collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยอริยา : คำนำ  (อ่าน 15581 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : คำนำ
« เมื่อ: 20/02/2012, 08:37 »
                                   ตามรอยอริยา 

                                      คำนำ

        ตำนานเรื่องราวในชีวิตของปราชญ์เมธาและอริยประวัติของพระผู้บรรลุธรรมเป็นเรื่องราวน่าสนใจสำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาทุกสมัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีหนังสือประเภทนี้มากมายในท้องตลาด  หนังสือ  "ตามรอยอริยา"  เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ออกตามมา แต่ออกตามมาเพื่อจุดประสงค์ให้ผู้บำเพ็ญเห็นถึงคุณธรรมความมุ่งมั่นอันสูงส่งในแง่มุมต่าง ๆ  เพื่อเป็นข้อคิดให้ได้  "ตามรอยอริยา"  กันมากกว่าแสดงรายละเอียดของชีวประวัติ

        อมตะพุทธะจี้กงพระอาจารย์เคยโปรดศิษย์ไว้ว่า  "เจ้าจะบำเพ็ญเพียร เริ่มแรกให้กำหนดใจว่า เจ้าจะเจริญรอยตามแบบอย่างพระองค์ใด"  เราอาจจะเจริญรอยตามไม่ได้ทั้งหมด เพราะต่างกันด้วยกาลเวลา  สถานะสภาพสิ่งแวดล้อม แต่นั่นคือ เรื่องราว  "ภายนอกตัว" แต่เราอาจเจริญรอยตามจนบรรลุได้เหมือนอย่างพระองค์ หากเราจะแน่วแน่จริงจังกับเรื่องของ "ภายในตัว" 

        "ภายในตัว"  คือคุณธรรมความมุ่งมั่น เอาคุณธรรมความมุ่งมั่นเป็นป้อมปราการต้านภัย อุปสรรคล้วนเป็นมายา เครื่องกีดขวางล้วนเป็นภาพลวงตา ผ่านเข้ามาแล้วก็ต้องผ่านพ้นไปเป็นธรรมดา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะทำอะไรเราไม่ได้เลย เพราะมันคือเรื่องของ  "ภายนอกตัว"  คิดได้ดังนี้แล้วจึงไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะ  "ตามรอยอริยา"  ไปไม่ถึง

                                                     ศุภนิมิต

                                               แปล และ เรียบเรียง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : สารบัญ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 20/02/2012, 08:42 »
                                 ตามรอยอริยา 

                                    สารบัญ

อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น

ปู้เจ้าโจวกง

บรมครูขงจื่อ

ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ

ท่านปราชญ์จวงจื่อ

พระบรรจารย์เป้าผูจื่อ

พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง

พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี๋ยน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 24/02/2012, 17:55 »
                            อริยกษัตริย์เหยา 

        "อริยภาพ"  ภายใน  "ศักดานุภาพ"  ภายนอก  เป็นอุดมคติสำหรับความเป็น "คน"  ของชาวจีนผู้มีคุณธรรมวัฒนธรรมตลอดมา จึงเป็นแบบอย่างเป็นเป้าหมายที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญข้างหลังพึงมุ่งใจศึกษษปฏิบัติตาม เพื่อช่วยให้จิตใสใจสว่างมี "อริยภาพ"  อีกทั้งสามารถอุ้มชูมวลชน ให้พ้นจากทุกข์ภัยให้ได้มากที่สุดด้วย "ศักดานุภาพ" ตั้งแต่โบราณกาลมา ไม่ว่าจะเป็นการ "เสริมสร้างบ้านเมือง" ของอริยกษัตริย์ หรือการ "เสริมสร้างคุณธรรมบำเพ็ญ"  ของบุคคลล้วนมุ่งใจในอุดมคตินี้ทั้งนั้น

        พระอริยเจ้า อริยบุคคลของจีนทุกสมัยนานนับห้าพันปี ได้สืบทอดอุดมคตินี้เรื่อยมาไม่ขาดสาย เรียกว่า "สืบต่อพงศาธรรม "เต้าถ่ง"  อริยกษัตริย์เหยาสืบทอดพงศาธรรมต่อไปให้แก่อริยกษัตรย์ซุ่น

        จากอริยกษัตริย์ซุ่นถึงอริยกษัตริย์อวี่
        จากอริยกษัตริย์อวี่ถึงกษัตริย์ทัง
        จากอริยกษัตริย์ทังถึงกษัตริย์เหวิน
        จากอริยกษัตริย์เหวินถึงกษัตริย์อู่
         จากกษัตริย์อู่ถึงโจวกง

        กษัตริย์เหวิน  อู่  และโจวกง  สืบทอดต่อไปถึงบรมครูขงจื่อ  ขงจื่อสืบต่อไป ... จนถึงเมิ่งจื่อ  แน่นอนการสืบต่อนั้น มิใช่สืบต่อโดยจากมือยื่นส่งให้ผู้รับช่วงอีกมือหนึ่ง  เหมือนส่งไม้รับลูกเบสบอลให้รับช่วงต่อไปอย่างนั้น  แต่เป็นการสืบทอดด้วยขวัญวิญญาณอันลุ่มลึกอยู่ในสายเลือด  ด้วยปณิธานหาญกล้ามุ่งมั่นจริงจังทุกขณะจิต   ด้วยอุดมการณ์สร้างสรรค์ไม่มีวันถดถอย  ด้วยมโนธรรมสว่างดุจตะวันเดือน ...  ความมุ่งมั่นอันเป็นหนึ่งเดียว สืบทอดเรื่อยไปไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เปรียบดั่งเติมฟืนต่อไฟ ที่เรียกว่า  "ฟืนไฟหมดไหม้ ฟืนใหม่สืบต่อ  ซินหั่วเซียง 

        ฉะนั้น  การนี้ จึงไม่ใช่อักขระจารึกประวัติศาสตร์ที่จะแสดงให้เห็นได้ทั้งหมด แต่จะเป็นทียอมรับประจักษ์ชัดด้วยจิตสัมผัสที่มีปณิธานการปฏิบัติบำเพ็ญเช่นเดียวกัน  อริยกษัตริย์เหยา สูงส่งงดงามด้วยคุณธรรมและกรุณาธรรมจนท่านขงจื่อต้องเทิดทูนจารึกพระกิติคุณไว้ว่า

         "ยิ่งใหญ่แท้ด้วย "เหยา "กษัตริย์ทรงปกครอง
ตระหง่านแท้ด้วยฟ้ากว้างใหญ่ไพศาล "เหยา" เป็นเช่นนั้น
ระบือนามแท้ด้วยทวยราษฏร์แซ่ซ้อง
สูงส่งงามสง่าแท้ด้วยคุณอันสำเร็จไว้
เจิดจรัสชัชวาลแท้ด้วยบทความตามจารึก" 

        ต้าไจ  เหยาจือเอว๋ยจวินเอี่ย เอว๋ยเอว๋ยฮู เอว๋ยเทียนเอว๋ย
ต้า เอว๋ยเหยาเจ๋อจือ ตั้งตั้งฮู หมินเหนิงหมิงเอียน เอว๋ยเอว๋ยฮู ฉี
เฉินกงเอี่ย ฮ่วนฮู ฉีโหย่วเหวินจัง 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 25/02/2012, 03:23 »
                              อริยกษัตริย์เหยา 

        จากข้อความดังกล่าวทำให้เรารู้ได้ว่า  "กษัตริย์เหยา"  มิใช่เป็นแต่ ปิยะมหาราชของประชาชนแต่เป็น "อริยเจ้า"  ของผู้บำเพ็ญ จากความเป็นผู้ให้ความเที่ยงธรรม เสมอภาคในการปกครอง  ให้มหาเมตตากรุณาคุณโอบอุ้มถึงดุจฟ้า  มองการณ์ไกล  ให้อนาคตสดใสร่มเย็นแก่บ้านเมือง  ให้คุณธรรมงามสง่าด้วยอริยลักษณ์เป็นแม่แบบไว้  เกือบห้าพันปีผ่านมา คำว่า  "ขอฟ้าใสเช้นสมัยอริยกษัตริย์  "เหยา"  จึงยังคงติดปากกันอยู่ทุกวันนี้  ท่านซือหม่าเซียนปรมาจารย์พงศาวดารจีน ก็ได้จารึกไว้ว่า

 "กรุณาธรรมท่านดุจฟ้า  ญาณปัญญาท่านดุจเทพ ฯ
ให้แก่ผู้รับดุจตะวัน  มองดูพลันดุจเมฆ
ร่ำรวยมิได้ผยอง  ไม่ลำพองสูงศักดา

ฉีเหยินยูเทียน  ฉีจือหยูเสิน
จั้วจือหยูยื่อ อวั้งจือหยูอวิ๋น
ฟู่เอ๋อปู้เจียว กุ้ยเอ๋อปู้จิน

        สรุปได้ว่า ในชั่วพระชนชีพที่ยืนยาวภึงหนึ่งร้อยยี่สิบ พระชันษาของพระองค์สูงส่งด้วยความ
 บริสุทธิ์ศรัทธา   
บำเพ็ญใจเที่ยงตรง
งามจริยธรรมสำรวมกาย
โอบอุ้มด้วยน้ำพระทัยรายรอบ
ปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรม
สร้างสรรค์สันติธรรมทั่วหล้า

เฉิงอี้  เฉิงซิน  ซิวเซิน  ฉีเจีย  จื้อกั๋ว  ผิงเทียนเซี่ย

        พระองค์ปฏิบัติคุณความดีดังกล่าวอย่างแท้จริง เป็นแบบอย่างที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญทุกคนพึงตั้งจิตศรัทธาจะเจริญรอยตาม  จริยธรรมของพระองค์อีกอย่างหนึ่งที่หาไม่ได้อีกในโลกปัจจุบัน คือ การ "สละบัลลังก์มหาสมบัติให้แก่ผู้มีคุณธรรม"  โดยมิได้ห่วงหวงไว้เลย  ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีราชบุตรถึงเก้าพระองค์ มีข้าราชบริพารที่เก่งกล้า  จงรักภักดีนับไม่ถ้วน  แต่คุณสมบัติที่พระองค์ต้องการคือ "คุณธรรมล้ำเลิศ"  เพราะนั่นหมายถึงความร่มเย็นเป็นสุขของปวงประชา  และการปลูกฝังคุณความดีให้แก่ทุกชีวิตต่อไปในอนาคต  พระองค์จึงเฝ้าเสาะหา พิจารณาเรื่อยมาว่า ผู้ใดสมควรจะเป็นผู้บำรุงรักษาประชาราษฏร์บ้านเมืองต่อไป 

        ราชบุตรตันจู ในพระองค์แม้จะมีคุณสมบัติด้านอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ด้านคุณธรรมยังสูงส่งไม่พอ ขุนนางผู้ชาญฉลาดที่รับราชการดีมาชั่วชีวิต ยังมีจิตริษยา มีความเห็นแก่ตัวแอบแฝงอยู่  ขุนนางอื่น ๆ แม้จะมีความสามารถปราดเปรื่อง แต่คุณธรรมมีจำกัด ไม่อาจเป็นผู้เสียสละได้อย่างแท้จริง  อริยกษัตริย์เหยา จึงเฝ้าเพียรหาคนดีที่จะทำเพื่อจะ  "ให้"  มิใช่ทำเพื่อจะ  "ได้"   จนในที่สุดก็ได้ค้นพบซุ่น บุตรยอดกตัญญู   เมื่อพระองค์จะยกบัลลังก์บ้านเมืองให้แก่ซุ่น แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร  พูดอย่างไร  ซุ่นก็ไม่ยอมรับไว้  ขณะนั้น ซุ่นอายุได้ ยี่สิบแปดปี 

        สุดท้ายด้วยประชามติทั่วบ้านเมืองอ้อนวอน  ร้องขอ  จนซุ่น ไม่อาจปฏิเสธได้อีก  จึงจำใจรับภาระปกครองบ้านเมืองพร้อมกับสืบต่อพงศาธรรมต่อไป  อริยกษัตริย์เหยา  ซุ่น  และอวี่  สืบต่อพงศาธรรม ตามรอยอริยกันมาด้วยขวัญวิญญาณที่ว่า
 "ใจคนหมิ่นเหม่  เป็นภัย มิให้ประมาท  มิให้ผิดพลาดด้วย โลภ  โกรธ  หลง   
ใจธรรมละเอียด  สุขุมคัมภีรภาพ พึงประคองรักษาไว้ให้เที่ยงแท้
 สุดยอดหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเสมอด้วยพุทธจิตนี้   
กำหนด  ณ  ศูนย์กลาง  นั่นคือ  ที่สถิตจิตเดิมแท้ธรรมญาณ

" เหยินซินเอว๋ยเอว๋ย เต้าชินเอว๋ยเอว๋ย เอว๋ยจิงเอว๋ยอี่ อวิ่นจื่อเจวี๋ยจง"   โศลกกบทนี้ จารึกในคัมภีร์ซูจิง  ในบท ต้าอวี่ม่อ

        แต่โบราณกาลมา สิ่งที่อรยปราชญ์แสวงหามิใช่อื่นใด มีแต่การชำระฝึกฝนจิตญาณให้สูงส่งบริสุทธิ์สว่างไสวเป็นสำคัญ  คนทั่วไปที่มิอาจเจริญรอยตาม ก็ด้วยกิเลสตัณหาราคะพาเพลิน จึงต่างตกต่ำถลำลง  คุณธรรมเป็นประภาคารท่ามกลางทะเลมนุษย์อันมืดมิด  จิตที่ใฝ่ดีจะอาศัยแสงสว่างจากประภาคารส่องทางให้ไปถึงจุดหมายแห่งการพ้นทุกข์ได้  อริยกษัตริย์เหยา จึงเฝ้าประคองรักษาคุณธรรมความดีทุกประการไว้ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                             ตามรอยอริยา 

                        อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น 

                            อริยกษัตริย์ซุ่น

        อริยกษัตริย์ซุ่น สืบเชื้อสายจากปฐมบรมกษัตริย์หวงตี้  เป็นลูกหลานรุ่นที่แปด พระองค์มีลักษณะพิเศษ คือ มีแก้วพระเนตรช้อนกันสองดวง  จึงมีพระนามว่า  "ฉงฮว๋า"  แปลว่า  "สุกใสช้อนดวง"  บิดาของท่านนามว่า กู่โสว  มารดาผู้ให้กำเนิดนามว่า  อั้วเติง  มารดารับรู้การปฏิสนธิของซุ่นได้จากรุ้งกินน้ำ   ให้กำเนิดซุ่น ณ เมืองเหยาหลู  ให้กำเนิดไม่นานก็ละสังขารจากไป  บิดาได้ภรรยาใหม่ื่ชื่อ  เยิ่นหนวี่  เป็นหญิงปากร้ายที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้  นางได้บุตรชายชื่อว่า เซี่ยง   บิดาหลงรักภรรยาใหม่และลูกใหม่ ไม่ชอบซุ่น  ซุ่นถูกสองแม่ลูกทรมานกลั่นแกล้ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นประจำ แต่จิตกตัญญูโดยกำเนิดของซุ่นอดทนรับได้ไม่เคยขัดเคือง   ซุ่นรับใช้ทำงานเพาะปลูกทุกอย่างในบ้าน มาเลี้ยงดูครอบครัวของบิดา  แต่กระนั้นก็ยังถูกริษยา ถูกทำร้ายจะให้ตาย 

        ซุ่นอายุได้ยี่สิบปี  ชื่อเสียงความดี  ความกตัญญูก็เลื่องลือไปทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว  คุณธรรมความสามารถของซุ่น เป็นที่ประทับใจของผู้คนมากมายจนถึงกับมีผู้ขอติดตามเรียนรู้คุณธรรมความดีงามทุกอย่างจากท่านกันเป็นขบวน  ชาวบ้านชาวเมืองต่างพากันหอบลูกหอบหลานมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ ถึงขนาดกลายเป็นชุมชนใหญ่ เหมือนหมู่ดาวที่รายล้อมดาวเหนือสุกอร่าม ดังคำที่ว่า  "ผู้มีคุณธรรมย่อมไม่โดดเดี่ยว  เต๋อเจ่อปู้กู"  เหตุนี้จึงทำให้อริยกษัตริย์เหยาค้นพบ "ซุ่น"  ได้ในเวลาต่อมา 

        ซุ่นอายุได้สามสิบปี  ยังไม่มีครอบครัว ซึ่งนับว่าสูงวัยมากสำหรับคนสมัยนั้น กษัตริย์เหยาจึงยกพระธิดาเอ๋อหวง กับ หนวี่อิง  ให้เป็นพระชายา  ให้ราชบุตรเก้าคนของพระองค์ศึกษารับใช้ซุ่น  โดยมิได้ถือว่า  "ซุ่น"  นั้นมาจากสามัญชน   ซุ่น ช่วยกษัตริย์เหยา ปกครองบ้านเมืองถึงสามสิบปี จนกระทั่งกษัตริย์เหยาถึงกาลกลับคืนไป  ซุ่นจึงสืบต่อพงศาธรรม ขึ้นครองบัลลังก์ ณ เมืองผูปั่น  เมื่อพระชนมายุได้หกสิบชันษา   
จากนั้นกษัตริย์ซุ่นได้แต่งตั้งอวี่  เป็นมุขมนตรี 
 แต่งตั้งชี่   ให้ดูแลการเกษตร 
แต่งตั้งชี่ อีกคนหนึ่ง   ดูแลอบรมคุณธรรมทั่วหน้า 
แต่งตั้งเกาเถา   ให้ดูแลระเบียบกฏหมายของบ้านเมือง
แต่งตั้งฉุย    ดูแลการพัฒนาก่อสร้าง
แต่งตั้งป๋ออี๋   ดูแลพิธีการ  วัฒนธรรมการศึกษา

        การเลือกสรรผู้รับผิดชอบดูแลงานบ้านเมืองล้วนเป็นไปตามความเหมาะสม แก่การทะนุบำรุงรักษาประชาราษฏร์เป็นสำคัญ  มิใช่ด้วยความโปรดปราณปฏิพัทธ์ต่อบุคคลเป็นที่ตั้ง  ดังนั้น จึงมีคำแซ่ซ้องสาธุการก้องฟ้าว่า 
"สมัยเหยาสงบ  ฟ้าสดใส     สมัยซุ่นอบอุ่น  เกษมศานต์    เหยาเทียนซุ่นยื่อ"   อริยกษัตริย์ซุ่น ดำเนินตามจริยธรรมการปกครองเยี่ยงอริยกษัตริย์เหยา สุดท้าย พระองค์ทรงมอบภาระอันศักดิ์สิทธิ์สำคัญแก่มุขมนตรีอวี่  ผู้อุทิศตนเพื่อบ้านเมืองอย่างจริงจังรับช่วงสืบต่อไป

        การถูกเคี่ยวกรำอย่างสาหัสสากรรจ์ที่อริยกษัตริย์ซุ่นต้องได้รับจากมารดาเลี้ยงและน้องชายต่างมารดา  เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจริง จึงขอยกตัวอย่างไว้ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจแก่กันและกัน

        ครั้งหนึ่ง มารดาเลี้ยงอยากกินฝักบัว จงใจใช้ให้ซุ่นซึ่งยังเป็นเด็กน้อย ว่ายน้ำไม่เป็น ไปเก็บที่บึงใหญ่ หวังให้เด็กน้อยจมน้ำตาย แต่เด็กน้อยมีจิตบริสุทธิ์ มีความกตัญญู  มีปฏิภาณ  เกาะแผ่นกระดานลอยคอไปเก็บมาจนได้  อีกครั้งหนึ่งที่มารดาเลี้ยงอยากแกล้งให้ซุ่นทุกข์ทรมาน เอากิ่งไม้หนามมีพิษแอบซ่อนในพุ่มหญ้าใต้ต้นลิ้นจี่ ให้เด็กน้อยซุ่นไปปีนต้นเก็บผลลิ้นจี่ เด็กน้อยไหวทัน ใช้บันไดพาดขึ้นไปเก็บลิ้นจี่มาให้  ลูกชายของมารดาเลี้ยงเองกลับซุ่มซ่ามจะชิงเอาหน้าเลยเหยียบหนามเสียเอง เจ็บปวดบางตาย  ซุ่นอีกนั่นเองรีบไปหาใบยาถอนพิษมารักษาน้องชายได้ทันท่วงที   มารดาเลี้ยงกลั่นแกล้งรังแกซุ่นเรื่อยมา  ครั้งหนึ่ง  วางแผนใช้ให้เด็กชายซุ่นขึ้นไปบนหลังคายุ้งฉางที่สูงมาก แล้วชักบันไดออก  วางเพลิงเผาโดยรอบ โชคดีเด็กชายซุ่นสวมหมวกฟางปีกกว้างอยู่ กระโดดตัวลอย มีลมวูบใหญ่พัดพาให้ร่อนลงสู่พื้นดินโดยปลอดภัย  อีกครั้งหนึ่ง  มารดาเลี้ยงใช้ให้เด็กชายซุ่น ลงไปล้างก้นบ่อหมักหมม แล้วผลักหินก้อนใหญ่ลงไป หวังจะทับให้ตายแล้วกลบหลุมเสีย เดชะบุญที่ก้นบ่อมีอุโมงค์ลอดออกมาได้

        ผู้สร้างคุณธรรม บำเพ็ญทุกยุคสมัยล้วนจะต้องฝ่าฟันวิบากกรรม ถูกทดสอบเคี่ยวกรำ แม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็ล้วนผ่านพ้นไปได้ จึงมิให้ท้อถอยหรือยอมแพ้แก่ใจตนเอง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : 2. ปู่เจ้าโจวกง
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 27/02/2012, 06:23 »
                             ตามรอยอริยา 

                          2.  ปู่เจ้าโจวกง

        "ก่อเกิดคุณธรรมคงไว้  ก่อเกิดสัจวาจาคงไว้  ก่อเกิดคุณประโยชน์คงไว้   ลี่เต๋อ  ลี่เอี๋ยน  ลี่กง"  การก่อเกิดให้คงไว้ซึ่งสามประการนี้ เรียกว่า  "สามอมตะคู้ฟ้า"  เป็นสามอมตะที่อริยปราชญ์ต่างมุ่งใจจะก่อเกิดให้คงไว้ในโลกกันทั้งนั้น อริยบุคคลที่ได้รับความสำเร็จในการประกอบกรรมดีทั้งสามนี้ได้ครบถ้วนอีกท่านหนึ่งซึ่งลำดับไว้ในกลอนคู่ตอนท้ายบท "เมิ่งจื่อ" ที่ว่า  "ขงจื่อการุณย์  เมิ่งจื่อมโนธรรม  โจวกงจริยา  กษัตริย์เหยาโปร่งฟ้า  ซุ่นประชาสันต์ ฮั่นวิชญา"   คำว่าโจวกงนั้นคือหมายถึงปู่เจ้าโจวกงนั่นเอง

        แต่โบราณมา  เหยา  ซุ่น  ขงจื่อ  เมิ่งจื่อ  โจวกง  ล้วนเป็นอริยปราชญ์ที่ชาวจีนให้ความเคารพสูงสุดทุกท่าน  ท่านบรมครูขงจื่อในสมัยต่อมา ได้   
เทิดทูนเกียรติคุณของปู่เจ้าโจวกงว่า

"อันจิตญาณท่ามกลางดินฟ้า  คน  สูงส่งกว่าอื่นใด
ความเป็นคน  ไม่มีที่ยิ่งกว่ากตัญญู
กตัญญูไม่มีที่ยิ่งกว่า  เทิดทูนยำเกรงบิดา
เทิดทูนยำเกรงบิดา  ไม่มีที่ยิ่งกว่าให้เสมอด้วยฟ้า
โจวกงถึงแล้วด้วยประการนี้...

เทียนตี้จือซิ่ง  เหยินเอว๋ยกุ้ย
เหยินจือสิง  ม่อต้าอวี๋เซี่ยว
เซี่ยวม่อต้าอวี๋เอี๋ยนฟู่
เอี๋ยนฟู่ม่อต้าอวี๋เพ่ยเทียน
เจ๋อโจวกงฉีเหยินเอี่ย"

        โจวกงผู้สูงส่งด้วยกตัญญุตาธรรม จึงได้กำหนดความเคารพห้าลำดับให้ชาวโลกได้สำนึกพระคุณอยู่เสมอ คือ ฟ้า  ดิน  จอมราช  บิดามารดา  ครูบาอาจารย์  เทียน  ตี้  จวิน  ชิน  ซือ   การปฏิบัติตนบำเพ็ญจิตของท่านบรมครูขงจื่อ ก็ถือเอาปู่เจ้าโจวกงเป็นแบบอย่าง อีกทั้งประทับใจไว้ไม่สร่าง จนหลายครั้งที่ท่านบรมครูรำพึงว่า  "น่าเสียดายนัก  ที่สังขารของเราแกโทรมไป  นานแล้วที่เราไม่ได้ฝันถึงโจวกงอีก  เซิ่นอี่  อู๋ไซวเอี่ย  จิ่วอี้อู๋ปู๋ฟู่เมิ่งเจี้ยนโจวกง"   โจวกงคือ  เจ้าปู่โจว  อนุชาของพระเจ้าโจวอู่อ๋วง  เป็นราชบุตรที่สองในจำนวนสิบพระองค์ ของพระเจ้าโจวเหวินอ๋วง  โจวกงเป็นลูกกตัญญูที่สุด  ปรีชาสามารถที่สุด  พระบิดาโปรดให้ครองแผ่นดินแคว้น  "โจว"  จึงได้ชื่อว่า  "เจ้าปู่โจวกง"  หรือปู่เจ้าโจวกง

        รัชสมัยพระเจ้าโจวอู่อ๋วงปีที่สอง การปราบปรามทรราชโจ้วเพิ่งเสร็จสิ้น บ้านเมืองยังไม่สงบ พระเจ้าโจวอู่อ๋วงวิตกกังวล จนประชวรหนัก จึงเรียกโจวกงเข้ามาสั่งการว่า  "ท่านเป็นอนุชาที่มีความสามารถมากและรับผิดชอบที่สุดของเรา ภาระใดไม่เสร็จสิ้นก็จะไม่ยอมพัก บัดนี้ หากเราจะมอบบ้านเมืองให้ปกครอง ขอท่านอย่าได้ปฏิเสธ เราจะได้วางใจทุกอย่าง บรรพบุรุษมอบหมายให้เราปกครองบ้านเมือง ก็เหมือน ชาวนาเพาะปลูก หากทำไม่สำเร็จ บรรพบุรุษเราจะได้รับการสักการะบูชาเสมอด้วยฟ้าได้อย่างไร ขอท่านจงรับไว้  มิฉะนั้นเราจะมิอาจประกาศคุณธรรมบารมีของบรรพบุรุษได้  ไม่อาจปลอบขวัฐพสกนิการได้  และไม่มีน้ำหน้าที่จะกลับไปพบบรรพบุรุษได้"  แม้พระเจ้าโจวอู่อ๋วงจะขอร้องอย่างไร โจวกงก็ไม่ยอมรับ อู่อ๋วงจึงจำใจแต่งตั้งให้ราชบุตรในพระองค์เองขึ้นเป็นรัชทายาท  โจวกงเห็นอาการประชวรของอู่อ๋วงน่าเป็นห่วง รัชทายาทซึ่งเป็นหลานก็ยังอ่อนเยาว์ เกรงบ้านบ้านเมืองจะวุ่นวายขาดเสียซึ่งพระเจ้าโจวอู่อ๋วง จึงเขียนใบคำขอ อธิษฐานต่อเบื้องบน ใบคำขอมีใจความว่า  "... อู่อ๋วง เชษฐาของข้าพเจ้าป่วยหนัก เบื้องบนคงจะประสงค์ให้พระองค์ขึ้นไปรับใช้ แต่บัดนี้ บ้านเมืองเพิ่งจะปฏิรูป มิอาจทิ้งงานไปได้  แต่ข้าพเจ้านั้น มิได้ทำการอันใด ว่างไว้เปล่าประโยชน์  เหมาะที่จะรับใช้เบื้องบน ซึ่งข้าพเจ้านั้นมีศิลปวิทยา  ทั้งร่ายรำขี่ม้ายิงธนู  ได้ฝึกฝนมาแต่น้อย จะพลอยทำให้ผีสางเทวดายินดีด้วย  จึงวอนขอต่อเบื้องบน ได้โปรดปล่อยเชษฐาของข้าพเจ้าไว้ นำข้าพเจ้าไปแทนเถิด"  เป็นเรื่องอัศจรรย์โดยแท้ หลังจากที่โจวกงอธิษฐานต่อเบื้องบนแล้ว อาการป่วยหนักของอู่อ๋วงก้หายเป็นปลิดทิ้งในช่วยเวลาข้ามคืน   การอธิษฐานวอนขอต่อเบื้องบนของโจวกง มิได้มีใครรู้เห็นเลย จนกระทั่งหลายปีต่อมา หลังจากสิ้นพระเจ้าโจวอู่อ๋วงแล้ว รัชทายาทขึ้นครองราชย์ใบคำขอนั้นจึงถูกพบเข้าโดยบังเอิญ

        คุณประโยชน์ที่โจวกงคงไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังอย่างใหญ่หลวง คือ สร้างระเบียบของความเปผ้นคนที่มีจิตสำนึก สร้างแบบแผนจริยธรรมกราบไหว้ฟ้าดิน บูชาพระอริยเจ้า  กราบไหว้บิดามารดาบรรพบุรุษ  ประเพณีงานศพงานมงคล  สร้างดนตรี  ศิลปะบันเทิง  เพื่อสมานใจผู้คนเป็นต้น  ในการสืบทอดพงศาธรรม ปู่เจ้าโจวกงสืบต่อจากพระเจ้าโจวเหวินอ๋วงภายหลังห้าร้อยปีจึงสืบต่อไปยังบรมครูขงจื่อ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : 3. บรมครูขงจื่อ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 27/02/2012, 07:02 »
                              ตามรอยอริยา 

                            3. บรมครูขงจื่อ

        มีคำกล่าวว่า  "หากฟ้ามิให้กำเนิดขงจื่อ  โลกคงเป็นรัตติกาลอันมืดมิด"  ก็ด้วยเกิดมีขงจื่อบรมครูจอมปราชญ์ ประวัติศาสตร์ห้าพันปีของประเทศจีน จึงได้มีประภาคารอันเจิดจรัส ฉายส่องความมืดสลัวของอดีตกาลให้กระจ่างชัด อีกทั้งส่องทางอนาคตแห่งสัจธรรมให้เห็นจุดหมายปลายทางได้ 

        ท่านบรมครูขงจื่อ นามว่า ชิว  นามรองจ้งหนี เป็นชาวหมู่บ้านชังผิง  เมืองหลู่  ในสมัยชุนชิว  อุบัติมาเมื่อก่อนคริสตศักราชห้าร้อยห้าสิบเอ็ดปี ความยิ่งใหญ่ของท่านคือ สามารถสืบต่อมรดกวัฒนธรรมสองพันห้าร้อยกว่าปี ก่อนหน้าที่ท่านจะอุบัติมา พร้อมกับเบิกทางวัฒนธรรมต่อไปอีกกว่าสองพันห้าร้อยปีหลังจากท่านมาจนถึงทุกวันนี้    ท่านจึงเป็นประภาคารที่ส่องสว่างอยู่ระหว่างอดีตกาลกับอนาคตกาล ท่านบรมครูได้เผยแผ่ปรัชญาแห่งอริยเจ้าตั้งแต่ครั้งโบราณมา สืบต่อพงศาธรรมไว้ให้ต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกัน 

        เมื่อท่านอายุได้สามสิบปี  บิดานามว่าข่งเหลียงเหอ ละจากโลกไป มารดาเอี๋ยนเจิงไจ้ เลี้ยงดูจนเติบใหญ่  ท่านขงจื่อฉลาด รู้ความเกินอายุ ชอบเลียนแบบการกราบไหว้เทพยดาฟ้าดิน กราบไหว้บรรพบุรุษอย่างผู้ใหญ่   

        อายุได้ห้าสิบปีก็มุ่งใจใฝ่ศึกษาธรรมเป็นอักษรศาสตร์เต็มกำลัง สิ่งที่ทำให้ใคร่ศึกษาที่สุดอย่างหนึ่งของท่านคือ จริยพิธีของราชวงศ์โจว ท่านเคยรับตำแหน่งผู้ช่วยงานพิธีการใหญ่ ท่านสนใจแม้แต่สิ่งเล็กน้อย  คอยถามไถ่ผู้รู้อยู่เสมอ จนถ่องแท้แน่ชัดต่อสิ่งที่เรียนรู้นั้น   ท่านบรมครูจัดตั้งโรงเรียนส่วนบุคคลขึ้นเป็นแห่งแรก รับสอนโดยไม่จำกัดฐานะ  เพื่อการสัมฤทธิ์ผลในอุดมคติ กอบกู้ชาวโลก ท่านจึงนำคณะศิษย์จาริกไปตามเมืองต่าง ๆ อบรมกล่อมเกลาตั้งแต่เจ้าเมืองจนถึงประชาราษฏร์ให้ใช้จิตอย่างผู้มีคุณธรรม  มีกรุณามโนธรรมจิตสำนึก 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : บรมครูขงจื่อ 2
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 28/02/2012, 09:21 »
                              ตามรอยอริยา 

                            3. บรมครูขงจื่อ

        เริ่มแรก  ท่านมาถึงเมืองฉี ขุนนางใหญ่นามว่าเกาเจาจื่อ นำเข้าพบฉีจิ่งกงฮ่องเต้ ท่านบรมครูขงจื่อแสดงธรรมทันทีว่า  "จอมราชต้องเป็นจอมราช  ขุนนางต้องเป็นขุนนาง  พ่อต่องเป็นพ่อ  ลูกต้องเป็นลูก  จวินจวิน  เฉินเฉิน  ฟู่ฟู่  จื๋อจื่อ"  ให้ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง หากรักษาตนทำตามหน้าที่ได้ดี สังคมจะมีแต่ความสงบสุข บ้านเมืองจะมั่นคง  เสียดายที่ฉีจิ่งกงได้แต่ชื่นชม แต่ไม่รู้จักใช้คนดีมีฝีมือ ท่านบรมครูขงจื่อจึงได้แต่ผิดหวังกลับมายังเมืองหลู่ของท่าน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทางราชการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นท่านอายุใกล้ห้าสิบปีแล้ว

        ปีที่ท่านอายุได้ห้าสิบเอ็ดปี ด้วยความใฝ่ศึกษาทั้งจริยพิธีและวิถีธรรม ท่านจึงอุตส่าห์เดินทางไกลพันลี้ไปยังเมืองโจว เพื่อขอคำแนะนำสั่งสอนจากท่านหลี่เอ่อ  (อริยปราชญ์เหลาจื่อ)  ในเวลานั้น ในสายตาของท่านผู้เฒ่าเหลาจื่อศรีษะขาวโพลนมองดูขงจื่อ ขงจื่อยังเพียงเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงเท่านั้น เมื่อถ่ายทอดธรรมะวิถีแห่งจิตให้แล้ว จึงแสดงธรรมย้ำสอนอีก จนทำให้ขงจื่อผู้ปราดเปรื่องเรื่องปัญญา รอบรู้ในปรัชญา  จริยธรรม ถึงกับน้อมเคารพสุดกายสุดใจ เมื่อกลับไปถึงบ้าน ท่านชื่นชมอาจารย์เหลาจื่อ โดยอุปมาให้แก่ิษย์ฟังว่า

        "นกนั้น  เรารู้ว่ามันบินได้เก่ง
ปลานั้น         เรารู้ว่ามันว่ายน้ำได้เก่ง
สัตว์นั้น         เรารู้ว่ามันเดินได้เก่ง
เดินเก่งยังอาจใช้ตาข่ายดักจับ
ว่ายน้ำเก่งยังอาจใช้แหดักจับ
บินเก่งยังอาจใช้ธนูยิง

        แต่สำหรับมังกรนั้น เราไม่อาจรู้ได้เลย เพราะมังกรอาจทะยานเมฆเหินลมสู่ฟ้าลึกลับ  พระวิสุทธิอาจารย์เหลาจื่อที่เราได้ไปเคารพนั้น ก็คือมังกร  มองเห็นส่วนหัวแต่มิอาจเห็นส่วนท้ายได้เลย"   คำอุทานชื่นชมของท่านบรมครูขงจื่อครั้งนี้ ก็คือประโยคที่ว่า  "วัยห้าสิบจึงรู้ชีวิตจากฟ้า"  ที่จารึกในหลุนอวี่  คัมมภีร์ธรรมะพิจารณ์"  นั่นเอง  และก็เป็นต้นกำเนิดของประโยคที่ปิติในธรรมว่า  "เช้าได้รับวิถีธรรม เย็นตายไม่ห่วงเลย" นั่นเอง

        ชั่วชีวิตในการแพร่ธรรมของท่านบรมครูขงจื่อต้องประสบกับมารทดสอบเคี่ยวกรำมากมายที่หนักหนามากมีสามครั้งคือ 

        ขณะที่ท่านเดินทางผ่านแคว้น  "ควง"  ด้วยเหตุที่ท่านบรมครูมีเค้าหน้าละม้ายกับ  "หยังหู่" ขุนนางอิทธิพลที่ชาวแคว้นควง มุ่งหมายจะเอาชีวิตอยู่แล้ว ฉะนั้น ท่านบรมครูจะชี้แจงอย่างไร เขาเหล่านั้นก็ไม่เชื่อ จนเกือบจะต้องเสียชีวิตไปในครั้งนั้น  โชคดีที่ศิษย์จื่อลู่ กับ เอี๋ยนหุย  ของท่านหาทางช่วยออกมาได้  เมื่อได้พบหน้ากัน ท่านบรมครูตื้นตันใจเรียกศิษย์เอี๋ยนหุย และกล่าวว่า  "นึกว่าเจ้าถูกฆ่าเสียแล้ว"  เอี๋ยนหุยน้ำตาคลอตอบว่า  "อาจารย์ท่านยังอยู่ ศิษย์ยังมิได้ปฏิการะจะกล้าตายง่าย ๆ ได้อย่างไร"   คำโต้ตอบระหว่างอาจารย์ศิษย์ประโยคนี้ ทำให้เห็น  "ข้อแกร่งแรงมุ่ง" ในการแพร่ธรรมที่ไม่ระย่อยั่นแม้ความตาย และสายสัมพันธ์ของศิษย์อาจารย์ที่มีมหาปณิธานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นดังนี้

        ครั้งที่สอง  ขณะท่านบรมครูแสดงธรรมอยู่ที่ธรรมศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ในเมืองซ่ง  ขุนนางกังฉิน "ซือหม่าหวนถุย" เกรงว่าธรรมจะขัดขวางการดำเนินงานทุจริตของตน จึงตั้งใจทำลายล้างต้นตอความสุจริตเสีย โชคดีที่ศิษย์ของท่านบรมครู รู้แผนชั่วร้ายนั้น จึงพากันหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด  ขุนนางกังฉินโกรธแค้นมาก รื้อธรรมศาลา  ตัดต้นไม้ใหญ่นั้น สั่งให้ลบรอยเท้าที่คณะแพร่ธรรมของท่านบรมครูเดินผ่านไปให้หมด แสดงความลบหลู่อริยปราชญ์อย่างถึงที่สุดทีเดียว

        ครั้งที่สาม  เมื่อท่านบรมครูแพร่ธรรมที่เมืองเฉิน ได้ระยะหนึ่งแล้วมีความคิดถึงบ้านเมืองจึงออกจากเมืองเฉิน ขณะมาถึงชายแดน จะเข้าเขตเมืองไช่เป็นจังหวะพอดีที่เจ้าเมืองอู๋ (อู๋หวังฟูชา)  ยกทัพมารุกรานเมืองเฉิน ท่ามกลางความโกลาหลนั่นเอง บ้านเมืองก็ถูกปิดล้อม คณะของท่านบรมครูต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย ต้องอดอาหารนานถึงเจ็ดวัน จนเจ็บป่วยหมดแรงไปทั้งคณะ  ศิษย์จื่อลู่คับแค้นใจกล่าวว่า "กัลยาณชนผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ยังจะต้องได้รับชะตากรรมถูกมารทดสอบติด ๆ กันอย่างนี้ด้วยหรือ"  ท่านบรมครูให้กำลังใจแก่ศิษย์ว่า  "ที่ต้องได้รับ ก็เพราะผู้ศึกษาธรรมเมื่อเข้าตาจน จึงจะแสดงให้เห็นถึงการสำรวมรักษาตนได้ดี หากเป็นคนจิตหยาบเมื่อประสบชะตากรรมก็จะเริ่มทำตามความพอใจอย่างผิด ๆ และเสียหายได้ทุกอย่าง" 

        ท่านบรมครูต้องสูญเสียบุตรชายคนเดียวเมื่อวัยหกสิบเก้า   สูญเสียเอี๋ยนหุยศิษย์เอกเมื่อวัยเจ็ดสิบเอ็ด   ต้องสูญเสียศิษย์จื่อลู่ที่เคียงข้างมานานเมื่อวัยเจ็ดสิบสอง  ความสะเทือนใจหนัก ๆ ถึงสามครั้งในวัยชรา ทำให้ท่านบรมครูล้มป่วย

        ก่อนคริสตศักราชสี่ร้อยเจ็ดสิบเก้าปี ด้วยวัยผู้สูงอายุเจ็ดสิบสามปี ท่านบรมครูสู้อุตส่าห์เดินทางไปดูซากศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ที่เคยแพร่ธรรมด้วยความทุ่มเทตลอดมาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านก็ละสังขาร ลาจากทุกคนไป  สรีระร่างของท่านบรมครูขงจื่อ ศิษย์ช่วยกันฝังไว้ที่ชายน้ำซื่อสุ่ย ด้านเหนือเมืองหลู่ศิษย์ทุกคนพร้อมใจกันไว้ทุกข์ให้บรมครูสามปี ด้วยความเคารพเสมอด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสมอด้วยบิดาตน 

        ครบกำหนดไว้ทุกข์ เฝ้าสุสานกันอยู่สามปีแล้ว ศิษย์ทุกคนเก็บสัมภาระเตรียมเดินทางกลับบ้านเมืองตน ทุกคนกราบคารวะสุสาน  โค้งคารวะอำลาจื่อก้ง ศิษย์ผู้พี่แล้ว ทันทีต่างก็น้ำตาพร่างพรูสะอื้นไห้ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก วันเวลาที่เคยอยู่ร่วมกันเมื่อครั้งที่ท่านบรมครูยังอยู่ได้จบสิ้นเสียแล้ว  เมื่อศิษย์น้องเดินจากไป  จื่อก้งวางสัมภาระลงดังเดิม กลับเข้าไปนั่งในเพิง ขออยู่เป็นเพื่อนท่านบรมครูอีกสามปี แล้วจึงกราบอำลาจากไปด้วยความอาลัยรัก ศิษย์์หลายพันคนของท่านบรมครู สำนึกพระคุณท่านอยู่ไม่คลาย แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีก็ไม่ลืมเลือนได้ จึงต่างมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ สุสานของท่านบรมครู จนมหาปริมณฑลนั้นกลายเป็นชุมชนใหญ่ได้ชื่อว่า  "ขงหลี่  ชุมชนขงหลี่" 

        ตลอดชีวิตของท่านบรมครูเป็นแต่ผู้ให้  ให้การอบรมกล่อมเกลาโดยไม่จำกัดฐานะยากจนต่ำต้อย  ให้การอบรมตามจริตวิสัยของแต่ละคน  ศิษย์ของท่านมีสามพันกว่าคน  ศิษย์เอกมีเจ็ดสิบสองคน  "ข้อแกร่งแรงมุ่ง"  ของท่านบรมครูยิ่งใหญ่สูงส่งเกินกว่าจะหยิบยกได้ทั้งหมด  ท่านกล่าวว่า 

        "กัลยาณชนกินมิหวังเพื่ออิ่ม  อยู่มิหวังเพื่อสบาย 
กัลยาณชนให้ความสำคัญต่อมโนธรรมสำนึก 
คนจิตหยาบให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ฝ่ายเดียว
ร่ำรวยสูงศักดิ์จากการขาดมโนธรรมสำนึกนั้นบางเบาดังเมฆสำหรับเรา 
ผู้มีจิตมุ่งมั่น  ผู้มีจิตการุณย์ธรรม ไม่หวังอยู่รอดจากการผิดต่อการุณย์ธรรม  มีแต่จะยอมตายเพื่อบรรลุต่อการุณย์ธรรม"     

จวินจื่อสืออู๋ฉิวเป่า จวีอู๋ฉิวอัน
จวินจื่ออวี้อวี๋อี้ เสี่ยวเหยินอวี้อวี๋ลี่
ปู๋อี้เอ๋อฟู่เฉี่ยกุ้ย อวี๋หว่อหยูจิ้งอวิ๋น
จื้อซื่อเหยินเหยินอู๋ฉิวเซิงอี่ไฮ่เหยิน โหย่วซาเซินอี่เฉิงเหยิน

หมายเหตุ   เหยิน  การุณย์ธรรมยังหมายถึง  "แก่นแท้ของชีวิต"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : 4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: 28/02/2012, 09:52 »
                               ตามรอยอริยา 

                         4  ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ

        นับแต่ครั้งโบราณมา ท่านจอมปราชญ์ขงจื่อกับศิษย์เมิ่งจื่อ  "ปราชญ์เจริญรอยอริยธรรม"  จะได้รับการเทิดทูนอยู่ในระดับเดียวกันเสมอ จะเห็นได้จากกลอนคู่ที่ติดไว้สองข้างประตูใหญ่ข้างบ้านหรือสถานที่สำคัญในวันตรุษจีนที่ว่า 

"ขงจื่อการุณย์  เมิ่งจื่อมโนธรรม  โจวกงจริยา
กษัตริย์เหยาโปร่งฟ้า  ซุ่นประชาสันต์  ฮั่นวิชญา"

ข่งเหยินเมิ่งอี้โจวหลี่เอวี้ย
เหยาเทียนซุ่นยื่อฮั่นเหวินจัง" 

        ขุนนางวีรชนผู้ยิ่งใหญ่คือ ท่าน "เหวินเทียนเสียง"  ผู้มีพลังเที่ยงธรรมพุ่งฟ้า เขียนหนังสือตาลาย ยังได้ยกเอาพระวจนะของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อกับท่านเมิ่งจื่อเป็นเกียรติคุณในการพลีชีพเพื่อจรรโลงคุณธรรมไว้ว่า

ขงจื่อว่า  พลีชีพ - ลุ กรุณา     เมิ่งจื่อว่า  มโนมั่น  บรรลุได้
ถึงที่สุด แห่งธรรม มโนไชร์     จึงได้ ชื่อว่า  การุณย์
เรียนรู้ คัมภีร์ อริยะ               เพื่อจะ  การใด ได้หนุน
แต่นี้ ต่อไป ใครทูน              วนจะคุณ มิให้ ได้อาย

ข่งเอวียเฉิงเหยิน                 เมิ่งเอวียฉวี่อี้
เอว๋ยฉีอี้จิ้น                        สัวอี่เหยินจื้อ
ตู๋เซิ่งเสียนซู                      สั่วเสวียเหอซื่อ
เอ๋อจินเอ๋อโฮ่ว                    ซู่จี่อู๋คุ่ย

        ชั่วชีวิตของท่านเมิ่งจื่อมุ่งมั่นจะจรรโลงวิถีแห่งปราชญ์  จากข้อความพลีชีพเพื่อจรรโลงคุณธรรมดังกล่าวข้างบนก็ได้ประจักษ์ว่า ท่านเมิ่งจื่อได้ทำความมุ่งมั่นนั้นเป็นความจริงแล้ว  ยิ่งกว่านั้น ยังมีประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันอีกว่า  ในจำนวนศิษย์สามพันคนของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อนั้น เจ็ดสิบสองคนเป็นเอกเมธา แต่คุณธรรมความสามารถยังถูกจำกัดอยู่ที่เป็นกัลยาณชนในการใฝ่ธรรม สุขสมานในธรรม สวดท่องพระคัมภีร์ หมั่นศึกษา สำรวมในจริยธรรม เข้าถึงหลักสัจธรรมเท่านั้น  พูดให้ชัดเจนก็คือ ท่านเหล่านั้นทำได้แค่ระดับเป็นศิษย์ที่เคารพเชื่อฟังท่านบรมครู เป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติตนให้เป็นคนดีเท่านั้น  แต่สำหรับการจรรโลงปรัชญาคำสอนของท่านบรมครูให้แพร่หลายยาวไกล คุณสมบัติของท่านเหล่านั้นยังไม่ถึงขั้น  แม้ท่านเอี๋ยนหุย ซึ่งเป็นศิษย์เอกในการจรรโลงจริยธรรมในสมัยนั้น ซึ่งปราดเปรื่องจนมีสมญาว่า  "รู้เพียงหนึ่งจะรู้ไปถึงสิบ"   "สามเดือนไม่เคยผิดต่อแก่นแท้ความดีงาม"  หากท่านจะมีชีวิตยาวนานถึงร้อยปีได้ก็ตาม ความสามารถก็จำกัดอยู่แค่เป็นผู้รู้แจ้งในสัจธรรมเท่านั้น  แต่ในส่วนของการจรรโลงธรรมสงเคราะห์ชาวโลกนั้น เกรงว่าพลังของท่านเอี๋ยนหุยยังแกร่งกล้าไม่พอ

        โชคดีที่โลกนี้มีท่านปราชญ์เมิ่งจื่อถืออุบัติตามมา วิถีอนุตตรธรรมสายปราชญ์จากท่านบรมครูจึงได้แพร่ขยายยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้  ท่านเมิ่งจื่อไม่เพียงแต่สานแก่นแท้ปรัชญาในศาสนาปราชญ์ของท่านบรมครูขงจื่อเทานั้น  ยังได้แพร่ธรรมคำสอนไปสู่ผู้คนมากมายเกินกว่าคณานับ  ที่สำคัญคือ สามารถทำให้เจ้าเมือง ผู้มีอำนาจราชศักดิ์ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ยอมรับและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของท่านบรมครูขงจือได้

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ตามรอยอริยา : 4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: 1/03/2012, 14:03 »
                               ตามรอยอริยา 

                         4  ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ  2

        แน่นอน ไม่ว่ายุคสมัยใด บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในบ้านเมืองล้วนมีอิทธิพลต่อการแพร่ธรรมทั้งสิ้น  ในส่วนนี้ ท่านเมิ่งจื่อเข้าถึงและสามารถทำได้จนเจ้าเมืองหลายพระองค์สำนึกกลับใจ ในการกระทำที่ผ่านมา อีกทั้งขอให้ท่านเมิ่งจื่อแสดงธรรมเตือนใจอยู่เสมอ มีคำถามว่า  "ท่านเอาความกล้ามาแต่ใด"  ท่านตอบว่า "ความกล้าของข้าพเจ้ามาจากพลานุภาพเที่ยงธรรม   ( เฮ่าหยันเจิ้งซี่ )  ที่ประจุอยู่เต็มในท่ามกลางฟ้าดิน และมาประจุอยู่เต็มในกายใจของข้าพเจ้า"  "มหาพลานุภาพเที่ยงธรรม  ( เฮ่าหยันเจิ้งซี่ )  เป็นพลังอันเป็นที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่  ที่สุดแห่งความแกร่งกล้าคงตัว... ภาวะนั้น เกิดจากทำนองคลองธรรมที่สั่งสมมาช้านาน พลังนั้นผสานด้วยมโนธรรมกับสภาวธรรมควบคู่กันไป หากคิดผิดทำผิดไปจากจิตบริสุทธิ์เดิมแท้เพียงวูบเดียวพลานุภาพจะอ่อนกำลังลง เมื่ออ่อนกำลังลงก็จะสลายตัวไป

        ท่านเมิ่งจื่อจึงเป็นหนึ่งในมหาบุรุษนับพันในประวัติศาสตร์ จีนที่มีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของฮ่องเต้  เจ้าเมือง และผู้มีอำนาจราชศักดิ์มากมายโดยไม่สั่นคลอน  ท่านเมิ่งจื่อถืออุบัติมา ณ มณฑลซันตง  อำเภอโจว  ซันตางโจวเซี่ยน  ห่างจากบ้านของท่านบรมครูเพียงยี่สิบกว่าเมตรเท่านั้น จึงได้ยินได้ฟังกิตตติศัพท์ความสูงส่งของท่านบรมครูมาตั้งแต่เยาว์วัย จิตใจจึงมุ่งมั่นทะยานอยากที่จะเจริญรอยตาม เมื่อได้มาเป็นศิษย์ศึกษากับปราชญ์จื่อซือ ซึ่งเป็นหลานของท่านบรมครู ยิ่งเป็นแรงส่งให้ความมุ่งมั่นนั้นทะยานไกล  มีคำกล่าวว่า พื้นฐานความสำเร็จส่วนหนึ่งของชีวิตสร้างด้วย "เมื่อเล็กมีบิดามารดาดีเมื่อศึกษามีครูบาอาจารย์ดี  เมื่อเติบใหญ่ได้เพื่อนดี "  ท่านเมิ่งจื่อได้พร้อมทุกประการ  มารดาของท่านย้ายบ้านถึงสามครั้ง  เพื่อปลูกฝังนิสัยความเคยชินที่ดีให้แก่บุตร  มิให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย

        ท่านเมิ่งจื่อกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุได้สามปี  อาศัยอยู่ที่บ้านเชิงเขากับมารดาตามลำพัง ที่เชิงเขาเป็นสุสาน มีผู้มาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณและฝังศพบ่อย ๆ เด็กน้อยเมิ่งจื่อได้เห็นได้ฟังก็จดจำมาแสดงที่บ้านจนมารดาท่านวิตกว่า อนาคตของลูกคงไปได้ไม่ไกลเป็นแน่ จึงจัดการย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ตลาด  ต่อมาไม่นาน เด็กน้อยเมิ่งจื่อก็จดจำทำท่านัยน์ตาวาวเมื่อเห็นเงิน จำเสียงตะโกนโหวกเหวกซื้อขายมาแสดงที่บ้าน มารดาท่านก็ต้องย้ายบ้านอีกครั้งหนึ่ง (บางตำรากล่าวว่า เด็กน้อยเมิ่งจื่อเลียนแบบคนฆ่าหมู)  ครั้งนี้ย้ายบ้านมาอยู่ใกล้โรงเรียน ใกล้ผู้มีการศึกษา นักศึกษามีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีพิธีการไหว้ครูอันสง่างาม  เด็กน้อยเมิ่งจื่อก็จดจำทำตาม ครั้งนี้เป็นที่พอใจของมารดายิ่งนัก  มารดาหวังจะให้บุตรมีคุณธรรมการศึกษา จึงสู้อุตสาห์ทอผ้าทั้งวัน เพื่อหารายได้ให้เป็นค่าเล่าเรียน  วันหนึ่ง เด็กน้อยเมิ่งจื่อเกิดเบื่อหน่ายหนีเรียนกลับบ้านก่อนเวลา  มารดาใช้กรรไกรตัดผ้าบนฮูกที่ยังทอไม่เสร็จให้บุตรได้สำนึกรู้  จากนั้นเป็นต้นมา เด็กน้อยเมิ่งจื่อไม่กล้าหนีเรียนอีกเลย  อีกทั้งมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาจนกระทั่งเจริญวัย มารดาไม่เพียงให้การศึกษาแก่บุตรเท่านั้น ยังอบรมคุณธรรมจริยธรรมทุกกรณี  ค่านิยมของคนโบราณ ต้องการบุตรหลานไว้สืบสกุล มารดาท่านจึงตกแต่งลูกสะใภ้ให้บุตร  วันหนึ่ง ท่านเมิ่งจื่อกล่าวแก่มารดาว่า "ลูกไม่ต้องการภรรยาที่ไม่มีจริยาเช่นนี้"  มารดาถามว่า "นางทำอะไรผิดไปหรือ"  "นางผลัดผ้าอยู่ในห้อง ลูกเดินเข้าไป นางไม่แอบเร้น เช่นนี้คือไม่รักษาคุณสัมพันธ์ห้า"  ( คุณสัมพันธ์ห้า อู่หลุน ข้อที่สาม หญิงชายให้จำแนก รู้การอันควรต่อกันด้วยจริยธรรม )  มารดาถามอีกว่า "ลูกได้เคาะประตูให้สุ้มเสียงก่อนหรือไม่"  "มิได้"   "ถ้าเช่นนั้นเป็นความผิดของลูกเอง จะไปโทษนางได้อย่างไร"  มารดาสอนอีกว่า "ในคัมภีร์จริยธรรมจารึกไว้ว่า

 "ก่อนเข้าประตูถามว่ามีใครอยู่ 
ก่อนเข้าห้องโถง   ต้องให้สุ้มเสียง 
ก่อนเข้าชายคา ต้องก้มสายตาลงต่ำ

เจียงยู่เหมิน  เวิ่นเสยฉุน
เจียงซั่งถัง  เซิงปี้หยัง
เจียงยู่ฮู่  ซื่อปี้เซี่ย"

        จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เห็นความเคร่งครัดต่อจริยธรรมของท่านเมิ่งจื่อ  และความละเอียดต่อจริยธรรม คุณธรรมที่มารดาเฝ้าอบรมบุตรทุกกรณี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2/03/2012, 09:21 โดย jariya1204 »

Tags: