collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะขงจื๊อ สอนคนให้เป็นคน  (อ่าน 23978 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                                                     ไม้สูงตั้งตรงได้ด้วยเชือกเถาวัลย์ที่พันรัดไว้
                                              โลหะทองคำยังต้องอาศัยหินฝนลับเหลี่ยมจนแหลมคม
                                                    ปัญญาชนผู้ใฝ่รู้ที่คอยกระตุ้นเตือนตนทุกวี่วัน
                                                            ย่อมสามารถบรรลุหนทางธรรม
                                                        อีกทั้งการกระทำย่อมไร้ข้อผิดพลาด

                                                                   คำนำของผู้เขียน

                                                   หลักปฏิบัติตนของคนตะวันออก  :  ธรรมะขงจื๊อ           

                            โลกตะวันตก  โลกตะวันออก 
                            คนตะวันตก    คนตะวันออก     
        ความจริงในทางชีววิทยาก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน วัฒนธรรมยุคบรรพกาลก็ไม่ต่างกัน แต่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมต่างกัน  แนวคิดในการมองโลกและมองชีวิตจึงมีจุดแตกต่างกัน ปราชญ์ตะวันตกเขาเน้นเสมอว่า ตะวันตกคือตะวันตก ตะวันออกคือตะวันออก และไม่มีวันที่ทั้งสองโลกจะมาบรรจบกัน นั่นคือฝรั่งตื่นรู้อยู่เสมอว่า คนตะวันตกกับคนตะวันออกแตกต่างกัน ยากที่จะหลอมรวมกันได้ วิธีการของฝรั่งจึงต้องการเปลี่ยนจิตวิญญาณของคนตะวันออกเสียใหม่ ทำให้คนตะวันออกยอมรับเอาแนวคิดและวัฒนธรรมของตะวันตกว่าเป็นสิ่งเหนือกว่าดีกว่า แล้วนำเอามาปฏิบัติ ซึ่งก็ได้ผลมากทีเดียว แต่ถึงอย่างไร ๆ ก็ไม่อาจจะลบล้างวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของคนเอเชียได้ทั้งหมด ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดในญี่ปุ่น
      ญี่ปุ่นเป็นชาติโดดเดี่ยวเพราะเป็นเกาะอยู่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีอัตลักษณ์สูง แต่ก็ยอมรับอารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่าจากภายนอกและยอมเปลี่ยนแปลเพราะอารยธรรมจากภายนอกด้วยเช่นกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นก่อนที่จะกลายเป็นฝรั่งอย่างทุกวันนี้นั้น นอกจากอารยธรรมพื้นเมืองแล้ว ส่วนไม่น้อยของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมที่ถูกเก็บไว้ในแคปซูลเวลาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังของจีนคือประมาณพันห้าร้อยปีที่แล้วเพราะรับอิทธิพลจีนจากราชวงศ์ถังไว้อย่างเต็มที่ และก็ยังรักษามันไว้ได้ ญี่ปุ่นมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อถูกฝรั่งบังคับให้เปิดประเทศ รัฐญี่ปุ่นดำเนินการปฏิรูปเมจิ และปราชญ์ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบคิดว่าต้องทำตามอย่างชาติตะวันตก จึงจะอยู่รอดปลอดภัยในโลกยุคใหม่
     ญี่ปุ่นจึงเป็นชาติแรกในเอเชียที่กลายเป็นประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม และเป็นชาติจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นด้วย เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง คราวนี้ถูกทำให้เป็นแบบอเมริกัน แต่ถึงอย่างไร แม้จนถึงปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจะใกล้เคียงความเป็นอเมริกันมากก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังมีอัตลักษณ์อยู่ คือถึงอย่างไรๆ เสีย การประพฤติปฏิบัติตัวในสังคมก็ยังไม่ใช่คนฝรั่ง อย่างเช่นยังชอบไปติดสินบนเทวดาตามศาลเจ้าชินโตเป็นต้น มองไปทางจีน  อินเดีย  ชาติมุสลิม  ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่างตะวันตก - ตะวันออกชัดขึ้น
    ยังจำสถานการณ์เมื่อคราวโรคต้มยำกุ้งเล่นงานเศรษฐกิจโลกกันได้หรือไม่ คราวนั้นพวกฝรั่งพลิกกลับ จากที่เคยยกย่องความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติที่มีพื้นฐานแบบวัฒนธรรมขงจื๊อ เช่น เกาหลี  ไต้หวัน  สิงคโปร์ กลายเป๋นโจมตีว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากจุดอ่อนของ "ค่านิยมแบบเอเชีย" ฝรั่งกล่าวโทษค่านิยมแบบเอเชียอย่างไม่จำแนกแยกแยะเพราะไม่ว่าจะเป็น "ค่านิยมแบบตะวันตก" หรือ "ค่านิยมแบบตะวันออก" ก็ตามต่างก็ล้วนมีข้อที่ดีงามถูกต้องและข้อที่ไม่ดีอะไรไม่ดีเราควรยอมรับและปรับปรุงแก้ไข แต่อะไรที่ดีเราก็ควรรักษาไว้
    ฝรั่งโจมตีว่าเศรษฐกิจเชียพัง เพราะนายทุนเอเชียชอบช่วยพรรคพวก ช่วยกันถึงขั้นคอร์รัปชั่น ไม่โปร่งใส ฝรั่งบอกว่าเป็น "ทุนนิยมพวกพ้อง" Crony  Capitalism คนเชียชอบ "เอาพวกพ้องไว้ก่อน" แต่นั่นก็มิใช่มาตรฐานจริยธรรมที่สังคมเอเชียยกย่อง ระบบศีลธรรมของทุกศาสนานั้นแจ่มชัด มีไว้เพื่อรักษาความดีงาม มีไว้เพื่อความสงบสุขในสังคม ลัทธิขงจื๊อก็มีระบบศีลธรรมทำนองเดียวกัน
   การที่ฝรั่งโจมตีประเทศที่มีรากเหง้าวัฒนธรรมจากลัทธิขงจื๊อล้มเหลว เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะค่านิยมเอเชียจึงไม่ถูกต้องเป็นการมองอย่างเหมารวมและผิวเผินเกินไป เหมือนกับเหมาว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา แต่คนในเมืองไทยฆ่ากัน ใช้ความรุนแรงกันมากนักหนา จึงบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะพุทธศาสนา ทุกคนย่อมรู้ว่า มันไม่ใช่เพราะเหตุนี้ การที่คนไทยถอยห่างจากพระพุทธศาสนา นับถือศาสนาแต่เปลือกต่างหากที่ทำให้ศีลธรรมในสังคมด้อยลง ทุกคนย่อมภูมิใจในชาติกำเนิดของตน ไม่ว่าคนตะวันตกคนตะวันออก ต่างก็ล้วนภูมิใจในชาติกำเนิดของตน และความภูมิใจที่ถูกที่ควรนั้นต้องประกอบส่วนด้วยการให้เกียรติคนอื่นยอมรับความเป็นอื่นของผู้อื่นด้วย
     หากถามผู้เขียนว่าหลักแก่นแห่งความภูมิใจในความเป็นคนตะวันออกของผู้เขียนคืออะไร ขอตอบว่าคือเบญจศีลเบญจธรรมของศาสนาพุทธและหลักมนุสสธรรม (เหญิน) 5ข้อ ของขงจื๊อได้แก่ ความสงบเสงี่ยม  ความใจกว้าง  ความมีสัจจะ  ความเฉียบแหลม  ความเอื้ออาทร
    สงบเสงี่ยมย่อมไม่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ใจกว้างย่อมได้รับความชมเชยจากผู้อื่น มีสัจจะย่อมได้รับความวางใจให้ทำงาน เฉียบแหลมย่อมสามารถสร้างผลงานความดี เอื้ออาทรย่อมสามารถมอบหมายงานต่อผู้อื่นได้ง่าย หากผู้ปฏิบัติตนรักษาศีลห้าและธรรมห้า สังคมจะสงบร่มเย็น หากผู้คนปฏิบัติตามหลักห้าประการของขงจื๊อเขาจะมีชีวิตที่สงบจำเริญรุ่งเรืองในกิจการงาน
    นี่เป็นหนึ่งในค่านิยมเอเชียอันดีงามที่สามารถสร้างความสมานฉันท์ ความสงบร่มเย็นในสังคมได้ ผู้เขียนจึงพยายามสรุปความแก่นสำคัญของหลักจริยธรรมในลัทธิขงจื๊อ หรือหญูเจีย เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที แต่ถ้ามีจุดใดบกพร่องผิดพลาด ผู้เขียนยินดีน้อมรับคำติติงแนะนำด้วยความขอบพระคุณ  อนึ่ง  ในการรวมข้อเขียนจัดพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เขียนได้นำงานค้นคว้าของอาจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ผู้เป็นกัลยาณมิตรของผู้เขียนมานับแต่เรียนหนังสือที่วัดเทพศิรินทร์ มารวมพิมพ์ไว้ด้วยเพราะเป็นงานค้นคว้าที่มีประโยชน์มาก อธิบายให้เห็นชัดเจนว่าลัทธิขงจื๊อมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร                                         

                                                                   คารวะธรรม
                                                              ทองแถม  นาถจำนง
                                                                 อาศรมแม่โพสพ                                         

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ขงจื๊อ (๕๕๑ - ๔๗๙ BC) แซ่ข่ง ชื่อ ชิว ฉายาจงนี เป็นชาวอำเภอโจวอี้ ก๊กหลู่ (ปัจจุบันคือแถบตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอชวีฟู่ มณฑลซานตง) เป็นเชื้อสายขุนนาง แต่เนื่องจากมารดาเป็นคนชั้นต่ำ (เป็นลูกสาวของนักดนตรีตาบอดในยุคชุนชิวนักดนตรีตาบอดแม้จะเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องมีในการพิธีกรรม เพราะดนตรีเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในพิธีกรรม แต่ก็ถือเป็นคนชั้นต่ำในสังคม) ครอบครัวของบิดาไม่ยอมรับให้อยู่ในครอบครัว มารดาต้องพาข่งชิว กลับไปอาศัยอยู่กับบิดาของตน (นักดนตรีตาบอด) ข่งชิวมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษา ได้เห็นการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายตั้งแต่วัยเด็ก (ต้องจูงตาไปในงานพิธีกรรม)
    ในวัยหนุ่ม  ข่งชิวเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ดูแลห้องคลังและสัตว์เลี้ยงเป็นต้น เมื่ออายุ ๕๐ ปี ได้เป็นอำมาตย์ยศ ชือโข้ว ทำหน้าที่ควบคุมคุกตะรางและการสอบสวนอยู่สามเดือน ต่อมาได้เดินทางไปเสนอแนวคิดของตนตามก๊กต่าง ๆ เช่น ก๊กเหวย ก๊กเฉิน ก๊กซ่ง ก๊กเติ้ง ก๊กฉี ก๊กฉู่ เป็นต้น แต่เจ้าก๊กต่าง ๆ ไม่สนใจรับไปปฏิบัติ
    ในวัยชรา  เดินทางกลับไปอยู่ก๊กหลู่ ตั้งสำนักศึกษา ทุ่มเทให้กับการศึกษาและการชำระคัมภีร์ต่าง ๆ นับเป็นผู้เริ่มต้นก่อตั้งสำนึกศึกษาเอกชนขึ้น เล่ากันว่าขงจื๊อมีศิษย์ถึงสามพันคน ศิษย์เอกที่มีชื่อเสียงมีถึงเจ็ดสิบกว่าคน
   คำสอนของขงจื๊อได้รับการสืบทอดพัฒนาต่อมา ปราชญ์ลัทธิหญู (ขงจื๊อ) ชื่อต่งจ้งชู (๑๗๙ - ๑๐๔ BC) ทำให้ "ฮั่นอู่ตี้" (ครองราชย์ ๑๔๐ - ๘๘ BC) ยอมรับนับถือลัทธิหญู (ขงจื๊อ) ต่อจากนั้นทุกราชวงศ์ก็รับนับถือลัทธิขงจื๊อตลอดมา ลัทธิขงจื๊อมีพัฒนาการและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
   ในยุคต่อ ๆ มาก็ได้รับคำสอนของเต๋า และพุทธ เข้าไปผสมผสานด้วย ท่านผู้อ่านศึกษาพัฒนาการของปรัชญาขงจื๊อได้จากงานค้นคว้าของ ผศ.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ในภาคผนวก

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ขงจื๊อ เกิดก่อนพุทธศักราช ๘ ปีในยุคชุนชิว แผ่นดินจีนกำลังป่วนปั่น สังคมกำลังอยู่ในช่วงระยะผ่านจากสังคมทาสเป็นสังคมศักดินา แนวคิดดั้งเดิมของขงจื๊อจริง ๆ เป็นความคิดอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรักษาจริยธรรมแบบเก่าๆ เอาไว้ ความคิดรวบยอดของท่านสรุปได้สองคำคือ "หลี่" กับ "เหญิน"
      หลี่ คือจารีตธรรมเนียม ขงจื๊อเน้นการปฏิบัติตัวตามจารีตธรรมเนียมโบราณของยุคราชวงศ์โจว แนวความคิดเรื่อง หลี่ นี้มีมาก่อนขงจื๊อนานแล้ว ผู้ที่วางรากฐานความคิดเรื่องนี้คือ "โจวกง" หรือ "จิวกง" ผู้เป็นปราชญ์คนสำคัญยุคต้นราชวงศ์โจว (ประมาณหนึ่งพันปีก่อนครสต์ศักราช)
     "เหญิน"  แต่ก่อนมักมีผู้แปลว่า เมตตาธรรม ซึ่งไม่ตรงความหมายนัก ผู้เขียนเองก็ยังกำหนดคำแปลให้เป็นที่ยอมรับทั่วกันไม่ได้ จึงขอทดลองใช้คำว่ามนุสสธรรมไปก่อน (ซึ่งไม่ใช่ความหมายของมนุษยธรรม) ความหมายของมันมีสองนัย นัยหนึ่งหมายถึงความรัก ความรักต่อมวลมนุาญชาติ อีกนัยหนึ่งหมายถึงการเอาชนะตัวเองเพื่อปฏิบัติตามจารีตธรรมเนียม แนวคิดเกี่ยวกับ "เหญิน" นี้ เป็นสิ่งใหม่ที่ขงจื๊อพัฒนาขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มนุสสธรรมของขงจื๊อก็ยังอยู่ในกรอบกฏเกณฑ์ของจารีตธรรมเท่านั้น ปรัชญาแนวขงจื๊อ จีนเรียกว่า "หญู" แปลว่า รัก สงบ ทำให้คนสงบสุข ทำให้คนเชื่อฟัง ผู้ที่มีความเชื่อและปฏิบัติตามแนวคิดลัทธินี้เรียกว่า "หญูเจีย" (ชาวลัทธิหญู)
    หลังจากขงจื๊อสิ้นชีพไปแล้ว ลัทธิหญูแตกตัวออกเป็นหลายแนว บางแนวความคิดก็ตรงกันข้ามเลย อย่างเช่น สวินจื่อ (ซุ่นจื้๊อ) กับ หมิงจื่อ (เม่งจื๊อ) เป็นต้น แต่สายที่ได้รับการเชิดชูยอมรับจากชนรุ่นหลังต่อมาคือ สายเม่งจื๊อ  เม่งจื๊อเกิดมาทีหลังขงจื๊อร้อยกว่าปี อยู่ในสังคมที่แตกต่างจากยุคขงจื๊อ แนวความคิดทางการเมืองนั้น เม่งจื๊อแตกต่างจากขงจื๊อ แต่เม่งจื๊อได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับ "เหญิน" ให้เป็นระบบสมบูรณ์ขึ้น และยังได้ผนวกเข้ากับปรัชญาการปกครองเรียกว่า "ขันติยมรรค" (หวางต้าว )- หรือ การปกครองด้วยมนุสสธรรม  เม่งจื๊อได้รับการยกย่องให้เป็นศาสดาลำดับที่สองรองจากขงจื๊อ
     ปลายยุคจั้นกั๋ว (รณรัฐ) สังคมปั่นป่วน แคว้นต่าง ๆ แก่งแย่งอำนาจความเป็นใหญ่ แนวคิดรัฐหญู ไม่เอื้ออำนวยต่อการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ ลัทธิหญูเริ่มเสื่อมความนิยมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้นิยมลัทธินีติวาท (ฝ่าเจีย) ลัทธิหญูถูกสั่งห้ามเผยแพร่ นับเป็นช่วงตกต่ำสุดขีดของลัทธิหญู กาลผ่านมาจนกระทั่ง เล่าปังก่อ ตั้งราชวงศ์ฮั่นแล้ว จึงมีนักลัทธิหญูคนหนึ่งชื่อ ต่งจ้งชู  ประยุกต์ลัทธิหญู รับเอาแนวคิดลัทธิหยินหยางเข้ามาผสม เลือกเน้นคำสอนที่ช้วยสร้างความมั่นคงให้อำนาจฮ่องเต้ เช่น "ฟ้าไม่เปลี่ยนมรรคย่อมไม่เปลี่ยน" ต่งจ้งซูสามารถทำให้จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือฮั่นบู๊เต้ ยอมรับลัทธิหญูเป็นจริยธรรมหลักของประเทศ มีผู้ประณามต่งจ้งซู ว่าเป็นผู้ทรยศ แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนลัทธิหญูของต่งจ้งซูทำให้ราชวงศ์ฮั่นรับนับถือลัทธิหญูเป็นหลัก ทำให้ลัทธิหญูได้เป็นปรัชญาประจำชาติจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลักใหญ่สามปะการแห่งลัทธิหญูของต่งจ้งซู คือ...
๑. ปฏิบัติตัวให้สมกับนามหรือฐานะ เช่น เป็นกษัตริย์ เป็นอำมาตย์ เป็นบิดา เป็นบุตร เป็นสามี เป็นภรรยา ต่างต้องปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องตามฐานะที่เป็น
๒. เชื่อฟังอาณัติสวรรค์
๓. รักษา ปฏิบัติ ตามกฏเกณฑ์เก่าที่สืบทอดกันมา
    จะเห็นได้ว่าลัทธิหญูในราชวงศ์ฮั่น แตกต่างไปจากของขงจื๊อดั้งเดิมแล้ว จากยุคราชวงศ์ฮั่นลงมาถึงราชวงศ์ซ่ง (๒๐๖ BCค.ศ.๙๖๐) พันกว่าปี ลัทธิหญูพัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่มาก จึงตกเป็นรองศาสนาพุทธ และ ศาสนาเต๋า  เดิมทีนั้นแนวคิดทางปรัชญาความเชื่อต่าง ๆ ของจีนยังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่า "ศาสนา" สิ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าศาสนาแรกคือ "ศาสนาพุทธ" เริ่มแพร่เข้าสู่จีน ตั้งแต่ต้นราชวงศ์ตงฮั่น (ค.ศ.๒๕ - ๒๒๐) ศาสนาพุทธแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ลัทธิเต๋าดั้งเดิมของจีนจึงปรับตัวเป็นระบบขึ้น จนเป็นรูปแบบศาสนาในช่วงปลายยุคราชวงศ์ตงฮั่น  แต่ลัทธิหญูไม่เปลี่ยน จนกระทั่งเห็นว่าจะแย่เต็มทีแล้วจึงมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในราชวงศ์ซ่ง การปฏิรูปครั้งนั้น ซึมซับแนวคิดจากศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธเข้าไปประสมประสานมากมาย จนบางท่านบอกว่าแก่นเป็นพุทธและเต๋า เปลือกเป็นขงจื๊อ
   "ศาสนาขงจื๊อ" หรือ "ศาสนาหญู" กำเนิดจากศาสนาจริง ๆ จัง ๆ ในยุคราชวงศ์ซ่งนี่เอง ลัทธิหญูมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามสภาพเงื่อนไขที่เป็นจริงทางสังคม นับตั้งแต่ยุคขงจื๊อ ผ่านเม่งจื๊อ ผ่านต่งจงซู เรื่อยมาจนกระทั่งการปฏิรูปครั้งใหญ่ในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งได้มีการซึมซับเอาศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าเข้าไปประสมประสานมากมาย จนเกิดเป็นศาสนาขงจื๊อ (ในยุคนั้นเรียกว่า "หลี่เสวีย") อย่างที่ชนรุ่นเราเข้าใจกัน
    คนสำคัญที่สุดผู้วางรากฐานศาสนาขงจื๊อในยุคนี้คือ "จูซี" การตีความคำสอนของขงจื๊อ และวัตรปฏิบัติทั้งหลายแหล่ของชาวหญูในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากสิ่งที่จูซีวางรากฐานปฏิรูปเอาไว้ในยุคราชวงศ์ซ่ง  การเชิดชูยกย่อง "สี่ตำรา ห้าคัมภีร์" ก้เนื่องจากจูซีผู้นี้เองเป็นคนกำหนดขึ้น ตำราทั้งสี่ได้แก่ หลุนอวี่  ต้าเสวีย  จงยง  และเม่งจื๊อ
""หลุนอวี่"" เป็นบันทึกวจนะของขงจื๊อ หากเราจะศึกษาแนวคิดของขงจื๊อแท้ ๆ ก็ต้องพิจารณาจากเล่มนี้เล่มเดียวเท่านั้นเพราะเล่มอื่น ๆ มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งสิ้น
""ต้าเสวีย"" สอนเรื่องการศึกษาเป็นผลงานของเจิงจื๊อ ศิษย์รุ่นหลาน
""จงยง""   สอนเรื่องการปฏิบัติทางสายกลาง เป็นผลงานของจื่อซือ ศิษย์เอกของขงจื๊อ
""เม่งจื๊อ""  เป็นตำรารวบรวมวจนะของเม่งจื๊อ
          ห้าคัมภีร์นั้น เดิมมีหกคัมภีร์ ได้แก่ ชู  ซือ  ชุนชิว  อี้  หลี่  และเยวี่ย   ""คัมภีร์เยวี่ย"" ได้หายสาบสูญไป จึงคงเหลือเพียงห้าคัมภีร์  ทั้งห้าคัมภีร์นี้ ก็มิใช่บทประพันธ์ของขงจื๊อ มันเป็นของเก่าโบราณมีมาก่อนขงจื้อนานแล้ว เพียงแต่ขงจื๊อมาเรียบเรียงชำระใหม่ มีประโยชน์ในแง่การศึกษาแนวคิดก่อนยุคขงจื๊อ  จูซี กำหนดให้้ ""สี่ตำรา  ห้าคัมภีร์"" เป็นแบบเรียนหลักที่บัณฑิตทุกคนจะต้องเรียนให้เจนจบ และใช้ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ
     หลักจริยธรรมห้าประการได้แก่.....เหญิน -- มนุสสธรรม 
                                             อี้      -- ความถูกต้องทำนองคลองธรรม
                                             หลี่ --    จารีตธรรมเนียม
                                             จือ --     ปัญญา
                                              ซิ่น --    ความมีสัจจะเชื่อถือได้
กำหนดแน่ชัดในยุคนี้ หรือ ธรรมะแปดประการได้แก่ ความกตัญญู  ความรักญาติพี่น้อง  ความจงรักภัคดี  ความมีสัจจะ  ความมีมารยาทรักษาจารีตธรรมเนียม  ความสุจริตตามทำนองคลองธรรม  ความไม่โลภความละอายต่อบาป  ก็เป็นการขยายความให้สมบูรณ์ขึ้นใยุคนี้เหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วหลักกรอบสามประการและห้าสม่ำเสมอ (ซานกังอู่ฉาง) ก็ถูกเน้นเข้มงวดขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ
      กรอบสามประการคือ หลักปฏิบัติตนระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง  บุตรกับบิดา   สามีกับภรรยา
      ห้าสม่ำเสมอ  คือ หลักจริยธรรมห้าประการที่กล่าวแล้วข้างต้น  ธรรมะเหล่านี้มีกำหนดไว้อย่างเข้มงวดเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงของระบอบการปกครองศักดินาของจีน นับว่าศาสนาหญูยุคราชวงศ์ซ่ง ผูกมัดรัดรึงผู้คนไว้อย่างเข้มงวด
    ในยุคต่อ ๆ มา ศาสนาหญู ก็มีการปรับปรุงพัฒนาต่อไป ยุคราชวงศ์หมิง สังคมสินค้าพัฒนาเจริญขึ้นมาก พาณิชยกรรมขยายใหญ่โตกว่าเดิมมาก กระแสความคิดในสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงไปยิ่งในบางท้องที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตกด้วย ก็ยิ่งมีแนวความคิดใหม่ ๆ ขึ้น
    หลี่จื๊อ นักคิดคนสำคัญ ถึงกับเสนอว่า "เราไม่อาจจะนำคุณธรรมท่านขงจื๊อมาเป็นคุณธรรมของพวกเราได้ (เพราะต่างยุคกัน) ในยุคราชวงศ์ชิงกระแสความคิดพลิกกลับอีก ปฏิเสธ "หลี่เสวีย" ของยุคราชวงศ์ซ่ง พากันย้อนไปศึกษาเรื่อง หลี่ (จารีตธรรมเนียม) ก่อนยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่ก็ไม่มีอะไรสร้างสรรค์ใหม่ จนกระทั่งยุคปฏิวัตรประชาธิปไตย ศาสนาหญูต้องตกเป็นเป้าการโจมตีของปัญญาชนรุ่นใหม่ และยิ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนครองแผ่นดินใหญ่ศาสนาหญูนับว่าจบสิ้นไปแล้ว จะคงความสำคัญอยู่บ้างก็ในทางปรัชญาแนวความคิด ไม่มีบทบาทเป็นศาสนาอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนถ่ายผู้นำมาถึงผู้นำรุ่นที่สาม เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมอย่างมากและรัฐจีนทุกวันนี้กำลังหันมาฟื้นฟูเกียรติภูมิของขงจื๊อและจริยศาสตร์ลัทธิหญูอย่างจริงจังมากขึ้น               

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ลัทธิขงจื๊อ หรือ หญูเจีย  เน้นคำสอนทางโลกียธรรม คือสั่งสอนให้ผู้คนรักษาคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตนอย่างวิญญูชน เพื่อจรรโลงสังคมโลกีย์ให้สงบอยู่เย็นเป็นสุขมีความทุกข์น้อยที่สุด ก่อนที่จะเข้าถึงคำสอนด้านปรัชญา และจริยศาสตร์ลัทธิขงจื๊อ ผู้เขียนอยากจะเล่าถึงตัวอักษรคำว่า "หญู" ไว้ก่อนอักษรจีนคำนี้ในยุคเริ่มแรกนั้นหมายถึงบุคคลซึ่งมีหน้าที่เป็นครูสั่งสอนพวกลูกหลานของเจ้าขุนมูลนายและหมายถึงคนที่มีความรู้ในศาสตร์เฉพาะทางบางอย่างเช่น พวกแพทย์ พวกโหราจารย์ นักพยากรณ์โหงวเฮ้ง นักปรุงยาอายุวัฒนะ ฯ ก็เรียกว่า พวกหญู ด้วย
     อักษรจีนนั้นเกิดจากการผสมกันหลายลักษณะ อักษร "หญู" มีตัวหน้าหมายถึง คน คือคำว่า เหญิน สัญลักษณ์ หรือตัวอักษรด้านขวาเป็นคำบอกเสียงให้อ่านว่า "หญู" คำว่า "หญู" นี้มาประมาณเกือบสามพันปีแล้ว (ก่อนขงจื๊อเกิด) ครู หรือ หญู มีหน้าที่สอนศิลปศาสตร์ให้แก่ลูกหลานเจ้าขุนมูลนาย ศีลปะศาสตร์ของชนเผ่าหัวเซี่ย (จีนแท้แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง) ก่อนยุคขงจื๊อนั้น ประกอบด้วยวิชา วิชาจารีต (ธรรมเนียม) วิชาดนตรี วิชายิงเกาทัณฑ์ วิชาบังคับรถม้า วิชาหนังสือ วิทยาศาสตร์ (ยุคโบราณ ประกอบด้วยการคำนวน ปฏิทินและดาราศาสตร์ ตลอดจนเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทั้งปวงเท่าที่จะมีความรู้กันในยุคนั้น) ตกมาถึงสมัยท่านขงจื๊อ ท่านได้พยายามปฏิรูประบบการศึกษา ท่านสอนศิษย์ว่า "พวกเจ้าจะต้องทำตัวเป็นหญูวิญญูชนที่แท้จริง อย่าทำตัวเป็นหญูชั้นต่ำ  ท่านขงจื๊อมีอุดมคติอนุรักษ์นิยม ท่านพยายามฟื้นฟูจารีตธรรมเนียมเก่า ๆ สมัยก่อนตั้งแต่ยุค "โจวกงตั้น" หรือ "จิวกง" ผู้วางรากฐานลัทธิธรรมเนียมให้ราชวงศ์โจว (จิว) ท่านขงจื๊อเห็นว่า คำสอนโบราณเกี่ยวกับ บทกวี หรือ บทเพลง หนังสือ จารีตธรรมเนียม ดนตรี อี้จิง (ตำราเกี่ยวกับความผันแปรซึ่งต่อมากลายเป็นคัมภีร์หลักของโหราศาสตร์จีนไป) เป็นหลักการสำคัญในการขัดเกลามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ เป็นหลักการทางจริยศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้เรียบเรียงจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของแคว้นหลู่ขึ้น ให้ชื่อว่า "ชุนชิว" คัมภีร์ดังกล่าวข้างต้น ได้เป็นรากฐานของปรัชญาลัทธิหญู (ลัทธิขงจื๊อ) ต่อมาในภายหลัง
    โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะเข้าใจว่า คำสอนของขงจื๊ิอเป็นคำสอนที่ชาวจีนยึดถือปฏิบัติกันมานับตั้งแต่บรรพกาล แต่ความเป็นจริงคือในสมัยที่ท่านขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้พยายามเผยแพร่สื่อให้ประมุขแคว้นต่าง ๆ รับเอาแนวปรัชญาและจริยศาสตร์ของท่านไปใช้ในการปกครองแคว้น แต่ประมุขหรือชนชั้นปกครองในยุคชุนชิวต่างมุ่งแก่งแย่งกันเป็นใหญ่ ไม่มีแคว้นใดรับเอาจริยศาสตร์ของท่านขงจื๊อไปใช้บริหารปกครองแคว้นเลย
    ศิษย์ของขงจื๊อเองก็มีความแตกต่างทางแนวคิด คือสายหนึ่งพัฒนากลายเป็นลัทธินีติวาท หรือ ฝ่าเจีย สายนี้มี "สวินจื่อ หรือ สุ้นจื๊อ เป็นต้นเค้า ยุคจั้นกั๋ว (รณรัฐ) ก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้ครองอาณาจักรทั้งหมด ประมุขแคว้นต่าง ๆ หันไปนิยมแนวปรัชญาการปกครองแบบนีติวาทให้ความสำคัญกับการใช้กฏหมายปกครองบังคับคนมากกว่าที่จะใช้คุณธรรมที่เป็นนามธรรมมาสั่งสอนคน และสุดท้าย การใช้อำนาจรัฐตามแนวของลัทธินีติวาทก็ได้ชัยชนะ คือจิ๋นซีฮ่องเต้ชนะสงคราม หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้พินาศไปแล้วเกือยร้อยปี เมื่อราชวงศ์ฮั่นสร้างระบบการปกครองได้มั่นคงแล้ว ลัทธิขงจื๊อจึงได้รับการฟื้นฟูกลับมาได้รับการยกย่องให้เป็นหลักคำสอนประจำราชสำนักฮั่น
    ต่อจากนั้นมา หญูเจีย ก็เป็นหลักคำสอนประจำราชสำนักจีนมาตลอด แต่ในห้วงประวัติศาสตร์สองพันปีมานี้ หญูเจีย หรือ ลัทธิขงจื๊อ ก็มีการปรับตัว พัฒนาปฏิรูปอย่างมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อปรัชญาหญูเจียต้องแข่งขันกับพุทธศาสนา การปฏิรูปครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่ง หนึ่งพันปีที่แล้ว หญูเจียถูกเรียกเสียใหม่ว่า "หลี่เสวีย" (ดูภาคผนวก) และได้รับเอาแต่แก่นความคิดของทั้งพุทธและเต๋าเข้าไปประสมประสานกันจนแทบแยกไม่ออก ซึ่งก็คือคำสอนจริยศาสตร์ขงจื๊อที่ชนทุกวันนี้ยังร่ำเรียนกันอยู่

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
   
      สยามกับจีนมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นใกล้ชิดมายาวนานมาก อย่างน้อยก็แต่ก่อนยุคสามก๊ก ในยุคราชวงศฮั่น (สองพันปีที่แล้ว) เมืองท่าสำคัญในอ่าวไทย ทางตะวันออกคือเมืองศรีมโหสถ อญู่ในพื้นที่ปราจีนบุรีเดี๋ยวนี้ ทางตอนกลางคือเมืองละโว้ (ลพบุรี)  ทางด้านตะวันออกคือ "เฉินหลี่" (ในยุคราชวงศ์ซีฮั่น) และ "จินหลิน" (ในยุคสามก๊ก) ซึ่งอยู่ในพื้นที่สุพรรณบุรีเดี๋ยวนี้
     การเดินทางไปอินเดียได้ (เมืองท่าคานจิวะรำ) ของพ่อค้าจีนนั้น จะขึ้นบกที่จินหลิน แล้วเดินทางบกไปต่อเรือทางฝั่งอันดามันเข้าใจว่าเมืองท่า ทางด้านอันดามันในสมัยโบราณก็น่าจะอยู่แถบเมืองมะริดนั่นเอง เส้นทางการค้านี้ใช้มายาวนานถึงยุคอยุธยา แม้ว่าเทคโนโลยีการเดินเรือจะพัฒนาขึ้นจนสามารถเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาได้อย่างปลอดภัยแล้วก็ตาม พ่อค้าและนักสอนศาสนาชาวยุโรปก็ยังใช้เส้นทางนี้เดินทางเข้าอยุธยา
    เล่าประวัติไว้เล็กน้อย เพื่อตอกย้ำว่าความสัมพันธ์สยาม -- จีน มีประวัติยาวนานมาก แต่ก็อย่างว่า ชาวสยามเราดัดแปลงตัวอักษรจากอินเดียมาใช้เมื่อสักพันปีก่อนในขณะที่จีนมีอักษรใช้มายาวนานกว่า และจีนก็มีนิสัยช่างจดช่างเขียนมากกว่าชาวสยามเรา วัฒนธรรมจีนด้านต่าง ๆ ต้องมีเข้ามาแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมสยามมานานแล้ว เรื่องราววรรณกรรมจีนนั้น ชาวสยามก็น่าจะได้สัมผัสบ้าง อย่างเช่นได้รับรู้ผ่านการแสดงงิ้ว เป็นต้น งานวรรณกรรมและข้อเขียนทางด้านอื่น ๆ ของจีนจะคอยมีแปลออกมาให้ชาวสยามศึกษากันก่อนยุครัตนโกสินทร์หรือไม่ เรายังไม่พบหลักฐาฯพอสรุปได้ เอาเป็นว่า เรายังไม่พบหนังสือที่แปลจากภาษาจีนก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ก็แล้วกัน
    เรื่องจีนที่แปลออกมาเป็นชุดแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ที่มีหลักฐาน) คือเรื่อง สามก๊ก  และ  ไซ่ฮั่น  เรื่องที่แปลความจริงเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์แต่ฝ่ายไทยเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์จริง ขนาดถือว่าเป็นตำราพิชัยสงครามให้ทหารไทยศึกษากันเลยทีเดียว
    เรื่องสามก๊กคงเป็นที่นิยมกันมาก ต่อมาเลยเกิดกระแสนิยมแปลนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนกันต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ความนิยมจึงเริ่งซาลงไป น่าสังเกตุว่า เรื่องจีนที่แปลนั้น นิยมแปลนิยายอิงประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ตำรับตำราที่เป็นวิชาการความรู้ เช่น ปรัชญา  การแพทย์  การช่าง  หรือแม้แต่ตำราพิชัยสงครามที่แท้จริง เช่น พิชัยสงครามชุนวู  พิชัยสงครามเง่าคี้ กลับไม่เลือกแปลกัน ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะชาวสยามไม่นิยม (ที่ไม่นิยมอาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าหนังสือจีนมีเรื่องอะไรดี ๆ บ้าง) หรือจีนที่มาอยู่สยามไม่มีความรู้พอจะแปลตำรับตำราชั้นสูงได้ (ปัญญาชนชั้นสูงคงไม่อยากมาอยู่บ้านป่าเมืองเถื่อนแดนไกลอย่างสยาม) เสนอปัณหานี้ไว้คิดกันเล่น ๆ เท่าที่สืบได้ขณะนี้ ตำรับตำราที่เป็นหนังสือปรัชญาของจีนที่แปลเป็นไทยเล่มแรกคือ "สุภาษิตขงจู๊" เล่มนี้แปลจากคัมภีร์ "หลุนอวี่" ของขงจื่อ หรือ ขงจื๊อ หนังสือเล่มนี้แปลเมื่อ พ.ศ.2369 หนึ่งร้อยแปดสิบปีมาแล้ว (ขงจื๊อสอนเรื่องราวเหล่านี้ไว้เมื่อประมาณสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว) ในบานแผนกหนังสือสุภาษิตขงจู๊ เขียนไว้ว่า "วันเสาร์  เดือนห้า  ขึ้นเก้าค่ำ  จุลศักราช ๑๑๘๘  ปีจอ  อัฐศก  อาตมภาพ  พระอมรโมลี  สถิต ณ วัดราชบุรณพระอารามหลวง แปลฮักยี่ฉบับจีนออกเป็นไทย  ได้ความว่า" แล้วเราก็รู้เท่านี้จริง ๆ
    พระอมรโมลี ท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เราก็ไม่รู้จะไปค้นจากไหน ท่านแปลหนังสือจีนไว้กี่เล่ม นอกจากเรื่อง "หลุนอวี่" แล้วยังจะมีแปลเรื่องอื่นไว้อีกหรือไม่ (วิสัยคนเขียนคนแปลหนังสือ ผู้เขียนคิดว่าท่านน่าจะแปลงานด้านอื่น ๆ ไว้ด้วย) เราก็ไม่อาจสืบรู้ได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      แต่ถึงแม้จะแปลไว้เล่มเดียวก็นับว่าท่านมีคุณูปราการมากมาย เพราะคัมภีร์ที่ท่านเลือกแปลเป็นคัมถีร์ลัทธิหญู (ลัทธิขงจื๊อ) เล่มสำคัญที่สุด คำสอนของขงจี๊อเป็นสัจธรรม มิฉะนั้นจะยืนยงมาสองพันห้าร้อยปีได้อย่างไร คำสอนเหล่านี้ยังประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดีดังตัวอย่างซึ่งเป็นสำนวนแปลของพระอมรโมลี ดังต่อไปนี้ "ขงจู๊ผู้เป็นนักปราชญ์ในเมืองจีน กล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะรักเรียนรู้ในหนังสือธรรมเนียมทั้งปวง พึงอุตสาหะเรียนทุกวัน ถ้าหมั่นอยู้ฉะนี้แล้ว เหตุใดจะไม่รู้ แล้วก็เพียรเล่าเรียนมาแต่ถิ่นฐานบ้านไกล เหตุใดจึ่งไม่สนุก อนึ่ง ถ้าคนโง่มาติเตียนก็อย่าโกรธเพราะมันไม่รู้ว่าคนดี และมันติเตียนนั้น ใช่ตนจะกลับเป็นคนชั่วก็หาไม่"
     คำขงจู๊ว่า ถ้าผู้ใดมักพูดจาตลกคะนอง ทำหน้าซื่อใจคต มักล้อเลียนผู้ใหญ่ ปากหวาน ห้ามมิให้คบ มีประโยชน์น้อยนักถึงผู้นั้นก็หามีวาสนาไม่
     คำเจงจู๊ ศิษย์ขงจู๊ ถ้าจะทำการทั้งปวง อย่าให้ด่วนได้ใจเร็วให้ตรองแล้วตรองเล่า น้ำใจผู้อื่นมาใส่ใจตัว น้ำใจตัวไปใส่ใจผู้อื่น ถ้าได้รับธุระเขาแล้ว ก็ให้สำเร็จดังวาจา ทำกิริยาให้ซื่อตรง จึ่งเป็นที่นับถือ ถ้าคบเป็นเพื่อนรักกันแล้วอย่าลวงกันจึงยืดยาว
    คำขงจู๊ว่า ถ้าเป็นเจ้าเมืองใหญ่ มีรถรบถึงพันเล่มมีทหารมากพร้อมเพรียงอยู่ก็ดี ก็อย่าให้ทะนงตัว จะมีกิจราชการประมาณน้อยหนึ่งก็ดี ก็ให้ตรึกตรองให้ถ่องแท้ อันธรรมเนียมเป็นเจ้าเมืองให้รักราษฏรเหมือนบุตร จะใช้ก็ให้ใช้เป็นเวลา อนึ่งผู้เรียนรู้ถ้าอยู่ในเรือนให้เคารพบิดามารดาแลญาติผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งปวง ถ้าออกจากเรือนให้ยำเกรงผู้มียศอายุมากกว่าตน จะพูดสิ่งใด ๆ ให้คนทั้งปวงนับถือเชื่อฟังได้ ให้เมตตาแก่คนทั้งปวง ถ้าเห็นพอจะคบได้ จึ่งคบหารักใคร่กัน ถ้าเห็นชั่วก็อย่าคบให้หลีกหนีเสีย อย่าเคียดแค้นชิงชังเขา ถ้าจะสั่งสอนว่ากล่าวให้ดูคนก่อน ถ้าเห็นพอจะว่ากล่าวได้ตึ่งว่า"
    สำนวนภาษาในเรื่อง "สุภาษิตขงจู๊" เป็นสำนวนเก่าอ่านเข้าใจยากหน่อย แต่ต่อ ๆ มามีผู้แปลคัมถีร์ของขงจื๊อออกมาเป็นภาษาไทยอีกหลายสำนวน แต่ละสำนวนมีข้อดีข้อเด่นต่าง ๆ กันไป แต่สรุปแล้วเป็นหนังสือดีทุกสำนวน
    คัมภีร์ของขงจื๊อนั้น มีพิมพ์ออกจำหน่ายอยู่เป็นระยะ ๆ แม้จะขายไม่ดีนัก แต่ก็สามารถพิมพ์จำหน่ายได้เรื่อย ๆ ส่วนหนังสือประวัติขงจื๊อโดยละเอียด กลับหาไม่ค่อยได้ วันก่อนคนข้างบ้านต้องวิ่งมาหาผู้เขียนเพราะลูกสาวที่อยู่มหาลัยปีหนึ่งต้องทำรายงานเรื่องประวัติขงจื้อ หาหนังสืออ้างอิงไม่ได้ มันน่าปวดใจนะ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหาหนังสืออ้างอิงได้ไม่เพียงพอ ผู้เขียนต้องค้นหนังสือหลายเล่มถ่ายสำเนาให้ไป ปัญหานี้ทำให้นึกได้ว่า เออ! ยังไม่มีหนังสือประวัติขงจื๊อเป็นภาษาไทยที่ละเอียดลออเลย ผู้เขียนเองค้นคว้าไว้พอสมควร แต่ก็เหมือนอ่านเพื่อรู้คนเดียว เคยคิดจะเขียนเหมือนกัน แต่เมื่อก่อนเข้าใจผิดว่าหนังสือเกี่ยวกับขงจื๊อมีแยอะแล้ว เลยไม่เขียน พอมาเจอปัญหานี้เข้าต้องยอมรับว่าหนังสือรวมคำสอนของขงจื๊อนั้นมีหลายเล่มจริง แต่ประวัติขงจื๊อโดยพิศดารนั้น หาอ่านยาก ผู้เขียนเองเคยอ่านภาคพิศดารในภาษาจีน ตำราเล่มนี้ค้นคว้าได้ลึกซึ้งจริง ๆ เป็นต้นว่า เรื่องกำเนิดขงจื๊อ โดยทั่วไปหนังสือเล่มเก่าจะเขียนเพียงว่า เนื่องจากบิดาและมารดาของท่านขงจื๊อ แต่งงานกันอย่างไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณีบิดามารดาจึงต้องแยกทางกัน ขงจื๊อนั้นอยู่กับมารดา ประวัติตรงนี้ คนโบราณมีเจตนาปิดบังหรือลบเลือนเสีย
    ฉบับพิศดารที่ผู้เขียนได้อ่านนั้น เขาค้นคว้าได้หลักฐานประมวลได้ว่า บิดาของขงจื๊อ มีเชื้อสายเจ้าขุนมูลนาย เป็นนายทหารที่แข็งแกร่งและมีฝีมือวรยุทธเยี่ยมยอด แต่มารดาเป็นลูกสาวของนักดนตรีตาบอด บิดาขงจื๊อเมื่อได้ลูกสาวนักดนตรีตาบอดเป็นเมีย (น้อย) ไม่นาน บ้านใหญ่ก็คือครอบครัวของท่านยอมรับไม่ได้ จึงขับไล่มารดาขงจื๊อกลับไปอยู่บ้านพ่อของนางซึ่งเป็นนักดนตรีตาบอด ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า เป็นนักดนตรีตาบอด มันจะต่ำต้อยอะไร ยุคพุทธกาลนั้น สังคมจีนเหยียดนักดนตรีเป็นคนชั้นต่ำ ยิ่งตาบอดยิ่งต่ำลงไปอีก เหมือนวณิพก แม้จะแลกเปลี่ยนด้วยฝีมือทางดนตรี แต่คนอื่นก็ยังมองไม่ต่างจากขอทาน ก็โถ เมื่อไม่นานมานี้เอง สังคมไทยยังเหยียดหยามศิลปินว่าเป็นคน "เต้นกินรำกิน" อยู่เลย ถึงแม้สถานะจะต้อยต่ำ แต่ทว่าคนเล่นดนตรีก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมต่าง ๆ  อย่าลืมว่า ดนตรีในยุคโบราณแรกเริ่มนั้น มิใช่ดนตรีเพื่อความบันเทิงอย่างที่เราเห็นในสมัยหลัง ๆ ดนตรีเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรม ไม่ได้เล่นเอาสนุก แต่บรรเลงสร้างความขลังหรือเป็นการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักดนตรีผู้มีฝีมืออย่างคุณตาของขงจื๊อ จึงได้รับงานบรรเลงในพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงราชพิธีของประมุขแคว้น(อ๋อง) ด้วย
    ทำไมขงจื๊อถึงได้รู้เรื่องพิธีกรรม พระราชพิธี มากมาย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัยรุ่นท่านก็มีชื่อเสียงด้านนี้แล้ว ท่ารู้ก็เพราะท่านได้เข้าร่วมเห็นมากับตาและท่านสนใจในเรื่องนี้มากจึงจดจำเอาไว้ทุกอย่างระหว่างประกอบราชพิธีต่าง ๆ เหตุที่เด็ก ๆ อย่างขงจื๊อได้เข้าร่วมพระราชพิธีใหญ๋ ๆ ก็เพราะท่านเป็นคนจูงตาไปเล่นดนตรีในงานพิธีต่าง ๆ
    ในชีวิตจริงของขงจื๊อลูกศิษย์ท่านบันทึกไว้ว่า ขงจื๊อเมตตาคนตาบอดเสมอ และถ้าหากเิดนไปพบนักดนตรีตาบอดท่านจะแสดงคารวะทุกครั้ง หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมท่านทำอย่างนั้น แต่ถ้ายอมรับประวัติพิสดารนี้ เราจะไม่แปลกใจเลย เพราะว่าท่านทำงานเป็นคนจูงคุณตาไปเล่นดนตรีหาเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก พูดให้สะเทือนใจยิ่งขึ้นก็ว่า ท่านจูงคุณตาที่ตาบอดไปวณิพกขอทานตั้งแต่เด็ก ข้อที่ว่าขงจื๊อมีกำเนิดต่ำต้อยเป็นครอบครัววณิพก จะทำลายเกียรติภูมิของท่านหรือไม่ ? มีแต่สร้างเกียรติภูมิให้สูงส่งขึ้นอีก
    การกำเนิดมาจากครอบครัวยากไร้ ทุกข์ยากลำบาก แต่สามารถเติบใหญ่เป็นผู้รู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพิธีกรรมในราชสำนักและมีความรู้ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ด้านอักษรศาสตร์ ด้านปรัชญา ฯลฯ กลายเป็นปรมาจารย์ เป็นศาสดาท่านหนึ่งแห่งโลก นับว่าน่าสรรเสริญยิ่งกว่าศาสดาที่กำเนิดในครอบครัวมั่งมีศรีสุขเสียอีก มีคำสอนบทหนึ่ง ท่านขงจื๊อบอกว่า "ถึงมาตรว่าคนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าเราดี เราก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อยู่แต่ว่า เราไม่รู้จักน้ำใจคน" ก็สมควรเป็นทุกข์อยู่หรอก เพราะน้ำใจคนมันแสนคดจนยากที่จะอ่านออก
    หนังสือ "สุภาษิตขงจู๊" ของพระอมรโมลี แปลเมื่อปีพ.ศ.๒๓๖๙ ร่วมสมัยกับท่านสุนทรภู่ จึงเชื่อได้ว่าปราชญ์ใหญ่อย่างท่านสุนทรภู่ คงได้อ่านสุภาษิตขงจู๊เล่มนี้บ้างแน่นอน  สำนวนกลอนที่เป็นภาษิตของท่านสุนทรภู่หลายบท กล่าวถึง "การไม่รู้จักน้ำใจคน" เช่น..
     
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่
เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด
ถึงคลองคดก็ไม่เหมือนใจคน


ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      สังคมสับสน มาตรฐานทางคุณธรรมตกต่ำ เราจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การรักษาทำนองคลองธรรมกันให้มากขึ้น การนำเอาปรัชญาขงจื๊อกลับมาฟื้นฟูเผยแพร่กันอีกทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก น่าจะเหมาะสมกับภาวะการณ์สังคมในขณะนี้ หลักธรรมะขงจื๊อที่สำคัญคือ เหญิน สังเกตุตัวอักษรจีน "เหญิน" ข้างหน้าหมายถึง คน ข้างหลังหมายถึง จำนวนสอง  หรือหมายถึงหลายคนนั่นเอง  เหญิน หมายถึง "คลองธรรม" ระหว่างมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากแต่ละคนไม่รักษาคลองธรรม สังคมมนุษย์จะปั่นป่วนวุ่นวาย มนุษย์เราจะรักษาคลองธรรมไว้ได้ ก็ต้องมีความรักเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ รักตนเองคนเดียว ในแคบที่สุด  รักตนกับรักแฟนตน ก็ยังถือว่าใจแคบ  รักครอบครัวพ่อแม่พี่น้อง รักแฟน เท่านั้นก็ยังไม่พอ เกิดมาเป็นคนเราควรรักกันในหมู่บ้าน รักคนในอำเภอ รักคนในชาติ รักคนทั้งโลก ถ้ารู้จักสร้างควารมรักให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นคลองธรรมของท่านก็จะยิ่งสูง
     มีนิทานจีนโบราณเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวแคว้นฉู่คนหนึ่ง ทำธนูหายไป เขาพูดว่า ไม่เป็นไร คนแคว้นฉู่คนหนึ่งเสียธนูไป แต่คนแคว้นฉู่อีกคนหนึ่งก็ได้ธนู ทานขงจื๊อได้ฟังเรื่องนี้ ท่านบอกว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้่น ควรจะตัดคำว่า"แคว้นฉู่" ออกเสีย หมายความว่า ให้มองคนในทัศนะที่กว้างขวางขึ้น ไม่จำกัดกับความเป็นเผ่าพันธ์ ความเป็นชาติ  ท่านเหลาจื๊อ ปรมจารย์ฝ่ายเต๋า ได้ยินเรื่องนี้ก็บอกว่า เป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรจะตัดคำว่า"คน" ทิ้งไปเลย หมายความกว้างขึ้นลึกขึ้นกว่าขงจื๊อเสียอีก คือให้มองว่าคนกับสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกอย่างเป็นสมมุติ ต่อไปนี้เรามาพิจารณาคติพจน์เกี่ยวกับ "มนุสสธรรม" ของท่านขงจื๊ิอ จากบันทึก "หลุนอวี่" ดังต่อไปนี้
     "ท่านขงจื๊อว่า ความร่ำรวยและความสูงศักดิ์เป็นสิ่งที่คนปรารถนาต้องการ  แต่ถ้าหากว่าการได้รับสิ่งนั้นมาไม่ถูกต้องตามมนุสสธรรม นรชนจะไม่ยอมรับไว้ ความยากจนและความต่ำต้อยเป็นสิ่งที่คนรังเกียจ แต่ถ้าจะให้หลุดพ้นจากสิ่งนั้น ด้วยวิธีอันไม่ถูกต้องตามมนุสสธรรม นรชนจะไม่กระทำ  นรชนละทิ้งมนุสสธรรมจะได้ชื่อเสียงด้วยความเลวได้อย่างไร  นรชนมิละเมิดมนุสสธรรม แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ขนาดกินข้าวยังไม่จบมื้อ แม้ในขณะเร่งร้อนกระทำเรื่องราวก็ยังรักษามนุสสธรรม  แม้ยามระหกระเหินร่อนเร่ก็ยังรักษามนุสสธรรม"
    "ฝานฉื่อ (ศิษย์ของขงจื๊อ) ถามเรื่องเหญิน (มนุสสธรรม) ท่านขงจื๊อว่ารักมนุษย์ ถามเรื่องจือ (ปัญญาธรรม) ท่านขงจื๊อว่าเข้าใจมนุษย์  ฝ่านฉือ ยังไม่แจ่มแจ้ง ท่านขงจื๊อว่า (ผูปกครอง) แต่งตั้งคนซื่อตรงเป็นใหญ่เหนือคนชั่ว สามารถทำให้คนชั่วกลับตัวซื่อตรงได้"
    "ท่านขงจื๊อว่า ผู้รักษาคุณธรรมย่องจะมีวาทะ แต่ผู้มีวาทะไม่แน่ว่าจะต้องมีคุณธรรม ผู้รักษาคลองธรรมย่อมจะมีความกล้าแต่ผู้มีความกล้าไม่แน่ว่าจะมีคลองธรรม"  "เหยียนหุ้ย (ศิษย์ขงจื๊อ) ถามเรื่องเหญิน ท่านขงจื๊อว่า เอาชนะควบคุมตัวเอง ให้ปฏิบัติตามจารีต (ทั้ง กาย ใจ วาจา) นั่นคือเหญิน (คลองธรรม) เมื่อเอาชนะควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามเหญินได้ เรื่องทั้งใต้ฟ้านี้ย่อมทำตามคลองธรรม การรักษาคลองธรรมขึ้นอยู่กับตัวเอง มิใช่ผู้อื่น เหยียนหุ้ยถามถึงหลักปฏิบัติ ท่านขงจื๊อว่า ในยามปกติจงสงบเสงี่ยมมีสัมมาคารวะ ในการทำงานต้องเอาจริงเอาจัง ในการสัมพันธ์กับคนต้องสัตย์ซื่อ ถึงแม้การปฏิบัติต่อพวกชนเผ่าอนารยชนก็มิอาจละเมิดกฏนี้
   "จื่อก้ง" (ศิษย์ขงจื๊อ) ถามว่า หากมีผู้สามารถยังประโยชน์แก่มวลประชา สามารถช่วยเหลือมวลชนทั้งปวงได้ จะเป็นอย่างไร จะสามารถเรียกว่ามีเหญิน - มีคลองธรรมหรือไม่ ท่านขงจื๊อว่า อะไรจะแค่เหญิน อย่างนี้ต้องเป็นอริยะบุคคลแล้ว แม้แต่หยาว สุ้น (ประมุขผู้ทรงธรรมล้ำเลิศในตำนาน) ยังกระทำเช่นนั้นได้ยาก สำหรับเรื่องคลองธรรมของเราก็คือ ท่านอยากยืนตระหง่าน (กระทำกิจกรรม) ท่านจงช่วยให้ผู้อื่นยืนตระหง่าน (ได้กระทำกิจกรรม) ท่านอยากประสบความสำเร็จ จงช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ หากรับเอาสิ่งนี้ไปปฏิบัติ ก็นับว่าได้วิถีรักษาคลองธรรมแล้ว

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

    "จื่อจาง (ศิษย์ท่านขงจื๊อ) ถามท่านขงจื๊อเรื่อง เหญิน ท่านขงจื๊อว่า ต่อทั่วใต้ฟ้านี้หากปฏิบัติตามหลักห้าประการนี้ได้ ถือว่ามีเหญิน จื่อจางถามว่าหลักห้าประการใด ท่านขงจื๊อว่า สงบเสงี่ยม ใจกว้าง (อารี) มีสัจจะ เฉียบแหลม เอื้ออาทร  สงบเสงี่ยมย่อมไม่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม  ใจกว้างย่อมได้รับความชมชอบจากมวลชน  มีสัจจะได้รับความวางใจให้ทำหน้าที่   เฉียบแหลมย่อมสร้างผลงานความดีความชอบ  เอื้ออาทรย่อมสามารถมอบหมายงานได้ง่าย  จื่อก้งถามว่ามีคำสอนใดคำเดียวที่นำไปปฏิบัติได้ตลอดชีวิตหรือไม่ท่านขงจื๊อว่า คือคำว่าโกรธ อะไรที่เราไม่ปรารถนา อย่ากระทำสิ่งนั้นกับคนอื่น  ถ้าคนไทยปฏิบัติธรรมะข้อนี้ได้เมืองไทยจะสงบร่มเย็นขึ้นมากแน่นอน ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า หลัก เหญิน - มนุสสธรรม เป็นธงชัยของลัทธิขงจื๊อ ผู้เขียนจึงพยายามอธิบายเรื่อง "เหญิน - มนุสสธรรม" ให้ละเอียดมากกว่าหลักธรรมข้ออื่น ๆ ของขงจื๊อ
   "เหญิน " คำนี้ ผู้เขียนใช้คำไทยว่า "มนุสสธรรม" ผู้รู้รุ่นก่อน ๆ ใช้คำทับศัพย์ก็มี แปลเป็น "เมตตาธรรม" ก็มี คำว่า "มนุษยธรรม" นั้น พจนานุกรมบัณฑิตยสถานท่านให้ความหมายไว้ว่า "ธรรมของคน ธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มีเมตตากรุณา" เป็นต้น ผู้เขียนถอดคำว่า "เหญิน" ในความหมายนี้แหละ  แต่ทีนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่า เวลาใช้คำว่า "มนุษยธรรม" แล้ว คนอื่นมักจะมองเพียงแค่ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ได้นึกให้ลึกลงไปถึงขั้นว่า มันคือหลักธรรมสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ก้เป็นได้แค่เพียงสัตว์ในรูปกายของคนเท่านั้นเอง ผู้เขียนเลยเลือกใช้ "มนุสสธรรม" ให้มันดูแปลกออกไป เพื่อให้ฉุกคิดปุจฉาในใจบ้าง แล้วจะได้เข้าใจเนื้อหาให้ตรงกับที่ผู้เขียนต้องการ ส่วนคำว่า "เมตตาธรรม" นั้น ผู้เขียนไม่นิยมเพราะอมความได้ไม่หมด คำว่า "เหญิน" นั้น แปลว่ารัก ตัวอักษรจีนมีคำว่า "คน" กับคำว่า "สอง"
    คนมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปแล้ว ถ้าไม่มีความรักต่อกัน ก็คงจะทะเลาะกัน ฆ่ากัน  หรือจะอยู่รวมกันต่อไปไม่ได้ เมื่อคนอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน สังคมนั้นจึงต้องมีกำหนดกฏเกณฑ์ มีหลักให้ปฏิบัติตัว คือคนเราควรรักกัน ปรัชญาทางศาสนาส่วนใหญ่ก็ตรงกัน คือสอนให้มนุษย์รักกัน เมื่อรักกัน จะไปข่มเหง ทำร้าย ฆ่าฟัน คดโกง ขโมยของเขา ดกงเขา แกล้งเขา ทำไม
    ใครว่าลัทธิขงจื๊อล้าสมัย ผู้เขียนยังเห็นว่า ปรัชญาข้อนี้ของขงจื๊อยังใช้ได้ โลกนี้ ถ้ามนุษย์รักกันจริง โลกจะสงบร่มเย็น แต่สัตว์มนุษย์น่ะมันแปลก มันเลือกที่จะรักเพียงบางคนโดยเฉพาะมักจะรักแต่ตัวเอง เกลียดคนอื่น เกลียดพวกอื่น เกลียดผิวสีอื่น เกลียดศาสนิกศาสนาอื่น เกลียดคนมีความเชื่อทางลัทธิต่างไปจากตน ฯลฯ มนุษย์จึงฆ่ากันไม่รู้จบ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

     ในยุคชุนชิว แว่นแคว้น (ก๊ก)ต่าง ๆ แตกแยกกันมากมาย มีสงครามไม่หยุดหย่อน ขงจื๊อเสนอแนวคิดสร้างความสันติสุขโดยยึดแนวทางจารีตเก่า ๆ สมัยราชวงศ์โจวซึ่งมันค่อนข้างจะล้าหลังจากพัฒนาการทางสังคมไปแล้ว เจ้าแคว้นต่าง ๆ จึงไม่รับแนวความคิดขงจื๊อไปปฏิบัติ มองอีกมุมหนึ่งก็คือคำสอนของขงจื๊อมันงดงามในทางอุดมคติแต่เอามาปฏิบัติยากในสังคมวุ่นวายเป็นจลาจล แต่หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งได้ หลังจากผ่านการปกครองของราววงศ์ฮั่นตะวันตก (ไซ่ฮั่น)มาระยะหนึ่งสังคมจึงสงบร่มเย็นมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสังคมขึ้น คำสอนเชิงอุดมคติของขงจื๊อถูกปรุงแต่งใหม่ โดยลากเอาแนวคิดปรัชญาเต๋า ทฤษฏีโหงวเฮ้ง-หยินหยาง เข้ามาผสมผเสทำให้คำสอนแนวขงจื๊อ (หญูเจีย) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ต้งจ้งชู (179 BC-104 BC) ปราชญ์ลัทธิหญู ในสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ปฏิรูปลัทธิหญูใหม่ สามารถโน้มน้าวให้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ประกาศให้ลัทธิหญูเป็นคำสอนหลักของประเทศได้สำเร็จ มนุษย์ปัจจุบันส่วนไม่น้อยขาดความรักต่อมนุษย์ด้วยกัน แบ่งเป็นพวก พวกฉันฉันรัก พวกที่ไม่เหมือนฉันฉันไม่รัก หรือกระทั่งรังเกียจ เป็นศรัตรูกันต้องฆ่ากันให้หมดเผ่าพันะ์ไป ศาสนาทุกศาสนาสอนให้มนุษย์รักกัน แต่กลับมีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก แตกจนบ้าคลั่ง ฆ่าฟันกันใหญ่ในประวัติศาสตร์มาแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หน
      นักวัตถุนิยม (หรือสสารธรรม -Materialism) มองว่าคำสอนเรื่องความรักศาสนานั้นเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องที่อยู่เหนือความจริงทางวัตถุนิยมอย่างเช่นมองว่าสังคมมนุษย์มีการแบ่งแยกชนชั้น มีชนชั้นกดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดแล้วจะให้สองชนชั้นนี้รักันด้วยความจริงใจได้อย่างไร แต่ถ้าจะยืนยันกันให้ได้ว่ามนุษย์มีแบ่งเป็นพวก มีพวกที่เป็นศรัตรูกันโดยธรรมชาติสังคมมนุษย์ก็ไม่มีวันสันติสุขเพราะพวกต่าง ๆ ก็จะตั้งหน้าฆ่ากันจนกว่าพวกใดพวกหนึ่งสูฐเผ่าพันธ์ไป คิดแล้วไม่มีใครรู้สึกเป็นสุข (เอ ! แต่ประวัติศาสตร์โลกก็ไม่เคยสันติสุขนี่นา หรือว่าพวกนักวัตถุนิยมจะถูกต้อง?) ถ้าเราเถียงกันตามแนวความคิดสองแนวข้างต้น จะถึงจุดต้นไปข้างหน้าต่อไม่ได้ ต้องเอาชนะคะคานกันให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดให้ได้
     แนวปรัชญายุค นวยุค (โมเดิร์น) แก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะปรัชญานวยุควางกรอบไว้กรอบเดียว กรอบนี้ตอบปัญหาได้หมด กรอบนี้ถูกต้องทั้งหมดใครไม่ยอมอยู่ในกรอบนี้ก็จะเข้ากับสังคมส่วนใหญ่เขาไม่ได้ สุดท้ายต้องดิ้นรนต่อไปจนมาตั้งสำนัก หลังนวยุค (โพสต์โมเดิร์น) ซึ่งก็ดูดี แต่ขณะนี้สถาบันทางสังคมทุกสถาบันในสังคมโลก ยังมีลักษณะแบบยุคนวยุคอยู่มันจึงขัดแย้งกับแนวคิด(และวิถีชีวิตจริง) ของคนรุ่นใหม่ (หลังนวยุค หรือ Postmodern)ความขัดแย้งนี้กำลังรอเวลาระเบิด แต่ก็อย่ากังวลอะไรมากเพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ เมื่อบังเอิญเกิดมาเผชิญกับปัณหานี้ ก็จงพยายามศึกษาปรัชญาและธรรมะกันบ้าง เราก็จะสามารถลดเบา "ความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงได้" นี้ไปได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ  ท่านเขียนอธิบายปรัชญาหลังนวยุคไว้ดีมาก ซึ่งปรัชญาหลังนวยุคนี้จะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปในสังคมปัจจุบันได้แจ่มแจ้งขึ้น ท่านเขียนไว้ดังนี้ " ยุคดึกดำบรรพ์มีผู้รู้น้ำพระทัยเบื้องบนเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในทุกเรื่อง ในยุคโบราณผู้รู้น้ำพระทัยของเบื้องบนถือโอกาสเอาเปรียบประชาชนเกินไป ก็มีนักปราชญ์ทำตัวเป็นที่พึ่งแทน ในยุคกลางนักปราชญ์สร้างเงื่อนไขวิวาทะกันมากเหลือเกิน เพื่อแย่งลูกค้ากัน ศาสดาสำคัญ ๆ จึงอุบัติขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ที่สงบเย็น จะได้เป็นที่พึ่งของประชาชน โดบอบรมสาวกให้สละตนเป็นที่พึ่งของประชาชนแบบเดียวกัน สมัยใหม่นักวิชาการเชิงวิทยาศาสตร์พยายามทำตนเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ให้ประชาชนได้ดำรงชีพอย่างสะดวกสบายขึ้น มาในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีของวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดพลังอำนาจใหญ่ๆ ขึ้ง 3 พลัง คือพลังศาสนาหลายรูปแบบ  พลังการเมืองหลายรูปแบบ  และพลังเศรษฐกิจรูปแบบเดียวคือทุนนิยม แต่แปรโฉมออกมาให้เห็นในรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา ประชาชนกลายเป็นแมลงเม่าที่ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะบินเข้ากองไฟไหน ถึงจะไม่ถูกไฟไหม้ปีก  ผู้ที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ก็คือนักปราชญ์ที่ช่วยวิเคราะห์ วิจักษณ์ และวิธาน (หาข้อสรุป) ปรัชญาไม่มีอำนาจบังคับ มีแต่ศิลปแห่งการจูงใจให้รู้จักเลือกด้วยวิจารณญาณ
      ปรัชญาที่จะเป็นที่พึ่งในยุคปัจจุบันได้ดีที่สุดคือปรัชญาหลังนวยุคแบบสายกลาง  ซึ่งลีโอตาร์ด เสนอคำนิยามหลังนวยุคว่าเป็นพันธะสังคม (social bond) สิ่งที่เป็นพันธะสังคมจะทอไขว้กันเหมือนเส้นด้ายแห่งการปฏิบัติที่เกิดขึ้นเกยกันไปมา ไม่เหมือนด้ายเส้นเดียวขึงตึงตลอดทาง บุคคลต่าง ๆ คือปมข่าย (node) ที่ปฏิบัติไขว้กัน และมนุษย์เป็นที่ตั้งของปมข่ายจำนวนมาก จึงเป็นอันว่าเอกลักษณ์ทางสังคมมีหลากหลายซับซ้อน เอกลักษณ์เหล่านี้ไม่สามารถเอามาเรียงลงบนแผนที่แผ่นเดียวหรือสังคมโฉมหน้าเดียว จึงฟันธงลงได้ว่า หาองค์รวมสังคมองค์เดียวไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ทฤษฏีเดียวอธิบายสังคมแบบองค์รวมแบบเดียวกัน
     กำลังอธิบายปรัชญาขงจื๊อ แต่ผู้เขียนนำเอาปรัชญาโพสต์โมเดิร์นมายุ่งทำไม? เหตุที่ต้องนำมาพาดพิงบ้างก็เพราะถ้าเถียงกันในกรอบเดียวแบบนวยุค จะเถียงกันตายโดยเปล่าประโยชน์ และอีกประการหนึ่งคือ ปรัชญาคำสอนของขงจื๊อนั้นก็เกิดในสภาพดังที่ศาสดาจารย์กีรติสรุปไว้ว่า "ในยุคกลางนักปราชญ์สร้างเงื่อนไขวิวาทะกันมากเหลือเกินเพื่อแย่งชิงลูกค้า ศาสดาสำคัญ ๆ จึงอุบัติขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ที่สงบเย็น
     ปรัชญาขงจื๊อ กำเนิดในยุคที่วุ่นวายแย่งชิงกันเป็นเจ้าคือ ยุคชุนชิว - จั้นกั๋ว (เลียดก๊ก) เราควรจะเข้าใจสภาพสังคมของศาสดาต่าง ๆ ด้วย เพราะคำสอนของท่านมีต้นตอที่มาจากปัญหาสังคมในยุคของท่านเอง

Tags: