collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะขงจื๊อ สอนคนให้เป็นคน  (อ่าน 23982 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       วิญญูชนย่อมไม่นิยมชมชอบความรุนแรง และวิญญูชนส่วนไม่น้อยต่อต้านความรุนแรงทั้งมวล โดยเฉพาะความรุนแรงระดับสูงที่มีการต่อสู้การสงคราม แต่อย่างไรก็ตาม การตีขลุมเหมาเอาว่าความรุนแรงเป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องทำลายล้างให้หมดไปนั้น เป็นทัศนคติที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เราต่อต้านใช้ความรุนแรงก็จริง แต่เราก็ต้องเข้าใจธาตุแท้ของความรุนแรงด้วย มิฉะนั้นการต่อต้านจะเป็นไปอย่างมือบอดสุดโต่ง ไม่บังเกิดผลสำเร็จ ความรุนแรงหรือที่ปราชญ์จีนโบราณใช้ศัพท์ว่า "การทหาร" ในบางครั้งนั้นยังเป็นภาพมายาที่มนุษย์มองจำแนกไม่ชัดเจน
     คัมภีร์ "หลี่สื้อชุนชิว" ซึ่งหลี่ปู้เหว่ย เป็นผู้อำนวยการให้เรียบเรียงขึ้น  เป็นตำราที่เชิดชูลัทธิหญู หรือ ลัทธิขงจื๊อ เนื้อหาในบรรพที่สิบสาม "หยิวสื่อ" เขียนถึงความรุนแรง ๘ ประการ ตรงนี้ช่วยเตือนสติเราให้ระมัดระวังเรื่องความรุนแรงให้มากขึ้น ดังนี้""การทหารความรุนแรงดำรงคงอยู่มาช้านานแลัว จะหยุดเลิกกันภายในระยะสั้น ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้  ไพร่ ผู้ดี เด็ก แก่ หรือแม้ผู้ที่ปรีชา ต่างล้วนมีการทหารรุนแรงอยู่เหมือน ๆ กัน จะต่างกันอยู่เพียงระดับมากน้อยของความรุนแรงเท่านั้น เงื่อนงำของการทหารความรุนแรงเป็นไฉนฤา
๑. ความโกรธแม้อยู่ภายในใจ มิได้แสดงออกมา  ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๒. ถลึงตาเขม้นมอง   ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๓. โกรธจนแสดงออกทางสีหน้า   ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๔. กล่าววาจาสามหาว    ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๕. ยื้อยุดดึงดัน   ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๖. พลิกพลิ้วกลับดำเป็นขาว  ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๗. แก่งแย่งแข่งขัน  ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
๘. รบทัพจับสึก  ก็เป็นการทหารความรุนแรงแบบหนึ่ง
        ทั้งแปดประการล้วนคือการทหารความรุนแรง ต่างกันแต่การะดับชิงชัยว่าใหญ่หรือน้อยกว่าเท่านั้น เหล่าพวกที่โพนทะนาให้หยุดการทหารความรุนแรงอยู่ขณะนี้นั้น พวกเขาก็ใช้การทหารความรุนแรงมาชั่วชีวิต โดยมิได้สำนึกรู้ตัวเลย ช่างเลอะเทอะเสียนี่กระไร เช่นนี้เอง แม้ถ้อยคำพวกเขาจะดูเข้มแข็ง แม้วาทะที่เอ่ยจะคมคาย แม้อักษรศิลป์จะลุ่มลึกเพียงใด ก็ยังไม่อาจนำพาคนให้เห็นตาม มองสถานการณ์ความขัดแย้งในการเมืองในสังคมไทยช่วง พ.ศ.2548 - 2551 หากมองตามปราชญ์จีนที่เสนอให้ไว้ใน "หลี่สื้อชุนชิว" ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรุนแรงไปแล้ว แล้วทีนี้จะทำกันอย่างไร  ปราชญ์จีนโบราณสอนว่า ต้องยอมรับว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติหนึ่งของสังคมมนุษย์ และรู้จักควบคุมความรุนแรงที่เป็นอธรรม ด้วยความรุนแรงที่เป็นธรรม ลองพิจารณาดูเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดต่อไปนี้ ตัดเฉพาะส่วนที่อธิบายถึงความรุนแรงแปดประการข้างต้นออกเท่านั้น
       "ธรรมมิกราชแต่เบื้องโบราณทรงมีกองทัพที่เป็นธรรม จะไม่ละเลิกกองทัพนั้นเป็นอันขาด เรื่องการทหารความรุนแรงนั้นมีสืบเนื่องมาแต่เบื้องบรรพกาล พร้อม ๆ กับกำเนิดของมนุษย์้นั้นแล การทหารความรุนแรงแสดงถึงเดชศักดา เดชศักดาแสดงถึงอำนาจ อันธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ทุกผู้ ย่อมมีเหตุศักดาความกำแหง ฟ้ากำหนดธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ไว้เช่นนี้ มิใช่มนุษยืมาคิดสร้างกันเอง และถึงแม้จะใช้อาวุธมาบังคับใช้หัตถศิลปินมาสลักเสลา ก็มิอาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ การทหารความรุนแรงมีมานมนานนักหนาแล้ว ยุคประมุขหวงตี้  เหยียนตี้  ก็รู้จักใช้ไฟใช้น้ำมาต่อสู้กัน ยุคก้งกงสื้อ เริ่มใช้การทหารความรุนแรงเพื่อช่วงชิงตำแหน่งปนะมุขกันแล้ว ถึงยุคห้าจักรพรรดิ (อู่ตี้) พวกเขาก็ใช้การทหารความรุนแรงเพื่อช่วงชิง เพื่อครองพิภพกัน บ้างรุ่งเรือง ได้ครองแผ่นดินบ้างถูกถอดถูกอัปเปหิ ใครชนะย่อมได้เป็นผู้ครองพิภพ...ผู้ชนะจะได้เป็นหัวหน้าเผ่า ครั้นเมื่อหัวหน้าเผ่ามิอาจปกครองควบคุมมวลหมู่มนุษย์ได้อีกต่อไป จึงก่อตั้งตำแหน่งขุน (จวิ้น) ขึ้น ครั้นเมื่อขุนมิอาจปกครองควบคุมมนุษย์ได้อีกต่อไปจึงก่อตั้งตำแหน่งโอรสสวรรค์ (เทียนจื่อ)ขึ้น การก่อตั้งตำแหน่งโอรสสวรรค์เริ่มมาจากขุน การก่อตั้งตำแหน่งขุนเริ่มมาจากหัวหน้าเผ่า การก่อตั้งตำแหน่งหัวหน้าเผ่าแท้จริงแล้วเริ่มจากการต่อสู้ชิงชัยนั่นเองหากในครอบครัวขาดเสียซึ่งพระเดชของบิดามารดา ความผิดพลาดบกพร่องของบุตรจะปรากฏให้เห็นทันที หากภายในแคว้นขาดเสียซึ่งทัณฑ์อาญาอันเข้มงวดการข่มแหงรังแกรุกรานกันระหว่างชาวบ้านจะปรากฏให้เห็นทันที หากในพิภพขาดเสียซึ่งการปราบปรามฆ่าของกองทัพธรรมภาวะใหญ่ขม้ำเล็ก เข้มแข็งรุกรานอ่อนแอ ระหว่างพระยาสามนตราชจะปรากฏให้เห้นทันที เช่นนี้เองภายในครอบครัวก็มิอาจสร้างเสียถึงพระเดช ภายในแคว้นมิอาจร้างเสียซึ่งทัณฑ์อาญา ในพิภพมิอาจร้างเสียถึงการฆ่าฟันจะต่างกันไปก็เพียงแค่นำมาใช้อย่างเหมาะควรหรืออย่างหยาบกระด้างเท่านั้น ดังนั้นอริยกษัตริย์แต่เบื้องโบราณ จึงต้องมีกองทัพธรรมมิอาจจะเลิกกองทัพเป็นอันขาด
มีคนกินอาหารติดคอจุกตาย เลยคิดจะห้ามใช้อาหารทั่วทั้งพิภพ ช่างเลอะเทอะเสียนี่กระไร
มีคนโดยสารเรือแล้วจมน้ำตาย เลยคิดจะห้ามใช้เรือทั่วพิภพ ช่างเลอะเทอะเสียนี่กระไร
มีคนใช้การทหารความรุนแรงแล้วแคว้นล่มจม เลยคิดจะห้ามใช้การทหารความรุนแรงทั่วพิภพ ช่างเลอะเทอะเสียนี่กระไร
      มีทหารความรุนแรงนั้น มิอาจหยุด มิอาจเลิก เปรียบได้ดั่งน้ำและไฟ หากสันทัดการใช้จะเป็นมงคล แต่หากใช้ไม่เป็นย่องอัปมงคล เช่นเดียวกับการใช้ยา ใช้ยาดีจะช่วยชีวิตคนได้ แต่หากใช้ยาไม่เป็น คนก้เสียชีวิต บทบาทของกองทัพธรรมในการรักษาพิภพนั้นยิ่งใหญ่นัก อริยะกษัตริย์แต่โบราณจึงมีกองทัพธรรมมิอาจละเลิกครองธรรม ใช้กำจัดทรราชย์ ปลดเปลื้องทุกขเวทนาของเหล่ารษฏรแล้วไซร์ ปวงราษฏรย่อมมอบใจเชื่อฟัง เช่นเดียวกับลูกกตัญญูปฏิบัติต่อผู้บังเกิดเกล้า (ปวงราษฏร) จะเบิกบานประหนึ่งคนกำลังโหยหิวได้พบอาหารเลิศรส กระแสธารมวลชนที่พรูออกเรียกร้องหนุนเนื่องกันเป็นกลุ่มก้อน มีมหิทธานุภาพประหนึ่งเกาทัณฑ์ทรงพลังยิงลงสู่ธารลึกประหนึ่งทำนบเขื่อนกั้นน้ำพังทลาย มิอาจที่จะต่อต้านได้เลย หากปล่อยถึงภาวะเช่นนั้น แม้แต่ประมุขทั่ว ๆ ไป ยังไม่อาจครองใจราษฏรไว้ได้เลย ยิ่งถ้าเป็นทรราชย์เล่าจะหนักปานใด ผู้เขียนจะไม่สรุปปัญหาเรื่องความรุนแรง ขอฝากแต่เพียงว่าท่านผู้อ่าน อ่านแล้วใคร่ครวญกันมาก ๆ ว่าเราจะหาทางยุติปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างไร ?. เราจะปลูกฝังมนุสสธรรม - สอนคนให้เป็นคนได้อย่างไร?. เราจะปลูกฝังจิตสำนึกสมานฉันท์ได้อย่างไร ?.

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ท่านขงจื๊อเป็นชาวแคว้นหลู่ อันมีพื้นที่ดินแดนอยู่ในเขตมณฑลซานตง (ซานตุง) ในปัจจุบัน หลังจากท่านมรณกรรมไปนานแล้ว และลัทธิหญูหรือลัทธิขงจื๊อได้รับการยกย่องให้เป็นลัทธิคำสอนประจำราชสำนัก (คือประจำชาตินั่นเอง) ก็ได้มีการสร้างตำหนักขงจื้อสำหรับเคารพบูชาท่านขงจื๊อ ขึ้นที่เมืองชุวีอา ท้องที่ซานตงในปัจจุบัน
       ตำหนัก หรือ วัด หรือ ศาลเจ้า "ขงจื๊อ" แห่งนี้ใหญ่โตและสืบเนื่องยาวนานมาประมาณสองพันปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ มากมาย ในวิหารกลางนั้นมีศิลาจารึกสลักภาพและอักษรบอกเล่าประวัติตอนสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคำสอนของท่านอยู่ ๑๑๐ หลัก เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านขงจื๊อ ศิลาจารึกแม้จะคงทน แต่ก็ย่อมมีวันลบเลือนได้ในปีที่ ๑๓ ของศกถงจื๊อ (ค.ศ. ๑๘๗๔) ปลายราชวงศ์ชิง ท่านข่งเซียนหลาน ทายาทรุ่นที่ ๗๒ ของท่านขงจื๊อ ได้ร่วมกับบัณฑิตอีกหลายท่านลอกลายศิลาจารึกเหล่านั้นออกมาทำแม่พิมพ์เป็นหนังสือเพื่อสืบทอดรักษาและเผยแพร่
      ภาพศิลาจารึกและบันทึกชีวประวัติชุดนี้ยังไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอ่านชาวไทย จึงขอแปลนำเสนอส่วนที่เป็นชีวประวัติและภาพบางภาพที่สอนหลักธรรมะการครองชีวิตที่เข้าใจง่าย ๆ บางภาพเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าจะแปลทั้งหมดก็คงต้องคิดจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนาอีกเล่มหนึ่ง

                                            ประวัติท่านขงจื๊อ

         ภาคประวัติบุคคลสำคัญในหนังสือ "สื่อจี้" (จดหมายเหตุประวัติศาสตร์ - เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของโลก) กล่าวว่า ขงจื๊อนามว่า "ซิว" (ปัจจุบันอ่าน -ชิว  แต่โบราณอ่าน - มู่) ฉายา "จงหนี" บิดาเป็นชาวแคว้นซ่ง ชื่อ ซูเหลียงเหอ มารดาแซ่ "เหยียน" คลอดขงจื๊อในวัน "คังจื่อ" เดือนสิบเอ็ด ปีที่ยี่สิบสองของหลู่เซียงกง (ประมุขแคว้นหลู่) ที่ตำบลช่างผิง เมืองชุวี  เมื่อยามเด็ก ชอบเล่นแต่สิ่งของที่เป็นภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ  เมื่อโตขึ้นได้เริ่มเป็นพนักงานในแผนกชั่งตวงวัด ท่านทำงานชั่งตวงวัดอย่างเที่ยงตรง  ต่อมาได้เป็นพนักงานดูแลปศุสัตว์ ฝูงสัตว์เพิ่มจำนวนและสมบูรณ์อ้วนท้วนดี ต่อมาได้เดินทางไปราชสำนักราชวงศ์โจว ได้สอบถามความรู้เกี่ยวกับ "จารีต" (หลี่) ต่าง ๆ จากท่านเหลาจื่อ (เล่าจื๊อ - ปรมาจารย์ลัทธิเต๋า) เมื่อท่านขงจื๊อกลับมา (แคว้นหลู่) มีคนมาขอเป็นศิษย์มากมาย

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

     ครั้นถึงปีที่ยี่สิบห้า รัชกาลหลู่จาวกง ขงจื๊ออายุสามสิบห้า หลู่จาวกงหนีไปที่แคว้นฉี ในแคว้นหลู่เกิดจลาจลร้ายแรง ท่านขงจื๊อเดินทางไปที่แคว้นฉี และได้เป็นขุนนางบ้านในจวนของเกาจาวจื่อ (เชื้อพระวงศ์ของแคว้นฉี) ท่านจึงได้พบกับฉีจิ่งกง (ประมุขแคว้นฉี) ฉีจิ่งกงอยากจะสถาปนาให้ขงจื๊อไปครอบครองดินแดนนีซือ แต่เถียนเอี้ยนอิง (ขุนนางใหญ่ของแคว้นฉี) คัดค้านความเห็นของฉีจิ่งกง ขงจื๊อจึงเดินทางกลับไปแคว้นหลู่
     ปีืั้หนึ่งในรัชการหลู่ติ้งกง ขงจื๊ออายุสี่สิบสาม สกุลจี้เผด็จอำนาจ หยางหู่ขุนนางบ้านสกุลจี้ กุมอำนาจบริหารเกิดความวุ่นวาย ขงจื๊อจึงลาออกจากราชสำนัก ไปทำการชำระแก้ไขคัมภีร์ "ซือ" (กวี) "ซู" (ประวัติศาสตร์) "หลี่" (จารีต) และ "เยวี่ย" (ดนตรี) ในช่วงที่ท่านมีลูกศิษย์มากมาย
     ปีที่เก้า (รัชกาลหลู่ติ้งกง) ขงจื๊ออายุห้าสิบเอ็ด กงซาน ปู้หนิว ก่อกบฏขึ้นในดินแดนมี่ สกุลจี้คิดแต่งตั้งขงจื๊อมาช่วย ขงจื๊อก็ต้องการไป แต่แล้วเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ต่อมาหลู่ติ้งกงแต่งตั้งขงจื๊อเป็นขุนนางตำแหน่งจงตู หนึ่งปีผ่านไปผู้คนทั้งสี่ทิศเริ่มปฏิบัติตนตามแบบอย่างของขงจื๊อ ต่อมาท่านได้เป็นขุนนางตำแหน่งซือคง (โยธาธิการ) ต่อมาได้เป็นต้าซือโขว้ (กระทรวงยุติธรรม)
     ปีที่สิบ (รัชกาลหลู่ติ้งกง) ท่านติดตามหลู่ติ้งกงไปพบกับประมุขแคว้นฉี ที่เจี๋ยกู่ ชาวฉีได้มอบคืนพื้นที่ ที่แคว้นฉีรุกรานแย่งไป  ปีที่สิบสอง ท่านส่งจงหยิวไปเป็นขุนนางบ้านของสกุลจี้ (สามสกุลใหญ่ทำผิดกฏมณเฑียรบาล) จึงให้เผาเมืองที่สามสกุลใหญ่ตั้งขึ้นใหม่นั้น พร้อมทั้งยึดกองทหารชุดเสื้อเกราะ สกุลเหมิ่งไม่ยินยอม จึงถูกล้อมเมืองไว้ แต่ (ฝ่ายจงหยิว) ก็ตีไม่สำเร็จปีที่สิบสี่ ขงจื๊ออายุห้าสิบหก ได้เป็นมหาเสนาบดี ประหารเส้าเจิ้งเม้า และได้บริหารแคว้นหลู่ ภายในสามเดือนแคว้นหลู่ก็มีการปกครองที่ดีงาม ชาวแคว้นฉีจึงส่งคณะนักแสดงหญิงสาวให้แคว้นหลู่เพื่อบ่อนทำลาย จี้หวนจื่อยอมรับสินบน (คณะหญิงนักแสดง) จึงแกล้งไม่ส่งเนื้อในพิธีบวงสรวงแบ่งให้กับเหล่าเสนาบดี ด้วยเหตุนี้ขงจื๊อจึงเดินทางออกจากแคว้นหลู่ เมื่อขงจื๊อผ่านแคว้นเหวย ได้พักอาศัยที่บ้านของเหยียนโชโส่ว ซึ่งเป็นพี่ชายของภริยา "จื่อลู่" (ศิษย์เอกของขงจื๊อ) เมื่อขงจื๊อผ่านแคว้นเฉิน ผ่านเมืองข้วง ชาวข้วงเข้าใจผิดว่าขงจื๊อคือหยาวหู่ จึงล้อมจับตัวไว้ เมื่อถูกปล่อยตัว ท่านเดินทางกลับไปแคว้นเหวย พำนักที่บ้านของฉูผออวี้ และได้พบกับท่านหนานจื่อด้วย เมื่อขงจื๊อผ่านแคว้นซ่ง หวนเถี่ย ขุนนางตำแหน่งซือหม่าอยากจะฆ่าขงจื๊อ ท่านจึงออกจากแคว้นซ่งกลับไปแคว้นเฉิน พำนักที่บ้านของเซินเฉิงเจินจื่อ พำนักอยู่สามปี จึงเดินทางกลับไปที่แคว้นเหวย เหวยหลิงกงไม่ปรารถนาจะใช้ขงจื๊อเป็นขุนนาง  ฝอสื่อ ขุนนางบ้านของสกุลจ้าว แห่งแคว้นจิ้นก่อกบฏขึ้นในดินแดนแคว้นจงโหม่ว เชิญขงจื๊อไปร่วมงาน ขงจื๊อเองก็ปรารนาจะไปร่วม แต่ไม่อาจไปถึง
      ขงจื๊อเดินทางไปทางตะวันตกเพื่อพบกับจ้าวเจี๋ยนจื่อ เมื่อเดินทางไปถึงฝั่งแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) ก็กลับ แล้วไปพำนักที่บ้านของฉูผออวี้ เหวยหลิงกงถามท่านขงจื๊อเรื่องการทหาร แต่ขงจื๊อไม่ตอบ จากนั้นจึงเดินทางไปแคว้นเฉิน
      เมื่อจื่อหวนจื่อจะตาย ได้สั่งเสียคังจื่อให้เชิญขงจื๊อกลับมาแคว้นหลู่ แต่พวกขุนนางของคังจื่อห้ามปรามไว้ คังจื่อจึงให้เชิญหญ่านฉิว (ศิษย์ของขงจื๊อ) มาแทน  ขงจื๊อเดินทางไปที่แคว้นไช่ และแคว้นเซอ ต่อมาฉู่จาวหวาง (ประมุขแคว้นฉู่) ปรารถนาจะสถาปนาให้ขงจื๊อครองพื้นที่แดนซูเส้อ แต่ทว่าลิ่งอิ๋นจือชีต่อต้าน ต้องยุติเรื่องไว้ จากนั้นขงจื๊อเดินทางกลับไปแคว้นเหวยอีก ขณะนั้นเหวยหลิงกงมรณกรรมแล้ว ประมุขแคว้นคนใหม่ต้องการได้ขงจื๊อเป็นผู้บริหารแว่นแคว้น  หญ่านฉิว เป็นขุนพลกองทัพสกุลจี้ ทำศึกชนะแคว้นฉีมีความดีความชอบมาก คังจือจึงให้เชิญขงจื๊อกลับแคว้นหลู่ ขงจื๊อกลับแคว้นหลู่ในปีที่สิบเอ็ด รัชกาลหลู่อายกง ขงจื๊ออายุหกสิบแปดปี  แต่แคว้นหลู่ไม่ได้คิดใช้ขงจื๊อ (บริหารแคว้น) ขงจื๊อก็ไม่ปรารนาจะเป็นขุนนางอีก
       ท่านตรวจชำระแก้ไขคัมภีร์ต่าง ๆ ได้แก่ "ซู" และ "จ้วน" (ประวัติศาสตร์) "หลี่จี้" (จารีต) "ซือ" (กวี) "เยวี่ย" (ดนตรี) "อี้" (คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง - อี้จิง)
       ขงจื๊อมีลูกศิษย์มากถึงสามพันคน มีศิษย์ผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ทั้งหกแขนงถึง ๗๒ คน  ปีที่สิบสี่ ชาวแคว้นหลู่จับกิเลนได้ตัวหนึ่ง ขงจื๊อเขียนเรื่องชุนชิว  ปีต่อมา จื่อลู่ตายที่แคว้นเหวย  ปีที่สิบหก เดือนสี่ ขงจื๊อตายในวัยเจ็ดสิบสามปี ฝังศพไว้ที่ริมแม่น้ำซือ ทางเหนือของเมืองหลู่ ศิษยยานุศิษย์ไว้ทุกข์สามปี ส่วนจื่อก้งสร้างกระท่อมอยู่ใกล้หลุมฝังศพ เฝ้าไว้ทุกข์อยู่หกปี ขงจื๊อมีบุตรชายชื่อหลี่ ฉายาป๋ออวี๋  ป๋ออวี๋ตายก่อนบิดา  ป๋ออวี๋มีบุตรชายชื่อฉี ฉายาจื่อซือ จื่อซือเป้นผู้เขียนคัมภีร์จงยง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                   ต่อจากนี้ จะแปลตัวอย่างภาพศิลาจารึกตำหนักขงจื๊อ บางภาพ

ภาพที่ ๑๔  เข้าเรียนที่สำนักผิงจง  :  เล่าขานกันว่าขงจื๊อเจ็ดขวบเข้าศึกษาที่สำนักของเยี่ยนผิงจง (ตามประวัติว่า) เยี่ยนผิงจงปกครองพื้นที่ตงอา ขงจื๊อเมื่อเริ่มต้นเข้าศึกษาเล่าเรียนจึงน่าจะเข้าเรียนที่สำนักศึกษาซึ่งเยี่ยนผิงจงตั้งขึ้น

ภาพที่ ๑๙  สอบถามเรื่องจารีตพิธีกรรมในราชสำนัก :  ขงจื๊อเคยช่วยงานพิธีกรรมในราชสำนัก ขงจื๊อสอบถามทุกสิ่งทุกเรื่อง บางคนจึงว่า ใครว่าบุตรของชาวโซวรู้เรื่องพิธีกรรม เข้ามาในราชสำนักกลับต้องถามไถ่คนอื่นทุกเรื่อง ขงจื๊อได้รับฟังจึงว่านี่แลจารีตพิธีกรรม

ภาพที่ ๒๑  คารวะเล่าตาน (เล่าจื๊อ) :  เมื่อขงจื๊อ กับ หนานกงจิ้งซือ ไปราชสำนักโจวได้ไปสอบถามเรื่องจารีตพิธีกรรมจากท่านเล่าจื๊อ จูจื่อกล่าวไว้ว่า ท่านเล่าจื๊อเป็นเลขาราชสำนักโจว จึงรอบรู้เรื่องพิธีกรรมและจารีตต่าง ๆ เป็นอย่างดี ขงจื๊อจึงตามไปไถ่ถาม

ภาพที่ ๒๓  ชมสายน้ำ :  ขงจื๊อยืนอยู่ริมแม่น้ำชมสายน้ำอยู่ จื่อก้ง (ศิษย์เอกคนนหนึ่ง) ถามว่า เมื่อวิญญูชนพบแม่น้ำท่านจะชมดูเสมอ เป็นเพราะเหตุใด  ขงจื๊อตอบว่า เนื่องจากสายน้ำไหลไปไม่เคยอยู่นิ่ง เสมือนกับธรรมะ (เต๋า) ที่ไหลไปตลอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คุณธรรมแห่งสายน้ำเป็นดังนี้ วิญญูชนจึงต้องแลชม

ภาพที่ ๓๑  ชมชาวบ้านยิงธนู :  ขงจื๊อชมดูชาวบ้านแข่งขันยิงธนู ท่านกล่าวว่า ผู้ที่ฝึกตนจนยิงมิพลาดกลางเป้าต้องปรีชาสามารถ ถ้าไม่ปรีชาสามารถและมีวินัยแล้ว จะยิงถูกกลางเป้าได้อย่างไร คัมภีร์ซือจิง (กวี) เขียนไว้ว่า"ต้องมีเป้าหมายที่แจ่มชัด จึงจะบรรลุความประสงค์ได้"

ภาพที่ ๓๒  ถามถึงการปกครองที่เขาไท่ซาน :  ขงจื๊อเดินทางไปแคว้นฉี เมื่อผ่านภูเขาเขตไท่ซาน ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญ จึงกล่าวว่า ดูเหมือนนางจะมีทุกข์ใหญ่หลวง แล้วให้จื่อลู่ (ศิษย์เอกคนหนึ่ง) ไปไถ่ถามดู นางตอบว่าน้าชายเิ่พิ่งถูกเสือกัดตาย สามีและลูกของนางก็ถูกเสือกัดตายไปก่อนหน้านี้แล้ว จื่อลู่ถามต่อว่า เหตุใดไม่หลบไปอยู่ที่อื่น นางตอบว่าที่นี่ไม่มีขุนนางเลว จื่อลู่มารายงานขงจื๊อ ขงจื๊อกล่าวว่า การปกครองที่เลวนั้นดุร้ายกว่าเสีย

ภาพที่ ๓๗  แบ่งปันเอื้ออาทร :  จี้หวนจื่อมอบข้าวพันถังให้ขงจื๊อ ขงจื๊อยอมรับไว้ แล้วแบ่งข้าวนั้นให้คนที่ขาดแคลน จื่อก้งถามว่า จี้ซุนเห็นว่าท่านยากจนจึงมอบข้าวให้ท่าน แต่ท่านรับมาแล้วกลับแบ่งให้คนอื่นอีก เรื่องนี้ไม่ตรงกับความประสงค์ของจี้ซุนเป็นแน่  ขงจื๊อตอบว่า ข้ารับข้าวพันถังของจี้ซุนไว้ แสดงความยอมรับการเอื้ออาทรของจี้ซุน แต่ทว่าการเอื้ออาทรต่อคนเพียงคนเดียว จะสู้การเอื้ออาทรต่อคนเป็นจำนวนร้อยได้หรือ

ภาพที่ ๔๕  ศิษย์เอกทั้งสี่ :  จื่อลู่  เจิงสือ  หญานอวี้  กงชีหัว  นั่งอยู่ข้างขงจื๊อ ขงจื๊อกล่าวว่า พวกเจ้าจงบอกความใฝ่ฝันของพวกเจ้าออกมา ศิษย์ทั้งสามตอบว่า อยากทำให้ประเทศเจริญมั่นคง อยากทำให้ประเทศเจริญเข้มแข็งมั่นคง อยากเป็นอัครมหาเสนาบดี  มีแต่เตี่ยนเจิงสือ ผู้เดียว ตอบว่า อยากอยู่ริมน้ำยามมีสายลมฤดูใบไม้ผลิโชยพลิ้ว ขงจื๊อตอบว่าเห็นด้วยกับเตี่ยน

ภาพที่ ๕๗  อาภรณ์แบบหญู ปฏิบัติตนแบบหญู :  หลู่อายกงถามขงจื๊อว่า อาภรณ์ของท่านเป็นอาภรณ์แบบบัณฑิตหญูหรือไม่ขงจื๊อตอบว่า ชุดผ้าเฝิงเย่ และผ้าจังผู่ เป็นชุดที่ชาวบ้านสวมใส่ ข้าไม่รู้ว่านี่คืออาภรณ์ของบัณฑิตหญูหรือไม่  หลู่อายกงถามต่อว่า ขอถามเรื่องการปฏิบัติตนของบัณฑิตหญู  ขงจื๊อตอบว่า ถ้าจะกล่าวอย่างสั้น ๆ ก็ไม่อาจจะอธิบายได้ครบถ้วน ถ้าจะอธิบายให้ครบถ้วน แม้ว่าท่านจะเปลี่ยนผู้รับใช้แล้ว (หมายความว่าเวลายาวนาน) ก็ยังอธิบายไม่หมด ขงจื๊อจึงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติตนของบัณฑิตหญูเพียงบางข้อ เช่น พึ่งพาตนเอง มีความกล้าหาญ มีวินัยต่อตนเอง ใจคอกว้างขวาง สนับสนุนผู้ปรีชาสามารถ เลือกใช้คนดีมีความสามารถบรรลุภารกิจได้ด้วยตนเอง เป็นต้น

ภาพที่ ๗๓  ผ่านแดนผู  ชมเชยการปกครอง :  จื่อลู่ ได้ไปบริหารการปกครองที่ "ผู" ขงจื๊อผ่านแดนเข้าไปสามหน ล้วนแต่ชมเชยการปกครองของแดนผู จื่อก้งถามว่า ท่านยังไม่เคยเข้าไปดูการบริหารปกครองในทำเนียบเลย ท่านรู้ได้อย่างไรว่าที่นี่บริหารปกครองได้ดี ขงจื๊อตอบว่า เมื่อเราเข้าสู่เขตท้องที่ผู นาข้าวปลูกเป็นระเบียบเรียบร้อยงอกงามดี หญ้าวัชพืชถูกตัด ชาวบ้านมีความสุภาพเรียบร้อยและเชื่อมั่นศรัทธาในภาระหน้าที่ของตน เมื่อเราเข้าไปในเขตเมือง กำแพงเมืองมั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ใหญ่งอกงาม ผู้คนมีความซื่อสัตย์และภักดี ปราศจากโจรขโมย เมื่อเข้าไปในอาคารสำนักงาน สะอาดสะอ้าน เหล่าพนักงานระดับล่างมีระเบียบเรียบร้อย แสดงว่าไม่มีปัญหาในการบริหารปกครอง เช่นนี้แล้วชมเชยสามครั้งก็ยังน้อยไป

Tags: