วตั้งปณิธานปรารถนาเป็นผู้เลิศ ในทางพระวินัย และได้สร้างอารามมีชื่อว่า "โสภณะ"  ถวายแด่พระถิกษุทั้งหลาย มีพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน  จากนั้นก็ได้รับพุทธทำนายไว้ว่า  "สุชาตพราหมณ์ ผู้สร้างอารามถวายสงฆ์นี้ จะเป็นผู้เพียบพร้อมความสุขในมนุษยโลกและเทวโลกอยู่ตลอดกาลนาน คือจะได้เป็นอมรินทราธิราชหนึ่งพันชาติ จะได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิหนึ่งพันชาติ และเป็นพระราชาในประเทศต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน และจะได้เป็นสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า ในกัปที่หนึ่งแสนข้างหน้า โดยมีชื่อว่า "อุบาลี"

        แต่ในกัปที่ ๒  โดยการนับถอยหลังจากภัทรกัปนี้ไปพระอุบาลีในชาตินั้น ได้เกิดเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์ นามว่าพระเจ้าอัญชสะ  โดยพระองค์มีนามว่า จันทนกุมาร  ในชาตินั้นได้กระทำการเบียดเบียนพระเทวลสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเมื่อจันทนกุมารเสด็จสู่พระราชอุทยาน ก็มีอาการเร่าร้อนเหมือนกับถูกไปไหม้ที่ศรีษะ แล้วดิ้นรนเหมือนปลาที่ติดเบ็ด  ทั่วทั้งปฐพีสำหรับจันทนกุมาร เสมือนกับแผ่นเหล็กแดงร้อนไปทั่วทุกตารางนิ้ว  เมื่อพระราชบิดาของจันทนกุมารทราบเรื่องเข้า จึงได้ให้จันทนกุมารไปขอขมาโทษ ต่อพระเทวลสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น พระเทวลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึง การตกในอำนาจแห่งความโกรธนั้น  ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งขันที ครั้นทรงตรัสแล้ว ความเร่าร้อนของจันทนกุมารจึงหมดไป  แต่ด้วยอกุศลกรรมที่พระจันทนกุมาร ทรงกระทำผิดต่อพระเทวลสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความเมาในอำนาจราชศักดิ์ จึงต้องทำให้ต้องมาเกิดในตระกูลช่างตัดผมในชาตินี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 1/03/2012, 02:29 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
สิบอัครสาวก : พระอุบาลีเถระ : ชาติภูมิ
« ตอบกลับ #39 เมื่อ: 1/03/2012, 02:37 »
                             สิบอัครสาวก 

                             พระอุบาลีเถระ

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  ทรงพระวินัย

                              ชาติภูมิ

        ในชาติปัจจุบันนี้ พระอุบาลี หรือสุชาตพรหมณ์นั้น ได้มาเกิดเป็นบุตรของนายช่างกัลบก คือ ช่างตัดผมหรือช่างโกนผม ในพระนครกบิลพัตร์ และได้รับการขนานนามว่า  อุบาลี  เมื่ออุบาลีเติบใหญ่แล้ว ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งพระศากยวงศ์ทั้ง ๖  คือ  ภัททิยะ  อนุรุทธะ  อานนท์  ภุคคุ  กิมพิละ  และพระเทวทัตแห่งโกลิยวงศ์   เหตุที่ได้รับตำแหน่งนี้ เพราะเป็นที่เลื่อมใสเจริญพระหฤทัยแห่งเจ้าศากยวงศ์ทั้ง ๕ พระองค์

Tags: