วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
บรรพที่ ๖
ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี
อธิบายพระสูตร :
สุภูติได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สิ่งที่พระองค์ตรัสสอนเกี่ยวกับการ "ไม่ดำรงในลักษณะบริจาคทาน" อีกทั้งยังตรัสถึงเรื่องของการ "หากเห็นปวงลักษณะมิใช่ลักษณะ ก็จะพบตถาคตได้" นั้น ทั้งสองประเด็นนี้ช่างเป็นหลักธรรมอันแยบยลที่ว่างแท้และไร้ลักษณะเสียจริง ๆ และ เมื่อผู้ที่มีพื้นฐานแห่งมหายานได้สดับพระธรรมฉันนี้แล้ว ก็จักต้องมีความศรัทธาและสนองรับปฏิบัติเป็นแน่ แต่สำหรับเวไนยสัตว์อีกมากมายที่จะได้สดับฟังพระสูตรนี้ มิทราบว่าจะเกิดความศรัทธาแท้ได้หรือไม่ ?" พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามสุภูติว่า "เธออย่าได้กล่าวเช่นนั้น สำหรับพระธรรมที่เราได้แสดงไปนั้น ถึงแม้จะมีความแยบยลลึกซึ้งก็จริง แต่ไฉนจะไม่มีผู้ที่เชื่อศรัทธาอย่างเต็มที่ไปได้ ? เพราะไม่เพียงแต่ในปัจจุบันเท่านั้นที่จะมี แม้แต่ในอนาคตกาล หรือกระทั่งหลัง 500 ปี อันเป็นเวลาหลังจากที่เราได้ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็ยังคงมีผู้บำเพ็ญศีลและปลูกเนื้อนาบุญที่ยังสามารถเกิดความศรัทธามั่นคงต่อพระสูตรนี้ได้ ด้วยมาตรว่าจะเป็นแค่เพียงหนึ่งประโยคหรือหนึ่งถ้อยคำก็ตาม ซึ่งก็จะรู้ได้ว่าบุคคลฉันนี้คือ บุคคลที่มีรากบุญอันแน่นลึก โดยไม่เพียงแต่เป็นรากบุญที่เคยปลูกฝังกับ 1, 2, 3, 4, 5 พระพุทธะเท่านั้น หากแต่เป็นรากบุญที่เคยปลูกฝังกับพระพุทธะอันเป็นจำนวนที่มิอาจนับได้เลย และหากเขาซึ่งเป็นผู้ที่มีรากบุญอันฝังลึกเช่นนี้ได้สดับพระสูตร มาตรว่าจะเป็นแค่เพียงหนึ่งประโยคหรือหนึ่งถ้อยคำก็ตาม ก็จะสามารถทำให้จิตใจเขาบังเกิดความสงบไม่ฟุ้งซ่าน และมีความมั่นคงในศรัทธาอย่างไม่เสื่อมถอยได้ สุภูติ ! ด้วยพุทธปัญญาและปัญญาจักษุจองเราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า บุคคลที่มีความศรัทธาอันบริสุทธิ์ประเภทนี้จักมีความแจ่มแจ้งในพุทธญาณ ซึ่งจะสามารถได้รับบุญวาสนาอันเหลือคณนาที่เป็นดั่งความว่างเปล่าแห่งสากลทิศ ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดหละ ?" พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "นี่ก็เป็นเพราะเวไนยสัตว์ที่มีรากบุญอันสุกงอมฉันนี้จักได้รู้แจ้งหลักธรรมอันแยบยลที่เป็นสิ่งว่างแท้และไร้ลักษณะ และเขาไม่เพียงแต่จะได้พ้นจากอาตมะ บุคคละ สัตวะ ชีวะ อันเป็น 4 ลักษณะนี้ได้เท่านั้น หากแต่เขายังไม่มีธรรมลักษณะ (ยึดติดในอักษรของพระสูตรนี้ โดยเชื่อถือในข้อความของอักษรนี้อย่างหัวปักหัวปำ จนตกสู่สภาวะของการ ได้เห็น นี่ก็คือธรรมลักษณะ) อธรรมลักษณะ (ยึดติดอยู่ในความว่างที่ขาดสูญ และ จมปลักอยู่ในภาวะของการ ไร้การเห็น เช่นนี้คืออธรรมลักษณะ) และก็เวไนยสัตว์ประเภทนี้นี่เอง ที่หากยังมีใจยึดมั่นถือมั่นอยู่ ก็เท่ากับว่าเขาได้เกิดความยึดติดในอาตมะ บุคคละ สัตวะ ชีวะลักษณะ และหากได้ยึดอยู่ในวาจาอักษรของพระสูตรนี้ ก็ยังคงเป็นการติดอยู่ใน 4 ลักษณะ หรือหากเขายังมีใจที่ยึดมั่นลำเอียงอยู่ในความว่างก็เท่ากับว่าเขามีความคิดที่ดื้อรั้นเกี่ยวกับการตายว่า คือกายและใจล้วนได้ดับสูญ โดยคิดว่าความว่างคือไร้แม้สิ่งเดียว ซึ่งถือว่าเป็นทัศนะที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ยิ่ง เพราะความคิดทัศนะเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการยึดติดอยู่ใน 4 ลักษณะนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องปล่อยวางความคิดอันเป็นแบบสุดขั้วทั้งสอง ไม่ควรยึดติดการมี อีกทั้งไม่ควรยึดติดการไร้ เช่นนี้ก็จะสามารถแจ่มแจ้งในความว่างแห่งธรรมญาณ และห่างละออกจากธรรมไปได้ ก็เนื่องด้วยมันเป็นหลักอันแยบยลเช่นนี้นี่เอง เราจึงจำใจตรัสเทศนาธรรม ก็เพื่อต้องการให้เธอทั้งหลายห่างลักษณะแจ้งในธรรมญาณกระทั่งข้ามพ้นสู่ฝั่งโน้นไป ด้วยเหตุผลประการนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยธรรมนี้มาช่วยให้เธอได้พ้นจากทะเลทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าหากเธอทั้งหลายได้แจ่มแจ้งในธรรมญาณของตน และได้บรรลุสู่ความสุขอันนิรันดร์แห่งนิพพานแล้ว ธรรมของเราก็สามารถที่จะละไปได้ เพราะมันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป สำหรับการอุปมานั้น ก็อุปมาได้ดั่งสานไม้ไผ่ให้เป็นแพที่ได้พาคนให้ข้ามแม่น้ำไปสู่ฝั่ง หลังจากที่ได้ถึงฝั่งแล้ว แพนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และในเมื่อแม้แต่สัทธรรมแห่งพระพุทธะยังสามารถที่จะละไปได้ แล้วพวกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธวจนะอันเป็นอักษรโวหารแห่งทัศนะของชาวโลกนั้น ทำไมจึงจะไม่สามารถละได้หละ ?"