หากมีการเกิด ( ความชอบใจ ขัดใจ เสียใจ สุขใจ ) การเกิดขึ้นนั้นทุกอย่างจะต้องอยู่ในขอบเขตของความพอดีเมื่อเป็นความพอดี จึงเรียกได้ว่าเป็นความปกติและสมานกลมกลืน ในเมื่อจิตใจของคนเราคล้อยตามปรุงแต่งไปกับวัตถุสัมพันธ์ทางโลกอารมณ์จิตใจจึงปรวนแปรเรื่อยไปไม่ต่างอะไรกับกระแสน้ำ และในเมื่อน้ำ ไม่มีคุณสมบัติที่จะหยุดยั้งตัวเองให้สงบได้ เกลียวคลื่นลูกใหญ่จึงทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า
คน มีคุณสมบัติที่จะระงับยับยั้งคลื่นอารมณ์ของตนได้ เพราะคนมีชีวิตจิตญาณซึ่งมีคุณวิเศษ ของเบ็ญจสภาวะธรรมคือ การุณย์ธรรม ( เหยิน ) คุณธรรม ( อี้ )จริยธรรม( หลี่) ปัญญธรรม(จื้อ) และสัตยธรรม (ซิ่น) เป็นธาตุแท้ในธรรมญาณ
การุณย์ธรรม (เหยิน) จะก่อเกิดความเวทนาอาดูร เมื่อประสบเรื่องเลวร้ายทารุณ
คุณธรรม (อี้) จะก่อเกิดความรังเกียจละอาย เมื่อประสบเรื่องผิดทำนองคลองธรรม
จริยธรรม (หลี่) จะก่อเกิดความยินดีเสียสละ เมื่อประสบเรื่องเอาเปรียบผิดจรรยา
ปัญญาธรรม (จื้อ) จะก่อเกิดความเข้าใจในชั่วดีถี่ห่าง เมื่อประสบเรื่องหลงผิดเหลวไหล
สัตยธรรม (ซิ่น) จะก่อเกิดความเชื่อมั่น เมื่อสภาวะธรรมทั้งสี่ข้างต้นสำแดงคุณดังกล่าว
คนจึงมีคุณสมบัติที่จะระงับยับยั้งคลื่นอารมณ์ของตนเองได้ นอกจากนั้นคนยังมีคุณสมบัติของพลานุภาพ ศักยภาพ และธรรมานุภาพเป็นพื้นฐานในธรรมญาณ เมื่อสัญชาติญาณ วิจารณญาณ และปัญญาญาณเป็นสติ ให้สัญญาณเตือนภัยในจิตสำนึก คนจึงควรที่จะควบคุมสภาพจิตใจให้อยู่ในขอบเขตของความพอดี รู้จักยับยั้ยชั่งใจ หรือระงับดับอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ มิให้เตลิดไปจนไร้ขอบเขต มิให้วุ่นวายไปจนเกินพอดี มิให้พลุ่งพล่านไปจนสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิน ทรัพย์สิน และสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนตนเอง ดังที่ได้เห็นได้ยินมาว่า มีคนหัวเราะชอบใจจนขาดใจตาย ร้องไห้เสียใจจนเสียสติ โกรจัดจนเสียสติบ้าคลั่ง..และอื่น ๆอีกมากมายหลายรูปแบบหลายระดับความรุนแรง ซึ่งล้วนเกิดจากใจเป็นต้นเหตุ
ท่านบรมครูจอมปราชญ์ขงจื้อ จึงได้โปรดเตือนใจไว้ว่า หากมีการเกิดความชอบใจ ขัดใจ เสียใจ สุขใจ การเกิดขึ้นนั้นทุกอย่างจะต้องอยู่ในขอบเขตของความพอดี เมื่อเป็นความพอดี จึงเรียกได้ว่าเป็นความปกติและสมานกลมเกลียว