黄粱 (huáng liáng) อ่านว่า หวงเหลียง แปลว่า ข้าวฟ่าง
一 (yī) อ่านว่า อี แปลว่า หนึ่ง
梦 (mèng) อ่านว่า เมิ่ง แปลว่า ฝัน ในสมัยราชวงศ์ถัง มีนักวิชาการผู้หนึ่ง แซ่หลู นามชุ่ยจือ ผู้อื่นเรียกขานเขาว่าบัณฑิตหลู
มีอยู่ปีหนึ่ง บัณฑิตหลูเดินทางเข้ามายังเมืองหลวงเพื่อเข้าสอบ ระหว่างทางแวะพักค้างแรม ณ โรงเตี้ยมแห่งหนึ่งในเมืองหานตัน บังเอิญพบกับนักพรตรูปหนึ่งนามว่า หลี่ว์เวิง เขาได้ปรารภถึงความลำบากยากแค้นของตนเองให้นักพรตฟัง เมื่อนักพรตฟังจบ ก็ล้วงเข้าไปในย่ามหยิบหมอนที่ทำจากกระเบื้องออกมายื่นให้บัณฑิตหลู พลางกล่าวว่า "ยามท่านนอน ให้หนุนหมอนใบนี้ แล้วฝันของท่านจะกลายเป็นจริง"
เมื่อถึงยามวิกาล เจ้าของโรงเตี้ยมเริ่มต้นต้มข้าวฟ่าง ส่วนบัณฑิตหลูก็ล้มตัวลงนอนหนุนหมอนที่นักพรตให้มา และหลับไปโดยเร็ว ทั้งยังฝัน ในฝันเขากลับไปยังบ้านเกิด หลายเดือนต่อมาก็ได้ตบแต่งภรรยาที่หมดจดงดงามนางหนึ่ง อีกทั้งฐานะยังมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ บัณฑิตหลูรู้สึกสุขใจยิ่งนัก ไม่นานจากนั้นเขาก็สอบจองหงวนได้ มีตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นเป็นลำดับ จนขึ้นเป็นถึงเสนาบดี อยู่ในตำแหน่งต่อมาอีกกว่า 10 ปี มีบุตรชายทั้งสิ้น 5 คน ทุกคนล้วนรับราชการเป็นขุนนางที่มีความสำเร็จ จากนั้นยังมีหลานอีกหลายสิบคน กลายเป็นตระกูลใหญ่ที่มีอิทธิพลยิ่งในแผ่นดิน จากนั้นเมื่อย่างเข้าวัยชรา อายุ 80 ปี ก็ป่วยหนัก ทุกข์ทรมาน ดูแล้วคงต้องลาโลกเป็นแน่แท้...ยามนั้นเขาจึงตกใจตื่นขึ้นมา ถึงทราบว่าเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนฝันไป
ขณะนั้น เมื่อลุกขึ้นมาสำรวจดู เจ้าของโรงเตี้ยมยังต้มข้าวไม่ทันสุกดี บัณฑิตหลูจึงรู้สึกประหลาดใจยิ่งนัก เอ่ยว่า "นี่ก็เป็นเพียงความฝันใช่หรือไม่?" ครานี้นักพรตจึงเป็นผู้ตอบว่า "ชีวิตมนุษย์ แท้จริงแล้วก็เป็นเช่นกันมิใช่หรือ"
เมื่อผ่านประสบการณ์ความฝันชั่วเวลาข้าวฟ่างไม่ทันเดือด บัณฑิตหลูจึงเกิดความรู้แจ้งว่าชีวิตมนุษย์เป็นเช่นความฝัน ไม่มีสิ่งใดจริงแท้ยั่งยืน เขาจึงตัดสินใจไม่ไปสอบจองหงวน ทว่าเดินทางกลับบ้านเกิด
สำนวน "หวงเหลียงอีเมิ่ง" หรือ "ความฝันยามต้มข้าวฟ่าง" ใช้เปรียบเทียบกับความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง หรือเปรียบเทียบว่าความสุขความสำเร็จนั้นมักเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยั่งยืนเสมอไป เป็นสัจธรรม
สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งประธาน(主语) กรรม(宾语) ส่วนขยายนาม(定语)
Credit : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 พฤษภาคม 2553 14:18 น.