collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ศรัทธาแปด : คำนำ  (อ่าน 9250 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : คำนำ
« เมื่อ: 8/02/2011, 02:50 »

              คำนำ

        ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเบื้องบนทรงปรกโปรดประทานวิถีธรรม พระบรรพจารย์  พระธรรมาจารย์  พระธรรมจาริณีโปรดกอบเกื้อแผ้วถางเสริมสร้างหนทางธรรม ท่านเหล่าเฉียนเยิน ท่านเฉียนเหยิน ได้โปรดอุทิศชีวิตอุ้มชูเรา...วันนี้ เราทั้งหลายจึงมีโอกาสได้เดินอยู่บนหนทางสว่างที่พรั่งพร้อมแล้วทุกอย่างด้วยความภาคภูมิใจ  สุขใจ  มั่นใจ...บนหนทางสายนี้ หากเราพิจารณากันให้ดีดี เราจะสัมผัสกำซาบใจได้ว่า ทุกตารางนิ้วของพื้นผิวถนนอันราบเรียบนั้นปูลาดด้วยรอยยิ้มของพระองค์ที่ดำเนินนำทาง เป็นรอยยิ้มชื่นชมผู้น้อยที่ดำเนินตามอย่างสุขุมงดงาม และเป็นรอยยิ้มขมขื่นเศร้าสลด ที่เห็นผู้น้อยเดินปัดเป๋เฉไฉ...บนหนทางสายนี้ หากเราพิจารณากันดีดี เราจะสัมผัสกำซาบใจได้ว่า ทุกตารางนิ้วที่อยู่ใต้พื้นผิวถนน คือหินปูนทรายที่ผสมด้วยสายเลือดหยาดเหงื่อและน้ำตาของพระองค์ ที่กอบเกื้อเอื้ออาทรต่อชีวิตของเราคนรุ่นหลัง... หนทางสายนี้ยังจะต้องรองรับสาธุชนคนรุ่นหลังอีกมากมายไม่ขาดสาย โดยมีคนรุ่นนี้คือเราทั้งหลายเดินนำอยู่ข้างหน้า เราจึงควรรักษาแนวทางของผู้อาวุโสไว้ให้เที่ยงตรง ราบเรียบ  งดงาม  อย่าทำให้หนทางสายนี้ ต้องเสียหายไปกับรอยเท้าโอหังไม่ชั่งใจของเรา
      ระยะนี้มีข้อทดสอบมากมายบนหนทางสายนี้ ผู้ที่สุขุมมีวิจารรญาณปัญญาก็จะฟันฝ่าผ่านพ้นไปได้ ผู้ที่มีความโลภ โกรธ หลง แน่นหนา ก็คงจะต้องผจญวิบากต่อไป ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้รีบแปล - เรียบเรียง "ศรัทธาแปด" ออกมา เพื่อเตือนตนและพี่น้องผู้ร่วมบำเพ็ญ โดยหวังว่าพอจะเป็นกระจกเงาส่องให้เห็นรอยเท้าของเราเอง จะได้ประคองตนให้เดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ
                                                                        ศุภนิมิต

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : คำนำ (ปาเฉิง)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 8/02/2011, 03:14 »

     ศรัทธาแปด (ปาเฉิง)  ได้รับธรรมะคือ ได้รับการเบิกจุดสถิตจิตญาณของตน ได้รับรู้ความมีอยู่ของธรรญาณชีวิตอมตะแห่งตน ได้รับรู้พุทธะภาวะเดิมที ที่มีอยู่มในธรรมญาณและจิตเดิมแท้แห่งตน  ได้รับรู้หนทางตรงที่จิตญาณจะผ่านพ้นโลกต่ำ คุณวิเศษสูงสุดที่เบื้องบนโปรดประทานให้จากการได้รับธรรมะ มิใช่รับรู้กันโดยการ่ำเรียน หรือบอกกล่าวเล่าขาน แต่รับรู้ได้ด้วยจิตเดิมแท้ของตนเอง เมื่อจิตเดิมแท้รับรู้ตื่นตัวในความเป็นธรรมะแห่งตน พุทธะภาวะในจิตเดิมแท้ได้ฟื้นฟูปรากฏจิตศรัทธาจึงท่วมท้น...จิตศรัทธาเป็นแรงผลักดันให้เกิดความ "มุ่ง" และ "มั่น" ท่านที่เจริญธรรมและบรรลุธรรมล้วนเริ่มจาก "ศรัทธา" และ "มุ่งมั่น"  มุ่ง คือ ก้วนหน้าเดินไป  มั่น คือ มั่นใจในสิ่งที่ศรัทธานั้นว่าถูกต้องสมควรแล้ว  มั่น คือ มั่นหมาย ในสิ่งที่ศรัทธานั้นว่าจะก่อเกิดคุณประโยชน์แท้จริงได้ และ มั่น คือ มั่นคง แน่วแน่ในอันที่จะมุ่งไปสู่จุดหมายที่ตนเองศรัทธานั้นว่าถูกต้องสมควรแล้วนั้น
     ศรัทธามุ่งมุ่นปฏิบัติบำเพ็ญ จะต้องเดินตรงไปบนเส้นทางของสัจธรรมที่ท่านผู้บรรลุแล้วได้เดินมาก่อน ความศรัทธามุ่งมั่นนั้น จึงจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ หากผิดเพื้อนไปจากนั้น ทางที่มุ่งไปก็จะสับสนวกวนไม่ถึงที่หมายได้ และหากความ มั่นใจ มั่นหมาย มั่นคง ที่ผิดเพื้อนนั้น มีความโลภ โกรธ หลง แน่นหนา มีทิฐิแรงกล้า ความศรัมธามุ่งมั่นนั้น จะยิ่งเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวง ผู้ได้รับธรรมะแล้ว จึงควรพิจารณาความศรัทธาของตนว่า ศรัทธานั้นเป็นเช่นไรมุ่งมั่นตรงต่อหลักสัจธรรมหรือไม่ เพียงไร ท่านแบ่งศรัทธาออกเป็นแปดระดับดังนี้คือ :

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาขาดปัญญา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 8/02/2011, 09:52 »

       1. ศรัทธาขาดปัญญา  : ไม่รู้ชัดสัจธรรม หลงตามหลงบำเพ็ญ  (อวี๋เฉิง :  ปู้หมิงเจินหลี่  อวั้งฉงอวั้งซิว)

     ศรัทธาระดับนี้ มักจะหูเบา ใจเบา  ชอบฟังคำล่ำลือ  ใครพูดอะไร  บอกอะไร  ก็จะเชื่อไปหมดและจะถ่ายทอดสิ่งที่รู้มาให้แก่ผู้อื่นด้วยความมั่นใจ โดยไม่ไตร่ตรอง เห็นอะไรก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสียหมด แม้แต่คนอุตริแสดงอาการเหมือนเจ้าเข้า ยังไม่ทันดูให้ถนัด ก็ยกมือท่วมหัวก้มกราบก่อนใคร ๆ ศรัทธาระดับนี้ ความคิดโลเลเลื่อนลอยคล้อยตาม เอาแน่ไม่ได้ ไม่มีจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติบำเพ็ญอย่างแน่ชัด มั่นคง ไม่มีความคิดวิจารณญาณของตัวเองอย่างต่อเนื่องถึงที่สุด เช่น ชอบอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ชอบเดินทางเที่ยวได้ไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่โน่นที่นี่ ชอบดูการทรงเจ้าเข้าผี ขอหวย  ดูชะตาราศี ชอบเครื่องรางของขลัง ใครชักชวนไปไหนถ้าชอบใจ จะใกล้จะไกลอย่างไรก็ไม่ปฏิเสธ
     เมื่อใครชักชวนให้มารับธรรมะ เขาว่าดีก็มาตามเขา เชื่อว่าดีตามที่เขาชี้ชวน เมื่อไรที่เขาบอกว่าไม่ดี ก็เห็นว่าไม่ดีตามที่เขาวิจารณ์อีก ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจหลักสัจธรรมด้วยตนเอง หรือได้เข้าศึกษาแต่ก็ไม่เข้าใจ ไม่พยายามจดจำทำความเข้าใจ ฟังไปหลับไป คิดอะไรเรื่อยเปื่อยนานไปก็เกิดความเบื่อหน่าย พอมีใครมาบอกกล่าวเล่าขาน มาชักจูงนำพาว่าที่โน่นที่นั่นมีดีกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เชื่อฟังตามเขาไปอีก บ้างก็เพลิดเพลินศรัทธา เพราะอยู่กับผู้คนมากหน้าหลายตาในสถานธรรม เพลิดเพลินอยู่กับอาหารการกินอร่อย ๆ แปลก ๆ ที่กินฟรีโดยไม่จำกัดปริมาณ เพลิดเพลินเจริญใจกับที่ได้รับการต้อนรับเอาใจใส่ ได้พูดได้คุย
    ศรัทธาระดับนี้มีความหลงเพลิดเพลินเป็นแรงนำ จึงชอบที่จะทำอะไรก็ได้ที่ตนเองรู้สึกมีความสุขสบายใจ ศรัทธาระดับนี้ หากมีนักธรรมที่มีความพร้อมประกบตัวใกล้ชิดดูแลอุ้มชูตลอดเวลา ก็อาจนำพาให้ไปรอดได้ จะนำพาได้ง่ายกว่าศรัทธาย้อนยอกกลอกกลิ้ง และศรัทธาเสแสร้งหลอกลวง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาหลงผิด
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 9/02/2011, 08:43 »

             2. ศรัทธาหลงผิด  : หวังอภินิหาริย์บันดาลให้ วาดภาพเพ้อฝัน อยากเห็นสิ่งมหัสจรรย์
                    เสียเฉิง       : ทันฉิวเซียนฝอ  ฮ่วนซือฉีอิ่ง

      ศรัทธาระดับนี้ มีปัญญาและความกล้ามากกว่าระดับแรก เพราะมีความมุ่งหมายใคร่ได้ ใคร่รู้ ใคร่ดู ใคร่เป็น อีกทั้งยึดติดในสิ่งที่ได้ สิ่งที่รู้ สิ่งได้ดู สิ่งได้เป็น บางคนยึดติดจริงจังเหมือนดูหนัง ดูละคร จนพาตัวเข้าไปมีบทบาทด้วย ศรัทธาหลงผิดอย่างนี้ จึงทำให้บางคนถึงกับเคลิ้มไปเหมือนกับระลึกชาติได้ ว่าตนนั้นเป็นพระภาคของพระองค์นั้นองค์นี้ จึงเกิดมีพระองค์นั้นองค์นี้เข้ามาใช้ร่างนั้นร่างนี้ให้เห็นอาการแปลก ๆ อยู่เสมอ บางคนศรัทธาชื่นชมต่อบุคคล ชื่นชมต่อนักธรรมผู้ใหญ่ บางคนถึงกับหลงใหลใฝ่ฝันอยากพบ อยากเห็น อยากสนิทชิดใกล้ แต่เมื่อได้ยินคำตำหนิวิจารณ์ คำนินทาเบื้องหน้าเบื้องหลังของท่านผู้นั้นจากคนโน้นคนนี้หนาหู หลายปากมากเสียง จิตใจก็ชักเอนเอียง ศรัทธาความชื่นชมก็เริ่มเสื่อมถอย คล้อยตามคำล่ำลือ ใจคอห่อเหี่ยวผิดหวังค้างใจไปนาน  ศรัทธาชื่นชมต่ออาณาจักรธรรมหรือกลุ่มบุคคลที่จริงใจอุทิศตนปฏิบัติธรรมส่งเสริมนำพาสาธุชนให้ขึ้นฝั่งธรรมกันมากมาย แต่หากเข้าใจว่ามีใครคนใดคนหนึ่งในหมู่เหล่านั้น แสดงสายตา กิริยาวาจา อาการกระทบกระทั่ง เหยียดหยาม ล่วงเกิน ละเลย เฉยเมย ไม่สนใจใยดี ตำหนิติเตียน...ก็จะน้อยใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ขัดเคือง...เสื่อมศรัทธาพาลเกลียดชังไปทั้งหมู่คณะ หากมีใครเป่าหูเป็นคู่ปรับทุกข์ เออออเห็นใจ ยุแหย่ใส่ไคล้ร่วมด้วยก็จะไปกันใหญ่ พาลเหมาเอาว่ากลุ่มบุคคลที่น่าศรัทธาชื่นชมนั้น น่าเกลียดน่าชังไปทั้งหมด บางคน ศรัทธาชื่นชมต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระอนุตตรธรรมเจ้า พระพุทธะ พระโพธิสัตว์..เคยอธิษฐานวอนขอสิ่งใดก็ได้สมประสงค์ จะเป็นขอลาภขอผล ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย หายป่วยหายไข้ ขอตำแหน่งการงาน ขอให้สอบได้ ขอให้สามีภรรยากลับมาคืนดี ขอให้มีลูกชายไว้สืบสกุล ขอให้เปียวแชร์ได้ กู้หนี้ยืมสินได้...ศรัทธาชื่นชมเพราะเคยได้ตามที่ขอ แต่พอผิดหวัง ไม่ได้ตามที่ขอ หรือชะตาชีวิตเกิดพลิกผันเสียหาย เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บล้มตาย ก็จะน้อยใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ขัดเคืองแค้นใจ...เสื่อมศรัทธา...ก็จะตัดพ้อต่อว่าหรือเลิกราจากไปและอีกทั้งยังลบหลู่ตลบหลังตามมา บางคน ศรัทธาต่อพระมหากรุณาธิคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่กล้าอยู่ในห้องพระตามลำพังคนเดียว โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ศรัทธาชื่นชมต่อปรากฏการณ์มหัศจรรย์ เช่น เห็นพระอาจารย์จี้กงเหินฟ้าลงมา เห็นพระโพธิสัตว์กวนอิม เสด็จออกมาจากพระสาทิสลักษณ์รูปวาดบนพระแท่นบูชาเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทับทิพย์ญาณในร่างพรหมจารี...เห็นแล้วอยากเห็นอีก เห็นอีกชักเผลอใจ ไม่ใช่ธรรมดาแล้วสิเรา เข้าถึงพระองค์แล้ว แต่ถ้าอยากเห็นแล้วไม่ได้เห็นอีก ชักผิดหวัง ค้างใจ เบื่อ ล้า ในที่สุดก็หักลบความศรัทธาชื่นชมว่าที่ได้เห็นนั้น เป็นแต่เพียงภาพลวงตา หามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ บางคนตัดนิมิต ติดความฝัน ทั้งที่ฝันเองหรือผู้อื่นฝันถึง ชอบทำนายไขความฝัน ฝันดีก็อยากฝันอีก ฝันร้ายก็ไม่สบายใจ ห่วงใยกังวล พอเกิดอะไรขึ้นก็ทึกทักเข้าเรื่องเข้าราวขยายความไปกันใหญ่ พระบุญญากรุณาธิคุณของพระพุทธะ พระโพธิสัตว์นั้นมีอยู่จริงแท้ แต่ทรงปรกโปรดเพื่อฉุดช่วยชาวโลก ให้ตื่นจากโลภ โกรธ หลง ให้พ้นทุกข์พ้นภัย มิใช่ให้หลงใหลยึดหมาย โปรดผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป ที่ฝากไว้คือสัจธรรมความสำนึก (กั้วฮว่าฉุนเสิน) บางคนศรัทธาชื่นชมต่อบุคคล ศรัทธาชื่นชมต่อนักธรรมอาวุโสหรือนักธรรมผู้น้อย แล้วแปรความศรัทธาชื่นชมนั้นไปเป็นความรักทางโลกระหว่างหญิงชาย ถ้าแอบเป็นฝ่ายเดียวจิตใจก็จะวุ่นวายฝ่ายเดียว ถ้าแสดงอาการอย่างโจ่งแจ้งก็จะส่งผลต่อคนรอบข้างที่รู้เห็น ก่อเวรก่อกรรมกันไปอีกแต่จะอย่างไรก็ตาม ความศรัทธาชื่นชมอย่างนี้ ล้วนเรียกว่า "ศรัทธาชื่นชมหลงผิด" เพราะมีอารมณ์ยึดติด มิใช่วิสัยของผู้บำเพ็ญเพื่อการหลุดพ้นโดยเด็ดขาดอย่างแท้จริง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาย้อนยอกกลอกกลิ้ง
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 9/02/2011, 12:42 »

        3. ศรัทธาย้อนยอกกลอกกลิ้ง : อาศัยดอกไม้ของผู้อื่นบูชาพระ ฉกฉวยความดี หน้าไหว้หลังหลอก
                    เฉี่ยวเฉิง              :  เจี้ยฮวาเซี่ยนฝอ  เปี่ยวเมี่ยนตั๋วกง

     ศรัทธาระดับนี้มีพฤติกรรมฉกฉวยช่วงชิง รู้มากเอาเปรียบ ใช้ไหวพริบเล่ห์เหลี่ยม พูดจาสับปรับพลิกแพลง แก้ตัวป้ายร้าย ปิดบังความผิดของตน ปั้นน้ำเป็นตัว วาดงูเติมขา ทำงานเอาหน้า...ความศรัทธาไม่ใช่แฟชั่นนิยมที่ชื่นชมตามคนหมู่มาก เขาแห่กันไปฉันก็ไปด้วย มิใช่เหมือนการแต่งหน้าอวดโฉมประกวดประชันกัน ความศรัทธามิใช่หน้ากากที่ใส่ได้ถอดเปลี่ยนได้ แต่ต้องเป็นความจริงใจซื่อสัตย์ชัดเจนเป็น "ตัว" (จิตเดิมแท้) ของตัวเอง ศรัทธาระดับนี้ บางคนอาจมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเหมือนกัน หรือยังมีนิสัยความเคยชิน อิจฉาตาร้อน รู้มากเห็นแก่ตัวเช่นคนทางโลกอยู่มาก ไม่อาจปรับตัวชำระใจได้ทันที เท่ากับมีโลภะ โทสะ โมหะจริต เป็นพื้นฐานค่อนข้างหนา ซึ่งอาจจะไม่รู้ตัว หรือบางคนยังกลับรู้สึกว่ามันเป็นเกราะป้องกันตัว เป็นความฉลาดรอบรู้ ในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ศรัทธาระดับนี้จะยังมีนิสัยชอบเอาประโยชน์เกินเลยจากการอยู่ร่วมกันกับใคร ๆ ในอาณาจักรธรรมเช่น การกินการนอน ของใช้ของสวยงาม หาความเพลิดเพลิน บางคนขออิงปัจจัยสี่สบายๆ ไปวัน ๆ  มักจะหนีงานหนักสมัครงานสบาย ไม่ชอบขัดส้วมล้างชามงานชั้นต่ำ ไม่ชอบแบกหามอยู่เบื้องหลัง ไม่ชอบตากแดดตากฝนทนร้อนทนหนาว แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าผู้คน ก็จำทนต้องทำอย่างแข็งขัน จะหูผึ่งคอยฟังคำชื่นชม หากผิดพลาดถูกตำหนิ ก็จะโยนความผิดให้พ้นตัว อ้างโน่นอ้างนี่ มีแต่เหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง บ้างก็มีมายาสาไถย ทำเป็นเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ชอบว่ากล่าวใคร ทำเป็นยินดีเสียสละให้ ทำเป็นใจกว้างไม่คิดมาก ไม่อยากได้ แต่ความรู้สึกในใจนั้นตรงกันข้าม ทำความดีเหมือนผักชีโรยหน้า รับปากรับงานแข็งขัน แต่โยนงานให้คนอื่นทำ พองานเสร็จ ส่งเสนองานเอง เหมาเอาเป็นผลงานของตนเอง ใครที่ให้ผลประโยชน์ได้ก็จะตีสนิทชิดชอบ พูดจาป้อยอฉอเลาะเอาอกเอาใจ เออออคล้อยตามให้เขาพอใจ บางคนรู้ว่าเขาชอบใครหรือสิ่งใด ไม่ชอบใครหรือสิ่งใดก็จะแสดงความชอบและไม่ชอบให้เหมือนเขา เป็นพวกเขา บ้างก็หาสมัครพรรคพวกเป็นกำลังสนับสนันตน หรือให้ใคร ๆ เห็นว่าตนเป็นคนมีอัธยาศัยดี มีมนุษย์สัมพันธ์ดี บางคนเก็บความอาฆาตแค้นไว้ ได้ช่องเมื่อไหร่ย้อนรอยให้เจ็บกว่า บางคนเก็บสีหน้าไว้เหมือนไม่มีอะไร หรือเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจ ก็ร้องไห้ได้สมจริงสมจังเหมือนใคร ๆ  บางคนทำผิดแล้วดีแต่กลบเกลื่อน แก้ตัวไวแต้แก้ไขยาก สำคัญว่าไม่มีใครรู้เท่าทัน บางครั้งกลัวบาปเวรก็จะพูดเองเออเองบอกกล่าว "เหลาหมู่" บอกกล่าว "เหล่าซือ" ขอให้ยกโทษให้ แล้วตัวเองก็ยกโทษให้ตัวเอง แต่ยังคงปล่อยให้ความคิดจิตใจและการกระทำอย่างนี้เลี้ยวลดคดเคี้ยวกลิ้งกลอกหลอกล่อผู้อื่นและตนเองต่อไป ยังคงกระหยิ่มใจในความฉลาดของตนเองต่อไป ศรัทธาระดับนี้มีความโลภ โกรธ หลงแน่นหนา จะต้องใช้เวลาและความพยายามมากในการส่งเสริมดูแลแก้ไขกล่อมเกลา

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาเสแสร้งหลอกลวง
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 10/02/2011, 11:06 »

           4. ศรัทธาเสแสร้งหลอกลวง :  มุ่งหวังตักตวงสิ่งต่าง ๆ แอบแฝง เพื่อเอาประโยชน์
                     เอว๋ยเฉิง             :  ซีถูสัวโหย่ว  อั้นจงจั้วอย้ง
 
      ศรัทธาระดับนี้ มีพฤติกรรมและวิธีการอย่างเดียวกับ "ศรัทธาย้อนยอกกลอกกลิ้ง" แต่หนักหนากว่า เพราะมีความมุ่งหวังเป็นร่างแหมีความโลกอยากเป็นแรงเหวี่ยงแห ทุกโอกาส ทุกช่องทาง ทุกกรณี จึงมีแต่การหมายตา จดจ้องคล้องจับ จะเอาประโยชน์ใส่ตน ไม่ว่าจะหลอกลวงเอา ขโมยเอา ยักยอกเอา ถือโอกาสหยิบฉวยจาบจ้วงเอา ตีสนิทขอเอา หยอกล้อพูดทีจริงทีเล่นเอา ได้เล็กได้น้อยก็เอา...ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ของกินของใช้ ส่วนรวมของ "ฝอถัง" หรือของส่วนบุคคลเช่นนี้ แม้ปลาเล็กปลาน้อยก็ต้องพลอยติดร่างแห เสียหายเป็นเหยื่อไปด้วย ในอาณาจักรธรรม มีผู้เจริญเมตตาจิตกันมากมาย จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนประเภทนี้ ที่จะหลอกลวงเอาผลประโยชน์แก่ตน บ้างใช้วิธีโอดครวญให้สงสาร บ้างสร้างสถานการณ์ให้น่าเชื่อ บ้างก็แอบอ้างผู้นั้นผู้นี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นหลักเป็นฐานให้เหยื่อมั่นใจ บ้างก็ใช้กลวิธีต่าง ๆ ทุกวิถีทางเขาจะหัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ โศกเศร้า สนุกสนาน  เข้ากับบรรยายกาศและใคร ๆ ได้อย่างแนบเนียน จนดูเหมือนเป็นความรู้สึกจากใจจริง ผลประโยชน์ที่คนประเภทนี้มุ่งหมาย ใคร่ได้ใคร่เป็น ครอบคลุมไปหมดทุกอย่างตั้งแต่ ความสุขสดวกสะบาย สนุกสนานเพลิดเพลิน สถานภาพโดดเด่นน่าชื่นชม สถานภาพอาวุโสสูงส่ง น่าเชื่อถือไว้วางใจ สิ่งของเงินทอง "ฝอถัง" บ้านช่องสถานที่ คนประเภทนี้ มิใช่จะไม่ศรัทธา เขาอาจจะศรัทธาต่อ "เหลาหมู่" ต่อ "เหล่าซือ" ต่อทุกอย่างในอาณาจักรธรรมมากกว่าบางคนด้วยซ้ำไป เขาอาจจะขยันขันแข็งดูดี มีมนุษย์สัมพันธ์ ดูเหมือน "เฉิงซั่งฉี่เซี่ย" ดูเหมือนคล่อง "ฝอกุยหลี่เจี๋ย"...เขาไม่ใช่ไม่รู้ความผิดบาป ที่ทำลงไป เขาอาจจะเคยคิดที่จะหยุดยั้งการกระทำนั้น แต่อำนาจของขันธ์ห้าอยู่เหนือความสัมมาศรัทธา และจิตสำนึกดี แรงเหวี่ยงแหตามความเคยชิน หรืออนุสัยเดิมมันคล่องตัวกว่า คิดว่าจะไม่หยิบฉวย ไม่หยิบฉวย แต่มือก็ไปถึงก่อนเสียแล้ว คิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย...แต่พอได้โอกาสก็ขอเป็นครั้งสุดท้ายอีกร่ำไป อย่างนี้เป็นต้น
      คนประเภทนี้น่าสงสาร เพราะพฤติกรรมแอบแฝงอย่างนี้ ผิดพุทธระเบียบ ผิดธรรมวินัย หลักใหญ่ข้อสำคัญคือ "ซันชิง ซื่อเจิ้ง" อย่างยิ่ง ซึ่งไม่ว่าความผิดนั้นจะกล่าวอ้างหักล้างด้วยเหตุผลน่าฟังอย่างไรเช่น ขโมยเงินเพื่อจ่ายค่าเทอมให้น้อง เบียดบังเงินที่เขาร่วมทำบุญมาเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่ ยักย้ายถ่ายเทเงินที่เจ้าของเงินมิได้เจาะจง ได้แต่บอกว่า "ฝากไปร่วมทำบุญ" เลยเหมาเอาเองว่าเราก็อุทิศตนทำงานธรรมอยู่ เอาเงินนั้นมากินมาใช้ ก้เท่ากับเขาร่วมทำบุญกับเราเหมือนกัน ศรัทธาหลอกลวงนี้ มองดูผิวเผินอย่างกับผู้เสียหายคือผู้ที่เป็นเหยื่อถูกหลอกลวง แต่แท้จริงแล้วผู้เสียหายคือตนเอง และผู้ถูกหลอกลวงที่สุดที่ไม่รู้ตัวเลยว่าตกเป็นเหยื่อก็คือตัวเอง  ศรัทธาทั้งสี่ระดับกล่าวมาข้างต้น ล้วนไม่อาจพาตนให้พ้นทุกข์พ้นภัย พ้นผิดบาป พ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ เพราะยังตกอยู่ในอำนาจมืดของจิตสำนึกฝ่ายต่ำ ตกอยู่ในเกลียวคลื่นโลกีย์ตกอยู่ในวังน้ำวนของความโลภ โกรธ หลง  ดังที่ได้กล่าวมาตั้งแต้ต้นแล้วว่า รับธรรมะคือ "รับรู้ความมีอยู่ของธรรมญาณชีวิตอมตะแห่งตน"  แต่หากได้แต่รับรู้ความมีอยู่ แต่ไม่อุ้มชูให้ดวงชีวิตอมตะเดิมแท้นั้น กลับคืนสู่สภาวะโปร่งใส บริสุทธิ์ดั่งเดิมได้ การรับรู้ความมีอยู่นั้นจะก่อเกิดประโยชน์อันใดได้ ชีวิตอมตะยังคงต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมมืดมน...อนธกาลต่อไปซึ่งผิดต่อพระประสงค์ที่พระแม่องค์ธรรมทรงปรกโปรดฉุดช่วยในบุญวาระนี้โดยสิ้นเชิง รับธรรมะคือ ได้รับรู้พุทธะภาวะเดิมที ที่มีอยู่ในธรรมญาณและจิตเดิมแท้แห่งตน" พุทธะภาวะคือ ภาวะที่สมบูรณ์ด้วยปะัญญาอันกระจ่างแจ้ง ไม่มีสิ่งเคลือบแฝงใด ๆ ปกคลุมหรือซ่อนเร้นอยู่ได้ จึงเป็นภาวะของความ "รู้" อย่างแท้จริง   พุทธะภาวะ คือ ภาวะที่ "ตื่น" อยู่ทุกขณะ  "ตื่น" จึงรู้ตัวว่า "ตื่น" จึงรอดพ้นจาก"มลภาวะ" "ตื่น" จึงเป็น "อมตะ" เป็น "ชีวิตนิรันดร์" ได้ พุทธะภาวะ คือ ภาวะกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต ไม่สะดุดหยุดอยู่กับ "วัตถุนามรูป" ใด ๆ แต่จะเปล่งแสงแห่งปัญญาอันกระจ่างแจ้ง รายรอบไม่จำกัดขอบเขต จึงเรียกได้ว่า "เบิกบาน" การรับธรรมะ คือ "การได้รับรู้หนทางตรง ที่จิตญาณจะผ่านพ้นโลกต่ำ" โลกต่ำ คือ โลกที่สับสนวุ่นวายอยู่ในอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง  อีกซ้ำถูกยุแหย่ด้วยอารมณ์กิเลสตัณหาความหยากไม่รู้จบ
       สภาวะจิตของศรัทธาทั้งสี่ระดับข้างต้นเรียกได้ว่าเป็นศรัทธาที่คลุกเคล้าอยู่กับโลกต่ำที่สับสนวุ่นวาย เป็นไปตามแรงยุแหย่ของกิเลส ตัณหาความทะยานอยาก ฉะนั้น แม้หนทางตรงที่จิตญาณจะผ่านพ้นโลกต่ำงดงามอยู่ข้างหน้า ศรัทธาทั้งสี่ระดับข้างต้นก็ยากที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางที่เบื้องบนได้โปรดปูลาดไว้ให้เป็นอย่างดีนี้แล้วได้ แต่หากเมื่อใดที่อกุศลศรัทธาทั้งสี่ระดับนี้อ่อนแรงลง แก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ยกระดับก้าวขึ้นไปบน "ศรัทธากระจ่าง" (หมิงเฉิง)ภาวะจิตของศรัทธากระจ่างจะช่วยลบล้างความรัก โลภ โกรธ หลงที่เคยชินมาก่อนได้ สัมมาสติเกิืดขึ้น พุทธะภาวะฟื้นฟูปรากฏ ศรัทธาและภาวะจิตยกระดับยิ่ง ๆ ขึ้นไป คนที่เคยผิดพลาดในอกุศลศรัทธาสี่ระดับดังกล่าวข้างต้นก็อาจบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้มีสัมมาศรัทธาอีกสี่ระดับข้างท้าย       

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธากระจ่าง
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 10/02/2011, 12:31 »

                  5. ศรัทธากระจ่าง  :  รู้หลักการถูกต้อง รู้เหตุผลชัดเจน
                          หมิงเฉิง     :  ซื่อหลี่ทงต๋า  หลี่ลู่ชิงหมิง

       ศรัทธาระดับนี้ เป้นคนมีสติปัญญาและวิจารณญาณรู้จักไตร่ตรองหาเหตุและผล มีความรอบคอบสุขุม ระงับใจสกดอารมณ์ได้ รู้กาลเทศะ รู้การอันควร มีความยุติธรรมในการตัดสินแก้ปัญหา เมื่อรู้ว่าวิถีอนุตตรธรรมปรกโปรดถ่ายทอดให้ได้รู้ตัวตนที่เป็น "ธรรมะ" แท้จริงในตนซึ่งจะหลุดพ้นได้ด้วยวิถีธรรมจริง (เต้าเจิน) รู้ว่าเป็นหลักสัจธรรม ที่ปฏิบัติบำเพ็ญด้วยจิตเดิมแท้ที่มีภาวะเป็นสัจธรรมดั้งเดิมจริง (หลี่เจิน) และได้รับการปรกโปรดด้วยพระโองการณ์ฟ้าจริง (เทียนมิ่งเจิน) จึงบังเกิดจิตศรัทธา ยินดีปฏิบัติตามพุทธระเบียบ "สามบิสุทธิ์สี่เที่ยงตรง" (ซันชิงซื่อเจิ้ง) ไม่กล้าผิดแผกแหวกแนว ออกนอกลู่นอกทาง รู้บาปบุญคุณโทษ มิกล้าทำการใด ๆ ที่จะเป็นทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่จะมีจิตสำนึกคุณ รู้จักหาทางตอบแทนคุณ ดังคำที่ว่า " ได้ดื่มน้ำของท่านเพียงหยดเดียว สำนึกคิดตอบแทนให้ทั้งสายธาร" ศรัทธาระดับนี้ จะเทิดทูนชื่นชมปฏิปทาปณิธานของนักธรรมผู้ใหญ่ เช่น ท่านเหล่าเฉียนเหริน ท่านเฉียนเหยิน พยายามศึกษาเรียนรู้ธรรมปฏิบัติของท่านเพื่อเจริญรอยตามทุกถ้อยคำ มีแต่สำนึกขอบพระคุณ ทุกโอกาสจะประกาศเกียรติคุณของท่านด้วยความซาบซึ้งภูมิใจมิกล้ามุ่งหวังทะยานตนไขว่คว้าสถานภาพ ไม่อิจฉาตาร้อนเมื่อผู้น้อยกว่าได้รับสถานภาพสูงกว่า เพราะรู้เหตุผลชัดเจนรู้ว่าที่สุดของที่สุด ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามหลักสัจธรรม
    รู้จัก  "เฉิงซั่งฉี่เซี่ย" ประกาศเชิดชูคุณธรรมอาวุโส เพื่อส่งเสริมนำพาผู้น้อยให้เจริญปณิธาน จะหมั่นสำรวจทบทวนปณิธานที่ตั้งไว้เสมอว่า มีข้อใดที่ตนเองยังบกพร่องทำได้ไม่ดี มิได้เจริญปณิธานในข้อนั้น ศรัทธาระดับนี้จึงมีแต่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่จะไม่กลบเกลื่อนแก้ตัว จะเห็นความแข็มงวดรุนแรงจริงจังของอาวุโสเป็นความปรารถนาดีเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ เป็นข้อทดสอบจิตใจตน ทดสอบความอดทน ทดสอบเชาวน์ปัญญา ผู้ศรัทธามั่นคงในระดับนี้จึงไม่ห่างจากพระโอวาท ไม่ห่างจากพระธรรมคัมภีร์ ไม่ห่างจากพุทธพจน์ธรรมวจน...จึงไม่ห่างจากพุทธสถานตำหนักพระ ไม่ห่างจากอาวุโส ซึ่งแม้จะมีปัญหาขัดแย้งกับใครในสถานธรรม จะถูกอาวุโสว่ากล่าว ถูกเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมขับเคี่ยวอย่างไร เหนื่อยหนักกับการช่วยงานในอาณาจักรธรรมอย่างไร  อ่อนล้ากับการปฏิบัติบำเพ็ญอย่างไร ถูกใส่ไคล้เข้าใจผิดอย่างไร ก็ยังคง "มุ่งมั่น" เดินต่อไปด้วยความ "มั่นใจ"  "มั่นหมาย" และ "มั่นคง" อยู่บนหนทางตรงที่รู้ "เหตุผลชัดเจน" ว่า "ถูกต้อง สมควร" แล้วนั้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาถึงแก่น
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 10/02/2011, 13:23 »

            6. ศรัทธาถึงแก่น :  ต่อฟ้า  ดิน  ผู้คน  จริงใจสำรวม  พิจารณา
                      ต๋าเฉิง    :  ตุ้ยเทียนตี้เหยิน  เสิ่นซิ่นเจินเฉิง

     ศรัทธาระดับนี้ จะมีจิตสำนึกเคารพฟ้าดินเป็นอย่างยิ่ง เทิดทูนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง มีสัมมาคารวะต่อนักธรรมผู้ใหญ่ทุกขณะ ด้วยจิตสำนึกขอบพระคุณ อ่อนน้อมถ่อมตน สงบสุขุมเยือกเย็น รู้จักใช้ใจธรรมดำเนินชีวิต ทัศนคติเที่ยงตรงกว้างไกล จิตใจเบิกบานเป็นกุศล เปลี่ยนจากปุถุชนเป็นกัลยาณชน สมาธิจะค่อนข้างมั่นคงต่อเนื่อง จะสำรวมระวังกายวาจาใจของตนตลอดเวลา จะสำรวมกาย วาจาใจของตนเสมอว่า คิดอะไรผิดไปหรือเปล่า พูดอะไรผิดไปหรือไม่ ทำอะไรผิดไปอย่างไร รู้ผิดแล้วก็จะสำนึกผิด เสียใจในความผิด และตั้งใจจะไม่ทำผิดซ้ำอีกจะรู้จักย้อนมองส่องตนเสมอ
    ตน หมายถึง "จิตเดิมแท้" จิตเดิมแท้ที่มีพุทธภาวะ "รู้ ตื่น เบิกบาน" มาก่อน ว่าบัดนี้พุทธะภาวะนั้นได้ฟื้นฟูกลับมาสักเท่าไหร่แล้้ว เมตตาจิตที่เกิดขึ้นในใจนั้น บริสุทธิ์ลึกซึ้งเพียงใด การบำเพ็ญของศรัทธาระดับนี้ จึงเข้าถึงปณิธานที่ว่า "เฉิงซินเป้าโสว่ (จะมั่นคงในศรัทธา) ซึซินชั่นหุ่ย (จะสำนึกด้วยใจจริง)  ซึซินชิวเลี่ยน (จะบำเพ็ญด้วยใจจริง) ...จึงนับได้ว่าเป็นผู้เจริญมหาปณิธานสิบได้เป็นอย่างดี ศรัทธาระดับนี้ จึงไม่หูเบาใจเบา ไม่ถูกใครเขาชักจูงให้หลงผิด คิดตาม พูดตาม ทำตามได้ เป็น "ศรัทธาถึงแก่น"
   "แก่น" เป็นแกนใน  เป็นหลัก เป็นหัวใจ  "จะมั่นคงในศรัทธา"ก็คือศรัทธาในแก่น ศรัทธาในแก่นแท้ของพุทธจิตธรรมญาณตน ศรัทธาในแก่นแท้ของวิถีอนุตตรธรรมตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
   "เปลือก" "กระพี้" ของต้นไม้ ถูกมดปลวกแมลงเจาะไช ต้นไม้ยังคงยืนต้นอยู่ได้ กายวาจาอาจผิดพลาดบกพร่องได้ในบางโอกาสที่ขาดความประณีตสำรวมระวัง  ท่านปราชญ์ "เอี๋ยนหุย" ผู้สูงส่งยิ่ง มีปณิธานประจำใจข้อหนึ่งว่า "จะไม่ผิดย้ำซ้ำสอง" ท่านจึงบรรลุอริยมรรค ผู้บำเพ็ญจริงจึงระวังนักหนา ที่จะไม่ยอมให้ "แก่น" แท้เสียหาย จึงหมั่น "สำนึกด้วยใจจริง"  จิตสำนึกเป็นเกราะป้องกันให้แก่ "แก่น" แท้ของจิตใจได้เป็นอย่างดี ผู้มีศรัทธาในระดับนี้จึงค่อนข้างหนักแน่นมั่นคง สุภาพสตรีก็จะ "บำเพ็ญด้วยใจจริง"  "ใจจริง" ก็คือ  "แก่น" อีกเช่นกัน "แก่น" มั่นคงแข็งแรง  ต้นไม้นั้นก็จะยืนต้นเจริญเติบโต ออกดอกออกผลได้ในที่สุด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : มหาศรัทธา
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: 11/02/2011, 03:48 »

                7. มหาศรัทธา  :  กำซาบสนองรับสรรพชีวิตจิตใจ ไม่มีที่จะไม่ร่วมศรัทธา
                      ต้าเฉิง      :  กั่นอิ้งเหยินอู้  อู๋ปู้ถงเฉิง

      ศรัทธาระดับนี้ พุทธะภาวะของจิตเดิมแท้ที่มีพลังสุขุมอบอุ่นแต่เยือกเย็น จะแผ่กระจายออกกว้างไกล ผู้คนและชีวิตรอบข้างต่างรับรู้ ต่างสัมผัสได้ถึงกระแสเมตตากรุณานั้น ความมั่นคงชัดเจนของพุทธภาวะนั้น โอบอ้อมโน้มนำให้ผู้ชิดใกล้เกิดจิตศรัทธา ใคร่จะเจริญธรรมตามแบบอย่าง เป็นที่ชื่นชอบชื่นใจของผู้ได้รู้ได้เห็น สิ่งต่าง ๆ โดยรอบไม่ว่าจะเป็นผู้คน ไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่หรือต้นไม้ใบหญ้า ต่างสดชื่นมีชีวิตชีวาเหมือนได้รับอากาศบริสุทธิ์สบาย หรือเหมือนได้รับฝนฉ่ำดั่งน้ำอมฤตชโลมให้ ศรัทธาระดับนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะให้แต่คุณประโยชน์สร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นสภาพปกติสุข ด้วยธรรมานุภาพของมหาศรัทธานี้ ผู้คนที่จิตใจตกต่ำจะได้รับการกล่อมเกลากำซาบจนกลับกลายเป็นคนดีมีคุณธรรม
     ทุกลมหายใจที่เข้าออกของคนระดับมหาศรัทธามิใช่เป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตเนื้อกายสังขารตนเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อเวไนยสัตว์ทั้งหลายได้อยู่รอดปลอดภัย พลังของมหาศรัทธานี้ ภูตผีปีศาจต่างกลัวเกรง หลีกลี้หนีหายมิกล้ากล้ำกรายมาก่อกวน เทพเทวาต่างเข้ามาร่วมอนุโมทนาสาธุการ อยากเป็นผู้ช่วย อยากเป็นบริวารร่วมสร้างสรรค์งานแพร่ธรรม ศรัทธาระดับนี้ จึงมีความคิดเที่ยงตรงต่อฟ้าดิน มีวาจาเที่ยงตรงที่สัมฤทธิ์ผลตามคำร้องขอ มีการกระทำเที่ยงตรงที่เป็นแบบอย่างบรรทัดฐานให้ใคร ๆ ปฏิบัติดำเนินตาม

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
ศรัทธาแปด : ศรัทธาบรรลุ
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: 11/02/2011, 04:32 »

        8. ศรัทธาบรรลุ  :  จิตภาวะร่วมสร้างสรรค์อยู่กับครรลองของฟ้าดิน ล่วงพ้นภาวะอดีต - ปัจจุบัน ภายในตนปราศจากตนให้ต้องฉุดช่วย ภายนอกตนไม่ยึดหมายในตัวตนให้ฉุดช่วย จิตภาวะนั้นผสมผสานอยู่ร่วมกันกับฟ้าดิน
           
              จื้อเฉิง  :  ซันเทียนตี้จืิฮว่าอวี้  เชาเอวี๊ยกู่จิน  เน่ยอู๋สั่วตู้จือหว่อ  ไอว้อู๋สั่วตู้จือเหยิน  อวี่เทียนตี้เสียเหอ

      ศรัทธาระดับนี้ ไม่มีวัตถุนามรูปใด ๆ ตกค้างอยู่ในจิตใจของท่านอีกเลย ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในสายตา ผ่านเข้ามากระทบหู ผ่านเข้ามาสัมผัสผิวกาย เหมือนลมวูบหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป รับรู้ได้แต่ไม่ยึดหมาย บุญญานุภาพของจิตศรัทธาจะมีพลังร่วมอยู่กับครรลองความเป้นไปของฟ้าดิน หรืออีกนัยหนึ่งคือ บุญญานุภาพของจิตศรัทธาระดับนี้ ทำให้ฟ้าดินต้องเอื้ออำนวยสิ่งต่าง ๆ แก่ท่าน เช่นฝนตกลงมาล้างมูลนกบนหลังคาบ้านที่พระธรรมาจารย์เสด็จมาประทับ เมฆฝนมารวมกลุ่มกันทันที เฉพาะส่วนเหนือหลังคาบ้านนั้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีเค้ามาก่อนเลย ท่านจะไม่ยึดหมายในชาติก่อนชาติใดหรือในชาตินี้ เช่น ท่านหันเหล่าเฉียนเหรินของเรา ซึ่งมีท่านที่ปฏิบัติบำเพ็ญในระดับสูงมากมายสัมผัสรับรู้เห็นพ้องต้องกันโดยมิได้นัดหมายว่า ท่านหันเหล่าเฉียนเหยิน คือ พระภาคอุบัติใหม่ของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อ บรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลก แต่ท่านหันเหล่าเฉียนเหยินมิได้สนใจใยดี อีกทั้งยังปรามผู้ชื่นชมว่า "อย่าเหลวใหล" เช่นกัน
     ท่านเฉินเฉียนเหริน (เฉินต้ากู) ของเรา ก็เป็นที่เลื่องลือว่า ท่านคือพระภาคอุบัติใหม่ของพระโพธิสัตว์กวนอิม ท่านเหล่าเฉียนเหยิน ท่านเฉียนเหยิน และนักธรรมผู้ใหญ่อีกมากมายในทุกอาณาจักรธรรม ก็ล้วนแต่ได้รับความเคารพชื่นชมว่า ท่านเป็นพระภาคจากพระองค์นั้นพระองค์นี้ แต่ท่านเหล่านั้นก็มิได้เห็นพ้องเป็นไปตามคำชื่นชม ท่านยังคงก้มหน้าก้มตาแบกรับพระภาระศักดิ์สิทธิ์ของเบื้องบนด้วยอาการสงบเป็นปกติ เพราะจิตใจของท่านเหล่านั้นปลดวางจากขันธ์ห้าเสียแล้ว ล่วงพ้นภาวะยึดหมายในอดีต -ปัจจุบันเสียแล้ว
    เมตตากรุณาธรรมของท่านในระดับนี้ มิได้มุ่งหมายเจาะจงบุญกุศลความหลุดพ้นของตนเอง ยิ่งกว่านั้นยังลืมความมีอยู่เป็นอยู่ของตนเอง เหมือนภาวะว่างเปล่าที่ไร้รูปลักษณ์ วิมุติสุขจึงเป็นภาวะปกติของท่านทุกขณะ ศรัทธาในระดับนี้ ทุกชีวิตในมหาจักรวาลหมื่นโลกธาตุ ล้วนเป็นเป้าหมายให้โอบเอื้อกรุณา จึงไม่มีคนที่รักที่ชัง ไม่มีคนชั่วดีถี่ห่าง จึงไม่มีผู้ที่ยึดหมายให้ฉุดช่วย เพราะจิตภาวะของท่านได้ผสมผสานกว้างไกลอยู่ในเวลาของมหาจักรวาลอันหาที่สิ้นสุดมิได้เสียแล้วนั่นเอง

ศรัทธาหนึ่ง     พึงระวังชั่งใจไว้          อย่าหลงใหลติดตามคำเป่าหู
ศรัทธาสอง     อย่าต้องใจหมายตาดู   อย่าร้องกู่พึ่งพาสารพัด
ศรัทธาสาม     ทำใจให้ซื่อสัตย์         อย่าฉลาดเห็นแก่ได้น่าอายหนอ
ศรัทธาสี่         จงจริงใจอย่าลวงล่อ    อย่ากุก่อร้าวฉานแก่งานธรรม

                             จบเล่ม                                               ศุภนิมิต             

Tags: