collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ : เริ่มเรื่อง  (อ่าน 67705 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                         ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

         วันนี้บ้านเมืองต่าง ๆ ใต้หล้า มีอาณาเขตบ้านเมืองน้อยใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คุณสมบัติของความเป็นประมุขก็พอกัน ไม่มีคุณสมบัติเลิศล้ำด้วยวิชาการใด มีแต่จะให้ขุนนางรับการสั่งสอนจากผู้เป็นใหญ่ไม่มีที่ยินดีน้อมองค์ลงมาศึกษาจากขุนนางเมธีอีก พึงรู้ว่า กษัคริย์ซังทัง ปฏิบัติต่อขุนนางอีอิ่น กับที่พระเจ้าฉีหวนกง ปฏิบัติต่อก่วนจ้งนั้น ล้วนแต่ไม่กล้าเรียกตัวเข้าพบโดยไม่มีเหตุอันควรทั้งนั้น โดยเฉพาะคนอย่างก่วนจ้งนั้น ยิ่งจะเรียกหาให้เข้าเฝ้าง่าย ๆ ไม่ได้ลย  เฉินเจิน (ศิษย์เมิ่งจื่อ) เรียนถามครูปราชญ์ว่า "วันก่อนที่เมืองฉี อ๋องท่านโปรดพระราชทานทองคำเนื้อแท้ให้ถึงหนึ่งร้อยอี้     (หนึ่งอี้เท่ากับยี่สิำบสี่ตำลึง) แต่ครูท่านไม่รับ พอมาถึงเมืองซ่ง อ๋องท่านโปรดพระราชทานก้อนทอง (เนื้อผสม) เจ็ดสิบอี้ ครูท่านกลับรับไว้  มาถึงเมืองเซวีย อ๋องท่านโปรดพระราชทานก้อนทอง (เนื้อผสม) ห้าสิบอี้ ครูท่านก็รับไว้อีก วันก่อนที่ไม่รับนั้น ถ้าเป็นการสมควร วันนี้ที่รับไว้ก็เท่ากับเป็นการไม่สมควร  หากวันนี้ที่รับไว้เป็นการสมควร วันก่อนที่ไม่รับไว้ก็จะเป็นการไม่สมควร ทั้งสองกรณีนี้  ครูท่านจะต้องมีกรณีหนึ่งที่ไม่สมควรเป็นแน่  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ถูกต้องสมควรทั้งสองกรณี "  เมื่ออยู่เมืองซ่งนั้น ครูกำลังจะเดินทางไกล สำหรับผู้จะเดินทางไกล เจ้าบ้านจะต้องมอบค่าพาหนะค่าเดินทาง ซึ่งผู้มอบให้ก็ได้กล่าวประสงค์นี้ ครูจะไม่รับได้อย่างไร  เมื่ออยู่เมืองเซวีย มอบเงินเรียกขวัญ ครูกำลังพรั่นใจต่อผู้ปองร้าย  อ๋องเมืองเซวียมอบเงินเรียกขวัญ กล่าวประสงค์ว่า  " เอาไว้ใช้จ่ายในการป้องกันตัว " ดังนี้ ครูจะไม่รับได้อย่างไร  เมื่ออยู่เมืองฉี ไม่ได้ใช้เงินเพื่อประโยชน์เฉพาะกาลอันใด อ๋องมอบเงินทองจำนวนมากมายให้ ก็มิได้กล่าวเพื่อประโยชน์เฉพาะกาลใด  เงินทองนั้นจึงถือเป็น " สินบน "   กัลยาณชนจะรับเงินทองอันเป็นสินบนจากใครได้หรือ  เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางมาถึงอำเภอผิงลู่ ของเมืองฉี กล่าวแก่ขุนนางนายอำเภอที่ผิงลู่ว่า "หากทหารที่ถืออาวุธยืนยามของท่าน ทิ้งแถวหายไปวันละสามครั้ง ท่านจะปลดเขาออก หรือยังจะใช้เขาต่อไป " ขุนนางตอบว่า ""ไม่ต้องรอถึงสามครั้ง" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า ถ้าเช่นนั้น ตัวท่านเองละทิ้งหน้าที่ เหมือนทิ้งแถวความผิดก็มากมายนัก หลายปีที่ฝนแล้งอดอยาก ประชาชนในการปกครองดูแลของท่านที่ี่นี่ คนแก่เฒ่าผอมโซ กระเสือกกระสนจะหาอะไรกิน ต้องอดตายตกลงไปในคูน้ำ ขอบเหว  วัยฉกรรจ์ คนแข็งแรง กระจัดกระจายไปหาทางอยู่รอดเหล่านั้น ไม่รู้กี่พันคนไปแล้ว " ขุนนางนายอำเภอว่า "นี่ไม่ใช่ข้าฯ ข่งจวี้ซิน จะทำอย่างไรได้ หน้าที่รับผิดชอบนี้เป็นของประมุขเจ้าเมือง   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สมมุติว่า วันนี้มีคน ๆ หนึ่งรับจ้างเลี้ยงวัวกับแพะไว้ ซึ่งจะต้องหาหญ้าหาน้ำ หาที่ทางเลี้ยงดู แต่หากหาหญ้า หาที่ทางเพื่อเลี้ยงดูไม่ได้ ท่านจะต้องส่งคืนวัวแพะแก่เจ้าของเขา หรือจะยืนดูวัวแพะอดตายไปต่อหน้าต่อตา"  ขุนนางจวี้ซิน ตอบว่า "นี่ถือเป็นโทษของข้า ฯ จวี้ซิน แล้ว"  วันต่อมา  ปราชญืเมิ่งจื่อได้พบฉีเซวียนอ๋วง กล่าวว่า "ขุนนางผู้ปกครองอำเภอต่าง ๆ ของอ๋องท่าน ที่ข้า ฯ รู้จักนั้นมีห้าคน ในจำนวนห้าคนนั้น สำนึกในความผิดของตน มีแต่ขุนนางจวี้ซวินคนเดียว ที่ข้า ฯ จะกล่าวชื่นชมแก่อ๋องได้"  ฉีเซวียนอ๋วงว่า " นี่เป็นโทษของเราแล้ว ที่มิอาจให้ขุนนางเกิดมีจิตสำนึกได้ทุกคน" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวแก่ฉืออวา ขุนนางเมืองฉีว่า "ท่านลาจากตำแหน่งนายอำเภอที่หลิงชิว มารับตำแหน่งตุลาการ ดูอย่างกับเหมาะสม เพราะได้ใกล้ชิดกับอ๋อง บทลงโทษไม่ยุติธรรมใด ๆ จะได้กราบทูลให้อ๋องได้พิจารณาแก้ไข แต่บัดนี้หลายเดือนผ่านไป ยังไม่มีทางกราบทูลได้หรือ" ฉืออวาเสนอและทัดทานหลายเรื่อง แต่อ๋องไม่รับพิจารณา ฉืออวาจึงลาออกจากราชการแล้วหายตัวไป  ชาวเมืองฉีพากันวิจารณ์ว่า "ท่านเมิ่งจื่อช่วยวางแผนแก่ฉืออวานั้นดีอยู่ แต่เมื่ออ๋องท่านไม่รับฟังข้อเสนอของฉืออวาที่ได้มาจากท่านเมิ่งจื่อ และบัดนี้ฉืออวาลาออก แต่ไฉนท่านเมิ่งจื่อจึงไม่ลาออก ไม่เข้าใจจริง ๆ "   กงตูจื่อ ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ ได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์จึงนำความมาเรียนแก่ครูปราชญ์ทราบ "ดังได้สดับคือ ผู้มีตำแหน่งหน้าที่รักษาราชการ หากผิดต่อหน้าที่ ไม่มีความสามารถ ก็ควรจะลาออก แต่ครูไม่มีตำแหน่งหน้าที่รักษางานราชการ ไม่มีหน้าที่เสนอข้อคิดเห็น จะอยู่จะไปไม่มีพันธะผูกพัน เป็นอิสระสง่าผ่าเผยทุกโอกาส (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ อยู่ในฐานะปราชญ์ผู้ทรงคุณวุติพิเศษที่ได้รับเชิญจากอ๋อง) ปราชญ์เมิ่งจื่อเป็นขุนนางรับเชิญระดับสูงของเมืองฉี (มิใช่ขุนนางข้าราชบริพาร)  ครั้งหนึ่งท่านทำหน้าที่ทูต เดินทางไปร่วมงานเคารพพระศพ ที่เมืองเถิงแทนอ๋อง งานนี้ อ๋องได้โปรดให้ขุนนางไก้ นามว่าหวังฮวน เป็นอุปทูตร่วมทางไปด้วยกัน อุปทูตหวังฮวน ได้พบปราชญ์เมิ่งจื่อทุกค่ำเช้าตลอดระยะทางยาวไกลที่เดินทางไปเมืองเถิง แต่ไม่เคยเอ่ยถึงการทูตที่จะต้องไปจัดการนี้เลย ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์ว่า "ขุนนางหวังฮวนมีหน้าที่ดุแลขุนนางรับเชิญของบ้านเมืองคือครูปราชญ์ท่าน นับว่าสำคัญไม่น้อย หนทางไปสู่เมืองเถิงก้ไม่ใช่ใกล้ ตลอดทางไปกลับ ไม่เห็นครูท่านพูดเรื่องงานพระศพกับหวังฮวนเลย ด้วยเหตุอันใดหรือ" ครูปราชญ์ตอบว่า "งานนี้ทุกอย่างหวังฮวนจัดการเองเสร็จสรรพ ยังจะมีอะไรให้ครูต้องพูดอีกเล่า  (หวังฮวน ไม่ขอคำแนะนำจากผู้ใหย๋ แสดงว่าเหนือกว่าครูปราชญ์จึงเห็นว่าไม่น่าจะแนะนำอะไรให้ได้อีก  ปราชญเมิ่งจื่อเดินทางจากเมืองฉี กลับไปจัดการฝังศพมารดาท่านที่เมืองหลู่ เสร็จงาน จึงเดินทางกลับเมืองฉี ระหว่างทางพักแรมที่อำเภออิ๋ง  ชงอวี๋ ศิษย์ครูปราชญ์เรียนถามว่า "ที่ผ่านมา ครูท่านไม่เห็นศิษย์ด้อยความสามารถ มอบหมายให้ศิษย์ดูแลช่างไม้ทำโลงศพ ตอนนั้นเวลากระชั้น ศิษย์ไม่กล้าเรียนถามครูปราชญ์ท่าน บัดนี้จะแอบเรียนถามว่า  ไม้นั้นสวยงาม แต่ดูเหมือนจะดีเกินไป" (ศิษย์ไม่ค่อยเห็นดีด้วยกับโลงศพไม้หนาไม้เนื้อกล้านั้น)  ครูปราชญ์ตอบว่า "ครั้งโบราณ โลงศพชั้นในกับชั้นนอก ไม่มีขนาดจำกัดมาตรฐานความหนาของไม้ ครั้งโบราณสมัยกลางต่อมา กำหนดความหนาเจ็ดนิ้ว โลงชั้นนอกชั้นในพอเหมาะกัน

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

        การนี้ สูงศักดิ์ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต่ำสุดจนถึงชาวบ้านธรรมดา ใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะความสำคััญมิได้อยู่ที่สวยงาม (อยู่ที่กตัญญู ซึ่งลูกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน)  (อีกทั้งเพื่อมิให้ไม้ถูกหนูเจาะ ซึมน้ำ ผุพังเร็ว เพื่อรักษาร่างกายของพ่อแม่ให้คงสภาพไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้) เช่นนี้ จึงจะถึงที่สุดของการตอบแทนพระคุณ บิดามารดา อันเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะแสดงต่อท่านได้ แต่สำหรับพิธีการที่ทำไม่ได้นั้น อย่าทำตามใจที่ใคร่จะทำ (เกินกำลังความสามารถสภาพแวดล้อม)  หากขาดแคลนเงินทอง ก็อย่าทำตามใจที่ใคร่จะทำ ให้ถูกต้องสมควรต่อจริยพิธี และมีเงินทองที่จะทำได้  คนโบราณปฏิบัติมาอย่างนี้  ไฉนครูจะทำเช่นนี้ด้วยไม่ได้"  เพื่อพ่อแม่ที่วายชนม์ โลงศพหากทำให้หนาไว้ ก็จะป้องกันดินมิให้ประชิดร่างกาย เช่นนี้ ใจของผู้เป็นลูก จะไม่รู้สึกดีกว่าหรือ ที่ครูเคยได้ยินมา "กัลยาณชนจะไม่หวงแหนเสียดายสรรพสิ่งใด ๆ ในโลกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่ทำให้แก่พ่อแม่" เสิ่นถง ขุนนางเมืองฉี เอาความเห็นส่วนตัว ถามท่านเมิ่งจื่อว่า "เมืองเอียนนั้นน่าจะถูกปราบปรามหรือไม่" ตอบว่า "น่า" (เพราะความผิดพลาดเสียหายมาก) จื่อไคว่ เจ้าเมืองเอียน จู่ ๆ ก้ยกตำแหน่งเจ้าเมืองให้เขาไปทำเช่นนี้ไม่ได้ จื่อจือ ขุนนางเมืองเอียน จู่ ๆ ก็ยกตำแหน่งอ๋องมาครองทำเช่นนี้ไม่ได้  เปรียนเช่นขุนนางคนหนึ่งอยู่ตรงนี้ แม้ท่านจะชื่นชอบเขาแต่โดยมิได้กราบทูลอ๋องทรงทราบ ท่านก็ยกตำแหน่งบำเหน็จบำนาญให้เขา ขุนนางคนนี้ไม่ได้รับพระบัญชาอนุญาต ก็รับเอาตำแหน่งบำเหน็จบำนาญไปดื้อ ๆ ทำเช่นนี้ได้หรือ เรื่องนี้ไม่ต่างกับจื่อไคว่ จื่อจือ ที่ยกตำแหน่ง รับตำแหน่งกันไปเอง  ภายหลังเมืองฉีตีเมืองเอียน มีผู้ถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านส่งเสริมให้เมืองฉีตีเมืองเอียนหรือ" ตอบว่า "มิได้" ครั้งหนึ่ง ขุนนางเสิ่นถงถามข้า ฯ ว่าเมืองเอียนน่าปราบปรามไหม ข้า ฯ ตอบว่า "น่า" หลังจากนั้นเขาคิดว่าสมควร เขาจึงไปตี แต่หากเขาจะถามข้า ฯ ต่อไปว่า ใครน่าจะเป็นผู้ตี ข้า ฯ ก็จะตอบว่า "กษัตริย์ทรงธรรมผู้ได้รับพระโองการฟ้า น่าจะเป็นผู้ตี"  วันนี้มีผู้ฆ่าคน อาจจะถามว่า "คนนั้นน่าจะถูกฆ่าไหม"  ข้า ฯ ก็จะตอบเขาว่า "น่า" หากเขาถามต่อไปว่า "ผู้ใดน่าจะเป็นคนฆ่า" ก็จะตอบว่า "ผู้พิพากษาตัดสินให่ฆ่าได้ตามโทษอุกฤษฏ์นั้น" วันนี้เมืองฉีไม่มีธรรมไม่ต่างกับเมืองเอียน แม้จะเป็นเมืองฉีตีเมืองเอียนแต่ก็เท่ากับเมืองเอียนตีเมืองเอียนเอง ข้า ฯ จะมีเหตุผลอะไรส่งเสริมให้เมืองฉีตีเมืองเอียน"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

        เมืองฉีตีเมืองเอียนได้แล้ว  ต่อมาชาวเมืองเอียนลุกฮือขึ้นแข็งข้อ เจ้าเมืองฉีว่า "เราไม่ละอายใจต่อเมิ่งจื่อนัก" เฉินเจี่ย ขุนนางเมืองฉีกล่าวว่า "อ๋องท่านอย่าคิดกังวลไปเลย อ๋องท่านเทียบกับโจวกง ผู้ใดหรือที่มีกรุณา - ปัญญาธรรมล้ำเลิศกว่ากัน" (ดูประวัติได้จากหนังสือสายทองเล่มหนึ่ง ศุภนิมิต) เซวียนอ๋วงถอนใจว่า "พูดอะไรอย่างนั้น" (เทียบกันไม่ได้เลย)  เฉินเจี่ย กล่าวต่อไปว่า "กษัตริย์อู่อ๋วง ปราบทรราชโจ้วอ๋วง จากนั้น ยกย่องอู่เกิง ราชบุตรของทรราชขึ้นเป็นเจ้าหัวเมืองอิน  โจวกงแต่งตั้งให้ก่วนสู ควบคุมดูแลราชบุตรอู่เกิง แต่ภายหลังก่วนสูกลับช่วยอู่เกิงก่อกบฏเสียเอง เรื่องนี้ หากโจวกงรู้แต่แรกว่า ภายหน้าก่วนสูผู้ได้รับมอบหมายจะก่อการร้าย แต่จะรอดูให้เกิดเป็นจริงเสียก่อน จึงลงโทษ เช่นนี้ เท่ากับมีแผนรอให้เขาลงมือ เรียกว่า ขาด "กรุณาธรรม"  แต่หากโจวกงไม่รู้มาก่อนว่า ก่วนสูจะช่วยราชบุตรของทรราชก่อการร้าย จึงมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมดูแล อู่เกิงราชบุตร อย่างนี้เรียกว่า ขาอ "ปัญญาธรรม" กรุณากับปัญญา อริยกษัตริย์เช่นโจวกงนั้น ยังพลาดพลั้งไม่รู้ทั้งหมด อ๋องท่านจะไม่พลาดพลั้งได้อย่างไร เมื่อเข้าพบท่านปราชญืเมิ่งจื่อได้แล้ว ข้า ฯ จะอธิบายให้ท่านปราชญ์ฟัง" เมื่อขุนนางเฉินเจี่ย เข้าพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ เรียนถามว่า "ท่านโจวกง เป็นใครอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "เป็นอริยชนครั้งโบราณ" ขุนนางว่า "โจวกงมอบหมายให้ขุนนางก่วนจ้ง (พี่ชายของโจวกงเอง) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอู่เกิง ราชบุตรของทรราช  เสร็จแล้ว ก่วนจ้ง กลับใช้ให้อู่เกิงแข็งข้อทำการกบฏ มีเรื่องนี้จริงหรือ"  เมิ่งจื่อตอบว่า "ใช่"  เฉินเจี่ยว่า "โจวกงรู้ว่าพี่ชายจะก่อการ จึงเจตนาส่งเขาไปเช่นนั้นหรือ" เมิ่งจื่อตอบว่า "ไม่รู้"  เฉินเจี่ยว่า "ถ้าเช่นนั้น อริยชนยังมีผิดพลาดได้หรืออย่างไร"  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "โจวกงเป็นน้อง ก่วนจ้งเป็นพี่ชาย น้องเคารพยกย่องพี่ ความผิดพลาดของโจวกงครั้งนั้น เกิดอย่างถูกต้องมิใช่หรือที่น้องเคารพไว้ใจพี่ อีกทั้งกัลยาณชนคนก่อนเก่า เมื่อผิดพลาดก็จะแก้ไข แต่บัดนี้ ที่เรียกว่ากัลยาณชนนั้น เมื่อผิดพลาดจะปล่อยเลยตามเลย แก้ไขไม่ได้ กัลยาณชนก่อนเก่า หากมีผิดพลาด จะชัดเจนเหมือนจันทรคราส สุริยคราส ทุกคนจะมองเห็นได้  เมื่อเขาปรับเปลี่ยนตนแล้ว ก็ยังคงความสว่างดังสุริยันจันทรา ผู้คนยังคงแหงนหา  แต่่ที่เรียกว่ากัลยาณชนในวันนี้นั้น ไม่เพียงทำผิดแล้วปล่อยไป อีกทั้งยังเสียงแข็ง ปิดบังเต็มที่"  ปราชญ์เมิ่งจื่อลาออกจากตำแหน่งขุนนางรับเชิญกิติมศักดิ์กำลังจะไปจากเมืองฉี  ฉีเซวียนอ๋วงมาพบ กล่าวว่า "วันก่อนอยากพบท่าน แต่ไม่สมดังตั้งใจ บัดนี้ เราได้มาอยู่กับท่าน เพื่อขอฟังคำแนะนำ รวมทั้งทุกคนในราชสำนักก็ล้วนยินดียิ่ง แต่นี่ท่านกำลังจะทิ้งเราไป ไม่รู้ว่าหากท่านอยู่ที่นี่ต่อไป เราจะได้พบหน้ากันทุกวันหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ข้อนี้มิกล้ากล่าวได้ แต่อันที่จริง เดิมที ข้า ฯ นั้นหวังว่า จะได้พบหน้ากับอ๋องท่านทุกวันอยู่แล้ว" ผ่านไปหนึ่งวัน ฉีเซวียนอ๋วงกล่าวแก่ขุนนางสือจื่อว่า "เราคิดจะสร้างบ้านให้ปราชญ์เมิ่งจื่อสักหลังในบ้านเมืองของเรา ใช้เป็นที่อบรมลูกหลานชาวเมืองฉี ให้เงินบำเหน็จปีละหนึ่งหมื่นจง  อีกทั้งเพื่อให้ขุนนางกับชาวเมืองทั้งหมด มีรูปแบบงามสง่าน่าเกรงขามไว้เรียนรู้กัน ไฉนท่านไม่ออกหน้าพูดแทนเรา" (ทัดทานการจากไป)   

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                       ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

        สือจื่อบอกเรื่องนี้แก่เฉินจื่อ  ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ เฉินจื่อถ่ายทอดแก่ครูปราชญ์ ครูปราชญ์ว่า " ถ้าเช่นนั้น ขุนนางสือจื่อรู้สาเหตุ ที่ครูจะอยู่ที่นี่ต่อไปอีกไม่ได้หรือ หากคิดใคร่ในเงินทอง ไฉนจึงลาออกจากบำเหน็จหนึ่งแสนเพื่อรับเพียงหนึ่งหมื่นเป็นเครื่องบูชาครูเล่า  อย่างนี้จะเป็นการหวังรวยเงินทองหรือ" (ขุนนางสือจื่อเข้าไม่ถึงอุดมการณ์อันสูงส่งของครูปราชญ์ จึงอาจหาญมายื่นข้อเสนอเงินหมื่น) กาลก่อน จี้ซุน ขุนนางเมืองหลู่ เคยกล่าวไว้ว่า "แปลกแท้ จื่อสูอี๋คนนี้ ประมุขเมืองหลู่จะให้เขาเป็นขุนนางฝ่ายปกครอง เขาไม่เอา เมื่อปฏิเสธว่าไม่ได้ ก้น่าจะจบเรื่องไป แต่ไฉนกลับหาทางเต็มที่เพื่อให้ลูกศิษย์ ลูกหลานของตนเข้าไปเป็นขุนนาง คน  มีคนไหนบ้างที่ไม่หวังรวยมีฐานะ มีแต่จื่อสูอี๋คนนี้ เท่านั้น ที่อยู่ในแวดวงร่ำรวย (เหล่าขุนนาง) ยังคิดเห็นแก่ตัว จะเอาผลประโยชน์จากผลประโยชน์ทับซ้อน (ขอยืมมือผู้อื่น)"  หมายความว่าอย่างไรหรือ  คนค้าขายสมัยก่อน ล้วนเอาสินค้าสิ่งของของตน ไปแลกกับสิ่งของของผู้อื่น (ซื้อขายแบบแลกเปลี่ยน)  ขุนนางทหารที่ดูแลย่านการค้า ทำหน้าที่เพียงรักษาการณ์  แต่มีชายต่ำทรามพวกหนึ่ง  จะเอาประโยชน์ส่วนนี้ให้ได้จึงขึ้นไปยืนบนที่สูง จุดที่มองเห็นด้านการค้าอย่างทั่วถึง มองเห็นสินค้าดีก็กว้านซื้อในราคาถูก  จากนั้นก็ขายไปในราคาแพง หาผลประโยชน์หยิบฉวย ผิดทำนองคลองธรรม ทุกคนเห็นว่า คนเหล่านี้ต่ำทรามชั่วช้า ดังนั้น ขุนนางทหารจึงจัดการเรียกเก็บภาษีจากคนพวกนั้น ภายหลัง จึงมีการเก็บภาษีกันทั่วหน้า 
ก็คือเริ่มจากชายชั่วช้าเหล่านั้นเป็นต้นมา  ข้า ฯ เมิ่งจื่อ มีหรือจะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับจื่อสูอี๋ และ ชายชั่วช้าพวกนั้น  เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉีพักที่อำเภอโจ้ว มีคน ๆ หนึ่งอยากจะช่วยฉีเซวียนอ๋วงรั้งท่านปราชญ์ไว้ ได้มานั่งคุยกับปราชญ์เมิ่งจื่อ ท่านไม่ตอบ แสร้งพิงโต๊ะบนตั่งหลับเสีย ชายผู้นั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง กล่าวว่า " ผู้น้อยตั้งใจจริง ถือศีลกินเจมาหนึ่งวันหนึ่งคืน จึงกล้ามาพูดคำนี้แก่ท่าน ท่านกลับพิงโต๊ะหลับไปเสียไม่ฟัง ผู้น้อยจะบอกแก่ท่านว่า  ต่อไปผู้น้อยไม่กล้าที่จะมาพบท่านอีกแล้ว"

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                          ๒.  บทกงซุนโฉ่ว  ตอนท้าย

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เชิญนั่ง เราจะพูดให้ฟังโดยละเอียด  กาลก่อน ที่พระเจ้าหลู่โหมวกง รั้งท่านปราชญ์จื่อซือ ไว้นั้น หากมิใช่ส่งคนมารับใช้ไกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อแสดงความเคาพเทิดทูนแล้ว ก็จะมิอาจเรียกใจของท่านปราชญ์จื่อซือให้วางใจอยู่ด้วยได้ เซี่ยหลิ่ว (เมธีเมืองหลู่) กับ เซินเสียง (บุตรชายปราชญ์จื่อจาง) หากไม่มีคนชื่นชมความปรีชาสามารถของท่านต่อพระเจ้าหลู่โหมวกงเสมอ ๆ แล้ว ก็มิอาจทำให้ทั้งสองอยู่ยั้งในเมืองหลู่ได้อย่างวางใจ ท่านลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างสิ ช่วยพิจารณาแทนเราผู้สูงอายุสักหน่อย หากไม่เป็นท่านท่านปราชญ์จื่อซือ เราจะวางใจได้ไหม (ฉีเซวียนอ๋วงไม่จริงใจ อีกทั้งไม่แสดงใจจริง ทำอย่างกับท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ "ผู้ให้" เหมือน "ผู้ใคร่ได้")  บัดนี้ ท่านเป็นผู้ปฏิเสะเราผู้สูงอายุก่อน หรือเราผู้สูงอายุปฏิเสธท่านก่อน" ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี อิ่นซื่อ ชาวเมืองฉี พูดกับใคร ๆ ว่า "หากเมิ่งจื่อไม่รู้มาก่อนว่า เป็นไปไม่ได้ที่ฉีเซวียนอ๋วงจะสร้างอริยกิจปกครองแผ่นดินโดยธรรม จะเจริญรอยตามกษัตริย์ซังทังกับอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง ที่ปราชญ์ท่านพยายามกล่อมเกลานั้น เท่ากับไม่เข้าใจหลักความเป็นจริง แต่หากรู้อยู่ก่อนหน้าแล้วว่า  เป็นไปไม่ได้ แต่ยังอุตส่าห์จะมาเมืองฉีอีก ถ้าอย่างนั้นก็คือต้องการตำแหน่งขุนนาง เพื่อสินจ้างรางวัล จึงได้มิหวั่นพันลี้
เดินทางไกลมาพบเจ้าเมืองฉี บัดนี้ ความเห็นไม่ตรงกันจึงต้องจากไป แต่ไฉนสามคืนผ่านไป จึงออกนอกเมืองมาพักที่อำเภอโจ้ว เหตุใดจึงหยุดพัก ทำยึกยักชักช้าอยู่เหมือนไม่อยากจากไป ข้า ฯ อิ่นซื่อ ไม่ชอบวิธีการนี้ของปราชญ์เมิ่งจื่อเลย"  เกาจื่อ ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ ได้ยินคำวิจารณ์เช่นนี้ จึงไปเรียนให้ครูปราชญ์ทราบ ครูปราชญ์ว่า "อิ่นซื่อผู้นั้น จะรู้ความตั้งใจจริงของครูได้อย่างไร ที่มิหวั่นพันลี้ เดินทางไกลมาพบเจ้าเมืองฉี เป็นความปรารถนาด้วยความยินดีของครูเอง ความเห็นไม่ตรงใจจึงจากไป นั่นเป็นความปรารถนายินดีของครูด้วยหรือ"  การจากไปของครูเป็นความจำใจ ค้างอยู่อีกสามคืน จึงค่อยออกมาที่ชานเมืองอำเภอโจ้ว ใจของครูยังรู้สึกว่า ด่วนจากเร็วเกินไป ครูยังหวังว่าเจ้าเมืองฉี จะสำนึกแก้ไขได้ หากสำนึกต่อความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ อ๋องก็จะต้องตามมาเชิญครูกลับไปแน่นอน บัดนี้ เมื่อมาถึงอำเภอโจ้วพ้นชายแดนแล้ว อ๋องก็จะไม่มาตามครูกลับไปอีกแล้ว ( ตักเตือน สอนสั่ง กล่อมเกลา แต่งปั้น ขัดถู เป็นหัวใจ ปณิธานของปราชญ์ที่มีต่อผู้ไกลห่างทางธรรม) เมื่อรู้แน่ว่าหมดทางที่จะกล่อมเกลาอีกต่อไป จากนั้น ใจของครูจึงเหมือนกระแสน้ำไหล ยั้งเท้าไว้ไม่อยู่ตัดสินใจคืนหลังยังบ้านเกิด แม้ครูจะจากไป แต่จะทิ้งเจ้าเมืองฉีหมดสิ้นได้หรือ อย่างน้อยก็ยังพอให้หวังได้ว่า อ๋องจะดีใจ หากเจ้าเมืองฉียินดีใช้ประโยชน์จากครู เช่นนั้นแล้ว ไม่เพียงประชาราษฏร์ จะได้สุขสงบมั่นคง แม้แต่โลกกว้างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหมด ก็จะพลอยได้รับความสงบสุขมั่นคงไปด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฉีเซวียนอ๋วงจะแก้ไขจิตใจที่ไม่เป็นธรรม นี่เป็นสิ่งที่ครูมุ่งหวังตั้งตาคอยอยู่ทุกวัน ครูจะเหมือนจัณฑชนคนใจแคบกระนั้นหรือ  ครูทัดทานตักเตือนความผิดแก่อ๋องของเขา อ๋องของเขาไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับ เขายังจะมาแสดงสีหน้าอาการโมโหพลุ่งพล่านแก่ครู ความเห็นต่างกันเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เขา (คนที่วิจารณ์) แผดเสียงออกอาการจนกว่าจะหมดสิ้นกำลังของเขาไป วันใดวันหนึ่ง จึงจะให้เขาหยุดทำหน้าตาถมึงทึงได้ อิ่นซื่อ ผู้วิจารณ์ ได้ยินคำกล่าวของปราชญ์เมิ่งจื่อ เช่นนี้ เขาสำนึกเสียใจ กล่าวว่า "ข้า ฯ อิ่นซื่อ ช่างไม่รู้เห็นความเป็นจริง อีกทั้งใจแคบนักเช่นนี้"  เมื่อเมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี  ศิษย์ชื่อ ชงอวี๋ เรียนถามท่านเมิ่งจื่อในระหว่างทางว่า "ครูปราชญ์ท่าน สีหน้าดูอย่างกับไม่มีความสุข เมื่อก่อนศิษย์ได้ยินครูปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า "กัลยาณชนจะไม่ขัดเคืองโทษฟ้าว่าไม่คุ้มครอง  จะไม่โกรธเคืองว่าเป็นความผิดของใคร" (ปู๋เอวี้ยนเทียน ปู้อิ๋วเหยิน)  ครูปราชญ์ตอบว่า "คำพูดดังกล่าวนั้น คือเหตุการณ์ขณะนั้น แต่ขณะนี้คือ ภาวะที่ทุกข์เศร้าห่วงใยชาวโลก" ครูปรา๙ญ์ว่า "(แต่บรรพกาลมา) ห้าร้อยปีจะต้องมีอริยกษัตริย์อุบัติมาฟื้นฟูโลก และระหว่างเวลาว่างเว้นนี้ จะต้องมีเมธีปราชญ์เป็นที่เทิดทูนของชาวโลกอุบัติมา  แต่  นับจากราชวงศ์โจวมาจนถึงบัดนี้ เจ็ดร้อยกว่าปีแล้ว ห้าร้อยปีมีอริยกษัตริย์ แต่นี่ล่วงเลยเวลามาช้านาน หากพิจารณาจากสัจธรรมที่ว่า "สถานการณ์วุ่นวาย ถึงที่สุดย่อมสงบ" (สือซื่อล่วน จี๋ปี้จื้อ) เวลานี้ก็น่าจะมีอริยกษัตริย์เกิดขึ้นได้แล้ว แต่นี่ชะรอยเป็นพระประสงค์ของฟ้าเบื้องบน ที่ยังจะไม่ประทานความสงบราบเรียบแก่โลกนี้กระมัง หากจะโปรดประทานความสงบราบเรียบแก่โลกนี้ ขณะนี้ ในโลกนี้ นอกจากครูแล้ว ยังมีท่านใดอีกหรือ เช่นนี้ จะให้ครูมีความสุขได้อย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี พักอยู่ที่อำเภอซิว ศิษย์กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ครูปราชญ์เป็นขุนนางไม่รับบำเหน็จค่าตอบแทน เป็นหลักธรรมแต่โบราณมากระนั้นหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ไม่ใช่เช่นนั้น แรกเริ่มเมื่ออยู่อำเภอฉง ครั้งแรกที่ครูได้พบกับเจ้าเมืองฉี พอออกจากท้องพระโรงแล้ว ครูก็ตั้งใจจะไปจากเมืองฉี ภายหลังต่อมา แม้เป็นขุนนางรับเชิญของเมืองฉี ก็ยังจะเปลี่ยนใจจะไปจาก ดังนั้น จึงไม่รับบำเหน็จรางวัลตอบแทนใด ๆ ภายหลัง ไดรับมอบให้ดูแลกองทัพไปปราบศึก เหตุการณ์ประดังจึงยั้งอยู่ มิได้ขอลาจากตำแหน่ง จนทำให้ต้องอยู่เมืองฉีเสียนาน นี่มิใช่ความปรารถนาแต่เดิมทีของครู"

                            ~ จบบทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย ~ 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                         ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                             ๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น

        ครั้งที่พระเจ้าเถิงเหวินกง ยังทรงเป็นราชบุตรอยู่ ขณะเป็นทูตไปยังเมืองฉู่ ได้ยินว่าปราชญ์เมิ่งจื่ออยู่ที่เมืองซ่ง จึงตั้งใจเข้าไปขอศึกษา ปราชญ์เมิ่งจื่ออรรถาปรัชญญาธรรมว่าด้วยเรื่อง " จิตญาณดีงามโดยธาตุแท้ "  แก่ราชบุตร ทุกถ้อยคำล้วนชื่นชมอริยกษัตริย์เหยากับซุ่น เมื่อราชบุตรเดินทางกลับจากเมืองฉุ๋ ได้เข้ามาขอศึกษาต่อปราชญ์เมิ่งจื่ออีก ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ราชบุตรคงสงสัยว่า เหตุใดเราจึงกล่าวถึงคุณธรรมความดีงามของสองอดีตอริยกษัตริย์ อันหลักธรรมที่คนพึงรักษา ล้วนเกิดแต่จิตเดิมแท้หนึ่งเดียวเท่านั้น ( จิตเดิมแท้ไม่มุ่งหมาย หรือติดอยู่กับความโลภ โกรธ หลง อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ทรงรักษาจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ไว้ได้ด้วยกรุณามโนธรรม มีความรักทั่วหน้าต่อประชาราษฏร์ )  เฉิงเจี้ยน ข้าราชสำนักเมืองฉี กล่าวแก่พระเจ้าฉีจิ่งกงว่า " ผู้เป็นอริยเมธาคือชายชาตรีที่มีศรีสง่า เราก็เป็นชายชาตรี หากเราปฏิบัติตนเยี่ยงท่านเหล่านั้น ยังจะเกรงอะไรกับการมิได้เป็นอริยเมธาเสมอด้วยท่านเหล่านั้น "  ปราชญ์เอี๋ยนเอวียน ( เอี๋ยนหุย )  เคยกล่าวว่า "อริยกษัตริย์ซุ่นคืออะไร  คือคน  เราคืออะไร คือคน  เพียงแต่มุ่งมั่นดั่งพระองค์ เราก็จะเป็นเช่นพระองค์ได้ " กงหมิงอี๋ หรือปราชญ์เจิงจื่อ  ( ศิษย์บรมครู ) เมธีชาวเมืองหลุ่กล่าวว่า "อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง เป็นครูแห่งเรา เป็นแบบอย่างให้เจริญรอยตาม พระเจ้าปู่โจวกง ได้กำหนดจริยระเบียบไว้ถ้วนถี่ เราปฏิบัติตามนั้น...จะเป็นไปได้หรือที่พระเจ้าปู่โจวกงจะหลอกลวงให้เรากระทำความผิด"ราชบุตรว่า " วันนี้เมืองเถิงของเราแม้จะเล็ก แต่หักส่วนยาวเติมส่วนสั้นแล้ว ก็ยังได้แผ่นดินโดยรอบห้าสิบลี้ อาจสร้างเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นบ้านเมืองแห่งคุณงามได้ " ในหนังสือซังซู จารึกว่า "ป่วยหนักหากได้ยา ไม่มีอาการสนองตอบ ป่วยคงไม่หาย ปกครองบ้านเมืองก็เช่นกัน ได้ยินคติธรรมไม่สำนึกรู้บ้านเมืองก้ไม่อาจรักษาได้ "  พระเจ้าเถิงติ้งกงสวรรคต ราชบุตรเถิงเหวินกงกล่าวแก่หยันโหย่ว ผู้เป็นราชครูว่า " วันก่อนปราชญ์เมิ่งจื่อเคยพูดเรื่องจิตเดิมแท้ดีงามต่อเราที่เมืองซ่ง เราประทับฝังใจไม่ลืม วันนี้เราเคราะห์ร้ายที่ต้องสูญเสียพระบิดาไป เราอยากให้ท่านช่วยไปเรียนถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อเสียก่อน จากนั้น จึงค่อยมาจัดการงานพระศพของพระบิดา "  ราชครูหยันโหย่ว จึงเดินทางไปเมืองหลู่ อำเภอโจว เรียนถามพิธีการงานพระศพจากปราชญ์เมิ่งจื่อ  ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ราชบุตรใช้ท่านมาถามพิธีการจัดงานพระศพพระบิดาเป็นเรื่องที่ดีแท้  บิดามารดาวายชนม์ คนที่เป็นลูกจะต้องทำเต็มที่ต่อกตัญญุตาธรรม" แต่ก่อนท่านปราชญ์เจิงจื่อกล่าวไว้ว่า "บิดามารดามีชีวิตอยู่ ดูแลด้วยความเคารพยิ่งด้วยจริยธรรม เมื่อท่านวายชนม์ ก็จัดการฝังด้วยจริยประเพณี เมื่อเซ่นไหว้ก้ให้เหมาะสมต่อจริยพิธี  สามสิ่งนี้สมบูรณ์ ก็นับว่าเป็นลูกกตัญญูแล้ว" 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                         ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                             ๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น

        ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "พิธีการหลวง ข้าฯ หาได้เรียนมาไม่ แต่ถึงกระนั้นก็เคยได้ยินมาว่า บิดามารดาวายชนม์ ให้ไว้ทุกข์สามปีตามจริยประเพณี สวมใส่ผ้าดิบปล่อยชาย ไม่เย็บขอบ  อาหารการกินเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง ตั้งแต่ระดับฮ่องเต้จนถึงสามัญชน ตั้งแต่รัชสมัยเซี่ย ซัง โจว ล้วนรักษาประเพณีนี้สืบต่อกันมา "  ราชครูหยันโหย่วกลับไปกราบทูลตอบ ราชบุตรรับปฏิบัติตาม กำหนดไว้ทุกข์สามปี แต่ญาติผู้ใหญ่ ขุนนางทั้งหลายล้วนไม่ยินดี ต่างกล่าวว่า "เมืองหลู่ต้นตระกูลเดียวกันกับพวกเรา มิใช่ปฏิบัติดังนี้  แม้อ๋องก่อนเก่าแห่งเมืองเถิงของเรา ก็มิได้กระทำ พอมาถึงราชบุตรท่านกลับจะเปลี่ยนไปเช่นนี้ หาควรไม่ " อีกทั้งในหนังสือจื้อซู ก็ได้จารึกไว้ว่า "จริยพิธีงานพระศพ พึงปฏิบัติตามบรรพชน "  ในความหมายนั้นก็คือ อนุชนรุ่นหลังพึงปฏิบัติจามบรรพชน" ราชบุตรจนใจกล่าวต่อราชครูหยันโหย่วว่า "ที่แล้วมาเรามิได้ขยันหมั่นศึกษาหาความรู้ ชอบแต่ขี่ม้าฟันดาบ บัดนี้ญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลกับเหล่าขุนนางต่างไม่พอใจดำริแห่งเรา เกรงว่าจะจัดพิธีพระศพไม่ได้เต็มที่ ฉะนั้น ขอให้ราชครูท่านกลับไปเรียนถามท่านเมิ่งจื่ออีกครั้ง" ราชครูกลับไปยังอำเภอโจว เมืองหลู่อีกครั้ง ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว ที่ไม่อาจเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามได้" ท่านบรมครูขงจื่อกล่าวไว้ว่า "เหนือหัวสวรรคตราชการงานเมืองบัญชาการโดยมหามนตรี ฮ่องเต้องค์ใหม่สืบต่อราชบัลลังก์ ทำหน้าที่เฉพาะกิจเพียงเสวยข้าวต้มเล็กน้อย ใบหน้าเศร้าหมองแสดงความโศกเศร้า  เมื่อเข้ากราบพระศพก็ทำูฟูมฟายคร่ำครวญ  ขุนนางน้อยใหญ่ได้เห็นภาพสะเทือนใจ ไม่มีผู้ใดที่จะอดไปพิลาปร่ำไห้ตามไปด้วยได้ ฉะนั้น ผู้สืบต่อราชวงศ์จะต้องแสดงความรวดร้าว เพื่อโน้มน้าวความจงรักภักดีต่อทุกคน"  ผู้อยู่เบื้องสูง หากเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรม ผู้อยู่เบื้องล่าง ย่อมสนองรับเป็นไปตามยิ่งกว่า  ผู้อยู่เบื้องสูงก่อเกิดคุณธรรมเปรียบได้ดั่งลม พสกนิกรเป็นผู้อยู่เบื้องล่างเปรียบดั่งต้นหญ้า เมื่อลมพัดมา ต้นหญ้าย่อมลู่น้อมเอนราบลงตามลม จริยพิธีพระศพจึงอยู่ที่ราชบุตรเอง ที่จะเป็นแบบอย่างก่อเกิดความซาบซึ้งถึงพสกนิกรได้เพียงไร"  เมื่อราชครุกลับมาถวายรายงาน ราชบุตรเชื่อมั่นกล่าวว่า "แน่นอน ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา" จากนั้นก็กำหนดแน่ชัดว่า จะสร้างกระท่อมหญ้าคาอยู่เฝ้าสุสานพระบิดาห้าเดือน เรื่องนี้ยังมิทันได้ออกแถลงการณ์เหล่าพระญาติพระวงศ์ขุนนางน้อยใหญ่ต่างชื่นชมราชบุตรว่ารู้จริยธรรม วันที่ฝังพระศพ ผู้คนมากมายพากันมาสังเกตุการณ์ให้เห็นจริง เมื่อเห็นพระพักตร์เศร้าหมองของราชบุตร เมื่อได้ยินเสียงร่ำไห้ ทุกคนในพิธีจึงต่างโทมมนัสสะเทือนใจ ราชบุตรขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเถิงเหวินกง  เรียนถามการปกครองจากปราชญ์เมิ่งจื่อ ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เรื่องปากท้องไร่นาประชาราษฏร์ อย่าคลาดเคลื่อน" ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "เธอจงตัดหญ้าคาเวลากลางวัน ถักฟั่นเป็นเชือกในยามค่ำ เร่งรัดเวลาว่างซ่อมหลังคาบ้านทันท่วงทีก่อนที่ฤดูฝนจะมา ให้ทันเวลาเพาะปลูกคราดไถ" นี่คือการใส่ใจกระตุ้นเตือนชาวไร่ชาวนา หลักธรรมในการปกครองนั้น พึงรู้ว่า ผู้มีอสังหาริมทรัพย์ ไว้ในครอบครอง จิตใจจะมั่นคงกว่าผู้ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ จึงพึงให้ความมั่นคงด้วยทรัพย์สินแก่ทุกคน หากจิตใจขาดความมั่นคง ก็จะระส่ำระสาย ระเริงปล่อยใจ ทำผิดคิดร้ายได้ทุกอย่าง ต้องถูกปราบปรามกลายเป็นประชาชนนักโทษ กลายเป็นระบอบการปกครองรุนแรง ประมุขผู้มีกรุณาธรรม จะใช้การปกครองดั่งใช้ร่างแหครอบขึงไว้อย่างไรได้ ( พึงแก้ที่ต้นเหตุ มิใช่สุดวิสัย จึงใช้ปลายเหตุดังนี้ )

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                             ๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น

        ด้วยเหตุดังนี้ ประมุขเมธีจึงพึงน้อมองค์ลงด้วยจริยธรรม สำรวมประหยัดเป็นแบบอย่าง ให้คุณธรรมต่อข้าบาท ฯ จัดเก็บภาษีเพิ่มแต่ความเหมาะสม ซึ่อ หยางหู่ พ่อบ้านสกุลจี้แห่งเมืองหลู่ ( แม้เป็นเพียงข้ารับใช้ตระกูลใหญ่ ยังสะท้อนใจ )  ว่า " คนที่ทำเพื่อความร่ำรวย จะขาดกรุณาธรรม ผู้มีกรุณาธรรม ไม่ทำเพื่อความร่ำรวย "  ( เอว๋ยฟู่ปู้เหยินอี่   เอว๋ยเหยินปู๋ฟู่อี่ )  ระบบภาษีราชวงศ์เซี่ย ชายฉกรรจ์หนึ่งคน รับแบ่งที่ดินห้าสิบหมู่ ห้าหมู่มอบเป็นค่าภาษีแก่หลวง เรียกว่า " ก้ง "  ส่วนราชวงศ์อิน ทุกหกร้อยห้าสิบหมู่ แบ่งเป็นอักษรจิ่ง  แบ่งที่ทำกินครอบครัวละเจ็ดสิบหมู่ แปดครอบครัวโดยรอบอักษรจิ่ง  ร่วมช่วยกันทำนาให้หลวงเจ็ดสิบหมู่ เป็นค่าภาษีร่วมกันเรียกว่า จู้     สำหรับราชวงศ์โจว นั้นเฉลี่ยที่ทำกินครอบครัวละหนึ่งร้อยหมู่ และร่วมกันทำนาบนหน้าที่ส่วนกลางหนึ่งร้อยหมู่ เพื่อเข้าหลวงเช่นเดียวกัน เรียกว่า เช่อ    ราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว  สามสมัยล้วนใช้เศษหนึ่งส่วนสิบเป็นมาตรฐาน ระบบภาษีของราชวงศ์โจว เรียกว่าเช่อ  เช่อ แปลว่า "ร่วมมือถึงที่สุด"  ( ถึงที่สุดเท่าที่ไม่เก็บภาษีเกินเหตุ ) ราชวงศ์อิน เรียกว่า จู้  คือ "ช่วยเหลือเกื้อกูล" เมธีหลงจื่อสมัยนั้นกล่าวว่า "จัดระบบภาษีที่ดินไม่มีวิธีใดดีกว่า "ช่วยเหลือเกื้อกูล" แต่ไม่มีระบบใดด้อยไปกว่าระบบก้ง ของราชวงศ์เซี่ย ก้ง คือ "อุทิศประโยชน์"  เฉลี่ยผลเก็บเกี่ยวในหลายปีเป็นมาตรฐานภาษี ในปีสมบูรณ์ผล หากชาวนาทิ้งขว้างพืชผลเรี่ยราดจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกหนึ่งหน่วย ก็ไม่ถือว่าขูดรีด แม้การเรียกเก็บภาษีจะไม่มาก  แต่เมื่อประสบภัยแล้ง การให้ปุ๋ยไม่เพียงพอ ยังคงเรียกเก็บภาษีเต็มอัตตากำหนด  พ่อเมืองนายภาษีมีฐานะดั่งพ่อแม่ของเกษตรกร  รู้เห็นสภาพเป็นจริงไม่ผ่อนหนักผ่อนเบา ทุกคนก็จะสะท้อนสายตาชิงชัง เพราะเหนื่อยยากมาทั้งปี พืชผลยังไม่พอเลี้ยงดูพ่อแม่ยังจะต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายภาษีให้ครบ เกษตรกรอดอยาก ยิ่งกระเบียดกระเสียร คนแก่และเด็กจึงบ้างหิวโซหมดแรง หล่นลงคูน้ำหุบเหวตายไป อย่างนี้จะเรียกได้หรือว่า พ่อเมือง พ่อแม่เกษตรกร  สำหรับขุนนางศรีมีคุณต่อบ้านเมือง ลูกหลานพลอยได้ใช้บำเหน็จบำนาญจากหลวงไปด้วย วิถีนี้เมืองเถิงเคยทำมา โดยได้จากผลเก็บเกี่ยวของผืนนาส่วนกลาง ที่ร่วมแรงกันทำ  หนังสือซือเสี่ยวอย่า บทต้าเถียน จารึกไว้ว่า "หวังวอนฟ้าประทานฝนให้แก่ผืนนาส่วนกลาง พวกเราผืนนาข้าง ๆ ก็จะพลอยได้ฝนไปด้วย"  จึงมีแต่ระบบ " ช่วยเหลือเกื้อกูล "  เท่านั้น ที่จะกำหนด " ผืนนาส่วนกลางได้ "  ระบบของราชวงศ์โจวคือ "ร่วมมือถึงที่สุด " ก็เช่นเดียวกับระบบ "ช่วยเหลือเกื้อกูล"     

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                        ปรัชญาเมิ่งจื่อ  :   ปราชญ์เมิ่งจื่อ 

                             ๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น

        เมื่อรายได้ปกติแล้ว สร้างโรงเรียนชนบท อบรมกตัญญูคุณธรรม ผู้สูงวัยได้สุขสงบ จากผู้เยาว์เอาใจใส่ ปลูกฝังความรู้ให้เข้าใจความเป็นคน ฝึกยิงธนูไว้ป้องกันบ้านเมือง  โรงเรียนชนบท ราชวงศ์เซี่ยเรียก เซี่ยว    ราชวงศ์อิน เรียกซวี่  ราชวงศ์โจวเรียก เสียง   สามราชวงศ์ล้วนส่งเสริมการศึกษา เสวีย เพื่อให้คนเข้าใจคุณสัมพันธ์ต่อกัน คนระดับบนทำตามคุณสัมพันธ์ต่อกัน เมตตาปราณีต่อคนระดับล่าง ภายหน้าหากมีกษัตริย์สืบต่อ ก็จะทำตาม ผู้นำจึงเป็นครูของผู้ทำตาม คัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ราชวงศ์โจว แม้จะเป็นบ้านเมืองก่อนเก่า แต่พัฒนาการปกครองให้เหมาะสมทันยุคสมัยได้"  นี่เป็นคำพูดสรรเสริญพระปรีชาสามารถของกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง หากพระเจ้าเถิงเหวินกง จะมุ่งมั่นเต็มกำลัง ก็อาจปฏิรูปบ้านเมืองให้เหมาะสมทันยุคสมัยได้ จากนั้น พระเจ้าเถิงเหวินกง ได้บัญชาให้มหามนตรีปี้จั้นไปเรียนรู้การแบ่งสรรค์ที่ดินตามอักษรจิ่ง    ปราชญเมิ่งจื่อว่า  "ประมุขของท่านจะปกครองบ้านเมืองด้วยกรุณาธรรม เลือกใช้วิธีนี้พร้อมกับส่งท่านมาเรียนรู้ ท่านจะต้องพยายามทำความเข้าใจ"  ปกครองด้วยกรุณาธรรม จะต้องเริ่มจากการจัดสรรค์ที่ดินทำกิน หากอาณาเขตไม่ตรง ที่ดินอักษรจิ่งไม่ลงตัว การเก็บภาษีข้าวจะไม่ยุติธรรม ดังนี หากเจ้าเหนือหัวเป็นทรราช ขุนนางก็จะทุจริต ชี้เขตผิด ๆ ถือโอกาสข่มขู่เรียกเก็บภาษีโดยไม่ชอบธรรม หากแบ่งเขตถูกต้องชัดเจน จัดสรรค์อยู่ในระบบหลวงย่อมรอเก็บผลได้อย่างวางใจ  แผ่นดินเมืองเถิงแม้จะแคบเล็ก แต่ก็มีประมุข มีชาวประชาปราศจากประมุขมิอาจปกครองชาวประชา ปราศจากชาวประชา มิอาจปฏิการะประมุข ขอจงจัดสรรค์ที่ทางชนบทให้เป็นอักษรจิ่ง แปดส่วนนอก "ช่วยเหลือเกื้อกูล" ส่วนที่เก้าตรงกลางเป็นของหลวง แถบเมืองไม่เหมาะที่จะจัด ก็ให้เอาหนึ่งส่วนสิบของผลประโยชน์จากที่นาบุคคล ให้เขานำมาจ่ายภาษีเอง  ขุนนางแต่งตั้งมุขมนตรีลงมา จะต้องจัดสรรค์ที่นาเพื่อเซ่นไหว้บรรพชนแก่เขาคนละห้าสิบหมู่ ชายหนุ่มตัวคนเดียว อายุสิบหกปีขึ้นไป ยังไม่มีครอบครัวให้ยี่สิบห้าหมู่ การฝัง การย้ายหลุมศพ ถูกกำหนดอยู่ในทรัพย์สินที่ดินเฉพาะ ผู้คนก็จะไม่ทิ้งหายไปจากที่ดินของตน  ที่ดินชนบทรูปอักษรจิ่ง เพื่อนบ้านเพื่อนนาจะมีน้ำใจไมตรีต่อกัน ดูแลใส่ใจกันได้ใกล้ชิด เจ็บป่วยได้ช่วยเหลือกัน เช่นนี้ ประชาราษฏร์บ้านเมืองย่อมสมานฉันท์ ที่ดินโดยรอบหนึ่งลี้  จัดสรรค์เป็นอักษรจิ่งเก้าส่วน  ส่วนละหนึ่งร้อยหมู่ แปดส่วนชาวบ้าน หนึ่งส่วนของหลวง ปลูกฝังจิตสำนึกช่วยบ้านเมือง " บ้านเมืองอยู่ดี ประชาชีก็มีสุข "  โดยสังเขปเป็นเช่นนี้  พสกนิกรชื่อฉ่ำหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับประมุขท่านจะให้อะไรแก่เขา

Tags: