collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: สิบอัครสาวก : สารบัญ  (อ่าน 29285 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           สิบอัครสาวก 

                     พระมหาโมคคัลลานเถระ 

                          บรรลุธรรม

        อนึ่ง  ก่อนที่พระมหาโมคคัลลานเถระ จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ขณะที่ท่านกำลังปฏิบัติธรรม ท่านมักเกิดความง่วงเหงาหาวนอน ไม่อาจปฏิบัติธรรมได้ตลอด ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ เภสกฬามิคทายวัน ใกล้สุงสมารีคีรีนคร ในแว่นแคว้นภัคคะ  คราวนั้น  พระมหาโมคคัลลานะ ไปกระทำความเพียรอยู่ที่บ้าน กัลลวาลมุตตาคาม ท่านเกิดอ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ จึงเสด็จไปปรากฏอยู่ข้างหน้า แล้วตรัสถามว่า  "โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ"  ท่านกราบทูลตอบว่า  "ง่วงพระเจ้าข้า"  พระองค์จึงแสดงอุบายแก้ง่วง โดยตรัสสอนไว้  ๘  ประการ โดยต่างเป็นอุบายที่เป็นเหตุให้หายง่วงได้  หากยังไม่หายก็ให้ปฏิบัติข้อต่อไป

๑.  โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไร ความง่วงมันย่อมครอบงำเธอได้ เธอควรกระทำใจในสัญญานั้นให้มาก
๒.  เธอควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ที่ได้ฟังและได้เรียนมาแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตน
๓.  เธอควรท่องบทเรียน (ธรรมะ) ที่ได้ฟังและได้เรียนมาแล้วให้ดัง ๆ โดยพิศดาร (กว้างขวาง) 
๔.  เธอจงยอนหูทั้งสองข้าง แล้วลูบตัวด้วยฝ่ามือ
๕.  เธอควรลุกขึ้นยืน แล้วเอาน้ำล้างหน้าล้างตาและเหลียวดูทิศทางทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตร
๖.  เธอควรกระทำในใจถึง  "อาโลกสัญญา"  คือความสำคัญในแสงสว่างเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน กระทำใจให้โปร่ง ไม่มีอะไรหุ้มห่อ กระทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิดขึ้น
๗.  เธอควรอธิษฐานจงกลม เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก
๘.  เธอจงจำวัด (นอน) ตามแบบ  "สีหไสยา"  คือนอนตะแคงข้างขวาลง ซ้อนเท้า เหลี่ยมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจที่ลุกขึ้น พอตื่นแล้วจึงรีบลุกทันที

        ด้วยความตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบสุขในการนอน เราจะไม่แสวงหาความสุขในการเอนหลัง เราจะไม่หาสุขในการเคลิ้มหลับ ดูก่อน โมคคัลลานะ เธอควรสำเหนียกในใจอย่างนี้ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอุบายแก้ง่วงอย่างนี้แล้ว จึงทรงสั่งสอนให้ตระหนักในใจต่อไปอีก เกี่ยวกับความไม่ถือตัว  ไม่พูดคำที่เป็นเหตุให้โต้เถียงกัน การไม่สรรเสริญ การไม่คลุกคลี แต่ไม่ติเตียน จากนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลถามว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อปฏิบัติโดยย่อมีเทาไรพระเจ้าข้า  ภิกษุชื่อว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะสิ้นตัณหาเกษมจากโยคธรรม (ธรรมอันเป็นกิเลสที่ผูกไว้)  ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพระเจ้าข้า" 

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  "ดูก่อน  โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  เธอทราบชัดทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ข้อธรรมทั้งปวง เมื่อเธอเสวยเวทนาอย่างใด  อย่างหนึ่ง  เป็นสุขก็ตาม  เป็นทุกข์ก็ตาม  ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง  พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย  เป็นเครื่องดับ  เป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น  เมื่อพิจารณาเห็นแล้วดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก และหมดความสะดุ้งหวาดหวั่น สามารถดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตน และทราบชัดว่า ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  (จบอริยมรรค  ๘ ประการ)  กิจที่จะต้องกระทำได้กระทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องกระทำอย่างนี้อีกไม่มี  กล่าวโดยย่อข้อปฏิบัติมีเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อให้สิ้นตัณหา คือความทะยานอยาก มีความสำเร็จ เป็นผู้เกษมจากโยคะ คือปลอดภัยจากกิเลสเครื่องผูกมัด เป็นพรหมจารี คือ ผู้ปฏิบัติธรรม  มีการเว้นจากเมถุนเป็นต้น  มีที่สุดล่วงส่วนประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

        พระมหาโมคคัลลานเถระ ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่ทรงสั่งสอน พิจารณาเห็นธรรมะด้วยปัญญา ตัดความยึดมั่นถือมั่นได้ จิตหมดรัก หมดชัง หมดหลง  (หมดราคะ โทสะ และโมหะ) เป็นจิตบริสุทธิ์ ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ซึ่งเป็นวันที่ ๗  นับจากออกบรรพชา  ว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของตถาคต ในฝ่ายมีฤทธิ์"  คำว่า ฤทธิ์  นี้หมายถึงคุณสมบัติอันเป็นเครื่องให้สำเร็จความ
ปรารถนา สำเร็จได้ด้วยการอธิษฐานในใจ คือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งผลสำเร็จด้วยอำนาจ  อริยฤทธิ์ นั้นเป็นสิ่งที่พ้นวิสัยของมนุษย์ปุถุชนจะพึงค้นคิดได้ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               สิบอัครสาวก 

                         พระมหาโมคคัลลานเถระ 

                         บูรพเหตุ (มโนปณิธาน)

        พระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นผู้มีความโอบอ้อมอารีอารอบต่อพุทธบริษัทโดยไม่เลือกหน้า  อนุเคราะห์ สาธารณชนทุกชาติชั้นวรรณะ คอยประคบประหงมพุทธบริษัทให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จัดว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการกระทำพุทธดำริให้สำเร็จได้ด้วยดี เพราะท่านมีมหิทธานุภาพ จึงได้รับการยกย่องสรรเสริญ จากพระบรมศาสดาแต่งตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะด้านมีฤทธิ์ ว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้เป็นสาวกของตถาคตในฝ่ายมีฤทธิ์"  อีกทั้งได้แต่งตั้งท่านเป็นทุติยสาวกในพระศาสนา

        ตำแหน่งเอตทัคคตะ ของพระมหาโมคคัลลานเถระที่ได้รับแต่งตั้งนั้น เป็นผลมาจากการสร้างบุญบารมี และได้แต่งตั้งปณิธานไว้ในสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าคือเมื่อนับถอยหลังไปได้ หนึ่งอสงไขกัป กับ หนึ่งแสนกัป  พระมหาโมคคัลลานะได้บังเกิดเป็น  "สิริวัฒฑกุฏมพี"  อยู่ในตระกูลคหบดีมหาศาลและได้เป็นสหายกับสรทมาณพ (พระสารีบุตรในอดีตชาติ)  และได้รับคำแนะนำจากสรทมาณพนั้น  สรทมาณพนั้นคิดออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรมจึงไปชวนสิริวัฒฑกุฏุมพี แต่ปฏิเสธว่า ไม่สามารถบรรพชาได้ หลังจากที่สรทได้รับฟังพุทธพยากรณ์ เป็นอัครสาวกฝ่ายขวาแล้ว  จึงได้ไปหาสิริวัฒฑกุฏมพี และได้ชักชวนให้ทำอธิสักการะ ไว้ให้มาก เพื่อที่จะตั้งปณิธานเป็นทุติยสาวกในพระศาสนา ของพระโคดมพุทธเจ้าเหมือนตน

        สิริวัฒฑกุฏุมพี ได้ฟังคำแนะนำแล้ว ขอร้องให้คนทั้งหลายช่วยทำพื้นที่ภายในนิเวสของตนให้เรียบเสมอดี แล้วโรยทรายลงไป ให้โปรยข้าวตอกไม้ทับลงไป  แล้วให้สร้างปะรำมุงด้วยดอกบัวเขียว  ตั้งอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าและอาสนะสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย  ทั้งจัดตั้งเครื่องมหาสักการะบูชาไว้ หลังจากได้ถวายอาหารอย่างปราณีต โดยมีพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว ก็ได้นำผ้าไตรจีวรมาถวายให้พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธานครอง แล้วขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุเคราะห์ต่อให้ครบ ๗ วัน  เมื่อครบก็ได้กราบพระบังคมพระยุคคลบาทลุกขึ้นประนมมือกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สรทดาบสผู้เป็นสหายของข้าพระองค์ ได้ปรารถนาเป็นอัครสาวกของพระบรมศาสดาพระองค์ใด ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นทุติยสาวกของพระบรมศาสดาพระองค์นั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้า"  เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ทำให้มีจิตใจร่าเริงยินดีเป็นที่สุด ตั้งแต่วันนั้น ก็ได้กระทำกัลยาณกรรมตลอดชีวิต   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                              สิบอัครสาวก 

                         พระมหาโมคคัลลานเถระ 

                      ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "มีฤทธิ์"

                                พระบารมี

        ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ตรัสสอนสั่งหญิงแพศยา (โสเภณี)  ที่มาเล้าโลมท่านว่า  "เราติเตียนกระท่อม คือร่างกายอันตั้งขึ้นด้วยโครงกระดูกที่ฉาบทาด้วยเนื้อ ร้อยรัดไว้ด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดชัง ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นของผู่อื่นและเป็นของตน  ในร่างกายของเธอ เฉกเช่นกับถึงที่เต็มด้วยคูถ (อุจาระ)  มีหนังห่อหุ้มปกปิดไว้  เหมือนนางปีศาจ  มีฝีที่อก  มีช่อง ๙ ช่อง (ตา  หู  จมูก  ปาก  ทวารหนัก  ทวารเบา)  เป็นที่ไหลออก (ของสิ่งโสโครก) เป็นนิตย์"   แล้วก็ได้ตรัสบอกถึงว่า หากบุคคลใดพึงรู้จักร่างกายเหมือนที่ท่านรู้จักก็จะพากันหลบหนีไปเหมือนบุคคลผู้ชอบความสะอาด แลเห็นหลุมคูถในฤดูฝนแล้ว จึงหลีกไปจนไกลห่าง

        ครั้งหนึ่ง ที่ท่านได้ไปโปรดท้าวสักกเทวราช ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลถามถึงวิมุติ คือความสิ้นตัณหา เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสตอบ ท้าวสักกเทวราชได้สดับแล้ว กลับไปเทวโลกด้วยความยินดี  พระมหาโมคคัลลานเถระ ฉุกคิดขึ้นว่า ท้าวสักกเทวราชนั้น ยินดีเพราะทราบแล้ว หรือไม่ทราบก็ยินดี จึงได้ขึ้นไปบนดาวดึงส์อย่างเร็วพลัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังมาก เหยียดแขนที่งออยู่ออกไป หรืองอแขนที่เหยียดอยู่เข้ามา จากนั้นเมื่อเล็งเห็นว่าท้าวสักกเทวราชนั้นตั้งอยู่ในความประมาท จึงปรารถนาให้ท่านนั้นบังเกิดความสังเวช คือความสลดใจ จึงบันดาล อิทธาภิสังขาร โดยใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สะท้านหวั่นไหว  ทันใดนั้น ท้าวสักกเทวราชตลอดจนเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ เกิดความอัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเป็นที่น่าอัศจรรย์แท้ พระสมณะผู้มีอิทธานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้ เมื่อนั้น  เมื่อพระโมคคัลลานเถระ  รู้ว่าท้าวสักกเทวราชทรงมีความสลดพระทัย มีพระโลมาลุกชูชันแล้ว จึงได้ให้ท่านรำลึกถึงความสิ้นตัณหาที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้อีกครั้ง

        อีกคราวหนึ่ง ที่ท่านได้โปรดมารมาคุกคาม สมัยหนึ่งในขณะที่พระมหาโมคคัลลานเถระได้เดินจงกลมอยู่ มารได้เข้าไปในท้อง และได้เข้าไปในใส้ของพระเถระ พระเถระรู้สึกหนักเหมือนมีก้อนหินเข้าไปอยู่ หรือเหมือนมีกระเชอที่มีถั่วหมักน้ำเต็มอยู่ในนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นมาร จึงได้พูดขับไล่ออกไป และพูดห้ามไม่ให้เบียดเบียนพระตถาคตและพระสาวกของพระตถาคตเพราะกรรมนี้จะมีผลอยู่ตลอดกาล  ฝ่ายมารคิดว่า สมณะรู้จักและเห็นเราแล้วจึงออกทางปากของท่านแล้วมายืนพิงประตู จากนั้นจึงได้เทศนาสอนโดยยกเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งท่านได้เป็นมาร และได้รับทุกขเวทนา จากการสร้างกรรมนั้นโดยตกอยู่ในมหานรกอยู่นาน ทำให้มารนั้นมีความเสียใจ และหายตัวไป

        หลายครั้งหลายหนที่พระมหาโมคคัลลานะได้แสดงพระอริยฤทธิ์เพื่อโปรดเหล่าผู้มีมิจฉาทิฐิ  ทั้งพญานาค  เทวดา  พรหม  เศรษฐี  ภิกษุ  หรือเดียรถีทั้งหลาย ให้กลับมาตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิได้  สมัยหนึ่งที่พระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุ  ๕๐๐ รูป  ได้เสด็จไปยังดาวดึงส์เทวโลกทางเหนือวิมานทองของนาคราชในตอนนั้น นันโทปนันทนาคราช เกิดความเห็นอันลามกว่าสมณะโล้นเหล่านี้เข้าไปยังภพเทวดาชั้นดาวดึงส์ ทางเบื้องบนภพของเรา นับแต่บัดนี้ไปเราจักไม่ให้สมณะโล้นเหล่านี้โปรยละอองเท้าบนกระหม่อมของเราทั้งหลาย จึงลุกไปยังเชิงเขาสิเนรุ แล้วเอาขนดโอบวงภูเขาสิเนรุ  ๗ รอบ  แผ่นพังพานไว้เบื้องบน แล้วเอาพังพานคว่ำลงบังภพดาวดึงส์ไว้  ครั้งนั้น พระรัฐบาลได้ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  เหตุใดหนอ ในครั้งนี้จึงไม่เห็นเขาสิเนรุ ไม่เห็นเวชยันต์ปราสาทของท้าวสักกะ  พระศาสดาตรัสว่า  "รัฐปาละ นาคราชชื่อนันโทปนันทะนี้โกรธพวกเธอ จึงได้ใช้ลำตัวพันรอบภูเขาสิเนรุ ๗ รอบ ปิดเบื้องบนด้วยพังพานกระทำให้มืด"  พระรัฐบาลกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ของทรมานนาคราชนั้น"  พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย  ได้แก่พระภัททิยะ  พระราหุล  ต่างลุกขึ้นโดยลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต  จนกระทั่งในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชนั้น"  พระพุทธองค์จึงประทานอนุญาต"  พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตตนเป็นนาคราชใหญ่ วางพังพานของตนเหนือพังพานของนาคราชนั้น แล้วกดเข้ากับเขาสิเนรุ  นาคราชได้บังหวนควัน เพื่อทำร้ายพระเถระ พระมหาโมคคัลนะจึงกล่าวว่าควันนั้นไม่ใช่ว่าจะมีแต่ในสรีระของท่านเท่านั้น แม้ของเราก็มี ควันของนาคราชไม่อาจเบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของพระเถระเบียดเบียนนาคราช  นาคราชจึงได้กระทำให้เกิดไฟลุกโพลง พระเถระจึงกล่าวว่า ไฟนั้นไม่ใช่จะมีแต่ในสรีระของท่านเท่านั้น แม้ของเราก็มี แล้วก็โพลงไฟให้ลุกขึ้น ไฟของนาคราชไม่อาจเบียดเบือนพระเถระ แต่ไฟของพระเถระนั้นเบียดเบียนนาคราช  นาคราชคิดขึ้นว่า  สนณะนี้กดเราไว้กับเขาสิเนรุบังหวนควันและโพลงไฟขึ้น จึงถามว่า  "ผู้เจริญ ท่านนั้นเป็นใคร"  พระเถระตอบว่า  "นันทะ  เราคือโมคคัลลานะ"  นาคราชกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านจงดำรงอยู่ในภาวะพระภิกษุของท่านเถิด"  พระเถระจึงได้แปลงร่างให้เล็ก เข้าไปทางช่องหูขวา แล้วออกทางช่องหูซ้ายของนาคราช เข้าทางช่องหูซ้ายแล้วออกทางช่องหูขวา เข้าทางช่องจมูกขวา แล้วออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้าย  แล้วออกทางช่องจมูกขวา  ลำดับนั้นเมื่อนาคราชอ้าปาก พระเถระจึงเข้าทางปาก แล้วเดินจงกลมอยู่ในท้อง ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า  "โมคคัลลานะ เธอจงมนสิการให้ดี นาคนั้นมีฤทธิ์มาก"  พระเถระได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ได้เจริญในอิทธิบาท ๔ แล้ว กระทำเป็นดุจยาน (เครื่องนำไป) เป็นที่ตั้ง ได้สั่งสมแล้ว ปราถนาดีไว้แล้ว ฉะนั้น การทรมานนันโทปนันทะ ขอพระองค์ทรงวางพระทัยเถิด พญานาคเช่นเดียวกับนันโทปนันทะ แม้มีสักร้อย  สักพัน  ข้าพระองค์ก็สามารถทรมานได้"  นาคราชคิดว่าเมื่อเข้ามาไปในตัวเราเราไม่เห็น อีกสักครู่ในเวลาออก เราจะใส่พระเถระนี้ระหว่างเขี้ยว แล้วเคี้ยวกินเลย ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวว่า"ท่านผู้เจริญ ท่านจงออกมาเถิด อย่าได้เดินจงกลมไป ๆ มา ๆ ในท้อง ให้เป็นการเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย"  เมื่อพระเถระได้ออกมายืนข้างนอก นาคราชจึงรีบพ่นลมทางจมูกเข้าใส่พระเถระ  พระมหาโมคคัลลานะเข้าจตุตถญาณ แม้ขุมขนของท่านนาคราชก็ไม่สามารถทำให้หวั่นไหวได้เลย

        อนึ่ง  พระภิกษุทั้งหลายที่เหลือนั้น ต่างสามารถกระทำปาฏิหาริย์ทั้งมวล ที่พระมหาโมคคัลลานะกระทำมาข้างต้นได้ แต่พอมาถึงสิ่งนี้ พระภิกษุเหล่านั้นจะไม่สามารถสังเกตุได้อย่างรวดเร็วและเข้าสมาบัติเหมือนพระมหาโมคคัลลานะเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่อนุญาตแก่ภิกษุเหล่านั้น  นันโทปนันทนาคราชคิดว่า "เราไม่สามารถแม้จะทำให้สมณะนี้หวั่นไหวได้แม้ขุมขน สมณะนี้มีฤทธิ์มากนัก"  พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตกายเป็นครุฑ แล้วแสดงลมปีกแห่งครุฑบินไล่ติดตามนาคราชนั้นไป  ฝ่ายนาคราชจึงได้เนรมิตกายเป็นมานพน้อย แล้วกล่าวว่า  "ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถือท่านเป็นสรณะ แล้วกราบลงแทบบาท"  พระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า  "นันทะ พระบรมศาสดาได้เสด็จมาแล้ว ท่านจงมากับพวกเราเถิด"  เมื่อพระเถระได้ทรมานนาคราชจนทำให้หมดพยศแล้ว จึงได้พาไปยังสำนักของพระบรมศาสดา  นาคราชได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถือพระองค์เป็นสรณะ"  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "นาคราช เธอจงเป็นสุขเถิด"     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                               สิบอัครสาวก 

                         พระมหาโมคคัลลานเถระ 

                      ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน "มีฤทธิ์"

                            ปรินิพพาน

        เมื่อผู้คนทั้งหลาย ต่างมีความศรัทธาในพุทธศาสนามาก และหลีกละจากลัทธิเดียรถีย์แล้ว เดียรถีร์ทั้งหลายต่างก็พากันริษยาและกล่าวกันว่าอันลาภสักการะที่เกิดขึ้นมาก แก่พระพุทธศาสนานั้น เป็นเพราะพระมหาโมคคัลลานะได้ขึ้นไปบนเทวโลก ไต่ถามถึงกุศลกรรมที่เทวดาทั้งหลายได้กระทำแล้ว นำกลับมาบอก ดังนั้น หากฆ่าพระเถระรูปนี้  ลาภนั้นต้องตกเป็นของเราแน่ จึงตกลงกันวางอุบายและได้ว่าจ้างเหล่าโจรฆ่าคนให้ไปฆ่าพระเถระ โดยบอกว่าพักอยู่ที่ตำบลกาฬศิลา ในแคว้นมคธ พวกโจรเห็นว่าได้เงินจำนวนมาก ก็ตอบรับโดยไม่กลัวบาปกรรม พากันไปล้อมกุฏิพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อพระมหาโมคคัลลานะทราบว่าถูกโจรล้อมจึงหนีอกทางช่องรูกุญแจ ด้วยฌานานุภาพ (อำนาจฌาณ) พวกโจรจึงหาพระเถระไม่พบ  แต่รุ่งขึ้นก็มาล้อมอีก พระมหาโมคคัลลานะพิจารณาเหตุผลของกรรมแล้ว ทำให้ท่านทราบถึงภาวะแห่งอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ จึงไม่คิดหลบหนีไปไหน เพื่อชดใช้หนี้กรรมเก่าของตน

        คราวนี้ พวกโจรจึงจับพระเถระได้อย่างง่ายดาย แล้วก็ช่วยกันทุบตี จนกระทั่งกระดูกทั้งหลายของพระเถระแตกย่อยยับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก แล้วพวกโจรก็เหวี่ยงท่านไปที่หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง ด้วยสำคัญว่า ตายแล้ว จากนั้นก็พากันหลีกหนีไป  พระมหาโมคคัลลานะได้รับการเจ็บปวด อย่างเหลือประมาณ แต่ท่านพยายามสำรวจจิตคิดพิจารณาว่า  "เราควรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียก่อน แล้วจึงปรินิิพานภายหลัง"  พอคิดแล้วท่านก็ประสานอัตภาพด้วยกำลังฌานานุภาพ กระทำให้ร่างกายมั่นคงดีแล้ว ใช้อริยฤทธิ์เหาะไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นท่านไปถึงที่ประทับแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอกราบถวายบังคมทูลลาเข้าสู่พระนิพพานพระเจ้าข้า"  เมื่อพระพุทธองค์ทรงถามทราบเรื่องแล้วว่า พระมหาโมคคัลลานะจะปรินิพพานที่ตำบลกาฬศิลา  แคว้นมคธ จึงตรัสบอกให้พระมหาโมคคัลลานะ กล่าวธรรมแก่พระพุทธองค์ก่อนเพราะบัดนี้ ตถาคตจะไม่ได้พบเห็นสาวกผู้เป็นเช่นเธออีกต่อไป  พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบถวายบังคมแล้ว เหาะขึ้นไปในอากาศแสดงฤทธานุภาพต่าง ๆ เช่นเดียวกับวันที่พระสารีบุตรจะเข้าพระนิพพาน ท่านขึ้นไปกล่าวธรรมะแล้ว เสด็จลงมากราบบังคมลาพระผู้มมีพระภาคเจ้า แล้วเดินทางไปปรินิพพานที่ตำบลกาฬศิลา ตรงกับวันแรม  ๑๕  ค่ำ  เดือน ๑๒ 

        ข่าวการกระทำชั่วของโจร รู้เข้าถึงพระอชาตศัตรู ทรงตั้งพวกจารบุรุษออกไปสืบ และจารบุรุษเหล่านั้นไปได้ยินพวกโจร ที่กำลังคุยโอ้อวดด้วยฤทธิ์สุราว่า ตนต่างได้เป็นผู้ตีพระเถระ จึงจับโจรเหล่านั้น เมื่อได้สอบถามทราบว่า พวกชีเปลือยเป็นผู้สั่ง พระราชาจึงมีโองการให้จับพวกชีเปลือยทั้ง  ๕๐๐ฝังลงหลุมลึกเท่าสะดือหน้าพระลานหลวง เอาฟางกลบแล้วเอาไฟเผา จากนั้นก็ให้ไถคราดด้วยเหล็ก ทำให้ตัวขาดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย แล้วให้นำโจรทั้ง ๔ นั้น ไปเสียบหลาวทั้งเป็น เพื่อประจานมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป

        พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าถึงกรรมเก่า ที่ในชาติหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะได้เกิดเป็นกุลบุตร กระทำกิจการงานปรนนิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาตาบอดด้วยความตั้งใจดี แต่ภายหลัง บิดามารดาเกิดสงสาร จึงพูดอ้อนวอนให้มีคู่ชีวิตเพื่อมาช่วยทำงาน กุลบุตรนั้นไม่อยากขัดใจจึงแต่งงานตามคำของบิดามารดา หญิงนั้นปรนนิบัติบิดามารดาสามีได้เพียง ๒ - ๓ วัน เท่านั้น  จึงใส่ร้ายบิดามารดาต่าง ๆ นา ๆ แต่สามีไม่เชื่อ วันหนึ่ง นางจึงได้แกล้งเอาปอ  ก้านปอ และ
ฟางข้าว ต้มทิ้งเลอะเทอะ แล้วจึงบอกสามีว่าคนแก่ตาบอดทั้งสองเป็นคนทำ นางไม่พอใจอยู่ร่วมกับคนแบบนี้ได้อีก ด้วยความรักทำให้คนตาบอดทำให้กุลบุตรนั้นลวงบิดามารดา พาไปกลางดง แล้วบอกว่าตรงนี้มีโจรซ่อนอยู่ จะลงไปดู จากนั้นก็แกล้งเปลี่ยนเสียงเป็นโจร  บิดามารดาได้ยินคิดว่าโจรมาจริง ๆ จึงบอกว่า  "ลูกเอ๋ย พ่อและแม่แก่แล้ว ลูกจงรักษาตัวเฉพาะตัวลูกให้พ้นจากภยันตรายเถิด"  ลูกชายได้ทำเสียงโจรแล้วก็ทุบตีบิดามารดาจนตายด้วยมือทิ้งศพไว้ในดงแล้วจึงกลับไป  กุลบุตรนั้น เมื่อตายแล้ว ตกนรกหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี และด้วยผลกรรมนั้น ทำให้ถูกทุบตีจนแหลกละเอียด ตายมาแล้วตั้งหลายร้อยชาติ  ครั้นชาติสุดท้ายนี้ กุลบุตรนั้นได้มาเป็นพระมหาโมคคัลลานะแล้วถูกพวกโจรทุบตี เพราะโทษของกรรมชั่วนั้น แล้วจึงปรินิพพานไป

                        " บาปอกุศลใด   หากยังมิได้ละทิ้ง
                                       ก็ควรพยายามละให้ได้   
            หากเห็นว่าบาปอกุศลทั้งหลาย  ตนละได้แล้ว
                     ก็ควรอยู่ด้วยความยินดีปิปติปราโมทย์
                     ดุจสตรีหรือบุรุษที่ชอบตกแต่งร่างกาย
                           ส่องดูเงาหน้าของตนในถาดน้ำใส
       แลเห็นฝุ่นธุลีหรือไฝขี้แมลงวัน ก็พยายามกำจัดเสีย
                      เมื่อเห็นว่าไม่มีฝุ่นธุลีหรือไฝขี้แมลงวัน
                         ก็นึกดีใจว่าหน้าของเราสะอาดดีแท้"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก

                      พระปุณณมันตานีบุตรเถระ 

                  ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ธรรมกถึก" 

                            (เทศนาธรรม)

                       บูรพเหตุ (มโนปณิธาน)

        ก่อนที่พระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงอุบัติขึ้นในโลก พระปุณณมันตานีบุตรเถระ แสนกัปก่อนนั้น ก็ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มารดาและบิดาตั้งชื่อให้ ชื่อว่า โคตมะ  เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้ศึกษาวิชาการ คือวิชาไตรเพทจนจบสิ้น และได้มีลูกศิษย์มาฝากตัวด้วย  ๕๐๐ คน 

        หลักของนักปราชญ์ มักไม่ปล่อยตัวเองให้จมปลักอยู่กับที่ เหมือนควายที่ตกหลุมแช่นิ่ง อยู่ในหล่มนั้น  ย่อมใช้ปัญญาคิดค้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเสมอ เมื่อท่านได้พิจารณาวิชาไตรเพทนี้ ก็มองไม่เห็นว่าจะเป็นเครื่องช่วยให้พ้นทุกข์แต่อย่างใด จึงได้ออกบวชเป็นฤาษี แล้วก็มีศิษย์มาฝากตัวเรื่อย ๆ จนถึงหนึ่งหมื่นแปดพันคน  โคดมฤาษีนั้น ได้สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘  และได้สั่งสอนศิษย์ทั้งหลายจนต่างได้สำเร็จซึ่งอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘  เช่นเดียวกัน  เวลาผ่านมา จนพระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงประกาศธรรมจักร และมีภิกษุหนึ่งแสนรูปเป็นบริวาร ในเวลาใกล้รุ่งอรุณวันหนึ่ง  พระองค์ทรงจรวจดูสัตว์โลก และทรงแลเห็นอุปนิสัยของโคดมฤาษี จึงได้เสด็จจาริกโดยลำพังไปประทับอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของโคดมฤาษี  เมืื่อโคดมฤาษี ได้เห็น ก็รู้ได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้กราลทูลเชิญให้เสด็จเข้ามา แล้วปูลาดอาสนะถวาย  ในเวลานั้นศิษย์ของโคตมฤาษี นำผลไม้หัวมันกลับมาจากป่า โคตมฤาษีจึงกล่าวให้กราบไหว้พระพุทธเจ้า แล้วจัดถวายผลไม้หัวมัน

        เมื่อนั้น  พระภิกษุทั้งหนึ่งแสนรูปก็ได้เสด็จตามมาตามพระดำริของพระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมฤาษีจึงรีบให้บรรดาศิษย์ช่วยกันแต่งอาสนะดอกไม้ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งแสนรูปพร้อมด้วยพระพุทธเจ้า  เมื่อพระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และภิกษุทั้งหนึ่งแสนได้ประทับ นั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว ต่างก็เข้านิโรธสมาบัติในวันที่ ๗ จึงได้ตรัสสั่งให้สาวกผู้เป็นเอตทัคคะด้านธรรมถึก คือผู้เก่งในทางกล่าวธรรมะให้เป็นตัวแทนในการกล่าวอนุโมทนา เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดแสดงธรรมโปรดฤาษีเหล่านั้น ฤาษีทั้งหนึ่งหมื่นแปดพัน ต่างก็บรรลุอรหันต์ เว้นแต่โคตมฤาษีเพียงผู้เดียว เพราะท่านนั้นมัวแต่พะวงถึงพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านธรรมกถึกนี้  จึงได้กราบทูลตั้งความปรารถนาต่อพระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายฝ่ายธรรมกถึก ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนกับพระภิกษุรูปนั้น  ด้วยผลดีแห่งอธิการกุศลที่ข้าพระองค์ได้กระทำแล้วตลอดระยะเวลาเจ็ดวันนี้เถิด พระเจ้าข้า"

        พระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพยากรณ์รับรองในความปรารถนานั้น ว่าจะได้เป็นพระภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านธรรมกถึกในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้า

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                            สิบอัครสาวก

                      พระปุณณมันตานีบุตรเถระ 

                  ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ธรรมกถึก" 

                            (เทศนาธรรม)

                               ชาติภูมิ

        เมื่อท่านได้ดับจิตสิ้นชีวิตจากชาติที่แล้ว ก็ได้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในเทพยดาและมนุษย์ สิ้นกาลนานประมาณหนึ่งแสนกัป จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  ท่านก็ได้กลับมาเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่า  โทณวัตถุ  ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ ได้รับการขนานนามว่า  "ปุณณมานพ"  เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณี ผู้เป็นน้องสาวของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ  ส่วนชื่อของพระปุณณะ ที่เรียกว่า "ปุณณมันตานีบุตร" เพราะเรียกชื่อเดิมของท่านรวมกับชื่อมารดาของท่าน 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก

                      พระปุณณมันตานีบุตรเถระ 

                  ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ธรรมกถึก" 

                            (เทศนาธรรม)

                        บรรพชา - บรรลุธรรม 

        การที่พระปุณณมันตานีบุตรเถระ จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญา  โกณฑัญญเถระ ผู้เป็นหลวงลุง แนะนำให้เกิดความเชื่่อเลื่อมใส จึงได้อุปชาอุปสมบท  ในสำนักของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ เมื่อได้บรรพชา  ได้ตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จอรหััตผล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก

                      พระปุณณมันตานีบุตรเถระ 

                  ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ธรรมกถึก" 

                            (เทศนาธรรม)

                            เทศนาธรรม

        หลังจากนั้นมีกุลบุตรประมาณ ๕๐๐ คน ได้เข้ามาบวชในสำนักของพระปุณณมันตานีบุตร ท่านได้สั่งสอนพระภิกษุเหล่านั้นด้วยกถาวัตถุ  ๑๐ ประการและได้ใช้สอนให้พระอานนท์สำเร็จโสดาบันด้วย   กถาวัตถุ คือถ้อยคำที่ควรพูด ได้แก่ธรรมะสิบอย่าง คือ  มักน้อย  สันโดษ  ชอบสงัด  ไม่ชอบคลุกคลี  มีความเพียร  สมบูรณ์ด้วยศีล  สมาธิ  ปัญญา  วิมุติ (ความหลุดพ้น)  และวิมุตติญาณทัสสนะ (ความเห็นในวิมุติ)  พระภิกษุเหล่านั้นได้ดำรงอยู่ในโอวาทของท่านและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป 

        พระปุณณมันตานีบุตร ยังเป็นผู้ที่ได้แสวงธรรมให้กับพระอานนท์ฟัง จนพระอานนท์บรรลุเป็นโสดาบัน ดังที่พระอานนท์ได้กล่าวเล่าให้กับภิกษุทั้งหลายฟังว่า  "ดูก่อน อาวุโสทั้งหลาย พระปุณณมันตานีบุตร มีคุณแก่พวกเราภิกษุใหม่มาก ท่านกล่าวสอนพวกเรา ด้วยโอวาทเช่นนี้ว่า  "ดูก่อนพระอานนท์เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  ว่าเป็นเรา  เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะทิฏฐิว่าเป็นเรา เพราะถือมั่นรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  จึงมีตัณหา มานะ  ทิฏฐิว่าเป็นเรา  ไม่ถือมั่นรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  ว่าเป็นเรา   ดูก่อน พระอานนท์ เปรียบเสมือนสตรี  หรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวมีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนที่คันฉาย หรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น  เพราะไม่ยึดถือจึงไม่เห็นฉันใด  ดูก่อนอานนท์  เพราะถือมั่นรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่าเป็นเรา  เพราะไม่ถือมั่นรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถือว่าเป็นเรา  ฉันนั้น เหมือนกันแล  ดูก่อน อานนท์ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปนั้นเที่ยงหรือไม่ ?."  พระอานนท์ตอบว่า  "ไม่เที่ยง  ผู้อาวุโส"  พระปุณณมันตานีบุตรจึงถามต่อว่า "เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ เที่ยงหรือไม่ ?."  พระอานนท์ตอบว่า "ไม่เที่ยง ผู้อาวุโส ฯลฯ"  เช่นนี้แล ผู้อาวุโส พระปุณณมันตานีบุตร จึงเป็นผู้มีคุณแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ เราได้กระจ่างในธรรม ก็ด้วยฟังธรรมเทศนานี้ของพระปุณณมันตานีบุตรแล" 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก 

                       พระปุณณมันตานีบุตรเถระ 

                    ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน  "ธรรมกถึก"

                             (เทศนาธรรม)

                          ประกาศพรหมจรรย์

        ปุณณมันตานีเถระ  ได้ออกประกาศเผยแผ่ธรรมเทศนา ยังที่ต่าง ๆ และต่อผู้คนมากมาย มิได้หวังในลาภสักการะใด  ครั้งหนึ่งพระปุณณมันตานีบุตร ได้ขอประทานพุทธานุญาตเพื่อที่จะไปประกาศพรหมจรรย์ ยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเมือพระบรมศาสดาได้ตรัสสรรเสริญในปฏิปทาของท่านแล้ว ก็ได้ทรงเตือนว่า สถานที่แห่งนั้น เป็นสถานที่ชนบทรกกร้าง ผู้คนยังไม่เจริญในอารยธรรม ผู้คนมีนิสัยจิตใจที่ดุร้าย และผู้ที่เข้ามาจากต่างถิ่น มักจะต้องสิ้นชีพที่นั่นดังนั้นพระผู้มีพระภาค จึงได้ถามพระปุณณมันตานีบุตรว่า  "ปุณณมันตานีบุตร  หากผู้คนที่นั่นมิได้ยอมรับในคำสอนของเธอ ทั้งยังด่าว่าเธอ  เธอจักทำเช่นไร"  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเขาด่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยังคิดว่าพวกเขานั้นยังดีอยู่ เพราะพวกเขาเพียงแต่ด่าข้าพระองค์ มิได้ลงมือทุบตี " พระปุณณมันตานีบุตรกล่าว   "แล้วถ้าหากพวกเขา ใช้ก้อนหิน  ใช้ท่อนไม้  ลงมือทุบตีเธอเล่า ?.    "ข้าพระองค์ก็คิดวาพวกเขายังดีอยู่  เพราะพวกเขาเพียงใช้ก้อนหิน  ท่อนไม้ทำร้ายขัาพระองค์  ที่ยังมิได้ใช้มีดในการทำร้ายข้าพระองค์"   "แล้วถ้าหากพวกเขา ใช้มีดในการทิ่มแทงทำร้ายเธอเล่า ?.  "ข้าพระองค์ก็คิดว่าพวกเขายังดีอยู่ เพราะพวกเขายังมีความเป็นมนุษย์ มิได้ถึงกับฆ่าพระองค์ให้ล่วงไปด้วยชีวิต"   "แล้วถ้าหากพวกเขา ฆ่าเธอให้ล่วงไปด้วยชีวิตเล่า ?.  "ข้าพระองค์ก็จะขอบคุณพวกเขา ที่ได้ฆ่าซึ่งกายสังขารของข้าพระองค์  ช่วยให้ข้าพระองค์ได้ล่วงสู่พระนิพพาน จัดเสียดายเพียงแต่การสิ่งนี้มิอาจเป็นผลดีต่อพวกเขาเท่านั้น"  เมื่อนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญและประทานพุทธานุญาตให้พระปุณณมันตานีบุตรไปได้

         เมื่อถึงที่แห่งนั้น ผู้คนที่นั่นต่างมองท่านด้วยสายตาที่แปลกประหลาด ท่านเองก็มิได้ตรัสสอนหลักธรรมอันแยบยลอย่างใดโดยทันที  แต่อาศัยการตรวจรักษาโรคเที่ยวรักษาโรคไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะใกล้ไกเพียงใด จากนั้นจึงค่อย ๆ สอนหนังสือ  สอนวิธีการดำรงชีวิต  และได้ค่อย ๆ สอนเบญจศีล  กฏแห่งกรรม  กุศลกรรมบถสิบ  ในที่สุดผู้คนในที่นั้นต่างก็ได้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ  และได้มีผู้ออกบวชเป็นพระภิกษุที่นั่นถึง  ๕๐๐ รูป 

        อวสานแห่งชีวิตของพระปุรรมันตานีบุตรเถระ  คือ  การดับขันธปรินิพพานนั้น  มิได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งเลย  ว่าท่านปรินิพพานในสถานที่ใด  ปรินิิพพานด้วยอาการอย่างไร  แต่ด้วยบุพจรรยา  และ  ปัจจุบันจรรยาของท่าน  ก็สามารถถือเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ เสมือนต้นไม้ที่ไม่สำคัญว่าเกิดที่ไหน  จะตายอย่างไร  แต่สำคัญที่  สรรพคุณ  จะใช้รักษาโรคอย่างไรนั่นเอง

            " บุคคลควรคบสัตบุรุษทั้งหลาย
              ผู้เป็นบัณฑิต  ผู้เป็นประโยชน์ 
                         เพราะธีรชนทั้งหลาย
     เป็นผู้ไม่ประมาท เห็นแจ้งด้วยปัญญา
   ย่อมได้ประโยชน์ใหญ่  (คือพระนิพพาน)
                       เป็นประโยชน์อันลึกซึ้ง
                  เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ยาก
                      เป็นประโยชน์ที่ละเอียด
                          เป็นประโยชน์ที่สุขุม"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             สิบอัครสาวก 

                             พระสุภูติเถระ

                ผู้เป็นเอตทััคคะในด้าน อรณวิหารธรรม

                               ชาติภูมิ

        พระสุภูติเถระ  เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี  ผู้เป็นน้องชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  อยู่ในกรุงสาวิตถี  สุภูติ  เป็นชื่อที่ท่านได้รับขนานามมาแต่เมื่อแรกเกิด  ชีวิตความเป็นมาของสุภูติ นับว่าเป็นชีวิตที่มีแต่ความสุขสบาย ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ เพราะท่านได้เกิดในตระกูลเศรษฐีที่มีศีลธรรม  และคำว่า  "สุภูติ"  แปลว่า  ผู้เป็นดีแล้ว หรือ ผู้เกิดดีแล้ว   

Tags: