***ลูกจันโอ - ลูกจันอิน ผลไม้ที่หาย๊ากยาก***
จันโอ-จันอิน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบเขตร้อน มักปลูกกันตามวัด เพราะเป็นต้นไม้ยืนต้นโตช้า จันโอ-จันอินนำมากินเป็นอาหารได้ ชาวอีสานกินผลดิบ กล่าวว่าเอามาตำกินแซบอีหลีจริงๆ ผลสุกกินเล่น เป็นผลไม้ที่มีรสหวาน ก่อนกินจะต้องคลึงให้ช้ำเพื่อให้ยางฝาดที่แทรกอยู่ในเนื้อลดลง แต่เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นหอมจรุงใจเป็นเอกลักษณ์จึงมักนำมาดมเล่นก่อนแล้วค่อยกินเนื้อผลในภายหลัง
ผลมีลักษณะแตกต่างกันเป็น 2 แบบ
แบบหนึ่งผลกลมแป้น มีรอยบุ๋มตรงกลางผล ไม่มีเมล็ดหรือเป็นเมล็ดลีบ รสฝาดอมหวาน มีกลิ่นหอม เรียกกันว่า ลูกจัน
อีกแบบหนึ่งผลกลมหนา และไม่มีรอยบุ๋ม มี เมล็ด 2-3 เมล็ด เรียกกันว่า ลูกอิน มีเมล็ดข้างใน มีรสฝาดอมหวาน ถ้าทำให้ช้ำรสฝาดของลูกจันและลูกอิน จะหายไป
สรรพคุณ
-ผล จันโอ-จันอิน บำรุงกำลัง แก้ท้องเสีย แก้อาการ นอนไม่หลับกระวนกระวาย
-เนื้อไม้ แก้ไข้ที่มีผลต่อตับและดี บำรุงเลือดลม แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงประสาท แก้อาการเหงื่อมาก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ บำรุงร่างกายให้สดชื่น ขับพยาธิ แก้ดีพิการ
-แก่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้ไข้ที่มีผลต่อดี บำรุงผิว บำรุงหัวใจ แก้ตับพิการ แก้ไข้กำเดา แก้ลม แก้อ่อนเพลีย บำรุงตับปอด
มีงานวิจัยผลไม้ไทยศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ของน้ำผลไม้ไทย จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ หม่อน หว้า องุ่น จันโอ-จันอิน และมะหลอดพบว่าสารสกัดจากหม่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด รองลงมาคือหว้า จันโอ-จันอิน มะหลอด และองุ่นพบว่าฤทธิ์ยับยั้งการแตกของเม็ดเลือดแดง หม่อนมีค่ามากที่สุด รองลงมาคือหว้า มะหลอด จันโอ-จันอิน และองุ่น
การตรวจสอบทางเคมีเบื้องต้นพบว่าสารสกัดจากหม่อน หว้าและองุ่นมีสารกลุ่มแอนโทไซยานินเป็นหลัก ส่วนสารสกัดจากจันโอ-จันอิน และมะหลอดมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์
ความจริงปัจจุบันหาลูกจันโอ-จันอินได้ยากมาก ถ้าพบก็มักจะอยู่บนต้นไม้เก่าแก่ที่สูงจนสอยไม่ถึง เช่น ตามวัดบางแห่งในเขตภาคกลาง ลูกจันโอ-จันอินสุกจะร่วงเอง ถ้าไม่เป็นอาหารอันโอชะของ
กระรอกไปเสียก่อนก็จะช้ำเมื่อตกถึงพื้น ถ้าใครโชคดีได้ลูกจันโอ-จันอินมาก็ลองกินดู
"สูตรลูกจันโอ-จันอินน้ำกะทิ"
-ลูกจันโอ-จันอิน 10 ลูก
-น้ำกะทิ 800 กรัม
-น้ำตาลปี๊บ ตามชอบ
-ข้าวเหนียวมูน
คลึงให้ลูกจันโอ-จันอินน่วม แล้วปอกเปลือก ออก แคะเม็ด ฉีกเนื้อลูกจันโอ-จันอินเป็นชิ้นๆ ตั้งกะทิให้ร้อนบนไฟอ่อน ใส่น้ำตาลปี๊บ ค่อยๆ คนให้น้ำตาลละลาย ปิดเตา ใส่เนื้อลูกจันโอ-จันอินแล้วก็คนเบาๆ กินกับข้าวเหนียวมูล
ที่มา : หมอชาวบ้าน ขอบคุณค่ะ