collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย  (อ่าน 57827 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๖

                      ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี

ความสังเขป   :

        สำหรับเหตุปัจจัยของบรรพนี้ ก็เป็นเพราะสุภูติได้ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "หากเห็นปวงลักษณะมิใช่ลักษณะ ก็จะเห็นตถาคต" ซึ่งประโยคนี้ได้ทำให้สุภูติเกิดความเข้าใจว่า "จักไม่มีพระโพธิสัตว์องค์ใดที่จะสนองรับปฏิบัติโดยไม่มีความศรัทธาได้เลย" และเมื่อสุภูติคิดได้เช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความห่วงใยเวไนยสัตว์ในยุคท้ายว่า "หากได้ฟังหลักธรรมอันแยบยลเช่นนี้แล้ว อาจจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจและไม่เชื่อถือเอาได้" ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่าอย่างไรหละ ?  นั่นเป็นเพราะในบรรพที่ 4  พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง "พระโพธิสัตว์ควรที่จะไม่ดำรงลักษณะบริจาคทาน"  และในบรรพที่ 5 ก็ยังตรัสว่า "พระพุทธะมิใช่รูปลักษณะ" อีก  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เวไนยสัตว์ในยุคท้ายเกิดความสงสัยว่า "ทั้งพระพุทธะและธรรมล้วนไร้รูปลักษณะ  ซึ่งหากพระพุทธะและธรรม ล้วนไม่ได้มีอยู่แล้ว นั่นมิใช่หมายความว่าทั้งบุคคละและธรรมล้วนได้ดับสิ้น กฏแห่งกรรมล้วนว่างเปล่าหรอกหรือ ?"  ด้วยเหตุผลดังนี้ จึงทำให้สุภูติเกิดความห่วงใยเวไนยสัตว์ในยุคท้ายว่า หลังจากได้สดับหลักธรรมอันว่างแท้และไร้ลักษณะนี้แล้ว อาจจะทำให้ยากแก่การเกิดศรัทธาได้ ดังนั้น  สุภูติจึงเจาะจงต่อปัญหานี้มากราบทูลพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบสุภูติไปว่า "ไฉนจะไม่มีคนประเภทนี้ไปได้ เพียงแต่ผู้ทีบังเกิดจิตใจศรัทธาแน่วแน่ฉันนี้จะมิใช่เป็นบุคคลธรรมดาเลย เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่ "บาปทั้งปวงมิยอมทำ (ถือศีล) บุญทั้งปวงเร่งสร้างสรรค์" ด้วยประการเช่นนี้ จึงจะทำให้เกิดความศรัทธาแน่วแน่ได้ แต่ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดหละ ?"  "นั่นก็เป็นเพราะความคิดของคนเรานั้น ในทุกห้วงความคิดจะมีอยู่ 4 รูปแบบคือ เกิด  ดำรง  แปรผัน  ดับสิ้น  โดยที่ความคิดเหล่านี้จะไม่มีการหยุดนิ่งได้เลย หรือก็คือในหนึ่งการดีดนิ้วจะมีอยู่ 90 ขณะ  และสำหรับความคิดในหนึ่งขณะจะมีการเกิดดับ  900 ครั้ง  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก แต่เวไนยสัตว์ไม่เพียงแต่จะไม่เข้าใจในจุดนี้ได้เท่านั้น มิหนำซ้ำยังกลับไปหันหลังให้กลับความแจ้งและคลุกอยู่กับโลกีย์ โดยในทุกห้วงความคิดล้วนแต่เป็นลักษณะแห่งโลกีย์พันธะ จึงได้ทำให้ถูก 18 ธาตุ  ซึ่งเป็นอินทรีย์อายตนะและวิญญาณนี้มามอมเมา และเกิดความหลงใหลอยู่ในความสุขแห่ง 5 ตัณหา  ซ้ำยังได้ถูกขันธ์ 5 มาบดบังจนอับแสงอีก  ฉะนั้น  การที่จะหวังให้เกิดความศรัทธาบริสุทธิ์ได้  ก็ช่างเป็นเรื่องที่ยากเสียเหลือเกิน  แต่สำหรับผู้ที่ได้สดับพระสูตรนี้จนสามารถเกิดความศรัทธาบริสุทธิ์ได้นั้น  บุคคลนี้จักต้องเป็นผู้มีพื้นฐานแน่นลึกที่เปี่ยมด้วยบุญญาธิการอันสูงส่ง จึงจะทำให้เกิดความศรัทธามั่นคงในธรรมะนี้ได้  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเมล็ดกุศลพันธุ์ ได้ปลูกกุศลมูลในอาลยวิญญาณซึ่งเป็นวิญญาณที่ 8 แล้ว ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม เมล็ดพันธุ์นี้ก็ยังต้องเจริญงอกบงามอยู่ดี"  ฉะนั้น  ดังคำโบราณที่ได้ว่าไว้คือ "บาปที่ยิ่งใหญ่เทียมฟ้า ช่างหายากยิ่งที่จะมีคำว่าศรัทธานี้ได้" ก็เพราะว่าศรัทธาเป็นมารดาแห่งบุญกุศล ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปวงพระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์องค์ใดก็ตาม นับตั้งแต่สมัยที่เริ่มบำเพ็ญจนกระทั่งมาถึงสมัยแห่งการสำเร็จธรรมนี้ ก็ล้วนแต่ต้องมีความศรัทธาเป็นที่ตั้งเสียก่อน และเมื่อยามที่เวไนยสัตว์ได้เกิดหนึ่งความคิดที่ศรัทธาแล้วก้เท่ากับได้ปลูกกุศลผลที่จะได้งอกงามขึ้นมาในอนาคตกาลนั่นเอง ดังนัน  ด้วยหนึ่งความคิดที่เกิดความศรัทธานี้ จึงนับได้ว่าเป็นบุญวาสนาที่ยากจะคะเนเอาได้ ด้วยเหตุฉะนี้พระตถาคตจึงทรงแสดงโดยตรงว่า "แม้เวไนยสัตว์จะมีมากมายก็จริง แต่พระองค์ก็ทรงรู้หมดและเห็นหมด นั่นก็เป็นเพราะเวไนยสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนได้อยู่ในทะเลญาณแห่งพระตถาคต โดยที่ทุกกิริยาการเคลื่อนไหว ล้วนแต่อยู่ในการรู้การเห็นของพระตถาคตทั้งสิ้น" นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสประทานแก่เวไนยสัตว์อีกว่า "ยามที่บุคคลใดได้เกิดจิตศรัทธาบริสุทธิ์ขึ้นแล้ว 4 ลักษณะ ( อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  ชีวะ) ธรรมลักษณะ (คือการยึดติดในบทอักษรของพระสูตรนี้)  อธรรมลักษณะ (ผูกติดอยู่กับความว่างจนเป็นเหมือนกับสิ่งที่ได้ตายและไปปิดกั้นการรู้การเห็น) ก็จะไม่เกิดขึ้นในใจของเขาอีกต่อไป นั่นก็เป็นเพราะลักษณะต่าง ๆ ที่เขาได้เห็นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในญาณอันรู้แจ้งในตัวของเขาเลย และหากเวไนยสัตว์ฉันนี้ได้มีใจที่ยึดเกาะในลักษณะแล้ว ก็เท่ากับว่าเขายังมีความผูกพันธ์ต่อลักษณะทัง 4 นี้อยู่ และหากเวไนยสัตว์ได้ยึดอยู่ในธรรมลักษณะแล้ว นั่นก็ยังคงเป็นการยึดติดอยู่ใน 4 ลักษณะนี้เช่นกัน หรือหากเขาได้ยึดอยู่ในอธรรมลักษณะ  นั่นก็ยังเป็นความลำเอียงไปในความว่างเสียเกินไป จนกระทั่งได้ตกสู่สภาวะแห่งการดับ การรู้ การเห็น ไปแล้วนั่นเอง  โดยสรุปแล้วก็คือ การที่จะแจ่มแจ้งในหลักแห่งความว่างแท้อันไร้ลักษณะได้นั้น จะต้องมิเกิดการยึดในธรรม อีกทั้งมิเกิดการยึดในอธรรม ทั้งสองสุดขั้วล้วนไม่ควรเกิดการยึกติด นั่นเป็นเพราะการยึดติดในธรรมก็จะเป็นการตรึงติดในธรรม เพราะธรรมญาณของเราแต่เดิมก็ไร้ธรรมอันใดอยู่แล้ว แต่หากจะยึดในอธรรม ก็จะเป็นการยึดติดในความว่างไปเสียอีก เพราะโดยความจริงเราก็ไม่ควรที่จะละจากการอาศัยธรรมให้เกิดความรู้แจ้งในธรรมญาณได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงใช้แพรมาทำการอุปมาให้เราเข้าใจ กล่าวคือ  หลังจากที่เราได้อาศัยแพข้ามไปถึงฝั่งแล้ว ก็ควรที่จะสละแพและขึ้นสู่ฝั่งไป นั่นหมายความว่า หลังจากที่เราได้รู้แจ้งในธรรมญาณแล้ว  ก็จะไม่มีสิ่งใดที่เป็นธรรมได้อีกต่อไป แต่หากยังไม่ได้รู้แจ้งในธรรมญาณ และลำพังเอาแต่ยึดติดในการเห็นแห่งอธรรม (ความว่างแท้ที่ไร้ลักษณะ) นี้หละก็ เช่นนี้ก็ยังคงไม่สามารถพ้นออกจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อยู่ดี
        ในบันทึกแห่งฌานได้กล่าวถึงว่า " เธอไม่มีไม้เท้า ฉันก็ให้ไม้เท้าแก่เธอ  แต่ยามที่เธอมีไม้เท้าแล้ว ฉันก็จะชิงไม้เท้าจากเธอไป"  ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ การสอนเราให้ละจากธรรมเพื่อทำลายธรรมทิฐินั่นเอง  ท่านฟู่ต้าซื่อ (พระภาคหนึ่งของพระศรีอริย์ที่ทรงอุบัติในประเทศจีน....(ผู้แปล) ) ก็เคยกล่าวไว้ว่า "การข้ามน้ำจำเป็นต้องอาศัยแพ แม่เมื่อยามที่ได้ถึงฝั่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้มันอีก" สำหรับจุดนี้ ก็เป็นคำสอนที่สอนเราให้อาศัยธรรมในการแจ้งในธรรมญาณนั่นเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๖

                      ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี

อธิบายพระสูตร   :

        สุภูติได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สิ่งที่พระองค์ตรัสสอนเกี่ยวกับการ "ไม่ดำรงในลักษณะบริจาคทาน" อีกทั้งยังตรัสถึงเรื่องของการ "หากเห็นปวงลักษณะมิใช่ลักษณะ ก็จะพบตถาคตได้" นั้น  ทั้งสองประเด็นนี้ช่างเป็นหลักธรรมอันแยบยลที่ว่างแท้และไร้ลักษณะเสียจริง ๆ  และ เมื่อผู้ที่มีพื้นฐานแห่งมหายานได้สดับพระธรรมฉันนี้แล้ว  ก็จักต้องมีความศรัทธาและสนองรับปฏิบัติเป็นแน่ แต่สำหรับเวไนยสัตว์อีกมากมายที่จะได้สดับฟังพระสูตรนี้ มิทราบว่าจะเกิดความศรัทธาแท้ได้หรือไม่ ?" พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามสุภูติว่า "เธออย่าได้กล่าวเช่นนั้น สำหรับพระธรรมที่เราได้แสดงไปนั้น ถึงแม้จะมีความแยบยลลึกซึ้งก็จริง แต่ไฉนจะไม่มีผู้ที่เชื่อศรัทธาอย่างเต็มที่ไปได้ ? เพราะไม่เพียงแต่ในปัจจุบันเท่านั้นที่จะมี แม้แต่ในอนาคตกาล หรือกระทั่งหลัง 500 ปี  อันเป็นเวลาหลังจากที่เราได้ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว  ก็ยังคงมีผู้บำเพ็ญศีลและปลูกเนื้อนาบุญที่ยังสามารถเกิดความศรัทธามั่นคงต่อพระสูตรนี้ได้ ด้วยมาตรว่าจะเป็นแค่เพียงหนึ่งประโยคหรือหนึ่งถ้อยคำก็ตาม ซึ่งก็จะรู้ได้ว่าบุคคลฉันนี้คือ บุคคลที่มีรากบุญอันแน่นลึก โดยไม่เพียงแต่เป็นรากบุญที่เคยปลูกฝังกับ 1, 2, 3, 4, 5  พระพุทธะเท่านั้น หากแต่เป็นรากบุญที่เคยปลูกฝังกับพระพุทธะอันเป็นจำนวนที่มิอาจนับได้เลย และหากเขาซึ่งเป็นผู้ที่มีรากบุญอันฝังลึกเช่นนี้ได้สดับพระสูตร มาตรว่าจะเป็นแค่เพียงหนึ่งประโยคหรือหนึ่งถ้อยคำก็ตาม ก็จะสามารถทำให้จิตใจเขาบังเกิดความสงบไม่ฟุ้งซ่าน และมีความมั่นคงในศรัทธาอย่างไม่เสื่อมถอยได้ สุภูติ !  ด้วยพุทธปัญญาและปัญญาจักษุจองเราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า บุคคลที่มีความศรัทธาอันบริสุทธิ์ประเภทนี้จักมีความแจ่มแจ้งในพุทธญาณ ซึ่งจะสามารถได้รับบุญวาสนาอันเหลือคณนาที่เป็นดั่งความว่างเปล่าแห่งสากลทิศ ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดหละ ?"  พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "นี่ก็เป็นเพราะเวไนยสัตว์ที่มีรากบุญอันสุกงอมฉันนี้จักได้รู้แจ้งหลักธรรมอันแยบยลที่เป็นสิ่งว่างแท้และไร้ลักษณะ และเขาไม่เพียงแต่จะได้พ้นจากอาตมะ  บุคคละ สัตวะ ชีวะ อันเป็น 4 ลักษณะนี้ได้เท่านั้น หากแต่เขายังไม่มีธรรมลักษณะ (ยึดติดในอักษรของพระสูตรนี้ โดยเชื่อถือในข้อความของอักษรนี้อย่างหัวปักหัวปำ จนตกสู่สภาวะของการ ได้เห็น นี่ก็คือธรรมลักษณะ)  อธรรมลักษณะ (ยึดติดอยู่ในความว่างที่ขาดสูญ และ จมปลักอยู่ในภาวะของการ ไร้การเห็น  เช่นนี้คืออธรรมลักษณะ) และก็เวไนยสัตว์ประเภทนี้นี่เอง ที่หากยังมีใจยึดมั่นถือมั่นอยู่  ก็เท่ากับว่าเขาได้เกิดความยึดติดในอาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  ชีวะลักษณะ   และหากได้ยึดอยู่ในวาจาอักษรของพระสูตรนี้ ก็ยังคงเป็นการติดอยู่ใน 4 ลักษณะ หรือหากเขายังมีใจที่ยึดมั่นลำเอียงอยู่ในความว่างก็เท่ากับว่าเขามีความคิดที่ดื้อรั้นเกี่ยวกับการตายว่า  คือกายและใจล้วนได้ดับสูญ โดยคิดว่าความว่างคือไร้แม้สิ่งเดียว ซึ่งถือว่าเป็นทัศนะที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ยิ่ง เพราะความคิดทัศนะเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการยึดติดอยู่ใน 4 ลักษณะนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องปล่อยวางความคิดอันเป็นแบบสุดขั้วทั้งสอง ไม่ควรยึดติดการมี อีกทั้งไม่ควรยึดติดการไร้ เช่นนี้ก็จะสามารถแจ่มแจ้งในความว่างแห่งธรรมญาณ และห่างละออกจากธรรมไปได้ ก็เนื่องด้วยมันเป็นหลักอันแยบยลเช่นนี้นี่เอง เราจึงจำใจตรัสเทศนาธรรม ก็เพื่อต้องการให้เธอทั้งหลายห่างลักษณะแจ้งในธรรมญาณกระทั่งข้ามพ้นสู่ฝั่งโน้นไป ด้วยเหตุผลประการนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยธรรมนี้มาช่วยให้เธอได้พ้นจากทะเลทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าหากเธอทั้งหลายได้แจ่มแจ้งในธรรมญาณของตน และได้บรรลุสู่ความสุขอันนิรันดร์แห่งนิพพานแล้ว ธรรมของเราก็สามารถที่จะละไปได้ เพราะมันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป สำหรับการอุปมานั้น ก็อุปมาได้ดั่งสานไม้ไผ่ให้เป็นแพที่ได้พาคนให้ข้ามแม่น้ำไปสู่ฝั่ง หลังจากที่ได้ถึงฝั่งแล้ว แพนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และในเมื่อแม้แต่สัทธรรมแห่งพระพุทธะยังสามารถที่จะละไปได้ แล้วพวกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธวจนะอันเป็นอักษรโวหารแห่งทัศนะของชาวโลกนั้น ทำไมจึงจะไม่สามารถละได้หละ ?"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๖

                      ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี

คำศัพท์   :

หลัง 500 ปี    :  ในสูตรมหาสังฆาตได้แบ่งยุคสมัยออกเป็น 5 ยุค โดยเริ่มนับจากเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ซึ่งในแต่ละยุคจะเป็นเวลา 500 ปี  รวมทั้งสิ้น 2,500 ปี ด้วยกัน  ซึ่งแต่ละยุคจะมีรายละเอียดดังนี้คือ  1.ยุคหลุดพ้นมั่นคง  2. ยุคฌานสมาธิมั่นคง  3.ยุคพหูสูตรมั่นคง  4. ยุควัดอารามมั่นคง  5. ยุคแก่งแย่งชิงดีมั่นคง   สำหรับหลัง  500 ปี ที่ได้กล่าวถึงในพระสูตรนี้จะหมายถึง 500 ปี ในยุคที่ 5 นั่นเอง (หมายเหตุ : อ้างอิงจาก  หลี่อี้หยู 2536 วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับภาษาจีนกลาง ฉางหงพลิ้นติ้ง(ไต้หวัน)

ถือศีลบำเพ็ญบุญ   :  ถือศีลมีอยู่  3 ประเภทคือ (คำอธิบายของศีลทั้ง 3 ข้อ ได้อ้างอิงจาก พ.จ....ผู้แปล)
1. สังวรศีล  :  ศีลคือการสำรวมระวัง คือไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง นอน การไปหรือการกลับ ก็ล้วนแต่ต้องมีการสำรวมกาย ใจ อย่างเคร่งครัด
2. กุศลธรรมสงเคราะห์ศีล  :  ศีลที่ประพฤติเพื่อสงเคราะห์แก่กุศลธรรม หรือหมายความว่า ต้องรู้จักปฏิบัติในกุศลกรรมทั้งปวง
3. สัตวารถกิริยาศีล           :  ศีลที่ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง

บุญวาสนา   :  ผู้ที่ศรัทธาเชื่อมั่นในพระสูตรนี้จึงจะถือว่ามีบุญวาสนา แต่สิ่งที่เสพกันแต่เฉพาะในโลกนี้เรียกว่า บุญสนอง

ไร้อธรรมลักษณะ   :  อธรรมหมายถึงการตัดสิ้นในธรรม ซึ่งเป็นการยึดรั้นอยู่ในความว่าง

อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  ชีวะลักษณะ   :  สำหรับรูปแบบอารมณ์ของเวไนยสัตว์ในโลกนี้ ล้วนแต่อยู่ในขอบเขตของ 4 ลักษณะนี้ทั้งสิ้น และนอกจาก 4 ลักษณะนี้แล้ว ก็ยังมีธรรมลักษณะ  อธรรมลักษณะ  ลักษณะที่ดับสูญ  ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นลักษณะทางใจ  นอกจากนี้แล้วยังมีกายลักษณะ มหาปุริสลักษณะ 32  เอกฆนลักษณะ  ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นลักษณะทางรูปลักษณ์ซึ่งก็เิกิดจากใจเช่นเดียวกัน  อนึ่ง  หากใจไม่มีลักษณะ แล้วไยจะมีรูปลักษณ์ได้ และถ้าหากเราสามารถขยายขอบเขตจากจุดนี้และเข้าใจในลักษณ์แท้ได้แล้ว เช่นนี้ก็คือ ความรู้แจ้งนั่นเองแล

18 ธาตุ   :  อายตนะภายนอก 6  อายตนะภายใน 6  วิญญาณ 6 ...(ผู้แปล)

5 ตัณหา  :  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส....(ผู้แปล)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
              วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๗

                            ไร้รับ   ไร้วาจา

อธิบายบท   :

        ในบรรพก่อนได้กล่าวถึงในประเด็นที่ว่าด้วย "พระพุทธะไม่อาจที่จะเห็นได้"   "ธรรมะไม่อาจที่จะยึดได้"  สำหรับ 2 ประเด็นนี้ ก็อาจจะทำใหเวไนยสัตว์เกิดคำถามขึ้นว่า "ในเมื่อพระพุทธะไม่อาจที่จะเห็นได้ แล้วพระสูตรนี้ใครเป็นผู้ตรัสหละ ?  อีกทั้งหากธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยึดได้แล้ว เช่นนี้ผู้ที่ได้ธรรมก็จะเป็นใครอีกหละ ?"  สำหรับปํญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของปุถุชนที่คิดว่า "ต้องมีสิ่งที่ได้จึงจะเรียกว่าได้  ต้องมีธรรมที่สามารถรับจึงจะเรียกว่าธรรม" แต่เขาหารู้ไม่ว่า อันธรรมนั้น คือธรรมที่ไม่อาจเปรียบและไม่อาจเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจใช้วัตถุรูปลักษณ์มาประมาณเอาได้เลย  และในเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปรียบไม่อาจเห็นได้แล้ว ไยยังมีสิ่งใดให้ได้กันอีก ?แต่ก็จะมีคนฉลาดอีกประเภทหนึ่งที่จะบอกว่าได้ด้วยใจ แต่การที่ได้ด้วยใจนั้น แท้จริงก็ยังเป็นอัตตาทิฐิอีกรูปแบบหนึ่งที่เราไม่อาจเห็นได้เช่นกัน ซึ่งเราจะเรียกว่า "เครื่องกั้นแห่งการสามารถรู้"  หรือเรียกว่า "เครื่องกั้นแห่งธรรม"  ซึ่งก็คือ  เครื่องกั้นแห่งเรื่องราวปุถุชน  เครื่องกั้นแห่งธรรมกั้นพระโพธิสัตว์นั่นเอง  ดังนั้น  สำหรับ  ไร้รับ   ที่ได้กล่าวถึงในบรรพนี้ก็จะหมายถึงการขจัดเครื่องกั้นแห่ง เรื่องราว  และ  ธรรม  นั่นเองแล   ในตอนที่ยังไม่แจ้งก้ควรที่จะอาศัยวาจาอักษรเป็นเครื่องชี้ทางให้เกิดความเข้าใจ  แต่หลังจากที่ได้แจ้งแล้ว  วาจาอักษรล้วนแต่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น  สำหรับการเทศนาธรรมแห่งพระตถาคตนั้น  บางครั้งก็บอกว่ามีการเทศนา  บางครั้งก็บอกว่าไร้การเทศนา ซึ่งโดยความจริงแล้วก็เป็นเพียงแค่จัดยาบำบัดรักษาตามอาการของโรคเท่านั้น  โดยพระตถาคตจะไม่มีการตรัสสอนที่แน่นอนตายตัวเลย  แต่หากผู้สดับได้เกิดความเข้าใจกันตามวาจาอักษรแล้ว ก็จะเกิดเป็นการยึดอยู่ในการมีและการรับ    และทั้งหมดนี้ก็ยังคงเป็นอาการป่วยแห่งธรรมทิฐิอยู่ดี  หรือก็คือการที่สามารถมีวาจาพูดกล่าวได้นั้น ล้วนยังคงไร้แก่นสารที่แท้จริงนั่นเอง   ส่วน  "ไร้วาจา"  ที่ได้กล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การทำลายเครื่องกั้นอันเกิดจากวาจาและอักษร  ฉะนั้น ในพระสูตรจึงมีการสดุดีกันเช่นนี้ว่า  "หากมีใจล้วนเป็นมายา  ไร้ยึดติดจริงเป็นจริงแท้  หากแจ่มแจ้งในธรรมไม่ใช่อธรรม  จึงจะเสรีพ้น  6 อินทรีย์"

เนื้อหา   :

        "สุภูติ !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ? ตถาคตได้อนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา ?  ตถาคตได้แสดงธรรมฤา ?  สุภูติทูลตอบว่า  "ตามความเข้าใจในความหมายที่พระองค์ตรัสของข้าพระองค์นั้นคือ ไม่มีธรรมที่แน่นอน ที่ชื่อว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิ  และไม่มีธรรมที่แน่นอนที่ตถาคตได้แสดง เพราะเหตุใด ?  ธรรมที่ตถาคตได้แสดงเทศนา ล้วนมิอาจยึด มิควรกล่าว  ไม่ใช่ธรรม  ไม่ใช่อธรรม ทั้งนี้เพราะเหตุใด ? เมธีอริยะทั้งหลาย ล้วนเนื่องด้วยอสังขตธรรม และเกิดความแตกต่าง"

ความสังเขป  :

        ในบรรพนี้  ก็ยังคงเป็นบรรพต่อเนื่องจากบรรพที่แล้วที่ได้กล่าวถึงการห่างพ้นจากลักษณะนั่นเอง  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้สานุศิษย์ทั้งหลายได้เข้าใจในความหมายของพระสูตรว่า "ในธรรมนั้น  ควรที่จะบริจาคโดยไร้การดำรงแล"  ในญาณแจ้งเดิมนั้น  แต่เดิมก็ได้มี 4 ลักษณะ  ธรรมลักษณะ  และอธรรมลักษณะอยู่แล้ว  ดังนั้น  พระตถาคตจึงทรงอธิบายความหมายระหว่างธรรมและอธรรมในบรรพที่ 6 โดยได้ใช้แพเป็นเครื่องอุปมาเพื่อให้เรารู้ว่า ทั้งธรรมและอธรรมล้วนไม่ควรมีการยึดถือ  แต่พระพุทะองค์ก็ทรงเป็นห่วงศิษย์ทั้งหลายจะเกิดความสงสัยว่า " ในเมื่อทั้งธรรมและอธรรมล้วนไม่ควรที่จะยึดถือแล้ว ไฉนพระพุทธเจ้าเองยังต้องฝึกฝนบำเพ็ญเหตุ เพื่อที่จะให้ได้ผลแห่งสัมโพธิด้วยหละ ?  และไยต้องจัดประชุมสนทนาปรัชญาธรรมอีก 16 ครั้ง ที่มีสมาชิกผู้ร่วมฟังอันประกอบด้วยเทวามนุษย์นี้อีกทำไมหละ ?  สำหรับจุดนี้  พระพุทธองค์ทรงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงตรัสถามสุภูติเพื่อทดสอบดูว่า สุภูติได้มีความเข้าใจในความหมายของการไม่ยึดถือแล้วหรือยัง  โดยคำถามคือ  "พระตถาคตได้รับอนุตตรสัมมาสัมโพธิหรือไม่แล ? (ตถาคตมีการได้รับโพธิหรือไม่ ?)  พระตถาคตได้มีการเทศนาธรรมหรือไม่แล ?  (ตถาคตได้มีการตรัสสอนธรรมะที่แน่นอนหรือไม่ ?) ครั้งสุภูติ ได้ถูกซักเช่นนี้ก็ได้เข้าใจในพระเจตนา จึงได้กราบทูลว่า "ในสิ่งที่ท่านพระอาจารย์ทรงอุปมาเกี่ยวกับแพนั้น ข้าพระองค์ได้มีความเข้าใจดีแล้ว คือ ในยามที่ยังไม่ได้ข้ามก็จำเป็นต้องยึดถืออาศัยแพ แต่หลังจากที่ได้ข้ามไปแล้วก็จำเป็นต้องสละทิ้งเสีย"    หากได้ขยายความตามจุดนี้ก็จะทราบได้ว่า  ประเด็นในด้านการยึดและการละนั้น ไหนเลยที่จะมีธรรม (วิธี) ที่แน่นอนได้  ดังนั้นเราจึงทราบได้ว่า ไม่มีธรรมที่แน่นอนเลยที่เรียกว่าโพธิ  และขณะเดียวกัน  ก็ไม่มีธรรมที่แน่นอนที่จะสามารถกล่าวได้ เพราะธรรมแห่งอนุตตรโพธินั้น ล้วนแต่เป็นธรรมชาติของญาณแจ้งของเรา ซึ่งไม่สามารถที่จะได้เนื่องจากการกระทำปรุงแต่งแห่งมนุษย์ได้เลย และไม่เป็นเพียงพระตถาคตที่เป็นเช่นนี้เท่านั้น  แมักระทั่งเมธีอริยะแห่งไตรยานก็เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีความแจ้งที่แตกต่าง  นั่นก็มีสามเหตุมาจาก การมีพื้นฐานที่ตื้นและลึก และส่งผลให้เกิดความแตกต่างของการบรรลุช้าหรือเร็วนั่นเอง  ดังนั้น  พระโพธิสัตว์มัญชุศรีจึงได้ชมพระโพธิสัตววิมลเกียรติว่า "ก็ด้วยการไร้วาจาอักษรนี้เอง ที่เป็นธรรมอันไม่เป็นสองแล"   เราจึงทราบได้ว่า สำหรับธรรมอันแยบยลที่ไร้ดำรงแห่งพระตถาคตนั้นจะเป็นสิ่งที่พ้นออกจากขอบเขตของวาจาอักษร  ซึ่งก็คือไร้การได้แม้แต่สิ่งเดียว แต่เนื่องด้วยสาเหตุที่ต้องสร้างสรรค์ประโยชน์แก่เวไนยสัตว์แล้ว จึงจำต้องสร้างเป๋นรูปลักษณะและวจนะต่าง ๆ เพื่อให้เวไนยสัตวได้สบลักษณะและเกิดความเคารพ  สดับพระธรรมและเกิดความแจ่มแจ้งได้ แต่หากเขาได้มีปัญญาแล้ว แม้เขาจะอยู่ในวจนะแต่ก็ห่างออกจากวจนะ  อยู่ในนามลักษณะ แต่ก็ห่างออกจากนามลักษณะ รู้ว่าการได้ก็คือการไม่รู้  รู้ว่าการพูดก็คือการไม่ได้พูด ฉันนี้แล้ว จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้รู้แจ้งในปรมัตถ์แห่งทางสายกลางแล

อธิบายพระสูตร  :

        พระพุทะองค์ทรงถามสุภูติว่า  "สุภูติ !  เธอมีความเห็นอย่างไรบ้าง ? ตถาคตได้มีการรับโพธิหรือไม่ ?  ตถาคตได้มีการสอนธรรมที่แน่นอนหรือไม่ ? " สุภูตอทูลตอบว่า " ตามที่ข้าพระองค์ได้เข้าใจในความหมายที่พระองค์ทรงสอนมาแต่ต้นนั้น  ข้าพระองค์ได้เข้าใจแล้วว่าไม่มีธรรมที่แน่นอนที่เรียกว่าโพธิ และก็ไม่มีธรรมที่แน่นอนที่พระตถาคตตรัสสอนได้เลย  ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด ?นั่นก็เป็นเพราะธรรมที่พระองค์ตรัสสอนนั้น  จะเป็นธรรมแห่งอนุตตรโพธิที่สามารถแจ้งได้ด้วยใจ  แต่ไม่สามารถที่จะยึดเอาได้ในรูปแบบของรูปลักษณะ สามารถที่จะใช้ใจสัมผัสได้ แต่ไม่สามารถที่จะพูดออกมาด้วยวาจาได้ สิ่งที่พระตถาคตตรัสนั้นคืออธรรม  (แม้จะมีแต่กลับไร้) ไม่ใช่อธรรม (แม้จะไร้แต่กลับมี) ก็เนื่องด้วยสาเหตุนี้นี่เอง ที่ไม่เฉพาะแต่พระตถาคตเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ แม้แต่เมธีอริยะทั้งปวงก็ล้วนแต่ต้องอาศัยอสังขตธรรมนี้มาบำเพ็ญตนด้วยกันทั้งสิ้น  แต่ทว่าสำหรับผู้คนที่แจ้งในธรรมได้อย่างตื้นนั้น (หมายถึงเมธี) อาจจักต้องอาศัยถ้อยคำอักษรแล้วค่อย ๆ นำสู่การแจ้งด้วยตน แต่สำหรับคนที่แจ้งในธรรมได้อย่างลึกนั้น (หมายถึงอริยะ) ก็สามารถที่จะแจ้งฉับพลันและบำเพ็ญฉับพลันได้  ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายแห่งความสำเร็จเช่นกัน  แต่ก็เนื่องจากมีพื้นฐานลึกบ้างตื้นบ้างจึงงได้ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างการแจ้งลึกและแจ้งตื้น  ดังนั้นความสำเร็จจึงมีช้าและเร็วเป็นความแตกต่างแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๗

                            ไร้รับ   ไร้วาจา

คำศัพท์   :

เมธีอริยะทั้งหลาย     :   อันว่าเมธีก็คือตั้งแต่พระโสดาบันกระทั่งพระอรหันต์ ส่วนอริยะก็คือพระพุทธะ  และสำหรับคำว่าเมธีอริยะทั้งหลายในที่นี้จะหมายถึงเมธีอริยะแห่งไตรยาน  ซึ่งก็คือ...

สาวกยาน   :  ก็คือผู้ที่อิงตามอริยสัจ 4  หรือได้พินิจสดับพระสุรเสียงแห่งพระพุทธะและบำเพ็ญจนได้หลุดพ้นนั่นเอง
ปัจเจกพุทธยาน   :  คือผู้ที่ไม่มีอาจารย์ และมีความแจ่มแจ้งในหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท 12 ด้วยตนเอง
พระโพธิสัตว์ยาน   :  คือผู้ปฏิบัติตามปารมิตา 6 จนกระทั่งได้หลุดพ้นนั่นเอง

อสังขตธรรม   :  คือธรรมชาติแห่งญาณที่รู้แจ้ง  โดยไม่อาจอาศัยความสามารถของคนกระทำเอาได้ ดังนั้น อสังขตธรรมคือ อนุตรโพธินั่นเอง ดังเช่น นิพพาน  ตถาคต  ไร้ลักษณะ  ไร้ยึดติด  ตลอดจนปรัชญาปารมิตาต่าง ๆ  ซึ่งแม้จะมีชื่อเรียกอยู่มากมาย แต่ก็ล้วนเป็นความหมายของอสังขตธรรมทั้งสิ้น   สังขตธรรมเป็นโลกียธรรม   อสังขตธรรมเป็นโลกุตรธรรม  แต่ก็มักมีผู้บำเพ็ญที่เข้าใจอสังขตธรรมว่าเป็นการว่างสูญ  ตนกระทั่งทำให้ใจเหี่ยวตัวแห้ง  โดยที่ตัวเองยังมีทิฏฐิที่ผิดและคิดเข้าใจว่าเป็นการฝึกฝนอย่างพุท
ธะอยู่เสียอีก ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นแค่การคว้าลมจับเงา (ลม ๆ แล้ง ๆ ) ลุ่มหลงดื้อรั้นและขาดไหวพริบเท่านั้นเอง

แตกต่าง   :  หมายถึงมีความสูงต่ำ  และไม่มีความเสมอกันนั่นเอง เปรียบดั่งเช่นการข้ามคลองของช้าง ม้า และกระต่าย สำหรับช้างนั้นสามารถที่จะข้ามไปได้อย่างง่ายดาย ม้าก็จำเป็นต้องชะเง้อคอข้ามไป  ส่วนกระต่ายนั้นต้องลอยว่ายข้ามไป  นอกจากนี้ยังสามารถเปรียบได้ดั่งนก 3 ตัวที่บินบนท้องฟ้า  ซึ่งอย่างไรก็ต้องมีก่อนมีหลังอยู่ดี สำหรับคลองนั้นก็ไม่มีตื้นลึกอย่างอยุติธรรม สำหรับท้องฟ้าก็ไม่มีก่อนหลังอย่างไม่เสมอภาค แต่ที่ได้เกิดความแตกต่างเช่นนั้นก็เป็นเพราะขามีสั้นยาว  ปีกมีความอ่อนและแกร่งที่แตกต่าง  ก็เช่นเดียวกันกับอสังขตฑรรมไม่มีผิด  โดยความแตกต่างเหล่านี้ล้วนเป็นเพราะผู้บำเพ็ญธรรมมีพื้นฐานแบบลึกและตื้นฉะนั้น  จึงได้เกิดความแตกต่างระหว่างเมธีอริยะแห่งไตรยานนั่นเอง

ธรรม   :  คำว่า ธรรม นี้ จะมีความหมายครอบคลุมไปหลายด้าน ในบางครั้งจะมีความหมายว่า พระธรรม ในบางครั้งก็มีความหมายว่า วิธี ฯลฯ  ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ดุลพินิจในการอ่านด้วย....(ผู้แปล)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
              วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๘

                           อาศัยธรรมก่อเกิด

อธิบายบท   :

        สังขตธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากใจทั้งสิ้น ดังที่ว่าอาการใจเกิดธรรมก็เกิด อาการใจดับธรรมก็ดับนั่นเอง  อันใจนั้น ก็คือองค์แท้แห่งใจ  ส่วนธรรมนั้นแท้ก็คือลักษณะแห่งใจมีการเกิดดับ  แต่สำหรับองค์แท้แห่งใจนั้นจะไม่มีการเกิดดับได้เลย องค์แท้แห่งใจนั้นคือสิ่งที่สงบศานติอยู่เป็นนิจโดยไม่เคลื่อนไหว  แต่เมื่อยามที่ใจจริงอันเป็นนิจนี้ได้เกิดอกุศลทิฏฐิขึ้นทันใดหละก็ เวลานั้นก็จะเคลื่อนหายไปจากองค์เดิม และได้กลายเป็นกรรมที่แฝงไว้ในวิญญาณ จากความเป็นอกุศลก็ทบเกิดอกุศลซ้ำอีก จนสุดท้ายก็ทำให้ความสามารถอันวิสุทธิ์ซ่านหายไปสู่ภายนอก กระทั่งเกิดการยึดติดในรูปในเสียง และได้สร้างกรรมแบกทุกข์ขึ้นนั่นเอง   สำหรับความลุ่มหลงของเวไนยสัตว์นั้น จะเริ่มจากการยึดในธรรมอัตตาเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงได้เกิดการยึกในบุคคละอัตตาและเมื่อเกิดความยึดติดใน 2 ประการนี้แล้ว ถึงแม้จะมีการสอนด้วยเหตุแห่งการไร้ลักษณะไปไยได้ ? สำหรับปรัชญาอันลึกซึ้งเช่นนี้ แม้แต่พระโพธิสัตว์ที่ยึดในธรรมอัตตาก็ยังไม่อาจเข้าใจได้เลย แล้วปุถุชนที่ยังติดอยู่ในบุคคละอัตตาจะเข้าถึงอย่างไรได้ ?  ในอนันตกัปที่ผ่านมา เวไนยสัตว์ต่างได้มีรากอนุสัยที่ฝังจนแน่นลึก จนในทุกขณะล้วนแต่ถูกกรรมก่อกวนอย่างไม่หยุดยั้ง กรรมเก่ายังไม่ทันสิ้น กรรมใหม่ก็ได้สร้างขึ้นมาอีก จนกระทั่งนานวันยิ่งเกรอะกรัง ซึ่งแม้จะมีปัญญาเดิมอยู่ก็จริง แต่หากไม่อาศัยอานุภาพแห่งปรัชญาแล้วก็ไม่อาจที่จะพ้นจากอุปสรรคกีดกั้นแห่งความกลัดกลุ้มนี้ได้เลย ด้วยเหตุผลเช่นนี้ พระตถาคตจึงทรงพร่ำเตือนบ่มสอนและตรัสเทศนาสูตรปรัชญาฉบับนี้ขึ้น ซึ่งก็ได้มีอานุภาพที่เหนือความคาดหมายเป็นอย่างดี  เพื่อที่จะทำลายอุปสรรคนา ๆ ประการแห่งเวไนยสัตว์แล้ว และยังทรงสอนในบทธรรมแบบลึกเพื่อปลุกแจ้งพระโพธิสัตว์ ซึ่งหากเวไนยสัตว์ท่านใดในอนาคตกาลสามารถบำเพ็ญตามคำสอน และสนองรับปฏิบัติในพระสูตรนี้ได้ เวไนยสัตว์ท่านนั้นก็จักสามารถหลุดพ้นและตระหง่านสู่หนทางที่สว่างชัชวาลย์ได้นั่นเอง  เนื่องจากปรัชญาเป็นอนุตตรธรรมวิถี ด ังนั้น  การที่สากลพุทธะจะสามารถบรรลุในอนุตตรสัมมาสัมโพธิ์ได้นั้น  ก็ล้วนเป็นเพราะพลานุภาพแห่งปรัชญานี้ ฉะนั้น จึงกลาวว่า "อาศัยธรรมก่อเกิดแล"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๘

                           อาศัยธรรมก่อเกิด

เนื้อหา   :

        "สุภูติ  !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  ถ้าหากบุคคลนำสัปรัตนะปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุ เพื่อใช้บริจาคทาน บุญวาสนาที่ได้รับของบุคคลนี้ นับว่ามากมายหรือไม่ ? สุภูติทูลตอบว่า "มากมายยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?  บุญวาสนานี้ แท้จริงไร้แก่นแท้ของบุญวาสนา ดังนั้น ตถาคตตรัสว่า บุญวาสนามากมาย"  "แต่หากได้มีบุคคลสนองรับตามในพระสูตรนี้ ที่สุดแม้เพียงโฉลกแค่ 4 บท และประกาศสาธยายแก่บุคคลอื่น บุญนี้ยังมากมายเหนือกว่าบุญชนิดแรก เพราะเหตุใด ?  สุภูติ !  พระพุทธะทั้งปวง อีกทั้งเหล่าพระพุทธอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมทั้งหลาย ล้วนเกิดจากพระสูตรนี้ สุภูติ !  สิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรมนั้น แท้จริงมิใช่พุทธธรรม

ความสังเขป   : 

        สำหรับบรรพนี้  จะเป็นการชี้ตรงสู่แก่นแท้ของพระสูตรอย่างชัดเจน โดยได้กล่าวถึงโพธิธรรมแห่งปวงพระพุทธะล้วนถือกำเนิดมาจากพระสูตรนี้ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นการชี้ให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับประโยคที่ว่า "พุทธธรรมมิใช่พุทธธรรม"  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแสดงให้เราเข้าใจว่า แท้จริงกลางใจตนก็ได้มีพระพุทธะแท้อยู่นั่นเอง  ส่วนวิธีที่จะทำให้เกิดความกระจ่างนั้น ก็เริ่มจากการเปรียบเทียบบุญวาสนา (วาสนาบารมี)  ที่เป็นแบบสังขตะก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ชักนำให้เห็นความจริงเป็นขั้นตอนไป ทั้งนี้ ก็เพื่อเกรงจะมีคนสงสัยว่า "ในเมื่อธรรมแห่งอนุตตรโพธิ (อสังขตธรรม) ไม่สามารถที่จะยึดได้โดยรูปลักษณะ อีกทั้งไม่สามารถที่จะกล่าวเป็นวจนะคำพูดได้ ซึ่งดูเหมือนธรรมไม่มีอะไรจะกล่าว และไม่มีพระพุทธะที่จะให้สำเร็จได้ ดังนั้น  ผู้ที่บำเพ็ญปฏิบัติทั้งหลายจะมิใช่กลายเป็นผู้ถูกฝังอยู่ในก้นบึ้งแห่งอสังขตะ โดยไม่มีประโยชน์อันใดหรอกหรือ ?" ก้เนื่องด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้พระตถาคตทรงริเริ่มอธิบายจากปฐมปฏิปทาคือ การบริจาคทานโดยพระองค์ทรงนำบุญวาสนาที่ได้จากการบริจาคทานแบบมีลักษณะมาตรัสก่อน (หากบุคคลใช้สัปรัตนะปูทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุเพื่อใช้บริจาคทาน) จากนั้นพระองค์ทรงค่อย ๆ เปรียบให้เห็นว่าบุญวาสนาแบบมีลักษณะเช่นนี้ก็ยังมิอาจเทียบได้กับบุญวาสนาที่ไร้ลักษณะแห่งการสนองปฏิบัติในโศลก 4 บทได้เลย  นั่นก็เป็นเพราะการบริจาคทานแบบติดในลักษณะก็ยังเป็นเพียงแค่บุญแบบสังขตะเท่านั้น  ซึ่งแม้จะมีอานิสงค์บุญที่ได้รับจากการบริจาคทานมากปานใดก็ตาม แต่เมื่อบุญนี้หมดแล้วก็ยังคงตกต่ำเหมือนเช่นเดิม อนึ่ง  หากได้บำเพ็ญในปรัชญาธรรม  หรือได้แจ่มแจ้งในโศลก 4 บทนี้ หรือได้อธิบายในพระธรรมอันลึกซึ้งแห่งปรัชญาให้ผู้อื่นฟัง อันอานิสงค์บุญที่ได้ฉันนี้ก็จะเป็นบุญที่ไร้ขอบเขต ดังนั้นแล้ว ทรัพย์เป็นทานก็ยังมิอาจสู้ธรรมเป็นทานได้เลย เพราะทรัพย์เป็นทานมีวันสิ้น แต่ธรรมเป็นทานไม่มีวันสุด ด้วยเหตุฉะนี้  ปวงพระพุทธะจึงได้ถือกำเนิดออกมาจากปรัชญานี้ (ปัญญาแยบยล) ด้วยกันทั้งสิ้น และจากจุดนี้นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้พระพุทธองค์ทรงขยายความคำว่า "พุทธธรรมมิใช่พุทธรรม" ขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะปรัชญาเป็นมารดาแห่งปวงพระพุทธะ โดยที่ปรัชญาสามารถเกิดพระธรรม ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอย่างแจ่มแจ้งว่า "พุทธธรรมมิใช่พุทธธรรม" นั่นเอง  ซึ่งจุดนี้ก็มีความหมายเดียวกับวาทะที่เหลาจื้อได้กล่าวไว้คือ "มหาธรรมนั้นไร้นาม แต่ขอจำใจกำหนดเป็นนามว่าธรรมะ" ดังนั้นเราจึงทราบได้ว่า  แต่เดิมนั้นไร้พุทธธรรม เป็นเพียงแต่จำใจขนานนามให้ว่าพุทธธรรมเท่านั้นเอง  สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างบุญวาสนาที่เป็นแบบมีลักษณะและไร้ลักษณะนั้น ในทั้งหมดของพระสูตรได้มีการเปรียบเทียบถึง 9 ครั้งในลักษณะของการปุจฉาวิสัชนา และสำหรับบรรพนี้ก็เป็นครั้งที่หนึ่งของการเปรียบประลองนั่นเองแล

อธิบายพระสูตร   :

        พระผู้มีพระภาคทรงถามว่า "สุภูติ !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นใด ? สมมุติว่ามีคนนำสัปรัตนะที่ปูจนทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุมาบริจาคทาน บุญวาสนาที่คนนี้ได้รับถือว่ามากหรือไม่ ?" สุภูติทูลตอบว่า "ข้าแต่พระสุคต !  ช่างเป็นบุญที่มากอย่างแน่นอน นี่เป็นเพราะสาเหตุใดหละ ? นั่นก็เป็นเพราะบุญวาสนาเช่นนี้จะเป็นบุญวาสนาของการบริจาคทานแบบติดในลักษณะ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบุญวาสนาแห่งปัญญาอันเสมอภาคของเราแม้แต่น้อย เพราะที่สุดแล้วก็ไร้แก่นสารของบุญวาสนา แต่สำหรับบุญที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไปเมื่อสักครู่นั้น จะเป็นการตรัสในแง่ของบุญแบบที่ทางโลกมองกัน  ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเป็นจำนวนมากมาย"  พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า  "หากได้มีคนสนองรับปฏิบัติในสูตรปรัชญาฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเล่มหรือครึ่งเล่มก็ดี หรือจะเป็นทั้งบทหรือครึ่งบทก็ดี หรือที่สุดจะเป็นเพียงแค่โศลก 4 บาทก็ดี หรือว่านำไปถ่ายทอดความหมายให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้ก็ดี สำหรับบุญวาสนาที่เขาจักได้รับนั้น ยังจะมากมายมหาศาลยิ่งกว่าการนำสัปรัตนะทั่วสหัสโลกธาตุมาบริจาคทานเสียอีก"  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปอีกว่า "สุภูติ !  ก็เนื่องด้วยสาเหตุนี้นี่เอง ปวงพระพุทธะอีกทั้งธรรมแห่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธะทั้งหลายล้วนได้ถือกำเนิดออกมาจากพระสูตรนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีการกล่าวว่า ปรัชญาเป็นมารดาแห่งปวงพระพุทธะนั่นเอง  สุภูติ !  ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่ปรัชญามิใช่หมายถึงพุทธธรรม กล่าวคือ เดิมนั้นก็ไม่มีพุทธธรรมอยู่แล้ว เป็นเพียงแต่ต้องการให้เวไนยสัตว์เกิดความแจ้งเข้าใจ จึงได้บัญญัติเป็นนามว่าพุทธธรรมขึ้นเท่านั้นเอง ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงได้กล่าวว่า "พุทธธรรมมิใช่พุทธธรรม"นั่นเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
              วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๘

                           อาศัยธรรมก่อเกิด

คำศัพท์   :

1.  สัปรัตนะ   :  ทอง  เงิน  ไพทูรย์  แก้วผลึก  ปะการัง  โมลา  ไข่มุก

2.  มหาตรีสหัสโลกธาตุ   :  ทั่วทั้งหล้านี้เรียกว่าโลกธาตุ
หนึ่งพันโลกธาตุ                 เรียกว่า  หนึ่งปฐมสหัสโลกธาตุ
หนึ่งพันปฐมสหัสโลกธาตุ    เรียกว่า  หนึ่งมัชฌิมสหัสโลกธาตุ
หนึ่งพันมัชฌิมสหัสโลกธาตุ เรียกว่า  หนึ่งมหาสหัสโลกธาตุ
สามพันมหาสหัสโลกธาตุ    เรียกว่า  มหาตรีสหัสโลกธาตุ

3.  โศลก  4 บาท     :  หมายถึง  4 บาทในบรรพที่ 26  (หากอาศัยรูปเห็นเรา  อาศัยเสียงวอนเรา  บุคคลนี้คือผู้เจริญมิจฉาธรรม ไม่อาจเห็นตถาคตได้)  และโศลก 4 นาทในบรรพที่ 32  (สังขตะธรรมทั้งปวงดุจฝันมายาฟองน้ำรูปเงา ดุจนิศาชลอสนี ควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล)

4.  อันว่าพุทธธรรม  แท้มิใช่พุทธธรรม    :  คำว่าพุทธธรรมในประโยคแรก หมายถึงอสังขตธรรม  ส่วนพุทธธรรมในประโยคหลังนั้นจะหมายถึงไม่มีธรรมที่จะหกล่าวได้  หรือก็คือ ใจที่ผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่ง มิใช่ทั้งพุทธะและมิใช่ทั้งธรรม ซึ่งก็คือการบริจาคทานโดยไม่ดำรงลักษณะนั่นเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                             บรรพที่  ๙

                                        ไร้แม้หนึ่งลักษณะ

อธิบายบท   :

        ในบรรพก่อนได้กล่าวถึงประเด็นที่ว่าด้วย  "ไม่ควรมีความยึดติดพุทธธรรม"  แต่สำหรับบรรพนี้จะกล่าวถึงประเด็นที่ว่าด้วย "ในพุทธมรรค ก็มิควรมีความยึดติดลักษณะ"  แล  เนื่องจากในอดีต  สุภูติมักได้ยินพระผู้เปป็นอาจารย์ตรัสเทศอริยสัจ 4 ให้แก่เหล่าสาวกอยู่เป็นประจำ จึงทำให้เกิดความเข้าใจต่อพุทธโอวาทว่า จักต้องมีธรรมที่จะได้รับ จากนั้นก็ให้บำเพ็ญตามธรรมนั้น และสุดท้ายก็จะมีมรรคผลที่จะได้รับนั่นเอง ซึ่งทัศนะเช่นนี้ก็ยังถือว่าผิดอยู่ โดยสาเหตุของปัญหาก็เป็นเพราะเขาได้คิดไปตามวจนะและเกิดใจแบ่งแยก จากนั้นก็ไปตีความและเข้าใจไปตามอักษรนั้น ๆ จนกระทั่งได้ตกสู่ท่ามกลางทัศนะแห่งการ สามารถรู้ และ สิ่งที่ได้รู้ โดยเขาไม่ได้รู้อย่างแท้จริงว่า อันว่าปรัชญาแท้นั้น มิใช่ลักษณะที่เป็นเอก มิใช่ลักษณะที่แตกต่าง มิใช่มีลักษณะ มิใช่ไร้ลักษณะ มิใช่มิไร้ลักษณะ มิใช่มิมีลักษณะ มิมิใช่ลักษณะที่เป็นเอก มิมิใช่ลักษณะที่แตกต่าง มิใช่มีหรือไร้ปวงลักษณะ มิใช่ความเป็นเอกหรือต่างแห่งปวงลักษณะ มิใช่ความเป็นเอกหรือต่างแห่งปวงลักษณะ ห่างพ้นจากลักษณะทั้งปวงก็คือธรรมทั้งปวง เพราะลักษณะทั้งปวงล้วนเป็นมายานั่นเอง และหากสามารถทลายลักษณะได้จนถึงทีสุดแล้ว เช่นนี้ มายาทั้งปวงก็จะสูญไป และยามที่มายาทั้งปวงได้สูญไปแล้ว เมื่อนั้นหากยังไม่เป็นจริงแล้วจะรอให้จริงอีกเมื่อไหร่ได้ ?

เนื้อหา   : 

        "สุภูติ  !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  พระโสดาบันจะสามารถมนสิการว่า คนได้บรรลุโสดาปัตติผลได้ฤา ?"  สุภูติทูลตอบว่า  "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?  พระโสดานามว่าเข้าสู่กระแสแต่ไม่ได้มีการเข้า การไม่เข้าสู่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ จึงเป็นชื่อว่าพระโสดาบัน"  "สุภูติ  ! ในความหมายนี้เป็นเช่นไร  ?  พระสกทาคามิ จะสามารถมนสิการว่า ตนได้บรรลุสกทามีผลได้ฤา ?"  สุภูติทูลตอบว่า "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  !  เพราะเหตุใด ? พระสกทาคามิมีนามว่าไปมาหนึ่งครั้ง แต่โดยความจริงไม่มีการไปมาหนึ่งครั้ง จึงได้ชื่อว่าพระสกทาคามิ"  "สุภูติ ! ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ? พระอนาคามิจะสามารถมนสิการว่า  ตนได้บรรลุอนาคามิผลได้ฤา ?"  สุภูติทูลตอบว่า "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  เพราะเหตุใด ?  โดยความจริงแล้วไม่มีธรรมที่เรียกว่าพระอรหันต์ ข้าแต่พระสุคต !  หากพระอรหันต์ได้มนสิการว่า จนได้บรรลุอรหัตตมรรค ก็คือ ติดในอาตมะ  บุคคละ สัตวะ  ชีวะลักษณะ  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  พระองค์ตรัสว่า ข้าพระองค์ได้บรรลุอารัณยิกสมาธิ เป็นที่หนึ่งในกลุ่มคน เป็นพระอรหันต์องค์แรก ที่ได้พ้นจากกิเลส ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา !  ข้าพระองค์ไม่มนสิการเช่นนี้ว่า ข้าพระองค์ก็คือพระอรหันต์ผู้พ้นจากกิเลส ข้าแต่พระสุคต !  หากข้าพระองค์ได้มนสิการเช่นนี้ว่า ข้าพระองค์ได้บรรลุอรหัตตมรรค พระองค์ก็จะไม่ตรัสว่า สุภูติคือผู้ยินดีในอารัณยิกปฏิปทา แต่เนื่องด้วยความจริงแล้ว สุภูติไร้ซึ่งปฏิปทา จึงได้ชื่อว่า สุภูติผู้ยินดีในอารัณยิกปฏิปทา"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                 
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                             บรรพที่  ๙

                                        ไร้แม้หนึ่งลักษณะ

ความสังเขป   :

        ในบรรพนี้จะเป็นบรรพที่ขยายความต่อเนื่องจากบรรพก่อน ที่ได้กล่าวถึงเรื่อง "อันพุทธธรรมมิใช่พุทธธรรม"  โดยพระพุทธองค์ทรงเกรงว่าสานุศิษย์ทั้งหลายจะยังสามารถไม่เข้าใจในความหมายที่ตรัสไว้ ฉะนั้น  พระองค์จึงมีพระประสงค์ที่จะนำเหล่าสานุศิษย์ให้แจ้งเข้าใจในหลักของการดำรงใจโดยไร้ดำรงในโอกาสนั้นขึ้น ซึ่งพระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยดีว่าผู้ที่บำเพ็ญในทางหีนยาน  ธรรมจะมีความผูกยึดอยู่กับความเคยชินของวาจาอักขระจนเกินไป อีกทั้งยังมีความยึดติดว่าจักต้องมีธรรมแท้อีก ดังนั้น  ในด้านหนึ่งก็ทรงต้องการนำพาเหล่าสานุศิษย์ให้เกิดความรู้แจ้งเข้าใจจากหีนยานธรรม และในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเพราะพระองค์ทรงทราบดีว่า สุภูติคือผู้ที่ได้บรรลุในมรรคของหีนยาน  ดังนั้น  พระองค์จึงทรงต้องการอาศัยคำพูดของสุภูติมาเป็นเครื่องพิสูจน์ในผลที่ตนได้บรรลุให้ทุกคนได้ฟัง  แท้จริงแล้ว  มหายานธรรมจะเป็นธรรมแห่งการบำเพ็ญปฏิบัติที่มีความขวนขวายกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นการเจริญในโพธิสัตว์มรรคด้วยการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น  ทั้งยังได้ดำรงด้วยใจที่เมตตา ไม่แบ่งแยก  มีความกรุณาโดยไร้ขอบเขต และด้วยจิตใจฉะนี้  จึงเป็นจิตใจที่มีมหาเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์มิอาจประมาณได้ แต่สำหรับหีนยานธรรม นั้นจำต้องเป็นวิธีปฏิบัติที่คับแคบ  โดยเป็นเพียงแค่พาตัวเองให้หลุดพ้นเท่านั้นเอง
        สำหรับประเทศอินเดียในอดีตกาลนั้นจะเป็นประเทศที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็หวังแต่เพียงให้ความเป็นอยู่ที่สุขสบายเท่านั้นและเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประสูติในยุคสมัยเช่นนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์  พระองค์จึงทรงสอนให้รู้จักหลักธรรมแห่งหีนยาน  ฉะนั้นในบรรพนี้จึงเป็นบรรพต่อเนื่องจากบรรพก่อนที่ได้ปฏิเสธทั้งธรรมและพุทธะเพราะพระองค์ทรงเป็นห่วงศิษย์ทั้งหลายจะเกิดความเข้าใจผิดจะเป็นเช่นนี้คือ  "พระพุทธะเป็นสิ่งที่ไม่อาจได้   อีกทั้งธรรมเป็นสิ่งที่มิอาจถือ         และเช่นนี้ก็คือการไม่ยึดถือในการได้"  ด้วยเหตุนี้  พระองค์จึงทรงใช้ความเข้าใจในทางหีนยานของสุภูติมาชี้ความสว่างให้แก่ผู้อื่น  ทั้งนี้  ก็เพื่อจะให้เหล่าสาวกทั้งหลายเกิดความรู้แจ้งนั่นเอง
        นอกจากนี้แล้ว สำหรับผลทั้ง 4  ที่ได้กล่าวถึงในเนื้อนหา ล้วนมีแต่คำว่า "ไร้" นำหน้าด้วยกันทั้งนั้น  (ไร้การเข้า  ไร้การไปมา  ไร้การไม่มา  ไร้การมีธรรม) ซึ่งจุดนี้ก็มีสาเหตุมาจากอสังขตธรรมนั่นเอง ดังที่ได้กล่าวว่า  "เมธีอริยะทั้งปวงล้วนเนื่องด้วยอสังขตธรรม  และเกิดความแตกต่าง"  จากจุดนี้ก็สามารถทราบได้ว่า การที่พุทธศาสนามีผล 4 ระดับ  ก็ดุจดั่งขงจื่อที่มี 4 คำสอนแต่ผล 4 ระดับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั้น จะมีการแบ่งเป็นระดับชั้น คือ ชั้นที่หนึ่ง จะไม่เข้าสู่รูป  รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ โดยเมื่อสัมผัสต่อกิเลสก็จะรีบเลี่ยงออกไป ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นเกิดผลนั่นเอง  ชั้นที่สอง ไปมาหนึ่งครั้ง คือจะไม่มีการย่างเข้าสู่สภาวะแห่งกิเลสอีก ซึ่งก็คือการเติบโตของผลนั่นเอง  ชั้นที่สาม ไม่มีการมา  ซึ่งเป็นการพ้นออกจากชั้นกามธาตุ หรือก็คือการสุกแห่งผลนั่นเอง  โดยถือว่าเป็นการพ้นจากกิเลสไปอย่างสมบูรณ์ หรือก็คือการเก็บเกี่ยวของผลนั่นเองแล

อธิบายพระสูตร  :

        พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "สุภูติ !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นใด ?  ในขณะที่โสดาบันได้บำเพ็ญอยู่นั้น ตัวเขาสามารถมีความคิดกำหนดล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า  เขาได้บรรลุปฐมผลแห่งสาวกยานแล้ว ?"  สุภูติทูลตอบว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ไม่ควรมีความคิดว่าได้สำเร็จในปฐมผลได้เลย สาเหตุนี้เป็นเพราะว่า ถึงแม้โสดาบันก็ยังไม่สามารถรู้แจ้งฉับพลันในความว่างที่แท้จริงก็ตาม แต่โสดาบันนั้นก็มีความสามารถฝึกทนบังคับกิเลสจนพ้นออกจากพันธนาการของอายตนะภายนอกและซึมเข้าสู่ประตูหนทางของการไร้ลักษณะได้  ซึ่งก็คือการเริ่มเข้าสู่กระแสแห่งอริยะ  ดังนั้น  โสดาบันจึงมีชื่อเรียกอีกแบบหนึ่งว่าเข้าสู่กระแส
        พระพุทธองค์ทรงซักต่อไปว่า  "สุภูติ  !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ?  ในขณะที่สกทาคามีบำเพ็ญอยู่นั้น ตัวเขาสามารถมีความคิดกำหนดล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า เขาได้สำเร็จในผลที่สองแห่งสาวกยานแล้ว ?" สุภุติทูลตอบว่า  "ข้าแต่พระสุคต !  ไม่ควรมีความคิดว่าได้บรรลุในผลที่สองได้เลย สาเหตุนี้ก็เป็นเพราะในสภาวะจิตใจของสกทาคามีนั้น ถึงแม้จะได้ปฏิบัติจนเข้าสู่ความสงบอย่างที่สุดแล้วก็จริง แต่เมื่อยามที่เขาได้ส่องมองในสภาวะต่าง ๆ แล้ว ภายในใจก็ยังมีการเกิดการดับอยู่ ฉะนั้น จึงเรียกว่าไปมาหนึ่งครั้ง แต่โดยแท้จริงแล้วไม่มีครั้งที่สองของการเกิดดับเลย กล่าวคือ  ความคิดก่อนเพิ่งจะยึดอยู่ แต่ความคิดหลังก็พ้นไปเสียแล้ว โดยภายในใจของเขาไม่ได้เกิดการยึดติดในลักษณะของการเกิดดับ ดังนั้น  โดยแท้จริงแล้วไม่มีการไปมาเลย"
        พระพุทธองค์ได้ตรัสถามต่อไปว่า "สุภูติ  !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นใด ?  ในขณะที่อนาคามีบำเพ็ญอยู่นั้น  ตัวเขาสามารถคิดกำหนดล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า เขาจักได้บรรลุผลที่ 3 แห่งสาวกยาน ?"  สุภูติทูลตอบว่า  "ข้าแต่พระสุคต !   เขาไม่ควรทำอย่างนั้น สำหรับสาเหตุนั้น ก็เป็นเพราะภายในใจของอนาคามีเป็นความว่างที่ไร้อัตตาอันได้ตัดสิ้นแล้วซึ่งความสับสนแห่งดำริซึ่งเป็นอายตนะวิญญาณ โดยภายในใจไร้ความอยาก ส่วนภายนอกก็ไร้สภาวะแห่งความอยากเหล่านั้น  อีกทั้งยังมีความคุ้นเคยอยู่กับความสงบอย่างลึกซึ้ง  โดยอายตนะภายนอก 6 และลักษณะ 4 ล้วนได้ว่างสลาย ทั้งยังไร้ลักษณะแห่งการไปมา ฉะนั้น ถึงแม้จะมีนามว่าไม่มา แต่ความจริงเขาได้เป็นผู้ที่ไม่มาเกิดอยู่ในชั้นกามธาตุอีกต่อไป"
        พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า "สุภูติ !  ในขณะที่อรหันต์บำเพ็ญอยู่นั้นสามารถมีความคิดล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า ตัวเองจักได้บรรลุผลที่ 4 ของสาวกยาน ?"   สุภูติทูลตอบว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ไม่ควรมีความคิดว่าได้บรรลุผลที่ 4 เลย สำหรับสาเหตุนี้ก็เป็นเพราะภายในใจของอรหันต์ได้ว่างสงบและสิ้นลักษณะ โดยไม่มีความคิดว่าได้รับธรรม แล้วไฉนจะมีความคิดว่าได้บรรลุผลที่ 4 นี้ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่มีธรรมที่เรียกว่าพระอรหันต์  แต่หากพระอรหันต์ได้มีความคิดว่าได้รับธรรมแล้วหละก็ ก็เท่ากับว่าเขาได้ยึดอยู่ใน 4 ลักษณะ ซึ่งเช่นนี้ก็จะมิใช่พระอรหันต์แล"   สุภูติกราบทูลต่อไปว่า "ข้าแต่พระผุ้มีพระภาคเจ้า  !  พระองค์เคยได้ตรัสไว้ว่า ในตลอดทั้งวันที่ข้าพระองค์ได้เจริญในธรรมทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์ไม่เคยเกิดความกลัดกลุ้มแม้แต่น้อย    อีกทั้งยังไม่เคยเคืองเวไนยสัตว์เลยแม้แต่ผู้เดียว ซึ่งภายในใจของข้าพระองค์ไร้ความแก่งแย่งชิงดี (อารัณยิก)   อีกทั้งยังได้เป็นเช่นนี้จนถึงที่สุดอย่างลึกซึ้ง (สมาธิ)  ซึ่งในหมู่ศิษย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ได้ตรัสชมขัาพระองค์ว่าเป็นผู้เลิศในทางศูนยตา เป็นอรหันต์องค์แรกที่ได้สลัดทิ้งแล้วซึ่งอาตมะและบุคคละ  นั่นเป็นเพราะความคิดต่าง ๆ เหล่านี้ของข้าพระองค์ได้ถูกดับหมดแล้วอย่างสิ้นเชิง"  สุภูติทูลต่อไปอีกว่า   "ข้าแต่พระผู้เป็นอาจารย์  !  ถึงแม้ข้าพระองค์จะได้รับการตรัสชมจากพระองค์เช่นนี้ก็ตาม แต่โดยแท้จริงแล้วข้าพระองค์ไม่ได้มีความคิดว่าได้บรรลุในมรรคแห่งอรหันต์เลยแม้แต่น้อย หากข้าพระองค์ได้เกิดความคิดว่า ได้บรรลุในมรรคแห่งอรหันต์แล้ว ก็เท่ากับว่าข้าพระองค์ได้เกิดความคิดแห่งอกุศล และหากได้เป็นเช่นนี้จริงหละก็  ความว่างสงบจากอินทรีย์ 6 ก็มิอาจเป็นความจริงได้เลย และเมื่อได้เป็นเช่นนี้แล้วพระพุทธองค์ก็จะไม่ตรัสชมสุภูติว่า คือผู้ที่ยินดีในอารัณยิกปฏิปทา ก็เนื่องจากใจข้าพระองค์เดิมทีก็ไร้สิ่งจะได้อีกทั้งยังไร้ปฏิปทาที่ได้ปฏิบัติ โดยไม่ได้มีโลกียมลทินเลยแม้แต่น้อยก็เพราะสาเหตุนี้นี่เอง จึงทำให้ได้เป็นสุภูติเหมือนอย่างที่ได้เป็น  ดังนั้น  พระองค์จึงได้ตรัสชมข้าพระองค์ว่า คือผู้บำเพ็ญที่ยินดีในอารัณยิกปฏิปทานั่นเองแล"     

Tags: