ในด้านหลักธรรมต่าง ๆ นั้น ต้องถือว่าท่านเหล่าเฉียนเหรินมีความแตกฉานอย่างลึกซึ้ง ในทุกวจนะที่ปราศัย แม้นจะดูแล้วแสนธรรมดาหากทุก ๆ คำล้วนแฝงด้วยหลักธรรมอันแยบยล และท่านไม่เพียงสามารถประคองรักษาสัทธรรมที่ท่านซือจุนซือหมู่ได้ถ่ายทอดให้เท่านั้น หากท่านยังนำไปปฏิบัติในทันทีได้อย่างเที่ยงตรงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแห่งธรรมได้อย่างงดงาม และเผยแพร่ศาสตร์แห่งปราชญ์ให้ขจรจนกว้าวไกลได้อีกด้วย ท่านมักกล่าวว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์เคยเมตตาไว้ว่า ในยุคท้ายศาสนาปราชญ์สนองวาระ เก็บงานสมบูรณ์" ดังนั้นในทุกรายละเอียดแห่งกิจวัตรประจำวัน ในทุกการเดิน ยืน นั่ง นอน ในทุกการปฏิสันถารและปฏิปทา ท่านล้วนได้แสดงออกถึงจริยวัตรแห่งปราชญ์ได้ประจักษ์อย่างงดงาม
ท่านเมตตาว่า "ในวัชรสูตรบทที่ ๑๗ ที่ว่าด้วยที่สุดไร้อัตมะ ได้กล่าวไว้ว่า "พระพุทธองค์ทรงรับการประทานจุดจากพระทีปังกรพุทธเจ้า อันความหมายของพระทีปังกรพุทธเจ้านี้ มิใช่คือการจุดความสว่างดอกหรือ นั่นมิใช่การชี้จุดจากพระวิสุทธิอาจารย์เมื่อตอนที่รับธรรมะหรอกหรือ" ท่านยังได้เมตตาอีกว่า "เพียงครึ่งถ้อยน้อยคำก็เข้าใจ ไยต้องใช้ถึงร้อยพันบทพระคัมภีร์ ได้รู้แจ้งซึ่งโฉมแท้แต่เดิมมี ก็ตรงรี่ด้วยหนึ่งก้าวเข้านิพพาน" "ท่านพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวไว้ว่า "ยามใจสงบไยต้องถือศีลให้วุ่นวาย ยามประพฤติเที่ยงตรงมิคลาย ไฉนต้องบำเพ็ญฌาน รู้พระคุณก็จักกตัญญูอุปัฏฐากบุพการี รู้มโนธรรม ก็จักดำรงใจอารีย์ต่อผู้เฒ่าผู้เยาวว์ รู้อภัยก็จักใฝ่ใจเคารพปรองดอง รู้ขันติ บาปวิถีจักไม่บังเกิด หากสามารถสีไม้ให้เกิดไฟ บัวแดงอำไพจักผุดขึ้นจากโคลนตรม ที่ขมปากคือยาดี คำวจีที่เสียดหูแท้คือคำทัดทาน รู้แก้ผิดจักเกิดปัญญาญาณ ป้องผิดพลาดดวงมานปราชญ์เมธี กิจวัตรหมั่นประโยชน์แก่ชาวประชา วิมุตินั้นหนาหาใช่เิกิดจากทักษิณา อันโพธิเพียงค้นได้จากจิตตา ไยต้องค้นหาใฝ่แยลยลที่ภายนอก หากสดับรับบำเพ็ญเพียรตามนี้ สุขาวดีจักปรากฏเพียงเบื้องตา" ซึ่งก็แน่นอน อันหนึ่งจุดชี้จากพระวิสุทธิ์อาจารย์ ก็เป็นดังเนื้อหาในพระสูตรฮุ่ยเหนิงที่บันทึกว่า..."มีคนถามว่า อันสัทธรรมจุกษุเร้น จะถ่ายทอดให้แก่ผู้ใด" พระธรรมาจารย์ตอบว่า "ผู้มีธรรมจักได้ ผู้รู้ธรรมจักแจ้ง"
ท่านเหล่าเฉียนเหรินกล่าวว่า "ในโลกใบนี้ อะไรบ้างที่เป็นจริง ก็มีเพียงใจจริงดวงนี้เท่านั้นที่เป็นจริง" เหล่าธรรมอันแยบยลทั้งหลายล้วนที่อยู่ที่ใจจริงดวงนี้ และก็ด้วยใจที่จริงดวงนี้ สิ่งที่ปฏิบัติออกมาจึงจะเป็นคุณธรรมอันแท้จริง ดังนั้นโอวาทที่ท่านได้เมตตาพวกเราในชีวิตประจำวัน ทุกประโยคล้วนเน้นที่การปฏิบัติให้เป็นจริงในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ดังนั้นท่านจึงรณรงค์คุณธรรมแห่งศาสนาปราชญ์ ประกาศให้ปฏิบัติมั่นในคุณธรรมแปด (กตัญญุตาธรรม ภราดรธรรม ภัคดีธรรม สัตยธรรม จริยธรรม มโนธรรม สุจริตธรรม หิริธรรม) อย่างเคร่งครัด โดยท่านมักจะเมตตาเราในหลักธรรมที่เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้..."การบำเพ็ญของเรานั้นควรทำอะไรกันบ้าง บำเพ็ญธรรมด้วยความเสมอภาคอย่างนั้นหรือ สังคมสมัยนี้ล้วนมีคำขวัญว่าชายหญิงต้องเสมอภาค ต้องมีเสรีภาพอย่างเสมอภ่ค หากว่าคุณลุงคุณตา คุณพ่อของเธอที่บ้านบอกว่าสิทธิต้องเสมอภาค แล้วอย่างนี้ยังจะเหมือนครอบครัวอีกหรือ ทำเช่นนี้มิใช่วุ่นวายไปหมดดอกหรือ.....เราบำเพ็ญธรรมคือเน้นความเสมอภาค ไม่ว่าจะยากดีมีจนหนุ่มสาวผู้เฒ่าเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนไหนบำเพ็ญคนนั้นได้ คนไหนปฏิบัติคนนั้นบรรลุ อย่างนี้ต่างหากจึงเป็นความเสมอภาค" "กราบพระคือต้องเรียนรู้ และเอาอย่างในพระมหาเมตตา กรุณาแห่งองค์พระพุทธโพธิสัตว์ จากนั้นก็ย้อนมองส่องตน ย้อนสำรวจพิจารณาตน นี่จึงเป็นความหมายที่แท้จริงของการกราบพระ หลักธรรมข้อนี้เราทุกคนควรเข้าใจไว้"