collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: Re: คัมภีร์ทางสายกลาง ปฐมบท (จง -- อยง ) เที่ยงตรง -- สัจธรรม  (อ่าน 32419 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      อริสโตเติล   ปรัชญาเมธีของกรีก กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า " มนุษย์เป็นสัตว์สังคม "  นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า คำกล่าวนี้นับเป็นระยะเวลาสองพันปี 
     และในช่วงก่อนหน้านั้น ปราขญ์ของจีน พระศาสดาขงจื๊อ ได้สอนมนุษย์เอาไว้แล้วว่า หากต้องการให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขทุกคนต้องปฏิบัติ "" จริยธรรม ""  ซึ่งอ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนว่า " หลี่ " อันหมายถึง จริยธรรม ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสามระดับ คือ  1. กษัตริย์กับขุนนาง
                  2. บิดากับบุตร
                  3. สามีกับภริยา
     ความสันติสุขของสังคมจักเกิดขึ้นได้หากบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทั้งสามระดับนี้มี จริยธรรม  และจริยธรรมที่ตรงต่อความเป็น"" กลาง "" ประหนึ่ง ฟ้า - ดิน แล้วไซร้ย่อมมีความร่มเย็นสงบสันติแต่เพียงสถานเดียว
     ถ้าจะเปรียบเทียบกับคำสอนของท่านเหลาจื๊อ ซึ่งเป็นปราชญ์โบราณ ท่านสอนให้สำรวมธาตุไฟในตัวตน  โลกนี้อยู่ได้เพราะมีดวงอาทิตย์ให้ความร้อนและต้องพอดี จึงจะเกิดประโยชน์ ภายในกายของคนก็มีธาตุไฟ หากควบคุมให้อยู่ในความพอดีย่อมทำให้พลังการขับเคลื่อนภายในเป็นเสมือนหนึ่งพลังงานมีความอบอุ่น ถ้าหากควบคุมมิได้เกิดมากเกินไปย่อมเป็นไข้ หรือน้อยเกินไปย่อมหนาวสั่น ความพอดีนั้นเป็นกลาง
     เมื่อเทียบกับคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ข้อจริยธรรมนี้ได้แก่ ศีลกาเมสุมิจฉา  โดยแท้ หากไม่ควบคุมกามตัณหาย่อมก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้นั้น ใครที่ล่วงละเมิด ความเป็นกลางของจริยธรรม ในข้อนี้ย่อมเสียหายไปถึงหัวใจเพราะเป็นเสมือนหนึ่งไฟเผาผลาญดวงใจให้เร่าร้อน มีตัณหาย่อมก่อให้เกิด ความดีใจ และ เสียใจ เสมอ
    จริยธรรม นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันเป็น "สังคม" เพราะ " กามคุณ " ทำลายทุกสิ่งอย่างของมนุษย์ได้รวดเร็วนัก
    ในสมัยหนึ่งพระพุทธองค์เกิดกายบำเพ็ญเป็น ฤาษี อยู่ในป่าหิมพานต์ จนสำเร็จโลกียฤทธิ์ หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ ปรารถนาจะลงมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อโปรดสัตว์ในกรุงพารารณสี  ชาวเมืองพาราณสีรวมทั้งพระราชาต่างพากันเลื่อมใสในจริยวัตรของฤาษีตนนี้ จนพระราชานิมนต์ให้จำศีลอยู่ในราชอุทยานด้วยการสร้างบรรณศาลาให้ฤาษีได้ปฏิบัติกิจ
    พระราชาแห่งกรุงพาราณสีปรนนิบัติฤาษีด้วยความเลื่อมใส จนกระทั่งวันหนึ่ง พระราชาจำเป็นต้องเสด็จไปปราบการจลาจลชายแดนจึงมอบหมายให้พระมเหสีผู้เลอโฉมทำหน้าที่แทน  วันนั้นฤาษีเหาะมารับบาตรสายมาก พระมเหสีจึงนอนรออยู่ ครั้นเห็นฤาษีเหาะลงมาโดยที่ตนเองไม่ทันระวังจึงลุกขึ้นจนเครื่องทรงหลุดลุ่ยเปลือยเปล่า  ตัณหาราคะของฤาษีที่ข่มเอาไว้ด้วยญาณจึงถึงแก่เสื่อมสูญสิ้นหมดฤทธิ์เดช วันนั้นฤาษีต้องเดินกลับบรรณาศาลา เหาะไม่ได้ ฉันภัตตาหารก็ไม่ได้กลับไปนอนซมด้วยพิษแห่งราคะ จนพระราชากลับจากราชการชายแดนมาเยี่ยมจึงเล่าความจริงให้พระราชาฟัง
    "" อาตมาถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ คือ กามราคะ ติดตรึงจนขาดปัญญา แม้ไม่มีบาดแผลแต่มันก็ทำให้หัวใจเจ็ยปวดและเร่าร้อนไปทั่วร่าง "" เมื่อได้ระบายความทุกข์จนสติกลับคืนมาแล้ว ฤาษีนั้นจึงเข้าฌานแล้วเหาะกลับไปบำเพ็ญในป่าหิมพานต์มิกล้าออกมาสู่นครอีกเลย
      กามราคะ จึงเป็นเรื่องที่กำจัดและควบคุมยากที่สุดด้วยเหตุที่มีปัจจัยครบ 6 อย่าง ตามอายตนะหก   รูปงาม   
เสียงไพเราะ   กลิ่นเย้ายวนใจ   รสต้องใจ   สัมผัสนุ่มนวล    อารมณ์อ่อนไหว
      เพราะการตัดกามตัณหาจึงมิใช่เรื่องปากคุยโอ้อวดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แม้ฌานแก่กล้าเพียงใดยังเสร็จอิสตรี  เมื่อเป็นดังนี้ การครองชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันจึงต้องสำรวมระวังมิล่วงละเมิดลูกเมียคนอื่น เพื่อความสัมพันธ์ที่เป็นคุณแก่ตนเองและผู้อื่นจึงต้องระมัดระวัง ผู้ที่ล่วงละเมิดในข้อจริยธรรมจึงต้องไปเกิดกายเป็นเดรัจฉาน ถือชาติกำเนิดเป็น ม้า เพื่อบำเพ็ญจริยธรรมเพราะลูกม้าตัวผู้จะไม่ล่วงเกินแม่ของมันเป็นอันขาด
     ชนชาติตะวันตกได้ทดลองนำลูกม้าตัวผู้ ผูกตาแล้วให้อยู่กับแม่ของมันในฤดูผสมพันธุ์ เมื่อลูกขึ้นขี่แม่ เขาก็เปิดตาออก พอลูกม้าเห็นเป็นแม่จึงลงจากหลังแม่ วิ่งเอาหัวชนกำแพงตายทันที
     การบำเพ็ญจริยธรรม จึงประกอบไปด้วยมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เนืองนิจ จึงสามารถรักษาจิตของตนให้อยู่ในทางสายกลางได้และพ้นภัยในที่สุด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ใครก็ตามที่สามารถทำใจของตนเองให้ว่างดังเป็น " กลาง " ได้แล้วย้อมได้ "" ปัญญาบริสุทธิ์ "" เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ทรงมี พระปัญญาคุณอันบริสุทธิ์  "" ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาหมายความว่าอย่างไร ""  " การใช้ปัญญานั้นมิได้เห็นแก่ตัว แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมแห่งฟ้าดิน "
        อานุภาพอันแท้จริงของปัญญามีอยู่ในทุกตัวคนเท่าเทียมกันมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากันแม้นิดเดียว แต่เหตุไฉนจึงมี คนโง่และฉลาด แตกต่างกัน ธรรมชาติเดิมแท้ของ " ธรรมญาณ " มีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่เพราะการเวียนว่ายสังคม บาปกรรม แตกต่างกันสภาวะแห่ง "" ความเป็นกลาง ""  จึงผิดเพี้ยนกันไป ดังนั้นอานุภาพแห่งปัญญาจึงแตกต่างกันไป  ถ้าจะเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับน้ำ บางคนใช้ประโยชน์ได้มากกว่า แต่บางคนกับใช้ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกบรือแลความรู้เกี่ยวกับน้ำ
       ปัญญา ก็เช่นเดียวกัน  บริสุทธิ์ปราศจากอารมณ์ทั้งปวงมิได้ทำให้ ธรรมญาณ หันเหไปสู่หนทางแห่ง ดี หรือชั่ว อานุภาพย่อมไร้เทียมทานสามารถตัดทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงให้สมาทานศีลข้อ ห้า มิให้จิตมัวเมาตกอยู่ภายใต้อำนาจเมาทั้งปวง  คนที่ถูกอานุภาพของน้ำเมา ยาเสพติด ย่อมทำให้สติเลอะเทอะ มีอารมณ์ครอบงำ ภาวะแห่งปัญญาจึงสูญเสีย บุคคลเช่นนี้จึงคิดผิด ทำผิด และหลงผิดได้โดยง่าย และเท่าเทียมเสมอกันหมด
       อารมณ์ จึงเป็นทะเลทุกข์ของคนทุกชั้นวรรณะ
       ความรู้ และ ปัญญา   จึงแบ่งแยกได้ตรงนี้
       มนุษย์มีความรู้แตกต่างกันอันเกี่ยวกับการสั่งสมของสัญญาขันะ์ที่แตกต่าง  แต่ความแตกต่างเช่นนี้หายไปทันทีที่อารมณ์ครอบงำ คนมีความรู้จึงกระทำความผิดได้เท่าเทียมกับคนที่ไม่มีความรู้ เพราะอารมณ์กวาดความรู้ทิ้งไปหมดสิ้นเหมือนกันอารมณ์มิสามารถหยั่งถึงอะไรได้เลยนอกจากกระทำสิ่งที่ขัดต่อสัจธรรมเท่านั้น
        แต่ ปัญญา  หยั่งถึงสรรพสิ่งได้เพราะ คุณสมบัติแห่งปัญญานั้นต้องอ่อนน้อมเข้าถึงสรรพสิ่งได้ เพราะเหตุนี้ท่านเหลาจื๊อจึงสอนให้บำเพ็ญธาตุน้ำ  ธาตุน้ำมีแต่ความเยือกเย็นสงบ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ชะล้างทุกสิ่งอย่างโดยไม่ถือตัว และเข้าสู่ภาชนะใดก็จะอยู่ในรูปลักษณ์ของภาชนะนั้น ๆ
        ท่านศาสดาขงจื๊อ กล่าวว่าธาตุแท้ธรรมญาณของทุกคนมีปัญญาอยู่แล้ว อักษรจีน คำว่าปัญญา อ่านว่า "" จื้อ "" ปัญญานั้นมีมาแต่เดิมและอานุภาพเทียบเท่าฟ้าดินหรือสามารถใช้ปัญญา อันเป็นแสงสว่างในตัวเองพาตัวไปถึงฟ้าดินหรือสวรรค์ได้
        การสำแดงปัญญาให้ปรากฏ ย่อมใช้วาจาหรือปากเป็นช่องทางแสดงออก  การบำเพ็ญปัญญาจึงต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้ มิให้ตกใจ หรือ กลัว หากเกิดอารมณ์เช่นนี้แล้ว สภาวะแห่ง " ปัญญา " ย่อมสูญหายไป  ถ้าเทียบเคียงกับร่างกายของคนเราแล้วจะตรงกับอวัยวะสำคัญคือ ไต  ผู้ที่สูญเสีย "" ปัญญา "" อยู่บ่อย ๆ อันเนื่องมาจาก อารมณ์กลัว หรือตกใจ ย่อมทำให้ ไต เสีย  หรือพิจารณาอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ ไต ไม่ปกติมักมีอารมณ์ทั้งตกใจและกลัวง่าย
        ไต       มีหน้าที่ขับของเสียที่มีอยู่ในเลือด
        ปัญญา  เป็นเรื่องของการแยกแยะสิ่งดี และ เลว
         การทำหน้าที่ทั้งสองประการจึงสอดคล้องประสานกันดังนี้  ดังนั้นผู้ที่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำสูญสิ้นปัญญาอยู่บ่อย ๆ ย่อมสร้างชาติภพเดรัจฉานให้ตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากชำนาญการใช้นัยน์ตา ธรรมญาณ ออกทางตา ย่อมไปได้กายเป็นนก ซึ่งมีปัญญารู้จักสร้างรังของตนเองได้อย่างสวยงาม  แต่ถ้าเคยชินด้วยยาเสพติดเพราะติดในกลิ่นย่อมออกจากจมูกและไปกำเนิดเป็นมด ปลวก แมงมุม สัตว์เหล่านี้มีปัญญาในการรู้จักสะสมอาหาร สร้างใยดักจับสัตว์อื่น
       ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจึงพยายามรักษาไต ให้อยู่ในสภาวะปกติ เพราะฉะนั้นจึงงดเว้นอาหารเนื้อสัตว์และพืชที่เป็นหัวหอมซึ่งเป็นพิษต่อ ไต โดยตรง  ส่วนสีของพืชที่เป็นคุณกับ ไต คือ สีดำ เช่น ถั่วดำ เป็นต้น  รสชาติที่เป็นอันตรายต่อไตคือ รสเค็ม
      การบำเพ็ญให้ " กาย " และ ""จิต "" อยู่ในทางสายกลางย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติตรงต่อสัจธรรมของฟ้าดินและความเที่ยงตรงย่อมปรากฏโดยมิต้องกำหนด ปัญญาที่สำแดงออกมาในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นปัญญาธรรมอันบริสุทธิ์ นอกจากสามารถฉุดช่วยตนเองให้พ้นไปจากทะเลทุกข์แล้ว เขาย่อมสามารถฉุดช่วยผู้อื่นได้ด้วย
      เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญ ทางสายกลาง จึงมิได้อยู่ที่การภาวนาสถานเดียว แต่เป็นการใช้ "" ปัญญาบริสุทธิ์ "" อย่างแท้จริง

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ปุถุชนคนที่ไม่รู้จัก " ทางสายกลาง " มักเพ่งเล็งสัตยธรรมอยู่ที่ความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นการตีความหมายเป็นศีลข้อที่ 4 ที่พระพุทธองค์ทรงเตือนเอาไว้ว่า " มุสาวาทาเวรมณีสิกขาปะทังสมาทิยามิ " โดยกำหนอขอบเขตแห่งการปฏิบัตินี้เอาไว้แต่เพียงการไม่โกหกต่อผู้อื่นเท่านั้นเอง การแปลความเช่นนี้จึงเป็นความคับแคบและไม่เกิดผลอันแท้จริงต่อ " ทางสายกลาง " ของธรรมญาณของตนเอง คนในโลกนี้จึงโกหกกันได้ตลอดเวลา
      ความหมายอันแท้จริงที่ตรงต่อสัจธรรม คือ การซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นเบื้องต้น แต่คนมักจะลืมเลือนความสำคัญข้อนี้ซึ่งโดยธาตุแท้แล้ว ทุกคนมีความซื่อสัตย์อยู่แล้วในตนเอง เพียงแต่ถูกสิ่งแวดล้อมชักจูงให้หลงลืมหรือมิอาจใช้ศักยภาพนี้ได้เต็มที่เท่านั้น ผู้ที่มีจิตสำนึกอันดีจึงไม่อาจให้คำมั่นสัญญาต่อใครได้โยง่ายด้วยเกรงว่าจะผิดต่อสัญญานั่นเอง
     " โจร " มีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติอาชีพของโจร ถือว่าเป็นผู้มีสัจธรรมหรือ "
     " ความซื่อสัตย์ของโจรเป็นความซื่อสัตย์ต่อจิตชั่วเท่านั้นเอง "
     " และอย่างไรถึงจะเรียกว่าซื่อสัตย์ต่อตนเองแท้จริงเล่า "
     """  ต้องซื่อสัตย์ต่อสัจธรรมของตนเองดังฟ้าดิน """
     ความซื่อสัตย์ของฟ้าดินจะเห็นได้ว่า การหมุนเวียนเปลี่ยนผันฤดูกาล ถ้าเป็นไปตามกาลเวลาอันถูกต้องสรรพสิ่งก็หมุนเวียนถูกต้อง ความสันติสุขจึงเกิดขึ้น ดวงดาวทั้งปวงต่างหมุนถูกต้องก็ไม่เกิดเหตุวิบัติ เพราะฉะนั้นความเป็นสัตยธรรมของฟ้าดินคือ การกระทำที่ตรงต่อสัจธรรมและสม่ำเสมอ หากเิกิดอาการผิดแม้นิดเดียวภัยพับัติก็ย่อมเกิดขึ้น
     มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันถ้าผิดต่อสัตยธรรมของตนเองแล้วภัยพิบัติย่อมบังเกิดขึ้นต่อตนเอง สัตยธรรมจึงเป็นความหนักแน่นท่านเหลาจื๊อจึงให้บำเพ็ญธาตุดิน อันตรงต่ออวัยวะสำคัญของคนคือ " ม้าม "  ท่านศาสดาขงจื๊อ ให้บำเพ็ญธาตุแท้ซึ่งมีมาแล้ว คือ สัตยธรรม ภาษจีน อ่านว่า " ซิ่น " อันมีความหมายว่า คำพูด กับ คน
    คน มีความหมายว่า ตรงต่อฟ้าดิน   คำพูด มีความหมายว่า ก่อนจะพูดถ้าได้ไตร่ตรองถึงสามครั้งย่อมไม่มีผิดพลาด  การบำเพ็ญสัตยธรรม ย่อมระมัดระวังต่ออารมณ์ของตัณหา หากปล่อยให่อารมณ์เช่นนี้ครอบงำจิตใจแล้วย่อมทำลาย " ม้าม " ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด เพราะฉะนั้นคนที่มัวเมาต่อตัณหาราคะจึงทำให้อายุสั้น คนที่ปฏิบัติผิดต่อสัตยธรรมเมื่อพ้นจากกายสังขารอันเป็นมนุษย์แล้วย่อมไปถือกำเนิดเป็นเดรัจฉาน เพื่อบำเพ็ญสัตยธรรมเพราะฉะนั้นจึงได้กายเป็น "ไก่ " ทำหน้าที่บอกเวลาแก่มนุษย์โดยไม่ผิดพลาด
     การบำเพ็ญสัตยธรรมมิใช่เป็นเรื่องง่ายแต่ใครสามารถปฏิบัติได้ตรงต่อฟ้าดินแล้วย่อมอยู่ในหนทางแห่งความเป็นกลางโดยแท้จริง สมัยที่แผ่นดินจีนแบ่งแยกออกเป็น " สามก๊ก " ท่านกวนอู อันเป็นผู้เก่งกล้าสามารถ สาบานเป็นพี่น้องกับ เล่าปี่ เตียวหุย  ในสวนท้อ ทั้งสามรักษาคำมั่นสัญญานี้ไว้ว่า "" แม้เกิดคนละวัน แต่ขอตายร่วมวันเดียวกัน "" คำสัญญานี้จึงลือเลื่องมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  และท่านกวนอู นั้นเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์นัก แม้ถูกโจโฉจับไปพร้อมกับฮูหยินของเล่าปี่ก็มิได้ล่วงเกิน จุดเทียนอ่านหนังสือตลอดคืนเพื่อพิทักษ์พี่สะใภ้  ความซื่อสัตย์อันยิ่งใหญ่เช่นนี้เทียมฟ้าเทียมดิน ชื่อเสียงจึงขจรขจายมาถึงทุกวันนี้  ชาวจีนจึงเคารพกราบไหว้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และแน่นอนมรรคผลย่อมเกิดขึ้นจนได้รับอริยะฐานะเป็น "" ท้าวสักกะเทวราช ""ในสมัยยุคปัจจุบัน  การบำเพ็ญสัตยธรรมอันตรงต่อฟ้าดินมิใช่เป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายดายนัก เพราะคนเรามักจะอภัยให้ตนเองง่ายดายยิ่งกว่าอภัยให้ผู้อื่น  ท่านขงจื๊อ จึงให้คำสอนอันน่าประทับใจในการปฏิบัติยิ่งนัก  "" จงอภัยให้ผู้อืน เช่นเดียวกับอภัยให้ตนเอง  จงลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับลงโทษผู้อื่น ""
        ถ้าใครสามารถกระทำได้ดังนี้จิตใจย่อมซื่อตรงต่อตนเองสม่ำเสมอและปฏิบัติสัตยธรรมได้ตรงต่อฟ้าดินอย่างแน่นอน การบำเพ็ญสัตยธรรมอันตรงต่อธนนมญาณของตนเองก็ย่อมตรงต่อฟ้าดิน และเป็นหนทางแห่ง " ทางสายกลาง " โดยแท้จริง
       เพราะฉะนั้นการรักษาวาจาเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาถึงสัตยธรรมแห่งฟ้าดินแล้วไซร์ " สัตยธรรม " นั้นย่อมมิใช่  "ทางสายกลาง"   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมด้วยกรรมวิธีนั่ง "สมาธิ" จึงปรารถนาให้จิตรวมเป็น "หนึ่ง" อันหมายถึงความสงบระงับมิให้ฟุ้งซ่าน แต่ทำไมจึงมิใช่หนทางแห่งการบรรลุถึงจุดหมายปลายทางของอนุตตรธรรม เมื่อจิตยังเป็นหนึ่งอยู่เอาอะไรมาเทียบก็ย่อมเป็นสอง  ความเป็นสมาธิของจิตจึงหายไป
       การเทียบย่อมก่อให้เกิด "ชอบ" และ "ชัง" เพราะความคิด "ดี" กับ "เลว" ทำให้จิตฟุ้งขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาคนที่ปฏิบัตในศาสนาใดก็ตามหากยังติดยึดอยู่กับ "หนึ่ง"  แล้วย่อมมองเห็นแต่ความดีงามของตนเองเป็นสำคัญและพาลมองเห็นวิธีการของผู้อื่นเป็นสิ่งผิดเสมอ บุคคลเหล่านี้จึงมิอาจก้าวพ้นไปจากวิถีแห่งการเวียนว่ายได้เลย
      " ทางสายกลาง " จึงไม่มีการเปรียบเทียบและยอมรับได้ในทุกสภาวการณ์และในสรรพสิ่งเพราะความไม่มี " หนึ่ง " จึงไม่มีการเปรียบเทียบกังนั้นจึงมองไม่เห็น "ดี" หรือ "เลว" ของใครเลย ความเป็นสัมมาสมาธิจึงเกิดขึ้นตรงนี้
       สัมมามรรค ทั้ง 8 ประการ จึงปฏิบัติได้เป็นจริงและเดินไปสู่หนทางแห่ง "ทางสายกลาง" อันแท้จริง พระศาสดาทั้งปวงที่ลงมาฉุดช่วยเวไนยสัตว์ก็ล้วนเดินอยู่บนหนทาง "สายกลาง " เช่นเดียวกัน ลำพังพระศาสดาแล้วพระองค์มิได้ทรงแบ่งแยกหรือเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่ากัน เพราะ มีความเป็นอย่างเดียวกัน แต่ศิษย์โง่เขลาทั้งปวงต่างมาแบ่งแยกเปรียบเทียบทะเลาะกันเองด้วยเชื่อว่าคำสอนของพระศาสดาของตนเองเหนือกว่าพระศาสดาองค์อื่น ๆ
      ศิษย์โง่ย่อมมองเห็นวิธีการของพระศาสดาของตนเป็น " หนึ่ง " จึงมองเห็นและเข้าใจว่าพระศาสดาองค์อื่น ๆ เป็นสองนั่นเองพระเยชูคริสต์จึงตรัสอย่างเดียวกับพระศาสดาขงจื๊อที่ว่า " จงปฏิบัตต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน"แม้ภาษาแตกต่างกันแต่ความหมายแห่งคำสอนของพระศาสดาทั้งสองพระองค์นี้เป็นอย่างเดียวกัน เช่น เราต้องการให้ผู้อื่นอ่อนน้อมต่อเรา เราจึงควรอ่อนน้อมต่อผู้อื่น
      ดังนั้นพระศาสดาทั้งปวงจึงมีแนวทางในการฉุดช่วยผู้คนในโลกนี้ให้ประพฤติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันทั้งสิ้น และถ้านำเอาร่างกายของมนุษย์มาเทียบเคียงกันก็จะเห็นเป็นความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดย่อมมีอวัยวะภายในเหมือนกันหมดและจิตใจย่อมเป็นเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งมี "" ธรรมญาณ"" เหมือนกันเพราะมีต้นกำเนิดมาจากแห่งเดียวกัน
      ดังนั้น ถ้านำเอาคำสอนขององค์พระศาสดาทั้งสามคือ พระพุทธเจ้า ท่านเหลาจื๊อ  และท่านขงจื๊อ  มาเปรียบเทียบกับกายของมนุษย์รวมทั้งอาหารด้วยแล้วย่อมมีหนทางอยู่ในแนวเดียวกัน ดังนี้
พระพุทธเจ้า       ปาณาติบาต     อนิทนาทา     กาเมสุมิจฉา     สุราเมระยะ     มุสาวาทา
ท่านเหลาจื๊อ       ธาตุไม้           ธาตุทอง       ธาตุไฟ           ธาตุน้ำ           ธาตุดิน
ท่านขงจื๊อ          เมตตาธรรม      มโนธรรม      จริยธรรม         ปัญญาธรรม     สัตยธรรม
อวัยวะสำคัญ          ตับ                ปอด          หัวใจ               ไต               ม้าม
อารมณ์ที่เป็นพิษ    โกรธ           วิตกกังวล      ดีใจ เสียใจ         ตกใจ           ตัณหา
อาหารที่เป็นพิษ    กุ้ยฉ่าย           ยาสูบ          กระเทียม         หัวหอม         กระเทียมโทนจีน
รสชาตเป็นพิษ       เปรี้ยว            เผ็ด             ขม                 เค็ม              หวาน
สีอาหารเป็นคุณ     เขียว              ขาว            แดง                 ดำ               เหลือง
      การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจำเป็นต้องอาศัยกาย ยาววาหนาคืบนี้เพราะการควบคุมกายให้ถูกต้องตามหลักของฟ้าดินจึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อสามารถควบคุมธาตุของตนให้รวมเป็นหนึ่ง ภาวะแห่งอารมณ์ย่อมปราศนาการไป เพราะเหตุนี้การเริ่มต้นทำสมาธิ จึงต้องให้ทุกคนทำสมาทานศีล 5 เสียก่อน ก็โดยหวังว่าจิตใจของคนเหล่านั้นจักปราศจากความคิดฟุ้งซ่าน
      การสมาทานศีลเฉพาะแต่ก่อนการนั่งสมาธิจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  แต่การปฏิบัติมิให้ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจย่อมเป็นหนทางแห่งการบำเพ็ญที่แท้จริง  สมาธิที่ได้ย่อมคงที่ตลอดเวลา แล้วสามารถก้าวไปถึงขั้นการปล่อยวางสรรพสิ่งได้หมดสิ้น
      การปล่อยวางทั้งภายในและภายนอกจนหมดสิ้นนั้นย่อมเข้าสู่หนทางแห่งความเป็น "กลาง " อันแท้จริง  เมื่อ " หนึ่ง" ไม่มีเสียแล้ว ความฟุ้งซ่านสัดส่ายย่อมหายไปมิใช่หรือ "           

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

        ปุถุชนในโลกนี้มักสับสนด้วยคำว่า " ธรรมะ " กับ " ศาสนา " แลเห็นเป็นอย่างเดียวกัน เพราะเหตุนี้คนเป็นจำนวนมากปฏิบัติกิจของศาสนาแล้วอ้างว่า " ได้ปฏิบัติธรรมะ " ที่น่าสมเพชยิ่งกว่านั้น ใครมิได้ปฏิบัติกิจของศาสนากลับกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่มี "ธรรมะ"  ธรรมะ กับ ศาสนา มีข้อแตกต่างกันอย่างแน่นอน
       เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสนิกของศาสนาพราหมณ์เพราะเป็นชนชั้นกษัตริย์ แต่เมื่อตัดสินพระทัยออกค้นหาหนทางแห่งการพ้นเวียนว่ายตายเกิด ยอมสละฐานันดรแห่งกษัตริย์ มาประพฤติเช่นเดียวกับคนวรรณะต่ำสุดคือ ภิกขาจาร เป็นผู้ขอ ไร้บ้านเรือนบริวารอาหารเลิศรส และความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แต่มีความยากลำบาก เช่น วรรณิพกหรือขอทาน
       การกระทำในครั้งนั้นถือเป็นผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศาสนาพราหมณ์อย่างชัดเจนที่สุด  พระองค์ไม่ยอมปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาพราหมณ์ แต่ออกมาค้นหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์  ในครั้งนั้นผู้คนย่อมบริภาษด่าทอเจ้าชายสิทธัตถะและประนามว่า ไร้ศาสนา ย่อมถูกพราหมณ์สาปแช่ง ให้ลงนรกโลกันต์อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะปฏิบัติในระหว่างนั้นคือ ""การปฏิบัติธรรมะ "" เพื่อความรู้แจ้งในสัจธรรมนั่นเอง
       เมื่อพระองค์ทรงค้นพบทางสายกลางในวันเพ็ญเดือนหก  ก็ยังมิได้สถาปนาพุทธศาสนาขึ้นมาแต่ประการใด เป็นเพียงแต่ผู้ค้นพบหนทางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น  แม้ได้โปรดปัญจวัคคีย์จนดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งในสัจธรรมแล้วก็ยังมิได้เกิดศาสนาพุทธขึ้นมาในโลก  ศาสนาพุทธได้บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อมีพุทธบริษัทสี่ครบถ้วนคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งในวันนั้นเรียกว่า "" วันอาสาฬหบูชา ""
       พระพุทธองค์ทรงบัญญัติกรอบการปฏิบัติพุทธกิจของ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา  ให้ปฏิบัติอยู่ในแนวทางเดียวกันเพราะบุคคลเหล่านี้แม้เข้ามานับถือพระพุทธองค์ เป็นศาสดา แต่ก็ยังคงเป็นผู้ไม่รู้แจ้งในสัจธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ายังไม่รู้หนทางแห่งการพ้นทุกข์อันเป็นทางสายกลาง บัญญัติต่าง ๆ อันเป็นคำเทศนาของพระพุทธองค์นั่นแหละเรียกว่า ""ศาสนา""
       การปฏิบัติกิจของศาสนาจึงกระทำไปตามแนวทางแห่งคำสอนขององค์ศาสดา ซึ่งพระองค์ทรงวางแนวทางปฏิบัติของบุคคลแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าไม่เหมือนกัน
       ผู้ครองเรือนปฏิบัติอย่างไร ชีวิตจึงจะมีความสุขเยี่ยงโลกียสุข  ผู้แสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากทะเลทุกข์ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถึงซึ่งโลกตตระ
       คำสอนขององค์พระศาสดาต่าง ๆ จึงแตกต่างกันด้วยวิธีการ แต่หลักสัจธรรมยังคงเป็นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นศาสนาจึงเป็นการแสดงออกของ ""ธรรมะ""   ถ้าธรรมะขาดศาสนาย่อมไม่อาจสั่งสอนผู้คนให้อยู่ในแนวทางแห่งสัจธรรมของฟ้าดินได้  ถ้าศาสนาขาดธรรมะ ย่อมกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดีของฟ้าดินมิได้
       ""ธรรมะ กับ ศาสนา"" จึงต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  ในคัมภีร์"จงยง" หรือ ทางสายกลางของท่านขงจื๊อจึงกล่าวเอาไว้ว่า ชิว เต้า จือ เว่ย เจี้ยว  อันมีความหมายว่า "การบำเพ็ญจิตให้อยู่ในกรอบของธรรมะ จึงเรียกว่า ""ศาสนา""
       พระศาสดาทั้งปวงทรงรู้ถึงสัจธรรมที่มีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ เพราะฉะนั้นด้วยพระเมตตาจึงใช้ปัญญาอันบริสุทธิ์นั้นวางแนวทางหรือกรอบให้ผู้คนได้บำเพ็ญปฏิบัติอยู่ในแนวทางแห่งธรรมะ และคนเหล่านี้เป็นเพียงคนดีที่ยังคงต้องเวียนว่ายในวัฏจักร์แห่งการเกิด-ตายต่อไป แต่เป็นการปลูกฝังรากฐานแห่ง""ธรรมะ"" เอาไว้ในจิตใจ
       แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านี้ล้วนมีภาวะแห่ง""สัจธรรม"" อยู่ในตนเองด้วยกันทั้งนั้นเพียงแต่ลืมเลือนไป พระศาสดาจึงทรงเป็นเพียงผู้สกิดหรือชี้แนะให้ตื่นตัวขึ้นมาเอง  การชี้แนะการตักเตือนเพื่อปลุกให้ตื่นขึ้นมาย่อมบังเกิดผลไม่เหมือนกัน บางคนตื่นทันทีเพราะรากฐานดี บางคนต้องสะกิดกันหลายชาติเพราะรากฐานยังหย่อนยาน การบำเพ็ญจิตของตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งคำสอนขององค์พระศาสดาย่อมมีปัณหาในภายหลัง เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้วต่างจึงเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติและต่างก็ตีความหมายจนผิดเพี้ยนหันเหไปจากเจตนาของพระศาสดา ด้วยเหตุนี้ศาสนาในโลกนี้จึงไม่มีศาสนาใดอยู่ไปตราบนิรันดร  มีแต่ ตั้งอยู่ เสื่อมไป  และดับลง เพราะมีคำสอนเป็นตัวตน  แต่ ""ธรรมะ"" มีอยู่ตลอดไปเพราะปราศจากตัวตนรูปลักษณ์จึงไม่เสื่อมสลาย
       ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง ""กาย""  กับ  ""ธรรมญาณ""  ธรรมญาณอันเป็นตัวจริงเป็นหลักบงการให้กายแสดงออกตามท่าทาง ถ้าบงการผิดหลัก กาย ก็แสดงออกผิดแบบ  ถ้าธรรมญาณไม่ใช้กายนี้แล้วทิ้งไป กายก็เป็นซากศพหาประโยชน์มิได้ และกายย่อมเปลี่ยนแปลง แก่ เฒ่า และใช้ไม่ได้ในที่สุด  ธรรมญาณจึงต้องแสวงหากายใหม่ ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างเอาไว้  """ธรรมญาณ""จึงเป็นธรรมะ  """กาย"""จึงเป็นศาสนา  ถ้าปฏิบัติอยู่ในกรอบของธรรมะจึงมีแต่ความสุขดังนี้แล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      ผู้ที่มิได้ปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของธรรมะ แม้อยู่ในศาสนา นับถือศาสดาองค์เดียวกันก็มีความเห็นแตกต่างกันและลุกลามกลายเป็ยข้อขัดแย้งทะเลาะกัน ข้ามศตวรรษก็มีอยู่ทั่วทุกศาสนา  ศาสนาพุทธ  ศาสนาคริสต์  ศาสนาอิสลาม  เป็นศาสนาใหญ่ ๆ ในโลกที่มีศาสนิกนับถืออยู่มากมายนับเป็นล้าน ๆ คน แต่ก็เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ทุกศาสนาต่างแตกแยกกลายเป็นนิกายต่าง ๆ มากมายจนประมาณมิได้  ศาสนาคริสต์มีนิกายนับร้อย   ศาสนาอิสลามก็แบ่งแยกนิกายนับไม่ถ้วน   ศาสนาพุทธก็มีนิกายมากมายเช่นกัน
      สมัยที่องค์พระศาสดาทรงพระชนม์ชีพอยู่ การแบ่งแยกเป็นนิกายไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระศาสดาดำรงอยู่ในฐานะที่ตรัสรู้ธรรมะเพราะฉะนั้นสาวกองค์ใดมีปัญหานอกรีตนอกรอยก็พอที่จะปรามหรือแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้  ตัวอย่างสมัยพุทธกาล พระเทวทัต ตั้งตนเป็นใหญ่เพื่อแบ่งแยกการปกครอง ออกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ต่อพระพุทธองค์ว่า
1. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่มีความผิด
2. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตรตลอดชีวิต รูปใดรับกิจนิมนต์มีความผิด
3. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลิดชีวิต รูปใดใช้ผ้าคหบดีมีความผิด
4. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต รูปใดอยู่ที่มุงที่บังมีความผิด
5. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันมีความผิด
      ข้อขัดแย้งทั้งห้าประการนี้ล้วนเป็นอุบายที่จะแบ่งแยกการปฏิบัติศาสนิกออกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในครั้งนั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตตามที่พระเทวทัตทูนขอ พระเทวทัตจึงแบ่งแยกสงฆ์ออกไปจากการปกครองของพระพุทธองค์ด้วยพระบวชใหม่ยังไม่เข้าใจในธรรมะจึงติดตามพระเทวทัตไปหมู่หนึ่ง
      และในที่สุดข้อขัดแย้งนี้ก็ยุติลงด้วยพระสารีบุตรไปชี้แจงแสดงธรรมะแก่สาวกของพระเทวทัตจนกลับใจ ความแตกแยกทางความคิดของพระศาสนาที่บรรดาศาสนิกทั้งหลาย กระทำขึ้นย่อมระงับได้ด้วยพระบัญชาของพระพุทธองค์  การแบ่งแยกนิกายจึงไม่เกิดขึ้นในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ แม้ในศาสนาคริสต์ อิสลามก็เช่นเดียวกัน
     แต่ภายหลังที่พระศาสดาสำเร็จธรรมคืนกลับสู่เบื้องบนแล้ว บรรดาสาวกทั้งปวงต่างตีความคำสอนพระศาสดาตามใจของตนเองจึงแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ มากมาย  การตีความนั้นย่อมผิดเพี้ยนออกไปจากหนทางของ "" ธรรมะทางสายกลาง "" เพราะต่างก็จะตีความไปตามความพอใจและความคิดของตนเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ คัมภีร์ อัล-กรุอาน ของศาสนาอิสลามมีอายุยืนยาว 1,416 ปีแล้ว ตัวพระคัมภีร์ไม่มีการแก้ไขแต่ประการใด เพราะถือเป็นบัญญัติของพระอัลเลาะห์ อันเป็นพระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด แต่เหตุไฉนจึงแบ่งแยกนิกายออกไปมากมายได้ เป็นเพราะศาสนิกในรุ่นหลังเอาพระคัมภีร์นั้นมาตีความและปฏิบัตไปตามจริตของตนเอง จึงกลายเป็นข้อขัดแย้งและแบ่งแยกเป็นนิกาย
     ส่วนในพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ สองนิกายคือ หินยาน  และมหายาน แต่ละนิกายก็แบ่งออกเป็นอีกหลายนิกายเพราะความคิดไม่ลงรอยกันในความเชื่อและการตีความพระวจนะของพระพุทธองค์
     ทางมหายานอันเป็นยานอันใหญ่ก็มีความเชื่อว่า พระศากยมุนีพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์เป็นพระพุทธเจ้าแท้จริงหรือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่ "พระพุทธเจ้าองค์แท้จริง" บันดาลให้มีขึ้นเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ แต่ทางหินยานหรือเถรวาท ยึดถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ แม้ความเชื่อในทางหลุดพ้นก็แตกต่างกัน หินยานเชื่อว่าความเป็นพระอรหันต์ เป็นทางหลุดพ้นสูงสุด มหายานเชื่อว่าความสำเร็จของพระอรหันต์เป็นธรรมดาของการปฏิบัติ พระพุทธภูมิจึงถือว่าเป็นขั้นสูงสุด  แม้ความคิดทางด้านนิพพานก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มหายานเชื่อว่านิพพานคือความเป็นสูญที่สมบูรณ์ที่สุดหมายถึง นิจจัง สุขขัง อัตตา  ความเห็นอันแตกต่างกันเช่นนี้เองจึงทำให้ต่างฝ่ายต่างโทษกันว่า "ผิด"  เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าตนเอง "ถูก" จึงมองเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง "ผิด"
      ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้งสองฝ่ายเดินออกนอกหนทางแห่งกรอบของธรรมะอันเป็นทางสายกลาง ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของ ปุถุชน ย่อมยึดเอาอารมณ์ของตน เป็นที่ตั้ง แต่ในกรอบของ "ธรรมะ" ย่อมปราศจากอารมณ์ เพราะฉะนั้นพระศาสดาตรัสรู้ทางสายกลางจึงเห็นเป็นอย่างเดียวกันไม่ว่าพระศาสดาองค์นั้นจะถือสัญชาติอะไรก็ตามที
     พระศาสดาจึงไม่มีการขัดแย้งและทะเลาะกัน เพราะต่างอยู่ในแนวทางเดียวกัน แต่บรรดาสาวกในชั้นหลังต่างหลุดพ้นไปจาก"ทางสายกลาง" เพราะฉะนั้นต่างคนต่างจึง "เพี้ยน" กันไปโดยไม่รู้ว่าตนเอง " เพี้ยน" ไปจากหนทาง "สายกลาง" ล่วงมาจนถึงพ.ศ.นี้ ศาสนาทั้งปวงจึงเสื่อมไปจากจิตใจของมนุษย์

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       พระศาสดาขงจื๊อกล่าวพระวจนะเอาไว้ในคัมภีร์ "จงอยง" หรือ "ทางสายกลาง" เอาไว้เป็นสัจธรรมว่า "" สรรพสิ่งมีธรรมะอยู่ในตัวไม่อาจละทิ้งธรรมะแม้ชั่วขณะ มิฉะนั้นแล้วหาใช่ธรรมะไม่""" ถ้าตีความแห่งพระวจนะนี้ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างมีความเป็นกลางอยู่ในตัวเองทั้งนั้น และแท้ที่จริงโลกนี้ดำรงอยู่ได้ด้วย "ความเป็นกลาง" หากปราศจากความเป็นกลางก็ไม่อาจทนอยู่ได้เลยสรรพสิ่งย่อมหมายถึงทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต
      ธรรมะหมายถึงทางสายกลาง เป็นธรรมะแห่งฟ้า เป็นหลักสัจธรรมอันไม่มีข้อยกเว้นให้แก่ใครเลย สรรพสิ่งที่ไร้ชีวิตมีทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเกิดขึ้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ และทั้งสองประเภทนี้ย่อมต้องมี "ความเป็นกลาง" สถิตอยู่
     ลม น้ำ ดิน  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ หากรักษาความเป็นกลางเอาไว้ได้ นั่นหมายถึง "ธรรมะ" ความสงบย่อมเกิดขึ้น แต่ที่กลายเป็นลมพายุร้าย น้ำท่วม  แผ่นดินไหว เพราะมีสิ่งที่ไปเปลี่ยนแปลงทำลายสภาวะแห่ง "ความเป็นกลาง"สูญเสียไป ผู้ที่ทำลาย "ความเป็นกลาง" ก็คือมนุษย์ ซึ่งคิดว่าตนเป็นสัตว์อันประเสริฐ ตัวอย่างเช่น ตัดไม้ทำลายป่าไม้จนหมด ในที่สุดเมื่อน้ำฝนตกลงมาจากฟ้าจึงไม่มีแผ่นดินและรากไม้ที่จะซับรองรับน้ำเอาไว้มิให้มีมากจนเกิดพอดี จึงก่อให้เกิด "น้ำท่วมใหญ่" คร่าชีวิตผู้คนในโลกนี้  มนุษย์สร้างโรงงานมากมาย มีเครื่องยนต์กลไกประมาณมิได้ สิ่งเหล่านี้จึงระเหยมลพิษขึ้นสู่ฟ้า ทำให้สภาวะแห่งความเป็นกลางของลมเสียหายจนกลายเป็น พายุร้ายทำลายชีวิตผู้คนประมาณมิได้
     มนุษย์ก่อสร้างขุดหาทรัพยากร ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างลงใต้แผ่นดินจนสูญเสีย "ความเป็นกลาง" ความสงบนิ่งไม่เกิดขึ้น แผ่นดินจึงเคลื่อนไหว เมื่อเป็นดั่งนี้ย่อมกล่าวได้ว่า "มนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง" อย่างแท้จริง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือสิ่งของใดก็ตามย่อมคำนึงถึงจุดสูญกลาง หากบ้านปราศจากศูนย์กลางเสียแล้ว บ้านนั้นย่อมตั้งอยู่มิได้ ความเป็นมนุษย์หากปราศจากความเป็นกลางย่อมเกิดทุกข์และเวียนว่ายไม่สิ้นสุด
     การสูญเสียความเป็นกลางชั่วคราว แต่ภาวะเดิมยังคงอยู่ ชีวิตก็ยังคงดำเนินไปได้  คนที่มีโทสะจริตแรงกล้าหรือดีใจจนหาที่พักไม่ได้ย่อมสูญเสียชีวิตเพราะอารมณ์ เหล่านั้นทำลายความเป็นกลางของตนเองจึงไม่อาจรักษากายสังขารเอาไว้ได้
    พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้สัมมามรรคข้อหนึ่งว่า """ จงมีความเห็นชอบ""" ความเห็นชอบเช่นนี้ย่อมมีความหมายหลายสถาน  หากปุถุชนผู้ไม่รู้หลักของธรรมะ ก็จะเห็นชอบตามหลักของ "กฏหมาย" หรือตามความพอใจของตนเองและยึดถือในความแตกต่างอานุภาพแห่งความเป็นกลางจึงไม่เกิดขึ้น
      ชีวิตของปุถุชนจึงมีแต่จมอยู่ในทะเลทุกข์ ตังอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานทั้งปวง ปุถุชนย่อมแบ่งแยกและปฏิบัติต่อแตกต่างไปจากมนุษย์เพราะต่างมี ธรรมญาณ อย่างเดียวกัน ผู้เขียนเคยเดินไปในทางบรรยาธรรมที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ ได้พบสิ่งที่เป็นประจักษ์หลักฐานว่าสรรพสัตว์ล้วนเป็น ญาณ มาแต่ฟ้าเบี้องบนเช่นกัน วัวตังหนึ่งเป็นเพศผู้ เจ้าของซื้อมาเพื่อส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์  แต่โรงงานแห่งนั้น กลับคัดเอาออกถึงสองครั้ง เจ้าของจึงจนปัญญานำมาฝากญาติขาย 2400บาท
      หน้าบ้านของญาติซึ่งเป็นเพื่อนบ้านจะมีงานบุญจึงติดต่อขอซื้อวัวตัวนี้เพื่อนำไปฆ่าทำอาหารเลี้ยงแขกถวายพระตกลงขายกันในราคา 3000บาท เจ้าของวัวจึงจูงวัวออกมาส่ง ครั้นถึงหน้าบ้านตนเองวัวก็เข่าอ่อนคุกเข่าลงไป เจ้าของวัวจึงเรียกลูกสะใภ้มาดูว่าวัวเข่าอ่อนหรือเปล่า ลูกสะใภ้บอกว่า "วัวมันคุกเข่าขอชีวิต ดูสิน้ำตาไหลพรากเลย" ตกลงจึงตัดใจไม่ขายให้แก่ผู้ซื้อ เรื่องนี้รู้ถึงญาติธรรมต่างช่วยกันเรี่ยไรต่างได้เงิน 2400บาท แล้วไถ่ชีวิตวัวตัวนี้ ผู้ดำเนินการได้อ่านรายชื่อผู้ร่วมทำบุญ ไถ่ชีวิตให้แก่วัวตัวนี้ฟัง วัวได้ฟังผงกหัวรับทุกชื่อ และน้ำตาไหลพราก วัวตัวนี้ได้ชื่อว่าบุญหลาย มีชีวิตอยู่จนบัดนี้ และทุกครั้งที่ให้อาหารเมื่อบอกว่าจงขอบคุณ เจ้าบุญหลายก็จะรีบคุกเข่าทันที ญาติธรรมไปพูดธรรมะให้ฟัง มันฟังไปก็ร้องไห้ไป คำถามที่น่าตอบที่สุดสำหรับท่านผู้ที่สำหรับผู้ปฏิบัติปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า""การเห็นสรรพสัตว์ เป็นอาหารของคนนั้นเป็นความเห็นชอบหรือไม่ ?

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       มนุษย์มีความแตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ ตรงที่มี " พลังแห่งความคิด " ซึ่งเป็นธรรมชาติอันวิเศษสุดของมนุษยชาติ เมื่อสรรพสิ่งผ่านเข้ามาทางอายตนะหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมากระทบต่อ "ธรรมญาณ" ปฏิกิริยาต่อเนื่องที่เกิดขึ้นคือ "ความคิด" ซึ่งผลออกมาย่อม ดี หรือ ชั่ว ตามเหตุปัจจัยที่สั่งสมเอาไว้ในจิตใต้สำนึก
       มนุษย์ได้สร้างหลักการ เหตุผล เอาไว้มากมายล้วนแต่เป็นไปตามความพอใจและความยึดถือของตัวเองทั้งสิ้น กระแสความคิดของมนุษย์ในโลกนี้จึงเดินอยู่สองหนทางดังกล่าวเพราะฉะนั้นชีวิตจึงวนเวียนอยู่แต่ "ความทุกข์" ไม่สิ้นสุด  ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์อันเป็นวัตถุอย่างหนึ่งได้ก้าวหน้าขึ้นมากมาย แต่มนุษย์ไม่รู้เลยว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นร่างแหแห่งความทุกข์ของมนุษย์ไปในที่สุด  สมัยก่อนพลังงานไฟฟ้ายังไม่เจริญถึงปัจจุบัน ปัญหาของมนุษย์เกี่ยวกับการมองเห็นไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่บัดนี้พลังงานทางด้านไฟฟ้าเจริญถึงขีดสุด ผู้คนในโลกจึงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคตามากที่สุด
      ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนตกอยู่ในกฏของ "บวก -ลบ" เพราะฉะนั้นโรงงานทั้งปวงผลิตสิ่งของออกมาให้มนุษย์ได้ใช้กันแต่ในที่สุดก็คายกากของเสียลงสู่แม่น้ำทำให้น้ำเสียและกลายเป็นภัยสร้างความทุกข์ให้มนุษย์ต่อไป
      พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวงเดินสู่หนทางสายกลางอันปราศจากพิษภัยทั้งปวง ความคิดชอบจึงหมายถึงชอบต่อหนทางสายกลางอันเป็นธรรมะแห่งฟ้า ผู้ที่มีความคิดชอบในลักษณะเช่นนี้ย่อมพ้นไปจาก "ความดี" และ "ความชั่ว"ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นความคิดที่เกิดขึ้นจึงมิได้ตั้งอยู่บนหนทางแห่งความ "เห็นแก่ตัว" แตเห็นแก่สรรพชีวิตทั้งมวล เปรียบเช่นฟ้าหลั่งฝนลงมาให้ทุกชีวิตชื่นฉ่ำ
      แต่ความคิดที่ชอบด้วยกฏหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและความพอใจของตนเองจึงไม่จีรังยั่งยืนแลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่การสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทำบุญก็ยังติดอยู่ในความโลภ "โยมทำบุญไม่ต้องมากหรอกแล้วตั้งจิตอธิฐานจะขอสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น" "เจ้าประคู้น ลูกช้างบริจาคกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ขอให้ได้วิมานแก้วบนสรวงสวรรค์" การกระทำเช่นนี้ย่อมพ้นไปจากหนทางแห่งทางสายกลางเพราะติดอยู่ในโลภลงทุนแต่น้อยต้องการผลกำไรมากมาย และที่น่าเศร้าสลดใจนัก มีวิธีการโหมโฆษนาให้คนหลงสร้างพระประจำกายเอาไว้กราบไหว้บูชาองค์ละหนึ่งหมื่นบาทเพื่อตนเองจะได้มรรคผลในวันข้างหน้า
     พระพุทธองค์ไม่เคยสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เป็นผู้ลุ่มหลงงมงายถึงเพียงนี้  แต่ในชั้นหลังผู้เข้ามาเป็นศิษย์ของตถาคตล้วนแต่จำหน่ายครูบาอาจารย์ของเขาเอง เพื่อเงินตราและสนองตัณหาความโลภไม่มีที่สิ้นสุด "ไหว้พระอย่างเดียวถึงนิพพานหรือ" "ถ้าเช่นนั้นโจรไหว้พระเช้าเย็นก็ย่อมไปนิพพานได้ซี" บัดนี้ทั้งผู้สอนก็งมงายลุ่มหลงจึงพาให้ผู้รับการสั่งสอนงมงายหลงทางไปด้วยกัน แลคนเหล่านี้ไม่ว่าจะอยูาในเพศภาวะใดย่อมพ้นไปจาก "วิถีแห่งสายกลาง"
     เขาเหล่านั้นจึงมิได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมะเพื่อพ้นไปจากทะเลทุกข์แต่กลับเป็นผู้แหวกว่ายในทะเลทุกข์ด้วยความปราบปลื้มปรีดิด้วยเข้าใจว่าเป็นสวรรค์นิพพาน พลังความคิดของมนุษย์จึงมีพลานุภาพที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่ควบคุมให้อยู่ในแนวทางแห่งทางสายกลางเสียแล้วย่อมทำลายสรรพสิ่งในโลกนี้ได้จนประมาณมิได้ และทำร้ายตนเองในที่สุด
    การทำลายตนเองย่อมทำลายทั้งกายปลอม และ ธรรมกาย ของตนเอง กายปลอมแตกสลายกลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ  แต่ธรรมกายหรือธรรมญาณ ของตนเองนั้น ต้องหลงวนเวียนอยู่ในนรกและอบายภูมิมิมีที่สิ้นสุด กานปฏิบัติธรรมแท้จริงอยู่บนเส้นทางสายกลางนั้น ย่อมปลดระวางสรรพสิ่งลงไปได้หมดสิ้น
     พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสาวกให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย อัฐบริขาร เครื่องยังชีวิต 8 อย่างเท่านั้นคือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม รัดประคด และกระบอกกรองน้ำ
     นักบวชครองชีพอยู่ด้วยการประหยัดไม่สะสมทรัพย์สมบัติใด ๆ เลย หากมี 8 อย่างนี้ ก็สามารถครองชีวิตกายเอาไว้ได้ แต่บัดนี้ศิษย์ตถาคดพ้นไปจาก อัฐบริขาร 8 อย่างเสียแล้ว เดี๋ยวนี้มีโทรศัพย์มือถือ ทีวี วิทยุ วีดีโอ ตู้เย็น แอร์คอนดิชั่น สบู่กลิ่นหอมราคาแพง ความคิดที่ว่าต้องทันสมัยทันโลกจึงจักพาเวไนยให้ดวงตาเห็นธรรมได้ ล้วนเป็นความคิดที่ผิดไปจากหนทางสายกลางทั้งสิ้นความคิดเห็นมิชอบด้วย ธรรมะสายกลาง เช่นนี้เองจึงพาให้ผู้คนเหล่านั้นพากันจับจองอบายภูมิจนแน่นขนัดไปหมด

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

      มนุษย์เป็น "สัตว์ประเสริฐ" ได้ด้วยเหตุที่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาพูดและน่าประหลาดนัก "วาจา" นั่นเองที่ก่อให้เกิดความเข้าใจและผิดใจกันจนเกิดทั้งความรักและแตกร้าวกันด้วยวาจานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงมีกวีแต่สมัยโบราณได้เตือนใจคนเอาไว้ให่ระวังวาจา เช่น ""ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี""  ความสามารถของมนุษย์เปล่งประกายออกมาทางปากแต่ในขณะเดียวกันปากก็ทำร้ายผู้คนและตนเองอย่างประมาณมิได้เช่นกัน 
     กวีเอกรัตนโกสินทร์ เช่น สุนทรภู่ จึงเขียนกลอนเตือนใจไว้ว่า...
  ""อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
    แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
    เจ็บอื่นหมื่นแสนแม้นแคลนคลาย
    เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ""
      มนุษย์ในโลกนี้ใช้วาจาประหัตประหารกันและสร้างบาปเวรกรรมเอาไว้มากมายจนประมาณมิได้เพราะมิได้สำรวมวาจา ในชั้นของปุถุชนพระพุทธองค์จึงทรงเตือนใจให้มวลมนุษย์ระลึกไว้ในการสำรวมระวังวาจา ด้วยการรักษาศีลข้อ "มุสาวาทา" อันมีความหมายละเอียดถึง 4 ประการคือ  1.ไม่พูดโกหก  2. ไม่พูดหยาบคาย  3. ไม่พูดเพ้อเจ้อ สิ่งใดไม่รู้จริงไม่พูด  4. ไม่พูดสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่า "นินทา"   แม้การพูดของพระพุทธองค์ก็ได้ทรงกำหนดเอาไว้ 4 ประการเช่นกันว่าควรพูดอย่างไร     
1 . พูดเพราะ แต่โกหก   2. พูดหยาบ  แต่โกหก   3. พูดหยาบ  แต่จริง   4. พูดเพราะ  แต่จริง      สามข้อแรกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประพฤติ แต่ควรประพฤติใน ข้อสี่ แม้กระนั้นพระพุทธองค์ทรงเลือกเวลา  สถานที่  และบุคคล จึงเป็นการสำรวมวาจาอันแท้จริงและวาจาเช่นนี้ล้วนแต่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับฟังทั้งสิ้นเพราะตรงต่อสัจธรรม
       ""วาจา"" นั้นส่อสำแดงถึงนิสัยธาตุแท้ของมนุษย์ว่าเป็นคนประเภทใด หากพิจารณาจากคำสอนของท่านเมิ่งจื้อ ปราชญ์ของจีนท่านหนึ่ง ท่านบอกเอาไว้ว่า "เมื่อพูดคุยกันจะต้องตั้งใจฟังคำพูด ถ้าเขาพูดออกมากำกวมไม่ชัดเจนแสดงว่าผู้พูดไม่เข้าใจปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าพูดกลับไปกลับมาแสดงว่าเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ ถ้าพูดจาให้ร้ายป้ายสีแสดงว่าเป็นผู้ไร้คุณธรรม ถ้าชอบพูดถึงวิธีการหลบหลีกแสดงว่า เขากำลังเดินไปสู่ทางตัน
       ท่านศาสดาขงจื๊อยังเคยกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ "หลุนอวี่" ว่า ""ไม่สดับฟังคำพูดเขาจะรู้จักเขาได้อย่างไร"  วาจา ของมนุษย์จึงทรงความสำคัญยิ่งนักเพราะสามารถสร้างสิ่งที่ดีงามหรือบาปเวรกรรมเอาไว้ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นท่านศาสดาขงจื๊อจึงสอนเอาไว้ว่า ""อยู่คนเดียวให้ระวังจิต  อยู่สองคนจงระวังวาจา"" การที่เราอยู่คนเดียวความคิดย่อมฟุ้งซ่าน เพราะเหตุนี้อาจทำให้เป็นบ้าได้ แต่การอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำเป็นต้องพูดวาจาเพราะ ฉะนั้นจึงต้องสำรวมระวังวาจาให้มากที่สุดมิเช่นนั้นย่อมก่อเกิดเภทภัยขึ้นมาได้  ท่านศาสดาขงจื๊อได้กล่าววิจารณ์คนพูดคล่องเอาไว้ว่า "" กัลยาณชนจะต้องพูดไม่คล่อง ตีฝีปาก  คนรู้น้อยพูดมาก คนรู้มากพูดน้อย "" บรรดาทุรชนหรือคนพาลโดยมากเป็นคนพูดตีฝีปากและพูดคล่องแคล่วนัก คนเหล่านี้ขาดหลักธรรมเพราะหลบหลีกเก่งแลอวดดีเพื่อต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเองเป็นคนเก่งและดี อันเป็นการหลอกลวงชนิดหนึ่ง
       แต่วาจาที่ตรงต่อสัจธรรมอันเป็นทางสายกลาง นั้นย่อมก่อกำเนิดมาจากธรรมญาณอันปราศจากความดีและความชั่ว ผู้เปล่งวาจาชนิดนี้จึงมิได้หวังชื่อเสียงเกียรติยศลาภผลแต่ประการใดเลย เฉกเช่นเดียวกับฟ้าดินหรือ บิดา มารดาของบุตร แม้วาจาไม่เป็นที่ชอบใจของบุตรธิดา แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของคำพูดเหล่านั้นคือ ความรักและเมตตา ซึ่งปรารถนาแต่จะให้บุตรธิดาของตนเป็นคนดี มีแต่ความสุขความเจริญทั้งสิ้น
       วาจาของบิดามารดา ที่สั่งสอนบุตรจึงเปรียบได้กับความเมตตาจากฟ้าเบื้องบนเฉกเช่น ธรรมทางสายกลาง เพราะไม่มีการหลอกลวงบุตรของตนและไม่ต้องการผลตอบแทนจากบุตร
       แต่คนทุกวันนี้เข้าใจผิดว่า วาจาชอบ  นั่นคือ วาจาที่ไม่ผิดต่อกฏหมายบ้านเมืองขนบธรรมเนียมประเพณีพูดเพียงเท่านี้เรียกว่าเป็นคำพูดของปุถุชน ที่ยังปรารถนาลาภผลจากคำพูดของตนเอง  แม้นักบวชนักเทศน์ทั้งปวง หากใช้วาจาให้ผู้อื่นลุ่มหลงพ้นไปจากทางสายกลาง ล้วนเป็นทุวาจาทั้งสิ้น

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม

       ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวเอาไว้เป็นสัจธรรมว่า "การปฏิบัติงานคือการทำหน้าที่ และการทำหน้าที่คือ การปฏิบัติธรรม" ความหมายแห่งคำพูดนี้น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า การงานที่ปุถุชนปฏิบัติอยู่นั้นมีทั้งชอบด้วยสัจธรรมและไม่ชอบด้วยสัจธรรม ทำงานอย่างไรจึงชอบด้วยสัจธรรมเล่า ?และทำงานอย่างไรจึงไม่ชอบด้วยสัจธรรม ?
       การทำงานที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้นย่อมหมายถึงเป็นการทำงานที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวตน หรือเพื่อประโยชน์แห่งตนสถานเดียวซึ่งปุถุชนทั้งปวงล้วนยึดถือตัวตนเป็นเกนสำคัญเพราะฉะนั้นกระทำการงานอะไรล้วนคำนึงถึงผลได้ของตนเองเป็นปฐม คนที่ทำการงานโดยยึดถือตัวเองเป็นหลักสำคัญล้วนแต่ต้องการผลตอบแทนเสมอ ถ้าไม่ได้ตามประสงค์ก็เกิดโทสะจริต คนทำงานเช่นนี้จึงมีหนทางอยู่สองประการเท่านั้น ประการแรก ถ้าชอบก็จะกระทำโดยไม่หวั่นเกรงต่อความเหนื่อยยากแม้แต่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นก็กระทำ โดยมิได้คิดถึงบาปเวรกรรมที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวพันกันต่อไปชาติแล้วชาติเล่า
ประการที่สอง หากไม่ชอบก็จะปฏิเสธ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่น และการปฏิเสธเช่นนี้จึงกลายเป็นความเห็นแก่ตัวเช่นเดียวกับการละโมบ กระทำเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
       การทำงานโดยคำนึงว่าเป็นการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมหมายถึงกระทำโดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนใด ๆ เลย การกระทำเช่นนี้ย่อมได้ผลตอบแทนอย่างประมาณมิได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการทำงานของธรรมชาติ อันหมายถึงฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ล้วนก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลกนี้
       ฝนตก แดดออก ลมพัด เหล่านี้ล้วนเป็นการงานของธรรมชาติอย่างแท้จริง ธรรมชาติเช่นนี้ กระทำไปโดยมิหวังผลตอบแทนแต่ประการใดเลยแต่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นมากมายและเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวง ดังนั้นผู้ที่ทำการงานโดยชอบต่อหลักสัจธรรมย่อมกระทำโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ย่อมได้ผลแห่งการงานนั้นอย่างประมาณมิได้
       พระพุทธองค์หลังจากได้ตรัสรู้ "ธรรมญาณ" แล้ว พระองค์ทรงเมตตาต่อเวไนยสัตว์โดยมิได้เลือกชนชั้นวรรณะ และมิได้ประสงค์ผลตอบแทนใด ๆ เลย การประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จึงกว้างไกล และเป็นที่พึ่งของเวไนยสัตว์โดยประมาณมิได้ ด้วยระยะเวลาอันยาวนานนับเป็นพัน ๆ ปี
      คำสอนทั้งปวงของพระอริยะเจ้า ที่ประกาศด้วยสัจธรรมและหนทางของทางสายกลางจึงมิได้เหือดหายไปจากโลกนี้ เพราะคำสอนเหล่านั้นเปรียบดั่งเช่นดวงอาทิตย์ ที่ส่องสว่างให้แก่สัตว์โลกโดยไม่ต้องการผลตอบแทนประการใดเลย
       แต่การทำงานของมนุษย์ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ชอบด้วยจิตใจขอองตนเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นผลตอบแทนจึงสั้นและไม่มีประโยชน์ต่อมวลชน คำสอนนั้นแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่การทำการงานที่ชอบด้วยหลักของทางสายกลางย่อมไม่เคยแปรเปลี่ยนใด ๆ แม้ปุถุชนผู้ไม่เข้าใจจะแปรความหมายไปในทางใดก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างสัจธรรมนั้นได้
       สัจธรรมยังคงเป็นสัจธรรมที่ส่องแสงสว่างตลอดกาลนาน ผู้ที่ทำการงานโดยชอบด้วยหลักสัจธรรมจึงเป็นสุขเพราะมิต้องคิดมากและหวาดระแวงแคลงใจต่อผู้ใด ดิน ฟ้า ไม่เคยสนใจว่าสรรพสัตว์จะเป็นอย่างไรแต่ก็ยังทำหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอ แม้ถูกตำหนิติเตียนจากมนุษย์ ฟ้าดินก็ไม่เคยตอบโต้ด้วยการประท้วงไม่กระทำการงานใดเลย  แต่ถ้าเป็นปุถุชน ชอบตอบโต้ เพราะต่างเห็นแก่หน้าตนเอง และประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ ปุถุชนต้องการรักษาผลประโยชน์ตนจึงปกป้องตนเองเสมอ เพราะมีอัตตาตัวตน  แต่ ฟ้าดิน ปราศจากตัวตน ธรรมะทางสายกลางก็ปราศจากตัวตนเช่นเดียวกัน
       ผู้ปฏิบัติธรรมทางสายกลางจึงไม่ตอบโต้ ไม่ว่าสิ่งที่ตอบสนองกลับมาเป็นผลดี หรือผลร้ายต่อตนเอง เพราะเหตุที่ผู้นั้นปราศจากตนเองที่จะต้องรักษาเสียแล้ว จึงป่วยการที่จะตอบโต้เพื่อรักษาอัตตาตัวตนนั่นเอง การปราศจากตัวตนมิได้หมายความว่า กระทำการงานมิได้ แต่เป็นการกระทำไปตามธรรมชาติแห่ง "ธรรมญาณ" นั่นเอง ธรรมญาณ นั้นมาจาก ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นถ้าทำการงานโดยใช้ธรรมญาณของตนเองเป็นหลักจึงกระทำเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินนั่นแล   

Tags: