collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: เดินทางไกลกับไซอิ๋ว (วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว)  (อ่าน 21865 ครั้ง)

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
   
ชื่อหนังสือ  เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว
.
ISBN :  
ผู้เขียน :  เขมานันทะ
จัดพิมพ์โดย :  กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ขนาดรูปเล่ม :  
จำนวน :  * หน้า
ชนิดกระดาษ :  
สำนักพิมพ์ :  
เดือน/ปีที่พิมพ์ :  
ราคา :  *

:: เนื้อหาโดยสังเขป
     วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว

:: สารบาญ

:: หมายเหตุ
    
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25/07/2010, 12:03 โดย Naktum »

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
ขอขอบคุณข้อมูลหนังสือจาก : http://maekai.bloggang.com
Credit : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=maekai&date=10-07-2008&group=15&gblog=1

เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว
โดย : เขมานันทะ
จัดพิมพ์โดย : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม



จขบ.กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ค่ะ...
เพิ่งจะเริ่มเตาะแตะไปไม่กี่หน้า แต่ก็อยากจะเล่าเสียแล้ว

หนังสือเล่มนี้ได้รับเป็นธรรมะบรรณาการมาจากมือท่านผู้ประพันธ์เองเมื่อหลายปีมาแล้ว
แต่ความหนาของหนังสือก็ทำให้ผัดผ่อนอยู่เรื่อยไป...

มาในช่วงนี้ มลภาวะทางอารมณ์ก่อเกิด จำต้องหาอะไรมาขจัดปัดเป่า จึงหยิบหนังสือเล่มนี้ลงมาปัดฝุ่น
แล้วค่อย ๆ และเล็ม...ทีละหน้า ทีละหน้า อย่างตั้งใจ

นับตั้งแต่ "คำนิยม" ไปเลยทีเดียว...
มา"เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" ไปพร้อม ๆ กับดิฉันนะคะ

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
3 : คำนิยมโดย ล.เสถียรสุต
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 25/07/2010, 12:07 »
     ไซอิ๋ว เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่ามากเรื่องหนึ่งของจีน จัดเป็นงานชั้นเด่นหนึ่งในเจ็ดเรื่อง เช่นเดียวกับ สามก๊ก และ ซองกั๋ง เรื่องสามก๊กนั้นแปลเป็นไทยได้ไพเราะชวนอ่าน แต่ซ้องกั๋งและไซอิ๋ว ซึ่งฉบับจีน ภาษาดีมาก น่าเสียดายว่าแปลเป็นไทย แล้วไม่อาจรักษาความดีของต้นฉบับไว้เพียงพอ ทำให้เรื่องไซอิ๋วนี้กลายเป็นเรื่องอ่านเล่น ไม่เป็นที่สนใจเท่าที่ควร

     ในเชิงวรรณกรรมนั้น ผู้รจนาจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าพบว่าไซอิ๋ว มีคุณค่าในทางภาษา เพราะได้เก็บรวบรวม คำพูดที่เป็นคำคมของสามัญชนที่พูดกันในปักกิ่ง อันเป็นภาษาพูดที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะคำพูดของเห้งเจีย ซึ่งมักเอ่ยคำพูดอันคมคายขึ้นมาประกอบด้วยเสมอ
     ซึ่งหากสุขภาพอำนวยให้ทำได้ ข้าพเจ้าก็เคยตั้งใจจะคัดคำแหลมคมเหล่านี้ออกมา เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอยู่เหมือนกัน

     ในด้านการแต่งนั้น ท่านผู้รจนาก็สามารถสร้างและสื่อแสดงบุคลิกลักษณะเด่นของตัวละครเอก คือ เห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งซึ่งแตกต่างกันออกมาได้ดี

     กล่าวคือ เห้งเจียมีลักษณะขี้โมโห และมีความเฉลียวฉลาด
หมูตือโป๊ยก่ายมีความโลภ และมักมากในการกิน
ซัวเจ๋งมีความโง่ซื่อเป็นเจ้าเรือน

     แม้ชื่อก็ตั้งได้ตรงกับบุคลิกของตัวละคร
อย่างเช่นเห้งเจียนี้ แปลว่า นักปฏิบัติ คือถ้าโกรธมากก็ต้องปฏิบัติให้มาก เพื่อควบคุมความโกรธ
โป๊ยก่ายมีความโลภต้องเอาศีลแปดมาควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสไว้
ส่วนซัวเจ๋งนี้โง่ก็ต้องเอาปัญญาเข้ามานำทาง

     รวมศีล สมาธิ ปัญญา ของทั้งสามนี้เข้าก็เป็นทางไปสู่ความหลุดพ้นได้
ส่วนพวกปิศาจก็เป็นบุคลิกลักษณะจิตใจชนิดต่างๆ ของคนเช่นกัน

     การตีความปริศนาธรรมใน ไซอิ๋ว เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมีเค้าให้ทำได้อยู่เหมือนกัน แต่การตีความให้ได้ความหมายทุกจุด ตลอดทั้งเรื่องอาจจะเป็นสิ่งสุดวิสัย เชื่อว่าท่านผู้เขียนคงมีหลักในการแต่ง คือเป็นเรื่องของการจัดการกับความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมมากเข้า กิเลสเหล่านี้ก็จะจางคลายหายไป กลายเป็นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา

     แต่อย่างไรก็ดี คนที่อ่านไซอิ๋วโดยมาก มุ่งเอาความเพลิดเพลินสนุกสนานและเอาประโยชน์ทางภาษาบ้าง
ไม่ค่อยมีใครอ่านอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่เอาของใหม่ไปปนไว้ในของเก่า
คนอ่านโดยมากเป็นคนรุ่นเก่า เดี๋ยวนี้ก็คงหาคนอ่านยาก
เพราะการเดินทาง ไปเจอปิศาจแล้วๆ เล่าๆ บางทีก็รู้สึกซ้ำๆ ซากๆ
คนที่ไม่มองเห็นความลึกซึ้งเป็นปริศนาธรรม ก็อาจจะเบื่อ

     ในการอ่านหนังสือชุดใหญ่ๆ เช่นนี้ ที่จริงตามตำราท่านให้อ่านโดยตลอดเที่ยวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเลือกอ่านเฉพาะตอนที่ดีอย่างพินิจพิเคราะห์ มันอาจจะไม่ดีวิเศษหมดทั้งเล่ม แต่บางตอนก็อาจมีการเจรจาคมคาย และมีการบรรยายดีมาก เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในทางภาษามาก บางตอนก็อ่านสนุก โดยเฉพาะตอนต้นของไซอิ๋ว เมื่อพระถังซัมจั๋งพบกับเห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งนี้เขียนได้สมจริงดี อย่างเช่นตอนออกเดินทาง พระถังซัมจั๋งไม่มีน้ำ เห้งเจียก็อาสาไปขอน้ำให้ ต้องไปขอกับพวกเซียนในลัทธิเต๋า เห้งเจียบอกว่าไม่เป็นไร ตนจะพูดจนให้พวกนั้นยกบ่อน้ำให้ตนใช้ไปตลอดทางจนถึงอินเดียเลยทีเดียว แต่พอเข้าไปขอจริงๆ ก็ถูกพวกนั้นเอาดาบไล่ออกมา เพราะเขาเห็นว่า แต่งตัวเป็นพระทางพุทธศาสนา

     นี้ก็น่าหัวเราะ ที่เห้งเจียทำไม่สำเร็จอย่างที่คุยโม้ไว้
อย่างโป๊ยก่ายนั้นก็เอาแต่จะกินท่าเดียว เห็นบุคลิกเล็กๆ น้อยๆ ได้ชัดเจนดี

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ ไซอิ๋ว คือ สามารถเอาเรื่องที่มีเค้าความจริง แต่ไม่ค่อยมีใครคิดและมองมาเขียนได้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างเรื่องเดินทางไปอินเดียนั้น ที่จริงผู้แต่งเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ดี และไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ มุ่งเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน และก็เขียนได้ดีจริงๆ อุดมการณ์ และจินตนาการที่ท่านคิดขึ้นมานั้นก็นำเสนอได้ดี อย่างเช่นในเรื่องภูเขาที่มีไฟใหม้อยู่ตลอดเวลา ภูเขานี้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ที่แถบภูเขาอัลไตตาด ทางตะวันตกจนสุดเขตของจีน เป็นภูเขาที่ร้อนจัดเดินผ่านเกือบไม่ได้

     เรื่อง ไซอิ๋ว นี้คงได้รับอิทธิพลจากรามายณะของอินเดีย เวลานั้นจีนได้รับพุทธศาสนาแล้ว และมีวรรณคดีต่างๆ เช่น ชาดก หรือ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้จีนมีความคิดในทางเอาอภินิหารมาใช้ด้วย เรื่องแปลงกายเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เห้งเจียแปลงเป็นแมลงวันนั้น จีนคงได้รับมาจากทางอินเดียแน่นอน เพราะจีนไม่เคยมีความคิดอย่างนี้ แต่อินเดียเก่งมาก การรับอิทธิพลนี้เข้ามา ก็นับว่าเป็นประโยชน์คือทำให้วรรณคดีมีสีสันหลากหลายขึ้น การมีจินตนาการแทรกทำให้อ่านสนุก และต้องชมว่าผู้แต่งก็แทรกได้ดีมากด้วย น่าคิดน่าวิจารณ์

     ในทางธรรมะ บางตอนก็มีประโยชน์มาก อย่างเช่นการเดินทางไปถึงไซที(อินเดีย) แล้วได้พระไตรปิฎกเปล่า ไม่มีตัวหนังสืออยู่เลย นี้ก็หมายความว่าพระสัทธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช้คำพูด ต้องมาจากการปฏิบัติและเข้าถึงจิตใจจริง ๆ แต่ว่าคนยังต้องการคำพูดที่เข้าใจได้ ดังนั้น พระถังซำจั๋งจึงต้องขอเอาฉบับที่มีตัวหนังสือกลับไปเมืองจีน

     ในประวัติศาสตร์นั้น พระถังซัมจั๋งนั้นได้แปลคัมภีร์มากมาย เพราะภาษาอินเดียท่านก็รู้ดี ภาษาจีนท่านก็รู้ดี จึงอ่านเองแปลเอง ได้ แต่ก่อนหน้านี้มีการแปลเหมือนกัน แต่ต้องผ่านล่าม ๓ - ๔ คน ฉบับที่ท่านแปลจึงถือได้ว่าเป็นฉบับแปลใหม่ แต่ก็อ่านยาก บางทีอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะท่านใช้ไวยากรณ์สันสกฤต ไม่ใช้ไวยากรณ์จีน

     เคยมีเรื่องปรากฎว่า มีประโยคหนึ่งมีอักษร ๗ ตัวเท่านั้น แต่ท่านพิจารณาตั้งหลายปีกว่าจะลงเอยว่าจะแปลอย่างไรดี เรียกว่าเป็นผู้ทำงานละเอียดมาก ยากจะหาคนเปรียบได้

     มีเกร็ดที่ลูกศิษย์เขียนเล่าไว้ในประวัติของท่านว่า พระถังซัมจั๋งเคยบวชมาแล้ว ๗ ชาติ มีสมณสารูปดีมาก เวลานั่งก็นั่งตัวตรง ไม่เอียง ไม่พิงอะไร แล้วที่แปลกที่สุดคือ ไม่มีใครเคยเห็นท่านหาวเลย อยู่ดึกเท่าไรก็ไม่หาว สมาธิดีมาก เมื่อยามท่านตาย เขาเล่าว่าท่านหกล้มและท่านมีโรคคล้ายรูมาติสซั่ม จากการตรากตรำเมื่อไปอินเดีย โรคก็ลุกลาม ท่านตายตั้งแต่อายุไม่มาก นัก สัก ๕๙ -๖๐ ปีเท่านั้นเอง
แต่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและทำงานทางคัมภีร์ไว้มาก ระหว่างผจญภัยไปอินเดียก็อดๆ อยากๆ ลำบากมาก ประวัติของท่านนับว่าน่าศีกษา แม้บางตอนจะดูมหัศจรรย์เกินไปสักหน่อยก็ตาม

     รวมความว่าหนังสือ ไซอิ๋ว รวมทั้งเรื่อง พระถังซัมจั๋ง นี้เป็นหนังสือดี ที่จะชักจูงให้คนสนใจในพุทธศาสนาได้ ท่านผู้รจนาไซอิ๋ว ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางพุทธศาสนาดีมาก และยังมีฝีมือในทางวรรณศิลป์ด้วย ท่านไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นตำราประวัติศาสตร ์หากเจตนาจะให้อ่านสนุกและมีความหมายในทางธรรมะบ้าง นับเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าน่าอ่านเรื่องหนึ่ง ซึ่งทั้งปัญญาชน และ ปัญญาอ่อนสามารถอ่านได้ แต่ใครจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับวินิจฉัย เจตนาในการอ่าน และภูมิปัญญาของผู้อ่านนั้นเป็นสำคัญ
ใครอ่านอย่างไร ก็ย่อมได้อย่างนั้น


ล.เสถียรสุต

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
4 : คำนิยมโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 25/07/2010, 12:08 »
อ่านไซอิ๋ว

ได้เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
ลิ่วลิ่วล่องไปในแดนจิต
มากมีมายาสารพิษ
มากฤทธิ์ร้อยพันสารภัย

บางครั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
นานาความอยากมักได้
คอยตั้งแต่จะเอาเข้าไป
เท่าไรเท่าไรไม่เคยพอ

บางครั้งรั้นโลดโดดดุ
ราวไฟปะทุติดต่อ
ทำลายไม่ยั้งไม่รั้งรอ
เก่งกาจจริงหนอนะใจเรา

บางครั้งงมเงื่องเซื่องซึมเซ่อ
ละเมอเพ้อบ้าพาขลาดเขลา
มืดมนหม่นมัวมั่วมึนเมา
จับเจ่าจ่อมจมจนจำเจ

ถอยหลังนั่งยามตามดูจิต
เห็นฤทธิ์เห็นรอยกำหราบเล่ห์
เห็นภูมิปัญญามาถ่ายเท
เสน่ห์ผู้รู้ผู้ตีความ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ. ๒ พ.ย. ๒๕๓๒

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
5 : หมายเหตุจขบ.
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 25/07/2010, 12:10 »
หนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่ในมือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ จัดพิมพ์โดยกองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม ยังใช้ชื่อเดิมของหนังสือคือ "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว :วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว" หากในการพิมพ์ครั้งที่สามและครั้งหลัง ๆ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น"ลิงจอมโจก" เพื่อเน้นเนื้อหาทางปัญญาให้มากขึ้น แต่จขบ.ชอบชื่อเดิมมากกว่า จึงชอยึดตามชื่อเดิมของหนังสือเล่มที่ตัวเองอ่านอยู่

อนึ่ง นี่ไม่ใช่การรีวิวหนังสือ หากแต่เป็นการ "บอกต่อ" โดยจะพยายามเก็บเกี่ยวเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้มาถ่ายทอด (ถ้าเป็นไปได้) ตั้งแต่ต้นจนจบ จะของดเว้นการวิเคราะห์วิจารณ์ใด ๆ นอกเหนือไปจากที่ท่านผู้ประพันธ์ได้ "ไขความ" ไว้ค่ะ

ถ้าท่านเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้น่าสนใจ ก็ขอเชิญติดตาม...เดินทางไปพร้อม ๆ กับจขบ.ได้ค่ะ


ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
    ก่อนการเดินทาง เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับผู้นำทางก่อนนะคะ...ในการอ่านหนังสือแต่ละเล่ม หน้าแรกเลยที่จขบ.จะอ่านก็คือคำนำ ...เพราะคำนำจะเป็นตัวช่วยในการทำความเข้าใจกับเนื้อหาภายในหนังสือได้เป็นอย่างดี

และโดยเฉพาะหนังสือไขปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋วนี้ คำเกริ่นนำของผู้ไขความมีความสำคัญมาก ทุกถ้อยคำมีความหมาย มีนัยยะจนไม่อาจจะย่นย่อเอาตามใจตัวเอง จึงขอคัดลอกมาทั้งหมด



(ภาพปกหนังสือ"ลิงจอมโจก" ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)



คำนำผู้ประพันธ์ ในการพิมพ์ครั้งแรก


ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือ ไซอิ๋ว เมื่อ ๒๐ ปีก่อน และได้อ่านหนังสือการ์ตูนอีกหลายครั้ง แต่ก็หาได้รับความรู้สึกแปลกหรือใหม่กว่าเดิมไม่ กล่าวคือก็เหมือนกับความรู้สึกของนายวรรรณ ตุลวิภาคพจนกิจ ผู้เกลาสำนวนแปลไซอิ๋ว ของนายติ่น ซึ่งท่านผู้นั้นได้แสดงความรู้สึกไว้ตอนท้ายเรื่องว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องชนิด "แต่อยู่ข้างติดตลกหัวอกลิง เท็จกับจริงปนกันทั้งนั้นเอย " ทั้งนี้เพราะว่าช่วงเวลาในท้องเรื่องที่ผู้แต่งวางไว้นั้นไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ กล่าวคือแต่งให้หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ สมณะยวนฉ่าง เดินทางไปไซที(ถิ่นตะวันตกคือ ชมพูทวีป) แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจนได้อาราธนาพระไตรปิฎกกลับสู่กรุงจีน ผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ย่อมทราบกันดีว่ากาลเวลาของพระพุทธองค์กับหลวงจีนเหี้ยนจังนั้น ห่างกันตั้งเกือบ ๑๐ ศตวรรษ กล่าวคือ หลวงจีนเหี้ยนจังได้เดินทางจากกรุงจีนในรัชสมัยพระเจ้าหลีซิบิ๋น หรือ พระเจ้าถังไทจงแห่งราชวงค์ถัง

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเข้าใจไปว่าท่านผู้รจนาเรื่องนี้ต้องสะเพร่า หรือไม่เรื่องทั้งหมดก็เขียนจริงกับเท็จปนกันดังกล่าวแล้ว อีกทั้ง ไซอิ๋ว เป็นหนังสือรวมอยู่ในพงศาวดาร ซุยถัง ก็ยิ่งชวนให้เข้าใจว่า ถ้ากวีไม่บกพร่องก็แกล้งเขียนจนเหลิงเจิ้ง ตามแบบฉบับของการเขียนตำนานหรือพงศาวดาร ทั้งชื่อเมือง ชื่อตำบล ภูเขา ในเขตแดนไซที(ชมพูทวีป) นั้นก็ล้วนเป็นชื่อจีนเสียทั้งสิ้น จึงลงความเห็นว่าผู้แต่งนั่งหลับตาเขียนโดยเอาพระถังซัมจั๋ง ผู้มีเกียรติคุณเป็นตัวเอกไปตามความนึกคิด นายติ่นผู้แปลไซอิ๋วจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยไม่ยินยอมให้นายวรรณแก้ไขสิ่งที่นายวรรณเห็นว่าผิดทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ นึกแล้วก็น่ากลัวหากว่านายติ่นยินยอม เพราะไซอิ๋วที่เป็นปริศนาธรรมที่วิเศษนั้น ก็คงจะถูกดัดแปลงทำลายเนื้อหาทางจิตวิญญาณเพราะการอันนั้น

ท่านผู้แต่งได้ซ่อนเพชรพลอยไว้ ทั้งในแง่วรรณศิลปและส่วนลึกซึ้งทางจิตใจ ในคำสนทนาของเห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง และพระถังซัมจั๋งกับทั้งตัวประกอบอื่น นี้โสดหนึ่ง ส่วนความเยี่ยมยอดนั้นกลับไปอยู่ที่โครงสร้างของการเดินทางฝ่ายจิตวิญญาณ แต่ต้นจนจบตามเนติธรรมเนียมแห่งการแต่งมหากาพย์

หากพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่า ไซอิ๋ว ได้รับอิทธิพลมาจาก รามายณะ ยวนฉ่าง(องค์จริงในทางประวัติศาสตร์) ได้กลับจากอินเดียหลังจากที่ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ถึง ๑๐ ปีกว่า พระตรีปิฏกแห่งราชวงค์ถัง ผู้เป็นยอดนักศึกษาคงจะเป็นภาชนะใหญ่ บรรทุกฮินดูธรรมและพุทธธรรมไปกำนัลแผ่นดินจีน ท่านผู้รจนาคงรับทราบถึงความวิเศษของมหากาพย์ของฃาวอินเดีย คือ มหาภารตยุทธ รามายณะ ฯลฯ แล้วคงเป็นเหตุบันดาลใจให้กวีจีนผู้นี้รจนาขึ้นบ้าง ดังที่เราเห็นได้ชัดว่า เห้งเจียนั้นถอดแบบมาจากหนุมานทุกประการ ข้อต่างอยู่ที่หนุมานของอินเดียนั้น เป็นอุปมาพลังแห่งภักตะ(ภักดี) ต่อองค์พระราม(คือ สัจจะ) ในการยกทัพไปช่วงชิงสีดา(อาตมัน) จากราวณะ(อหังการ) ซึ่งเป็นคติธรรมทางฮินดู รามายณะ ที่ท่านมหาโยคีวาลมิกิรจนาขึ้นนั้น เป็นการอธิบายเรื่องของจิตวิญญาณที่ได้หุ้มเรื่องจริง คือประวัติของรามจันทราแห่งอโยธยา วาลมิกิได้แปลงให้รามจันทราเป็นสัจจะ เช่นเดียวกับหลวงจีนยวนฉ่างผู้ทรงเกียรติคุณได้ถูกแปลงเป็นขันติ เห้งเจียของจีนนั้นเป็นโพธิปัญญา โป๊ยก่ายนั้นคือศีล และซัวเจ๋งนั้นก็คือสมาธิ


รามายณะ นั้นดำเนินเรื่องสงครามระหว่างสัจจะ(รามจันทรา) กับอหังการ(ทศกัณฐ์) เช่นเดียวกับมหาภารตยุทธ ที่กำหนดให้การเดินป่าเป็นความเป็นไปท่ามกลางของการปฏิบัติธรรม ส่วน ไซอิ๋ว ให้เป็นการเดินทางผ่านป่าทุรกันดาร ผจญภูติผีปีศาจนานา ทั้งสามมหากาพย์นี้เป็นการนำเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์มาห่อหุ้มใหม่ พร้อมกับดัดแปลงตัวละครให้เป็นคุณค่าทางศีลธรรม หรือโลกุตรธรรม วีรบุรุษเหล่านั้นมหากาพย์ได้ถุกปัดความเป็นคนออกไปสิ้น เหลือแต่ความเป็นทิพยลักษณะ(DIVINITY) สำหรับฮินดูธรรม และเป็นคุณธรรมหรือบารมีสำหรับพุทธธรรม


มีอยู่หลายตอนที่ผู้แต่งหยิบมาจาก รามายณะ ตรงๆ เช่นใน รามายณะ หนุมานไปพบนางสีดาในสวน แล้วไม่สามารถอุ้มนางมาได้ เพราะจะเป็นมลทินแก่นาง(รามเกียรติไทย นิยมเรียกตอนนี้ว่า หนุมานถวายแหวน) ซึ่งแท้จริงมีความหมายมากกว่านั้น ซึ่งจะเฉลยรวมกับไซอิ๋ว ในตอนเห้งเจียตีลังกาไปหาพระยูไล แลัวไม่สามารถรับพระไตรปิฎกมาเมืองจีนได้นั่นเอง เพราะว่าต้องรอให้ปัญญาหรือโพธิจิตนี้ ได้มีบารมีอื่นสนับสนุน
และที่สำคัญต้องผ่านการฆ่าปีศาจ นั่นคือชนะอุปสรรคต่างๆได้แล้ว จึงจะได้รับวิมุติ มิใช่ว่าจะเข้าถึงได้ด้วยสักแต่การ คิดๆ นึกๆ ตามแบบอย่างวิธีการของปรัชญา

ใน ไซอิ๋ว ทั้งคณะต้องผจญปีศาจฉันใด พระรามก็ต้องจองถนนไปลงกาฉันนั้น ลำพังจะให้เห้งเจียเข้าถึงพุทธะก็ได้ แต่ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้ เพราะยังไม่รู้อริยสัจตามที่เป็นจริง

หรือ ตัวอย่างที่เราอาจจะเห็นได้ดีกว่า แม้ความรู้เรื่องสุญญตาหรือความว่างถูกต้องแล้ว แต่ยังต้องเป็นทุกข์กระสับกระส่าย เรื่องทั้งนี้เพราะว่านั่นยังเป็นเพียงความรู้เฉยๆ ยังหาใช่ญาณจักษุในอริยสัจไม่ ต่อเมื่อชีวิตผ่านการสู้รบกับภูติผีปีศาจแล้ว จึงจะเป็นสัจจะที่มั่นคงขึ้น การตีลังกาไปหาพระยูไลนั้น แม้จะเป็น "ฤทธิ์ " แต่เป็นสิ่งชั่วคราว นั่นคือจะทำเป็นเข้าถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นดื้อๆ พาลๆ นั้นไม่ได้ แต่การรู้จักพระยูไลแม้ด้วยการตีลังกาไปก็ยังเป็นหลักประกันที่แน่นอนว่า เห้งเจียไม่เคยหลงยึดถือหรือหลงกลปิศาจตนใหน เพราะได้รู้จักพุทธภาวะถูกต้องดีมาก่อนนั่นเอง ดังนั้นการตีลังกาไปหาพระยูไลเมื่อคราวอับจนนั้น ก็คือการทำให้ว่างจากความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ก็พลันถึงพุทธภาวะ แม้เป็นการชั่วคราว ปีศาจคือกิเลสก็พ่ายแพ้ไปได้เช่นกัน
ในตอนเห้งเจียสู้รบกับลักฮี้เกา(วิภวตัณหา)นั้น เห็นเค้าว่าพาลีรบสุครีพอยู่ชัดเจน ในส่วนอรรถะของปริศนาก็วิเศษตรงอุปมาว่า ความอยากเป็นพระอรหันต์เป็นภวตัณหา ปัญญาที่จะละภวตัณหา จึงสู้รบกันเอิกเกริก เพราะไม่สามารถแยกออกว่า ใหนเป็นปัญญา ใหนเป็นภวตัณหา จนพระยูไลต้องเสด็จไปตัดสิน


ตอนปราบปีศาจไซท่อ(สิงโต) ของพระกวนอิมนั้น มเหสีของพระเจ้าแผ่นดินจูจี๊ก๊กได้รับเสื้อหนามพุงดอสวม ปีศาจจึงเข้าไกล้มิได้ ดูเค้าจะเลียน รามายณะ ตอนทศกัณฐ์จะเข้าไกล้สีดาก็ให้รุ่มร้อนดังเข้าไกล้ไฟ

ที่เมืองปีเปี๊ยกก๊ก เห้งเจียแหวกอกให้ดูว่าไม่มีใจ นี้ในส่วนความหมายตามวิธีหรือตามทางแห่งมหายานนั้น มีความหมายวิเศษว่า "พระนั้นต้องไม่มีใจ" และในส่วนอิทธิพลหรือที่มา ยืมมาจากตอนที่หนุมานแหวกอกให้ทศกัณฐ์ดู ในคราวที่ทศกัณฐ์เกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวก ในใจหนุมานมีแต่ สีดา -รามเท่านั้น ส่วนพุทธะในใจของพระโยคาวจรหรือภิกษุ จะต้องมีความว่างจากตัณหาอุปาทาน


นอกจาก ไซอิ๋ว หยิบยืมมาจากรามายณะแล้วยังมีเรื่องราวที่หยิบเอามาจากบันทึกการเดินทางของพระสมณะยวนฉ่าง(ตามทางประวัติศาสตร์) มาผสมผสานลงด้วย
อย่างเช่นเหตุการณ์ตอนสมณะยวนฉ่างไปพบเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ที่ท่านได้บันทึกไว้ก็ถูกนำมาใส่ไว้ ตอนหนอน ๙ หัว(มละ ๙)
บันทึกเรื่องราวการตกแต่งประทีปอันงดงามที่เมืองหนึ่ง ได้กลายมาเป็นตอนปีศาจควายปลอมมาเป็นพระพุทธเพื่อขโมยน้ำมันจันทน์


เมื่อพระสมณะยวนฉ่างถูกโจรปล้น ก็ถูกมาไว้ในไซอิ๋วหลายตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนหลวงจีนยวนฉ่าง(องค์จริงตามประวัติศาสตร์) บันทึกถึงการเดินทางที่ท่านนำพระคัมภีร์ ข้ามแม่น้ำสินธุแล้วเกิดเรือล่ม ทำให้อักขระเลือนหายไป จนท่านต้องเสียเวลาคัดลอกใหม่จนครบ ก็ถูกนำมาไว้ในไซอิ๋วใน ฐานะ "ธรรมที่คัมภีร์ไม่ได้บันทึกไว้" ซึ่งพอจะประมวลได้ว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ผสมผสานกับรามายณะ ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ท่านผู้รจนาเป็นผู้แตกฉานรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพุทธธรรม เนื้อหาของพระสูตรมากมายถูกนำมาแทรกไว้ตลอด ทั้งเต๋า ทั้งพุทธ ทั้งธรรมเนียม ทั้งภาษิตโบราณ คลุกเคล้ากันไปอย่างน่าสนใจยิ่ง ผู้รู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีผู้หนึ่งชี้ให้ข้าพเจ้าได้ทราบว่า แม้แต่ในแง่ภาษาที่แต่ง ก็มีความไพเราะลึกซึ้งยิ่งนัก ไซอิ๋ว จึงแพรวพราวไปด้วยคุณค่ารอบด้าน


ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ทุกสิ่งถูกแปลงเป็นคุณธรรมหมดสิ้น ฉะนั้นผู้อ่านที่หวังสุนทรียรสก็จะได้ในระดับหนึ่งดังกล่าวแล้ว ส่วนอรรถะหรือธรรมรสนั้น จำเป็นต้องทราบเนื้อหาอุปมาอย่างชัดเจนก่อน ความเยี่ยมยอดและวิเศษของ ไซอิ๋ว ที่ไม่เหมือนวรรณกรรมอื่นอยู่ที่ผู้อ่านจะต้องลืมความเป็นคนอย่างหมดสิ้น ไม่มีพระถังซัมจั๋ง ไม่มีหลี่ซิบิ๋น ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีลิงเห้งเจีย ไม่มีหมูโป๊ยก่าย ไม่มีเงือกซัวเจ๋ง มีแต่คุณะ หรือ คำที่ยืมชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มาเรียกเท่านั้น มิฉะนั้นความที่ไซอิ๋ว นั้นซับซ้อนนั่นเองจะปกปิดอรรถรสเสียหมด แล้วท่านผู้อ่านเองจะเป็นฝ่ายลดระดับค่าของวรรณกรรมนี้ลง

ขณะที่อ่านนั้นเรามักจะเผลอไปจากระนาบนี้ เพราะว่าพระพุทธองค์ที่ประทับอยู่ในวัดลุยอิมยี่นั้น ก็หาใช้พระพุทธเจ้าทางกายภาพไม่ แต่กลับเป็นพุทธภาวะ และดังนั้นขันติคุณแห่งชีวิต(พระถัง) ที่อาศัยโพธิจิต(เห้งเจีย) และบารมีอื่นประกอบสนับสนุน จึงได้บรรลุถึงพุทธภาวะ สมัยใดเห้งเจียไม่นำทาง ให้โป๊ยก่าย(ศีล) นำ คือจูงม้า(วิริยะ) โป้ยก่ายจะนำเข้ารกเข้าพง เข้าถ้ำผีจนถูกกักขัง และรอให้เห้งเจีย(ปัญญา) มาช่วยปลดปล่อยดังนี้ เป็นต้น
แม้แต่เจดีย์ หาบห่อ ต้นไม้ ภูเขา ถ้ำ ลำธาร และอาวุธวิเศษต่างๆ ก็ล้วนเป็นความหมายทางธรรมทั้งสิ้น

และที่ยิ่งไปกว่านั้น พระสงฆ์ก็หาใด้หมายถึงพระสงฆ์ไม่ กลับหมายถึงเจตสิกธรรม ในขณะที่อ่านไซอิ๋วเป็นปริศนานี้ จำเป็นต้องทำในใจให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว แล้วท่านจะพบกับความขบขันในปริศนาธรรมขั้นลึก ความขบขันทีโพธิปัญญาจะดูหมิ่นดูแคลนศีล หรือว่าโพธิปัญญาทะเลาะกับขันติที่มันเอาแต่จะทนฝ่ายเดียว มิได้เชื่อโพธิในการฆ่ากิเลส อรรถรสในปริศนาธรรมที่ไม่มีคน ไม่มีสัตว์นี้ช่างแสนสนุก ตรงที่ได้นึกทายหรือคาดการร์ว่าปีศาจตัวนี้คือกิเลสตัวไหนหนอ และปัญญาจะผ่านปีศาจได้อย่างไรหนอ เมื่อกระทำในใจเพื่อจะอ่านไซอิ๋วเช่นนี้ จะได้ความหรรษาในธรรมสโมธานอย่างลึกซึ้ง พร้อม ๆ กับความบันเทิง

สรุปได้ว่าทุกสิ่งอยู่ในใจ ผู้ที่อ่านไซอิ๋วจะพบว่าการอ่านไซอิ๋วเป็นดุจการได้สนทนากับชีวิต ไซอิ๋ว จึงเป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้งเท่าๆ กับความเป็นวรรณกรรม เพราะท่านผู้แต่งได้รวบรวมเอาเนื้อหาในพระสูตรไว้หลายสิบสูตรชื่อของถ้ำปีศาจและชื่อของภูเขาและพรรณไม้รอบๆ ถ้ำจะเป็นกุญแจไขข้อธรรม น่าเสียดายว่า ไซอิ๋ว ฉบับไทยนั้นไม่คงเส้นคงวาในการแปลชื่อเท่าใดนัก

ข้าพเจ้าได้เคยเข้าใจคลาดมาหลายระดับ แม้แต่เคยเข้าใจว่า เห้งเจีย
โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งถ้าพิจารณานิสัยของสัตว์ทั้งสามก็คงจะใกล้เคียงมาก ครั้นต่อมาครูของข้าพเจ้าได้ชี้ขึ้นว่า ที่แท้สัตว์ทั้งสามนั้นคือ ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยุ่นั่นเอง โพธิก็ยังเถื่อน ศีลก็ยังทุศีล และสมาธิก็ยังซึมกะทืออยู่ ครั้นต่อมาเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันแล้ว ถึงเขตโลกุตระ ทั้งสามตัวเริ่มเข้าร่องเข้ารอยกันได้ หากจะถือว่าทั้งสามสัตว์ คือ ราคะ โทสะ โมหะแล้ว พระถังซัมจั๋งจะอาศัยไปไซที(นิพพาน) ได้อย่างไร ดูขัดเขินกว่าที่จะลงเห็นว่าเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังเป็นโลกียะอยู่ ต่อมาเมื่อได้พิจารณาถี่ถ้วน หรือว่าท่านผุ้อ่าน ไซอิ๋ว จนจบเรื่องนั่นแหละ จึงจะมีความเห็นร่วมกับข้าพเจ้าเป็นแน่


จนบัดนี้ข้าพเจ้ายังหาได้เข้าใจในปริศนาธรรม ไซอิ๋ว ได้ทุกแง่ทุกมุม อันเกิดจากอัจฉริยภาพของท่าน โหงว-เซ่ง-อึง อย่างเต็มที่ไม่ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ยังมีส่วนลึกซึ้งที่ได้มองข้ามไปอีกมาก กระนั้นเท่าที่ทราบความหมายแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้รวบรวมอุตสาหะแก้อรรถไซอิ๋ว ตามกำลังสติปัญญา โดยย่อเรื่องพอเป็นเค้าแล้วเฉลย จึงขาดรสสนุกไปมาก ถ้าหากว่าท่านผู้อ่านได้อ่านต้นฉบับไซอิ๋วมาบ้างแล้ว ก็คงจะได้ประโยชน์จากการเฉลยอรรถนี้มากยิ่งขึ้น และข้าพเจ้าคงจะได้บุญกุศลบ้าง จากการพยายามพิสูจน์ตามกำลังอันน้อยนิด ว่าวรรณกรรมในระนาบนี้ ในวิธีการเขียนชนิดนี้ เป็นแก่นสารของวรรณกรรมแห่งเอเชียที่เคยรุ่งโรจน์ทางนามธรรม และได้เสื่อมคลายลงเพราะอำนาจความคลั่งไคล้ในวัตถุในปัจจุบันนี้

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับกันว่า วรรณกรรมระดับมหากาพย์หาได้ยากนัก เพราะกวีนิพนธ์ใหม่ ๆ ล้วนถูกสร้างออกมาจากนักเขียนที่เป็นทาสอายตนะ แม้ว่าวรรณกรรมใหม่ ๆ จะเกิดมาจากสติปัญญา แต่เป็นสติปัญญาที่อยู่ในระนาบสามัญ ซึ่งยังไม่พ้นอิทธิพลของอามิส

อาเธอร์ วัลเลย์ กวีชาวอังกฤษได้แปลและเรียบเรียงเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ และเขียนนำว่าเป็นเรื่องสนุกดังเรื่อง เดวี่ครอกเก็ต พร้อมกันนั้นเขาได้ชี้ช่องว่า ไซอิ๋วเป็นเรื่องลึกซึ้งทางจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน ชาวตะวันตกมักจะรู้จักไซอิ๋วในนาม "Monkey god" มากกว่า "ไซอิ๋วกี่" ซึ่งหมายถึง การเดินทางไปตะวันตก(Journey to the West) ซึ่งหมายถึงอินเดีย และในส่วนลึกหมายถึงพระนิพพาน


เขมานันทะ

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
7 : บุพพภาคก่อนเดินทาง
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 25/07/2010, 12:24 »
โห...สนุกค่ะ
อ่านแล้วติดพันไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลยทีเดียว...
ล้ำลึกและแยบคายมาก ๆ

ขอสารภาพว่าจขบ.ไม่เคยอ่านไซอิ๋วมาก่อน ได้แต่ดูหนังทีวี ซึ่งดูแล้วก็เห็นแต่เรื่องราวของการเดินทางผจญภัย ต่าง ๆ นานา พอจะเข้าใจแล้วว่าเป็นปริศนาธรรม หากก็ไม่ได้คิดตามไปลึกซึ้งนัก รับเฉพาะส่วนที่เป็นความบันเทิงเสียมากกว่า จนเมื่อได้ลงมืออ่านการวิเคราะห์ ไขปริศนาธรรมจากไซอิ๋วเล่มนี้นี่แหละ...จึงได้กระจ่างแจ้งในใจว่า...นี่คือสุดยอดวรรณกรรมโดยแท้ทีเดียว

บล็อกนี้มายาว ๆ อีกแล้ว อย่างที่บอกไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้ว่า...
มันยากที่จะย่นย่อแล้วให้ได้ใจความจริง ๆ





คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๒


กวีโหงว-เซ่ง-อึงเขียนไซอิ๋ว เมื่อเขาอายุ ๖๐ ล่วงแล้ว ความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิตของเขาเอง และการศึกษาพุทธธรรมอีกทั้งการเฝ้าสังเกตต่อความเป็นไปของชีวิต ทำให้สะท้อนออกมาใน ไซอิ๋ว ได้อย่างลึกซึ้งและแยบคาย แม้ต้นเค้าไซอิ๋วกี่ก็คือ รามายณะ ก็ตาม หากแต่มีความผิดแผกกันมาก ไม่ว่าในทางรูปลักษณ์แห่งวรรณศิลป์และสัญลักษณ์


......................................


โครงสร้างของการเดินทางในภายใน จากเมืองมนุษย์ของวีรบุรุษหาญกล้า อันหมายถึงศรัทธาหรือสติปัญญา ฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ จนลุถึงสรวงสวรรค์ได้ ภูติผีปิศาจนั้นที่แท้คือภาคหนึ่งของเทพ และการพบอุปสรรคนั้นเป็นแผนการของสวรรค์ที่จะทดสอบน้ำใจของวีรบุรุษ การเดินป่าของรามา การสร้างสะพานพันธะ(เสตุพันธ์) ไปลงกา การเดินป่าของพี่น้องปาณฑพใน มหาภารตะ การลุถึงป่ามืดครึ้มไร้เดือนดาว การลุถึงพระพักตร์มหาเทพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือภาพอันกวีรจนาขึ้นด้วยพจน์อันไพเราะวิจิตรอลังการ


.........................................


กลเม็ดเด็ดพรายของผีใหญ่ๆ ที่จำแลงมาเป็นเทพ มาเป็นพระพุทธเจ้าในตอนท้ายเรื่องไซอิ๋ว นั้นนับว่าลึกซึ้งและคมคาย มันมาเป็นเทพเป็นธรรม ทั้งที่แท้จริงเป็นปีศาจร้าย ยิ่งไกล้จบยิ่งดุและเดือด สติปัญญาเห็นสุญญตา(หงอคง) หรือ โพธิต้องรบหนัก ยิ่งปีศาจแปลงมาเป็นเห้งเจียเองด้วยแล้ว ยิ่งยากจะแก้ไข ต้องสำรวมจิตเป็นหนึ่ง เห็นสองจิตรบกันจนกว่าโพธิ(เห้งเจีย-หงอคง = ปัญญาเห็นสุญญตา) ได้จำแลงกายเป็นแมงหวี่ ชำแรกเข้าไปในท้องปีศาจ แล้วจึงกำราบมันอยู่ นั่นก็คือเห็นกิเลสด้วยปัญญาชนิดชำแรกแทรกซึม กล่าวคือ เป็นอันเดียวกับกิเลส กิเลสหยาบนั้นละได้ง่ายด้วยตะบองของเห้งเจีย แต่กิเลสชั้นสูงนั้นไม่อาจทุบตีมันให้ตายได้ ไซอิ๋วบอกเราว่า ต้องรู้เข้าไปถึงเนื้อในของกิเลส แล้วจะพบว่ามันไม่ใช่อะไรอื่น มันคือพาหนะของโพธิสัตว์จำแลงมา โพธิปัญญาล่วงรู้ถึงใหนเรื่องราวก็ยุติลงถึงนั้น

ผมทึ่งในอรรถะของ ไซอิ๋ว เป็นอย่างยิ่ง ความฉลาดสามารถของ โหงว-เซ่ง-อึงผู้ประพันธ์นั้น นับว่าเป็นอัจฉริยะโดยแท้ ข้อสำคัญการนิพนธ์เรื่องยาวเป็นบทกวี ทั้งบรรจุสารัตถธรรม ขนบประเพณีมากมายไว้เช่นนี้ และยังแทรกอารมณ์ตลก อันเป็นปฏิภาณของกวีเองด้วย ย่อมยากยิ่ง


...........................................


"เดินทางไกลไปกับไซอิ๋ว" ที่พิมพ์ครั้งแรกนั้น แม้มีเวลามากในการกลั่นกรอง แต่ก็ไม่แน่ใจอยู่หลายสิ่ง และประการสำคัญที่สุด คือ ไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเข้าใจ แม้มีผู้เรียกร้องต้องการอยู่ ก็ยังไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำออกมาใหม่
ต่อเมื่อวันเวลาผ่านมา ๑๐ ปีเศษ ความเข้าใจใหม่ๆ เกิดขึ้นจากรากฐานเดิม ช่วยให้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับ พระดุษฎี เมธงฺกุโร แจ้งมาว่า จะช่วยให้อนุเคราะห์ในการจัดพิมพ์ครั้งใหม่ จึงได้ปรับปรุงเนื้อหาตัดตอนบางส่วนออกเพื่อความเหมาะสม
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในความปรารถนาดีของพระดุษฎี ทั้งผู้ช่วยเหลืออื่น รวมทั้งสำนักพิมพ์ด้วย.


เขมานันทะ
๕ มิถุนายน ๒๕๓๑





บุพพภาค ก่อนเดินทาง

ซัมเอี๋ยมเกาตัย ซั้นดุนเซง
~ อากาศเกื้อกูลกระทำให้เกิดสัตว์ต่างๆ

เซียมเจียะเปา ฮ้ามยักง้วยเจ๋ง
~ ศิลาเทวดาครอบคลุมรับแสงอาทิตย์และพระจันทร์
กระทำให้เป็นพญาลิงเผือก ขาวบริสุทธิ์ มีกำลังมาก

เจียวมึงห่วยเก๊า ฮ่วนไต้เต๋า
~ อาศัยไข่เป็นรูป เกิดลิงหินเป็นต้นเหตุแห่งมรรคผล

เก๊ทามี แส่พ่วยตันเซ้ง
~ สมมติชื่อแซ่นั้น เพื่อสำเร็จแล้ว

หลายกวยปุดเซ็ก ยินโป้เสียง
~ พิจารณาข้างในไม่รู้ เพราะไม่มีรูปและลักษณะ

งั่วฮะเมงจาย จวกฮู่เฮ้ง
~ ประกอบภายนอก รู้แจ้งทำเป็นรูป

เละต๋ายนั่งนั้ง กายเซอกือ
~ ต่อมาทุกๆ คน ต้องอาศัยลิงตัวนี้

แชอวงแชเซี๊ยะ ตั้วตุ๊งฮ้วน
~ เป็นเจ้าพญาอยู่ ณ ที่นั้นฯ



หงอคง
(ความเป็นมา สมัยเป็นมิจฉาทิฏฐิ)


ฟ้า-ดิน สร้างลิง(โพธิ)ขึ้นจากหิน ให้เป็นลิงสามัญ แล้วค่อยๆ เติบโตกล้าแข็งขึ้น จนลิงบริวารยกขึ้นเป็นไต้อ๋อง ชื่อมุ้ยเกาอ๋อง เป็นลิงเผือกขาวผ่องบริสุทธิ์ ซึ่งมีความหมายว่า โพธิจิตนั้นบริสุทธิ์อยู่ตามธรรมชาติแล้ว ทุกคนต้องอาศัยลิงตัวนี้ เพราะว่าโพธิจิตนี้เป็นต้นเหตุแห่งมรรคผล ดังโศลกที่ท่านกวีรจนาไว้

ต่อมาหงอคง(เห้งเจีย) ประสงค์จะพ้นจากเกิดแก่เจ็บตาย จึงได้สืบหาธรรมวิเศษ พญามุ้ยเกาอ๋องได้ไปถึงไซที(อินเดีย) กลับไม่พบผู้รู้ธรรมวิเศษเลย จึงได้ย้อนมาเกาะลังกา แลได้พบท่านผู้วิเศษคือ โผเถโจ๊ซือ (สังฆนายกสุภูติ) จึงได้เรียนปริยัติธรรม

ตอนขอเรียนปริยัติธรรมนั้น มุ้ยเกาอ๋องปฏิเสธที่จะเรียนเดียรัจฉานวิชาต่างๆ อันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ต้องการแต่ความเป็นอมตะ
ในที่สุดจึงได้เรียนธรรมหฤทัย จนท่องได้ขึ้นใจ อาจแปลงกายได้ ๗๒ อย่าง ( เท่ากับสภาวธรรม ๗๒ โป๊ยก่ายแปลงกายได้ ๓๖ หงอคงมากกว่า ๒ เท่า กำลังของปัญญากับศีลนั้นแปลงได้ ๑๐๘ เท่ากับจำนวนตัณหา ๑๐๘ ส่วนซัวเจ๋ง (อนันตริกสมาธิ) นั้นแปลงไม่ได้เลย)

ต่อมา เมื่อหงอคงได้กลับมาถึงถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง(ถ้ำม่านน้ำ)เดิม จึงได้ทราบว่าระหว่างที่ตนแสวงหาความรู้อยู่นั้น ปีศาจหุนซีหม้อกุน(หุนซีหม้อกุน = ยุ่ง + โลก + สมัย) ได้มาแย่งชิงถ้ำและจับบริวารลิงไปกักไว้ที่ถ้ำผี และผี(อวิชชา) นี้มันมาเหมือนพายุ เมื่อมันไปก็เป็นหมอกมืดคลุ้ม ไม่รู้ว่าหนทางไปมาจะไกล้ไกลสักเท่าใด หงอคงตามไปฆ่าปีศาจตาย แล้วแย่งอาวุธมาได้ด้วยถอนขนเป็นลิงน้อยหลายร้อยตัวเข้ารุมจับ (หงอคงมีขนอยู่ ๘๔,๐๐๐ เส้น ทุกเส้นอาจแปลงเป็นลิงได้ นี่คือปริยัติใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) โพธิใช้สุตพละ(กำลังที่เกิดจากการฟังการเรียน) ฆ่าปีศาจคือความไม่รู้(อวิชชา)ในปริยัติ และในที่สุดจึงได้เป็นใหญ่ในหมู่ปีศาจทั้งหลาย และได้เพื่อนผี รวมทั้งตัวเองเป็น ๗ พญาผี

เรื่องตอนได้อาวุธคือตะบองวิเศษนั้นเป็นดังนี้ ซึงหงอคงคิดตั้งตนเป็นใหญ่ ต้องการอาวุธคู่มือที่เป็นเหล็ก แต่เดิมเป็นง้าว ซึ่งเป็นอาวุธของปีศาจหุนซีหม้อกุน ต่อมาได้อาวุธ ๑๘ อย่าง ล้วนเป็นเหล็ก (อาวุธ ๑๘ อย่าง คือความเข้าใจชัดถึงมูลธาตุ ๑๘ คือ อินทรีย์ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อารมณ์ ๖ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ และ วิญญาณ ๖ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนวิญญาณ ซึ่งความเข้าใจเรื่องนี้เป็นดุจอาวุธเหล็ก มีกำลังมากกว่าอาวุธเดิม)

ซึงหงอคงดำริถึงอาวุธวิเศษกว่าเหล็กอีก จึงได้ดำลงในลำธาร ในถ้ำของตนที่ทะลุถึงบาดาล(เส้นล้ำลึกของใจ) ดำลงไปถึงทะเลแห่งทิศตะวันออก เขตแดนของพญาเล่งอ๋อง อาวุธ คือตะบองวิเศษนั้น จมอยู่ใต้บาดาลทางทะเลตะวันออก

หลังจากคัดเลือกอาวุธชั้นเยี่ยมใต้บาดาล จากการเสนอให้ของพญาเล่งอ๋องเจ้าแห่งทะเลตะวันออกแล้ว หงอคงมิได้พอใจเพราะน้ำหนักเบาไป จึงถูกแนะให้ไปหาตะบองกายสิทธิ์ ยืดหดได้ตามประสงค์ มีขื่อเป็นอักษร ๕ ตัวว่า ยู่อี่กิมซือเป๋ง (ตามใจ+ทอง+ปลอก = ตะบองปลอกทองได้ดังใจ) เมื่อจะให้ใหญ่ก็ได้ดังใจ จะให้เล็กเหน็บไว้ในรูหูก็ได้

นอกจากตะบองแล้ว ยังมีเครื่องแต่งกายวิเศษที่หงอคงบังคับขู่ตะคอกเอามาจากพญาเล่งอ๋องแห่งคาบสมุทรอื่น คือ เกือกวิเศษใส่แล้วเหาะได้ เกราะทองคำป้องกันอาวุธ หมวกทองคำทำด้วยปีกหงส์แคล้วคลาดจากอันตราย (ปริศนาธรรมเครื่องแต่งกายนี้ตรงกันกับสุวรรณสังข์ชาดก เกราะ คือ รูป เงาะ เกือกวิเศษ คือ เกือกใส่แล้วเหาะได้ ส่วนหมวกนั้น สุวรรณสังข์กลับเป็นไม้เท้า )

ซึงหงอคงได้อาวุธพิเศษ ก็เป็นเหตุให้ทั้งบนพื้นดินและสวรรค์ สั่นสะเทือนด้วยอัสมิมานะ หงอคง(โพธิจิตที่ยังเถื่อนอยู่) ได้ลงไปตีตะลุยนรก รุกรานเงี่ยมฬ่ออ๋องทั้ง๑๐ (มัจจุราช) และลบบัญชีตายแก่ตนและบริวารเสียสิ้น หมายถึงโพธินั้นไม่มีวันตาย หรือสภาวะที่อยู่เหนือความตาย

พญาเงี่ยมฬ่ออ๋อง(มัจจุราช) และพญาเล่งอ๋อง(ผู้เป็นใหญ่ในทะเล) ได้ยื่นฎีกาต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ ในความเถื่อนของหงอคงที่ไม่ยอมอยู่ใต้บังคับของสิ่งไหน แม้ความเกิด -ตาย ไม่ยอมรับผลของกรรมใดๆ จนเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องประชุมเทพยดาเพื่อปราบปรามหงอคง

อุบายในการปราบหงอคงนั้นก็คือ ทดใช้พลังเถื่อนของโพธิให้มาสู่ฝ่ายสวรรค์(บุญ) แทนการสมาคมกับภูตผี (ถึงตอนนี้ ท่านกวีได้ล้อเลียนว่า ปัญญาหรือโพธิ(ในระดับที่ยังเถื่อนอยู่) ที่เชี่ยวชาญแตกฉานเหนือสิ่งใดในโลกแล้วนั้น เหมาะสำหรับเป็นแม่กองเลี้ยงม้าบนสวรรค์เท่านั้น)
หงอคงถูกล่อด้วยตำแหน่งที่เป๊กเบ๊อุน(เลี้ยงม้า-กวาดขี้ม้า) ครั้นรู้ความที่ตนถูกลวงแล้ว อัสมิมานะก็พลุ่งขึ้น หงอคง(โพธิ) ได้อาละวาด ทำลายบัญชีข้าวของและเหาะกลับมาอยู่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋องตามเดิม โพธิที่ยังเถื่อนอยู่นั้น หายอมพอใจกับบุญที่ไร้เกียรติไม่

เมื่อกลับถึงถ้ำอันเป็นนิวาสถานของตัวแล้ว ปีศาจตระกูลต๋อกกั๊ก ๒ ตน (คือ มานะ และ อติมานะ) ได้มาสวามิภักดิ์พร้อมกับยุส่งว่า " ไต้อ๋องมีฤทธิ์อานุภาพไม่มีใครจะต่อต้าน ธุระอะไรจะมาเป็นนายกองเลี้ยงม้า ข้าพเจ้าเห็นว่าฤทธิ์เดชของไต้อ๋อง สมควรจะเป็นซีเทียนไต้เซี้ย คือเป็นใหญ่เสมอฟ้าจึงจะควร "

ตั้งแต่ปีศาจตระกูลต๋อกกั๊กเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยหงอคงแล้ว จึงได้เกิดเหตุโกลาหลทั้งฟ้า เง็กเซียนฮ่องเต้จอมสวรรค์จึงได้รับสั่งให้ถักทะลีทีอ๋องแม่ทัพสวรรค์ พร้อมกับโลเฉียยกทัพไปปราบหงอคง
ไม่ว่าโลเฉียจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อย่างใด หงอคงแปลงกายสู้ได้ทั้งสิ้น กองทัพสวรรค์ก็ต้องพ่ายแพ้ไป อันเป็นเหตุให้อัสมิมานะลงรากมั่นคง และถึงกับแต่งตั้งเพื่อนปีศาจอีก ๖ ตนขึ้นเป็นไต้เซียนเหมือนตัว (มิจฉาทิฏฐิ คือ อุจเฉททิฏฐิเพิ่มกำลังยิ่งขึ้น) และได้เลี้ยงเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ ทั้งลิง(โพธิ) ทั้งผี(กิเลส) ก็รื่นเริงอยู่ในถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง

สวรรค์ต้องดำเนินนโยบายใหม่ ในการทดใช้พลังของโพธิให้ไปสู่หนทางบุญให้ได้ จึงยอมแต่งตั้งให้หงอคงเป็นซีเทียนไต้เซี่ยตามอัสมิมานะของหงอคง โดยเง็กเซียนฮ่องเต้รับสั่งให้เทพบุตรสร้างหอขึ้น ๒ หอ คือ หอเย็นระงับใจ และ หอเก็บรักษาอารมณ์ นี่คือเทคนิคของสวรรค์ในการปราบโพธิเถื่อน แล้วทรงประทานสุราที่พวกเซียน(ผู้สำเร็จ) ในสวรรค์นิยมดื่มให้ ๒ คนโท(คือปีติและสุขจากการระงับใจและเก็บรักษาอารมณ์) พร้อมกับดอกไม้ทองคำสิบกิ่ง(คือ กุศลกรรมบถ ๑๐) เพื่อระงับมิให้ทำการชั่ว

ซีเทียนไต้เซีย มีความปราโมทย์บันเทิงกับตำแหน่งในสวรรค์ทุกเช้าเย็น แต่หารู้ไม่ว่าตนเป็นขุนนางตำแหน่งไหน มีอยู่แต่ชื่อเท่านั้น(ความสุขจากการมีบุญนั้นมี แต่ชื่อไม่ใช่ทางแห่งมรรคผล) ไม่ช้าซีเทียนก็ก่อเหตุจลาจลในสวรรค์ขึ้นจนได้

เง็กเซียนฮ่องเต้ขอให้ซีเทียนใช้เวลาว่างในการตรวจตรารักษาสวนชมพู่ทั้ง ๓ สวน เพื่อใช้เวลาว่างในสวรรค์ให้มีค่า สวนชมพู่ ๓,๖๐๐ ต้น(พระสูตร) ซีเทียนแอบขโมยชมพู่ในสวนที่สามกินหมด และได้ร่ายเวทตรึงนางฟ้า ๗ องค์ที่เป็นพนักงานสอยชมพู่ ในงานกินเลี้ยงพวกเซียน ได้แอบเข้าไปกินอาหารทิพย์ สุราทิพย์(สุขในบุญอันชวนเมา) และได้เมาสุราจนเดินล่วงล้ำเข้าไปเขตท่านพรหมท้ายเสียงเล่ากุน และได้ขโมยกินยาวิเศษที่เป็นยาอายุวัฒนะของพรหมชั้นนั้นที่บรรจุอยู่ในคนโท ๕ ใบ (ยาวิเศษ ในคนโท ๕ ใบ คือองค์แห่งปฐมฌาน ได้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ในที่สุดซีเทียนจึงได้เหาะหนีลงสู่นิวาสถานเดิม คือถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง และยังติดรสของสุขในสวรรค์จนต้องหวนขึ้นไปขโมยสุราทิพย์ลงมากำนัลแก่ลิงบริวาร(เจตสิกได้ลิ้มรสสุขจากการระงับใจแล้ว)

เง็กเซียนฮ่องเต้รับสั่งให้จับตัวซีเทียนให้ได้ จึงกองทัพสวรรค์นำโดยถักทะลีทีอ๋องและโลเฉีย สมทบด้วยทัพดาวยี่สิบแปดดวง สิบสองง่วนสิน ดาวทั้งเก้า เจ้าฮวงเจี๊ยบ (เทพารักษ์) พร้อมทั้งท้าวกิมกัง(จตุโลกบาล) สมทบด้วยปุดเฉีย แม้กระนั้นแล้ว ทัพสวรรค์(กุศลเจตสิก) ก็ยังพ่ายแพ้แก่ซีเทียนไต้เซี้ย(โพธิ) ผู้มีต๋อกกั๊กกุยอ๋อง(มานะและอติมานะ) เป็นแม่ทัพหน้า

พระโพธิสัตว์กวนอิม(อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์-เมตตาอันใหญ่หลวงในสรรพสัตว์) ได้แนะนำให้เชิญยี่หนึงจินกุน(สัมมาทิฏฐิ ๗) พระนัดดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ ที่อยู่ในศาลลำน้ำก๊วนจิ๋วมาปราบซีเทียน ยี่หนึงจินกุนจึงพาพี่น้องอีก ๖ พร้อมด้วยเทพารักษ์ สบทบด้วยกองทัพของถักทะลีทีอ๋อง(พรหมวิหารสี่) และด้วยการช่วยขว้างอาวุธวิเศษของท้ายเสียงเล่ากุน(สมถะ) ลงบนหัวของซีเทียน ยี่หนึงจินกุนจึงจับตัวซีเทียนได้

ซีเทียน(โพธิเถื่อน) ครั้นถูกแผ่นทองคำวิเศษซ้ำจึงล้มลง ยี่หนึงจินกุน และพี่น้อง(สัมมาทิฏฐิ ๗) จึงตรงเข้าเอาอาวุธข่มไว้แล้วเอาเชือกวิเศษผูก แล้วเอามีดวิเศษเสียบย้ำเข้าที่กระดูกสันหลังของซีเทียน(ข่ม ผูก เสียบ ย้ำ นี่เป็นเคล็ดในการฝึกจิต)

เง็กเซียนฮ่องเต้ รับสั่งให้เอาซีเทียนไปประหารชีวิตเพราะชอบก่อการจลาจลบนสวรรค์(บุญนั้นไม่ชอบโพธิปัญญานัก) ฟันด้วยดาบ เผาด้วยไฟ ผ่าด้วยสายฟ้า ซีเทียนก็หาได้ระคายเคืองผิวไม่ เพราะโพธินั้นกายสิทธิ์ เหตุด้วยฟ้าดินสร้าง

ลบบัญชีตายออกจากพญาเงี่ยมฬ่ออ๋อง และยังได้พลังสวรรค์จากการได้กินชมพู่ทิพย์(พระสูตร) สุราทิพย์ และ ยาอายุวัฒนะวิเศษ

เง็กเซียนฮ่องเต๊จึงมอบซีเทียนไว้กับพรหมท้ายเสียงเล่ากุน เพื่อให้นำไปหลอมในเบ้าหลอมวิเศษชื่อ เบ้าโป๊ยก่วย ซีเทียนอาละวาดถีบเบ้าหลอมพังพินาศ ชักตะบองออกตีกราดจนหมู่เทพถอยร่น แม้พรหมท้ายเสียงเล่ากุนก็ไม่อาจต้านทานได้ ซีเทียนบุกเข้าไปจนถึงปราสาทที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ สู้รบกับทหารรักษาพระองค์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ จนทหารเทพต้องล้อมไว้ แต่ไม่อาจเข้าไกล้ซีเทียนได้ เง็กเซียนฮ่องเต้เห็นเหลือกำลังของสวรรค์ จึงให้เทพบุตรไปนิมนต์พระเซ็กเกียมองนี่ฮุดโจ๊วที่ประทับอยู่ที่วัดลุยอิมยี่ ภูเขาเล่งซัวเขตเมืองโซจอก(โลกุตตระ) ปราะเทศไซทีมา

พระยูไลพุทธะเสด็จมาห้ามศึกบนสวรรค์ ซีเทียนยังจ้วงจาบต่อพระยูไล โดยอ้างอิทธิปาฏิหารย์ของตัวเองว่า ตีลังกาทีหนึ่งไปได้ ๑๘,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากับระยะทางจากเมืองไต้ถังถึงไซทีตามที่ระบุไว้ในไซอิ๋ว นั่นคือ โพธิจิตอาจไปถึงนิพพานได้ด้วยการตีลังกาทีเดียว คือขณะจิตเดียว) ดังนั้น ตำแหน่งจอมสวรรค์ควรยกให้ตน นี่แหละคืออหังการของโพธิ

พระยูไลจึงให้ซีเทียนลองแสดงฤทธิ์ให้ดู ซีเทียนจึงตีลังกาไปดุจลมพัดจนหมดเรี่ยวแรง ก็หาพ้นไปจากอุ้งพระหัตถ์ของพระพุทธะที่ซีเทียนเข้าใจเอาว่า นิ้วทั้ง ๕ (ข่ายพระญาณในขันธ์ ๕) เป็นรากของฟ้า คิดว่าตัวชนะพนันอันมีเดิมพันเป็นตำแหน่งจอมสวรรค์ ครั้นทราบว่าแพ้ก็ยังดันทุรังไม่ยอมรับ(ต่อความรู้เรื่องขันธ์ ๕) พระยูไลจึงได้คว่ำพระหัตถ์ครอบซีเทียน

พระยูไลได้สลัดซีเทียนตกลงมายังพื้นโลก และได้เกิดเป็นภูเขา ๕ ยอดติดกันครอบซีเทียนไว้ โพธิจึงเพิ่งได้มารู้ฤทธิ์ของปัญจุปาทานในขันธ์ว่าหนักดุจภูเขา ความเพียรพยายามของซีเทียนไม่อาจเคลื่อนไปสู่มรรคผลได้ ด้วยเหตุยังไม่พ้นอุปาทานในขันธ์ ๕ พอปัญญาเคลื่อนตัวขึ้นสู่สนามการงานที่ไหนก็เป็นทุกข์ที่นั่น เพราะอุปาทานครอบงำ จึงอุปมาได้ว่า ให้ซีเทียนไต้เซียกินน้ำเหล็กหลอมทุกครั้งที่มันหิว นั่นคือพอจิตกระทำงานตามหน้าที่ของมัน ก็ยึดมั่นว่าฉัน ว่าของฉัน จนเป็นทุกข์ดุจกินน้ำเหล็กหลอม

เรื่องราวความเป็นมาแต่ต้นจนติดอยู่ใต้ภูเขา โผล่ได้แต่หัวรอวันพระถังซัมจั๋ง(ขันติ)จะมาช่วย และสวมมงคลให้ เพื่อเดินทางไปไซที(นิพพาน)ของหงอคง(โพธิ) ก็จบเพียงนี้




พระถังตั้งปณิธาน
[/b]

อ้าองค์พระปฏิมา..................ข้าจะตั้งสัจจ์อธิษฐาน
ไปสืบปิฎกไตรไกลบ้าน..........ให้สะท้านทั่วทั้งโลกา
จะฝากลายไว้ให้โลกระบือ.......เล่าลือลูกหลานวันหน้า
ด้วยใจที่ท่วมศรัทธา...............ให้ข้าได้ถึงไซที
ขอให้ได้ศิษย์เรืองฤทธิ์............อาจปลิดชีพมารผลาญผี
ขอคุณพระชนกชนนี................ช่วยคุ้มปีศาจรังควาน
ขอเทพเจ้าจงช่วยแห่ห้อม..........รายล้อมหลวงจีนใจหาญ
ขอเดชะพระอุปัชฌาอาจารย์......บันดาลให้แคล้วไพรี
ขออธิษฐานทานศีลวิริยะ..........สัจจะปัญญาญาณรัศมี
อุเบกขาเนกขัมม์ขันตี...............บารมีเมตตาคุ้มภัย
ตราบถึงบัวบาทพระพุทธ...........สุดหล้ามุ่งฝ่าป่าใหญ่
จะอาราธนาพระปิฎกไตร...........มาถวายท่านท้าวไทจง
อ้าองค์พระปฏิมา....................ขอปัญญาข้าอย่าลืมหลง
วกวนอยุ่ในไพรพง...................ขอจงลุถึงนิพพานเทอญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13/10/2010, 09:47 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
8 : บทที่ ๑ การเดินทาง
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 25/07/2010, 12:39 »
บทที่ ๑ การเดินทาง(กิเลสมูล ๓ ดุจ ๓ ปีศาจ)

ดูโน่นแน่ะ พระถังซัมจั๋งนั่งบนหลังม้าพระราชทาน กำลังดุ่มไปตามทางสู่ป่าใหญ่ เช้าตรู่ของวันแรกของการเดินทางนี้ มีหมอกลงจัดสองข้างทาง พระถังซัมจั๋งจึงเดินวนเวียนหลงทางไปถึงภูเขาซังขี้ซัว(สองแพร่ง) และทันใดนั้น พื้นดินก็พลันยุบฮวบลง พร้อมด้วยเสียงหัวเราะดังก้องป่าของปีศาจเสืออิ๊มเจียงกุนท่วนหม้ออ๋อง เพราะมันสะใจที่จะได้กินเนื้อพระภิกษุผู้อุตริคิดจะไปไซที

พระถังอกสั่นขวัญหาย เมื่อปีศาจตะโกนเรียกเพื่อนอีกสองตน คือ ปีศาจหมีซัวกุนอ๋องและปีศาจควายดำเต็กชู้ลืออ๋องดังขรมเพื่อให้มากินเลี้ยงกัน

รูป : แหม สนุกจริงครับ น่าหวาดเสียว พระถังซัมจั๋งผจญปีศาจทั้ง ๓ ตั้งแต่วันเริ่มออกเดินทางไปอินเดียทีเดียว

โหงว : นี่แน่ ถ้าหากเจ้ามีจิตเลื่อนลอยมาอยู่ที่รสสนุกของเรื่องราวภูตผีชั้นเปลือกเหล่านี้ เจ้าจะพลาดจากสาระ

รูป : สาระของไซอิ๋วก็อยู่ตรงสนุกนี่ พระถังผจญผี โกหกมดเท็จไปตลอดทาง จนถึงอินเดียมิใช่หรือ ?

โหงว : เจ้าเซ่อ มองเข้าไปในใจของเจ้าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็จะพบพระถังซัมจั๋งกำลังหล่นลงในหล่มปีศาจ

รูป : ผมไม่เข้าใจท่านเลย พระถังก็พระถัง จะเกี่ยวอะไรกับผมเล่า ?

โหงว : จงลืมพระถังทางกายภาพเสีย ลองเดาดูซิว่า ๓ ปีศาจคืออะไรแน่ ?

นาม : ผมใช้หลักปริยัติเดาก็ได้ว่า คือ มิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ คือ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ตายแล้วไม่เกิดนี่คือปีศาจเสือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าทุกอย่างเที่ยง ตายแล้วเกิด นี่ไม่ใช่ปีศาจหมีรึ และ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าบุญ-บาป ไม่มี นี่ปีศาจควายดำ พระถังตอนออกเดินทางใหม่ๆ ไปอินเดียมีมิจฉาทิฏฐิ ๓ ใช่ใหม ?

โหงว : เอาอีกแล้ว... ไม่มีพระถังและไม่มีอินเดีย พอเริ่ม "ออกเดินทาง" ก็พบกิเลสมูลทั้ง ๓ อย่างคาดไม่ถึง มิใช่มิจฉาทิฏฐิ ๓ ดอก ชีวิตโดยทั่วไปนั้นดูคล้ายๆ จะไม่มีกิเลส ครั้นหันมาศรัทธาใน "การเดินทาง" ในภายในจึงได้เห็น และดังนั้นเราจึงแต่งว่า วันเริ่มออกเดินทางก็พลันหล่นโครมลงในหล่มปีศาจ คือ ราคมูล อุปมาด้วยหล่มของปีศาจเสืออิ๊มเจียวกุนท่วนหม้ออ๋อง ซึ่งมันมีสหายปีศาจอีก ๒ คือ โลภมูล อุปมาด้วยปีศาจหมีซัวกุนอ๋อง และ โมหมูล ปีศาจควายดำ เต็กชู้สืออ๋อง กิเลสมูลที่ไม่เคยคาดคิดว่า พิษสงมันจะมากมายเพียงนี้

รูป : ก็แล้วภูเขาซังขี้ซัว หมายถึงอะไรเล่าครับ ?

โหงว :ซังขี้ซัว คือ ภูเขาสองง่าม

รูป : ผมเข้าใจแล้ว คือว่าชีวิตที่ตัดสินใจมุ่งต่อความหลุดพ้น ครั้นได้ผจญกิเลสมูลก็ท้อใจ เกิดลังเลต่อการละกิเลส โลเลว่าจะไปหรือไม่ไปดี นี่เองคือภูเขาสองง่าม

โหงว : เจ้านี้ค่อยฉลาดขึ้นบ้าง

รูป : ขอได้โปรดเล่าต่อไปครับท่าน ผมเคยรู้ประวัติของพระถังซัมจั๋งจาริกไปตามเส้นทางสายใหม ไม่นึกว่ายังมีเกร็ดย่อย แต่งโกหกให้สนุกขึ้นอีกเยอะ

โหงว : ดูเหมือนเจ้าจะเลื่อนลอยอีกแล้ว จึงหาว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องโกหก คนอื่นเขาเขียนประวัติพระถังซัมจั๋งไปอินเดียทางกายภาพ เราเองเขียนประวัติการเดินทางฝ่ายจิตวิญญาณของทุก ๆ คน และจงฟังโศลกของเรา


"มิใช่พระถังผจญ..........ผีบนเส้นทางสายไหม
แต่บนหนทางสายใจ.....จึงได้พบพระพุทธะ
ลึกนักชักฉงนคนว่า.......แต่งบ้าห้าร้อยสวะ
พระถังทั้งพร้อมคณะ......เงอะงะในใจเจ้าเอง"


นาม : ท่านครับ ได้โปรดเล่าต่อว่า พระถังรอดจากหล่มปีศาจทั้ง ๓ อย่างไรกัน ?

โหงว : ถ้าเจ้ายังสนใจจะฟัง ก็จงทำในใจให้ดี เราจะเล่าต่อให้ฟังในบทถัดไป



(จบบทที่ ๑ โปรดติดตามตอนต่อไป)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13/10/2010, 09:47 โดย ติ๊กน้อย »

ออฟไลน์ nakdham

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
บทที่ ๒ กตัญญูกตเวทิตา สนับสนุนให้ได้โพธิปัญญา


เทพเจ้าประจำดวงดาวไทเป็กแชกุน ได้ปรากฎกายในร่างของตาเฒ่า มาช่วยพระถังไห้รอดพ้นจากความตาย แล้วสั่งว่า "ถ้าท่านจะไปไซที จำต้องไม่ปริปากบ่นถึงความทุกข์ยาก ด้วยการทำอย่างนี้ ท่านจะได้สานุศิษย์ผู้มีฤทธิ์ นำทางไปถึงจุดหมายได้ "

พระถังซัมจั๋งเดินทางต่อไปแต่ผู้เดียวในป่าใหญ่ อันเต็มไปด้วยภูตผีและสัตว์ร้าย วันหนึ่งพระถังได้ถูกเสือและงูร้ายล้อมหน้าล้อมหลังจนใจสั่นระรัว ถ้ามิได้นายพรานป่าชื่อเล่าเป็กกิมมาช่วย ก็น่าที่พระถังจะสิ้นชีวิต เล่าเป็กกิมพรานป่าผู้กตัญญูต่อมารดา นิมนต์พระถังไปที่บ้านแล้วตามไปส่งพระถังที่ภูเขาโง้วเห้งซัว คือภูเขาห้ายอดที่พระเซ็กเกียมองนี่ฮุดโจ๊วครอบทับซีเทียนไต้เซีย(ซึงหงอคง)ไว้ และสาปสั่งจนกว่าพระถังซัมจั๋งจะมาปลดปล่อย เอาไปเป็นสานุศิษย์ ไปสืบพระไตรปิฎกยังไซที

พระถังขอร้องให้เล่าเป็กกิม ไปส่งจนพ้นเขตภูเขาโง้วเห้งซัว แต่พรานกตัญญูต่อมารดาปฏิเสธ อ้างว่า " พ้นเขตภูเขานั้นแล้ว บรรดาเนื้อสิงสาราสัตว์ มิได้อยู่ในอำนาจของข้าพเจ้าแล้ว "

ขณะนั้นเอง ทั้งสองได้ยินเสียงร้องทักดังก้องฟ้าของซีเทียนไต้ซือ

" อาจารย์... ทำไมช้านักเล่า ? "

เล่าเป็กกิมเป็นคนกล้า เดินรี่เข้าไปที่ที่มาของเสียง เห็นซีเทียนไต้ซือ ถูกภูเขาทับอยู่ก็เข้าไปถามความ ครั้นรู้เรื่องกันแล้ว ก็ช่วยเอานิ้วแคะขี้ตะไคร่น้ำที่ขึ้นในหูของซีเทียน เนื่องจากถูกภูเขาครอบอยู่นานนับร้อย ๆ ปี

ซีเทียนก็ขอให้พระถังขึ้นไปปลดแผ่นยันต์มีอักขระ ๖ พยางค์ ออกจากยอดภูเขา อักขระ ๖ คำนั้นว่า " โอม มณีปัทเม ฮูม "

ครั้นแล้วซีเทียนก็แผลงฤทธิ์เสียงดังสนั่น ดีดสลัดตัวหลุดออกมาจากภูเขา มาหมอบไหว้พระถังซัมจั๋ง อาจารย์ก็ได้สานุศิษย์เอกคู่หูแต่ครั้งนั้น

เล่าเป็กกิมพรานกตัญญูก็ลากลับไป

ซีเทียนเอาตะบองยู่อี่ที่เสียบไว้ในรูหูออกมาทุบเสือตัวหนึ่งตาย แล้วถลกหนังเสือเอามานุ่งห่ม เป็นอันว่าซีเทียนได้บวชครั้งแรก พระถังตั้งชื่อใหม่ให้ว่า "ซึงเห้งเจีย'

ศิษย์จูงม้าให้อาจารย์นั่ง บ่ายหน้าเดินดุ่ม ๆ ไปในป่าใหญ่ มุ่งสู่ทิศปราจีน....



นาม : พระถังรอดจากปีศาจกิเลสมูลอย่างไรครับ ?

โหงว : เจ้าไม่ตั้งใจฟังเราเล่าเลยจริง ๆ ก็ไทเป็กแชกุนกล่าวว่าอย่างไรเล่า ?

นาม : จงทนอย่าได้บ่น แล้วจะได้ศิษย์มีฤทธิ์มาก แล้วศิษย์นั้นจะช่วย

โหงว : นั่นแหละ จงทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ไม่ยอมที่จะทำตามอำนาจของกิเลส แล้วจะพ้นจากหล่มได้เอง

รูป : เอ๊ะ ท่านครับ ถ้าพ้นจากหล่มของกิเลสมูล ๓ พระถังก็เป็นพระอรหันต์แล้วซีครับ

โหงว : นี่เธอ เราเตือนกี่ครั้งแล้ว ไม่ใช่พระถังซัมจั๋งที่ใหนนะ แต่ชีวิตช่วงที่ศรัทธาขันติยังต้องล้มลุกคลุกคลาน และปีศาจกิเลสมูลมิได้ถูกฆ่าตายนี่ เพราะพระถังยังไม่ได้ศิษย์(เห้งเจีย -ปัญญา) ปีศาจมันหลบหายไปเท่านั้น แล้วมันจะมาใหม่ในรูปของปีศาจอีกหลายร้อยหลายแสนทีเดียว

รูป : เอ อยู่ดี ๆ กิเลสมูลหายไปเฉย ๆ ได้หรือครับ ในชีวิตกิเลสมันดองสันดานอยู่นี่

โหงว : อย่าสู่รู้น่า ... จงดูเข้าไปในใจ เจ้าจะพบว่า แม้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสมูลก็หามีอยู่จริงไม่ ปีศาจทั้ง ๓ มันเป็นมายา เข้ามาเพื่อให้รู้จัก และให้เห้งเจียฆ่ามันเสีย มันไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลาดอก

รูป : เล่าเป็กกิม ซีเทียนไต้เซีย เล่าครับ ?

โหงว : เล่าเป็กกิม คือ ความกตัญญูที่ไปเขี่ยตระไคร่ในหูของซีเทียน ก็คือกตัญญูกตเวทิตาคุณนั้น จะเป็นธรรมเครื่องสนับสนุนให้ ได้โพธิปัญญา เราจึงอุปมาด้วยกตัญญู เขี่ยแคะหูให้ปัญญาที่ถูกครอบงำอยู่ในชีวิต

รูป : ทำไมถึงเขต ภูเขาโง้วเห้งซัวแล้ว บรรดาเนื้อเสือจึงไม่อยู่ในอำนาจพรานกตัญญูเล่าเป็กกิม ?

โหงว : การละกิเลสในเขตนั้น เป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่กตัญญู

รูป : พระเซ็กเกียมองนีฮุดโจ๊ว ครอบซีเทียนด้วยภูเขา ๕ ยอดเล่าหมายความว่าอย่างไร ?

โหงว : เจ้าจงย้อนไปดูบทซึงหงอคง แต่เราสรุปย่อให้ฟังว่า ปัญญาสามัญนั้นถูกอุปาทานขันธ์ ๕ ครอบงำอยู่นานนัก จนกว่า...

นาม : จนกว่าขันติจะถูกกตัญญูส่งมาถึง

โหงว : อย่าสู่รู้น่า... จนกว่าจะแกะอักขระ ๖ พยางค์ คือ "โอม มณี ปัทเม ฮูม" ออกได้ เมื่อนั้นแหละ ปัญญาจึงจะเป็นอิสระและ จะนำชีวิตไปสู่นิพพาน

รูป : แกะอักขระ ๖ พยางค์ ออกหมายความว่าอย่างไร ?

โหงว : "แกะ" หมายความว่า เข้าใจอรรถซึมซาบในบทภาวนานี้ คือ "โอม มณี ปัทเม ฮูม" แปลว่า "ขอนอบน้อมแด่ดวงมณีในดอกปทุม " คือ ความประเสริฐแห่งใจ

รูป : ท่านครับ เห้งเจียทุบเสือถลกหนังมานุ่งหมายถึงการบวช ปัญญาบวชได้อย่างไรกันครับ ?

โหงว : เห้งเจีย(ปัญญา) ห่มหนังเสือ นั่นหมายถึงปัญญาที่เริ่มน้อมไปสู่เนกขัมม์เท่านั้น ส่วนการบวชจริง ๆ ของปัญญาคือ การสวมมงคล ๓ วงของพระยูไล

รูป : มงคล ๓ วง ?

โหงว : มงคล ๓ วง คือ ไตรลักษณ์ ที่นำมา " ครอบหัว " ปัญญาเข้าแล้ว นั่นคือ การบวชแท้

รูป : ผมไม่เข้าใจเลยจริง ๆ ครับ

โหงว : อยากเข้าใจก็จงเงี่ยหูฟัง เราจะเล่าในตอนต่อไป


(...จบบทที่ ๒ โปรดติดตามตอนต่อไป...)


**คัดจาก"เดินทางไกลกับไซอิ๋ว โดย "เขมานันทะ" หน้า๕ - ๙)

ออฟไลน์ tik

  • Admin
  • มิตรนักธรรม
บทที่ ๓ : อินทรีย์ ๖ ดุจโจร ๖ คน


          อาจารย์ชวนศิษย์คนโปรด รอนแรมกันมาในท่ามกลางฤดูหนาว และอย่างไม่ทันคาดคิดโจร ๖ คน ได้จู่โจมเข้ามาขวางหน้า ร้องตวาดขู่ว่าจะปล้นทรัพย์และชีวิต พระถังตกใจกลัวจนตัวสั่น เห้งเจียกรากเข้าประจันหน้า ร้องถามชื่อแซ่กันขึ้นนายโจรร้องบอกชื่อดังนี้

โจรคนแรก :

ชื่องั้นขันชี้นะเจ้า.........ตาเห็นรูปใจเร้า
รุ่มร้อน ตัณหา ...........แลนา

โจรคนที่สอง :

ยี่เทียล้อหน้ากริ้ว..........หูยินเสียงใจสะยิ้ว
รุ่มร้อน ตัณหา .............แลนา

โจรคนที่สาม :

ภิชืออ้ายหน้าแปร้.........จมูกได้กลิ่นใจแพ้
รุ่มร้อน ตัณหา.............แลนา

โจรคนที่สี่ :

จิสองซื้อคือลิ้น...........ลิ้มรสแล้วใจดิ้น
รุ่มร้อน ตัณหา............แลนา

โจรคนที่ห้า :

ซิ้นปุ๊มอิ๋วที่ห้า.............สัมผัสผิวใจบ้า
รุ่มร้อน ตัณหา............แลนา

โจรคนที่หก :

อี่เกี้ยนออกหัวหน้า.......ใจรู้คิดพะว้า
รุ่มร้อน ตัณหา.............แลนา


เห้งเจียได้ยินชื่อแล้วหัวเราะก๊ากใหญ่ ร้องขึ้นว่า
"อ้ายพวกลูกหลานข้า เจ้าพวกขนหน้าแข้งของปู่ ถ้าพวกเจ้าทั้งหก ปล้นอะไรมาแล้ว ให้เรามีส่วนแบ่งด้วย ปู่ก็จะไว้ชีวิตพวกเจ้า "

นายโจรทั้งหก เป็นเดือดเป็นแค้นในคำสบประมาท......
โธ่อ้ายลิงหาเรื่องตาย

          ทั้งหกรุมเข้ารบเห้งเจีย เห้งเจียจึงตีตายหมด ฝ่ายพระถังเห็นศิษย์โหดร้ายก็ตำหนิ เห้งเจียก็เถียงว่า ขืนไม่ตีมัน มันก็จะตีอาจารย์ตายเท่านั้น

          ศิษย์และอาจารย์โต้เถียงด่าทอกันรุนแรง พระถังเดือดดาลขึ้น จึงออกปากขับไล่ไม่ให้ร่วมทางไปไซที เห้งเจียก็น้อยใจ จึงทิ้งอาจารย์เสีย แล้วเหาะลิ่วไปซดน้ำชากับพญาเล่งอ๋องที่ใต้บาดาล




โหงว :  เป็นไง ?

รูป :  แหมสนุกจริงๆ ครับ เห้งเจียเป็นลิง ทำไมจึงแต่งให้เก่ง ขนาดโจร ๖ คนสู้ไม่ได้

นาม :  แกลืมไปอีกแล้วซีน่า

โหงว :  โจร ๖ คน คือ ผัสสะ ๖( ตาเห็นรูป จักษุวิญญาณเกิด ฯลฯ อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา )

นาม :  วิญญาณ ๖ ที่เกิดในขณะแห่งการกระทบของอายตนะ ๖ กับ อารมณ์ ๖ นั้นคือธาตุรู้ นั้นคือธาตุรู้(วิญญาณธาตุ) ซึ่งเป็น "ขนหน้าแข้ง" ของโพธิจิต

รูป :  แท้จริง ธาตุรู้(วิญญาณธาตุ) ที่เกิดจากการกระทบทั้งหกทางนั้นมีสองชนิด ชนิดแรกคืออวิชชาสัมผัส นี้จำเป็นต้อง "ฆ่า" เสีย เอาไว้ไม่ได้ ขืนเอาไว้มันจะฆ่าพระถัง คือ ชีวิตทางธรรมจะถูกฆ่า อีกชนิดหนึ่งคือ ปฏิฆสัมผัส หรือ วิชชาสัมผัส การกระทบที่สักว่ากระทบ หรือ มีการเห็นตามอาการที่เป็นจริงของการกระทบ แล้วไม่ปรุงแต่งเป็นตัณหา เช่นนี้ย่อมให้มีการกระทบได้ การกระทบทางอายตนะนั้นดุจโจรปล้น ถ้าให้ปัญญามีส่วนในการกระทบทุกๆ ครั้งการกระทบนั้นกลับเป็นความรู้

นาม :  จึงอุปมาว่า เห้งเจีย(ปัญญา) จะไว้ชีวิต ถ้าปล้นแล้วมาแบ่งให้ตนด้วย

โหงว :  ใช่แล้ว

รูป :  ก็แล้วทำไม พระถังจึงไม่เข้าใจละครับ เห้งเจียนั้นฉลาดออก

โหงว :  นี่เธอ ขอเตือนว่าไม่มีพระถังหรือลิง พระถังคือศรัทธา ขันติ สัจจะอธิษฐานซึ่งภูมิธรรมเหล่านี้ ยังลงร่องรอยกันไม่ได้กับปัญญา

นาม :  จึงอุปมาว่า ทะเลาะกันดังลั่นไปทั้งป่า

รูป :  แล้วไง แต่งให้เห้งเจียดันเหาะลิ่วไปซดน้ำชากับพญาเล่งอ๋อง ถึงบาดาลเชียว

นาม :  เอ ?
โหงว :  เมื่อมีแต่ศรัทธา ขันตินำหน้า ปัญญาก็กบดานเสียเท่านั้น ขันติหรือศรัทธามันไม่ค่อยชอบใช้ปัญญาดอกเธอ

นาม :  จริง.....หรือแกว่าไง

รูป :  อาจารย์เล่าต่อดีกว่าครับ ว่าพระถังทำอย่างไร จึงให้ปัญญามาเป็นคนจูงม้าไปไซทีได้อีก

โหงว :  อย่ากลัวเลยเธอ ว่าแต่เห้งเจียของเธอเอง ลงไปซดน้ำชาอยู่ใหนน่ะ ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 5/07/2012, 10:58 โดย ติ๊กน้อย »

Tags: