collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: สิบอัครสาวก : สารบัญ  (อ่าน 29277 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
สิบอัครสาวก : สารบัญ
« เมื่อ: 30/01/2012, 04:23 »
                               สารบัญ

คำนำ

พระสารีบุตรเถระ

พระมหาโมคคัลลานเถระ

พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

พระสุภูติเถระ

พระมหากัจจายนเถระ

พระมหากัสสปเถระ

พระอนุรุทธเถระ

พระอุบาลีเถระ

พระอานนทเถระ

พระราหุลเถระ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
สิบอัครสาวก : คำนำ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30/01/2012, 04:56 »
                                 สิบอัครสาวก 

                                    คำนำ

ขอนบนอบวันทาแด่

        องค์พระอนุตตรธรรมเจ้า และปวงพระพุทธาโพธิสัตว์ และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลพิภพ  ประวติพระอัครมหาสาวกทั้งสิบ คือผู้ที่ครั้งหนึ่งได้เคยปฏิบัติบำเพ็ญเพียร จนได้บรรลุในมรรคผลเมื่อครั้งอดีตในสมัยพุทธกาล แต่ละพระองค์ได้ทรงตั้งนโมปณิธานมานับแสนกัปก่อน จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลในชาติสุดท้ายนี้ โดยมีพระปัญญาญาณ  พระวิสุทธิคุณ และพระจริยวัตรอันงดงามอันยิ่งยวด

         ในประวัติเหล่านี้ จะสามารถเห็นถึงการตั้งนโมปณิธานการกระทำกุศลในอดีตชาติ การเวียนไปตามภูมิภพ ตามอำนาจของกุศลและอกุศลกรรม การบังเกิดในชาติสุดท้าย การฟังธรรม การออกผนวช การบำเพ็ญปฏิบัติธรรม การประกาศเผยแพร่ธรรม ฉุดช่วยเวไนยสัตว์ จนถึงการบรรลุธรรม

        นอกจากนั้น ท่ามกลางจริยวัตรเหล่านี้ ยังสามารถเล็งเห็นถึงความกตัญญู ความเคารพในครูบาอาจารย์ ความเทิดทูนในธรรมะและความเพียรในการปฏิบัติบำเพ็ญ อันสามารถให้ข้อคิดและเหมาะสำหรับเป็นแบบอย่าง ให้กับผู้ที่ใฝ่บำเพ็ญนั้นได้เจริญปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง

        ในความผิดพลาดทั้งปวงอันเกิดแต่หนังสือเล่มนี้ ขอให้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัครมหาสาวกทุกพระองค์ทรงโปรดนิรโทษ อีกทั้งขอให้ผู้อ่านทุกท่านอภัยด้วย

                        สิบอัครมหาสาวก

                 ISBN 974-93970-6-1

                    จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย

                      กลุ่มวารสารเต๋อฮุ่ย

                          พิมพ์ครั้งที่ 1

                    โทร  0-2895-0181

                  รูปเล่ม โดย RK PRINTING 

                โทร. 0-2668-9489, 0-9458-8690

               e-mail :  [email protected]     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                สิบอัครสาวก 

                              พระสารีบุตรเถระ 

                       ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                                   ชาติภูมิ

        พระสารีบุตรนั้นเป็นผู้ที่อุดมด้วยปัญญา  อันหาพระสาวกผู้เสมอเหมือนมิได้ และได้ดำรงตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบประหนึ่งเป็นกองทัพธรรมที่คอยออกปราบปรามหมู่มวลอธรรม ทรงไว้ซึ่งความดีทั้งปวง ทั้งได้ประพฤติตนเป็นเนติ คือเป็นแบบแผนอันดีแก่คนทั้งหลาย

        พระสารีบุตร เดิมมีชื่อว่า  "อุปติสสะ" เป็นบุตรของ "วังคันตพราหมณ์"  ผู้เป็นนายบ้านตำบลหนึ่ง ชื่อว่า อุปติสสคาม  บ้างเรียกว่า นาลกะ หรือ นาลันทา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ มีมารดาชื่อ "นางสารี"  การที่มีชื่อว่า  "สารีบุตร"  นั้น เป็นเพราะเรียกตามชื่อมารดา  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คำว่า "สารีบุตร" แปลได้ว่า บุตรของคนเล่นหมากรุก เมื่ออุปสมบทแล้ว เพื่อนพรหมจรรย์นิยมเรียกท่านว่า "พระสารีบุตร"  โดยทั่วกัน จึงทำให้ชื่อ อุปติสสะ  แต่เดิมนั้นเลือนหายไป

        ตระกูลของอุปติสสะ เป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังมีตระกูลพราหมณ์อีกตระกูลหนึ่ง อยู่ในหมู่บ้านโกลิตคาม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้าน อุปติสสคาม เป็นตระกูลที่มีฐานะทัดเทียมกัน หัวหน้าตระกูลนี้เป็นพราหมณ์มีชื่อว่า "โกลิตพราหมณ์" โมคคัลลานโคตร มีภรรยาชื่อ นางโมคคัลลี มีบุตรชื่อ โกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้าน หรือเรียกตามชื่อโคตรวงศ์ว่า โมคคัลลานะ  บางท่านกล่าวว่าเรียกตามชื่อของมารดา และชื่อโมคคัลลานะนี้ ได้ใช้รียกมาจนกระทั่งออกบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ตระกูลทั้งสองเป็นสหายสนิทมา ๗ ชั่วคน  จึงเป็นเหตุให้อุปติสสะ และโกลิตะ ได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาทั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ครั้งเมื่อเติบโตขึ้นได้เรียนศิลปศาสตร์ที่ควรเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังสามารถเรียนจบได้อย่างรวดเร็ว ด้วยต่างเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมยิ่ง 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               สิบอัครสาวก 

                              พระสารีบุตรเถระ 

                       ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                               บรรพชา

        กรุงราชคฤห์ มีมหรสพประจำปีชนิดหนึ่งเรียกว่า  "คิรักคคสมัชชา"  คือมหรสพบนยอดเขา ซึ่งท่านทั้งสองได้ไปเที่ยวเป็นประจำ ทั้งสองต่งร่าเริงในเรื่องที่ควรร่าเริง สังเวชในเรื่องที่ควรสังเวช และตกรางวัลในสิ่งที่ควรให้รางวัล ท่านทั้งสองนั้นเที่ยวชมมหรสพอยู่เช่นนี้เสมอมา  วันหนึ่งอุปติสสะและโกลิตะ ได้ชวนกันไปดูมหรสพเหมือนเคย แต่คราวนี้กลับไม่ร่าเริงเหมือนก่อน ไม่ให้รางวัลเหมือนที่ผ่านมา  ด้วยฌาณบารมีนั้นเริ่มแก่กล้าขึ้นแล้ว  เมื่อมหรสพเลิก โกลิตะได้เอ่ยถามขึ้นว่า  "อุปติสสะ วันนี้เพื่อนไม่สนุกสนานเหมือนวันอื่น ๆ เราดูเพื่อนมีความเศร้าแฝงอยู่ เพื่อนเป็นอะไรหรือเปล่า ?."  "โกลิตะเพื่อนรัก ในการละเล่นนี้มีอะไรที่เราควรจะดูอยู่หรือ คนเหล่านี้ยังไม่ทันถึง ๑๐๐ ปี ต่างก็ต้องล่วงลับดับชีวิตล้มหายตายจากไปกันหมด ดูการละเล่นไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ควรแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดีกว่า เรานั่งคิดอยู่ดังนี้"  เมื่ออุปติสสะได้เล่าแล้ว จึงถามขึ้นบ้างว่า "ส่วนเพื่อนละ มีความคิดเป็นอย่างไร"  "อุปติสสะ เราก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน" โกลิตะตอบ

        ในสมัยนั้น สัญชัยปริพาชก อาศัยอยู่ในกรุ่งราชคฤห์ พร้อมกับปริพาชกหมู่ใหญ่  มานพทั้งสองจึงได้ชวนกันออกบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชก และได้เล่าเรียนจนหมดภายในเวลาไม่กี่วัน อาจารย์สัญชัยจึงให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนศิษย์ต่อไป และต่อมาทั้งสองได้ถามต่อสัญชัยปริพาชกว่า  "ข้าแต่อาจารย์ลัทธิของท่านอาจารย์มีเพียงเท่านี้ หรือว่ายังมียิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ?."  "มีอยู่เพียงเท่านี้แหละ ลัทธิทั้งสิ้นเธอทั้งสองได้เรียนรู้หมดแล้ว"  อาจารย์สัญชัยปริพาชกกล่าวตอบ

        ทั้งสองคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้การอยู่ในสำนักของอาจารย์สัญชัยก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสิ่งที่เราแสวงหานั้นคือโมกขธรรม  คือ ธรรมมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกิเลส  ทั้งสองได้เที่ยวไปตลอดชมพูทวีป แล้วกลับมาสู่ที่อยู่ของตน เมื่อกลับมาแล้ว จึงตั้งกติกาต่อกันไว้ว่า "ถ้าผู้ใดได้บรรลุอมตะธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันด้วย" 

        ในสมัยนั้น พระบรมศาสดา ได้ตรัสรู้เป็นระยะเวลาหนึ่ง  ได้ทรงส่งอรหันตสาวก ๖๐ รูป คณะแรก อันมี พระอัสสชิเถระรวมอยู่ในนั้น ออกไปประกาศเกียรติคุณของพระรัตนตรัย ด้วยพุทธดำรัสที่ว่า  "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเที่ยวไปสู่ที่ที่ควรเที่ยวไป เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก"  รุ่งเช้า พระอัสสชิ ได้ครองจีวรอุ้มบาตรแต่เช้า เข้าไปบิณฑบาตในกรุ่งราชคฤห์  เช้าวันนั้น อุปติสสปริพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว ได้ไปเที่ยวที่อารามของพวกปริพาชกและได้แลเห็นพระอัสสชิเถระแล้วคิดขึ้นว่า บรรพชิตเช่นนี้ เรามิเคยได้เห็นมาก่อน จึงได้ติดตามไป อุปติสสะเมื่อเห็นพระอัสสชิได้บิณฑบาตรแล้วกลับอกไปเพื่อหาที่นั่งฉันภัตตาหาร เมื่อทราบว่าประสงค์จะนั่ง อุปติสสะ จึงได้จัดตั่งของตนเองถวาย เมื่อฉันเสร็จ ก็ได้ถวายน้ำในคณโฑของตน แล้วถามว่า "ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณก็บริสุทธิ์นักแล ท่านตั้งใจบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจในธรรมของใคร ?."

        พระอิสสชิเถระตอบว่า   "พระมหาสมณะผู้เป็นบุตรศากยราช  ผู้ออกบวชจากศากยตระกูลมีอยู่ เราตั้งใจบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น"  อุปติสสะถามด้วยความสนใจยิ่งว่า  "พระศาสดาของท่านบอกกล่าวสั่งสอนอย่างไรขอรับ"  พระอัสสชิตอบว่า  "เราเป็นผู้บวชใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ เรามิอาจแสดงธรรมให้พิศดารได้"  อุปติสสปริพาชกจึงคิดว่า  เราเป็นผู้มีความสามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมะ จึงกล่าวขึ้นว่า  "ท่านจะแสดงมากหรือน้อยก็ตาม ขอจงแสดงเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้นข้าพเจ้าต้องการเฉพาะแต่ใจความสำคัญ"   เมื่อนั้นพระอัสสชิเถระ จึงได้กล่าวขึ้นว่า

"เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา       เตสํ เหตํ ตถาคโต
เตสญฺจ  โย  นิโรโธ           เอวํ  วาที  มหาสมโน

 "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้"   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               สิบอัครสาวก 

                              พระสารีบุตรเถระ 

                       ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                               บรรพชา ๒

        อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมนี้เพียง ๒ บาทแรก ก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาเป็นติมรรค อันประกอบด้วยนัยหนึ่งพัน พอได้ฟัง ๒ บาทหลังจบลงก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น ในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า  "พระโสดาบัน" จากนั้นจึงได้ถามพระอัสสชิเถระว่า "พระศาสดาของเราประทับอยู่ที่ใดขอรับ"  พระเถระตอบว่า  "พระศาสดาประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร"  อุปตัสสปริพาชกจึงกล่าวว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าขอท่านขงล่วงหน้าไปก่อน ข้าพเจ้ามีสหายอยู่คนหนึ่ง ที่ได้ทำกติกากันไว้ ว่าผู้ใดบรรลุอมตะธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน  ข้าพเจ้าจะขอเปลื้องปฏิญญาข้อนั้น  แล้วพาสหายไปยังสำนักของพระศาสดา ตามทางที่ท่านไป"  กล่าวจบก็ได้มอบกราบแทบเท้าพระอัสสชิเถระ ด้วยเบญจยางคประดิษฐ์  แล้วกระทำการประทักษิณ ๓ รอบ จึงส่งพระเถระไป ส่วนตนก็มุ่งหน้ากลับไปยังอาศรมของโกลิตปริพาชก

        เมื่ออุปติสสปริพาชกถึง โกลิตะ ได้สังเกตเห็นดวงตาและสีหน้าของสหายรัก จึงแน่ใจว่าอุปติสสะคงได้พบสิ่งอันประเสริฐ ที่ทั้งสองได้แสวงหามาช้านานแล้ว  อุปติสสปริพาชกได้ตอบรับและเล่าเรื่องที่ไปพบพระอัสสชิเถระ และกล่าวคาถาธรรมนั้นให้ฟัง  โกลิตะ ได้ฟังจบก็ได้สำเร็จโสดาบันเช่นเดียวกัน เมื่อตกลงกันว่าจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา อุปติสสะได้กล่าวกับโกลิตมานพผู้สหายว่า  "สหายเราจักบอกธรรมที่เราบรรลุ แก่สัญชัยปริพาชก อาจารย์ของเราเมื่อท่านรู้จักได้แทงตลอด หากไม่แทงตลอด พวกเราก็จักพาไปยังสำนักของพระศาสดา ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า แล้วจักกระทำการแทงตลอดมรรคผล"  จากนั้นทั้งสองจึงได้ไปหาอาจารย์สัญชัยปริพาชก และได้ชักชวนให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่อาจารย์สัญชัยก็ได้กล่าวห้าม และกล่าวแสดงความเลิศล้ำของลาภยศ อาจารย์สัญชัยนั้นมิยอมไปเป็นศิษย์ใคร จึงไม่ยอมไปด้วย จากนั้นทั้งสองจึงได้ไปลาปริพาชก ๒๕๐ คน ผู้เป็นบริวาร ซึ่งทั้งหมดก็ขอติดตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย  ทั้งสองและปริพาชกได้เข้าสู่เวฬุวันมหาวิหาร และได้ขอออกบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

        พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า  "จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันตถาคตได้แสดงไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำให้สิ้นทุกข์ด้วยชอบเถิด"  การบวชเช่นนี้เรียกว่า  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  คือมีพระพุทะเจ้าเป็นผู้บวชให้  ด้วยการกล่าวเช่นนี้ เมื่อทั้งสองได้ออกบวชแล้ว พระอุปติสสะ ได้เปลี่ยนเป็นพระสารีบุตร  และ พระโกลิตะได้เปลี่ยนเป็นพระมหาโมคคัลลานะ 

        พระสารีบุตรบรรพชาแล้ว  ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จอรหันตผล ที่ถ้ำสุกรขาตา ภูเขาคิชกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ โดยการที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสกับปริพาชกผู้หนึ่งว่า  "ดูก่อน อัคคิเวสนะ เวทนามีอยู่ ๓ ประการ คือ สุข เวทนา ๑  ทุกขเวทนา ๑  และอุทกขมสุขเวทนา ๑ 
ในคราวใดบุคคลได้รับสุขเวทนา ได้แก่ มีความรู็สึกเป็นสุข ในคราวนั้นก็ไม่ได้รับเวทนาอีก  ๒ ประการ 
ในคราวใดบุคคลได้รับทุกขเวทนา คือมีความรู้สึกเป็นทุกข์ หรือ อทุกขมสุขเวทนา คือ มีความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ทุกข์  ไม่สุข  ในคราวนั้น ก็ไม่ได้รับเวทนาอีก ๒ ประการ    เวทนาทั้ง ๓ นี้  ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่มีเหตุปัจจัยแตกต่าง มีแต่ความสิ้นไป  เสื่อมไป  คลายไป  ดับไปเป็นธรรมดา" 

        ปริพาชกนั้นได้ส่งใจ ไปตามที่พระบรมศาสดาได้แสดงไว้ก็ได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตร ซึ่งนั่งถวายงานพัดอยู่ ก็ได้พิจารณาตามพระธรรมเทศนาไปด้วย จิตก็หลุดพ้นอาสวะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์  ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน  ๓  พระบรมศาสดาได้ทรงกระทำสาวกสันนิบาต  แล้วประทานตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวาแก่พระสารีบุตร และตำแหน่งอัครสาวกเบื้องซ้ายแก่ พระมหาโมคคัลลานะ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                สิบอัครสาวก 

                              พระสารีบุตรเถระ 

                       ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                         บูรพเหตุ  (มโนปณิธาน)

        เมื่อหนึ่งอสงไขยกัป กับอีกแสนกัปล่วงมาแล้ว พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล  ชื่อว่า  "สรทะ"  (สุรุจิ) ส่วนพระมหาโมคคัลลานะ  เกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล ชื่อว่า  "สิริวัฑฒะ"  ทั้งสองเป็นสหายกันตั้งแต่เล็ก ครั้งเมื่อบิดาล่วงลับไป ต่างก็ได้รับมรดกเป็นอันมาก จนวันหนึ่งสรทะมานพนั้นต้องการบรรพชาแสวงหาการหลุดพ้น จึงได้มาชวนสิริวัฑฒะกุฏมพี  แต่สิริวัฑฒะตอบว่า  "เราไม่อาจไปบวชได้ ขอเพื่อนจงบวชเถิด"  เมื่อออกบวชเป็นดาบสท่านก็ได้สำเร็จอภิญญา ๕  สมบัติ ๘  มีศิษย์อยู่  ๘๔,๐๐๐ คน เมื่อได้พบพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า กับพระสาวกหนึ่งแสนรูป ก็ได้บวชด้วยดอกไม้อยู่ตลอด ๗ วัน  ที่ท่านได้บูชาด้วยดอกไม้นั้น ท่านได้ยืนประนมมือนอบน้อม พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าอยู่ที่ได้เข้านิโรธสมาบัติอยู่ในที่แห่งเดียว โดยที่ท่านไม่ได้ไปไหน  ไม่ได้บริโภคข้าว  น้ำ  และโภชนาหารเลย แต่อิ่มอยู่ด้วยปิติที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า กับหมู่สาวกหนึ่งแสนรูป ที่กำลังเข้าสมาบัติอยู่
       
        พอพ้น  ๗ วันแล้ว ศิษย์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จอรหันต์หมด  ส่วนสรทะดาบสนั้นเพราะได้ปรารถนาตำแหน่งอัครมหาสาวกของ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเหมือน พระนิสภเถระ  (อัครสาวกเบื้องขวาของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า)  นี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"  เมื่อพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาดูแล้ว จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตล่วงไปอีก  ๑ อสงไขยกัปป์กับอีก ๑ แสนกัปข้างหน้า จะได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า มีชื่อว่า  "พระธรรมเสนาบดี  สารีบุตร"
       
        นับถอยหลังจากกัปนี้ ถอยไปประมาณ  ๖๐ กัป  พระสารีบุตรในชาตินั้นได้ตั้งใจบำเพ็ญทานบารมี ยินดีสละซึ่งบ้านเรือน  ไร่นา  ทรัพย์สมบัติเป็นต้นดังนั้นสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดจึงถูกบริจาคเป็นทานออกไป แม้กระทั่งชีวิตท่านก็ยินดีที่จะสละ ปณิธานนี้สะเทือนไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้า ทำให้เทวดารูปหนึ่งปรารถนาจะหยั่งใจของท่าน  เทวดาได้เนรมิตตนเป็นเด็กหนุ่ม ไปรออยู่ในทางผ่าน เมื่อพบท่านก็แกล้งทำเป็นร้องไห้ พระสารีบุตรในชาตินั้นด้วยความสงสารจึงเข้าไปถาม  "พ่อหนุ่มเอย เหตุใดจึงร้องไห้เสียใจเช่นนี้เล่า"  "อย่าได้ถามให้มากความ บอกท่านไปก็หามีประโยชน์อันใดไม่"  "จงบอกมาเถิดเราเป็นผู้กระทำบำเพ็ญเพียรเพื่อให้หมู่ชนทั้งหลายได้พ้นจากห้วงทุกข์ หากท่านปรารถนาในสิ่งใด ขอเพียงเป็นสิ่งที่เราสามารถให้ได้ เราย่อมตอบสนองแก่ท่านเป็นแน่แท้"  "การที่เราร่ำไห้อยู่เช่นนี้ หาใช่ด้วยขาดซึ่งโภคทรัพย์ใด ๆ แต่เป็นเพราะมารดาเราป่วย ซึ่งหมอผู้ทำการรักษาได้กล่าวว่า จักต้องอาศัยดวงตาของผู้บำเพ็ญธรรมมาเป็นตัวยาจึงจะสามารถรักษาโรคได้ ลำพังดวงตาของคนก็เป็นที่หาได้ลำบากแสนเข็ญยิ่งนักแล้ว ยิ่งเป็นดวงตาของผู้บำเพ็ญธรรม จักให้เราหาได้จากที่ใดเล่า ?.  ครั้งเมื่อเรานึกถึงมารดาที่เจ็บป่วยอยู่ จึงได้ร้องไห้เสียใจอยู่เช่นนี้"   "เรานั้นได้กล่าวแก่ท่านแล้วว่า เราเป็นผู้บำเพ็ญเพียรและเรายินดีสละดวงตานี้ให้แก่ท่าน จงมาเอาไปเถิด"  ในขณะนั้น ด้วยมีดำริว่าถึงอย่างไร ดวงตานั้นยังคงเหลืออยู่อีกข้างหนึ่ง เช่นนี้คงไม่เป็นไรนัก  "เช่นนี้หาได้ไม่ เราจักนำเอาดวงตาของท่านมาได้อย่างไร ถ้าท่านมีความเต็มใจจักมอบให้ ก็โปรดควักออกมาเองเถิด"  พระสารีบุตรในชาตินั้นได้ทนกลั้นต่อความเจ็บปวดกระทำการควักดวงตาของตนออกมา จากนั้นก็ส่งมอบให้กับเด็กหนุ่ม   "แย่แล้ว เหตุใดท่านจึงควักดวงตาข้างซ้ายเล่า?. หมอนั้นบอกว่าโรคของมารดาจักต้องใช้ดวงตาข้างขวาในการรักษา"   "อย่าได้ตกใจเลย ด้วยเรานั้นไม่ทันได้ถามไถ่ให้ชัดเจน อันร่างกายนี้เป็นเพียงมายาเป็นอนิจจัง เรายังเหลือตาขวาและยินดีสละเพื่อเป็นยารักษามารดาท่าน"  จากนั้นก็ได้ตัดใจเด็ดเดี่ยว ควักลูกตาอีกข้างออกมามอบให้เด็กหนุ่มคนนั้น  เด็กหนุ่มมิเพียงไม่ขอบคุณ เมื่อได้รับดวงตา ก็เอามาดมแล้วขว้างลงพื้นแล้วกล่าวว่า  "ท่านเป็นผู้บำเพ็ญธรรมเยี่ยงไร?. เหตุใดดวงตาของท่านจึงมีกลิ่นเหม็นถึงเพียงนี้  เช่นนี้จักนำไปทำยาให้แม่เราได้อย่างไร ?.  เมื่อด่าจบแล้วก็กระทืบไปที่ดวงตาของพระสารีบุตรนั้น 

        เหตุนี้ถึงกับทำให้พระสารีบุตร ในพระชาตินั้นเริ่มท้อ  บัดนั้น เทวดาจึงปรากฏตัวขึ้นกลางนภากาศ แล้วกล่าวว่า  "ท่านผู้บำเพ็ญเอย โปรดอย่าได้ท้อใจเลย เด็กหนุ่มเมื่อครู่เป็นเราที่มาทดสอบใจท่านเท่านั้น ขอท่านจงยิ่งวิริยะพากเพียร บำเพ็ญไปตามปณิธานของท่านเถิด"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก 

                           พระสารีบุตรเถระ     

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                             พระบารมี

        ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถระ ซึ่งปลงผมใหม่ นั่งเข้าสมาธิอยู่กลางแจ้งในคืนเดือนหงาย  ครั้งนั้นมียักษ์  ๒ ตน  ซึ่งกำลังเดินทางจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ  ตนหนึ่งมีจิตใจชั่วร้ายจึงกล่าวกับอีกตนว่า  "นี่แนะสหายเรา เราจะประหารที่ศรีษะของสมณะนี้"  ยักษ์สหายกล่าวว่า  "อย่าได้ทำร้ายพระสรณะนี้เลยสมณะนี้เป็นผู้มีคุณล้ำยิ่ง และเป็นผู้ที่มีฤทธานุภาพมากหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก"  และได้ทักท้วงถึง ๓ ครั้ง แต่ยักษ์ใจบาปก็ไม่เชื่อฟัง และได้ตีอย่างหนักมากขนาดแม้พญาคชสารสูง ๗ - ๘  ศอก ก็จะล้มจมลงได้หรือแม้ตียอดภูเขาใหญ่ ก็อาจแตกทลายลงในทันใด  ครั้นยักษืใจบาปได้ตีศรีษะของพระสารีบุตรแล้ว จึงบอกยักษ์สหายรักว่า  "เราเร่าร้อนในร่างกายเหลือเกิน"  แล้วก็ได้ตกลงไปในอเวจีมหานรกในที่นั้นนั่นเอง

        ฝ่ายมหาโมคคัลลานะ ได้แลเห็นยักษ์ตนนั้นตีศรีษะพระสารีบุตรด้วยทิพยจักษุ จึงไปหาพระสารีบุตรแล้วไต่ถามว่า   "ข้าแต่ท่านสารีบุตร ร่างกายของท่านอันมีจักร ๔  ทวาร  ๙  ของท่าน ยังพอทนไหวหรือ ยังพอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาอะไรหรือไม่ขอรับ"  พระสารีบุตรตอบว่า  "ดูก่อนพระมหาโมคคัลลานะ ร่างกายของผม อันมีจักร  ๔  มีทวาร  ๙  ยังพอทนได้ไหว ยังพอเป็นไปได้ แต่รู้สึกเจ็บบนศรีษะบ้างเล็กน้อยขอรับ"  พระโมคคัลลานะจึงกล่าวว่า "ดูก่อน พระสารีบุตร น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก พระสารีบุตรผู้มีฤทธานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่งได้ประหารศรีษะของท่านในที่นี้ ซึ่งเป็นการประหารอันยิ่งใหญ่ แม้แต่พญาคชสารที่สูงตั้ง ๗ - ๘ ศอก ยังจักจมลงไปได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ได้ด้วยการประหารนั้นทีเดียว"  พระสารีบุตรจึงกล่าวตอบว่า  "ดูก่อนพระโมคคัลลานะ ย่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ท่านมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธานุภาพมากที่ได้เห็นยักษ์ ส่วนกระผมไม่เห็นแม้ปีศาจผู้เล่นฝุ่นในบัดนี้" 

        เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ส่งสดับการเจรจาปราศรัยนี้ จึงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า  "จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหว  ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ใด" 

        อีกครั้งหนึ่ง ที่มีหญิงทั้ง  ๔  ผู้ได้เรียนรู้วาทะจากบิดามารดา โดยบิดามารดานั้นรู้วาทะคนละ  ๕๐๐ วาทะ  และได้ถ่ายทอดมาให้คนละ  ๕๐๐ วาทะซึ่งบิดามารดาได้กำชับไว้ว่า ผู้ใดที่เป็นชายครองเรือน แล้วเอาชนะวาทะเหล่านี้ได้ ก็ให้ตกแต่งเป็นบาทบริจาริกา  (ภรรยา)  ผู้ใดที่เป็นผู้ออกบวชแล้วเอาชนะวาทะเหล่านี้ได้  ก็จงออกบวชในสำนักผู้นั้น  หญิงทั้งสี่จึงได้นำเอากิ่งไม้หว้าท่องเที่ยวไป ถึงหมู่บ้านใดก้ปักธงไม้หว้าบนกองฝุ่นหรือกองทรายแล้ว จึงกล่าวว่า ผู้ใดสามารถยกวาทะ (โต้ตอบความเห็นทางธรรม)  เชิญผู้นั้นเหยียบธงนี้เถิด พวกเธอท่องเที่ยวไปทุก ๆ หมู่บ้านจนกระทั่งมาถึงกรุงสาวัตถี  เมื่อพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาต  ได้เห็นธงไม้หว้าที่ประตูหมู่บ้าน จึงได้ถามเด็กว่านี่คืออะไร แล้วพวกเด็กก็ได้เล่าความตามนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า"ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงเหยียบเถิด หากมีใครถามว่าใครให้เหยียบธงไม้หว้า พวกเธอพึงบอกว่า พระสารีบุตรผู้เป็นพุทธสาวกให้เหยียบ หากอยากยกวาทะ จงไปยังสำนักของพระเถระที่พระเชตุวันมหาวิหาร" 

        เมื่อปริพาชิกาทั้ง  ๔ มาเห็นธงไม้หว้าถูกเหยียบหักไป จึงได้ถามขึ้น พวกเด็กก็ได้บอกความตามที่พระเถระกำชับไว้ นางปริพาชิกาจึงได้ไปในหมู่บ้าน ไปคนละทางบอกชาวบ้านว่า ได้ยินว่าพระสารีบุตรเป็นพุทธสาวกจักโต้วาทะกับพวกเรา หากผู้ใดประสงค์อยากฟัง จงออกไปเถิด เมื่อนั้นมหาชนและนางปริพาชิกา จึงได้ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พระเถระเห็นว่ามาตุคามจะมาในที่พักเรานั้น ไม่เป็นความผาสุก ดังนั้นจึงได้นั่งท่ามกลางวิหาร เมื่อนางปริพาชิกาเข้ามาก็กล่าวกับพระเถระว่า  "ท่านให้เหยียบธงของเรา เราจักโต้วาทะกับท่าน"  พระสารีบุตรตอบว่า "ดีละ  เชิญโต้เถิด  ใครถาม ?.  ใครตอบ?."  นางปริพาชิกากล่าวว่า  "เราถาม"  จากนั้นทั้ง ๔ คนก็ได้ยืนอยู่ใน ๔ ทิศ  ถามพันวาทะที่ได้เรียนในสำนักของบิดามารดา ทั้งพันวาทะมาถามพระสารีบุตร 

        พระเถระกล่าวกระทำคำถามไม่ให้ยุ่งยาก ไม่ให้มีปมเหมือนตัดก้านบัวด้วยมีดฉะนั้น ครั้นกล่าวแก้แล้ว จึงกล่าวเชิญให้ถามอีก  นางปริพาชิกาทั้งหลายกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันรู้เพียงเท่านี้"  พระเถระจึงกล่าวว่า "ท่านถามพันวาทะ เราก็ได้ตอบแล้ว แต่เราจักขอถามปัญหาสักข้อหนึ่ง  ท่านจงตอบปัญหานั้นเถิด"   นางปริพาชิกาได้ยินเช่นนั้นจึงตอบว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถามเถิด พวกดิฉันจักตอบชี้แจงเท่าที่รู้"   พระเถระจึงถามว่า  "อะไรชื่อว่าหนึ่ง"  นางปริพาชิกาตอบว่า  "พวกดิฉันไม่ทราบ"  จากนั้นจึงได้เล่าสิ่งที่บิดามารดาได้กำชับไว้แล้วบอกว่า "พวกดิฉันจักบวชในสำนักของท่าน"  พระเถระกล่าวว่า "ท่านเป็นมาตุคาม ไม่ควรจะบวชในสำนักของเรา แต่ท่านถือสาส์นของเรา ไปยังสำนักภิกษุณีแล้วบวชเถิด"  นางปริพาชิการับว่า  "สาธุ" เมื่อครั้นได้ออกบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท  มีความเพียร  ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหันต์

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก 

                           พระสารีบุตรเถระ     

                   ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "ปัญญา"

                            ปรินิพพาน

        พระสารีบุตรเถระ เป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณเสมอมา นับแต่ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระจนได้บรรลุโซดาบันและได้บวชเป็นพระแล้ว พอทราบข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด ก่อนนอนท่านจะไหว้ไปทางทิศนั้น และนอนหันศรีษะไปทางทิศนั้น  เมื่อครั้น  ท่านได้พิจารณาเห็นถึงการปรินิพพานของตนแล้ว จึงได้เดินทางพร้อมพระภิกษุบริวาร  ๕๐๐ รูป  เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ทูลขออนุญาตลาปรินิพพาน ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสอนุญาตแล้ว ได้ให้พระสารีบุตรแสดงธรรมภิกษุทั้งหลายก่อน พระสารีบุตรก็ขึ้นสู่อากาศชั่ว ๑ ต้นตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาทพระศาสดา แล้วก็ขึ้นไปชั่ว  ๒  ต้นตาล
แล้วลงมาถวายบังคมอีก จนกระทั่งสูงถึง  ๗ ต้นตาล และได้แสดงอิทธิปราฏิหาริย์อีกหลายร้อยอย่าง แล้วจึงแสดงธรรมกถา 

        จากนั้น พระสารีบุตรได้ยื่นมือสีแดงดังน้ำครั่งออกไปจับพระบาทของพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอด ๑ อสงไขยกัป  กับ  ๑ แสนกัป เพื่อหวังได้จะได้กราบพระยุคลบาทนี้ของพระผู้มีพระภาค ความประสงค์ของข้าพระองค์ได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้้ว นับจำเดิมแต่นี้ไป การที่จะปฏิสนธิ ในกาลเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก ไม่มีแล้วข้าพระองค์ จะเข้าสู่เมืองแก้ว อันได้แก่ พระนิพพานถ้าหากพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพอพระทัยในสิ่งใดอันมีในกาย  วาจาของข้าพระองค์ ขอทรงกรุณาอดโทษแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด เวลานี้จักเป็นเวลาที่ข้าพระองค์ต้องกราบถวายบังคมทูลลาแล้ว พระเจ้าข้า"   พระสารีบุตรได้เดินเวียนขวา  ๓  รอบ  แล้วกราบถวายบังคมพระพุทธเจ้าทั้งข้างซ้าย  ข้างขวา  ข้างหน้า  ข้างหลัง และได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้า แล้วก็เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อไปโปรดโยมแม่ จนกระทั่งบรรลุโสดาบัน จากนั้นก็ขอขมาโทษต่อพระภิกษุทั้งหลาย และพระภิกษุทั้งหลายได้ขอขมาโทษต่อท่านแล้ว ท่านได้ใช้จีวรผืนใหญ่คลุมหน้านอนตะคงขวาและเข้า  "อนุบุพพวิหารสมาบัติ"  เมื่อแสงอรุโณทัยขึ้นที่ขอบฟ้า ท่านสารีบุตรเถระก็ดับขันธปรินิพพานพอดี ซึ่งตรงกับวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๑๒  และพื้นแผ่นดินก็เกิดอาการไหวบันลือลั่นดุจจะทรุดทำลายไป

        เมื่อพระมหาจุนทเถระ ได้นำพระอัฐิธาตุของพระสารีบุตรไปหาพระอานนท์และไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยื่นพระหัตถ์ออกทรงรับแล้วตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า  "ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย เมื่อวันก่อนโน้น พระภิกษุรูปใดได้กระทำปาฏิหาริย์ หลายร้อยประการ  แล้วขออนุญาตการปรินิพพานต่อตถาคต บัดนี้อัฐิธาตุของพระภิกษุรูปนั้น ซึ่งมีส่วนเปรียบเทียบเหมือนกับสีสังข์เหล่านั้น ได้ปรากฏอยู่ที่นี่แล้ว  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พระภิกษุรูปนั้นได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดหนึ่งอสงไขยกัป และอีกหนึ่งแสนกัป ได้ประกาศพระธรรมจักรเป็นไปตามที่คถาคตได้ประกาศแล้วได้  พระภิกษุรูปนั้น  ได้มีสาวกสันนิบาตเต็มแล้ว หากไม่นับคถาคตเสียแล้ว ไม่มีใคร ๆ เสมอ  พระภิกษุรูปนั้นด้วยปัญญา  ในหมื่นจักรวาล  พระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาแน่นหนา  มีปัญญากว้างขวาง  มีปัญญากล้าหาญร่าเริง  มีปัญญาฉับไว  มีปัญญาเฉียบแหลม  มีปัญญาทำลายกิเลสได้"  พระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีความมักน้อย  มีความสันโดษ  ชอบสงัดเงียบ  ไม่ชอบคลุกคลีกับผู้ใด  มีความเพียรอันเยี่ยม  เป็นผู้ชอบตักเตือนผู้อื่น  เป็นผู้ติเตียนความชั่ว  พระภิกษุรูปนั้น  เป็นผู้มีขันติธรรมเสมอกับแผ่นปฐพี  พระภิกษุรูปนั้น  ประพฤติตนเหมือนกับโคอุสภราช  (โคผู้ซึ่งเป็นเครื่องหมายความสามารถของนักรบ)  ที่เขาหัก  ประพฤติตนมีจิตอ่อนน้อมอยู่เสมอเหมือนบุตรของคนจัณฑาล  เธอทั้งหลายจงดูอัฐิธาตุทั้งหลายของพระภิกษุผู้มีปัญญามาก ฯลฯ  มีปัญญาทำลายกิเลสได้"

        แล้วพระพุทธเจ้า ทรงกล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรเถระด้วยพระคาถา  ๕๐๐  พระคาถา  สุดท้าย  พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้สร้างสถูป บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ใกล้ประตูพระเชตวันมหาวิหาร เพื่อเป็น  "อัครสาวกานุสาวรีย์"  เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของมหาชนสืบไป

                              "เราไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต
                                       เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
                                           จักละทิ้งร่างกายนี้ไป
                                   ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต
                                            รอคอยความตายอยู่
                 เสมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานกระนั้น "     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                          สิบอัครสาวก 

                    พระมหาโมคคัลลานเถระ

                 ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "มีฤทธิ์"

                           ชาติภูมิ

        พระมหาโมคคัลลานเถระ  เกิดในตระกูลพราหมณ์  "โมคคัลลานโคตร"  ในหมู่บ้าน  "โกลิตคาม"  เมืองนาลันทา  ซึ่งไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์และหมู่บ้านของพระสารีบุตรเถระ  บิดาเป็นนายบ้าน ชื่อว่า  โกลิตพราหมณ์  มารดาชื่อว่านาง โมคคัลลีพราหมณี  มีทรัพย์สมบัติมากมาย เดิมท่านมีชื่อว่า โกลิตะส่วนอีกชื่อหนึ่งเรียกตามชื่อโคตรว่า  "โมคคัลลานะ" 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           สิบอัครสาวก 

                    พระมหาโมคคัลลานเถระ 

                            บรรพชา

        หลังจากที่ครั้งหนึ่ง โกลิตะ ได้ไปดูมหรสพ กับอุปติสสมาณพ สหายรัก  แล้ว บังเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตอันเป็นความคิดเห็นที่ตรงกันกับอุปติสสมาณพว่า อะไรที่น่าดูในที่นี้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ต้องตายหมด พวกเราควรแสวงหาโมกขธรรม แล้วจึงชวนกันไปเป็นปริพาชก  เมื่อเข้าเรียนรู้ในสำนักของอาจารย์สัญชัย ก็ได้เรียนรู้จนหมดสิ้นวิชาการอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้ จึงพากันแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยสัญญากันว่า หากใครได้บรรลุอมตะธรรมก่อนแล้ว จะต้องบอกให้อีกผู้หนึ่งรู้ด้วย   จนกระทั่ง  อุปติสสมาณพ ได้พบพระอัชสสชิเถระ และได้กลับมาก่อนคำสอนให้แก่โกลิตมาณพ จึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน  เป็น อจลสัทธา คือเป็นความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนอีกแล้ว  เป็นความเชื่อที่ไม่มีความลังเลสงสัยเหลืออยู่ในใจอีกแล้ว จากนั้นจึงได้ไปชวนอาจารย์สัญชัย ให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาด้วยกัน แต่อาจารย์สัญชัยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ไม่ไปด้วย ทั้งสองจึงได้พร้อมกับบริวาร  ๒๕๐ คน ไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ณ  เวฬุวันมหาวิหาร

        การบวชของทั้งสองนั้น บวชพร้อมกันด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา  โดยมีพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการบรรพชา อุปสมบทด้วยตนเอง

Tags: