大道無形 (เต๋าไร้รูป) ,生育天地 (กำเนิดฟ้าดิน) ;大道無情 (เต๋าไร้จิต) ,運行曰月 (ขับเคลื่อนสุริยันจันทรา) ;大道無名 (เต๋าไร้นาม) ,長養萬物 (หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง) ;吾不知其名強名曰道 (ข้าไม่รู้จะเรียกสิ่งใด จึงขนานนามว่า “เต๋า”) 。
วรรคนี้ท่านอธิบายถึงสภาวะแห่งเต๋า โดยประโยคที่ว่า “เต๋าไร้รูป” และ “เต๋าไร้จิต”นั้น หมายถึงเต๋าพ้นแล้วจากฐานะแห่งรูปและนาม โดยประโยคที่ว่า “เต๋าไร้จิต” คำว่าจิตในที่นี้หมายถึงนาม รูปและนามนั้นเป็นสภาวะอันเป็นสังขตธรรม กล่าวคือ เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, และดับไป ด้วยเหตุปัจจัย เต๋าจึงเป็นถาวะอันเป็นอสังขตธรรมคือพ้นแล้วจากอำนาจของเหตุปัจจัย ไม่เกิดไม่ดับ พ้นแล้วจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กาละ (เวลา) , เทศะ (สถานที่) , สัตว์, บุคคล, ตัวตน ( อนัตตา)ฯลฯ และที่สำคัญคือไม่มีชื่อ ท่านแสดงไว้ชัดว่า “ข้าไม่รู้จะเรียกสิ่งใด จึงขนานนามว่า “เต๋า” ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร คำว่า “เต๋า” 《道》จึงเป็นเพียงคำที่สมมุติเพื่อใช้ในการเรียกขานนั้น เต๋านั้นแม้จะกล่าวว่าเป็นสุญญตา (ความว่าง) แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีแบบไม่มีอะไรเลย เพราะขาดสูญแล้วย่อมไม่อาจกำเนิดฟ้าดิน และไม่อาจขับเคลื่อนตะวันจันทรา (จักรวาล) ซึ่งในส่วนนี้นั้นท่านอธิบายว่า “มีก็ไม่ใช่”, “ไม่มีก็ไม่ใช่” ซึ่งเป็นหลักอภิปรัชญาซึ่งยากแก่การเข้าใจ เพราะว่าถ้าสามารถเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วก็บรรลุธรรมไปแล้ว เหมือนคนไม่เคยกินแกง ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่มีทางเข้าใจรสแกง ที่กล่าวกันนี้ก็เป็นเพียงการเปรียบเทียบให้พออนุมาน ( “อนุมาน” แปลว่า “คิดตาม”) เท่านั้น ซึ่งในความจริงแล้วยัง***งภาวะรู้แจ้งที่แท้จริงมาก
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องทำความเข้าใจ โดยในส่วนของศาสนาเต๋า ประโยคในคัมภีร์ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแม้ในคัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” (เต๋าเต็กเกง) 《道德经》ก็มีนัยยะเช่นเดียวกัน ว่าเต๋ามีสภาวะเป็นอนัตตา โดยในส่วนของศาสนาพุทธทั้ง เถรวาท, มหายาน, วัชรยาน ก็เช่นเดียวกันว่า นิพพานเป็นอนัตตา โดยในส่วนนี้จะต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัด เรื่องตรีกายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในส่วนที่เราเห็นเป็นรูปลักษณ์นั้น เป็นสัมโภคกาย และ นิรมาณกาย ในส่วนของธรรมกาย《法身》นั้น ( “ธรรมกาย” ในที่นี้ไม่ใช่ “ธรรมกาย” ในความหมายของคำสอนของวัดพระธรรมกาย) เป็นภาวะแห่งนิพพาน ไม่มีทั้งรูปและนาม ไม่มีเพศภาวะ พ้นแล้วจากอัตตา (ตัวตน) ทั้งปวง เป็นอนัตตา แม้ว่าพระพุทธองค์จะนิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมกายยังคงอยู่ ที่ดับไปเป็นเพียงสัมโภคกายและนิรมาณกาย โดยการดำรงอยู่ของพระธรรมกายนี้พ้นแล้วจากภาวะของอัตตา (ตัวตน), กาละ (เวลา), เทศะ (สถานที่) ไม่เกิด, ไม่แก่, ไม่เจ็บ, ไม่ตาย, ไม่ทุกข์, ไม่สุข ฯลฯ เป็นการดำรงอยู่แต่ไม่มีตัวตน เมื่อพระธรรมกายยังดำรงอยู่ แม้ว่าสัมโภคกายและนิรมาณการจะดับไป แต่ก็สามารถมีพระสัมโภคกายและนิรมาณกายอุบัติได้อีกเป็นอเนกอนันต์ จริงอยู่เองว่ามีคำสอนของชนบางกลุ่มที่ว่า นิพพานและเต๋าเป็นอัตตา เป็นตัวตน อยู่กันเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นอาณาจักร ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเองก็มีมาแต่โบราณแล้ว แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีคำสอนประเภทดังกล่าวว่า (เป็นคัมภีร์สมัยสุโขทัย) นิพพานเป็นมหานครเป็นเมืองแก้ว ซึ่งในส่วนของศาสนาเต๋านั้น ในคัมภีร์“ไท่สั้งเหล่าจฺวินซฺวอฉางชิงจิ้งจิง” 《太上老君说常清静经》และคัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” (เต๋าเต็กเกง) 《道德经》เป็นเครื่องชี้ชัดอยู่แล้วว่า คำสอนที่ว่าเต๋าเป็นอัตตา(ตัวตน) หรือมีเทพผู้ยิ่งใหญ่ให้กำเนิดสรรพสิ่ง หรือเป็นองค์ปฐมนั้นเป็นคำสอนที่ผิด
เมื่อกล่าวถึงพุทธเกษตร ยกตัวอย่างเช่นสุขาวดีพุทธเกษตร แม้ชื่อจะกล่าวว่าเป็น “พุทธเกษตร” (แปลว่า “เขตแห่งพุทธะ”) แต่พุทธเกษตรเองก็มิใช่นิพพาน (เช่นเดียวกับโลกของเรานี้ที่เป็นพุทธเกษตรของพระศากยมุนีพุทธเจ้า) พระอมิตาพุทธเจ้าเองก็ยังมิได้ปรินิพพาน แม้ว่าพระอมิตาภพุทธเจ้าจะทรงมีพระอีกพระนามว่า “อมิตายุส” ซึ่งแปลว่า “มีอายุอันประมาณไม่ได้” แต่ไม้ได้หมายความว่าพระองค์จะไม่ปรินิพพาน โดยเรื่องของการปรินิพพานของพระองค์นั้นปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อ《 悲华经 》และอีกประการหนึ่งคือนิพพานไม่ใช่ภพภูมิ เพราะคำว่า “ภพ” (ภวะ) นั้น หมายถึงภาวะระหว่างการปฏิสนธิ (เกิด) และจุติ (ตาย) เมื่อนิพพานพ้นแล้วจากการเกิดและการตาย จึงไม่ใช่ภพด้วยนัยยะทั้งปวง
夫道者 (อันเต๋านั้น) :有清有濁 (มีสะอาด, มีสกปรก) ,有動有靜 (มีเคลื่อน, มีนิ่ง) ;天清地濁 (ฟ้าสะอาด, ดินสกปรก) ,天動地靜 (ฟ้าเคลื่อน, ดินนิ่ง) ;男清女濁 (ชายสะอาด, หญิงสกปรก) ,男動女靜 (ชายเคลื่อน, หญิงนิ่ง) ;降本流末 (ไหลเวียนเปลี่ยนผัน) ,而生萬物 (ก่อกำเนิดสรรพสิ่ง) 。清者濁之源 (สะอาดมีสกปรกเป็นราก) ,動者靜之基 (เคลื่อนมีนิ่งเป็นฐาน) ;人能常清靜 (มนุษย์สามารถสะอาดและนิ่ง) ,天地悉皆歸 (ฟ้าดินรวมกลับคืน) 。
วรรคนี้นั้นท่านอธิบายของสภาวะธาตุทั้ง 2 คือ “หยาง” 《阳》 และ “อิน” 《阴》 ธาตุทั้ง 2 นี้ ไม่ใช่เต๋า หากแต่เต๋าได้ให้กำเนิดธาตุทั้ง 2 ขึ้นโดยแยกออกมาจากเต๋า โดยธรรมชาติของธาตุทั้ง 2 นั้น ธาตุหยางมีลักษณะเคลื่อนไหว, แข็งกร้าว, หยาบ, ร้อน, ลอย, สะอาด ฯลฯ ส่วนธาตุอินมีลักษณะนิ่ง, อ่อน, ละเอียด,เย็น,จม, สกปรก ฯลฯ ธาตุทั้ง 2 นี้มีลักษณะตรงกันข้าม (ปฏิปักขธรรม) แม้จะอยู่ตรงกันข้ามแต่ไม่อาจแยกออกจากกัน เมื่อธาตุทั้ง 2 ทำปฏิกิริยา เชิงสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ต่อกันและก่อให้เกิดสรรพสิ่ง โดยภาวะเชิงสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีความหลายนัยยะต่างๆ จึงก่อให้เกิดความหลากหลายในสรรพสิ่ง (ทั้งที่มีและไม่มีชีวิต) ทั้งนี้ที่กล่าวว่าชายสะอาดหญิงสกปรกนั้น ไม่ใช่การเหยียดหยามทางเพศ หากแต่เป็นการอธิบายถึงลักษณะของธาตุทั้ง 2 โดยคำว่า “ชาย”นั้นหมายถึงลักษณะแข็งกร้าวของธาตุหยางซึ่งมีลักษณะเหมือนเพศชาย และคำว่า “หญิง”นั้นหมายถึงลักษณะอ่อนโยนของธาตุอินซึ่งมีลักษณะเหมือนเพศหญิง ต่อมาท่านอธิบายว่า หากจิตของมนุษย์สะอาด (หยาง) และนิ่ง (อิน) โดยวลีที่ว่า “ฟ้า (หยาง) ดิน (อิน) รวมกลับคืน” หมายถึง เมื่อหยางและอินรวมเป็นหนึ่ง ก็จะคืนสู่สภาวะเดิมคือ “เต๋า”ซึ่งก็หมายถึงการหลุดพ้นออกจากวัฏฏะสงสารนั่นเอง
夫人神好清 (ใจมนุษย์นั้นสะอาด) ,而心擾之 (แต่กลับวุ่นวาย) ;人心好靜 (ใจมนุษย์สงบ) ,而欲牽之 (แต่ตัณหาชักพา) 。常能遣其欲 (สามารถกำจัดตัณหาทั้งปวงได้) ,而心自靜 (ใจย่อมสงบ) ;澄其心 (เมื่อใจสะอาด) ,而神自清 (จิตย่อมสะอาด) ;自然六欲不生 (เมื่อนั้นตัณหาย่อมไม่เกิด) ,三毒消滅 (พิษทั้ง 3 ย่อมสูญสลาย) 。所以不能者 (ชนผู้ไม่สามารถ) ,為心未澄 (ชำระจิตให้สะอาด) ,欲未遣也 (แสดงว่าตัณหายังไม่ถูกกำจัด) ,
วรรคนี้ท่านอธิบายว่าแต่เดิมจิตมนุษย์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า กล่าวคือสะอาด (หยาง) และ สงบ (นิ่ง) รวมเป็นหนึ่ง แต่ถูกตัณหาชักพาให้วุ่นวาย และไม่สงบ กล่าวคือ แยกเป็นเป็นหยางและอิน (แต่ไม่แยกออกจากกันเพราะแยกออกจากกันไม่ได้) การพ้นจากวัฏฏะนั้นไม่ใช่การที่เราจะทำให้ใจสะอาดและสงบ หากแต่อยู่ที่การกำจัดตัณหา เมื่อสิ้นตัณหา ธรรมชาติของจิต ย่อมจักหวนคืนสู่สภาพเดิมคือสะอาดและสงบโดยธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องทำอะไร และเมื่อนั้นพิษทั้ง 3 ย่อมสูญสลายไปเอง (พิษทั้ง 3 หมายถึงอกุศลเหตุ 3 คือ โลภะ, โทสะ และโมหะ)
能遣之者 (ชนผู้สามารถกำจัดตัณหาได้) :內觀其心 (เมื่อมนสิการภายใน) ,心無其心 (ย่อมแจ้งว่าไร้จิต) ;外觀其形 (เมื่อมนสิการภายนอก) ,形無其形 (ย่อมแจ้งว่าไร้รูป) ;遠觀其物 (เมื่อมนสิการสรรพสิ่ง) ,物無其物 (ย่อมแจ้งว่าไร้ซึ่งสรรพสิ่ง) ;三者既無 (เมื่อแจ้งว่าสรรพสิ่งไร้) ,唯見於空 (ดังนี้แล ชื่อว่าแจ้งในสุญญตา) 。
บทว่า “ชนผู้สามารถกำจัดตัณหาได้ เมื่อมนสิการภายใน ย่อมแจ้งว่าไร้จิต เมื่อมนสิการภายนอก ย่อมแจ้งว่าไร้รูป เมื่อมนสิการสรรพสิ่ง ย่อมแจ้งว่าไร้ซึ่งสรรพสิ่ง เมื่อแจ้งว่าสรรพสิ่งไร้ดังนี้แล ชื่อว่าแจ้งในสุญญตา” ท่านหมายเอา เมื่อประหารแล้วซึ่งตัณหาได้ เมื่อพิจารณาลงในสภาวธรรม ย่อมรู้ชัดว่า รูปและนาม (จิต) ไม่มีอยู่จริง (ไร้) เป็นเพียงมายาภาพที่คนที่มีอุปาทานสำคัญผิดไปว่ามีอยู่จริง เมื่อว่ารูปและนามไม่มีอยู่จริงแล้วย่อมไม่มีซึ่งสรรพสิ่ง เหตุใดถึงกล่าวว่ารูปและนามไม่มีอยู่จริง ดังที่กล่าวแล้วว่าไม่มีในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งไรๆก็ไม่มี หรือขาดสูญ หากแต่ไม่มีจากอัตตาที่จะดำรงอยู่ได้ เป็นเพียงอาศัยเหตุปัจจัยประชุมกันแล้วบังเกิดขึ้น เมื่อสิ้นปัจจัยแล้วย่อมแตกดับไป หาได้มีสิ่งใดเป็นเที่ยงแท้ยั่งยืน และยิ่งไม่มีสิ่งใดที่เป็นเกิดขึ้นตั้งอยู่เป็นอิสระธรรม คือความเป็นใหญ่โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยทั้งปวงต่างก็เกิดขึ้น, ตั้งอยู่,ดับไป หมุนเวียนเปลี่ยนผันไป เมื่อรู้ชัดดังนี้จึงชื่อว่า “สุญญตา” (ความว่าง) ในส่วนนี้ท่านอธิบายแบบเหตุไปหาผล และผลไปหาเหตุ กล่าวคือ เมื่อกำจัดสิ้นซึ่งตัณหา (เหตุ) ย่อมแจ้งในสุญญตา (ผล) และ ที่แจ้งในสุญญตา (ผล) เพราะ กำจัดแล้วซึ่งตัณหา (เหตุ)
觀空亦空 (มนสิการความว่างคือว่าง) ,空無所空 (ความว่างหามีไม่) ;所空既無 (ความว่างก็คือไร้) ,無無亦無 (ไร้ไร้ก็คือไร้) ;無無既無 (ไร้ไร้ที่สุดแล้วก็คือไร้) ,湛然常寂 (ย่อมเข้าถึงความสงบ) 。寂無所寂 (สงบไร้สงบ) ,欲豈能生 (ตัณหาจะเกิดได้ไฉน) ;欲既不生 (เมื่อตัณหาไม่เกิด) ,即是真靜 (จึงเป็นความนิ่งที่แท้จริง) 。真常應物 (จึงควรแก่การงาน) ,真常得性 (เข้าถึงจิตแท้) ;常應常靜 (ควรแก่การงานและสงบมาก) ,常清靜矣 (สะอาดและสงบแล้ว) 。如此清靜 (เมื่อสะอาดและสงบเช่นนี้) ,漸入真道 (ย่อมเข้าถึงเต๋าที่แท้จริง) ;既入真道 (เหตุที่เข้าถึงเต๋า) ,名為得道 (จึงได้ชื่อว่าบรรลุเต๋า) ;雖名得道 (ที่ชื่อว่าบรรลุเต๋า) ,實無所得 (แท้จริงจะมีการบรรลุก็หาไม่);為化眾生 (เพื่อสั่งสอนสรรพชีวิต) ,名為得道 (จึงได้บัญญัติว่า “บรรลุเต๋า”) ;能悟之者 (ชนผู้รู้แจ้ง) ,可傳聖道 (จักสามารถถ่ายทอดอริยมรรค)。
บทว่า “มนสิการว่าความว่างคือว่าง” ท่านอธิบายว่า ภาวะที่มนสิการแจ้งว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นความว่างนั้น ก็เป็นความว่าง กล่าวคือจะได้มีอัตตา (ตัวตน) ที่จะพิจารณาก็หาไม่ ทั้งนี้เพราะมีบางคนคิดว่า เมื่อมีการแจ้งภาวะสุญญตา ย่อมมีตัวตนที่รู้แจ้งในสุญญตา ซึ่งแท้ที่จริง สุญญตาคือความว่าง เมื่อว่างจากตัวตนย่อมไม่มีการดำรงอยู่ ท่านจึงแสดงว่า “ความว่าง (สุญญตา) คือความไร้ (ไม่มี)” เมื่อไม่มีแล้วจึงไม่มีความว่างให้รู้แจ้ง, ไม่มีผู้รู้แจ้ง, ไม่มีภาวะแห่งการรู้แจ้ง ด้วยนัยยะดังกล่าวนี้จึงไม่มีซึ่งความสงบ ไม่มีทั้งรูปและจิต (นาม) ย่อมไม่มีตัณหาให้เกิด จึงเป็นความนิ่งและสงบที่แท้จริง เป็นความนิ่งและสงบ ที่ไม่ได้นิ่งและสงบจากอุปาทาน, อัตตา และสิ่งสมมุติ เป็นความสงบที่แท้จริงพ้นแล้วจากเหตุปัจจัยทั้งปวง ต่อมาท่านแสดงว่า “เหตุที่เข้าถึงเต๋า จึงได้ชื่อว่าบรรลุเต๋า แท้จริงจะมีการมีบรรลุก็หาไม่ เพื่อสั่งสอนสรรพชีวิต จึงได้บัญญัติว่าบรรลุเต๋า” ดังที่กล่าวเบื้องต้นว่า ธรรมทั้งปวง (ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม) คือความว่าง (สุญญตา) ดังนี้แล้วย่อมไร้แล้วซึ่งความว่างให้รู้แจ้ง, ไร้แล้วซึ่งผู้รู้แจ้ง, ไร้แล้วซึ่งภาวะแห่งการรู้แจ้ง แต่เพื่อสั่งสอนสรรพชีวิตจึงได้บัญญัติคำว่า “บรรลุเต๋า” (บรรลุธรรม) ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจต่อผู้ศึกษาธรรมด้วยเหตุผลทางด้านการสื่อสารและทำความเข้าใจ
上士無爭 (บัณฑิตไร้วิวาท) ,下士好爭 (คนพาลมักวิวาท) 。上德不德 (ผู้ทรงคุณธรรมไร้คุณธรรม) ,下德執德 (ผู้ไร้คุณธรรมยึดถือธรรม) ,執著之者 (ผู้ยึดมั่นนั้น) ,不明道德 (ไม่แจ้งในคุณธรรม) 。
ธรรมชาติของบัณฑิตย่อมเป็นผู้ให้ประโยชน์และเป็นมิตรต่อคนทุกฝ่าย ซึ่งตรงข้ามกับคนพาลที่เอาความคิด, ความเห็น, ความต้องการเป็นหลักจนนำไปสู่การวิวาท และความขัดแย้งนานาประการ ในกรณีที่รุนแรงอาจนำไปสู่การประหัตประหารทำลายซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแสดงว่า “บัณฑิตไร้วิวาท คนพาลมักวิวาท” ต่อมาท่านแสดงว่า “ผู้ทรงคุณธรรมไร้คุณธรรม ผู้ไร้คุณธรรมยึดถือธรรม ผู้ยึดมั่นนั้น ไม่แจ้งในคุณธรรม” ทังนี้เพราะเมื่อบัณฑิตพิจารณาธรรมทั้งปวงว่าเป็นสุญญตา ย่อมแจ้งชัดว่าไร้ซึ่งแก่นสารแห่งการยึดถือ ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง อุปมาดังชนผู้ข้ามทะเลแห่งทุกข์ ย่อมจักต้องอาศัยพาหนะหรือเรือแห่งธรรม และเมื่อถึงฝั่งแล้วย่อมจักต้องละทิ้งซึ่งเรือหรือธรรม ว่าหากยังยึดมั่นในธรรมย่อมจักไม่อาจขึ้นฝั่งคือการพ้นจากทะเลแห่งทุกข์ อนึ่งชนผู้ทรงคุณธรรมนั้น มีคุณธรรมเป็นปกติวิสัย จะยึดมั่นว่าตนเป็นผู้ทรงธรรม ตนจักประพฤติคุณธรรมก็หาไม่ ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ไร้คุณธรรม จะทำการไรไรก็อ้างคุณธรรม เน้นที่รูปแบบวิธีการปฏิบัติมากกว่าเนื้อหาสาระ มักคิดว่าตนเป็นคนดี ตนจักทำความดี และมักตั้งคำถามว่า เหตุใดทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งการตั้งคำถามลักษณะนี้ เป็นการทำดีเพื่อหวังผล เป็นการทำดีเพียงแค่เปลือก ( ซึ่งต่างกับผู้ทรงคุณธรรม ที่ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และทำดีต่อไปแม้จะถูกทำร้าย และเอารัดเอาเปรียบ เพราะความดีคือการให้ ไม่ใช่การได้) เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าคุณธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างไร จึงเป็นผู้ไร้คุณธรรมที่แท้จริง ดังที่ท่านแสดงว่า “ผู้ทรงคุณธรรมไร้คุณธรรม ผู้ไร้คุณธรรมยึดถือธรรม ผู้ยึดมั่นนั้น ไม่แจ้งในคุณธรรม”
眾生所以不得真道者 (สรรพชีวิตไม่แจ้งในเต๋าที่แท้จริง) ,為有妄心 (จึงมีอุปาทาน) ,既有妄心 (เพราะมีอุปาทาน) ,即驚其神 (จึงมีความกลัว) ,既驚其神 (เมื่อมีความกลัว) ,即著萬物 (จึงมีสรรพสิ่ง) ,既著萬物 (เมื่อมีสรรพสิ่ง),即生貪求 (จึงมีความโลภ) ,既生貪求 (เมื่อมีความโลภ) ,即是煩惱 (ก็คือความทุกข์) ,煩惱妄想 (ความทุกข์, อุปาทาน) ,憂苦身心 (ทุกข์กายและใจ) ,便遭濁辱 (พบกับความสกปรกแลเหยียดหยาม) ,流浪生死 (เวียนว่ายเกิดตาย),常沉苦海 (จมอยู่ในทะเลทุกข์) ,永失真道 (สูญเสียเต๋าที่แท้จริง) 。真常之道 (เต๋าที่แท้จริงนั้น) ,悟者自得 (ผู้รู้แจ้งจักบรรลุได้เอง) ;得悟道者 (ผู้บรรลุเต๋านั้น) ,常清靜矣 (บริสุทธิ์และสงบยิ่งนัก)!
วรรคนี้ท่านอธิบายว่า สรรพชีวิตไม่แจ้งในเต๋าจึงเกิดอุปาทาน, ความกลัว ตลอดจนถึงการมีอยู่ของสรรพสิ่ง และการเวียนว่ายตายเกิดตามลำดับ ซึ่งคำว่า “จึงมีสรรพสิ่ง” นั้น ท่านหมายว่า เมื่อไม่แจ้งเต๋าจึงมีอุปาทาน เมื่อมีอุปาทานคือความสำคัญผิดว่ามีตัวตน จึงทำให้สำคัญผิดว่ามีสรรพสิ่ง (ตลอดจนถึงการมีอยู่ของสรรพชีวิต) ซึ่งแท้จริงแล้วหามีอยู่ไม่ เมื่อสำคัญผิดว่ามีจึงยึดมั่นถือมั่น, เกิดโลภ, โกรธ และหลง ด้วยเหตุนี้จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดมิรู้สิ้น จนต่อเมื่อรู้แจ้งในเต๋า (คือสภาวธรรมว่าว่างเปล่าหาอัตตาตัวตนมิได้) ก็จะพ้นจากอุปาทานทั้งปวง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นความบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) และ สงบ (สันติ) ที่แท้จริง
ในอวสานแห่งคัมภีร์ “ไท่สั้งเหล่าจฺวินซฺวอฉางชิงจิ้งจิง” 《太上老君说常清静经》 ได้ปรากฏซึ่งคำกล่าวของเทพปรมาจารย์ทั้ง 3 โดยหนึ่งในนั้นคือ “เก๋อเทียนซือ” 《葛天师》 ผู้รจนาคัมภีร์นี้ คำกล่าวของเทพปรมาจารย์ทั้ง 3 นั้น แสดงถึงผลานิสงส์แห่งการสวดสาธยายคัมภีร์นี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ เพื่อให้คัมภีร์นี้ได้รับการเผยแพร่สืบทอดต่อไป และเมื่อผู้สวดสาธยายสวดไปมากๆก็จะมีการตรึกในอรรถและพยัญชนะ เมื่อนานเวลาผ่านไปนานขึ้นการสาธยายบ่อยก็ได้ความคิดและมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้น และในบัณฑิตที่มีปัญญาย่อมจักบรรลุธรรมได้ในที่สุด โดยในคำกล่าวของเทพปรมาจารย์ทั้ง 3 มีบางคำที่เป็นศัพท์เฉพาะทางในการปฏิบัติสมาธิของศาสนาเต๋าซึ่งคนที่ไม่เคยศึกษาในด้านนี้อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนัก
คัมภีร์ “ไท่สั้งเหล่าจฺวินซฺวอฉางชิงจิ้งจิง” 《太上老君说常清静经》 พร้อมทั้งอรรถาธิบายก็อวสานลงแต่เพียงนี้ ที่สุดนี้ขอสรรพชีวิตทั้งปวงจงเป็นผู้นิรทุกข์ พบกับสุขอันเกิดจากวิสุทธิและสันติภาวะ ตามนัยคัมภีร์ “ไท่สั้งเหล่าจฺวินซฺวอฉางชิงจิ้งจิง” 《太上老君说常清静经》นี้ด้วยกันทุกท่านเทอญ..........
ไร้รูปแลลักษณ์ 《无极》 ก่อกำเนิด
นามประเสริฐสมมุติ “เต๋า” 《道》 สุดวิสัย
ภาวะ “มี” 《太极》 ก่อเกิดขับเคลื่อนไป
“อิน” 《阴》 - “หยาง” 《阳》 ไหลไปเรื่อยบรรจบกัน
“4 ทิศ” 《四季》 - “5 ธาตุ” 《五行》 มาประสาน
บังเกิดการณ์สรรพสิ่งสิทธิผล
สรรพสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนว่ายวน
ไหลไปตามทำนองของกองกรรม
ละ “รูปแลนาม” กระจ่างไข
ไร้เกิดไร้ตายประเสริฐผล
ดับทุกข์ละสุขในบัดดล
สำเร็จผลเข้าถึงภาวะ “เซียน” 《仙》