กษิติครรภโพธิสัตว์
ส่วนพระกษิติครรภโพธิสัตว์อยู่ทางเบื้องซ้าย ก็มีนัยว่าเป็นส่วนแบกรับภาระของพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน แต่มุ่งเน้นไปที่สรรพสัตว์ในอบายภูมิหรือในนรกภูมิเป็นหลัก ด้วยเหตุที่พระกษิติครรภโพธิสัตว์ได้ตรัสปณิธานไว้ว่า หากในนรกภูมิยังไม่หมดสิ้นซึ่งวิญญาณบาป ก็จะไม่ขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้า จึงกลายเป็นพระฌานิโพธิสัตว์ที่ยังเสด็จไปมาระหว่างโลกมนุษย์และนรกภูมิ เพื่อทรงปฏิบัติหน้าที่โปรดสัตว์ตามปณิธานนั้นๆ ไม่มีวันได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอีกต่อไป !
มีสำนวนชาวจีนที่บ่งบอกเรื่องนี้ได้ชัดเจน ง่ายๆสั้นๆว่า พระกวนอิมช่วยคนเป็นพระตี้จ้างช่วยคนตาย ( พระนามท่านในภาษาจีนกลางคือ ตี้ จ้าง หวาง ผูซ่า มักเรียกสั้นๆว่า พระตี้จั้งในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว )
พุทธศาสนามหายานยกย่องพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ว่าเป็นผู้เสียสละอันใหญ่หลวง ด้วยพระเมตตาเป็นล้นพ้น ยอมสละแม้แดนพุทธภูมิอันเป็นที่หมายของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง กว่าจะได้เป็นหรือเป็นได้ซึ่งพระโพธิสัตว์นั้น ไม่รู้ต้องเสวยชาติมากี่มากน้อยนับกันไม่ไหว แถมยังมีกฎเกณฑ์สารพัดซึ่งยากที่ผู้ชนะสูงสุดอื่นๆ จะเอาชนะได้ ยากที่ผู้จอมอดทนอันเป็นเลิศอื่นๆจะอดทนอยู่ได้ ยากที่ผู้มีใจอันเข้มแข็งจะเอาใจอันเข้มแข็งนั้นข่มไว้ได้
นี่มาถึงประตูแดนพุทธภูมิที่หมายแล้ว แค่ยกเท้าก้าวข้ามประตูเพียงชั่วเวลาลมหายใจเข้า - ออกเท่านั้น ทุกอย่างก็จะจบสิ้นโดยบริบูรณ์ทันที !
น้ำพระทัยของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้สุดพรรณนาได้จริงๆ ทรงปฏิเสธที่จะยกเท้าก้าวข้ามประตูแดนพุทธภูมิเข้าไป หยุดอยู่เพียงเพื่อจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ผู้อื่นซึ่งหาผู้ช่วยเหลือเช่นนี้ได้ยาก กรุณาจดจำพระนามของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้เอาไว้ให้ขึ้นใจเถิด พลาดพลั้งจะทำชั่วเข้าเมื่อใดจะให้รู้สึกละอายแก่ใจตัวเองอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ไกลจากความชั่วนั้นทันที
ว่ากันว่าแม้พญามาราธิราชผู้เป็นราชาอสูรในแดนมืด ยังเกรงพระทัยพระโพธิสัตว์พระองค์นี้เป็นที่สุด
ใครที่เคยได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องพระเวสสันดรชาดกในพุทธศาสนาหินยานเถรวาทมาบ้างแล้ว คงพอจะจำเค้าโครงเรื่องได้ ผมจะไม่ล้วงลูกลงลึกให้เป็นที่เสียเวลาเปล่า แต่ขอรวบรัดตัดตอน ยกเอาฉาก พระเวสสันดรและพระนางมัทรี พร้อมด้วยกัณหาชาลีสองกุมาร ได้พำนักอยู่ในป่าลึกเขาวงกตของเจตรัฐนคร แล้วชูชกพราหมณ์เฒ่าเจ้าเล่ห์เดินทางมาขอสองกุมารไปเป็นคนรับใช้ ตามคำอ้อนวอนร้องขอของเมียสาว
ในความรู้สึกของคนไทยส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่าคงนึกตำหนิพระเวสสันดรอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวและมีลูกมีเต้าแล้ว ด้วยเหตุที่พระเวสสันดรยอมยกลูกในสายเลือดให้แก่พราหมณ์ อาจจะพูดแบบชาวบ้านว่าเป็นพ่อใจร้าย ยอมทิ้งแม้แต่ลูกตัวเองได้ลงคอ
พุทธศาสนามหายานก็มีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เช่นกัน เป็นความสอดคล้องกันระหว่างคัมภีร์ของหินยานและมหายาน พุทธนิทานเรื่องพระเวสสันดรนี้ พระศากยมุนีทรงเล่าให้พระญาติศากยวงศ์ในกรุงกบิลพัศดุ์ฟัง เมื่อครั้งเสด็จไปโปรดพระญาติหลังจากบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ด้วยทรงมีพระทัยให้พระญาติได้ระงับความคิดที่จะทูลเชิญให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตเสีย แล้วกลับมารับตำแหน่งรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อจากสุทโธทนะพุทธบิดา
ทรงเล่าเรื่องอดีตชาติเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น เวสสันดรโพธิสัตว์ นี้ ก็โดยนัยเพื่อให้พระญาติ เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการแสวงหาวิมุตติมรรค มิได้ดำเนินมาเฉพาะในปัจจุบันชาติ หากแต่ได้สร้างสมบารมี ( ที่อ้างไว้แล้วในตอนต้น ) มายาวนาน
ยอมเสียสละอะไรต่อมิอะไรเกินคณา เทียบมิได้กับปัจจุบันชาติ และได้บรรลุมรรคผลที่ปรารถนาแล้ว จะให้ละทิ้งผลเลิศโดยไม่ทำประโยชน์อันไพศาลสมปณิธานที่ตั้งไว้ ก็จะเป็นการสูญเสียอะไรต่อมิอะไรที่ผ่านมาอย่างแสนสาหัสนั้นๆ ไปโดยสูญเปล่า
ตรงข้าม, หากสามารถนำผลเลิศที่ได้บรรลุ(ธรรม)แล้ว เผยแผ่ออกไปแก่สรรพเวไนยสัตว์ ให้ได้รับคุณประโยชน์โดยทั่วถึง นั่นจะเป็นการสมควรแก่เหตุผลและยกย่องคุณค่าของอะไรต่อมิอะไรที่ได้สูญเสียไป สิ่งที่สูญไป ก็จะกลับกลายมาเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่และมีค่าสูงสุดในวันนี้
โดยนัยนี้ ก็ย้อนความกลับไปที่การยอมเสียลูกรักทั้งสองนั้น มิใช่เรื่องที่คนซึ่งมากไปด้วยบารมีและความรับผิดชอบจะกระทำได้โดยง่าย เป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือดรุนแรงแสนสาหัส ระหว่างจิตฝ่ายต่ำกับจิตฝ่ายสูง โดยมีความผูกพันระหว่างพ่อลูกเป็นเดิมพัน มันเหมือนปัญหาเส้นผมบังภูเขา ก็ด้วยความรับผิดชอบต่อปณิธานเสมือนหนึ่งสัญญามหาชน ย่อมถือเอาประโยชน์อันไพศาลเป็นที่ตั้ง ข่มไว้ได้ซึ่งประโยชน์แห่งตน
อีกพระนางมัทรีและสองกุมารนั้น ก็เปรียบเสมือนอุบายบารมีอันเป็นเครื่องทดสอบความตั้งมั่นของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้พระองค์บรรลุเข้าสู่แดนพุทธภูมิได้สำเร็จ ถ้าจะกำหนดให้รู้ตัวกันล่วงหน้ามันก็ย่อมไม่ใช่การทดสอบที่แท้จริง หรือผลการทดสอบที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงนัก เป็นการจัดฉากสร้างภาพไปนั่น และเมื่อดูถึงที่สุดของเรื่อง ทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี สองกุมารก็ได้คืนกลับอ้อมอกพ่อและแม่
แต่เหตุที่ผมยกเอาพุทธนิทานเชิงวิเคราะห์ขึ้นมาคั่นตรงนี้นั้น เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นน้ำพระทัยของ องค์พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ซึ่งยอมสละภาวะความเป็นพุทธะอันเป็นที่หมาย และเป็นที่สุดของการเดินทาง เปรียบเทียบกับการตัดสินพระทัยของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ยอมเสียสละลูกตนเองในคราวนั้น มาเป็นอุทาหรณ์ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดใดๆ อีก นอกจากลองเปรียบเทียบกับตัวเองว่า เราจะทำอย่างไรในภาวการณ์เช่นนั้น
ขึ้นกับจิตสำนึกของแต่ละคนที่จะให้คำตอบแก่ตัวเอง ลองถามตัวเองดูเถิด คำตอบที่ได้ออกมานั่นแหละคือความเป็นตัวของท่านเอง
จะมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน แยกแยะดีชั่วได้ชัดเจนเพียงใด จิตใจตั้งอยู่ในที่สูงหรือต่ำแค่ไหน ล้วนมีอยู่ในคำตอบนั้นทั้งสิ้น
ความที่ปรากฏในคัมภีร์ หาใช่ชูชกพราหมณ์เฒ่าเจ้าเล่ห์ทูลขอสองกุมารแล้ว พระโพธิสัตว์ตรัสยกให้ทันทีก็หาไม่ แต่ทรงลำบากพระทัยอย่างหนัก ! รจนาจารย์พรรณนาความไว้ว่า เมื่อสิ้นคำทูลขอสองกุมารของพราหมณ์ชั่ว ประดุจดั่งสายอสุนีบาตฟาดลงกลางกระหม่อมพระเวสสันดร ในพระทัยนั้นราวว่าพญามารได้กระชากเอาพระหทัยออกจากพระอุระ แล้วบีบขยี้จนแหลกเหลวหาชิ้นดีมิได้ แทบจะทรุดพระชานุลงกับพื้น
แสงตะวันอันสาดส่องในพนาไพรเมื่อยามสาย เสมือนลับดับมืดไปในบัดดล ไม่มีภาพใดปรากฏให้เห็นในสายพระเนตร มีแต่ความมืดมิดราวราตรีกาลมาเยือนในทันทีทันใด
พระหัตถ์และพระพาหาทั้งสอง แม้พระบาทก็หาได้รู้สึกพระองค์ ทรงนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน (ภาษาชาวบ้านชาวช่องก็ว่า ถึงลมจับนั่นล่ะครับ)
พราหมณ์ชั่วอ่านพระทัยออก ก็ทูลด้วยความเจ้าเล่ห์สารพัด เหน็บพระทัยให้เจ็บปวดรวดร้าวเข้าไปอีก
ไหนเขาเลื่องลือกันนักหนาว่าพระเวสสันดรนี้ มุ่งแสวงหาโพธิญาณด้วยพระทัยอันแน่วแน่มิแปรเปลี่ยน ผู้ใดลำบากมา ทูลขอสิ่งใดอันมีอยู่ ย่อมสนองให้ด้วยพระเมตตาเสมอไป
ไหนเขาเลื่องลือกันนักหนาว่าพระเวสสันดรนี้ เป็นผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรม ย่อมประทานความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากไม่เลือกชั้นวรรณะ
นี่เราอุตส่าห์เดินป่ามาแต่ไกล ชราภาพถึงเพียงนี้ ทนตรากตรำมาถึงที่พำนัก ก็เห็นจะผิดหวังเสียเปล่า
ครั้นเห็นพระเวสสันดรทรงนิ่งอยู่ ก็รุกเร้าในเชิงชั่วต่อไปอีก
อันหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ ดุจดังงาคชสาร งอกยื่นออกมาแล้วย่อมไม่อาจหดย้อนคืนกลับได้อีก แล้วนี้ไฉนพระเวสสันดรผู้มีสายพระโลหิตแห่งกษัตริย์เจ้า ตรัสแก่เราว่า หากทูลขอสิ่งใดที่เรามี เราจะยกให้ ครั้นทูลขอสองกุมาร กลับตระบัดสัตย์ไปเป็นอื่น หรือพระทัยที่ใฝ่หาพระโพธิญาณนั้นเป็นแต่เพียงชั่วแล่น หรือพระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตานั้น เป็นแต่เฉพาะบุคคลเล่า ?
พระเวสสันดรบอกแก่พราหมณ์ชูชกว่า สองกุมารมีแม่ ควรจะให้ผู้เป็นแม่รับรู้ด้วย อย่าได้เร่งรัดเราเกินไป รอให้พระนางมัทรีกลับมาก่อน
พราหมณ์ชั่วรู้อยู่แก่ใจว่า หากพระนางมัทรีกลับมาแล้ว ไหนเลยจะยินดียกกุมารทั้งสองให้ ด้วยสายใยสายใจแห่งความเป็นแม่นั้นยิ่งใหญ่เกินมหาสมุทร จึงใช้ความเจ้าเล่ห์และไร้วัฒนธรรมในสกุลชาติของตน บีบคั่นพระทัยพระเวสสันดรต่อไปอีก
ผู้ใฝ่ในพระโพธิญาณย่อมมีสตรีเพศเป็นอุปสรรค ไฉนพระองค์จึงให้ความสำคัญอีกเล่า หากห่วงหน้าพะวงหลังดังนี้แล้วก็เสียการใหญ่ในภายหน้าเป็นแน่ อันประเพณีโบราณแต่กาลก่อน ผู้เป็นพ่อย่อมเป็นใหญ่ในทุกทิศ การตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองย่อมเป็นอนุมัติโดยประเพณีอันชอบแล้ว เว้นแต่จะขาดความมุ่งมั่นในพระทัยที่จะเข้าถึงซึ่งโพธิญาณโดยสัตย์ นั่นย่อมเป็นเหตุผลอันรับฟังได้
พระเวสสันดรเห็นว่า เจ้าพราหมณ์ชั่วนี้มันช่างร้ายนัก ช่างเข้าใจเจรจา ล้วนหาเหตุหาผลเพื่อประโยชน์แห่งตนทั้งสิ้น แต่ครั้นหวนคิดถึงโพธิญาณเบื้องหน้าโดยเปรียบเทียบกับการสั่งสมทานบารมีที่ผ่านมา ล้วนเสียสละซึ่งทานนั้นด้วยพระทัยที่แน่วแน่เสมอมามิได้ขาด ก็แล้วไฉนคราวนี้จะมีความแตกต่างจากคราวอื่นๆได้อีกเล่า
เมื่อมีพระสติเต็มกำลัง พระปัญญาก็บังเกิด จิตวนเวียนไปทางฝ่ายต่ำแต่แรกก็เริ่มทรงตัว แล้วค่อยๆทะยานขึ้นฝ่ายสูง มุ่งมั่นเอาพระโพธิญาณอันเป็นเลิศ นำมาซึ่งการโปรดสรรพสัตว์ประมาณจำนวนมิได้เป็นที่หมาย
ด้วยพระบารมีที่สั่งสมมาแต่กาลก่อน ดลพระทัยให้ตรัสยกสองกุมารแก่พราหมณ์เฒ่าเจ้าเล่ห์ทันที เรียกสองกุมารซึ่งไปแอบอยู่ในสระบัวด้วยรู้ชะตากรรมของตน ให้ออกมาหา แล้วยกพระหัตถ์สองกุมารใส่มือชูชกพราหมณ์ เป็นนัยแห่งการให้
( อย่างที่เรียนไว้แต่แรก ผมดำเนินความโดยรวบรัด ที่จริงมีบทเจรจาแสดงถึงความเป็นไปได้ทางจิตใจอยู่มาก ในหลายๆตอนล้วนแสดงให้เห็นถึงเหตุและผล จากที่เป็นส่วนหยาบไปถึงส่วนละเอียด หากได้พิจารณาทั้งหมดก็จะพบน้ำหนักในเรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น )
อีกตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางจิตใจอันรุนแรง บ่งบอกถึงการเป็นผู้ให้นั้น ย่อมเป็นการยากที่จะอดทน แม้ผู้ให้ย่อมมีจิตสูงขึ้น ต่างจากการเป็นผู้รับซึ่งมีแต่จะต่ำลงก็ตาม แต่ภาวะของจิตนั้นละเอียดอ่อนมาก ไม่ง่ายในการควบคุม
ทันทีที่ชูชกพราหมณ์ชั่วได้สองกุมารเป็นสิทธิ์แล้ว ก็กระชากลากถูเด็กทั้งสองที่ดื้อดึงไม่ยอมเดินตาม ทั้งทึ้งทั้งลากเอาด้วยแรง ทั้งทุบตีด้วยไม้ ฟาดลงไปกลางหลังสองกุมาร จนเนื้อตัวสองกุมารแดงฉานไปด้วยเลือด แม้แต่ไม้เรียวก็ยังติดเลือด สองกุมารส่งเสียงร้องขอให้พระชนกช่วย เสียงระงมไปทั่วป่า ต่อเบื้องพระพักตร์พระเวสสันดรผู้เป็นพระชนกนั่นแล้ว
รจนาจารย์ได้ดำเนินความตอนนี้ไว้ว่า ครั้นได้เห็นดังนั้น พระเวสสันดรโพธิสัตว์มีความโทมนัสสุดกลั้น พยายามสะกดพระอัสสาสะเป็นครั้งสุดท้าย แต่สุดจะทรงสะกดได้ หันพระพักตร์มาทางอาศรม ครั้นทอดพระเนตรเห็นเลือดบนหลังปิโยรส พระสติที่ทรงกำหนดไว้มั่นเพื่อพระโพธิญาณ ก็ปลาสนาการไปสิ้น !
หยิบพระแสงทรงที่เหลือติดพระองค์มา กระชับไว้แน่นในพระหัตถ์ ชี้หน้าพรหมณ์แล้วมีพระดำรัสด้วยมานะของกษัตริย์
เหม่ ไอ้พราหมณ์ถ่อย มึงปล่อยลูกกูเดี๋ยวนี้ ! ขยับพระแสงขึ้นสูงจักบั่นศีรษะพราหมณ์ชั่วเสียทันใด
น้อยหรือมึงช่างรังแกน้ำใจกูได้ กูให้อภัยแก่ใครผู้ทำผิดแก่กูได้ แต่ลูกน้อยของกูเป็นผู้ไร้เดียงสา มึงยังบังอาจข่มเหงได้ถึงเพียงนี้
ทันทีที่จะยกพระแสงลงบั่นคอชูชกพราหมณ์เฒ่าเจ้าเล่ห์ สองกุมารก็โผเข้าซบพระบาท พร้อมกับจาบัลย์อยู่กับที่ พราหมณ์เฒ่าเบี่ยงตัวหนี ยกมือไหว้ขอประทานชีวิต
ด้วยพระบารมีแต่ปางก่อน พระเวสสันดรโพธิสัตว์กลับได้พระสติ กำหนดยั้งคิด วางพระแสงลง ตรงเข้าปลอบประโลมปิโยรส
ลูกเอ๋ย เจ้าทั้งสองอย่าโศกกำสรด ประเดี๋ยวแม่ก็จะกลับ ทรงประคองลงบนอังสาและปฤษฏางค์ของลูกน้อยทั้งสอง น้ำพระเนตรไหล เป็นที่น่าปริเทวนาการ......
อ่านกันเพลินเชียวครับ ผมไม่เล่าต่อแล้ว ใครสนใจก็ไปค้นคว้าหาอ่านกันเอาเองแล้วกัน นี่เป็นพุทธนิทานที่ถือเป็นอมตะเรื่องหนึ่งทีเดียว ถึงขนาดว่าใครเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยได้อ่านเรื่องนี้มาก่อนเลย เขาว่าเป็นชาวพุทธปลอมนะครับ อีกประการหนึ่ง, ใครได้ฟังหรือได้อ่านพุทธนิทานเรื่องพระเวสสันดร ตั้งแต่ต้นจนจบครบถ้วนกระบวนความแล้ว ไม่รู้สึกสะทกสะท้านในหัวอกแม้แต่น้อย เขาว่าเป็นคนใจดำอำมหิตนักแล !
พระเวสสันดร หาใช่พ่อใจร้ายอย่างที่หลายคนอาจคิดนะครับ
จากตัวอย่างที่ยกมาอ้างไว้นั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เป็นพ่อคนหนึ่ง ซึ่งเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ที่ยังมีเครื่องเศร้าหมองห่อคลุม แต่ด้วย มีหน้าที่ ที่พึงกระทำให้ลุล่วงไป จึงต้องเร่งสำเร็จกิจนั้นให้ลุล่วงไปตามเป้าหมาย การตัดสินพระทัยของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ จึงเป็นเรื่องที่สามัญชนอาจไม่เข้าใจได้ลึกซึ้งนัก
เช่นเดียวกัน การตัดสินพระทัยของ พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ที่เลือกเอาการโปรดสัตว์ในมนุษย์โลกและนรกภูมิ ( เป็นไปเพื่อการเอื้อประโยชน์ต่อมหาชน ) แทนที่จะเลือกเข้าสู่แดนพุทธภูมิเพื่อตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ( เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งตนโดยธรรม ) นั้น ก็มิใช่จะตัดสินพระทัยได้ง่ายๆในทันทีทันใด ทรงไตร่ตรองทบทวนด้วยจิตที่ต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดรุนแรง เช่นเดียวกับพระทัยของพระเวสสันดรนั่นแล้ว
แต่ในที่สุดด้วยพระเมตตาธรรม การเสียสละก็เป็นฝ่ายชนะ
ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องการจัดวางตำแหน่งพระรูปเคารพของมหายานกันต่อนะครับ
เหตุที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตตรัยไว้ด้านหน้าสุดของวัดนั้น ก็ด้วยมีนัยว่าจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป หมายถึงองค์ที่ 5 ของกัลป์นี้ สืบพระศาสนาต่อจากพระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ส่วน พระเวทโพธิสัตว์ ที่ประทับยืนพิงด้านหลังของพระศรีอารยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์ แล้วหันพระพักตร์เข้าสู่พระอุโบสถนั้น มีนัยว่าเป็นปณิธานของพระเวทโพธิสัตว์ที่ได้ถวายสัตย์ว่า จะขอปกป้องคุ้มครองพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์และพุทธศาสนิกชนตลอดไป ขณะเดียวกันก็จะค้ำชูช่วยเหลือการเผยแผ่พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
พระรูปเคารพพระเวทโพธิสัตว์มักจะสร้างเป็นชายหนุ่มสง่างาม ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงกระบี่ พระหัตถ์ซ้ายทำมุทร ( การเจริญสมาธิด้วยกายกริยา)ไว้เสมอพระอุระ เครื่องทรงนักรบเสื้อเกราะแบบขุนพลของจีน แลดูสง่างามน่าเลื่อมใส
แต่เดิมท่านเป็นพราหมณ์ เรียกว่าเป็นกุลบุตรในสกุลพราหมณ์ ต่อมาได้มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธองค์ ก็เกิดความเลื่อมใสและปฎิบัติธรรมจนได้บรรลุโพธิญาณ แต่ด้วยสกุลวงศ์เป็นพราหมณ์และมีความกตัญญูต่อบุพการี ไม่อาจจะถวายตัวเพื่อบวชในบวรพระพุทธศาสนาได้ ( พราหมณ์ถือว่าการโกนหัวเป็นของต่ำ เป็นวรรณะต่ำต้อยอย่างที่สุด เทียบได้กับพวกที่เกิดจากพระบาทของมหาพรหม ต่างจากสกุลพราหมณ์ที่ถือว่ามีกำเนิดจากพระโอษฐ์ของมหาพรหม )
พระพุทธองค์ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้พระเวทโพธิสัตว์ดำรงตนในฐานะของพราหมณ์ต่อไปได้
เรียกว่าตัวเป็นพราหมณ์ แต่ใจเป็นพุทธหมดสิ้นแล้ว ต่างจากชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพุทธตามทะเบียนบ้านของราชการ แต่ใจกลับเป็นอะไรก็บอกไม่ถูก
จากหลายคัมภีร์และในหลายพระสูตรน่าสังเกตว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักประชาธิปไตยสูงมาก นอกเหนือไปจากเป็นนักประนีประนอมที่ยึดสายกลางแล้ว ทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยแนวทางประชาธิปไตยที่เลือกเดินสายกลางด้วยความมีเหตุมีผล ไม่หักหาญสิ่งหนึ่งสิ่งใดเอาด้วยความเชื่อมั่นของตนเพียงถ่ายเดียว ตัวอย่างหนึ่งก็คือการมีพุทธานุญาตแก่พระเวทโพธิสัตว์ที่อ้างมาแล้ว
พุทธศาสนามหายานให้ความสำคัญต่อองค์พระโพธิสัตว์ ในฐานะของผู้ที่จะบรรลุพุทธภูมิเป็นพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง และมีหน้าที่ช่วยเหลือพุทธกิจในการสั่งสอนเผยแผ่พระสัทธรรม โปรดสรรพเวไนยสัตว์นำมวลชนสู่สันติธรรม ( สุขาวดีพุทธเกษตรมณฑล ?) อีกประการหนึ่ง
พระโพธิสัตว์ในมหายานจึงมีจำนวนมาก เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าซึ่งในอมิตยุรธยานสูตร ปรารภไว้ว่า มีจำนวนดั่งเม็ดทรายในท้องนที หรือเหนือจำนวนหมู่ดาวในจักรวาล