collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง ภาคสมบูรณ์ : คำนำ  (อ่าน 44005 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   หนึ่งเดียวเท่านั้น

        การยึดมั่นในรูปลักษณ์ทั้งปวงย่อมมิใช่ ธรรมะ แต่เป็นผลการแสดงออกของ ธรรมะ  เพราะฉะนั้นคนในโลกนี้จึงยึดติดอยู่กับ "ผล"  มากกว่า "ราก" ความสับสนเช่นนี้จึงก่อเกิดเวรกรรมขึ้นมากมายจนประมาณมิได้ แต่การที่จะถอนบุคคลเหล่านี้ให้พ้นไปจากความยึดมั่นอันผิด ๆ นั้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงอธิบายลักษณะแห่นรูปลักษณ์เอาไว้ดังนี้  "สิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้ามสามสิบหกประการได้แก่  วัตถุภายนอก  5 ประการ คือ ฟ้าและดิน  อาทิตย์กับจันทร์  แสงสว่างและความมืด ธาตุบวกและธาตุลบ  ไฟฟ้าและน้ำ  ธรรมลักษณะ  12 ประการ คือ  คำพูดและธรรม  การรับและการปฏิเสธ  สาระและไม่เป็นสาระ  รูปและปราศจากรูป  ความแปดเปี้อนและความไม่แปดเปื้อน  ความมีอยู่และความว่างเปล่า  ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง  ความบริสุทธิ์และมลทิน  สามัญชนและปราชญ์  พระสงฆ์และฆราวาส  คนแก่และคนหนุ่ม  ความใหญ่และความเล็ก   กิจของภาวะที่แท้แห่งพุทธจิต  19 คู่  คือ  ยาวและสั้น  ดีและชั่ว  อวิชชาและปัญญา  โง่และฉลาด  กระวนกระวายและสงบนิ่ง  กรุณาและชั่วช้า  ศีลและไม่มีศีล  ตรงและคด  เต็มและว่าง  ชันและระดับ  กิเลสและโพธิ  ถาวรและไม่ถาวร  เมตตาและโหดร้าย  สุขและโกรธ  อ่อนโยนและหยาบช้า  มีอยู่และไม่มีอยู่  ธรรมกายและกายเนื้อ  สัมโภคกายและนิรมานกาย   
        ผู้ที่รู้จักวิธีใช้สิ่งทั้ง  36 คู่เหล่านี้ ย่อมตระหนักชัดถึงหลักการที่แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง ซึ่งกล่าวไว้ทั่วไปในพระสูตรทั้งหลาย ไม่ว่าเขาจะเข้ามาหรือออกไป เขาย่อมสามารถหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้างนี้ได้"  ถ้านำเอาคำอธิบายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงมาพิจารณาแล้วก็จะเห็นถึงความเป็นจริงแห่งความเคลื่อนไหวของ " ธรรมญาณ "  อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งปวง โดยภาวะแห่งความว่างอันยิ่งใหญ่สามารถก่อเกิด จักรวาลและสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ฟ้าดิน ดวงดาว หรือความมืดหรือสว่าง ล้วนสามารถดับสิ้นไปด้วยกันทั้งนั้นเพราะมีรูปลักษณ์ปรากฏอยู่ย่อมเสื่อมไป กฏของการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - และดับลงไป  ส่วนธรรมลักษณะนั้นเป็นเรื่องของรูปที่อยู่ในลักษณะปราศจากรูป แต่เป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นเท่านั้น เช่น ธรรมกับคำพูด  มีความหมายอันแท้จริงว่า คำพูดมิใช่ธรรมะ เพราะธรรมะไม่อาจพูดออกมาได้ หากจิตยึดติดสิ่งใดแล้วก็ย่อมสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นความสะอาด หรือแปดเปื้อน และยังคงอยู่ในภาวะไม่เที่ยงแท้นั่นเอง แต่การทำงานของ " พุทธจิต " ย่อมเป็นไปตามแรงส่งของสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในธรรมญาณ ว่าเป็นแรงแห่งดีหรือชั่ว โง่หรือฉลาด  ใครที่เข้าใจเช่นนี้จึงรอดพ้นไปจากการยึดมั่นอยู่ในความสุดโต่งทั้งสองด้านไม่ว่าดีหรือชั่ว   พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ในการปฏิบัติกิจของภาวะที่แท้แห่ง  ธรรมญาณ  และในการสนทนากับผู้อื่นทางภายนอกเราควรเปลื้องตัวเสียจากการยึดติดอยู่กับวัตถุ เมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุนั้น ๆ ส่วนภายในตามคำสอนหรือความว่างเปล่าเราควรเปลื้องตนออกจากความคิดว่าขาดสูญ การเชื่อว่าวัตถุทั้งหลายมีความจริงแท้ หรือเชื่อว่าขาดสูญ ย่อมก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิอย่างฝังรากลึก หรือพอกพูนอวิชชาให้หนาแน่นยิ่งขึ้น ผู้ที่เชื่อมั่นในลีทธิขาดสูญ ย่อมดูหมิ่นพระสูตรทั้งหลายในแง่ที่ว่าภาษานั้นไม่จำเป็น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราก็ผิดในการที่พูดเพราะคำพูดย่อมก่อให้เกิดเนื้อหาทางภาษา และเขาก็อาจแย้งได้อีกว่า สำหรับวิธีตรงนั้นภาษาเป็นอันยกเลิกได้ แต่เขาจะพอใจคำว่า ยกเลิก  ซึ่งเป็นภาษาเช่นกันฉะนั้นหรือ เมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวถึงพระสูตร  คนเช่นนี้จะตำหนิผู้พูดในทำนองว่า ติดอยู่ในตำรามันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว ที่ยึดถือความคิดเห็นผิด ๆ เช่นนี้ไว้กับตน พวกท่านควรรู้ว่า การกล่าวร้ายต่อพระสูตรเป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้นหนักมากทีเดียว  ผู้ที่เชื่อความจริงแท้ในวัตถุภายนอกก็พยายามค้นหารูปนั้นด้วยการปฏิบัติในลัทธิบางอย่าง เขาอาจจัดห้องบรรยายไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อถกเถียงกันถึงลัทธิเที่ยงแท้และลัทธิขาดสูญ แต่คนเช่นนี้แม้อีกมากมายหลายกัลป์ ก็ไม่อาจตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่ง ธรรมญาณ ได้เลย  เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม อย่าปล่อยให้เฉื่อยชา เพราะจะเกิดอุปสรรคแก่ความเข้าใจในหลักธรรมได้ การสอนหรือการฟังพระธรรมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้น เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม และในการเผยแพร่ธรรม ก็ไม่ควรให้ความคิดเห็นถึงความเจริญแท้แห่งวัตถุ มาชักนำเราไป ถ้าท่านเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด และนำไปใช้ในการสั่งสอน ในการปฏิบัติ และในชีวิตประจำวัน ท่านจะสามารถจับความสำคัญของสำนักเราได้" ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้เปลื้องตัวออกไปจากความคิดว่า มีหรือไม่มี นั้นเป็นเพราะต้องการให้สภาวะแห่ง ธรรมญาณ ปรากฏชัดเจนขึ้นมา และมองเห็นความเป็นจริงแท้แห่งสภาวะทั้งปวงตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรายึดถือว่า  ต้นไม้  เป็นของมี  แต่แท้ที่จริงย่อมเสื่อมสลายหายไปเมื่อถึงกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกัน เราไปคิดว่ามันขาดสูญ ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะยังคงสภาวะมีอยู่ เฉกเช่นเดียวกับ ธรรมญาณ  ของเรา ถ้าหากกล่าวว่า ไม่มีก็ไม่ได้ กล่าวว่ามีก็ไม่ได้ เพราะภาวะแห่งภาษามนุษย์ไม่อาจกล่าวถึงหรืออธิบายได้ชัดเจน เพราะเป็นธรรมะที่แท้จริงย่อมเป็นหนึ่งเสมอหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบเพื่ออธิบายได้ยากนัก

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                      ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   ทางสายกลาง

        วิสัยของปุถุชนย่อมติดในรูปลักษณ์ทั้งปวงเพราะฉะนั้น จึงเอามาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินหรือพิจารณาสภาวะธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทางสายกลาง" ซึ่งเป็นหนทางแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติบำเพ็ญทั้งชีวิตทางธรรมและทางโลก  สมัยที่พระพุทธอค์ทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยวิธีทารุณพระองค์เองจนหวุดหวินสิ้นพระชนม์ ตามตำนานกล่าวว่า ท้าวสักกะเทวราช ทรงพิณสามสายด้วยการขึงเสียตึง ดีดทีเดียวสายพิณขาดผึง จึงขันใหม่สายพิณหย่อนยานดีดหาเป็นเพลงไม่  ครั้นขึงสายพิณพอดี ๆ ดีดจึงเป็นเสียงดนตรีอันไพเราะ  ปริศนาธรรมเช่นนี้จึงทำให้พระสิทธัตถะกุมารได้คิด จึงละเว้นการบำเพ็ญทุกขกิริยาเสีย หันมาเสวยพระยาหาร และค้นหาทางสายกลางแห่งจิต  จนพบหนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากบุญและบาปทั้งปวง เมื่อกลางคืนวันเพ็ญเดือนหก  ความพอดีแห่งธรรมญาณคือ  การพ้นไปจาก ดี และ ชั่ว  หรืออีกนัยหนึ่งสภาวะแห่งทางสายกลางนั้นสามารถรองรับได้ทั้ง ดี และ ชั่ว  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้แนะวิธีแห่งการเผยแพร่คำสอนทางสายกลางเอาไว้อย่างแยบยลนัก  "เมื่อมีปัญหาถามมา จงตอบไปในทำนองปฏิเสธ ถ้าเป็นป็ญหากล่าวปฏิเสธจงตอบทำนองตอบรับ ถ้าถูกถามถึงสามัญชน จงตอบเรื่องของปราชญ์ จากการเปรียบเทียบกันหรืออ้างอิงกันระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจในทางสายกลางได้ ถ้าปัญหาต่าง ๆ ถามมาทำนองนี้ ท่านจงตอบอย่าให้ผิดไปจากสัจจะ" สภาวะจิตทียอมรับได้ทั้งสิ่งที่เป็นคู่กันนั่นแหละคือ ทางสายกลาง  เพราะสภาวะจิตเช่นนั้นจักปราศจากการเปรียบเทียบอย่างแท้จริง  พระธรรมาจารย์ชี้ถึงวิธีการเช่นนี้ต่อไปว่า "สมมุติมีคนมาถามท่านว่า ความมืดคืออะไร ท่านก็ตอบเขาไปว่าความสว่างเป็นเหตุ ความมืดเป็นปัจจัย เมื่อความสว่างหายไป ความมืดก็ตามมา สองสิ่งนี้อยู่ในลักษณะเปรียบเทียบต่อกันและกัน จากการเปรียบเทียบหรืออ้างอิงกันระหว่างสิ่งตรงข้ามกันทั้งคู่ก็จะเกิดทางสายกลางขึ้น"  ปุถุชนที่ติดอยู่ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหมายถึงไม่ยอมรับสิ่งที่ตรงกันข้าม สภาวะจิตเช่นนี้มิใช่ทางสายกลาง เพราะเหตุนี้การนำเอามาอ้างอิงกันก็เพื่อให้สภาวะแห่งจิตยอมรับในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ตามสัจธรรม พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแม้เกิดต่างสมัยกับพระพุทธองค์ ซ้ำยังอ่านหนังสือไม่ออกสักตัวเดียว แต่เหุที่รุ้จักธรรมญาณแห่งตนจึงมีพระวจนะไม่ต่างไปจากพระพุทธองค์หรือพระอริยะเจ้าทั้งปวง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงห่วงใยในการถ่ายทอดธรรมจึงตักเตือนและย้ำแก่สานุศิษย์ทั้งปวงว่า "จงตอบปัญหาอื่น ๆ ทั้งปวงไปในทำนองเดียวกันนี้ ในการถ่ายทอดธรรมให้สานุ
ศิษย์ของท่าน ท่านควรมอบคำสอนนี้ ต่อ ๆ กันไปตามอนุชนแต่ละชั้น เพื่อนเป็นเครื่องประกันความถาวรแห่งเป้าหมายและจุดประสงค์แห่งสำนักเรา" ครั้นถึงเดือนเจ็ดแห่งปีเยิ้นจื่อ คือปีชวด  อันเป็นปีที่หนึ่งแห่งรัชสมัยเอี๋ยนเหอ หรือไท่จี๋  พระธรรมาจารย์ได้สั่งให้ศิษย์บางท่านไปสร้างสถูปไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง ที่ซิ่นโจว และกำชับให้แล้วเสร็จโดยด่วน พอจวนสิ้นฤดูร้อนต่อมา สถูปนั้นก็สร้างเสร็จเรียบร้อย  พอถึงวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนเจ็ด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงก็ประชุมสานุศิษย์และ
กล่าวว่า "ฉันจะจากนี้ไปในเดือนแปด หากใครยังมีข้อสงสัยอันใดเกี่ยวกับหลักธรรมแล้ว จงถามเสียให้ทันเวลาเพื่อท่านจะได้เข้าใจให้กระจ่างเพราะท่านอาจไม่พบใครที่จะสอนท่านอีก เมื่อฉันจากไปแล้ว"  ข่าวร้ายเช่นนี้ ทำให้ท่านฝ่าไห่และสานุศิษย์อื่น ๆ น้ำตาไหล ส่วนท่านเสินฮุ่ยนั้น ตรงกันข้ามคงสงบนิ่ง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวชมเชยท่านเสินฮุ่ยว่า "อาจารย์หนุ่มเสินฮุ่ยคนเดียวเท่านั้นในที่นี้ ที่ได้บรรลุถึงฐานะของจิต ที่ไม่ยินดียินร้ายต่อความดีหรือความชั่ว ไม่รู้จักความดีใจหรือเสียใจ และไม่หวั่นสะเทือนต่อคำเยินยอหรือติฉิน แต่ท่านอบรมอยู่ในภูเขานี้ก็หลายปีแล้ว ท่านได้รับความก้าวหน้าอะไรบ้าง ขณะนี้ท่านร้องไห้ทำไม ท่านกังวลต่อฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหนกระนั้นหรือ แต่ฉันรู้มิฉะนั้นแล้วฉันคงบอกท่านล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น เรื่องที่ทำให้ท่านร้องไห้ก็คือ ท่านไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหน  ถ้าท่านร้องไห้เพราะเหตุนั้น ก็ไม่น่าจะร้อง  ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีการมาหรือการไป ไม่มีการเกิดไม่มีการดับ นั่งลงเถิดทุก ๆ ท่าน ฉันจะกล่าวโศลกด้วยความจริงแท้และความลวง กับโศลกว่าด้วยความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง ให้ท่านฟัง จงนำไปศึกษา แล้วความเห็นของท่านจะอยู่ในแนวเดียวกับความเห็นของฉัน จงนำไปปฏิบัติแล้วท่านจะทราบถึงเป้าหมายและจุดประสงค์แห่งสำนักของเรา"  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้ล่วงรู้ต้นกำเนิดแห่ง ธรรมญาณ  ของพระองค์ เพราะเหตุนี้จึงเป็นพระอริยะเจ้าที่บรรลุถึงต้นกำเนิดคือ ดินอดนแห่งพระนิพพาน   ปัญหาที่ค้างคาใจพุทธศาสนิกชนก็คือ การเข้าถึงพระนิพพานแล้วหมดสิ้นสูญทุกสิ่งอย่างกระนั้นหรือ มิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะหากจบสิ้นด้วยเหตุนี้ก็หมายความว่า ธรรมญาณนั้นถูกทำลายได้ จึงมีเกิดและมีดับ ย่อมไม่เวียนว่ายในวัฏสงสาร แต่เพราะไม่มีกรรมวิธีใด ๆ ทำลายธรรมญาณ เพราะฉะนั้น การพ้นไปจากการเวียนว่ายก็คงเหลือแต่ " ธรรมญาณ " อันบริสุทธิ์เข้าร่วมอยู่กับ ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15/07/2011, 07:43 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   วัตถุมายา

        พระพุทธวจนะตอนหนึ่งที่ตรัสว่า "สัพเพ สังขารา อนิจจัง   สัพเพ สังขารา ทุกขา   สัพเพ ธรรมา อนัตตา" ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาชาวบ้านก็ได้ความว่า "สิ่งที่เป็นรูปลักษณ์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน  และเพราะเช่นนี้เองจึงก่อให้เกิดทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และท้ายที่สุดทุกสิ่งอย่างไม่มีรูปลักษณ์อันแท้จริงเลย" แต่เพราะปุถุชนไม่เข้าใจหรือเข้าใจแต่ไม่แจ้งใจในความไม่เที่ยงทั้งปวง ของสรรพสิ่งเมื่อมีเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่มิได้และเสื่อมสลายไปในที่สุดจึงพากันหลงยึดถือเอาไว้ด้วยคิดว่าจะมีอยู่เป็นอยู่ชั่วกาลนาน "ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะตาย พลันความตายก้มาถึง" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้แสดงโศลกให้บรรดาศิษย์ทั้งปวงดังนี้ "ในสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่มีอะไรที่จริงแท้" ดังนั้นเราควรจะเปลื้องตน ออกเสียจากความคืดเห็นถึงความจริงแท้แห่งวัตถุเหล่านั้น ใครที่เชื่อว่าวัตถุเป็นสิ่งจริงแท้ ย่อมถูกพันธนาการอยู่ด้วยความคิดเช่นนั้นอันเป็นสิ่งที่ลวง ใครที่ตระหนักชัดถึงความจริงแท้ในตัวเขาเอง ย่อมรู้ว่า จิตที่แท้ต้องค้นหาต่างที่กับปรากฏการณ์ที่ผิด ถ้าจิตของใครถูกพันธนาการไว้ด้วยปรากฏการณ์ที่เป็นความลวงแล้ว จะไปหาความจริงแท้ได้ที่ไหน ในเมื่อปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ใช่จริงแท้ สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหว วัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง ใครฝึกฝนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ ถ้าท่านจะหาความสงบนิ่งที่ถูกแบบก็ควรเป็นความสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหว ความสงบนิ่งอย่างวัตถุก็เป็นเพียงความสงบนิ่ง มิใช่ญาณ" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้ความคิดเกี่ยวกับอาการหยุดนิ่งเอาไว้อย่างชัดเจนที่สุด ความสงบนิ่งที่ถูกต้องก็คือ เดิน นั่ง ยืน กิน ทุกอิริยาบถ ต้องแสวงหาความนิ่งในจิต ให้พบการเคลื่อนไหวที่มีความสงบนิ่งเป็นพื้นฐาน ย่อมหมายถึงผุ้นั้นเคลื่อนไหวอย่างมีสติอันสมบูรณ์และเป็นการเตรียมพร้อมเผชิญต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย รู่เท่าทันและตัดทำลายได้ ใครทำได้เช่นนี้ในทุกอิริยาบถย่อมรอดพ้นไปจากกิเลสภัยทั้งปวง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปอีกว่า "ในสรรพวัตถุทั้งหลายนั้น ท่านจะไม่พบเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ ท่านผู้เชี่ยวชาญในการจำแนกธรรมลักษณะต่าง ๆ ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งในหลักธรรมเบื้องแรก ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสำเหนียกรู้ในสิ่งทั้งหลาย นี่แหละคือหน้าที่ของตถตา บรรดาผุ้ที่ดำเนินไปตามมรรค จงกระตุ้นตนเองและคอยหมั่นระวัง ในฐานะที่เป็นสานุศิษย์ในสำนักมหายาน จงอย่ารวบรัดเอาความรู้ ประเภทที่จะผูกพันท่านไว้กับกงจักรแห่งความเกิดและความตาย" ความหมายของโศลกนี้ยืนยันให้รู้ว่า แม้เราทำตัวหรือจิตให้นิ่ง ๆ  ย่อมไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะย่อมไม่รู้ความเป็นจริงแม้แต่ "จิต" ของตนเอง ความสงบนิ่งแห่งจิตใจจึงพร้อมที่รับรู้ในสรพสิ่งโดยไม่หวั่นไหวกับแรงกระตุ้นภายในและภายนอกและสามารถระวังกิเลสมากระทบได้ ตราบใดที่เรายังผูกติดกับความ "เป็น" และ "ตาย" ความคิดตลอดจนความเคลื่อนไหวย่อมพ้นไปจากหนทางอันถูกถ้วนของ ฎธรรมญาณ" เพราะเป็นสิ่งแท้ไม่มีเกิดและไม่ตาย พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง กล่าวโศลกต่อไปว่า "สำหรับบุคคลที่มีความรู้สึกสอดคล้องกัน จงอภิปรายกันในหลักธรรมทางพุทธศาสนา ส่วนบุคคลที่มีทัศนะต่างจากเรา จงปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพซึ่งจะเป็นการอำนวยความสุขให้แก่เขา เรื่องการโต้แย้งไม่ใช่วิธีการของสำนักเรา เพราะเป็นการขัดกับหลักธรรม การยึดมั่นหรือขัดแย้งกับสิ่งอื่น โดยไม่คำนึงถึงหลักข้อนี้ย่อมเป็นการผลักใสให้ภาวะที่แท้แห่งจิตของตนตกไปสู่ความขมขื่นแห่งโลกียภูมิ"คนที่มีความเห็นในทางธรรมสอดคล้องกันย่อมพูดจากันเข้าใจ และค้นคว้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ขัดแย้งเขาไม่เชื่อในหลักแห่งธรรม หากพูดกันย่อมก่อความไม่เข้าใจและเป็นศัตรูกัน อันทำให้ไม่สามารถผูกบุญสัมพันธ์กันต่อไปได้  การผูกบุญสัมพันธ์กันไว้ย่อมมีหนทางช่วยให้เราได้พบหลักสัจธรรมในครั้งต่อไป บรรดาคนที่ขัดแย้งต่อหลักสัจธรรม ย่อมมองไม่เห็นหนทางอันแท้จริง เขาเหล่านั้นล้วนหลงอยู่กับวัตถุทั้งปวง เขาย่อมตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน เพราะหลงในมายาเหมือนกัน ย่อมเศร้าหมองเหมือนตกอยู่ในทะเลทุกข์นั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24/07/2011, 03:01 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                         ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   เมล็ดพืชแห่งพุทธะ

        มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ทรงความศักดิ์สิทธิ์เสมอกันเพราะมี "ธรรมญาณ" เป็นเช่นเดียวกัน แต่ที่มนุษย์แตกต่างกันก็เพราะ บาปเวรกรรม สร้างมาไม่เหมือนกัน ความผิดแผกกันตรงนี้จึงไม่สมควรแบ่งแยกมนุษย์ให้ต่ำสูงไม่เท่ากัน มนุษย์มักเอาสิ่งที่มองเห็นมาเปรียบเทียบแบ่งแยกซึ่งกันและกัน และดูถูกดูแคลนกัน จนเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันและสร้างเวรกรรมต่อกันไม่มีที่สิ้นสุด อาการติดยึดในรูปลักษณ์ทั้งปวงจึงทำให้มนุษย์มีกังวลและเป็นทุกข์เมื่อรูปนั้นพังทลายลงไป ในโลกนี้จึงไม่มีใครสามารถรักษารูปลักษณ์ให้เป็นอมตะได้เลย ด้วยเหตุความหลงเช่นนี้ จึงทำให้การวินิจฉัยปัญหาทั้งมวลผิดพลาดไปได้โดยง่าย เมื่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงประกาศจักละทิ้งกายสังขาร ท่านฝ่าไห่ ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสจึงเรียนถามว่า "เมื่อพระคุณท่านเข้าปรินิพพาานแล้ว ใครจะเป็นผู้ได้รับมอบบาตร จีวร และ ธรรมต่อไป"  "สำหรับคำสอนของฉันทั้งหมด นับแต่ได้กล่าวเทศนาในวัดต้าฝัน ตราบจนบัดนี้ จงคัดลอกเป็นเล่มแล้วแจกจ่ายกันไปก็ได้ แต่ให้ชื่อว่า  สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์แห่งธรรมรถ  เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวง  บุคคลที่สั่งสอนตามคำสอนนี้ เป็นผู้สั่งสอนตามธรรมแท้ พอแล้วสำหรับธรรม  ส่วนการรับช่วงจีวรนั้น ถือเป็นการสิ้นสุดกันเพราะเหตุใดหรืือ เพราะว่าท่านทั้งหลายต่างก็ศรัทธาต่อคำสอนของฉันโดยพร้อมมูล ทั้งท่านก็ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ แล้ว ท่านสามารถสืบต่อจุดประสงค์อันสูงส่งของสำนักเราให่ลุล่วงไปได้ นอกจากนั้น ตามความหมายในโศลกของท่านโพธิธรรม พระธรรมาจารย์องค์แรกผู้ถ่ายทอดพระธรรมและบาตร จีวร ท่านก็ไม่ประสงค์จะมอบให้แก่ใครต่อไปอีก โศลกนั้นคือ  " จุดประสงค์ในการมาดินแดนนี้ ก็เพื่อถ่ายทอดพระธรรม สำหรับปลดปล่อยสัตว์ที่ถูกครอบงำไว้ด้วยความหลงผิด เมื่อมีกลีบครบห้ากลีบ ดอกไม้นั้นก็สมบูรณ์ หลังจากนั้น ผลจะปรากฏขึ้นเองตามธรรมชาติ " ความหมายแห่งคำกล่าวของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเกี่ยวกับการส่งมอบตำแหน่งพระธรรมาจารย์สมัยต่อไป เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง นับแต่พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นพระธรรมาจารย์สมัยที่หนึ่งของอินเดีย มาจนถึงพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง การส่งมอบตำแหน่งพระธรรมาจารย์อาศัยจีวรและบาตร เป็นเครื่องหมายแห่งตำแหน่งและฐานะผู้แบกรับพระโองการสวรรค์อันชัดเจนเพื่อสืบต่อเป็นพงศาธรรม  การสืบต่อ ยังคงรักษาพงศาธรรมเอาไว้ไม่ขาดสาย
แต่นับจากพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแล้ว ดอกไม้ก็สมบูรณ์บานครบห้ากลีบ ผลย่อมปรากฏเอง  ความหมายก็คือ การสืบต่อพระโองการสวรรค์ย่อมแสดงได้ด้วยการบำเพ็ญปฏิบัติ โดยอาศัยผลแห่งการปฏิบัตินั้นเป็นจริงขึ้นมาเอง  ผู้ได้รับมอบหมายสืบต่อพงศาธรรม เมื่อมีพระโองการอยู่กับตัว การปฏิบัติบำเพ็ญ ย่อมปรากฏผลชัดเจนโดยใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ มิใช่บาตรและจีวรดังแต่ก่อน  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จงชำระจิตของท่านให้   
บริสุทธิ์และฟังฉันพูด ใครที่ปรารถนาจะบรรลุปัญญาของพุทธะ ซึ่งรู้ไปในทุก ๆ สิ่ง เขาก็ควรรู้จัก สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์และสมาธิ เฉพาะแบบในทุกกรณี เราควรเปลื้องตนออกเสียจากความผูกพันธ์ในวัตถุทั้งหลาย และวางท่าทีต่อสิ่งเหล่านั้นให้เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย อย่าปล่อยให้ชัยชนะหรือความปราชัย และการได้มา หรือการสูญเสีย ก่อความกังวลแก่เราได้ จงสงบและเยือกเย็น จงสุภาพและอารีอารอบ จงซื่อตรงและเที่ยงธรรม สิ่งเหล่านั้นคือ สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์ในทุก ๆ โอกาสไม่ว่าเราจะ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน จงเป็นคนตรงแน่ว เราก็จะดำรงอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และไม่ต้องเคลื่อนไหวแม้สักน้อย เราก็เหมือนอยู่ในอาณาจักรแห่งดินแดนบริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้คือ สมาธิเฉพาะแบบ  ผุ้ปฏิบัติตามสมาธิทั้งสองอย่างนี้ได้ครบถ้วนแล้ว ก็เสมือนกับเนื้อนาที่ได้หว่านเมล็ดพืชลงไป แล้วกลบไว้ด้วยโคลน เมล็ดพืชจึงได้รับการบำรุงและเจริญเติบโต ตราบจนกระทั่งผลิผล"  ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า การสดับพระธรรมหรือคำพูดทุกอย่าง หากภายในใจของเรายังติดอยู่กับสิ่งใด คำพูดมิอาจฝ่าฟันไปสู่ความเข้าใจของเขาได้เลย เสมือนหนึ่งน้ำเต็มแก้ว ย่อมเติมลงไปมิได้ฉันใดก็ฉันนั้น  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า  "คำสอนของฉันในขณะนี้ ไม่ผิดอะไรกับฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งจะนำความชุ่มชื้นมาสู่ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ธรรมชาติแห่งพุทธะ ซึ่งมีอยู่ภายใน เสมือนหนึ่งกับเมล็ดพืชที่ได้รับความชุ่มชื้นจากสายฝน ย่อมจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ใครที่ปฏิบัติตามคำสอนของฉัน ย่อมได้บรรลุถึงโพธิอย่างแน่นอน ใครที่ดำเนินตามคำสอนของฉันย่อมได้รับผลอันสูงเลิศเป็นแน่แท้  จงฟังโศลกดังนี้  "" เมล็ดพืชแห่งพุทธะ แฝงอยู่ในจิตของเราย่อมงอกงามตามสายฝน ที่ซึมซาบไปในทุกสิ่ง ดอกไม้แห่งหลักธรรม เมื่อได้ผลิออกมาด้วยปัญญาญาณ ผู้นั้นย่อมแน่แท้ ที่จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการตรัสรู้"" มนุษย์ทุกคนจึงมีภาวะแห่ง พุทธะ คือผู้รู้อยู่แล้วในตัวเอง ไม่มีใครมีมากหรือน้อยกว่ากัน แต่เหตุที่ไม่อาจบรรลุธรรมเท่าเทียมกันเป็นเพราะวิบากกรรมปิดบังปัญญาญาณของตนเองจนมือมิด แต่เมื่อใดที่เขาได้ใช้ปัญญาของตนเองแล้ว ย่อมเข้าสู่หนทางแห่งการรู้ตัวเองอย่างแท้จริง  """คำว่า  ตรัสรู้  หมายความว่าอย่างไร"""ปุจฉา  """แปลว่า  รู้เองไม่ต้องมีใครมาสั่งสอน"""วิสัชนา  """คำตอบอย่างนี้ใคร ๆ ก็ตอบได้ ไม่เห็นเข้าใจเลย""" """อย่างนั้น ถ้าเอาคำว่า  พุทธะ มารวมกันเข้าก้อาจเข้าใจได้มากขึ้น เพราะคำนี้มีความหมายว่า ผู้รู้  มิได้หมายความรู้อะไรข้างนอกตัวเองเลย  แต่รู้ทุกข์รู้สุข  รู้ความเคลื่อนไหวในจิตของตนเอง สรุปอย่างสั้นและง่ายก็คือ รู้กิเลสตนเอง นั่นเอง รู้แล้วสามารถชำระและตัดมันออกไปได้โดยเด็ดขาด อย่างนี้จึงเรียกว่า  ตรัสรู้  กรณีเช่นนี้ไม่มีใครช่วยเราได้เลยนอกจากตัวเองทั้งนั้น  รู้เองแก้เอง """ ""ใคร ๆ ก็ทำได้อย่างนั้นหรือ""" ถาม """แน่นอน เพราะทุกคนมีภาวะ พุทธะ ในตัวเองอยู่แล้ว"""ตอบ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                     ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   อย่าทำจิตให้ว่างเปล่า

        ผู้ปฏิบัติธรรมมักสนใจที่จะทำให้จิตของตนว่างเปล่าด้วยการบังคับโดยอาศัยวิธีของสมาธิภาวนาิให้ "จิตว่างเปล่า" และถ้าทำได้เช่นนี้ ถือว่าเป็นการสำเร็จหนทางแห่งการทำสมาธิด้วยจิตที่ว่างเปล่ามันไร้ความคิดและยึดถือ ย่อมมีความสุข ความเชื่อเช่นนี้ผิดหนทางแห่งการปฏิบัติธรรม การบังคับหรือหลอกล่กให้จิตว่างเป็นเพียงการหลอกลวงตนเองชั่วคราวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ยั่งยืนและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อการบำเพ็ญภาวนาเลย  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงบอกแก่สานุศิษย์ทั้งปวง ""ธรรมนั้นไม่เป็นของคู่ และ ธรรมญาณ  ก็เป็นฉันนั้น  มรรค นั้นบริสุทธิ์และอยู่เหนือรูปทั้งมวล ฉันขอเตือนท่าน อย่าปฏิบัติสมาธิในเรื่องความเงียบสงบ หรือ อย่าทำจิตให้ว่างเปล่า ธรรมญาณบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เราจะต้องใฝ่หาหรือยกเลิก แต่ละท่านจงปฏิบัติให้ดีที่สุด และไปในทุกแห่งตามแต่เหตุการณ์จะนำไป"" ธรรมะที่แท้จริงไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้เพราะเป็นหนึ่งเดียวและปราศจากรูปลักษณ์ จึงจนปัญญาที่ไม่อาจเอาอะไรมาเทียบหรือชี้ให้เห็นสภาพแห่ง ธรรมะได้เลย  ธรรมญาณของคนเราก็เฉกเช่นเดียวกัน  ""ธรรมญาณ  นั้นคืออะไร""ปุจฉา  ""คือตัวจริงที่ไม่มีวันเกิดและวันตาย ไม่มีใครทำลายให้สูญหายไปจากธรรมชาติของตนเองได้ เป็นอมตะนิรันดรเพราะเป็นญาณที่มาจากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั่นเอง"" หนทางแห่งธรรมญาณที่แท้จริงจึงบริสุทธิ์สะอาดเพราะอยู่เหนือรูปลักษณ์ทั้งปวง จึงไม่อาจเอาความสะอาดในโลกนี้ไปเปรียบเทียบได้เลย  ด้วยเหตุนี้การทำสมาธิเพื่อให้เกิดความเงีบยสงบจึงไม่ก่อประโยชน์ เพราะโดยธาตุแท้ของธรรมญาณล้วนสงบและสะอาดอยู่แล้ว เมื่อมีสภาวะเช่นนี้จึงไม่ต้องไปหาหรือยกเลิกอะไรทั้งสิ้น  การนั่งสมาธิภาวนาก็เพื่อใฝ่หาความสงบและยกเลิกความวุ่นวายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในธรรมญาณของเราเอง เพราะเหตุนี้ร้อยแปดวิธีที่บรรดาฤาษีทั้งปวงค้นคิด จนสามารถเข้าฌาณสมาบัติได้ ถอดจิตได้ จึงไม่อาจหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายในวัฏสงสาร การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบและว่างเปล่่า จึงไม่อาจค้นหาวิธีการแห่งการหลุดพ้นไปได้เลย ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงละเลิกวิธีการเช่นนั้นเสียสิ้น  มีนิทานเซ็นที่เล่าเปรียบเทียบ ให้เห็นความเป็นจริงแห่ง ""ธรรมะ""ได้ดีเรื่องหนึ่ง  มีนักศึกษาเซ็นคนหนึ่งแสวงหาพระอาจารย์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงเพื่อศึกษาหาหนทางแห่งความหลุดพ้น ครั้นพบพระอาจรย์ผู้มีชื่อท่านหนึ่ง จึงฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ปรนนิบัติ เพื่อหวังจะได้รับคำสั่งสอนถ่ายทอดวิชาธรรมะอันลึกซึ้งจากพระอาจารย์ แต่อยู่ไปนานวันเข้าพระอาจารย์ก็มิได้สั่งสอนธรรมะแต่ประการใดเลย  ""พระอาจารย์ขอรับ กระผมอยากศึกษาธรรมะ""ลูกศิษย์อ้อนวอน ""เธอหิวข้าวหรือยัง""พระอาจารย์ถาม ""หิวขอรับ"" ""ถ้าเช่นนั้นก็จงไปกินข้าวเสีย"" ""กินอิ่มแล้วขอรับ"" ""จงไปล้างจาน และ ถ้าง่วงก็ไปนอนเสีย""พระอาจารย์ตอบแล้วก็นั่งนิ่งเสียไม่กล่าวว่ากระไรอีกต่อไป  ความจริงพระอาจารย์ได้สอนธรรมะอันลึกซึ้งให้แก่ศิษย์เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่หารู้ไม่ว่า  ธรรมะนั้นคือธรรมชาติ  มิได้มีอะไรผิดแผกไปจากชีวิตธรรมดาสามัญเลย แต่ผู้ที่ไม่รู้สภาพแแท้จริงของธรรมะ ย่อมคิดว่าต้องเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการค้นคิดหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ และหลายครั้งไปติดอยู่ที่พระพุทธประวัติที่ได้แสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานแห่งการค้นพบ สัจธรรม การที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ฯถึงทุกริยา ด้วยการทรมานพระวรกาย เพื่อแสวงหาหนทางแห่งการพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด สรุปแล้ววิธีการเช่นนี้มิใช่หนทางแห่งการค้นพบธรรมะอันแท้จริงเลย แต่กลับเป็นทางที่ผิด และพระพุทะองค์ทรงห้ามเอาไว้  ""ธรรมะอันแท้จริงอยู่ในธรรมญาณของตนเอง"" มรรคคือหนทางแห่งการค้นพบ หรือ เส้นทางเดินของธรรมญาณนั้นก้แสนจะบริสุทธิ์ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ จนกลายเป็นแสงสีวิจิตรพิสดารก็หาไม่  แต่็ผู้คนทุกวันนี้ ล้วนหลงทางปฏิบัติ ไปจับเอาตอนที่ปฏิบัติผิดของพระพุทธองค์ว่าเป็นหนทางอันถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงพยายามเข้มงวดและบังคับตัวเองทุกวิถีทาง ยิ่งทำอะไรได้ผิดแผกไปจากคนธรรมดาสามัญได้มากเท่าไหร่ยิ่งกลายเป็นผู้วิเศษ  เราจึงมีผู็วิเศษแปลกประหลาดมากมาย และ หลงกราบไหว้โดยเห็นว่าเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ แท้จริงแล้วผู้วิเศษผิดธรรมชาติเหล่านี้ กลับสร้างทุกข์ให้แก่ผู้หลงไปอีกมากมายจนประมาณมิได้  การควบคุมจิตของตนเองให้เดินอยู่ในหนทางที่มีสติตลอดเวลา และรู้หลักแห่งสัจธรรมแท้จริง ไม่ปฏิบัติผิดไปจาก สัจธรรมของธรรมชาติแล้วไซร์ น่าจะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติที่เกิด มรรคผลที่สุด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   กลับคืนสู่รากเหง้าเดิม

        กายเนื้อมีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่มีข้อสงสัย ต้นกำเนิดมาจากพ่อและแม่ เมื่อสิ้นสุดลงไปก็กลับสู่บ้านเก่า  ดินกลับไปสู่ดิน  น้ำกลับไปสู่น้ำ  ลมกลับไปสู่ลม  ไฟกลับไปสู่ไฟ  สรรพสิ่งล้วนกลับคืนไปสู่ต้นกำเนิดเดิมด้วยกันทั้งนั้น  แต่ความสับสนของปุถุชนอยู่ตรงที่ว่าไม่รู้ต้นกำเนิดแห่ง "ธรรมญาณ" ของตนเองเพราะฉะนั้นจึงหลงทางวนเวียนอยู่แต่ในทะเลทุกข์และหลง ร้ายกาจที่สุดล้วนคิดว่าไม่มี "ตัวจริง" เมื่อสิ้นสุดกายสังขารแล้วทุกอย่างก็ดับสูญไป  ความเชื่อเช่นนี้ พระพุทธองค์เคยวินิจฉัยว่าเป็น "ความเห็นผิด" ไม่ควรเชื่อถือ เพราะมิได้เป็นจริงเช่นนั้น แม้มีความเชื่อว่า "ตายแล้วเกิด" ก็ยังถือว่าเป็นความเห็นที่ผิดเช่นกัน เพราะ "ธรรมญาณ" ไม่มีวันเกิดจึงไม่มีวันดับ เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนี้ย่อมมีต้นกำเนิดอย่างแน่นอน ซึ่งเรียกกันว่า "ต้นธาตุุต้นธรรม"  พระพุทธองค์เคยตอบปัญหาพระสุภูติว่า ""เธอมิต้องสงสัย แม้ปริยัติธรรมจะลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจ แต่ภายหน้าในธรรมกาลยุคสุดท้าย คือหลังจากตถาคตเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว สองพันห้าร้อยปี ระหว่างนั้นจะมีผู้ถือศีลบำเพ็ญกุศลเกิดขึ้นมากมาย  เมื่อนั้นแหละที่สัทธรรมจะได้เจิดจรัส โปรดสัตว์ทั่วไปอีกครั้ง ผู้บำเพ็ญกุศลทั้งหลายจะบังเกิดศรัทธาอันแท้จริงทั่วกัน เมื่อได้สดับสัทธรรมแต่เธอพึงรู้เถิดว่าบุคคลเหล่านั้นที่บังเกิดศรัทธาอันแท้จริง มิใช่เหตุปัจจัยอันบังเอิญ แต่ด้วยกุศลมูลอันปลูกฝังมานานช้า ซึ่งมิใช่เพียงชาติเดียว สองชาติ หรือ สามสี่ห้าชาติ แต่ด้วยปลูกฝังกุศลมูลมากมายนับพันหมื่นชาติอันประมาณมิได้มาแล้ว  ดังนั้น เมื่อได้สดับสัทธรรม จึงไม่เกิดความลังเลสงสัย ไม่สับสน บำเพ็ญทานโดยไม่ยึดถือ และโปรดสัตว์ทั่วไป""พระพุทธวจนะ ตอนนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของกาลเวลาแห่งการบำเพ็ญ  และเรียนรู้ความเป็นไปแห่ง "ธรรมญาณ" ซึ่งในบรดาที่ได้รับสัทธรรมย่อมไม่สับสนในต้นกำเนิดของธรรมญาณ เหมือนอย่างที่พระพุทะองค์เคยตรัสไว้ว่า ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมนั้นไม่พึงเกิด วิจิกิจฉา คือลังเลสงสัยในธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่  """สัทธรรมของมนุษย์อยู่ที่ไหนล่ะ""ปุจฉา ""ธรรมญาณของตนนั่นแหล่ะ ธรรมะแท้ พ้นจากนี้ไปแล้วมิใช่ธรรมะ""วิสัชนา  เพราะเหตุนี้ผู้ที่ลังเลสงสัยในธรรมก็คือ ผู้ที่สับสนแห่งความเป็นมาและเป็นไปของตัวจริงคือ "ธรรมญาณ" นั่นเองพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงครั้นถึงเวลาที่จะคืนกลับจึงสั่งสานุศิษย์ เมื่อวันขึ้นแปดค่ำ  เดือนแปด  จัดเรือโดยด่วนเพื่อท่านจักกลับไปซินโจว เมืองเกิดของท่าน บรรดาสานุศิษย์ทั้งปวง ต่างวิงวอนขอให้ท่านอยู่ต่อไป พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า ""เป็นธรรมดาเหลือเกินที่ฉันจะต้องไป เพราะความตายเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเกิด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเสด็จมาในโลกนี้ ก็ต้องผ่านการตายทางโลกีย์ก่อนจะเสด็จเข้าสู่พระมหาปรินิพพาน เรื่องนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น สำหรับกายอันเป็นเนื้อหนังของฉัน ซึ่งจะต้องเหยียดยาวลง ณ ที่ใดที่หนึ่ง  ""เมื่อท่านได้เยือนซินโจวแล้ว จะเร็วหรือช้าก็ตาม ขอได้โปรดกลับมาที่นี่เถิด""สานุศิษย์พากันวิงวอน ""ใบไม้ที่หล่นจากต้นแล้วย่อมกลับคืนไปสู่ราก เมื่อฉันมาที่นี่ครั้งแรก ฉันก็ไม่ได้บอกใคร""พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบ   ความหมายนี้บอกชัดเจนว่า เมื่อทิ้งกายสังขารแล้ว "ธรรมญาณ" ย่อมคืนกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม เพราะพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเป็นผู้ที่รับรู้ต้นกำเนิดแห่ง "ธรรมญาณ" และท่านได้ปฏิบัติจนเป็นจริง จึงไม่มีความสงสัยอีกต่อไป  ที่ประชุมจึงถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า ""ใครที่ได้รับการถ่ายทอดขุมกำเนิดแห่งดวงตาเห็นธรรมแท้"" พระธรรมามาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า ""มนุษย์ในหลักธรรมย่อมได้รับ และบรรดาผู้ที่หลุดพ้นแล้วจากความคิดเห็นอันเฉียบขาดย่อมเข้าใจ""  ความหมายแห่งวจนะนี้เป็นการบอกกล่าวปริศนาธรรมถึงการถ่ายทอดผู้รับสืบต่อสายทองหรือพงศาธรรมที่จะรักษา "ประตูศักดิ์สิทธิ์" เอาไว้ในโลกนี้  ""หลังจากนั้นจะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้นแก่ท่านหรือไม่"" ""ห้าหรือหกปีหลังจากที่ฉันไปแล้ว จะมีคนผู้หนึ่งมาตัดศรีษะฉัน ฉันได้กำหนดคำทำนายไว้แล้วดังนี้ ""สิ่งสักการะและเลี้ยงดูบิดามารดา ได้เทิดทูนไว้เศียรเกล้า เมื่อมีเหตุวิบัติได้บังเกิดขึ้นแก่มุนี   หยางและหลิวจะได้เป็นขุนนาง"" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเสริมอีกว่า ""เมื่อฉันจากไปแล้วเจ็ดสิบปี  จะมีพระโพธิสัตว์สององค์มาจากทางทิศตะวันออก องค์หนึ่ง เป็นฆราวาส  อีกองค์หนึ่งเป็นพระภิกษุ มาสั่งสอนธรรมในเวลาเดียวกัน จะเผยแพร่พระธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง จะเสริมสร้างสำนักเราให้มีรากฐานมั่นคง  ปฏิสังขรวัดของเรา  และถ่ายทอดหลักธรรมให้แก่ผู้สืบทอดที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย""การพยากรณ์ในครั้งนี้ น่าจะมีความหมายชัดเจนแล้วในยุคปัจจุบันซึ่งการเผยแพร่สัทธรรมได้เข้าสู่ยุคแห่งการโปรดสัตว์ทั่วไปและในครั้งนี้ มีพระโพธิสัตว์จันทรปัญญา องค์หนึ่งซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของฆราวาส  และ พระพุทธจี้กง อันเป็นพระสงฆ์ผู้สำเร็จแต่ครั้งที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ และในการโปรดครั้งสุดท้ายนี้ล้วนแต่ทำให้ผู้ได้รับสัทธรรมสามารถกลับคืนสู่รากเหง้าเดิมได้ทั้งสิ้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28/07/2011, 11:39 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   พงศาธรรม

       การสืบสายทอดธรรมะเพื่อรักษาประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนกลับสู่ "บ้านเดิม" อันเข้าใจว่าเป็นแดนนิพพาน ผู้รักษาประตูศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า""พระวิสุทธิอาจารย์""ทำหน้าที่ชี้หนทาง ส่วนการบำเพ็ญหรือเดินทาง ต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่มีใครช่วยได้เลย การสืบทอดโองการสวรร์เพื่อให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงได้คืนกลับเป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งแบ่งออกเป็น สามยุค คือ  ยุคที่หนึ่งเรียกว่า ยุคเขียว  ผู้ถือโองการสวรรค์เป็นฮ่องเต้ เพราะฉะนั้นฮ่องเต้จึงเป็นโอรสสวรรค์  พระพุทะเจ้าครองธรรมกาล 1,500 ปี  คือ พระทีปังกรพุทธเจ้า พระวิสุทธิอาจารย์ผู้รับสืบทอด  พงศาธรรมมีอยู่ 18 พระองค์ เรียงลำดับได้ดังนี้  1. พระเจ้าฝูซี  2. ปรมาจารย์เสินหนง   3. เซวียนเอวี้ยนฮ่องเต้  4. เล่าเฮ่า  5. จวนซวี่  6. ตี้คู่ 7. ตี้เหยา  8. ตี้สุ้น  9. เซี่ยอวี่ 10. อีอิน  11. วังทัง  12. ไท่กงอ้วง  13. อ๋นอ๋วงโจวกง  14. เหลาจื้อ  15.ขงจื่อ  16. เอวี๋ยวจื่อ  17. จื่อซือ  18. เมิ่งจื่อ  เมื่อถึงท่านเมิ่งจื่อ ธรรมะที่แท้จริงไม่มีการถ่ายทอด ถือเป็นการเสร็จสิ้นการถ่ายทอดในประเทศจีน ในยุคเขียวตะวันออก  สานุศิษย์พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้เรียนถามว่า ""ท่านจะให้พวกข้าพเจ้าได้ทราบไหมว่า ธรรมนี้ได้ถ่ายทอดกันมากี่ชั่วคนแล้ว นับจากพระพุทธเจ้าพระองค์แรกเป็นต้นมา" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า "พระพุทะเจ้าเสด็จมายังโลกนี้ มีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน พระองค์ขอให้เรากล่าวนามพระองค์เพียง  7 พระองค์หลังเถิด กัลป์ที่แล้วเรียกว่า อาลัมกรกัลป์มี 4 พระองค์  พระพุทธเจ้าวิปัสสิน   พระพุทธเจ้าสิขิน  พระพุทธเจ้าเสสภู  พระพุทธเจ้ากกุสันธ  ส่วนกัลป์ปัจจุบันเรียกว่า ภัทรกัลป์ มี 3 พระองค์  พระพุทธเจ้าโกนาคมน  พระพุทธเจ้ากัสสป  พระพุทธเจ้าโคดม   จากพระพุทะเจ้าโคดม ได้ถ่ายทอดธรรมะมาสู่  องค์ที่ 1 พระมหากัสสปะเถระ  องค์ที่ 2 พระอานนท์เถระ  องค์ที่ 3 พระสันนวสเถระ  องค์ที่ 4 พระอุปคุปเถระ  องค์ที่ 5 พระธริตกเถระ  องค์ที่ 6 พระมิฉกเถระ  องค์ที่ 7 พระวสุมิตรเถระ  องค์ที่ 8 พระพุทธนันทิเถระ   องค์ที่ 9 พระพุทธมิตรเถระ   องค์ที่ 10  พระวาสวเถระ   องค์ที่ 11 พระปุนยยัสสเถระ  องค์ที่ 12 พระอัสวโฆศ มหาโพธิสัตว์   องค์ที่ 13 พระกปิมลเถระ   องค์ที่ 14 พระนคารชุน มหาโพธิสัตว์   องค์ที่ 15 พระคนเทวเถระ   องค์ที่ 16 พระราหุลตเถระ   องค์ที่ 17 พระสังฆนันทิเถระ   องค์ที่ 18 พระสังฆยัสสเถระ   องค์ที่ 19 พระกุมารตเถระ   องค์ที่ 20 พระฆยตเถระ   องค์ที่ 21 พระวสุพันธุเถระ   องค์ที่ 22 พระมนูรเถระ   องค์ที่ 23 อักเลนยสัสเถระ   องค์ที่ 24 พระสินหเถระ   องค์ที่ 25 พระวสิอสิตเถระ   องค์ที่ 26 พระปุนยมิตรเถระ  องค์ที่ 27 พระปรัชญาตาระเถระ   องค์ที่ 28 พระโพธิธรรม    องค์ที่ 29 พระเสินกวง   องค์ที่ 30 พระเซิงซั่น   องค์ที่ 31 พระเต้าซีน   องค์ที่ 32 พระหงเหยิ่นและฉันเป็นพระธรรมาจารย์องค์ที่ 33 จากการสืบต่อทางสานุศิษย์ ที่พระธรรมได้ถ่ายทอดจากพระธรรมาจารย์องค์ที่ 1 ไปยังอีกองค์หนึ่ง นับจากนี้ไป ท่านทั้งหลายควรถ่ายทอดต่อไปให้คนรุ่นหลัง จากอนุชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง  เพื่อเป็นการรักษาประเพณีเอาไว้"" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวถึงพงศาธรรม เอาไว้พอเป็นสังเขปเท่านั้น แต่ถ้าจะแบ่งยุคแห่งการถ่ายทอด ธรรมะ อันเป็น พงศาธรรมที่สืบต่อกันมาแล้ว หลังจากยุคสมัยพระพุทธองค์ปัจจุบันซึ่งครองธรรมกาล3,000 ปี ถือเป็นยุคที่ 2 เรียกว่า ยุคแดง   ธรรมะอยู่ที่ปราชญือริยะบุคคล จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่า เจ้าชายสิทธัตถะ จึงต้องสละฐานันดรแห่งกษัตริย์แสวงหาความหลุดพ้น   ธรรมะถ่ายทอดมาจนถึง พระโพธิธรรม ได้แลเห็นแสงสว่างแห่งธรรมปรากฏขึ้นที่เมืองจีน  จึงเดินทางไปประเทศจีนเมื่อสมัย เหลียงอู่ตี้ฮ่องเต้  ประมาณปีพุทธศักราช  1050  สมัยนี้จึงถือเป็นยุคแดง ตะวันออก มีพระธรรมาจารย์ถือโองการสวรรค์ 18 รุ่น  โดยพระโพธิธรรมเป็นองค์ที่ หนึ่ง ของจีน  ครั้นถ่ายทอดธรรมะมาถึงพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงองค์ที่ 6 แล้ว  ธรรมะถ่ายทอดลงสู่ครัวเรือน  ผู้ที่รับโองการสวรรค์ตามลำดับพงศาธรรม มีดังนี้  7. หม่าต๋วนเอี๋ยง ไป่อวี้ฉัน  8. หลออุ้ยฉวิน   9. หวงเต๋อฮุย   10. อู๋จื่อเสียง  11. เหอเหลียว   12.เอวี้ยนทุ่ยอัน   13 เอี๋ยงหวนซวี สวีหวนอู๋   14.เอี๋ยวหาวเทียน   15.อ๋วงเจี๋ยอี  16. หลิวชิงซวี  ยุคแดงสิ้นสุดลงที่พระธรรมาจารย์รุ่นที่ 16   จากนี้ไปเป็นการเริ่มต้นยุคขาว ซึ่งธรรมะถ่ายทอดลงสู่สามัญชน และเป็นการโปรดสัตว์ทั่วไปครั้งสุดท้าย พระพุทธเจ้าที่เสวยธรรมกาลคือ พระศรีอริยเมตตรัย ครองธรรมกาล 10,800 ปี  ผู้รับโอกงการสวรรค์สืบสายพงศาธรรมเป้นปฐมบรรพจารย์ในยุคนี้คือ  17.ลู่จงอี  และ 18.กงฉัง จือซี  คือพระพุทธจี้กง  และ  พระโพธิสัตว์จันทรปัญญา    พระพุทธเจ้าทั้ง 10 พระองค์ ที่ลงมาเก็บงานให้สมบูรณ์ก็คือ ชี้หนทางให้เวไนยสัตว์คืนกลับสู่นิพพานนั่นแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                    ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   พญามาร

        การบำเพ็ญปฏิบัติย่อมพบพานกับพญามารอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พญามารที่อยู่ภายในย่อมมีฤทธานุภาพมากกว่าพญามารที่อยู่นอกตัวเราเสียอีก  พระอริยเจ้ามีคำกล่าวเอาไว้ว่า "พุทธะสูงหนึ่คืบ  มารสูงหนึ่งศอก"  ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ บ่งบอกให้รู้ว่า การบำเพ็ญปฏิบัติต้องฝ่าฟันเอาชนะพญามารภายในตัวเราให้ได้ หากพ่ายแพ้ต่อพญามารเสียแล้วย่อมไม่อาจสำเร็จคืนสู่ "บ้านเดิม"ได้เลย  ก่อนที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจะละกายสังขาร ท่านได้กล่าวโศลก โดยให้ชื่อโศลกนั้นว่า "พุทธะอันแท้จริงของภาวะที่แท้แห่งจิต" มีความว่า "อนุชนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต ผู้เข้าใจในความหมายนี้ จะได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตและบรรลุความเป็นพุทธะตามนัยนี้้ ภาวะที่แท้แห่ง ธรรมญาณ หรือ ตถตา เป็นพุทธะอันแท้จริง ส่วนมิจฉาทิฏฐิ และธาตุอันเป็นพิษร้าย 3 ประการ เป็นพญามาร การบรรลุธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิ เรามุ่งไปสู่พุทธะในตัวเรา  เมื่อธรรมชาติของเราถูกครอบงำด้วยธาตุอันเป็นพิษร้าย 3 ประการ อันเป็นผลมาจากมิจฉาทิฏฐิ เราก็ได้ชื่อว่าอยู่ภายใต้อำนาจ พญามาร  เมื่อสัมมาทิฏฐิได้ขจัดธาตุอันเป็นพิษร้ายเหล่านี้ออกไปจากจิตของเรา พญามารก้กลายรางเป็น พุทธะอันแท้จริง" ความหมายแห่งโศลกนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า  พญามาร อยู่ภายในจิตของเรานี่เอง มิต้องไปค้นหาที่ไหนเลย ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร ก็ได้เอาชนะพญามารที่อยู่ภายในจิตใจอันเป็นพิษร้าย สามประการ ได้แก่ โลภ โกรธ หลง  ซึ่งเป็นหัวหน้าสำคัญของมารภายในจิตของเรา และสามารถแตกหน่อก่อลูกหลานมารรุมเร้าภายใน "ธรรมญาณ" ของเราได้มากมายโดยประมาณมิได้เช่นกัน  เมื่อพญามาร ครอบครอง "ธรรมญาณ"  อายตนะหก  อันได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมกลายเป็นบริวาร และปฏิบัติตามอำนาจของพญามารโดยแท้  เพราะเหตุนี้ จึงไม่ต้องเที่ยวแสวงหารูปลักษณ์แห่งพญามาร จากที่ไหนเลย ขอเพียงพญามารครอบครอง ธรรมญาณ ของเราได้รูปลักษณ์ที่แสดงออกทั้งปวงล้วนเป็น พญามาร  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า ""ธรรมกาย  สัมโภคกาย  และนิรมานกาย  กายทั้งสามนี้ย่อมกำเนิดมาจากสิ่งหนึ่งคือ "ภาวะที่แท้ แห่ง ธรรมญาณ" ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงความจริงข้อนี้ ได้ด้วยปัญญาญาณ ย่อมหว่านเมล็ดพืชและจะเก็บเกี่ยวผลถึงการตรัสรู้  จากนิรมานกายที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเรา ได้ถือกำเนิดภายในนิรมานกายนั้น และจะพบธรรมชาติอันบริสุทธิ์  และภายใต้การนำของธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั้นเอง นิรมานกายจะดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง ซึ่งวันหนึ่งจะได้บรรลุสัมโภคกายอันสมบูรณ์และไพศาล ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็ถือกำเนิดมาจากสันดานในทางกามคุณ เมื่อกำจัดความปรารถนาในทางกามคุณเสียได้ เราก็บรรลุธรรมกาย อันบริสุทธิ์  เมื่ออารมณ์ของเราไม่เป็นทาษของวัตถุแห่งกามทั้งห้าอีกต่อไป และเมื่อเราได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่ง "ธรรมญาณ" แม้เพียงขณะเดียว เมื่อนั้นเราก้แจ้งในสัจจะ" ความปรารถนาทางกามคุณดูเหมือนจะเป็น พญามารตัวร้ายที่ยากขจัดได้เด็ดขาดนัก เพราะโดยธรรมชาติของการสังขารย่อมปรารถนา  การขจัดกามคุณ จึงมิได้อยู่ที่ ปากพูดอย่างเดียว  แต่จิตต้องมั่นและตัดขาด ความสงบนิ่งจึงปรากฏ ในครั้งพุทธกาล บรรดาฤาษีทั้งปวง ล้วนถูกกามคุณตัดรอนการบำเพ็ญเสียนักต่อนักแล้ว  ธรรมชาติ หรือสันดานของคน ย่อมปรารถนาในการสืบเผ่าพันธุ์ เพราะเหตุนี้การตัดกามราคะ จึงเป็นเรื่องยากยิ่งนัก เพราะ กามราคะ ตกอยู่ในองค์ประกอบ 5 ประการ พร้อมมูลคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  ฤาษีตบะแก่กล้าจึง ตบะแตกมาเสียมากแล้ว  การตัดกามราคะออกไปเสียจาก "ธรรมญาณ" ได้ย่อมพบเห็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ เพราะ ภายในธรรมญาณนั้นหากามราคะมิได้เลย อันหมายถึงความเป็นพระพุทธะ นั่นเอง  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งเห็นภ้ยของกามคุณเพราะฉะนั้นจึงบัญญัติข้อปฏิบัติเพื่อสะกัดกั้น ตัณหาราคะเอาไว้อย่างดี แต่สาวกในภายหลังมิได้เอาใจใส่่ปฏิบัติ พระอานนท์ทูลถามพระพุทธองค์ว่า จักปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร ""อย่าพบสตรีดีที่สุด"" "" ถ้าจำเป็นต้องพบ ควรปฏิบัติอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า"" พระอานนท์ทูลถาม  ""จงพูดให้น้อย พูดแต่ที่จำเป็น"" อิตถีภัยนั้นร้ายแรงนักและยากที่จะผ่านพ้นไปได้  จึงมีคำโบราณของจีนกล่าวเอาไว้เป็นอนุสสติบอกว่า  ""ขุนพลผู้กล้าหาญ สามารถรบชนะผ่านกำแพงเมืองมานับไม่ถ้วน แต่ไม่อาจผ่านพ้นกำแพงแห่งหญิงสาวไปได้เลย"""พญามาร  ปากแดงนัยตาหวาน เสียงไพเราะ จึงมีอานุภาพ ยิ่งนักแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง  ภาคสมบูรณ์  :   ปัจฉิมกาล

        พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงโศลกสุดท้าย เพื่อฝากบอกเป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นหลังว่า ""เมื่อเราโชคดีที่ได่มาเป็นสานุศิษย์ของสำนักฉับพลันในชาตินี้เราย่อมได้พบพระภควาของภาวะที่แท้จริงแห่ง "ธรรมญาณ" ได้ในทันที ใครที่ค้นหาพุทธะ ด้วยการปฏิบัติตามลัทธิอื่น ย่อมไม่ทราบว่าจะพบพุทธะที่แท้จริงได้ที่ไหน ใครที่ตระหนัดชัดถึงสัจจะ ภายในจิตเขาเองย่อมเป็นผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งพุทธะ ใครที่ไม่ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งธรรมญาณ และค้นหาพุทธะจากภายนอกย่อมเป็นคนโง่ ที่มีความปรารถนาผิดเป็นเครื่องกระตุ้น   โดยนัยนี้ฉันได้มอบคำสอนของสำนักฉับพลัน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือมวลสัตว์ ที่สนใจจะปฏิบัติธรรม โปรดฟังฉัน บรดาสานุศิษย์ในอนาคต เวลาของท่านจะสิ้นไปเปลีอยเปล่า ถ้าท่านเพิกเฉยไม่นำคำนี้ไปปฏิบัติ" ความหมายแห่งพระวจนะนี้ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า การค้นหาพระพุทธะภายใน เป็นสิ่งพึงกระทำ หากไม่พบธรรมญาณ การค้นหาพุทธะย่อมไร้ประโยชน์ เพราะ "ธรรมญาณ" นั้นคือ สัจธรรมอันจริงแท้ เมื่อกล่าวโศลกจบแล้วพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวต่อไปว่า ""จงรักษาตัวให้ดี เมื่อฉันเข้าปรินิพพานแล้ว จงอย่าเอาอย่างธรรมเนียมโลก อย่าร้องไห้หรือโศกเศร้า ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสียใจ หรือ คร่ำครวญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับคำสอนที่แท้ ใครที่ทำเช่นนั้น ย่อมไม่ใช่ศิษย์ของฉัน  สิ่งที่ควรทำก็คือ จงรู้จักธรมญาณของท่านเอง และตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งไม่สงบนิ่งและไม่เคลื่อนไหว  เป็นสิ่งที่ไม่เกิดและไม่ดับ  เป็นสิ่งที่ไม่มาและไม่ไป เป็นสิ่งที่ไม่รับและไม่ปฏิเสธ เป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่และไม่จากไป มิฉะนั้น แล้วธรรมญาณของท่านจะถูกครอบงำด้วยความหลงผิด ทำให้ไม่อาจเข้าใจความหมายได้  ฉันทบทวนเรื่องนี้กับท่าน เพื่อให้ท่านสามารถตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งธรรมญาณ  เมื่อฉันจากไปแล้ว ถ้าท่านทำตามคำสอนของฉันและนำไปปฏิบัติ การที่ฉันจากท่านไป ก็ไม่เป็นข้อประหลาดอย่างใด ตรงกันข้าม ถ้าท่านฝ่าฝืนคำสั่งของฉัน แม้ฉันจะอยู่ต่อไปก็ไม่เกิดคุณประโยชน์อันใด"  ความหมายอันชดเจนเกี่ยวกับธรรมญาณ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ชี้ให้เห็นภาวะแท้แห่งธรรมญาณซึ่งเป็น อนัตตา  ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเช่นใดสถานภาพอย่างไรก็ไม่แปรเปลี่ยน ยังคงสภาวะเช่นนั้นตลอดกาล เพราะการปราศจากรูปลักษณ์นั่นเองจึงสามารถคงอยู่ในทุกรูปลักษณ์ ซึ่งเหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างขึ้นไว้และอาศัยได้ทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น ธรมญาณจึงอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวได้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวปัจฉิมโศลกว่า ""ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี ด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นตัวของตัวเอง ท่านไม่ต้องกระทำบาป ด้วยความสงบและสงัด ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง ธรรมญาณของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด"" เมื่อจบโศลกแล้วพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงก็สงบนิ่งจนถึงยามสามของคืนนั้น ทันใดท่านก้กล่าวแก่สานุศิษย์สั้น ๆ ว่า""ฉันจะไปเดี๋ยวนี้""  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเข้าปรินิพพานไปในขณะนั้น กลิ่นหอมอันประหลาดคลุ้งไปทั่วห้อง รุ้งจากแสงจันทร์ผุดขึ้นประดุจเชื่อมฟ้ากับดิน พรรณไม่ในป่ากลายเป็นสีขาว  นกและสัตว์จตุบาทส่งเสียงร้องระงม  ความหมายแห่งพระวจนะสุดท้ายได้ให้คำกำจัดความของบุคคลชั้นเลิศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฟ้าดินแล้ว มีความดีเป็นธรรมดาสามัญแล้ว จึงไม่ต้องกระทำความดี  เพราะการกระทำทั้งปวงของบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นเยื่องเดียวกับฟ้าดิน  ครั้นถึงเดือนสิบเอ็ดในปีเดียวกัน ก็มีปัญหาถกเถียงว่า จะเก็บพระสรีรร่างของพระธรรมาจารย์ไว้ที่ไหน  ข้าราชการแห่งเมืองกว่างตง เซ่าโจว และซินโจว ต่างต้องการเก็บไว้ในเมืองของตน ทั้งภิกษุและฆราวาส ต่างโต้แย้งกันเมื่อตกลงกันไม่ได้  จึงพร้อมใจกันจุดเครื่องหอมและอธิษฐาน ขอให้พระธรรมาจารย์บอกทิศทางโดยถือเอาการลอยควันเป็นเกณฑ์ ควันก็ลอยไปทางเฉาซี ฉะนั้น ในวันขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด จึงได้อัญเชิญพระสรีรร่างพร้อมด้วยบาตรและจีวรของท่านไปยังเฉาซี  ในปีรุ่งขึ้นวันแรมสิบค่ำ เดือนเจ็ด  ได้อันเชิญพระศพของท่านออกจากสถูป ท่านฟังเปี้ยน สานุศิษย์องค์หนึ่งได้หุ้มร่างของท่านด้วยดินหอม เมื่อระลึกถึงคำทำนายของพระธรรมาจารย์ บรรดาสานุศิษย์จึงพร้อมใจกันเอาแผ่นเหล็กมาหุ้มคอของท่านไว้ และพันร่างด้วยผ้าอาบน้ำยา ก่อนอันเชิญเข้าไว้ในสถูปตามเดิม ทันใดนั้น เกิดเป็นแสงสว่างสีขาวพวยพุ่งขึ้นจากสถูปสู่ท้องฟ้า เป็นเวลาสามวันจึงหายไป  บรรดาข้าราชการแห่งเมืองเซ่าโจว จึงได้กราบทูลรายงานต่อพระมหาจักพรรดิ์ ซึ่งมีพระบรมราชโองการให้สร้างแผ่นจารึกบันทึกชีวะประวัติของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้รับมอบบาตรและจีวรเมื่ออายุ 24 ได้อุปสมบทเมื่ออายุ 39 และเข้าปรินิพพานเมื่ออายุ 76 ท่านได้เทศนาธรรมเพื่อประโยชน์แก่มวลสัตว์เป็นเวลา 37 ปีสานุศิษย์ของท่าน 43 องค์ได้รับมอบธรรมและเป็นผู้สืบต่อจากท่านด้วยกรรมวาจา ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งในธรรม จนละฆราวาสวิสัยนั้นมีมากมายสุดประมาณ  จีวรและบาตร อันเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นพระธรรมาจารย์ ซึ่งพระโพธิธรรม ท่านได้มอบตกทอดมาตลอดจนจีวรโมราและบาตรผลึก ซึ่งพระมหาจักรพรรดิ์จงจงได้ส่งมาถวาย ภาพสลักของพระธรมาจารย์โดยท่านพังเปี้ยนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ นั้นอยู่ในความพิทักษ์รักษาของผู้เฝ้าสถูป  เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ในวัดเป่าหลินชั่วกาลนาน เพื่อเป้นสวัสดิมงคลแก่วัด  พระสูตรที่ท่านได้เทศนา ก็นำมาพิมพ์และแจกจ่ายทั่วกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงหลักการจุดประสงค์ของสำนักธรรมงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้จัดทำไปก็เพื่อความรุ่งเรืองสถาพรของพระรัตนตรัยและเพื่อนความเป็นสวัสดิมงคลทั่วไปแก่มวลสัตว์

                                                                   จบบริบูรณ์

อานิสงฆ์จากการเผยแผ่หนังสือธรรมะ

1. กรรมเวรจากอดีตชาติจะได้ลบล้าง
2. หนี้เวรจะได้คลี่คลาย พ้นภัยจากทะเลทุกข์
3. โรคภัยไข้เจ็บจากเจ้ากรรมนายเวรจะพ้นไป
4. วิญญาณทุกข์ของบรรพบุรุษจะพ้นจากถูกทรมานไปสู่สุคติ
5. วิญญาณของเด็กแท้งจะได้ไปเกิดใหม่
6. สามีภรรยาที่แตกแยกจะคืนดีต่อกัน
7. บุตรจะเฉลียวฉลาดเจริญรุ่งเรือง
8. พ่อแม่จะมีอายุยืน
9 . ลูกหลานเกเรจะเปลี่ยนแปลงเป็นคนดี
10. กิจการงานจะราบรื่น  สมความปรารถนา
11. เป็นบารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข

บุคคลใดที่ร่วมพิมพ์หนังสือธรรมะ แจกจ่ายเป็นวิทยาทาน จำนวนมาก ระยะยาว หรือ บรรยายถ่ายทอดธรรมวิทยา จะพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และ เภทภัยเหตุร้ายทั้งปวง

Tags: