พระปรมาจารย์โพธิธรรมทรงกล่าวว่า "ความหมายในการถวายธูปนั้น หาใช่อยู่ที่รูปลักษณะของธูปทางโลกไม่ หากแต่เป็นธูปอสังขตะแห่งพระสัทธรรม (หมายถึง สัมมาธรรมที่ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง) โดยอาศัยควันธูปแห่งกุศลกรรม รมความสกปรกโสมมของอกุศลกรรม อันเกิดจากอวิชชาให้หมดสิ้นไป
ธูปแห่งพระสัทธรรม แบ่งออกเป็น ห้า ชนิด หรือที่เรียกว่า " ธูปทั้งห้าสู่พุทธมรรคา" ซึ่งก็หมายถึง การอาศัยหลักวิถีแห่งบุญกุศลทั้งห้าเข้าสู่กระแสพระพุทธะนั่นเอง
1. ธูปแห่งศีล
หมายถึง การดำรงตนด้วยการสมาทานศีล บำเพ็ญกุศลกรรมทั้งมวล และละอกุศลกรรมทั้งปวง ภายในจิตใจไร้มลทินปราศจากความผิดบาปไม่อิจฉาผู้มีคุณธรรม ไม่ชิงชังผู้มีความสามารถ และไม่มีความคิดที่โลภ โกรธ หลง ตลอดจนไม่มีเจตคติในการลักขโมยและให้ร้ายผู้อื่น
2. ธูปแห่งสมาธิ
หมายถึง ความศรัทธามั่นคงต่อวิถีอนุตตรธรรม จิตใจไม่แปรปรวนถดถอย มีความจริงใจแน่วแน่เป็นสมาธิ ทำลายความคิดเพ้อฝันทั้งปวง เมื่อเห็นสภาพการณ์ทั้งหลายไม่ว่าจะดีหรือเลวร้าย จิตใจก็ไม่กระเจิดกระเจิงฟุ้งซ่าน
3. ธูปแห่งปัญญา
หมายถึง การย้อนพิจารณาสภาพจิตและความประพฤติของตนสม่ำเสมอ อาศัยปัญญาเดิมแท้อันสว่างสมบูรณ์เข้าสู่ธรรมวิถีทั้งปวง ภายในปราศจากอุปสรรคทางจิตใจ หมั่นอาศัยประทีปแห่งปัญญาญาณฉายส่องธรรมญาณเดิมแห่งตน ไม่ก่อบาปสร้างเวรทั้งมวล ถึงแม้จะบำเพ็ญปฏิบัติกุศลกรรมมากมาย แต่ในใจก็ไม่ยึดติดกับผลบุญที่กระทำ มีความเคารพนับถือนักธรรมอาวุโส มีความเห็นใจนักธรรมรุ่นหลัง มีความกรุณาสงสารผู้ตกทุกข์ได้ยากและรู้จักอนุเคราะห์ผู้ยากไร้
4. ธูปแห่งวิมุติ (ความหลุดพ้น)
หมายถึง การหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งอวิชชาทั้งปวง ไม่มีความผูกมัดใด ๆ ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ จิตใจไม่คิดไขว่คว้าปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่คิดทั้งดีและชั่วมีความอิสระ ไร้พันธนาการทั้งปวง
5. ธูปแห่งวิมุตติญาณทัศนะ
หมายถึง การสำรวมเพ่งส่องเป็นนิจเพื่อให้เกิดความสว่างแจ้งตลอดจนสามารถฉายส่องทั่วทุกสารทิศ เพราะว่าเมื่อตัวเองได้รู้แจ้งในความหลุดพ้นของปัญญาญาณแห่งตน และจิตใจก็ไม่ไขว่คว้าในบุญบาปใด ๆ แล้วจึงไม่ควรติดยึดอยู่กับสภาวะธรรมนี้เท่านั้น แต่ควรสดับและควรศึกษาหลักธรรมให้กว้างขวาง รู้จักจิตเดิมแท้ของตน รอบรู้ในธรรมวิถีของพุทธอริยเจ้า เริ่มจากจิตศรัทธาเบื้องต้นจนบรรลุความสมบูรณ์แห่งโพธิญาณ หากเป็นเช่นนี้ ธรรมญาณเดิมก็ไม่มีวันที่จะมัวหมองอีก
"" เจตคติในการถวายธูป "" นั่นไม่ใช่เป็นเพียงการกระทำตามความหมายที่ระบุตามตัวอักษรเท่านั้น ผู้บำเพ็ญในวิถีอนุตตรธรรมควรอิงทัศนะที่ว่า "ไม่กำหนดเป็นตัวอักษร" (ธรรมแท้ไม่สามารถกำหนดเป็นตัวอักษร) เพื่อกำจัดทัศนะที่ว่า "อรรถาตามอักษร" และควรปฏิบัติตามที่ว่า "การชี้ตรงไปยังจิตเดิมของมนุษย์" เพื่อกำจัดอุปสรรคที่มีรูปลักษณ์ต่าง ๆ นานา ด้วยเหตุนี้ผู้ถวายธูปพึงรู้ความหมายในการถวายธูปว่า เป็นการอาศัยประทีปแห่งปัญญาเผาผลาญธูปแท้ที่ประมาณค่ามิได้ เพราะลักษณะแท้นี้เป็นการเสริมสร้างความอลังการน่าเกรงขามของพุทธกาย เรียกได้ว่าเป็นการบูชาพระตถาคตเจ้าอย่างแท้จริง
""ธูปทั้งห้า"" นี้ล้วนเริ่มต้นจากธรรมญาณ และเริ่มการบำเพ็ญบุญกุศลทั้งนั้น กล่าวอีกนัยก็คือ เริ่มจากการแจ้งจิตเดิมแห่งธรรมกายตน ตลอดจนการบรรลุสู่ความเป็นพุทธะในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ญาติธรรมใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่อาณาจักรธรรมจึงควรทุ่มเทสุดกำลังในส่วนที่ตนสามารถกระทำได้ จัดตั้งพุทธสถาน กราบไหว้พระช่วงเช้า ช่วงเที่ยง และช่วงเย็น วันละสามเวลา (หรืออย่างน้อยช่วงเช้า และ ช่วงเย็น ก็ได้) พร้อมทั้งท่องบทสำนึกขอขมาบาป เพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วน ""พุทธสถานในครัวเรือน"" นั้น แตกต่างจาก ""พุทธสถานส่วนรวม"" เพราะฉะนั้นจำนวนธูปที่ถวายจึงแตกต่างกัน แต่สำคัญที่การแสดงออก ซึ่งความศรัทธาเคารพ ที่อยู่ภายนอกมากกว่า