collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 72065 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                     ซินผิงเหอเหลาฉือเจี้ย      สิงจื๋อเหออย้งซิวฉัน
                     เอินเจ๋อเซี่ยวหย่างฟู่หมู่    อี้เจ๋อซั่งเซี่ยเซียงเหลียง

                   มิพึงถือศีลให้เหนื่อยยาก หากใจราบเรียบสมาน
                   มิพึงบำเพ็ญฌานเหนื่อยเปล่า หากเจ้าเดินตรงวิถี
                        พึงกตัญญูเลี้ยงดูรับใช้พ่อแม่บุพการี
                        พึงสำนึกมโนธรรมดีน้องพี่สงสารกัน

         ความหมาย...พิจารณา...
         มิพึงถือศีล... มิพึงบำเพ็ญฌาน...เป็นคำกำราบจิตผู้ถือศีลผิด บำเพ็ญฌานผิด ถือก็ผิดไม่ถือก็ผิด
         จะถือไปทำไม บำเพ็ญไปทำไมให้เหนื่อยยาก
        คนที่ใจราบเรียบสมาน คือ ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์อยู่ในตัวคือถือศีลอย่างแท้จริง
       ผู้เข้าถึง รู้แจ้งจิตญาณตน คือผู้เข้าถึงธรรม เข้าถึงฌาน เข้าถึงด้วยวิถีตรง จึงต้องให้เดินตรงต่อวิถี
       อย่าทิ้งหน้าที่ที่พึงมีต่อพ่อแม่บุพการี น้องพี่ สามี ภรรยา ลูกๆและบริวาร ที่พึงกตัญญูดูแลโอบอุ้ม
       ปลีกตัวเป็นความเห็นแก่ตัว ปลีกตัวบำเพ็ญไม่สำเร็จ ยิ่งเป็นหนี้บุญคุณใคร ๆ มากมาย ชดใช้ไม่หมด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

         ยั่งเจ๋อจุนเปยเหอมู่     เหยิ่นเจ๋อจ้งเอ้ออู๋เซวียน

         ยั่วเหนิงจ่วนมู่ชูหั่ว      อวีหนีติ้งเซิงหงเหลียน

         สละละเลี่ยงได้ ทุกคนน้อยใหญ่ สมัครใจประสาน
        อดทนมิตอบพาล ผุ้มาระราน หยุดว่าขานโวยวาย
        แม้อาจวิริยะ  ชนะใจตน  ฝนไม้ให้เกิดไฟ
        บัวแดงดอกใหญ่  จะเกิดเป็นได้  ในปลักโคลนตม

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

            ขูโข่วเตอซื่อเหลียงเอี้ยว   นี่เอ่อปี้ซื่อจงเอี๋ยน

             ไก่กั้วปี้เซิงจื้อฮุ่ย           ฮู้ต่วนซินเน่ยเฟยเสียน


             สรรพคุณยาดี  ย่อมมีรสขม  ข่มใจดื่มกิน
             ขัดหูที่ได้ยิน  คำจากใจจริง   ใช่สิ่งพริ้งเพราะ
             กลับตัวแก้ไข  ปัญญาภายใน  เกิดได้หมายเหมาะ
             สร้างกำบังเกาะ  เพราะซ่อนผิดไว้  มิใช่เมธี     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

                  ยื่ออย้งฉังสิงเหยาอี้       เฉิงเต้าเฟยอิ๋วซือเฉียน
                  ผูถีจื่อเซี่ยงซินมี่           เหอเหลาเซี่ยงไอว้ฉิวเสวียน

                  ใช้วันเวลา มีค่าหลากหลาย  ให้อภัยให้คุณ
                  เงินไม่อาจหนุน  เป็นบุญพาผัน  บรรลุธรรมได้
                  พุทธะโพธิ  มีเพียงทางหนึ่ง  พึงหาที่ใจ
                  ดั้นด้นค้นไป  ภายนอกตนมี  ไม่มีวิเศษญาณ

        ความหมาย...พิจารณา...
        วันเวลาของฉัน  มันเกินกว่าค่า  ประมาณมิได้
         มิเพื่อมุ่งหมาย  ได้เงินทองมา  พากินพาเที่ยว
         แต่เพื่อนำพา  เวไนย์มิให้  วนในคลื่นเกลียว       
         กึ่งนาทีเดียว  เกี่ยวบุญเกี่ยวบาป  นับไม่ถ้วนเลย

         พระธรรมาจารย์โปรดว่า
         ""ให้คุณแก่คน"" หมายถึง คุณอันยั่งยืนจากการฉุดช่วยขนถ่ายเวไนย์ มิให้ต้องวนเวียนจมลึกลงไปในกลียวคลื่นของโลกีย์  การให้ทรัพย์เป็นทานแก่งานธรรมแม้จะสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมบำเพ็ญจิตตนพร้อมกันไป
        ""ได้ยินมาว่าบำเพ็ญดั่งนี้  สวรรคือยู่ใกล้ตรงแค่นัยน์ตา"""
        ความหมาย...พิจารณา...
        ผู้ได้รับวิถีธรรมแล้ว จะเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในประโยคที่ว่า ""สวรรค์อยู่ใกล้ตรงแค่นัยน์ตา"" ธรรมะประกาศิตขณะถ่ายทอดวิถีจิตที่ว่า ""ตรงนัยน์ตา ข้างหน้าหมาย  นั่นคือใช่"" เอี่ยนเฉียนกวนจี๋ซื่อ
        ท่านพุทธทาส ได้วาดภาพคนมีนัยน์ตาที่สามไว้ที่สวนโมกข์ ฯ สุราษฏร์ธานี  เหล่านี้ล้วนเป็นปริศนาธรรม เป็นหัวใจของการเข้าถึงจิตเดิมแท้ธรรมญาณตน จึงเป็นวิถีจิต  วิถีตรง  ได้รับตรง  บำเพ็ญตรง  บรรลุตรง
       พระมหาเถระเจ้าโปรดต่อไปว่า
       ท่านผู้เจริญ...จะต้องบำเพ็ญตามข้อความในโศลก รู้เห็นนำพาจิตญาณตน บรรลุวิถีพุทธะโดยตรง ธรรมะเป็นเอกะมิเป็นสองต่อรองกัน ทุกท่านจงต่างแยกย้ายไป อาตมาจะกลับเฉาซี ทุกท่านหากมีข้อสงสัย ให้มาถามกัน
       ณ  บัดนั้น  ผู้ว่าฯ พร้อมด้วยเหล่าข้าราชการ สาธุชนชายหญิงในที่ประชุม ต่างรู้แจ้งตื่นตัว  ปณิธานรับไว้ น้อมใจปฏิบัติบำเพ็ญ

                                                          จบบทที่ ๒

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       สมาธิปัญญาองค์เดียวกัน ( ติ้ง ฮุ่ย อี้ ถี่ )  พระธรรมาจารย์โปรดแก่สาธุชนว่า ""ท่านผู้เจริญ วิถีธรรมแห่งอาตมานี้ เอาสมาธิปัญญาเป็นหลัก""
       ความหมาย...พิจารณา...
       สมาธินี้ มิใช่ธรรมปฏิบัติ ที่นั่งหลับตาเจริญภาวนา ระงับใจกำหนดนำ ทำให้เป็นสมาธิ แต่เป็นสมาธิในจิตเดิมแท้ที่มีอยู่แต่เดิมที โดยแท้จริงแล้ว ธรรมญาณหรือจิตเดิมแท้มีภาวะสุขุม คงที่ เรียกว่าสมาธิอยู่แล้ว ความวุ่นวายส่ายคลอนของสภาพชีวิต มีอิทธิพลทำให้คนพ้นจากภาวะสุขุม คงที่ ที่มีอยู่อย่างนั้นเองแล้วกลับเข้าไม่ถึงจิตเดิมแท้แห่งตน จึงต้องนั่งนิ่งกำหนดหาสมาธิกันใหม่   ปัญญาที่ท่านกล่าวถึงก็เช่นกัน เป็นปัญญาญาณที่มีอยู่แต่เดิมที มิใช่ปัญาที่เสริมสร้างเรียนรู้ได้ในภายหลัง
       สาธุชนอย่าได้หลงผิดว่า "สมาธิปัญญาต่างกัน" สมาธิปัญญาเป็นองค์หนึ่งเดียวกัน มิใช่สอง
                                           สมาธิเป็น ""องค์"" ของปัญญา
                                           ปัญญาเป็น""คุณ"" ของสมาธิ
                                        ขณะใช้ปัญญา  สมาธิอยู่ที่ปัญญา   
                                        ขณะใช้สมาธิ    ปัญาอยู่ที่สมาธิ
      หากเข้าใจความหมายนี้ ก็คือการเรียนรู้สมาธิเสมอด้วยปัญญา  ผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย อย่าได้กล่าวว่า "มีสมาธิก่อนแล้วจึงเกิดปัญญา หรือ มีปัญญาก่อยแล้วจึงเกิดสมาธิ" อันเป็นความแตกต่างกัน หากกล่าวดังนี้ จะหมายว่า ธรรมะมีสองลักษณะการ..
(อุปมา) ปากกล่าววาจาดี  ในใจไม่ดี  (เฉกเช่น) มีสติปัญญา (อยู่คู่กัน) เสียเปล่า  (แต่) สมาธิปัญญาไม่เสมอ (สมานไว้) ด้วยกัน
แต่หากปากกับใจดีพร้อม ในนอกเป็นเช่นเดียวกัน ก็คือ สมาธิปัญญาเสมอ (สมานไว้) ด้วยกัน
      บำเพ็ญโดยสำนึกรู้เอง มิอยู่ที่ถกเถียงก่อนหลัง หากถกเถียงก่อนหลัง มิต่างจากคนหลง มิได้ตัดขาดจากแพ้ชนะ กลับเพิ่ม""ธรรมะของกู"" เข้าไปอีกอย่าง ไม่พ้นจากสี่รูปลักษณ์อัตตา
       ความหมาย...พิจารณา...
       ไม่พ้นจากอัตตา ยังคงยึดหมายในสี่รูปงาม คือ นามรูป ของเขา ของเรา ของเหล่าอื่น ๆ ของสิ่งศักดิ์สฺทธิ์  ยึดหมายดังนี้ไซร้ มิใช่วิสัยผู้บำเพ็ญ มิใช่วิสัยโพธิสัตว์
       ท่านผู้เจริญ ผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ จะเดิน ยืน นั่ง นอน ณ แห่งใด ล้วนเป็นไปด้วยใจตรงหนึ่งเดียวแน่วแน่เช่นนั้น  เช่นใน""พระสูตรปาริสุทธิ์นาม จิ้งหมิงจิง "" จารึกไว้ว่า ""ใจตรงแน่วแน่ คืออาณาจักรธรรม   ใจตรงแน่วแน่ คือ วิสุทธิคาม พุทธเกษตร"" ใจอย่าได้คดงอสอพลอ ปากเอาแต่กล่าวว่า ตรงแท้แน่วแน่ ปากกล่าวว่า ปฏิบัติสัมมาสมาธิมั่นคง แต่ใจมิได้ตรงแท้แน่วแน่ แม้หากปฏิบัติตรงแท้แน่วแน่ต่อธรรมทั้งปวง จะไม่มีการยึดหมาย
      คนหลงจะยึดหมายในรูปธรรม ยึดหมายในสัมมาสมาธิ กล่าวตลอดด้วยว่า ""นั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว ไม่เกิดความคิด จิตไม่ฟุ้งซ่าน คือสัมมาสมาธิ"" เข้าใจเช่นนี้ เหมือนปราศจากเยื่อใยสัมพันธ์ กลับเป็นเครื่องกีดขวางเหตุปัจจัยแห่งธรรม
       ท่านผู้เจริญ... ธรรมะควรจะราบรื่นเรื่อยไป ไฉนจึงขัดขืนตื้นตัน ใจไม่ยึดมั่นต่อธรรมะ (นามรูป) ธรรมะจะราบรื่นเรื่อยไป หากใจยึดหมายในนามรูปธรรมะ เรียกว่าผูกมัดตนเอง
       ท่านผู้เจริญ... ยังมีคนสอนให้นั่ง ดูใจพิจารณาสมาธิ ไม่ขยับ ไม่ลุกขึ้น สร้างบุญบารมีจากการปฏิบัตินี้ คนหลงไม่เข้าใจความเป็นจริงยึดหมายจนวิปลาสไป อย่างนี้มีมากมาย การสอนเช่นี้ จึงรู้ได้ว่าเป็นความผิดยิ่งนัก   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ท่านผู้เจริญ... สมาธิปัญญาเปรียบเป็นเช่นไร เปรียบเช่นแสงตะเกียง มีตะเกียงจึงมีแสงสว่าง ไม่มีตะเกียงจะมืด ...
                                              ตะเกียงเป็น ""องค์"" ของแสงสว่าง
                                              แสงสว่างเป็น ""คุณ"" ของตะเกียง
แม้มีชื่อเรียกเป็นสอง ที่มาหนึ่งเดียวกัน สมาธิที่กล่าวก็เป็นเช่นนี้ 
     ท่านผู้เจริญ...อันที่จริงนั้นสัมมาศาสนาหามี ฉับพลัน กับ นามเนื่อง ไม่ แต่เนื่องด้วยคนมี  เฉียบแหลม กับ ทื่อทึบ คนหลงค่อยเรียนรู้ไป คนตื่นใจบำเพ็ญฉับพลัน รู้จักใจตนเห็นจิตญาณตน สุดท้ายการเข้าถึงวภาวะนี้มิได้ต่างกัน ดังนั้นจึงตั้งชื่อสมมุติว่า ฉับพลันกับ นานเนื่อง   ท่านผู้เจริญ...วิถีธรรมแห่งอาตมานี้ นับจากเบื้องบน (พระบรมศาสดา) เรื่อยมา กำหนดการ "ปราศจากรำลึก" เป็นพงศาธรรมาวิสัย (วิสัยแห่งธรรมอันเนื่องอยู่เช่นนั้น) "ปราศจากรูป"  เป็นองค์หลัก
                                                            "ปราศจากยึดหมาย"  เป็นธาตุฐาน
                                                           "ปราศจากรูป"    อยู่กับรูปแต่พ้นรูป
                                                          "ปราศจากรำลึก" อยู่กับรำลึกแต่ปราศจากรำลึก
                                                         "ปราศจากยึดหมาย" เป็นธาตุแท้จิตญาณของคน
     ต่อความเป็นกุศล อกุศล ดี เลวในโลก จนถึงปรปักษ์ หรือญาติมิตร ขณะที่มีคำพูดเสียดแทงแย่งชิง หลอกลวงรังแกกันนั้น ให้เห็นเป็นความว่าง ไม่คิดทำร้ายตอบโต้ ทุกขณะจิต ไม่รำลึกถึงสภาพการณ์ผ่านมา หากรำลึกก่อนหน้า ขณะนี้ ภายหลัง จิตรำลึกต่อเนื่องเรื่อยไปไม่ขาดสาย เรียกว่าผูกโยงเกี่ยวเนื่อง นี่คือ การเอาปราศจากยึดหมายเป็นธาตุฐาน
     ความหมาย...พิจารณา...
                                   ไตรรัตน์วิถีจิต
     1.ให้เริ่มจากเห็นพุทธะของตนอันเป็นความว่าง
     2. ใช้รหัสคาถาห้าคำอันเป็นเบื้องต้น สุดท้าย ใช้เหมือนมิได้ใช้ จนเป็นสูญตา - ความว่าง
     3. อุ้มมือเป็นลัญจกร กำหนดรู้แล้วปล่อยวาง อุ้มเหมือนมิได้อุ้ม กลับคืนสู่ความว่าง นั่นคือ เอาปราศจากยึดหมายเป็นธาตุฐาน
     พระธรรมาจารย์สมัยที่สี่ เริ่มแรกกราบขอให้พระธรรมาจารย์สมัยที่สามช่วยให้ได้จิตหลุดพ้นด้วย  พระธรรมาจารย์ซึ่งเป็นพระอาจารย์ย้อนถามศิษย์ว่า ""ใครเขาผูกท่านไว้หรือ"" ศิษย์ตอบว่า " ไม่มีผู้ใดผูก" พระอาจารย์จึงกล่าวว่า""ไม่มีใครผูก ถ้าเช่นนั้นท่านก็หลุดพ้นแล้วมิใช่หรือ""
    ท่านผู้เจริญ... ภานนอกพ้นจากนามรูปทั้งปวง ได้ชื่อว่า "นิรรูป"  (ปราศรูป มิได้ยึดหมายในรูป) พ้นจากรูปได้ ธาตุธรรมจะหมดจดบริสุทธิ์ เช่นนี้คือ การเอา "ปราศจากรูป" เป็นธาตุแท้  ท่านผู้เจริญ... ท่ามกลางสภาวะทั้งปวง ใจมิได้ถูกย้อมแปดเปื้อน เรียกว่า ปราศจากรำลึก จิตรำลึกแห่งตน ออกหากจากสภาวะทั้งปวง มิบังเกิดจิตต่อสภาวะนั้น แต่หากเอาแต่ปราศจากรำลึกต่อสรรพสิ่ง ตัดความคิดทุกอย่างหมดสิ้น เมื่อขาดสิ้นจิตรำลึกคือ ตาย จะต้องไปเกิดในภพ อสัญา เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง
    ความหมาย...พิจารณา..
    อสัญญา หมายถึง ปราศจากความเคยจำ แม้กระทั่งความจำที่เคยฟังธรรม ความจำต่อพระพุทธะพระโพธิสัตว์ อันเป็นองค์เหตุปัจจัยที่ได้ฉุกคิด ฟื้นฟุภาวะธรรมแก่ตน หากเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องเป็นเทวดาคงที่เคยตาย อยู่ไปเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ  ไม่มีโอกาสกราบพระพุทธเจ้า ไม่มีโอกาสสดับธรรมอีก การบำเพ็ญของเขา เป็นเช่นพระอิฐพระปูน ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ปราศจากความคิดจิตใจ เหมือนคนขาดสติที่เดินไปเรื่อย ๆ ตามท้องถนน
    ในคัมภีร์ทางสายกลาง "จงอยง" จารึกไว้ว่า ขณะเมื่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ยังไม่เกิด จิตมีภาวะเป็นกลาง แต่หากเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้น ให้กำหนดรู้ต่อความ ""พอ"" "เหมาะ"" จึงจะเรียกได้ว่าเป็น ""กลาง"" ""สมาน""
      ""กลาง""  ปราศจากปรุงแต่ง
    ""สมาน""   ปราศจากยึดหมาย จึงไม่สุดโต่ง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        สมาธิปัญญาองค์เดียวกัน ( ติ้ง ฮุ่ย อี้ ถี่ )  ผู้ศึกษาธรรมพึงใคร่ครวญ หากเข้าไม่ถึงมติแห่งธรรม ( ภาวะรู้เห็นเป็นจริงต่อธรรมะ ) ผิดเฉพาะตนยังพอว่า ยังสอนเตือนผู้อื่นหลงหายไปจากตนเอง อีกทั้งยังป้ายร้ายให้พุทธธรรม ดังนั้นจึงให้ตั้ง"ปราศจากรำลึก" เป็นพงศาธรรมาวิสัย (ให้เป็นแนวทางสืบต่กกันมา) ท่านผู้เจริญ...เหตุใดจึงกำหนด ""ปราศจากรำลึก"" เป็นพงศาธรรมาวิสัย(ให้เป็นแนวทางสืบต่อ) เหตุด้วยพูดแต่ปากว่า ""เห็นจิตญาณตน"" คนหลงเกิดมีจิตรำลึกขึ้นในสภาวะนั้น (กับเขาบ้าง) ในจิตรำลึกนั้น ก้จะเกิดความเห็นผิดตาม ๆ กัน ความคิดฟุ้งซ่าน ตัณหาทั้งหลายทั้งปวง ก็จะเกิดขึ้นจากความเห็นผิดนั้น
      จิตเดิมแท้แห่งตน แท้จริงปราศจากธรรมหนึ่งใดอันได้รับ (ด้วยเป็นธรรมอันสมบูรณ์พร้อมแล้วในตัว) หากกล่าวว่าเป็นสิ่งอันได้รับ (เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน) มุสากล่าวอ้างเคราะห์ภัยวาสนา ก็คือ ตัณหาเห็นผิด  ดังนั้น วิถีธรรมนี้จึงกำหนดเอา ""ปราศจากรำลึก""เป็นพงศาธรรมาวิสัย (ให้เป็นแนวทางสืบต่อ)
      ความหมาย...พิจารณา...
      คนยึดหมายพอใจกับสิ่งที่ได้ สิ่งที่เป็น เช่นได้เห็นจิตญาณตนก็จะพอใจในบุญวาสนา หากปฏิบัตินานไปยังไม่รู้เห็น ก็จะขัดเคืองมีเวรมีกรรมบังตา เมื่อจิตยึดหมายในเห็นไม่เห็น  เป็นไม่เป็น  ได้ไม่ได้  เท่ากับจิตนั้นเวียนวนอยู่กับตัณหา
     ท่านผู้เจริญ...ที่ปราศจากนั้น  ปราศจากเรื่องใด  ที่รำลึกนั้น  รำลึกสิ่งใด  ที่ปราศจากนั้นคือ ปราศจากสองรูปลักษณ์ (มีไม่มี ใช่ไม่ใช่  เป็นไม่เป็น  เหล่านั้น) ปราศจากตัณหาความอยาก (มีไม่มี  เอาไม่เอา)  ปราศจากรำลึก (ทุกสิ่งอย่าง ทั้งผ่านมา ก่อนหน้า ขณะนี้) แต่จงรำลึกจิตญาณตถตาในตน (ภาวะว่างอันมิได้ยึดหมาย เป็นอยู่อย่างนั้นเอง) ญาณตถตา (ความรู้แท้อันเป็นอยู่อย่างนั้นเองแต่เดิมที) เป็นธาตุแท้ เป็นองค์ของตัวรำลึก รำลึกเป็นตัวสำแดงคุณของญาณตถตา เมื่อญาณตถตาเกิดการรำลึก มิใช่เกิดจากนัยน์ตา หู จมูก ลิ้น จะรำลึกได้ ตถตามีญาณตัวรู้ ฉะนั้นจึงเกิดการรำลึก หากไร้ซึ่งญาณตถตา นัยน์ตาหู รูปเสียง เสียหายสิ้นทันที (ไม่รับรู้ ไม่อาจสำแดงคุณอะไรได้เลย)
      ท่านผู้เจริญ... เมื่อญาณตถตาเกิดการรำลึก แม้อินทรีย์หกจะยินยลสัมผัสรับรู้ได้ แต่จะมิได้แปดเปื้อนยึดหมายในทุกสภาวะนั้น อีกทั้งญาณตถตา ยังคงเป็นอิสระอยู่อย่างนั้นเอง  ดังนั้นจึงกล่าวว่า ""หากสามารถจำแนกแยกรู้ต่อรูปแห่งธรรมทั้งปวงได้ ก็จะไม่เกิดการแกว่งไหวของตถตาธาตุแท้ อันเป็นความหมายในข้อที่หนึ่ง
      ความหมาย...พิจารณา...
      ""ในข้อที่หนึ่ง"" คือประโยคข้างบนที่ว่า ""ปราศจากสองรูปลักษณ์"" เช่นนี้ แม้ญาณตถตาจะเกิดการรำลึก แต่มิใช่เกิดจากนัยน์ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจพาไป  ญาณตถตายังคงสงบนิ่งบริสุทธิ์ มิแปดเปื้อนใด ๆ จากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสภาวะทั้งหลายนั้น ๆ


                                                                 จบบทที่ ๓
                                                               
       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ถ่ายทอดการนั่งฌาน  ( เจียว โซ่ว จั้ว ฉัน )  พระธรรมาจารย์โปรดแสดงธรรมแก่สาธุชนว่า ""ท่านผู้เจริญ อะไรเรียกว่า ""นั่งฌาน""  ในวิถีธรรมนี้ ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง  ไม่มีอุปสรรค  อยู่นอกเหนือกุศล - อกุศลสภาวะ เมื่อจิตรำลึกไม่เกิด (นั่งอยู่เป็นปกติ) ได้ชื่อว่า ""นั่ง""  (จิตคงที่ มิใช่ตัวตนนั่งอยู่คงที่) ภายในจิตญาณตนไม่เคลื่อนไหว (เป็นสมาธิคงที่อยู่เอง มิใช่กำหนดควบคุมความคิดไว้ ) เรียกว่า ""ฌาน""
        ความหมาย...พิจารณา...
       นั่งฌาน คือ ฌานนั่ง  จิตญาณอันคงที่ อยู่ในอาการสงบของกายธาตุ  หรือหากแม้นกายธาตุไม่อยู่ในอาการสงบ  จิตญาณอันคงที่ก็ยังนั่งฌานได้ การได้รับวิถีจิต ในยุคที่รอบตัวมีแต่อาการลุกลน อลหม่าน พลุกพล่านขวักไขว่ หาความสงบไม่ได้เลยนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นจากเบื้องบนอย่างแยบยล ผู้ใฝ่ธรรม จะปลีกตัวไปหาวิเวกนั่งฌานที่ไหนก็ยากอีก ยังติดปัญหาภาวะรับผิดชอบ หลังจากได้รับวิถีจิตแล้ว ผู้ใดศึกษาเข้าใจจะ ""นั่งฌาน"" กันอยู่ได้เกือบตลอดเวลา ขณะทำงาน กินข้าว ทำอะไร ฌานก็นั่งของเขาไป อิริยาบทของเรา  ก็ทำเรื่องของเราไป ไม่รบกวนกัน
      ท่านผู้เจริญ...อะไรเรียกว่าฌานสมาธิ  ภายนอกพ้นหากจากรูป คือ ฌาน
                                                   ภายในไม่สับสนวุ่นวาย  คือ สมาธิ
      ภายนอกหากติดรูป ภายในจะวุ่นวาย  ภายนอกหากพ้นรูป ( รูป คิด เห็น รู้ได้ ปรุงแต่ง...) ใจจะไม่สับสนวุ่นวาย 
      ความหมาย...พิจารณา...
      พ้นหรือออกหากจากรูป มิใช่พาตัวทิ้งไปจากรูป แต่มิได้ยึดหมายในรำลึกตรึกคิด อันเป็นเหตุแห่งความวุ่นวายนั้น คนทั่วไปมักจะพูดว่า ""ทำเป็นมองไม่เห็นเสีย"" ทั้ง ๆ ที่เห็นก็ให้ ""ทำเป็นไม่เห็น"" ทำเป็นไม่เห็น ใจยังรับรู้ว่า..."ทำเป็น"...จึงเป็นการยึดหมาย เจาะจงตอบโต้กับรู้เห็น  ส่วนฌานสมาธิ อันเป็นภาวะธาตุแท้ธรรมชาติของจิตญาณนั้นจะราบรื่น จะเป็นอยู่อย่างนั้นเองโดยมิต้องรำลึกตรึกคิด ควบคุมจิต กำหนดสมาธิ
      จิตญาณตนจะหมดจดเองในตัว จะเป็นสมาธิเองโดยธาตุแท้ แต่เนื่องด้วยสัมผัสเห็นสภาพ พิจารณาปรุงแต่งสภาพ ใจจึงวุ่น หากเห็นสภาพโดยใจไม่วุ่นได้ จึงเรียกว่าสมาธิแท้  ท่านผู้เจริญ...ภายนอกออกหากจากรูป คือ ฌาน   ภายในไม่วุ่นคือ สมาธิ  ภายนอกฌาน ภายในสมาธิ  เรียกว่า ฌานสมาธิ   ในพระสูตรปาริสุทธิ์นาม (จิ้งหมิงจิง) จารึกว่า "โล่งแจ้งฉับพลัน ใจเดิมแท้ของฉันกลับคืนมา"
     ความหมาย...พิจารณา...
     โล่งแจ้งคือกว้างใหญ่ ไร้ขอบเขต เวิ้งว่างสว่างใสไปหมด ใจเดิมแท้ของฉันกลับคืนมา คือ ภาวะจิตเดิมแท้ของฉันที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง ปรากฏแก่ฉันที่อึดอัดคับข้องกับภาวะทางโลก
     ในคัมภีร์ ""ศีลโพธิสัตว์  ผูซ่าเจียจิง "" จารึกประโยคว่า "" จิตญาณของฉัน ใสสะอาดหมดจดแต่ต้นมา "" ท่านผู้เจริญ...ในทุกขณะจิต เห็นจิตญาณตนใสสะอาดหมดจด บำเพ็ญเอง ( ประคองรักษาจิตญาณตนเอง ) ดำเนินเอง (จิตอยู่ในสภาวะสงบใสได้เรื่อยไป ) ย่อมบรรลุพุทธวิถีได้เอง แต่ในวิถีธรรมนั่งฌานนี้ โดยต้นเดิมจะไม่ยึดหมายที่ใจ อีกทั้งไม่ยึดหมายความหมดจด อีกทั้งมิได้ยึดหมายความไม่เคลื่อนไหว
     ความหมาย...พิจารณา...
     โดยต้นเดิม คือ  ภาวะจิตที่เป็นอยู่เองนั้น ซึ่ง ฌานนั่งนิ่ง  อยู่แล้วจึงไม่ต้องเฝ้าดูใจว่าเป็นอย่างไร มาอย่างไร ที่เราต้องเฝ้าดู เพราะฌานของเรากระสับกระส่าย ดูฌานที่ไม่นั่งนิ่งยังไม่พอ ยังต้องดูความไม่หมดจดของฌานที่แปดเปื้อนในภายหลัง ยังจะต้องใช้การนั่งนิ่งของกายสังขารมาช่วยควบคุมฌานที่วุ่นวายได้อีก  ที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงท่านสอนนั้น เป็นฌานระดับผู้มีกุศลมูลสูง กายใจยังไม่เสียหายมาก จึงไม่ต้องยึดหมายการปฏิบัตินั้น ๆ ส่วนระดับเราแม้อาจมีส่วนยึดหมายการปฏิบัตินั้น ๆ ในเบื้องต้น สุดท้ายเมื่อเป็นได้แล้ว ก็ให้ปล่อยวางไม่ยึดหมายเช่นกัน หากกล่าวว่า ""เฝ้าดูใจ"" ใจแท้จริงคือสิ่งว่างเปล่า มื่อรู้ว่าใจดั่งความว่าง  ก็จะไม่มีอะไรให้ต้องเฝ้าดู หากกล่าวว่า ""เฝ้าดูความหมดจด""จิตญาณของคนหมดจดแต่เดิมทีด้วยรำลึกฟุ้งซ่าน ตถตาจึงถูกปกคลุม แต่หากปราศจากฟุ้งซ่าน จิตญาณย่อมหมดจดใสสะอาดอยู่เอง บังเกิดจิตเฝ้าดูความหมดจด กลับจะเกิดความฟุ้งซ่านในความหมดจด ฟุ้งซ่านปราศจากหลักแหล่ง ผู้ยึดหมายเฝ้าดูคือ ผู้ฟุ้งซ่าน "หมดจด" ปราศจากรูปลักษณ์ กลับกำหนดความมี ""รูปลักษณ์"" ให้แก่ตัวหมดจด ยังกล่าวว่าเป็นความปราณีตเสียอีก ผู้ทำความเห็นเช่นนี้ให้เกิดขึ้น ขวางกั้นจิตญาณตน กลับถูกการเฝ้าดู "หมดจด" ผูกมัดไว้
       ความหมาย...พิจารณา...
      หลายสิ่งในโลกนี้ เกิดมีเพราะคนกำหนดเป็นกฏเกณฑ์ จากนั้นก็ตกอยู่ในกฏเกณฑ์ที่ตนกำหนดไว้ ภาพลวงตา ประสาทหลอน จิตผิดปกติหลายประเภท เหตุก็เพราะทึกทักปรุงแต่ง กำหนดความี ความเป็นของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ภาวะเรียบง่าย จึงต้องกลายเป็นยุ่งยากอย่างที่เห็น
      ท่านผู้เจริญ...หากจะบำเพ็ญความ ""สงบนิ่ง"" ไม่เคลื่อนไหว จงทำด้วยการขณะเห้นคนทั้งหลาย โดยมิได้เห็นความผิดชอบชั่วดีในคนเหล่านั้น นั่นคือความ ""สงบนิ่ง"" ไม่เคลื่อนไหว ในจิตญาณตน ท่านผู้เจริญ...คนหลงแม้กายจะไม่เคลื่อนไหว (นั่งนิ่ง) อ้าปากก็กล่าวหานินทา ว่าความยาวสาวความสั้นดีร้ายของใคร ๆ ผิดต่อธรรมะเช่นนี้ หากยังยึดหมาย ""เฝ้าดูใจ"" ""เฝ้าดูความหมดจด"" ก็คือกีดขวางทางธรรมนั่นเอง

                                                               จบบทที่ ๔

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       สืบทอดคันธสาระ ขอขมากรรมสำนึก ( ฉวน เซียง ชั่น หุ่ย )  ครั้งนั้น มหาเถระเจ้าเห็นชาวเมืองกว่างโจว เสาโจว และที่อื่น ๆ มากมาย ทั้งข้าราชการและประชาชน มารวมตัวกันฟังธรรมในป่าเขา จึงได้ขึ้นธรรมาสน์กล่าวแก่สาธุชนทั้งหลายว่า " มาเถิดท่านผู้เจริญ เรื่องนี้จะต้องเริ่มต้นจากจิตญาณตน ในทุกขณะเวลาระลึกชำระใจตนด้วยตน บำเพ็ญจิตตนด้วยตน ปฏิบัติธรรมด้วยตน เห็นกายธรรมแห่งตน เห็นจิตพุทธะแห่งตน ฉุดช่วยชีวิตตนด้วยตน รักษาศีลด้วยตน จึงจะมิใช่เท็จ
      ความหมาย...พิจารณา...
      เรื่องนี้จะต้องเริ่มต้นจากจิตญาณตน ฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ล้วนจะต้องเริ่มต้นจากจิตญาณตน จึงจะมิใช่เท็จ ความเท็จมีจุดกำเนิดจากใจ  ใจเท็จ วาจาเท็จ พฤติกรรมเท็จ เท็จต่อใคร ๆ เท็จต่อใจตนเอง แม้จะบำเพ็ญธรรมเพื่อจิตญาณตนให้พ้นจากอบายภูมิ ยังจะถือศีลเท็จกันเสียอีก อย่าลืมหนอ ความเท็จใช้ได้เฉพาะโลกมนุษย์นี้เท่านั้น
     พระธรรมาจารย์โปรดว่า บัดนี้ในเมื่อจากที่ไกลมาบรรจบกันที่นี่ ล้วนมีบุญสัมพันธ์ต่อกันมา วันนี้จงต่าง "คุกเข่าขวา" ลง จะเริ่มถ่ายทอด "คันธสาระองค์ห้า หรือ ธูปกายธรรมห้า ประการแห่งจิตญาณตน ( จื้อ ซิ่ง อู่ เฟิน ฝ่า เซิน เซียง ) ให้ก่อน จากนั้นจึงจะถ่ายทอด "นิรรูปขมากรรมสำนึก" ให้ ทุกคนต่างพร้อมกันคุกเข่าขวาลง
     ความหมาย...พิจารณา...
     คันธสาระ หรือ ธูปกายธรรมห้าประการแห่งจิตญาณตน  ( จื่อ ชิ่ง อู่ เซียง )  ธูปที่ใช้ไฟจุดบูชาพระเป็นธูปวัตถุ ไม่จริงจังยั่งยืนเพราะจะไหม้สลายหมดไป ความหมายของการจุดธูป เพื่อให้ควันหอมเป็นสัญลักษณ์แทนจิตเคารพศรัทธา แสดงจิตภาวะโปร่งเบาอันมิได้หน้กหนาด้วยกิเลสตัณหาของเรา อีกทั้งให้ควันธูปเป็นเช่นคุณธรรมบารมีปรกแผ่กระจายไปสู่โลกกว้าง
     คำว่า "คุกเข่าขวาลง" จะอธิบายต่อไปภายหลัง
     นิรรูปขอขมากรรม หมายถึง สำนึกขอขมาต่อความผิดบาปทั้ง ปัจจุบัน อดีต อนาคต อันจะได้หรือได้กระทำมา โดยมิต้องรู้เห็นการกระทำผิดนั้น ๆ เป็นรูปลักษณ์ เรื่องราว กิริยาอาการ จึงเรียกว่า "นิรรูป" คือปราศจากรู้เห็นในรูป
     พระธรรมาจารย์โปรดว่า ( ธูปกายธรรมห้าประการ ) 
      หนึ่งคือ ""ธูปศีล"" คือใจตนบริสุทธิ์ ปราศจากอกุศล ปราศจากริษยา ปราศจากชั่วร้าย ปราศจากโลภอยาก ปราศจากประทุษร้ายเภทภัย ได้ชื่อว่า ""ธูปศีล""
      สองคือ  ""ธูปสมาธิ"" แม้จะพบเห็น สัมผัสรับรู้สภาวะรูปนามความชั่วดี แต่จิตใจมิได้วุ่นวายตามไป เรียกว่า ""ธูปสมาธิ""
      สามคือ ""ธูปปัญญา"" จิตตนปราศจากขัดข้องมีปัญญาสอดส่องมองเห็นจิตญาณตน ไม่ก่อทำความผิดทั้งปวง แม้ทำความดีมากมาย ใจไม่ยึดหมายไว้ เคารพเบื้องสูง คำนึงถึงเบื้องล่าง เห็นใจสงสารกำพร้ายากเข็ญ เช่นนี้ได้ชื่อว่า ""ธูปปัญญา""
      สี่คือ ""ธูปวิมุตติหลุดพ้น"" คือใจตนปราศจากเครื่องร้อยรัด ปราศจากเกาะเกี่ยว ดิ้นรนปีนป่าย ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งกีดขวาง ได้ชื่อว่า ""ธูปวิมุตติหลุดพ้น""
      ห้าคือ ""ธูปวิมุตติญาณ"" ล่วงพ้นจากการอันรู้เห็น ในเมื่อใจตนปราศจากเครื่องร้อยรัด ดิ้นรน เกาะเกี่ยวปีนป่าย ในความดี ในความชั่ว แต่ก็จะดิ่งลงจมอยู่กับภาวะว่างอันครองวิเวกอยู่มิได้ (มิให้ดิ่งจมอยู่กับวิเวก) พึงเป็นพหูสูตเรียนรู้กว้าง ฟังมาก ทรงจำ คล่องปาก เจนใจ ขบคิดได้ เข้าถึงจิตใจตน เข้าถึงหลักพุทธธรรม สมานฉันท์โดยรวม ไม่แบ่งเขา ไม่แบ่งเรา จนจิตเข้าสู่โพธิภาวะ จิตเที่ยงแท้สัจธรรมไม่เปลี่ยนแปร เรียกว่า ""ธูปวิมุตติญาณ""
      ท่านผู้เจริญ ธูปหอมนี้จงต่างรมกรุ่นไว้ภายในจิตตน มิพึงต้องแสวงไปยังภายนอก

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
       
           ความหมาย...พิจารณา...
           ""คุกเข่าขวา"" ในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม คนถวายผลไม้ตำแหน่งกลาง จะคุกเข่าขวา เข่าซ้ายตั้งฉากไว้ การคุกเ่ข่าถวายผลไม้ หรือการขอขมากรรมของชาวอินเดียก่อนเก่าก็เช่นกัน จีนเรียกการคุกเข่านี้ว่า หูกุ้ย แต่หากคุกเข่าเพื่อก้มกราบ ให้คุกเข่าทั้งสองข้างพร้อมกัน
         พระธรรมาจารย์เรียกให้ทุกคนในที่นั้น ""หูกุ้ย"" (คุกเข่าขวา)  เพราะจะทำพิธีขอขมากรรม
หนึ่ง  ธูปศีล       ห้ามตน เตือนตน  มิให้ละเมิดศีล มิให้ทำความผิดบาปทั้งปวง ทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เหลือไว้คือ กุศลบุญ คุณธรรม
สอง  ธูปสมาธิ    ห้ามตน เตือนตน  กำราบจิต กำหนดใจ สำรวมไว้ มิให้ผกผัน มิให้ฟุ้งซ่านวุ่นวาย มิให้เสียหายไปตามเพลง
สาม  ธูปปัญญา   ห้ามตน เตือนตน ให้ชำระอาสวะกิเลส กำจัดอวิชชา ละกิเลสตัณหา ความเคยชิน แก้ไขจิตโลกีย์วิสัย มิให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญธรรม เป็นนัยเดียวกับธรรมะประกาศิต ขณะดำเนินพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม ประโยคที่ว่า ""สองตาสะท้อนย้อนรังษี ส่องสลายมืดบอดแอบแฝง
สี่    ธูปวิมุตติหลุดพ้น  ไม่ยึดหมายในสิ่งใด ไม่มีสิ่งใดในยึดหมาย ภาวะนี้เป็นนิรวาณ เป็นนิพพาน ว่างอย่างอิสระ
ห้า  ธูปวิมุตติญาณ  วิมุตติญาณทัสสนะ  จิตญาณหลุดพ้นจากการยึดหมายในสิ่งอันรู้เป็น เหล่านี้เป็นความว่างอย่างอิสระที่มิใช่ฝืนว่าง มิใช่เลื่อยลอยว่าง มิใช่ตัดใจว่าง มิใช่ว่างจม มิใช่ว่างลึก มิใช่ว่างหาย มิใช่ว่างเบื่อหน่าย มิใช่ว่างหนักหน่วง แต่เป็นว่างกว้าง ว่างเบิกบาน ว่างสว่างสดใส ในขณะได้ยินได้ฟัง ขณะทรงจำ ขณะท่องบ่น ขณะเจนใจ ขณะขบได้ด้วยทฤษฏีอันเป็นพหุสัจจะหลากหลาย
        ทั้งหมดเป็นไปด้วยปัญญาแท้จากความหมายของ ""คันธสาระองค์ห้า  หรือ  ธูปกายธรรมห้าประการ"" แห่งจิตญาณตน พึงบูชาศีล สมาธิ ปัญญา ภาวะวิมุตติ กับวิมุตติญาณ  ญาณภาวะว่างแห่งตน อย่าให้ต้องเสื่อมความเคารพศรัทธาลงได้
        จากนั้น พระธรรมาจารย์ได้โปรดต่อไปว่า บัดนี้อาตมาจะถ่ายทอด นิรรูปขมากรรมสำนึก แก่ท่านทั้งหลายให้ได้ลบล้างโทษบาปสามชาติชำระเวรกรรมจากโลภ โกรธ หลง ให้ได้กาย วาจา ใจ หมดจดกัน
       ความหมาย...พิจารณา...
       เหตุใดจึงกล่าวว่า นิรรูปขมากรรมสำนึก จะลบล้างโทษบาปสามชาติได้ ก็ด้วยเหตุที่มหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิงจะให้ขอขมากรรมสำนึกนั้นเป็น ""ขมากรรมสำนึกญาณสัจธรรม (หลี่ชั่น)  มิใช่ ""ขมากรรมสำนึกกรณี (ซื่อซั่น)  ขมากรรมสำนึกกรณี คือ ผิดด้วยเรื่องใด สารภาพต่อคู่กรณี ต่อเบื้องบนตามกรณีที่ผิด ส่วน ""ขมากรรมสำนึกญาณสัจธรรม"" นั้น กล่าวโดยตรงต่อจิตที่รู้แจ้งแห่งตน เข้าถึง ภาวะว่าง ของ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เมื่อเข้าถึงภาวะว่างทั้งหมดแล้ว ยังจะเหลือโทษบาปอะไรติดอยู่ในชาติภพนั้น ๆ อีก ดังคำที่ว่า ""หลังรู้แจ้ง ทุกอย่างว่างเปล่าแม้สัพโลก
       ขมากรรมสำนึกญาณสัจธรรม จึงเป็นขมากรรมสำนึกภาวะลึก ว่าง กว้าง ไกล ที่ไม่เหลืออะไรค้างไว้ในจิตญาณเลย แต่ผู้ที่จะเข้าถึงการขมากรรมสำนึกเช่นนี้ได้ จะต้องเข้าถึงการรู้แจ้งจิตญาณตนเป็นเบื้องต้น จึงจะมิใช่เท็จ มิฉะนั้น ทั่วไปยังจะต้องใช้วิธี ขมากรรมสำนึกกรณี เป็นเรื่อง ๆ เป็นครั้ง ๆ เป็นประจำเสมอไป         
         

Tags: