เทศกาลกินเจสบายใจได้ โปรตีนเกษตรไม่ก่อมะเร็ง
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เข้าสู่เทศกาลถือศีลกินเจอย่างเป็นทางการแล้ว ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 8 ตุลาคมนี้ ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายหาอาหารเจตามตลาดต่างๆ เริ่มคึกคักไปด้วยธงเหลือง สัญลักษณ์ของการกินเจ โดยเฉพาะตลาดสดสำคัญเช่น ตลาดเก่าเยาวราช ตลาดวงเวียนใหญ่ มีประชาชนมาจับจ่ายสินค้าอาหารเจอย่างหนาตา ซึ่งแน่นอนจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ราคาผักสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารเจค่อนข้างแพงกว่าทุกปี
และสำหรับใครที่เลือกใช้ โปรตีนเกษตรทดแทนเนื้อสัตว์ในระหว่างการกินเจ แล้วกังวลว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารเจ ที่ทำจากโปรตีนถั่วเหลือง หรือกลูเตนจากแป้งสาลี ที่มักทำมาผลิตเป็นอาหารประเภท ไส้อั่ว ไส้กรอก ปลาเค็ม และลูกชิ้น ว่าไม่เสี่ยงต่อการก่อเกิดมะเร็ง ในทางตรงกันข้ามสามารถลดฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์ได้
อนึ่ง โปรตีนเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทดแทนเนื้อสัตว์ในผู้ที่ไม่สามารถรับประทานได้ โดยมีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันออกไป มีการแต่งกลิ่นเลียนแบบเนื้อสัตว์จริงๆ หรือที่เราเรียกว่า เนื้อเทียม นั่นเอง ฉะนั้นประโยชน์และโทษของมันก็จะเหมือนกับการบริโภคถั่วเหลืองธรรมดา ซึ่งอาจมีบางคนแพ้สารต้านโภชนาการในถั่วเหลืองได้ แต่ถ้าเราเลือกกระบวนการผลิตหรือปรุงที่ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้เราได้คุณค่าจากถั่วเหลืองสูงสุด
จากการศึกษาวิจัย พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่ในทางตรงกันข้ามสามารถลดฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์ได้ ทั้งยังอาจช่วยยับยั้งหรือลดความเสี่ยงในการก่อกลายพันธุ์ โดยช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเอนไซม์ที่ทำลายสารพิษได้ นอกจากนี้ คนที่กินเจจะได้รับกากใยจากผักและผลไม้ในปริมาณที่มากพอ ก็จะช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยดักสารพิษในร่างกาย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แล้วยังมีสารพฤกษเคมีต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้กินอาหารเจควรระวังคือ อาหารเจมักมีไขมันสูง จึงไม่ควรกินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันมากเกินไป
นอกจากนั้น ยังมีผลการศึกษาในฮ่องกงที่ส่งเสริมการกินถั่วเหลือง ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนกินเจด้วย โดยการศึกษาไอโซฟลาโวน สารเคมีที่พบในถั่วเหลือง ถั่วเขียวเลาะเปลือกออก และถั่วฝักยาว พบว่าช่วยให้หลอดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำงานดีขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thainamdhari.com