collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย  (อ่าน 57780 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๑

                             ความเป็นมาของการประชุมธรรม

อธิบายบท  :  

        การที่พระตถาคตจะสนองมหาเหตุปัจจัยในการเทศนาโปรดสรรพสัตว์ จำเป็นต้องเหมาะสมด้วยปัจจัยจากสถานที่ เวลาและผู้ฟังหากมิเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็จะไม่ตรัสเทศนาโดยง่าย  ฉะนั้น  หากไม่มีบุญวาระอันเหมาะสมก็จะไม่ตรัสเทศนานั่นเองแล  ที่ว่าอันปัจจัยจากสถานที่นั้น  หมายถึงต้องมีธรรมอาณาจักรที่สง่า  ที่ว่าอันปัจจัยจากผู้ฟังนั้น  หมายถึงผู้ฟังต้องมีปัญญาเข้าถึงในการฟังธรรม  และที่ว่าอันปัจจัยจากเวลานั้น  หมายถึงต้องมีบุญวาระที่เหมาะสมนั่นเอง  และเมื่อยามที่มีปัจจัยทั้ง  3  นี้แล้ว  พระองค์จึงจะสามารถเทศนาธรรมได้  สรุปแล้วก็คือ  การที่จะมีการเปิดประชุมธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายดายเลย

เนื้อหา  :  

        ดั่งที่เรา  (หมายถึงอันธรรมนี้  ผู้ที่สดับและถ่ายทอดพระสูตรนี้  ซึ่งก็คือพระอานนท์)  สมัยหนึ่ง  (เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาพระสูตร)  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี (เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศลที่พระเจ้าปแสนทิโกศลทรงปกครองอยู่ ) ที่เชตวนาราม (เชตเป็นพระนามของเจ้าชายเชตะ ซึ่งเป็นผู้บริจาคพืชพันธุ์ต้นไม้ในเขตอารามถวายแด่พระพุทธเจ้า) ของท่านอนาถบัณฑิกเศรษฐี ( เป็นขุนางผู้ใหญ่ของพระเจ้าปแสนทิโกศล ซึ่งมีนามว่าสุทัตตะ  ท่านเป็นคนชอบทำบุญสุนทานและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากที่สวนดอกไม้ของเจ้าชายเชตะเป็นประจำ  ดังนั้นผู้คนจึงเรียกท่านว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี และด้วยประการนี้  อารามเชตะจึงมีชื่อว่าอนาถบิณฑิก - วนาราม ท่านสุทัตตะเป็นผู้ซื้อที่ดินของเจ้าชายเชตะถวายแด่พระพุทธเจ้า ด้วยการนำทองคำแท่งมาปูจนเต็มทั่วบริเวณนั้น  ฉะนั้น  เชตวนารามจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า อนาถบิณฑิกวนาราม (ผู้แปล) ในขณะเดียวกัน ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ( หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่ทรงคุณธรรม  หากจะแปลตามความหมายอักษร ก็จะมีความหมายว่า ผู้ขอทาน  ซึ่งก็คือต่อบนจะขอแสวงธรรมเพื่อเลี้ยงชีพปัญญา  ต่อล่างจะขอทานอาหารเพื่อเลี้ยงชีพกาย) หมู่ใหญ่ 1,250  รูป  เวลานั้นเป็นเวลาฉันภัตตา (พระพุทธเจ้าจะมีเวลาฉันภัตตาที่แน่นอน ซึ่งหากไม่ถูกต้องต่อเวลาแล้ว พระองค์จะไม่ทรงฉัน กล่าวคือเวลา 03 .00 - 09.00 เป็นเวลาฉันอาหารของเหล่าเทพ ช่วงเวลา 09.00 - 15.00 เป็นเวลากินอาหารของเหล่ามนุษย์ ช่วงเวลา 15.00 - 21 .00เป็นช่วงเวลากินอาหารของสัตว์เดรัจฉาน  ซึ่งเวลาฉันภัตตาที่ได้กล่าวถึงในที่นี้ จะหมายถึงเวลากินอาหารของมนุษย์ ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองจีวร  ทรงบาตร  และเสด็จสู่มหานครสาวัตถีบิณฑบาต อยู่ในเมืองนี้ บิณฑบาตโดยลำดับจนครบถ้วน  ครั้นแล้วเสด็จกลับมายังเชตวนาราม ฉันภัตกิจเสร็จ เก็บบาตรจีวร ชำระพระบาท  จัดแต่งอาสนะแล้วประทับนั่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30/03/2011, 03:33 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๑

                             ความเป็นมาของการประชุมธรรม

ความสังเขป  :  

        สำหรับบรรพนี้ ถือว่าเป็นบทนำของพระสูตร โดยเป็นการประกาศให้สาะุชนได้ทราบว่า งานประชุมธรรมที่เชตวนารามได้เริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้ จากคำดังที่เราได้สดับ จนกระทั่งถึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1,250  รูปนี้ ถือว่าเป็นบทนำสามัญ ซึ่งได้กล่าวถึงพิธีการตรัสเทศนาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนตอนตั้งแต่เวลานั้น  จนถึง จัดแต่งอาสนะแล้วประทับนั่ง นี้ ถือว่าเป็นบทนำริเริ่ม ซึ่งหมายถึงว่า การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้ริเริ่มการประชุมธรรมในครั้งนี้ ก็เป็นเพราะพระองค์มีพระประสงค์จะให้เวไนยสัตว์ได้กระจ่างในใจจริงที่เป็นองค์แท้  ดังนั้น  พระองค์จึงได้อาศัยออกบิณฑบาตเป็นการริเริ่มพระสูตร เพื่อให้เวไนยสัตว์ได้มีความเข้าใจว่า โดยแท้จริงแล้ว เวไนยสัตว์ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับพระพุทธะเลย ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้จาก พระอริยาบทในชีวิตประจำวัน คือ เดิน  ยืน  นั่ง  นอน  การกิน  การสวมใส่  ที่พระองค์ได้แสดงออกในพระสูตรนี้นั่นเอง
        หากเราตั้งใจในการพินิจสักนิด ก็จะสามารถเข้าใจว่า  การที่พระพุทธองค์ได้ทรงจีวรและทรงบาตรเช่นนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดของการถือศีลของพระองค์เอง การที่พระพุทธองค์ทรงออกบิณฑบาต ก็คือการสอนให้เวไนยสัตว์รู้จักการบริจาคทาน  การที่พระพุทธองค์ทรงออกบิณฑบาตโดยลำดับจนครบจำนวน ก็คือการแสดงถึงขันติโดยไม่มีการแบ่งแยกยากดีมีจน ซึ่งก็คือการเมตตาต่อทุกสิ่งด้วยความเสมอภาค การที่พระพุทธองค์ทรงเก็บบาตรจีวรอย่างเรียบร้อย ก็คือการหยุดไขว่คว้าต่อแสงสีสัมพันธ์ภายนอก เพื่อไม่ให้ใจเกิดความกลัดกลุ้มทุกข์กังวล  การที่พระพุทธองค์ทรงชำระพระบาท  ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการละทิ้งจากฝุ่นโลกีย์และชำระกายกรรมให้หมดไป  การที่พระพุทธองค์ทรงจัดแต่งอาสนะนั้น หมายถึงฌานสมาธิ  คือดำรงด้วยสัมมาทิฏฐิโดยไม่หวั่นไหว และจากนั้นก็ถือว่าได้เตรียมพร้อมสู่การประกาศพระธรรมแล้วนั่นเอง
        จากตรงนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้อีกประการหนึ่งว่า  โลกุตรธรรม (ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก...(พ.ป.) ) ไม่อาจที่จะห่างออกจากโลกียธรรมได้ ดังนั้น  สำหรับพวกเราที่เป็นศิษย์ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ทั้งหลาย  จะต้องศึกษาในศีลวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด  โดยห้ามกินดีอยู่สบาย และปล่อยปละอารมณ์กิเลสของตนเองอย่างเด็ดขาด

อธิบายพระสูตร  :  

        พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นว่า  "สำหรับวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรฉบับนี้ คือ พระสูตรที่เราได้ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนามาด้วยตนเอง สำหรับช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาพระสูตรฉบับนี้  ก็เป็นช่วงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เชตวนารามแห่งเมืองสาวัตถี ซึ่งในเวลานั้นมีองค์ประชุม ที่ประกอบด้วยพระโพธิสัตว์  อรหันต์  และเหล่าสาวก  เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,250  ท่าน  และในขณะนั้นก็เป็นช่วงที่ใกล้เวลาฉันภัตตา  พระพุทธองค์จึงทรงครองจีวร  ทรงบาตร  และเสด็จออกจากเชตวนารามเข้าสู่มหานครสาวัตถีเพื่อออกบิณฑบาต  หลังจากที่ได้บิณฑบาตโดยลำดับจนครบจำนวนแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จกลับสู่อารามเพื่อฉันภัตตา  หลังจากฉันภัตตาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงเก็บบาตร จีวร  ชำระพระบาท  จัดแต่งอาสนะให้เรียบร้อยแล้วจึงประทับนั่ง        

คำศัพท์  :

เวลาฉันภัตตา     :  พระพุทธเจ้าจะมีเวลาฉันภัตตาที่แน่นอน  ซึ่งหากไม่ถูกต้องต่อเวลาแล้ว พระองค์จะไม่ทรงฉัน กล่าวคือ เวลาจาก         03.00 - 09.00   เป็นเวลาฉันอาหารของเหล่าเทพ
ช่วงเวลา  09.00 - 15.00  เป็นเวลากินอาหารของเหล่ามนุษย์
ช่วงเวลา  15.00 - 21.00  เป็นเวลากินอาหารของเหล่าภูตผี
ช่วงเวลา  21.00 - 03.00  เป็นช่วงเวลากินอาหารของสัตว์เดรัจฉาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า   :  เป็นคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า  ซึ่งคำสรรเสริญพระนามของพระพุทะเจ้าจะมีอยู่ 10 พระนามด้วยกันคือ
1.  ตถาคต              :  ผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น
2.  อรหันต์              :  ผู้ห่างไกลจากกิเลสและควรแก่บูชา
3.  สัมมาสัมพุทโธ        :  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
4.  วิชชาจรณสัมปันโน  :  ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ และความประพฤติ
5.  สุคต                 :  ผู้เสด็จไปดีแล้ว
6.  โลกวิทู             :  ผู้รู้แจ้งโลก
7.  อนุตตร             :  ผู้ยอดเยี่ยมหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้
8.  ปุริสธัมสารถิ            :  ผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึก
9.  เทวามนุษย์สาสน์     :  ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
10. พุทธโลกนาถติ       :  ผู้ตื่นแล้วและเป็นที่พึ่งแห่งโลก

บาตร   :  จะมีอยู่  3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

1. ด้านสีสัน            :  บาตรจะมีลักษณะสีเทาดำ  ซึ่งเป็นการเตือนคนเราไม่ให้เกิดอาการแห่งความรักนั่นเอง
2. ด้านเนื้อสัมผัส     :  บาตรจะมีเนื้อหยาบ           ซึ่งเป็นการเตื่อนคนเราไม่ให้เกิดอาการแห่งความโลภนั่นเอง
3. ด้านขนาดบรรจุ    :  บาตรจะมีขนาดพอเหมาะ  ซึ่งหมายถึงอย่าฉันจนเกินกำลัง
นอกจากนี้  การออกบิณฑบาตในแต่ละครั้งจะไม่สามารถเกิน 7 ครัวเรือนได้  ซึ่งถือว่าเป็นการเตือนระงับไม่ให้เกิดจิตละโมภเพื่อปากท้องนั่นเองแล

คำอธิบายแห่งพระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง 10 ข้อนี้ ได้อ้างจาก พ.จ. หมายถึง พจนานุกรมพุทธศาสนา  จีน  สันสกฤต  อังกฤษ  ไทย  จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย 2519  ชาญพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพ ฯ ...(ผู้แปล)

พ.ป.  หมายถึง  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุต.โต) 2538 โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพ ฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/03/2011, 10:02 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๒

                                      สุภะ  ประกาศอันเชิญ

อธิบายบท  :

        สุภะ  ก็คือนามของสุภูตินั่นเองแล  เนื่องจากสุภูติได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังจะตรัสสอนปรัชญาธรรม  ดังนั้น  สุภูติจึงได้สนองต่อโอกาสและทำการประกาศอันเชิญพระสูตรนี้ขึ้น  เราจะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่พระพุทธเจ้าจะทำการเทศนาธรรม ก็จะต้องเป็นรูปแบบของการตั้งปุจฉาวิสัชนา กับเหล่าสาวก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางมาไขความกระจ่างต่อสัจธรรมจนเป็นที่เข้าใจได้ และก็เนื่องด้วยวัชรสูตรฉบับนี้มีความว่างเป็นธรรมประสงค์ อีกทั้งสุภูติยังเป็นเอกในด้านศูนยตา  ฉะนั้น  สุภูติ จึงได้สนองต่อบุญวาระนี้มาประกาศอันเชิญพระสูตรนั่นเองแล

เนื้อหา  : 

        ขณะนั้น  อาวุโสสุภูติที่อยู่ท่ามกลางประชุมสงฆ์ ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ เฉวียงจีวรเปลือยแขนบนไหล่ขวา  คุกเข่าขวาลงพื้น ประคองอัญชลีพลางกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า "หาได้ยากหนักหนา  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ตถาคตทรงคุ้มครองห่วงใยอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์  ทรงอบรมสั่งสอนอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อกุลบุตร กุลธิดาบังเกิดอนุตตรสัมมาสัมโพธิจิตแล้ว  ควรดำรงให้คงอยู่อย่างไร ? และควรสยบจิตนี้อย่างไร ?" พระพุทธองค์ตรัสว่า "เจริญพร เจริญพร สุภูติ ! ดังที่เธอกล่าว ตถาคตทรงค้มครองห่วงใยอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ และอบรมสั่งสอนอันดีต่อเหล่าพระโพธิสัตว์ เธอจงตั้งใจฟัง เราจักแสดงแก่เธอ" "กุลบุตร กุลธิดา  เมื่อบังเกิดอนุตตรสัมมาสัมโพธิจิตแล้ว ควรดำรงจิตของตนให้คงอยู่เช่นนั้น ควรสยบจิตของตนเช่นนั้น"  "สาธุ  พระสุคต !  ข้าพระองค์ก็จะปลาบปลื้มยินดีเฝ้าคอยสดับอยู่"

คำศัพท์  :

1. หาได้ยากหนักหนา  :  เป็นคำอุทานสรรเสริญพระพุทะเจ้า ซึ่ง ณ  ที่นี้จะมีอยู่ 4 ความหมายด้วยกัน
เวลายากจะมี        :  ยากที่จะมีเวลาเช่นนี้ในการเทศนาธรรม
สถานที่ยากจะมี    :  ยากที่จะมีอาณาจักรธรรมอันสง่าโอฬารเช่นนี้
บุญบารมียากจะมี  :  ไม่เพียงแต่พระพุทธองค์เท่านั้นที่มีพระบารมีอันสูงส่ง  แม้แต่ผู้ฟังก็ล้วนแต่เป็นผู้มีคุณธรรมบารมีอันสูงส่งด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ยากจะมี  :  เหตุการณ์ที่ว่าี้นี้หมายถึง มหาเหตุปัจจัยที่ได้มาเทศนาโปรดสัตว์นั่นเอง

2. พระโพธิสัตว์  :  หากลำพังบำเพ็ญแต่ปัญญาเรียกว่า โพธิ  และหากลำพังบำเพ็ญแต่บุญวาสนาเรียกว่าสัตว์  แต่สำหรับผู้ที่บำเพ็ญพร้อมด้วยบุญและปัญญา ก็จะเรียกว่าพระโพธิสัตว์  คำว่าพระโพธิสัตว์ ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ เป็นผู้ที่โปรดสัตว์โดยให้ทั้งตนและผู้อื่นรู้แจ้งด้วยดุจกัน

3. อนุตตรสัมมาสัมโพธิ  :  " อ " มีความหมายว่า  ไร้   "นุตตร" มีความหมายว่า สูงส่ง  "สัม" มีความหมายว่า เที่ยง  "มา" มีความหมายว่า เสมอ  "สัม" คือเที่ยง  "โพธิ"มีความหมายว่า แจ้ง   หากรวมอักษรทั้งหมดก็มีความหมายว่า เป็นความรู้แจ้งและความเสมอยุติธรรมที่เที่ยงตรง โดยไม่มีสิ่งใดจะสู่ส่งเทียบเท่าได้อีกแล้ว  หรือก็คือธรรมญาณของเรานั่นเอง ซึ่งธรรมญาณของเรานี้สามารถครองคลุมทั่วทั้งสากล หากใครรับรู้ก็คือผู้สูงส่ง ฉะนั้น จึงเรียกว่าอนุตตร  แต่ทั้งนี้นั้น เริ่มตั้งแต่ปวงพระพุทธะ  ตลอดจนถึงเหล่าหนอนที่ชอนไชทั้งหลาย ทั้งหมดก็ล้วนได้มีธรรมญาณที่เสมอเหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเรียกว่าสัมมา  และก็เนื่องด้วยเป็นความกลมใสอำไพ ไม่บกพร่อง ไม่ลำเอียง  ดังนั้นจึงเรียกว่าสัมโพธิ

ความสังเขป  : 

        ในบรรพนี้  เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ส่วนของบทสาระแห่งพระสูตรโดยได้กล่าวถึงอาวุโสสุภูติที่ได้กราบบังคมทูลถามคำถาม 2 ข้อต่อพระพุทธองค์ คือข้อที่หนึ่งได้ถามว่า  ควรทำอย่างไรจึงจะดำรงโพธิจิตไม่ให้เสื่อมถอย ?  ส่วนอีกข้อหนึ่งได้ถามว่า ควรจะทำอย่างไรจึงจะสยบอกุศลจิตได้ ? (โพธิจิต ก็คือจิตอันรู้แจ้งที่ได้เป็นมาแต่เดิม)  สำหรับเหตุปัจจัยที่สุภูติได้ทูลถามคำถาม 2 ข้อนี้นั้นก็เป็นเพราะภาพแห่งอริยาบทของการทรงจีวร  ฉันภัตตา  ชำระพระบาท และ ปูอาสนะ  อันเป็นพระอริยาบทอันธรรมดาของพระพุทธองค์นี้นั้น  ได้ทำให้สุภูติเกิดความแจ่มแจ้งในศักยะอันแยบยลแห่ง  ใจที่ไร้ยึดดำรง  นี้ว่า  ไม่สามารถที่จะขาดหายออกจาก องค์แท้แห่งปรัชญา (อันปรัชญาก็คือปัญญาแยบยลนั่นเอง...ผู้แปล) ลักษณ์แท้ ได้เลย  ดังนั้น  จึงได้เกิดความปลายปลื้มและกล่าวอุทานสรรเสริญว่่า "หาได้ยากหนักหนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !" และก็เนื่องจากได้มาบรรจบกับเหตุปัจจัยที่ได้สุกงอมเช่นนี้ี่เองสุภูติจึงได้ทูลถามคำถาม 2 ข้อนี้ขึ้นมา
        โดยที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงร่วมอยู่กับศิษย์สาวกทั้งหลายเป็นเวลาถึง  30 ปี  ซึ่งศิษย์สาวกทุกคนล้วนแต่ยังไม่ทราบถึงพระเจตนาของพระองค์ได้โดยตลอด โดยต่างยังมีใจคิดว่าพระองค์ก็เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น  จึงยังคงมีความสงสัยในพุทธคำสอนของพระองค์อยู่  แต่ในเวลานั้น  สุภูติได้มีความแจ่มแจ้งเข้าใจโดยตลอด  จึงทำให้สุภูติได้เกิดอาการปลาบปลื้มปิติอย่างมิอาจระงับ และนี่จึงเป็นเหตุที่สุภูติได้กราบทูลคำถาม 2 ข้อนี้ขึน  ด้วยเหตุผลประการนี้ คำว่า "หาได้ยากหนักหนา" ที่สุภูตอได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์นั้น จะมิใช่แค่คำสรรเสริญแบบผิวเผินแต่อย่างใด หากแต่เป็นการสรรเสริญแบบปิติในการรู้แจ้ง  ฉะนั้น แก่นสาระแห่งพระสูตรนี้ทั้งฉบับ  ก็คือคำ ๆ นี้นี่เอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๒

                                      สุภะ  ประกาศอันเชิญ

อธิบายพระสูตร  :

        ในขณะที่พระตถาคตกำลังจะประทับนั่งนั้น  สุภูติผู้ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุด  ทั้งด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิในหมู่พุทธสาวกทั้งหลาย ก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งซึ่งอยู่ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์หมู่มาก  สุภูติได้เปลือยไหล่ขวา (เป็นการแสดงถึงการไม่กล้าลบหลู่อาจารย์) คุกเข่าขวาลงกับพื้น (เป็นการแสดงถึงการไม่กล้าผันแปรไปสู่พวกนอกรีต)  มือประคองอัญชลี (เป็นการแสดงถึงสรณะ) และได้กราบต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า (เป็นการแสดงถึงความสำรวม) พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญพระพุทะองค์ว่า "ช่างหาได้ยากหนักหนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! พระพุทธเจ้าทรงคุ้มครองห่วงใยอันดีต่อเหล่าศิษย์ที่ยังไม่บรรลุธรรม และก็ยังทรงมีความทะนุถนอมบ่มสอนต่อเหล่าศิษย์ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! หาก กุลบุตร กุลธิดา ได้บังเกิดโพธิจิตแล้ว ควรทำอย่างไรจึงจะทำให้โพธิจิตดำรงอย่างมั่นคงไม่เสื่อมถอย ? และหากยามที่เขาเหล่านั้นได้บังเกิดอกุศลจิตแล้ว ควรทำอย่างไรจึงจะสยบจิตใจของเขาได้ ?"
        พระพุทะเจ้าตรัสตอบไปว่า "สำหรับคำถาม 2 ข้อที่เธอได้ถามมา ช่างตรงใจของเราเสียจริง ๆ " (ที่แท้แล้ว การที่พระพุทะเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็เพื่อที่จะชี้ทางสว่างให้สัตว์โลกสามารถรู้ถึงจิตเดิมแห่งตน  แต่ก็ช่างน่าเสียดายที่ยังไม่สามารถประสบโอกาสเหมาะเสียที  แธนั้น  นับตั้งแต่ได้ตรัสรู้ธรรมจวบจนถึงบัดนี้ ก็มีอยู่หลายสิ่งที่อยากจะกล่าว แต่ก็ยังมิอาจสบโอกาสที่เหมาะสมได้เลย และ  ณ  บัดนี้ที่มณฑลพิธีแห่งเชตวนาราม  ก้เนื่องด้วยคำถาม  2 ข้อของสุภุูตินี้นี่เอง ที่ได้ทำให้พระพุทะองค์ทรงมีพระหฤทัยที่ปลาบปลื้มปิติเพราะได้คนที่รู้ใจ ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงตรัสชมสุภูติว่า "ถามได้ดียิ่งนัก" )  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่สุภูติต่อไปอีกว่า  "ดังที่เธอได้กล่าวไว้นั้นว่า  "ตถาคตทรงคุ้มครองห่วงใยต่อปวงศิษย์ที่ยังไม่บรรลุธรรม และยังคงคอยอบรมสั่งสอนแก่บรรดาศิษย์ที่ได้บรรลุธรรม" แล้วนั้น  ช่างเป็นคำกล่าวที่ได้กล่าวในสิ่งที่เราอยากจะพูดมานานแล้วหนักหนา  ในเมื่อเธอได้เข้าใจเช่นนี้แล้ว เราก็จะกล่าวแก่พวกเธอเอง  แต่ก่อนอื่นก็ต้องขอเตือนทุกท่านก่อนว่า จะต้องมีความตั้งใจอย่างยิ่งยวดในการฟัง แล้วเราจึงจะแสดงแก่พวกเธอได้"
        "สำหรับกุลบุตร  กุลธิดา  ที่ได้บังเกิดโพธิจิตแล้วนั้น  ก็เท่ากับว่าเขาได้เผยธรรมชาติเดิมแห่งตถาคตออกมาแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้  เขาก็ควรที่จะดำรงจิตเช่นนี้ไว้  และก็ควรที่จะสยบอกุศลจิตทั้งปวงด้วยประการนี้ด้วยเช่นกัน" ( ดั่งที่ว่าจิตธรรมเกิดจิตมนุษย์ถอย   แสงตะวันฉายมืดมิดหาย  ก็คือฉะนี้เองแล) พอกล่าวจบถึงตอนนี้  พระพุทธองค์ยังมีคำที่จะตรัสต่อไปอีก  ซึ่งสุภูติได้เข้าใจจุดนี้ดี จึงได้รับคำว่า  "สาธุ"  พร้อมทั้งยังเป็นตัวแทนของที่ประชุมสงฆ์กล่าวอันเชิญให้พระองค์ตรัสเทศนาต่อ  ซึ่งก็คือไม่ต้องคอยให้พระพุทธองค์ได้ตรัสจบเสียก่อน ก็รีบรับคำว่ายินดีที่จะสดับฟังพระอาจารย์ตรัสต่อไปอีกนั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๓

                                      มหายาน ศาสตร์แท้

อธิบายบท  :

        สาวกโพธิสัตว์คือหีนยาี  ปัจเจกโพธิสัตว์คือมัชฌิมยาน   แต่สำหรับมหายานที่ได้กล่าวถึงในที่นี้  หมายถึงธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มหายาน  โดยที่สาวกยานคือผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจ 4   ปัจเจกพุทธยานคือผู้ที่รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาท 12   มหายานโพธิสัตว์ คือผู้ที่รู้แจ้งในปารมิตา  6  ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างเป็นหลายแขนงสาขา  แต่ความหมายของศาสตร์แท้ที่ได้กล่าวถึง ณ  ที่นี้จะหมายถึงธรรมอันแยบยลยิ่งแห่งปรัชญา  โดยปรัชญาถือว่าเป็นมารดาของปวง

เนื้อหา  :

        พระพุทธองค์ตรัสแก่สุภูติว่า  "เหล่าพระโพธิสัตว์  มหาสัตว์  ควรสยบใจเช่นนี้  สรรสัตว์ทั้งปวง  ไม่ว่าจะเกิดจากอัณฑชะ ก็ดีเกิดจากชลาพุชะ ก็ดี  เกิดจากสังเสทชะ ก็ดี  เกิดจากอุปปติกะ ก็ดี    หรือ  จักมีรูปก้ดี  ไม่มีรูปก้ดี   มีสัญญาหรือไร้ (สิ้น) สัญญาก็ดีหรือจักมิมีสัญญาหรือมิไร้ (สิ้น) สัญญาก็ดี  เราล้วนชักนำเข้าสู่อนุปาทิเสลนิพพาน  และขจัดฉุดช่วย  ด้วยการขจัดฉุดช่วยสรรพสัตว์ที่จำนวนมิอาจประมาณนับได้นี้ ความจริงแล้วหาได้มีสรรพสัตว์ใด ๆ ได้รับการขจัดฉุดช่วยเลย เพราะเหตุใด ?  สุภูติ !  หากพระโพธิสัตว์มีอาตมะลักษณะ  บุคคละลักษณะ  สัตวะลักษณะ  ชีวะลักษณะ  แล้วก็จะมิใช่พระโพธิสัตว์"

ความสังเขป  : 

        สำหรับบรรพนี้  จะเป็นการกล่าวถึงวิธีสยบใจ  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะสานต่อคำถามที่สุภูติได้ถามเอาไว้ในบรรพที่แล้ว  คือ  จะดำรงจิตนี้อย่างไร ?  และจะสยบจิตนี้อย่างไร ? แต่ในบรรพนี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องของการสยบใจ โดยไม่กล่าวถึงเรื่องของการดำรงใจเลย  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการสยบใจด้วยเช่นกัน  ก็คือการดำรงใจด้วยเช่นนี้ดุจกัน ซึ่งก็คือเมื่อสามารถสยบอกุศลจิตนี้ได้แล้ว เรื่องของการดำรง ก็คือการดำรงที่ใจนี้นี่เอง  ดังนั้น พระตถาคตจึงทรงตักเตือนผู้บำเพ็ญเสมอว่า  ยามเมื่อได้บังเกิดอกุศลจิตขึ้นแล้ว ก็จะไม่สามารถดำรงโพธิจิตให้เป็นนิจได้ แต่ถ้าหากประสงค์ที่ดำรงโพธิจิตนี้ไว้เป็นนิจละก็ ก็ควรที่จะหลีกพ้นจากลักษณะ  หากประสงค์จะหลีกพ้นออกจากลักษณะ ก็ควรที่จะแยกแยะลักษณะต่าง ๆ ในแวดล้อมของเราได้
        ในบรรพนี้  ถึงแม้จะเป็นการกล่าวถึงวิธีการสยบใจก็จริง แต่ก็ยังคงเน้นถึงความสำคัญในการแยกแยะปวงลักษณะ อีกทั้งการออกห่างจากลักษณะทั้ง 4  คือ  อาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  นอกจากนี้  ในบรรพนี้มิได้กล่าวถึงกุลบุตร กุลธิดา แต่กลับกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระโพธิสัตว์คือผู้ที่มีใจกว้างใหญ่ อีกทั้งที่ยังเป็นศิษย์ที่ได้บรรลุธรมแล้วนั่นเอง  อนึ่ง  การที่พระพุทะองค์ทรงแสดง วิธีการสยบใจแก่พระโพธิสัตว์นั้น ก็เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า กุลบุตร  กุลธิดาก็สามารภที่จะปฏิบัติตามวิธีการสยบใจเช่นนี้มาสยบใจของตนเองได้  และด้วยวิธีการปฏิบัติเช่นนี้นี่เอง ก็สามารถที่จะดำรงโพธิจิตให้เป็นนิจได้แล้วแล

อธิบายพระสูตร  :

        พระพุทะองค์ตรัสแก่สุภูติว่า "พระโพธิสัตว์  มหาสัตว์ทุกพระองค์ควรที่จะปฏิบัติตามวิธีที่เราได้กล่าวดังต่อไปนี้มาสยบอกุศลจิต  เช่นนี้จึงจะสามารถดำรงโพธิจิตเอาไว้ได้  ส่วนวิธีการสยบจิตใจก็คือต้องหลีกพ้นจาก 4 ลักษณะ  หากจะหลีกพ้นจากลักษณะ ก็ควรที่จะแยกแยะลักษณะทั้งปวงได้ และตอนนี้เราจะขอสรุปลักษณะของเวไนยสัตว์  ซึ่งมีอยู่  10 ประการด้วยกันคือ มีแบบเกิดจากอัณฑชะ  เกิดจากชลาพุชะ  เกิดจากสังเสทชะ  เกิดจากอุปปติกะ  แบบมีรูป  แบบไม่มีรูป  แบบมีสัญญา  แบบไร้ (สิ้น)สัญญา  แบบมิมีสัญญา  แบบมิไร้(สิ้น)สัญญา  ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนี้ล้วนแต่เป็นอกุศลจิตของเวไนยสัตว์ที่ไม่ใช่ใจจริงแห่งพระโพธิสัตว์ และเราก็จักทำการขจัดซึ่งกรรมของพวกเขา อีกทั้งยังจะฉุดช่วยพวกเขาให้พ้นจากการเวียนว่ายในคติทั้ง  6  โดยมิต้องมีการเกิดการตายและเข้าสู่ดินแดนอันวิสุทธิ์ที่อสังขตะไป  และถึงแม้เราจะได้ขจัดฉุดช่วยเวไนยสัตว์อันเหนือคณานับเช่นนี้ก็ตาม แต่โดยความจริงแล้วไม่มีเวไนยสัตว์ใดเลยที่ได้รับการขจัดฉุดช่วยจากเรา นี่เป็นเพราะสาเหตุใดหละ ?  นั่นเป็นเพราะเวไนยสัตว์กับพระโพธิสัตว์ต่างก็มีจิตโพธินี้ดุจกัน แต่สำหรับการขจัดอกุศลจิตและฉุดช่วยเขาให้ย้อนสู่ความวิสุทธิ์ของเขาในตอนนี้นั้น แท้จริงก็คือการย้อนกลับสู่โฉมเดิมที่เคยมี ควรรู้ไว้ว่า ธรรมญาณตนเท่านั้นที่ฉุดช่วยตน มิใช่ตถาคตเราเป็นผู้ฉุดช่วยแต่อย่างใดเลย และ้ช่นนี้จึงจะทำให้ได้รับในสิ่งอื่นได้"
        พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "สุภูติ !  หากพวกเขาได้มีความคิดว่าได้รับการขจัดฉุดช่วยจากเราแล้ว เช่นนี้ก้เท่ากับว่ายังมีความยึดติดในอาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  ชีวะ  อันเป็นลักษณะทั้ง 4 นี้อยู่  ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังคงเป็นเวไนยสัตว์แห่งธรรมญาณตนที่ยังไม่ได้ขจัดฉุดช่วยสู่อนุปาทิเลสนิพพานอยู่ดี และก้แน่นอนว่ายังไม่ใช่พระโพธิสัตว์  สำหรับเหตุผลเช่นนี้ หากพระโพธิสัตว์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ ก็ยังคงเป็นเวไนยสัตวือยู่ดี แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ที่ได้รู้แจ้งเข้าใจเช่นนี้แล้ว จึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ กล่าวคือ โดยแท้จริงแล้วธรรมญาณตนเท่านั้นที่แฉุดช่วยตน โดยที่พระตถาคตไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรกับเขาเลย  และพวกเขาก็ไม่ควรที่จะมีความคิดว่าได้รับการขจัดฉุดช่วยจากพระตถาคต ซึ่งหากพวกเขายังมีความคิดเช่นนี้อยู่ ก็คือยังมีความยึดติดใน 4 ลักษณะ และเช่นนี้ก็จะยังมิใช่พระโพธิสัตว์นั่นเองแล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
             วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร  ฉบับ  พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                                            บรรพที่  ๓

                                      มหายาน ศาสตร์แท้

คำศัพท์  : 

๑ อริยสัจ 4   :  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค   (พ.จ.)

๒ ปฏิจจสมุปบาท  12    มีรายละเอียดดังนี้

1  อวิชชา     (เป็นปัจจัยที่เกิดสังขาร)                   2  สังขาร     (เป็นปัจจัยที่เกิดวิญญาณ)
3  วิญญาณ   (เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป)                 4  นามรูป     (เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ)
5  อายตนะ 6 (เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ)                  6  ผัสสะ       (เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา)
7  เวทนา      (เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา)                 8  ตัณหา      (เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน)
9  อุปาทาน   (เป็นปัจจัยให้เกิดภพ)                     10  ภพ         (เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ)
11  ชาติ       (เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ)             12  ชรามรณะ (เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา)---(พ.จ.)

ปารมิตา  6  :  ทานบารมี  ศีลบารมี  ขันติบารมี  วิริยบารมี  ฌานบารมี  ปัญาบารมี  ----(พ.จ.)

อัณฑชะ      :   เกิดจากครรภ์ ----(พ.จ.)
ชลาพุชะ     :  เกิดจากฟองไข่ ----(พ.จ.)
สังเสทชะ    :  เกิดจากเถ้าไคลความชื้นแฉะ  ----(พ.จ.)
อุปปติกะ      :  เกิดแบบผุดขึ้น  (ไม่ว่าจะเป็นเทวดาก็ดี  สัตวนรกก็ดี  เมื่อเกิดผุดขึ้นก็ใหญ่โตในทันที โดยไม่ต้องผ่านช่วงของทารกเลย และก้เมื่อถึงคราวจุติก็หายวับไปโดยไม่ทิ้งซากไว้ ----(พ.จ.)

1  มหาสัตว์     :  มหา  มีความหมายว่าใหญ่หลวง หมาสัตว์ก็คือพระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมด้วยฌานแห่งการรู้แจ้งที่ยิ่งใหญ่

2  อนุปาทิเลสนิพพาน     :  หมายถึงการไม่หลงเหลือลักษณะมายาแห่งการเกิดดับแม้แต่น้อย  นิพพาน  ก็คือญาณแห่งการรู้แจ้ง  ซึ่งแต่เดิมนั้นก็ไร้การเกิดการดับ  ฉะนั้น  อนุปาทิเลสนิพพานก็คือ มหานิพพานนั่นเอง

3  ขจัดฉุดช่วย    :  ขจัดก็คือการขจัดแห่งลักษณะมายา   ฉุดช่วยก็คือการฟื้นฟูญาณแห่งการรู้แจ้ง  ความหมายของการขจัดฉุดช่วยก็คือ การอาศัยปัญญาอันอำไพมาขจัดความลุ่มหลงอันเป็นความมืดมิดให้หมดไป  ( ขออุปมาดังเช่น การรักษาโรคสายตาของผู้ป่วยหลังจากที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาบำบัดจนได้หายขาดจากโรคตานี้แล้ว สายตาของเขาก็ได้ย้อนกลับสู่ความแจ่มชัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งคุณหมอก็คือผู้รักษาสายตาโรคของเขา  แต่คุณหมอไม่ได้เป็นผู้ที่ให้ความแจ่มชัดของสายตาแก่เขา ดังนั้นเราจึงทราบได้ว่า ความแจ่มชัดคือสิ่งที่สายตาได้มีอยู่แต่เดิม  ส่วนโรคสายตานั้นคือสิ่งที่แต่เดิมไม่เคยได้มีมาก่อน  ก็เพราะแต่เดิมไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นจึงสามารถขจัดได้ และก็เนื่องด้วยเป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมแล้ว ฉะนั้นจึงสามารถฉุดช่วยได้แล)

4  อาตมะลักษณะ     :  ลักษณะก็คือรูปลักษณ์   และเมื่อได้ยึดติดในรูปลักษณ์ ใจก็จะไม่ว่างเปล่า  ซึ่งจะเกิดเป็นความติดข้องและไม่สามารถสลาย เช่นนี้เรียกว่าลักษณะ   สำหรับอาตมะลักษณะนั้น  ก็คือสิ่งใดก็แล้วแต่ที่รักแต่ตัวและเอาแต่ดิ้นรนขวนขวายกับมันตลอดทั้งวัน มีความอยากในทางแก่งแย่งชื่อเสียงฐานะและผลประโยชน์เพื่ออนาคตของตัวเอง อีกทั้งเพื่ออนาคตของลูกหลาน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นอาตมะลักษณะทั้งสิ้น

5  บุคคละลักษณะ     :  หมายถึงทุกสิ่งที่เป็นการแบ่งแยกเขาเรา  เช่นเมื่อเห็นอำนาจทรัพย์สินของผู้อื่นก็จะประจบไขว่คว้าเสียไม่หยุด และเมื่อยามที่เห็นคนอื่นเขาอ่อนแอกว่าก็จะเกิดความรังเกลียดดูแคลนอยู่ตลอดเวลา อิจฉาในสิ่งที่เขามี  ตระหนี่ในสิ่งที่เขาขอ  ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นบุคคละลักษณะทั้งสิ้น

6  สัตวะลักษณะ     :  อันสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดจากรูป  เวทนา  สัญญา  สังขารมาผสมและเกาะกุมกัน หรือเป็นรัก  โลภ  โกรธ  หลง ที่ได้กลบฝังความประภัสสรแห่งญาณเดิม  ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสัตวะลักษณะทั้งสิ้น

7  ชีวะลักษณะ     :  อันสิ่งต่าง ๆ ที่ได้แก่การปักธูปภาวนาวอนขอเพื่อให้ได้บุญวาสนา หรือการปรุงยาเสกฤทธิ์เพื่อให้มีอายุที่วัฒนะ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชีวะลักษณะทั้งสิ้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่ ๔

                  สังขาร  (ดำเนิน) แยบยล  ไร้ดำรง

อธิบายบท  :

        อันว่าดำเนิน (สังขาร) แยบยลนั้นก็คือ ไร้สิ่งที่สามารถดำเนิน และไร้สิ่งที่ได้ดำเนิน  สำหรับความหมายของการดำเนินโดยไร้สิ่งที่ได้ดำเนินนั้นนั้นก็คือ แม้จะดำเนินแต่ก็ไร้การยึดติดดำเนิน  ซึ่งโดยแท้แล้ว วิญญาณที่ 7  ของเราก็คือคำว่า ดำเนิน  หากยังมีสิ่งที่ได้ดำเนิน เช่นนี้ก็มิอาจไร้ดำรงได้ และหากยังมีการดำรง เช่นนี้ก็จะไม่มีการย้อนกลับสู่ความเดิมที่บริสุทธิ์ และแผ่ซ่านไปทั่วทั้งธรรมธาตุได้นั่นเอง  ฉะนั้น  สำหรับหลักอันแยบยลของการ ดำเนินโดยไร้ดำเนิน  ดำรงโดยไร้ดำรง  เช่นนี้  หากมิใช่เป็นโพธิสัตว์ระดับ 9 ระดับ 10 แล้วหละก็ ก็มิอาจที่จะเข้าใจความแยบยลเช่นนี้ได้เลย ด้วยเหตุนี้  สำหรับผู้ที่บำเพ็ญอยู่ในฌาน 4 สมาธิ 4 นั้น  ก็ยังเป็นผู้ที่ไม่สามารถพ้นออกจากภาวะแห่งความทุกข์ของการติดอยู่ในขันธ์ 5 ได้อยู่ดี  สำหรับการดำเนินแยบยลไร้ดำรง ที่ได้กล่าวถึงในบรรพนี้นั้น จะหมายถึงการบริจาคทานโดยไม่ยึดติดในลักษณะ เพราะลักษณะทั้งปวงล้วนแต่เป็นมายา การที่ยึดติดในลักษณะก็คือการยึดติดในมายา  หากไม่ยึดติดในลักษณะ ก็จะไม่ถูกสภาวะแห่งมายาจากภายนอกสั่นคลอนเราได้ เมื่อไม่ถูกสภาวะแห่งมายามาสั่นคลอน เช่นนี้ก็จะไม่เกิดไม่ดับ ซึ่งก็คือร่างเดิมแท้ที่วิสุทธิ์อันเป็นการย้อนกลับสู่โฉมเดิมที่เด่นสง่านั่นเอง และด้วยการดำรงที่ไร้ดำรงเช่นนี้ จึงจะเป็นการดำรงอันแยบยลที่แท้จริงแล

เนื้อหา  :

        "อนึ่ง  สุภูติ !  ในธรรมนั้น พระโพธิสัตว์ควรบริจาคทาน โดยไร้ดำรงกล่าวคือ จักบริจาคทานโดยไร้ดำรงในรูป ไร้ดำรงในเสียงกลิ่น  รส  สัมผัส  และ  ธรรมารมณ์  สุภูติ ! พระโพธิสัตว์ควรบริจาคทานเช่นนี้  โดยไร้ดำรงในลักษณะ เพราะเหตุใด ?  หากพระโพธิสัตว์ไร้ดำรงในลักษณะบริจาคทาน บุญวาสนาที่ได้รับก็จักมิอาจคิดคำนวนได้เลย  สุภูติ !  "ไม่แล   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! "  "สุภูติ !  ทิศทักษิณ  ปัจฉิม  อุดร  ตลอดจนความว่างเปล่าในบนล่างสารทิศสามารถคะเนได้หรือไม่ ?"  "ไม่แล ข้าแต่พระผุ้มีพระภาคเจ้า ! "  "สุ๓ุติ !  พระโพธิสัตว์ไร้ดำรงในลักษณะบริจาคทาน บุญวาสนาที่ได้ย่อมไม่อาจคะเนได้ดุจกัน  สุภูติ !  พระโพธิสัตว์พึงดำรงตามคำสอนเช่นนี้แล"

ความสังเขป  :

        สำหรับบรรพนี้ จะเป็นบรรพที่ได้กล่าวถึงวิธีการดำรงจิตนั่นเองแล อันว่าไร้ดำรงที่ได้กล่าวถึงในที่นี้นั้น หมายถึงภายในไม่ดำรงในอาตมะ ภายนอกไม่ดำรงในบุคคละ ท่ามกลางไม่ดำรงในสิ่งที่บริจาค  ซึ่งจะสามารถอุปมาได้ดั่งกระจกที่ฉายส่องวัตถุ  กล่าวคือ ยามที่วัตถุมาก็ปรากฏภาพ ยามที่วัตถุไปก็ละวางเฉย ซึ่งหมายถึงต้องหลีกพ้นจากอายตนะลักษณะแห่งเวไนยสัตว์ที่มีอยู่ 6 ประการด้วยกันคือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ธรรมารมณ์  นั่นเอง  แต่เหตุใดจึงได้กล่าวเฉพาะบริจาคทานที่ไม่ได้ยึดติดในลักษณะก่อนหละ ? นั่นก็เป็นเพราะในพุทธธรรมนั้นจะมีอยู่ 6 บารมี คือ ทานบารมี  ศีลบารมี  ขันติบารมี  วิริยะบารมี  ฌานบารมี  ปัญญาบารมี  โดยที่ทานบารมีจะขจัดความโลภ ตระหนี่  ศีลบารมีจะขจัดความราคะ  ขันติบารมีจะขจัดความโกรธแค้น  วิริยะบารมีจะขจัดความเกียจคร้าน   ฌานบารมีจะขจัดความฟุ้งซ่าน   ปัญญาบารมีจะขจัดความโง่เขลา  และเป็นที่ยอมรับกันทุกคนว่า งานที่ดีที่สุดในโลกก็คืองานการกุศล และ การบริจาคทาน ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากงานการกุศลได้อีกด้วย ดังนั้น การบริจาคทานจึงถือว่าเป็นที่หนึ่งของบารมี 6  อย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ  และด้วยการมีทัศนะต่อการบริจาคทานเช่นนี้ ประการหนึ่งคือสามารถให้ความสุขแก่ผู้อื่นได้ ส่วนอีกประการหนึ่งคือสามารถขจัดความตระหนี่ของตนเองให้หมดไปได้นั่นเอง  แต่ทว่า  การที่พระโพธิสัตว์เจริญทานนั้น
ก็ควรที่จะไม่ยึดในลักษณะ เพราะหากได้ยึดในลักษณะก็เท่ากับได้ตกสู่สภาวะแห่งอายตนะที่ตาหลงในรูป  หูหลงในเสียง  จมูกชอบในกลิ่น  ปากติดในรส  กายใคร่ในสัมผัส  อีกทั้งใจที่เกิดการแยกแยะเปรียบเทียบได้  ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็เท่ากับว่ายังคงเป็นเวไนยสัตว์แห่งธรรมญาณอยู่ดี  และก็ด้วยการที่มีความโลภเช่นนี้นี่เอง ที่ได้เป็นเหตุให้หลงลืมไปจากโพธิอันเป็นความแจ้งเดิมแท้ของตนไป  แล้วเหตุใดจึงต้องกล่าวถึงรูปก่อนหละ ? นั่นก็เป็นเพราะกรรมของรูปแห่งจักษุอินทรีย์จะมีความหนักหนาเป็นพิเศษ ซึ่งพระตถาคตก็ทรงเป็นห่วงผู้บำเพ็ญในอนาคตกาลจะเกิดใจระแวงที่คิดว่า "แท้จริงแล้ว ก็เพราะต้องการบุญจึงให้บริจาคทาน และหากบอกว่าไม่ให้ดำรงในลักษณะบริจาคทานหละก็ เช่นนี้ก็ต้องเป็นความว่าง  ก็ในเมื่อเป็นความว่างแล้วจะให้มีบุญอย่างไรได้ ?" ด้วยเหตุผลดังนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสเทศนาต่อไปว่า "หากพระโพธิสัตว์ได้บริจาคทานโดยไม่ดำรงในลักษณะแล้ว  บุญที่ได้ก็จะมีความมหาศาลกว่าอย่างมากมายนัก"
        โดยสรุปแล้วก็คือ มาตรว่าการบริจาคทานของพระโพธิสัตว์จะเป็นการทำโดยมุ่งหวังในบุญวาสนาก็จริง  แต่หากจิตใจที่มุ่งหวังในบุญวาสนานี้ได้เกิดยึดติดในลักษณะแล้ว แม้นว่าจะได้รับบุญวาสนาอย่างไร ๆ ก็ตาม  แต่บุญวาสนานี้ก็จะมีไม่มากนัก ในทางตรงกันข้าม หากพระโพธิสัตว์ท่านนี้ได้บริจาคทานโดยหลีกพ้นจากลักษณะ  บุญวาสนาที่ได้รับก็จะมีความยิ่งใหญ่อย่างสุดคณาได้นั่นเอง  นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสถึงบุญวาสนาที่ยิ่งใหญ่มโหฬารแบบนี้ว่า มีความมโหฬารดุจความว่างเปล่าในสากลทิศที่มิอาจคะเนได้ดุจกัน (หากเราได้มองจากทิศบูรพาก็จะมีแต่ทิศปัจฉิม หากเรามองจากทิศทักษิณก็จะมีแต่ทิศอุดร  หากเรามองจากบนก็จะเห็นแต่ล่าง  หากเรามองล่างก็จะเห็นแต่บน  จากตรงนี้ก็ทำให้เราทราบได้ว่า  ทิศทั้ง  4  ล้วนเป็นเพียงแค่นามบัญญัติที่มนุษย์ได้กำหนดขึ้นเท่านั้น  ซึ่งแต่เดิมนั้นก็ไม่ได้มีขอบเขต ไม่ได้มีท่ามกลางอย่างที่ได้บัญญัติขึ้นแต่อย่างใด และเช่นนี้ก็คือความหมายของ"อินทรีย์ 6 ที่กลมกระจ่าง 4 ทิศโปร่งไร้ขวางกั้น" นั่นเอง)

อธิบายพระสูตร  :

        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาต่อไปว่า "สุภูติ !  สำหรับธรรมแห่งอนุตตรสัมมาสัมโพธินั้น พระโพธิสัตว์ไม่ควรที่จะยึดติดลักษณะบริจาคทาน และการที่จะไม่ยึดติดในลักษณะที่บริจาคทานได้นั้น ก็จักต้องมีอินทรีย์ 6  มีความวิสุทธิ์ ให้หลีกพ้นออกจากอายตนะลักษณะ  คือ รูป  เสียง กลิ่น รส สัมผัส  กามารมณ์" (ผู้ให้ลืมการให้  ผู้รับลืมการรับ  อีกทั้งยังต้องลืมถึงสิ่งของที่ได้ให้ไป ด้วยการที่การให้ว่าง  การรับว่าง  สิ่งที่ให้ว่างเช่นกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็น " 3ปัจจัยจักรว่าง")  พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า  "สุภูติ !พระโพธิสัตว์ควรจะไม่ดำรงลักษณะบริจาคทาน ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดหละ ?  นั่นก็เป็นเพราะการดำรงบริจาคทาน ก็จะกลายเป็นกรอบที่ได้ถูกผุกมัดจากการมีัลักษณะเท่านัน เพราะโดยแท้จริงแล้ว อันลักษณะต่าง ๆ ของเวไนย์สัตว์นั้นก็เป็นเหมือนเช่นฝุ่นธุลีซึ่งแม้จะได้รับบุญก็จริง แต๋ก็มิอาจที่จะยั่งยืนได้ และถ้าหากพระโพธิสัตว์ไม่ยึดในลักษณะบริจาคทาน อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติใน 3 ปัจจัยจักรว่างนี้ได้แล้ว เช่นนี้ก็จะไม่มีลักษณะที่จะดำรงได้อีกต่อไป และด้วยบุญที่ไร้ดำรงในลักษณะเช่นนี้ก็จะไม่มีลักษณะที่จะดำรงได้อีกต่อไป และด้วยบุญที่ไร้ดำรงในลักษณะเช่นนี้ จึงจะเป็นบุญที่มิอาจประเมิณปริมาณได้นั่นเองแล"   พระพุทะองค์ทรงแสดงต่อไปว่า "สุภูติ !  เธอคิดว่าความว่างเปล่าของทิศบูรพาอันไพศาลนี้สามารถคะเนได้หรือไม่ ?" สุภูติทูลตอบว่า  "ไม่สามารถที่จะคะเนได้เลย ข้าแต่พระผุ้มีพระภาคเจ้า !"  พระพุทธองค์ทรงถามต่อไปว่า " สุภูติ !  สำหรับทิศปัจฉิม  อุดร  ทักษิณ  ตลอดจนทั้งบนล่างทุกสารทิศนี้สามารถที่จะคะเนได้หรือไม่ ?"  สุภูติทูลตอบว่า " ไม่สามารถที่จะคะเนได้เลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! " พระพุทธองค์ทรงแสดงต่อไปว่า  "สุภูติ !  พระโพธิสัตว์ควรที่จะปฏิบัติตามคำสอนแห่งความคุ้มครองห่วงใยอันดี อบรมสั่งสอนอันดีของเราในการสยบจิตใจเช่นนี้  ในการดำรงเป็นนิจในจิตใจเช่นนี้  โดยมิต้องไปไขว่คว้าการดำรงจิตใจในแบบอื่นอีกเลย"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่ ๔

                  สังขาร  (ดำเนิน) แยบยล  ไร้ดำรง

                                คำศัพท์

สังขาร   :  หนึ่งในขันธ์ 5 ...(ผู้แปล) 
 
วิญญาณ  7 (กลิสตมนวิญาณ)  :  คือหนึ่งใน 8 วิญญาณ  โดย  8 วิญญาณมีรายละเอียดดังนี้  1.จักษุวิญญาณ   2.โสตวิญญาณ   3.ฆานวิญญาณ   4. ชิวหาวิญญาณ   5. กายวิญญาณ  6.มโนวิญญาณ  7.กลิสตมนวิญญาณ  8.อาลยวิญญาณ ...(พ.จ.)

ฌาน 4   :  ปฐมฌาน   ทุติยฌาน   ตติยฌาน   จตุตถฌาน

การบำเพ็ญฌานสมาธิ  4  จะส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นรูปธาตุ คือ ปฐมฌานภูมิ   ทุติยฌานภูมิ   ตติยฌานภูมิ   จตุตถฌานภูมิ...(พ.พ.จ.)

พ.พ.จ.  หมายถึง  พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับภาษาจีน (ฝอเสวียฉางเจี้ยนฉือฮุ่ย) เฉินอี้เซี่ยว .สำนักพิมพ์ ฝอเจี้ยวซูปั่นเซ่อ.พิมพ์ที่ฝูฟงพลิ้นติ้ง (ไต้หวัน)

ขันธ์ 5  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ...(พ.จ.)

บริจาคทาน   :  เป็นหนึ่งในบารมี  6 แห่งพุทธธรรม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น  3 ประเภทคือ  1.ทรัพย์เป็นทาน   2.ธรรมเป็นทาน คือการแสดงธรรมโดยมีความวิริยะไม่เหนื่อยหน่าย  อยู่ในฌานสมาธิโดยไม่ฟุ้งซ่าน  ดำรงในปัญญาโดยไม่ตาลปัตร   3.แรงกายเป็นทาน คือ หากได้มีคนตกอยู่ท่ามกลางความวิตกเดือดร้อน อีกทั้งอยู่ในขอบเขตความสามารถที่เราช่วยเหลือได้ สิ่งที่เราได้ทำลงไปในการคลายความวิตกเดือดร้อนโดยไม่ย่อท้อต่อความยากนั้น เรียกว่าแรงกายเป็นทาน

ความว่างเปล่า   :  ดุจดั่งมิติอันเคว้งคว้างว่างเปล่าในสากลจักรวาลที่ไร้แม้สิ่งขวางกั้นอย่างอณูผง  โดยจะเป็นความปรุโปร่งแจ่มชัด ที่มิใช่สิ่งที่ความคิดจะสามารถคาดเดาเอาได้เลย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
               วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่ ๕

                            ดั่งแท้เห็นจริง   

อธิบายบท   :

        อันว่า "ดั่ง"  นั้น  คือดั่งตถตาแล  ในทั่วทั้งทศภูมิ  ไม่ได้มีธรรมใดที่เที่ยงแท้แม้แต่นิดเดียว เพราะหากว่ามีธรรมที่เที่ยงแท้หละก็ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเพียงแค่มายาลักษณะทั้งสิ้น  อันว่าดั่งแท้นั้น  หมายถึงอย่าได้มีลักษณะแห่งมายามาเห็นตถาคต  แต่ควรที่จะเห็นตถาคตโดยไร้ลักษณะ  มิไร้ลักษณะต่างหาก (อะไรคือ ไร้ลักษณะ ? กล่าวคือ ลักษณะทั้งปวงในโลกนี้ล้วนแต่เป็นภาวะแห่งมายา ซึ่งเดิมทีก็ไม่ได้มีอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงเรียกว่าไร้ลักษณะ และอะไรคือมิไร้ลักษณะ ? กล่าวคือ ธรรมทั้งหลายแห่งทศภูมิ  ก็สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร้ขอบเขตและมีความเสรีโดยไร้ความขัดข้องได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงเรียกว่า มิไร้ลักษณะ) สำหรับการเห็นจริงนั้นคือ เห็นตถาคตแห่งธรรมญาณ  ซึ่งได้มีความแจ้งในธรรมญาณแล้วว่า แท้จริงแล้ว ธรรมญาณมีความว่างเป็นธรรมชาติฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะเห็นตถาคตด้วยลักษณะ  สำหรับคำว่า ดั่งแท้เห็นจริง ก็คือ ไม่ควรที่จะยึดติดลักษณะ อีกทั้งไม่ควรที่จะหลีกพ้นจากลักษณะ เพราะการยึดติดลักษณะนั้น  โดยแท้แล้วก็ล้วนแต่เป็นมายา แต่ถ้าหากคิดจะหลีกพ้นจากลักษณะ การปฏิบัติเช่นนี้ก็จะตกสู่การดับสูญอีก  ฉะนั้น  จึงควรที่จะไม่ยึดและไม่ละ กล่าวคือ ถึงแม้จะมีลักษณะ แต่ไม่เกิดอาการของการดำรงในลักษณะ  เช่นนี้ก็จะเห็นปวงลักษณะ  ซึ่งก็จะพบเห็นตถาคตได้เองแล

เนื้อหา   : 

        "สุภูติ  !  ในความหมายนี้เป็นเช่นไร ?  สามารถอาศัยกายลักษณะเห็นตถาคตได้หรือไม่ ?"   "ไม่แล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ไม่สามารถอาศัยกายลักษณะเห็นตถาคตได้ เพราะเหตุใด ?  กายลักษณะที่พระตถาคตได้ตรัส มิใช่กายลักษณะ"  พระสุคตตรัสแก่สุภูติว่า "ลักษณะที่มีอยู่ทั้งหลายล้วนเป็นมายาหากเห็นเหล่าลักษณะมิใช่ลักษณะ ก็จะเห็นตถาคต

ความสังเขป   :   

        ในบรรพนี้ จะกล่าวถึงการทำลายลักษณะแห่งมายา ซึ่งในบรรพก่อน ๆ ก็ได้กล่าวถึงวิธีการสยบใจไปแล้ว ทั้งนี้  ก็เพราะต้องการให้พระโพธิสัตว์บังเกิดโพธิจิตเช่นนี้นั่นเอง ส่วนกุลบุตร  กุลธิดา โดยทั่ว ๆ ไป ก็ควรที่จะบังเกิดโพธิจิตเช่นนี้ด้วยดุจกัน และถึงแม้พระตถาคตจะทรงสอนไว้เช่นนี้แล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นห่วงศิษย์สาวกทั้งหลายอยู่ กล่าวคือ ในขณะที่พูดนั้นดูเหมือนจะเข้าใจแจ่มแจ้ง แต่ภายในใจก็ยังคงมีความหลงใหลต่อสภาวะภายนอกอยู่ ดังนั้น จึงลองถามสุภูติว่า "สามารถที่จะอาศัยกายลักษณะเห็นตถาคตได้หรือไม่ ?" ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการทดสอบสุภูติว่าจะมีความเข้าใจ "การสยบใจหลีกพ้นลักษณะ" แล้วหรือยัง ครั้งสุภูติถูกถามเช่นนี้ สุภูติก็สามารถเข้าในทันทีได้ว่า นี่คือการลองถามความเข้าใจของสุภูติเอง ดังนั้นจึงกราบทูลพระตถาคตว่า "ไม่สามารถที่จะใช้กายลักษณะ  (รูปกาย) เห็นตถาคตได้"  แท้จริงแล้ว พุทธกายมิได้หมายถึงรูปกายเลย  ซึ่งโดยความจริงนั้นคือ ธรรมกายที่เป็นความว่างแท้อันไร้ลักษณะต่างหาก และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไหนเลยที่จะใช้มังสะจักษุมาเป็นรูปกายแห่งพระตถาคตได้ ?  และไม่เพียงแต่ปุถุชนที่ไม่สามารถเห็นได้เท่านั้น แม้แต่พระโพธิสัตว์แห่งหีนยานก็ไม่อาจเห็นตถาคตได้ด้วยเช่นกัน ในบันทึกแห่งฌานได้กล่าวไว้ว่า "ไผ่หยกเขียวขจี มิต่างไยกับธรรมกายมาลีเหลืองอันเสียดแน่น แท้ก็คือปรัชญาบาน"  ในประโยคได้หมายถึงว่าธรรมกายสามารถแผ่ซ่านไปทั่วทั้งความว่างเปล่าในสากล ซึ่งทุกต้นไม่หย่อมหญ้าล้วนอยู่ในทะเลญาณแห่งตถาคต  สำหรับข้อความประโยคนี้ ได้นำเอาไผ่หยกที่เขียวขจีมาอุปมาให้เกิดความเข้าใจถึง องค์ ที่เป็นธรรมกาย  แต่มิใช่หมายความว่าไผ่หยกนั้นคือธรรมกาย นอกจากนี้ ก็ยังได้เปรียบมาลีเหลืองอันเสียดแน่นมาแสดงให้เห็นถึง ศักยะ  ของปรัชญา  แต่มิใช่หมายความว่ามาลีสีเหลืองก็คือปรัชญา   สำหรับการตอบคำถามสุภูติในขณะนั้น  ก็ได้ทำให้พระตถาคตทรงเข้าพระทัยแล้วว่า สุภูติได้มีความเข้าใจ การสยบใจหลีกพ้นลักษณะ แล้ว  จึงทำให้พระองค์ทรงรู้สึกว่า สุภูติได้มีความคิดที่ตรงกับพระองค์ดีแล้ว ดังนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่สุภูติต่อไปว่า "ไม่เพียงแต่ลักษณะแห่งพระพุทธะที่เป็นเช่นนี้เท่านั้น  แม้กระทั่งลักษณะทั้งปวงในโลกนี้ทั้งหมดก็ล้วนแต่เกิดจากการผสมและการแปรผันจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นมายาเฉกเช่นกัน แต่หากสามารถเห็นเหล่าลักษณะ ดุจดั่งการเห็นแจ้งในโฉมเดิมแท้อันมิใช่อัตตาทัศน์แล้ว เช่นนี้ก็จักไม่เกิดความบกพร่องแห่งการยึดในลักษณะและหลงจากโฉมเดิมได้ และหากยิ่งได้ย้อนมองส่องตนด้วยแล้ว ก็จักรู้ได้ว่าในรูปกายของเราเองนั้น ก็ยังมีกายแห่งธรรมญาณที่ยังคงเปล่งปรากฏในทุกเวลาได้"
        ในบันทึกแห่งคันติ้งได้กล่าวไว้ว่า "ยึดลักษณะหลงจากจริงแท้ ดุจดั่งไกลพันลี้แม้เพียงแค่เอื้อม แต่หากถ่อมใจสัมผัสสรรพสิ่ง ก็จักรู้ว่าทั่วหล้าล้วนชายคาเดียวกัน"  เราจึงทราบได้ว่า ตถาคตมิใช่สิ่งที่ได้มาจากภายนอกเลย  อนึ่ง  ในบรรพนี้ได้ใช้คำว่าเหล่าลักษณะจะมีทั้งมี มีทั้งไร้ มีทั้งมิมี  มีทั้งมิไร้ต่าง ๆ นานา ซึ่งหากจะนับกันแล้วก็จะมีจำนวนเป็นนับร้อย  ดังนั้น  เหล่าลักษณะในที่นี้จึงหมายถึงลักษณะอันมากมายนั่นเองแล

อธิบายพระสูตร   :   

        พระสุคตตรัสต่อไปว่า  "สุภูติ !  เธอมีความเห็นเป็นเช่นไร ? คือผู้บำเพ็ญนั้น สามารถที่จะเห็นรุปกายของตถาคตได้หรือไม่ ?"สุภูติทูลตอบว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า !  ไม่สามารถที่จะเห็นรูปกายของตถาคตได้เลย  ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลใดหละ ? นั่นก็เป็นเพราะกายลักษณะที่พระองค์ตรัสนั้นจะมิใช่กายลักษณะ หากแต่เป็นธรรมกาย ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะเห็นได้" พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "ไม่เพียงแค่นี้เท่านั้น สำหรับลักษณะทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ล้วนแต่เป็นมายาแล้ว เช่นนี้ก็จะสามารถพบลักษณะธรรม (ธรรมสัณฐาน) แห่งตถาคตได้นั่นเองแล"

คำศัพท์   : 

กายลักษณะ         :    หมายถึงรูปกายสังขาร
มิใช่กายลักษณะ   :    หมายถึง ธรรมกาย
ตถาคต               :    ก็คือพุทธญาณของเราเอง
ทศภูมิ                :    พระพุทธภูมิ   พระโพธิสัตว์ภูมิ  พระปัจเจกพุทธภูมิ  พระสาวกภูมิ  เทวภูมิ  มนุษยภูมิ  อสูรภูมิ  นรกภูมิ  เปรตภูมิ  เดรัจฉานภูมิ ......(พ.จ.)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                     วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ฉบับ พระพุทธจี้กงอรรถาธิบาย

                               บรรพที่  ๖

                      ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี

อธิบายบท   :

        ในบรรพก่อนได้กล่าวถึงการไม่ควรเห็นตถาคตด้วยกายลักษณะ  ซึ่งกถาธรรมข้อนี้เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจยิ่งนัก  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงเป็นห่วงเวไนยสัตว์ว่าจะเกิดความสงสัย และสรุปความคิดไปเองว่า  "แท้จริงแล้วไม่ได้มีพระพุทธะเลย"  ด้วยเหตุฉะนี้ พระองค์จึงใช้ปรัชญาอันแยบยลที่ไม่ดำรงในลักษณะมาตรัสสอนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะให้เวไนย์สัตว์ได้ขจัดความสงสัยและเกิดความศรัทธาเที่ยงตรงขึ้นมา  ซึ่งความสงสัยนี้จะเกิดจากสองบรรพที่่แล้ว และการ มิใช่ลักษณะมาเห็นตถาคต นั่นเอง  สำหรับสาเหตุแห่งปัญญาที่ได้ก่อให้เกิดความสงสัยเหล่านี้  ก็ล้วนเป็นเพราะปุถุชนมักบริจาคโดยดำรงในลักษณะ หรือแม้กระทั่งการอยากพบพระพุทธะก็ยังเป็นการดำรงในลักษณะมาพบพระพุทธะเลย ซึ่งปุถุชนไม่เข้าใจว่าการไม่ใช่ดำรงลักษณะบริจาคทานนั้น ปัญญาจะมีความลุ่มลึกมากยิ่งกว่า  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงสอนผู้คนด้วยเหตุ แห่งการไร้ลักษณะเพื่อให้ซึมซาบเข้าสู่ผลแห่งการไร้ลักษณะ และด้วย เหตุ ที่ลึกซึ้ง และผล ที่ลึกซึ้งเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะเชื่อและยากจะเข้าใจยิ่ง ดังนั้นจึงกล่าวว่า "ศรัทธาเที่ยงตรงยากจะมี" แล

เนื้อหา   :

        สุภูติทูลถามพระพุทธองค์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ยังจะมีเวไนยสัตว์ที่ได้สดับพระธรรมบรรยายฉะนี้  แลัวบังเกิดศรัทธาอันเที่ยงแท้หรือไม่ ?"  พระพุทธองค์ตรัสตอบสุภูติว่า "อย่าได้กล่าวเช่นนั้น หลังจากตถาคตดับขันธ์ปรินิพพาน หลัง 500 ปี มีผู้ถือศีลบำเพ็ญบุญที่อาศัยพระธรรมนี้ จนสามารถเกิดใจศรัทธา และถือสิ่งนี้เป็นจริง ควรรู้ว่าคนนี้ ไม่เพียงแต่ปลูกฝังกุศลมูลเฉพาะ 1 พุทธะ   2 พุทธะ,  3, 4, 5  พระพุทธะเท่านั้น  หากแต่เขาได้ปลูกฝังกุศลมูลต่อพระพุทธะอันมิอาจประมาณได้เลย และเมื่อเขาได้สดับฟังพระธรรมดังกล่าว กระทั่งเกิดศรัทธาบริสุทธิ์ สุภูติ !  ตถาคตนั้นรู้หมด เห็นหมด คือ เหล่าเวไนยสัตว์ที่ยึดธรรมฉันนี้  จักได้รับบุญวาสนา อันไร้ขอบเขต เพราะเหตุใด ?  เป็นเพราะเหล่าเวไนยสัตว์ฉันนี้จะไม่กลับไปมี  อาตมะลักษณะ  บุคคละลักษณะ  สัตวะลักษณะ  ชีวะลักษณะ  ไร้ธรรมลักษณะ  อีกทั้งไร้อธรรมลักษณะ  เพราะเหตุใด ? เพราะเหล่าเวไนยสัตว์ฉันนี้ หากมีใจเกิดติดในลักษณะ  ก็คือติดยึดใน อาตมะลักษณะ บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  หากติดในธรรมลักษณะ  ก็คือ ยึดติดในอาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ เพราะเหตุใด ? หากติดในอธรรมลักษณะ ก็คือติดในอาตมะ  บุคคละ  สัตวะ  และชีวะลักษณะ  ฉะนั้น  จึงไม่ควรติดยึดในธรรม ไม่ควรติดยึดในอธรรม  ด้วยความหมายเช่นนี้ ตถาคตมักกล่าวเป็นเสมอว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พึงรู้ว่าธรรมที่เราแสดง  อุปมาดั่งแพ
แม้แต่ธรรมยังต้องละ   นับประสาอะไรกับอธรรมเล่า"   

Tags: