collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 72019 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                  คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร   บทที่ ๖   :  กราบนิมตน์บุญวาระ (ซัน ฉิ่ง จี เอวี๋ยน)

       ตั้งแต่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้รับวิถีธรรม จากพระธรรมาจารย์หวงเหมย (หงเหยิ่น) จนกลับมายังหมู่บ้านเฉาโหวที่เมืองเสาโจว  ยังไม่มีใครที่นี่รู้ความเป็นมาเลย ในหมู่บ้านนี้มีผู้คงแก่เรียนนามว่า หลิวจื้อเลวี่ย ให้ความเคารพต่อพระบรรพจารย์เป็นอันมาก  จื้อเเลวี่ยมีป้าบวชเป็นชี ฉายาว่า อู๋จิ้นจั้ง (ขุมทรัพย์เหนือคณา) สวดท่อง มหาปรินิวาณสูตร อยู่เป็นประจำ ทันทีที่พระธรรมาจารย์ได้ยินก้เข้าใจความหมายแยบยลทันที จึงอรรถธิบายให้

     พิจารณา...
 จากบทที่หนึ่งคงจำได้ว่า พระธรรมาจารย์ต้องข้ามเทือกเขาใหญ่ต้าอวี่หลิง (ทางเหนือของมณฑลกว่างตง) กว่าจะลี้ภัยมาถึงหมู่บ้านเฉาโหวนี้ได้เป็นเช่นไร  แม่ชีถือพระคัมภีร์ขอถามความหมายในแต่ละอักษร พระธรรมาจารย์ว่า "อักษรยังไม่รู้จัก จะเข้าใจความหมายกระไรได้" พระธรรมาจารย์ว่า "สัจธรรมวิเศษแห่งเหล่าพุทธะ หาได้เกี่ยวด้วยอักษรไม่" แม่ชีตื่นใจ เที่ยวประกาศไปแก่ผู้สูงส่งคงแก่เรียนทั้งหลายในหมู่บ้านว่า "บุคคลท่านนี้คือผู้ทรงธรรม พึงอุฎฐากท่านนัก" หลานของเจ้าเมืองจิ้นอู่ (โจโฉ) นามว่า เฉาสูเหลียง กับชาวบ้านชิงกันมากราบนมัสการ ในเวลานั้น "วัดป่ารัตนาราม" ก่อนเก่าโบราณมา ตั้งแต่ปลายราชวงศ์สุย ถูกกองทัพเผาผลาญทำลายไปจึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในสถานที่เดิมนั้น ทุกคนพร้อมกันนิมนต์พระมหาเภระเจ้าฮุ่ยเหนิงเข้าจำพรรษา วัดร้างจึงกลายเป็น "รัตนาราม" อย่างแท้จริงไปทันที
       พิจารณา...
 ครั้งนั้น ขณะที่พระธรรมาจารย์หงเหยิ่น บวชจิตให้แก่ศิษย์ฮุ่ยเหนิงนั้น เป็นยามรัตติกาลเร่งรีบผลีผลาม ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ช่วงชิงบาตรกับจีวร  พระอาจารย์จึงมิได้ปลงผมให้แก่ศิษย์ แต่ศิษย์ฮุ่ยเหนิงก็ได้ถือบวชวิถีจิตฉับพลันแล้ว จึงมิได้ผิดแปลกแต่อย่างใด ในครั้งพระโพธิธรรมเสด็จจากชมพูทวีปมาโปรดที่ประเทศจีน พระองค์ก็ทรงพระเกศาประบ่า พระองค์ยังกล่าวด้วยว่า "รู้แจ้งเห็นใสในจิตญาณ จึงเรียกได้ว่า ผู้ออกบวชบำเพ็ญ"  หากมีแต่ลักษณะ รูปแบบ มิได้บวชจิต จะพึงได้รับความเคารพยกย่องว่า "พระเถระ" อย่างไรได้ ผู้บวชจิตในวิถีอนุตตรธรรมที่ขาดการสำรวมเรียนรู้ คงจะได้เห็นความสำคัญของตัวเองมากขึ้น  พระธรรมาจารย์จำพรรษาอยู่เก้าเดือนกว่า ถูกพวกคิดร้ายค้นพบติดตามอีก จึงหลบออกไปซ่อนตัวอยู่ที่ภูเขาหน้าพระอาราม คนร้ายค้นหาไม่พบ จุดไฟเผาป่า พระธรรมาจารย์แทรกตัวเข้าไปซ่อนอยู่ในซอกหิน จึงได้พ้นภัย ปัจจุบันยังคงมีรอยประทับนั่งฌาน กับรอยเส้นด้ายของผ้าที่พระธรรมาจารย์นุ่งห่มปรากฏให้เห็นอยู่ หินก้อนนั้นจึงได้ชื่อว่า "หินหลบภัย" พระธรรมาจารย์คิดถึงคำกำชับต่อเหตุการณ์ล่วงหน้าที่พระอาจารย์ของท่านกล่าวว่า "พบไฮวให้หยุด พบฮุ่ยให้ซ่อน" จากนั้นจึงแฝงองค์ไว้ที่สองอำเภอนี้
      พิจารณา...
ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ารัตนารามเก้าเดือนกว่านั้น แม่ชีอู๋จิ้นจั้ง อาราธนามหาเถระเจ้าแจกแจง "มหาปรินิรวาณสูตร" เรื่อยมาเป็นเวลาถึงสิบห้าปี ภายหลังเมื่อมาถึงวัดธรรมญาณ ได้พบกับพระมหาเถระเจ้าอิ้นจงฝ่าซืออภิธรรมาจารย์ศิษย์รุ่นน้องที่มีสมณศักดิ์และบารมีคุณเป็นที่เคารพยิ่งของสาธุชนมากมายซึ่งท่านกำลังอรรถามหาปรินิรวาณสูตรอยู่พอดี พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้แจกแจงพระสูตรโดยนัยอันลึกซึ้งแก่พระธรรมาจารย์อิ้นจงฝ่าซือ นับเป็นบุญปัจจัยอันวิเศษยิ่งในการบรรจบพบกันครั้งนั้น  สงฆ์รูปหนึ่งธรรมฉายาว่า "ธรรมสมุทร ฝ่าไห่" เป็นชาวอำเภอเสาโจว ฉวี่เจียง ได้กราบพระธรรมาจารย์เป็นครั้งแรก ขอคำอธิบายประโยคที่ว่า "เข้าถึงใจ เข้าถึงพุทธะ" ขอได้โปรดชี้นำแจกแจง พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ความคิดคำนึงข้างหน้า (ผ่านไป) ไม่เกิดคือเข้าถึงใจ (ไม่อาลัยอาวรณ์ย้อนคิดอดีตผ่าน) ความคิดคำนึงในภายหลังไม่ดับ คือ เข้าถึงพุทธะ (สิ้นเชื้อสิ้นไฟ จึงไม่พึงดับอีก)  ปลงเห็นจริงต่อรูปทั้งปวง คือ เข้าถึงใจ พ้นจากรูปทั้งปวง คือ เข้าถึงพุทธะ ( "ใจคน" รู้หยุดได้ ไม่ก่อเหตุ "พุทธะ" ปราศจากเหตุอันพึงระงับหยุด)
     พิจารณา...
 อมตะพุทธะจี้กงเคยโปรดว่า
อารมณ์        สงบ            ใจนิ่งราบ
หนึ่งนิ้ว        จุดสดับ        วิเศษใส   
ตรงหน้า        เจิดจ้า         ประตูใจ
ร่วมสาย        พุทธะ         อมตะเซียน
ดำริพลัน       ผันใจ          ให้ผิด
พาจิต          ชิดโลก         วิสัย
กลับหวน       เวียนเกิด       เวียนตาย
เสียดาย        ที่ได้ทาง       กระจ่างพลัน
     ภาวะเดิมแท้ของใจ ไม่มีอะไรอยู่ภายในภายนอก บริสุทธิ์ว่างเปล่าดั่งทารกน้อย ไม่รำลึกตรึกคิดย้อนย้ำ ไม่อาลัยปรุงแต่ง ภาวะของความเป็นพุทธะบริสุทธิ์หมดจด ไม่ยึดหมายพัวพันในรูปทั้งปวง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

          โปรดต่อไปว่า
        หากอาตมาจะแจกแจงให้พร้อมมูล เกรงว่าสิ้นกลับเวลายังแจงได้ไม่สิ้น" จงฟังโฉลกจากอาตมาว่า "เข้าถึงใจ" ได้ชื่อว่าปัญญา ( "รู้หยุด" ด้วยปลงเห็นความเป็นจริง)  "เข้าถึงพุทธา" คือ สมาาธิมั่น ( "คงอยู่" กับสัจธรรมปัญญาสมาธิ) สมาธิฺปัญญาเสมอกัน (เมื่อสมาธิกับปัญญามิแยกห่างต่างกัน) คือดำริอันบริสุทธิ์ผุดผ่องแท้ (ดำริคิดทุกอย่างล้วนเหมาะควร)
          พิจารณา
       ดังกล่าวแล้วข้างต้นบทว่า สมาธิกับปัญญาคือหนึ่งเดียวกัน สมานกันไป สำนึกรู้แจ้งในวิถีธรรมนี้ อาศัยอนุสติในจิตญาณของท่าน อันเป็นมา (แต่ก่อนเก่า) ใช้จิตอันมิเกิดดับแต่เดิมทีนั้น บำเพ็ญใจบำเพ็ญพุทธะพร้อมกันไป อันเรียกได้ว่า "สัมมาวิถี" (ทางตรง)
          พิจารณา
        อนุสติ คือ ความระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ทั้งภายนอกกับภายในตนเอง)  ระลึกถึงศีล ทาน และสุดท้ายคือนิพพาน เหล่านี้ เป็นความระลึกดีที่ควรมีอยู่เสมอ เมื่อเป็นความระลึกดี กาย วาจา ใจ ย่อมดำรงความเคยชินดีที่เคยสั่งสมเป็นมา เมื่อได้เห็นสิ่งดีอันเคยเป็นมา ก็จะระลึกได้ จะคุ้นเคยเจริญอยู่ในสิ่งดีนั้น จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า บางคนพอได้รับวิถีธรรมก็เข้าใจเกิดศรัทธา และปฏิบัติตามบำเพ็ญเพียรทันที ส่วนคนไม่มีอนุสติเดิมมาก่อน เพียรพยายามปลูกฝังตั้งแต่บัดนี้ ก็จะมีได้เป็นได้เช่นเดียวกัน  สงฆ์ฝ่าไห่ได้ฟังพลันรู้แจ้ง ถวายโศลกสรรเสริญมหาเถระเจ้าว่า
                                 "เข้าถึงใจ        เดิมทีนี้        คือพุทธะ
                                มิแจ้งกระจะ         ละตน          คู่ไว้
                                ฉันรู้ปัญญา          สมาธิ           เป็นไป
                                เพียรสองอย่างได้  ละไร้           รูปนาม"
          พิจารณา
        สงฆ๋ฝ่าไห่ เป็นหนึ่งตัวอย่างของผู้มีอนุสติความเคยชินดีที่เคยสั่งสมเป็นมา จึงเข้าใจวิสัชนาธรรมที่ได้ฟังทันที ดังนี้       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        สงฆ์อีกรูปหนึ่งฉายา "เจริญธรรม ฝ่าต๋า" เป็นชาวเมืองหงโจว ออกบวชตั้งแต่อายุเจ็ดปี สวดท่องสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นประจำเสมอมา ได้มากราบพระธรรมาจารย์ แต่ศรีษะมิได้จรดพื้น พระธรรมาจารย์จึงตำหนิว่า "อายุเจ็ดปีเช่นนี้ ดูแลความเป็นอยู่ของตนโดยไม่เป็นภาระต่อใคร ไม่กระทบต่อการปฏิบัติบำเพ็ญของผู้ใดได้หรือไม่" เมื่อไม่มีปัญหา พระบรมศาสดาก็โปรดอนุญาตให้บวชเป็นเณรน้อยได้ (สงฆ์ฝ่าต๋าต้องพูดความจริง เพราะพระธรรมาจารย์ทรงหยั่งรู้) จึงได้ตอบว่า "ศิษย์สวดท่องสัทธรรมปุณฑริกสูตรมาแล้วสามพันเล่มครั้ง"
          พิจารณา
        ในพระคัมภีร์ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" มีอักษรทั้งหมดหกหมื่นกว่าตัว หากสวดท่องเร็วขึ้น วันหนึ่งจะสวดท่องได้เพียงหนึ่งเล่มครั้ง หากสวดเป็นประจำทุกวันวันละหนึ่งเล่มครั้ง จะต้องใ้เวลาสวดนานถึงแปดปี  ฉะนั้น สงฆ์ฝ่าต๋าน่าจะสวดมาแล้วกว่าสิบปี คือสวดก่อนบวชเณร นับว่าเป็นผู้มีกุศลมูลสูงมากทีเดียว
        พระธรรมาจารย์โปรดว่า  :   หากท่านสวดได้ถึงหนึ่งหมื่นเล่มครั้ง เข้าใจความหมายในพระคัมภีร์โดยไม่ถือดี ก็จะเสมอด้วยอาตมา แต่วันนี้ท่านทำผิดต่อกิจนี้ (การสวดท่อง) ยังมิรู้ผิดเลย
          พิจารณา
        "...เสมอด้วยอาตมา...มิใช่พระธรรมาจารย์จะยกตนข่มท่าน มิใช่เสมอด้วยสถานภาพ มิใช่เสมอด้วยปัญญาความสามารถ แต่หมายถึงเสมอด้วยความเป็นผู้รู้แจ้งต่อสัจธรรม ดำเนินไปด้วยกัน ผู้รู้แจ้งต่อสัจธรรม จะปราศจากความถือดีเช่นนี้ "...ทำผิดต่อกิจนี้..." กิจอย่างหนึ่งของผู้บวชเรียนและผู้ศึกษาธรรม จะต้องสวดท่อง เรียนรู้ กระจ่างแจ้งต่อพุทธโอวาท พุทธวจนะ กระจ่างแจ้งต่อพุทธธรรม อันถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง  ฉะนั้น หากสวดท่องโดยมิกระจ่างแจ้ง หรือหากอวดตัว ถือเป็นความเขื่องเหนือใคร ๆ เท่ากับตีขลุมผ่านไปวัน ๆ นับว่่าผิดต่อภาระหน้าที่ผิดต่อกิจของผู้บวชเรียน
                                                จงฟังโฉลกจากอาตมา
                                     "จริยะวินัย        ให้สยบ        ลบยโส
                                      แต่ไฉน            ยกหัวโง      ไม่จรดพื้น
                                      มีอัตตา            จึงได้พา       ผิดเกิดขึ้น
                                     ทำลายฝืน          วาสนา         เกินกว่านัก"
          พิจารณา
        รัฐมนตรีท่านหนึ่งได้มารับวิถีธรรม ได้เข้ารับการอบรมประชุมธรรม หลังจากก้มกราบพระพุทธะ พระโพธิสัตว์คารวะนักธรรมอาวุโสทั้งหลายตามจริยะระเบียบแล้ว ท่านกล่าวว่า "ก้มกราบมาก ๆ อย่างนี้ผมชอบ อัตตาจะได้ไม่เกิด" อีกท่านหนึ่งคืออดีตรองนายกรัฐมนตรี กรุณามาให้โอวาท เป็นกำลังใจแก่นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมธรรม เมื่อท่านกล่าวสุนทรพจน์จบลง อาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรมให้นักศึกษาทุกคนก้มกราบขอบพระคุณ ท่านรีบปฏิเสธการกราบ กล่าวว่า "ไม่ต้องก้มกราบ อย่าทำให้ผมลืมตัว"
          หมายเหตุ
        ท่านแรกคือ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พณฯ ท่านพลตำรวจโทจำรัส มังคลารัตน์
        ท่านที่สองคือ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พณฯท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง
        (จึงขออนุญาตจารึกคติพจน์ของท่านไว้ในที่นั้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญต่อไป)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์ถามต่อไปว่า "ท่านมีฉายาว่าอย่างไร" ตอบว่า "ฝ่าต๋า (ธรรมะเจริญ)"  พระธรรมาจารย์ว่า "ท่านได้ชื่อว่าธรรมะเจริญ เคยเจริญธรรมแล้วหรือ" โปรดกล่าวเป็นโฉลกต่อไปอีกว่า "
 "ท่านวันนี้        มีนามว่า        "ธรรมะเจริญ"
หมั่นสรรเสริญ    สวดประจำ      มิหยุดหย่อน
ท่องเสียเปล่า    หากตามเสียง  เพียงทำนอง
แจ้งใจส่อง       จึงครองชื่อ      คือโพธิสัตว์"
        ชาตินี้ท่านมีเหตุปัจจัยแห่งบุญ  วันนี้อาตมาจะกล่าวแก่ท่าน 
 "เชื่อเถิดว่า       พุทธะหา        ได้กล่าวไม่
ปุณฑริกไซร์       ได้เกิดมี         ที่ปากเอ่ย"
พิจารณา
พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสว่า..."หากผู้ใดกล่าวว่า ตถาคตได้แสดงธรรม ผู้นั้นกล่าวเท็จ"  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมไว้มากมาย แต่พระองค์กลับปฏิเสธว่า "ตถาคตไม่ได้กล่าวอันใดเลย"  หมายถึงธรรมอันได้แสดงแล้วนั้น เป็นสัจธรรมที่มีอยู่คู่ฟ้าดิน มิใช่เกิดจากพระองค์ ในที่นี้ก็โดยความนัยเดียวกัน "...เชื่อเถิดว่า พุทธะหา ได้กล่าวไม่ ปุณฑริกฯไซร์ได้เกิดมีที่ปากเอย" ปุณฑริกสูตรที่ผ่านมา ฝ่าต๋าท่องบ่นก็เป็นสัจธรรมของฟ้าดิน เพียงแต่ได้ออกจากปากท่านฝ่าต๋า จึงควรจะออกจากปากด้วยจิตสำนึกรู้แจ้งจริง ในคัมภีร์คุณธรรมเต้าเต๋อจิงท่านอริยปราชย์เหลาจื่อโปรดว่า "ผู้สูงส่งด้วยมหาบารมี  ปฏิเสธบารมี" (ชั่งเต๋อปู้เต๋อ) นั่นคือผู้เข้าถึงสัจธรรมที่มีอยู่คู่ฟ้าดิน หาใช่สัจธรรมที่ผู้ใดกำหนดให้ไม่  ผู้มีบารมีแท้จริงจึงปฏิเสธว่า "ข้าพเจ้าหามีบารมีไม่..."ดังนี้
       สงฆ์ฝ่าต๋าสดับโฉลกจบลง สำนึกผิดขอบพระคุณว่า "ต่อแต่นี้ไป จะอ่อนน้อมถ่อมตนทุกอย่าง ศิษย์ท่องสัทธรรมปุณฑริกสูตร ยังไม่เข้าใจความหมาย ในใจเคลียบแคลงสงสัยมิวาย  พระมหาเถระเจ้าปัญญกว้างไกล ได้โปรดอธิบายความหมายในพระสูตรบ้างเถิด" พระมหาเถระเจ้าโปรดว่า "ฝ่าต๋าธรรมะเจริญ ธรรมะนั้นเจริญยิ่ง แต่ใจท่านนั้นไม่เจริญ (เข้าไม่ถึงธรรมะ) พระสูตรนั้น แท้จริงไซร์ไม่มีสิ่งใดให้ต้องกังขา ใจของท่านเองที่กังขาไปเองท่านท่องบ่นพระสุตรนี้ ด้วยจุดหมายอันใดหรือ" ฝ่าต๋ากราบเรียนว่า "ศิษย์ผู้ศึกษานี้ ญาณอินทรีย์มืดมัวที่อทึบ ตั้งแต่ต้นมา ได้แต่สวดท่องตามอักษร ไหนเลยจะเข้าใจว่าสวดท่องเพื่อจุดหมายอันใด" พระมหาเถระเจ้าจึงโปรดว่า "อาตมาไม่รู้หนังสือ ท่านลองเอาพระสูตรมาท่องให้ฟังสักรอบหนึ่ง อาตมาจะอรรถาธิบายให้ท่านฟัง" ฝ่าต๋าจึงท่องเสียงดัง ท่องจนถึงบท "กุศโลบาย" พระมหาเถระเจ้าก็กล่าวว่า " หยุดเถิด พระสูตรนี้ แท้จริงแล้วมีจุดหมายใน "เหตุปัจจัยเพื่อการหลุดพ้น" แม้จะยกตัวอย่างมากมาย แต่ก็มิได้พ้นไปจากขอบข่ายความหมายนี้" อย่างไรเรียกว่า เหตุปัจจัย  ที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์นั้นว่า "เหล่าพุทธะพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุปัจจัยหนึ่งประการใหญ่ จึงปรากฏพระองค์มายังโลกมนุษย์นี้ หนึ่งประการใหญ่คือ การรู้แจ้งเห็นจริงแห่งพุทธะ
พิจารณา
 "เหตุปัจจัยเพื่อการรู้แจ้งเห็นจริงแห่งพุทธะ" เหล่าพุทธะพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พ้นโลกโลกีย์วิสัยไปแล้ว ยังแต่ชาวโลกที่เวียนลึกดิ่งลงมากมายไม่พ้นโลกนรกานต์ไปได้..."ความรู้แจ้งเห็นจริงแห่งพุทธะ"ด้วยเหล่าพุทธะรู้แจ้งเห็นจริงต่อสัจธรรมของการเวียนว่ายเกิดตาย เห็นจริงในชาติ ชรา มรณะ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย)  เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  (เหตุผลทางพ้นทุกข์) เหล่านี้คือเหตุปัจจัยหนึ่งประการใหญ่ (เรื่องใหญ่)  ด้วยเมตตามหากรุณาคุณเป็นที่ตั้ง ทำให้พระองค์ต้องเพียรอุบัติกาย หรือปรากฏพระองค์ในธรรมลักษณะต่าง ๆ ในบุฐวาระต่าง ๆ ในสภาพการณ์ต่าง ๆ  เพื่อจูงใจเหล่าเวไนยฯให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงต่อสัจธรรม เพื่อนำพาตนให้พ้นทุกข์ด้วยเช่นกัน ในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม ธรรมประกาศิตประโยคหนึ่งว่า "ทุกคนล้วนได้กลับคืนบ้านเดิม คุ้มครองเจ้าปลอดภัยหมื่นแปดร้อยปี" ธรรมประกาศิตนี้ คิดให้ดี สัมผัสรับรู้ด้วยใจให้ดี...  มหากรุณาฯในธรรมประกาศิตนี้ ล้ำค่าหามีสิ่งใดเปรียบปานได้ บ้านเดิมคือ ภาวะโพธิคือภาวะโพธิญาณอันใสสงบ  เราหนีหายมารับทุกข์ภัยในโลกโลกีย์วิสัยนี้นานแล้ว อมตะพุทธะจี้กง จะชี้ทางให้เราได้กลับคืนบ้านเดิมนั้น และหากเราเดินตามวิถีแห่งพุทธะนี้ อมตะพุทธะพระอาจารย์จี้กงรับรองแก่เราว่า " เจ้าจะปลอดภัยต่อการรับทุกข์ในวัฏสงสารได้ยั้งยืนยาวนานถึงหนึ่งหมื่นแปดร้อยปีทีเดียว"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       (โปรดอีกว่า) "ชาวโลกหลงติดอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก"  "(ชาวธรรม) หลงอยู่กับความว่างภายใน" หากแม้นอยู่ท่ามกลางรูปลักษณ์ แต่พ้นหากจากรูปลักษณ์ได้ อยู่ท่ามกลางความว่าง แต่พ้นหากจากยึดหมายในความว่างได้ นั่นคือ มิหลงไปทั้งภายในภายนอก  หากรู้แจ้งแห่งธรรมนี้ เกิดหนึ่งรำลึกพลัน จิตเบิกบานกว้างไกล นั่นคือ เปิดโลกใหญ่แห่งการรู้แจ้งเห็นจริงของพุทธะ "พุทธะ คือ ผู้ตื่น ผู้รู้แจ้งเห็นจริง"
พิจารณา
        "รู้แจ้งเห็นจริง" เห็นสัจธรรมความเป็นจริงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายสิ้นไป วนเวียนไม่จบสิ้น อันเป็นวัฏจักรซ้ำซากอย่างนี้  รู้แจ้งต่อวิธีการเปลี่ยนแปลงมิให้เวียนไปในวัฏจักรนั้น  "การรู้แจ้งเห็นจริง" แบ่งออกเป็น สี่ช่องทางคือ เปิดทาง "รู้แจ้งเห็นจริง"  แสดงความ "รู้แจ้งเห็นจริง"  สำนึก "รู้แจ้งเห็นจริง"  เข้าถึง "รู้แจ้งเห็นจริง"  หากได้สัดบการแสดงความ ก็อาจสำนึก เข้าถึง "รู้แจ้งเห็นจริง" จิตญาณเดิมแท้ก็จะปราฏกได้ ท่านจงระวัง อย่าได้เข้าใจความหมายของพระสูตรผิดไป  ได้ยินใครเขากล่าวว่า "เปิดทาง แสดงความสำนึกกับเข้าถึง" คิดเสียเองว่า เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงของพุทธะที่พวกเราไม่มีส่วน หากเข้าใจดังนี้คือ กล่าวเท็จต่อพระสูตรคัมภีร์ใส่ไคล้พุทธธรรม ในเมื่อพระองค์คือพระพุทธะแล้ว รู้แจ้งเห็นจริงเต็มบริบูรณ์แล้ว ไฉนยังจะต้องเปิดทางให้รู้แจ้งเห็นจริงอีก  ณ บัดนี้ ท่านจงเชื่อเถิดว่า ความเป็นพุทธะอันได้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น อยู่ที่ใจของท่านเองเท่านั้น ไม่มีพุทธะอื่นใด
พิจารณา
        "ท่านเองเท่านั้น" หมายถึงทุกคนต่างรู้ได้ในจิตตน จะไปรู้ภาวะจิตความเป็นพุทธะของผู้อื่นได้อย่างไร พุทธพจน์ว่า "ตนหากปราศจากจิตพุทธะ จะเสาะหาพุทธะแท้จริงจากที่ใด" ด้วยมวลเวไนยฯ บดบังแสงสว่างของตนเอง รักโลกอยู่ในสภาพโลกีย์ ปัจจัยภายนอกเข้ารบกวนจิตภายใน จึงต่างยินดีถูกขับต้อนให้โลดเต้นอยู่ในสภาพนั้น เป็นเหตุอันทำให้ต้องเหนื่อยยากแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เริ่มจากให้รู้ในสัมมาสมาธิ (อีกทั้งต้องทรง) เหนื่อยยากแจกแจงแสดงธรรม เตือนใจให้หยุดหลงใหล ดับกิเลสไฟให้มอดไป
พิจารณา
       พุทธพจน์ว่า " หยุด คือ โพธิ  (เซียจี๋ผูถี)" "หยุดเติมเชื้อไฟ  เพลิงหยุดโหมไหม้  เชื้อเก่าหมดไป ไฟมอดดับลง     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        จิตใจอย่าได้ฝักใฝ่โลภอยากจากภายนอก ก็จะมิต่างจากพุทธะ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงแห่งพุทธะ" อาตมาก็จะเตือนคนทั้งหลายให้เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงแห่งพุทธะในจิตของตนเป็นประจำ
พิจารณา
        ในศูรางคมสูตร (เหลิงเอี๋ยนจิง) พระอวโลกิเตศวรพระโพธิสัตว์กวนอิม ได้สาธยายความเป็นมาหลังจากที่พระองค์ได้ "แก้ปมทั้งหก" คือ ผ่านพ้นการทดสอบเคี่ยวกรำแล้วว่า "ฉับพลันล่วงพ้นโลก ออกไปจากโลก อากาศธาตุทั่วทั้งสิบทิศสว่างกลมใส" ได้รับความวิเศษยิ่งสองประการ "ประการที่หนึ่ง ทิศเบื้องหน้าบรรจบเหล่าพุทธะทั่วสิบทิศ จิตเข้าถึงความรู้แจ้งอันวิเศษแยบยลแห่งตน ร่วมกระแสพลังมหาเมตตากับพระยูไลพุทธเจ้า  ประการที่สอง ทิศเบื้องล่างสิบทิศบรรจบเหล่าเวไนยฯมวลชีวิตทั้งหกวิถีปฏิสนธิ ได้ร่วมกระแสหวังวอนกรุณาธรรมกับเหล่าเวไนยฯ" นี่คือภาวะของการหลุดพ้น จากพระกระแสดำรัสของพระโพธิสัตว์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่า พุทธะในจิตตนนั้นเป็นภาวะบริสุทธิ์ยิ่งเพียงไร  ชาวโลกจิตใจทุคติ โง่หลงสร้างบาปเวร ปากดี ใจร้าย โลภ โกรธ ริษยา สอพลอจองหอง  ล่วงเกินเอาเปรียบผู้อื่น ทำลายสรรพสิ่ง "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีชีวิตเวไนยฯให้แก่ตนเอง" (เป็นผลให้พอใจหลงใหลเกลือกกลั้วกับสิ่งชั่วร้าย) แม้อาจใจตรงด้วยสัมมาคติ ก่อเกิดปัญญาอยู่เสมอ สอดส่ายส่องมองใจตน หยุดชั่ว ทำดี ก็จะเป็น "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะให้แก่ตนเอง"
พิจารณา
        เมื่อพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงมาถึงวัดตงฉันซื่อ ได้กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์หงเหยิ่นว่า "ในใจศิษย์มักเกิดปัญญาอยู่เสมอ"  ก็คือจิตนั้นกำลัง "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะ"  ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นแก่จิตใจของใครได้นั้น ก่อนอื่นจะต้องปราศจาก "ยึดมั่น"  "ภาชนะจิตเืมื่อว่างจากอาสวะ ไม่มีกิเลสวิสัยใส่ไว้เต็ม จึงจะเติมเต็มได้ด้วยธรรมะ"  ปัญญาที่เกิดขึ้นเองนั้นเรียกว่า "ปัญญาที่ปราศจากอาจารย์โน้มนำ เป็นปัญญาจากความเป็นธรรมชาติ สรุปว่า "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีเวไนยฯ ไปสู่การเวียนว่าย"  "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะ ไปสู่การหลุดพ้น" ท่านจึงพึง "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะอยู่ทุกขณะจิต อย่าได้เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีชีวิตเวไนยฯ"
พิจารณา
        การกราบขอรับวิถีธรรม นั่นคือก้าวแรกของการเข้าสู่วิถีพุทธะ พิธีศักดิ์สิทธิ์ช่วงต้น หลังจากเผา "ใบคำขอ" ถอนชื่อจากบัญชีเบื้องล่างถวายขึ้นจารึกยังเบื้องบน นั่นคือ จุดเบื้องต้นของการ "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะ"ให้แก่ผู้ขอกราบรับวิถีธรรม ด้วยพิธีการอย่างเป็นทางการโดยนิตินัย หลังจากนั้น ทุกคนจะต้องไปเปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะ "ให้แก่ตนเองด้วยจิตของตัวเองจริง ๆ อันเป็นพฤตินัย เช่นนี้ไซร์ ความเป็นไปได้จึงจะสมบูรณ์" เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีพุทธะ คือ พ้นโลก "  "เปิดทางรู้แจ้งเห็นจริงวิถีเวไนยฯ คือเห็นโลก"
พิจารณา
        เห็นโลกก็คือ ชีวิตที่คลุกคลีรู้เห็นอยู่กับทางโลก

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        หากท่านต้องเหนื่อยยากอยู่กับการยึดหมายสวดท่องสัทธรรมปุณฑริกสูตร โดยคิดว่าเป็น "ทำการบ้าน" เช่นนี้ก็จะต่างอะไรกับ "จามรีรักหาง" หรือ
พิจารณา
        พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ไม่เคยเสวนาเรื่องราวทางโลกกับใคร จิตใจมีแต่ความบริสุทธิ์สงบ แต่ท่านสามารถเปรียบเทียบอ้างอิงถึงสิ่งที่อยู่แดนไกลโพ้น เช่น ตัว "จามรี" ที่อยู่ในแถบทิเบต ฉะนั้น  จึงไม่แปลกใจเลยว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู รู้ไปหมดได้  "จามรี" สัตว์เคี้ยวเอื้อง ขนละเอียดอ่อนยาวมากเกือบถึงพื้น มีสีน้ำตาล เวลาเดิน จามรีจะมีทีท่ายักย้ายส่ายสะโพก ขนก็จะพริ้วสยาย จนเจ้าตังเองอดที่จะเหลียวไปดูลีลาความงามนั้นไม่ได้ เปรียบไปก็คล้ายสตรีผมยาวสลวย ชอบสบัดผมจนเป็นนิสัย เหมือนภูมิใจในความงามนั้น พระธรรมาจารย์เปรียบเทีบยว่า สงฆ์ฝ่าต๋าสะสมสถิติท่องพระสูตรมานานสามพันเล่มครั้ง หลงภูมิใจตนเหมือนจามรีชื่นชมขนงามของตน สงฆ์ฝ่าต๋ากล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น เพียงแต่เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์พระสูตร ไม่ต้องเหนื่อยยากสวดท่องกระนั้นหรือขอรับ" พระธรรมาจารย์โปรดว่า "พระธรรมคัมภีร์มีโทษผิดอย่างไรหรือเป็นอุปสรรคขวางกั้นจิตรู้แจ้งของท่านกระนั้นหรือ  ความหลง ความรู้แจ้ง อยู่ที่บุคคล โทษและคุณประโยชน์เกิดจากตน ปากท่องใจดำเนินตามคือ การเคลื่อนเวียนพระคัมภีร์ (เวียนคัมภีร์) ปากท่องใจไม่ดำเนิน คือ ถูกพระคัมภีร์เคลื่อนเวียนไป"
พิจารณา
        "เคลื่อนเวียนพระคัมภีร์" ให้พระคัมภีร์เหมือนสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ เพื่อเพิ่มพูนสรรค์สร้างปัญญาของเราให้แตกฉาน ยิ่งอ่าน ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งรู้จัก ยิ่งสนิทชิดใกล้ เหมือนกายใจเดียวกัน ดังนี้ คัมภีร์ยิ่งจะมีคุณค่า มิฉะนั้นจะเป็นคัมภีร์ตายตัว เป็นเพียงอักษรที่ชืดแข็งไม่เคลื่อนไหว ผู้สวดท่องจะกลายเป็นคนหลงเฉื่อย เรื่อยเปื่อยท่องไปไม่รู้ตัว

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์โปรดอีกว่า "จงฟังโฉลกจากอาตมา"
ใจหลงอยู่        ดูปุณฑริก ฯ        เวียนคนท่อง
ตื่นใจตรอง       คนสวดท่อง        เวียนปุณฑริกฯ
ท่องนานไป      ไม่สว่าง             กระจ่างจิต
เป็นอมิตร         กับความหมาย     ในคัมภีร์
ไม่ตริตรึก         รำลึกไป             ใจจะเที่ยง
จิตส่ายเอียง      เบี่ยงเบนเห็น       เป็นมิจฉา
ไม่ยึดมั่น          ทั้งที่มี               ไม่มีนา
ทุกเวลา           กระบือขาว          เราควบคุม
หมายเหตุ  "กระบือขาว" อุปมาใจบริสุทธิ์ที่ดื้อรั้น
        สงฆ์ฝ่าต๋าสดับโศลกจบลง สะอื้นไห้เสียใจไม่รู้ตัว เกิดจิตสำนึกรู้ครั้งใหญ่ทันทีที่ฟังความ  จึงกราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ว่า  "ฝ่าต๋าตั้งแต่ก่อนนานมา ยังไม่เคยเวียนปุณฑริกสูตรเลยจริง ๆ ได้แต่ปุณฑริกสูตรเวียนไป" กราบเรียนอีกว่า ในพระสูตรจารึกว่า "เหล่ามหาสาวกยานจนถึงโพธิสัตว์ ต่างได้ร่วมกันพยายามพิจารณาคำนวนการ แต่ก็มิอาจคาดคำนวนพระปัญญาของพระพุทะเจ้าได้"
พิจารณา
        "เหล่าสาวกยาน" จนถึง "โพธิสัตว์" นั่นหมายถึงปัจเจกพุทธยานด้วย หลังจากสดับธรรม ฝ่าต๋ารู้แจ้้งกระจ่าง เกิดปัญญารู้ความหมายในพระสูตรที่เคยท่องอ่านมา แต่เหตุที่แสดงปุจฉา (คำถาม) ก็เพื่อให้ได้วิสัชนาธรรม (คำตอบ) จากมหาเถระเจ้าอย่างชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาธรรมท่านอื่น ๆ ต่อไป จึงได้กราบเรียนถามข้อสงสัยสามประการดังกล่าว (ที่มหาเถระเจ้าโปรดกล่าวมานั้น) วันนี้ก็เพื่อให้สามัญชนได้สำนึกรู้แจ้งในจิตตน จึงได้ชื่อว่า ความรู้แจ้งเห็นจริงของพุทธะ  ศิษย์ (ฝ่าต๋า) เองมิใช่อินทรีย์ระดับสูง จึงมิพ้นที่จะสงสัยกล่าวค้าน (ศิษย์ฝ่าต๋ากราบเรียนถามอีกว่า) ในพระคัมภีร์จารึกอีกว่า รถสามประเภทคือ รถเทียมแพะ  รถเทียมกวาง  กับรถเทียมวัวขาว  แตกต่างกันอย่างไรหรือ ขอพระมหาเถระเจ้าโปรดแจกแจง
พิจารณา
        มีคำกล่าวว่า "สามรถเป็นหนึ่งรถ" มีตำนานความเป็นมาดังนี้  ""เศรษฐีคนหนึ่งมีคฤหาสน์ บริเวณที่อยู่อาศัยกว้างใหญ่ไพศาลมาก วันหนึ่งกลับมาจากนอกบ้าน เห็นไฟกำลังไหม้บ้านด้านนอกอยู่ แต่ลูก ๆ ของเศรษฐีที่กำลังเล่นสนุกสนานอยู่ด้านในไม่รู้เลย ด้วยเหตุที่บ้านใหญ่นัก ถ้าจะเข้าไปบอกให้หนีไฟ เด็ก ๆ คงไม่เชื่อ จะไม่ไปพ้นจากที่สนุกสนานนั้น เศรษฐีจึงออกอุบายบอกแก่เด็ก ๆ ว่า ได้ซื้อรถมาให้เล่นกันสามคัน  มีรถเทียมแพะ  เทียมกวาง  เทียมวัวขาว  ให้รีบออกมาดู เด็ก ๆ ดีใจพากันวิ่งออกมา เศรษฐีมิได้ให้รถทั้งสามแก่เด็ก ๆ แต่กลับให้รถเทียมวัวขาวที่พิเศษกว่า...นี่คือธรรมอุปมา   รถเทียมแพะ คือสาวกยาน (เซิงเอวิ๋นเฉิง)  รถเทียมกวาง คือปัจเจกพุทธยาน (เอวี๋ยนเจวี๋ยเฉิง)   รถเทียมวัวขาว คือโพธิสัตว์ยาน (ผูซ่าเฉิง) บ้านกำลังถูกไฟไหม้คือ สามโลกตกอยู่ในเพลิงผลาญ พระพุทธะจึงใช้กุศโลบายให้สาวก ปัจเจก โพธิสัตว์ ใช้วิธีการอันชอบด้วยอุบายมาฉุดนำสาธุชนให้พ้นจากเพลิงไฟ  พระธรรมาจารย์โปรดว่า "ความหมายในพระสูตรนั้นชัดเจนกระจ่าง แต่ท่านเองต่างหากที่หลงทางหันหลังให้ ผู้บรรลุอยู่ในสามระดับยาน มิอาจร่วมกันคำนวน การปัญญาของพระพุทธะได้นั้น ก็ด้วยใช้มโนวิญญาณมาคำนวนการ"
พิจารณา
        ศึกษาพุทธธรรมหากใช้มโนวิญญาณ  มโนวิญญาณเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจจึงคิดไปตามธรรมารมณ์ ก็คือด้วยใจนึกคิดนั้น แต่ปัญญาแห่งพุทธะ เป็นความรู้ที่อยู่เหนือการคาดคิด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พระธรรมาจารย์โปรดอีกว่า "ปล่อยให้เขาไปร่วมกันคาดคิดคำนวนการกันเถิด ยิ่งคิดก็ยิ่งห่างไกล  อันที่จริงนั้น พุทธะโปรดแก่ (เพื่อ) สามัญชน มิใช่โปรดแก่ หลักธรรมนี้หากมีผู้ไม่ยอมเชื่อ ก็ปล่อยให้เขาถอนตัวออกไป ซึ่งเขาไม่รู้เลยว่า ได้นั่งอยู่แล้วบนรถเทียมวัวขาว แต่ละไปจากรถเทียมวัวขาว อีกทั้งยังออกไปหารถสามคันภายนอกประตู
พิจารณา
        ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงสัทธรรมปุณฑริกสูตรอยู่ มีภิกษุห้าพันรูปถอนตัวไปจากที่ประชุม พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ถอนไปก็ดี"  ทั้งห้าพันรูปที่ถอนตัวไปนั้นไม่มีกิ่งใบอะไรไปแสดงหนทางแห่งการบรรลุธรรมได้อีกเลย บุคคลเหล่านี้มิรู้ตัวว่า กำลังนั่งอยู่บนรถเทียมวัวสีขาว นั่นก็คือมิรู้ว่า จิตญาณตนมีภาวะรู้แจ้งเห็นจริงของพุทธะ ซึ่งสมบูรณ์พร้อมเป็นอย่างนั้นเองอยู่แล้ว  เมื่อได้รับฟังสัจธรรมดังนี้ กลับไม่ยอมรับความเป็นจริงนี้  แต่กลับพอใจที่จะไปหารถเทียมแพะ เทียมกวาง เทียมวัวอื่น ๆ
        ยิ่งกว่านั้น ข้อความตามอักษรในพระสูตรก็ได้บอกแก่ท่านไว้ชัดเจนแล้วว่า "พุทธยานมีหนึ่งเดียว หามียานอื่นใดไม่ หากมีพุทธยานเป็นสองเป็นสาม จนถึงนับไม่ถ้วนยานอันชอบด้วยอุบาย มีเหตุปัจจัย มีถ้อนคำอุปมาต่าง ๆ นานา พุทธธรรมนั้น ก็ล้วนเป็นไปเพื่อเอกะพุทธยาน คือ  "พุทธยานหนึ่งเดียว"  เป็นสำคัญ
พิจารณา
        พุทธยาน  ยานแห่งพุทธะ  ยานเพื่อการขนถ่ายมวลเวไนยฯ ให้คืนสู่พุทธภูมิ หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระธรรมคำสอนจากพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงแสดงมาดีแล้วนั้น เป็นพุทธธรรมล้ำเลิศประเสริฐสุด เพื่อการฉุดนำเวไนยฯให้พ้นจากทะเลทุกข์ และบรรลุความเป็นพุทธะในที่สุดดุจเดิมที่เคยเป็นมา จึงไม่ว่าจะเป็นวิธีการ ด้วยกุศโลบายต่างกัน จะเป็นรูปแบบแจกแจงอรรถาธิบายขยายควมอย่างไร  ด้วยจุดหมายเพื่อการขนถ่ายเวไนยฯให้บรรลุพุทธะ ก็ล้วนเป็นพุทธยานเดียวกัน  พระธรรมาจารย์จึงโปรดว่า "ล้วนเป็นไปเพื่อพุทธยานหนึ่งเดียว"  เป็นสำคัญ  พระธรรมาจารย์โปรดต่อไปว่า "เหตุใดท่านจึงไม่ตรึกคิดพิจารณาเล่า รถทั้งสามคันอันได้อุปมานั้นเป็นสมมุติ เป็นอดีตกาลที่ผ่านเลยไป แต่อีกหนึ่งคันรถ ด้วยความเป็นไปในปัจจุบันกาล (ขณะนี้) "
พิจารณา
        บันไดกี่ขั้น        ที่ต้องเหยียบย่าง   ถ่อร่างขึ้นไป
        ล้วนเป็นฐานให้   ถึงจุดหยุดหมาย    ในขั้นสูงสุด
        (อุปมาอุปมัย) เพียงเพื่อสอนให้ท่าน ละทิ้งสิ่งสมมุติ คืนสู่ความเป็นจริง  เมื่อคืนสู่ความเป็นจริงได้แล้ว (เข้าถึงความเป็นจริงแล้ว) แม้ "ความเป็นจริง" ก็ปราศจากชื่อว่า "ความเป็นจริง" อีกต่อไป ( สิ้นสุดการยึดหมายในนามรูปนั้น)
พิจารณา
        ภาษาพูดสื่อความระหว่างคน จะแยกสูงต่ำดำขาว แยกพุทธะกับเวไนยฯ แต่ทันทีที่เข้าถึงพุทธะแห่งตน พุทธะจะเห็นทุกคนเสมอภาค หามีพุทธะกับเวไนยฯไม่

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        พึงรู้ว่าสิ่งล้ำค่่ามหาศาลบรรดามี (พุทธญาณแห่งตน) ล้วนเป็นของท่าน (อยู่กับตน) โดยท่านจะเป็นผู้รับประโยชน์ใช้การเอง โดยมิต้องคิดเลยว่า ฐานะตนคือพ่อ หรือโดยมิต้องคิดเลยว่าฐานะตนคือลูก อีกทั้งมิต้อง (กำหนด)คิดว่าจะต้องใช้มหาสมบัติล้ำค่าบรรดามีนั้น ภาวะเช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร"
พิจารณา
        มีเรื่องอุปมาไว้ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรว่า "กาลครั้งหนึ่งนาน ยังมีเศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกชายที่หายไปจากบ้านหลายปี บัดนี้โตเป็นหนุ่มแล้ว เขาเร่ร่อนขอทานอยู่นอกบ้าน วันหนึ่งเขาได้ขอทานจนมาถึงบ้านพ่อ โดยไม่รู้ว่าพ่อจำต้องมาพักอยู่ ณ บ้านนี้เพื่อการตามหาลูก เพื่อให้ได้ลูกกลับคืนบ้านเดิมไป ลูกได้แต่เตร็ดเตร่ชะเง้อดูภายในกำแพงบ้านนั้น โชคดีที่พ่อจำลูกได้ จึงให้คนใช้ออกไปพาให้ลูกเข้ามารื้อฟื้นความทรงจำต่อกันในบ้าน แต่ลูกกลับตกใจวิ่งหนี เศรษฐีจึงใช้กุศโลบาย ส่งคนรับใช้สองนายไปตีสนิทชิดใกล้กับลูกชาย จากนั้น จึงค่อย ๆ โน้มนำใกล้ชิดกับทางบ้าน เศรษฐีให้งานแก่เขา เป็นตำแหน่งหน้าที่ต่ำสุด ภายหลังจึงค่อย ๆ ยกตำแหน่งให้สูงขึ้น สุดท้ายเขาได้เป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สินทั้งหมด  วันหนึ่งเมื่อเห็นเป็นโอกาสเหมาะ เศรษฐีจัดงานเลี้ยงเชิญญาติพี่น้องเพื่อนพ้องมางานสำคัญ ระหว่างงาน เศรษฐีประกาศแนะนำตัวลูกชายที่หลงหายไปหลายปีให้ทุกคนรู้จัก พร้อมทั้งประกาศยกทรัพย์สินจำนวนมหาศาลทั้งหมดให้แก่ลูกชายคนนี้ ขณะนั้น ฉับพลันทันที ลูกชายเศรษฐีที่เร่ร่อนขอทานกลับกลายเป็นเจ้าของมหาสมบัติล้ำค่าบรรดามีของพ่อไปทันที...
        ธรรมคติเรืองนี้ชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์มหาศาล คือ "พระพุทธองค์" ลูกชาย คือ พุทธบุตรที่หลงหายไปจากมหาสมบัติมิอาจประมาณ (พุทธยานตน)  หากเศรษฐีมิใช้อุบายค่อยเป็นค่อยไป แต่เปิดเผยความจริงยกสมบัติให้ทันที ขอทานยากที่จะยอมทำใจให้รับได้ อาจมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหัวใจวาย
        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระปรีชาญาณยอดยิ่ง ทรงทราบว่าขอทานทั้งหลายที่เร่ร่อนเตร็ดเตร่ขอทานไปตามบ้านต่าง ๆ คทอ เวไนยฯที่เที่ยวแสวงธรรมไป แต่มิได้ธรรมอันบริบูรณ์ จึงโปรดใช้กุศโลบายอันแยบยลให้ชาวเราค่อย ๆ เข้าถึงธรรม ในที่สุดเข้าถึงพุทธญาณคลังมหาสมบัติแห่งตน จากนั้นเป็นต้นไป จะใช้เท่าไหร่ก็ใช้ได้ไม่หมดสิ้น  ดั่งที่พระธรรมาจารย์โปรดว่า "เมื่อถึงสภาวะนั้น...โดยมิต้องคิดเลยว่าฐานะตนคือพ่อ (พระพุทธองค์) หรือ ฐานะตนคือลูก (พุทธบุตรสาวก) หากได้ครอบครองมหาสมบัติ (พุทธญาณ) ตนแล้ว ก็มิต้องคิดว่า มหาสมบัติจะยิ่งหย่อนกว่าเศรษฐีพ่ออย่างไร  มิต้องกำหนดคิดว่า จะต้องใช้สมบัตินั้นอย่างไร..." แต่มันจะเป็นไปเอง ถึงภาวะนั้นจิตจะอิ่มเอิบ ร่ำรวย เลิศล้นในตนเอง โดยมิต้องกำหนดรู้เป็นอย่างใด  ถึงภาวะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติตามสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างแท้จริง จะมิใช่ธรรมที่ต้องเคร่งเครียดอีกต่อไป  ในบทต้น ๆ ได้กล่าวถึงแม่ชีที่มีฉายาว่า "คลังมหาสมบัติมิประมาณ (อู๋จิ้นจั้ง) " อันหมายถึงขุมคลังปัญญาของพุทธญาณอันมิอาจประมาณ ขุมคลังปัญญาของพุทธญาณอันมิอาจประมาณในตัวตนของเรา ใช้ได้ไม่หมดสิ้น ไม่เหมือนใช้จ่ายทรัพย์สิน  การใช้นั้นก็เป็นไปอย่างธรรมชาติ โดยมิต้องกำหนดหมาย ทรัพย์สินแห่งปัญญาก็จะไหลหลากพรั่งพรูออกมาเองอย่างมิรู้จบ ขณะนั้นเองจึงเรียกได้ว่า "สวดท่องปฏิบัติสัทธรรมปูณฑริกสูตร"  อันเป็นดอกบัวขาวที่รองรับมรรคผล เป็นภาวะนิพพานที่เราเข้าถึงขุมคลังปัญญาแห่งตนโดยแท้

Tags: