collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: มหายาน กับสังคม  (อ่าน 2582 ครั้ง)

ออฟไลน์ CSC บริการมิตรธรรม

  • มิตรนักธรรม
มหายาน กับสังคม
« เมื่อ: 1/11/2008, 18:45 »
มหายาน กับสังคม
โดย.. สถิรธรรม
 

        คำว่า "มหายาน" หมายถึงพาหนะที่ใหญ่โต เป็นชื่อเรียกนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาที่เผยแผ่ไปทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย(บางตำราว่าศรีลังกา) เมื่อราวสองพันปีก่อน (ในยุคแรกเรียกว่า "มหาสังฆิกะ"แปลว่าสงฆ์หมู่ใหญ่) มีแนวการสอน(อุปายะ)ที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อความอยู่รอดของพุทธศาสนาในยุคต้นๆ ที่ได้เผชิญมรสุมของเพื่อนต่างศาสนา คือแม้นจักได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบภายนอกแต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นภายใน มีแนวทางปฏิบัติตนแบบ "โพธิสัตวมรรค" มีหลักธรรมและวิถีปฏิบัติที่สามารถช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นทะเลทุกข์ได้จำนวนมาก ประดุจพาหนะหรือเรือลำใหญ่ เน้นสังคหวัตถุ ๔, บารมี ๖ ฯลฯ เป็นต้น

 

     ส่วนพุทธศาสนาที่แผ่มาทางใต้ เรียก "เถรวาท" มีจุดเด่นคือยังรักษาข้อธรรม ข้อศีลไว้ได้บริสุทธิ์คงเดิมทุกประการ มีแนวทางปฏิบัติเน้นด้าน "อรหันตมรรค" คือเน้นอริยสัจ, อริยมรรค ฯลฯ เป็นต้น

 

  แต่ทั้งสองนิกายก็ถือกำเนิดแต่พุทธบิดรองค์เดียวกัน เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองแผ่ขยายไปยังดินแดนต่างๆในโลก ซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศต่างกัน การเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังดินแดนนั้นๆ จำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมกับจริตผู้คนในแถบนั้นเสียก่อน เพื่อให้พุทธศาสนาเป็นที่ศรัทธา แล้วจึงสอนธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็ยังคงรักษาพระธรรมวินัยและพระพุทธธรรมคำสอนตามเดิมทุกประการ และอาจกล่าวได้ว่า "มหายานสร้างความไพศาล และเถรวาทสร้างความมั่นคง"

 

    คำว่า "โพธิสัตว์"นี้ ถือเป็นจริยวัตรแบบอย่างของมหายานิกชนไม่เว้นแต่ผู้ออกบวชเท่านั้น แม้ผู้ครองเรือนก็อาจบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ได้ การเป็นโพธิสัตว์นั้นจำต้องมีมหาปณิธาน ๔ หรือความตั้งใจมั่นที่ยิ่งใหญ่ ๔ ประการ คือ
๑.เราจักโปรดสรรพสัตว์ให้หมดสิ้น
๒.เราจักกำจัดกิเลสให้สูญ
๓.เราจักศึกษาพระธรรมให้แจ่มแจ้ง และ
๔.เราจักบรรลุพุทธมรรคให้จงได้

 

      จตุรปณิธานนี้ คือสิ่งที่มหายานิกชนต้องเปล่งประกาศต่อพระบรมศาสดาในอารามทุกค่ำเช้า เพื่อตอกย้ำและเตือนใจให้มุ่งมั่นดำเนินความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ทั้ง ๔ นี้ให้สำเร็จ โดยมีพระพุทธองค์เป็นสักขีพยาน และมีโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นแบบอย่างกำลังใจ จึงกล่าวได้ว่า โพธิสัตว์ที่แท้มิเป็นเพียงรูปปั้นบนแท่นบูชา สวมอาภรณ์สีบริสุทธิ์ หรือประดับองค์อลังการด้วยเพชรนิลจินดา และประทับบนดอกบัวเท่านั้น แต่คำสอนในหลักธรรมมหายานหมายมุ่งให้หมู่มนุษย์ทั้งปวง     ได้เป็นโพธิสัตว์ทั่วกัน ให้เป็นโพธิสัตว์ที่มีชีวิต เคลื่อนไหวได้และทำประโยชน์ได้จริง

 

ดังนั้น ความเป็นโพธิสัตว์ ตามคติธรรมมหายานจึงหมายถึงทุกคน ตลอดไปจนถึงสัตว์ทั้งปวง ที่ในภายหน้าย่อมบรรลุพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่ใครจะบรรลุก่อนเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ที่รู้จึงชี้แนะผู้ไม่รู้ ผู้ที่มีจึงให้ผู้ไม่มี ผู้ที่แข็งแรงจึงพยาบาลผู้ป่วยไข้ เป็นต้น หากจักพิจารณาสังคมปัจจุบันก็มีผู้ดำเนินตามอย่างโพธิสัตว์อยู่มากมาย เช่นการสังคมสงเคราะห์ สาธารณะกุศลในรูปแบบต่างๆที่ล้วนน่าวันทนาสรรเสริญอย่างยิ่ง แต่ยังเป็นการอนุเคราะห์เพื่อนมนุษย์ในเบื้องต้น เช่นไรถึงกล่าวว่าเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น เพราะความทุกข์ทั้งปวงนั้นที่จริงไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่คนเรามักนำความรู้สึกพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือการไม่ได้สมกับกิเลสของตนว่าเป็น "ความทุกข์" ตรงข้ามสิ่งใดๆที่สาแก่กิเลสปรารถนาของตนก็เรียกเอาว่าเป็น "ความสุข"

 

        สรุปได้ว่า ความทุกข์หรือความสุขนั้น ล้วนเกิดจากใจของเราเอง ที่จริงแล้วไม่มีผู้ใดที่เสวยทุกข์หรือสุขนั้นอยู่เลย การช่วยเหลือตามวิถีพุทธคือการช่วยให้พ้นทุกข์ตลอดไป พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงครั้งคราว  


          ฉะนั้น การช่วยเหลือสรรพสัตว์แบบยั่งยืนถาวรตามอย่างโพธิสัตว์นั้น จะต้องดำเนินไปบนวิถีหรือกฎเกณฑ์ที่สำคัญยิ่ง ๓ ประการ คือ
๑.มหากรุณา จะต้องมีความตั้งใจยิ่งใหญ่ ต้องการให้เขาพ้นทุกข์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือมีข้อแม้ใดๆ
๒.มหาปัญญา จะต้องรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ทำว่าเป็นประโยชน์หรือโทษเช่นไร แล้วจึงทำไปด้วยสติปัญญาที่ยิ่งใหญ่ ไม่ผิดพลาด
๓.มหาอุปายะ จะต้องรู้ว่าการกระทำใดที่แม้จะทำแต่น้อยแต่ให้ผลมหาศาล ซึ่งแต่ละบุคคลก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือที่แตกต่างกันอีกเป็นรายๆ ไป เป็นต้น

 
              เราผู้เป็นพุทธบริษัท ผู้ที่เรียกตนว่าเป็นพุทธสาวกหรือพุทธบุตรทั้งปวง ควรเร่งไตร่ตรองการกระทำและศรัทธา ว่าถูกต้องสมธรรมดีอยู่หรือไม่ เป็นไปเพื่อการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนแท้จริงหรือยัง หรือเป็นการซ้ำเติมให้ย่ำแย่ลงไปอีก ตัวอย่างเช่น แม้การสังคมสงเคราะห์ หรือการสาธารณกุศลนั้น นับเป็นสิ่งจำเป็นและยังประโยชน์มากในการแก้ไขปัญหาสังคม ถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาชั้นสูงขึ้นต่อไป ถือเป็นธรรมข้อมหากรุณา แต่อาจยังขาดมหาปัญญาและมหาอุปายะ หากเราจักใช้หลักความยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ ข้างต้นประกอบกันตามสมควรแก่เวลาและโอกาส เพื่อส่งเสริมให้เพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย ได้มีสติปัญญาตามรู้ธรรม ไม่หวั่นไหวต่อความสุขและความทุกข์ในชีวิตจนเกินไปนัก เพียงแค่รู้ปล่อยวาง ละอัตตาความยึดมั่นถือมั่นในชีวิตลงเสียบ้าง ก็ไม่มีอะไรที่จะได้หรือเสีย ไม่มีสุขหรือทุกข์ ทั้งไม่มีเขาและไม่มีเรา

 

    เพียงเท่านี้ เราจักดำเนินชีวิตตามวิถีโพธิสัตว์แบบยั่งยืนในทันที อันเป็นสิ่งที่ผู้คิดจักช่วยเหลือต้องค้นหาและพัฒนาอุปายวิธีให้เหมาะสมอยู่เรื่อยไป และผู้ต้องการรับความช่วยเหลือก็จำต้องพัฒนาตนเองให้ง่ายต่อการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

ดั่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่ว่าความพอเพียงนั้นจะช่วยให้เขายืนด้วยตัวเองแล้วเขาจักช่วยคนอื่นต่อไป เราทุกคนทั้งผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่น และผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็จะเป็นโพธิสัตว์ได้ สามารถช่วยผู้ที่ยังเป็นปุถุชนให้กลายเป็นโพธิสัตว์ โลกแห่งนี้จึงกลายเป็นพุทธเกษตรในอุดมคติ นำพลังของธรรมธิษฐานหรือนามธรรมขับเคลื่อนเป็นปุคคลาธิษฐานหรือรูปธรรม ด้วยความเข้าใจสัจจธรรมภายในของตนด้วยปัญญา เช่นนี้เราทุกคนจึงจะเข้าใจปริศนาธรรมว่าด้วยเรื่องพระโพธิสัตว์สวมใส่อาภรณ์ขาวบริสุทธิ์ เพราะท่านมีจิตกรุณา จิตปัญญาและจิตอุปายะที่ขาวบริสุทธิ์ไม่แอบแฝง หรือที่ประดับองค์ด้วยเพชรนิลจินดา ก็เพราะสิ่งมีค่าที่มนุษย์ต้องการหนักหนาเป็นเพียงสิ่งประดับที่อยู่ภายนอกเท่านั้น การประทับบนดอกบัว จึงหมายความว่าพระโพธิสัตว์มาโปรดสัตว์ยังโลกียโลกที่มากด้วยกิเลส แต่ท่านยังสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจบัวที่เกิดจากโคลนตมสกปรกแต่ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำอาสวะ

 

        หากเราทุกคนทำความดีโดยยึดมหาปณิธาน ๔ ประการ บนพื้นฐานของความยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ ประการแล้ว จึงบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลกด้วยความไม่เหนื่อยยาก เมื่อไม่เหนื่อยยากจึงไม่ท้อถอยจนล้มเลิกไป ยังให้โลกนี้เป็นแดนพุทธเกษตรที่มีแต่ความสุข มีแต่คนดี ทั้งหมดนี้จึงจะเรียกว่า "มหายานกับสังคม" หรือ "มหายานเพื่อมหาชน" ได้อย่างแท้จริง...


ขอขอบคุณ :
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 1/11/2008, 18:49 โดย cs »

Tags: