อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว นั่นก็คือชนิดหรือประเภทของผลไม้ที่นำมาไหว้พระ คนโบราณมักนิยมเอาชื่อหรือคำพ้องต่างๆเข้ามาเป็นนัยหรือเป็นเคล็ดในการไหว้ ทั้งนี้เพื่อให้รับรู้ถึงความเป็นมงคลในการเซ่นไหว้ คตินี้ไม่เฉพาะแต่ชาวจีนเท่านั้น คนไทยแต่โบราณก็นิยมคตินี้เช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่บรมครูสุนทรภู่ได้รจนาถึง "ต้นไม้มงคล" ที่ควรปลูกในรั้วบ้านตามทิศต่างๆ ซึ่งต้นไม้เหล่านั้นล้วนมีชื่อเรียกขานที่พ้องกับสิ่งที่เป็นมงคลทั้งสิ้น (ขนุน , กันเกลา , สักทอง ฯลฯ)
แต่สำหรับพิธีกรรมการเซ่นไหว้แล้ว คงต้องแยกออกเป็นสองส่วน ในกรณีที่จัดเครื่องไหว้พระพุทธเจ้า , พระโพธิสัตว์ ฯลฯ ไม่มีข้อห้ามในเรื่องของชื่อหรือคำพ้องเกี่ยวกับผลไม้หรือของไหว้ต่างๆแต่อย่างใด ผลไม้ตามฤดูกาลในบ้านเราทุกชนิดสามารถนำมาเซ่นไหว้ได้หมด ไม่มีกรณียกเว้น เช่น มังคุด , พุทธา , น้อยหน่า , ลางสาด(ลองกอง) , มะม่วง , ระกำ , เงาะ ฯลฯ รวมความไปถึงดอกไม้ต่างๆที่มีชื่ออวมงคล ก็สามารถนำมาถวายพระพุทธและพระโพธิสัตว์ได้ (ซ่อนกลิ่น, รักแร่, หน้าวัว ฯลฯ)
พูดได้ว่าการไหว้พระพุทธและพระโพธิสัตว์ ไม่จุกจิกหยุมหยิมแต่อย่างใด ( อาจเป็นเพราะพระเมตตาคุณอันหาที่สุดมิได้ก็เป็นได้) เว้นแต่ห้ามถวายเครื่องคาวทุกชนิดเท่านั้น
กรณีที่เซ่นไหว้เทพ , ไหว้เจ้า , เจ้าที่และบรรพบุรุษ ชื่อและคำพ้องของผลไม้หรือสิ่งของที่นำมาไหว้ กลับมีความนัยสำคัญและยึดถือกันอย่างแพร่หลาย เช่นกรณีสิ่งของที่มีสีขาวล้วน ไม่ว่าจะเป็นขนมคาวหวาน , ผลไม้ ก่อนที่จะนำไปเซ่นไหว้เทพ , ไหว้เจ้า , เจ้าที่และบรรพบุรุษ จะต้องหากระดาษสีแดงหรือสีน้ำแดง(สีที่ผลิตเพื่อเสริมในอาหาร) มาคาดมาแต้มให้สิ่งของเหล่านั้นมีสีแดงเสียก่อน ไม่นิยมนำสิ่งที่ว่านี้มาเซ่นไหว้โดยตรง หลายคนคงเคยสังเกตเห็นว่า ทำไมซาลาเปาหรือหมั่นโถที่มีแป้งสีขาว จะต้องมีสีชมพูหรือสีแดงแต่งแต้มเอาไว้เสมอ นั่นก็เป็นเพราะคติความเชื่อข้างต้นนี่เอง
เหตุที่เจาะจงเป็นสีแดง เพราะชาวจีนเชื่อกันว่า สีแดงคือสีมงคล , สีสวัสดิโชค สีแห่งความมีชีวิตชีวา ( เพราะเลือดในกายก็สีแดง-ถ้าร่างการขาดเลือดก็จะซีด) และเป็นสีแห่งความร่าเริงสดชื่นดุจสีของพระอาทิตย์พระจันทร์
ด้วยเหตุที่ชาวจีนถือกันว่าสีขาวเป็นสีแห่งความเศร้าหมอง , เป็นสีแห่งความทุกข์(สีไว้ทุกข์) หากมีของไหว้เป็นสีเศร้าหมองสีที่นำมาซึ่งความทุกข์ ก็จะทำให้การเซ่นไหว้หรือพลีกรรมนั้นๆ ไม่สัมฤทธิ์ผลหรืออานิสงส์แห่งการเซ่นไหว้นั้นๆ ย่อมถดถอยสรรพคุณลงไป
เช่นเดียวกับการจัดแจกันถวายเทพฯ ดอกไม้ที่มีชื่อไม่เป็นสิริมงคลต่างๆก็ล้วนเป็นข้อห้าม เช่น ดอกซ่อนกลิ่น , ดอกหน้าวัว , ดอกรักเร่ ฯลฯ และรวมถึงผลไม้ที่มียาง , มีหนาม , มีกลิ่นฉุน ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการบูชาเทพทั้งสิ้น
ผลไม้หลักๆที่นิยมใช้ไหว้พระบูชาเทพและมีนัยที่เป็นมงคลต่างๆ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีได้แก่สาลี่ , องุ่น , ส้ม , แอ๊ปเปิ้ล , ลูกพลับ ฯลฯ ผลไม้เหล่านี้สามารถวายพระและบูชาเทพได้ตลอดกาล ซึ่งแต่ละชนิดก็มีนัยทางมงคลนามแฝงอยู่อาิทิ
ผลสาลี่ มีนัยหมายถึงการรักษาคุณงามความดีเอาไว้อย่างมั่นคง หรืออีกนัยหนึ่ง, เป็นการรักษาซึ่งโชคลาภเงินทองมิให้เสื่อมถอย ฯลฯ
ผลองุ่น มีนัยหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว เข้าทำนองว่าทำมาค้าคล่องท้องอิ่ม ฯลฯ
ผลแอปเปิ้ล มีนัยหมายถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคาพยาธิมาเบียดเบียน มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้ ฯลฯ
ผลส้ม มีนัยหมายถึงความมีโชคดี ในชีวิตจะประสบแต่สิ่งดีๆเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว ฯลฯ
ผลพลับ มีนัยหมายถึงจิตใจที่หนักแน่น (อยู่ในธรรม) อย่างมั่นคง สามารถล่วงพ้นอุปสรรคนานาได้อย่างราบรื่น, มีความขยันมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง ฯลฯ
ในการถวายผลไม้ต่างๆในแต่ละครั้ง ก็อาจจัดวางไว้ในพานหน้าแท่นบูชาได้คราวละหลายๆวัน(ตามแต่ชนิดของผลไม้นั้นๆ) แต่ต้องไม่ปล่อยให้ผลไม้สุกงอมจนเกินควร หรือเหี่ยวเฉาส่งกลิ่นเหม็นอับต่อหน้าแท่นบูชา ซึ่งถือว่าไม่เป็นมงคลแก่ผู้บูชากราบไหว้ ควรลาผลไม้ในเวลาที่เหมาะสม
แต่อย่างก็ตาม , ในแต่ละประเทศ, แต่ละภาษาหรือแต่ละท้องถิ่น ก็มีการเรียกขานผลไม้ชนิดเดียวกันแปลกแยกแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นในส่วนนี้จึงควรใช้ดุลพินิจถึงความเหมาะสมว่าควรนิยมไปในทิศทางใด แต่ก็อย่าให้ถึงกับเป็นการขัดแย้งต่อประเพณีธรรมเนียมปฎิบัติแต่โบราณเสียทีเดียว อาจไม่เป็นมงคลจริงๆก็ได้ ซึ่งไปสอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มักเน้นย้ำถึงเรื่อง "กาลเทศะ" เป็นสิ่งสำคัญเสมอ
ธนกฤต เสรีรักษ์
พฤศจิกายน 2550