วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย
บรรพที่ ๑๓ : ดั่งธรรมวิธี ยึดถือปฏิบัติ
อธิบายบท :
อันธรรมนั้น จะหมายถึงธรรมอันแยบยลแห่งปรัชญานั่นเอง แต่สำหรับพระวินัยปิฏก พระสุตันตะปิฏก และ พระอภิธรรมปิฏก ที่เรารู้จักกันในนามว่า พระไตรปิฏกนั้น ก็จะเป็นเพียงแค่ศาสตร์คำสอน ซึ่งจะแตกต่างกับธรรมอันแยบยลแห่งปรัชญาอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น คำว่า ดั่งธรรมวิธียึดถือปฏิบัติ ที่ได้กล่าวถึงในบรรพนี้จึงมีความหมายว่า "การอิงตามธรรมและนำมาปฏิบัติ" แล แต่ก่อนอื่นควรต้องเริ่มจากพหูสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเสียก่อน ครั้นได้มีความเข้าใจเป็นอันดีแล้วค่อยนำไปสู่การปฏิบัติ หลังจากได้ปฏิบัติก็ค่อยนำไปสู่การบรรลุ แต่หากจะตีแผ่ขยายความให้กว้างยิ่งขึ้น ก็จะเป็น 84,000 ความกลัดกลุ้มของเวไนย์ โดยธรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาอาการ ล้วนต้องเป็นการเจียดยาที่ให้ตรงกับโลกของเวไนยสัตว์ทั้งสิ้น อย่างเช่น อาการราคะ โทสะ และโมหะของเวไนยสัตว์ ก็จักต้องใช้ศีล สมาธิ ปัญญามารักษากำราบ แต่ นอกจากศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ยังมีอินทรีย์ 5 พละ 5 ความเพียร4 อิทธิบาท4 โพธิ7 มรรค8 โพธิปักขิยธรรม37 ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นธรรมอันวิเศษของผู้บำเพ็ญธรรมได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับการ ยึดถือ ปฏิบัติ ที่ได้กล่าวถึงในบรรพนี้ จะหมายถึงการยึดถือปฏิบัติในธรรมอันแยบยลแห่งปรัชญา เพราะว่าการยึดถือปฏิบัติในปรัชญา ก็เท่ากับได้มีความเพียบพร้อมซึ่งธรรมทั้งปวงแล้วนั่นเอง สำหรับประเด็นของ ธรรมกายมิใช่ลักษณะ ที่ได้กล่าวถึงในตอนก่อน ๆ อันเป็นการทำลายทิฐิออกไปอย่างเป็นลำดับนั้น ก็ถือว่าได้ค่อย ๆ แสดงหลักอันแยบยลแห่งปรัชญานี้ออกมาอย่างกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้นในบรรพแม้ไร้หนึ่งลักษณะแล้ว จวบถึงบัดนี้ ความสงสัยทั้งปวงก็ได้รับการคลี่คลายออกไปจนหมดสิ้น ด้วยคำสอนและหลักธรรมที่ลึกซึ้งฉันนี้ จึงทำให้สุภูติแจ่มแจ้งเข้าใจในแก่นธรรม ฉะนั้น สุภูติจึงได้กราบทูลให้พระตถาคตทรงประทานนามให้แก่พระสูตรนี้ขึ้นนั่นเองแล