collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร 六祖法寶壇經(ลิ่วจู่ฝ่าเป่าถันจิง)  (อ่าน 72063 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

พงศาธรรมาจารย์สมัยที่หก  "ลิ่วจู่"

กล่าวเกริ่น

         ลำดับยุคต้นในพุทธศาสนาสายฌาน (เซ็น) หรือนิกายธยานะ  รู้แจ้งฉับพลัน  เริ่มจากปฐมธรรมาจารย์สมเด็จพระโพธิธรรมจากชมพูทวีปจาริกสู่ประเทศจีน ถ่ายทอดวิถีจิตแด่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเข่อ...เรื่อยมาจนถึงลำดับที่หกคือ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงแต่หากจะลำดับจากพระมหากัสสปะ นับตั้งแต่ผู้มีพระภาคเจ้า ทรงชูดอกไม้ตรงพระพักตร์ แสดงปริศนาธรรม พระมหากัสสปะเข้าใจโดยฌาณ คือภาวะจิตปราณีตลุ่มลึก
         พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับจากพระมหากัสสปะเป็นลำดับที่หนึ่งของสายฌาณ หากลำดับจากนี้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงก็จะต้องเป็นลำดับที่สามสิบสาม ซึ่งจะต้องเรียกว่า "พงศาธรรมาจารย์สมัยที่สามสิบสาม"
       "พระสูตรเว่ยหล่าง" มีชื่อเต็มเป็นทางการอย่างถูกต้องตามต้นฉบับเดิมว่า ""ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตรธรรมราชาพงศาธรรมาจารย์สมัยที่หก (ลิ่วจู่ต้าซือฝ่าเป่าถันจิง)  
       "ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร พระสูตรธรรมบัลลังก์พงศาธรรมาจารย์สมัยที่หก" (ฝ่าเป่าถันจิง หรือ ลิ่วจู่ถันจิง) เป็นพระสูตรที่พระอภิธรรมาจารย์ชาวจีน ใช้ภาษาจีน อักษรจีน แจกแจงแสดงหลักพุทธธรรมอันเป็นวิถีจิตที่ให้เข้าถึงรู้แจ้งฉับพลันด้วยอรรถบทชัดเจน ไม่อ้อมค้อมเยิ่ยเย้อ
       พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง แม้จะไม่รู้หนังสือ แต่สัจธรรมคำสอนทุกถ้อยคำ ทุกประโยค ล้วนชี้ตรงให้เข้าถึงจิตญาณได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ประจักษ์ว่า พระธรรมมิใช่ตายตัวอยู่ที่อักษร แต่ล้วนเกิดด้วยปัญญาญาณล้ำลึกของผู้เข้าถึง  ปัญญาณบริสุทธิ์สำแดงสัจธรรมคำสอนได้ โดยมิต้องไตร่ตรองเรียนรู้จากภายนอก เป็นปัญญาโดยธรรมชาติ  ธรรมะอันได้โปรดฉุดนำสาธุชนนั้น เป็นวิถีจิตรู้จิตฉับพลัน ที่พลิกผันคนโง่หลงให้รู้ตื่นได้ ณ บัดใจ
       เราทั้งหลายได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเบื้องบน ได้รับวิถีอนุตตรธรรม อันเป็นวิถีปลุกใจให้รู้ตื่นฉับพลัน เช่นเดียวกันกับที่พระธรรมาจารย์ได้โปรดถ่ายทอดแก่สาธุชนในสมัยก่อนนั้น จึงจำเป็นจะต้องศึกษาพระสูตรนี้ เพื่อความเข้าใจให้ถูกต้องลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อการเจริญธรรม
      พระธรรมาจารย์ได้รับการยกย่องว่า "พระธรรมราชาสายฌาน"เป็นเอก เป็นราชาแห่งธรรมของจีน พระธรรมคำสอนที่ท่านแสดงมา เบิกทางปัญญากระจ่างแจ้งแก่เทวดา มนุษย์ ทุกเพศวัย ทั้งในทางโลกทางธรรม จึงได้เรียกว่า "ธรรมรัตนะ" (ฝ่าเป่า) ที่เรียกว่า "บัลลังก์สูตร" (ถันจิง) นั้น ปรากฏหลักฐานบนศิลาจารึกโบราณ ในยุคหนันเฉาหลิวซ่ง ที่วัด "กตัญญูรังสี" (กวงเซี่ยวซื่อ) ศิราจารึกแผ่นนั้นสร้างโดย "สมเด็จพระคุณเจ้าพระคุณาภัทรปิฏก" ท่านได้เดินทางโดยเรือข้ามมหาสมุทรอินเดีย จาริกมาประกาศพุทธธรรมที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง
      ""สมเด็จพระคุณเจ้าพระคุณาภัทรปิฏก"" สูงส่งด้วยปรีชาญาณ ปัญญาล้ำเลิศ  สามารถแปลพระคัมภีร์ พระปิฏกจากภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาจีนได้อย่างวิเศษแยบยล พระคัมภีร์ที่ท่านแปลเป็นภาษาจีนไว้ มากมายถึงเจ็ดสิบแปดเล่ม ท่านหยั่งรู้เหตุการณ์หลายร้อยปีว่า วันข้างหน้า พงศาธรรมาจารย์สมัยที่หกลิ่วจู่ ก็คือพระมหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิง จะมาโปรดสัตว์แสดงธรรม ณ ปริมณฑลนี้ ท่านจึงได้สร้างธรรมศาลาไว้ ได้จารึกหลักฐานคำพยากรณ์ไว้บนแผ่นหินใหญ่มีความว่า"" ภายภาคหน้า จะมีพระโพธิสัตวที่ยังดำรงกายเนื้ออยู่อันได้เจริญศีลบริบูรณ์แล้ว มาเจริญธรรมปรกโปรด ณ ที่แห่งนี้"""
       ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ ปีต้นศักราชเทียนเจี้ยน (ค.ศ.502)  เหลียงอู่ตี้เทียนเจี้ยนเอวี๋ยนเหนียน  ""สมเด็จพระคุณเจ้าพระไภสัชปัญญปิฏก"" จากประเทศอินเดีย ก็ได้ฝ่าฟันอันตรายเดินทางโดยเรือข้ามมหาสมุทรอินเดีย จาริกโปรดธรรมยังประเทศจีนอีกองค์หนึ่ง ""สมเด็จพระคุณเจ้าพระไภสัชปัญญปิฏก"" ได้เห็นศิลาจารึกพยากรณ์ ซึ่งตรงกับญาณหยั่งรู้ของท่าน จึงได้ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากอินเดียลงข้าง ๆ ศิลาจารึกแผ่นนั้น อีกทั้งได้โปรดสร้างศิลาจารึกพยากรณ์อีกแผ่นหนึ่ง ประดิษฐานลงใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ มีใจความว่า ""อีกหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปีในภายหน้า จะมีพระโพธิสัตว์ ที่ยังดำรงกายเนื้ออยู่ มาโปรดแสดงสุทธรรมแห่งมหายาน ณ ที่นี้ จะกอบกู้อุ้มชูเวไนยฯได้ไม่ประมาณ เป็นธรรมราชาผู้ถ่ายทอดพุทธธรรม ถ่ายทอดวิถีจิตจากพระพุทธะโดยแท้""" เป็นธรรมพยากรณ์อันแยบยลยิ่ง ด้วยถูกต้องเป็นจริงทุกประการ
       ""พงศาธรรมาจารย์ลิ่วจู่  พระโพธิสัตว์เดินดิน"" โปรดถ่ายทอดธรรมวิถีจิตอยู่นานถึงสามสิบเจ็ดปี  มิใช่ ณ ธรรมศาลาก่อนเก่าแห่งนี้เท่านั้น แต่เพื่อแสดงความเคารพรำลึกถึงสมเด็จพระคุณเจ้าทั้งสองที่โปรดสร้างธรรมศาลา สร้างศิลาจารึกพยาการณ์ไว้ พุทธธรรมที่ ""พงศาธรรมาจารย์ลิ่วจู่ฮุ่ยเหนิง""โปรดแสดงมา และศิษย์รุ่นหลังได้จารึกไว้ จึงได้ชื่อว่า ""บัลลังก์สูตร""พระสูตร""ภาษาจีนให้คำนิยามว่า ""การแสดงธรรมอันสอดคล้องกับสัจธรรม ที่เหล่าพุทธะเบื้องบนได้โปรดแสดงไว้ เป็นสัทธรรมอันเป็นบุญปัจจัยในการกอบกู้มวลเวไนยฯ
       ""ธรรมรัตนะบัลลังก์สุตร"" เป็นบัญญัติสั่งความจากพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง เองก่อนละกายสังขาร ท่านกล่าวแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า ""เริ่มจากวัดมหาพรหมจนถึงกาลปัจจุบัน อันนี้อาตมาได้แสดงธรรมทั้งหมด จงคัดลอกบันทึกแพร่หลาย ให้ชื่อว่า""ธรรมรัตนะบัลลังก์สูตร  ฝ่าเป่าถันจิง"" เล่มนี้ใช้เล่ม ""ต้นฉบับโดยตรง"" ดั้งเดิมจาก ""เฉาซี""      


       พงศาธรรมาจารย์สมัยที่หก " ลิ่วจู่ "  มีนามว่า พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง (เว่ยหล่าง) ฮุ่ยเหนิงได้รับวิถีธรรมบวชจิต เมื่ออายุ 24 ปี  เมื่ออายุ 39 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดธรรมญาณ พระอภิธรรมาจารย์"อิ้นจง" อุปสมบทให้ตามพิธี
       บิดาของฮุ่ยเหนิงเป็นคนชาวเมือง "ฟั่นหยาง" แต่เดิมที ( ซึ่งปัจจุบันนี้คือมณฑลเหอเป่ย ) แต่ได้ถูกถอดจากตำแหน่งราชการ และเนรเทศสู่ หลิงหนัน เป็นถิ่นทุรกันดาร เป็นรกรากอาศัยของชนเผ่าน้อย ที่อยู่รอบนอกใจกลางบ้านเมือง ซึ่งห่างไกลอารยธรรม   ฮุ่ยเหนิง ถือกำเนิดในดินแดนที่ด้อยความเจริญแห่งนั้น จึงได้รับคำเหยียดหยันจากชาวเมืองว่า""ลูกชาวใต้ป่าเถื่อน "" กายนี้ก็อาภัพ ท่านเกิดมาในสภาพแร้นแค้น ท่านกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เล็ก อาศัยมารดาอุ้มชู มารดาท่านก็สูงอายุ และ อ้างว้างเดียวดาย จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ หนันไห่ (ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอหนันไห่ มณฑลกว่างตง)  
       ความเป็นอยู่อัตคัดยากจนข้นแค้นยิ่งนัก  ฮุ่ยเหนิงไม่ได้เรียนหนังสือ จึงได้ประกอบอาชีพตัดฟืนขายที่ตลาดมาประทังชีวิต ท่านโปรดสาธุชนอยู่ 37 ปี  และดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุ 76 พรรษา เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ของจีน ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรที่สุด กายสังขารยังไม่เน่าเปื่อย อยู่ในท่านั่งสมาธิ จนบัดนี้นับเป็นเวลาพันปีเศษ โดยเก็บรักษาไว้ที่เจดีย์ ณ เมืองเฉาซี

            สรุป

       ท่านฮุ่ยเหนิง  บิดาท่านแซ่หลู  มารดาท่านแซ่หลี่  ถือกำเนิดในสมัยราชวงศ์ถาง  ศักราชเจินกวน ที่ 12 (ค.ศ.638) เดือน 2 วันที่  8  เวลาเที่ยงคืน  ในเวลานั้น ได้มีแสงอ่อน ๆ พวยพุ่งไปสู่ฟ้า อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมประหลาดคลุ้งไปเต็มห้อง  เมื่อถึงเวลารุ่งเช้าก็ได้มีภิกษุสองรูปมาเยือน  และปรารภแก่บิดาของท่านว่า ""ทราบว่าท่านได้มีบุตรเมื่อคืนนี้ จึงมาเยือนคำนับเพื่อตั้งชื่อให้โดยเฉพาะ เด็กคนนี้ควรมีชื่อว่า "" ฮุ่ยเหนิง "" จะดีนักแล  อันว่า ""ฮุ่ย""นั้นหมายถึงนำธรรมโปรดแก่เวไนยฯ ส่วนคำว่า ""เหนิง""นั้นหมายถึงสามารถประกอบกิจแห่งพุทธะได้ """ เมื่อกล่าวจบแล้วก็เดินจากไป และก็ไม่ได้เห็นร่องรอยของพระสองรูปนี้เลย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21/09/2011, 20:02 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
Re: 4 : บทที่ ๑ รู้แจ้งธรรม มอบหมายจีวร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 21/10/2010, 11:23 »
บทที่ ๑  รู้แจ้งธรรม  มอบหมายจีวร (行由第一)


       ลิ่วจู่ 六祖 แปลว่า พงศาธรรมาจารย์สมัยที่หก มีนามว่า "ฮุ่ยเหนิง" (เว่ยหล่าง)  ได้รับวิถีธรรมบวชจิตเมื่ออายุได้ 24 ปี หลังจากนั้น ก็ต้องใช้วิธีหลบภัยอยู่ในกลุ่มนายพรานถึง 15 ปี  จนถึงอายุ 39 ปี จึงเดินทางมาถึง ""วัดธรรมญาณ"" เมืองกว่างโจว
     ณ วัดธรรมญาณ ได้พบพระอภิธรรมาจารย์ "อิ้นจง" (อิ้นจงฝ่าซือ)  อุปสมบทให้ตามพิธี ขณะนั้น ท่านฮุ่ยเหนิงมีฐานะเป็นพระธรรมาจารย์สมัยที่หกแล้ว ก่อนหน้านั้นท่านบวชจิตมานานถึง 15 ปี  ภายหลังจึงได้ถือบวชในศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ
     ปีถัดมา ลิ่วจู่ ลาจากวัดธรรมญาณ มาเจริญธรรมที่ ""วัดป่ารัตนาราม""(เป่าหลินซื่อ) นั่นคือปี ค.ศ 677 วัดป่ารัตนาราม ตั้งอยู่ในเมืองกว่างโจว ห่างจากอำเภอฉวี่เจียง ค่อนไปทางใต้ประมาณหกสิบลี้ ซึ่งบัดนี้คือ ""วัดอารามรังสีทักษิณ""(หนันฮว๋าซื่อ) ปัจจุบันยังเป็นที่ประดิษฐานพระสรีระกายเนื้อของพระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ ซึ่งยังคงสภาพไว้ด้วยพระลักษณะประทับนั่งเจริญธรรมอยู่อย่างนั้น
     ณ เมืองเสาโจว ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอฉวี่เจียง มณฑลกว่างตง ครั้งนั้น เมื่อพระมหาเถระเจ้าฮุ่ยเหนิงมาถึงวัดป่ารัตนาราม มีผู้ว่าการ ฯ เมืองเสาโจว  แซ่เอว๋ย นามฉวี พร้อมด้วยขัาราชการผู้ติดตามคณะใหญ่เดินทางมาถึง ""หุบเขารังสีทักษิณ"" (หนันฮว๋าซัน)ได้กราบอาราธนาพระคุณเจ้าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ที่วัดมหาพรหม (ต้าฟั่นซื่อ) อำเภอฉวี่เจียง เพื่อเปิดทางปัญญาแก่สาธุชนด้วยเหตุปัจจัยแห่งพุทธธรรม กัณฑ์เทศน์สำคัญคือ ""มหาปัญญาปารมิตา""
      จุดหมายหลักของ ""มหาปัญญาปารมิตา"" ชี้ให้เห็นรู้จักเข้าถึงความ "เป็น อยู่" แห่งปัญญาของจิตเดิมแท้ เพื่อใช้ปัญญาอันเป็นอยู่นี้ นำจิตให้ล่วงพ้นโอฆะสงสาร ก้าวขึ้นฝากฝั่งอันเกษม จนถึงที่สุดคือ เข้าสู่ภาวะไม่เกิดไม่ดับอีกต่อไป นั่นก็คือภาวะที่เรียกว่า ""นิพพาน""
      พระธรรมาจารย์ลิ่วจู่ประทับนั่งบนบัลลังก์ธรรมาสน์  เบื้องล่างล้นหลามด้วยสาธุชน มีผู้วาการฯ พร้อมด้วยเหล่าข้าราชการผู้ติดตามรวมสามสิบกว่าคน มีปรัชญาจารย์แห่งศาสนาปราชญ์ กับปัญญาชนผู้คงแก่เรียนอีกสามสิบกว่า มีอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถือบวชบำเพ็ญในศาสนาพุทธ ในศาสนาเต๋า อีกทั้งผู้บำเพ็ญทั่วไปรวมหนึ่งพันกว่าคน
      ทั้งหมดพร้อมกันอาราธนา ปรารถนาใคร่จะสดับพระธรรมเทศนา อันเป็นหลักธรรมสำคัญ ในสมัยที่อภิธรรมาจารย์ลิ่วจู่ โปรดเทศนาสั่งสอนสาธุชน สาธุชนทั้งสามศาสนาจะพร้อมกันมาสดับพระธรรม มิได้รังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกัน ทำให้เห็นได้ว่า สามศาสนานั้นอันที่จริงมาจากรากเหง้าเดียวกัน อันที่จริงมิอาจแบ่งแยกออกจากกัน อีกทั้งภายในสามศาสนาเอง ก็มิได้แบ่งแยกนิกายว่าพวกใครสู่งต่ำล้ำเลิศกว่ากัน "ความสูงต่ำล้ำเลิศกว่ากัน กำหนดหมายด้วยใจคน"
     ""พระสมาธยานจารย์มหามณีปัญญาสมุทร พระอาจารย์เซ็น (ต้าจูฮุ่ยไห่ฉันซือ) ""ได้จารึกการนี้ไว้ใน""ธรรมพิจารณ์ว่าด้วยประตูสำคัญสู่ธรรมวิถีฉับพลัน (ตุ้นอู้ยู่เต้าเอี้ยวเหมินลุ่น) "" ว่า มีผู้ถามอาตมาว่า "ธรรมศาสนา เต๋า  ศาสนาปราชญ์ ขงจื่อ และศาสนาพุทธ ทั้งสามศาสนาเป็นเช่นกันหรือแตกต่างกันอย่างไร" อาตมาตอบว่า "ผู้มีใจกว้างจะใช้เป็นเช่นเดียวกัน  ผู้มีใจกีดกั้นจะยึดมั่นแตกต่าง สามศาสน์เกิดจากเอกะญาณ จิตกีดกั้นจึงแบ่งแยกเป็นสาม ลุ่มหลง - กระจ่าง ต่างกันที่คน มิอยู่ที่สามศาสน์เป็นเช่นกันหรือแตกต่าง"  จะเห็นได้ว่า ผู้รู้กระจ่างด้วยปัญญาญาณคมชัด จะเห็นเอกะญาณอันเป็นบ่อเกิดของสามศาสนา มิได้แบ่งแยกสูงต่ำแต่เดิมที
       ส่วนคนด้อยปัญญาณที่หลงยึดหมาย จึงบังเกิดใจแบ่งแยก คิดว่าศาสนาที่ตนเคารพศรัทธาอยู่นั้นวิเศษกว่า จึงเกิดการวิจารณ์นินทา รังเกียจเดียดฉันท์ ใคร่ชี้แจงตรงนี้เป็นพิเศษคือ ""พุทธธรรม"" มิใช่เอกสิทธิ์เฉพาะของ"พุทธศาสนิก" หรือหมู่คณะใด
       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ตรัสสัจธรรมเพียงเพื่อโปรดแก่พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะเท่านั้นอย่างแน่นอน หลายปีมานี้ มีชาวพุทธบางคนกล่าวว่า"ชาวอนุตตรธรรมไม่มีคัมภีร์ธรรมของตนเอง ต้องขโมยใช้คัมภีร์ธรรมของศาสนาพุทธ" เป็นคำพูดที่ควรพิจารณากันว่า ขัดต่อมหาปณิธานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ในพระมหาปณิธานของพระองค์ที่ว่า "เวไนยสัตว์มิอาจประมาณ ปณิธานจะฉุดช่วย" พระมหาปณิธานของพระพุทธองค์ในข้อนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า"พุทธธรรมแห่งพระองค์ จะปรกโปรดฉุดช่วยเวไนยไม่ประมาณ" ฉะนั้น พุทธธรรมจึงมิใช่เอกสิทธิ์ที่ปรกโปรดเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นชาวคริสต์ ชาวอิสลามและอื่น ๆ ล้วนอาศัยพุทธธรรมบารมีเพื่อเจริญธรรมได้ด้วยกันทั้งนั้น
      คัมภีร์คุณธรรม (เต้าเต๋อจิง) ในศาสนาเต๋า ก็มิใช่เอกสิทธิ์ของชาวเต๋า (ธรรมศาสนา)  สี่ปรัชญาคัมภีร์ (ซื่อซู) ในศาสนาปราชญ์ ก็เป็นที่ชื่นชอบของสาธุชนชาวประเทศทั้งหลายได้โดยไม่มีใครหวงห้าม
      พระคริสตธรรมคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ เป็นที่เคารพเลื่อมใส แพร่หลายไปทั่วโลกด้วยภาษาต่าง ๆ  ใครเลยจะคัดค้านกีดกั้น เพราะนั่นเป็นมรดกจากปัญญาญาณแห่งบรรพชนของมนุษยชาติ จึงมิอาจจำกัดกุศลประโยชน์แก่มนุษย์เฉพาะกลุ่ม
      น้ำพระทัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว้างใหญ่ดุจอากาศธาตุ ทรงเห็นความเสมอภาคทั่วไป  หากกล่าวว่าชาวอนุตตรธรรมขโมยพระธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ พระองค์คงมิทรงเห็นชอบด้วยเป็นแน่  ชาวอนุตตรธรรมเองจะต้องมั่นใจ จงใฝ่ศึกษาพุทธธรรมให้ถึงแก่นแท้ด้วยความเคารพต่อไป
      ซึ่งอันที่จริง "ไตรรัตน์" ที่เราหมั่นเพียรกันนั้นก็รวมอยู่ในหมื่นพันคัมภีร์พระสูตรของห้าศาสนาใหญ่อยู่แล้ว หมื่นพันคัมภีร์พระสูตรล้วนไม่ห่าง ""จุดศูนย์กลางชี้ชัดจากพระวิสุทธิอาจารย์ "" ณ บัดใจนั้น คือ ความสมบูรณ์พร้อมของภาวะรู้แจ้ง ในคัมภีร์สามศาสนาล้วนบอกกล่าวไว้เป็นนัย
     
     อภิธรรมาจารย์ลิ่วจู่ กล่าวแก่สาธุชนว่า "ท่านผู้เจริญ  พึงชำระจิตตนให้หมดจด สวดท่อง มหาปัญญาปารมิตา" ผู้เจริญ คือ ผู้ที่สามารถสั่งสอนกล่อมเกลาเหล่าเวไนย ให้ละบาปบำเพ็ญตนได้ ชำระจิตให้หมดจด คือจะต้องขจัด "นิวรณ์" อันขัดขวางการเจริญธรรมของจิตเสียให้สิ้น ( นิวรณ์ - ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี สิ่งที่ขัดขวางจิตมิให้ก้าวหน้าในคุณธรรม มี กามฉันท์ คิดร้ายต่อผู้อื่น หดหู่ ฟุ้งซ่านรำคาญ ลังเลสงสัย ) "สวดท่องมหาปัญญาปารมิตา " ก็คือกำหนดรู้ - เป็น ในมหาปัญญา อันจะพาจิตแห่งตนก้าวขึ้นฟากฝั่งอันเกษมได้ มิใช่ให้ท่องด้วยปากเท่านั้น  " ปัญญาก้าวขึ้นฟากฝั่งอันเกษม" เป็นภาวะแห่งปัญญาธรรมงามกลมสมบูรณ์พร้อมในตัวเอง ซึ่งเมื่อเข้าถึงภาวะนี้ได้ ก็คือเข้าถึงภาวะธรรมญาณเดิมทีอันบริสุทธิ์ผุดผ่องในตน ภาวะอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็น"มหาปัญญาปารมิตา" เมื่ออภิธรรมลิ่วจู่ กล่าวประโยคนี้จบลง ก็สงบนิ่งไว้ มิได้กล่าวคำใดต่อไป คือความเป็นจริงให้ทุกคนชำระจิตตนให้หมดจด ณ บัดนั้น ที่กล่าวต่อเนื่องโดยมิพึงใช้วาจา
      อภิธรรมาจารย์ลิ่วจู่ สงบนิ่งอยูนาน จึงกล่าวอีกว่า "" ท่านผู้เจริญ โพธิญาณตนหมดจดแต่เดิมที เพียงใช้จิต อันหมดจดมิแปดเปื้อนนี้ก็อาจรู้แจ้งบรรลุพุทธภาวะได้โดยตรง

       ความหมาย  พิจารณา
       โพธิจิตตน ก็คือ พุทธญาณ ญาณรู้แจ้งดั้งเดิม พระอัศวโฆษ พระธรรมาจารย์สมัยที่สิบสอง ตามลำดับพงศาธรรม จารึกคำว่า ""รู้แจ้งดั้งเดิม"" ไว้ใน ""ธรรมพิจารณ์ศรัทธามหายาน"" (ต้าเฉิงฉี่ซิ่นลุ่น) ว่า รู้แจ้งดั้งเดิม เป็นภาวะสัจธรรมอันมีอยู่แต่ดั้งเดิมที่สมบูรณ์พร้อมอยู่อย่างนั้นเอง มิใช่ได้จากภายนอกกายหรือภายหลังเกิดตาย ตรงกันข้าม " มิรู้แจ้ง"ก็คือ ภาวะหลง ไร้แก่นสาร ไม่อาจเป็นฐานที่มั่นคงแก่ตนได้ เช่น จิตใจที่ยึดหมายภายหน้า บัดนี้ หรือที่ผ่านมา  กิเลส  ตัณหา  อารมณ์  ทุกข์สุข  ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นได้จาก ภายนอก  ภายหลัง  จึงมิใช่แก่นสารยั้งยืน
        ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ""โพธิญาณตน  หมดจดแต่เดิมที"" นั่นก็คือ การมิได้ยึดหมายในภายนอก ภายหลัง  "จงใช้จิตนี้"ก็คือ"จงบังเกิดจิตนั้นอันหมดจด"
        ในคัมภีร์ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (จินกังจิง) บทที่สิบสี่ รวมประโยคทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันว่า ""บังเกิดจิตมิได้ยึดหมาย""ก็คือ ในขณะที่จิตมิได้ยึดหมาย จงใช้จิตนั้นอันหมดจด ทุกสภาวะ ทุกขณะ ทุกแห่งหน บัดดลนั้นก็คือพุทธะ  พุทธะก็คือ โฉมหน้าเดิมทีของตน  ในคัมภีร์ "ญาณทัสสนะสัมโพธิ" จารึกคำว่า ""เวไนยฯทั้งหลายบรรลุพุทธะดั้งเดิมมา""นี่พูดถึงในแง่รู้แจ้งดั้งเดิม
        จึงกล่าวว่า อย่าได้ใส่ใจอยากรู้อยากเห็นชะตากรรม แม้หาทางรู้ได้ ก็ยังคงต้องชดใช้หนี้กรรมนั้น เพราะนั่นไม่ถึงที่สุดแห่งการพ้นทุกข์ แต่จง...เบิกทางสัมมาปัญญา สู่ฐาฯจิตญาณมั่นคงในตน
     ...เผชิญกับทุกอย่างที่เข้ามาโดยดุษฏี...จึงอาจจบสิ้นและบรรลุธรรมได้โดยตรง   ( ผู้ขาดสติปัญญามักไม่กล้าเผชิญปัญหาปรากฏการณ์ ส่วนผู้มีสติปัญญาจะเตรียมฐานจิตญาณให้มั่นคง แม้ปัญหาใหญ่จะกระแทกก็ไม่หวั่นไหว )        
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21/09/2011, 20:22 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ท่านผู้เจริญ  จงสดับเหตุแห่งความเป็นมาที่ฮุ่ยเหนิงแสวงธรรม และได้รับวิถีธรรม เสียก่อนดังต่อไปนี้  บิดาของฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) เป้นชาวเมืองฟั่นหยัง แต่เดิมที (ซึ่งบัดนี้คือมณฑลเหอเป่ย) มีเหตุถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่งไปอยู่หลิ่งหนัน ให้เป็นชาวเมืองซินโจว ในสมัยราชวงศ์ถัง หลิ่งหนันเป็นถิ่นทุรกันดาร เป็นรกรากอาศัยของชนเผ่าน้อย ที่อยู่รอบนอกใจกลางบ้านเมืองซึ่งห่างไกลอารยธรรม  ฮุ่ยเหนิง ถือกำเนิดในดินแดนที่ด้อยความเจริญแห่งนั้น จึงต้องได้รับคำเหยียดหยันจากชาวเมืองว่า"ลูกชาวใต้ป่าเถื่อน (หนันหมันจื่อ) "
       กายนี้อาภัพ (ฮุ่ยเหนิงเกิดมาในสภาพแร้นแค้น) บิดาวายชนม์ตั้งแต่ฮุ่ยเหนิงยังเยาว์วัย อาศัยมารดาอุ้มชู ภายหลังจึงติดตามมารดาผู้สูงอายุ โยกย้ายภูมิลำเนามายังหนันไห่ (ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหนันไห่ มณฑลกว่างตง)
       ความเป็นอยู่ของมารดาและบุตรยากจนข้นแค้นยิ่งนัก ทุกวันได้แต่อาศัยฮุ่ยเหนิงไปขายฟืนในเมืองมาประทังชีวิต  วันหนึ่งลูกค้าคนหนึ่งขอซื้อฟืนจากฮุ่ยเหนิง กำชับให้ช่วยส่งฟืนไปที่ร้าน  อุ่ยเหนิงส่งฟืนไปตามสั่ง ลูกค้ารับฟืนไว้แล้วจ่าบค่าฟืน ขณะที่ฮุ่ยเหนิงจะก้าวออกจากประตูร้าน ก็แลเห็นแขกที่มาพักแรมคนหนึ่ง กำลังสวดท่องพระคัมภีร์ความว่า ""พึงบังเกิดจิตนั้น (อันหมดจด)"" อันมิได้ยึดหมาย  ทันทีที่ได้ฟัง ฮุ่ยเหนิงกระจ่างใจ รู้แจ้งในบัดดล
       ความหมาย...พิจารณา... อย่างไรเรียกว่า ""อันมิได้ยึดหมาย"" ยึดหมายอยู่ก็คือ ถือมั่นไว้ คนถือมั่นกับอายตนะภายในตนหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  อีกทั้งอายตนะภายนอกหกคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์
      เมื่อเกิดการถือมั่น จึงเกิดการปรุงแต่งเปรียบเทียบแบ่งแยก  ในคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร จารึกคำว่า""อันมิได้ยึดหมายก็คือ อายตนะภายในอย่าได้แปดเปื้อนด้วยอายตนะภายนอก
      ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าได้ปรุงแต่งเปรียบเทียบแบ่งแยกต่อ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์  ""พึงบังเกิดจิต""นั้น นั่นก็คือ บังเกิดจิตอันหมดจดมิได้แปดเปื้อนนั้น
      ฮุ่ยเหนิงสดับพลัน กายใจผ่อนว่างวางลงทันที เข้าสู่โลกวิมุตติ รู้แจ้ง ณ ตรงนั้น คำว่า ""พึงบังเกิดจิตอันมิได้ยึดหมาย"" ต่อมาจึงกลายเป็นคำขวัญสัญลักษณ์สำหรับธรรมปฏิบัติเข้าถึงโดยฉับพลัน  ตลอดพระธรรมาชีพของท่านลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) ล้วนมอบหมายถ่ายทอดวิถีจิตอันรู้แจ้งโดยฉับพลันนี้เป็นสำคัญ
      ดังนั้น จึงถามแขกผู้มาพักแรมว่า "ท่านท่องพระคัมภีร์ใดหรือ" ผู้พักแรมตอบว่า "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร"
      ความหมาย...พิจารณา... วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (จินกังจิง) เป็นพระคัมภีร์ที่ชาวจีนรู้จักกันเกือบทุกบ้านเรือน เหตุที่โด่งดังยิ่งใหญ่ปานนี้ ก็ด้วยพระธรรมาจารย์สมัยที่ห้ากับที่หก หยิบยกผลักดันเต็มที่  แท้จริงแล้ว เมื่อพระโพธิธรรมโปรดจาริกสู่ประเทศจีนนั้น ท่านนำ ""ลังกาวตารสูตร"" มาเพียงเล่มเดียวเท่านั้น แต่เนื่องด้วยลังกาวตารสูตรยากแก่การเรียนรู้ แม้จะมีผู้พยายามศึกษา แต่ก็ไม่อาจแพร่หลายได้ จนกระทั่งถึงพระธรรมาจารย์สมัยที่ห้า จึงมุ่งหมายต่อวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร แทน ลังกาวตารสูตร  ดังนั้น  วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร จึงเป็นพระคัมภีร์สำคัญของศาสนาพุทธมหายานพงศาฌานธยานะ  ซึ่งแน่นอน ก็เป็นพระคัมภีร์ที่ศิษย์อนุตตรธรรมพึงศึกษา ด้วยเหตุที่เป็นพระคัมภีร์ซึ่งพระธรรมาจารย์ที่ถ่ายทอดวิถีจิตฉับพลันโปรดเผยแผ่  คัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร อรรถาวิถีแห่งการบรรลุพุทธะซึ่งแจกแจงถี่ถ้วน อย่างที่กล่าวว่า ""ธรรมะแห่งเหล่าพุทธะและธรรมะแห่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิ์ ล้วนจุดประกายจากคัมภีร์ (สัจธรรม) นี้ จึงเป็นพระคัมภีร์ที่มรค่ายิ่งต่อการศึกษา""
      อุ่ยเหนิงถามอีกว่า "ท่านมาจากที่ใด เหตุใดจึงได้สวดท่องพระคัมภีร์นี้" ผู้พักแรมตอบว่า "เรามาจากวัดบูรพาฌาน เมืองฉีโจว อำเภอหวงเหมยเซี่ยน (ปัจจุบันคือ มณฑลเหอเป่ย ทิศตะวันออกของอำเภอฉีสุ่ย) ที่วัดนั้น พระอภิธรรมาจารย์หงเหยิ่นเจ้าอาวาสแสดงธรรมโปรดสัตว์อยู่ที่นั่น มีศิษย์อยู่หนึ่งพันกว่าคน ข้าพเจ้าไปกราบนมัสการที่นั่น ได้สดับและรัยเอาพระคัมภีร์นี้มาปฏิบัติ  พระธรรมาจารย์ สมัยที่ห้า พระอภิธรรมาจารย์หงเหยิ่น มักจะเตือนผู้ถือบวช กับ ชาวบ้านผู้บำเพ็ญอยู่เสมอว่า ""ขอเพียงปฏิบัติตามพระคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เท่านั้น ก็อาจเห็นจิตตนทันที บรรลุพุทธะได้โดยตรง""
      ความหมาย...พิจารณา...ที่กล่าวนั้น มิใช่หมายถึงท่องบ่นคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรที่เป็นอักษร เรารู้ดีว่า ผู้ที่สวดท่องอักษรพระคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรนั้นมีมากมาย  แต่นอกจากลิ่วจู่ (ฮุ่ยเหนิง) แล้ว ยังมีใครอีกหรือที่สดับเพียงหนึ่งประโยคธรรม พลันรู้แจ้งได้ในบัดดล จะศึกษาบำเพ็ญพุทธธรรม การอ่านพระคัมภีร์นั้นสำคัญมาก  จงเลือกสรรค์พระคัมภีร์ที่ถูกกับจริตของตน ท่องบ่นเรื่อยไป เป็นวิธีบำเพ็ญอันสำเร็จได้ครบถ้วน ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน จุดมุ่งหมายสำคัญของการอ่านพระคัมภีร์ก็เพื่อสยบอารมณ์ สยบความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวาย  ขณะอ่านท่อง ไม่ว่าจะเข้าใจความหมายนั้นก่อนหรือไม่ ยังไม่เป็นไรแต่จะต้องอ่านให้ชัดเจนทุกตัวอักษร นั่นคือ ความปราณีต จริงใจ นานวันไปก็อาจเห็นจิตญาณตน  แต่ในที่นี้ จะขอย้ำข้อความในพระคัมภีร์เป็นพิเศษประโยคหนึ่งที่ว่า ""ปฏิบัติคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ก็อาจเห็นจิตญาณตนได้ใน""บัดดล"" บรรลุพุทธะได้โดยตรง"" คำว่า "บัดดล" หมายถึง ณ ขณะนั้น มิใช่ค่อยเป็นค่อยไป ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจความในว่าเป็นการ "ปฏิบัติคัมภีร์จิต" มิใช่คัมภีร์อักษร  ทันทีที่เข้าถึงวัชรจิตตนอันแกร่งกล้าวาววับ สะท้อนแสงแห่งญาณตนได้ในบัดดล  เรียกว่า"ย้อนมองส่องตนได้" ก็อาจบรรลุพุทธได้ในบัดดล  พระวิสุทธิอาจารย์ของเราในยุคนี้ โปรดถ่ายทอดวิถีธรรมทางตรง""หนึ่งจุดศูนย์กลางรู้ได้"" (รู้ความนัย รู้ความเป็นอยู่ - มีอยู่) อี้จื่อจงเอียงฮุ่ย ก็คือ ""บัดดล"" จึงเห็นจิตญาณตนได้ในบัดดล บรรลุพุทธะได้โดยตรงนี่คือความวิเศษสุดจาก ""หนึ่งนิ้วจุดเบิกจากพระวิสุทธิอาจารย์""

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
       ฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) ได้ฟังความดังนี้แล้ว ด้วยผลบุญที่สร้างไว้ในอดีต ทำให้ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยเงินสิบตำลึงจากผู้พักแรมสำหรับมอบแก่มารดาไว้เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อให้ฮุ่ยเหนิงเดินทางไปกราบพระธรรมาจารย์ที่อำเภอหวงเหมย ได้ด้วยความวางใจ
      ความหมาย...พิจารณา...
      เหตุการณ์ในขณะนั้นคือ ขณะที่ฮุ่ยเหนิงซักถามสนทนาธรรมอยู่กับผู้พักแรมคนที่ท่องคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรนั้น พื้นฐานปัญญาญาณอันมิใช่ธรรมดาของฮุ่ยเหนิงย่อมทำให้ผู้พบเห็นตื่นใจเมื่อได้ฟัง  
     ผู้พักแรมอีกคนหนึ่งปลาบปลื้มจนถึงกับมอบเงินสิบตำลึงซึ่งเป็นจำนวนมากทีเดียว ส่งเสริมให้ฮุ่ยเหนิงเดินทางไปเจริญธรรมที่วัดบูรพาฌานตงฉันซื่อ
     ฮุ่ยเหนิงจัดการความเป็นอยู่ของมารดาเรียบร้อยแล้ว กราบลามารดาแล้วออกเดินทาง (หนทางจากบ้านซินโจว ไปถึงอำเภอหวงเหมย ยาวไกลมาก ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ขึ้นเขาลงห้วย) แต่ไม่คิดว่าชั่วเวลาเพียงสามสิบกว่าวัน ก็ไปถึงหวงเหมย ได้กราบนมัสการพระธรรมาจารย์
     ความหมาย... พิจารณา...
     การเดินทางฝ่าป่าเขาอันตรายเพื่อไปแสวงธรรม ที่ท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวเองว่า ""ชั่วเวลาเพียงสามสิบกว่าวัน"" จุดนี้เราน่าจะคิดได้ถึงความมุ่งมั่นฝ่าฟัน แกร่งกล้า อดทน ศรัทธาทะยานตน เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของท่านฮุ่ยเหนิงในครั้งนั้น
     สามสิบกว่าวันอันยาวนานที่ต้องบากบั่น แต่ท่านกลับเห็นว่า ""เพียงเท่านั้นเอง"" เพราะสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า สูงค่าเกินกว่าเส้นทางคดเคี้ยวพันกว่าลี้ที่ต้องดั้นด้นเดินทาง ฉะนั้น คำโบราณที่กล่าวไว้ว่า ""การที่จะแสวงหาพระวิสุทธิอาจารย์ เพื่อขอหนทางหลุดพ้นนั้น จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ต้องสืบเสาะเดินทางนับพันลี้..."" จึงมิใช่เพียงคำกล่าวอ้าง
    ฮุ่ยเหนิง เป็นอีกท่านหนึ่งที่พิชิตทางไกลไปถึงเป้าหมายได้ เรา ศิษย์อนุตตรธรรมทั้งหลาย...วันนี้ที่ได้กราบพระวิสุทธิอาจารย์ ได้ตราประทับพุทธะ ได้รหัสคาถา  ได้หนทางหลุดพ้นโดยตรง  มีใครแสวงได้จากการเดินทางพันลี้หรือ
    พอพระธรรมาจารย์ได้เห็นฮุ่ยเหนิง ก็ถามเป็นคำแรกว่า ""เจ้าเป็นคนที่ไหน ต้องการสิ่งใด""  ฮุ่ยเหนิงกราบเรียนว่า ""ศิษย์เป็นชาวเมืองซินโจว หลิ่งหนัน เดินทางไกลมากราบพระเถระเจ้า ต้องการเพียงบรรลุพุทธะ มิต้องการสิ่งอื่นใดเกินกว่านี้""
    ความหมาย...พิจารณา...
    ในพระคัมภีร์ "ญาณทัสสนะสัมโพธิ (เอวี๋ยนเจวี๋ย) กับ พระคัมภีร์ "บุษปบัณฑิต หรือ อวตฺสก (ฮว๋าเอี๋ยน)" มีคำกล่าวว่า ""มวลเวไนยล้วนบรรลุพุทธะได้เป็นเดิมที"" จึงกล่าวว่า ""การบรรลุพุทธะเป็นหน้าที่แห่งตน"" มีผู้ถามว่า ""พวกท่านบำเพ็ญธรรมเพื่ออะไรตอบว่า ""ก็เพื่อบรรลุพุทธะ สำเร็จญาณภาวะรู้แจ้ง สมบูรณ์ผลแห่งตน"" ถามอีกว่า ""บรรลุพุทธะ มันไม่โลภมากอาจเอื้อมไปหน่อยหรือ"" ท่านทั้งหลาย ความมุ่งหมายจะบรรลุพุทธะ มิได้เป็นความอยาก มิได้โลภมาก มิได้อาจเอื้อม แต่เป็นหน้าที่อันพึงพยายามทำให้สำเร็จ ไม่บรรลุพุทธะเสียอีก ที่ผิดต่อพระมหากรุณาธิคุณเบื้องบนปรกโปรดฯ ผิดต่อผู้มีพระคุณ ผิดต่อตนเอง
     สู้อุตส่าห์สร้างสมกุศลผลบุญมาถึงชาตินี้ ได้รับวิถีธรรมทางตรง แต่ไม่บรรลุพุทธะ จะเกิดมาทำไม  ท่านฮุ่ยเหนิงตอบพระอาจารย์ว่า ""ต้องการเพียงบรรลุพุทธะ มิต้องการสิ่งอื่นใด"" ตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติมา จะมีสักกี่คนที่คิดจะกลับคืน ฟื้นฟูภาวะเดิมทีที่มาของตนอย่างนี้ คนมากมาย กราบไหว้บูชาพระ สร้างบุญทานโดยต้องการอยู่เย็นเป็นสุขสมปรารถนา นั่นคือ สิ่งอืนที่ท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า มิต้องการสิ่งอื่นใด
     ผู้ไม่รู้ตื่น จึงวนเวียนอยู่กับความต้องการสิ่งอื่นจนชั่วชีวิต  ชั่วชีวิตจนตายแล้วเกิดใหม่  สิ่งอื่นยังคงเป็นสิ่งอื่นอยู่เรื่อยไป มิอาจให้ความอิ่ม ประหนึ่งหุงทรายเอาไว้กิน นานเท่าไรทรายก็ยังคงเป็นทราย ไม่อาจเป็นข้าวได้
     ศิษย์อนุตตรธรรม หากเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ ""โตรรัตน์วิถีจิต"" จะไม่เพียงเจริญธรรมเพื่อกายเนื้อได้อยู่ดีมีสุขเท่านั้น แต่จะเพียรพยายามเพื่อการบรรลุพุทธะจนถึงที่สุด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23/10/2010, 15:17 โดย jariya1204 »

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      พระธรรมาจารย์จึงกล่าวแก่ฮุ่ยเหนิงอีกว่า ""เจ้าเป็นชาวหลิ่งหนัน อีกทั้งเป็นชาวป่าชาวเยิง จะเป็นพุทธะได้อย่างไร""
      ความหมาย...พิจารณา...
      บ้านเมืองทางแถบใต้ของเทือกเขาหลิ่ง เรียกว่าหลิ่งนัน ในสมัยนั้นยังมิได้พัฒนา  ผู้คนที่เป็นชาวหลิ่งหนัน จึงถูกมองว่าเป็นคนป่าเถื่อน ""พุทธะ"" ตามความเข้าใจที่ได้เห็นได้ยินมา ล้วนสูงส่งสมบูรณ์ด้วยบุญวาสนาปัญญาญาณ เป็นบุคคลพิเศษ เป็นอริยะเหนืออริยะ  หากแม้ไร้ซึ่งปัญญาระดับสูง จะบำเพ็ญคุณธรรมบารมีได้อย่างไร คนป่าคนเยิงจึงไม่น่าจะบรรลุพุทธะได้หรือมิใช่  แต่หามิได้ นั่นคือ พระธรรมาจารย์แสร้งตอบกลับเพื่อทดสอบปัญญาของฮุ่ยเหนิง เมื่อได้ยินคำว่า ""ต้องการเพียงบรรลุพุทธะ มิต้องการสิ่งอื่นใด"" เท่านั้น พระธรรมาจารย์ก็ปลื้มปิติยิ่งนักแล้ว เช่นเดียวกับที่ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า ""ความชื่นสุขของกัลยาณชนหนึ่งในสามประการคือ ได้ปรีชาชนเข้ามารับการอบรม (ได้คนดีมาเป็นศิษย์)"" จึงมิต้องสงสัยเลยว่า พระธรรมาจารยา์หงเหยิ่นจะแอบชื่นชมยินดีเพียงไร  เราจะเห็นว่าฮุ่ยเหนิงมาจากทางใต้มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) แต่พระธรรมาจารย์อยู่ที่หวงเหมย มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นภาคกลางของประเทศจีนจึงเท่ากับห่างกันคนละโยชน์  ฮุ่ยเหนิงตอบพระธรรมาจารย์ว่า ""คนแม้จะแบ่งแยกภาคพื้นเหนือใต้ แต่โดยความเป็นจริง พุทธญาณไม่แบ่งเหนือใต้ คนป่าคนเยิงต่างกับพระเถระแต่เพียงรูปกาย แต่พุทธญาณจะต่างกันอย่างไร""
      ความหมาย...พิจารณา...
      สังขารเป็นสัมโภคกายที่ได้จากแรงกรรมทั้งสามและธาตุทั้งสี่มาชุมนุมกัน สร้างกรรมดีอะไรไว้ หรืออธิษฐานจิตอย่างไรไว้ในบางกรณี ก็ก่อเกิดลักษณะดีงามตามกรรมและกรณีนั้น  พระธรรมาจารย์ อยากจะกล่าวอะไรแก่ฮุ่ยเหนิงอีก แต่เห็นศิษย์ทั้งหลายยังคงอยู่ซ้ายขวามากมาย เกรงจะเป็นเหตุริษยาต่อฮุ่ยเหนิง จึงบัญชาฮุ่ยเหนิงให้ไปทำกิจกับเขาเหล่านั้น  พระธรรมาจารย์สั่งให้ไปทำกิจ ความหมายเป็นอันรู้กันกับศิษย์ฮุ่ยเหนิง คือ ให้ไปบำเพ็ญบารมี  เพราะพระอาจารย์ได้สัมผัสรู้ในภาวะจิตแจ่มชัดของฮุ่ยเหนิงแล้ว ก่อนที่ฮุ่ยเหนิงจะตามศิษย์รุ่นพี่ออกไป  ฮุ่ยเหนิง ได้กราบเรียนพระอาจารย์อีกว่า ""ศิษย์มักจะเกิดวิปัสสนาปัญญา (คือเห็นแจ้งตรงต่อสภาวะธรรมควมเป็นจริง)จากใจตนอยู่เสมอ ปัญญานั้นมิพ้นจากจิตญาณตน นั่นคือเนื้อนาบุญ มิทราบว่าพระอาจารย์จะโปรดให้ทำกิจใดต่อไป""
       ความหมาย...พิจารณา...
       ปัญญาอันเกิดจากจิตญาณตน เป็นปัญญาแท้อันปราศจากอาสวะการปรุงแต่ง (เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา) เป็นปัญญาแท้อันสมบูรณ์พร้อมอยู่ในตัว โดยมิพึงเรียนรู้ หรือกำหนดหมายจากอื่นใด เหตุที่คนทั่วไปมิอาจเกิดปัญญาดั่งนี้ได้ ด้วยกเลส ตัณหา  อวิชชา  ความยึดมั่นถือมั่นบดบัง  คนทั่วไปถือลาภสักการะวาสนาเป็นเนื้อนาบุญ  วาสนาจากเนื้อนาบุญเช่นนั้นเป็น "อาสวะวาสนา"คือกิเลสที่หมักหมมอยู่ในสันดาน จึงเป็นวาสนาที่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์ ผู้บำเพ็ญถือปัญญาบริสุทธิ์เป็นเนื้อนาบุญวาสนาจากเนื้อนาบุญนี้เป็น ""บริสุทธิ์วาสนา"" จึงเป็นวาสนาอันสุขเกษมที่ปราศจากความทุกข์  ชาวพุทธเราถือเอาพระเถระเป็นเนื้อนาบุญ  ชาวจีนตั้งแต่สมัยพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ ยิ่งให้ความเคารพต่อพระเถระเป็นที่สุด  พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ถึงกับโปรดให้ขุนนางใหญ่สิบแปดคนเดินทางไกลไปนิมนต์พระเถระจากอินเดียมาสองรูป เพื่ออบรมเผยแผ่พุทธธรรมแก่สาธุชน และเรียกพระเถระว่า ""เหอชั่ง""คำว่าพระเถระ อักษรจีนเขียนว่า ""เหอชั่ง"" (แต่ปัจจุบัน พระสงฆ์ทั่วไปที่ถือบวชเกินกว่าสิบปี ก็เรียกว่า เหอชั่งเช่นกัน) "เหอ" แปลว่า  ราบเรียบสำรวม  อ่อนโยน  เยือกเย็น  สุขุม  ช่วยสมานชีวิตจิตใจ สมานบุญทานศรัทธา..."ชั่ง" แปลว่าสูงส่ง งดงามด้วยคุณธรรม  เลิศล้ำด้วยบุญบารมี
       การจะบวชเรียน และยกระดับเป็นเหอชั่งได้ในสมัยนั้น เป็นเรื่องยากลำบากมาก จะต้องผ่านการสอบพิจารณาอย่างแข้มงวดคุณสมบัติครบถ้วนตามกำหนดกฏเกณฑ์ จึงจะเป็นเนื้อนาบุญบริสุทธิ์ของสาธุชนได้  ศิษย์ทั้งหมดของพระธรรมาจารย์ล้วนถวายความเคารพโดยเรียกพระธรรมาจารย์ว่า ""เหอชั่ง""
       เมื่อพระธรรมาจารย์สั่งฮุ่ยเหนิงให้ติดตามรุ่นพี่ไปทำกิจ ฮุ่ยเหนิงจึงกราบเรียนถามท่าน ""เหอชั่ง""ในความหมายว่า...ศิษย์บังเกิดวิปัสสนาปัญญาจากจิตญาณตน อันเป็นเนื้อนาบุญแล้ว จะให้ศิษย์ไปทำกิจใดอีก คือหมายถึงให้เจริญธรรมในด้านใดอีก ซึ่งมิได้มีความหมายในเชิงแสดงตนโอ้อวดถือดีแต่ประการใด (เพื่อป้องกันศิษย์ใหม่ฮุ่ยเหนิงไว้มิให้ถูกใครริษยากลั่นแกล้ง พระธรรมาจารย์หงเหยิ่นจึงมิได้ชี้แนะขั้นตอนการบำเพ็ญเพียรต่อไป  ณ  ที่นั้น) แต่พระธรรมาจารย์กลับเอ็ดเอาว่า""เจ้าชาวป่าชาวเยิงนี้อินทรีย์แก่กล้านัก เจ้าไม่ต้องพูดอะไรอีกเลย รีบไปโรงตำข้าว""
       ความหมาย...พิจารณา...
       อินทรีมีสามระดับต่างกัน  อินทรีอ่อนคือ ผู้สำแดงปัญญาได้น้อย  (เซื่อซื่อ)  อินทรีปานกลางคือ ผู้สำแดงปัญญาได้ธรรมดา (จงซื่อ) อินทรีแก่กล้าคือ ผู้สำแดงปัญญาได้เฉียบแหลม (ซั่งซื่อ)
       ในคัมภีร์วิสุทธิสูตร (ชิงจิ้งจิง) อริยปราชญ์ท่านเหลาจื่อก็ได้จำแนกบุคคลไว้เป็นสามระดับ เรียกว่า ซั่งซื่อ  จงซื่อ  เซี่ยซื่อมีความหมายเช่นเดียวกัน  ฮุ่ยเหนิง (ลิ่วจู่) เป็น ซั่งซื่อ บุคคลระดับสูง อินทรีแก่กล้าปัญญาเฉียบแหลม

     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ฮุ่ยเหนิงไม่ตอบว่ากระไร ถอยกลับออกไปยังด้านหลังธรรมศาลา  ที่นั่น  มีนักบวชผู้หนึ่งใช้ให้ฮุ่ยเหนิงไปผ่าฟืนเหยียบกระเดื่องตำข้าว
       ความหมาย...พิจารณา...
       นักบวชมิใช่พระสงฆ์ที่อุปสมบท  แต่เป็นคนมาทดลองอยู่วัดว่า ตนจะสละทางโลกได้หรือไม่ เพราะการอุปสมบทในสมัยนั้นมิใช่บวชหรือสึกกันง่าย ๆ จึงมิใช่บวชพรรษา มิใช่บวชอายุ หรือบวชด้วยเหตุอื่น ๆ ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น
       ฮุ่ยเหนิงทำงานหนักทุกวัน ผ่านไปแปดเดือนกว่า  วันหนึ่งพระธรรมาจารย์เห็นฮุ่ยเหนิงอยู่ตามลำพัง จึงกล่าวด้วยว่า ""เราพิจารณาภาวะจิตของท่านใช้ได้ เกรงจะมีคนร้ายเป็นภัยแก่ท่าน จึงไม่พูดด้วยกับท่านเข้าใจไหม""
       ความหมาย...พิจารณา...
       ...ต่อหน้าใคร ๆ พระอาจารย์ (น่าจะ)ใช้สรรพนามว่า "เจ้า"กับฮุ่ยเหนิง  แต่เมื่ออยู่ตามลำพังใช้คำว่า "ท่าน" ภาวะจิตใ้ช้ได้หมายถึง อาจบรรลุโพธิมรรค แบกรับอริยกิจแห่งพุทธะได้  ความรู้สึกอิจฉาริษยา เป็นสันดานที่สั่งสมติดตามมากับชีวิตจิตใจของสัตว์โลกทุกรูปกาย แม้แต่มาในรูปของมด ปลวก  แมลงตัวกระจิดริด เห็นฝ่ายตรงข้ามจะเทียบเท่า จะเหนือกว่า หรือแม้ไม่มีคุณสมบัติอะไรให้อิจฉาริษยา ก็ยังสำแดงสันดานนั้นออกมาข่ม มากีดกัน พระธรรมาจารย์หยั่งรู้ล่วงหน้า จึงได้เตือนว่า ""เกรงจะมีคนร้ายเป็นภัยแก่ท่าน..."" ฮุ่ยเหนิงตอบว่า ""ศิษย์ก็รู้เจตนาของพระเถระเจ้า มิกล้าเดินไปยังข้างหน้าธรรมศาลา เพื่อใคร ๆ จะได้ไม่สังเกตุรู้"" วันหนึ่ง  พระธรรมาจารย์เรียกศิษย์ทั้งหมดมาชุมนุมกันเบื้องหน้าแล้วกล่าวว่า ""เราจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย ความเป็นความตายของชาวโลกนั้นเรื่องใหญ่ ท่านทั้งหลายได้แต่หวังเนื้อนาบุญกันทั้งวัน มิหวังพ้นจากทะเลทุกข์ของการเกิดตาย จิตญาณตนหากหลง วาสนาใดหรือจะช่วยได้""
       ความหมาย...พิจารณา..
       ในคัมภีร์ "ศูรางคมสูตร (เหลิงเอี๋ยนจิง)" จารึกไว้ว่า เวไนยสัตว์ทั้งปวง นับแต่บรรพกาลมา เกิดตายไม่สิ้นสุด ล้วนเกิดจากมิรู้กำหนดจิตแท้ตนจริง มิรู้ชำระจิตญาณตนโปร่งใส ฟุ้งซ่านเรื่อยไป ความคิดนี้มิเที่ยงแท้ จึงก่อเกิดวัฏจักร พุทธพจน์ว่า ""หนึ่งความคิดคือหนึ่งเวียนว่าย"" ในคัมภีร์ "ศูรางคมสูตร" จารึกไว้อีกว่า "ตถาคตแห่งสิบทิศร่วมอยู่ในธรรมเดียวกันจึงพ้นจากเกิดตายล้วนด้วยใจตรงเช่นนี้" ใจตรง ก็คือ มุ่งใจใฝ่ตรง เป็นจิตเที่ยงแท้ที่ออกมาจากจิตญาณตนอันหมดจด  ฉะนั้น  ในทุกสภาวะ หากไม่ดำริคิดหวั่นไหว ไม่เปรียบเทียบ ไม่ยึดหมาย เที่ยงตรงอยู่ทุกขณะจิต ความเที่ยงตรงนั้น ล่วงพ้นจากการแบ่งแยกตีความเที่ยงตรงอยู่ในภาวะที่ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ไม่ยึดหมายข้างใดเลยแม้แต่ทางสายกลาง ก็มิได้ยึดหมายอยู่  ขณะนั้นเองก็จะเป็นทางสายกลาง เป็นภาวะรู้ชอบ เห็นชอบโดยธรรม  ดั่งนี้ จึงจะออกหากจากวัฏจักรของภูมิวิถีหกได้ ในการถ่ายทอดวิถีธรรม ธรรมประกาศิตในพิธีการมีอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ปราศจากการเกิด -- ตาย (อู๋โหย่วเซิงเหอสื่อ)" ก็คือภาวะจิตเที่ยงแท้ตรงทางนี้
       ที่พระธรรมาจารย์กล่าวเตือนศิษย์ทั้งหลายว่า "...หวังเนื้อนาบุญกันทั้งวัน" นั้น ความหมายของเนื้อนาบุญ  ต่างจากเนื้อนาบุญของท่านฮุ่ยเหนิง แต่เป็นเนื้อนาบุญที่มีอาสวะของการเสวยบุญเป็นเจตนา
       พระธรรมาจารย์กล่าวแก่ศิษย์ทั้งหลายต่อไปว่า "พวกท่านต้องไปย้อนมองส่องหาปัญญาตน นำเอาปัญญาจากจิตญาณตน ต่างเขียนโศลกหนึ่งบทมาถวายแก่เรา  หากรู้แจ้งหลักใหญ่ในพุทธธรรม จะมอบบาตรกับจีวร ให้เป็นพระธรรมาจารย์สมัยที่หก รีบเร่งด่วนไป มิให้ชักช้า หากต้องค่อยพิจารณา จะไร้ประโยชน์"
       ความหมาย...พิจารณา...
       ค่อยพิจารณา เข้าข่ายยึดหมายเป็นมโนวิญญาณที่เจ็ด ดุจเดียวกับการเขียนบทความ ไตร่ตรองพิจารณาหาคำเหมาะสม ซึ่งแม้จะเขียนได้ไพเราะเพียงไร ก็ล้วนเป็นแค่ความคิดพิจารณา
        ผู้เห็นเข้าถึงจิตญาณตน จะต้องรู้แจ้งฉับพลันทันทีที่ฟังว่า เข้าถึงภาวะนี้ไซร์ แม้อยู่ท่านกลางคมหอกคมดาบ ก็ยังเข้าถึงภาวะรู้แจ้งนี้ได้
        ความหมาย...พิจารณา...
        เนื่องด้วยผู้เห็นจิตญาณตนนั้น ปราศจากยึดหมาย ในตน ในธรรม  ในทุกประการทั้งปวง จึงปราศจากดำริคิดต่อความเป็นความตาย แม้ถูกบั่นคอก็รับรู้แต่เพียงว่า "จบสิ้นเวรกรรม กลับคืนบ้านเดิม" เหมือนประโยคหนึ่งในหนังสือ"ข้อแกร่งแรงมุ่ง"ที่ว่า"ตัดหัวยิงเป้า เกษียณแล้วกลับบ้าน" เป็นภาวะจิตที่หมดเรื่องหมดราว สิ้นสุด หมดจดเสียจริง ๆ  ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงมิพึงต้องหวั่นไหวต่อการทวงถามของเจ้ากรรมนายเวร แต่จงหยุดก่อกรรมทำเวรใหม่  การฆ่าฟันทำร้ายทำได้เพียงกายสังขาร  จิตญาณคงเดิม 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ศิษย์ทั้งหมดฟังกำชับจากพระธรรมาจารย์ ถอยกลับออกมาแล้ว ต่างพูดกันต่อ ๆ ไปว่า "พวกเราไม่ต้องทำใจ มุ่งหมายว่าจะเขียนโศลกถวายแด่พระเถระเจ้าหรอก จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อ (ธรรมาสน์) ธรรมวุติสูงกว่าพวกเรา คือท่านเสินซิ่ว เป็นครูอาจารย์ซึ่งสอนเรา ท่านจะต้องได้อย่างแน่นอน เราไม่เจียมตัวเขียนโศลกไป จะเหนื่อยใจเปลืองแรงเสียเปล่า
        ความหมาย...พิจารณา...
        ในที่นี้ จะขอแนะนำพระเสินซิ่ว สักเล็กน้อย ก่อนอุปสมบท ท่านเสินซิ่วได้ศึกษาพระธรรมคัมภีร์มาจนถ้วนทั่วแล้ว วิชาความรู้ทุกอย่างทางโลกก็ศึกษามาจนปรุโปร่ง เมื่อได้พบพระธรรมาจารย์หงเหยิ่น รู้สึกเคารพเลื่อมใสจึงถวายตัวเป็นศิษย์ เริ่มแรกทีเดียวก็ต้องทำงานหนัก ผ่าฟืน เหยียบกระเดื่องตำข้าว เช่นเดียวกับฮุ่ยเหนิง ทำงานจิปาถะบริการใคร ๆ เนื่องด้วยความรู้ดีมีวาทศิลป์ เป็นที่เคารพยกย่องของหมู่เหล่า ดังนั้น พระธรรมาจารย์จึงยกย่องขึ้นเป็นพระเถระ ขึ้นธรรมาสน์เทศน์อยู่เสมอ ในภายหลัง หลังจากที่พระธรรมาจารย์หงเหยิ่น บรรลุธรรมแล้ว ท่านเสินซิ่วได้เดินทางไปแพร่ธรรมที่ "ตังหยางซัน เมืองเจียงหลิง"
        เวลานั้น ผู้มาศึกษาพุทธธรรมกับพระเถระเสินซิ่ว มีมากมาย แม้แต่พระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) ก็ยังนิมนต์ท่านเข้าวัง ยกย่องพระเถระเสินซิ่ว ไว้ในฐานะพระอภิธรรมาจารย์แห่งราชสำนัก อีกทั้งคุกเข่ากราบกราน ถวายภัตตาหารเองด้วยศรัทธาจุดนี้ทำให้รู้ได้ว่า พระเถระเสินซิ่วเป็นสมาธยานะจารย์ที่มีสถานภาพสูงส่งและโด่งดังเพียงไร
        สงฆ์ทุกรูปเมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว ต่างก็วางใจลง ต่างกล่าวกันว่า "พวกเราตามรอยพระเถระเจ้าเสินซิ่วก็แล้วกัน ทำไมจะต้องเขียนโศลกให้ยุ่งยาก
        ความหมาย...พิจารณา...
        แต่ที่พระธรรมาจารย์บัญชานั่นคือ "ท่านทั้งหลาย" อันหมายถึงสงฆ์ทุกรูปล้วนมีคุณสมบัติ มีโอกาสบรรลุพุทธะด้วยกันทั้งนั้นฉะนั้น  การนี้ สงฆ์ทุกรูปที่ไม่เขียนโศลก ล้วนคิดผิดพลาดเสียโอกาสตน นักกีฬาที่วิ่งแข่งขัน แม้จะวิ่งไม่ทัน คนข้างหน้าคว้ารางวัลไปหมดแล้วคนที่อยู่ข้างหลังยังจะต้องวิ่งต่อไปให้ถึงหลักชัย ให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่ต้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่า "ศึกษาบำเพ็ญ เห็นด้วยธรรมมิเห็นด้วยคน" "เห็นด้วยธรรม" อย่างไร เห็นด้วยพุทธธรรม เห็นด้วยสัทธรรม เช่นที่เราพูดกันอยู่เสมอในอาณาจักรธรรมว่า ""บำเพ็ญแท้จริงตามหลักธรรม (เยิ่นหลี่ซึซิว)"" ตามหลักธรรมอะไร ตามหลักสัจธรรม หลักสัจธรรมแห่งจิตญาณตน พุทธธรรม ล้วนเป็นเครื่องนำทางให้จิตญาณของทุกคนรู้แจ้ง อีกทั้งให้เราได้พากเพียรศึกษาจากพระคัมภีร์ บำเพ็ญแท้จริงตามหลักธรรม  ในอาณาจักรธรรมแม้จะมีธรรมวุติต่างกัน ธรรมวุติสูงกว่านำพาคนข้างหลัง แต่จะนำพาไปผิดหรือถูกนั้น ยังจะต้องพิจารณาตามหลักสัจธรรมมิใช่ทำตามคน
        พระอาจารย์เสินซิ่วตรึกตรองว่า "สงฆ์ทุกรูปไม่ถวายโศลก เนื่องจากเราเป็นพระอาจารย์แห่งเขา เราจะต้องเขียนโศลก เพื่อถวายแด่พระธรรมาจารย์ แม้ไม่ถวาย ไฉนพระธรรมาจารย์จะรู้ว่า ความเข้าใจของเราตื้นลึกเพียงไร ความมุ่งหมายในการถวายโศลกหากเป็นด้วยใฝ่ธรรม นั่นคือกุศล แต่หากเป็นไปเพื่อหวังสืบต่อฐานะพระธรรมาจารย์ นั่นคืออกุศล  ถ้าเช่นนั้น จะต่างอะไรกับจิตใจของปุถุชนที่ทำเพื่อแย่งชิงตำแหน่งพระธรรมาจารย์ แต่ถ้าหากไม่ถวายโศลก ก็จะไม่ได้รับการถ่ายทอดวิถีธรรม มันช่างยากแท้ มันช่างยากแท้
        ความหมาย...พิจารณา...
        จากข้อความนี้ เราจะเห็นได้ว่าท่านเสินซิ่วต้องตรึกตรองอย่างหนักมากมาย ลังเลตัดสินใจไม่ได้ ก็เพราะใช้มโนวิญญาณเป็นเครื่องวัดประมาณการ สุดท้ายจึงต้องตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ข้างหน้าธรรมศาลาของพระธรรมาจารย์ มีระเบียงยาวสามห้อง เป็นผนังสามด้าน ท่านตั้งใจจะเชิญช่างศิลป์หลวงมาวาดเรื่องราวจากพระคัมภีร์ ""ลังกาวตารสูตรแปรรูป"" กับภาพแสดง ""ชีพจรธรรมนำเนื่องมา"" ของพระธรรมาจารย์เอง ตั้งแต่พระโพธิธรรม แต่ละสมัยเพื่อสืบทอดต่อไปให้สักการะสึกษากัน
       เสินซิ่ว เขียนโศลกจบแล้ว ใคร่ถวายพระธรรมาจารย์หลายครั้ง แต่พอเดินไปถึงเบื้องหน้าธรมศาลา ก็เกิดลังเลตัดสินใจไม่ได้จนเหงื่อท่ามตัว (คิดถึงแต่ปัญหาที่ตรึกตรองพิจารณาผ่านมา) ตั้งใจจะไม่ถวาย (เพราะหากถวาย พระธรรมาจารย์จะเข้าใจว่าเพื่อต้องการยกฐานะแก่ตนหรือ แต่หากไม่ถวาย ก็จะเสียโอกาสเจริญธรรมจากโอวาทของพระธรรมาจารย์) เสินซิ่ว คิดกลับไปกลับมาอย่างนี้ถึงสี่วัน จะถวาย ไม่ถวายถึงสามสิบครั้ง (สุดท้ายก็มิได้ถวาย)
      เสินซิ่ว จึงคิดว่า "อย่ากระนั้นเลย ใช้วิธีเขียนลงบนผนังระเบียงให้พระธรรมาจารย์ได้เห็นเอง หากท่านชมว่าดี ก็จะแสดงตัวออกมากราบท่านว่าศิษย์เสินซิ่วเขียนเอง หากท่านตำหนิว่าไม่ดี ก็เสียทีที่มาบำเพ็ญอยู่ในป่าเขานี่เสียหลายปี เสียทีที่ได้รับความเคารพยกย่องจากผู้คน ยังจะบำเพ็ญธรรมอะไรกันอีก" 
      เที่ยงคืนคืนนั้น โดยมิให้ใครรู้เห็น เสินซิ่วถือตะเกียงมาเอง เขียนโศลกลงบนข้างฝาทางด้านใต้ของระเบียง ถวายความเข้าใจของตนไว้  โศลกมีความว่า ""กายคือต้นโพธิ์ ใจดั่งบานกระจกใส หมั่นเช็ดถูทุกเวลาไป อย่าให้จับด้วยฝุ่นละออง""
      ความหมาย...พิจารณา...
      สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เสินซิ่วจึงอุปมาเนื่องนำว่า กายอันได้บำเพ็ญเพียรนี้สูงส่งด้่งต้นโพธิ์  ใจของผู้บำเพ็ญเพียรดุจบานกระจกใส รับภาพที่ผ่านเข้ามาได้ อีกทั้งละภาพจากที่ผ่านเลยไปได้ เท่ากับมิได้ยึดหมาย ดังคำที่ว่า"อริยะใช้ใจดั่งกระจกใส  เซิ่งเหยินอย้งซินหยูจิ้ง" "มา รับไว้  ไป สงบนิ่ง" ในคัมภีร์วิสุทธิสูตร ชิงจิ้งจิง  มีคำว่า "รับอย่างปกติ สงบนิ่งอย่างปกติ  ฉังอิ้งฉังจิ้ง" ความเป็นปกติคือภาวะแห่งธรรม บรรพเมธามีคำว่า "ลมผ่านริ้วไผ่ไม่เหลือเสียง นกห่านผ่านบึงหนาวเงาเลยหาย...ฟงกั้วชูจู๋ปู้หลิวเซิง  เอี้ยนกั้วหันถันปู้หลิวอิ่ง" นั่นก็คือ ไม่ยึดมั่นไว้เช่นกัน  ประโยคต่อไปของท่านเสินซิ่วที่ว่า "หมั่นเช็ดถู"หมายถึง การชำระกิเลสชำระใจ ค่อย ๆ บำเพ็ญไป  ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงภาวะ "จิตใสใจสว่าง"
      ขั้นแรกของการบำเพ็ญ หาก "ฐาน" ไม่ว่างจากอาสวะกิเลส ไม่ได้เช็ดถูให้หมดจด บุญกุศลที่ก่อเกิด ตั้งวางบน "ฐาน" นั้นจะบริสุทธิ์สูงส่งได้อย่างไร "กระจกใสแต่เดิมที" คือ โพธิญาณบริสุทธิ์แต่เดิมทีหากเกาะจับหนาเตอะด้วยฝุ่นโลกีย์ ยังจะส่องเห็นอะไรได้ชัดเจนอีก จึงกล่าวว่าการ"เช็ดถู"นั้นจำเป็นมาก
      พระธรรมาจารย์เห็นโศลกนี้แล้ว รู้ได้ว่า เสินซิ่ว ยังเข้าไม่ถึงภาวะ "จิตว่างสว่างใส" เพราะโศลกบทนี้ยังมิใช่ที่สุดแห่งการหลุดพ้น แต่พระธรรมาจารย์ก็โปรดชื่นชม และบอกแก่ศิษย์ทุกคนให้ "หมั่นเช็ดถู" จิตตนตามนั้น
     ความหมาย...พิจารณา...
     วันนี้  เราศิษย์อนุตตรธรรม ได้รับหนึ่งจุดเบิกจากพระวิสุทธิอาจารย์ แม้จะรู้ได้ในความ "เป็นที่สุด" ตรงจุดนั้น แต่ยังคงต้องอาศัยพุทธานุภาพจากเทียนมิ่ง (อนุตตรพระโองการ) จากพุทธะโพธิสัตว์ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายมาปรกโปรดอุ้มชูอยู่ จึงต้อง "หมั่นเช็ดถู" เพื่อเข้าสู่ภาวะ "รู้ - เป็น" นั้น ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
      หมั่นเช็ดถู ด้วยการ รู้ - ละ ด้วยการทำความเพียร ด้วยการสวดท่องพระคัมภีร์ ด้วยการใช้ไตรรัตน์ "ทุกขณะจิตที่ทำได้" ขอขมากรรม ทุกขณะจิตที่ทำได้...นั่นคือขณะใด ใครก็มิอาจกำหนดให้ได้ ผู้มีความเพียรรู้ได้เองว่าขณะใด
     การกราบพระให้มาก ก็เป็นการหมั่นเช็ดถูที่ได้ผลเลิศ เพราะขณะกราบ จิตเป็นสมาธิอยู่กับการกราบ ขณะนั้นจึงเป็น "ทุกขณะจิตที่ทำได้" อีกอย่างหนึ่ง ที่สุดของการบำเพ็ญเพียร ก็เพื่อให้จิตคืนคงความหมดจดสว่างใส ในพุทธธรรมไม่ว่านิกายใด คำที่หมายถึงภาวะนี้มีมากมาย เช่นคำว่า พุทธจิต ธรรมญาณ โพธิญาณ สัทธรรม วิมุตติ วิสุทธิ  แม้แต่บงกชดอกบัว ล้วนแฝงความหมายว่าหมดจดสว่างใส ในพิธีถ่ายทอดวิถีอนุตตรธรรม ก็มีธรรมประกาสิตกำชับให้ ""จงหล่อหลอมแสงญาณไว้ทุกขณะ  จงยื่อเลี่ยนเสินกวง" นั่นก็คือหมั่นเช็ดถูทุกขณะจิต เพื่อคืนความหมดจดสว่างใส

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

 โศลกท่านเสินซิ่ว  ::  กาย คือ ต้นโพธิ์  ใจดั่งบานกระจกใส
                           หมั่นเช็ดถูทุกเวลาไป   อย่าให้จับด้วยฝุ่นธุลี   ( มีรูปลักษณ์ )

        เสินซิ่ว เขียนโศลกเสร็จแล้ว ก็กลับไปที่ห้องพัก คนทั้งวัดไม่มีใครรู้เห็นการนี้  เสินซิ่วกลับถึงห้องพักแล้ว ก็ยังคงคิดคำนึงวกวนไปมาอยู่ว่า "พรุ่งนี้หากพระเถระเจ้าเห็นโศลกนี้แล้วยินดี นั่นก็หมายความว่า เรามีบุญปัจจัยมากับพุทธธรรม  แต่หากเห็นว่าใช้ไม่ได้ ก็คือตัวเราเองยังหลงอยู่ในเวรกรรมเก่า อุปสรรคปิดกั้นปัญญาไว้หนาแน่นไม่ตรงต่อพุทธธรรม จิตใจของอริยะพระธรรมาจารย์ ยากจะหยั่งได้แท้เทียว  เสินซิ่ว คิดกลับไปกลับมาอยู่ในห้อง นั่งนอนไม่สงบ จนถึงฟ้าสางยามห้า
       พระธรรมาจารย์ทราบแต่ต้นแล้วว่า เสินซิ่วยังมิได้เข้าสู่ประตูวิมุตติ ยังมิได้เห็นจิตญาณตนอย่างถึงที่สุด
       ความหมาย...พิจารณา...
       แต่ในเมื่อทราบแล้วตั้งแต่ต้น เหตุใดจึงยังให้เขียนโศลกอีกนั่นด้วยจิตปรารถนาจะเสริมสร้างให้ศิษย์ "รู้ตน-รู้คน  รู้เขา-รู้เราเพื่อเจริญความเพียรให้ยิ่งขึ้น
       ฟ้าสาง วันรุ่งขึ้น พระธรรมาจารย์เรียกช่างหลวงเข้าพบ เตรียมการเขียนจิตรกรรมลงบนฝาผนังด้านใต้ของระเบียงทางเดินพลันได้เห็นโศลกนั้น จึงกล่าวแก่ช่างหลวงว่า "ช่างหลวง มิต้องวาดภาพบูชาแล้ว เหนื่อยยากแก่ท่านที่ต้องเดินทางไกลมา พระคัมภีร์ว่า""รูปทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นมายา"" เพียงเก็บโศลกนี้ไว้ให้ได้สวดท่อง บำเพ็ญตามโศลกนี้ มีคุณประโยชน์ใหญ่หลวง  ดังนั้นแล้วจึงสั่งให้ศิษย์จุดธูปบูชา สวดท่องโศลกนี้ ก็จะเห็นจิตญาณตนได้ ศิษย์ต่างสวดท่อง ต่างสาธุการว่าประเสริฐแท้
       ความหมาย...พิจารณา...
       ความสัตย์จริงมิได้เป็นเช่นนั้น พระธรรมาจารย์กำลังดำเนินกุศโลบายประคองอุ้มชูศิษย์ต่างหาก โศลกนี้แม้จะไม่ถึงที่สุดของการรู้แจ้ง แต่สำหรับศิษย์ผู้น้อยทั้งหลาย โศลกนี้เป็นบันไดเบื้องต้นที่จะเดินก้าวขึ้นไป
       พระธรรมาจารย์เรียกเสินซิ่วเข้าพบยามเที่ยงคืนถามว่า "โศลกนี้ท่านเป็นผู้เขียนหรือ" เสินซิ่วตอบว่า "ศิษย์เขียนเองจริงมิกล้าอาจเอื้อมหวังตำแหน่งพระธรรมาจารย์ ขอพระเถระเจ้าได้โปรดพิจารณาว่า ศิษย์นี้มีปัญญาน้อยนิดเพียงไรหรือไม่" พระธรรมาจารย์กล่าวว่า "โศลกของท่านนี้ ยังมิได้เห็นในจิตญาณตน อุปมาดั่งยืนอยู่นอกประตู ยังมิได้ก้าวเข้ามา ความคิดเห็นเช่นนี้ จะแสวงหาอนุตตรโพธิญาณไม่พบเลย" จากนั้น พระธรรมาจารย์ได้โปรดชี้แนะวิธีค้นพบอนุตตรโพธิญาณตนแก่เสินซิ่วต่อไป
       ความหมาย...พิจารณา...
       การนี้เราจะเห็นได้ว่า กลางวันต่อหน้าคนทั้งหลาย พระธรรมาจารย์โปรดชมเชยเสินซิ่ว เที่ยงคืนยามสงัดปลอดคน กลับเรียกเสินซิ่วเข้าพบ ชี้ให้เห็นทางที่เสินซิ่วเดินหลงไป  นี่คือมหาเมตตากรุณาคุณของพระธรรมาจารย์ หากชี้ทางหลงต่อหน้าใคร ๆ เสินซิ่วยังจะมีสถานภาพความน่าเชื่อถือที่จะอรรถาธรรมแก่ใครได้
      อนุตตรโพธิญาณ คือ ภาวะรู้อันสูงส่ง พระโพธิสัตวฺทรงรู้แจ้งว่า ทุกคนล้วนมีจิตญาณอันรู้แจ้งได้ จึงบังเกิดปณิธานกอบกู้เวไนยฯ  ในขณะที่กอบกู้เวไนยฯ ก็บำเพ็ญพุทธบารมีให้เข้าถึงภาวะอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไปด้วย นั่นคือภาระศักดิ์สิทธิ์ของ "พุทธโพธิสัตว์"ที่ปฏิบัติบำเพ็ญเป็นเช่นเดียวกันเรื่อยมา 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พระธรรมาจารย์โปรดว่า "จะบรรลุอนุตตรโพธิญาณ จะต้องรู้ชัดจิตญาณตนโดยฉับพลัน ณ บัดใจ เห็นจิตญาณตน ไม่เกิดไม่ดับทุกขณะเวลา ทุกขณะจิตเห็นได้ในธรรมทั้งปวง โดยไม่มีอุปสรรคขัดข้อง หนึ่งจิตญาณจริง เข้าถึงสัจธรรมความเป็นจริง จะเห็นสรรพสิ่งล้วนเป็นสัจธรรมจริง จะอยู่ในภาวะใดจิตญาณก็เป็นภาวะตถตาไม่หวั่นไหว จิตใจที่ไม่หวั่นไหวนั่นคือ "ตัวแท้"ของจิตญาณหากรู้เห็นเช่นนี้ได้ นั่นคือ ภาวะอนุตตรโพธิญาณ
       ความหมาย...พิจารณา...
       ผู้มีภาวะจิตบริสุทธิ์พ้นจากอาสวะกิเลส เมื่อได้สดับวิถีจิต หรือมีนิมิตหนึ่งสกิดใจให้รู้ จะตื่นใจทันที โดยมิต้องพิจารณาวนหาจะเข้าถึงจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ เข้าถึงปัญญาญาณแท้บริสุทธิ์แห่งตนทันที ดังพุทธพจน์ว่า ""หนึ่งจริงแท้ ทุกอย่างจริงแท้"" หรือที่ว่า ""เอาทองทำภาชนะ ทุกภาชนะล้วนเป็นทอง"" ในเมื่อจิตบริสุทธิ์อยู่แล้ว ทุกสิ่งที่เกิดแต่จิต ก็ล้วนเป็นทองทั้งสิ้น จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร
       พระธรรมาจารย์โปรดนิเทศธรรมแก่เสินซิ่วแ้ล้วสั่งว่า "ท่านจงไปไตร่ตรองสักวันสองวัน แล้วเขียนโศลกมาใหม่หนึ่งบทให้เราดู หากโศลกของท่านเข้าถึงจิตภายใน จะมอบจีวรพงศาธรรมให้" เสินซิ่วกราบลาแล้วจากไป ผ่านไปอีกหลายวัน โศลกเขียนไม่สำเร็จ ในใจพะว้าพะวัง จิตประสาทไม่อาจสงบได้ เหมือนอยู่ในความฝัน นอนนิ่งไม่มีความสุข
       อีกสองวันต่อมา มีเด็กชายคนหนึ่งผ่านมาทางโรงตำข้าว พลางท่องโศลกนั้น ฮุ่ยเหนิงได้ฟังก็รู้ได้ว่าโศลกนั้น ยังเข้าไม่ถึงจิตญาณเดิมแท้  แม้ฮุ่ยเหนิงจะยังมิได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระธรรมาจารย์ แต่ก็รู้แจ้งแก่ใจก่อนอยู่แล้ว จึงเอ่ยถามเด็กชายว่า"ท่องโศลกใดหรือ" เด้กชายตอบว่า "เจ้าคนป่าคนเยิงนี้ ไม่รู้ที่พระเถระเจ้ากล่าวว่า "ความเป็นความตายของชาวโลกนั้นเป็นเรื่องใหญ"หากแม้ใคร่จะได้รับมอบหมายถ่ายทอดจีวรพงศาธรรม ศิษย์ทุกคนจะต้องเขียนโศลกมาให้ดู หากรู้แจ้งในจิตญาณตน ก็จะมอบหมายถ่ายทอดจีวรพงศาธรรมให้รับฐานะเป็นพระธรรมาจารย์สมัยที่หกสืบไป  พระเถระเสินซิ่ว เขียนโศลกนิรรูปไว้บนฝาผนังด้านใต้หน้าระเบียงธรรมศาลา พระธรรมาจารย์โปรดให้ทุกคนท่องโศลกนี้ บำเพ็ญตามโศลกนี้ ก็จะพ้นจากอบายภูมิ
       ความหมาย...พิจารณา...
       คำเรียกขานเด็กชายต่อท่านฮุ่ยเหนิง ทำให้รู้ความแตกต่างระหว่างผู้เข้าถึงจิตญาณตนหรือไม่อย่างไร ผู้เข้าถึงจิตญาณตน จะเห็นทุกชีวิตเสมอภาคกัน มิแบ่งแยกเหลื่อมล้ำต่ำสูง
       ในมหาปณิธานสิบของพระโพธิสัตว์สมันตะภัทระ  ปณิธานข้อที่หนึ่งคือ "จะให้ความเคารพนมัสการเหล่าพุทธะ" นั่นคือการบำเพ็ญจิตเสมอภาค "เคารพนมัสการเหล่าพุทธะ" คือ เคารพนมัสการเวไนยฯทั้้งหลายอันอาจบรรลุพุมธะได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุที่เหล่าเวไนยฯ ล้วนมีภาวะ "พุทธญาณ"  เป็นชีวิตจาก  "ธรรมญาณ"  แต่เดิมที  ผู้รู้แจ้งจิตญาณตนจะรู้ว่า ""ฟ้าดินต้นรากเดียวกัน สรรพสิ่งกำเนิดเดียวกัน"" เด็กชายยังไม่รู้แจ้งในจิตญาณตน จึงเรียกขานอย่างหยามเหยียดว่า ""คนป่า คนเยิง""
       ฮุ่ยเหนิง ได้ฟังดังนั้นจึงเอ่ยว่า "เราก็ใคร่จะท่องโศลกนี้ด้วย เพื่อผูกบุญสัมพันธ์ไปชาติหน้า ร่วมเกิดในพุทธภูมิ "อาวุโสท่าน""เราเหยียบกระเดื่องตำข้าวอยู่ตรงนี้แปดเดือนกว่า ยังไม่เคยเดินไปที่หน้าธรรมศาลาเลย ขออาวุโสท่านช่วยนำเราไปนมัสการตรงหน้าโศลกด้วย""
       ความหมาย...พิจารณา...
       แม้ฮุ่ยเหนิงจะรู้ว่าโศลกนั้นยังเข้าไม่ถึงภาวะรู้แจ้งจิตญาณ แต่ก็ยังมีความเคารพจะไปนมัสการโศลกนั้น ยังให้เกียรติเด็กชายว่าอาวุโสสูงกว่า แม้เด็กชายจะดูแคลนฮุ่ยเหนิงว่าคนป่าคนเยิงก็ตาม
       จากจุดนี้ก็จะเห็นได้อีกว่า ผู้รู้แจ้งจิตญาณจะยกย่องให้เกียรติแก่ทุกชีวิต

Tags: