collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกษาสูตรของเว่ยหล่าง ภาคสมบูรณ์ : คำนำ  (อ่าน 44004 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       นักปฏิบัติธรรมมักเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าต้องนุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิ ถือศีล ฟังธรรม ปรนนิบัติพระอาจารย์ พ้นไปจากการกระทำเช่นนี้มิใช่ผู้ปฏิบัติธรรมใครที่มีความคิดที่กระทำเช่นนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติแต่เพียงเปลือกนอก เท่านั้น การปฏิบัติที่แท้จริงต้องปฏิบัติที่ "จิต" แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นอีกด้วยคิดว่าการทำให้จิตนิ่งสงบเป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าจิตนิ่งอยู่ในความชั่วก็ไร้ประโยชน์เพราะมิได้ถอนรากถอนโคลนแห่งความชั่วทิ้งไป จึงมิใช่การปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวเอาไว้ว่า "การปฏิบัติธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ "  ถ้าโจรทำตามหน้าที่ของโจรได้ชื่อปฏิบัติธรรมหรือไม่" ปุจฉา "แน่นอนย่อมเป็นการปฏิบัติธรรม แต่เป็นอธรรม "วิสัชนา
      เมื่อครั้งที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกลับไปยังวัดเป่าหลิน พระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า ฝาไห่ ซึ่งเป็นชาวบ้านฉวี่กงปห่งเมืองเช่าโจว ได้ถามถึงความหมายของคำว่า "ใจคือสิ่งใด พุทธะคือสิ่งนั้น" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า "การไม่ปล่อยให้ความคิดที่ผ่านไปแล้วกลับเกิดขึ้นมาใหม่นี่คือ ใจ  การที่ไม่ปล่อยให้ความคิดที่กำลังจะเกิด ถูกทำลายลงไปเสีย นี่คือ พุทธะ  การแสดงออกซึ่งปรากฏการณ์ทุกชนิดนี่คือ ใจ การเป็นอิสระจากรูปธรรมทั้งปวงนี่คือ พุทธะ
      คำตอบของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงมีความหมายชัดเจนที่สามารถอธิบายได้ด้วยการเปรียบเทียบกับกระจก สิ่งที่ผ่านกระจกเงาไปแล้วย่อมเลยไป เพราะฉะนั้น ใจ จึงเป็นความสงบนิ่ง แต่ถ้าบันทึกทุกอย่างเอาไว้ โดยไม่ยอมให้ผ่านไปเหมือนเครื่องถ่ายเอกสาร สภาวะเช่นนั้นจึงเป็นเสมือน จิต ที่สั่งสมเอาไว้ทั้ง ดี แล ชั่ว ความรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบต่อ ใจ โดยไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งนั้นทิ้งไป เพียงแต่ไม่ผูกพันจึงเรียกว่า พุทธะ ซึ่งมีความหมายถึง ผู้รู้ เท่าทันต่อทุกอย่างที่เข้ามาพัวพันกับ ธรรมญาณ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า อาการแห่งการรู้ทันจึงเป็น สติ
     พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้าจะอธิบายแก่ท่านให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ เรื่องที่นำมาพูดก็จะไม่จบสิ้นลงไปได้แม้จะใช้เวลาอธิบายสักกัปป์หนึ่ง ดังนั้น จงฟังโฉลกของข้าพเจ้าดีกว่า "" ปํญญา คือ สิ่งที่ใจเป็น"" ""สมาธิ คือ สิ่งที่พุทธะเป็น"" ในการบำเพ็ญ ปัญญา และสมาธิ ต้องให้แต่ละอย่างลงจังหวะต่อกันและกัน แล้วความคิดของเราก็จะบริสุทธิ์ คำสอนนี้จะเข้าใจได้ก็แต่โดยการ "ประพฤติดูจนช่ำชอง" ที่ว่าสมาธิตั้งมั่นนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่สมาธิอะไรเลย คำสอนที่ถูกต้องนั่นคือ ให้บำเพ็ญปัญญาคู่กันไปกับสมาธิโดยไม่แยกกัน"
    ความหมายแห่งโฉลกนี้ได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริงของธรรมญาณที่แสดงบทบาทตามถาวะแวดล้อมที่เข้าไปกระทบด้วยการรับรู้ทุกอย่าง แต่ไม่มีอาการเคลื่อนไหวเพราะแยกแยะออกได้ตามหลักสัจธรรมที่ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าเป็น รูป หรือ นาม ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความดี และ ความชั่ว และมีสติตัดความผูกพันร้อยรัดได้จึงจัดว่าเป็นพุทธะได้ การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง คือ การทำหน้าที่ของพุทธะรู้เท่าทันทุกอย่างและไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่การงานทุกชนิดจึงเป็นเสมือนหนึ่งการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงเพราะ พุทธจิตรู้เท่าทันไม่พาตนเองตกไปสู่อบายภูมิ การปฏิบัติธรรมคือ การกระทำทุกขั้นตอนตามหน้าที่ที่แท้จริงของธรรมญาณ ที่ปราศจากกิเลสทั้งปวงนั่นเอง ถ้ามัวแต่นั่งหลับตาจะเห็นกิเลสที่ตรงไหน เมื่อภิกษุฝาไห่ได้ฟังจึงเกิดความสว่างไสวดวงตามองเห็นธรรมจึงได้กล่าวสรรเสริญพระธรรมาจารย์ว่า "ใจคือสิ่งใด พุทธะคือสิ่งนั้น นี่เป็นความจริงเสียจริงๆ แต่ข้าพเจ้ามัวไปปราบพยศของอตัวเองทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจมัน บัดนี้ข้าพเจ้ารู้เหตุอันเป็นประธานของปัญญาและสมาธิ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญเพื่อเปลื้องตัวเสียจากรูปธรรมทั้งหลาย
     ผู้ปฏิบัติอันมากจึงเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ที่ไปกำหราบ จิต ด้วยการบังคับให้ จิต นิ่ง ซึ่ง ธรรมญาณ มิได้ทำการงานอันใดอันก่อให้เกิด บุญกุศลที่แท้จริง ผู้ที่พยายามปราบจิตของตนเองจึงเป็นเพียงผู่ที่ "ตาบอดคลำช้าง" เพราะเขายังไม่รู้จักช้าง และที่น่าสังเวชใจก็คือเอาความเข้าใจผิดโฆษณาชักชวนให้คนทั้งหลายมาเข้าใจและปฏิบัติตาม นับเป็นบาปกรรมที่ประมาณมิได้ แท้ที่จริงภาวะอันแท้จริงของธรรมญาณ นิ่งสงบปราศจากความเคลื่อนไหวอันเป็นภาวะแห่งสูญตา เพราะฉะนั้นการกำหนดให้มันว่างอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่เกิดมรรคผลใด ๆ แก่การลงมาทำหน้าที่ของตนในโลกนี้ ด้วยเหตุนี้ ฤาษี ทั้งปวง เราจึงมิได้เรียกว่าเป็นพุทธะเพราะมิได้ทำหน้าที่ของพุทธะ แต่ทำหน้าที่เพียงกำหราบจิตของตนเท่านั้นเองมิได้มรรคผลแต่ประการใด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ในโลกนี้มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่คิดว่าตนเองเป็นคนฉลาดสามารถเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นจนมองเห็นคนอื่นเป็นคนโง่เง่ากว่าตนเอง คนฉลาดเช่นนี้จึงจองหนทางไปสู้นรกให้แก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่ศึกษาธรรมะและมีความเชี่ยวชาญในการสาธยายพระสูตรต่างๆอย่างคล่องแคล่วจนหลงยึดว่าตนเองเป็นผู้ฉลาดล้ำ แลเห็นผู้ที่ไม่รู้จักหนังสือเป็นผู้ต่ำต้อย คนเช่นนี้มักยึดถือว่าตนเองสูงส่งกว่าชนทั้งหลาย จึงเป็นการสร้างอัตตาตัวตนจนปิดบังปัญญา และกลายเป็นคนหลงความโง่อันแท้จริง
       ภิกษุชาวเมืองหงโจว นามว่า ฝ่าต๋า บวชเณรมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบมีนิสัยชอบสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตรอยู่เป็นนิจ เมื่อมาแสดงความเคารพต่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงมิได้กราบให้ศรีษะจรดพื้น เพราะทำความเคารพอย่างขอไปทีเช่นนี้เอง พระธรรมาจารย์จึงตำหนิว่า "ถ้าท่านรังเกียจในการที่จะก้มศรีษะให้จรดพื้นแล้ว การไม่ทำความเคารพเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ ต้องมีอะไรในใจท่านสักอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกทะนงเช่นนี้ ขอถามว่า ท่านทำอะไรเป็นประจำวัน "กระผมสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตร กระผมท่องทั้ง ๆ สูตร สามพันครั้งมาแล้ว" ภอกษุฝ่าต๋า ตอบ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเตือนว่า "ถ้าท่านจับใจความของพระสูตรนี้ได้ ท่านก็จะไม่มีการถือตัวเช่นนี้เลย แม้ท่านจะถึงกับเคยท่องสูตรนี้มาถึงสามพันครั้งแล้ว ถ้าท่านจับความหมายของพระสูตรนี้ได้จริง ๆ  ท่านก็จะต้องได้เดินอยู่ในทาง ๆ เดียวกับข้าพเจ้า สิ่งที่ท่านเรียนสำเร็จได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนหยิ่งไปเสียแล้วและยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนท่านจะไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไปว่าการที่เป็นเช่นนี้เป็นคนผิด" คนที่สวดมนต์คล่องมักหลงยึดว่า ตนเองเก่งเหนือกว่าคนทั้งหลายและหลายครั้งคิดว่ามนต์นั้นทรงคุณวิทยาคมจนผิดเพี้ยนกลายเป็นไสยาศาสตร์ พาให้ตนเองหลับไหลและชวนให้คนทั้งหลายหลับหูหลับตาเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธองค์เป็นมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ "อย่าโลถเลยลูกเอ๋ย ยิ่งโลภจักยิ่งทุกข์" พระพุทธองค์ทรงสอนเช่นนี้
      โอมเพี้ยง ขอให้รวย ขอให้รวย" คนไม่รู้จักความหมายของมนต์จึงก้มหน้าก้มตาหลับตาท่องอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อรวยอย่างเดียว และหลายรายก็มีความเชื่อว่าหากท่องยอดพระกัณฑ์ปิฏกหลายร้อยจบ จักเกิดวิทยาคุณ ทำให้ค้าขายคล่องป้องกันภูติผีปีศาจบังเกิดเมตตามหานิยม ที่สุดแห่งการท่องมนต์นี้คือการเข้าสู่ปรินิพพานโน้นแน่ะ ความหลงเช่นนี้ยากนักที่จะไถ่ถอนออกไปได้ด้วยปัญญาของผู้อื่นยกเว้นตนเอง จักเกิดปัญญาญาณมีสติพิจารณาเห็ฯสัจธรรมด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจักประทานโฉลกแก่ภิกษุฝ่าต๋าว่า "เมื่อความมุ่งหมายของระเบียบวินัยต่าง ๆ เป็นไปเพื่อปราบปรามความทะลึ่งแล้ว ทำไมท่านไม่กราบศรีษะให้จรดพื้น "การยึดถือในตัวตน เป็นทางมาแห่งบาป แต่การถือว่าได้บรรลุธรรมหรือผลใด ๆ ก็ตามเป็นเพียงของลมๆ แล้ง ๆ "นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง" ความหมายแห่งโฉลกของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเพียงเพื่อกำหราบจิตของภิกษุรูปนี้ที่ทนงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นเพราะท่องมนต์มากกว่า ผู้ที่ยึดถืออัตตาตัวตนเห็นว่าสำคัญย่อมพ้นไปจากหนทางแห่งพระพุทธะ เพราะเบื้องหน้าแห่งพระพุทธะทุกคนคือ พระพุทธะเสมอกัน เพราะแต่เดิมมาต่างมีธรรมญาณเหมือนกัน การยึดถือตัวตนย่อมต้องหาทางรักษาเอาไว้ให้ยั่งยืน แต่หลักความเป็นจริงทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็น "รูปธรรม" หรือ "นามธรรม" ล้วนตกอยู่ในกฏแห่งความไม่เที่ยงแท้แน่นอนย่อมเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงก่อให้เกิดบาปทุกข์นานาแก่ตนเองไม่สิ้นสุด
       เมื่อคิดว่ามีตัวตนเสียแล้วย่อมทำทุกอย่างเพื่อเสริมสร้างให้อัตตานั้นยิ่งใหญ่ไปตามกิเลสแห่งจิต ครั้งพุทธกาล ภิกษุผู้นี้นามว่า ฉันนะ เคยเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์และได้ตามเสด็จมาส่งเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช เมื่อตนเองมาบวชอยู่กับพระพุทธองค์ก็ยังคงยึดถืออัตตาว่า เคยเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดมาก่อน จึงมีความยโสโอหังก้าวร้าวต่อสงฆ์ทั้งปวงด้วยทุวาจา แม้พระพุทธองค์ตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง จนพระพุทธองค์ต้องมีพระพทุธบัญชาให้สงฆ์ทั้งปวงใช้วิธีพรหมทัณฑ์เลิกคบค้า ภายหลังที่พระพุทะเจ้าเสด็จเข้าปรินีพพาน พระฉันนะถึงแก่สลบสามครั้งสามครา และยอมละพยศ กลายเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนในช่วงสุดท้ายของชีวิต ส่วนการไม่ยึดถือผลสำเร็จของการบรรลุธรรมแลเห็นเป็นของไม่เที่ยงแท้หรือมีตัวตนเสียแล้วย่อมเป็นหนทางแห่งกุศลอันใหญ่หลวงเพราะแท้ที่จริงธรรมญาณแต่เดิมมาก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือได้ เพราะฉะนั้น ใครที่คิดตนเองว่าสำเร็จ อรหันต์ซึ่งส่วนฬหญ่เป็นอรหันต์ตั้งเอง กับ ศิษย์ตั้ง และคนกลุ่มนี้จึงกลายเป็น "คนโง่ที่แท้จริง เพราะคิดว่าตนเองฉลาดล้ำ"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเดินทางไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเซ็น ท่านก็ต้อนรับขับสู้ตามธรรมเนียมอันดีงามด้วยการชงน้ำชาเลี้ยงรับแขกผู้ทรงคุณความรู้ แต่มันน่าประหลาดนัก หลวงพ่อรินนำ้ชาใส่ลงไปในถ้วยของศาสตราจารย์โดยไม่ยอมหยุดยั้ง "ล้นถ้วยแล้วครับหลวงพ่อ" ท่านศาสตราจารย์เตือน หลวงพ่อหูไม่หนวกตาไม่บอดแต่ไม่หยุดรินน้ำชาจนไหลนอลเปรอะพื้นกุฏิ ศาสตราจารย์ทนไม่ไหวต้องรีบเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า "เลอะหมดแล้วครับหลวงพ่อ" หลวงพ่อได้แต่ยิ้มไม่ยอมหยุดรินน้ำชา ท่านศาสตราจารย์ได้แต่มองดูจนตื่นตะลึงแล้วในที่สุดก็ได้คิด ก้มกราบลาหลวงพ่อกลับมหาวิทยาลัย การสนทนาธรรมก็จบลงตรงนี้เอง ปริศนาธรรมที่หลวงพ่อแสดงต่อศาสตราจารย์นั้นมีความหมายว่า ผู้ที่หลงว่าตนเองมีวิชาความรู้มากเปรียบได้เช่นน้ำชาล้นถ้วย วิชาความรู้เหล่านั้นได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นและตัวเองมามากนัก ประการสำคัญตนเองจักไม่ยอมรับความรู้จากผู้อื่นได้เลย แต่ถ้ายอมโง่เหมือนชาพร่องถ้วย ก็รับความรู้จากผู้อื่นได้ คนมีปัญญาจึงรู้ว่าตนเองโง่  เมื่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงรู้ว่า พระภิกษุรูปนี้มานามว่า ฝ่าต๋า ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เข้าใจในธรรม ท่านจึงกล่าวว่า "ท่านชื่อฝ่าต๋าก็จริง แต่ท่านก็ยังไม่เข้าใจในธรรมเลย" พระธรรมาจารย์ สรุปความด้วยโฉลกต่อไปอีกว่า "ชื่อของท่านว่า ฝ่าต๋า ท่านสาธยายพระสูตรอย่างพากเพียรไม่ท้อถอย การท่องพระสูตรด้วยปาก เป็นแต่การออกเสียงล้วนๆ สัตว์ผู้ที่มีใจสว่างไสวเพราะจับใจความได้นั่นคือโพธิสัตว์แท้ เพราะเป็นเรื่องของปัจจยาการ อันอาจสืบสานไปภพก่อน ๆ  ข้าพเจ้าจะอธิบายความข้อนี้แก่ท่าน ถ้าท่านเพียงแต่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว เมื่อนั้น ดอกบัวจะบานขึ้นในปากของท่านเอง ความหมายของโฉลกนี้ อธิบายได้ว่า ชื่อมิได้แสดงความจริงของสรรพสิ่งแต่เพราะมนุษย์ติดอยู่กับชื่อหรือนามบัญญัติเพราะฉะนั้นจึงไม่อาจหยั่งถึง สัจธรรมอันแท้จริง ผู้ท่องพระสูตรจึงหลงไหลแต่ทำนองเสนาะและความขลังของพระสูตรแต่ประการเดียว แต่เขาเหล่านั้นไม่อาจเข้าถึงความมหัศจรรย์อันแท้จริงของพระสูตรนั้น ๆ  เพราะเขาติดอยู่ที่อักษรและทำนองเท่านั้น และส่วนใหญ่กลับไปติดอยู่ที่พระนามของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นต้นบัญญัิติของพระสูตรนั้น ๆ
       ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสูตรจึงเป็นเรื่องไม่อาจนำมาประพฤติปฏิบัติได้ เพราะผู้สาธยายไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริง ศาสนิกชนในทุกศาสนาจึงเต็มไปด้วยผู้ท่องบ่นมนต์ตราด้วยความศรัทธาอันโง่งมและมิได้ปฏิบัติตามพระวจนะของศาสดาเลย ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่พ้นไปจากอาการติดยึดของอักษรและเสียง เข้าใจความหมายของพระสูตรอันแท้จริง เขาผู้นั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาอันแท้จริง ผู้ที่ไม่ติดยึดในพระสูตรและพระพุทธองค์โดยยอมรับว่าทุกคนมีธรรมญาณ เช่นเดียวกัน มีอดีตเป็นพระพุทธะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีพระพุทธองค์ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตนเองก็พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปัญญาความรู้อันชอบของตัวเอง
       การเวียนว่ายตายเกิดในโลกโลกีย์แต่ละธรรมญาณ ได้สั่งสมบุญและบาป จนนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ถ้าสะสมบาปกรรมเอาไว้มากมาย แม้ไม่พบพระพุทธะก็ต้องรู้แจ้งด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น มีพระพุทธองค์หรือไม่มี จึงมิได้มีความหมายแห่งการช่วยเหลือใครเลยสักคนเดียว ในสมัยพระพุทธกาล พระเทวทัต ซึ่งบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาบำเพ็ญปฏิบัติจนสำเร็จโลกียฤทธิ์ แต่ในที่สุด เพราะบาปอกุศลที่สั่งสมจองเวรเอาไว้กับพระพุทธองค์ จึงทำให้หลงผิดวางแผนปลงพระชนม์ชีพพระพุทธเจ้า เพียงเพื่อจักให้ตนเองดำรงตำแหน่งพระศาสดา ความผิดเช่นนี้สืบเนื่องมาจากบาปเวรในอดีตชาติส่งผลให้เกิดความคิดเป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นจึงได้ฟังพระสูตรจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ก็ไม่อาจดับกิเลสของตนเองได้
      ส่วนพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์ถึงพันกว่าปี และอ่านพระสูตรของพระอริยเจ้าพระองค์ไหนก็ไม่ได้ เพียงเข้าใจความหมายแห่งวัชรสูตรเพียงประโยคเดียวเท่านั้น ปัญญาความตรัสรู้ของตนเองก็สว่างโพลง เพราะฉะนั้นจะพบพระพุทธเจ้าหรือไม่จึงไม่มีความสำคัญต่อการรู้แจ้งของตนเองเลย เพราะฉะนั้นปัญญาความรู้แจ้งมีอยู่พร้อมแล้วในตัวเอง "ดอกบัว คือ อะไร" ปุจฉา  หมายถึง "ปัญญาอันแท้จริงของตนเอง" วิสัชนา
      ผู้ที่เห็นแจ้งในธรรมญาณของตนเอง วาจาที่กล่าวออกมาจึงเป็นเช่นเดียวกับพระวจนะของพระศาสดา 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ครั้งหนึ่งได้พบนายแพทย์ท่านหนึ่งจึงเรียนถามว่า "หมอคิดว่ามีนรกสวรรค์หรือไม่" "ผมคิดว่าไม่มีครับ" "หมอนับถือพระพุทธองค์หรือไม่ "อ๋อ แน่นอนผมนับถือพระพุทธเจ้า"  "พระพุทธเจ้ามีหน้าที่อย่างไรเล่า"  "ทรงสอนให้เป็นคนดี"  "ถ้าพระพุทธเจ้ามีภารกิจเพียงเท่านี้คงไม่ต้องอุบัติมาสู่โลกนี้ เพราะการสอนให้คนเป็นคนดี มีปราชญ์ เมธี มากมายล้วนสอนคนให้เป็นคนดี ทั้งนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธเจ้า"  "ถ้าเช่นนั้นพระพุทธเจ้าลงมาทำหน้าที่อะไร"  "พระพุทธเจ้ามีหน้าที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่สำคัญที่สุด คือการชี้ให้คนพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งก็ต้องมีเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายไปสู่สามโลก คือ นรก มนุษย์ และเทวโลก ถ้าไม่มีนรกเสียแล้ว พระพุทธองค์ย่อมไม่จำเป็นต้องอุบัติขึ้นมาในโลกนี้"
       พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้อ่อนน้อมต่อเวไนยสัตว์ เพราะปรารถนาฉุดช่วยให้เวไนยเหล่านั้นพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่บรรดาศากยบุตรในชั้นหลัง ๆ ติดยึดอยู่กับอัตตาตัวตน จึงปราศจากการอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเองมีความรู้มากเท่าไหร่ความอหังการก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อย่างพระภิกษุฝ่าต๋า ท่องบ่น สัทธรรมปุณฑริกสูตรก็เกิดอาการไร้มารยาทต่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง เมื่อได้ฟังโฉลกของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแล้ว จึงรู้สึกสลดใจและขออภัยต่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงและกล่าวต่อไปว่า "กระผมจะเป็นคนอ่่อนน้อมถ่อมตนและสุภาพในทุกโอกาส เนื่องจากกระผมไม่มีความเข้าใจในความหมายของพระสูตรที่ท่องนั้นอย่างถูกต้อง กระผมจึงฉงนต่อการตีความหมายอันแท้จริงของพระสูตรนั้น ใต้เท้ามีความรู้และปัญญาอันลึกซึ้งที่สุด ขอได้โปรดอธิบายสรุปแก่กระผมเถิด"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงตอบว่า "ฝ่าต๋าเอ๋ย พระธรรมเป็นของกระจ่างอย่างเต็มที่อยู่เสมอ ใจของท่านต่างหากซึ่งไม่กระจ่าง พระสูตรนั้นไม่มีข้อความที่น่าฉงนเลย แต่ใจของท่านต่างหากที่ทำให้พระสูตรนั้นเป็นของชวนฉงนไป ในการสาธยายพระสูตร ท่านทราบถึงความมุ่งหมายอันสำคัญของพระสูตรนั้นหรือเปล่า" "ถ้าเช่นนั้นท่านจึงสาธยายพระสูตรออกมาเถิด ฉันอ่านเองไม่ได้แล้วฉันจะอธิบายความหมายใ้ท่านฟัง" พระภิกษุฝ่าต๋าได้สาธยายพระสูตรนั้น ครั้นมาถึงบทที่ชื่อว่านิยายเป็นเครื่องอุปมา พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้บอกให้หยุดแล้วกล่าวว่า " ความหมายของพระสูตรฯ นี้ก็คือเพื่อแสดงให้ปรากฏถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาบังเกิดในโลกนี้นั้นเอง"
      มนุษย์ไม่ว่าจักทำบุญมากมายของไหนก็มิอาจ ปัดสวะ หรือ ทำคนผิด ให้เป็น คนถูก และทำคนถูกให้กลายเป็นคนผิดไปได้เลย แต่ทำให้เป็นคนหลงตัวเองหรือกลายเป็นเครื่องปิดบังความเข้าในอันถูกต้องไปเสียสิ้น เพราะฉะนั้นพระสูตรทั้งปวงมีความกระจ่างแจ้งอยู่แล้ว แต่เพราะใจของคนเหล่านั้นถูกปิดบังด้วยบุญ ด้วยอกุศลกรรมบางประการเพราะฉะนั้นจึงไม่เข้าใจพระสูตรนั้น ๆ  เปรียบเสมือนหนึ่งกระจกอันสกปรก ย่อมส่องไม่เห็นสิ่งใดกระจ่างชัด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง อธิบายถึงความมุ่งหมายแห่งการเสด็จมาของพระพุทธองค์ว่า " แม้ว่านิยายและภาพความหมายจะมีมาก ในข้อความแห่งพระสูตรนั้น ก็ไม่มีเรื่องใด หรือ ภาพใดที่มุ่งแสดงอะไรอื่น นอกจากจุดประสงค์อันสำคัญนี้ ทีนี้อะไรเล่าคือวัตถุประสงค์ อะไรเล่าคือความมุ่งหมายที่กล่าวมานั้น ข้อความในพระสูตรกล่าวว่า "เพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว เพื่อความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว อันเป็นสวัตถุประสงค์อันสูงสุด เป็นความมุ่งหมายที่สูงสุดที่กล่าวถึงในพระสูตรนั้นคือ "การเห็นซึ่งพุทธธรรม"
      การเห็นพุทธธรรมอันแท้จริงย่อมยังให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในอบายภูมิต่าง ๆ  หากไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จมาบังเกิดในโลกนี้ การชี้ให้เห็นถึงพุทธานุภาพแห่งพุทธธรรมจักไม่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นหน้าที่อันสำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าในทุกกาลสมัย จึงทำหน้าที่เพื่อให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงมีหนทางแห่งการหลุดพ้นไปจากทะเลทุกข์  พระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่แสวงหาและค้นพบอนุตตรธรรม ซึ่งหมายถึงว่าเวไนยสัตว์ย่อมมีโอกาสเยื่ยงเดียวกับพระพุทธองค์นั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ความเชื่อสองชนิดที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ ความผิดคือ 1.เชื่อว่า ตายแล้วสูญ  2.เชื่อว่า ตายแล้วเกิด"แล้วความเชื่ออย่างไหนที่ตรงต่อสัจธรรมเล่า"  "ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยย่อมต้องเกิดอีก เมื่อหมดเหตุปัจจัยแล้วย่อมไม่ต้องเกิด" ความหมายแห่งพระพุทธวจนะนี้เพ่งเล็งตรงที่เหตุเป็นสำคัญ ถ้าตัดต้นเหตุเสียได้ย่อมพ้นทุกข์ แต่ความเชื่อทั้งสองอย่างนั้นที่เป็นผิดเพราะไม่เพ่งเล็งเอาที่ผล เพราะฉะนั้นย่อมตัดทุกข์มิได้ แต่เพราะการศึกษาปฏิบัติมิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ ความเชื่อเช่นนี้จึงได้ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบันสมัย บัดนี้ยังมีผู้เชื่อกันว่าหากบำเพ็ญธรรมจนบรรลุเข้าสู่ปรินิพพานแล้วหมายถึงการดับสูญหมดสิ้น ไม่มี้หลือแม้ธรรมญาณของตนเอง "ความว่างที่เรีัยกว่า สูญญตา นั้นคืออะไรกันแน่" "ก็ว่างจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวง" "และอะไรล่ะว่าง"" "ธรรมญาณแท้ซึ่งเป็นตัวจริงนั่นแหล่ะ ว่างจากเหตุปัจจัยทั้งมวล เพราะฉะนั้นสูญญตา จึงมิได้หมายความว่าปราศจากทุกอย่าง อย่างน้อยก็มีธรรมญาณ เป็นตัวตนอันแท้จริงเหลืออยู่ ซึ่งไม่อาจเอาบัญญัติทั้งปวงในโลกนี้มาอธิบาย ธรรมญาณได้เลย"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึง คนธรรมดาสามัญทั่วไปว่า "ปุถุชนทำตัวให้ติดพันอยู่กับวัตถุภายนอก ส่วนภายในก็จมอยู่ในความเห็นผิด เรื่อง ความว่างเปล่า เมื่อใดเขาปลดเปลื้องตนเองออกมาเสียจากความผูกพันอยู่กับวัตถุต่าง ๆ ที่เขาได้ประสบและเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากความเห็นผิดเรื่องความขาดสูญ อันเกี่ยวกับคำสอนเรื่องสูญญตา เมื่อนั้นเขาจะเป็นคนอิสระจากอวิชชาความหลงผิดภายใน และจากสิ่งอันเป็นมายาภายนอก บุคคลที่เข้าใจอันแจ่มแจ้งในความจริงอันนี้และใจของเขาสว่างไสวออกไปทันที นี่แหละควรเรียกว่าผู้ได้เปิดตาของเขาแล้วเพื่อการเห็นแจ้งซึ่งพุทธธรรม
      คนธรรมดาสามัญยังติดอยูกับรูปลักษณ์ทั้งปวงเพราะฉะนั้นจึงยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ยั้งยืนหรือมีตัวตนอยู่ตลอดกาล เพราะฉะนั้นพอหันเข้าหาภายในย่อมเห็นเป็นตรงกันข้ามคือ ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย บุคคลเหล่านี้จึงมีความเชื่อสุดโต่งสองอย่างคือ ตายแล้วสูญ กับ ตายแล้วเกิด  เพราะฉะนั้นชีวิตจริงของคนเหล่านี้จึงเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่ทราบเหตุปัจจัยแห่งการเกิดและไม่เกิด ปุถุชนจึงเห็นมายาเป็นของจริง และเห็นของจริงเป็นมายา  ความรู้ที่ผิด จึงกลายเป็นควมไม่รู้ และก่อให้เกิดการยึดถือกันอย่างผิด ๆ  การกระทำของคนเหล่านี้จึงกลายเป็นการส่งเสริมตนเองเข้าสู่วังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด คนที่เชื่อว่า ตายแล้วสูญย่อมเสพสุขเบียดเบียนผู้อื่น กลายเป็นผู้เห็นแก่ตัว คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดย่อมละโมบโลภมากสร้างสมบุญเอาไว้เสวยสุขในชาติหน้า
      เพราะฉะนั้นคนทั้งสองประเภทนี้ จึงไม่มีอิสระอย่างแท้จริงเพราะถูกความเห็นผิดครอบงำและตกไปสู่วิถีแห่งการเวียนว่าย ธรรมญาณ จึงถูกร้อยรัดด้วยวิบากกรรมของตนเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึง "พุทธธรรม" ว่า คำว่า พุทธะ มีความหมายเท่ากับคำว่า ตรัสรู้ ซึ่งควรถูกกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ 4 หัวข้อดังนี้...
เปิดตาขึ้น เพื่อการเห็นแจ้ง ""ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้""
แสดงความเห็นแจ้งใน      ""ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู็"" นั้นให้ปรากฏ
ตื่นขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งใน  ""ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู็""
เป็นผู้ตั้งมั่นใน               ""ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู็""
       ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้แสดงให้รู้ว่า ภาวะแห่งการตรัสรู้ นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ดังนั้นจึงมิอาจประกาศป่าวร้องบอกใครได้เลยเพราะเหตุนี้การตรัสรู้จึงไม่ใช่เรื่องที่เกจิอาจารย์ผู้มรฤทธิ์ที่ไหนจักมาสั่งสอนได้ถ้าหากผู้นั้นปราศจากรากฐานแห่งการบำเพ็ญ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอธิบายต่อไปว่า  เมื่อได้รับการสั่งสอนแล้ว ถ้าเราสามารถจับฉวยและเข้าใจโดยทั่วถึงในคำสอนอันว่าด้วย ""ธรรมอันเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้"" เมื่อนั้นแหละ คุณสมบัติอันประจำอยู่ภายใน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติอันแท้จริงอันได้แก่ ""ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู็""นั้นก็มีโอกาสแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ
       ท่านไม่ควรตีความหมายในตัวพระสูตรอย่างผิด ๆ แล้วลงมติเสียในที่สุดว่า พุทธธรรมนั้นเป็นสิ่งมีไว้สำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะไม่เป็นของทั่วไปสำหรับเราทั้งหลายด้วย โดยที่เผอิญไปพบข้อความในพระสูตรที่กล่าวไว้ว่า "เปิดตาขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งในพุทธธรรม" แสดงความเห็นแจ้งให้ปรากฏ ฯลฯ ดังนี้  การตีความหมายผิดเช่นนี้ จึงถึงกับเป็นการป้ายร้ายให้แก่พระพุทธเจ้า และเป็นการแช่งด่าพระสูตรนั่นเองทุก ๆ คำที่ตนพูด เพราะเขาก็เป็นพุทธะด้วยองค์หนึ่ง เขาจึงมีโพธิธรรมอันนี้มาด้วยพร้อมแล้ว แต่ไม่มีโอกาสสำหรับเขาเองที่จะเปิดตาดูสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นท่านควรรับเอาการตีความหมายที่ว่า พุทธธรรม นั้นคือ พุทธธรรมของใจเราเอง หาใช่ของพระพุทธเจ้าอื่นใดที่ไหนไม่""
      ใครพบธรรมญาณของตนเอง จึงประจักษณ์แจ้งว่า สูญญตามิใช่สิ่งที่ขาดสูญเสีย แต่การบำเพ็ญเพื่อตรัสรู้นั้น จึงจักทำให้ธรรมญาณเป็นอิสระพ้นไปจากวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

          มีคำกล่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองดูสิ่งต่าง ๆ ของคนในโลกนี้ว่า นกไม่เห็นฟ้า  ปลาไม่เห็นน้ำ  คนไม่เห็นโลก  ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นสัจธรรมว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดกายอยู่ในโลกนี้ต่างไม่รู้ถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง เพราะฉะนั้น จักษุของสัตว์จึงบอกต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมองไม่เห็นสภาพอันแท้จริงของมัน จึงหลงใหลและติดยึดกับสิ่งเหล่านั้นต่างพากันแย่งชิงครอบครองในสิ่งที่ไม่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจนัก
         บรรดากิเลสทั้งปวงที่ปถุชนสั่งสมเอาไว้ จึงกลายเป็นผงปิดบังดวงตาของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง ดวงตาคือแว่นของโลกีย์ทำให้มองเห็นของปลอมเป็นของจริงและพากันดิ้นรนอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อคนไม่เห็นโลก ดังนั้น จึงไม่รู้จักทุกข์ ซ้ำร้ายเห็นทุกข์เป็นสุข ดังนั้น จึงแก้ไขทุกข์มิได้เลย  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวแก่ พระภิกษุฝ่าต๋าต่อไป "เมื่อถูกทำให้หลงรักโดยอารมณ์อันยั่วยวนและปิดกั้นตัวเองเสียจากแสงสว่างของตัวเอง ด้วยเหตุอันนี้ สัตว์ทั้งปวงจึงระทมทุกข์อยู่เพราะอารมณ์ภายนอก และความเร่าร้อนภายใน จึงได้ตกเป็นเหมือนทาสแห่งตัณหาของตนเองโดยหมดสิ้น เมื่อทรงเห็นเหตุการณ์อันนี้พระพุทธองค์ของเราจึงได้ทรงลุกออกจากสมาธิ เพื่อเร้าใจสัตว์เหล่านั้นด้วยพระโอวาทอันเป็นเครื่องกระตุ้นมีประการต่าง ๆ ให้ย่ำยีตัณหาของตนเอง และเว้นขาดเสียจากการแสวงหาความสุขจากอารมณ์ภายนอกเพื่อว่าเขาจะได้เป็นผู้เสมอกันกับพระพุทะเจ้า เพราะเหตุอันนี้เอง ข้อความในตัวสูตรจึงมีว่า "เปิดตาขึ้นเพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรม ฯลฯ"
      ข้อความตอนนี้ได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริง แห่งการแก้ไขทุกข์ของเวไนยสัตว์ทั้งปวงย่อมต้องอาศัยแสงสว่างแห่งปัญญาของตนเอง พระพุทธองค์ทรงเป็นเสมือนหนึ่งผู้ชี้แนะหรือให้กำลังใจเท่านั้นเอง พระพุทธองค์ทรงมีปัญญาอันสุงส่งและสามารถอรรถาะิบายความทุกข์ทั้งปวงได้ละเอียดอ่อนไพเราะ หากแต่ปวงสัตว์ถ้าปราศจากปัญญาของตนเองแล้วไซร์ย่อมไม่อาจรับรสแห่งโอวาทนั้นได้เลย เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้ายังมีผู้คนที่ได้สดับพระธรรมแล้วมิอาจพรตนเองให้พ้นไปจากห้วงแห่งการเวียนว่ายยังคงจ่มลงสู่ห้วงอเวจีนรกเพราะปัญญาของตนเองถูกบดบังด้วยบาปของเวรกรรมแลอารมณ์ทั้งปวง พระเทวทัตน่าจะเป็นประจักษ์พยานความข้อนี้ได้อยู่ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่าข้าพเจ้าได้ตักเตือนคนทั่วไปอยู่เสมอให้เปิดตาของตนเองเพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรมในภายในใจของตน แต่ด้วยอำนาจความผิดปรกติของเหล่านั้น เขาพากันทำบาปภายใต้อวิชชาความโง่เขลา ปากของเขาว่ากรุณาแต่ใจของเขาโหดร้าย เขาเป็นคนตะกละ มุ่งร้าย ริษยา คดโกง สอพอ เข้าข้างตัว รุกรานคนอื่น เป็นผู้ทำลายกระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ดังนั้นจึงชื่อว่าเขาเปิดตาของเขาขึ้นเพื่อ "ปุถุชนธรรม" ถ้าเขากลับใจของเขาเสียในลักษณะที่ปัญญาปรากฏตัวอยู่ตลอดกาล ใจก็จะมีความเห็นแจ้งในภายในอยู่เป้นปรกติ การทำชั่วก็จะมีการทำดีมาแทนที่ แล้วเขาก็จะลากตัวเองเข้ามาในทางแห่งพุทธรรมได้ด้วยเหตุนั้นความประพฤติหลายประการของปุถุชนมันขัดแย้งกันเองแต่เขาหารู้ตัวไม่และเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงต่อสัจธรรม มีผู้ที่คิดว่าตนเองใจบุญกำลังยกไก่ย่างขึ้นจบแล้วกล่าวว่า "สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายจงพ้นไปจากเวรภัยทั้งปวง พ้นไปจากทุกข์โศกโรคภัย อย่าจองเวรจองภัยซึ่งกันและกันเลย สาธุ" ผู้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้คิดว่าตนเองกำลังสร้างบุญกุศลอย่างใหญ่หลวงแต่เขาหารู้ไม่ว่า วิญญาณของสัตว์เหล่านั้นกำลังโกรธและอาฆาตแค้นเขาอย่างแสนสาหัส เพราะเขากำลังกล่าววาจาอันเป็นเท็จและเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด สัตว์เหล่านั้นมันร้องว่า "แน่ละซี ข้าสุกบนเตาของเจ้าเมื่อเช้านี้แล้วยังไงและใครกันเล่าควรจะเป็นผู้กล่าววาจาว่า อย่าเบียดเบียนอย่าเป็นเวรเป็นภัยซึ่งกันและกันเลย" เพราะฉะนั้นปุถุชนจึงเดินไปสู่หนทางหลงอันแท้จริง แม้มีผู้พยายามชักจูงเข้าสู่หนทางอันถูกต้องปุถุชนเหล่านี้กลับกล่าวหาว่าเป้นผู้หลงเพราะดวงตาของเขาเหล่านั้นเปิดขึ้น เพื่อติดอยู่ในโลกเสมือนหนึ่งปลาที่แวกว่ายอยู่ในสายธารย่อมไม่รู้จักน้ำรอบตัว
       ในกรณีของปุถุชน "ความรู้ท่วมหัวจึงเอาตัวไม่รอด" ด้วยประการฉะนี้ เพราะความรู้จักอยู่ในสัญญาขันธ์ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันย่อมแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้า "ความรู้ " แก้ทุกข์ได้ผู้ที่ร่ำเรียนมีความรู้มากมายย่อมปราศจากทุกข์ แต่ตามความเป็นจริง "ยิ่งรู้มากก็ยิ่งทุกข์มาก" เพราะผู้ที่มีความรู้ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมหรือทางโลกก็ยังคงเป็นไปตามสภาพของ "จักษุแห่งปุถุชน" นั่นแล
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจผิดต่อการท่องบ่นพระสูตรต่าง ๆ ด้วยความหลงว่าเป็น มนตราอันศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้ "สวดยอดกระกัณฑ์ไตรปิฏก 108 จบเมื่อไหร่ก็ไปนิพพานได้" "ถ้าเช่นนั้นนกแก้วก็คงมีโอกาสไปนิพพานเช่นกันนะ"
      ความจริงพระสูตรต่าง ๆ นั้นเป็นคำสอนของพระศาสดาหรือพระอริยเจ้าทั้งปวงผุ้ที่เคยสดับคำสอนเหล่านี้มีความซาบซึ้งจึงบันทึกเอาไว้ แต่พอพุทธศาสนาแผ่เข้าไปในประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันชนชาวพื้นเมืองต่างไม่รู้จักภาษานั้น จึงได้แต่ท่องบ่นและเห็นเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสูตรมิได้อยู่ที่อักษรหรือสำเนียงการท่องบ่นแต่ประการใด ความหมายของพระสูตรนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า แต่เพราะอ่านไม่เข้าใจและไม่รู้ความหมายการท่องจำจึงผิดเพี้ยนกลายมาเป็นการสวดเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ และส่งเสริมกิเลสความโลภเข้าครอบงำไปโดยไม่รู้ตัว
     พระธรรมาจารย์ฮู่ยเหนิงกล่าวแก่พระภิกษุฝ่าต๋าว่า "ท่านควรจะเปิดตาของท่านอยู่ทุกขณะ มิใช่เพื่อปุถุชนธรรมแต่เพื่อพุทธธรรมซึ่งเป็นสิ่งอยู่เหนือวิสัยโลก ในเมื่อปุถุชนธรรมเป็นของอย่างโลก ๆ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากท่านติดแน่นอยู่แต่ในความคิดของตัวเองว่าเพียงแต่สาธยายพระสูตรประจำวันอย่างเดียวก็เป็นการดีเพียงพอแล้ว ดังนี้ท่านจะหลงรักมันเหมือนจามรีหลงรักพวงหางของมันเอง" คนที่ติดยึดอยู่แต่การท่องบ่นมนตราตามพระสูตรจึงไม่พ้นเวียนว่ายในวัฏสงสาร จิตจึงวนอยู่แต่ในความโลภ โกรธ หลง และมือทึบต่อหนทางแห่งปัญญา คนหลงเหล่านี้จึงไม่รู้ว่าตนเองมีกิเลสร้อยแปดบิดบังธรรมญาณของตนเองไว้  พระภิกษุฝ่าต๋าจึงถามว่า " ถ้าเป้นดังนั้น เราเพียงแต่รู้ความหมายของพระสูตรก็พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องสาธยายข้อความนั้น ๆ ถูกไหมขอรับ" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า  "ไม่มีอะไรเป็นของผิดอยู่ในพระสูตรจนถึงกับท่านจะเลิกท่องเสียเลย การสาธยายพระสูตรจะช่วยให้ท่านตรัสรู้ธรรมหรือไม่ จะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านหรือไม่ ข้อนั้นทั้งหมดมันเนื่องอยู่ที่ตัวท่านเอง" ความหมายแห่งการสาธยายพระสูตร จึงอยู่ที่คนท่องมากกว่าอยู่ที่พระสูตร เพราะเนื้อหาใจความแห่งพระสูตรล้วนแล้วแต่เป็นหนทางแห่งปัญญาพาให้พ้นทุกข์ทั้งสิ้น แต่เพราะผู้สาธยายมืดบอดทางปัญญาจึงมองไม่เห็นอัญมณีในพระสูตรนั้น ๆ  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ผู้ที่ท่องพระสูตรอยู่ที่ปากและเอาข้อความไปปฏิบัติอยู่เสมอด้วยใจ คนนั้นชื่อว่า"พลิก"พระสูตร ส่วนผู้ที่ท่องพระสูตรแต่ปาก ปราศจากการปฏิบัติแต่อย่างใดผู้นั้นชื่อว่า "ถูกพลิกเสียแล้ว" โดยพระสูตรที่เขาท่องนั่นเอง "เมื่อใจของเราตกอยู่ภายใต้อวิชชา สัทธรรมปุณฑริกสูตร "พลิกเรา" เมื่อมีใจสว่างไสวในธรรม เมื่อนั้นเรากลับ"พลิก" สัทธรรมปุณฑริกสูตร การสาธยายสูตรนับครั้งไม่ถ้วนโดยไม่ทราบความหมายย่อมแสดงว่า ท่านเป็นแขกแปลกหน้าต่อใจความของพระสูตร วิธีที่ถูกต้องสำหรับการสาธยายพระสูตรก็คือ อย่ายึดถือตามความเห็นของตัว มิฉะนั้นแล้วมันจะต้องพลาด ผู้ที่อยู่เหนือ "การรับ" และ "การปฏิเสธ" ย่อมนั่งอยู่เนืองนิจบนเกวียนม้าขาว" ความหมายของเกวียนม้าขาวคือ พุทธยานอันเป็นการเหนือวิสัยแห่งโลกโลกีย์ เพราะผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโลกย่อมมีการตอบโต้ยอมรับในสิ่งที่ปรารถนา แต่ปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ปรารถนา คุณภาพของโลกีย์มี ดี และ ชั่ว  คุณภาพจิตใจอย่างโลกีย์ จึงมี บาป และ บุญ  แต่พุทธจิตย่อมอยู่เหนือ ดี ชั่ว เพราะฉะนั้นดวงตาแห่งพุทธธรรมจึงมองได้รอบด้าน ความเข้าใจในพระสูตรจึงถูกต้องตรงต่อสัจธรรมที่พระศาสดาตรัสเอาไว้  ผู้ที่ติดอยู่ใน ความดี หรือ ความชั่ว ย่อมมองเห็นเพียงด้านเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นสภาพแห่งความเป็นจริงอันแท้ของสิ่งเหล่านั้น   หลวงพ่อองค์หนึ่งบอกกับชายยากจนคนหนึ่งว่า "ถ้าเธออยากร่ำรวยก็จงท่องคาถาบทนี้ให้ขึ้นใจ ถ้าท่องได้วันละหนึ่งร้อยเที่ยวเธอก็มีโอกาสเป็นเศรษฐีอย่างน้อย ๆ ก็ร้อยล้าน"  "แล้วคาถานั้นว่าอย่างไรครับหลวงพ่อ" "จำไว้นะ ถ้าจำไม่ได้ก็จดเอาไว้ วิริเย ทุกขมัจเจติ" ชายผู้นั้นแสนดีใจนัก กลับไปถึงบ้านไหว้พระทุกเช้าและท่องคาถานี้มิได้ขาด แต่ท่องไปเป็นหมื่นครั้งแล้วความรวยก็ไม่เคยย่างกรายเข้ามาหาสักที เขาก็ได้แต่โทษตัวเองว่าท่องสำเนีบงไม่ถูกต้อง ศรัทธาของตัวเองก็ยังไม่กล้าแข็ง เพราะฉะนั้นท่องคาถานี้ไปตลอดชีวิตชายผู้นี้ย่อมยากจนไปตลอดชีวิตด้วยไม่เข้าใจความหมายแห่งคาถาและไม่อาจนำไปปฏิบัติได้เลย  ความโลภได้ปิดบังดวงตาปัญญาโดยสิ้นเชิง เขามองเห็นแต่คนอื่นที่รวยและเชื่อว่าคนเหล่านั้นประสบผลสำเร็จเพราะคาถาอันศักดิ์สิทธิ์นี้เอง แม้เขารู้ถึงความหมายของคาถาว่า "คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" แต่เพราะจิตใจยังข้องแวะอยู่กับโลกีย์ จึงมองเห็นความทุกข์มิใช่การเวียนว่าย แต่เป็นเพราะปราศจากทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ จึงแสวงหาทุกข์ใส่ตัวชาติแล้วชาติเล่าไม่สิ้นสุด เขาจึงเป็นผู้ถูกอิทธิพลของคาถาลากจูงไปในความโง่นั่นแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        แต่ละศาสนาในโลกนี้ภายหลังสิ้นพระศาสดาของตนไปแล้วบรรดาสาวกต่างคนต่างตีความหมายคำสอนของศ่สดาแตกต่างกันจึงแบ่งแยกออกเป็นนิกายมากมายจนสุดประมาณและเข่นฆ่าล้างผลาญกันจนไม่น่าเชื่อว่านับถือศาสดาองค์เดียวกันเหตุไฉนจึงทะเลาะกันไม่เลิก "ทำไมถึงเป็นอย่างนี้"  "เพราะศาสนามีรูปลักษณ์ย่อมตั้งอยู่ในกฏของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสื่อมสิ้นสลายไปเพราะ "มี" เป็นเหตุ"  "มีศาสนาใดบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง" "มีเพียงศาสนาเดียวในโลกนี้ที่ไม่มีนิกาย จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งแยก ได้แก่ ศาสนาปราชญ์ของท่านขงจื๊อ เพราะมีแต่บำเพ็ญคุณธรรมปราศจากรูปลักษณ์"
      ศาสนิกทั้งปวงไม่ทราบถึงความแตกต่างระหว่าง "ธรรมะ" กับ "ศาสนา" จึงมีความคิดอันผิดแผกว่า ศาสนาคือธรรมะ หรือ ธรรมะคือศาสนา  ความจริงตัวศาสนามิใช่สัจธรรม แต่เพราะพระศาสดาตรัสรู้ สัจธรรมและนำเอามาเผยแผ่จนกลายเป็นพระคัมภีร์ให้คนเคารพนับถือเชื่อฟังเท่านั้น
      สัจธรรมไร้รูปลักษณ์แต่คงทนไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นบรรดาศาสนาโบราณที่ล้มหายตายจากไปมีอยู่มากมาย แต่สัจธรรมที่ศานานั้น ๆ นำมาเผยแผ่ยังคงเป็นสัจธรรมมิได้สูญหายไปจากไหน แต่พระคัมภีร์ได้กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของศาสนิก เพราะฉะนั้นบางคนบูชาคัมภีร์เฉกเช่นพระศาสดาไม่ยอมให้ใครเตะต้อง แต่บางคนมีสติปัญญาล้นเหลือตีความหมายของอารมณ์ตนเองจนกลายเป็นคัมภีร์ใหม่และเผยแผ่หาผู้มายึดถือจนกลายเป็นนิกายใหม่ ๆ เมื่อภิกษุฝ่าต๋าได้ฟังคำอธิบายจากพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแจ่มแจ้งว่าแท้ที่จริงมิได้อยู่ที่คัมภีร์แต่อยู่ที่ตนเองหากยังมืดมัวต่อธรรมญาณแล้วย่อมถูก พระสูตร พลิก ไปตลอดน้ำตาแห่งความปลื้มปรีติ จึงหลั่งออกมาแล้วกล่าวว่า "เป็นความจริงที่ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าไม่สามารถ "พลิก" พระสูตร มีแต่พระสูตรเท่านั้นที่ พลิก ข้าพเจ้า พระภิกษุฝ่าต๋าจึงกราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงต่อไปว่า "พระสูตรได้กล่าวว่านับแต่พระสาวกขึ้นไปจนถึงพระโพธิสัตว์แม้ท่านเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดกำลัง ก้ไม่สามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงในพุทธธรรม"ดังนั้น แต่ใต้เท้าได้ทำให้กระผมเข้าใจว่า แม้คนธรรมดาเราถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมญาณของตน เขาก็ได้ชื่อว่าลุถึงพุทธธรรมแล้ว ดังนี้กระผมเกรงไปว่ายกเว้นพวกที่เฉียบแหลมอย่างยิ่งเสียแล้ว คนนอกนั้นจะสงสัยไม่เชื่อคำสองของใต้เท้า ยิ่งกว่านั้น ในสูตรมีกล่าวถึงยาน 3 ชนิด คือเกวียนเทียมด้วยแพะ (สาวกยาน) เกวียนเทียมด้วยกวาง (ปัจเจกพุทธยาน) และเกวียนเทียมด้วยวัว(โพธิสัตว์ยาน) แล้วก็ยานทั้งสามนี้ผิดแผกแปลกแตกต่างไปจากเกวียนวัวขาวอย่างไรเล่า" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า"ในข้อนี้พระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนแล้ว ท่านเองต่างหากที่เข้าใขผิด เหตุผลที่ว่าทำไมพระสาวก พระปัจเจกพุทธะและพระโพธิสัตว์ไม่สามารถเข้าใจในพุทธธรรมได้ก้เพราะท่านเหล่านั้นเพ่งจ้องต่อพุทธธรรมท่านเหล่านั้นสามารถประมวลกำลังความเพียรทั้งหมดเพื่อเพ่งก็จริง แต่เขายิ่งเพ่งหนักเท่าไร เขาก็ยิ่งห่างออกไปจากธรรมนั้นมากขึ้นเพียงนั้น ความหมายแ่ห่งคำตอบนี้หากนำเอาเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระอานนท์พุทธอุปฐากที่พยายามเร่งบำเพ็ญเพื่อให้พบธรรมญาณ อันเป็นทางแห่งการตรัสรู้เพื่อให้ทันต่อการเข้าประชุมสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกอันประกอบไปด้วยพระอรหันต์ทั้งสิ้น พระอานนท์ยิ่งเร่งก็ยิ่งห่างไกลต่อความสำเร็จจนกระทั่งปล่อยวางเอนตัวลงนอน ในภาวะบัดนั้นก็พบธรรมญาณแห่งตนเป็นผู้บรรลุพระอรหันต์ด้วยท่าเอนกายลงนอนนั่นเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปอีกว่า พระโคตมะพุทธะได้ตรัสพระสูตรนี้แก่คนธรรมดาทั่วไป มิใช่ตรัสแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วยกัน แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับเอาคำสอนที่พระองค์ทรงแนะให้ พระองค์ก็ปล่อยให้เขาหลุดจากหมู่ดูเหมือนท่ายังไม่ทราบว่า เพราะเหตุได้นั่งอยู่บนเกวียนวัวขาวเรียบร้อยแล้วเราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะออกเที่ยวแสวงหาเกวียนอื่นอีกสามชนิดเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้นพระสูตรก้ได้บอกแก่ท่านอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มีแต่พุทธยานเท่านั้นไม่มียานอื่นที่ไหนอีกในฐานะเป็นยานที่สองที่สาม เหตุที่จะให้เราเข้าใจในยานอันเอกอันนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนเรา ด้วยวิธีที่พระองค์ทรงช่ำชองมาแล้วมีปริยายต่าง ๆ ทรงใช้เหตุผลและข้อถกเถียงมีปริยายต่าง ๆ พร้อมทั้งนิทานและภาพเปรียบเทียบและอื่น ๆ ทำไมท่านจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่ายานทั้งสามเหล่านั้นเป็นของชั้นสมมุติให้เด็กเล่น สำหรับใช้กับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว ๆ ส่วนยานอันเอกคือพุทธยานนั้นเป็นของชั้นยอดเยี่ยมและเพื่อใช้ในเรื่องปัจจุบัน ๆ
     ความหมายแ่ห่งพุทธยานคือ ผู้รู้ความเคลื่อนไหวแห่งจิตของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้อันสูงสุดและถ้าสามารถใช้กำลังปัญญาตัดกิเลสทั้งปวงได้หมดสิ้นย่อมเป็นปัญญาอันเลิศ ดังนั้นผู้ที่สามารถใช้ปัญญาเช่นนี้ได้ทันท่วงทีในปัจจับันสมัยเท่านั้น จึงพ้นไปจากการเวียนว่ายทั้งปวง เมื่อก้าวไปถึงความสูงสุดแล้วย่อมไม่จำเป็นต้องแสวงหายานใด ๆ สภาวะเช่นนั้น จึงเรียกว่าเป็น "ธรรมญาณ" ของตนเองที่ไม่มีใครมาบัญญัติว่าเป็นอะไรได้เลย   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พุทธะภาวะมีอยู่แล้วในทุกตัวคน เพียงแต่ใครสามารถค้นพบด้วยตนเองได้ก่อนเท่านั้น แต่มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า พุทธะ อยู่นอกตัว จึงค้นหาจากตำราบ้าง จากเกจิอาจารย์บ้างหรือแม้แต่รูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ส่วนอีกพวกหนึ่งแสวงหาพุทธะในตัวเองด้วยการนั่งสมาธิค้นหากันชาติแล้วชาติเล่าก็ยังหาไม่พบ เพราะประเภทหลังนี้ต่างนั่งหลับหูหลับตากำหนดท่าทางต่าง ๆ ด้วยคิดว่าวิะ๊การเช่นนี้จักค้นพบธรรมญาณของตน คนทั้งสองประเภทนี้ล้วนหลงผิดทั้งสิ้น  ครั้งหนึ่งภิกษุจื้อทง ซึ่งเป็นชาวบ้านโซ่วโจวแห่งอันเฟิง อ่านลังกาวตารสูตรเกือบพันครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าใจความหมายของ ตรีกายและปัญญาทั้งสี่  ด้วยเหตุนี้จึงไปหาพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเพื่อให้ช่วยอธิบายความหมาย พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงอธิบายว่า "ในการทั้งสามนั้นธรรมกายอันบริสุทธิ์ก็คือตัวธรรมชาติตัวแท้ของท่านนั่นเอง สัมโภคกายอันสมบูรณ์ก็คือ ตัวปรีชาญาณของท่าน ส่วนนิรมานกายนับด้วยหมื่นแสนก็คือการกระทำกรรมต่าง ๆ ของท่าน ถ้าหากจะให้กายทั้งสามนี้เป็นของต่างหากจาก ธรรมญาณ มันก็เกิดมี "กายซึ่งปราศจากปัญญา" ขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าท่านเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า กายทั้งสามนี้ ไม่มีตัวตนแท้จริงของมันเองอะไรที่ไหนอีก เพราะมันเป็นเป็นแต่เพียงสมบัติของธรรมญาณดังนี้แล้วท่านก็จะบรรลุถึงโพธิของปัญญาสี่ประการโดยแน่นอน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตรีกาย หรือ ปัญญาทั้งสี่ประการ ล้วนรวมอยู่ภายในธรรมญาณทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งที่สร้างขึ้นมากมายล้วนแต่มีแหล่งกำเนิดมาจากธรรมญาณทั้งหมด แต่สรรพสิ่งนั้นมิใช่ธรรมญาณอันแท้จริง เพราะสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นหามีวิญญาณความรับรู้ไม่  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโฉลกอันน่าสนใจว่า "กายทั้งสามมีอยู่แล้วในธรรมญาณของเราซึ่งโดยการงอกงามของธรรมญาณนั่นเอง ปัญญาทั้งสี่ก็ปราฏกตัว เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านไม่ต้องหลับหูหลับตาหรืออุดหูของท่านเพื่อหลีกอารมณ์ภายนอก ท่านก็สามารถเข้าถึงพุทธะภาวะได้โดยจัง ๆ หน้ากับอารมณ์ เมื่อข้าพเจ้าได้อธิบายแก่ท่านอย่างเปิดเผยจนเห็นเองเช่นนี้แล้ว จงเชื่ออย่างแน่วแน่เถิด ท่านจะหลุดพ้นจากความหลงตลอดไป อย่าไปตามคนพวกที่แสวงหา "การตรัสรู้" จากภายนอกกาย คนพวกนี้พูดถึงโพธิอย่างพร่ำเพรื่ แต่ตัวเองยังไม่เคยรู้เห็นเสียทีความหมายแห่งโฉลกนี้ชี้ให้เห็นว่าการค้นพบภาวะแห่งพุทธะไม่จำเป็นต้องสลัดตัดอารมณ์แต่อย่างใดเพราะ ตรีกายและปัญญาที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณย่อมไม่หนีไปไหน เพียงแต่เกิดปัญญาสว่างโพลงขึ้นมาก็สามารถรู้แจ้งในโพธิปัญญาเหมือนดังตัวอย่่างของอาจารย์ผู้แสวงหาธรรมญาณ ด้วยการคร่ำเคร่งนั่งหลับตาทำสมาธิในที่วิเวกชายป่า พระอาจารย์ผู้รู้แจ้งท่านหนึ่งจึงได้ไปนั่งขัดหินอยู่หน้าอาศรม อาจารย์ผู้นั่งหลับตาทำสมาธิลืมตาขึ้นเห็นพระอาจารย์ขัดหินอยู่ ทีแรกก็มิได้ว่ากระไร แต่ลืมตาทีไรก็เห็นพระอาจารย์ขัดหินอยู่จึงอยากรู้ว่าขัดไปทำไม "ท่านมานั่งขัดหินทำอะไรหรือ" "เราต้องการหินนี้กลายเป็นกระจก"พระอาจารย์ตอบ  "เอ๊ะในโลกนี้มีด้วยหรือที่ขัดหินจนได้กระจก"  ""อ้าวแล้วนั่งสมาธิหลับตาหาพระพุทธะพบหรือ""พระอาจารย์ถามกลับ  การหลับหูหลับตาหาพระพุทธะในตัวเองย่อมไม่อาจพบได้ เพราะกิริยาอาการเช่นนี้ก็ยังคงเป็นการแสวงหาพระพุทธะนอกตัวจริงของตนเอง "ตัวจริงแท้เป็นไฉน" "ไม่มีรูปลักษณ์ให้พบเห็นได้เลย" "แต่พอหลับตาภาวนาจิตก็สงบ มิใช่พุทธะหรือ" "เมื่อเป็นจิตย่อมมิใช่พุทธะ เพราะจิตที่สงบย่อมคิดอะไรมิได้ มีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามธรรมชาติของจิต"
     ปัญหาที่โต้ตอบและหาข้อยุติกันมิได้มีอยู่สองประการคือ จิต กับ  ธรรมญาณเพราะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญมักสับสนเห็นเป็นเรื่องเดียวกันโดยสภาวะของจิตที่เคลื่อนไหว คิดเรื่องร้อยแปดพันประการนั้นย่อมิใช่สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อย่างแน่นอน การนั่งหลับตาภาวนาจึงเป็นเพำียงการพบจิตที่นิ่งสงบเท่านั้น แตมิได้พบ "ธรรมญาณ" ของตนเองเพราะฉะนั้นบรรดานักนั่งสมาธิทั้งปวงจึงไม่อาจค้นพบธรรมญาณ ซึ่งเป็นตัวจริงแท้ของตนเองได้เลยเพราะจิตติดยึดต่ออุปาทานทั้งปวงที่สร้างขึ้นมากมายหลายหมื่นรูป เมื่อ "ธรรมญาณ" ไหวตัว ได้สร้างจิตขึ้นมามากมายตามเหตุปัจจัยส่งเสริม บรรดา " จิต" เหล่านี้จึงเป็นของนอก "ธรรมญาณ" ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นใครติดยึดอยู่เพียงแค่นี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นหา "พระพุทธะ" นอกตัวเอง แม้การบำเพ็ญภาวนา "จิต" จนมีกำลังกล้าแข็งแสดงอิทธิฤทธิ์ได้มากมายก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าค้นพบ "ธรรมญาณ" เพราะคนเหล่านั้นไม่มีทาง "รู้แจ้ง" หรือพบ ธรรมญาณ อันแท้จริงซึ่งเป็นสภาวะอันยากที่จักใช้ภาษาในโลกนี้มาบรรยายให้เข้าใจได้เลย เพราะฉะนั้นการหลับหูหลับตาค้นหา "พระพุทธะ" จึงเป็นเรื่องน่าสมเพชเพราะค้นกันข้ามภพข้ามชาติก็ไม่อาจพบได้เลย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       มีพระพุทธวจนะอยู่บทหนึ่งซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ของผู้สนใจใฝ่ศึกษาพระพุทธธรรมว่า "ยิ่งอยากได้ ย่อมไม่ได้" และแม้ในทางการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นก็ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ยิ่งแสวงหาพระนิพพานยิ่งไม่พบพระนิพพาน" ความนัยแห่งพระพุทธวจนะนี้ย่อมต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ ซึ่งผลสำเร็จของการใช้ปัญญาแยกแยะก็คงกลายเป็นเพียงความรู้เท่านั้น แต่การปฏิบัติให้เป็นไปตามพระพุทธวจนะนับเป็นเรื่องยากที่พานพบ แต่ก็ไม่ยากจนเกินวิสัยของมนุษย์ เพราะตามความเป็นจริงนิพพานมีอยู่ในธรรมญาณของตนเองแล้ว เหตุไฉนจึงต้องขนขวายหาจากที่อื่นด้วยเล่า  พระภิกษุจื้อทงจึงขอร้องต่อพระธรรมาจารย์ได้กรุณาชี้แจงเกี่ยวกับปัญญาทั้งสี่นั้นมีภาวะเป็นอย่างไร พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า"ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องกายสามนี้แล้ว ท่านก็จะเข้าใจในเรื่องปัญญาทั้งสี่ได้เอง ฉะนั้น คำถามของท่านจึงเป็นของไม่จำเป็น ถ้าท่านทำให้ปัญญาทั้งสี่อยู่ต่างห่างจากกายทั้งสามเสียแล้ว ก็จะเกิดปัญญาที่ปราศจากกายขึ้นโดยแน่นอน ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้ มันหาใช่ปัญญาไม่" ความหมายแห่งพระวจนะตรงนี้ชี้ให้เห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ปัญญามีอยู่แล้วในธรรมญาณและมิใช่ของสองสิ่งที่แยกออกจากกันได้ แต่ที่เห็นเป็นปัญญาก็เพราะแสดงบทบาทของธรรมญาณ ออกมาเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ตรีกาย อันประกอบไปด้วย ธรรมกาย สัมโภคกาย และ นิรมานกาย ล้วนแล้วแต่มีปัญญาอยู่ด้วยทั้งสามกาย หากมีแต่กายก็ไร้ปัญญา กายนั้นหาใช่ ตรีกายความหมายอันแท้จริงไม่ แต่กายเป็นรูปนิมิต ที่ไร้สาระแต่ทำให้ผู้ไร้ปัญญาหลงติดยึดกันชั่วกัปกัลป์  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวโฉลกอันเนื่องด้วยปัญญาว่า " ปัญญาอันเปรียบด้วยกระจกส่อง" นั้นบริสุทธิ์อยู่เองโดยธรรมชาติ ปัญญาเห็นความเสมอภาค"นั้นย่อมเปลื้องจิตเสียจากเครื่องกั้นทั้งปวง "ปัญญาเห็นสิ่งทั้งปวง"นั้น เห็นสิ่งทั้งปวงแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องอาศัยแนวแห่งเหตุผล "ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง"นั้นมีลักษณะอย่างเดียวกับ "ปัญญ่อันเปรียบเหมือนกระจกส่อง" ความหมายแห่งโฉลกนี้ยืนยันสัจธรรมว่าปัญญาอันแท้จริงมีความบริสุทธิ์สะอาดอยู่แล้ว เพราะปราศจากเครื่องปรุงแต่งทั้งปวงเป็นความสะอาดพิสุทธิ์ที่ไม่สามารถนำเอาทั้งความดีและความชั่วลงไปได้ คนทุกคนจึงเสมอภาคเท่าเทียมกัน เศรษฐีและยาจก จึงมีโอกาสทำบาปและทำดีได้เท่าเทียมกัน แม้ผลแห่งการกระทำนั้นก็เสมอกัน เศรษฐีดีใจที่มีกำไรพันล้าน ขอทานย่อมดีใจที่หาเงินได้พันบาท ความดีใจของสองคนมีค่าเสมอกัน และที่ชัดเจนที่สุดเมื่อขอทานและเศรษฐีทิ้งกายสังขารต่างก็ไปมือเปล่าด้วยเหมือนกัน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "วิญญาณทั้งห้าข้างต้น และ อาลัยวิญญาณ ย่อมแปรรูป เป็นปัญญาในขั้นที่ตรัสรู้เป็นพุทธะอย่างเดียวกับที่  กลิษตมโนวิญญาณและ มโนวิญญาณแปรรูปเป็นปัญญาในขั้นที่เป็นเพียงโพธิสัตว์  คำที่เรียกว่า "การแปรรูปของวิญญาณ" ดังที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อที่ใช้เรียกเท่านั้น ส่วนตัวจริงก็หามีอะไรเปลี่ยนไม่ เมื่อใดท่านสามารถเปลื้องตัวเองให้หมดจดจากความผูกพันธ์์ของโลกิยารมณ์ในขณะที่มี "การแปรรูปของวิญญาณ" ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อท่านได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในนาคสามธิอันทยอยกันเกิดขึ้นติดต่อกันไปตลอดกาลเนืองนิจ" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ชี้ให้เห็นว่า วิญญาณทั้งห้าอันประกอบไปด้วย จักษุ โสต ฆาน ชิวหา ผัสสะ จิต กับ การเห็นโลกย่อมแปรเปลี่ยนเป็นการตรัสรู้เป็นพระพุทธะได้ เช่นเดียวกับวิญญาณเฉพาะตนและความนึกคิดย่อมแปรรูปเป็นปัญญาขั้นพระโพธิสัตว์ และไม่แน่ว่าความรู้สึกนึกคิดแปรเปลี่ยนไปแปดหมื่นสี่พันรูปและนาม ตัวจริงแท้เรียกว่า ธรรมญาณ แห่งตนนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเลย
     เมื่อเข้าถึงพุทธะภาวะ วิญญาณทั้งห้าจะแปรรูป เป็นปัญญา เครื่องกระทำทั้งปวง อาลัยวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องของโลกจึงเป็นเช่นกระจกส่อง แต่ใน ธรรมญาณ ไม่มีอะไรที่เป็นการแปรรูป แต่การตรัสรู้ที่เรียก "ปัญญา" หากยังไม่ตรัสรู้ ก้เรียกว่า วิญญาณคือการรับรู้ มิได้เกิดความรู้แจ้ง ปุถุชน ซึ่งเป็นผู้รับรู้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นสัจธรรมหรือไม่ แต่พอแยกแยะและกระทำตามสภาพแห่งความรู้นั้นจึงกลายเป็นปัญญาแห่งการตรัสรู้ เมื่อสภาวะเป็นเช่นนี้ การแสวงหานิพพานนอกธรรมญาณของตนเองด้วยการไปติดอยู่ที่การปรุงแต่งและกำหนดหมายสิ่งใดก็ตามผู้ปฏิบัติเช่นนี้ก็ติดตรึงหรือสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอำนาจของตัณหา คือ ความอยากชักนำไปโดยไม่รู้ตัว เช่น นิมิตเห็นดอกบัว และสามารถขยายใหญ่เล็กได้ตามใจปรารถนา ความปรีติย่อมเกิดขึ้นและเห็นเป็นความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรม บางรายได้รับคำชี้แจงว่าการเห็นดอกบัวยังเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าปรารถนาความสำเร็จแห่งการบำเพ็ญย่อมต้องเข้าถึงธรรมกายอันเป็นรูปลักษณ์ของพระพุทธรูป ครั้นจิตกำหนดหมายสร้างเป็นพระพุทธรูปใสดังดวงแก้วจึงเกิดความปิติสุขและหลงคิดว่าเข้าถึงพระธรรมกายได้แล้ว เพราะฉะนั้นตัณหาที่ซ่อนอยู่ในรูปของความยินดีจึงกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้จิตพ้นไปจากภาวะของ "ธรรมญาณ" ชนิดกู่ไม่กลับ คนเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรกับคนแก่สวมแว่นตาเอาไว้บนศรีษะตนเองแล้วหาไม่พบนั่นแล

Tags: