ฤๅษีตนหนึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าริมแม่น้ำ ได้เห็นเด็กเพศชายลอยน้ำมาในกระเช้า เกิดความสงสารจึงเก็บมาเลี้ยงไว้ตามมีตามเกิด จนกระทั่งเด็กโตขึ้นจึงให้บวชเป็นฤๅษีน้อยและฝึกสอนวิชาบำเพ็ญพรตให้ พร้อมทั้งสอนให้กลัวสัตว์ป่าที่ดุร้ายชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเสือ ฤๅษีน้อยก็จดจำชื่อของสัตว์ได้ทุกชนิด พอเข้าป่าไปหาผลไม้ได้พบสิงโตบ้าง งูบ้าง หมีบ้าง ก็หลบหลีกไม่เผชิญหน้า แต่ยังไม่เคยเห็นเสือตัวจริงสักครั้งเดียว
จวบจนฤๅษีน้อยย่างเข้าสู่วัยรุ่น พ่อฤๅษีได้พาเข้าเมืองเพื่อลิ้มรสเปรี้ยวรสหวานบ้าง เพราะตั้งแต่เลี้ยงมายังไม่เคยพาเข้าเมืองเลย ฤๅษีน้อยได้เห็นผู้คนในเมืองเดินกันขวักไขว่ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสีสวยงามไม่เคยเห็น สินค้าที่นำมาวางขายหรือที่อยู่ในร้านก็มีมากมาย แต่ไม่รู้จักไม่เคยใช้เลยสักอย่างเดียว ตื่นตาตื่นใจจนตบะกระเจิงไปเหมือนกัน มีช่วงหนึ่งได้พบสาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้ม ดวงตากลมโต ปากแดงระเรื่อ แก้มเป็นพวง ผมยาวสลวยเป็นมันงาม ทรวดทรงอ้อนแอ้น เสื้อผ้าที่ใส่ก็รัดรูปจนเห็นองค์เอวได้ถนัด ฤๅษีน้อยพอได้สบตา กับแม่นางน้อยที่คอยจ้องดูตนอยู่เข้าก็ถึงกับเสียวซ่านไปถึงหัวใจ จ้องตาแทบไม่กระพริบ พ่อฤๅษีเห็นอาการอย่างนั้นของฤๅษีน้อยก็รีบดึงแขนออกไปจากที่นั้นแล้วสอนว่า
"ลูกเอ๋ย นั่นแหละคือเสือละ ให้กลัวเข้าไว้เถอะเพราะมีอันตรายมาก เผลอเมื่อไรก็จะกัดเอาถึงตายทีเดียว"
ฤๅษีน้อยได้ยินเข้าก็นึกว่าเป็นจริง เพราะตั้งแต่โตมายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเลย ก็นึกว่าเป็นเสือจริง ๆ จึงไม่กล้ามองผู้หญิงคนใดอีก
หลังจากกลับจากเมืองแล้ว ฤๅษีน้อยมีอาการและท่าทางผิดไป ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนเดิม ชอบนั่งเหม่อลอยอยู่ริมน้ำ ไม่อยากทำงานเหมือนปกติ ถึงเวลานั่งสมาธิก็นั่งแบบเสียไม่ได้ ดูซึมเซื่องเงื่องหงอยไป เป็นอยู่อย่างนี้หลายวันเข้า ฤๅษีพ่อจึงเรียกมาถาม
"เป็นไงไปหรือลูก หมู่นี้ดูเจ้าไม่สบายเลย ใจลอยชอบกล มีอะไรอยู่ในใจหรือ"
ฤๅษีน้อยไม่กล้าตอบความในใจ ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่งอยู่ แต่เมื่อถูกคาดคั้นหนักเข้าจึงอ้อมแอ้มตอบว่า
"ผมคิดถึงเสือครับ"
เรื่องที่ได้สดับมาจบเพียงแค่นี้
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
มนุษย์ทุกคนมีความกลัวเป็นพื้นฐาน เช่น กลัวคนบ้าง กลัวสัตว์บ้าง กลัวความมืดบ้าง กลัวตายบ้าง แต่ทั้ง ๆ ที่กลัว นี่แหละมนุษย์เรากลับกลัวไม่จริง คือกลัว ๆ กล้า ไม่หลบเลี่ยง ไม่ทิ้งสิ่งที่กลัว กลับเสี่ยงทำเสี่ยงประพฤติสิ่งที่กลัวนั้น เช่น กลัวยากจน กลับทำสิ่งที่ทำให้เกิดความยากจน เช่น เล่นการพนันบ้าง กินเหล้าบ้าง สูบบุหรี่บ้าง เกียจคร้านบ้าง หรือกลัวโรค แต่กลับทำสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดโรค เช่น กินไม่เลือกบ้าง ไม่รักษาสุขภาพบ้าง หรือกลัวตกนรก แต่กลับทำแต่บาปกรรม ทำแต่สิ่งที่ทำให้ตกนรก โดยไม่เชื่อเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ว่าจะมีจริง ดังนี้เป็นต้น เรียกว่ากลัวไม่จริง คนที่กลัวไม่จริงนี่แหละที่ประสบกับความทุกข์เดือดร้อน ประสบกับสิ่งที่ตนเองกลัว และไม่พ้นจากสิ่งที่กลัวไปได้ เหมือนฤๅษีน้อยที่กลัวเสือแต่กลับคิดถึงเสือจนจิตใจฟุ้งซ่านเศร้าหมอง แสดงว่ากลัวเสือไม่จริง
จาก : เรื่องเล่า เพื่อการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ชุด "กิร ดังได้สดับมา"
ของ : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ๑๐๑๕๐
กราบนมัสการขอบพระคุณค่ะ