collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ผัก ผลไม้ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  (อ่าน 2131 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

***ผัก ผลไม้ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง***

ผักผลไม้เราต่างรู้กันดีว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่สำหรับบางท่านที่มีโรคเรื้อรังแล้ว ผักและผลไม้บางชนิดอาจต้องทานในปริมาณจำกัดหรืออาจต้องห้ามรับประทานกันเลยทีเดียว จะยกตัวอย่างของบางโรคเรื้อรังและผักผลไม้ต้องห้ามบางชนิด เช่น

-ผู้ป่วยโรคไต :
ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีสารที่มีกรดอ็อกซาริก (oxalic acid) ปริมาณสูง ซึ่งสามารถจับกับแคลเซี่ยมตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไต ทำให้เกิด acute oxalate nephropathy ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะปริมาณลดลง ผลการตรวจปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงปนร่วมกับผลึกแคลเซี่ยมอ็อกซาเรท (calcium oxalate crystals)

ตัวอย่างที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือคนปกติที่ชอบรับประทานน้ำคั้นมะเฟืองเปรี้ยวในปริมาณมากและบ่อยๆ (มะเฟืองเปรี้ยวมีปริมาณกรดอ็อกซาริกมากกว่ามะเฟืองหวานประมาณ 4 เท่า) หรือการรับประทานก้านโกฐน้ำเต้าในปริมาณมาก

ตัวอย่าง ผัก ผลไม้ ที่มีกรดอ็อกซาลิก สูง มากกว่า 300 มิลลิกรัม/100 กรัม ได้แก่ ลูกเนียง (djenkol bean) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Archidendron jiringa Nielsen หรือชื่อพ้อง Pithecellobium lobatum Benth วงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Mimosoideae) เป็นผักที่นิยมรับประทานกันทางภาคใต้ เป็นผักสด ร่วมกับอาหารรสเผ็ด เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา พบว่าผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด และ ความดันโลหิตสูง เนื่องจากในลูกเนียงมีสาร djenkolic acid ซึ่งสามารถตกตะกอนเป็นผลึกได้ในกรณีที่มีความเข้มข้นสูงและในภาวะเป็นกรด ทำให้เกิดเป็นนิ่วอุดตันของทางเดินปัสสาวะได้ อาการพิษจากลูกเนียงมักสัมพันธ์กับการกินลูกเนียงดิบร่วมกับการดื่มน้ำน้อย ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษนั้นมีรายงานตั้งแต่ 1-20 เมล็ด ฉะนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกเนียงดิบ แต่อย่างไรก็ตามคนปกติส่วนใหญ่ที่รับประทานลูกเนียงมักไม่เกิดพิษ แต่จะเกิดพิษในบางคนซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผัก ผลไม้ที่มีปริมาณโพแทสเซียม (potassium) สูง ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกิน (hyperkalemia) ไตต้องทำงานหนักในการขับแร่ธาตุ มีตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบริโภค น้ำลูกยอ (Noni juice) ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกิน ทั้งนี้เพราะว่าน้ำลูกยอมีปริมาณโพแทสเซียมประมาณ 2,195.7 มิลลิกรัม รวมถึงผลไม้บางชนิดควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ทุเรียนก้านยาว ทุเรียนชะนี กล้วยหอม และส้มสายน้ำผึ้งซึ่งมีค่าโพแทสเซียมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับส้มชนิดอื่น ๆ ในปริมาณที่เท่ากัน ส่วนผักที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักโขม และหน่อไม้


-ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (thalassemia) :
เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ แตกง่าย ถูกทำลายง่าย ทำให้มีปริมาณธาตุเหล็กสูง แต่ไม่สามารถนำมาสร้างเม็ดเลือดแดงเองได้ ฉะนั้นผู้ป่วยโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับสัตว์ เลือดสัตว์ เครื่องในและผักผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา ผักเม็ก ยอดมะกอก ยอดกระถิน


-ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ :
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรระวังการบริโภคพืชวงศ์ Cruciferae ได้แก่ กะหล่ำปลี ทูนิป horseradish และเมล็ดพันธุ์ผักกาดชนิดต่างๆ เช่นเมล็ดพันธุ์ผักกาดสีดำ ขาว และน้ำตาล พืชเหล่านี้จะมีสารกลูโคซิโนเลท (เป็นสาร goitrogen) สารนี้จะไปขัดขวางการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ เพื่อสร้างเป็น ฮอร์โมนไทร๊อกซิน (thyroxin) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ จะทำให้เกิดเป็นโรคคอหอยพอกแต่สารพิษเหล่านี้จะถูกทำลายได้โดยการต้ม จึงควรรับประทานกะหล่ำปลีสุกจะดีกว่ากะหล่ำปลีดิบ

-ผู้ป่วยโรคกระเพาะและลำไส้ :
พริกเป็นพืชที่นิยมปลูกเป็นทั้งเครื่องเทศที่และยาสมุนไพรพริกมีสารที่เรียกว่าแคปไซซิน (capsaicin) ซึ่งทำให้เกิดความเผ็ดร้อนพบได้ในพริกแทบทุกชนิด พบมากในส่วนรก และเมล็ดสารดังกล่าวมีคุณสมบัติลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อหากรับประทานในปริมาณมาก จะมีผลทำให้กระเพาะอักเสบได้ และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะ ถ้ารับประทานพริกในปริมาณมากจะทำให้โรคมะเร็งเป็นมากขึ้นได้


ที่มา : pharmacy.mahidol.ac.th    ขอบคุณค่ะ

Tags: