collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะขงจื๊อ สอนคนให้เป็นคน  (อ่าน 23987 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ในยุคราชวงศ์โจว (จิว) สังคมจีนแถบภาคเหนือตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเหลืองที่เรียกกันว่า "จงหยวน" (ตงง้วน) ยังเป็นสังคมยุคทาส นายทาสมิได้มองคนที่เป็น ทาส ว่าเป็น คน ทาสเป็นเหมือนทรัพย์สินสิ่งของ เหมือนสัตว์เลี้ยง ที่นายทาสจะฆ่สแกงอย่างไรก็ได้ สังคมทาสยุคราชวงศ์โจวมั่นคงอยู่ได้ด้วยศาสตร์หรือองค์ความรู้ชนชั้นการปกครอง (นายทาส) ด้วยอำนาจของกองทัพ และด้วนขนบจารีต (หลี่) ที่เคร่งครัดมาก จารีตนี้เป็นตัวกำหนดวิถีและรูปแบบการดำเนินชีวิตของทุกคนตามลำดับขั้นฐานันดรรวมทั้งกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของทุกคนตามลำดับขั้นฐานันดรรวมทั้งกำหนดรูปแบบวิธีการปกครองด้วย
      ผู้วางจารีตยุคราชวงศ์โจวคนสำคัญคือ "โจวกง" (จิวกง) น้องชายของโจวเหวินหวาง (จิวบุ๋นอ๋อง) ปฐมกษััตริย์ราชวงศ์โจว โจวกง ผู้ที่เคยได้ปกครองแคว้นหลู่อันเป็นบ้านเกิดของขงจื๊อในยุคต่อมา
     ขงจื๊อ (551 BC-479 BC) เคารพนับถือโจวกงมากในยุคของท่านราชวงศ์โจวได้ร่วงโรยลงมาจนหมดอำนาจไป แว่นแคว้นต่าง ๆ ล้วนแข่งขันกันขยายอำนาจฮุบกลืนแคว้น ทำสงครามรุกรานกันไม่หยุดหย่อน นักประวัติศาสตร์เรียกยุคนี้ว่ายุค "ชุนชิว"ทุกข์ภัยจากสงครามทำให้ขงจื้อพยายามแก้ไข สร้างสันติสุขขึ้น แนวทางที่ขงจื๊อเชื่อมั้นว่าจะนำสันติสุขกลับคืนมาคือจะต้องทำให้สังคมรักษาขนบจารีตอย่างมั่นคงแบบยุคราชวงศ์โจว นั่นคือขงจื๊อหันไปหาของเก่า นั่นเอง ขงจื๊อมีแนวคิดอนุรักษ์ แต่อย่างไรก็ตามความเป็นจริงในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว คือสังคมยุคชุนชิวได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นหน่ออ่อนของระบบศักดินาแล้ว ทัศนะต่อทาส เปลี่ยนแปลงไป ทาสก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
     ขงจื๊อสอนให้รักทุกคน คุณสมบัติขั้นพี้นฐานของทุกคนคือต้องรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (มี เหญิน) นี่เป็นความก้าวหน้า (จากยุคราชวงศ์โจว) ของแนวคิดขงจื๊อ รากฐานแนวคิดของขงจื๊อคือ ต้องการฟื้นฟูความมั่นคงสมบูรณ์ในสังคมโดยทำให้สังคมหันกลับมาปฏิบัติตามจารีตราชวงศ์โจว (โจวหลี่) อย่างเคร่งครัด
     จุดหมายสูงสุดของขงจื๊อคือ ฟื้นฟูจารีต (หลี่)  แต่ท่านพัฒนาคือเสนอให้คนมีเหญิน (มนุสสธรรม) แล้วจะสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ทำความเลว มิให้ทำผิดศีลธรรม ซึ่งก็จะปฏิบัติได้ตามจารีตนั่นเอง ทุกคนรักษาจารีต เรื่องร้ายที่สร้างความทุกข์ยากในสังคมก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้สังคมมีสันติสุข เหญิน เป็นแก่นแกนของปรัชญาที่ขงจื๊อพัฒนา ขงจื๊อให้ความหมายของเหญินไว้สองนัย
       นัยแรก คือควบคุมเอาชนะตน ฟื้นฟูจารีต นี่คืิ เหญิน (มนุสสธรรม) ขงจื๊อสอนให้คนควบคุมตนเอง เอาชนะตนเอง ควบคุมการดู การฟัง การพูด การกระทำ ให้ถูกต้องตามจารีตราชวงศ์โจว (หลี่)
       นัยที่สอง คือเหญิน หมายถึง รักมนุษย์ การปฏิบัติตนตามเหญิน คือ ตนปรารถนาอยากได้อะไร จงช่วยให้คนอื่นได้เช่นกัน และ สิ่งที่ตนไม่ปรารถนา (จะประสบ) อย่าปฏิบัติต่อคนอื่น เช่นเราไม่ชอบคำด่าว่า แน่นอน เมื่อเราไม่ชอบคำด่า เราก็จงอย่าได้ไปด่าว่าคนอื่นเขา เราทุกข์ยากเวลาเดือดร้อนถูกโกง เราก็อย่าไปโกงคนอื่นเขา คำสอนทำนองนี้ ศาสนาทุกศาสนาสอนไว้ตรงกัน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
      แม้ว่าฝ่ายนักวัตถุนิยมจะวิพากษ์ว่า แนวคิด "ความรักสากล" (รักมนุษย์โดยทัดเทียมกันหมด) เป็นแนวคิดนามธรรมที่ไม่อาจดำรงอยู่จริง เช่นมองว่ามนุษย์มีแบ่งแยกชนชั้น กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด สองชนชั้นนี้ไม่อาจจะรักกัน อย่างจริงใจได้ เหญิน หรือ ความรักสากล  เป็นเพียงคำสอนมอมเมาชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่อง เหญินของขงจื๊อก็ได้สะท้อนความเป็นจริงทางสังคมด้วยเช่นกัน ดังที่เล่าตอนต้นว่า แนวคิดทางศีลธรรมจรรยายุคชุนชิวเปลี่ยนแปลงไปจากยุคทาสสมัยราชวงศ์โจวแล้ว
     มาตรฐานทางศีลธรรมจรรยาในยุคทาสสมัยราชวงศ์โจวนั้น "จารีตพิธีกรรมไม่ตกไปถึงคนชั้นต่ำ การลงอาญาโทษไม่ขึ้นไปถึงขุนนาง"  ทาสเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่พูดได้ เป็นต้น แต่ตกมาถึงยุคขงจื๊อ มีคำสอนให้เห็นความสำคัญราษฏร (หมิน) เช่นต้องทำให้ราษฏรผาสุกร่ำรวย ประมุขจึงจะเป็นสุข คน(ราษฏร) ได้รับการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้น สร้างความสงบสันติสุขในสังคมโดยให้การศึกษา ต่อต้านการลงโทษอาญาที่โหดร้ายทารุณเป็นต้น
    แนวคิดเรื่องเหญิน ถูกพัฒนาขยายขึ้นครอบคลุมไปถึงแนวทางการปกครองแผ่นดินเรียกว่า เหญินเจิ้ง โดย เมิ้งจื๊อ (390 BC-305 BC) มหาปราชญ์อีกท่านหนึ่งในยุคต่อมา
    เม่งจื๊อ หรือ เหมิงจื่อ นามจริงว่า เหมิงเค่อ มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ390 BC-305 BC) เป็นศิษย์ของ ขงจี๋ หลานชายของขงจื๊อ เมิ่งจื๊อเป็นผู้ที่พัฒนาปรัชญาหญูของขงจื๊อไปมาก และได้รับความเคารพยกย่องจากบัณทิตหญู เป็นที่สองรองจากขงจื๊อเพียงผู้เดียวเท่านั้น ในยุคของเมิ่งจื๊อ ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดเจ้าทาสกับศักดินานืยมทวีความรุนแรงขึ้น พูดให้ชัดขึ้นก็คือความคิดของชนชั้นเจ้าทาส (ที่ครอบครองควบคุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่ดินและชีวิตของทาส) กับความคิดของชนชั้นเจ้าที่ดิน (ซึ่งเิกดขึ้นทีหลังมีสิทธิ์ในการครองที่ดินเพราะได้ส่วนแบ่งจากเจ้าทาสมาสะสมไว้แต่ครอบครองควบคุม คน กำกับให้อยู่ติดกับที่ดินตนไม่ได้) ผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าทาสกับชนชั้นเจ้าที่ดินขัดแย้งกัน
     ภาวะสงครามแย่งยึดที่ดินและช่วงชิงกำลังแรงงาน (ราษฏร) เป็นไปอย่างรุนแรงมาก เมิ่งจื๊อเสนอแนวคิดปราณีประนอมแก้ปํญหาด้วยหลักศีลธรรม และหลักมนุสสธรรมคลองธรรม "เจี่ยงต้าวเต๋อ ซัวเหญินอี้ " ใช้หลักการปกครองโดยมนุสสธรรม เหญินเจิ้ง ปฏิรูปสังคมโดยสันติ ให้เกิดการรวมเป็นเอกภาพ โดยสันติ แทนที่จะใช้อำนาจทหารทำสงครามเพื่อยึดครองรวมประเทศแบบที่ก๊กต่าง ๆ กำลังกระทำอยู่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 6/01/2011, 03:44 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       เมิ่งจื๊อ ก็เิดินสายแสดงปาฐก หวังจะโน้มนำราชาแห่งก๊กต่าง ๆ ให้เห็นดีเห็นงามรับการปกครองแบบมนุสสธรรม (เหญินเจิ้ง) ของตนไปปฏิบัติ แต่ก็ไม่มีราชาก๊กไหนเชื่อ พากันมองว่าแนวคิดของเมิ่งจื๊อเหินห่างความเป็นจริงทางสังคมเป็นเพียงแนวคิดเพ้อฝันเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดของเมิ่งจื๊อนั้นเหมาะสมกับยุคศักดินาเหลือเกิน ดังนั้นในยุคต่อ ๆ มาที่สังคมเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคศักดินาเต็มที่แล้ว แนวคิดทางการปกครองของเมิ่งจื๊อจึงกลับมาได้ความนิยมยกย่องกันมาก
      หลักพื้นฐานของการปกครองตามแนวคิดของเมิ่งจื๊อเรียกว่า "หวางต้าว -ขัติยมรรค" เป็นการปกครองโดยพระคุณมิใช่พระเดช เมิ่งจื๊อต่อต้านการใช้สงครามความรุนแรง (พระเดช) เพราะในช่วงชีวิตของท่าน ก๊กต่าง ๆ ทำสงครามฆ่าฟันกันแบบบรรลัยล้างโหดร้ายกันสุด ๆ "พระคุณ" ที่ขัติยะมรรคเสนอก็คือ"การรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคลของราษฏร" นี่นับเป็นข้อเสนอที่รุนแรงคุกคามต่อผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าทาส แต่ก่อประโยชน์สำหรับชนชั้นปกครองในระบบศักดินา เพราะว่าการยินยอมให้ราษฏรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (ส่วนหนึ่ง)ของตน (แล้วรัฐเก็บผลประโยชน์ในรูปแบบภาษี ส่วย เป็นต้น) จะผูกมัดราษฏรไว้ให้อยู่ติดที่ดินทำกิน ชนชั้นเจ้าที่ดินก็จะไม่ขาดแรงงานสำหรับเพาะปลูกในขอบเขตที่ดิน (ก๊ก) ของตน
      เหญินเจิ้ง การปกครองโยมนุสสธรรมของเมิ่งจื๊อ เมิ่งจื๊อบอกว่า "เหญินเจิ้งต้องเริ่มต้นที่ราษฏรมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของตน - เหญินเจิ้งปี้จื้อเจี่ยสื่อ"  คือให้ราษฏรมีทรัพย์สินถาวร ได้แก่ที่ดินปลูกบ้าน ๕ โหม่ว ที่ดินทำกินร้อยโหม่ว แล้วเก็บส่วยจากผลผลิต ๑ ใน ๑๐ ส่วนเมื่อราษฏรมีแหล่งที่มาสำหรับดำรงชีวิต (ที่ดิน)เพียงพอ ราษฏรก็สงบสุขไม่กระด้างกระเดื่อง เจ้าที่ดิน (ซึ่งมีรายได้จากส่วย ๑ในสิบส่วนก็เพียงพอเหลือเฟือแล้ว) ก็ไม่ขาดแรงงานสร้างผลผลิตที่ตน ชาติบ้านเมืองจะสงบสุข ที่สำคัญอยู่ที่เรื่องปากท้องต้องมีกินให้อิ่ม ชนชั้นปกครองก๊กใดทำให้ราษฏรอิ่มท้องมีความสุข ก๊กนั้นก็สงบสุขเจริญรุ่งเรือง แล้วก็จะมีอำนาจเหนือก๊กอื่น ๆ เอง เรียกว่าเอาชนะได้ด้วย "สือเหญินเจิ้งอวี่หมินดำเนินการปกครองโดยมนุสสธรรทต่อราษฏร" และ "จื้อหลี่อี้ปกครองโดยจารีตและคลองธรรม"
      แนวคิด เหญินเจิ้ง ของเมิ่งจื๊อ เสนอให้ "อี่เต๋อฝูเหญิน ใช้คุณธรรมสยบคน" ต่อต้านการ "อี่ลี่ฝูเหญิน-ใช้แรงงาน(อำนจ)สยบคน เสนอให้การปกครองโดย "หวางต้าว-ขันติยมรรค" ต่อต้านการปกครองแบบ "ป่าต้าว-ลัทธิครองความเป็นจ้าว"แก่นแกนความคิด "เหญินเจิ้ง" ของเมิ่งจื๊อคือ "กุ้ยหมิน ให้ความสำคัญต่อราษฏร" เมิ่งจื๊อเสนอว่า หลักการปกครองต้องให้ความสำคัญต่อราษฏรมากที่สุด "ราษฏรสำคัญที่สุด ผู้นำชุมชนรองลงมา ประมุขสำคัญน้อย(เบา)
     รากฐานทางทฤษฏีที่ปรัชญาการปกครองของเมิ่งจื๊อตั้งมั่นอยู่คืิทฤษฏีที่เชื่อว่า "ธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์ดีงาม ดังนั้นจึงให้การศึกษาขัดเกลาอบรมได้ อันจะทำให้ "หวางต้าว" จึงมีชัยชนะเหนือ "ป่าต้าว" ขงจื๊อสอนว่า "เหญิน"เป็นคุณธรรมสูงสุด คำสอนที่คนจีนรุ่นเก่าสอนบุตรหลานนั้นมีประโยคที่น่าสนใจประโยคหนึ่งว่าต้อง "จั้วเหญิน-ปฏิบัติตัวเป็นมนุษย์" คือต้องปฏิบัติคุณธรรม "เหญิน-มนุสสธรรม" นั่นเอง คนที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์แต่ปฏิบัติตัวเลวทรามต่ำช้า สังคมจีนโบราณเขาว่า คนนั้นไม่ใช่มนุษย์ คำสอนให้ "จั้วเหญิน-ปฏิบัติตนเป็นมนุษย์" นั้นดูเหมือนง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วทำยาก สังคมทุกวันนี้กล่นเกลื่อนไปด้วยผู้คนที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์ แต่ขาดมนุสสธรรม ซึ่งก็คือสาเหตุที่เราจะต้องช่วยกันเผยแพร่ธรรมะที่""สอนคนให้เป็นคน""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        คำสอนของลัทธิหญู (ลัทธิขงจื๊อ) เน้นหลักการปกครองชีวิตของคนในโลกนี้ ในสังคมนี้ ไม่เน้นชีวิตในโลกหน้าหรือในสวรรค์นรกเราอาจจะเรียกปรัชญาคำสอนของขงจื๊อว่าโลกียธรรมก็คงพอจะได้เพราะไม่ได้เน้นถึงการบรรลุธรรมให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ หลักการครองชีวิตของขงจื๊อมีหลายข้อ ข้อที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือ "กตัญญูกตเวที" (เซี่ยว) คุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์คือ มีความรักเคารพพ่อแม่ ถ้ากระทั่งความรักพื้นฐานแค่นี้ยังไม่มีแล้ว คน ๆ นั้นจะรู้จักรักเมตตาปราณีคนอื่นหรือ สังคมจีนโบราณนั้นเน้นการเคารพรักเชื่อฟังบิดามารดามากรวมทั้งฝังรากความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพบูชาบรรพบุรุษไว้มาก ดังนั้นไม่ว่าคนจีนจะอพยบของโลกก็ตามก้ยังคงมีความผูกพันกับบ้านเกิดกับดินแดนบรรพชนของตน คิดดูแล้วความเคารพรักพ่อแม่ก็เป็นคุณธรรมพืีนฐานแรกของมนุษย์จริง ๆ เรารู้จักรักเคารพพ่อแม่ก่อนที่จะรู้จักการจงรักภัคดีต่อเจ้านาย (ในยุคศักดินา) ก่อนที่จะรู้จักคุณะรรมระหว่างมิตร คุณธรรมระหว่างสามีภรรยาและบุตร หนังสือตำราสอนเด็ก ๆ จึงเริ่มต้นสอนเด็กจีนด้วยคุณธรรมข้อกตัญญูกตเวทิตาเสมอ
      ในคัมภีร์ซานจื้อจิง - คัมภีร์สามคำ ยกตัวอย่าง : เด็กกตัญญูชื่อหวงเซียง เรื่องนี้เป็นเรื่องในยุคราชวงศ์ตงฮั่น (ค.ศ.๒๕๒๒๐) เด็กชายหวงเซียง (แซ่ หวง ชื่อ เซียง) กำพร้ามารดาตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ เขามีความกตัญญูกตเวทีมากถึงแม้ว่าอายุยังน้อยแต่ก็พยายามทำงานบ้านแทนมารดาที่ตายจากไปเพื่อผ่อนเบาภาระของบิดาที่ต้องทำงานนอกบ้านเหนื่อยมากแล้ว ในยามฤดูหนาว เพื่อที่จะให้บิดานอนสบาย หวงเซียงจึงขึ้นนอนบนเตียงก่อน ใช้อุณภูมิร่างกายของตัวเองทำให้เตียงนอนที่เย็นเฉียบอบอุ่นขึ้น เมื่อบิดามานอนจะได้อุ่นสบาย ในยามฤดูร้อน อากาสร้อนอบอ้าว หวงเซียงจะใช้พัดโบกพัดเสื่อที่นอนหมอนหนุนให้เย็น บิดาจะได้นอนอย่างสบาย หวงเซียงรู้จักปรนนิบัติบิดาด้วยความรักกตัญญูตั้งแต่อายุน้อย ๆ จึงถูกยกย่องเป็นตัวอย่างบุตรกตัญญู
      หนังสือจีนโบราณที่สอนคุณธรรมกตัญญูนั้นมีแพร่หลายในเมืองไทยมานานแล้วเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "ยี่จับสี่เห่า - คนดียี่สิบสี่คน"รวบรวมเรื่องราวของบุตรกตัญญูผู้เป็นแบบอย่าง ๒๔ คน ทั้งหญิง และ ชาย
      คุณธรรมพื้นฐานระดับครอบครัวข้อต่อมาคือ ความเคารพนับถือรักใคร่กลมเกลียวในหมู่พี่น้อง ความสงบสุขนั้นเริ่มจากภายในครอบครัวก่อน บุตรธิดาเคารพกตัญญูบิดามารดา ความสัมพันธ์ระดับรุ่นพ่อกับรุ่นลูกเป็นไปอย่างดีงาม ครอบครัวก็มีความสุข ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นลูกด้วยกันคือ พี่น้อง (น่าสังเกตว่าลัทธิขงจื๊อเน้นแต่ผู้ชาย เพราะยุคโบราณนั้น ผู้หญิงเมื่อแต่งงานออกเรือนไปก็ถือว่าไปเป็นคนของตระกูลอื่นแล้ว) หากพี่น้องมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน น้องเคารพเชื่อฟังพี่ชาย ครอบครัวก็มีความสุข สังคมโบราณยกย่องคุณธรรมบุตรกตัญญูกตเวทิตาและคุณธรรมระหว่างพี่น้อง ว่าด้วยคุณธรรมระดับต้นที่มนุษย์พึงปฏิบัติ สังคมชาวจีนจึงเด่นในเรื่องการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบิดามารดามากเป็นพิเศษ หวงเซียง เป็นตัวอย่างของบุตรกตัญญู  ""ข่งหญง"" (คนในยุคสามก๊ก) เป็นตัวอย่างผู้มีคุณธรรมที่ คุณธรรมระหว่างพี่น้อง ดังเรื่องที่เล่าว่า เมื่อ ข่งหญง อายุเพียง ๔ ขวบ วันหนึ่งมีคนนำสาลี่ตะกร้าหนึ่งมามอบให้ครอบครัวข่งหญง บิดาของข่งหญง ให้ ข่งหญงเลือกหยิบผลสาลี่ก่อนคนอื่น ข่งหญงเลือกเอาผลเล็ก เขามีโอกาสเลือกก่อนเด็กคนอื่น ๆ มักจะชอบเลือกเอาผลใหญ่ ๆ แต่ข่งหญงเลือกเอาผลเล็กที่สุด บิดาข่งหญงสงสัยถามว่า เหตุใดจึงเลือกผลเล็กที่สุดข่งหญงตอบว่า เขาเป็นบุตรคนเล็กสุดควรกินผลเล็กที่สุด พี่ ๆ อายุมากกว่าควรได้กินผลใหญ่กว่า คุณธรรมของจีนในยุคโบราณเขาเป็นอย่างนี้ เมื่อเราศึกษาหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องจีน ๆ ก็ควรจะรับรู้สิ่งพื้นฐานเหล่านี้ไว้ด้วย การอ่านหนังสือหรือศึกษาเรื่องราวจะได้อรรถรสมากขึ้น อัน ""ข่งหญง"" ที่เป็นตัวอย่างสำหรับคุณธรรมข้อที่ คุณธรรมระหว่างพี่น้องคนนี้ เขาเป็นทายาทรุ่นที่ยี่สิบของท่านปรมาจารย์ของท่านขงจื๊อ เกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๓ ในยุคสามก๊ก เขาเป็นปราชญ์ใหญ่คนหนึ่งในกลุ่ม ""เจ็ดปราชญ์ยุคเจี้ยนอัน"" รับราชการได้เป็นถึงข้าหลวงตงไห่ ""ตงไห่ไท่โส่ว"" ต่อมาได้เลื่อนเป็น ""ไท่จงไต้ฟู"" เมื่อคราวที่โจโฉดำริจะยกทัพลงใต้ไปปราบเล่าปี่ และซุนกวน  ข่งหญง (ในเรื่องสามก๊กเรียก"ขงหยง") เขียนฏีกาทัดทานไม่เห็นด้วย โจโฉไม่รับฟัง ข่งหญงเปรยขึ้นว่า "ผู้ไม่มีมนุสสธรรมไปปราบผู้มีมนุสสธรรม"" แล้วมีคนไปฟ้องโจโฉ โจโฉโมโหสั่งประหารชีวิตข่งหญงและบุตร  ข้างต้นเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริงสำหรับเรื่องราวอื่น ๆ ของข่งหญงในนิยายเรื่องสามก๊กนั้นผู้ประพันธ์แต่งเติมใส่สีใส่ไข่เข้าไปอีกมากมาย
      การดำรงชีวิตนั้นอันดับแรกต้องเป็นคนมีคุณธรรมกตัญญูกตเวทิตาต่อบิดามารดา และรักเชื่อฟังในหมู่กลมเกลียวพี่น้อง ผู้เขียนเห็นว่าหลักคำสอนข้อที่สำคัญที่สุดของขงจื๊อคือ "เหญิน - มนุสสธรรม" ดังได้อธิบายไว้ในบทก่อน ๆ แล้ว แต่ทว่าเรื่องความกตัญญูกตเวทิตานี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะคุณธรรมข้อนี้เป็นรากฐานของมนุสสธรรม ถ้าหากคนเราไม่รู้จักรักกตัญญูต่อพ่อแม่แล้ว จะมีความรักเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้อย่างไร ดังที่คัมภีร์หลุนอวี่ บทที่ ๑ หัวข้อที่ ๒ สอนว่า การมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เคารพพี่น้อง คือรากฐานแห่งมนุสสธรรม" บทที่ ๑ หัวข้อที่ ๖ สอนว่า ขงจื๊อกล่าวว่า เมื่อเป็นเด็กต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ต้องเคารพพี่ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำการงานต้องสุขุมรอบคอบ มีสัจจะวาจา ต้องรักประชาชนต้องใกล้ชิดกับผู้มีมนุสสธรรม และศึกษาหาความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม
      ต่อเรื่องการประพฤติปฏิบัติต่อพ่อแม่นั้น ขงจื๊อมีความละเอียดอ่อน กล่าวคำสอนไว้แม้จุดเล็ก ๆ เช่น "ต้องจำวันเกิดของพ่อแม่ให้ได้ ด้านหนึ่งดีใจที่ท่านอายุยืน ด้านหนึ่งก็ห่วงใยว่าท่านอายุมากขึ้นอีกแล้ว" (หลุนอวี่ บทที่ ๔ หัวข้อที่ ๒๑)  ในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกไม่ไปไหนไกล ๆ ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกล ก็ต้องบอกให้พ่อแม่ทราบ (หลุนอวี่ บทที่ ๔ หัวข้อที่ ๑๙) ในเรื่องสำคัญที่สุดของลูกหลานมักประสบคทอพ่อแม่กับลูก มีความเห็นไม่ตรงกัน ขงจื๊อสอนว่า " การปรนนิยัติรับใช้พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีความผิดพลาดต้องเตือนอย่างโน้มน้าวอ้อมค้อม ถ้าพ่อแม่ไม่รับฟัง ก็ยังต้องเคารพนอบน้อม แม้จะเป็นทุกข์กังวล แต่ก็ไม่น้อยใจโกรธเคืองพ่อแม่ ลูกหลานยุคโลกาภิวัตน์ทำได้ถึงขั้นนี้หรือเปล่า !!

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        โลกนี้คนทุกข์คนยากมีมากมายมหาศาลเหลิอเกิน ขงจื๊อเองก็เป็นคนทุกข์คนยากโดยเฉพาะในวัยเด็นวัยเยาวชน ขงจื๊อยากจนมาก และแม้ในวัยผู้ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงว่าเป็รปราชญ์ผู้รู้แล้ว ขงจื๊อก็ใช่ว่าร่ำรวยสุขสบายอะไรนัก ความยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของขงจื๊อคือ ไม่ว่าชีวิตจะทุกข์ยากอย่างไร แต่ก็ไม่เคยงอมืองอเท้า โทษฟ้าดิน โทษคนอื่น ยืนหยัดอดทนสู้ชีวิต มุ่งมั่นสร้างความก้วหน้าไม่หยุดยั้ง ขงจื๊อบอกว่า เมื่อข้าอายุสิบห้า ข้าตั้งปณิธานอยู่ที่การศึกษา อายุสามสิบตั้งมั่นอุดมคติได้ อายุสี่สิบไร้วิจิกิจฉา อายุห้าสิบเข้าใจชะตาฟ้า อายุหกสิบหูข้าก็รื่น (ไม่มีความรู้สึกขัดหูอีก) อายุเจ็ดสิบทำได้ตามใจ โดยไม่เหินห่างจากความถูกต้อง หลักฐานตรงนี้ยืนยันชัดเจนว่า ขงจื๊อพัฒนาความรู้และอุดมคติมาเป็นลำดับ ไม่ใช่ได้อุดมคตินั้นมาลอย ๆ เริ่มแรกขงจื๊อตั้งใจมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังเป็นจุดหมายในชีวิตจากนั้นก็มานะบากบั่นเคี่ยวกรำอย่างหนักให้บรรลุถึงความเป็นบัณฑิต จนสามารถยกฐานะจากคนชั้นต่ำ (ลูกของหญิงขับร้อง หลานของนักดนตรีตาบอด อันเป็นชนชั้นต่ำต้อยมากในสังคมยุคนั้น) เมื่อสูงอายุขึ้น ขงจื๊อละเลิกการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องบทบาททางการเมือง หันไปมุ่งมั่นอบรมให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ
        ต่อการศึกษา ขงจื๊อบอกว่า ต่อผู้ที่พึ่งกำลังตนเอง ควบคุมเรียกร้องตนเองเท่านั้น ข้าจึงจะแนะเคล็ดบางอย่างให้ หากมิใช่ผู้ที่ภายในใจมีความคิดพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ยังลำบากในการถ่ายทอดออกมาเป็นวาจา ข้าก็จะยังไม่แนะเคล็ดให้ถ้าเมื่อข้ายกตัวอย่างอธิบายเขาหนึ่งตัวอย่างแล้ว เขาไม่สามารถขยายให้เป็นสามตัวอย่าง ข้าก็จะไม่แนะเขาอีก
       ขงจื๊อเห็นความสำคัญของ "จิตใจใฝ่เรียน" จิตใจรักความก้าวหน้าของนักเรียน ว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุด ประการต่อมาคือ การยืนหยัด มีความกล้าหาญ ความอดทน ใช้สติปัญญาฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ถึงเป้าหมาย ชีวิตขงจื๊อนั้นลุ่ม ๆ ดอน ๆ มากหลังจากที่เริ่มได้รับการยอมรับเป็นบัณฑิตผู้รอบรู้ มีนักเรียนมาฝากตัวร่ำเรียนบ้าง ขงจื๊อมีใจใฝ่ที่จะเข้าไปปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง ท่านได้พยายามไม่น้อย มีทั้งช่วงที่สำเร็จได้รับเชิญเป็นอำมาตย์ใหญ่ และช่วงตกยากต้องระเหเร่ร่อนเดินทางไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ หาที่พักพิง (เพราะมีศรัตรูทางการเมืองในแคว้นตนเองจนอยู่ไม่ได้
       มีครั้งหนึ่ง ขงจื๊อถูกกองทหารแคว้นหนึ่งปิดล้อมไว้อยู่หลายวัน สถานการณ์อันตรายคับขันมาก มีเพียงขงจื๊อคนเดียวที่ยังนิ่งเฉย ไม่แสดงกิริยาเดือดเนื้อร้อนใจ จื่อลู่ - ศิษย์เอกทนไม่ได้ถามขึ้นว่า "วิญญูชนต้องมาอับจนถึงเช่นนี้ด้วยหรือ" ขงจื๊อตอบว่า "วิญญูชนก็มีโอกาสเผชิญความอับจนเช่นกัน แต่วิญญูชนจัดการแก้ไขทุเลาได้อย่างสงบใจ เหล่าผู้ต่ำต้อยเมื่อตกอยู่ในอันตรายจะอกสั่นขวัญแขวน วุ่นวายสับสน"
       มีขันติธรรม มีสมาธิ สงบใจใคร่ครวญ ไตร่ตรองพิจารณาปัญหา คือ รูปแบบการต่อสู้ชีวิตของขงจื๊อ ข้อนี้เราสมควรเก็บรับไว้เป็นบทเรียนสอนใจ ความสำเร็จของชาวจีนอพยพที่แต่แรกเริ่มมีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ ส่วนหนึ่งก็มาจากอุดมคติแบบขงจื๊อข้อนี้ ซึ่งซึมซาบอยู่ในสายเลือดของพวกเขา
       ขงจื้อแม้จะเข้มงวดต่อตัวเอง มีความมุ่งมั่นเรียกร้องตัวเองสูง แต่ต่อผู้อื่น ขงจื้อก็มีความเข้าอกเข้าใจและเปี่ยมด้วยมนุสสธรรมเสมอ ในคัมภีร์หลุนอวี่ มีบันทึกคำวิจารย์ขงจื๊อของศิษย์ผู้หนึ่งว่า "มีความสุภาพนุ่มนวล แต่ก็ไม่เสียความเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง แม้จะมีท่าทีให้เกรงขาม แต่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกกดดันบังคับ ให้ความสำคัญของขนบจารีตมารยาท แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด อดทน มีสติ มีมานะ ใช้ปัญญา ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจ ไม่ว่าความยากลำบากแค่ไหน เราจักฝ่าข้ามไป

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      วันหนึ่งจื่อลู่ ศิษย์ขงจื๊อ ถามอาจารย์ว่า "เราจะมีท่าทีปฏิบัติต่อเทพอย่างไรดี" ขงจื๊อ ตอบว่า "รู้เรื่องท่าทีปฏิบัติต่อเทพ ยังไม่ดีเท่ารู้เรื่องท่าทีปฏิบัติต่อมนุษย์หรอก" จื่อลู่ยังสงสัยจึงถามต่อว่า "แล้วความตายนั้น มันเป็นอย่างไรกันแน่" ขงจื๊อหัวเราะฮึฮึฮึ แล้วตอบว่า"เรื่องตอนมีชีวิตยังไม้รู้เลย จะไปรู้เรื่องตายได้อย่างไร" สิ่งที่ขงจื๊อใส่ใจ ไม่ใช่เรื่องชีวิตหลังความตาย ไม่ใช่เรื่องชาติก่อนชาติหน้า แต่ท่านมุ่งเสนอมรรควิถีการดำรงชีวิตที่เป็นจริงในปัจจุบัน มุ่งเสนอวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้คนในสังคม  หลักมนุษยสัมพันธ์เป็นสิ่งหนึ่งที่ขงจื๊อเน้นสั่งสอนศิษย์ หลักพื้นฐานของข้อที่หนึ่ง ซึ่งขงจื๊อเน้นเสมอคือ สัจจะ
       สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ไม่พูดโกหก ไม่ผิดคำสัญญา ในคัมภีร์หลุนอวี่ ขงจื๊อสอนว่า "หากไร้สัจจะ ก็ไม่อาจนับเป็นมนุษย์ แต่ขงจื๊อมีทัศนะเพิ่มเติมว่า "สัจจะ" แบ่งเป็นสัจจะใหญ่  และ สัจจะเล็ก ท่านขงจื๊อว่า"วิญญูชนคิดถึงสัจจะใหญ่ ไม่ถูกผูกมัดอยู่กับสัจจะเล็ก และท่านยังสอนอีกว่า "คำสัญญาถ้าหากสอดคล้องกับคุณธรรม คำพูดนั้นก็จะปรากฏเป็นจริงได้ จุดเหล่านี้เองที่เมิ่งจื๊อ นำมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ถ้าเป็นการทำเพื่อรักษาคุณธรรมแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องผูกมัดอยู่กับสัจจะคำสัญญาเล็ก ๆน้อย ๆ เพื่อทำความดีอแล้ว เราอาจยอมเสียคำพูด ยอมเสียสัจจะได้ นี่เป็นมาตรฐานจริยธรรมแบบโบราณ อย่าด่วนสรุปว่าอะไรผิดอะไรถูก โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยความเป็นจริง เราอาศัยอยู่ท่ามกลางคนดีและคนเลว สิ่งอุดมคตินั้นมีแต่ในฝัน ปรัชญาจีนแนวขงจื๊อนั้นตั้งมั่นอยู่กับโลกที่เป็นความจริง ไม่ต้องไปคิดถึงชาติหน้าชาติก่อน แต่สอนให้ทำตัวให้อยู่รอดและเป็นคนดีที่ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม
      เย่กง บอกขงจื๊อทำนองคุยเขื่องว่า "ที่เมืองของข้าฯ มีคนซื่อตรงคนหนึ่ง พ่อของเขาขโมยแพะมา เขาเลยไปฟ้องร้อง" ขงจื๊อจึงว่า ที่เมืองข้าฯก็มีคนซื่อตรง แต่ว่าไม่เหมือนกับเมืองท่าน คือพ่อช่วยปิดบังให้ลูก ลูกช่วยปิดบังให้พ่อ ความหมายของสัจจะความซื่อตรง ก็อยู่ในเรื่องนี้แหละ" แนวความคิดของขงจื๊อ สัจจะความซื่อตรงมีลำดับความสำคัญมากน้อยต่างกัน ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องดีงามระหว่างเจ้านายกับขุนนาง และราษฏร ระหว่างพ่อกับลูก ระหว่างพี่กับน้อง ระหว่างสามีกับภรรยาการทรยศต่อพ่อ โดยการไปฟ้องร้องว่าพ่อขโมยแพะเป็นสิ่งไม่ควร มองลึกเข้าไปก็คือ สอนให้ราษฏร ขุนนางไม่ควรทรยศต่อประมุขนั่นเอง ในสมัยชุนชิว เจ้าแคว้นฉุ่ ยกทัพไปล้อมแคว้นซ่ง เจ้าแคว้นซ่งขอร้องให้เจ้าแคว้นจิ้นช่วย เจ้าแคว้นจิ้นสั่งให้เจี่ยหยางเดินทางไปแจ้งต่อแคว้นซ่งว่า อย่ายอมแพ้แคว้นฉู่ กองทัพแคว้นจิ้น ออกเดินทางแล้วไม่นานก็จะมาถึง แต่เมื่อเจี่ยหยางเดินทางผ่านแคว้นเจิ้ง ถูกคนแคว้นเจิ้งจับตัวส่งไปให้กองทัพแคว้นฉู่ เจ้าแคว้นฉู่คิดจะซ้อนกลหลอกแคว้นซ่งให้ยอมจำนน จึงให้ของกำนัลติดสินบนเจี่ยหยาง ให้บอกแคว้าซ่งว่าแคว้นจิ้นจะไม่ช่วยแคว้นซ่ง เจี่ยหยางรับปาก แม่ทัพฉู่จึงนำตังเจี่ยหยางขึ้นไปที่หอพักรบ ให้เจี่ยหยางตะโกนคุยกับแม่ทัพแคว้นซ่ง แทนที่เจี่ยหยางจะหลอกลวงแคว้นซ่ง กลับตะโกนบอกความจริงตามที่เจ้าแคว้นจิ้นสั่งมา เจ้าแคว้นฉู่โกรธมาก จับตัวเจี่ยหยางตะคอกถามว่า "เจ้าสัญญารับปากข้าแล้ว แต่ยังกล้ากลอกไม่รักษาสัญญา มิใช่เพราะข้าผิดคำพูด แต่เพราะเจ้าผิดสัญญาเอง เจ้าจึงต้องตาย" เจี่ยหยางว่า "เมื่อประมุขออกคำสั่งนั้นมา คือ อี้ - ความถูกต้องทำนองคลองธรรม เมื่อขุนนางปฏิบัติตามคำสั่งนั้น จนบรรลุนั้นคือ "ซี่น -สัจจะ" สัจจะผนวกเข้ากับการปฏิบัติที่เป็นจริงนั้นคือผลให้ (ประโยชน์) จึงบรรลุเป้าหมายในการพิทักษ์ปกป้องแว่นแคว้น เมื่อตกปากรับคำแล้วก็ไม่ควรจะเสียสัจจะ แต่ถ้าไม่เสียสัจจะก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งสองคำสั่งที่ตรงกันข้ามได้ ท่านติดสินบนข้าเพราะไม่เข้าใจเหตุผลข้อนี้ ข้าได้รับคำสั่งจากประมุขของข้า ถึงจะตายก็ไม่ยอมขัดละเมิดคำสั่ง แล้วข้าจะละโมบต้องการสินบนของท่านได้อย่างไร ที่ข้ารับปากท่าน ก็เพื่อใช้โอกาสนั้นปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ แม้จะตายก็ไม่เสียดายชีวิต เพื่อให้ประมุขของข้ามีขุนนางที่รักษาสัจจะ ข้าพร้อมยอมตาย ไม่เรียกร้องสิ่งใดอีก" เจ้าแคว้นฉู่พลาดท่าเสียค่าโง่ไป เพราะความไม่รอบคอบของตนเอง ฟังเจี่ยหยางแล้วก็ยังมีน้ำใจปล่อยเจี่ยหยางกลับแคว้นจิ้น
        เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาสัจจะใหญ่ หรือ สัจจะเล็ก ทุกเรื่องในโลกนี้เป็นสัมพัทธ์  Relative  ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์  Absalute ความดี ความเลว ก็เช่นกัน เปิดแนวคิดให้กว้าง ใจกว้างสักหน่อย โลกนี้ก็จะไม่ดูอุบาทว์นัก ในอีกแง่มุมหนึ่ง เราอาจมองเรื่องสัจจะใหญ่ สัจจะเล็กว่าคือเรื่องประโยชน์ใหญ่ และ ประโยชน์เล็ก  ปราชญ์จีนสองเรื่องผลประโยชน์ว่ามีประโยชน์ใหญ่ ประโยชน์เล็ก  ประโยชน์ใหญ่คือประโยชน์ต่อบ้านเมือง ประโยชน์ต่อมวลมหาประชาชน  ประโยชน์เล็กคือประโยชน์ส่วนตัว และการจะได้รับประโยชน์ ก็มีแต่ให้ออกไปก่อน  ก่วนจ้ง นักปกครองผู้ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นฉี ก่อนยุคของขงจื๊อสอนว่า เข้าใจว่าการให้ คือการได้รับ นี่คือหลักการปกครองที่มีค่าที่สุด คัมภีร์ "โจวซู" สอนว่า ปรารถนาได้รับสิ่งใด ก็ต้องให้สิ่งนั้นออกไปก่อน  หวงสือกง ปราชญ์เต๋าสอนว่า ได้รับสิ่งใด จงไม่ยึดถือเป็นกรรสสิทธิ์ของตน ได้แว่นแคว้นใด จงตั้งคนแคว้นนั้นเป็นประมุข อย่าตั้งตนเป็นประมุขเสียเอง แผนการเกิดจากตัวเอง แต่ความดีความชอง ต้องมอบให้เหล่าขุนพลและนักรบ สูจงเข้าในทำเช่นนี้จึงจะเกิดประโยชน์ใหญ่ที่สุด จงให้คนอื่นเขาเป็นพญาสามนตราช ตัวเราเป็นโอรสสวรรค์ให้พวกเขารักษาพิทักษ์บ้านเมืองของพวกเขา ให้พวกเขาเก็บรักษาจังกอบอากรกันเอง นี่คือขัตติยะมรรค (หวางต้าว) ปราชญ์ หลูจื่อ สอนว่า พระเจ้าหญาวเลี้ยงดูคนชราผู้ไร้ที่พึ่ง พระเจ้าอวี้ดูแลผู้เคยทำความผิด นี่แลคือสาเหตุที่ขัตตยมรรคในอดีตสามารถเปลี่ยนความอันตรายให้เป็นความสงบสุข คือ สาเหตุที่ท่านได้รับการรำลึกถึงมายาวนาน มีแต่อริยะบุคคลเท่านั้นที่ละเลิกความเห็นแก่ตัวเพื่อรักษาประโยชน์ใหญ่ (ความสงบสุขของบ้านเมืองและประชาราษฏร์) ปราชญ์จีนมิได้ปฏิเสธความเห็นแก่ประโยชน์ ประมุขหรือผู้นำก็ยังมีความเห็นแก่ประโยชน์อยู่ แต่ความเห็นแก่ประโยชน์ของผู้นำนั้น ต้องเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ใหญ่ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์เล็ก (ประโยชน์ส่วนตัว) พระเจ้าซางทาง บอกว่า หากข้ามีความผิดพลาด โปรดอย่าลงโทษทัณฑ์ไปที่ราษฏร แต่หากราษฏรมีความผิดพลาด ข้ายินยอมรับโทษทัณฑ์แทน พระเจ้าซางทางเห็นแก่ประโยชน์ใหญ่คือความสุขของราษฏร จึงยินยอมขอรับโทษจากสวรรค์เสียเอง
         การเมืองควรจะเป็นเรื่องของการจัดสรรค์อำนาจ เพื่อประโยชน์สุขของมวลราษฏร แต่การเมืองไทยมักกลับกลายเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวก เช่นนี้แล้ว ชาวเราจะหาความผาสุกรุ่งเรืองได้อย่างไร ผู้นำทางการเมืองของบ้านเมืองไทย มีอุดมคติที่พลิกกลับด้านอย่างนี้เป็นเรื่องน่าเศร้านัก เมื่อใดเราจึงจะได้นักการเมืองผู้เห็นแก่ประโยชน์ใหญ่ ไม่เห็นแก่ประโยชน์เล็กกันสักที จากตัวอย่างเหล่านี้ ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจหลักการ "วิญญูชนคิดถึงสัจจะใหญ่ ไม่ถูกผูกมัดอยู่กับสัจจะเล็ก" ได้บ้างแล้ว
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      หลักการพื้นฐานของมนุษยสัมพันะ์ที่สมานฉันท์คือ สัจจะ หลักการพื้นฐานของการเมืองที่สมานฉันท์คือ ราษฏรมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ ท่านขงจื๊อสอนเรื่องหลักการพื้นฐานของการเมืองไว้ตั้งแต่สองพันห้าร้อยปีก่อนแล้ว หลักการนี้เริ่มมาจากคำถามของจื่อก้ง จื่อก้งถามอาจารย์ว่า "หลักการสำคัญที่สุดของการเมืองการปกครองคืออะไร" ขงจื๊อตอบว่ามีอยู่สามประการได้แก่ "เสบียงอาหารเพียงพอ  กองทัพแข้มแข็งพร้อมเพียง  ราษฏรมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ" จื่อก้งถามต่อว่า "หากจำเป็นต้องสละทิ้งไปประการหนึ่ง จะสละข้อใดได้ " ขงจื๊อบอกว่า "ควรสละเรื่องการอุดหนุนกองทัพ" จื่อก้งรุกถามถึงที่สุดว่า "หากจำเป็นต้องสละสองประการเลือกจุดสำคัญที่สุดไว้เพียงประการเดียว เราควรเลือกตัดอะไรอีก" ขงจื๊อไม่ลังเลที่จะตอบ "ถ้าเช่นนั้นก็ต้องตัดเรื่องเสบียงอาหาร เหตุด้วยมนุษย์เรานั้นต้องถึงวันตายกันทุกคนไม่มีใครจะหนีพ้น แต่ถ้าราษฏรไม่มีความเชื่อมั่นต่อ "รัฐ" เสียแล้ว เขามีชีวิตอยู่ก็ไม่มีความหมายอะไร" เทียบกับความเป็นจริงในเมืองไทยเอาก็แล้วกันว่า เมื่อชนชั้นปกครองไร้ความสัตย์ซื่อ ชาวบ้านหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลแล้วผลมันเป็นอย่างไร หลักการอยู่ร่วมกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ "เหอ" หรือ ความสมานฉันท์ ความปรองดอง ขงจื๊อสอนไว่ว่า "วิญญูชนสมัครสมานปรองดอง แต่ไม่ประสมประเส พวกหยาบช้าประสมประเสแต่ไม่สมัครสมานปรองดอง วิญญูชนนั้นรักษาอุดมคติ มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็สามารถประสามปรองดอง รังสรรค์พัฒนาสังคมและบ้านเมืองร่วมกับคนอื่น ๆ ได้
     พวกหยาบช้านั้น ไร้อุดมคติของตน ประสมประเสเฮละโลสาระพาตามก้นกันไป แต่ไม่อาจสมัครสมานร่วมมือร่วมใจกันได้อย่างแท้จริง ปัญหาในวงการเมืองไทยรุนแรงซ้ำซาก ก็เพราะหานักการเมืองที่เป็นวิญญูชนได้น้อยนัก มนุษย์สัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกคบเพื่อน ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ ขงจื๊อสอนว่า "อย่าคบคนที่ (คุณธรรม ความรู้) ต่ำกว่าเป็นมิตร และแยกประเภทของเพื่อนไว้สองอย่าง หนึ่งคือเพื่อนที่มีประโยชน์ ได้แก้ผู้ซื่อตรงเที่ยงธรรม สัตย์ซื่อ และมีความรอบรู้กว้างขวาง สองคือเพื่อนที่ไร้ประโยชน์ ได้แก่ผู้ที่หาแต่ความสุขสบาย หลบเลื่องความยากลำบาก ฉกฉวยโอกาส เลือกได้หลีกเสีย ประจบสอพลอ
      เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านที่ผ่านพ้นวัยรุ่นมาแล้ว คงมีบทเรียนเกี่ยวกับเพื่อนด้วยตนเองมาแล้วทุกคน ควรจะสรุปบทเรียน และมองคนให้ออก จัดแบ่งลำดับความสำคัญของเพื่อนแต่ละกลุ่มได้ ที่น่าเป็นห่วง ก็คือวัยรุ่นที่ยังไม่รู้จักคัดเลือกเพื่อน ตรงนี้ ผู้ใหญ่ควรมีส่วนช่วยเหลือแนะนำพวกเขา หลักมนุษยสัมพันธ์ การปฏิบัติตัวต่อผู้มีวัยอาวุโสกว่าตน ขงจื๊อสอนว่า "ต่อเรื่องที่ผู้อาวุโสมิได้เอ่ยปากถาม อย่าเอ่ยปากพูด เมื่อผู้อาวุโสสอบถาม ต้องตอบคำถาม ยามสนทนากับผู้อาวุโสนั้นต้องคอยสังเกตุสีหน้าท่าทีของท่านด้วย"  ผู้บังคับบัญชาก็พอจะเทียบเป็นผู้อาวุโสวัยกว่าเราได้ เพราะฉะนั้น ต่อผู้บังคับบัญชา ก็พึงปฏิบัติตามหลักข้างต้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        แนวคิดของขงจื๊อนั้นเคร่งครัดเข้มงวดต่อตนเองมาก จนบางทีก็เหมือนเป็นเพียงรูปแบบภายนอก ฝ่านเต๋าจึงวิพากษ์ว่า การทำความดีอย่างจงใจ ตั้งใจบังคับตนเองอย่างพวกลัทธิขงจื๊อนั้น ยังไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องแท้จริง ต้องบรรลุอย่างเต๋า ทำไปตามธรรมชาติ (ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมชาติด้านดี ไม่ต้องไปตั้งอกตั้งใจบังคับตนเอง) จีงเป็นทางออกที่ถูกต้องแท้จริง มองทางสายกลางอย่างพุทธศาสนา ก็ให้ทางออกไว้ทั้งสองส่วน คือ ต่างก็ดีทั้งนั้น แนวคิดขงจื๊อเป็นเรื่องระดับจริยธรรม ที่จะจรรโลงความสงบร่มเย็น ความเจริญรุ่งเรืองของสังคม บ้านเมือง
      ขงจื๊อนั้นสอนให้มนุษย์ปฏิบัติตาม "เหญิน" หรือ มนุสสธรรม เป็นอุดมคติสูงสุดที่มนุษย์ควรยึดถือ ศิษย์ผู้หนึ่งถามขงจื๊อถึงสามครั้งว่า เหญินหมายถึงอะไร ขงจื๊อตอบสามครั้งไม่เหมือนกัน ถามครั้งแรก ขงจื๊อตอบว่า""เหญินคือการรักผู้อื่น"" ถามครั้งที่สอง ขงจื๊อตอบว่า ""เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง หากเรื่องใดเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม รู้ทั้งรู้ว่าต้องเหนื่อยยากหนักแต่ผลงานผลได้น้อยก็กล้าที่จะไปปฏิบัติ นี่เรียกว่ามีเหญิน"" ถามครั้งที่สาม ขงจื๊อตอบเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ""ในการครองชีวิตประจำวันต้องให้ความสำคัญกับการงาน ตั้งอกตั้งใจทำงาน ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสัตย์ซื่อ นี่คือมีเหญิน""
     ไม่ทราบว่า อ่านแล้วจะซาบซึ้งกับคำตอบใดกันมากที่สุด สำหรับผู้เขียนเองนั้น คำว่าเหญินก็คือความรักนั่นเอง เป็นความรักต่อมวลมนุษยชาติอย่างเป็นสากล คือรักทุก ๆ คนหากเรามีความรักให้แก่กันทุกคนแล้ว สังคมมนุษย์ย่อมจะมีสันติสุข ธรรมที่เชื่อมโยงคนให้อยู่ร่วมกันได้ก็คือ "ความรัก" แต่ถึงแม้จะมี ""ความรักต่อมนุษยชาติ"" หรือ เหญิน สูงเพียงใด ขงจื๊อก็ยังรังเกียจ รำคาญ ผู้คนบางประเภทอยู่เหมือนกัน
      จื่อก้ง เคยถามขงจื๊อว่าท่านรังเกียจคนแบบไหน ขงจื๊ออธิบายว่าคนที่น่ารังเกียจมีอยู่สี่ประเภท ดังนี้
๑. ชอบพูดข้อด้อยของผู้อื่น
๒. ผู้น้อยล่วงละเมิดต่อผู้ใหญ่
๓. กล้าหาญแต่ไร้จรรยามารยาท
๔. เด็ดเดี่ยวแต่ไม่ฟังความเห็นของผู้อื่น ทำตามอำเภอใจของตนเอง
      คนที่ผิดศีลอย่างชัดเจน ขงจื๊อไม่รำคาญ รังเกียจ แต่กลับรำคาญ รังเกียจคนที่ดูเหมือนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เป็นแบบลวงโลก ทั้งนี้ก็เพราะเป็นคนเลวชัด ๆ นั้นมีโอกาสสร้างความเสียหายได้ไม่ใหญ่หลวง แต่คนเลวที่สวมคราบนักบุญต่างหาก สามารถสร้างความเลวได้ใหญ่หลวงมาก ขงจื๊อสอนว่า คนเราถึงแม้จะแสดงน้ำใจ แสดงความกระตือรือร้น แต่ถ้าการปฏิบัติจริงกับท่าทีภายนอกไม่ตรงกัน แม้ดูจะซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา แต่ทว่ากะล่อนปลิ้นปล้อนเจ้าเล่ห์ คนสามประเภทนี้ ไม่มีทางจะเยียวยารักษาได้ ขงจื๊อยังวิจารณ์ท่วงทำนองของผู้นำไว้อีกว่า ""เป็นผู้นำของคน แต่ขาดความมีใจกว้าง เมื่อประกอบพิธีกรรมก็ขาดความจริงใจ เมื่อร่วมพิธีศพก็ไร้ความโศกเศร้าสร้อยแม้สักนิด ผู้นำแบบนี้ มิควรค่าต่อการกล่าวถึงเลย เมื่อรักผู้อื่น เราก็ย่อมมีความจริงใจ ซื่อตรงต่อผู้อื่น การไร้สัจจะ ไร้ความสัตย์ซื่อต่อผู้อื่น ก็คือไม่มีความรักให้คนอื่นเลย ฉะนั้นสองด้านที่ขงจื๊อสอนคือ เชิดชูกับรังเกียจ แท้จริงก็คือ ด้านสองด้านของเหรียญเดียวกัน คนที่น่ารังเกียจสรุปแล้วก็คือคนที่ไม่มีความสัตย์ซื่อต่อผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีความรักให้ผู้อื่นเลย ควรที่ควรสดุดี อุดมคติที่ควรส่งเสิมคือ "ความรัก - เหญิน" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความซื่อตรงนั่นเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ธรรมะขงจื๊อ สอนคนให้เป็นคน : วิญญูชน
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: 17/01/2011, 06:47 »

        คำว่า ""จวิ้นจื่อ"" ในปรัชญาขงจื๊อเป็นอีกคำหนึ่งที่แปลยาก ในสมัยโราณนั้นหมายถึงคนระดับประมุข แต่ต่อ ๆ มาก็ค่อย ๆ ลดความสูงศักดิ์ลงมาจนหมายถึง "ผู้ดี" หรือ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ" ซึ่งมีผู้รู้แปลไว้ว่า นรชน หรือ วิญญูชน กล่าวในแง่การบริหาร หรือ ผู้นำ หรือ บอส" การที่จะเป็นผู้นำของคน ขององค์กร เป็นผู้แบกรับความผิดชอบสูงกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงต้องมีความรู้ความสามารถ มีบุคคลิกภาพ มีคุณธรรมเพียงพอ อีกทั้งยังต้องพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ก้าวหน้าดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ใครที่เกียจคร้าน ไม่มีวันที่จะได้นั่งตำแหน่งบริหาร
       ท่านขงจื๊อสนใจให้ความสำคัญต่อการอบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ลูกหา สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมารับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะหลังจากที่ท่านเลิกใส่ใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะบริหารบ้านเมือง ท่านก็หันมาทุ่มเทให้กับการสั่งสอนลูกศิษย์อย่างเดียว ขงจื๊อสอนคนให้รู้จักหน้าที่ของคน สอนคนให้สร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข สงบ รุ่งเรือง ท่านเรียกร้องว่าคนที่ดีต้องเป็นจวิ้นจื่อ หรือ วิญญูชน อย่างไรจึงเรียกว่า วิญญูชน
      ขงจื๊อสอนไว้ในคัมภีร์หลุนอวี่ว่า "วิญญูชน ควรจะรับผิดชอบ ทำงานในส่วนรับผิดชอบของตนให้เสร็จโดยเร็ว ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตน อีกทั้งรับฟังคำแนะนำจากผู้ดำรงธรรม ดัดแปลงแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตน วิญญูชนยึดมั่นสัจจะวาจาของตน และปฏิบัติงานด้วยความคล่องแคล่ว ท่านชงจื๊อไม่ชอบพวกดีแต่พูดแล้วไม่ยอมปฏิบัติ ท่านไม่สนับสนุนพวกเล่นวาทะศิลป์ ใช้ฝีปากเอาตัวรอด หรือไต่เต้าสร้างความดีความชอบ ขงจื๊อสอนว่า วิญญูชน เอ่ยปากพูดสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่จำเป็นเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว วิญญูชนมีศักดิ์ศรีแต่ไม่แก่งแย่งแข่งขัน วิญญูชนมีกลุ่ม แต่ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก วิญญูชนถือเกียรติถือศักดิ์ศรี แต่ไม่เย่อหยิ่ง  วิญญูชนสงบเสงี่ยม วิญญูชนย่อมไม่เอะอะมะเทิ่ง ไม่แสดงความตื่นเต้นออกอาการเกินสมควร ทุกขณะมีสติตั้งมั่น สงบพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ด้วยสติปัญญา ใช้ปัญญาไตร่ตรองรอบคอบก่อนจึงแสดงท่าที
       สิ่งที่ท่านขงจื๊อสอนวิญญูชน ยังเป็นคุณสมบัติสำหรับผู้นำในยุคปัจจุบันเสมอ แม้กาลเวลาจะผันผ่านมาถึงสองพันกว่าปีแล้วก็ตาม สมัยนี้มีความเชื่อผิด ๆ ฮิตกันเหมือนแฟชั่นว่า ทำชั่วจะได้ดี ผู้บริหารธุรกิจส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จนั้น ทำงานอย่างไม่สุจริต แต่ก็ยังรุ่งเรืองมีหน้ามีตาในสังคม คนไม่สุจริต เจ้าเล่ห์แสนกล จะเป็นผู้นำ เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จได้จริงหรือ ? บางทีภาพระยะสั้น อาจทำให้ผู้คนหลงไปว่ามันเป็นไปได้ แต่ถ้ามองภาพระยะยาว มองคน ๆ หนึ่งกันทั้งชีวิตก็คงจะเชื่อขงจื๊อว่า...ไม่มีทางหรอก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะในวงการณ์ธุรกิจและวงการเมือง มีตัวอย่างบุคคลที่ได้สวมหัวโขนบทบาทเป็นผู้นำของชาติ เป็นผู้บริหารบ้านเมืองมากมายหลายคน มีธาตุแท้เป็นคนเลว ขาดคุณสมบัติของวิญญูชน ถ้าปล่อยให้สภาพอย่างนี้ ดำรงอยู่ต่อเนื่องยาวนานต่อไป วิญญูชนย่อมหมดเมืองไทยแน่นอน...

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

     คัมภีร์บันทึกคำสอนของขงจื๊อที่เป็นเนื้อหาแท้ ๆ เป็นคำกล่าวของขงจื๊อเอง ไม่ใช่การแปลความของศิษย์รุ่นหลัง ๆ คือคัมภีร์หลุนอวี่  เนื้อหาในหลุนอวี่มีหลากหลาย ถ้าศึกษาดูดี ๆ จะเห็นว่าศิษย์ของขงจื๊อได้จัดเนื้อหาไว้เป็นระบบเหมือนกัน เพียงแต่ระบบในทัศนะของคนโบราณอาจแตกต่างกับระบบที่นักวิชาการสมัยใหม่คุ้นเคย จึงมีบางเสียงวิจารณ์ว่า คัมภีร์หลุนอวี่ จัดรวบรวมคำสอนของขงจื๊อไว้อย่างไม่มีระเบียบ
     ในคัมภีร์หลุนอวี่ มีเนื้อหาตอนหนึ่งอธิบายถึงคุณลักษณะของ "สื้อ" ว่าควรเป็นเช่นไร  "สื้อ" ในยุคโน้น หมายถึงชนชั้นนำในสังคม รวมความไปถึงผู้นำ ปราชญ์และบัณฑิตทั่วไป  จื่อก้งศิษย์ของขงจื๊อถามอาจารย์ว่า "คนที่เป็น สื้อ เป็นคนเช่นไร" ขงจื๊อตอบว่า คนที่รู้จักละอายในคำพูดและการกระทำของตน (มีหิริอัปปะนั่นเอง) คนที่เมื่อถูกส่งไปสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับแคว้นอื่น ก็สามารถทำสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คนเช่นนี้คือสื้อ  จื่อก้งถามต่อว่า สื้อระดับต่ำลงมาชั้นหนึ่ง เป็นคนประเภทใด  ขงจื๊อตอบว่า ภายในวงศ์ตระกูลเรียกเขาว่า บุตรกตัญญู ในหมู่เพื่อนบ้านว่าเขาเป็นคนน่ารักน่าคบ" ฟังดูแล้วก็จะแสนธรรมดา แต่ก้เนื่องจากเป็นความปกติธรรมดานี่เอง เวลาปฏิบัติจริง ๆ จึงลำบากมากทีเดียว  จื่อก้งอาจจะคิดว่ายังปฏิบัติตามยากไปก็ได้ จึงถามอีกว่า "แล้วสื้อที่ต่ำลงไปอีกชั้นหนึ่งละ เป็นคนประเภทใด ทีนี้ขงจื๊ออธิบายว่า คนที่พูดจามีสัจจะ การปฏิบัติต้องมีหัวมีท้าย บุคคลแบบฉบับอย่างนี้ แม้จะไม่มีความสามารถดีเด่นอะไร แต่ก้พอจะกล้อมแกล้มจัดเป็นพวกสื้อได้อยู่ ใช้คำง่าย ๆ ก็คือ คุณสมบัติพื้นฐานของคนชั้นนำในสังคมคือ "คำพูดต้องเป็นสัตย์ การกระทำเห็นผล" จื้อก้งพูดต่อว่า "พวกไม่มีความรู้อะไร จะนับเป็นสื้อได้หรือ..." ฟังน้ำเสียงดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับอาจารย์ ที่ยกให้คุณสมบัติพื้นฐานสองข้อนั้น อยู้สูงกว่ามาตรฐานทางความรู้ความสามารถ แต่ผู้เขียนกับเห็นว่า ขงจื๊อพูดถูก ไม่เชื่อลองเทียบดูกับชนชั้นนำในสังคมไทยสิ เอาคุณสมบัติสองข้อนี้มาเป็นมาตรวัดนักการเมืองไทยแล้วสอบตกเกินครึ่งสภา
       ในยุคโบราณ ""คัมภีร์หลุนอวี่"" เป็นตำราพื้นฐานที่นักศึกษาทุกคนต้องศึกษาค้นคว้าให้แตกฉาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตำราเล่มนี้เลยถูกมองว่าเชยล้าสมัย แต่บัดนี้ ความคิดทำนองนั้นน่าจะต้องแก้ไข นักบริหารถ้าไม่เคยอ่านคัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื๊อ ผู้เขียนเห็นว่าเชย และขี้เท่อด้วย แก่นของคำสอนในคัมภีร์หลุนอวี่คือ ""เหญิน"" หรือมนุสสธรรม ในหลุนอวี่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงมนุสสธรรมถึงหนึ่งส่วนในสิบส่วน มนุสสธรรมในคำสอนนี้โยงไปถึงปัญหาชีวทัศน์ ปัญหาการเมือง ปัญหาการนำ ปัญหามนุษยสัมพันธ์ ซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคนในยุคปัจจุบัน
       อ่านหลุนอวี่แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม จะช่วยพัฒนาตนเอง สร้างเสริมความก้าวหน้าให้เราด้วย ความรู้ทางวิชาเฉพาะ ความรู้ทางเทคโนโลยีจำเป็นแน่นอน แต่จริยศาสตร์ในหลาย ๆ ด้านเช่น มนุษยสัมพันธ์ ชีวทัศน์ปรัชญาของตะวันออก ก้เป็นส่วนที่จำเป็นด้วยเช่นกัน คำสอนของท่านขงจื๊อในคัมภีร์หลุนอวี่ เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองมีอยู่ไม่น้อย เช่น "ท่านขงจื๊อว่า วิถีแห่งการปกครองก๊กระดับที่มีรถม้าศึกพันเล่มคือ ทำงานอย่างเข้มงวดจริงจังและรักษาสัจจะ ประหยัดมัธยัสถ์ และ รักราษฏร เกณฑ์แรงงานราษฏรเหมาะสมตามกาลเวลา" ก๊กที่สามารถมีรถม้าศึกได้ถึงพันเล่มในยุคพุทธกาล นับได้ว่าเป็นก๊กใหญ่ การปกครองประเทศหรือก๊ก ที่สำคัญก็คือ ผุ้นำต้องรักษาสัจจะ
       ในประเทศไทย การไม่รักษาสัจจะของผู้กุมอำนาจรัฐ เคยก่อให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาแล้ว การประหยัดมัธยัสถ์เป็นการแสดงออกถึงความรักราษฏรเพราะถ้าผู้นำฟุ่มเฟือย ก้จะต้องเก็บส่วนจากราษฏรมากทำให้ราษฏรเดือดร้อน ท่านขงจื๊อว่า หากปกครองโดยธรรม ท่านก้เป็นเหมือนดาวเหนือ อยู่ในตำแหน่งมีดวงดาวทั้งปวงแวดล้อม" ท่านขงจื๊อว่า การปกครองโดยระบบการเมือง ระบบกฏหมาย รักษากฏเกณฑ์ด้วยอาญา ราษฏรย่อมหลีกเลี่ยงการกระทำผิด แต่มิได้มีหิริโอตัปปะ และภัคดีด้วยความเต็มใจ "หลู่อายกง ถามว่า ทำอย่างไร ราษฏรจึงจะจงรักภัคดี" ขงจื๊อว่า หากแต่งตั้งบุคคลสัตย์ซื่อให้เป็นใหญ่เหนือกว่าคนชั่ว ราษฏรจะจงรักภัคดี หากแต่งตั้งคนชั่วให้เป็นใหญ่เหนือกว่าคนสัตย์ซื่อ ราษฏรจะไม่จงรักภัคดี" เรื่องอย่างนี้เห็นได้ง่าย รัฐบาลใดมีรัฐบาลคดโกง ที่ประชาชนร้องยี้ ด้วยความรังเกียจละก็ จะได้พลังสนับสนุนจากประชาชนไม่มาก ถ้าเป็นรัฐบาลผสมว่าต้องทนยอมเพราะเข้าใจในเรื่องข้อจำกัดทางการเมืองก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าหากเป็นรัฐบาลที่แข้งแข็งมาก ๆ  มีเสียงในสภาเต็มสภา แล้วยังเลือกคนที่ประชาชนที่เคลือบแคลงในความซื่อสัตย์มาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องรับเสียงโจมตีไม่จบสิ้น ท่านขงจื๊อว่า  ศรัทธามั่นในคุณธรรมจึงปรากฏกาย  หากใต้ฟ้านี้ไม่ดำรงธรรม จงเร้นกายในรัฐที่ดำรงธรรม หากจนและต่ำต้อยเป็นเรื่องน่าอาย ในรัฐที่ไม่ดำรงธรรม หากร่ำรวยและสูงศักดิ์ เป็นเรื่องน่าอาย
      แดนที่มีอันตรายหมายถึง ประเทศที่ดำเนินนโยบายผิด ๆ อันจะนำพาให้เกิดความยุ่งยากอันตราย เช่น นโยบายรุกรานเพื่อนบ้านเป็นต้น แดนที่จลาจลหมายถึง ประเทศที่ปกครองไม่ดี ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านเป็นจลาจลเป็นต้น "จื่อลู่  เจิงเตี่ยน  หญานอิ๋ว  กงชีหัว  นั่งอยู่กัยท่านขงจื๊อ... (ท่านขงจื๊อให้แต่ละคนพูดถึงความใฝ่ฝันของตน) เจิงเตี่ยนว่า ในเดือนสามปลายฤดูวสันต์ เครื่องนุ่งห่ม สำหรับฤดูวสันต์ตัดเย็บเสร็จได้สวมใส่ ข้าไปกับคนห้าหกคนและเด็กอีกหกเจ็ดคน ไปอาบน้ำที่แม่น้ำอี๋ (ทางใต้ของเมืองหลู่) แล้วไปตากลมที่หอขอฝน แล้วเดินร้องเพลงกลับบ้าน ท่านขงจื๊อถอนใจยาวแล้วว่า "เราเห็นด้วยกับเจิงเตี่ยน" ท่านผู้อ่านอย่างงเลย ภาพความใฝ่ฝันนั้น แม้จะแสนธรรมดา แต่ถ้าเมืองใดปกครองไม่ดี บ้านเมืองมีความวุ่นวายยุ่งเหยิง ภาพชีวิตที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ มีความสงบสุขเช่นนั้น ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น คติพจน์บทนี้จึงเกี่ยวพันกับเรื่องการปกครองด้วย  "จื่อก้ง ถามถึงเรื่องการปกครอง ท่านขงจื๊อว่า มีเสบียงอาหารเพียงพอ มีกองทหารเพียงพอ และราษฏรมีความเชื่อมั่นศรัทธา" ท่านขงจื๊อว่า ในการสอบสวนคดีความ เราไม่ต่างจากผู้อื่นดอก แต่ที่ดีที่สุดคือไม่มีคดีความเกิดขึ้นเลย"  ""จี้คังจื่อ ถามขงจื๊อเรื่องการปกครอง ขงจื๊อตอบว่า การปกครองก็คือการซื่อตรง เมื่อท่านซื่อตรงแล้วใครอื่นฤาจะกล้าไม่ซื่อตรง" จี้คังจื่อ กังวลเรื่องโจรขโมย จึงถามไถ่ขงจื๊อ ขงจื๊อว่า หากท่านไม่ละโมบโลภมากแล้วละก็ต่อให้มีรางวัลให้คนเป็นโจรขโมย ก็ไม่มีใครทำ" ท่านขงจื๊อสั่งสอนชนชั้นปกครองได้ตรงไปตรงมาเหลือเกินเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ถ้าหัวไม่สั่น หางก็ไม่กล้ากระดิก เกี่ยวกับเรื่องโจรขโมยที่เกิดจากปัญหาความยากจน ถ้าชนชั้นปกครองไม่ขูดรีดจนทำให้ราษฏรยากจน ใครเล่าอยากจะไปเป็นโจรเป็นขโมย  "จื่อลู่ ถามถึงเรื่องการปกครอง ท่านขงจื๊อว่า สิ่งใดที่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำ ท่านจงกระทำสิ่งนั้นก่อน อภัยแก่ความผิดเล็กน้อย เลือกใช้บุคคลผู้มีความปรีชาสามารถ" จงกง ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนปรีชาสามารถ ท่านขงจื๊อว่า ก็แต่งตั้งคนที่เจ้าเข้าใจรู้จักเขาดีก่อน แล้วเขาจะปกปิดผู้ปรีัชาที่เจ้าไม่รู้จักไว้ทำไม" ผู้เขียนชอบคำที่ท่านขงจื๊อตอกหน้าชนชั้นปกครองที่ว่าการปกครองคือการซื่อตรง หากท่านซื่อตรง แล้วใครจะกล้าไม่ซื่อ
   

Tags: